Thaiihdc.org

  • เพิ่มขนาดตัวอักษร
  • ขนาดตัวอักษรปกติ
  • สดขนาดตัวอักษร
Thaiihdc.org

การบริหารคนด้วยหลักธรรมมะ

พิมพ์ PDF

จริงๆ แล้วทุกองค์กรก็ต้องการให้มีบุคลากรที่เป็นทั้งคนเก่งและคนดีไปพร้อมๆ กัน ถ้าหากเป็นไปได้ก็คงจะเป็นเรื่องที่ดีมากๆ แต่หากเป็นไปไม่ได้การจะคัดสรรเอาไว้ก็คงจะหนีไม่พ้นการเลือกคนดีเอาไว้ เพราะคนเก่งสามารถเรียนรู้และพัฒนาจนเกิดความชำนาญได้ แต่คนดีมันต้องสร้างมาจากภายในไม่มีใครสามารถบังคับได้ ผู้บริหารหลายคนพยายามหาวิธีการบริหารจัดการแบบใหม่ๆ มามากมายเพื่อที่จะสร้างให้บุคลากรภายในองค์กรเป็นทั้งคนเก่งและคนดี ซึ่งบางองค์กรก็ประสบความสำเร็จแต่บางองค์กรก็ต้องพบกับความล้มเหลว

ความสัตย์จริงในเรื่องของการดำเนินชีวิตรวมถึงหลักธรรมในการบริหารคนของพระพุทธเจ้ายังคงใช้ได้อยู่ทุกยุคทุกสมัย หากท่านใคร่ครวญดูท่านจะพบว่าเราไม่จำเป็นต้องเอาการบริหารจัดการของต่างประเทศเข้าใช้มาเลย เพราะหลักการบริหารจัดการของพุทธศาสนานี่แหละชัดเจนที่สุดและใช้ได้จริง

การที่จะเป็นคนเก่งได้ต้องมาจากการเป็นคนดีก่อน โดยใช้หลักธรรมมะในเรื่องของ “พรหมวิหาร 4” จากนั้นจะค่อยๆ พัฒนาตนเองให้กลายเป็นคนที่เก่งได้ด้วย หลักธรรมมะในเรื่องของ “อิทธิบาท 4”

พรหมวิหาร 4  ประกอบไปด้วย
1. เมตตา ความปรารถนาให้ผู้อื่นได้รับสุข ความสุขเป็นสิ่งที่ทุกคนปรารถนา ความสุขเกิดขึ้นได้ทั้งกายและใจ เช่น ความสุขเกิดจากการมีทรัพย์ ความสุขเกิดจากการใช้จ่ายทรัพย์เพื่อการบริโภค ความสุขเกิดจากการไม่เป็นหนี้ และความสุขเกิดจากการทำงานที่ปราศจากโทษ เป็นต้น

2. กรุณา ความปรารถนาให้ผู้อื่นพ้นทุกข์ ความทุกข์ คือ สิ่งที่เข้ามาเบียดเบียนให้เกิดความไม่สบายกายไม่สบายใจ และเกิดขึ้นจากปัจจัยหลายประการด้วยกัน พระพุทธองค์ทรงสรุปไว้ว่าความทุกข์มี 2 กลุ่มใหญ่ๆ  คือ ทุกข์โดยสภาวะหรือเกิดจากเปลี่ยนแปลงตามธรรมชาติของร่างกาย และทุกข์จรหรือทุกข์ทางใจ อันเป็นความทุกข์ที่เกิดจากสาเหตุที่อยู่นอกตัวเรา

3. มุทิตา ความยินดีเมื่อผู้อื่นได้ดี คำว่า "ดี" ในที่นี้ หมายถึง การมีความสุขหรือมีความเจริญก้าวหน้า ความยินดีเมื่อผู้อื่นได้ดีจึงหมายถึง ความปรารถนาให้ผู้อื่นมีความสุขความเจริญก้าวหน้ายิ่งๆขึ้น ไม่มีจิตใจริษยา ความริษยา คือ ความไม่สบายใจ ความโกรธ ความฟุ้งซ่านซึ่งมักเกิดขึ้นเมื่อเห็นผู้อื่นได้ดีกว่าตน

4. อุเบกขา การรู้จักวางเฉย หมายถึง การวางใจเป็นกลางเพราะพิจารณาเห็นว่า ใครทำดีย่อมได้ดี ใครทำชั่วย่อมได้ชั่ว ตามกฎแห่งกรรม คือ ใครทำสิ่งใดไว้สิ่งนั้นย่อมตอบสนองคืนบุคคลผู้กระทำ เมื่อเรา  เห็นใครได้รับผลกรรมในทางที่เป็นโทษเราก็ไม่ควรดีใจหรือคิดซ้ำเติมเขาในเรื่องที่เกิดขึ้น เราควรมีความปรารถนาดี คือพยายามช่วยเหลือผู้อื่นให้พ้นจากความทุกข์ในลักษณะที่ถูกต้องตามทำนองคลองธรรม

อิทธิบาท 4  ประกอบไปด้วย

1. ฉันทะ คือ ความพอใจ ในฐานะเป็นสิ่งที่ตนถือว่าดีที่สุดที่มนุษย์เราควรจะได้ ข้อนี้เป็นกำลังใจอันแรกที่ทำให้เกิดคุณธรรมข้อต่อไปทุกข้อ

2. วิริยะ คือ ความพากเพียร หมายถึง การกระทำที่ติดต่อไม่ขาดตอนเป็นระยะยาว จนประสบ ความสำเร็จ คำนี้มีความหมายของความกล้าหาญเจืออยู่ด้วยส่วนหนึ่ง

3. จิตตะ หมายถึง ความไม่ทอดทิ้งสิ่งนั้นไปจากความรู้สึกของตัว ทำสิ่งซึ่งเป็นวัตถุประสงค์นั้นให้เด่นชัดอยู่ในใจเสมอ คำนี้รวมความหมายของคำว่าสมาธิอยู่ด้วยอย่างเต็มที่

4. วิมังสา หมายถึง ความสอดส่องในเหตุและผลแห่งความสำเร็จ เกี่ยวกับเรื่องนั้นๆ ให้ลึกซึ้งยิ่งๆ ขึ้นไปตลอดเวลา คำนี้รวมความหมายของคำว่าปัญญาไว้อย่างเต็มที่

และเมื่อทุกคนทุกฝ่ายมีหลักธรรมมะที่ซึมเข้าไปในจิตใจแล้วการบริหารองค์กรก็จะไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป เพราะทุกคนภายในองค์กรล้วนแต่เป็นทั้งคนเก่งและคนดี โดยใช้หลักธรรมมะเข้ามาขัดเกลาจิตใจ ดังนั้นการบริหารคนก็คือการนำหลักธรรมมะเข้ามาเพื่อเป็นตัวช่วยทำให้เกิดความสมดุลของชีวิต ทำให้ทุกคนมีความสุขทั้งในชีวิตและการทำงาน

 

บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย 

คัดลอกจาก: https://www.gotoknow.org/posts/422178

แก้ไขล่าสุด ใน วันพฤหัสบดีที่ 14 มกราคม 2016 เวลา 20:18 น.
 

ชีวิตที่พอเพียง ๒๕๗๑. ตระเวนชนบทญี่ปุ่น ๑. เตรียมตัว.

พิมพ์ PDF

โครงการ community engagement ไม่ใช่โครงการช่วยเหลือชุมชน ซึ่งหมายความว่า เป็นกระบวนการที่ทุกฝ่ายร่วมกันคิด ร่วมกันออกแบบ ร่วมกันทำ และร่วมกันรับผล รวมทั้งผมหวังให้มีผลยั่งยืน คือเมื่อเบทาโกร และสถาบันอาศรมศิลป์ถอนออกมาแล้ว ชุมชนก็ยังยืนบนขาตัวเองได้ และพัฒนาต่อเนื่องได้ เหมือนกับชุมชนในประเทศญี่ปุ่น

อาจารย์แบน ธีรพล นิยม แห่งสถาบันอาศรมศิลป์ ชวนไปญี่ปุ่น ร่วมกับคณะผู้บริหารของสถาบันอาศรมศิลป์ และของกลุ่มบริษัทในเครือเบทาโกร เพื่อไปดูงานกิจการของชุมชนและวิสาหกิจชุมชนในประเทศญี่ปุ่น สำหรับนำมาคิดรูปแบบการพัฒนาศูนย์การเรียนรู้เพื่อการพัฒนาอย่างเป็นองค์รวม ใน ๕ ด้าน คือ เศรษฐกิจ สังคม การศึกษา สุขภาพ และสิ่งแวดล้อม ซึ่งผมอยากเติมเป้าหมายด้านที่น่าจะสำคัญที่สุดเป็นด้านที่ ๖ คือ ความเข้มแข็งของชุมชน

เขาตกลงเลือกพื้นที่ดำเนินการไว้แล้ว คือตำบลช่องสาริกา อำเภอพัฒนานิคม จังหวัดลพบุรี และทางสำนักกิจกรรมเพื่อสังคม ของเครือเบทาโกรได้เข้าไปทำกิจกรรมบ้างแล้ว

ที่จริง อ. แบนชวนผมไปในเดือนตุลาคม ๒๕๕๘ แต่ผมไม่ว่าง ท่านกรุณาเอาช่วงที่ผมว่างเป็นหลัก จึงได้ช่วง ๖ - ๑๓ ธันวาคม ๒๕๕๘ ซึ่งก็โชคดี ที่คุณวนัส ซีอีโอ ของเครือเบทาโกรก็ว่างตรงกัน เข้าใจว่า อ. แบนต้องการให้ผู้ใหญ่ของฝ่ายเบทาโกร และของสถาบันอาศรมศิลป์ ได้เดินทางไปดูรูปแบบของญี่ปุ่นด้วยกัน เพื่อจะได้คุยทำความเข้าใจเป้าหมายและโอกาส ในการที่ ภาคธุรกิจและภาควิชาการจะเข้าไปทำงาน community engagement ร่วมกัน

ผมถาม อ. แบนว่า ทำไมไม่ชวนผู้นำชุมชนร่วมไปกับคณะดูงานด้วย จึงได้ทราบว่าคณะนั้นเขาไปดูงานที่ญี่ปุ่นในช่วงเดือนพฤศจิกายนไปก่อนแล้ว เป็นคณะใหญ่ ๒๓ คน ประกอบด้วย ผู้นำชุมชน นายก อบต. กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เจ้าหน้าที่ของเบทาโกร ปลัดอำเภอและอาจารย์+สถาปนิกชุมชนของอาศรมศิลป์ผมก็ดีใจว่า โครงการที่จะทำนี้ จะเป็นโครงการ community engagement ไม่ใช่โครงการช่วยเหลือชุมชน ซึ่งหมายความว่า เป็นกระบวนการที่ทุกฝ่ายร่วมกันคิด ร่วมกันออกแบบ ร่วมกันทำ และร่วมกันรับผล รวมทั้งผมหวังให้มีผลยั่งยืน คือเมื่อเบทาโกร และสถาบันอาศรมศิลป์ถอนออกมาแล้ว ชุมชนก็ยังยืนบนขาตัวเองได้ และพัฒนาต่อเนื่องได้ เหมือนกับชุมชนในประเทศญี่ปุ่น

อ. แบนเอื้อเฟื้อชวนสาวน้อยให้ร่วมขบวนไปด้วย เราตกลงโดยมีเงื่อนไขว่า ขอออกค่าใช้จ่ายส่วนของสาวน้อยเอง ขอไม่ใช้เงินในโครงการของเบทาโกร เมื่อตกลงตามนี้ ผมก็ได้ควงสาวเที่ยวชนบทญี่ปุ่น ไปด้วยในตัว

ก่อนวันเดินทางประมาณ ๓ สัปดาห์ ผมขอกำหนดการการเดินทาง และเอกสารระบุเป้าหมายของการเดินทาง สาวน้อยเห็นกำหนดการไปนอนบ้านชาวนาญี่ปุ่นก็ตกใจ แต่ “เลขา” ผู้ชำนาญเรื่องญี่ปุ่นบอกว่า ชาวนาญี่ปุ่นต่างกับบ้านชาวนาไทยทั่วไป คือให้นึกถึงบ้านอาตี๋ก็จะตรงกับบ้านชาวนาญี่ปุ่น คือมีความสะดวกสบายทุกประการ อาตี๋คือคุณวิจัย พานิช น้องชายของผม ที่เป็นเกษตรกรอยู่ที่จังหวัดชุมพร บ้านของเขาใหญ่กว่าบ้านของผมเสียอีก

ผมขอยืมหนังสือประสบการณ์ยิ่งใหญ่ในหมู่บ้านเล็กๆ จาก “เลขา” มาอ่านทบทวน เพื่อทำความรู้จักหมู่บ้านอุมะจิ ตามในหนังสือ เพราะเราจะไปเยี่ยมในวันที่ ๑๐ และ ๑๑ ธันวาคม เป็นหมู่บ้านที่ต้องเดินทางไกลที่สุดในทริปนี้ และเราจะนอนที่นั่นถึง ๒ คืน

แล้วในที่สุด อ. ประยงค์ แห่งอาศรมศิลป์ก็ส่งรายงานการเดินทาง และ AAR ของคณะที่ไปเมื่อเดือนพฤศจิกายน และก่อนเดินทางสองสามวันผมก็ได้รับคู่มือการเดินทางที่มีรายละเอียดดีเยี่ยมทางอินเทอร์เน็ต ที่ผมดาวน์โหลดไว้ใน MacBook และใน iPhone เอาไว้เป็นคู่มือการเดินทางที่ดีเยี่ยม


วิจารณ์ พานิช

๒๙ พ.ย. ๕๘ ปรับปรุง ๑๓ ธ.ค. ๕๘


บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย 

คัดลอกจาก: https://www.gotoknow.org/posts/599169

แก้ไขล่าสุด ใน วันอาทิตย์ที่ 10 มกราคม 2016 เวลา 18:25 น.
 

ชีวิตที่พอเพียง ๒๕๗๒. ตระเวนชนบทญี่ปุ่น ๒. วันแรก : เรียนรู้เรื่อง OVOP.

พิมพ์ PDF

OVOP ย่อมาจาก One Village One Product และมีต้นแบบมาจากเมือง Oita และเริ่มปี พ.ศ. ๒๕๒๒ จากนโยบายพัฒนาพื้นที่ของรัฐบาลญี่ปุ่นในขณะนั้น โอท็อปของเราเลียนแบบมาจากเขาตามที่รู้ๆ กันอยู่แล้ว

วันที่ ๖ ธันวาคม ๒๕๕๘ เรานั่งเครื่องบินการบินไทย เที่ยวบินที่ TG 468 ไปลงที่เมืองฟูกูโอกะ เครื่องบินออกตี ๑ ถึงฟูกูโอกะ ๗.๓๐ น. ใช้เวลาบิน ๕ ชั่วโมง ผมพยายามนอนหลับ แต่ก็คงจะได้หลับสักสองชั่วโมงเศษๆ

ตอนผ่านเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมือง ผมกรอกในเอกสารว่าจะไปที่เมือง Ajimu ตามที่ได้รับแจ้งจากทางสถาบันอาศรมศิลป์ เจ้าหน้าที่งง ผมจึงเอาเอกสาร Japan Trip ของสถาบันอาศรมศิลป์ให้ดู เธอจึงร้องแสดงว่าเข้าใจแล้วว่าจะไปไหนบ้าง หันไปดูอีกแถวหนึ่ง คุณวรนันท์ หนึ่งในคณะก็ต้องใช้วิธีเดียวกัน สาวน้อยเข้าคิวหลังคุณวรนันท์จึงผ่านฉลุย

แต่คนในคณะของเราที่ไม่ผ่านเป็นพระ คือท่านอาจารย์สงบ ศรีเมือง มากับลูกศิษย์ ๒ คน ลูกศิษย์ผ่าน แต่ท่านไม่ผ่าน เพราะยี่สิบกว่าปีมาแล้ว ตอนยังไม่บวช ท่านไปทำงานที่ญี่ปุ่น และไปขับรถเกิดอุบัติเหตุคนตาย เมื่อไปตรวจลายมือเขาจับประวัติเดิมได้ และไม่ให้เข้าเมือง ต้องบินกลับ แสดงให้เห็นว่า ญี่ปุ่นให้คนไทยเข้าเมืองได้โดยไม่ต้องขอวีซ่า แต่ไม่ได้หมายความว่าใครๆ ก็เข้าเมืองเขาได้ คนที่เขาไม่มั่นใจว่าเข้าไปแล้วจะก่อความไม่สงบสุขในบ้านเมืองของเขา หรือเคยไปมีพฤติกรรมที่เขาไม่ต้องการ เขาก็ไม่อนุญาตให้เข้าเมือง

เวลาประมาณ ๙ โมง เราขึ้นรถบัสกลางที่เช่าพร้อมคนขับ ไปยัง Yufuin Garden Hotel เพื่อกินอาหารเที่ยงที่ Prism Restaurant แต่ระหว่างทางหยุด ๒ ครั้ง ครั้งแรกหลังออกจากสนามบินไม่นาน เพื่อเข้าห้องน้ำ ครั้งหลังไปแวะเพราะทางภัตตาคารบอกว่าต้องไปถึงเวลา ๑๑.๓๐ น. ตรงตามนัด ห้ามไปถึงก่อน คนขับจึงต้องพาเราไปแวะสถานที่ พักรถ เข้าห้องน้ำ และช็อปปิ้งเชิงวัฒนธรรม เอาเข้าจริงเช้านี้เราได้ไปสัมผัสสถานที่สนับสนุนสินค้าพื้นเมือง ในรูปของที่พักรถริมทางถึงสองแห่ง และจะได้เห็นทุกที่ที่รถจอดให้เข้าห้องน้ำ ตลอดทริปนี้

ทำให้ผมนึกเปรียบเทียบว่า ที่พักรถ และให้คนเข้าห้องน้ำของไทยคือปั๊มน้ำมัน ลักษณะคล้ายคลึงกันกับที่เราไปเห็นที่ญี่ปุ่นเช้านี้ แต่มีส่วนที่แตกต่างอย่างสิ้นเชิงคือ ร้านในที่พักรถของไทยเป็นของทุนใหญ่ แต่ของญี่ปุ่นเป็นของชาวบ้าน ที่ทำวิสาหกิจชุมชน หรือเกษตรกรรายย่อยในท้องถิ่น

หลังอาหารเที่ยงเราไปที่เมือง Ajimuแวะชิมไวน์ที่โรงผลิตไวน์ประจำเมือง (www.ajimu-winery.co.jp) ที่เขาบอกว่าไวน์ขาวชนิด sparkling ของเขาได้รับรางวัลที่ ๑ สามปีซ้อน ผมลองชิม พบว่าไวน์แดงไม่อร่อย ไวน์ขาวบางชนิดอร่อย

ไฮท์ไล้ท์ของวันนี้คือรายการนำเสนอเรื่อง OVOP Movement โดยคุณ Tadashi Uchida ผู้รับตำแหน่ง President ของ OVOP International Exchange Committeeต่อจาก Dr. Morihiko Hiramatsu ผู้ก่อตั้ง เป็นการนำเสนอที่เตรียมตัวมาอย่างดี บอกอย่างไม่ปิดบัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งแนวทางเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์เกษตรด้วยเทคโนโลยีชีวภาพเชื้อรา ที่ญี่ปุ่นเรียกว่า koji และเขาเรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า seed malt ซึ่งคล้ายๆ แป้งข้าวหมากบ้านเรา เขาแนะว่าเมล็ดกาแฟรสดีเมื่อเอาไปผ่านจุลินทรีย์ในลำไส้ช้าง จึงน่าจะทดลองผลิตกาแฟรสดีจากการหมักด้วยจุลินทรีย์ koji ซึ่งเป็นเชื้อรา Aspergillus oryzae ผมคิดต่อว่าน่าจะทำให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่เป็น health food โดยมีฤทธิ์เป็น probiotics แนวคิดเทคโนโลยีชีวภาพเชื้อรานี้ คุณวนัส และวรนันท์ แห่งกลุ่มเบทาโกรน่าจะได้ประโยชน์มาก ในวันหลัง คุณวรนันท์ ซื้อโคจินี้กลับมาเมืองไทย ว่าจะเอามาทดลองหมักข้าวของไทย

ระหว่างนั่งฟังการบรรยายและซักถาม ผมใช้บริการ pocket wifi ที่อาจารย์เปิ้ลเช่ามาจากเมืองไทย ค้นพบเอกสารประมวลผลงาน ๓๐ ปี ของขบวนการ OVOP ที่นี่ คุณ Tadashi Uchida ย้ำว่า เป้าหมายหลักคือความเข้มแข็งของชุมชน เรื่องเงินเป็นเรื่องรอง ซึ่งผมคิดว่า เป็นกลไกเผชิญสภาพที่ในชนบทมีประชากรลดลง และเป็นคนแก่อายุเกิน ๖๕ ถึงครึ่งหนึ่ง

กินอาหารเย็นและพักที่ “บ้านร้อยปี” ซึ่งที่จริงอายุ ๑๓๘ ปี เป็นการพักแบบชนบทญี่ปุ่นแท้ นอนเสื่อ สาวน้อยกับผมได้ลาภจากการที่พระอาจารย์มาไม่ได้ เราจึงได้ครอบครองห้องในบ้านอีกหลังหนึ่ง ซึ่งอายุสองร้อยปี เป็นสัดส่วนและอยู่ติดห้องน้ำ (มีส้วมและอ่างล้างหน้า แต่ไม่มีห้องอาบน้ำ) แทน ห้องนี้มีแอร์ให้ไออุ่นอย่างดี เจ้าของบ้านตั้งอุณหภูมิไว้ ๒๒ แต่ผมปรับให้เป็น ๒๕ ตอนกลางคืนอากาศเย็นลงมากราวๆ ๕ องศาเซลเซียส

บ้านหลังที่เราครอบครอง เป็นบ้านไม้ชั้นครึ่ง ห้องชั้นล่างที่เรานอนกว้างราวๆ ๔ x ๖ เมตร มีเตาผิงอยู่กลางห้อง แขวนกาน้ำร้อนไว้กลางห้อง แต่เป็นเครื่องประดับ ไม่ใช่ใช้จริง เพราะผมถามคุณผู้ชายเจ้าของบ้านว่าจุดไฟได้ไหม แกบอก (ด้วยภาษาอังกฤษกระท่อนกระแท่น) ว่าอันตรายจาก ซีโอทู และชี้ไปที่เครื่องแอร์ ทำนองบอกว่ามีเครื่องทำความร้อน

ตอนกินอาหารเย็นเสร็จ หญิงเจ้าของบ้าน (อายุราวๆ ๖๐ ปี) มาโอภาปราศรัย (ตอนเราไปถึง เธอก็มากล่าวต้อนรับ และบอกข้อมูลเกี่ยวกับบ้านและเครื่องอำนวยความสะดวกที่มีให้ มีส้วมและอ่างล้างหน้าหลายที่ แต่มีห้องอาบน้ำที่เดียว ใครอยากไปอาบออนเซ็นสาธารณะ สามีและลูกชายจะขับรถพาไป ใช้เวลานั่งรถ ๑๐ นาที ออนเซ็นอยู่ในเมือง) เราถามเรื่องจำนวนแขกที่มาพัก เธอบอกว่าราวๆ ปีละ ๕๐๐ คน เป็นนักเรียนครึ่งหนึ่ง ที่เหลือครึ่งหนึ่งเป็นคนญี่ปุ่น อีกครึ่งหนึ่งเป็นคนต่างชาติ เด็กนักเรียนมาเรียนรู้ชีวิตชนบท หรือมาทัวร์สีเขียวนั่นเอง โดยนักเรียนจะลงแปลงนา และร่วมทำกิจกรรมต่างๆ เช่นดองผัก เขาชี้ว่าหัวไชเท้าดองที่เรากิน ก็ทำโดยเด็กนักเรียนที่มาโฮมสเตย์ บ้านร้อยปีนี้เจ้าของอยู่กันสามคน คือภรรยาเป็นหัวหน้า สามี และลูกชายที่เป็นหนุ่มใหญ่แล้ว ช่วยกันทำงานโฮมสเตย์ โดยที่ลูกชายก็มีงานประจำของตน

วันนี้ทั้งวันเราวนเวียนอยู่ในจังหวัดโออิตะ (Oita Prefecture) เกาะกิวชิว โดยเมื่อลงเครื่องบินแล้ว ก็นั่งรถไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้

วิจารณ์ พานิช

๖ ธ.ค. ๕๘


บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย 

คัดลอกจาก : https://www.gotoknow.org/posts/599199

ท่านใดต้องการชมภาพประกอบโปรด กด link ด้านบน

แก้ไขล่าสุด ใน วันอาทิตย์ที่ 10 มกราคม 2016 เวลา 18:34 น.
 

ชีวิตที่พอเพียง 2573. ตระเวนชนบทญี่ปุ่น ๓. วันที่สอง เมือง Ajimu และ Yufuin.

พิมพ์ PDF

Yufuin มี VDO ใน YouTube แสดงสภาพของเมือง และที่พัก ที่นี่

วันที่สอง ๗ ธันวาคม ๒๕๕๘ เราตื่นตีห้า ได้ยินเสียงไก่ขัน ปรากฎว่าเป็นไก่ที่เจ้าของบ้านเลี้ยงไว้ พอฟ้าสาง ๖ โมงเศษๆ ผมก็ออกไปวิ่ง ท่ามกลางอุณหภูมิ ๙ องศา และหมอกลงจัด วิ่งริมถนนหน้าบ้านร้อยปี โดยเขามีถนนด้านในสำหรับคนเดิน ถนนเรียบ ปลอดภัยจากรถที่แล่นบนถนน มีไฟฟ้าริมถนนเป็นระยะๆ และนานๆ มีรถวิ่งมา ผมวิ่งอยู่ประมาณเกือบครึ่งชั่วโมง ไม่พบคนเลย

ริมถนนเป็นลำธาร มีน้ำไหลมาจากบนเนินเขา บ้านร้อยปีที่เราพักก็อยู่บนเนิน

นัดกินอาหารเช้า ๗ น. พอได้ดื่มชาเขียวที่หอมชื่นใจ สาวน้อยก็ไปขอดูซอง และถามว่าจะซื้อได้ที่ไหน แม่บ้านจึงบอกให้สามีขับรถพาไปซื้อที่บ้านญาติ ซึ่งทำโรงงานอบใบชา เราถามว่าไร่ชาอยู่ที่ไหน คุณสามีจึงขับรถขึ้นเขาไป ๕ กิโล พาไปดูไร่ชา ทำให้เราได้เห็นไร่ชาติดพัดลมเป็นครั้งแรก เขาบอกว่าเอาไว้ไล่แมลงในช่วงเดือนกุมภา-มีนาคม

กลับมาพบพ่อแม่เจ้าของบ้านผู้ชาย พ่ออายุ ๙๓ แม่ ๘๗ มานั่งรอรถมารับไปศูนย์กิจกรรมคนชรา ซึ่งจะไปสัปดาห์ละ ๒ วัน เราได้ถ่ายรูปกับผู้ชราอายุยืนทั้งสองด้วย

ถ่ายรูปและร่ำลากันแล้วเราไปที่ศูนย์ขายตรงผลิตภัณฑ์การเกษตร ของ Ajimu ที่ผักงามและสดดีมาก เขาบอกว่าเป็นสหกรณ์การเกษตรแห่งเดียวที่เกษตรกรเจ้าของผลผลิตตั้งราคาเองได้ ขายได้เท่าไร หัก ๑๕% เป็นค่าจัด การของสหกรณ์ ที่ร้านมีป้ายชื่อ AJ ย่อมาจาก Agriculture Coopertive Japan รัฐบาลอุดหนุนโดยสร้างสถานที่ให้

จากนั้นเราไปที่อาคารสถานทำการสหกรณ์ ซึ่งอยู่ใกล้อาคารสนามกีฬา เพื่อฟังการบรรยายเรื่อง การท่องเที่ยวสีเขียวของเมือง Ajimu (Green Tourism) จากคุณ Miyata ที่ถึงกับมีเอกสารอธิบายเป็นภาษาไทย แต่สไลด์ PowerPoint เป็นภาษาญี่ปุ่นหมด ทั้งฟังทั้งถามแล้ว ผมก็ได้ข้อสรุปว่า GT ของเขามีเป้าหมายลึกซึ้งและหลายชั้นมาก ไม่ใช่แค่เพื่อหาเงินเข้าชนบทเท่านั้น

เราไปกินอาหารเที่ยงที่ศูนย์จำหน่ายสินค้า ซึ่งเป็นคนละที่กับศูนย์ขายตรง


Yufuin

ไปถึง ยูฟุอิน เราตรงไปที่โรงแรม Tamanoyu เพื่อสนทนากับคุณ Mizoguchi Kumpei ซึ่งเป็นหัวหน้ากลุ่ม HRD, ประธานสมาคมสิ่งแวดล้อมทางน้ำ ของ Yufuin และเป็นผู้นำด้านอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของญี่ปุ่น ท่านเล่าเรื่อง OVOP ว่าเป็นการหาสเน่ห์ของแต่ละชุมชนเอามาทำเป็นสินค้า ท่านเล่าเรื่องการพัฒนาเมืองเล็กๆ Yufuin ให้ดังด้านบริการอาบน้ำแร่ ฉีกแนวจากเมือง Beppu ที่ดังมากอยู่ก่อนแล้ว ให้ Yufuin มีนักท่องเที่ยวเพิ่มจากปีละ ๒ - ๓ แสนคน เป็นปีละ ๓ - ๔ ล้าน โดยเน้นให้เป็นแหล่งบริการผู้หญิง ให้ผู้หญิงไว้ใจ มั่นใจ ที่จะมาใช้บริการ มาแล้วประทับใจและไปบอกต่อ

เมื่อถามเรื่อง HRD ท่านเล่าเรื่องการพัฒนาเยาวชน ให้รู้จักเมือง และได้ทำกิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์แก่เมือง รวมทั้งการแลกเปลี่ยนเยาวชนกับต่างประเทศ ให้ได้ไปและมาเยือน ทำความรู้จักกัน ผมเดาว่าการแลกเปลี่ยนเยาวชนน่าจะเป็นเครื่องมือประชาสัมพันธ์เมืองอย่างหนึ่ง

จากนั้นไปเช็คอินที่เรียวกัง Makiba no le ที่สวยงามมาก แล้วไปเดินชมเมือง ที่ถนนคนเดิน เป็นถนนแคบๆ มีร้านค้ามากมาย คงจะใช้เป็นเครื่องดึงดูดใจนักท่องเที่ยวผู้หญิง ผมนึกในใจว่า เขาประชาสัมพันธ์เก่งมาก สามารถสร้างความเป็นเมืองท่องเที่ยวจากไม่มีอะไรได้ ซึ่งความคิดนี้จะถูกพิสูจน์ว่าผิดในวันรุ่งขึ้น จนค่ำก็เดินกลับเรียวกัง

อาหารเย็นแบบเรียวกัง นั่งห้อยขา อาหารชั้นเลิศ มื้อนี้ผมดื่มเหล้าสาเกถึง ๓ แก้ว คือของผมเอง ของสาวน้อย และของคุณปอม ศิษย์หลวงพ่อสงบ


AAR

คืนนี้เรา AAR เป็นการโหมโรง ว่าแต่ละคนมาเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์อะไร เท่าที่ผ่านมา ๒ วัน ได้อะไร ถือเป็นการทำความรู้จักกันมากกว่า ในภาพรวม สมาชิกทีมดูงานต้องการสร้างความเข้มแข็งให้แก่ชุมชนไทย

วิจารณ์ พานิช

๑๓ ธ.ค. ๕๘

บนเครื่องบินการบินไทยจากโอซาก้า กลับกรุงเทพ

คัดลอกจาก: https://www.gotoknow.org/posts/599237

ท่านใดต้องการชมภาพประกอบโปรดกด link ด้านบน

 

 

แก้ไขล่าสุด ใน วันอาทิตย์ที่ 10 มกราคม 2016 เวลา 18:39 น.
 

ชีวิตที่พอเพียง ๒๕๗๔. ตระเวนชนบทญี่ปุ่น ๔. เมือง Yufuin & Beppu.

พิมพ์ PDF

เช้าวันที่ ๘ ธันวาคม ๒๕๕๘ ที่ เรียวกัง Makiba no le ผมไปแช่น้ำร้อนออนเซน ครอบครองอ่างใหญ่กลางแจ้งคนเดียวอยู่ราวๆ ๑๐ นาที กลับมาชวนสาวน้อยไปเดินเล่นและถ่ายรูปภายในสวนสวยของ Makiba no le ภายใต้บรรยากาศหมอกลงจัดมาก และอุณหภูมิ ๘ องศา

กินอาหารเช้าแบบญี่ปุ่น อร่อยมาก รถมารับ ๙.๐๐ น. พาไปเดินชมเมืองจากอีกมุมหนึ่งของเมือง ลงจากรถเราเดินตามคนไป และเดินเลียบลำธารไปเรื่อยๆ จนพบทะเลสาบ บรรยากาศสวยงามมาก ท่ามกลางหมอกจัด เป็นความงามจากธรรมชาติล้วนๆ ทำให้ผมคิดต่างจากเมื่อวาน คราวนี้เห็นแล้วว่า การทำให้การท่องเที่ยวของ Yufuin ติดตลาดเป็นเรื่องที่มีธรรมชาติช่วยได้มาก คือ Yufuin มีทุนสำหรับนำมาต่อยอดได้หลายอย่าง แต่คนคิดพัฒนาก็ต้องเก่งมากอยู่ดี จึงจะพัฒนาเมืองขึ้นมาได้ขนาดนี้

เมื่อเดินกลับมาขึ้นรถตอนใกล้ ๑๑ น. หมอกหายไปหมดแล้ว ได้ความงามของธรรมชาติอีกแบบหนึ่ง

ในวงสนทนา อ. แบน ตั้งคำถามว่า ท่านประธาน Mizoguchi Kumpei คิดถึงผลประโยชน์ของเมืองเป็นที่ตั้ง หรือคิดถึงผลประโยชน์ของโรงแรม Tamanoyu Hotel ของท่านเป็นที่ตั้ง และตอบเองว่า คิดว่าเป็นอย่างแรก เพราะอย่างหลังจะตามมาเอง


Beppu

เมือง Beppu เป็นเมืองน้ำพุร้อน ดัง VDO ใน YouTube ที่นี่ เมื่อรถแล่นเข้าเมืองตอนบ่ายเราก็เห็นว่าเป็นเมืองใหญ่ ใหญ่กว่า Yufuin หลายเท่า และอยู่ติดทะเล คือทั้งติดภูเขาและทะเล

บ่ายนี้เราได้เรียนรู้เรื่องวัฒนธรรมไม้ไผ่ จากการไปเยี่ยมชม Beppu City Traditional Bamboo Craft Center ซึ่งก็คือโรงเรียนสารพัดช่างด้านช่างไม้ไผ่ เขาพาไปดูโรงเรียนสารพัดช่างด้านงานไม้ไผ่แห่งใหม่ หลักสูตร ๒ ปี นักเรียนมาจากทั่วประเทศ พื้นความรู้จบ ม. ปลาย อายุไม่เกิน ๓๙ ต้องสอบแข่งขัน เราได้ไปชมห้องฝึกงาน ปี ๑ มีนักเรียน ๑๐ คน ปี ๒ มี ๖ คน เรียนฟรี ได้เห็นสภาพห้องฝึกปฏิบัติที่เป็นระเบียบเรียบร้อย นักเรียนแต่ละคนมีสมาธิอยู่กับงานของตน

ผมได้เห็นว่า ญี่ปุ่นมองงานไม้ไผ่เป็นงานช่างศิลปะ มีการพัฒนาวิธีการ และสร้างมาตรฐานยกระดับเครื่องมือและวิธีการขึ้นไปตลอดเวลา รวมทั้งส่งเสริมให้มีการใช้ความริเริ่มสร้างสรรค์ เมื่อนักเรียนอยู่ปีที่ ๒ เขาไม่มองงานไม้ไผ่ว่าเป็นงานคร่ำครึล้าสมัย แต่เป็นมรดกภูมิปัญญาที่ต้องรักษาไว้ และพัฒนาขึ้นไปอีก

ที่ศูนย์แสดงชิ้นงานเด่น มีห้องฝึกแก่คนทั่วไป เรียนสัปดาห์ละ ๑ วัน รวม ๑๐ เดือน ที่ห้องฝึกนี้ ครูช่างท่านหนึ่ง แสดงวิธีจักตอกไม้ไผ่แห้ง ให้ได้เส้นตอกขนาดเล็กมาก โดยเอาเฉพาะส่วนผิวนอก ซึ่งเหนียวและทนทาน เขามีตัวอย่างชิ้นงานที่อายุ ๑๕๐ ปี

ผู้พาชมเป็นหัวหน้าศูนย์ชื่อ Tetsuya Abe พาเราชมชิ้นงานที่จัดแสดง และแนะนำศิลปินแห่งชาติด้านงานช่างไม้ไผ่ ชื่อ Shounsai Shono ได้รับเชิญไปพูดและแสดงผลงานทั่วโลก ลงท้ายเขาเอาชิ้นงานที่ตนเองสะสมเป็นส่วนตัวมาให้ดู และแนะนำให้รู้จักเส้นใยจากเยื่อไม้ไผ่ และผ้าที่ทอจากเยื่อ ที่สาวน้อยเคยซื้อจากสกลนคร ๑ ผืน เป็นผ้าที่ทำจากประเทศจีน บางเบานุ่มแต่ให้ความอบอุ่นยามหนาว และให้ความเย็นสบายยามร้อน

พักที่ Beppu Showaen โรงแรมแบบญี่ปุ่น หรือเรียวกัง เชิงเขา อาหารเย็นปลาปักเป้า (Fuku) เป็นหลัก นัด AAR หลังอาหารแต่ อ. เปิ้ลเล่าเรื่องหลักสูตรผู้ประกอบการสังคมจนเกือบ ๒๑ น. จึงได้แค่ตั้งโจทย์ AAR โดย อ. ประภาภัทรให้เอาไปคิดก่อน AAR จริงบนรถวันพรุ่งนี้

โจทย์คือ ได้มาเรียนรู้วิธีคิดแบบญี่ปุ่นอย่างไรบ้าง และจะเอาไปสร้างความเข้มแข็งของชุมชนไทยได้อย่างไร คุณวนัสตอบไว้ก่อนเลยว่า โดยหนึ่งจังหวัดหนึ่งมหาวิทยาลัย

 

วิจารณ์ พานิช

๙ ธ.ค. ๕๘


บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย 

คัดลอกจาก: https://www.gotoknow.org/posts/599305

ท่านใดสนใจชมภาพประกอบโปรดกด Link ด้านบน

แก้ไขล่าสุด ใน วันอาทิตย์ที่ 10 มกราคม 2016 เวลา 18:43 น.
 


หน้า 272 จาก 561
Home

About Us

ศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ (ศบม.) เป็นองค์กรที่พัฒนาและจัดทำโครงการเพื่อทำประโยชน์ให้สังคม เป็นองค์กรสนับสนุนการดำเนินงานของภาครัฐ ช่วยแก้ปัญหาผู้ประกอบการภาคธุรกิจบริการที่ขาดแคลนบุคลากรที่มีมาตรฐานในการให้บริการ
อ่านเพิ่มเติม

มูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ ์

 iHDC Profile
บัญชีรายชื่อกรรมการ
ใบสำคัญแสดงการจดทะเบียน การเปลี่ยนแปลงกรรมการของมูลนิธิ
เอกสารประชาสัมพันธ์ โครงการ HMTC.pdf
เอกสารแนะนำโครงการ HMTC 1.pdf
เอกสารโครงการ HMTC 2 คุณสมบัติผู้เข้าร่วมโครงการ.pdf
iHDC นิติบุคคล.pdf
iHDC บุคคล.pdf
iHDC บุคคลเครือข่าย.pdf
รายงานการประชุม 6 มีนาคม 2560.pdf
ข้อบังคับมูลนิธิ
ใบสำคัญแสดงการจดทะเบียนจัดตั้งมูลนิธิ
Ihdc-Profile and Roadmap 2016-2019 Mar 23 2560.pdf
รายงานการประชุมใหญ่คณะกรรมการมูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ 2559.pdf
คำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ สาขาวิชาชีพ.pdf
รายงานการประชุมใหญ่วันที่ 18 ธ ค 2558 v 3.pdf
รายงานการประชุม วันที่ 24 ธันวาคม 2557 updated 4 มีนาคม 2558.pdf
iHDC-invitation Letter.doc
iHDC-Member Form Thai.doc
iHDC-Member Form English.doc
รายงานการประชุมกรรมการมูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ วันที่ 15 มกราคม 2556 ฉบับสมบูรณ์


thaibetter
พัฒนาประเทศไทยแบบทวีคูณ และยั่งยืน ( ททค )

Login


แบบสำรวจ

สถิติเว็บไซด์

สมาชิก : 5644
Content : 3068
เว็บลิงก์ : 26
จำนวนครั้งเปิดดูบทความ : 8747903

facebook

Twitter


ล่าสุด

บทความเก่า