ศิลปะและวัฒนธรรม ...........นำพาเศรษฐกิจสร้างสรรค์
ศิลปะและวัฒนธรรมในสังคมใดๆ คือ "คุณค่า" บนพื้นฐานภูมิปัญญาที่ได้สั่งสมมาหลายชั่วชีวิตคนในสังคมนั้นๆ เป็นคุณค่าที่ไม่อาจประเมินเป็น "ราคา" ได้ แต่ในเวลาเดียวกัน คุณค่าเหล่านี้ สามารถที่จะสร้าง "มูลค่า" ทางเศรษฐกิจได้ ภายใต้การวางแผน การออกแบบ และการสร้างกิจกรรมทางศิลปะและวัฒนธรรมที่เหมาะสม โดยการที่ชุมชนและสังคมในพื้นที่นั้นๆรู้สึกเป็นเจ้าของและมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการที่แท้จริง
เศรษฐกิจสร้างสรรค์บนพื้นฐานของศิลปะและวัฒนธรรมภายใต้การบริหารจัดการของชุมชนท้องถิ่น จะส่งผลให้ศิลปินพื้นบ้านผู้สร้างสรรค์ผลงานมีรายได้เพียงพอแก่การเลี้ยงชีพ สามารถที่จะยืนหยัดอุดมการณ์ของตน ธำรงไว้ซึ่งศิลปะและวัฒนธรรมที่สืบทอดกันมาหลายชั่วอายุคน และสร้างสรรค์ผลงานใหม่ๆได้อย่างไม่มีข้อจำกัด
ในขณะเดียวกัน ผู้เสพรุ่นเก่าก็ได้มีโอกาสชื่นชมและเสพสมผลงานสร้างสรรค์ที่หลากหลาย ส่วนเยาวชนคนรุ่นใหม่ ก็จะกลายเป็นผู้เสพรุ่นใหม่ได้รับการกระตุ้นให้ตระหนักถึงคุณค่าพร้อมที่จะอนุรักษ์ และสืบสานศิลปะวัฒนธรรมอันทรงคุณค่าไว้ให้เป็นสมบัติของชาติสืบไป
คนทั่วไปในชุมชนก็จะมีงานทำ มีรายได้จากการให้บริการการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ศิลปะและวัฒนธรรม อาหาร เครื่องดื่ม ที่พัก ของที่ระลึก ฯลฯ ภายใต้กฎเกณฑ์ที่กำหนดร่วมกัน
ชุมชนที่บริหารจัดการตนเองได้อย่างเข้มแข็ง จะทำให้นักท่องเที่ยว กลายเป็นนักท่องเที่ยวที่มีคุณภาพ เคารพกฏเกณฑ์กติกาของชุมชนสังคมนั้นๆ
คัดลอกจาก สมุดปกขาว แจกในเวทีสัมมนา การรับฟังและสร้างการมีส่วนร่วม นโยบายปฏิรูปศิลปะและวัฒนธรรม โดยคณะกรรมาธิการปฏิรูปค่านิยม ศิลปะ วัฒนธรรม จริยธรรมและศาสนา
ม.ล.ชาญโชติ ชมพูนุท
27 สิงหาคม 2558