ในเวทีเปลี่ยนการศึกษาเพื่อเด็ก วันที่ 5 มีนาคม 2557 จัดโดยสมาคมสภาการศึกษาทางเลือก ร่วมกับสถาบันเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล ผมนั่งฟังเด็กพูดบอกความในใจตรงๆ หลังจากแสดงละครบอกเชิงศิลปะไปก่อนหน้านั้นแล้ว
แปลกมาก สาระเดียวกัน ตอนดูละครน้ำตาไหล ตอนฟังรู้สึกเฉยๆ วิธีนำเสนอก่อความสะเทือนใจแตกต่างกัน
ผมจดและบันทึกเสียง สรุปประเด็นครูที่เด็กไม่อยากได้ เอามา feedback ครูตรงๆ เพื่อเป็นการเรียนรู้ ว่าเด็กคิดอย่างไรต่อครู ฟังแล้วผมรู้สึกว่าเด็กกลุ่มนี้เจ็บปวดกับการศึกษาที่เขาได้รับจากระบบ ในฐานะผู้ถูกกระทำ แต่มีความสุข เมื่อเขาได้เป็นผู้กระทำ เป็นความรู้สึกที่เกิดจากอคติของผมเองหรือเปล่าก็ไม่ทราบ
ต่อไปนี้เป็นครูที่เด็กไม่อยากได้
- ครูที่ใช้เด็กเป็นที่รองรับอารมณ์
- ครูที่ไม่อยากเป็นครู
- ครูที่ไม่รักเด็ก
- ครูที่ท่องวิชามาสอน ไม่รู้จริง
- “ครูที่มาพ่นๆ ไม่เอาใจใส่เด็ก”
ผมเพิ่มเติมคนที่ไม่ควรเป็นครู หรือสังคมไม่ควรยอมรับคนเหล่านี้มาเป็นครู
- คนโกง ไม่ซื่อสัตย์ ในเรื่องต่างๆ
- คนที่ไม่มีวินัยในตนเอง ไม่มีความยับยั้งชั่งใจ ซึ่งก็คือ ไม่มีวุฒิภาวะทางอารมณ์นั่นเอง
- คนที่มาเป็นครูเพื่อหวังเพียงผลประโยชน์ของตนเอง ไม่สนใจการเรียนรู้ของศิษย์
- คนที่ไม่เป็น “บุคคลเรียนรู้” (Learning Person) ทำงานเป็นทีมไม่เป็น และอ่อนแอด้านทักษะแห่งศตวรรษที่ ๒๑ อื่นๆ ในระดับที่ไม่ควรมาเป็นครู
- ครูที่มีนิสัยขี้เกียจ และหย่อนความรับผิดชอบ
วิจารณ์ พานิช
๒๐ มี.ค. ๕๗