จากข้อคิดเห็นของ อ. ภาทิพ ใน บันทึกนี้ ทำให้ผมได้เข้าใจว่า การศึกษาไทยในปัจจุบัน ได้สร้างค่านิยมผิดๆ ให้แก่นักเรียน อย่างน่าตกใจ ค่านิยมผิดๆ นี้ จะเป็นตัวทำลายเด็ก
ค่านิยมเรียนเพื่อสอบ สอนเพื่อสอบ เป็นมารร้ายตัวใหญ่ที่สุดของการศึกษาไทย ที่เราต้องช่วยกันกำจัดให้ได้
สิ่งที่ครู/อาจารย์ ต้องทำคือ หมั่นพูดคุยกับศิษย์ ว่าเรียนไปทำไม การเรียนจะมีคุณประโยชน์อะไร แก่ชีวิตของศิษย์ในภายหน้า หากไม่เรียน ศิษย์จะพลาดโอกาสอะไรในชีวิต
ให้ศิษย์ได้เข้าใจว่า สิ่งที่สำคัญ หรือเป็นเนื้อแท้ของการเรียน คือการเรียนรู้ที่แท้จริง ไม่ใช่คะแนน ตัวคะแนนเป็นเพียงเครื่องสะท้อน บอกว่าตัวเด็กได้เรียนรู้อะไรไปแค่ไหนแล้ว
ต้องให้ศิษย์เกิดความเชื่อว่า การเรียนนั้น เป้าหมายเพื่ออนาคตของตนเอง ไม่ใช่เรียนเพื่อคะแนน
ครูต้องมีทักษะในการชวนศิษย์ “ทบทวนไตร่ตรอง” (reflection/AAR) ว่าตนได้เข้าใจบทเรียน ที่ผ่านไปแล้วอย่างไรบ้าง ส่วนไหนที่มีเป้าหมายต้องการเรียนรู้ แล้วได้เรียนรู้มากกว่าที่คิด เพราะอะไร ส่วนไหนที่ยังรู้น้อย เพราะอะไร จะปรับปรุงวิธีการเรียนของตนอย่างไรบ้าง และคิดว่า จะเอาความรู้ที่ได้ ไปทำอะไรในช่วงเป็นนักเรียน และเอาไปทำอะไรตอนทำงานเป็นผู้ใหญ่แล้ว กระบวนการแบบนี้ มีอยู่ในหนังสือ ครูนอกกรอบกับห้องเรียนนอกแบบ ที่ครูเรฟ คอยหมั่นปลุกใจลูกศิษย์ตัวน้อยๆ ชั้น ป. ๕ จนเกิดความมั่นใจตัวเอง เกิดแรงบันดาลใจต่อการเรียนเพื่ออนาคตของตนเอง
วิจารณ์ พานิช
๓ ก.พ. ๕๗