Thaiihdc.org

  • เพิ่มขนาดตัวอักษร
  • ขนาดตัวอักษรปกติ
  • สดขนาดตัวอักษร
Thaiihdc.org

รายการ เปลี่ยน เป็น เปลี่ยน ออกอากาศวันพุธที่ 21 ธันวาคม /ถถต

พิมพ์ PDF

แก้ไขล่าสุด ใน วันพฤหัสบดีที่ 22 ธันวาคม 2016 เวลา 18:33 น.
 

คืนวันพุธที่ 21 ธันวาคม 2559 ขอเชิญชม รายการสด เปลี่ยน เป็น เปลี่ยน

พิมพ์ PDF

คืนวันพุธที่ 21 ธันวาคม 2559

ขอเชิญชมรายการ “เปลี่ยน เป็น เปลี่ยน”  รายการเสวนาเพื่อการเรียนรู้เกี่ยวกับการดำรงชีวิตของสังคมไทย จาก หลักคิด สู่กระบวนการคิด และวิธีปฏิบัติ ที่จะทำให้เกิดปัญญาพาสู่ความสุข เหมาะสำหรับผู้รักการเรียนรู้ทุกเพศทุกวัย ออกอากาศสด ทางสถานีวิทยุโทรทัศน์ โลกพระพุทธศาสนาเฉลิมพระเกียรติฯ WBTV เป็นประจำทุกคืนวันพุธ เวลา 20.00-21.00 น (ยกเว้นวันพระ)

สำหรับรายการคืนวันพุธที่ 21 ธันวาคม 2559 หม่อมหลวงชาญโชติ ชมพูนุท และ ดร.แสน ชฎารัมย์ จะมาร่วมเสวนาเกี่ยวกับ          เรื่องราวในสมัยพระมหากษัตริย์ในราชวงศ์จักรี

 ท่านผู้ชมสามารถมีส่วนร่วม เพื่อสอบถาม หรือแสดงความคิดเห็น ในขณะออกอากาศได้ที่เบอร์      02-6757696

โปรดติดตามรับชมได้หลายช่องทาง ดังนี้

Ø  ทาง Internet ได้ทั่วโลก www.wbtvonline.com

Ø  รับชมทางมือถือ www.stationg.com/wbtv

Ø  รับชมทาง ทีวี ผ่านจานดาวเทียม ตามช่องต่างๆดังนี้

·         กล่องดาวเทียมค่าย GMM ช่อง 175

·         กล่องดาวเทียมค่าย PSI ช่อง 239

·         กล่องดาวเทียวค่าย CTH  ช่อง 870

·         กล่องดาวเทียวค่าย  Infosat ;Thaisat; Indeasat ; Leotech ช่อง 189

สำหรับท่านที่ติดธุระหรือพลาดชมรายการสด สามารถติดตามชมรายการย้อนหลังได้ทาง YouTube พิมพ์ “รายการ เปลี่ยน เป็น เปลี่ยน” ออกอากาศวันที่ 21 ธันวาคม 2559   

ม.ล.ชาญโชติ ชมพูนุท


 20 ธันวาคม 2559

แก้ไขล่าสุด ใน วันอังคารที่ 20 ธันวาคม 2016 เวลา 22:55 น.
 

สัญญาณเตือนภัยที่ผู้บริหารต้องทนฟัง

พิมพ์ PDF

สัญญาณเตือนภัยที่ผู้บริหารต้องทนฟัง


สัญญาณเตือนภัยจากการพลิกผันดิจิทัล (Digital disruption) ที่กำลังเกิดผลกระทบภายใน 2-5 ปี จากนี้ (สรุปจากบทวิเคราะห์และงานวิจัยหลายแหล่งและจากงานในระดับนานาชาติ เช่น CEBIT, GSMA และ ITU เป็นต้น) ซึ่งผู้เขียนวิเคราะห์ว่าข่อมูลดังกล่าว สามารถนำมาสะท้อนภาพสถานการณ์การ disruption ของประเทศไทยได้ และจะเป็นประโยชน์แก่ผู้บริหารระดับสูง ซึ่งมีสาระสำคัญ ดังต่อไปนี้


สื่อสิ่งพิมพ์ที่ใช้กระดาษมีความต้องการลดลงจนหนังสือที่มีชื่อเสียงในทุก sector หลายฉบับจะปิดตัว และโรงพิมพ์จะลดการทำงานลงกว่าครึ่ง โดยจะเกิดสื่อใหม่จากบริษัทใหม่และ startup ที่ไม่เคยอยู่ในตลาดมาก่อนเกิดขึ้นมากมาย เช่น LINE กระโดดเข้ามาทำข่าวคล้ายๆสื่อหนังสือพิมพ์, Facebook มีการ share ข้อมูลข่าวสารที่เกิดขึ้นแบบ realtime รวมไปถึงพฤติกรรมของมนุษย์ที่อ่านตัวอักษรน้อยลง แต่ดูข่าวสารในรูปแบบ vdo แทน และพฤติกรรมจะก้าวไปสู่การใช้เวลามากขึ้นกับสื่อ vdo ที่นำเสนอแบบ realtime จนทำให้สื่อเดิมที่เป็นรูปแบบสิ่งพิมพ์ที่รายงานข่าวที่ไม่สดเพียงพอ และนิตยสารที่ถูกแย่งเวลาการอ่านไป จะถูกลบออกจากความสนใจและออกจากตลาดไปอย่างรวดเร็ว (ย้ำ...อย่างรวดเร็ว)


ธุรกิจ Broadcasting จะมีการเกิดใหม่ของบริษัท start up เล็กๆ ของคนรุ่นใหม่ (อาจมีพนักงานไม่เกิน 10 คน แต่มีเครือข่ายการ share content) ทำรูปแบบธุรกิจ vdo realtime เช่น สารคดีสด, สัมภาษณ์สด, สัมมนาสด, รายงานข่าวสด, ติดตาม celebrity สด ไปจนถึงผู้มีชื่อเสียงที่มีองค์ความรู้ในลักษณะผู้เชี่ยวชาญจะถ่ายทอดสดด้วยตัวเอง โดยอาจมี studio เล็กๆ หรือไม่มีเลย แต่จะใช้เทคโนโลยี broadband mobile ด้วยการใช้ application คล้ายๆ Facebook Live (แต่จะมีประสิทธิภาพมากกว่า Facebook Live มาก ใน 2-5 ปีข้างหน้า) จนทำให้เวลาของคนทั่วไปถูกแบ่งจากสื่อองค์กรใหญ่แบบดั้งเดิมไปเสพสื่อที่เกิดใหม่เกือบทั้งหมด โดยเฉพาะในกลุ่ม Y Generation


การเช่าที่เพื่อขายสินค้าต่างๆ ในห้างสรรพสินค้าระดับ mass จะมีผลกระทบเนื่องจากสินค้าเหล่านั้นกว่าครึ่งสามารถขายผ่านระบบ online เช่น e-commerce หรือ social media ต่างๆ ได้ และที่สำคัญ แนวโน้มการซื้อสินค้าที่เป็น mass ในกลุ่ม Y Generation เปลี่ยนไปซื้อสินค้าใน online ที่มีอัตราที่สูงมาก และสินค้าเหล่านั้นมีการเสนอขายแบบ realtime บนเครือข่าย social media และสามารถสื่อสารเสนอสินค้ากับลูกค้าด้วย realtime vdo อีกด้วย และไม่น่าเชื่อว่า ขณะนี้มีการซื้อขายเสื้อผ้าผ่าน online แล้วมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ จึงจะมีผลต่อห้างสรรพสินค้า รวมไปถึงธุรกิจให้เช่าที่ขายสินค้า จะต้องปรับตัว


ธุรกิจการเงินการธนาคาร ที่พฤติกรรมของลูกค้าหันไปใช้ระบบธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ online มากขึ้นอย่างชัดเจน การทำธุรกรรมบนระบบ ATM และที่ธนาคารจะลดลงไปอย่างมาก จนทำให้จะต้องลดต้นทุนโดยการลดสาขาและตู้ ATM ที่มีต้นทุนสูงมากลงไปโดยปริยาย อีกทั้งการพัฒนาของเทคโนโลยี Blockchain จะทำให้รูปแบบ business model ของธนาคารที่เคยเป็นตัวกลางหลัก ต้องเปลี่ยนไปอย่างมาก และ ธุรกิจใหม่อย่าง Fintech จะเข้ามาท้าทายอย่างรวดเร็ว


ระบบการศึกษา จะมีรูปแบบที่เปลี่ยนไปอย่างมาก เพราะคนสามารถเข้าถึงความรู้ทั่วไปได้อย่างรวดเร็วเพียงปลายนิ้วสัมผัส และเกือบจะไร้ขีดจำกัดในการค้นหาข้อมูลด้วย search engine ที่มีประสิทธิภาพสูง มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารจากเครือข่ายผู้เชี่ยวชาญ ขีดความสามารถของคนเพิ่มทวีคูณได้จากการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลบนฝ่ามือ คนที่มีความเพียรและมีวินัย จะสามารถหาความรู้นอกเหนือจากความรู้จากการศึกษาพื้นฐานในระบบได้อย่างไร้ขีดจำกัด จะเกิดรูปแบบการศึกษาเชิงนวัตกรรมดิจิทัล จากสถาบันการศึกษาใหม่จากกลุ่ม start up ในรูปแบบกึ่งดิจิทัลหรือแบบดิจิทัลสมบูรณ์แบบเกิดขึ้น และจะเกิดระบบการเรียนรู้แบบใหม่แบบ realtime และ content ที่ทันสมัยจากคนในกลุ่ม Y Generation ที่นำเสนอกับกลุ่มคนที่สนใจ และขยายวงกว้างมากขึ้น จนได้รับการยอมรับอย่างมาก


ระบบการจ้างงานและการเข้าถึง candidate จะเปลี่ยนไปอย่างมากในส่วนบุคคลากรที่มีความสามารถพิเศษในระดับผู้เชี่ยวชาญ และในส่วนบุคคลากรที่มีความเชี่ยวชาญด้านดิจิทัล โดยบุคคลากรเหล่านี้จะไม่รับตำแหน่งงานประจำที่เป็นเงินเดือน และต้องยึดโยงกับสถานที่และเวลา แต่จะรับงานในรูปแบบสัญญาระยะสั้น (contract) โดยการจ้างงานจะเป็นลักษณะโครงการ หรือชิ้นงาน จบไปเป็นงานๆไป ส่วนบุคคลากรที่ไม่มีความเชี่ยวชาญที่มีความรู้ทั่วไปเท่านั้น จะต้องขวนขวายหาหลักสูตรฝึกอบรมระยะสั้นเพื่อให้เกิดความชำนาญเฉพาะด้าน มิฉะนั้นกลุ่มคนเหล่านี้จะหาตำแหน่งงานได้ยากยิ่ง เนื่องจากเทคโนโลยีดิจิทัล จะไปทำงานแทนตำแหน่งงานจำนวนมากที่เป็นงานด้าน administrative ทั่วไป

----------------------

ข้อคิดจากผู้เขียน สำหรับผู้บริหารในยุคดิจิทัล


บริษัทส่วนใหญ่ไม่ได้ตอบสนองต่อ Digital disruption โดยทันที แต่จะตอบสนองก็ต่อเมื่อมันได้ผ่านมาได้ในระยะหนึ่งแล้ว หรือเมื่อสายไปเสียแล้ว


เหตุผลสำคัญที่องค์กรพึงพอใจกับสิ่งที่ตนเองเป็นอยู่ และหยุดนิ่งอยู่กับที่ ก็คือความรู้สึกว่าจะต้องล้มเหลวหากมีการเปลี่ยนแปลง  


องค์กรที่ประสบความสำเร็จ มักจะมีการใช้ผู้เชี่ยวชาญด้านดิจิทัล เพื่อเข้ามาทำการเปลี่ยนแปลงองค์กร


องค์กรที่ประสบความสำเร็จ และยังคงอยู่รอดต่อไป มักจะมีการให้บริการที่เลียนแบบจากคู่แข่งที่กำลังจะเข้ามาใหม่ในตลาด


ผู้ครอบครองตลาด จำเป็นที่จะต้องทบทวนรูปแบบธุรกิจอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้แน่ใจว่ารูปแบบธุรกิจของตัวเองไม่ล้าสมัย และทันสมัยไปอีกขั้นอยู่เสมอ


ในขณะที่โลกยุคใหม่มีการขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลมากขึ้นทุกขณะ คู่แข่งใหม่มักจะเกิดขึ้นจากอุตสาหกรรมที่ใกล้เคียงกัน ที่จะเข้ามาท้าทายอำนาจเดิม 


ในปัจจุบันจะไม่มีคำถามอีกต่อไปแล้วว่า การปฏิวัติดิจิทัลจะเกิดขึ้นเมื่อใด แต่คำถามจริงๆที่กำลังเกิดขึ้นก็คือ "องค์กรจะรับมืออย่างไร กับการปฏิวัติดิจิทัลที่เกิดขึ้น ณ เวลานี้"


"ขอให้ทุกท่านโชคดี"

------------------

พ.อ.ดร.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ

รองประธาน กสทช. และประธานกรรมการกิจการโทรคมนาคม


27 พฤศจิกายน 2559  10:00


www.เศรษฐพงค์.com

แก้ไขล่าสุด ใน วันอาทิตย์ที่ 18 ธันวาคม 2016 เวลา 21:26 น.
 

ไปดูให้เห็นกับตา วิธีงอกงามทักษะแห่งศตวรรษที่ ๒๑

พิมพ์ PDF

ไปดูให้เห็นกับตา วิธีงอกงามทักษะแห่งศตวรรษที่ ๒๑


วิธีดังกล่าวพัฒนาขึ้นโดยโครงการเพาะพันธุ์ปัญญา นำโดย รศ. ดร. สุธีระ ประเสริฐสรรพ์ และ รศ. ดร. ไพโรจน์ คีรีรัตน์ แห่งคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และคณะกรรมการสภามหาวิทยาลัย สงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ไปขอเรียนรู้เมื่อวันอังคารที่ ๑๕ พฤศจิกายน ๒๕๕๙ ที่โรงเรียนธรรมโฆษิต อำเภอนาหม่อม จังหวัดสงขลา


ไปแล้วผมได้เปิดกระโหลกว่า ทักษะแห่งศตวรรษที่ ๒๑ เป็นทั้งเหตุและผลของการเรียนรู้แห่งศตวรรษที่ ๒๑ เพราะว่าวิธีการ RBL (Research-Based Learning) ของโครงการเพาะพันธุ์ปัญญาแหวกแนวกว่าที่ผมคิด


แทนที่จะ “ลดเวลาเรียน” ตามนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กลับ เพิ่มเวลาเรียน แต่เรื่อง “เพิ่มเวลารู้” ตรงกัน แต่โครงการ พพปญ. แหวกไปสู่การเรียนเพิ่มโดยทำโครงงาน แบบที่ตนคิดโจทย์ เอง ทำวิจัยเอง โดยทำเป็นทีม บนฐานความคิดดังนี้


โดยครูได้ผ่านการฝึกจิตตปัญญาศึกษามาก่อน เตรียมความพร้อมในการทำหน้าที่ครูแนวใหม่ ตามแนว ถามคือ”สอน” นักเรียนได้ฝึกตั้งโจทย์จากชีวิตจริงของชาวบ้านในชุมชน ซึ่งในกรณีของนักเรียนชั้น ม. ๒ (เวลานี้อยู่ชั้น ม. ๓) คือการปรับปรุงวิธีการผลิตกล้วยม้วนของกลุ่มแม่บ้านทำกล้วยม้วนเคลือบช็อกโกเลต นักเรียนแบ่งเป็นหลายกลุ่ม แต่ละกลุ่มหาวิธีปรับปรุงหนึ่งขั้นตอน ต่อเชื่อมกัน ผลการวิจัยนำไปใช้ได้จริง


ในช่วงเสวนาซักถามนักเรียน ครู ปู่ของนักเรียน และประธานกลุ่มแม่บ้านทำกล้วยม้วน ผมจึงปะติดปะต่อได้ว่า โครงการ RBL เป็นโครงการที่เพิ่มขึ้นมาจากการเรียนตามปกติ ทั้งนักเรียนและครู ใช้เวลานอกชั่วโมงเรียน/สอนตามปกติ ในการทำโครงงาน เด็กต้องคิดเองทำเอง ใช้เวลาค่ำคืนและเสาร์อาทิตย์ โดยไม่รู้ว่าผลออกมาอย่างไร และเมื่อผลออกมาบางครั้งก็ไม่เป็นไปอย่างที่คิด ต้องปรับวิธีการและทดลองใหม่ บางครั้งเด็กก็ท้อ อาจถึงร้องไห้ ครูต้องปลอบ ให้กำลังใจ และถามเพื่อให้เด็กคิดหาแนวทางใหม่ ทั้งความล้มเหลวและความสำเร็จทำให้เด็กได้ฝึกคิด ฝึกรับผิดชอบ ฝึกร่วมมือกับเพื่อน ต้องคิด - ลงมือทำ - สะท้อนคิด เป็นวงจรเรื่อยไป ทักษะแห่งศตวรรษที่ ๒๑ ค่อยๆ พัฒนาขึ้น ทำให้เกิดผลทางอ้อม คือการเรียนวิชาต่างๆ ในหลักสูตรดีขึ้น


ผมจึงถึง “บางอ้อ” ว่า ในชีวิตจริงนั้น ทักษะแห่งศตวรรษที่ ๒๑ เป็นทั้งเหตุและผลของการเรียนรู้ แห่งศตวรรษที่ ๒๑


การเรียนรู้แบบลงมือทำเป็นทีมแล้วไตร่ตรองสะท้อนคิดร่วมกัน เป็นวิธีเรียนรู้แห่งศตวรรษที่ ๒๑ การเรียนแบบนี้ทำให้เกิด 3R 8C 2L ตามเป้าหมายของการเรียนรู้แห่งศตวรรษที่ ๒๑ หลักฐานจากนักเรียน กลุ่มที่เราไปเสวนาด้วย บอกชัดเจนว่า เมื่อมีการพัฒนาส่วนที่เป็นทักษะ 8C 2L ที่เป็นทักษะแห่งศตวรรษที่ ๒๑ แล้ว การเรียนวิชาจะดีขึ้นเอง เพราะนักเรียนจะเข้าใจคุณค่าของการเรียน และมีทักษะในการเรียน


เราไปพบสภาพที่ วิธีการเดียวกันเมื่อใช้กับนักเรียนชั้น ม. ๕ ได้ผลน้อย ไม่ดีเหมือนในนักเรียนชั้น ม. ๒ และครูที่เข้าร่วมกันหนุนเด็กทำโครงงาน RBL ในปีที่แล้วมี ๕ คน ปีนี้เกษียณอายุไป ๒ คน เหลือ ๓ ไม่มีครูท่านอื่นๆ เข้าร่วมเพิ่มขึ้น ทั้งๆ ที่กล่าวกันว่าเด็กกลุ่มอื่นๆ อิจฉาเด็กกลุ่มนี้ว่าได้รับโอกาสพิเศษบอกเราว่า สภาพแวดล้อมในโรงเรียนไม่ส่งเสริมการเรียนรู้แบบใหม่ตามแนวทางของโครงการเพาะพันธุ์ปัญญา ทั้งๆ ที่ท่านรองผู้อำนวยการโรงเรียนทำหน้าที่รักษาการผู้อำนวยการส่งเสริมเต็มที่ แต่ก็ไม่มีครูท่านอื่น เข้าร่วมขบวนเป็นครูพี่เลี้ยงโครงงาน RBL


เราไปเห็นความสำเร็จที่น่าทึ่ง กับความล้มเหลวที่น่าตกใจอยู่ในที่เดียวกัน


วิจารณ์ พานิช

๑๖ พ.ย. ๕๙

..... อ่านต่อได้ที่: https://www.gotoknow.org/posts/620276


แก้ไขล่าสุด ใน วันเสาร์ที่ 17 ธันวาคม 2016 เวลา 22:49 น.
 

จัดการความรู้สู่เนื้อในองค์กร. ๓. อุปสรรคและหลุมพราง

พิมพ์ PDF

จัดการความรู้สู่เนื้อในองค์กร. ๓. อุปสรรคและหลุมพราง

สามบทแรกในบันทึกชุดนี้ เป็นการสรุปเรื่องราวทั้งหมดของ “การจัดการความรู้สู่เนื้อในองค์กร” โดยมองจากมุมที่ต่างกัน ในตอนที่สามนี้ มองจากมุมของอุปสรรค และประสบการณ์การดำเนินการที่ผิดพลาด

จัดการความรู้สู่เนื้อในองค์กร. ๓. อุปสรรคและหลุมพราง

บันทึกชุด จัดการความรู้สู่เนื้อในองค์กร นี้ ตีความจากหนังสือ The Knowledge Manager’s Handbook : A step-by-step guide to embedding effective knowledge management in your organization โดย Nick Milton & Patrick Lambe สาระในตอนที่ ๓ นี้ได้จากการตีความบทที่ 3 Barriers and pitfalls

สามบทแรกในบันทึกชุดนี้ เป็นการสรุปเรื่องราวทั้งหมดของ “การจัดการความรู้สู่เนื้อในองค์กร” โดยมองจากมุมที่ต่างกัน ในตอนที่สามนี้ มองจากมุมของอุปสรรค และประสบการณ์การดำเนินการที่ผิดพลาด

เนื่องจากการจัดการความรู้เป็นกิจกรรมที่ซับซ้อนยิ่ง โอกาสดำเนินการผิดพลาดจึงมีได้มากมาย การเรียนรู้จากประสบการณ์ของผู้อื่นจึงมีประโยชน์มาก เพื่อจะได้ระมัดระวังไม่ทำผิดซ้ำอีก ผู้เขียนหนังสือ The Knowledge Manager’s Handbook ได้รวบรวมเรื่องราวในบทนี้ทั้งจากการสอบถามนักจัดการความรู้ มืออาชีพ, จากผลงานวิจัยหรือหนังสือ, และจากประสบการณ์ของตนเอง

หลุมพราง ๑๒ ประการ

  • ทำ KM แบบไม่มุ่งเป้าพัฒนาธุรกิจหลัก
  • ไม่แนบแน่นกับธุรกิจ
  • ไม่มีการสนับสนุนจากผู้บริหารระดับสูง
  • ไม่เน้นที่ความรู้ที่มีคุณค่าสูง
  • ไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าเกิดผลลัพธ์ที่วัดได้
  • ไม่ได้เอาใจใส่พลังหนุน KM (KM Enabler) ทั้งสี่อย่างเท่าเทียมกัน
  • ดำเนินการ KM เพียงบางองค์ประกอบ ไม่ได้ดำเนินการครบทั้งระบบ
  • ทำให้สมาชิกขององค์กรรู้สึกว่า KM เป็นสิ่งยาก
  • ไม่ได้ดำเนินการเป็นโปรแกรมจัดการการเปลี่ยนแปลง
  • ทีม KM เทศนาเฉพาะต่อผู้มีศรัทธา
  • ทีม KM ไม่ได้จัดการให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียสำคัญเข้าร่วมอย่างครบถ้วน
  • ทีม KM มีสมรรถนะไม่ตรงความต้องการ

ปัจจัยลบหรืออุปสรรค

ปัจจัยลบหรืออุปสรรคต่อความสำเร็จของ KM เรียงตามลำดับความสำคัญ ได้แก่

  • ผู้บริหารไม่ให้ความสำคัญ และไม่สนับสนุน
  • ประเด็นเชิงวัฒนธรรม
  • ขาดการมอบหมายบทบาทหน้าที่รับผิดชอบ (roles and responsibilities)
  • ขาดสิ่งจูงใจ
  • ขาดข้อกำหนดวิธีการดำเนินการ KM
  • ให้รางวัลแก่พฤติกรรมที่ผิด (เช่น ส่งเสริมการแข่งขัน, เน้นเฉพาะกิจกรรมที่ก่อรายได้, เป็นต้น)
  • ไม่ได้รับการสนับสนุนจากแผนกสำคัญ เช่น แผนกทรัพยากรบุคคล, แผนกไอที, เป็นต้น
  • มีเทคโนโลยีไม่เพียงพอ

ปัจจัยบวกหรือสนับสนุนความสำเร็จของการประยุกต์ระบบ KM

ปัจจัยบวก หรือสนับสนุนความสำเร็จของการประยุกต์ระบบการจัดการความรู้ เรียงตามลำดับ ความสำคัญ ได้แก่

  • การสนับสนุนจากผู้บริหารระดับสูง
  • การมีหลักฐานว่า KM มีคุณค่า
  • การมีผู้นำการเปลี่ยนแปลง และมีการสนับสนุนจากทีม KM/ผู้นำการเปลี่ยนแปลง
  • ใช้กระบวนการ KM ที่ได้ผล
  • KM มีคุณค่าต่อพนักงาน
  • เทคโนโลยีใช้การง่าย
  • การมีวัฒนธรรมองค์กรที่สนับสนุน
  • มีความรับผิดชอบ และบทบาทต่อ KM ชัดเจน
  • มีระบบแรงจูงใจต่อการทำ KM

ปัจจัยบวกที่ ๒ และที่ ๕ เป็นเรื่องคุณค่า คือคุณค่าต่อองค์กร กับคุณค่าต่อพนักงาน หากทำให้เกิด คุณค่าที่เห็นได้ชัด ก็จะได้ใจและการสนับสนุนจากผู้บริหารระดับสูง และความร่วมมือจากพนักงานทั่วไป และจะช่วยให้ค่อยๆ ได้รับการสนับสนุนจากผู้บริหารระดับที่สูงขึ้นๆ นี่คือที่มาของคำแนะนำให้ใช้แนวผสม ระหว่างวิธีการ ๕ ขั้นตอน (วิธีที่ ๖) กับวิธีการฉวยโอกาสสร้างผลงานเร็ว (วิธีที่ ๓) ในตอนที่แล้ว

จะเห็นว่า เทคโนโลยีไม่ใช่ปัจจัยบวกในระดับสูง และไม่อยู่ในรายการปัจจัยลบ ดังนั้น หากมีผู้เสนอ ให้เริ่มที่เทคโนโลยีเพียวอย่างเดียว โปรดอย่าเชื่อ

บทเรียนจากประสบการณ์

หลุมพรางที่ ๑ ทำ KM แบบไม่มุ่งเป้าพัฒนาธุรกิจหลัก

นี่คือความผิดพลาดที่พบบ่อยที่สุดในการทำ KM คือเป้าหมายไม่ใหญ่ และไม่เป็นเป้าหมาย เชิงยุทธศาสตร์ การทำ KM เพื่อเพิ่มการและเปลี่ยนเรียนรู้ หรือเพิ่มการไหลของความรู้ หรือเพื่อแก้ปัญหา หน้างานเล็กๆ จะไม่นำไปสู่การบรรลุเป้าหมายที่แท้จริงขององค์กร เป้าหมายที่แท้จริงถูกต้องคือการนำไปใช้ทั่วทั้งองค์กร และ เปลี่ยนแปลงองค์กรไปสู่องค์กรเรียนรู้

กรณีศึกษา ทีม KM ของบริษัทแห่งหนึ่งนำ แผนยุทธศาสตร์ KM ไปเสนอต่อทีมบริหารของบริษัท ยุทธศาสตร์ที่นำไปเสนอเป็นยุทธศาสตร์ที่ดี แต่ขาดโฟกัสที่ธุรกิจหลัก โชคดีที่ทีมบริหารไม่ตีให้โครงการตกไป แต่อนุมัติให้ดำเนินการได้โดยมีเงื่อนไขว่า ต้องดำเนินการให้สนับสนุนเป้าหมายการเติบโตขององค์กร การดำเนินการ KM โดยยึดเป้าหมายดังกล่าว ทำให้เกิดความสำเร็จ ในหลายปีต่อมา บริษัทมีเรื่องราวมากมาย ของการสร้างมูลค่าเพิ่ม ผ่านกิจกรรม KM

รายละเอียดของการจัดการความรู้แบบมุ่งเป้าพัฒนาธุรกิจ จะอยู่ในตอนที่ ๒๒

หลุมพรางที่ ๒ ทำ KM แบบไม่แนบแน่นกับธุรกิจ

กิจกรรม KM จำนวนมาก ไม่ยั่งยืน เนื่องจากไม่แนบแน่นหรือฝังเป็นเนื้อในของธุรกิจ ไม่บูรณาการ เข้าในโครงสร้างขององค์กร ไม่อยู่ในการทำงานตามปกติ การทำ KM แบบแยกตัวนี้ มักเกิดขึ้นเนื่องจาก มีผู้นำที่น่าเชื่อถือ เมื่อสถานการณ์เปลี่ยนไป ผู้นำย้ายไปทำงานอื่นหรือย้ายองค์กร กิจกรรม KM ก็จะเสื่อมถอย

เป้าหมายของการประยุกต์โปรแกรมการจัดการความรู้ คือการสถาปนาระบบ KM ที่มีความ สามารถดำรงอยู่ในทุกธุรกิจขององค์กร โดยได้รับการสนับสนุน และมีระบบกำกับดูแลอย่างดี มีหลักฐานแสดงผลต่อการเปลี่ยนวัฒนธรรมองค์กร และการมีคุณค่าต่อองค์กรอย่างต่อเนื่อง จะบรรลุเป้าหมายนี้ได้ กิจกรรม KM ต้องแนบแน่นอยู่กับธุรกิจหลักขององค์กร

หลุมพรางที่ ๓ ไม่มีการสนับสนุนจากผู้บริหารระดับสูง

เพื่อฝัง KM เข้าไปในเนื้อในของโครงสร้าง วิธีปฏิบัติงาน และวัฒนธรรมองค์กร ต้องการ การเปลี่ยนแปลงวิธีทำธุรกิจ เช่นอาจต้องเปลี่ยนนโยบายด้านแรงจูงใจ จากเน้นการแข่งขัน สู่เน้นการร่วมมือ หัวหน้าสายงาน (Line Manager) ต้องรับผิดชอบคุณภาพของขุมทรัพย์ความรู้ และกระบวนการหมุนเกลียว ยกระดับความรู้ สำหรับใช้ขับเคลื่อนธุรกิจหลักในความรับผิดชอบของตน หากไม่มีสภาพนี้ ทีมริเริ่มดำเนินการ KM (KM Implementation Team) ต้องรีบดำเนินการแก้ไข รายละเอียดของบทบาทของผู้บริหารระดับสูง อยู่ในตอนที่ ๗

กรณีศึกษา ในการริเริ่มดำเนินการ KM ในบริษัทแห่งหนึ่งในสิงคโปร์ ฝ่ายบริหารและทีมชี้ทิศทาง KM มีความเข้าใจ KM จำกัด จึงหวังผลสูง โดยมีทรัพยากรสนับสนุนน้อย ทั้งในด้านงบประมาณ การลงแรง และเวลา เป็นตัวอย่างเตือนใจทีมริเริ่มดำเนินการ KM ว่าต้องสื่อสารกับฝ่ายบริหาร จนเข้าใจตรงกันว่า การริเริ่มดำเนินการ KM ต้องมีการสนับสนุนด้านใดบ้างอย่างเหมาะสม จึงจะเกิดผลที่คาดหวัง

หลุมพรางที่ ๔ ไม่เน้นที่ความรู้ที่มีคุณค่าสูง

ความรู้ที่มีคุณค่าสูงมีลักษณะจำเพาะตามบริบทงาน การดำเนินการจัดการความรู้แบบเก็บความรู้ ที่มีคุณค่าสูงจากสายงานหนึ่ง แล้วหวังว่าจะใช้ได้ทั่วทั้งองค์กร มักประสบความผิดหวัง ดังนั้น ทีมริเริ่มดำเนินการจัดการความรู้ จึงต้องมีความเข้าใจบริบทงานของผู้ต้องการใช้ความรู้ (end user) แล้วเลือกจัดเก็บและให้บริการค้นหาความรู้ที่มีคุณค่าสูงต่อผู้ใช้ตามลักษณะงานที่จำเพาะ ไม่ใช่จัดหาความรู้ กว้างๆ ไร้บริบทกำกับไว้ให้ ผมเรียกความรู้กว้างๆ ไร้บริบทว่า “ความรู้ไร้พัสตราภรณ์” หรือความรู้ไม่นุ่งผ้า ดูรายละเอียดได้ที่ https://www.gotoknow.org/posts/462043

ดังนั้น จึงต้องมีการกำหนด ความรู้ที่มีความสำคัญยิ่งยวด หรือความรู้ที่มีความสำคัญเชิงยุทธศาสตร์ (มีรายละเอียดในตอนที่ ๔) และต้องมีการตรวจสอบขุมทรัพย์ความรู้ (Knowledge Asset Audit) ซึ่งจะมีรายละเอียดในตอนที่ ๑๑

หลุมพรางที่ ๕ ไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าเกิดผลลัพธ์ที่วัดได้

มีผู้ชำนาญการอธิบายกับดักของการริเริ่มดำเนินการจัดการความรู้ไว้ ๒ ประการ คือ (๑) กับดัก จาก “ลูกค้า” (The Customer Trap) ที่จะต้องสนองความคาดหวังผลลัพธ์จาก “ลูกค้า” สองฝ่าย ฝ่ายแรกคือพนักงาน คาดหวังว่า ชีวิตการทำงานของเขาจะดีขึ้น ฝ่ายหลังคือผู้บริหาร คาดหวังว่าผลประกอบการของบริษัท และของสายธุรกิจของตน จะดีขึ้น ทีมริเริ่มดำเนินการจัดการความรู้จะต้องจัดการความคาดหวังให้อยู่ใน ระดับที่พอดี และสมดุลระหว่างสองขั้วนี้ และสนองความคาดหวังให้ได้ (๒) กับดัก “ฝันไม่ชัด” (Field of Dream Trap) คือทีมริเริ่มดำเนินการจัดการความรู้เสนอผลลัพธ์ที่คลุมเครือ ทำให้เข้าใจไม่ตรงกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ตีความผลลัพธ์ของต่างสายธุรกิจแตกต่างกัน ผลคือไม่เกิดความร่วมมือแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างสายธุรกิจ

ทีมริเริ่มดำเนินการจัดการความรู้ จึงต้องเน้นที่ยุทธศาสตร์การสื่อสารผลลัพธ์ที่คาดหวังต่อ “ลูกค้า” ทั้งสองกลุ่ม ให้เกิดความเข้าใจตรงกัน และต้องส่งมอบผลลัพธ์ดังกล่าวให้ได้ รายละเอียดของการสื่อสารองค์กร อยู่ในตอนที่ ๑๙

หลุมพรางที่ ๖ ไม่ได้เอาใจใส่พลังหนุน KM (KM Enabler) ทั้งสี่อย่างเท่าเทียมกัน

พลังหนุน KM ทั้งสี่ (อยู่ในตอนที่ ๑) ได้แก่ ผู้กระทำบทบาท, กระบวนการ, เทคโนโลยี, และการกำกับดูแล

หากไม่มีการกำหนดบทบาทและความรับผิดชอบต่อ KM กิจกรรม KM ก็จะไม่มีเจ้าของ ไม่มีผู้รับผิดชอบ ทำให้งานทั้งหมดเป็นภาระของทีมริเริ่มดำเนินการจัดการความรู้ ทำให้ทีมมีงานมากเกินกำลัง และหมดแรงในที่สุด

หากไม่มีกระบวนการ KM ที่ชัดเจน ผู้เกี่ยวข้องก็จะไม่รู้ว่าตนต้องทำอะไร หรือไม่รู้ว่าต้องทำอย่างไร

หากไม่มีเทคโนโลยี ผู้เกี่ยวข้องก็จะไม่มีเครื่องมือทำให้ความรู้ไหลออกไปนอกกลุ่มเล็กๆ

หากไม่มีระบบกำกับดูแล ก็จะไม่มีนโยบายของระบบ KM คนที่ทำ KM ก็จะทำเป็นกิจกรรมที่ทำก็ได้ ไม่ทำก็ได้ ในที่สุดผู้คนก็ไม่มีเวลาทำ

ส่วนที่มักขาดคือ บทบาท กับการกำกับดูแล การที่พลังหนุน ๔ ด้านไม่เท่าเทียมกัน ก็เหมือนโต๊ะ ที่ขาสี่ขาไม่เท่ากัน ย่อมไม่เสถียร

หลุมพรางที่ ๗ ดำเนินการ KM เพียงบางองค์ประกอบ ไม่ได้ดำเนินการครบทั้งระบบ

ความผิดพลาดที่พบบ่อยคือ ดำเนินการ KM เฉพาะส่วนจัดรวบรวมความรู้ (collect) และนำขึ้นระบบ ไอที ให้คนนำไปใช้ ผลคือฐานข้อมูลความรู้ในระบบไอที ถูกทิ้งร้าง ไม่มีคนสนใจ ความผิดพลาดอีกขั้วหนึ่ง คือ ดำเนินการส่งเสริมการเชื่อมโยง (connect) ระหว่างคน โดยไม่มีการเก็บรวมรวมความรู้ทำเป็นฐานข้อมูล ให้พร้อมใช้

กรณีศึกษา บริษัทแห่งหนึ่งต้องการเก็บความรู้จากประสบการณ์การประมูลงานที่ประสบความสำเร็จ ที่ปรึกษาจึงไปจัดกระบวนการ retrospect (https://www.gotoknow.org/posts/31630) ให้ เกิดเอกสารความรู้ เกี่ยวกับการประมูลงานที่ได้ผล และที่ไม่ได้ผล สองสามเดือนต่อมาเจ้าหน้าที่ของบริษัทก็แจ้งว่า กิจกรรม retrospect ไม่ก่อประโยชน์ใดๆ ต่องาน เพราะปัญหาเดิมๆ ก็ยังเกิดขึ้นในการประมูลครั้งหลังๆ ซึ่งก็เป็น ความจริง เพราะทางบริษัทไม่ได้นำความรู้ที่ได้ไปปรับขั้นตอนการทำงานประมูลงาน

หลุมพรางที่ ๘ ทำให้สมาชิกขององค์กรรู้สึกว่า KM เป็นสิ่งยาก

การทำ KM เป็นสิ่งยาก หากไม่เปลี่ยนนิสัยหรือวิธีทำงาน หรือไม่ดำเนินการ KM ให้ตรงตามนิสัย หรือวิธีทำงานของพนักงาน เช่นหากกำหนดให้พนักงานต้องล็อกอินเข้าไปแชร์ในเว็บไซต์ที่เขาไม่คุ้นเคย เขาจะรู้สึกว่ายาก แต่หากเชื่อมเว็บไซต์นั้น เข้ากับ Line หรืออีเมล์ที่เขาใช้อยู่แล้ว การแชร์ประสบการณ์ ก็ไม่เป็นสิ่งยาก

อย่าหาทางปรับพฤติกรรมการทำงานของพนักงานเข้าหาระบบ KM ให้ปรึกษาพนักงาน และหาทางจัดระบบ KM ให้ตรงกับนิสัยการทำงานของพนักงานให้มากที่สุด รายละเอียดอยู่ในตอนที่ ๑๗

หลุมพรางที่ ๙ ไม่ได้ดำเนินการเป็นโปรแกรมจัดการการเปลี่ยนแปลง

ในความเป็นจริง KM คือเครื่องมือเปลี่ยนแปลงองค์กร ไม่ใช่กิจกรรมนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในองค์กร ไม่ใช่การนำงานอีกแบบหนึ่งเข้ามาใช้ในองค์กร แต่เป็นกิจกรรมเพื่อเปลี่ยนแปลงวิธีคิดของพนักงาน KM เป็นเรื่องของการเปลี่ยนแปลงลำดับความสำคัญ กิจกรรมประจำวัน และนิสัย ขององค์กรและของพนักงาน กิจกรรม KM ต้องดำเนินการในรูปของโปรแกรมสร้างการเปลี่ยนแปลง โดยมีผู้บริหารระดับสูงสนับสนุน มียุทธศาสตร์การสื่อสาร มีเป้าหมายสุดท้าย โดยมีการดำเนินการเป็นขั้นตอน ไม่ใช่หวังให้ทุกคนเปลี่ยนทันที ดังนั้นโปรแกรม KM ต้องทำงานร่วมกับโปรแกรมเปลี่ยนแปลงองค์กร และต้องจัดการสู่จุดเปลี่ยนทั้งองค์กร (tipping point) รายละเอียดอยู่ในตอนที่ ๑๘

สิ่งที่จำเป็นคือ การประเมินขุมทรัพย์ความรู้ (knowledge asset audit) และการประเมินวัฒนธรรม (culture assessment) เพื่อจัดการให้เกิดการไหลของความรู้ที่สำคัญยิ่งยวด

หลุมพรางที่ ๑๐ ทีม KM เทศนาเฉพาะต่อผู้มีศรัทธา

อย่าตกหลุมผู้มีศรัทธา ต่อ KM ซึ่งในช่วงต้นอาจมีราวๆหนึ่งในห้าขององค์กร ทีมริเริ่มดำเนินการ จัดการความรู้มักไปพบเพื่อนร่วมองค์กรที่มีความกระตือรือร้นศรัทธาต่อ KM และติดอยู่ในพนักงานกลุ่มนั้น โดยลืมไปว่ายังมีพนักงานอีกขั้วหนึ่ง (อาจราวๆ หนึ่งในห้า) ที่เกลียด KM และอีกราวๆ สามในห้าที่ไม่สนใจ ต้องไม่ลืมหาทางสื่อสารรับฟังจากอีกสองกลุ่มนี้ รายละเอียดอยู่ในตอนที่ ๑๘

หลุมพรางที่ ๑๑ ทีม KM ไม่ได้จัดการให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียสำคัญเข้าร่วมอย่างครบถ้วน

ต้องทำ stakeholder mapping แล้วทำ stakeholder management สามอย่างคือ (๑) หาทางให้ เข้าร่วมขบวนการอย่างเหมาะสมตามขั้นตอนของการริเริ่มกิจกรรม KM (systematic engagement), (๒) สื่อสารและรับฟังความเห็น (communication), และ (๓) ทำให้ KM มีการประสานสอดคล้องกับงานของ บุคคลเหล่านั้น (alignment)

หลุมพรางที่ ๑๒ ทีม KM มีสมรรถนะไม่ตรงความต้องการ

ในเมื่อ KM เป็นกิจกรรมสร้างการเปลี่ยนแปลง ทีมริเริ่มดำเนินการจัดการความรู้จึงต้องมีสมรรถนะเป็น change agent และ change leader หัวหน้าทีมต้องมีสมรรถนะของผู้นำที่มีวิสัยทัศน์ ที่สามารถทำงานร่วมกับ คนในองค์กรได้ตั้งแต่ผู้บริหารสูงสุด ลงไปจนถึงพนักงานระดับล่างสุด มีความสามารถ ความมุ่งมั่น และอำนาจ ในการทำให้การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นได้จริง

ที่สำคัญคือ ต้องมีสมรรถนะในการทำงานกับ “พลังหนุนทั้งสี่” ของ KM อย่างได้ผล คือเกิดการ เปลี่ยนแปลงในองค์กร

สรุป

พึงนำเอา “หลุมพรางทั้ง ๑๒” มาไตร่ตรองพิจารณาในขั้นตอนของการวางแผน และการริเริ่มดำเนินการ KM เพื่อหาทางหลีกเลี่ยงความล้มเหลวแบบ “ปลาตายน้ำตื้น”

วิจารณ์ พานิช

๒๗ พ.ย. ๕๙

บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย 

แก้ไขล่าสุด ใน วันพฤหัสบดีที่ 15 ธันวาคม 2016 เวลา 13:30 น.
 


หน้า 221 จาก 561
Home

About Us

ศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ (ศบม.) เป็นองค์กรที่พัฒนาและจัดทำโครงการเพื่อทำประโยชน์ให้สังคม เป็นองค์กรสนับสนุนการดำเนินงานของภาครัฐ ช่วยแก้ปัญหาผู้ประกอบการภาคธุรกิจบริการที่ขาดแคลนบุคลากรที่มีมาตรฐานในการให้บริการ
อ่านเพิ่มเติม

มูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ ์

 iHDC Profile
บัญชีรายชื่อกรรมการ
ใบสำคัญแสดงการจดทะเบียน การเปลี่ยนแปลงกรรมการของมูลนิธิ
เอกสารประชาสัมพันธ์ โครงการ HMTC.pdf
เอกสารแนะนำโครงการ HMTC 1.pdf
เอกสารโครงการ HMTC 2 คุณสมบัติผู้เข้าร่วมโครงการ.pdf
iHDC นิติบุคคล.pdf
iHDC บุคคล.pdf
iHDC บุคคลเครือข่าย.pdf
รายงานการประชุม 6 มีนาคม 2560.pdf
ข้อบังคับมูลนิธิ
ใบสำคัญแสดงการจดทะเบียนจัดตั้งมูลนิธิ
Ihdc-Profile and Roadmap 2016-2019 Mar 23 2560.pdf
รายงานการประชุมใหญ่คณะกรรมการมูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ 2559.pdf
คำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ สาขาวิชาชีพ.pdf
รายงานการประชุมใหญ่วันที่ 18 ธ ค 2558 v 3.pdf
รายงานการประชุม วันที่ 24 ธันวาคม 2557 updated 4 มีนาคม 2558.pdf
iHDC-invitation Letter.doc
iHDC-Member Form Thai.doc
iHDC-Member Form English.doc
รายงานการประชุมกรรมการมูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ วันที่ 15 มกราคม 2556 ฉบับสมบูรณ์


thaibetter
พัฒนาประเทศไทยแบบทวีคูณ และยั่งยืน ( ททค )

Login


แบบสำรวจ

สถิติเว็บไซด์

สมาชิก : 5644
Content : 3068
เว็บลิงก์ : 26
จำนวนครั้งเปิดดูบทความ : 8746458

facebook

Twitter


ล่าสุด

บทความเก่า