Thaiihdc.org

  • เพิ่มขนาดตัวอักษร
  • ขนาดตัวอักษรปกติ
  • สดขนาดตัวอักษร
Thaiihdc.org

7 Step to Success หรือ 7 ก้าว สู่ความสำเร็จ

พิมพ์ PDF

7 Step to Success หรือ 7 ก้าว สู่ความสำเร็จ

ใครบ้างไม่อยากประสบความ สำเร็จ? ถามแบบนี้อาจฟังดูแปลก ถึงอย่างนั้น คนที่คุณรู้จักส่วนใหญ่ ก็ไม่เคยประสบความสำเร็จกับเขาสักที ได้แต่เฝ้าฝันถึง พูดถึง แต่ไม่เคยได้รับความสำเร็จเลย ซึ่งก็น่าเสียดาย

ทำไม เป็นเช่นนั้น? เพราะคนส่วนใหญ่ไม่เข้าใจความสำเร็จนั่นเอง มันไม่ใช่ล็อตเตอรี่ ไม่ใช่ว่าคุณจะแวะร้านสะดวกซื้อขากลับบ้าน ซื้อสลากสักใบ แล้วรอให้ความสำเร็จมาหล่นทับได้ อีกทั้งมันไม่ใช่สถานที่ ที่คุณจะได้เจอยามเมื่อชีวิตสุกงอมจนถึงระดับหนึ่ง ความสำเร็จไม่ใช่สิ่งที่อยู่ปลายทาง แต่เป็นสิ่งประจำวันนี่แหละ ทางเดียวที่จะประสบความสำเร็จอันแท้จริงได้ก็คือ สร้างมันขึ้นมาทุกๆวัน

ความจริงเรื่องความสำเร็จ
ความสำเร็จนั้นใช่ว่าคุณต้องมีโชคหรือเงินทอง แต่คุณพึงรู้ว่า

* แต่ละวันคุณทำอะไร คุณก็เป็นอย่างนั้น
* คุณสร้างนิสัยขึ้นก่อน แล้วนิสัยก็สร้างตัวคุณ
* การสร้างนิสัยแห่งความสำเร็จนั้นง่ายพอๆ กับสร้างนิสัยแห่งความล้มเหลว

ทุกๆ วันที่มีชีวิตอยู่ คุณกำลังอยู่ในกระบวนการเปลี่ยนแปลง จะดีขึ้นหรือแย่ลงขึ้นอยู่กับว่าคุณได้สร้างอะไรให้แก่ตัวเองบ้าง ขอแนะวิธีบางอย่าง ที่จะสร้างความสำเร็จให้แก่ตัวคุณ

7 ก้าว สู่ความสำเร็จ(7 Step to Success)

1. จงถือเป็นหน้าที่ที่จะเติบโตขึ้นทุกวัน คนเราทำข้อผิดพลาดใหญ่หลวงอย่างหนึ่งก็คือ พุ่งเป้าผิด ความสำเร็จไม่ได้เกิดจากการได้มา การบรรลุถึง หรือการก้าวไปข้างหน้า แต่เกิดจากผลของการเติบโตเท่านั้น ถ้าคุณตั้งเป้าว่าจะเติบโตขึ้นทีละนิดทุกวัน ไม่นานคุณก็จะเริ่มเห็นผลชัดเจนในชีวิต
อย่างที่ โรเบิร์ต บราวนิง กวีชาวอังกฤษ กล่าวว่า “อยู่ในโลกไปไย หากไม่ใช่เพื่อเติบโต?”

2. ให้ความสำคัญแก่กระบวนการยิ่งกว่าผล ผลชัดเจนในชีวิตนั้นเป็นเครื่องช่วยตัดสินใจที่ดี แต่กระบวนการเปลี่ยนแปลงและเติบโตต่างหากที่จะยืนยง ถ้าคุณอยากก้าวไปสู่อีกระดับหนึ่ง ก็จงมุ่งมั่นพัฒนาอย่างต่อเนื่อง

3. อย่ารอคอยแรงดลใจ เจอร์รีย์ เวสต์ ยอดนักเบสบอลกล่าวว่า “ชีวิตคุณคงไม่ไปไหน หากลงมือทำงานเฉพาะแต่ในวันที่คุณรู้สึกดี” ผู้ที่ก้าวไปได้ไกลก็เพราะเขาหมั่นเตือนตัวเองทุกวัน ทุ่มเทให้ชีวิตสุดตัวไม่ว่าจะรู้สึกอย่างไรก็ตาม จะมีความสำเร็จได้ก็ต้องมุ่งมั่นบากบั่น

4. เต็มใจสละความสุขเพื่อสร้างโอกาส หนึ่งในบทเรียนยิ่งใหญ่ที่สุดที่พ่อสอนผมก็คือ หลักของการ จ่ายเดี๋ยวนี้ สุขีวันหน้า เพราะทุกสิ่งในชีวิตนั้น คุณต้องแลกมาด้วยบางสิ่งบางอย่าง จะเลือกจ่ายตั้งแต่แรกเริ่ม หรือจ่ายหลังสุดก็ต้องจ่ายทั้งนั้น ถ้าคุณจ่ายแต่แรก คุณก็จะมีสิทธิ์รับผลตอบแทนที่ยิ่งกว่าในภายหลัง แถมผลนั้นยังหอมหวานกว่าด้วย

5. ฝันให้ใหญ่ (Think BIG) การฝันเรื่องเล็กๆ นั้นเป็นเรื่องที่ไม่คุ้มค่า โรเบิร์ต เจ. ครีเกล กับ หลุยส์ แพตเลอร์ ผู้ เขียนหนังสือ ถ้ามันไม่แตก ก็ทุบมันเลย (If It Ain’t Broke, Break It) ย้ำว่า “เราบอกไม่ได้หรอกว่าขีดจำกัดของคนเราอยู่ตรงไหน การทดสอบ นาฬิกาจับเวลา และเส้นชัยทั้งหลายในโลกนี้ไม่อาจชี้วัดศักยภาพของมนุษย์ได้ หากใครกำลังสานฝันให้เป็นจริง คนคนนั้นก็ก้าวพ้นสิ่งที่ดูจะเป็นขีดจำกีด ศักยภาพที่มีอยู่ในตัวเรานั้นไม่มีขีดจำกัด และยังไม่ปลดปล่อยออกมาเป็นส่วนใหญ่ หากคุณคิดถึงขีดจำกัด ก็เท่ากับคุณสร้างขีดจำกัดขึ้นมาแล้ว”

6. หัดจัดลำดับความสำคัญ สิ่งหนึ่งที่ผู้ประสบความสำเร็จทุกคนมีเหมือนกันก็คือ ต่างเชี่ยวชาญเรื่องการจัดเวลา ก่อนอื่นเขาจะจัดระเบียบตัวเองเป็นอันดับแรก เฮนรี่ ไคเซอร์ ผู้ก่อตั้งไคเซอร์อะลูมิเนียม และศูนย์สุขภาพไคเซอร์เพอมาเนนเต กล่าวไว้ว่า “ทุกนาทีที่ใช้วางแผน จะช่วยลดเวลาให้คุณเป็นสองเท่า ยามลงมือทำ” คุณเรียกเวลาที่สูญเสียไปกลับมาไม่ได้ ฉะนั้นจงใช้เวลาทุกขณะให้คุ้ม

7. เลิกเพื่อเลื่อนระดับ ไม่มีสิ่งมีคุณค่าใดที่ได้มาโดยไม่ต้องเสียอะไรบางอย่างไป ชีวิตนั้นเต็มไปด้วยช่วงเวลาสำคัญ ที่คุณจะมีโอกาสแลกสิ่งมีค่าบางอย่างเพื่อให้ได้อีกสิ่งหนึ่ง จงตั้งใจมองหาช่วงเวลาที่ว่านั้น และให้แน่ใจว่า ทุกครั้งคุณแลกไปเพื่อให้ได้มาซึ่งสิ่งที่มีคุณค่ามากกว่า ไม่ใช่น้อยกว่า

ถ้าคุณทุ่มเทตั้งใจทำ 7 ก้าวข้างต้นนี้ คุณจะพัฒนาขึ้นเรื่อยๆ ก็จะประสบความสำเร็จ การเติบโตของคุณอาจไม่ปรากฏให้คนอื่นเห็นอย่างเด่นชัดในทันที แต่ คุณ จะแลเห็นความก้าวหน้าของตนเองแทบจะในทันทีทันใด และแม้คนอื่นจะยอมรับช้าไปบ้างก็อย่าท้อใจ ให้พยายามต่อไป คุณจะประสบความสำเร็จในที่สุด

นี่จะเป็นช่วงก้าวย่างอันเหลือ เชื่อ! บางครั้งคุณจะพบกับความตื่นเต้น และบางครั้ง ความมีวินัยเท่านั้นที่จะทำให้คุณยืนหยัดไปจนตลอดรอดฝั่งได้ แต่จงจำไว้เสมอว่า ความสำเร็จกำลังรอคอยให้คุณเปิดฉากก่อน มาเริ่มต้นกันเถอะ

Credit: John C. Maxwell


คัดลอกจาก https://www.facebook.com/Puttichet/posts/587455794761814:0

แก้ไขล่าสุด ใน วันเสาร์ที่ 23 เมษายน 2016 เวลา 10:59 น.
 

คนดีของโลกที่น่ายกย่อง

พิมพ์ PDF

เพื่อนส่งมาให้  อ่านแล้วชื่นชมและซาบซึ้งกับ คนไทยที่ชื่อ ดร.กฤษณา ไกรสินธ์ เป็นอย่างมาก ภูมิใจที่เกิดมาเป็นคนไทย ประเทศไทยถึงแม้นจะเป็นประเทศเล้กๆ และหลายๆประเทศคิดว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่ด้อยพัฒนา ประเทศที่ถูกประนามว่า เป็นประเทศที่มีการค้ามนุษย์สูง  ประเทศที่มีคอรัปชั่น โกงกินเพื่อผลประโยชน์ของคนกลุ่มเล้กมากเป็นอันดับต้นๆ ของประเทศทั่วโลก อย่างไรก็ตามก็มีคนไทยที่ได้รับการยกย่องจากทั่วโลกเป็นจำนวนมากหลายท่านด้วยกันในเกือบจะทุกยุคทุกสมัย และท่าน เภสัชกรหญิง ดร.กฤษณา ไกรสินธ์ ก็เป็นท่านหนึ่งที่นำชื่อเสียงมาสู่ประเทศ แต่แปลกที่ทางการไม่ประโคมข่าวความดีของท่านผู้นี้ ที่ไม่เพียงเป็นคนดีของประเทศแต่เป็นคนดีของโลก จึงถือโอกาสนี้ นำผลงานของท่านมาเผยแพร่ให้เราคนไทยได้ซาบซึ้งและชื่นชมกับคนไทยคนดีของชาวโลก

ม.ล.ชาญโชติ ชมพูนุท

21 เมษายน 2559 

ถามเพื่อนๆว่ารู้จักบุคคลนี้ไหม ? เดาใด้เลยมีแค่ ไม่เกิน 10%ที่รู้จัก คนไทยรู้จักน้อยมาก แต่รัฐบาลอเมริการู้จักเธอดี


ประวัติ 'เภสัชกรยิปซี ดร.กฤษณา ไกรสินธุ์' 'บุคคลแห่งปีเอเชีย' นักสู้เอดส์  

ละครบรอดเวย์ สร้างจากชีวิตจริง เภสัชกรยิปซีไทย (แต่คนไทย ไม่รู้จัก ) ลองอ่านกันดูนะค่ะแล้วคุณจะรู้ว่าชีวิตของคนๆหนึ่งเกิดมาเพื่อให้ผู้อื่นโดยแท้ นั้นงดงามเพียงใด 


เภสัชกรยิปซีไทย ผู้ผลิตยาต้านไวรัสเอดส์ (ซึ่งปัจจุบัน ขณะนี้ ไทยกำลังมีปัญหากับอเมริกา เพราะข้อขัดแย้ง เรื่องราคายา ที่ไทยไม่ยอมอเมริกา เรื่อง สิทธิบัตรยา) 


ดร.กฤษณา ไกรสินธุ์ เภสัชกรยิปซีไทย ผู้ผลิตยาต้านไวรัสเอดส์ที่เร่ร่อนไปทั่วเเอฟริกาจนเป็นที่รู้จัก ถึงขนาดอเมริกานำชีวิตเธอไปสร้างเป็นละครบรอดเวย์ ในขณะที่คนไทยไม่รู้จักเธอ 


ชื่อ - ดร.กฤษณา ไกรสินธุ์ เป็นคนเกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี มีพี่น้อง 2 คน พ่อเป็นหมอ คุณแม่ เป็นพยาบาล 


เรียน - นักเรียนประจำที่ รร.ราชินี ปริญญา คณะเภสัชศาสตร์ ม.เชียงใหม่ ปริญญาโท สาขาเภสัชวิเคราะห์ ม.Strahclyde ปริญญาเอก สาขาเภสัชเคมี ม.Bath ที่อังกฤษ  (ฐานะทางบ้าน ก็สบายๆ ญาติพี่น้อง ทำธุรกินโรงแรมที่เกาะสมุย) 


ชอบเล่นดนตรี เคยฝันอยากเป็น Conductor 


เคยอยากเปลี่ยนสายเรียน ไปเป็น ไบโอเคมี (ชีวเคมี )แต่เห็นว่า คณะที่เรียนอยู่ ในเมืองไทย มีคนเรียน แค่ 5 คน จึงก้มหน้าก้มตาเรียนต่อไป 


ปี 2535 เริ่มมีผู้ป่วยเอดส์ในประเทศไทย เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ หลังจาก พบในเอดส์ในไทยครั้งแรก ปี 2526 ทำไห้ตัดสินใจศึกษาวิจัยยาต้านไวรัสเอดส์ คิดค้นอยู่ 3 ปี แรกๆทำงานคนเดียวหมด ประเทศไทยจึงเป็นประเทศแรกของโลก ที่ผลิตยาชื่อสามัญว่า ยาเอดส์ ในปี 2538 ได้ 


โดนคดีขึ้นศาลกับบริษัทยา(ชื่อของอจ. ถูกบรรจุอยู่ในแบล็กลิสต์ของบริษัทยาเกือบทุกบริษัท) จากเรื่องของผลประโยชน์ เพราะถ้า ผลิตยาได้สำเร็จ ยอดขายของผู้ผลิตรายอื่นๆ ก็ต้องตกแน่นอน เพราะว่า ราคาต่างกันค่อนข้างมาก ถือว่าตัวเองได้ทำหน้าที่ที่ได้ร่ำเรียนมาอย่างดีที่สุดแล้ว ไม่ได้คิดว่าจะตบหน้าใคร หรือมาทำให้ยอดขายของบริษัทไหนลดลง (ก็คนกำลังจะตายอยู่แล้ว ไม่มีเงินซื้อยาแพงๆกิน ก็ต้องช่วยกันไป) 


คือ ยา ZIDOVUDINE (AZT)- ยาที่ลดการติดเชื้อจากแม่สู่ลูก จาก แคปซูลละ 40 บาท เหลือ 7-8 บาท อีกตัวคือ จากเดิม ขาย แคปซูลละ 284 บาท เหลือ 8 บาท ยาที่มีชื่อเสียงมาก คือ GPO-VIR สามารถทำให้ยา 3 เม็ดรวมอยู่ในเม็ดเดียว จากต้องทาน วันละ 6 เม็ด เหลือเพียง 2 เม็ดเท่านั้น 


รัฐบาลไทย สามารถช่วยเหลือผู้ป่วยโรคเอดส์ จาก 1000 คน เพิ่มเป็น 10000 คน ค่ายา จาก คนละ 20,000 เหลือ 1,200 บาท 


ปี 2545 ลาออกจากตำแหน่งผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนา เพื่อจะไปช่วยเหลือทางแอฟริกาใต้อย่างเต็มตัว (เห็นว่า เมืองไทย เริ่มช่วยเหลือตัวเองได้แล้ว ) ไม่มีใครยอมเซ็น(รวมทั้งรัฐมนตรี)ใบอนุมัติการลาออกให้ 


มีการยื่นข้อเสนอ ให้เปลี่ยนตำแหน่งสูงขึ้น และการเอายาของเราไปขายที่แอฟริกาแทน แต่ไม่เอาด้วยเหตุผลต้องการให้พวกเขาทำเองให้พึ่งตนเอง เชื่อว่า ถ้าเขาอยากกินปลา เราก็ควรสอนเขาตกปลาเอง ไมใช่ว่าเอาปลาไปให้เขากิน เพราะไม่อย่างนั้น เขาจะไม่มีวันพึ่งตัวเองได้ เมืองไทยไปจำหน่ายได้ มันจะมีประโยชน์อะไร เพราะมันไม่มีความยั่งยืน(ไม่สนเงินเข้ากระเป๋า ว่างั้น) 


เดินทางไปคองโก ไปบุกเบิกใหม่หมด วาดแปลนโรงงาน ที่จะผลิตยา ใช้เวลา 3 ปี โรงงานดังกล่าว ผลิต ยาต้านไวรัสเอดส์ ชื่อ AFRIVIR เหมือนเมืองไทยทุกอย่าง ได้สำเร็จ 


ปี 2546 ผลิตยาที่ทวีปแอฟริกา ที่ดังมาก และขายดีที่สุดในประเทศแทนซาเนีย คือ ยามาลาเรีย (THAI-TANZUNATE) ยาราคาถูก จาก 360 บาท ผลิตได้ ในราคา 36 บาทเท่านั้น 


ประเทศด้อยพัฒนาในแอฟริกายากจนมาก สมมติว่าโรงพยาบาลหนึ่งมีเตียง 150 เตียงแต่มีคนไข้ที่มาแอดมิด 450 คน นั่นหมายถึง ใน 1 เตียง มีคนไข้ 3 คน นอนบนเตียงเดียวกัน 2 คน นอนกลับหัวกลับหางกัน และนอนใต้เตียงอีก 1 คน 


เวลาอยู่ที่แอฟริกา ก็ร่อนเร่ไปเรื่อยๆ ไม่ค่อยมีหลักแหล่ง บางทีก็มีคนช่วยเหลือเรื่องค่าใช้จ่ายการเดินทาง บางทีออกเอง เพราะประเทศเขายากจน ไม่มีตังค์ให้หรอก 


อุปสรรคชีวิตโลดโผน 

เจอเครื่องบินดีเลย์ ไป 24 ชม. 

บางที เครื่องบินก็พาไปลงผิดประเทศ 

เสื้อผ้า ต้องมีติดกระเป๋าสะพายตลอดอย่างน้อย 3 ชุด เพราะชุดในกระเป๋าเดินทางที่โหลดไว้ใต้ท้องเครื่องอาจมาช้า ไม่ก็หายไปเลย 

ที่คองโก นอนอยู่ดีๆ ก็มีแสงสว่างวาบๆขึ้นมา ก็คิดในใจว่า ทำไมถึงสว่างเร็วจัง ปรากฏว่าไม่ใช่แต่เป็น ระเบิดที่เขายิงมา โดยมีเป้าหมายที่บ้านพักของดิฉัน แต่เขากะพลาดไปหน่อย เลยไปตกข้างๆบ้านแทน คิดว่า คงเป็นฝีมือของพวกที่เขาคิดว่าดิฉันเป็นศัตรูนั่นแหล่ะค่ะ 


ตอนไปช่วยเหลือที่ ไนจีเรีย ต้องเดินทางตอนตี 1 จากสนามบิน เข้าสุ่ที่พัก คนเดียว ไม่มีคนมารับ นั่งแท๊กซี่ไป ถูกคนเอาปืนมาจี้ 5 ครั้ง ในคืนเดียว รอดมาได้หมดทุกครั้ง และไม่มีใครเอาทรัพย์สินไปเลยสักคนเดียว ด้วยเหตุผล " ฉันมาช่วยคนในประเทศเธอน่ะ อยากได้อะไรก็เอาไปเลย" เลยไม่มีคนจี้ต่อ แต่เสียเวลาไป 4 ชั่วโมง กับการเดินทาง 20 กม. เพราะมัวแต่โดนจี้ ไป 5 ครั้ง 


สื่อของฝรั่งเศสและเยอรมนี ชื่นชมการทำงานมาก นำไปสร้างเป็นภาพยนตร์ จนได้รับรางวัลจาก เทศกาลหนังเมืองคานส์ 3 รางวัล 


เรื่องหนังสารคดี 

A Right to Live – Aidsmedication for Millions


http://www.nathoncity.com/paper/1155

แก้ไขล่าสุด ใน วันพฤหัสบดีที่ 21 เมษายน 2016 เวลา 11:42 น.
 

ระบบทุนนิยมโลกในทัศนะ จอร์ซ โซรอส พ่อมดการเงินของโลก

พิมพ์ PDF

ระบบทุนนิยมโลกในทัศนะ จอร์ซ โซรอส พ่อมดการเงินของโลก

หนังสือวิกฤติระบบทุนนิยมโลก หนังสือเล่มล่าสุดของจอร์ซ โซรอส พ่อมดทางการเงินที่โด่งดังที่สุดได้วิจารณ์ระบบทุนนิยมโลกใน 2 ประเด็นใหญ่ คือ

1. ข้อบกพร่องของกลไกตลาด ซึ่งเห็นได้ชัดที่สุดในความไร้เสถียรภาพของตลาดการเงินระหว่างประเทศ

จุดอ่อนของภาคสังคมที่ไม่เกี่ยวกับการตลาด ซึ่งเห็นได้ชัดที่สุดคือความล้มเหลวของ
การเมืองทั้งในระดับประเทศและระดับระหว่างประเทศ

ทุนนิยมการค้าของโลกเกิดขึ้นมานานแล้ว แต่เศรษฐกิจของประเทศทั่วโลกได้เข้ามาเชื่อมโยงกันเป็นระบบเศรษฐกิจโลกจริงๆ ก็หลังจากที่ทุน ข้อมูลข่าวสาร และการประกอบการสามารถเคลื่อนย้ายได้อย่างเสรี เหมือนไม่มีพรมแดน เมื่อสักราว 20 ปีที่แล้วนี้เอง

การขยายตัวของระบบทุนนิยมโลก เป็นประโยชน์กับบริษัทข้ามชาติและตลาดการเงินระหว่างประเทศ ซึ่งมีอำนาจมากขึ้น แม้ว่ารัฐบาลของแต่ละประเทศจะยังคงมีอำนาจอธิปไตยในการเข้าแทรกแซงทางเศรษฐกิจในประเทศของตน แต่รัฐบาลก็ต้องขึ้นอยู่กับพลังของการแข่งขันในระบบทุนนิยมโลก ทั้งในเรื่องการค้าและการลงทุน ถ้ารัฐบาลไหนกำหนดเงื่อนไขที่ไม่เอื้อต่อเงินทุน เงินทุนก็จะหนีไปประเทศอื่น ถ้ารัฐบาลไหนให้แรงจูงใจแก่การลงทุน หรือรักษาค่าจ้างแรงงานให้ต่ำ เงินทุนก็จะไหลเข้าประเทศ

ระบบทุนนิยมโลก เป็นระบบจักรวรรดิที่เป็นนามธรรม มากกว่าจักรวรรดิที่เห็นได้ชัดแบบในอดีต มันอิทธิพลต่อชีวิตของคนทั่วทั้งโลกมากกว่ายุคใดในประวัติศาสตร์ และที่สำคัญที่สุดคือ ระบบทุนนิยมโลกมุ่งขยายตัวอย่างไม่หยุดยั้ง ไม่ต่างไปจากจักรพรรดิ เช่น พระเจ้าอเลกซานเดอร์มหาราชหรืออัตติลา ชาวฮั่น การขยายตัวของมันมุ่งไปในทางการมีอิทธิพลครอบงำชีวิตประชาชนมากกว่าการขยายดินแดนทางภูมิศาสตร์

ทุนนิยมกับประชาธิปไตย

ความเชื่อที่ว่าระบบทุนนิยมจะทำให้เกิดประชาธิปไตยทางการเมืองไปด้วยนั้น เป็นความจริงเฉพาะในประเทศทุนนิยมศูนย์กลาง แต่ไม่เป็นจริงสำหรับประเทศพัฒนาทุนนิยมขอบนอกที่พัฒนาทุนนิยมขึ้นทีหลัง การพัฒนาเศรษฐกิจแบบทุนนิยมต้องการการสะสมทุน ดังนั้นจึงต้องการค่าจ้างต่ำ และอัตราการออมสูง ซึ่งรัฐบาลเผด็จการอาจจะทำได้ดีกว่าด้วยซ้ำ อย่างในเอเชีย รัฐบาลส่วนใหญ่ก็เข้าข้างนักธุรกิจและช่วยพวกเขาสะสมทุน

แม้ในประเทศทุนนิยมศูนย์กลางเอง ทุนนิยมและประชาธิปไตยก็มีหลักการที่แตกต่างกัน ทุนนิยมเน้นความมั่งคั่ง ขณะที่ประชาธิปไตยเน้นอำนาจทางการเมือง หน่วยวัดในระบบทุนนิยมคือเงิน หน่วยวัดในประชาธิปไตยคือสิทธิในการออกเสียงเลือกตั้ง ทุนนิยมรับใช้ประโยชน์ส่วนตัว ประชาธิปไตยรับใช้ประโยชน์ส่วนรวม ในประเทศทุนนิยมศูนย์กลางมีความแตกต่างขัดแย้งสูง และระบบรัฐสวัสดิการ (ซึ่งทำให้ทุนนิยมมีอายุยืนยาวกว่าที่คาร์ลมาร์กซ์ทำนายไว้) ในปัจจุบันก็เริ่มลดลง เพราะเงินทุนสามารถโยกย้ายหนีภาษีและการจ้างงานที่มีเงื่อนไขมากไปสู่ประเทศอื่นได้ง่ายขึ้น

ระบบรัฐสวัสดิการที่ลดลงในประเทศทุนนิยมศูนย์กลาง เป็นปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นไม่นานมานี้ และผลกระทบทั้งหมดของมันยังไม่ปรากฎให้รู้สึกได้ทั้งหมด ที่น่าสังเกตคือ สัดส่วนของเศรษฐกิจภาครัฐบาล ต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติในประเทศพัฒนาอุตสาหกรรมที่มีอัตราเพิ่มขึ้นสูง นับจากหลังสงครามโลกครั้งที่สองเป็นต้นมา เริ่มมีอัตราลดลงนับจากปี 2523 แม้จะลดลงไม่มากนัก แต่ภาษีที่เก็บจากทุนและการจ้างงานมีสัดส่วนลดลง ขณะที่ภาษีจากการบริโภคมีสัดส่วนสูงขึ้น กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ ภาระของภาษีย้ายจากเจ้าของเงินทุนไปสู่ประชาชนมากขึ้น

บทบาทของเงิน

เงินมีบทบาท 3 อย่างคือ เป็นหน่วยวัดทางบัญชี, เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยน และเป็นที่สะสมมูลค่า นักเศรษฐศาสตร์คลาสสิกตีความว่า เงินเป็นเครื่องมือเพื่อจุดมุ่งหมาย(Means to an End) เงินไม่ใช่จุดมุ่งหมายในตัวเอง เงินสะท้อนมูลค่าในการแลกเปลี่ยน(Exchange Value) ไม่ใช่มูลค่าแท้จริงที่อยู่ภายในตัวมัน(Intrinsic Value) นั่นก็คือมูลค่าของเงินขึ้นอยู่กับมูลค่าของสินค้าและบริการที่เงินสามารถแลกเปลี่ยนได้ (เงินไม่ได้มีค่าในตัวมันเอง แต่เพราะคนยอมรับให้มันเป็นเงิน)

ในสังคมทุนนิยม ซึ่งเน้นการแข่งขัน และการวัดความสำเร็จด้วยความมั่งคั่งคิดเป็นตัวเงินมูลค่าในการแลกเปลี่ยนของเงินได้เข้ามาแทนที่มูลค่าภายในของตัวเงิน เมื่อเงินสามารถซื้อเกือบทุกสิ่งได้ ทุกคนก็ต้องการเงิน เงินกลายเป็นอำนาจ และอำนาจก็คือจุดมุ่งหมายในตัวของมันเอง คนยิ่งมีเงินมาก ก็ยิ่งมีอำนาจมาก

การที่ระบบทุนนิยมโลกเน้นการแสวงหากำไรสูงสุด ทำให้ละเลยจุดมุ่งหมายด้านอื่นของสังคมเช่น การเพิ่มการจ้างงาน ซึ่งจะเป็นผลดีต่อสังคมส่วนรวมมากกว่ากรณีบริษัทได้กำไรสูงสุด การแข่งขันกันหากำไร ทำให้เกิดการรวมบริษัท, การลดขนาด และการย้ายโรงงานไปต่างประเทศ ทำให้เกิดปัญหาการว่างงานที่เรื้อรังในยุโรป

ระบบทุนนิยมโลกยังประสบความสำเร็จอย่างวิปริตในการแผ่อิทธิพลทางอุดมการณ์เข้าไปในอาณาบริเวณที่คุณค่าอย่างอื่นนอกจากคุณค่าที่คิดเป็นตัวเงิน เคยครอบครองอยู่ คือ ในวัฒนธรรมและในอาชีพบางอาชีพ ซึ่งคนเคยยึดคุณค่าของวิชาชีพ(เช่น แพทย์ ครู) มากกว่าคุณค่าที่คิดเป็นตัวเงิน ระบบทุนนิยมโลกในปัจจุบันแตกต่างจากทุนนิยมสมัยก่อนตรงที่เงินมีบทบาทเป็นมูลค่าภายในตัวของมันเอง(Intrinsic Value) เพิ่มขึ้นอย่างมาก เมื่อเทียบกับว่าก่อนนี้เงินเคยมีบทบาทแค่เป็นมูลค่าในการแลกเปลี่ยนเท่านั้น ปัจจุบันเงินได้กลายเป็นผู้ปกครองชีวิตของคน ที่ยิ่งใหญ่ยิ่งกว่าครั้งใดในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ

เครดิตในฐานะของที่มาแห่งความไม่มั่นคง

เงินเป็นเรื่องที่สัมพันธ์กับเรื่องเครดิต(สินเชื่อ) อย่างใกล้ชิด แต่คนเรายังเข้าใจบทบาทของเครดิตน้อยกว่าบทบาทของเงิน เครดิตมักจะขึ้นอยู่กับหลักทรัพย์ที่ผู้ขอกู้นำมาจำนองหรือหลักฐานที่แสดงว่าผู้ขอกู้มีเครดิต มูลค่าของหลักทรัพย์ที่จำนองหรือเครดิตของผู้กู้เป็นปฏิสัมพันธ์แบบส่งผลสะท้อนกลับ เพราะการมีเครดิตมากน้อยแค่ไหน ขึ้นอยู่กับการประเมินของผู้ให้กู้ และมูลค่าของหลักทรัพย์จำนอง(ที่นิยมมากที่สุดคืออสังหาริมทรัพย์) ก็ได้รับอิทธิพลจากความจริงที่ว่าในระบบเศรษฐกิจขณะนั้นมีเครดิตหรือสินเชื่อที่จะปล่อยให้กู้ได้มากแค่ไหนด้วย

เครดิตของประเทศผู้ขอกู้ มักจะถูกวัดโดยสถิติบางตัว เช่น อัตราส่วนหนี้ต่อผลิตภัณฑ์สุทธิประชาชาติ, อัตราส่วนการชำระหนี้ต่อการส่งออก ฯลฯ มาตรวัดเหล่านี้เป็นปฏิสัมพันธ์แบบส่งผลสะท้อนกลับ เพราะความมั่งคั่งของประเทศผู้ขอกู้มักจะขึ้นต่อความสามารถในการกู้จากต่างประเทศได้มาก ปฏิสัมพันธ์แบบส่งผลสะท้อนกลับ 2 ทางนี้มักถูกมองข้าม ดังนั้นจึงเกิดการปล่อยกู้ระหว่างประเทศกันอย่างขนานใหญ่ชนิดเกินความพอดีในทศวรรษ 2510 หลังจากเกิดวิกฤติหนี้สินในปี 2525 ก็เชื่อกันว่าผู้ให้กู้คงระมัดระวังมากขึ้น คงไม่มีการปล่อยเงินกู้กันมากเกินไปจนทำให้เกิดวิกฤติเหมือนอย่างที่เคยเกิดมาแล้วอีก แต่สิ่งนี้ก็เกิดขึ้นอีกครั้งที่เม็กซิโกในปี 2537 และอีกครั้งที่ไทยและประเทศเอเชียอีกหลายประเทศในปี 2540

เครดิตระหว่างประเทศมีลักษณะที่ไม่มั่นคงมากกว่าเครดิตภายในประเทศพัฒนาอุตสาหกรรม ซึ่งมีระบบควบคุมจากธนาคารกลางที่ดีกว่า ดังเราจะเห็นได้ว่ามีปัญหาวิกฤติหนี้สินระหว่างประเทศเกิดขึ้นอยู่เป็นระยะ ๆ และองค์กรระหว่างประเทศที่มีอยู่ ไม่ได้มีอำนาจหน้าที่ที่จะควบคุมดูแลได้อย่างสม่ำเสมอ เหมือนกับธนาคารกลางในแต่ละประเทศที่ทำหน้าที่ดูแลเรื่องการกู้ยืมในประเทศของตน องค์กรระหว่างประเทศและธนาคารกลางของประเทศต่าง ๆ อาจจะร่วมมือกันบ้างเวลาเกิดวิกฤติหนี้สินระหว่างประเทศ แต่เป็นการตามแก้ปัญหาภายหลังจากเกิดวิกฤติแล้ว มากกว่าที่จะป้องกันไม่ให้เกิดวิกฤติครั้งต่อไป

ความไม่สมมาตร และความไม่มั่นคงของระบบทุนนิยมโลกในทัศนะจอร์ซ โซรอส

เวลาเกิดวิกฤติหนี้สินระหว่างประเทศ เจ้าหนี้จากประเทศทุนนิยมศูนย์กลาง(ด้วยความช่วยเหลือของ IMF ธนาคารโลกและองค์กรอื่นๆ ที่มีอยู่) มักเป็นฝ่ายได้เปรียบลูกหนี้จากประเทศทุนนิยมขอบนอกค่อนข้างมาก เจ้าหนี้อาจจะให้กู้ต่อ, ยืดอายุหนี้หรือแม้แต่ลดหนี้ แต่พวกเขาไม่เคยตัดหนี้สูญให้ลูกหนี้ บ่อยครั้งที่พวกเขาสามารถชักจูงรัฐบาลประเทศลูกหนี้ให้เป็นฝ่ายรับผิดชอบต่อหนี้สินของธนาคารพาณิชย์(เช่น ที่ชิลีในปี 2525 เม็กซิโก ปี 2537 เกาหลีใต้ อินโดนิเซีย และไทยในปี 2540) แม้ว่าพวกเจ้าหนี้อาจจะต้องตั้งสำรองหนี้เพิ่มขึ้น แต่ในที่สุดแล้วพวกเขามักจะได้การชำระคืนจากหนี้เลวเป็นสัดส่วนสูงพอสมควร ถึงกรณีที่ประเทศลูกหนี้อาจจะไม่สามารถชำระหนี้ได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย แต่พวกเขาก็จะถูกบีบให้ต้องชำระหนี้ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ภาระการถูกบีบบังคับให้ต้องชำระหนี้เช่นนี้มักทำให้ประเทศลูกหนี้ต้องเศรษฐกิจตกต่ำไปหลายปี

การที่เจ้าหนี้เงินกู้ระหว่างประเทศได้รับประกันความเสียหายจากระบบทุนนิยมโลกค่อนข้างมาก เป็นตัวการสร้างการเสี่ยงจากการปล่อยสินเชื่ออย่างไม่ต้องรับผิดชอบ(MORAL HAZARD) เนื่องจากความเสี่ยงจากการปล่อยกู้ระหว่างประเทศมีไม่มากพอที่จะยับยั้งให้เจ้าหนี้ต้องระมัดระวังในการปล่อยเงินกู้ ความไม่สมมาตรในลักษณะนี้เป็นสาเหตุสำคัญของความไม่มั่นคงของการกู้ยืมระหว่างประเทศ

วิกฤติทางการเงินทุกครั้งมักจะเริ่มต้นด้วยการขยายตัวของการปล่อยสินเชื่ออย่างไม่จีรังยั่งยืน ถ้าหากมีเงินสำหรับให้กู้อยู่มากมาย ย่อมเป็นการยากที่จะคาดหมายให้ผู้ขอกู้ต้องยับยั้งชั่งใจตนเอง ถ้าหากภาครัฐบาลเป็นผู้กู้ คนที่จะใช้หนี้คือรัฐบาลชุดต่อไป รัฐบาลจึงนิยมกู้เงินเพื่อมาทดแทนการบริหารที่ไม่ได้เรื่องของตน แต่ไม่ใช่ภาครัฐบาลเท่านั้นที่ไม่สนใจจะควบคุมตนเองไม่ให้กู้มากเกินไป ภาคเอกชนก็มักไม่สนใจควบคุมตนเองเช่นกัน โดยที่หน่วยงานที่ทำหน้าที่ดูแลทางการเงินของรัฐบาลเช่น ธนาคารกลางมักไม่ตระหนักว่าประเทศของตนมีการกู้หนี้ระหว่างประเทศมากเกินไป จนกว่ามันจะสายไปเสียแล้ว นี่คือกรณีที่เกิดขึ้นกับหลายประเทศในเอเชียในวิกฤติปี2540

ความไม่สมมาตรอีกประการหนึ่งก็คือ การที่เงินตราสกุลที่เป็นที่ยอมรับในการซื้อขายระหว่างประเทศเป็นของประเทศพัฒนาอุตสาหกรรมเพียงไม่กี่ประเทศ และการเงินของประเทศเหล่านี้ถูกกำหนดโดยนโยบายของรัฐบาลภายในประเทศนั้น มากกว่าเพื่อประโยชน์ของการเงินระหว่างประเทศ ประเทศทุนนิยมขอบนอกจึงควบคุมชตากรรมของตนได้น้อยมาก วิกฤติหนี้ระหว่างประเทศในปี 2525 เกิดขึ้น เพราะสหรัฐเพิ่มอัตราดอกเบี้ยสูงมาก ขณะที่วิกฤติของเอเชียในปี 2540 ก็เริ่มมาจากการที่ค่าเงินดอลลาร์สูงขึ้น

ความไม่สมมาตร 2 ประการที่กล่าวมา เป็นสาเหตุใหญ่ แม้จะไม่ใช่สาเหตุทั้งหมดของความไม่มั่นคงของระบบการเงินของโลก

ลัทธิบูชาการตลาดอย่างหลงใหล
(MARKETFUNDAMENTALISM)

ระบบทุนนิยมโลกได้รับการสนับสนุนจากอุดมการณ์ที่มีรากมาจากทฤษฎีการแข่งขันสมบูรณ์ ทฤษฎีนี้อ้างว่าตลาดมีแนวโน้มจะเคลื่อนย้ายไปสู่จุดดุลยภาพเสมอ และจุดดุลยภาพสะท้อนถึงการจัดสรรทรัพยากรที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด ทฤษฎีนี้เชื่อว่าไม่ควรมีการแทรกแซงใด ๆ เพราะจะทำให้ประสิทธิภาพของกลไกตลาดเสียไป อุดมการณ์นี้มีชื่อเรียกว่า LAISSES FAIRE — “เปิดเสรีให้ทำอะไรได้ตามใจชอบ” แต่โซรอสคิดว่าน่าจะเรียกว่า MARKET FUNDAMENTALISM – ลัทธิบูชาการตลาดอย่างหลงใหลมากกว่า

คำว่า FUNDAMENTALISM หมายถึง ความเชื่อที่อาจจะนำไปสู่ความสุดขั้วได้ง่าย มันคือความเชื่อในเรื่องความสมบูรณ์ ความเชื่อในเรื่องความจริงแท้ ความเชื่อว่าปัญหาทุกปัญหาต้องมีทางแก้ไข มันสะท้อนถึงสิทธิอำนาจ(AUTHORITY) ที่อ้างถึงความรู้ที่สมบูรณ์ แม้ว่าความรู้นั้นมนุษย์ธรรมดาไม่สามารถเข้าถึงได้

พระเจ้าคือ สิทธิอำนาจเช่นนั้น และในโลกยุคใหม่ วิทยาศาสตร์ก็คือสิ่งทดแทนที่เป็นที่ยอมรับกัน ทั้งลัทธิการบูชาตลาดและมาร์กซิสม์ต่างอ้างว่าทฤษฏีของตนมีพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์รองรับ เพราะอุดมการณ์ทั้งสองนี้พัฒนาขึ้นในคริสต์ศตวรรษที่19 ในยุคที่การตื่นตัวในความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ยังทำให้คนเชื่อว่า เราสามารถจะค้นหาสัจธรรมที่สมบูรณ์ได้

ปัจจุบันเราได้เรียนรู้อย่างมากถึงข้อจำกัดของวิธีการแบบวิทยาศาสตร์ และความไม่สมบูรณ์ของกลไกตลาด ทั้งอุดมการณ์บูชาการตลาดอย่างหลงไหลและมาร์กซิสม์ ต่างถูกลดความเชื่อถือด้วยกันทั้งคู่ อย่างแรก หลังจากการเกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ในทศวรรษ 2470 และการแทนที่โดยเศรษฐศาสตร์แบบเคนส์(ที่เน้นการแทรกแซงของรัฐมากกว่าปล่อยให้เป็นไปตามกลไกตลาด) อย่างหลังโดยการล่มสลายของสหภาพโซเวียต แต่ลัทธิบูชาการตลาดอย่างหลงใหลก็กลับฟื้นคืนชีพได้ในภายหลัง ด้วยความเชื่อของคนมากกว่าพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์

อนาคตของทุนนิยมโลกในทัศนะจอร์จ โซรอส

ตลาดการเงินของโลกขยายตัวใหญ่กว่าตลาดการค้าหลายร้อยเท่า ผู้จัดการมุ่งแสวงหากำไรสูงสุดจากราคาหุ้นมากกว่ามุ่งขยายส่วนแบ่งในตลาด การควบและเข้าซื้อกิจการขยายตัวในอัตราสูงอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน การผูกขาดและกึ่งผูกขาดระดับโลกกำลังปรากฎตัวขึ้น ขณะนี้มีบริษัทตรวจสอบบัญชี (AUDITING FIRMS) ระดับโลกเหลือเพียง 4 บริษัท วงการธนาคารและธุรกิจการเงินก็มีแนวโน้มจะควบกิจการกันมากขึ้น ไมโครซอฟท์และอินเทลเกือบจะกลายเป็นผู้ผูกขาดธุรกิจคอมพิวเตอร์ของโลกอยู่แล้ว

ขณะเดียวกัน จำนวนผู้ถือหุ้นในบริษัทต่าง ๆ ก็เพิ่มขึ้น และสัดส่วนของการมีหุ้นเป็นส่วนหนึ่งของทรัพย์สินในครัวเรือนก็มีมากขึ้น การขยายตัวของการเป็นเจ้าของหุ้นในกองทุนรวมต่าง ๆ ก่อให้เกิดความไม่มั่นคงทางการเงิน โดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกา 2 ประเด็น คือ

ผลจากความร่ำรวยของกำไรจากการถือหุ้น ทำให้มีการบริโภคมากขึ้น และการออมของประชาชนอเมริกันลดลง ดังนั้นถ้าราคาหุ้นเกิดตกต่ำ ความรู้สึกจะเปลี่ยนเป็นตรงกันข้าม นำไปสู่เศรษฐกิจชลอตัว และซ้ำเติมให้ตลาดหุ้นยิ่งตกมากยิ่งขึ้น

2) ความไม่มั่นคงที่เกิดจากการที่ผู้จัดการกองทุนรวมถูกประเมินผลจากความสามารถในการทำกำไรในเชิงเปรียบเทียบระยะสั้น มากกว่าจากการทำกำไรสุทธิในระยะยาว ดังนั้นพวกเขา

จึงมีแนวโน้มที่จะลงทุนแบบตามกระแสการเก็งกำไร มากกว่าที่จะลงทุนโดยพิจารณาปัจจัยพื้นฐานของบริษัท และมักจะทุ่มลงตัวแบบสุด ๆ เพื่อมุ่งหวังทำกำไรสูงสุด โดยเก็บเงินสดสำรองไว้น้อยมาก ถ้าหากกระแสราคาหุ้นเปลี่ยนกลับเป็นขาลง พวกเขาจะต้องถูกสถานการณ์บังคับให้ขายหุ้นเพื่อมีเงินสดสำรอง ซึ่งยิ่งเป็นการกดดันให้หุ้นราคาดิ่งลงไปอีก

ทุนนิยมโลกรูปแบบใหม่ที่รุนแรงกว่าเก่า กำลังมุ่งทำลายโมเดลการบริหารแบบเอเชีย หรือแบบขงจื้อที่ให้คุณค่าในเรื่องครอบครัว(รวมทั้งการดูแลพนักงานเหมือนสมาชิกในครอบครัว) วิกฤติปัจจุบันบีบบังคับให้ธุรกิจแบบครอบครัวของเอเชีย ต้องเปิดทางให้ต่างชาติเข้ามาซื้อกิจการและทำให้ธุรกิจของประเทศในเอเชียเป็นส่วนหนึ่งของระบบทุนนิยมโลกอย่างแนบแน่นมากขึ้น ธนาคารระหว่างประเทศและบริษัทข้ามชาติจะเข้าไปมีฐานที่มั่นในเอเชียมากขึ้น ผู้บริหารรุ่นใหม่จะเป็นคนที่ได้รับการศึกษาแบบตะวันตกที่จะมีแรงจูงใจมุ่งทำกำไรสูงสุดให้บริษัทมากกว่าจริบ

ธรรมแบบขงจื้อ และความภาคภูมิใจในชาติของตน

ดังนั้นถ้าระบบทุนนิยมโลกสามารถก้าวผ่านวิกฤติระลอกนี้ได้ เศรษฐกิจโลกจะถูกครอบงำโดยบริษัทข้ามชาติมากยิ่งขึ้น การแข่งขันอย่างรุนแรงจะยิ่งทำให้พวกเขามุ่งแสวงหากำไรเอกชน โดยไม่สนใจต่อผลกระทบทางสังคม บางบริษัทอาจจะต้องสร้างภาพพจน์ในเรื่องที่ประชาชนสนใจ เช่น การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมบ้าง แต่พวกเขาจะไม่ยอมลดกำไรลงมาเพียงเพื่อจะช่วยให้ประชาชนในเอเชียมีงานทำเพิ่มขึ้น

ในอีกด้านหนึ่งก็มีความเป็นไปได้ว่า ระบบทุนนิยมโลกจะไม่สามารถผ่านการทดสอบวิกฤติระลอกนี้ได้ การตกต่ำทางเศรษฐกิจยังไม่ถึงจุดต่ำสุดในประเทศทุนนิยมขอบนอก และมันไม่สามารถจะฟื้นตัวได้ โดยไม่ผ่านความเจ็บปวดอย่างมากมาย จะต้องมีการปฏิรูปการจัดองค์กร ธนาคาร และบริษัทต่าง ๆ เสียใหม่ จะต้องมีการลดการจ้างคนลงอีกมาก การเมืองก็จะต้องมีการปฏิรูปเปลี่ยนแปลงไปในทางที่เสรีประชาธิปไตยขึ้น แต่ปัญหาวิกฤติขนาดหนัก อาจจะยิ่งทำให้การเมืองพลิกกลับไปในขั้วตรงข้าม คือขั้วของเผด็จการอำนาจนิยมก็ได้

สิ่งที่เป็นตัวตัดสินคือ จะเกิดอะไรขึ้นที่ประเทศทุนนิยมศูนย์กลาง ที่ผ่านมาจนกระทั่งถึงเมื่อเร็ว ๆ นี้เท่านั้น ปัญหาวิกฤติในประเทศทุนนิยมขอบนอกกลับเป็นประโยชน์ต่อประเทศทุนนิยมศูนย์กลาง วิกฤติในเอเชียทำให้ประเทศทุนนิยมศูนย์กลางลดความกดดันเรื่องภาวะเงินเฟ้อ, ทำให้ทางการไม่ต้องขึ้นอัตราดอกเบี้ยและทำให้ราคาหุ้นเพิ่มขึ้นจุดสูงจุดใหม่

แต่ผลในทางบวกของวิกฤติเอเชียต่อประเทศทุนนิยมศูนย์กลางกำลังหมดไป และผลทางลบเริ่มจะปรากฎให้เห็น กำไรของบริษัทในประเทศทุนนิยมศูนย์กลางเริ่มลดลง เนื่องจากมีดีมานด์ซื้อสินค้าลดลง และมีการแข่งขันจากสินค้าต่างประเทศมากขึ้น ธุรกิจภาคบริการ ซึ่งไม่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการแข่งขันระหว่างประเทศก็เจอปัญหาต้นทุนค่าจ้างสูงขึ้น

ตลาดหุ้นในประเทศทุนนิยมศูนย์กลางขึ้นได้ขึ้นถึงจุดสูงสุดแล้ว ถ้าตลาดเริ่มเป็นขาลงเมื่อไหร่, ผลจากความมั่งคั่งที่ผู้ถือหุ้นเคยชินก็จะแปรให้การตกต่ำของตลาดหุ้นกลายเป็นการตกต่ำของระบบเศรษฐกิจของประเทศ สิ่งนี้จะก่อให้เกิดการต่อต้านการสั่งสินค้าเข้า ซึ่งจะเป็นการสาดน้ำมันเชื้อเพลิงเข้าใส่ประเทศทุนนิยมขอบนอกผู้ส่งออกสินค้าไปประเทศทุนนิยมศูนย์กลาง

แล้วระบบทุนนิยมโลกจะไปทางไหนใน 2 ฉากข้างต้น จอร์ซ โซรอสเชื่อว่าแนวโน้มจะเป็นอย่างหลัง คือ เกิดวิกฤติเพิ่มขึ้น มากกว่าอย่างแรก ถึงอย่างไรระบบทุนนิยมโลกก็จะต้องถึงวาระล่มสลายเพราะข้อบกพร่องในตัวของมันเอง ถ้าไม่ใช่ในวิกฤติระลอกนี้ ก็คงในวิกฤติระลอกต่อไป นอกเสียจากว่า เราจะตระหนักถึงข้อบกพร่องของมัน และลงมือแก้ไขได้ทันกับสถานการณ์

การที่โซรอสมองวิกฤติของโลกจากจุดยืนของชนชั้นนำของประเทศทุนนิยมที่มั่งคั่ง ทำให้มีข้อจำกัดว่าเป็นการมองแบบจากข้างบนลงล่างมากเกินไป เขาจึงมองได้แค่เรื่องตลาดโลกและปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ไม่ได้มองเห็นว่าภายในของแต่ละประเทศไม่ว่าจะประเทศร่ำรวยหรือยากจนก็มีปัญหาความขัดแย้งและการเอารัดเอาเปรียบระหว่างคนรวยกับคนจนอยู่มาก

จริง ๆ แล้วปัญหาของระบบทุนนิยมโลกเวลานี้คือ การกดขี่ของคนรวยที่สุด 20% แรกของโลกที่มีอำนาจทั้งทางเศรษฐกิจ การเมือง สังคม วัฒนธรรมและการสื่อสารมากกว่าคนที่จนกว่า 80% หลังอย่างเทียบกันไม่ได้ คนรวยที่สุด 20% ของโลก ไม่ว่าจะเป็นรัฐมนตรีคลังของประเทศกำลังพัฒนา หรือนายธนาคาร, ผู้บริหาร IMF ผู้บริหารบริษัทที่ปรึกษาการลงจากประเทศร่ำรวย เป็นคนที่มีภูมิหลังทางชนชั้นและการศึกษาแบบเดียวกัน คิดเหมือน ๆ กัน ทำงานเพื่อผลประโยชน์ร่วมกัน แม้ว่าพวกเขาจะถือพาสปอร์ตต่างเชื้อชาติกัน

คนรวย 20% แรกของโลกแสวงหาประโยชน์ส่วนตัวโดยอ้างทฤษฎีเศรษฐศาสตร์แบบบูชาระบบตลาด ทำให้พวกเขายิ่งรวยและยิ่งมีอำนาจมากขึ้น ขณะที่คนอีก 80% ของทั้งโลกตกงานมากขึ้น และรายได้ที่แท้จริงลดลง นายธนาคารและนักลงทุนทางการเงินที่ร่ำรวยขึ้น สะสมเงินทุนที่อยากปล่อยให้ภาคธุรกิจอุตสาหกรรมกู้ยืมเพื่อจะหากำไรจากดอกเบี้ยมากขึ้น ทำให้เกิดการผลิตที่ล้นเกิน ขณะที่คนส่วนใหญ่ขาดรายได้ ขาดอำนาจซื้อ เศรษฐกิจโลกจึงตกต่ำ เกิดปัญหาหนี้สินที่ค้างชำระ ธุรกิจซบเซาคนตกงานมากขึ้น รายได้ลดลง เป็นการซ้ำเติมให้เศรษฐกิจยิ่งตกต่ำแบบเป็นวงจรที่ชั่วร้ายที่ไม่มีทางออก เพราะคนรวย 20% แรกไม่ยอมรับว่าแนวคิดและพฤติกรรมของพวกเขาคือตัวสร้างปัญหา ไม่ยอมรับว่าวิกฤติขณะนี้คือปัญหาทางโครงสร้างของระบบทุนนิยม แต่พวกเขากลับอธิบายว่าวิกฤติเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นชั่วคราวแบบฤดูกาลหรือเป็นวัฏจักรขาลง ที่เมื่อลงถึงจุดต่ำสุดแล้ว ต่อไปก็จะต้องฟื้นขึ้นเอง

นอกจากนี้แล้วการพัฒนาของระบบทุนนิยมที่มีลักษณะผูกขาดและกึ่งผูกขาดหรือระบบมือใครยาว ยังได้แต่มุ่งแสวงหากำไรเอกชน โดยไม่คำนึงถึงต้นทุนทางสังคมและคุณภาพชีวิตของคนส่วนใหญ่ สิ่งที่พวกคนรวย 20% แรกสร้าง และเรียกว่า “ความเจริญก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ” ได้ทำลายสภาพแวดล้อม ทำลายสมดุลของทั้งธรรมชาติ สังคม และวัฒนธรรม ทำให้โลกกำลังเกิดวิกฤติในทุก ๆ ด้าน ไม่ใช่เฉพาะวิกฤติด้านการเงินการคลังเท่านั้น

ดังนั้น การจะแก้ไขปัญหาวิกฤติระบบทุนนิยมโลกได้ จึงต้องการการปฏิวัติโครงสร้างการจัดองค์กรของมนุษย์ตั้งแต่ระดับรากหญ้าขึ้นมาถึงองค์กรระดับโลกที่ดูแลเรื่องระหว่างประเทศ การที่จอร์ช โซรอส เสนอแต่การปรับปรุงองค์กรระดับโลกเป็นด้านหลัก โดยคิดว่าถ้ามีการควบคุมดูแลตลาดการเงินให้ดีและประเทศพัฒนาอุตสาหกรรม ให้ความช่วยเหลือประเทศกำลังพัฒนาให้มากกว่านี้ จะพิทักษ์ระบบทุนนิยมโลกไว้ให้อยู่อย่างยั่งยืนได้นั้น อย่างเก่งก็คงจะช่วยต่ออายุระบบทุนนิยมโลกให้ยืนยาวต่อไปได้อีกสักระยะหนึ่งเท่านั้น แต่วิกฤติก็จะต้องประทุขึ้นอีก เพราะไม่ได้แก้ปัญหาด้านโครงสร้างอย่างถึงรากหญ้า

ระบบเศรษฐกิจโลกที่จะยั่งยืนได้จริง ๆ คงไม่ใช่ระบบเศรษฐกิจทุนนิยมที่ยังคงอิงระบบตลาดเป็นหลัก แม้จะมีการดูแลจากองค์กรโลกก็ตาม แต่จะต้องเป็นระบบที่ผสมผสานขึ้นมาใหม่โดยการนำส่วนที่ดีของระบบตลาดเสรีจริง ๆ (ไม่ใช่ผูกขาดหรือมือใครยาวสาวได้สาวเอา) ระบบสหกรณ์ และการพึ่งตนเอง


คัดลอกจาก https://www.facebook.com/Puttichet/posts/583214845185909:0



แก้ไขล่าสุด ใน วันพฤหัสบดีที่ 21 เมษายน 2016 เวลา 22:42 น.
 

25 ข้อคิดในการบริหารธุรกิจ สไตล์แจ็ค หม่า

พิมพ์ PDF

25 ข้อคิดในการบริหารธุรกิจ สไตล์แจ็ค หม่า

มหาเศรษฐีอันดับหนึ่งของจีน เจ้าของเว็บไซต์ Alibaba

1. สัตว์ในป่ามีมากเกินไป จับกระต่ายตัวเดียวพอ

2. ระยะห่างไม่น่ากลัว ที่น่ากลัวคือการไม่รู้ระยะห่าง และความผิดพลาดก็ไม่น่ากลัว ที่น่ากลัวกว่าคือการไม่ยอมรับความผิดพลาดนั้น

3. การบริการที่ดีที่สุด คือการทำให้ลูกค้าไม่ต้องการบริการ

4. การหาพนักงานระดับบริหาร ให้เอาคนที่เหมาะสมที่สุด ไม่ใช่คนที่ประสบความสำเร็จมากที่สุด

5. คนที่เป็นพลทหารที่ดีไม่ได้ ก็ไม่มีวันเป็นนายพลที่ดีได้!

6. การใช้คนที่ดีที่สุด คือการให้ความไว้วางใจ

7. คู่แข่งไม่ใช่ต้นแบบที่ต้องทำตามเสมอไปและอย่าดึงคนจากคู่แข่ง

8. สุดยอดของวิธีจัดการกับคู่แข่ง คือเปลี่ยนจากคู่แข่งเป็นคู่ค้า การผูกมิตรและร่วมมือถือเป็นวิถีของผู้ชนะอย่างแท้จริง

9. รายได้กับอุดมการณ์ต้องมาควบคู่กัน! (และอย่าลืมรักษาอุดมการณ์ในวันแรก)

10. ระหว่างการวิ่ง มักมีคนตามไม่ทันเสมอ

11. สิ่งที่สำคัญกว่าการที่คุณสามารถทำอะไร คือการที่คุณควรทำอะไร

12. ผู้นำที่สุดยอดไม่ใช่การทำตัวเป็นพนักงานตัวอย่าง แต่คือการทำให้พนักงานกลายเป็นพนักงานตัวอย่าง

13. เพชรต้องผ่านการถลุง ผ่านการเจียระไนยถึงจะโดดเด่น ‪#‎คนก็เช่นกัน‬

14. วิธีคิดสำคัญกว่าวิธีการ กลยุทธ์สำคัญกว่ากระบวนท่า!!

15. ความกระตือรือร้นทำให้เราอยู่ได้ แต่ความกระตือรือร้นอย่างต่อเนื่องทำให้เราทำเงินได้!

16. เราควรจ่ายค่าตอบแทนแก่ผลลัพธ์และควรปรับมือกับขั้นตอน

17. ผลประโยชน์อาจทำให้พนักงานทำงานให้เราในเดือนนี้ แต่ไม่ใช่ตัวที่ทำให้พนักงานอยู่กับเราไปถึงสิบปีข้างหน้า! (อย่าใช้ผลประโยชน์มาดึงดูดพนักงาน)

18. ถ้ากลัวความผิดพลาด จะไม่มีทางมีวันพรุ่งนี้!!

19. การตัดสินใจอาจผิดพลาดได้ แต่หลักการต้องไม่ผิดพลาดเด็ดขาด!

20. ความเปลี่ยนแปลงคืออาวุธสำคัญในการแข่งขัน

21. สิ่งที่แข็งแรงที่สุดในวันนี้ อาจเป็นสิ่งที่อ่อนแอที่สุดในวันหน้า!

22. เวลาคนอื่นมองคุณเป็นไอดอล อย่าคิดว่าตนเองเป็นไอดอลเด็ดขาด

23. คนที่ยึดตามหนังสือมากเกินไปจะไม่สำเร็จ

24. จงฝัง DNA ของแบรนด์ ไว้ในตัวพนักงานทุกคน

25. การบริหารธุรกิจ คือการบริหารใจคน

เครดิต : สรุปเรียบเรียงเนื้อหาจากหนังสือ "บริหารสไตล์แจ๊ค หม่า"

คัดลอกจาก https://www.facebook.com/Puttichet/

แก้ไขล่าสุด ใน วันพฤหัสบดีที่ 21 เมษายน 2016 เวลา 22:45 น.
 

15 นิสัยเศรษฐีที่รวยได้ด้วยน้ำพักน้ำแรง คิดจะเริ่มสร้างตัวต้องทำแบบนี้

พิมพ์ PDF

15 นิสัยเศรษฐีที่รวยได้ด้วยน้ำพักน้ำแรง คิดจะเริ่มสร้างตัวต้องทำแบบนี้

อยากร่ำรวยด้วยน้ำพักน้ำแรง แค่ขยันอย่างเดียวคงไม่พอ แต่ต้องมีนิสัยแบบเศรษฐี ที่สร้างเนื้อสร้างตัวด้วยหนึ่งสมองและสองมือของตัวเองด้วย ถึงจะเรียกว่าครบเครื่อง

หลายคนมักคิดว่าความสำเร็จและความมั่งคั่งที่มาจากน้ำพักน้ำแรงนั้นต้องอาศัยความขยันเป็นหลัก ซึ่งจริง ๆ แล้วก็ไม่ถูกไปเสียทีเดียว เพราะเหล่าบรรดาอภิมหาเศรษฐีที่ประสบความสำเร็จจากสองมือของตนเองนั้นต่างก็มีนิสัยบางอย่างที่ช่วยผลักดันให้ตนเองไปสู่ความสำเร็จได้ ซึ่งในวันนี้เราพาไปดูกันว่านิสัยที่ว่านั้นคืออะไร และเพราะอะไรนิสัยเหล่านี้จึงทำให้พวกเขาประสบความสำเร็จ นำพาตนเองจากจุดเริ่มต้นที่ไม่มีอะไรเลยมาสู่การเป็นบุคคลที่มั่งคั่ง ถ้าคุณเป็นคนหนึ่งที่กำลังสร้างเนื้อสร้างตัว นี่เป็นเรื่องที่ไม่ควรมองข้ามเลย

1. ออกกำลังกายเป็นประจำ

การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอทุกวันถือเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้คนประสบความสำเร็จ เพราะการออกกำลังกายไม่เพียงเสริมสร้างสุขภาพให้แข็งแรง แต่ยังส่งผลดีต่อสมองอีกด้วย เพราะจะช่วยกระตุ้นให้ร่างกายสร้างเซลล์สมองมากขึ้น ทำให้สมองทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

2. อ่านหนังสืออยู่เสมอ

การอ่านหนังสือ เป็นการเรียนรู้ที่ไม่สิ้นสุด 88% ของนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จจะใช้เวลาอย่างน้อย 30 นาทีต่อวันในการอ่านหนังสือ เพื่อเรียนรู้และพัฒนาตนเอง และหนังสือที่กลุ่มคนเหล่านี้อ่านส่วนใหญ่มักจะเป็นหนังสือที่เกี่ยวกับประวัติของคนที่ประสบความสำเร็จ การพัฒนาตนเอง และหนังสือประวัติศาสตร์

3. ตื่นเช้า

สุภาษิตที่ว่า "นกที่ตื่นเช้า ย่อมจับหนอนได้ก่อน" ยังคงใช้ได้ดีในทุกยุคทุกสมัย และเป็นสิ่งที่นักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จด้วยตนเองต่างยึดถือไว้เป็นหลัก จึงทำให้พวกเขาตื่นเช้าอยู่เสมอ โดยในการศึกษาหนึ่งพบว่าเกือบ 50% ของคนที่ร่ำรวยจากน้ำพักน้ำแรงของตนเองมักจะเป็นคนที่ตื่นก่อนเวลาทำงานของตัวเอง 3 ชั่วโมง ที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะว่าพวกเขาจะเผื่อเวลาไว้เพื่อเหตุการณ์ที่อาจคาดไม่ถึง ซึ่งอาจกระทบกับการทำงานของตัวเองได้

4. แสวงหาที่ปรึกษา

การมีที่ปรึกษาที่ดีเป็นเคล็ดลับในการประสบความสำเร็จของเศรษฐีจำนวนไม่น้อย ซึ่งที่ปรึกษาของพวกเขาก็ไม่ใช่ใครที่ไหน แต่เป็นคนที่ประสบความสำเร็จมาก่อน หรือไม่ก็ผู้เชี่ยวชาญในศาสตร์นั้น ๆ โดยที่ปรึกษาที่ดีจะต้องคอยให้กำลังใจและผลักดันให้นักธุรกิจเดินไปในทิศทางที่ถูกต้อง และคอยสอนว่าอะไรที่ควรหรือไม่ควรทำ รวมทั้งแบ่งปันประสบการณ์เพื่อให้นักธุรกิจนั้นได้นำมาเป็นบทเรียนประกอบการตัดสินใจ

5. ใช้เวลากับคนที่ประสบความสำเร็จ

เราจะสังเกตได้ว่าคนที่ประสบความสำเร็จส่วนใหญ่มักจะมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับผู้ที่ประสบความสำเร็จคนอื่น ๆ นั่นก็เป็นเพราะว่าเมื่อพวกเขาอยู่ด้วยกันแล้ว ก็ต่างจะมอบแง่คิดดี ๆ ให้แก่กันและแบ่งปันประสบการณ์ให้กันอยู่เสมอ รวมทั้งคอยให้กำลังใจและนำพากันไปสู่ความสำเร็จ

6. คิดบวก

ความสำเร็จในระยะยาวนั้นไม่ได้เกิดขึ้นจากการทำงานหนักเพียงอย่างเดียว แต่ต้องมีการคิดบวกมาเสริมทัพด้วย ซึ่งส่วนใหญ่ของคนที่ประสบความสำเร็จจนกลายเป็นมหาเศรษฐีด้วยน้ำพักน้ำแรงของตัวเองล้วนแต่เป็นคนที่คิดในแง่บวกอยู่เสมอ นั่นก็เป็นเพราะว่าความคิดในแง่บวกสามารถกระตุ้นให้คนเราก้าวไปสู่ความสำเร็จได้ดีกว่า ในทางกลับกัน ความคิดในแง่ลบจะยิ่งบั่นทอนความมุ่งมั่นและทำให้ประสบความล้มเหลวได้ง่ายกว่า

7. ยื่นมือช่วยผู้อื่นให้ประสบความสำเร็จไปพร้อม ๆ กัน

นักธุรกิจส่วนใหญ่ที่ประสบความสำเร็จจนมั่งคั่งเชื่อว่าไม่มีใครสามารถประสบความสำเร็จได้โดยลำพัง แต่จะต้องมีกลุ่มคนที่มีความมุ่งมั่นที่จะประสบความสำเร็จคอยหนุนหลังอยู่ด้วย เพราะคนที่มีเป้าหมายที่ความสำเร็จเหมือน ๆ กันจะช่วยกันผลักดันให้ทีมไปสู่ความสำเร็จได้ดีกว่าการทำอะไรเพียงลำพัง

8. วางตัวเหมาะสม และมีมารยาทที่ดี

คนที่ประสบความสำเร็จแทบจะทุกคนล้วนแต่เป็นคนที่วางตัวเหมาะสมและมีมารยาททางสังคมที่ดี เพราะนั่นเป็นหนึ่งในกุญแจสู่ความสำเร็จ การวางตัวอย่างเหมาะสมในวงสังคมจะทำให้คนอื่น ๆ มองเราในแง่บวก และอยากให้ความช่วยเหลือเมื่อร้องขอ ซึ่งมารยาทที่ดีง่าย ๆ ที่เหล่านักธุรกิจไม่เคยพลาดก็คือ การส่งการ์ดขอบคุณ หรือการแสดงความยินดีด้วยความจริงใจในโอกาสต่าง ๆ การแต่งตัวอย่างถูกกาลเทศะ รวมทั้งมารยาทบนโต๊ะอาหาร

9. ให้เวลา 15-30 นาที ต่อวันในการคิดถึงเรื่องต่าง ๆ

การคิด เป็นอีกกุญแจสำคัญที่นำไปสู่ความสำเร็จ ดังนั้นเหล่าผู้คนที่ประสบความสำเร็จจึงให้ความสำคัญกับการคิดเป็นอย่างมาก โดยมีการศึกษาหนึ่งได้เปิดเผยว่า กลุ่มคนเหล่านี้จะให้เวลาตัวเองวันละ 15-30 นาทีในช่วงเช้า เพื่อคิดถึงเรื่องต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องธุรกิจ สุขภาพ การเงิน หรือแม้แต่เรื่องของการกุศล ซึ่งนั่นทำให้พวกเขาสามารถจัดการสิ่งต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพนั่นเอง

10. ยินดีน้อมรับข้อเสนอแนะ

ความสำเร็จจะไม่สามารถเกิดขึ้นได้ถ้าหากไม่มีการรับฟังข้อเสนอแนะ ฟีดแบ็กต่าง ๆ ที่ได้รับจากการดำเนินธุรกิจล้วนแต่เป็นสิ่งที่ผู้ประสบความสำเร็จนั้นต้องการ เพื่อให้ตนเองรู้ว่าสิ่งที่กำลังทำอยู่นั้น เดินไปในทางที่ถูกที่ควร ดังนั้นเหล่าบรรดาเศรษฐีที่สร้างตัวขึ้นมาด้วยตัวเองจะรับฟังความคิดเห็นจากผู้อื่นเสมอ ไม่ว่าจะเป็นแค่เพียงเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ ก็ตาม

11. จดบันทึกสิ่งที่ต้องทำอยู่เป็นนิจ

การดำเนินงานหรือธุรกิจต่าง ๆ ในแต่ละวันล้วนแต่มีเรื่องมากมายให้ต้องทำ ซึ่งถ้าหากเก็บทุกอย่างไว้ในหัว นอกจากอาจจะทำให้หลงลืมแล้วก็ยังทำให้สมองใช้งานอย่างหนัก และไม่เป็นผลดีต่อการใช้ความคิดในการตัดสินใจ ดังนั้นนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จทั้งหลาย จึงมักเลือกที่จะจดบันทึกสิ่งที่ทำไว้ในสมุดบันทึกเสมอ เพื่อให้สมองได้ทำงานด้านอื่น ๆ อย่างเต็มประสิทธิภาพ

12. ใช้เวลาทุกนาทีอย่างคุ้มค่า

อีกเคล็ดลับหนึ่งที่กลายเป็นนิสัยของบรรดาเหล่ามหาเศรษฐีระดับโลกที่สร้างเนื้อสร้างตัวขึ้นมาด้วยตนเองนั่นก็คือ พวกเขาใช้เวลาทุกนาทีอย่างคุ้มค่าเสมอ และจะไม่ให้ความใส่ใจกับสิ่งที่ทำให้เสียเวลาเด็ดขาด เพราะพวกเขาเชื่อว่าถ้ามัวแต่ให้เวลากับทุก ๆ เรื่อง ก็จะมีแต่เสียเปล่า จากการศึกษาพบว่า 67% ของนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จด้วยความสามารถของตัวเองใช้เวลาในการดูทีวีต่อวันน้อยกว่า 1 ชั่วโมง และ 63% ของนักธุรกิจเหล่านั้นก็ใช้เวลาไปกับกิจกรรมบนโลกออนไลน์อย่างการเล่นเฟซบุ๊กและการดูยูทูบวันละไม่ถึง 1 ชั่วโมงเช่นกัน

13. มุ่งมั่นในสิ่งที่ตัวเองสนใจ

ผู้คนส่วนใหญ่มักเลือกงานที่มีความมั่นคงเป็นอันดับแรก แต่สำหรับบรรดามหาเศรษฐีกลับเลือกงานที่ตัวเองมีความสนใจมากกว่า ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะพวกเขามีความเชื่อว่า หากเลือกทำในสิ่งที่ชอบหรือให้ความสนใจ จะทำให้พวกเขามีความมุ่งมั่นและสามารถทำงานได้อย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย

14. ไม่เดินตามใคร

จะสังเกตได้ว่ามหาเศรษฐีที่ประสบความสำเร็จจะเป็นกลุ่มคนที่ไม่ไหลไปตามกระแสนิยมของคนทั่วไป แต่จะสร้างจุดยืนของตนเองและชักจูงให้ผู้อื่นเข้าร่วมด้วยเสียมากกว่า เพราะพวกเขาเชื่อว่าการเดินตามคนอื่นนั้นไม่มีวันประสบความสำเร็จ

15. ไม่กลัวที่จะล้มเหลว

แน่นอนว่าการดำเนินธุรกิจย่อมตั้งอยู่บนความเสี่ยง และความล้มเหลวสามารถเกิดขึ้นได้ แต่บรรดาเหล่าเศรษฐีที่มั่งคั่งขึ้นมาด้วยน้ำพักน้ำแรงของตัวเอง กลับเป็นคนที่ไม่กลัวคำว่าล้มเหลว เพราะพวกเขาเชื่อว่าทุกครั้งที่ล้มเหลว นั่นคือโอกาสที่ทำให้พวกเขาได้เติบโตขึ้นนั่นเอง

เห็นไหมคะว่านิสัยใจคอก็มีส่วนสำคัญที่ทำให้ประสบความสำเร็จได้เช่นกัน ถ้าคิดจะเป็นเศรษฐีในวันหน้า ลองฝึกและปรับเปลี่ยนนิสัยตัวเองกันเสียใหม่เลย

ขอขอบคุณข้อมูลจาก: กระปุกดอทคอม


คัดลอกจาก https://www.facebook.com/Puttichet/posts/586574421516618:0

แก้ไขล่าสุด ใน วันพฤหัสบดีที่ 21 เมษายน 2016 เวลา 22:48 น.
 


หน้า 260 จาก 561
Home

About Us

ศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ (ศบม.) เป็นองค์กรที่พัฒนาและจัดทำโครงการเพื่อทำประโยชน์ให้สังคม เป็นองค์กรสนับสนุนการดำเนินงานของภาครัฐ ช่วยแก้ปัญหาผู้ประกอบการภาคธุรกิจบริการที่ขาดแคลนบุคลากรที่มีมาตรฐานในการให้บริการ
อ่านเพิ่มเติม

มูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ ์

 iHDC Profile
บัญชีรายชื่อกรรมการ
ใบสำคัญแสดงการจดทะเบียน การเปลี่ยนแปลงกรรมการของมูลนิธิ
เอกสารประชาสัมพันธ์ โครงการ HMTC.pdf
เอกสารแนะนำโครงการ HMTC 1.pdf
เอกสารโครงการ HMTC 2 คุณสมบัติผู้เข้าร่วมโครงการ.pdf
iHDC นิติบุคคล.pdf
iHDC บุคคล.pdf
iHDC บุคคลเครือข่าย.pdf
รายงานการประชุม 6 มีนาคม 2560.pdf
ข้อบังคับมูลนิธิ
ใบสำคัญแสดงการจดทะเบียนจัดตั้งมูลนิธิ
Ihdc-Profile and Roadmap 2016-2019 Mar 23 2560.pdf
รายงานการประชุมใหญ่คณะกรรมการมูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ 2559.pdf
คำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ สาขาวิชาชีพ.pdf
รายงานการประชุมใหญ่วันที่ 18 ธ ค 2558 v 3.pdf
รายงานการประชุม วันที่ 24 ธันวาคม 2557 updated 4 มีนาคม 2558.pdf
iHDC-invitation Letter.doc
iHDC-Member Form Thai.doc
iHDC-Member Form English.doc
รายงานการประชุมกรรมการมูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ วันที่ 15 มกราคม 2556 ฉบับสมบูรณ์


thaibetter
พัฒนาประเทศไทยแบบทวีคูณ และยั่งยืน ( ททค )

Login


แบบสำรวจ

สถิติเว็บไซด์

สมาชิก : 5644
Content : 3068
เว็บลิงก์ : 26
จำนวนครั้งเปิดดูบทความ : 8747430

facebook

Twitter


ล่าสุด

บทความเก่า