Thaiihdc.org

  • เพิ่มขนาดตัวอักษร
  • ขนาดตัวอักษรปกติ
  • สดขนาดตัวอักษร
Thaiihdc.org

สถานีวิทยุโทรทัศน์ WBTV

พิมพ์ PDF

 

สถานีวิทยุโทรทัศน์โลกพระพุทธศาสนา เฉลิมพระเกียรติ ๗๒ พรรษา สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ World Buddhist Television (WBTV)

วันที่ 15 มกราคม 2559 ได้รับเชิญจากคุณสุพรรณา ภัทรเมธาวรกุล เจ้าของรายการ ธรรมมะกับ CEO ที่สถานีโทรทัศน์ WBTV ให้ไปออกรายการสด (สามารถติดตามชมได้ในเทปบันทึกภาพที่นำมาไว้ด้านซ้ายมือของหน้าแรกของเวปไซด์  หลังจบรายการ พบบรรณาธิการ สถานีคุณชาญณรงค์ นักเรียง เชิญมาออกรายการอีกในวันจันทร์ที่ 18 มกราคม คุยไปคุยมากับคุณชาญณรงค์ เกิดความคิดที่จะจัดรายการของมูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ ที่ผมเป็นกรรมการผู้ก่อตั้ง คุณชาญณรงค์ ช่วยหาเวลาที่เหมาะสมกับรายการของมูลนิธิฯ และให้ความอนุเคราะห์อย่างดียิ่ง ทำให้มูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์จะมีรายการของตัวเองเพื่อสร้างกิจกรรมให้กับคนทุกๆคนได้มีส่วนร่วมช่วยกันพัฒนาตัวเองเพื่อสังคมและประเทศชาติ รายการจะเป็นอย่างไร โปรดติดตามชม เริ่มตั้งแต่วันพุธที่ 3 กุมภาพันธ์ 2559 เวลา 20.30-21.00 น รายละเอียดจะประชาสัมพันธ์ให้ทราบต่อไป
ม.ล.ชาญโชติ ชมพูนุท
.23 มกราคม 2559

ข้อมูลของสถานีวิทยุโทรทัศน์ WBTV

สถานีวิทยุโทรทัศน์โลกพระพุทธศาสนา เฉลิมพระเกียรติ ๗๒ พรรษา สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ World Buddhist Television (WBTV) ภายใต้มูลนิธิพระรัตนตรัย ในพระราชูปถัมภ์ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร โดยการกำกับดูแลของ พระพรหมวชิรญาณ กรรมการมหาเถรสมาคม เจ้าอาวาสวัดยานนาวา ประธานมูลนิธิพระรัตนตรัย และประธานกรรมการอำนวยการสถานีวิทยุโทรทัศน์โลกพระพุทธศาสนา เฉลิมพระเกียรติฯ WBTV

 

เดิมชื่อสถานีโทรทัศน์ไททีวีเพื่อการเผยแผ่พระศาสนา ต่อมา ในปี พ.ศ.๒๕๕๑ ได้รับความร่วมมือจากกองทัพบกและสถานีโทรทัศน์กองทัพบก (ททบ.๕) โดยความอนุเคราะห์ของ พล.อ.ประวิตร  วงษ์สุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พล.อ.อนุพงษ์  เผ่าจินดา อดีตผู้บัญชาการทหารบก  พล.อ.ประยุทธ์   จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก และ พล.อ.กิตติทัศน์   บำเหน็จพันธ์ อดีตผู้อำนวยการสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก ช่อง ๕ ร่วมปรับปรุงสถานีครั้งใหญ่ จัดสร้างห้องออกอากาศเป็นต้น

 

โดยในปี พ.ศ.๒๕๕๑ คณะกรรมการดำเนินงานซึ่งมีพระพรหมวชิรญาณ กรรมการมหาเถรสมาคม เจ้าอาวาสวัดยานนาวา ประธานมูลนิธิพระรัตนตรัย ในพระราชูปถัมภ์ฯ ได้ขอพระบรมราชานุญาตชื่อสถานีในนาม สถานีวิทยุโทรทัศน์โลกพระพุทธศาสนา เฉลิมพระเกียรติ ๗๒ พรรษา สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ World Buddhist Television (WBTV)

 

 

วัตถุประสงค์

๑.        เพื่อเฉลิมพระเกียรติ ๗๒ พรรษา สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ

๒.        เพื่อเผยแผ่พระพุทธศาสนาทั้งในประเทศ และต่างประเทศ

๓.        เพื่อเผยแพร่ศาสนกิจและกิจกรรมต่าง ๆ ของมหาเถรสมาคม คณะสงฆ์ วัด สถานศึกษา และองค์กรทางพระพุทธศาสนาต่าง ๆ ทั้งในประเทศ และต่างประเทศ

๔.        เพื่อให้การศึกษาในเรื่องศาสนา ศิลปะ วัฒนธรรม ประเพณี ฯลฯ

๕.        เพื่อเผยแผ่กิจกรรมวิถีพุทธ เหตุการณ์ ข่าวสาร สาระธรรมต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นทั่วสากล

๖.        เพื่อสร้างความรัก ความสามัคคี และสันติสุขให้บังเกิดในสังคม

๗.        เพื่อสร้างสรรค์และปลูกจิตสำนึก ให้คนในชาติมีความรักและเทิดทูน ในสถาบันชาติ ศาสนา และสถาบันพระมหากษัตริย์

 

สำนักงานที่ตั้ง

อาคารมหาเจษฎาบดินทร์ ชั้น ๑ วัดยานนาวา เขตสาทร กรุงเทพฯ ๑๐๑๒๐

ช่องทางการรับชม สถานีโทรทัศน์โลกพระพุทธศาสนาเฉลิมพระเกียรติฯ WBTV

 

รับชมสด ทางอินเตอร์เน็ทได้ทั่วโลก www.wbtvonline.com

รับชมสดทางมือถือได้ทั่วโลก stationg.com/wbtv

รับชมย้อนหลังทางยุทูป https://www.youtube.com/user/WBTVwatyannawa

เวปไซด์ www.wbtvonline.com

เฟซบุค https://www.facebook.com/wbtv.co.th

แฟนเพจ https://www.facebook.com/wbtvnews

โทรศัพท์ 02 675 7134 , 086  355 1713  086 355 1714 โทรสาร 02 675 7053

 

อีเมล์ อีเมลนี้จะถูกป้องกันจากสแปมบอท แต่คุณต้องเปิดการใช้งานจาวาสคริปก่อน

ฐานสมาชิกคนดู ประมาณ 16 ล้านครัวเรือน

 

กล่อง

ช่อง

ฐานสมาชิก (ครัวเรือน)

GMM

175

1,000,000

PSI

239

10,000,000

Infosat

189

1,750,000

Thai sat

189

1,750,000

Ideasat

189

1,750,000

Leotech

189

1,750,000

CTH

875

1,000,000

 

ขอบคุณ คุณสุพรรณา ที่ให้เกรียติู้เชิญผมไปออกรายการธรรมะกับซีอีโอ ทำให้ผมมีโชคถึง ๓ ชั้น โชคชั้นที่หนึ่งได้ไปกราบพระบรมราชานุเสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ประดิษฐานอยู่ในวัดยานนาวา (สถานี WBTV ตั้งอยู่ในวัดยานนาวา) โชคชั้นที่สอง ทำให้รู้จักสถานี WBTV ผมขอยืนยันว่าเป็นสถานีโทรทัศน์ที่ดีมากๆ เหมาะกับคนทุกวัย เมื่อผมได้รับเชิญ ผมได้ศึกษารายการต่างๆของสถานีนี้ ทำให้มีความปิติและดีใจมากที่มีสถานีโทรทัศน์ที่ให้ความรู้ เต็มไปด้วยสาระ และไม่น่าเบื่อ ไม่ต้องรำคาญกับโฆษณา และ สิ่งไร้สาระจากรายการน้ำเนาในหลายๆแห่ง รายการแต่ละรายการดีมีคุณค่ากับผู้ชมเป็นอย่างมาก ขอชื่นชมผู้บริหารและทีมงานทุกๆท่าน โชคชั้นที่สาม ผมมีโอกาสได้พบกับ บรรณธิการ สถานี คุยไปคุยมาเกิดความคิดที่จะจัดทำรายการของมูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ ท่าน บก ใจดีและทราบถึงเจตนาของมูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ จึงรีบหาเวลาให้ และให้ความอนุเคราะห์หลายอย่าง เนื่องจากเห็นว่าจะเป็นอีกรายการที่จะเข้ามาเสริมคุณค่าให้กับสถานีและสร้างประโยชน์ให้กับสังคมและประเทศชาติ ในที่สุดมูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ จะจัดรายการที่สถานี WBTV แห่งนี้ทุกวันพุธ เวลา 20.30-21.00 น เริ่มตั้งแต่วันพุธที่ ๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๙ เป็นต้นไป โปรดติดตามชมได้ครับทางช่องทางต่างๆ โดยเฉพาะติดตามชมได้ทางมือถือ

ม.ล.ชาญโชติ ชมพูนุท

แก้ไขล่าสุด ใน วันเสาร์ที่ 23 มกราคม 2016 เวลา 22:42 น.
 

AEC ทำให้การพัฒนาประเทศไทยเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร?

พิมพ์ PDF

แหล่งที่มาของภาพ : http://4.bp.blogspot.com/-39KaMf818qs/VGDL1bSXPII/AAAAAAAAKQg/3uz0OpRDtro/s1600/ASEAN_map33.png

เหลือเวลาอีกไม่ถึง 2 เดือน อาเซียนจะรวมตัวกันเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community: AEC) อย่างเป็นทางการ การเข้าเป็นส่วนหนึ่งของ AEC เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่ประเทศไทยอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านของการพัฒนา ทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง ประเด็นที่น่าสนใจ คือ AEC จะส่งผลต่อการพัฒนาประเทศของไทยในอนาคตอย่างไร?

 

เมื่อไม่นานนี้ ผมได้รับเชิญไปบรรยายเรื่อง “AEC และนัยต่อการพัฒนาประเทศไทย” ภายใต้หลักสูตร ความรอบรู้ AEC เพื่อผู้บริหาร ซึ่งจัดโดย มูลนิธิสถาบันวิจัยนโยบายเศรษฐกิจการคลัง ผมได้วิเคราะห์ว่า AEC จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของการพัฒนาประเทศไทยในหลายด้าน โดยบทความนี้ ผมจะนำเสนอ 2 ประเด็น คือ การเปลี่ยนแปลงขอบเขตของการพัฒนา และการเปลี่ยนแปลงทิศทางการพึ่งพาต่างประเทศ

การเปลี่ยนแปลงขอบเขตของการพัฒนา

การเข้าสู่ AEC จะทำให้ภาคส่วนต่าง ๆ ต้องปรับมุมมองในการดำเนินงานให้มีขอบเขตกว้างมากขึ้น จากมุมมองภายในขอบเขตประเทศ สู่มุมมองระหว่างประเทศ อาท
ขอบเขตของกฎระเบียบ การออกกฎระเบียบต่าง ๆ ในประเทศ จะต้องให้ความสนใจข้อตกลงของ AEC และปรับปรุงกฎระเบียบให้มีความสอดคล้องกับข้อตกลง และกฎระเบียบในอาเซียน เช่น พระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว อาจต้องได้รับการแก้ไขสัดส่วนการถือหุ้นของคนต่างด้าวในนิติบุคคล เพื่อให้สอดคล้องกับข้อตกลงการเปิดเสรีการค้า และการลงทุนของ AEC เป็นต้น

ขอบเขตการดำเนินธุรกิจ ผู้ประกอบการต้องเปลี่ยนแปลงขอบเขตการดำเนินธุรกิจ จากการมุ่งเพียงตลาดภายในประเทศ เป็นการมองหาตลาดที่กว้างขึ้นในระดับภูมิภาค เพราะเมื่อเปิด AEC กลุ่มประเทศอาเซียนจะกลายเป็นตลาดและฐานการผลิตเดียว ธุรกิจไทยจะมีโอกาสขยายตลาดและเข้าไปลงทุนในอาเซียนมากขึ้น การผลิตสินค้าและบริการต้องคำนึงถึงความต้องการของประเทศในกลุ่มอาเซียนมากขึ้น

ขอบเขตของการจ้างงาน ประชาชนในประเทศไทยจะมีโอกาสออกไปทำงานในประเทศอาเซียนมากขึ้น เนื่องจากอาเซียนได้ลงนามยอมรับร่วมกันในเรื่องคุณสมบัติมาตรฐานในแต่ละวิชาชีพ (Mutual Recognition Arrangement: MRA) เพื่ออำนวยความสะดวกในการเคลื่อนย้ายแรงงานวิชาชีพบางสาขา ซึ่งหมายความว่า บุคลากรของไทยในสาขาที่เปิดให้เคลื่อนย้ายอย่างเสรี หากต้องการไปทำงานในอาเซียน เขาจะต้องพัฒนาตนเองให้มีคุณสมบัติเป็นไปตามมาตรฐานวิชาชีพ ของประเทศที่ต้องการเข้าไปทำงานด้วย

การเปลี่ยนแปลงดังกล่าว จะส่งผลทำให้มุมมองของการพัฒนาประเทศมีขอบเขตที่กว้างขวางขึ้น เช่น ระบบการศึกษาไทย ต้องสามารถพัฒนาทรัพยากรบุคคลให้เป็นพลเมืองอาเซียน มีคุณสมบัติที่พร้อมจะออกไปทำงานในประเทศเพื่อนบ้าน ภาครัฐต้องส่งเสริมการลงทุนในต่างประเทศ และพัฒนาผู้ประกอบการให้มีศักยภาพในการทำตลาด และลงทุนในประเทศเพื่อนบ้านมากขึ้น เป็นต้น

การเปลี่ยนแปลงทิศทางของการพึ่งพาต่างประเทศ

AEC จะมีส่วนเปลี่ยนแปลงทิศทางของการพึ่งพาต่างประเทศของไทย จากการพึ่งพาตะวันตก สู่การพึ่งพาตะวันออกมากขึ้น (from West to East) และจากการพึ่งพาประเทศพัฒนาแล้ว สู่การพึ่งพาเศรษฐกิจเกิดใหม่มากขึ้น (from North to South)

การพึ่งพาทางการค้า

ปัจจุบัน อาเซียนและจีนเป็นคู่ค้าอันดับ 1 และ 2 ของไทย ขณะที่การค้ากับสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรปและญี่ปุ่น มีสัดส่วนลดลง ในอนาคตไทยจะพึ่งพาทางการค้ากับเอเชียมากขึ้น เพราะเอเชียได้รับการคาดหมายว่า จะเป็นตลาดใหญ่ที่สุดในโลก โดยตลาดเกิดใหม่ในเอเชีย จะมีส่วนแบ่งในจีดีพีโลกเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 22 ในปี 2015 เป็นร้อยละ 46 ในปี 2050 นอกจากนี้ เอเชียจะมีชนชั้นกลางเป็นจำนวนมาก โดยชนชั้นกลางทั่วโลกจะเพิ่มขึ้น 2-3 พันล้านคน ในอีก 20 ปีข้างหน้า ซึ่งส่วนใหญ่จะอยู่ในเอเชีย

มูลค่าการค้าระหว่างประเทศของเอเชีย จะมีส่วนแบ่งมากกว่าร้อยละ 50 ของการค้าโลกในปี 2025 เนื่องจากข้อตกลงการเปิดเสรีภายในภูมิภาค จะทำให้การพึ่งพากันภายในภูมิภาคมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง AEC จะขยายความร่วมมือกับประเทศนอกภูมิภาค เป็น ASEAN+3 และ ASEAN+6 มากกว่านั้น ประเทศต่างๆ ในเอเชีย ยังมีความตกลงทางการค้าในแบบทวิภาคีจำนวนมาก

การพึ่งพาทางการลงทุน

การเปิด AEC จะทำให้ไทยพึ่งพาการลงทุนจากเอเชียมากขึ้น เนื่องจากการลดข้อจำกัดด้านการเคลื่อนย้ายการลงทุน และเงินทุนระหว่างกันมากขึ้น AEC ยังทำให้นักลงทุนนอกภูมิภาคสนใจอาเซียนมากขึ้น เพราะอาเซียนจะกลายเป็นตลาดเดียวที่มีขนาดใหญ่ การเข้ามาลงทุนในอาเซียนจะสามารถเข้าถึงผู้บริโภคที่มีจำนวนถึง 600 ล้านคน

ปัจจุบัน การลงทุนโดยตรงในประเทศกำลังพัฒนา 1 ใน 3 มาจากประเทศกำลังพัฒนาด้วยกันเอง ในอนาคต กระแสการลงทุนโดยตรงระหว่างประเทศ จากประเทศกำลังพัฒนามีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น บริษัทในประเทศกำลังพัฒนาออกไปทำการค้าและร่วมลงทุนในเศรษฐกิจเกิดใหม่อื่น ๆ มากขึ้น

หากพิจารณาในแง่ภูมิรัฐศาสตร์ อาเซียนอยู่ในภูมิศาสตร์ที่มีศักยภาพทางเศรษฐกิจของโลก ประเทศมหาอำนาจจึงพยายามขยายอิทธิพลมาในภูมิภาคนี้ สังเกตได้จากการที่รัฐบาลจีนให้เงินช่วยเหลือและเงินลงทุนแก่ประเทศในภูมิภาคนี้ โดยเฉพาะการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งเป็นไปตามยุทธศาสตร์ One Belt One Road ของจีน หรือรัฐบาลอินเดียที่พยายามเชื่อมโยงเส้นทางคมนาคมกับอาเซียน ดังนั้น ประเทศไทย ซึ่งตั้งอยู่ที่ศูนย์กลางอาเซียน จะมีโอกาสรับนักลงทุนจากเศรษฐกิจเกิดใหม่มากขึ้น

การเปลี่ยนแปลงนี้ทำให้ประเทศไทยต้องเปลี่ยนทิศทางการพัฒนา เพื่อมุ่งสู่ตะวันออกมากขึ้น จากเดิมที่ให้ความสำคัญกับตะวันตก เช่น การส่งนักเรียนทุนรัฐบาลอาจต้องกระจายทุนไปสู่ประเทศตะวันออกมากขึ้น การเรียนภาษาต่างประเทศต้องให้ความสำคัญกับภาษาของประเทศเพื่อนบ้านมากขึ้น เป็นต้น
ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้น ประเทศไทยจะต้องเตรียมความพร้อมและพัฒนาประเทศ ด้วยมุมมองและในทิศทางที่สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลง เพื่อที่เราจะสามารถพัฒนาประเทศ ก้าวไปสู่การเป็นผู้นำในอาเซียนได้ และมีศักยภาพและขีดความสามารถการแข่งขัน

ทั้งนี้ การเปลี่ยนแปลงของการพัฒนาประเทศไทยซึ่งเป็นผลจาก AEC ในประเด็นอื่นๆ จะนำเสนอในบทความครั้งต่อๆ ไป

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ
คอลัมน์ : ดร.แดน มองต่างแดน
ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
ประธานสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา (IFD)
อีเมลนี้จะถูกป้องกันจากสแปมบอท แต่คุณต้องเปิดการใช้งานจาวาสคริปก่อน http://www.kriengsak.com
แหล่งที่มาของภาพ : http://asean-focus.com/asean/wp-content/uploads/2015/02/15064740_xl-1024x885.jpg
แก้ไขล่าสุด ใน วันศุกร์ที่ 15 มกราคม 2016 เวลา 22:17 น.
 

คิดริเริ่มเก่ง อนาคตไกล

พิมพ์ PDF
ผู้นำที่ขาดความคิดริเริ่ม และไม่เคยสร้างการเปลี่ยนแปลงใหม่ คือ ผู้สร้างความเสี่ยง ‘ล้มเหลว’ ในการนำคน นำองค์กรสู่อนาคต และพลาดเป้าหมายวิสัยทัศน์ที่วางไว้...
อนาคตเป็นของผู้ที่มีความพร้อมมากกว่าเสมอ ผู้นำที่มี “ความคิดริเริ่ม” และมีความสามารถในการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ย่อมมีโอกาสก้าวไปก่อน ก้าวไปไกล ก้าวไปสู่อนาคต ที่ประสบความสำเร็จได้มากกว่า
ตรงข้ามกับผู้นำที่นำแบบไปเรื่อย ๆ พอใจในสิ่งที่เป็นอยู่ รักษาระบบแบบอนุรักษ์นิยม ไม่คิดจะริเริ่มเปลี่ยนแปลงหรือสร้างสรรค์สิ่งใหม่ที่ดีกว่าด้วยตนเอง ถ้าไม่มีใครสั่งหรือไม่มีสถานการณ์บีบบังคับ อาจนำได้ในสถานการณ์ปกติ แต่จะไม่ใช่ผู้นำที่มีวิสัยทัศน์ยิ่งใหญ่ และไม่ใช่ผู้นำที่ปรับตัวเข้ากับอนาคตที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วได้

 

ผู้นำที่นำองค์กรประสบความสำเร็จ มักเป็นพวก ‘คิดดี คิดได้ ทำเป็น’ คิดริเริ่มสร้างสรรค์ทำสิ่งใหม่ ๆ ได้ด้วยตนเอง แสวงหา แนวทางใหม่ ๆ เพื่อให้ทำงานได้เร็วขึ้น ฉลาดขึ้น มีประสิทธิภาพสูงขึ้น สร้างผลลัพธ์ตามเป้าหมายได้มากขึ้น หรือเรียกว่า การมีความคิดเชิงนวัตกรรม
การมีความคิดเชิงนวัตกรรม หมายถึง การคิดริเริ่มทำสิ่งใหม่ ๆ ที่ดีขึ้นกว่าเดิม และพยายามหาวิธีนำแนวคิดใหม่เหล่านี้ มาทำให้เป็นจริง นำไปสู่การสร้างสิ่งใหม่ การใช้วิธีการใหม่ การประยุกต์ใช้ใหม่ เพื่อให้เกิดประโยชน์ตามวัตถุประสงค์ เช่น ทำให้งานมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลสูงขึ้น สร้างผลลัพธ์ได้มากขึ้น โดยใช้ต้นทุนลดลง ใช้ทรัพยากรลดลง เป็นต้น
ไม่เพียงคนที่เป็นผู้นำหรือผู้บริหารองค์กร แต่คนทำงานทุกคนควรฝึกนิสัยคิดริเริ่ม เพื่อให้เราสามารถปรับตัวเข้ากับการเปลี่ยนแปลงและเพิ่มโอกาสการเป็นผู้นำ และโอกาสความสำเร็จได้
คำถามคือ เราจะสามารถพัฒนาความสามารถในการคิดริเริ่มได้อย่างไร?
คิดริเริ่มเป็นนิสัย สร้างสิ่งใหม่เป็นธรรมชาติ ในการทำงานเราควรฝึกคิดริเริ่มสิ่งต่าง ๆ ได้ด้วยตนเอง ไม่ต้องคอยให้ใครมาสั่ง ไม่ต้องรอให้สถานการณ์บีบบังคับแล้วจึงค่อยทำ แต่คิดริเริ่มเป็นนิสัย มีความกระตือรือร้นตลอดเวลา อยากเห็นสิ่งที่ดีกว่าเดิม อยากทำให้ดีกว่าเดิม อยากให้เกิดผลลัพธ์ที่มีพลังมากกว่าเดิม ฯลฯ ไม่พอใจกับรูปแบบและวิธีการแบบเดิม ๆ ไม่พึงพอใจในผลลัพธ์เดิม ๆ ไม่แช่อยู่กับความสำเร็จเดิม ๆ
เราควรริเริ่มหาทางปรับปรุงประสิทธิภาพการทำงาน พยายามหาวิธีที่ดีขึ้น ฉลาดขึ้น นำเสนอสิ่งใหม่ วิธีการใหม่ ๆ แนวทางใหม่ ๆ อย่างต่อเนื่อง มุ่งสร้างผลลัพธ์เพิ่มขึ้นในขอบเขตงานที่ตนรับผิดชอบ โดยคิดเสมอว่า “จะทำให้ดีกว่าเดิมได้อย่างไร?” “มีวิธีใดบ้างที่ช่วยให้เกิดผลลัพธ์ทวีคูณขึ้น?” “เราจะสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อลูกค้าได้เร็วที่สุดอย่างไร ถ้าใช้เวลาเท่าเดิม คนเท่าเดิม?” ฯลฯ
กระตุ้นทีมงานคิดริเริ่ม ปลดปล่อยพลังสร้างสรรค์ ในการทำงานเป็นทีมจะเดินหน้าอย่างมีพลัง ถ้าทุกคนออกแรงเต็มที่ในการช่วยกันคิด ช่วยกันทำ ช่วยกันสร้างสิ่งใหม่ ๆ ที่เอื้อให้ความฝันที่มีร่วมกันเป็นจริง เราจึงควรมีส่วนทำหน้าที่ผลักดัน กระตุ้น และสนับสนุน ให้ทีมงานคิดริเริ่มสร้างสรรค์ไอเดียใหม่ ๆ แนวทางใหม่ ๆ ที่จะช่วยให้งานในความรับผิดชอบก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ โดยสื่อสารข้อมูลให้ชัดเจน ในเป้าหมาย เป้าประสงค์ที่ต้องการ
หากเราอยู่ในฐานะหัวหน้างาน หรือผู้บริหาร เราควรเป็นแบบอย่างนักคิดริเริ่ม สร้างแรงบันดาลใจให้คนกล้าคิดนอกกรอบ กระตุ้นความคิดสร้างสรรค์ทีมงานให้ได้มากที่สุด ท้าทายให้ทีมงานเชื่อมั่นในตนเอง ส่งเสริมกำลังใจ ให้ความเชื่อมั่นว่าจะสร้างผลลัพธ์ที่สร้างสรรค์ได้ หากความคิดริเริ่มนั้นถูกนำไปปฏิบัติได้จริงและควรส่งเสริมให้องค์กรสร้างบรรยากาศและวัฒนธรรมองค์กรที่ส่งเสริมการแสดงความคิดริเริ่มสร้างสรรค์
ขับเคลื่อนกระบวนการนำความคิด  ปฏิบัติได้จริง ไอเดียดี ๆ ที่ไม่ถูกนำมาใช้ก็ไม่ต่างกับการฝันเฟื่อง หรือฝันกลางวัน ดังนั้น ทุกความคิดดี ๆ ต้องมีการประเมินความเป็นไปได้ในการนำมาใช้จริง เราจึงต้องพยายามหาทางเอาไอเดียเหล่านั้นมาทำให้เกิดขึ้นจริง
ทุกองค์กรควรมีการส่งเสริมให้มีการขับเคลื่อนกระบวนการสร้างนวัตกรรมให้สำเร็จ ประกอบด้วย 3 ขั้นตอน จาก  Ideation – ไอเดียสร้างสรรค์ คัดเลือกแนวคิดใหม่ ๆ ที่มั่นใจว่าคิดได้ดีกว่าเดิม ใช้การได้ดีกว่าเดิม เกิดจากการทะลุทะลวงทางความคิดของทุกคนในทีม นำไปสู่ Implementation – ปฏิบัติได้จริง โดยประเมินไอเดียนั้นอย่างละเอียดรอบคอบ ปรับปรุงแก้ไข เพื่อให้มั่นใจว่านำไปปฏิบัติได้ ใช้ประโยชน์ได้จริง และที่สำคัญนวัตกรรมใหม่ ๆ ที่ผลิตออกมานั้น ต้องมี Impact – สร้างผลกระทบเชิงบวกนวัตกรรมนั้นไม่เพียงมีผลผลิต (output) แต่ต้องมุ่งผลลัพธ์ (outcome) เห็นผลลัพธ์ชัดเจน ส่งผลกระทบเชิงบวกตามเป้าประสงค์
หากเราสามารถปลดปล่อยศักยภาพในการคิดริเริ่มและสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ ออกมาได้มากเพียงใด เราจะพบว่า เรากลายเป็น “ผู้นำแห่งอนาคต” และเป็นที่ต้องการของทุกองค์กร
งานวันนี้
ปีที่ 16 ฉบับที่ 701 วันที่ 26 สิงหาคม -2 กันยายน 2557
ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
ประธานสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา (IFD)
อีเมลนี้จะถูกป้องกันจากสแปมบอท แต่คุณต้องเปิดการใช้งานจาวาสคริปก่อน http://www.kriengsak.com
แก้ไขล่าสุด ใน วันศุกร์ที่ 15 มกราคม 2016 เวลา 22:24 น.
 

วิเคราะห์เก่ง คาดการณ์แม่น แก้ปัญหาได้

พิมพ์ PDF
ผู้นำไม่ต้องลงไปทำเองทั้งหมด แต่ต้องรู้ว่าทั้งหมดเป็นอย่างไร ....
ความแตกต่างระหว่างผู้นำที่ เก่ง กับ ไม่เก่ง มักจะวัดกันตรงที่ความสามารถในการหลบหลีกและรับมือกับปัญหา  ผู้นำที่เก่งจะแก้ปัญหาได้ตรงจุดเพราะวิเคราะห์สาเหตุได้แม่นยำ คาดการณ์อนาคตและวางแผนรับมือได้ทัน
เราคงจำได้ในยุคหนึ่ง สมาร์ทโฟนยี่ห้อ Blackberry ได้รับความนิยมเป็นอย่างสูง ครองส่วนแบ่งตลาดสมาร์ทโฟนในสหรัฐได้เกือบครึ่ง แต่ภายในปีเดียวหลังจากแอปเปิ้ลเปิดตัวไอโฟนในปี 2007 ส่วนแบ่งการตลาดของ Blackberry ในสหรัฐฯ ร่วงลงจากร้อยละ 44  เหลือเพียงร้อยละ 9 และหุ้นบริษัทร่วงลงไปถึงร้อยละ 70 ในเวลาแค่เพียงหนึ่งปี สาเหตุหลักมาจากการที่ จิม บาลสิลี่ (Jim Balsillie) ซีอีโอของ RIM (Research In Motion) บริษัทผู้ผลิต Blackberry ปรับตัวช้าเกินไป แทนที่จะรีบหาทางรับมือกับคู่แข่งอย่างไอโฟน ซึ่งหากวิเคราะห์และคาดการณ์ย่อมเห็นแนวโน้มการเป็นคู่แข่งที่น่ากลัว แต่ซีอีโอคนนี้กลับเพิกเฉย และมัววุ่นวายอยู่กับการพยายามซื้อทีมฮ็อคกี้...ซึ่งไม่ใช่เรื่องสำคัญในเวลานั้นเลย

 

ผลที่เกิดขึ้น แม้ว่า จิม บาลสิลี่ จะแสดงความรับผิดชอบต่อความบกพร่องในหน้าที่ ด้วยการลาออก แต่ชื่อสมาร์ทโฟน Blackberry ก็ไม่เคยหวนกลับคืนสู่ตลาดได้อีกเลย...
ผมกล่าวเสมอว่า ผู้นำประเทศที่ดีต้องรู้จักต้นข้าวทุกต้น โดยไม่ต้องลงไปปลูกเอง...ต้องมองเห็นภาพรวมทั้งหมดขององค์กร รู้ว่าใครทำอะไร เพื่ออะไร รู้ว่าสถานการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจะส่งผลกระทบอย่างไร รู้ว่าปัญหาที่เกิดขึ้นจะแก้ไขอย่างไร รู้ว่าอนาคตอาจเกิดอะไรขึ้น และจะเตรียมพร้อมรับมืออย่างไร...
ความสามารถในการวิเคราะห์ คาดการณ์ และแก้ไขปัญหา จึงเป็นความสามารถอีกประการหนึ่งที่ผู้นำจำเป็นต้องมี และเป็นเรื่องคนทำงานทุกคนจำเป็นต้องพัฒนา เพื่อให้พร้อมก้าวสู่ตำแหน่งที่สูงขึ้น อยู่ในฐานะหัวหน้างาน ผู้บริหารงานมืออาชีพในอนาคต  โดยพัฒนาความสามารถในเรื่องต่อไปนี้
ความสามารถในการวิเคราะห์ปัญหา – รู้จริง แก้ตรงจุด เราต้องมองสิ่งต่าง ๆ รอบตัวอย่างลึกซึ้ง ต้องรู้จักวิเคราะห์หาเหตุและผลที่แท้จริง ค้นหาสาเหตุของปัญหาได้อย่างแม่นยำ มองทุกสิ่งที่ปรากฏต่อหน้าได้อย่างไม่เชื่อทันทีหรือด่วนสรุปในสิ่งที่ได้เห็นหรือได้ยินอย่างมีอคติ แต่วิเคราะห์หาเหตุผล ที่มาที่ไป สามารถจำแนกแจกแจง แยกแยะองค์ประกอบต่าง ๆ เห็นความเกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงของภาพรวมทั้งหมด เพื่อให้เข้าใจกระจ่างในเหตุปัจจัยที่แท้จริง และสามารถจัดลำดับความสำคัญ ความจำเป็นเร่งด่วน เพื่อแก้ปัญหาได้ตรงจุด รวมทั้ง สามารถคาดคะเนผลกระทบที่เกิดตามมาในปัจจุบัน และในอนาคตได้
คนทำงานที่ต้องการพัฒนาตนเองเป็นผู้นำจึงต้องฝึกเป็นนักคิดวิเคราะห์ คิดวิพากษ์ ต้องเป็นผู้ที่ไม่เชื่อหรือตัดสินสิ่งใดอย่างง่าย ๆ แต่ต้องเป็นคนที่ช่างสังเกต ช่างสงสัย เป็นนักตั้งคำถามที่ดี ให้ความสนใจในรายละเอียด เก็บข้อมูลต่าง ๆ ให้ครบ และต้องเรียนรู้ที่จะนำเทคนิควิธีต่าง ๆ เพื่อช่วยในการวิเคราะห์ สืบค้น เพื่อให้สามารถค้นพบความจริงและแก้ไขที่ต้นตอของปัญหาได้
ความสามารถในการคาดการณ์ปัญหา – รู้ก่อน ป้องกันได้ เราต้องบอกกับตนเองเสมอว่า ‘อย่ามีปัญหาโดยไม่จำเป็น’ ต้องไม่รอให้ปัญหาเกิดก่อนค่อยตามแก้ไข แต่คาดการณ์ล่วงหน้าเสมอว่า อาจเกิดปัญหาใดขึ้นบ้าง และหาวิธีแก้ไขไว้ล่วงหน้า หรือเตรียมการป้องกันไว้ โดยคาดการณ์จากภารกิจที่ทำอยู่ คาดการณ์แนวโน้มด้านต่าง ๆ สถานการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ทั้งในองค์กร ในสังคม และในโลก ประเมินเปรียบเทียบว่าอาจส่งผลกระทบต่อองค์กรอย่างไร  ถ้าเรายังคงทำอย่างนี้ต่อไปเรื่อย ๆ จะเกิดอะไรขึ้น แนวโน้มที่อาจเกิดขึ้นจะมีผลต่อเป้าหมายและการทำงานของเราหรือไม่ ต้องปรับปรุงเปลี่ยนแปลงอย่างไร เพื่อป้องกันปัญหาที่อาจเกิดขึ้นจริง
เราควรฝึกทักษะการคิดเชิงอนาคต ต้องไวต่อสถานการณ์และการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในบริบทต่าง ๆ คาดการณ์แนวโน้มและผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นอย่างสมเหตุสมผล ต้องไม่ปล่อยให้การทำงานผ่านไปเรื่อย ๆ ตามความเคยชิน ตั้งคำถามเสมอว่า “ถ้าเกิด...ขึ้น จะทำอย่างไร?” “ถ้า...ไม่เป็นไปตามแผน จะทำอย่างไร?” ฯลฯ ต้องกระตือรือร้นและพร้อมที่จะปรับตัว เปลี่ยนแปลงสู่สิ่งที่ดีกว่าเสมอ
ความสามารถในการตอบสนองปัญหา – รู้วิธีแก้ไข ไม่แก้ตัว เมื่อปัญหาเกิดขึ้นจะหาทางแก้ไขทันที ไม่ปล่อยทิ้งไว้ โดยคิดว่าเวลาจะเยียวยาปัญหานั้นเอง ไม่เสียเวลาบ่นต่อว่า หรือกล่าวตำหนิติเตียน แต่ต้องตอบสนองปัญหาอย่างรวดเร็ว พยายามหาทางเลือกที่ดีที่สุดในการแก้ปัญหาให้หมดไป ด้วยความสงบ มีสติ มีเหตุผล ไม่ตื่นตระหนก ไม่ใช้อารมณ์พาไป โดยรวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้องไว้ด้วยกันอย่างรวดเร็ว วิเคราะห์ลงรายละเอียดอย่างรอบคอบ และพยายามหาทางเลือกต่าง ๆ ที่หลากหลาย ประเมินผลกระทบผลดี-ผลเสียในแต่ละทางเลือก และเลือกการตัดสินใจที่ดีที่สุด
คนทำงานจึงควรฝึกทักษะการคิดเชิงกลยุทธ์ ต้องมั่นใจว่าทางเลือกที่ตัดสินใจนั้น ถูกต้องเหมาะสม คงเส้นคงวา ต้องมีใจที่เปิดกว้าง รับฟังคำแนะนำ ขอคำปรึกษาจากคนกลุ่มต่าง ๆ มีการใช้เทคนิดวิธีต่าง ๆ เข้ามาช่วย มีความสามารถในการประเมินปัจจัยสภาพแวดล้อมอย่างครบถ้วน ทั้งภายในและภายนอก ทั้งในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต เพื่อตอบสนองต่อปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างอารยะแท้จริง
คนเก่งจะไม่สร้างปัญหา ไม่สะสมปัญหา และไม่เสียเวลาบ่นต่อว่าปัญหา แต่มีความสามารถในการวิเคราะห์ คาดการณ์ และแก้ปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ
งานวันนี้
ปีที่ 16 ฉบับที่ 699 วันที่ 12-19 สิงหาคม 2557
ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
ประธานสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา (IFD)
อีเมลนี้จะถูกป้องกันจากสแปมบอท แต่คุณต้องเปิดการใช้งานจาวาสคริปก่อน http://www.kriengsak.com
แก้ไขล่าสุด ใน วันศุกร์ที่ 15 มกราคม 2016 เวลา 22:30 น.
 

งานควร สร้างสุข ไม่ใช่ ก่อทุกข์

พิมพ์ PDF
การทำงานเป็นสิ่งที่อยู่คู่กับมนุษย์ทุกคน เมื่อเราเติบโตพ้นวัยเด็ก เราจะเข้าสู่ “วัยทำงาน” ซึ่งเป็นช่วงวัยที่เราต้องอยู่ยาวนานที่สุดในชีวิตของคน ๆ หนึ่ง หากพิจารณาจากนิยามคนวัยทำงาน ซึ่งกำหนดไว้ว่า มีอายุ 15-59 ปี หรือใช้เวลา 44 ปี ของชีวิตในการทำงาน สมมติแต่ละคนใช้เวลาส่วนใหญ่ในการทำงาน วันละ 8-9 ชั่วโมง ตลอดอายุจะใช้เวลาทำงาน เฉลี่ยประมาณ 53,000 ชั่วโมง ... เท่ากับว่า เราใช้เวลามากกว่าครึ่งชีวิต ในการทำงาน (หากเราเสียชีวิตตอนอายุ 80 ปี)!!
การทำงานกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตมนุษย์ ที่ไม่สามารถปฏิเสธหรือหลีกเลี่ยงได้

 

โทมัส คาร์ไลน์ (Thomas Carlyle) นักประวัติศาสตร์ชาวสก็อต กล่าวไว้อย่างเป็นจริงว่า “การทำงาน คือ ยาชั้นดี ในการรักษาเยียวยาโรคทุกชนิดและความทุกข์ยากลำบากนานัปการที่คอยรุมเร้ามนุษยชาติ”
คนที่ไม่ได้ทำงาน ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใด แม้จะร่ำรวยสุขสบาย เกษียณอายุ หรือตกงานเป็นเวลานาน มักจะมีปัญหาด้านจิตใจ เกิดความรู้สึกเบื่อหน่าย รู้สึกว่าตัวเองไม่มีคุณค่า นำความทุกข์มาให้กับตัวเองได้อย่างมาก ตรงกันข้าม คนที่ทำงาน ทั้งงานที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ ย่อมเกิดความรู้สึกพึงพอใจ รู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่า เมื่อสามารถสร้างผลผลิตได้สำเร็จ
ในช่วงเวลามากกว่า “ครึ่งชีวิต” นี้ คนทำงานแต่ละคนทำงานอย่างมีความสุขหรือทำอย่างทนทุกข์ จะสร้างผลงานที่นำความภาคภูมิใจมาสู่ชีวิต หรือตลอดชีวิตการทำงาน ไม่ได้สร้างสิ่งใดที่น่าภาคภูมิใจเลย ...ขึ้นอยู่กับ “ทัศนคติ” ที่เรามีต่อการทำงาน
ความสุข – ทัศนะต่องานในแง่บวก คนที่มีทัศนคติต่องานในแง่บวก ย่อมทำงานอย่างมีความสุข และสามารถสร้างผลงานที่มีคุณค่าจากศักยภาพชีวิตทั้งหมดของตนได้มากมาย
วอลแตร์ (Voltaire) นักปรัชญาการเมืองชาวฝรั่งเศส กล่าวว่า “การทำงานช่วยขับไล่ความเลวร้าย 3 ประการออกไป ความเบื่อหน่าย ความบกพร่อง และความยากจน” ...ทัศนคติเช่นนี้ ทำให้เขาสามารถสร้างผลงานแห่งชีวิตได้อย่างมากมาย
วอลแตร์มีอิทธิพล ทั้งต่อฝรั่งเศส และคนทั้งโลก จนถึงปัจจุบันนี้ แม้เขาจะเสียชีวิตมากว่า 200 ปีแล้วก็ตาม เมื่อจบการศึกษา วอลแตร์เริ่มต้นด้วยการทำงานเป็นทนายความ แต่เขาไม่ชอบอาชีพนี้ จึงตัดสินใจทำสิ่งที่ตนชอบ คือ เขียนหนังสือ ซึ่งเริ่มอย่างจริงจังเมื่ออายุได้ 20 ปี เขาชอบเขียนหนังสือประเภทเสียดสีสังคมอยู่เสมอ
ครั้งหนึ่ง เขาเขียนกลอนล้อเลียนผู้สำเร็จราชการแผ่นดินของพระเจ้าหลุยส์ที่ 15 จึงถูกส่งเข้าคุกบัสตีย์ ขณะที่อยู่ในคุก แทนที่จะท้ออกท้อใจ เขากลับนั่งเขียนบทละครโศกนาฏกรรมเรื่องแรกขึ้น  เน้นความสำคัญทางเสรีภาพของมนุษย์ ต่อมา วอลแตร์ถูกขังคุกอีกครั้ง และหลังออกจากคุก เขาถูกเนรเทศไปอังกฤษ
แต่ไม่ว่า จะอยู่ที่ไหน อยู่ในสถานการณ์เช่นไร วอลแตร์จะเขียนหนังสืออยู่ไม่หยุด และจะสนใจศึกษาเรื่องวิทยาศาสตร์ การเมือง สังคม ผลงานของเขาจึงมีมากมาย หลากหลายประเภท ทั้งบทละคร นิยาย นิทานเชิงปรัชญา ประวัติศาสตร์ และบทกวี ที่สำคัญ ก่อให้เกิด “อิทธิพลทางความคิด” สู่สาธารณชน ปลุกกระแสการเรียกร้องสิทธิ เสรีภาพ การต่อสู้ความอยุติธรรม นำไปสู่การปฏิวัติฝรั่งเศส พ.ศ. 2332 เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ทั้งทางด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคมและศาสนา
อิทธิพลความคิดจากงานเขียนของวอลแตร์ เป็นรากฐานของระบอบการปกครองแบบเสรีประชาธิปไตยในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก ชื่อของเขายังอยู่ แม้เขาจะจากโลกนี้ไปกว่าสองร้อยปีแล้วก็ตาม
จะเห็นได้ว่า คน ๆ เดียวที่มีทัศนคติต่องานในแง่บวก “รักในสิ่งที่ตนทำ” และไม่หยุดทำงาน ไม่ว่าสถานการณ์จะเป็นเช่นไร ย่อมไม่เพียงสามารถสร้างผลงานออกมาได้มากมาย แต่เป็นผลงานที่สร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับสังคม และอนาคตของมนุษยชาติได้อย่างยาวนาน
ความทุกข์ – ทัศนะต่องานในแง่ลบ ในทางตรงกันข้าม แม้การทำงาน อาจเป็นสิ่งที่ดี สิ่งที่น่าพึงพอใจ เป็นความสุข สำหรับคน ๆ หนึ่ง แต่ขณะเดียวกันอาจเป็นสิ่งที่เลวร้าย เป็นภาระหนัก เป็นสิ่งที่ควรหลีกเลี่ยง เป็นความทุกข์ สำหรับคนอีกคนหนึ่ง
คนจำนวนไม่น้อยเป็นพวก “เลือกเงิน ไม่ใช่เลือกงาน” ทำงานอะไรก็ได้ที่ให้ผลตอบแทนสูง ๆ โดยไม่ได้ดูว่า งานนั้นมีคุณค่า เกิดประโยชน์หรือไม่  คนที่ไม่อยากทำงาน แต่อยากได้เงิน จึงมักเป็นพวกที่มักมีอาการ...อู้งาน เกี่ยงงาน หลบงาน เลี่ยงงาน ทำแบบลูบหน้าปะจมูก เพียงเพื่อไม่ให้ตัวเอง “ตกงาน”
เอกสารงานวิจัยหลายชิ้น ระบุว่า คนไทยนั้นขาดค่านิยมในเรื่องการทำงานหนัก มีข้อค้นพบที่สอดคล้องกันว่า คนไทยมีค่านิยมหรือบุคลิกภาพโดดเด่นในทางรักสนุก รักสบาย ไม่ค่อยให้คุณค่าเกี่ยวกับเรื่องงานหรือการทำงาน ยิ่งหากงานนั้นเป็นงานหนัก ยากลำบาก มักจะหลีกเลี่ยง และมองว่าเป็นความทุกข์
หากใครมีทัศนคติต่อการทำงานเช่นนี้ ขอแนะนำว่า ให้รีบเปลี่ยนโดยด่วน เราทุกคนควรมีทัศนคติต่องานอย่างถูกต้อง เพื่อให้เราจะมีโอกาสใช้ชีวิตที่เหลืออยู่อย่างมีคุณค่า อย่างมีความสุข อย่างสมศักดิ์ศรีที่เกิดมาเป็นมนุษย์
เราควรมองการทำงาน เป็นโอกาสสร้าง “ผลผลิตชีวิต” เป็นโอกาสที่เราที่จะเนรมิตสร้างสิ่งดีงามให้เกิดขึ้น
ผมพูดเสมอว่า “เราไม่ควรทำงานเพียงเพื่อแสวงหาความอยู่รอด เพราะการมีชีวิตอยู่เพียงเพื่อทำมาหากินอย่างเดียว จะต่างอะไรกับสิงสาราสัตว์ที่แทะเล็มหญ้าไปวัน ๆ จนกว่าจะตาย มนุษย์เราควรมีอะไรมากกว่านั้น”
หากเรามีทัศนคติต่องานอย่างถูกต้อง เลือกทำงานที่เรารัก เป็นงานที่มีคุณค่าและทำด้วยเห็นคุณค่า ย่อมส่งผลให้ทำงานอย่างมีความสุข ใช้ศักยภาพที่มีอย่างเต็มที่ และผลผลิตจากการลงแรงจะเกิดขึ้นมากมาย นำความภาคภูมิใจมาสู่ชีวิตได้ในที่สุด
ที่มา: งานวันนี้
ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
ประธานสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา (IFD)
อีเมลนี้จะถูกป้องกันจากสแปมบอท แต่คุณต้องเปิดการใช้งานจาวาสคริปก่อน , http:// www.kriengsak.com
 


หน้า 271 จาก 561
Home

About Us

ศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ (ศบม.) เป็นองค์กรที่พัฒนาและจัดทำโครงการเพื่อทำประโยชน์ให้สังคม เป็นองค์กรสนับสนุนการดำเนินงานของภาครัฐ ช่วยแก้ปัญหาผู้ประกอบการภาคธุรกิจบริการที่ขาดแคลนบุคลากรที่มีมาตรฐานในการให้บริการ
อ่านเพิ่มเติม

มูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ ์

 iHDC Profile
บัญชีรายชื่อกรรมการ
ใบสำคัญแสดงการจดทะเบียน การเปลี่ยนแปลงกรรมการของมูลนิธิ
เอกสารประชาสัมพันธ์ โครงการ HMTC.pdf
เอกสารแนะนำโครงการ HMTC 1.pdf
เอกสารโครงการ HMTC 2 คุณสมบัติผู้เข้าร่วมโครงการ.pdf
iHDC นิติบุคคล.pdf
iHDC บุคคล.pdf
iHDC บุคคลเครือข่าย.pdf
รายงานการประชุม 6 มีนาคม 2560.pdf
ข้อบังคับมูลนิธิ
ใบสำคัญแสดงการจดทะเบียนจัดตั้งมูลนิธิ
Ihdc-Profile and Roadmap 2016-2019 Mar 23 2560.pdf
รายงานการประชุมใหญ่คณะกรรมการมูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ 2559.pdf
คำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ สาขาวิชาชีพ.pdf
รายงานการประชุมใหญ่วันที่ 18 ธ ค 2558 v 3.pdf
รายงานการประชุม วันที่ 24 ธันวาคม 2557 updated 4 มีนาคม 2558.pdf
iHDC-invitation Letter.doc
iHDC-Member Form Thai.doc
iHDC-Member Form English.doc
รายงานการประชุมกรรมการมูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ วันที่ 15 มกราคม 2556 ฉบับสมบูรณ์


thaibetter
พัฒนาประเทศไทยแบบทวีคูณ และยั่งยืน ( ททค )

Login


แบบสำรวจ

สถิติเว็บไซด์

สมาชิก : 5644
Content : 3068
เว็บลิงก์ : 26
จำนวนครั้งเปิดดูบทความ : 8747851

facebook

Twitter


ล่าสุด

บทความเก่า