ผมสังเกตสมองของผม ว่าในช่วงหลังๆ นี้ สามารถ “แขวน” (suspend) เรื่องยุ่งใจไว้ได้ ไม่เอามาคิดให้รกสมอง รอไว้จังหวะเหมาะ จึงค่อยเอามาไตร่ตรอง
เพื่อกันลืม ผมใช้วิธีจดเตือนไว้ในปฏิทินใน iPad ซึ่งเมื่อให้มันเข้าไปอยู่ใน อีเมล์ ของผม ก็เปิดดูได้จาก Galaxy Tab และ MacBook รวมทั้งใน iPad 3 ตัวที่บ้าน สาวน้อยจึงเห็นด้วย พฤติกรรมของสาวน้อย ทำให้ผมนึกเปรียบเทียบกับใจผม ว่าผมฝึกใจให้นิ่งอยู่กับเรื่องยุ่งๆ ได้ รวมทั้งให้ใจแข็งไม่เปิดเผยความลับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเมียถาม
ใจผมบอกว่า “แขวนไว้” อย่าไปยุ่งกับมัน หรืออย่าเพิ่งไปยุ่งกับมัน กับสาวน้อย ผมบอกว่า เรื่องนี้ตกลงกันไว้ว่าเป็นความลับ ห้ามเอ่ยเด็ดขาด แล้วผมก็จบ วันหลังเขาถามอีก ผมก็ตอบด้วยรอยยิ้ม
ทำใจให้นิ่ง ไม่เข้าไปยุ่งหรือคิดเรื่องกวนใจ ทำให้เรามีสมองสำหรับคิดไตร่ตรองเรื่องสำคัญ เท่ากับผมฝึกกำกับ working memory ของผม ให้ใสสว่างว่างสิ่งรบกวน ทักษะนี้ ผมน่าจะได้จากการฝึก KM หรือฝึก Dialogue ตามแนวของDavid Bohm ฝึกฟังแล้วรับเอามาแขวนไว้ ที่เรียกว่า suspend ไม่ตัดสิน ไม่คิดแย้ง ฝึกบ่อยๆ เข้า คงจะสามารถกำกับ working memory ได้ในระดับหนึ่ง
สมัยเรียนที่จุฬาฯ ผมบ้าอ่านหนังสือชีวประวัติบุคคลสำคัญ ติดใจประวัติของนโปเลียน โปนาปาร์ต ว่ามีสมาธิสูงมาก โดยนโปเลียนอธิบายว่า สมองของท่านเสมือนมีลิ้นชักเก็บเรื่องราว เมื่อจะนอนก็ปิด ลิ้นชักหมด นอนหลับสบายไร้กังวล เมื่อตื่นขึ้นมาต้องการคิดเรื่องอะไรก็เปิดลิ้นชักนั้น เอามาคิดทีละเรื่อง ไม่ปนกัน ผมอ่านเมื่อกว่า ๕๐ ปีก่อน พร้อมกับคิดว่า นั่นมันเรื่องของคนพิเศษ
ตอนนี้ผมคิดใหม่ ว่าคนเราฝึกเป็น “นักแขวน” หรือฝึกชักลิ้นชักสมองได้ทุกคน ขอให้หมั่นฝึก ก็จะทำได้
วิจารณ์ พานิช
๑๗ ก.พ. ๕๗