เผลอไปแว้บเดียว วพส. ดำเนินการมาแล้วถึง ๙ ปี ได้ก่อคุณูปการแก่วงวิชาการในภาคใต้อย่างเหลือคณา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในสถานการณ์ความไม่สงบใน ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้
ผลงานทั้งหมดนั้น เกิดขึ้นจากภาวะผู้นำทางวิชาการ ของยอดนักวิชาการระดับนานาชาติ ที่มีหัวใจของความเป็นมนุษย์ มุ่งทำงานวิชาการเพื่อรับใช้มวลมหาประชาชน (เขียนระหว่างเทศกาลขับไล่รัฐบาลทักษิณที่มียิ่งลักษณ์เป็นหุ่นเชิด ก็อย่างนี้แหละ ของขึ้นง่าย) คือ ศ. นพ. วีระศักดิ์ จงสู่วิวัฒน์วงศ์
ผมโชคดี ที่มีส่วนร่วมเป็นกรรมการชี้ทิศทางของโครงการนี้มาตลอด ได้เห็นพัฒนาการดีวันดีคืน มั่นคงเป็นปึกแผ่นยิ่งขึ้น และได้รับการสนับสนุนจาก สสส. ไปแล้ว ๒ ช่วง (ช่วงละ ๓ ปี) และเริ่มช่วงที่ ๓ (ก.ค. ๕๖ - มิ.ย. ๕๙) มาแล้วครึ่งปี
ข้อเรียนรู้ของผมต่อ วพส. คือ เวลานี้ วพส. เป็นสถาบัน (institution) ทางวิชาการ ที่เป็นนวัตกรรม คือเป็นสถาบันที่ก่อตัวขึ้นบนฐานภาวะผู้นำทางวิชาการ ของ อ. หมอวีระศักดิ์ และได้ทำคุณประโยชน์และสร้างความเชื่อถือสูงมาก ทั้งภายในประเทศ ในประเทศเพื่อนบ้าน และในวงการวิชาการและวงการพัฒนานานาชาติ เป็นสถาบันอีกรูปแบบหนึ่งที่แตกต่างจากสถาบันที่เป็นทางการ คือคณะวิชา ซึ่งตัวผู้นำ (คณบดี) จะมีภาวะผู้นำแบบบริหาร ใช้ความสามารถด้านการบริหารงาน หรือบางกรณีใช้ความสามารถด้านธุรการด้วยซ้ำ ขอเรียกชื่อผู้นำแบบ อ. หมอวีระศักดิ์ ที่เป็นผู้อำนวยการ วพส. ว่า ผู้นำแบบ ข ในขณะที่คณบดีโดยทั่วไป (อาจมียกเว้นบางคน)เป็นผู้นำแบบ ก ผมมีความเห็น ๒ ประการที่เชื่อมโยงกัน ต่อสถาบันวิชาการที่เป็นนวัตกรรมแบบ วพส. นี้ คือ
๑. ควรพิจารณาสนับสนุนให้เกิดสถาบันแบบ ข เพิ่มขึ้น บนฐานวิชาการด้านอื่น เช่นด้านสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ (วพส. อยู่บนฐานวิชาการด้านสุขภาพ) แต่ต้องให้มีผู้นำทางธรรมชาติ ที่มีความสามารถทางวิชาการสูง จึงจะสนับสนุนให้เกิดสถาบันแบบนี้ได้
๒. ต่อไปในอนาคตระยะยาวของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ที่จะต้องทำหน้าที่เป็น world-class research university ให้แก่ประเทศ ผู้นำแบบ ก และ ข จะโน้มเข้าหากัน จนในที่สุดเป็นคนๆ เดียวกัน กล่าวใหม่คือ อธิการบดี คณบดี จะต้องมีความสามารถทั้งแบบ ก และ ข อยู่ในคนๆ เดียวกัน
ทำให้ผมหวนนึกถึงเมื่อปีที่แล้ว อ. หมอวีระศักดิ์ได้รับเสียงสนับสนุนจากประชาคม มอ. สูงมาก ให้เป็นอธิการบดี อ. หมอวีระศักดิ์ปรึกษาผม ว่าเอาอย่างไรดี ผมให้ความเห็นว่า หากเป็นอธิการบดี ท่านจะต้องสนองความต้องการของฝ่ายต่างๆ จนเป็นตัวของตัวเองยาก และที่คิดว่าจะเป็นผู้นำเปลี่ยนแปลงทางวิชาการนั้น ส่วนใหญ่จะทำไม่ได้ เพราะไปขัดกับความต้องการของคนส่วนใหญ่ใน มอ.
แต่ ท่านตัดสินใจง่ายขึ้นไปอีกเมื่อปรึกษา อ. หมอประเวศ ได้รับคำแนะนำอย่างตรงไปตรงมาที่สุดว่า อย่ารับ งาน วพส. ที่ทำอยู่ดีแล้ว จะทำประโยชน์แก่บ้านเมืองได้มากกว่าเป็นอธิการบดีมากมายนัก
กรรมการที่มาจากพื้นที่ ๓ จังหวัดชายแดนใต้ พูดตรงกันว่าปัญหาสำคัญที่สุดในขณะนี้คือเยาวชนร้อยละ ๗๐ ติดยาเสพติด สิ่งที่พ่อแม่วิตกกังวลที่สุดคือ กลัวว่าลูกที่เป็นวัยรุ่นจะติดยาเสพติด ประเด็นยาเสพติดจึงเป็นประเด็นทางสังคมที่หากดำเนินการวิจัยแก้ไข จะได้ใจพ่อแม่ใน ๓ จังหวัดชายแดนใต้
ผมจึงเสนอให้ วพส. หาทางสนับสนุนให้ทำวิจัยป้องกันการติดยาเสพติด เชื่อมโยงกับการพัฒนาจิตอาสา ให้เยาวชนได้เป็นsomebody ที่มีประโยชน์ต่อผู้อื่น ต่อสังคม และได้เรียนรู้เปล่งความสามารถภายในตน (ศักยภาพ) ออกมาทำประโยชน์แก่ผู้อื่น และแก่ส่วนรวม โดยการดำเนินการนี้น่าจะเป็นความร่วมมือ ๓ ฝ่าย คือ โรงเรียน โรงพยาบาล และ อปท. กิจกรรมที่ทำควรมีหลากหลาย ให้ตรงจริต หรือความถนัด ของเยาวชนแต่ละคน ควรเป็นกิจกรรมที่ทำเป็นกลุ่ม ต่อเนื่อง มีกระบวนการ reflection (AAR) เพื่อการเรียนรู้หลากหลายด้าน รวมทั้งด้านจิตวิญญาณ และควรผนวกกิจกรรม “เด็กดีมีที่เรียน” เข้าไปด้วย โดยบางคนอาจได้รับทุนสนับสนุนด้วย
คณะกรรมการคุยกันว่า วพส. มีผลงานมากมาย ในช่วงต่อไปน่าจะกำหนดประเด็นดำเนินการ ให้เน้นเรื่องที่มีความสำคัญ มีน้ำหนักต่อการพัฒนาพื้นที่ภาคใต้อย่างจริงจัง แล้วจัดกระบวนการตั้งโจทย์ ร่วมกับทีมงานในพื้นที่ โดยอาจหาทีมงาน ที่เหมาะสมเพิ่ม แล้ว อ. หมอวีระศักดิ์ และทีมงานช่วย โค้ช หรือจัดกระบวนการโค้ช ให้ได้ผลงานวิจัยและพัฒนาที่มีคุณภาพ
ผมเคยเขียนเรื่อง วพส. ไว้ ที่นี่
วิจารณ์ พานิช
๑๑ ธ.ค. ๕๖