สกุลยศของราชนิกุล
ตามความหมายที่ระบุในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน
พ.ศ.๒๕๔๒ ได้ระบุไว้ว่าหมายถึง ตระกูลฝ่ายพระมหากษัตริย์ คือ
ผู้ที่สืบเชื้อของพระมหากษัตริย์ทางฝ่ายบิดา ซึ่งแต่ก่อนนั้นเมื่อครั้งรัชกาลที่
๖ได้ทรงตราพระราชบัญญัตินามสกุลขึ้น ให้คนไทยทุกคนมีนามสกุล ทำให้ทราบว่าใครเป็นพี่น้องหรือสืบเชื้อสายมาจากผู้ใด
สำหรับพระราชวงศ์นั้น ผู้ใดสืบเชื้อสายมาจากพระราชโอรสพระองค์ใดของพระมหากษัตริย์
ก็โปรดให้ใช้พระนามของพระราชโอรสพระองค์นั้นตั้งเป็นราชสกุล
ซึ่งในปัจจุบันนี้มีราชสกุลสืบเชื้อสายของพระมหากษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี ตั้งแต่รัชกาลที่
๑ จนถึงปัจจุบันมากกว่า ๑๐๐ ราชสกุล
การใช้ ณ อยุธยา
การที่นำพระนามของพระราชโอรสของพระมหากษัตริย์มาตั้งเป็นนามสกุลสำหรับผู้สืบเชื้อสายนั้น
ตอนแรกยังไม่มีการระบุ “ณ อยุธยา” ต่อท้าย แต่เนื่องจากรัชกาลที่ ๖ ทรงเกรงว่า
ต่อไปภายหน้านามสกุลเหล่านี้อาจไปปะปนกับนามสกุลสามัญ
จนไม่อาจทราบได้ว่านามสกุลใดเป็นนามสกุลสำหรับราชสกุล จึงมีพระราชดำริให้
ทำการเติมคำต่อท้ายนามสกุลเหล่านั้นว่า “ณ กรุงเทพฯ” ก่อนทำการเปลี่ยนเป็น “ณ
อยุธยา” ในภายหลัง โดยให้ต่อท้ายนามสกุลสำหรับลูก-หลานผู้ที่มิได้มีสกุลยศนำหน้า
อย่างผู้ใดที่เป็นหม่อมหลวง
ลูกหลานที่สืบเชื้อสายทางสายเลือดฝ่ายบิดาก็จะได้ใช้ราชสกุล และต่อท้ายด้วย “ณ
อยุธยา” เช่นเดียวกัน
สำหรับลูกหลานที่สืบเชื้อสายทางฝ่ายมารดาที่เป็นราชตระกูล
ต้องการที่จะใช้นามสกุลเช่นเดียวกับมารดา ก็ให้ใช้เพียงนามสกุลที่เป็นราชสกุล
ต่อท้ายชื่อ โดยไม่ต้องใส่ “ณ อยุธยา”
การลำดับชั้นของสกุลยศ
เจ้าฟ้า
พระบรมวงศ์เธอพระองค์เจ้า
พระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้า
พระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้า
หม่อมเจ้า
หม่อมราชวงศ์
หม่อมหลวง
ไม่มีคำนำหน้า
แต่จะต่อท้ายนามสกุลด้วยคำว่า ณ อยุธยา
ลำดับที่ ๑-๕ นับเป็นเจ้า
ซึ่งต้องมีการใช้ราชาศัพท์
แต่การใช้ราชาศัพท์ในแต่ละลำดับยศก็มีรายละเอียดปลีกย่อยที่แตกต่างกันออกไป
ส่วนหม่อมราชวงศ์และหม่อมหลวง ไม่นับเป็นเจ้าแต่เป็นผู้สืบเนื่องในราชสกุล
การลำดับสกุลยศ
การลำดับสกุลยศจะถ่ายทอดลดลำดับตามบิดาเท่านั้น
อย่างเช่น หากบิดาเป็นหม่อมเจ้า แม้มารดาจะเป็นหญิงสามัญชนหรือมีสกุลยศ
โอรส-ธิดาก็จะได้รับยศเป็น “หม่อมราชวงศ์”
หรือถ้าบิดาเป็น “หม่อมหลวง”
ลูกก็จะได้ใช้ราชสกุลโดยไม่มียศนำหน้า แต่จะลงท้ายนามสกุลด้วย “ณ อยุธยา”
ในทางกลับกัน หากฝ่ายมารดาเป็นหม่อมเจ้า แล้วบิดาเป็นสามัญชน
รุ่นลูกก็จะไม่ได้มีตำแหน่งหรือคำนำหน้าใดๆ ก็จะใช้นามสกุลบิดาตามปรกติ
แต่ถ้าอยากใช้นามสกุลมารดา ก็สามารถใช้ได้ แต่จะไม่มีคำว่า “ณ อยุธยา” ต่อท้าย
คำนำหน้า
การเรียกคำนำหน้าของนามหรือพระนามที่ควรรู้
และใช้ให้ถูกต้องคือ ถ้าเป็น “หม่อมเจ้า” ให้ใช้คำนำหน้าว่า “ท่านชาย” หรือ
“ท่านหญิง” อย่างเช่น “ท่านชายมุ้ย-หม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล” “หม่อมราชวงศ์”
จะใช้ว่า “คุณชาย” หรือ “คุณหญิง” อย่าง “คุณชายถนัดศรี-หม่อมราชวงศ์ถนัดศรี
สวัสดิวัฒน์” ส่วน “หม่อมหลวง” จะใช้เพียงคำว่า “คุณ”
การเขียนคำนำหน้าเป็นภาษาอังกฤษ
การเขียนตำแหน่งในภาษาอังกฤษจะเขียนทับศัพท์ตามคำสะกดไทย
โดยเหนือกว่าสกุลยศ “หม่อมเจ้า” จะใช้คำว่า HRH หรือย่อมาจาก His/Her Royal
Highness แล้วต่อด้วยคำว่า Prince หรือ Princess “หม่อมเจ้า”
ให้ใช้คำนำหน้าว่า Mom Chao HSH อันย่อมาจาก
His/Her Serene Highness แล้วต่อด้วยคำว่า
Prince หรือ Princess
“หม่อมราชวงศ์” ช้คำว่า Mom Rajawongsw หรือตัวย่อ M.R. ซึ่งทำให้บางครั้งชาวต่างชาติจะเข้าใจผิด
เพราะย่อเหมือนคำว่า Mister (Mr.) จึงต้องจำไว้เสมอว่าต้องเขียนด้วยอักษรตัวใหญ่ทั้ง
๒ ตัว “หม่อมหลวง” ใช้คำว่า Mom Luang ซึ่งมีตัวย่อว่า M.L. ส่วน “ณ อยุธยา” ใช้ Na Ayudhya ทับศัพท์ตามปรกติ
คำทับศัพท์
การใช้คำทับศัพท์ทั้งสกุลยศ
และการเขียนนามสกุลที่เป็นราชสกุล จะมีการเทียบเคียงการสะกดจากภาษาสันสฤกต
เราจึงเป็นการเขียนอย่าง “ยุคล-Yugala” “กิติยากร-Kitiyakara” “ชุมพล Jumbala”
คัดลอกจากนิตยสาร Flash Mag. (ไม่ทราบเล่ม) หน้า 22
ที่มา : เจาะเวลาหาอดีต
https://www.facebook.com/2007331706232995/posts/2223381031294727/