Thaiihdc.org

  • เพิ่มขนาดตัวอักษร
  • ขนาดตัวอักษรปกติ
  • สดขนาดตัวอักษร
Thaiihdc.org

พระธรรมเทศนาเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (๙)

พิมพ์ PDF

พระธรรมเทศนาเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (๙)

พระราชนิพนธ์ใน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

กัณฑ์ ที่ ๓

พระราชประวัติเมื่อเสด็จดำรงสิริราชสมบัติ (ต่อ)

สงครามเมืองญวน

ฝ่ายราชการข้างเมืองญวน ซึ่งเกิดเป็นการสงครามสืบมาจนเกือบจะตลอดรัชกาลที่ ๓ จำเดิมแต่เมื่อพระยาราชสุภาวดีไปตีเมืองนครจำปาศักดิ์แล้ว จะกลับขึ้นมาเฝ้ากรมพระราชวังบวรสถานมงคลที่เมืองพานพร้าวนั้น ญวนมีหนังสือมาห้ามอย่าให้รื้อทำลายเมืองเวียงจันทน์ ว่าเจ้าเวียตนามมีพระราชสาส์นเข้ามาขอประราชทานโทษอนุที่กรุงเทพฯ แล้ว ถ้าไทยขืนทำลายเมืองเวียงจันทน์ จะยกทัพพลสองหมื่นเข้ามาต่อรบด้วยไทย พระยาราชสุภาวดีหาได้ตอบหนังสือไปไม่ และในขณะเมื่อพระยาราชสุภาวดียังมิได้กลับลงมาถึงกรุงเทพฯนั้น เจ้าเวียตนามแต่งให้ราชทูตเชิญพระราชสาส์นเข้ามาขอโทษอนุฉบับ ๑  จะตอบพระราชสาส์น ราชทูตไม่รับ จึงโปรดให้เจ้าพระยาพระคลังมีหนังสือชี้แจงโทษอนุไปถึงองเลโบ เสนาบดีฝ่ายญวนสองฉบับ ครั้นเมื่อเจ้าพระยาราชสุภาวดี ยกกองทัพกลับขึ้นไปติดตามจับตัวอนุมาได้และได้ให้พระวิชิตสงคราม ฆ่าญวนผู้ถือหนังสือเสียในครั้งนั้น ฝ่ายญวนขัดเคืองว่าเจ้าน้อยเมืองพวนจับตัวอนุส่งให้แกกองทัพไทย จึงได้หาตัวขึ้นไปประหารชีวิตเสีย แล้วจึงให้ราชทูตเชิญพระราชสาส์นมาอีกใหม่ ในจุลศักราช ๑๑๙๐ ในพระราชสาส์นนั้นว่า ทุงวิไชฆ่าญวนผู้ถือหนังสือ และชิดชุมกีมหลวงนราเข้าไปเก็บส่วยในแขวงถูตือ จะขอตัวผู้มีชื่อทั้งนี้ออกไปชำระ ณ เมืองญวน และว่าฝ่ายญวนให้พาตัวอนุเข้ามาอ่อนน้อมต่อไทย ฝ่ายไทยไม่จ่ายเสบียงให้แล้วซ้ำยิงพวกลาว จึงได้เกิดเป็นความวิวาทขึ้น ขอให้ตั้งเมืองเวียงจันทน์ขึ้นไว้ให้คงดังเก่า ภายหลังมีญวนถือหนังสืออองเลโบ ถึงเจ้าพระยาพระคลังส่งเข้ามาทางเมืองเขมรอีกฉบับ ๑ เนื้อความก็คล้ายคลึงกันกับในราชสาส์น ครั้นจะไปโปรดให้ตอบพระราชสาส์นไป ทูตญวนก็ไม่รับ ขอให้แต่งราชทูตไปต่างหาก จึงโปรดให้แต่เจ้าพระยาพระคลังมีหนังสือตอบไปถึงองเลโบ ว่าผู้ซึ้งกล่าวโทษมานั้นจะเป็นผู้ใดก็ไม่ชัด ด้วยเรื่องชื่อผิดเพี้ยนกันไป เมื่อกองทัพกลับลงมาจึงจะไต่สวนดูก่อน ภายหลังจึงโปรดให้พระอนุรักษภูธรเป็นราชทูต เชิญพระราชสาส์นตอบออกไปมีเนื้อความอย่างเดียวกันกับหนังสือเจ้าพระยาพระคลัง ครั้นเมื่อราชทูตกลับเข้ามา มีพระราชสาส์นตอบเป็นคำพ้อตัด และคืนของราชบรรณาการที่เกินกำหนดแต่ก่อนนั้นเข้ามา จะขอตัวผู้ซึ่งฆ่าญวนและให้ตั้งเมืองเวียงจันทน์ดังแต่ก่อน  ทรงพระราชดำริเห็นว่าทางพระราชไมตรีกับญวนช้ำชอกมัวหมองมากอยู่แล้ว ควรจะแต่งทูตออกไปเกลี่ยไกล่เสียให้ดีอีก ในจุลศักราช ๑๑๙๑ ปีฉลูเอกศก จึงโปรดให้พระจักราเป็นราชทูตเชิญพระราชสาส์นออกไป  ในพระราชสาส์นนั้นว่า ญวนพาอนุเข้ามาฆ่านายทัพและพลทหารไทยตายถึงสองร้อยห้าสิบคนเศษ นายทัพนายกองฝ่ายไทยจึงได้มีความน้อยใจจับผู้ถือหนังสือฝ่ายญวนฆ่าเสียบ้าง ชวนให้เลิกแล้วต่อกัน ในครั้งนั้นเจ้าเวียตนามคืนเครื่องบรรณาการเสียสิ้นไม่รับไว้เลย จะรอให้ทำโทษทุงวิไชยและชิดชุมกิมฆ่าเสียในกลางตลาดให้จงได้ มีข้อความพ้อตัดลำเลิกถึงการเก่า เป็นคำหยาบๆก็มีบ้าง มีพระราชสาส์นโต้ตอบไปมาอีกหลายฉบับ ครั้นการไม่ได้สมปรารถนาก็เป็นอันขาดทางพระราชไมตรี มิได้มีราชทูตไปมาสืบไป ครั้งจุลศักราช ๑๑๙๕ ปีมะเส็งเบญจศก ฝ่ายแผ่นดินญวนเกิดขบถขึ้นที่เมืองไซ่ง่อน ครั้นเมื่อได้ทรงทราบจึงทรงพระราชดำริว่าฝ่ายญวนมีความกำเริบ คอยแต่จะเอารัดเอาเปรียบอยู่ทุกครั้งทุกคราว เมื่อครั้งรัชการที่ ๒ ก็มาขอเอาเมืองพุธไธมาศกลับคืนไป  ครั้นองค์จันเจ้าเขมรเป็นขบถหนีไปก็รับไว้ แล้วมาครอบงำเอาเมืองเขมรเป็นสิทธิ์แต่ฝ่ายเดียว ครั้นอนุเป็นขบถหนีเข้าไปอยู่ในเขตแดนญวนก็เอาไว้ แล้วคิดเอิบเอื้อมจะมาครอบงำเอาเมืองเวียงจันทน์และเมืองขึ้นทั้งปวง อนึ่งเมื่อตั้งตัวขึ้นเป็นดิ๊กว่างเด เข้ามาขอให้ลงชื่อในราชสาส์น เรียกดิ๊กว่างเด ฝ่ายเราผ่อนให้แล้ว ยังมีความกำเริบจะให้เอาตราหลวงประทับสำเนาพระราชสาส์นอีกเล่า  เห็นว่าถ้าจะเป็นพระราชไมตรีไป ญวนก็จะมีความกำเริบหนักขึ้นทุกที ครั้งนี้เป็นโอกาสที่จะได้ย่ำยีเมืองญวน คืนเมืองเขมรมาเป็นพระราชอาณาเขตได้ จึงมีพระราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาบดินทรเดชาคุมกองทัพบก คนสี่หมื่นออกไปตีเมืองเขมรได้แล้ว ให้ยกลงไปช่วยญวนขบถที่เมืองไซ่ง่อน โปรดให้เจ้าพระยาพระคลังคุมทัพเรือพลหมื่นหนึ่ง ไปตีเมืองพุทไธมาศแล้วเข้าทางคลองขุดไปบรรจบทัพบกที่เมืองไซ่ง่อน โปรดให้พระมหาเทพ (ป้อม) พระราชรินทร์ (ขำ) ยกกองทัพบกไปตีเมืองล่าน้ำซึ่งเรียกว่าเมืองแง่อาน โปรดให้เจ้าพระยาธรรมา (สมบุญ) คุมพลเมืองแพร่และพลเมืองไทยข้างฝ่ายเหนือ ขึ้นทางเมืองหลวงพระบางราชธานี ตีเมืองหัวพันทั้งหก กองทัพเจ้าพระยาพระคลัง ยกไปตีได้เมืองพุทไธมาศและเมืองโจดก ตั้งทัพอยู่เมืองโจดก เจ้าพระยาบดินทรเดชายกเข้าไปตีเมืองเขมร องค์จันทร์มิได้ต่อรบ หนีลงไปเมืองไซ่ง่อน เจ้าพระยาบดินทรเดชาจึงให้องค์อิ่มองค์ด้วงตั้งอยู่เมืองพนมเปญ แล้วยกกองทัพลงไปบรรจบกับเจ้าพระยาพระคลังที่เมืองโจดก ปรึกษากันตกลงว่าเจ้าพระยาพระคลังยังไม่เคยการทัพศึก เจ้าพระยาบดินทรเดชาจะไปทางเรือด้วย จึงจัดให้พระยานครราชสีมาและนายทัพนายกองอีกหลายนาย คุมกองทัพบกเดินทางบาพนมไปเมืองไซ่ง่อน เจ้าพระยาบดินทรเดชา เจ้าพระยาพระคลัง พากองทัพเรือไปทางคลองวามงาว ตีค่ายญวนปากคลองข้างใต้แตก ร่นไปรับอยู่ปากคลองช้างเหนือ ซึ่งเป็นค่ายเดิมเมื่อครั้งญวนตั้งรับเจ้าฟ้ากรมหลวงเทพหริรักษนั้น ทัพเรือก็ให้ตั้งติดลำคลองอยู่ ฝ่ายเจ้าพระยาบดินทรเดชากับเจ้าพระยาพระคลังปันหน้าที่กัน เจ้าพระยาบดินทรเดชาจะยกขึ้นบกตีค่ายกองทัพบก  ให้เจ้าพระยาพระคลังสั่งให้กองทัพเรือฝ่ายไทยเข้าตีทัพเรือฝ่ายญวน นายทัพนายกองต่างย่อท้อบิดพลิ้วไปต่างๆ หาได้ยกเข้าตีกองทัพเรือตามสัญญาไม่ ฝ่ายกองทัพเรือญวนเห็นว่าไม่มีกองทัพไทยมาตีแล้ว ก็ขึ้นช่วยค่ายบกระดมรบเจ้าพระยาบดินทรเดชาเป็นศึกขนาบ เจ้าพระยาบดินทรเดชาเห็นผิดที่นัดหมายเหลือกำลังก็ล่าถอยมา ได้ทราบความจากเจ้าพระยาพระคลังว่า นายทัพนายกองพากันย่อท้อต่อการสงคราม ก็จะให้ลงโทษตามอัยการศึก เจ้าพระยาพระคลังว่าถ้าจะลงโทษนายทัพนายกองแล้ว จะทำการต่อไปเสบียงอาหารก็ขัดสน และจวนถึงฤดูฝนอยู่แล้ว ถ้าทำการไม่สำเร็จก็จะต้องมีโทษเหมือนนายทัพนายกองทั้งปวงนี้ เจ้าพระยาบดินทรเดชาเห็นว่าไม่พร้อมมูลกัน จะทำการไม่สำเร็จแล้วก็ให้ล่าทัพมาตามลำคลอง ญวนก็ตามตีตลอดจนถึงเมืองโจดก เจ้าพระยาพระคลังออกจากเมืองโจดก กลับทางเมืองพุทไธมาศ เจ้าพระยาบดินทรเดชาตั้งต่อรบญวนอยู่ที่เมืองโจดกจนส่งกองทัพเรือไปหมดแล้ว จึงได้เดินกองทัพบกมาทางเมืองเขมร ในขณะนั้นเขมรพากันกำเริบลอบแทงฟันคนในกองทัพไทยเนืองๆ เจ้าพระยาบดินทรเดชาก็ให้ตั้งทัพลงจับตัวพวกเขมรคนร้ายมาลงโทษประหารชีวิตเสียเป็นอันมาก แล้วให้รื้อกำแพงเมืองพนมเปญ และกวาดต้อนครอบครัวเข้ามาตั้งกองทัพอยู่ที่เมืองโพธิสัตว์ ภายหลังขัดด้วยเสบียงอาหารจึงถอยเข้ามาตั้งอยู่เมืองพระตะบอง ฝ่ายกองทัพบกซี่งไปทางบาพนมนั้น เห็นกริยาเขมรญวนกำเริบขึ้นผิดปกติ และได้ทราบข่าวว่ากองทัพใหญ่และกองทัพเรือถอยไปแล้ว ก็ล่าทัพกลับมาถึงแม่น้ำโขง เห็นเขมรเผาเรือเสียสิ้น จึงให้ผูกไม้ไผ่เป็นแบสะพานข้ามแม่น้ำโขงมาได้ เว้นแต่กองทัพพระยานครสวรรค์ไม่ข้ามมาโดยสะพานเชือก เดินเลียบน้ำขึ้นไป เขมรฆ่าเสียสิ้นทั้งกองทัพ ฝ่ายกองทัพพระมหาเทพยกไปประชุมทัพ ณ เมืองนครพนม จะออกจากทางด่านกีเหิบเป็นช่องเขาซับซ้อนออกไม่ได้ จึงได้ตีแต่เมืองรายทางได้ เมืองมหาไชย เมืองพอง เมืองพลาน เมืองชุมพร ฝ่ายพระราชรินทร์ไปตั้งอยู่ ณ เมืองหนองคาย ให้กองทัพขึ้นไปตั้งบ้านโพงงาม มีหนังสือขึ้นไปเกลี้ยกล่อมพวกเมืองพวน ยอมสวามิภักดิ์รับกองทัพพระราชรินทร์เข้าไปตีค่ายญวน ซึ่งมาตั้งรักษาอยู่ที่เมืองเชียงขวาง ๓๐๐ คนกับทั้งแม่ทัพ จับได้เป็นบ้าง ที่ตายเสียมาก หนีไปบ้าง ข้างฝ่ายเจ้าพระยาธรรมาซึ่งยกกองทัพขึ้นไปทางเมืองหลวงพระบาง แต่งนายทัพนายกองไปเกลี้ยกล่อมเมืองพวนอีกทาง ๑ เมืองพวนยอมสวามมิภักดิ์ต่อพระราชรินทร์แล้ว จึงแต่งให้มารับกองทัพพาไปตีญวนที่ค่ายเมืองสุย ๑๐๐ คนแตกยับเยินไป แล้วญวนไปตั้งรับอยู่ที่น้ำงึมอีกแห่ง ๑ ก็ตีแตกไป  เมืองพวนก็กลับได้เป็นพระราชอาณาเขตสืบมา แล้วเจ้าพระยาธรรมาก็แต่งให้คนขึ้นไปเกลี้ยกล่อมเมืองหัวพันทั้งหก ก็ยอมว่าจะลงมาสวามิภักดิ์ พอเจ้าพระยาธรรมาป่วยกลับลงมากรุงเทพฯเสียคราว ๑

ฝ่ายข้าราชการเมืองเขมร เมื่อกองทัพไทยถอยลงมาแล้ว ญวนให้แม่ทัพพาองค์จันทร์มาตั้งอยู่ ณ เมืองพนมเป็ญอีก ขณะนั้นพระยาอภัยภูเบศรเจ้าเมืองพระตะบองถึงแก่กรรม จึงโปรดให้องค์อิ๋มเป็นเจ้าเมืองพระตะบอง องค์ด้วงไปเป็นเจ้าเมืองมงคลบุรี ฝ่ายองค์จันทร์ที่เป็นเจ้าเมืองเขมรถึงแกพิราลัย  ญวนยกบุตรเลี้ยงขึ้นเป็นเจ้าแผ่นดินและอยู่กำกับราชการ คิดเกลี้ยกล่อมบ้างกดขี่บ้าง จะให้เมืองเขมรเป็นของเมืองญวนแท้จนถึงกลับชาติเป็นญวน พวกเขมรพากันได้ความเดือดร้อน มีหนังสือเข้ามาขอสวามิภักดิ์เป็นข้ากรุงเทพฯ ในครั้งนั้นองค์อิ่มซึ่งเป็นเจ้าเมืองพระตะบอง บอกส่งตัวองค์ด้วงซึ่งเป็นเจ้าเมืองมงคลบุรีเข้ามา ว่าคิดจะหนี้ไปเมืองพนมเปญ ถามให้การว่าได้ทราบความว่าญวนมีหนังสือมาเกลี้ยกล่อมองค์อิ๋นให้หนีไป จะตั้งให้เป็นเจ้าเมืองเขมร แต่พวกพระยาเขมรไม่ชอบใจ อยากจะได้องค์ด้วงไปเป็นเจ้าเมือง จะช่วยกันรบญวนให้แตกไป องค์ด้วงจึงได้คิดอ่านการที่จะหนีไป ครั้นไม่ช้านักองค์ด้วงจะใคร่ได้เป็นเจ้าเมืองเขมร กลัวญวนจะไม่ไว้ใจ จึงได้จับตัวพระยาปลัดและกรรมการผู้ใหญ่ผู้น้อย และตีปล้นทรัพย์สมบัติกวาดครอบครัวเมืองพระตะบองประมาณห้าพันหนีไปเมืองพนมเปญเข้าหาแม่ทัพญวนเมืองโพธิสัตว์ ญวนรับรองครอบครัวเหล่านั้นไว้ แล้วส่งตัวองค์อิ๋ไปไว้ ณ เมืองพนมเปญหาให้เป็นเจ้าเมืองเขมรตามที่ว่าไม่ ในขณะนั้นเจ้าพระยาบดินทรเดชาเข้ามาอยู่ในกรุงเทพ ฯ จึงโปรดให้รีบกลับออกไป ณ เมืองพระตะบอง เจ้าพระยาบดินทรเดชาเกณฑ์คนในหัวเมืองเขมรป่าดง และเมืองลาวได้แล้ว ให้ไปตั้งรักษาอยู่ที่เมืองระสือกอง ๑ ที่ค่ายกพงพระกอง ๑ ที่เมืองนครเสียมราฐกอง ๑ และจัดกองลาดตระเวน ๔๐๐ คน ให้ลงเรือรบลาดตระเวนในท้องทะเลสาบ แต่ตัวเจ้าพระยาบดินทรเดชานั้นตั้งอยู่เมืองพระตะบอง ถ่ายลำเลียงเสบียงอาหารตระเตรียมซึ่งจะทำการในเมืองเขมรต่อไป ในขณะนั้นฝ่ายญวนเกิดความสงสัยกันขึ้น ว่าองค์แบนเจ้าหญิงบุตรองค์จันทร์นั้นคิดจะหนีมาหาไทย ญวนจึงให้จับตัวจำไว้ในค่าย ภายหลังก็ให้เอาไปถ่วงน้ำเสีย และเจ้าหญิงซึ่งยังเหลืออยู่อีก ทั้งองค์อิ๋มและมารดาบุตรภรรยา ครอบครัวองค์อิ๋มองค์ด้วงซึ่งตกอยู่กับญวนนั้น ก็เอาส่งลงไปเมืองญวนทั้งสิ้น แล้วให้หาขุนนางผู้ใหญ่ในเมืองเขมรจะให้ลงไปเมืองญวน ขุนนางเขมรก็ต่างคนต่างหลบหนีไปตั้งกองซ่องสุมผู้คนเป็นหมวดเป็นกอง พอมีกำลังแล้วก็เข้ารบสู้ด้วยญวน เมื่อไม่มีกำลังก็ซุ่มซ่อนอยู่ในป่า ญวนจะไปมาน้อยกว่าก็ฆ่าเสียทั้งสิ้น ในครั้งนั้นพวกเขมรเป็นขบถก่อการจลาจลในทุกแห่งทุกตำบล ญวนก็มิอาจปราบปรามให้สงบระงับลงได้ กำลังที่จะรักษาบ้านเมืองนั้นก็อ่อนแอลง ฝ่ายพระยาเขมรทั้งปวงก็มีหนังสือเข้ามาอ่อนน้อมต่อเจ้าพระยาบดินทรเดชา ที่พาครอบครัวเข้ามาพึ่งอยู่ในพระราชอาณาเขตก็มีโดยมาก เจ้าพระยาบดินทรเดชามีใบบอกเข้ามาขอกองทัพและศัสตราวุธออกไป ครั้นกองทัพพร้อมแล้วเจ้าพระยาบดินทรเดชาก็ให้ยกไปช่วย พระยาเดโชเจ้าเมืองกพงสวายตีค่ายกพงทมและค่ายญวนเมืองชีแครง ญวนแตกไป แล้วจึงยกไปตีค่ายญวนที่เมืองโพธิสัตว์ ได้สู้รบกับญวนๆหนีเข้าค่ายตั้งล้อมไว้เป็นหลายวัน จนญวนอ่อนน้อมยอมรับแพ้ และทำหนังสือสัญญาให้ว่าจะถอยกองทัพแล้วก็ปล่อยไป ในขณะเมื่อเมืองเขมรกำลังเป็นจลาจลอยู่นั้น พระยาเขมรทั้งปวงมายื่นเรื่องราว และมีหนังสือมาถึงเจ้าพระยาบดินทรเดชาจะขอองค์ด้วงออกไปเป็นเจ้ากรุงกัมพูชา เป็นหลายฉบับ  เจ้าพระยาบดินทรเดชาบอกเข้ามา ทรงทราบแล้ว จึงโปรดให้ส่งองค์ด้วงออกไปอยู่ ณ เมืองพระตะบอง เจ้าพระยาบดินทรเดชาก็มีหมายประกาศให้พระยาเขมรทั้งปวงมารับน้ำทำสัตย์ต่อองค์ด้วง ในขณะนั้นข้างแผ่นดินญวนเปลี่ยนแผ่นดินใหม่ กองทัพญวนซึ่งตั้งอยู่ในเมืองเขมรเกิดไข้ปัจจุบันไพร่พลล้มตายมาก ญวนจึงได้คิดอ่านจะพูดจากับกองทัพไทยโดยทางไมตรี แม่ทัพญวนชื่อองค์เกรินตาเดืองกุน ซึ่งตั้งอยู่เมืองพนมเปญมีหนังสือมายังเจ้าพระบาบดินทรเดชา กล่าวความข้างเบื้องต้นว่าฝ่ายไทยรุกรานข่มเหงญวนต่างๆ ญวนก็เป็นแต่สู้รบป้องกันรักษาเขตแดนไว้ หาได้ล่วงพระราชอาณาเขตเข้ามาจนก้าวหนึ่งไม่ แล้วกล่าวถึงเรื่องเมืองเขมร ว่าญวนคิดจะทำนุบำรุงเมืองเขมรและเจ้านายให้มีความสุข ฝ่ายเขมรกลับคิดประทุษร้ายต่อญวน องค์อิ๋นองค์ด้วงก็มีหนังสือไปสวามิภักดิ์ต่อญวน ชวนให้ไปตีเมืองพระตะบอง ซึ่งเป็นของฝ่ายไทย ญวนก็หาได้ทำตามไม่ บัดนี้เพราะเขมรคิดการทรยศลุกลามขึ้นญวนจึงต้องยกกองทัพมาปราบปราม แต่ถ้ารู้สึกตัวว่าผิดกลับมาอ่อนน้อมก็จะชุบเลี้ยงต่อไป ทางพระราชไมตรีกรุงสยามกับกรุงเวียตนามนั้น  ก็อยากจะให้เป็นไมตรีดีกันสืบไป ขอให้ไทยมีราชสาส์นไปก่อน ซึ่งจะถือตามคำสัญญาซึ่งนายทัพเมืองโพธิสัตว์ทำให้ไว้แต่ก่อนนั้นไม่ได้ หนังสือฉบับนี้แม่ทัพไทยหาได้ตอบไปไม่ เมื่อญวนไม่ได้หนังสือตอบฝ่ายไทยดังนั้น เห็นว่าจะยังมิเป็นไมตรี ก็ยกกองทัพเข้าค่ายเขมรเมืองบาที ซึ่งพระยาเสนาภูเบศรไปตั้งกำลังอยู่ด้วย เขมรเห็นญวนมากก็หนี พระยาเสนาภูเบศรก็ถอยมา ณ.เมืองโพธิสัตว์ ญวนก็ตามมาตีค่ายบีกกานอกเมือง ได้สู้รบกินอยู่และผ่อนคนค่ายกพงทมลงมาที่พนมเปญอีก เจ้าพระยาบดินทรเดชาเห็นว่าญวนทำการแข็งแรงขึ้น จึงได้พาองค์ด้วงยกออกไปตั้ง ณ.เมืองโพธิสัตว์ ญวนก็มิอาจตีตอบเข้ามา เจ้าพระยาบดินทรเดชาก็ให้ตัดไม้แก่นปักเป็นค่ายระเนียดทำเมืองให้องค์ด้วง อยู่ที่ประไทเลียดเหนือเมืองโพธิสัตว์เป็นที่ดอน ในขณะนั้นฝ่ายแม่ทัพญวนคิดกันไปขอหนังสือเจ้าหญิงและมารดาองค์จันทร์ อนุญาตให้องค์อิ๋มเป็นเจ้าเมืองเขมร แล้วให้องค์อิ๋มซึ่งญวนจำไว้นั้นพ้นโทษลงมาด้วย เจ้าพระยาบดินทรเดชาได้ทราบดังนั้น เห็นว่าองค์ด้วงตั้งอยู่เมืองโพธิสัตว์ลับเข้ามานัก กลัวว่าพวกเขมรจะไปเข้าด้วยองค์อิ๋นเสียมาก จึงให้พระพรหมบริรักษนายทัพนายกอง พาตัวองค์ด้วงลงไปตั้งอยู่ ณ ที่อุดงแขวงเมืองประไทเพชร ฝ่ายญวนได้ทราบดังนั้นก็ให้ไปรับเจ้าหญิงอีก ๓ คนลงมา ณ.เมืองพนมเปญ มอบตราสำหรับแผ่นดินและพระขรรค์ให้นักองค์มี นักองค์มีก็ตั้งขุนนางเต็มตามตำแหน่ง แล้วให้แต่งหนังสือออกเกลี้ยกล่อมราษฎร ก็ไม่มีผู้ใดสวามิภักดิ์ ข้างฝ่ายนักองค์ด้วงก็ตั้งขุนนางขึ้นเต็มตำแหน่งบ้าง ในครั้งนั้นขุนนางเขมรมีเต็มตำแหน่งเป็นสองฝ่าย แล้วแต่งกองทัพออกเที่ยวรักษาตามหัวเมืองทั่วไป ได้ต่อรบกับญวนเป็นหลายครั้ง แล้วแต่งกองโจรออกอีก ๑๑ กอง กองละพันคนบ้าง หกร้อยตนบ้าง ห้าร้อยคนบ้าง ให้ซุ่มซ่อนอยู่ในป่า ถ้าญวนมาก็ให้หลบหนี ถ้าเห็นมาน้อยก็ให้เข้าตีฆ่าเสียบ้างจับเป็นมาบ้าง กองใดได้ญวนมาก็ให้บำเหน็จรางวัลตามสมควร  แล้วส่งญวนเชลยนั้นมา ณ กรุงเทพฯ ในระหว่าง ๗ ปี ๘ ปีนั้น ได้ญวนส่งเข้ามากว่าสองพันคน ฝ่ายเจ้าหญิงทั้งสามคนนั้นมีหนังสือมาถึงองค์ด้วงว่าจะขอมาอยู่เมืองอุดงด้วย ขอให้แต่งกองทัพขึ้นไปรับ  ญวนได้ทราบเหตุดังนั้น ก็ให้รักษากวดขันกว่าแต่ก่อน แล้วให้ส่งองค์อิ๋นลงมาเมืองพนมเปญ ปลูกเรือนให้อยู่หลังหนึ่งกับเจ้าหญิงทั้ง ๓ คนนั้น ฝ่ายองค์อิ๋มก็ให้มีหนังสือออกไปเกลี้ยกล่อมพระยาเขมรทุกแห่งทุกตำบล ก็ไม่มีผู้ใดเข้าเกลี้ยกล่อม แต่คนถือหนังสือไปก็มิได้กลับมา ในขณะนั้นบังเกิดความไข้ขึ้นในกองทัพญวนเสียไพร่พลเป็นอันมาก เสบียงอาหารก็ขัดสน ข้าวราคาถึงถังละห้าบาท เกลือถังละกึ่งตำลึง เขมรที่อยู่กว้างพอหาเสบียงอาหารได้ ฝ่ายญวนจะออกไปเที่ยวลาดหาเสบียงไม่ได้ จึงได้พาเจ้าหญิง ๓ คน และองค์อิ๋มกวาดต้อนครอบครัวไปประมาณสองพันคน ลงไปตั้งอยู่ ณ เมืองโจดก  ครั้งนั้นแม่ทัพญวนมีความเสียใจกินยาพิษตาย แม่ทัพคนใหม่ให้ยกลงไปตีเมืองปาสัก เมืองพระตะพัง ได้แล้วก็ตั้งอยู่ที่เมืองโจดก ครั้งนั้นเมืองเขมรแบ่งออกเป็นสองฝ่าย ข้างฝ่ายใต้เมืองกรังเกรยกราก เมืองตึกเขมา เมืองประมวนสอ เมืองมัจรุค เมืองปาสัก เมืองพระตะพัง เป็นขององค์อิ๋ม เมืองเขมรฝ่ายเหนือเป็นขององค์ด้วง ฝ่ายเจ้าพระยาบดินทรเดชาทราบว่ากองทัพญวนเลิกลงไปแล้ว จึงได้พาองค์ด้วยยกลงไปตั้งอยู่ ณเมืองพนมเปญ ด้วยเป็นทางร่วมฟังราชการได้โดยรอบทิศ แล้วมีใบบอกเข้ามากรุงเทพฯ เมื่อได้ทรงทราบว่าเมืองเขมรขัดด้วยเสบียงอาหารดังนั้น จึงโปรดให้พระอนุรักษ์โยธาคุมเรือลำเลียงเสบียงอาหารออกไปส่ง กองทัพเจ้าพระยาบดินทรเดชาโดยทางทะเล และทรงพระดำริว่า เมืองเขมรเดี๋ยวนี้เป็นสิทธิแก่องค์ด้วงแล้ว ถ้าถมตลิ่งขุดเสียได้ อย่าให้ญวนส่งลำเลียงเสบียงอาหารกันถนัด ตัดทางอย่าให้กองทัพญวนมาตั้งในเมืองเขมรได้ เมืองเขมรก็จะเป็นสิทธิแก่ไทยฝ่ายเดียว จึงได้มีท้องตราไปให้เจ้าพระยาบดินทรเดชาถมคลองเสียให้ได้ จะโปรดให้มีกองทัพเรือออกไปตีเมืองประไทมาศถ่วงเวลาไว้ให้ญวนพะว้าพะวัง  ในครั้งนั้นเจ้าพระยาบดินทรเดชาป่วยจึงขอแม่ทัพบกเข้ามา โปรดให้เจ้าพระยายมราชออกไปเป็นแม่ทัพ เจ้าพระยายมราชและองค์ด้วงกับพระพรหมบริรักษ์ คุมไพร่พลหมื่นพันเก้าร้อยคน ลงไปตามคลองขุดใหม่ ตั้งค่าย ณ เขาเชิงกระชุม แล้วทำค่ายตับเข้าประชิดค่ายญวน แล้วให้พูนดินขึ้นเป็นป้อมเอาปืนใหญ่ขึ้นยิง ได้ต่อรบกันอยู่เป็นสามารถ ฝ่ายกองทัพเรือโปรดให้เจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์เป็นแม่ทัพ จมื่นไวยวรนารถเป็นแม่ทัพหน้าคุมกองทัพกรุงเทพฯ พระยาอภัยพิพิธคุมกองทัพหัวเมืองฝ่ายตะวันออกรวมสามทัพคนห้าพันเศษ และให้คุมเสบียงอาหารไปส่งกองทัพเจ้าพระยาบดินทรเดชาทางเมืองกำปอดด้วย กองทัพพระยาอภัยพิพิธไปก่อน ได้รบกับเรือลาดตระเวรญวน ญวนแตกไป แล้วจึงได้ยกขึ้นตีเมืองประไทมาศ พระยาอภัยพิพิธขึ้นทางบก พระยาราชวังสรรตีป้อมปากน้ำ ทัพจหมื่นไวยวรนารถอยู่ที่ปากน้ำ ทัพหลวงตั้งอยู่ ณ เกาะกระทะคว่ำ ได้ต่อรบกับญวนประมาณหกเจ็ดวัน จหมื่นวัยวรนารถกลับมาเฝ้าเจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์ ปรึกษากันเห็นว่าญวนต่อรบเป็นสามารถเกรงว่าทัพเรือโจดกจะยกมาช่วย ตกลงกันเลิกทัพกลับเข้ามา จมื่นไวยวรนารถแวะไปตรวจการที่พระราชรินทรส่งลำเลียงกองทัพ ทางบกที่เมืองกำปอด เห็นว่าส่งได้กึ่งหนึ่งแล้ว จะต้องส่งต่อไปก็ไม่เป็นที่ไว้ใจแกญวน จึงได้เลิกทัพพาเสบียงกลับเข้ามา ณ  กรุงเทพ ฯ พร้อมด้วยกองทัพหลวง ฝ่ายญวนที่เมืองประไทมาศเห็นว่ากองทัพเรือถอยมาแล้ว ก็ยกไพร่พลไปตีค่ายทัพบกที่คลองชุดใหม่ กองทัพไทยเหลือกำลังก็แตก เสียพระยาอภัยสงครามและพระองค์แก้วเขมรกับทั้งนายทัพนายกองเป็นอันมาก เจ้าพระยายมราชก็ถุกปืน กองทัพแตกขึ้นไปเมืองพนมเปญ ครั้งนั้นญวนหาได้ติดตามไม่ เสบียงอาหารที่เมืองพนมเปญขัดสนนัก เจ้าพระยาบดินทรเดชาจึงให้รื้อเก๋งและโรงปืนเรือของญวนที่เมืองพนมเปญเสีย แล้วตั้งค่ายรายกองทัพไว้สี่ค่ายแล้วถอยขึ้นมาตั้งเมืองอุดง ให้สร้างเมืองให้องค๋ด้วงใหม่ที่ตำบลคลองพระยาฤา และโปรดให้ส่งลำเลียงเสบียงอาหารที่เมืองกพงโสมต่อไป ฝ่ายฟ้าทะละหะและสมเด็จเจ้าพระยากลาโหม ซึ่งรับอาสาญวนจะมาเอาเมืองเขมรให้เป็นของญวนจงได้นั้น ก็พาองค์อิ๋มขึ้นมาตั้งค่ายอยู่ตำบลกะพงกระสัง แล้วเลื่อนขึ้นตั้งค่ายจะโรยตามา ญวนก็ส่งกองทัพติดตามมาเป็นอันมาก องค์อิ๋มและฟ้าทะละหะ สมเด็จเจ้าพระยา ก็มีหนังสือมาเกลี้ยกล่อมพระยาเขมรเป็นหลานฉบับหามีผู้ใดไปเข้าด้วยไม่ ภายหลังนักองค์อิ๋มถึงแก่พิราลัย นักองค์มีเจ้าหญิงมีหนังสือถึงองค์ด้วงขอให้รับขึ้นมาอยู่ด้วย ฝ่ายกองทัพญวนและกองทัพไทยก็เกิดข็เจ็บอันตราย และขัดสนด้วยเสบียงอาหาร ต่างคนตั้งรออยู่มิได้รบพุ่งกันและกัน ในขณะนั้นเจ้าพระยาบดินทรเดชาเข้ามาเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ณ กรุงเทพฯ ฝ่ายพระยาเขมรร่วมคิดกันสิบแปดคน มีพระยาจักรีเป็นต้นมีหนังสือไปถึงญวน จะจับองค์ด้วงส่งให้ เหตุการณ์นั้นไม่มิด องค์ด้วงจับได้ ฝ่ายญวนก็ยกทัพเข้ามาตามที่นัดหมาย พระพรหมบริรักษ์และองค์ด้วงก็มีใบบอกเข้ามายังกรุงเทพฯจึงโปรดให้เจ้าพระยาบดินทรเดชากลับออกไป ทัพญวนมาตีค่ายไทยที่เมืองพนมเปญแตกแล้ว ยกขึ้นมาตีเมืองอุตัง เจ้าพระยาบดินทรก็ออกต่อรบ ทัพญวนแตดพ่ายไป ครั้งนั้นญวนตายเป็นอันมาก จึงเพิ่มเมืองอุดงว่าเมืองอุดงฎาชัยแต่นั้น เจ้าพระยาบดินทรเดชาจัดกองทัพออกตั้งรายตามตัวเมืองไว้มั่นคง ฝ่ายญวนเห็นว่าจะทำการไม่สะดวกแล้ว จึงแต่งให้มาเจรจาด้วยเจ้าพระยาบดินทรเดชาว่าขอให้องค์ด้วงมีหนังสือไปอ่อนน้อม จะยอมส่งมารดาและญาติพี่น้องให้เป็นไมตรีกันสืบไป ฝ่ายเจ้าพระยาบดินทรเดชาสำคัญว่าจะเป็นอุบายก็นิ่งเสีย ญวนก็ให้มารบกวนตักเตือนอยู่เนืองๆ แล้วภายหลังแจ้งความว่า ดจวียตนามเทียวตรีองค์นี้คิดจะจัดการในเมืองเขมรโดยทางใหม่ ไม่ให้เป็นการรบพุ่งกันสืบไป เจ้าพระยาบดินทรเดชามีหนังสือบอกเข้ามา ก็ยังไม่เป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัย เกรงว่าจะเป็นอุบายของญวน ฝ่ายเจ้าพระยาบดินทรเดชาเห็นว่าเขมรเหนื่อยหน่ายในการรบพุ่งและได้ความลำบากอดอยากมาช้านาน ฝ่ายญวนก็ทำดีต่อ เอามารดาและบุตรภรรยามาล่อองค์ด้วงๆก็อยากจะใคร่พบมารดาและบุตรภรรยา ข้างฝ่ายกองทัพญวนและไทยก็ได้ความลำบากมาช้านาน การก็ไม่สำเร็จไปอย่างหนึ่งอย่างใดได้ เป็นแต่ผลัดกันได้กันเสียอยู่ดังนี้ เป็นช่องอันดีสมควรสมควรที่จะสงบการศึกกันคราวหนึ่งได้ จึงได้มีใบบอกชี้แจงเข้ามาตามความที่คิดเห็นนั้น ก็ได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้จัดการไปตามทางซึ่งจะสงบการสงคราม ในจุลสักราช ๑๒๐๘ นั้น เจ้าพระยาบดินทนเดชา จึงให้องค์ด้วงมีหนังสือไปขอมารดาและบุตรภรรยาจากญวน ญวนก็ส่งมาให้ตามสัญญาแล้วขอให้มีศุภอักษรและส่งบรรณาการขึ้นไปคำนับเมืองญวนสามปีครั้งหนึ่ง เหมือนเมื่อครั้งองค์สมเด็จพระนารายณ์รามาซึ่งเป็นบิดาขององค์ด้วง และขอให้ส่งครัวญวนแขกชเลยซึ่งองค์ด้วงจับส่งเข้ามาภายหลังสี่สิบคนเศษคืนออกไป ครั้งมีใบบอกเข้ามาก็ โปรดพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ส่งบรรณาการญวน และพระราชทานคน ๔๐ คนเศษนั้นคืนไป องค์ด้วงก็แต่งศุภอักษรเครื่องบรรณาการขึ้นไปคำนับญวน และส่งคนชเลยศึกให้ แล้วได้รับตราตั้งฝ่ายญวนเป็นเจ้าเขมรก๊กหนึ่ง ญวนส่งเจ้าหญิงบุตรองค์จันทร์มาให้ทั้งสิ้น แล้วก็เลิกทัพไปจากเขตรแดนเขมร ฝ่ายกองทัพไทยก็จัดการบ้านเมืองให้องค์ด้วงได้เป็นใหญ่ในเมืองเขมรเรียบร้อยสำเร็จแล้ว จึงโปรดให้พระยาเพชรพิไชยคุมเคราองยศออกไปเศกนักองค์ด้วง เป็นสมเด็จพระหริรักษรามาธิบดี เจ้ากรุงกัมพูชา องค์ด้วงก็แต่งเครื่องราชบรรณาการเข้ามาทูลเกล้าฯ ถวายตามอย่างแต่ก่อน แล้วทรงคิดถึงพระเดชพระคุณที่ทรงพระมหากรุณาให้ได้เป็นใหญ่ในกรุงกัมพูชาโดยกำลังกองทัพฝ่ายสยาม จึงได้เพิ่มเคริ่องราชบรรณาการกระวานขึ้นอีกปีละ ๕๐ หาบ แล้วให้องค์ราชาวดีซึ่งเป็นบุตรใหญ่เข้ามาพร้อมด้วยเจ้าพระยาบดินทรเดชา รับราชการฉลองพระเดชพระคุณอยู่ ณ กรุงเทพฯ การศึกกรุงสยามกับญวนก็เป็นอันขาดกันแต่กาลนั้นมา ด้วยประการฉะนี้

หมายเหตุ

พระธรรมเทศนาเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ในหนังสือยังไม่จบ ข้อมูลและสาระที่เหลือส่วนมากจะเป็นเรื่องของการทำสงคราม จึงขอยุติการคัดลอกไว้เพียงนี้  แต่จะขอคัดลอกบางส่วนจากหนังสือ  “การวิเคราะห์ในเชิงประวัติศาสตร์              เรื่องการเมืองการปกครองในรัชกาล พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว”  ซึ่งเป็นงานวิจัย จัดทำโดย รองศาสตราจารย์นันทนา กปืลกาญจน์ ในบทที่ ๑ บทนำ หน้า ๑-๓ ดังนี้

ความสำคัญและที่มาของปัญหาที่ทำการวิจัย

พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นพระราชโอรสองค์ที่ ๓ ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย และเป็นพระโอรสองค์ที่ ๑ ในเจ้าจอมมารดาเรียม ภายหลังทรางไดรับสถาปนาเป็น “สมเด็จพระศรีสุลาลัย”  ทรงพระราชสมภพ เมื่อวันจันทร์ เดือน ๔ แรม ๑๐ ค่ำ ปีมะแม ตรงกับวันที่ ๓๑ มีนาคม พ.ศ.๒๓๓๐  ณ.พระราชวังเดิม ทรงมีพระนามเดิมว่า “ทับ” ต่อมาได้รับสถาปนาเป็น “กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์” เมื่อมีวัยพอแก่การอุปสมบทได้ทรงบรรพชาและอุปสมบทเฉพาะหน้าพระพักตร์พระอัยกา คือ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม  แล้วเสด็จไปประทับที่วัดราชสิทธาราม (วัดพลับ) ครั้งลาผนวชแล้วได้รับราชการต่างพระเนตรพระกรรณสมเด็จพระราชบิดา จนเป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัยเป็นอย่างดียิ่ง พระองค์ทรงมีพระราชโอรสพระราชธิดา รวม ๕๐ พระองค์ เป็นพระราชโอรส ๒๒ พระองค์ พระราชธิดา ๒๙ พระองค์ แต่พระองค์ไม่ทรงมีพระอัครชายาที่เป็นเจ้า จึงไม่มีพระราชโอรสหรือพระราชธิดาเป็นเจ้าฟ้า แต่ทั้งนี้พระองค์ก็สามารถสถาปนาพระยศพระราชโอรสให้เป็นเจ้าฟ้าได้ แต่มิได้ทรงกระทำ

เมื่อพระชนม์อายุได้ ๒๑ พรรษา สมเด็จพระราชบิดาทรงมอบให้ชำระคดี ก็ทรงตัดสินคดีได้อย่างดี จนทรงได้รับตำแหน่งสำคัญๆต่างๆ เรื่อยมา พระองค์ทรงเห็นความสำคัญของการค้ากับต่างประเทศ ทรงมีเรือสำเภาส่งไปทำการค้าขายได้ผลดี จนสมเด็จพระราชบิดาทรงตรัสล้อเลียนว่า “เจ้าสัว” นอกจากจะทรงมีราชการมากแล้ว พระองค๋ยังทรงสามารถปลีกเวลาไปเฝ้าสมเด็จพระราชบิดาได้ทุกวัน ครั้นกรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์เสด็จทิวงคตใน พ.ศ.๒๓๖๐ พระองค์ทรงได้รับตำแหน่งกรมพระตำรวจอีกตำแหน่งหนึ่ง

เมื่อสินแผ่นดินรัชกาลที่ ๒ ที่ประชุมเห็นว่าในเวลานั้นพระนครก็ยังตั้งขึ้นไม่สู้นาน การสงครามกับฝ่ายพม่าก็ยังมี จึงเห็นพร้อมกันว่า กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ ซึ่งมีพระชนมายุมาก และเคยทรงพระราชกิจต่างๆ ใหญ่น้อยทั่วถึง ขึ้นครองราชย์สมบัติเหมาะสมที่สุด พระองค์จึงทรงได้รับราชสมบัติสืบต่อจากสมเด็จพระราชบิดาเป็นรัชกาลที่ ๓ ในพระราชวงศ์จักรี ทรงจัดพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เมื่อวันที่ ๑ สิงหาคม พ.ศ.๒๓๖๗ และทรงเลื่อนยศเลื่อนตำแหน่งพระบรมวงศานุวงศ์ และบรรดาข้าราชการต่างๆอีกด้วย ส่วนตำแหน่งกรมพระราชวังบวรสถานมงคลนั้น ทรงสถาปนาเสด็จอา คือ  กรมหมื่นศักดิพลเสพย์ พระราชโอรสในรัชกาลที่ ๑ เป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคลต่อมา

พระราชกรณียกิจในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ ทรงมีมากมายหลายประการด้วยกัน ที่สำคัญคือ ทรงทำสัญญาทางพระราชไมตรีกับอังกฤษ โดยอังกฤษส่งกัปตัน เฮนรี เบอร์นี เป็นทูตอังกฤษเข้ามาเจรจา ต่อจากอังกฤษก็มีสหรัฐอเมริกา ซึ่งได้นำเอาวิชาการต่างๆ มาด้วย เช่น พิมพ์ดีด ถ่ายรูป ปลูกฝี วิชาการแพทย์ และเครื่องจักรเข้ามาในเมืองไทยเป็นครั้งแรก  ทรงปราบปรามเมืองประเทศราชต่างๆ  ที่คิดแข็งเมือง ซึ่งมีปฏิกิริยามาแล้วตั้งแต่รัชกาลที่ ๑ และแสดงตัวเป็นเอกราชโดยเปิดเผย ได้แก่ ญวน เขมร และเวียงจันทน์ ต้องส่งกำลังไปปราบปราม ทรงได้ชัยชนะในที่สุด ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้ซ่อมแซมสิ่งก่อสร้างในสมัยรัชกาลที่ ๑ เช่น วิหารพระพุทธไสยาสน์ วัดพระเชตุพน และอื่นๆ

พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงปฏิบัติภารกิจมากมายเป็นคุณแก่พระราชอาณาจักรอย่างใหญ่หลวง แม้พระองค์จะมีสุขภาพดีแข็งแรงตลอดพระชนม์ชีพ ครั้นทรงพระประชวรลงก็ทรงทราบว่าจะไม่ทรงรอด จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ให้เรียกขุนนางที่ทรงใช้สอยสนิทเข้ามาเฝ้า ทรงปรารภว่าพระองค์อาการหนักคงจะถวายพระโอสถไม่ได้ และมีพระราชดำรัสว่า “ถ้าพระองค์จะทรงเลือกเจ้านายพระองค์ใดขึ้นครองราชย์แทนอาจจะไม่พอใจแก่คนทั้งปวง จึงขอให้ไปบอกที่ประชุมเมือสิ้นแผ่นดิน ถ้าเห็นพระราชวงศ์พระองค์ใดมีวัยวุฒิปรีชารอบรู้ราชนุวัตร ก็ให้ร่วมใจกันยกท่านขึ้นครองราชย์บัลลังก์ แล้วทรงขอให้สามัคคีกันไว้ให้มากๆ”  พระบาทสมเด็จพระนุ่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงอยู่ในพระสติสัมปชัญญะเป็นปกติเรียบร้อยมาตลอด แต่พระอาการกลับยิ่งทรุดหนักลงตามลำดับ จนเสด็จสวรรคต เมื่อวันที่ ๒ เมษายน พ.ศ.๒๓๙๔ พระชนมายุ ๖๓ พรรษา ทรงอยู่ในราชสมบัติเป็นเวลา ๒๗ ปี

วัตถุประสงค์ในการวิจัย

๑.เพื่อวิเคราะห์ผลกระทบจากการที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงครองราชย์ก่อนพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

๒.เพื่อศึกษาถึงความสัมพันธ์ทางการทูตกับต่างประเทศ : อังกฤษและสหรัฐอเมริกา ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว

๓.เพื่อศึกษาถึงความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้านในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว

๔.เพื่อศึกษาถึงพระราชกรณียกิจที่สำคัญๆ ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พ.ศ.๒๓๖๗-๒๓๙๔

๕.เพื่อศึกษาสภาพการเมืองปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว การเลือกผู้ที่สืบราชสันตติวงศ์

ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ

๑.การศึกษาเรื่องนี้จะเป็นการสะสมองค์แห่งความรู้ (Body of Knowledge) ในเรื่องของพระราชกรณียกิจในการปกครองทำนุบำรุงบ้านเมืองให้เจริญของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว

๒.การศึกษาในเรื่องนี้เพื่อแสดงให้เห็นว่าการวิเคราะห์ในเชิงประวัติศาสตร์ไม่ใช่การศึกษาที่ผูกติดกับอดีต หรือการศึกษาอดีตเพื่ออดีต แต่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในอดีตก็เป็นประวัติศาสตร์ที่จะมีผลต่ออนาคตด้วยเช่นกัน

๓.ผลของการวิจัยนี้จะได้ข้อเสนอใหม่ในเรื่องพระราชกรณียกิจ พระอุปนิสัยและการวางพระองค์ของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวที่กอปรไปด้วยเหตุผลและหลักฐานที่ชัดเจนยิ่งขึ้น

๔.ใช้เป็นตำราสอนวิชาทางสังคมศาสตร์ ทั้งวิชาประวัติศาสตร์ รัฐศาสตร์ และเศรษฐศาสตร์

ขอบเขตของการวิจัย

งานวิจัยครั้งนี้มุ่งจะวิเคราะห์ถึงเหตุการณ์สำคัญๆ และพระราชกรณียกิจที่สำคัญๆ ในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พ.ศ.๒๓๖๗-๒๓๙๔ ในการศึกษาจะมุ่งชี้ให้เห็นพระราชกรณียกิจด้านต่างๆ ที่ทรงปฏิบัติราชการด้วยพระปรีชาญาณ เฉียบแหลมและเข้มแข็ง ประกอบด้วยอุตสาหพยายามมั่นคงอยู่มิได้เสื่อมคลายจนตลอดพระชนมายุ  พระองค์มีพระราชศรัทธาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาเป็นอย่างยิ่ง ได้ทรงสร้างพระพุทธปฏิมาหลายองค์ ทรงสร้างและทรงปฏิสังขรณ์วัดหลายวัด ทรงรักษาความมั่นคงของพระราชอาณาจักรและเมืองประเทศราชให้มีอิสระ ยกเว้นเพียงรายสองรายเท่านั้น เพื่อให้บ้านเมืองมีความปลอดภัย

ผลการวิจัยที่เกี่ยวข้อง

การดำเนินนโยบายต่างประเทศของไทยต่อมหาอำนาจตะวันตกในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (พ.ศ.๒๓๖๗-๒๓๙๔) (วงเดือน นาราสัจจ์ ๒๕๑๘) มีข้อความวิจารณ์ตอนหนึ่งว่า ข้อตกลงทางการเมืองระหว่างไทยกับอังกฤษในสนธิสัญญาเบอร์นี สะท้อนให้เห็นการดำเนินนโยบายของไทยต่ออังกฤษในขณะนั้นว่า แม้สถานการณ์แวดล้อมจะบีบบังคับให้ไทยต้องยอมรับสัมพันธไมตรีกับอังกฤษ ซ่งเป็นชาติมห่อำนาจตะวันตกที่เข้ามามีบทบาทในภูมิภาคแถบนี้ตั้งแต่ต้นคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ แต่ผลของการตกลงทางการเมืองในสนธิสัญญาเบอร์นีชี้ให้เห็นว่า รัฐบาลไทยดำเนินนโยบายคบกับฝรั่งชาติตะวันตกด้วยความระมัดระวัง และคำนึงถึงผลประโยชน์ตลอดจนความมั่นคงของชาติเป็นหลักสำคัญ นอกจากนี้ยังเป็นการดำเนินนโยบายที่ชาญฉลาดเพราะสามารถนำเอาผลประโยชน์ทางการค้าของอังกฤษมาต่อรองให้รัฐบาลไทยบรรลุถึงผลประโยชน์และความได้เปรียบทางการเมือง การเจรจาในครั้งนี้เป็นเครื่องยืนยันได้ว่า อังกฤษเพียงแต่สนใจผลประโยชน์ทางการค้ากับไทย แต่ยังไม่สนใจที่จะเข้าแทรกแซงทางการเมืองของไทยในแหลมมลายูอย่างจริงจัง

คัดลอกโดย ม.ล.ชาญโชติ ชมพูนุท

๒๘ ธันวาคม ๒๕๕๘

 

 

แก้ไขล่าสุด ใน วันจันทร์ที่ 28 ธันวาคม 2015 เวลา 01:15 น.
 

เวปไซด์เผยแพร่ประวัติพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว

พิมพ์ PDF

สำหรับท่านที่ติดตามบทความ " พระธรรมเทศนาเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว" ที่ผมคัดลอกมาจากหนังสือ " พระธรรมเทศนาเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชนิพนธ์ ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  พิมพ์ครั้งแรก เพื่อแจกในงานพระเมรุสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ เมื่อ พ.ศ.๒๔๘๑ และพิมพ์ครั้งที่สอง เพื่อแจกในงานพระราชทานเพลิงศพ หม่อมเจ้าชนม์เจริญ ชมพูนุท เมื่อวันที่ ๓๐ พฤศจิกายน ๒๕๐๖ โดยได้นำเผยแพร่ไปแล้ว ๘ ตอน กำลังคัดลอกตอนสุดท้าย ตอนที่ ๙ และเห็นว่ายังมีพระราชกิจที่สำคัญในระหว่างเสด็จดำรงสิริราชสมบัติ ที่ในหนังสือไม่ได้กล่าวถึงอีกมาก จึงได้ทำการค้นคว้าเพิ่มเติม และได้พบเวปไซด์ที่ลงประวัติ และพระราชกิจที่สำคัญของพระองค์อยู่ 2 เวปไซด์ จึงนำมาเผยแพร่ ให้ผู้ที่สนใจในประวัติศาสตร์ ได้เรียนรู้เพิ่มเติม เวปไซด์ดังกล่าว ได้แก่

http://www.chaoprayanews.com/2009/03/15/พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้า

http://www.myfirstbrain.com/student_view.aspx?ID=27367

ม.ล.ชาญโชติ ชมพูนุท

แก้ไขล่าสุด ใน วันอาทิตย์ที่ 27 ธันวาคม 2015 เวลา 17:22 น.
 

พระธรรมเทศนาเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (๘)

พิมพ์ PDF

พระธรรมเทศนาเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (๘)

พระราชนิพนธ์ใน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

กัณฑ์ ที่ ๓

พระราชประวัติเมื่อเสด็จดำรงสิริราชสมบัติ

บัดนี้จะได้รับพระราชทาน ถวายวิสัชนาในคิหิสามีจิปฎิบัติยานุโมทนากถา และพระราชประวัติในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวจำเดิมแต่ได้เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติบรมราชาภิเษก และทรงประพฤติราชกิจน้อยใหญ่ในการที่จะรักษาพระนครขอบขัณฑสีมา ปกป้องพระบรมวงศานุวงศ์เสนาพฤฒามาตย์ ราษฏรประชาให้เป็นผาสุกสวัสดิ์ทั่วหน้าจนตลอดเวลาเสด็จสู่สวรรคต พรรณนาข้อความในพระราชกรณียกิจและเหตุการณ์อันเกิดในรัชกาลนั้น จำแนกเป็นหมวดๆโดยย่อ พอเป็นที่ทรงระลึกถึงพระเดชพระคุณและทรงประสารทสังเวค ดำเนินความว่า เมื่อปีวอกฉศกจุลศักราช ๑๑๘๖  พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงพระประชวรอันแรงกล้า มิได้รู้สึกพระองค์ ไม่ได้ทรงดำเนินพระบรมราชโองการพระราชทานมอบเวนสิริสมบัติ แด่พระบาทสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช อย่างพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ด้วยทรงพระประชวรอยู่เพียงสามเวลาก็เสด็จสวรรคต ในขณะนั้น                     เจ้าฟ้ากรมหลวงพิทักษมนตรี ซึ่งเป็นประธานในราชการแผ่นดินสิ้นพระชนม์ล่วงไปก่อนแล้ว ยังแต่พระบรมวงศานุวงศ์และท่านเสนาบดีซึ่งเป็นประธานในราชการ ก็ล้วนแต่เป็นผู้ชื่นชมนิยมยินดีต่อพระปรีชาญาณของพระองค์ จึงได้ปรึกษาพร้อมกันเห็นว่า พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ยังมีพระชนมายุน้อย และเสด็จออกทรงผนวชในพระพุทธศาสนา โดยทรงพระศรัทธาเลื่อมใส มิได้ทรงพระดำริมุ่งหมายที่จะให้มีเหตุการณ์บาดหมางในพระบรมราชวงศ์ ให้เป็นการจลาจลขึ้นในบ้านเมือง ได้ทราบความชัดในพระราชดำริพระประสงค์ดังนี้แล้ว เห็นว่าในเวลานั้นพระนครก็ยังตั้งขึ้นไม่สู้ช้านาน การสงครามฝ่ายพม่าปัจจามิตร ก็ยังมุ่งหมายจะทำลายล้างกรุงสยามอยู่มิได้ขาด จึงเห็นพร้อมกันว่าถ้าอัญเชิญพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวซึ่งมีพระชนมายุมาก และทรงพระกิจใหญ่น้อยทั่วถึง ทั้งในการที่จะรักษาพระนครภายใน และจะป้องกันอริราชศัตรูหมู่ปัจจามิตรภายนอกได้ในเวลาเมื่อเกิดการสงคราม จะเป็นเหตุให้พระบรมราชวงศ์และพระนครตั้งมั่นเป็นอนัญสาธารณ์สืบไปภายหน้า จึงยินยอมพร้อมกันถวายสิริราชสมบัติ แด่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว อัญเชิญขึ้นเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติบรมราชาภิเษกเฉลิมพระราชมนเทียรตามราชประเพณีแต่โบราณมิได้ยิ่งหย่อน การพระราชพิธีบรมราชาภิเษกนั้นได้สำเร็จลง ในวันอาทิตย์ขึ้น ๗ ค่ำเดือน ๙ปีวอกฉศกจารึกพระนามในพระสุพรรณบัฏว่า พระบาทสมเด็จพระบรมราชาธิราชรามาธิบดีศรีสินทรมหาจักรพรรดิราชาธิบดินทร์ ธรณินทราธิราช รัตนกาศ ภาสกรวงศ์ องค์ปรมาธิเบศร ตรีภูวเนตรวรนายก ดิลกรัตนราชชาติอาชาวไสย สมุทัยกโรมน สกลจักรวาลาธิเบนทร์ สุริเยนทราธิบดินทร์ หริหรินทราธิบดี ศรีวิบูลยคุณอกนิษฐฤทธิราเมศวร ธรรมมิกราชาธิราชเดโชชัย  พรหมเทพาดิเทพนฤบดินทร์ ภูมินทรปรมาธิเบศร โลกเชษฐวิสุทธิ มกุฏประเทศตามหาพุทธางกูร บรมพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัว เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ กรุงเทพมหานครบวรรัตนโกสินทร์ มหินทรายุธยา มหาดิลกภพนพรัตนราชธานีบุรีรมย์ อุดมราชนิเวศมหาสถาน

เมื่อได้เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติแล้วทรงยกพระราชชนนี ขึ้นเป็นกรมสมเด็จพระศรีสุลาลัย ตำแหน่งที่สมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง และทรงตั้งพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นศักดิพลเสพ ซึ่งเป็นประธานในราชการกรมพระกลาโหม อันเป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัย ให้ดำรงที่พระมหาอุปราชกรมพระราชวังบวรสถานมงคล ครั้นเมื่อกรมพระราชวังบวรสถานมงคลสิ้นพระชนม์แล้ว ทรงเลื่อนกรมหมื่นเทพพลภักดิ กรมหมื่นรักษรณเรศ กรมหมื่นเสนีบริรักษ์ ขึ้นเป็นกรมหลวงทั้ง ๓ องค์  ทรงเลื่อนกรมหมื่นรามอิศเรศ กรมหมื่นเดชอดิศร กรมหมื่นพิพิธภูเบนทร์ ขึ้นเป็นกรมขุน แล้วทรงตั้งสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอเจ้าฟ้าพระองค์น้อยขึ้นเป็นกรมขุนอิศเรศรังสรรค์ ทรงตั้งพระเจ้าบรมวงศ์เธอเป็นกรมหมื่น ๔ พระองค์ คือกรมหมื่นสวัสดิวิไชย กรมหมื่นไกรสรวิชิต กรมหมื่นศรีสุเทพ กรมหมื่นณรงค์หริรักษ ทรงตั้งพระเจ้าน้องยาเธอเป็นกรมหมื่น  ๕ พระองค์ คือกรมหมื่นพิทักษเทเวศร กรมหมื่นเสพสุนทร กรมหมื่นสนิทนเรนทร์ กรมหมื่นอินทอมเรศ กรมหมื่นวงศาสนิท ทรงตั้งพระเจ้าน้องนางเธอฝ่ายใน เป็นกรมขุนกัลยาสุนทรพระองค์ ๑ พระเจ้าลูกเธอฝ่ายในเป็นกรมหมื่นอับศรสุดาเทพพระองค์ ๑ พระเจ้าลูกเธอฝ่ายหน้าเป็นกรมหมื่นมาตยาพิทักษ์ พรองค์ ๑ เป็นกรมหมื่นอมเรนทรบดินทร์พระองค์ ๑ ทรงตั้งพระองค์เจ้าในกรมพระราชวังที่ ๑ เป็นกรมหมื่นรานุชิตพระองค์ ๑ พระองค์เจ้าในกรมพระราชวังที่ ๒ เป็นกรมหมื่นอมรมนตรีพระองค์ ๑ ทรงตั้งพระองค์เจ้าเจ่งในกรมหมื่นนรินทรพิทักษ เป็นกรมหมื่นนเรนทรบริรักษพระองค์ ๑ อนึ่งกรมหมื่นสุรินทรรักษ ซึ่งเป็นที่ทรงปรึกษาไว้วางพระราชหทัยอันสนิทแต่ในรัชกาลที่ ๒ ครั้นเมื่อได้เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติแล้ว ก็ได้ตั้งอยู่ในที่ปรึกษาราชการแผ่นดินแต่สิ้นพระชนม์ไปเสียโดยเร็วยังหาทันเลื่อนกรมได้ ทรงตั้งเจ้าหลานเธอซึ่งเป็นพระธิดาพระองค์เจ้าลักขณานุคุณ อันพระบิดาสิ้นพระชนม์เสียแต่ยังทรงพระเยาว์อยู่นั้น  ให้เป็นพระเจ้าหลานเธอพระองค์เจ้าโสมนัศวัฒนาวดีอีกพระองค์ ๑ ส่วนข้าทูลละอองธุลีพระบาทในชั้นต้น เสนาบดีมีเต็มตัวตามตำแหน่งอยู่ ยังหาได้ทรงตั้งไม่ ครั้นเมื่อขาดว่างตำแหน่งลง พระองค์ก็ได้ทรงตั้งขึ้นตามความชอบและคุณวุฒิ ตำแหน่งที่สมุหนายกเมื่อเจ้าพระยาอภัยภูธรถึงแก่อสัญกรรมแล้ว ได้ทรงตั้งเจ้าพระยาบดินทรเดชาเป็นที่สมุหนายก เมื่อเจ้าพระยาบดินทรเดชถึงอสัญกรรมแล้ว ก็หาได้ทรงตั้งตำแหน่งที่สมุหนายกไม่ โปรดให้เจ้าพระยานิกรบดินทร แต่ยังเป็นพระยาราชสุภาวดีว่าการในตำแหน่งนั้น ที่สมุหพระกลาโหมนั้นเมื่อเจ้าพระยาอรรคมหาเสนา (สัชข์) ถึงอสัญกรรมแล้ว จึงโปรดให้เจ้าพระยายมราช (น้อย) เป็นเจ้าพระยาอรรคมหาเสนา ครั้นเจ้าพระยาอรรคมหาเสนา (น้อย) ถึงอสัญกรรมแล้ว จึงโปรดให้เจ้าพระยาพระคลังว่าที่สมุหพระกลาโหมและคงว่าการกรมท่าด้วย ตำแหน่งกรมท่าไม่ได้ทรงตั้งใหม่จนตลอดรัชกาล ตำแหน่งกรมวังนั้นเมื่อเจ้าพระยาธรรมา (เทศ) ถึงอสัญกรรมแล้ว จึงทรงตั้งพระยาบำเรอภักดิ์ (สมบุญ) เป็นเจ้าพระยาธรรม ครั้นเมื่อถึงอสัญกรรมแล้วที่นั่นก็ว่างอยู่ ตำแหน่งกรมเมือง เจ้าพระยายมราช (น้อย) เลื่อนไปเป็นเจ้าพระยาอรรคมหาเสนา จึงทรงตั้งพระยามหาอำมาตย์ (ทองพูน) เป็นที่เจ้าพระยายมราช ครั้งถึงอสัญกรรมแล้วซึ่งทรงตั้งพระยาทิพโกษาเป็นเจ้าพระยายมราชต่อมา เมื่อชราแล้วเลื่อนเป็นเจ้าพระยาสุธรรมมนตรี จึงทรงตั้งพระยาอภัยรณฤทธิ์ (บุญนาก) เป็นเจ้าพระยายมราช ครั้นถึงอสัญกรรมแล้วที่นั่นก็ว่างมา ตำแหน่งที่กรมนา เจ้าพระยาพลเทพซึ่งเดิมเป็นที่พระยาศรีสรไตร (ฉิม) เป็นมาแต่แผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อเจ้าพระยาพลเทพถึงอสัญกรรมแล้ว โปรดให้กรมสมเด็จพระเดชาดิศรเมื่อยังเป็นกรมขุนเดชอดิศร ทรงบังคับการมาจนคลอดรัชกาล  ตำแหน่งราชการซึ่งเป็นตำแหน่งใหญ่ในครั้งนั้นจึงว่าจะมีตัวเสนาบดีอยู่ พระบรมวงศานุวงศ์ก็ได้ทรงกำกับบังคับบัญชาโดยมาก ในกรมมหาดไทยนั้นเมื่อกรมหลวงพิทักษมนตรีสิ้นพระชนม์แล้ว กรมขุนอิศรานุรักษ์ได้ทรงกำกับบังคับบัญชาต่อมาครั้งเมื่อกรมขุนอิศรารักษ์สิ้นพระชนม์แล้ว หม่อมไกรสรซึ่งเป็นกรมหลวงรักษรณเรศ ได้ช่วยราชการมาโดยตลอด และว่าการตลอดถึงกรมวังด้วย ในกรมพระนครบาล กรมหมื่นสุรินทรรักษได้ทรงบังคับบัญชา ครั้นเมื่อสิ้นพระชนม์แล้ว กรมพระพิพิธโภคภูเบนทร์ เมื่อยังเป็นกรมขุนพิพิธภูเบนทร ได้ทรงกำกับช่วยราชการในการนั้น ด้วยเหตุฉะนั้นเสนาบดีว่างตำแหน่งอยู่ช้านานเท่าใด ราชการนั้นก็ไม่เสียไป เพราะมีพระบรมวงศานุวงศ์ทรงกำกับอยู่ และได้ทรงยกย่องตั้งแต่งข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อยนอกนั้น ทั้งในกรุงหัวเมือง เต็มตามตำแหน่ง

การศึกสงครามซึ่งมีในรัชกาลนั้น เริ่มต้นแต่เมื่อปีระกาสัปตศกจุลศักราช ๑๑๘๗ อนุเจ้าเมืองเวียงจันทน์ลงมาเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทในการพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย มีความบาดหมางด้วยโลภเจตนา ครั้งเมื่อกลับขึ้นไปยังเมืองเวียงจันทน์แล้ว จึงปรึกษาพร้อมด้วยบุตรหลานแสนท้าวพระยาลาวว่า ในกรุงเทพมหานครในเวลานี้เจ้านายที่มีพระชนม์พรรษามากเป็นผู้ใหญ่ก็ล่วงไปเสียโดยมาก ยังมีแต่เจ้านายซึ่งมีพระชนม์พรรษาน้อย ไม่คล่องแคล่วชำนิชำนาญในการสงคราม ฝ่ายอังกฤษก็มารบกวนอยู่ เห็นว่าจะหักหาญเอาพระนครได้โดยง่าย จึงได้คิดอ่านเกลี้ยกล่อมและกดขี่หัวเมืองลาว ซึ่งยังมิได้อยู่ในอำนาจ ให้ยินยอมเข้าเป็นพวกตัวได้ตลอดลงมาจนจดแดนเขมรป่าดง แล้วจัดกองทัพตระเตรียมไว้พรักพร้อม ครั้งเดือนยี่ปีจออัฐศกจุลศักราช ๑๑๘๘ จึงให้ราชวงศ์ผู้บุตรเป็นทัพหน้า คุมคนสามพันคนลงมาโดยทางเมืองนครราชสีมา ลวงเบิกเสบียงอาหารที่เมืองนครราชสีมาได้แล้ว ลงมาตั้งอยู่ ณ ตำบลขอนขว้างใกล้เมืองสระบุรี ให้ลงมาเกลี้ยกล่อมพระยาสระบุรี ซึ่งเป็นลาวพุงดำและนายครัวลาวพุงขาวเข้าด้วย กวาดครอบครัวอพยพไทยจีนลาวซึ่งตั้งอยู่ ณ เมืองสระบุรีได้เป็นอันมาก ฝ่ายอนุกับสุทธิสารผู้บุตรก็ยกกองทัพใหญ่ตามลงมาตั้งค่าย ตำบลทะเลหญ้า ใกล้เมืองนครราชสีมา ในขณะนั้นเจ้าพระยานครราชสีมา และพระยาปลัดไปราชการเมืองเขมรป่าดง จึงให้หาตัวพระยายกกระบัตรและกรมการออกไปบังคับให้กวาดต้อนครัวเมืองนครราชสีมาขึ้นไปเมืองเวียงจันทน์ กรมการทั้งนั้นมิอาจที่จะขัดขวางได้ พวกลาวก็ควบคุมครอบครัวอพยพพาเดินไปโดยระยะทาง ในขณะนั้นพระยาปลัดทราบเหตุการณ์ จึงรีบกลับมาทำเป็นสวามิภักดิ์ยินยอมจะไปเมืองเวียงจันทน์ด้วย แล้วจึงขอเครื่องศัสตราวุธซึ่งอนุให้เก็บเสียแต่ชั้นพร้าก็มิให้เหลือนั้น พอไปหาเสบียงตามทางได้บ้างเล็กน้อย ครั้นเมื่อเดินครัวไปถึงทุ่งสำริดหยุดพักอยู่ เวลากลางคืนพวกครัวกลับต่อสู้ลาว แย่งชิงได้ศัตราวุธฆ่าลาวตายเป็นอันมาก พวกลาวก็พากันแตกตื่นลงมายังเมืองนครราชสีมา ฝ่ายพระยาปลัดก็ตั้งค่ายมั่นอยู่ ณ ทุ่งสำริดคอยต่อสู้ ครั้นอนุได้ทราบความแล้ว แต่งให้ขุนนางลาวขึ้นไปปราบปราม พวกเมืองนครราชสีมาก็ต่อสู้พวกลาวแพ้พ่ายมา ฝ่ายราชวงศ์ซึ่งลงมากวาดต้อนครัวอยู่ ณ เมืองสระบุรี ทราบข่าวว่ากองทัพกรุงเทพมหานครจะขึ้นไปเป็นหลายทัพหลายทาง ก็รีบเร่งเดินครัวขึ้นไปยังเมืองนครราชสีมา แจ้งเหตุการณ์ให้อนุทราบ ด้วยเดชะอำนาจบารมี อนุก็ให้เกิดความหวาดหวั่นครั่นคร้าน มิอาจจะยกรุกรีบลงมา ด้วยสำคัญใจว่าครัวเมืองนครราชสีมาต่อสู้แข็งแรงนั้น จะเป็นกองทัพใหญ่ของเจ้าพระยานครราชสีมา จึงคิดว่าจะรับกองทัพกรุงเทพฯที่เมืองนครราชสีมามิได้ ด้วยกลัวจะเป็นศึกขนาบ ครั้น ณ เดือน ๔ แรม ๑๑ ค่ำก็เลิกกองทัพกลับขึ้นไป ให้ราชวงศ์แยกทางไปกดขี่เมืองหล่มศักดิ์ให้อยู่ในอำนาจ แล้วตั้งอยู่ในที่นั้น ส่วนตัวอนุถอยขึ้นไปตั้งค่ายที่หนองบัวลำพู ให้พระยานรินทร์คุมพลสามพันอยู่รักษา แล้วยกขึ้นไปตั้งค่ายช่องเขาสารเป็นทางแยก ให้พระยาสุโพเพี้ยชานนคุมพลสองหมื่นเป็นทัพใหญ่ตั้งอยู่สกัดต้นทาง ตัวอนุยกขึ้นไปตั้งค่ายอยู่บนเขาสารแล้วให้พระยาเชียงสาตั้งค่ายตำบลสนมแห่ง ๑  กองคำตั้งค่ายตำบลช่องวัวแตกตำบล ๑ แต่ส่วนเจ้าอุปราชซึ่งให้ไปกวาดต้อนผู้คนตามหัวเมืองลาวนั้น ตั้งอยู่เมืองสุวรรณาภูมิ ฝ่ายข้างกรุงเทพมหานครได้ทราบข่าวศึก ก็ทรงวิตกเป็นอันมาก ด้วยต้องกับคำซึ่งมีผู้ทำนายไว้แต่ก่อนมา และประจวบกันกับเวลาซึ่งมีผู้สบประมาทคาดหมายอายุแผ่นดินไว้ด้วย จึงดำรัสให้เสนาบดีข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อย เกณฑ์กันตั้งค่ายรายตามท้องทุ่งหลังพระนคร ตั้งแต่ทุ่งวัวลำพองไปจนทุ่งบางกระปิจนตกลงน้ำ ป้องกันพระนครเป็นสามารถ แล้วโปรดให้กรมพระราชวังบวรสถานมงคลเป็นแม่ทัพใหญ่ เสด็จยกยาตราจากกรุงเทพมหานคร ในเดือน ๔ ขึ้น ๖ ค่ำ เสด็จไปประชุมทัพที่ท่าเรือพระบาท จึงโปรดให้พระยาจ่าแสนยากร พระยากลาโหมราชเสนา พระยาพิไชยบุรินทรา พระยาณรงค์วิไชย สี่นายเป็นทัพหน้าที่ ๑ กรมหมื่นนเรศร โยธี กรมหมื่นเสนีบริรักษ เป็นทัพหน้าที่ ๒  กรมหมื่นเสนีเทพเป็นทัพหน้าทัพหลวง กรมหมื่นนรานุชิต กรมหมื่นสวัสดิวิไชย เป็นปีกซ้ายปีกขวา กรมหมื่นรามอิศเรศรเป็นยกกระบัตร กรมหมื่นธิเบศรบวรเนจเรทัพ กรมหมื่นเทพพลภักดิ์เป็นเกียกกาย พระนเรนทรราชเป็นทัพหลัง ทัพหลวงเสด็จทางดงพระยาไฟ โปรดให้เจ้าพระยามหาโยธาคุมคนกองมอญแยกขึ้นทางดง พระยากลางทัพ ๑  เจ้าพระยาอภัยภูธรคุมทัพหัวเมืองเหนือห้าพัน ขึ้นทางเมืองเพชรบูรณ์ทัพ ๑ พระยาไกรโกษาคุมทัพเรือเมืองสามพัน ขึ้นทางเมืองพิษณุโลก เมืองนครไทยทัพ ๑ ดองทัพทั้งสองนี้ ให้พร้อมกันยกขึ้นไปตีทัพราชวงศ์ที่เมืองหล่มศักดิ์เป็นศึกขนาบ แล้วโปรดให้พระยาราชวรนุกูล พระยารามคำแหง พระยาราชรองเมือง พระยาจันทบุรี คุมกองทัพไปทางเมืองพระตะบอง ขึ้นไปเกณฑ์คนเมืองสุรินทร์ เมืองสังขะเขมรป่าดง ตีขึ้นไปทางเมืองนครจำปาศักดิ์อีกทัพ ๑ แล้วโปรดให้มีกองทัพอีกสีกอง ออกทางเมืองปราจีนบุรี ยกขึ้นทางช่องเรือแตก ทัพที่ ๑ พระยาราชสุภาวดี ทัพที่ ๒ เจ้าพระยาพระคลัง ทัพที่ ๓ กรมหมื่นพิพิธภูเบนทร์ กรมหมื่นพิทักษเทเวศร ทัพที่ ๔ กรมหมื่นสุรินทรรักษ ให้มีอำนาจบังคับได้สิทธิ์ขาดทั้ง ๔ ทัพ แต่ครั้นเมื่อเจ้าพระยานครศรีธรรมราช ได้ทราบท้องตราให้หาแล้วมีใบบอกมาว่า อังกฤษมีเรือรบมาทอดอยู่ที่แหลมมลายูสามสี่ลำ ไม่ทราบว่าจะไปแห่งใด เจ้าพระยาศรีธรรมราชอยู่รักษาเมือง จัดให้พระยาพัทลุงกับพระเสนหามนตรี คุมคนเมืองตะวันตก ๒,๐๐๐ เข้ามาช่วยราชการ ก็โปรดให้มีตราให้หากองทัพที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ กลับ ให้ลงไปรักษาปากน้ำเจ้าพระยา คงแต่กองทัพพระยาสุภาวดี ยกขึ้นไปบรรจบทัพหลวงที่เมืองนครราชสีมา กรมพระราชวังจึงโปรดให้ พระยาราชสุภาวดียกแยกไปตีเมืองนครจำปาศักดิ์ เมื่อไปถึงเมืองพิมายพบกองทัพเจ้าโถง กองทัพไทยตีแตก และยกไปตีเวียงคุกที่เมืองยโสธรแตกพ่ายอีกกอง ๑  ฝ่ายทัพหน้าที่ ๑ กับกองโจรพระองค์เจ้าขุนเนน ยกขึ้นไปตีค่ายหนองบัวลำพูแตก กองทัพหลวงก็ยกตามขึ้นไป ข้างกองทัพเจ้าพระยาอภัยภูธรและพระยาไกรโกษา เข้าระดมตีกองทัพราชวงศ์เมืองหล่มศักดิ์แตกหนี้ไปห่อนุที่เขาสาร อนุได้ทราบความกองทัพใหญ่แตกถึง ๒ ตำบล ก็ยิ่งมีความหวาดหวั่นย่อท้อต่อพระบารมี จึงให้คุมไพร่พลรีบหนี้ขึ้นไปแกล้งทำอุบายให้ปรากฏว่า จะไปตบแต่งเมืองเวียงจันทน์ไว้คอยรับกองทัพ แต่ครั้นเมื่อไปถีงเมืองเวียงจันทน์แล้ว ก็รีบเก็บทรัพย์สมบัติและครอบครัวยกหนีไปอาศัยอยู่ในแขวงเมืองญวนที่เมืองล่าน้ำ ซึ่งญวนเรียกว่าเมืองแง่อาน ฝ่ายกองทัพไทยยกขึ้นไปตั้งอยู่ ณ ทุ่งส้มป่อย พระยาสุโพ แม่ทัพที่ช่องเขาสาร ยกพลลาวมาล้อมค่ายทัพหน้าที่ ๑ ไว้ถึง ๗ วัน ได้ต่อสู้กันเป็นสามารถ จะหักเอาค่ายยังมิได้ ฝ่ายกรมหมื่นนเรศรโยธีทัพหน้าที่ ๒ ทราบ ก็รีบยกพลลำลองร้อยเศษขึ้นไปช่วย  พลลาวมากตกอยู่ในที่ล้อมจวนจะเสียที พอกรมหมื่นเสนีบริรักษยกตามขึ้นไปทัน เข้าแก้กรมหมื่นนเรศรโยธีออกมาจากที่ล้อมได้ แล้วระดมกันตีกองทัพลาวทั้งสองทัพเป็นศึกขนาบ ทัพลาวแตกกระจัดกระจายไปคุมกันไม่ติด ทัพหน้าก็ยกไปตั้งอยู่ในเมืองเวียงจันทน์ ทัพหลวงไปตั้งอยู่เมืองพานพร้าว ตรงเมืองเวียงจันทน์ข้าม ฝ่ายอุปราชซึ่งเป็นน้องมิได้ปลงใจเป็นขบถด้วยอนุแต่เดิมมานั้น ก็เข้าอ่อนน้อมต่อกรมพระราชวังสถานมงคล ในขณะนั้นพอทัพเมืองเชียงใหม่ เมืองนครลำปาง เมืองลำพูน เมืองหลวงพระบาง เมืองน่าน เมืองแพร่ มาถึงพร้อมกันที่พานพร้าว จึงดำรัสให้หัวเมืองลาวทั้งหกออกเที่ยวตีค้อน กวาดครัวที่กระจัดกระจายไปซุ่มซ้อนอยู่ในที่ทั้งปวง ฝ่ายพระยาราชสุภาวดี ยกเข้าตีทัพเจ้าปานสุวรรณบุตรอนุ ซึ่งคุมกองทัพเมืองนครจำปาศักดิ์มาตั้งรับที่เมืองยโสธรแตกอีกทัพ ๑ แล้วยกลงไปตีกองราชบุตรบุตรอนุซึ่งเป็นเจ้าเมืองนครจำปาศักดิ์ ซึ่งตั้งรับอยู่ ณ เมืองอุบลราชธานี แตกหนีไป  ณ เมืองจำปาศักดิ์ ฝ่ายคนครัวซึ่งกวาดต้อนเข้าไปไว้ในเมืองนครจำปาศักดิ์เห็นได้ที ก็คุมกันลุกขึ้นต่อสู้พวกราชบุตรแตกหนีข้ามฝากมาฝั่งโขงตะวันออก กองทัพไทยก็ได้เมืองนครจำปาศักดิ์ พระยาราชสุภาวดีก็ให้ติดตามจับได้ตัวราชบุตรและเจ้าปานสุวรรณส่งลงมากรุงเทพฯ ครั้นเมื่อเสร็จราชการแล้ว พระยาราชสุภาวดีก็รีบยกขึ้นไปเฝ้ากรมพระราชวัง ณ เมืองพานพร้าว ในครั้งนั้นกรมพระราชวังหาได้เสด็จข้ามไปเมืองเวียงจันทน์ไม่ ดำรัสให้ทำลายเมืองเสีย ด้วยเห็นว่าจะเป็นที่ล่อแหลมไปภายหน้าแล้วจึงโปรดให้สร้างพระเจดีย์องค์ ๑ ถวายนามว่าพระเจดีย์ปราบเวียง ทรงมอบราชการให้พระยาราชสุภาวดีอยู่จัดการต่อไป แล้วเลิกทัพหลวงเสด็จกลับกรุงเทพฯ ในราชการเวียงจันทน์ครั้งนี้ พระยาราชสุภาวดีได้ทำการศึกเข้มแข็งมากอยู่ผู้เดียว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีตราข้นไปให้เป็นเจ้าพระยาราชสุภาวดีว่าที่สมุหนายกด้วยเจ้าพระยาอภัยภูธรป่วยถึงอสัญกรรมเสียที่เมืองเวียงจันทน์ ในขณะไปราชการทัพแล้ว ครั้นเจ้าพระยาราชสุภาวดีจัดการเรียบร้อยลงได้แล้วก็กลับมาแจ้งราชการ ณ กรุงเทพฯ ในครั้งนั้นยังมิได้โปรดให้เจ้าพระยาราชสุภาวดีรับยศบรรดาศักดิ์ เป็นเจ้าพระยาจักรีเต็มตำแหน่งด้วยทรงขัดเครืองว่าไม่ทำลายเมืองเวียงจันทน์ให้สิ้นสูญ ยังซ้ำตั้งนายหมวดนายกองให้อยู่เกลี้ยกล่อมรวบรวม ผู้คนจะจัดตั้งเป็นบ้านเมืองต่อไป เห็นว่าตัวอนุและราชวงศ์ก็ยังอยู่ ฝ่ายญวนก็เอาเป็นธุรเกี่ยวข้อง ถ้าอนุกลับมาตั้งเมืองเวียงจันทน์อีก ก็จะได้ยากแก่ไพร่พลทหาร จึงได้โปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาราชสุภาวดียกกลับขึ้นไปอีก ในปีชวดสัมฤทธิศกจุลศักราช ๑๑๙๐ นั้น ไปตั้งอยู่ที่หนองบัวลำพู แต่งให้พระยาราชรองเมือง พระยาพิไชยสงคราม คุมกองทัพล่วงหน้าขึ้นไปถึงเมืองพานพร้าว จึงสั่งให้หาตัวเพี้ยเมืองจันท์มาไต่ถามด้วยราชการ ผู้ซึ่งฟปเห็นลาวตระเตรียมอาวุธสับสนอยู่ และลาวยึดเอาตัวคนไทยไว้ ๗ คน จึงเอาความมาแจ้งต่อพระยาพิไชสงครามๆ ให้บอกข่าวลงมายังเจ้าพระยาราชสุภาวดี แล้วก็แบ่งคนนายไพ่ ๓๐๐ คน พระยาพิไชยสงครามคุมข้ามฟากไปเมืองเวียงจันทน์ตั้งทัพอยู่ ณ วัดกลาง ในขณะนั้นญวน ๘๐ คน กับไพร่พลลาวประมาณ ๑.๐๐๐ คนครั้งรุ่งขึ้นวันแรม ๗ ค่ำ เดือน ๘ ญวนจึงพาอนุมาพร้อมด้วยพระยาพิไชยสงครามที่ศาลาลูกขุน ญวนแจ้งความว่าเจ้าเวียตนามให้พาตัวอนุมาอ่อนน้อมขอพระราชทานโทษ ที่ได้ทำผิดล่วงไปแล้วแต่หลัง ขอให้ได้ตั้งเมืองเวียงจันทน์ทำราชการฉลองพระเดชพระคุณสืบไป ฝ่ายอนุและราชวงศ์ก็อ่อนน้อมโดยดี นายทัพฝ่ายไทยมิได้มีความสงสัย ครั้งเวลาเย็นลงอนุกลับใช้ให้ไพร่พลฝ่ายลาวเอาปืนมาระดมยิงนายทัพและไพร่พลไทยตายสิ้นทั้งนั้น เหลือข้ามน้ำมาได้แต่สักสี่สิบห้าสิบคน ฝ่ายเจ้าพระยาราชสุภาวดีได้ทราบข่าวกองหน้าบอกลงมา ก็รีบยกขึ้นไปถึงเมืองพานพร้าวในขณะเมื่อลาวกำลังยิงไทยอยู่นั้น เห็นที่หาดหน้าเมืองเวียงจันทน์กำลังชุลมุนกันอยู่ ก็รู้ว่ากองทัพไทยเห็นจะเสียที จะข้ามไปก็ไม่มีเรือ ครั้นคนที่ว่ายน้ำกลับมาแจ้งความทราบแล้ว ตรวจดูคนในกองทัพ พวกที่เป็นคนในพื้นเมืองก็ตื่นหนีไปเป็นอันมาก จะตั้งรับอยู่ที่พานพร้าวเห็นไม่เป็นที่ไว้ใจเกรงจะเสียที ด้วยไม่ทราบว่าจะเป็นกลอุบายลาวหรือญวนคิดอ่านประการใด  จึงได้ยกกองทัพถอยลงไปตั้งมั่นอยู่เมืองยโสธร ให้กะเกณฑ์ไพร่พลและสะสมเสบียงอาหารจะกลับขึ้นไปตีเมืองเวียงจันทน์อีก ฝ่ายญวนซึ่งพาอนุเข้ามาเมืองเวียงจันทน์ เห็นว่าลาวทำวุ่นวายขึ้นเป็นข้อวิวาทกับไทยต่อไปอีก ผิดกับคำสั่งที่ได้รับมา ก็ทิ้งอนุเสีย ยกกลับไปเมืองแง่อาน อนุตั้งอยู่ในเมืองเวียงจันทน์รวบรวมผู้คนได้แล้ว ยกข้ามฟากมายังเมืองพานพร้าว รื้อพระเจดีย์ซึ่งกรมพระราชวังบวรทรงสร้างไว้นั้นเสีย แล้วให้ราชวงศ์ยกกองทัพติดตามไปตีทัพเจ้าพระยาราชสุภาวดีที่เมืองยโสธร ฝ่ายเจ้าพระยาราขสุภาวดีเกณฑ์กำลังคนได้แล้วก็ยกกลับขึ้นไป ไปพบกองโจรราชวงศ์ที่บ้านบกหวานแขวงเมืองหนองคาย ได้คุมพลทหารออกต่รบกันเป็นสามารถ จนถึงได้รบกันตัวต่อตัวกับราชวงศ์ พระราชวงศ์แทงเจ้าพระยาราชสุภาวดีด้วยหอกถูกตั้งแต่อกแฉลบลงไปจนถึงท้องน้อยล้มลง หลวงพิชิตน้องชายจะเข้าแก้ ราชวงศ์ฟันหลวงพิชิตตาย พอทนายเจ้าพระราชสุภาวดียิงปืนถูกเข่าขวาราชวงศ์ล้มลง บ่าวไพร่สำคัญว่าตายก็อุ้มขึ้นแคร่พาหนีไป เจ้าพระยาราชสุภาวดีคลำดูแผลเห็นว่าไม่ทะลุภายใน ตกแต่งแผลเสร็จแล้วขึ้นแคร่ขับพลไล่ติดตามไป ฝ่ายราชวงศ์ไปถึงเมืองพานพร้าวข้ามฝากไปแจ้งการแก่อนุ ว่าแม่ทัพและพลทหารไทยต่อสู้เข้มแข็ง เห็นจะรับมิอยู่ อนุตกใจรีบพาบุตรภรรยาได้บ้างแล้วหลบหนีไป พอรุ่งขึ้นกองทัพไทยถึงเมืองเวียงจันทน์ อนุหนี้ไปเสียก่อนวันหนึ่งแล้ว จับได้แต่สุทธิสารบุตรภรรยาบ่าวไพร่หลายคน เจ้าพระยาราชสุภาวดีก็แต่งกองทัพให้ไปติดตามอนุ ซึ่งหนีเข้าไปเมืองพวน ยังหาได้ตัวไม่ ฝ่ายพระวิชิตสงครามซึ่งตั้งอยู่ ณ เมืองนครพนม มีหนังสือบอกข้อราชการมาว่าญวนแต่งให้นายไพร่ห้าสิบคน ถือหนังสือเข้ามาว่าด้วยเรื่องเมืองเวียงจันทน์และขอโทษอนุ ไม่พบตัวอนุจึงนำหนังสือส่งสือมาส่งที่พระวิชิตสงคราม จะโปรดประการใด เจ้าพระยาราชสุภาวดีตอบไปว่าครั้งก่อนซึ่งเสียท่วงทีแก่อนุ ก็เพราะญวนเข้ามาเป็นนายหน้า ครั้งนี้จะมาล่อลวงอีกประการใดก็ไม่รู้ ให้จับฆ่าเสียให้สิ้น พระวิชิตสงคราม๗งให้จับญวนมาฆ่าเสีย เหลือแต่สามคนส่งมากองทัพใหญ่ การที่ทำนั้นจึงเป็นเหตุสำคัญ ซึ่งเกิดหมองหมางทางพระราชไมตรีในระหว่างกรุงสยามกับกรุงเวียตนามสืบไปภายหน้า ฝ่ายกองทัพซึ่งไปติดตามตัวอนุถึงเขตแดนเมืองพวน ได้แจ้งหนังสือเจ้าน้อยเมืองพวนมีมาห้าม ขออย่าให้กองทัพไทยเข้าไปในเขตแดนจะจับตัวอนุส่ง ภายหลังพระลับแล และพวกเมืองหลวงพระบาง เมืองน่าน จับตัวอนุได้ที่น้ำไฮ้เชิงเขาไก่ เจ้าพระยาราชสุภาวดีก็ให้คุมตัวส่งลงมาทำโทษประจานที่ท้องสนามไชยในกรุงเทพมหานคร จนอนุป่วยถึงแก่ความตาย บุตรญาติภรรยาวงศ์อนุนั้นหาได้ลงพระราชอาญาแก่ผู้หนึ่งผู้ใด ถึงสิ้นชีวิตไม่ ฝ่ายเมืองเวียงจันทน์นั้น เจ้าพระยาราชสุภาวดีก็ให้รื้อทำลายป้อมกำแพงและที่สำคัญทั้งปวงเสียสิ้น เว้นไว้แค่พระอาราม แล้วก็ยกกองทัพกลับลงมาเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ณ กรุงเทพฯ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้เป็นเจ้าพระยาราชสุภาวดีเป็นที่เจ้าพระยาบดินทรเดชาที่สมุหนายก ตามสมควรแก่ความชอบซึ่งได้ฉลองพระเดชพระคุณในราชการแผ่นดินนั้น

โปรดติดตามตอนต่อไป สงครามเมืองญวนซึ่งยาวนานเกือบจะตลอดรัชกาลที่ ๓

คัดลอกโดย ม.ล.ชาญโชติ ชมพูนุท

๒๖ ธันวาคม ๒๕๕๘

 

 

 

แก้ไขล่าสุด ใน วันเสาร์ที่ 26 ธันวาคม 2015 เวลา 18:07 น.
 

พระธรรมเทศนาเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (๗)

พิมพ์ PDF

พระธรรมเทศนาเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (๗)

พระราชนิพนธ์ใน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

กัณฑ์ ที่ ๒

พระราชประวัติ ก่อนเสด็จดำรงสิริราชสมบัติ

บัดนี้จะได้รับพระราชทานถวายวิสัชนาในธรรมจริยาสมจริยาและพรรณนาพระราชประวัติ แห่งพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ในเวลาเมื่อพระองค์ยังไม่ได้เสด็จดำรงสิริราชสมบัติในเบื้องต้น เพื่อให้เป็นที่ทรงระลึกถึงพระเดชพระคุณ ซึ่งพระองค์ได้ทรงประพฤติราชกิจและการพระราชกุศลทั้งปวง เพื่อให้เป็นประโยชน์แก่ประชุมชนเป็นอันมาก และการซึ่งพระองค์ได้ทรงพระอุตสาหะจัดการทั้งปวงนั้นๆไว้ ยังได้ปรากฏเป็นคุณแก่ชนภายหลังจนกาลปัจจุบันนี้เป็นอเนกประการ ควรที่สาธุชนบัณฑิตยชาติจะยกย่องสรรเสริญ แล้วระลึกถึงพระเดชพระคุณโดยความกตัญญูกตเวทีเป็นนิจกาล

ก็แล พระราชประวัติในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น พระองค์ได้เสด็จมายังโลกนี้ ในอัชสังวัจฉรผคุณมาสกาฬปักษ์ทสมีดิถีศิวาร  พระองค์เป็นพระราชโอรสองค์ใหญ่ ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย แต่เมื่อเสด็จดำรงพระยศเป็นสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร สมเด็จบรมอัคราโชรสแห่งพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ซึ่งเสด็จดำรงราชมไหสุริยสมบัติเป็นพระเจ้าแผ่นดินใหญ่ในขณะนั้น กรมสมเด็จพระศรีสุลาลัย เป็นพระบรมราชชนนี ได้เสด็จประสูติ ณ พระราชวังเดิมซึ่งเป็นพระราชวังเก่าแห่งกรุงธนบุรี ณ ฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาฝ่ายตะวันตก พระองค์ทรงพระเจริญขึ้นโดยลำดับ ได้รับพระมหากรุณาและพระเมตตา แห่งสมเด็จพระบรมอัยกาธิราชแต่ทรงพระเยาว์มา จนตลอดถึงเวลาพระชนมายุครบกำหนดโสกันต์ ในขณะนั้นยังหาได้มีธรรมเนียมพระหน่อเจ้าต่างกรมโสกันต์ในพระบรมมหาราชวังดังในปัจจุบันนี้ได้ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ทรงพระมหากรุณา        ใน พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวซึ่งเป็นพระราชนัดดา จึงโปรดเกล้าฯ ให้โสกันต์ที่พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทในพระบรมมหาราชวังเป็นการพิเศษ แล้วก็ได้ทรงบรรพชาและอุปสมบทเฉพาะพระพักตร์สมเด็จพระบรมอัยกาธิราชในวัดพระศรีรัตนศาสดารามทั้งสองสมัย ครั้นเมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยได้เสด็จเถลิงถวัลยราชอุปราชาภิเษก เป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคล ในท้ายรัชกาลที่ ๑ นั้น พระองค์ได้ดำรงพระยศเป็นพระเจ้าหลานเธอ และได้รับราชการในพระบรมชนกนาถทั่วไป  เป็นที่ไว้วางพระราชหทัยอันสนิท ยิ่งกว่าพระราชโอรสพระองค์อื่น จนถึงสมัยเมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกเสด็จสวรรคต ทรงมอบสิริราชสมบัติพระราชทานแด่พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ในขณะนั้นมีหนังสือทิ้งกล่าวโทษ เจ้าฟ้าอภัยธิเบศร์ กรมขุนกษัตรานุชิต ผู้เป็นพระราชโอรสแห่งเจ้ากรุงธนบุรี ว่าจะคิดประทุษร้ายต่อพระองค์ เมื่อได้ทรงทราบแล้วก็ทรงพระราชดำริด้วยพระวิจารณปัญญาอันอุดม ทรงเห็นว่าพระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการผู้อื่น จะไม่มีผู้ใดกรอบด้วยสติปัญญาและกล้าหาญ ซื่อตรงจงรักภักดีต่อพระองค์ยิ่งขึ้นไปกว่าพระเชษฐโชรสพระองค์นี้ ถ้าจะให้ผู้อื่นชำระเนื้อความจะยืดยาว หรือเคลื่อนคลายไป ไม่เป็นการจับมั่นทั่วถึงโดยรอบครอบ ก็จะเป็นเหตุให้เกิดเสี้ยนศัตรูลุกลามมากไป หรือเป็นเชื้อสายให้เกิดอันตรายสืบไปภายหน้า ด้วยเหตุว่าในเวลานั้นข้าราชการซึ่งเป็นคนเก่าได้ทำราชการมาแต่ครั้งเจ้ากรุงธนบุรี ก็ยังมีปะปนอยู่โดยมาก ที่มีความนิยมนับถือต่อพระบารมีพระบรมเดชานุภาพในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทั่วหน้าก็จริงอยู่ แต่ที่มีความยินดีต่อพระบรมเดชานุภาพและพระบารมีของพระองค์ก็มีโดยมาก ที่มีความนิยมยินดีต่อบุญบารมีของเชื้อวงศ์เจ้ากรุงธนบุรี อันเนื่องประพันธ์ด้วยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก แล้วคิดเห็นว่าได้เจ้านายเช่นนั้นเป็นแผ่นดิน จะเป็นอันได้ฉลองพระเดชพระคุณทั้งเจ้ากรุงธนบุรีที่เป็นเจ้านายเก่า และพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกซึ่งเป็นเจ้านายใหม่ ทั้งสองฝ่ายดังนี้ก็มีอยู่โดยมาก ที่คิดเห็นแก่ประโยชน์ตนที่จะได้โอกาสทำการทุจริตเพราะจะได้เป็นผู้มีความชอบต่อผู้ซึ่งเป็นเจ้าแผ่นดินก็จะมีบ้าง ซึ่งเป็นการยากที่จะไว้วางพระราชหทัยในท่านผู้ใดผู้หนึ่ง ซึ่งจำเป็นจะต้องให้ประกอบพร้อมทั้งสติปัญญาและความกล้าหาญและความจงรักภักดีทั้งสามประการ จึงจะสามารถที่จะชำระเสี้ยนศัตรูทั้งนี้ให้สิ้นรากเหง้าระงับการจลาจลซึ่งจะเกิดขึ้นในพระนครในเวลาที่ตั้งพระราชธานีใหม่ ยังไม่มั่นคงสมบูรณ์ ฉะนั้น  ให้ความสงบเรียบร้อยตั้งอยู่ไม่เป็นที่เดือดร้อนแก่สมณจารย์ประชาราษฎรภายในพระนคร และไม่เป็นที่หมิ่นประมาทแก่ราชดัสกรภายนอกซึ่งจะคอยซ้ำเติมได้ เพราะทรงพระราชดำริเห็นการเป็นข้อสำคัญยิ่งใหญ่ดังนี้ จึงทรงมอบให้พระบรมเชษฐราโชรสอันทรงทราบพระราชหทัยชัดว่า ประกอบพร้อมด้วยคุณสามประการดังพรรณนามาแล้วนั้นให้ทรงพิจารณาข้อความทั้งปวง แต่ในเวลาซึ่งพระองค์ยังตั้งอยู่ในปฐมวัย ปีพรรษามายุเพียง ๒๓ พรรษา พระองค์ก็ได้ทรงพิจารณาตัดรอน เลือกเฟ้นได้ตัวผู้ซึ่งมีความเห็นอันวิปริตทั้งหลายทั่วทุกคนมิได้เหลือหลง แล้วนำความขึ้นกราบทูลแด่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกนาถ จึงโปรดให้ลงโทษระงับเหตุการณ์ทั้งปวงได้โดยเร็วพลัน การก็เรียบร้อยมิได้มีเหตุอันตรายแก่ความสงบเรียบร้อยเกิดขึ้นอย่างหนึ่งอย่างใดได้อีก เป็นความชอบอันยิ่งใหญ่ที่พระองค์ได้ทำไว้ในแผ่นดินเป็นปฐม เป็นการที่ได้ฉลองพระเดชพระคุณพระบรมชนกนาถ และได้ระงับอันตรายซึ่งจะเกิดมีแก่ประชาชนทั้งปวงทั่วหน้า ครั้นเมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยได้เสด็จเถลิงถวัลยราชปราบดาภิเษกแล้ว จึงได้พระราชทานพระสุพรรณบัฏเลื่อนพระเกียรติยศพระองค์ขึ้นเป็นพระเจ้าลูกเธอ กรมหมื่นเจษฏาธิบดินทร์ พระราชทานที่วังและเครื่องอุปโภคศฤงคารบริวารของหม่อมเหม็นให้เป็นบำเหน็จ ที่ได้ทำความชอบไว้ในแผ่นดิน

ก็แลในเวลารัชกาลมี่ ๒ นั้น พระองค์ได้ทรงรับราชกิจน้อยใหญ่ให้สำเร็จไปเป็นอันมากมิได้เว้นว่าง ในราชการซึ่งเป็นการประจำนั้นพระองค์ได้ทรงบังคับบัญชาราชการกรมท่าสิทธิ์ขาดทั่วไป แต่ในขณะนั้นราชการกรมท่าหาสู้จะมีคนต่างประเทศไปมาค้าขายมากนักไม่ ด้วยมิได้มีหนังสือสัญญาทางพระราชไมตรีกับนานาประเทศ ซึ่งจะเป็นเหตุให้มีราชการมากเหมือนปัจจุบัน พระราชทรัพย์ซึ่งจะจับจ่ายราชการแผ่นดินที่ได้แต่ค่านาอากรสมพัตสรในพื้นบ้านพื้นเมืองก็มีน้อย ไม่พอที่จะจ่ายราชการ เพราะฉะนั้นพระเจ้าแผ่นดินจึงต้องทรงแต่งสำเภา บรรทุกสินค้าออกไปค้าขายยังประเทศจีน เมื่อได้ประโยชน์กำไรก็พอได้มาเจือจานใช้ในราชการซึ่งจะรักษาพระนคร และการแต่งสำเภาออกไปค้าขายเมืองจีนนี้ ตกเป็นหน้าที่ในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงจัดการแต่งสำเภาหลวงตลอดมา จึงเป็นงานของพระองค์ที่จะต้องทรงขวนขวายหาพระราชทรัพย์ ถวายสมเด็จพระบรมชนกนาถที่จะทรงใช้จ่ายในราชกิจทั้งปวง ถึงแม้นว่าเป็นเวลาซึ่งการค้าขายมิได้บริบูรณ์ พระราชทรัพย์ซึ่งจะได้จากส่วนกำไรการค้าขายบกพร่องไม่พอจ่ายราชการ พระองค์ก็ทรงพระอุตสาหะขวนขวายมิให้เป็นที่ขุ่นเคืองฝ่าละอองธุลีพระบาทสมเด็จพระชนกนาถ ด้วยในเวลานั้นเจ้านายและข้าราชการ ที่มีทุนรอนพอจะแต่งสำเภาไปค้าเมืองจีนได้ ก็ได้แต่งสำเภาไปค้าขายอยู่ด้วยกันมา พระองค์ก็ได้ทรงแต่งสำเภาไปค้าขายในส่วนพระองค์อีกส่วนหนึ่งต่างหาก จึงถึงซึ่งความสมบูรณ์ด้วยทรัพย์พอที่จะฉลองพระเดชพระคุณ มิให้ขัดขวางในทางราชการได้ เป็นเหตุให้สมเด็จพระบรมชนกนาถทรงพระมหากรุณาแล้วตรัสประกาศออกพระนามพระองค์ว่าเจ้าสัวเสมอมา

ส่วนราชการงานโยธาก่อสร้าง ซึ่งพระองค์ได้ทำการฉลองพระเดชพระคุณในรัชกาลที่ ๒ นั้น พระองค์ได้ทรงทำการ ทั้งการที่จะป้องกันพระนครและการซึ่งจะเป็นที่เจริญพระราชหฤทัย เกื้อกูลแก่พระบรมสุขแห่งสมเด็จพระบรมชนกนาถทั้งสองประการ คือพระองค์ได้ทรงรับหน้าที่เป็นแม่การสร้างป้อมประโคนชัย ๑ ป้อมนารายณ์ปราบศึก ๑ ป้อมปราการ ๑ ป้อมกายสิทธิ์ ๑ และป้อมซึ่งตั้งอยู่ ณ เกาะกลางน้ำชื่อป้อมผีเสื้อสมุทร ทั้งป้อมนาคราชซึ่งตั้งอยู่ฝั่งตะวันตก ทั้งหกป้อม พระองค์เสด็จลงไปประทับอยู่ ณ เมืองสมุทรปราการ สร้างบังคับจัดการก่อสร้างป้อมทั้งปวงนี้เนืองๆมิได้ขาด เป็นราชกิจติดพระองค์อยู่ตลอดสิ้นทุติยรัชกาล ส่วนการซึ่งเป็นที่สำราญพระราชหฤทัย พระองค์ทรงเป็นแม่กองจัดการขุดสระทำสวนสร้างเก๋งน้อยใหญ่ในพระราชอุทยานเบื้องบุรพาแห่งพระมหามนเฑียร ซึ่งปรากฏในขณะนั้นว่าสวนขวา ให้เป็นที่เสด็จประพาสรื่นรมย์สำราญพระราชหฤทัยเป็นอันมาก ครั้นเมื่อปีมะโรงโทศกจุลศักราช ๑๑๘๒ ได้ข่าวพม่าข้าศึกยกล่วงเข้ามาตั้งยุ้งฉางอยู่ ณ ปลายด่านเมืองกาญจนบุรี เพื่อจะก่อการสงครามกับพระนคร พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงพระราชดำริปรึกษาพร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์ท่านเสนาบดี คิดจัดกองทัพออกไปตั้งรับข้าศึก ทรงพระราชดำริเห็นว่า พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงประกอบด้วยพระสติปัญญาชำนิชำนาญในการพิชัยสงคราม แกล้วกล้าสามารถอาจจะป้องกันอริราชดัสกร มิให้เข้ามาย่ำยีในพระราชอาณาเขตได้ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เสด็จยกพยุหโยธาหาญออกไปตั้งขัดทัพอยู่ ณ ตำบลปากแพรก เมืองกาญจนบุรี ตั้งทัพอยู่ถึงปีหนึ่ง ก็มิได้มีพม่าข้าศึกยกล่วงเข้ามาในพระราชอาณาเขต และในเวลาเมื่อเสด็จแรมทัพอยู่ ณ ปากแพรกนั้น พระองค์ก็ได้ทรงเป็นแม่กองจัดการส่งศิลาก้อนใหญ่ๆเข้ามาก่อเขาในพระราชอุทยานอยู่เสมอมิได้ขาด

อนึ่งพระองค์ทรงประกอบไปด้วยพระศรัทธาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนายิ่งนัก ได้ทรงสร้างพระพุทธปฏิมากรเป็นหลายพระองค์ และพระธรรมไตรปิฎกทั้งคำอรรถคำแปล มีมังคลัตถทีปนีแปล ยังปรากฏอยู่ ณ บัดนี้ เป็นต้น และทรงบำเพ็ญพระราชกุศล ทรงปฏิบัติเลี้ยงพระสงฆ์และมีธรรมเทศนาที่วังทุกวันมิได้ขาด และพระราชทานเงินเดือนให้อาจารย์บอกพระคัมภีร์พุทธวจนะแก่ภิกษุสามเณรเป็นอันมาก แล้วให้ตั้งโรงทานไว้ที่วังสำหรับเลี่ยงยาจกวณิพกทั่วหน้า  ถึงวันพระก็ทรงปล่อยสัตว์และแจกเงินคนที่สูงอายุและคนยากจนเป็นนิจมิได้ขาด เป็นพระราชกุศลนิพัทธทานเสมอมา ส่วนพระราชกุศลซึ่งเป็นการจรตามกาลสมัย พระองค์ก็ได้ทรงบำเพ็ญเนื่องๆ แต่ในคราวซึ่งปรากฏเป็นการใหญ่นั้น คือเมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงผนวชเป็นสามเณร พระองค์ได้ทรงแต่งกระจาดใหญ่อันงามวิจิตร เป็นเครื่องบูชาพระธรรมเทศนา แล้วเชิญเสด็จพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มาทรงเทศนาพระมหาเวสสันดรชาดกกัณฑ์มัทรี ทรงถวายเครื่องไทยธรรมกระจาดใหญ่ ในครั้งนั้นพระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการราษฏรทั้งปวง ก็พากันชื่นชมยินดีอนุโมทนาเป็นการเอกเกริกยิ่งใหญ่ในกิจการซึ่งพระองค์ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลทั้งปวงนี้ ความทราบถึงพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ก็ทรงอนุโมทนาและสรรเสริญเป็นอันมาก แล้วดำรัสว่า แต่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นแค่พระลูกเธอยังทำทานอยู่เนื่องนิจดังนี้ ควรที่พระองค์จะทรงบำเพ็ญทานให้ยิ่งกว่านั้นบ้าง จึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งโรงทานหลวงเลี้ยงพระสงฆ์และยาจกวณิพกทั้งปวง แล้วให้มีธรรมเทศนาแจกเงินคนชราพิการ เป็นแบบอย่างมาจนทุกวันนี้

อนึ่งพระองค์ปราศจากความมัจฉริยตระหนี่เหนียวแน่น โอบอ้อมอารีเจือจานทั่วไป ในพระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการ บรรดาที่เข้ามาเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทและอยู่ประจำราชการในพระบรมมหาราชวังก็ได้ไปรับพระราชทานอาหารที่วังพระองค์แทบจะทั่วหน้าทุกวันทุกเวลามิได้ขาด พระองค์ก็ถึงซึ่งความสรรเสริญและเป็นที่นิยมรักใคร่ ในพระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อยทั่วหน้า และในขณะเมื่อกรมพระราชวังบวรสถานมงคลยังดำรงพระชนม์อยู่นั้น เสด็จลงมาประทับพิพากษาคดีใหญ่ๆ และความรับสั่งที่โรงละครใกล้วัดพระศรีรัตนศาสดาราม พระองค์ก็ได้เสด็จอยู่ในที่ประชุมพิพากษาคดีทั้งปวง เป็นประธานด้วยพระองค์หนึ่งมิได้ขาด ครั้นเมื่อกรมพระราชวังบวรสถานมงคลเสด็จสวรรคตแล้ว พระองค์จึงได้ทรงรับตำแหน่งบังคับการสิทธิ์ขาดในกรมพระตำรวจ ว่าความรับสั่งทั้งปวงด้วยอาศัยเมตตาพระกรุณาของพระองค์ต่อราษฎรทั้งปวงทั่วหน้า และพระปรีชาญาณประกอบด้วยพระเดชานุภาพ ทรงพิจารณาไต่สวนข้อความของราษฎรให้แล้วไปโดยยุติธรรมโดยเร็ว เป็นที่ชื่นชมนิยมยินดีของประชาราษฎรทั้งปวง ต่างคนมีจิตคิดสวามิภักดิ์ต่อพระองค์เป็นอันมาก ทั้งเป็นที่เบาพระราชหฤทัยในพระบรมชนกนาถ มิได้มีพระราชกังวลอันใดให้เป็นที่ขุ่นเคืองพระราชกมล พระองค์ทรงอุตสาหะเสด็จเข้ามาเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ในเวลาซึ่งเสด็จพระราชดำเนินออกประทับ ณ ท้องพระโรงและพระบัญชร ทุกวันมิได้ขาดทุกเช้าค่ำ ทั้งเสด็จเข้ามาประจำว่าราชกิจการต่างๆตามตำแหน่งของพระองค์อยู่เนื่องนิจเช่นนั้น เมื่อถึงวัสสานฤดู ถึงเป็นเวลาฝนตกมากน้อยเท่าใดก็ดี พระองค์ก็มิได้รั้งรออยู่จนฝนหายให้เคลื่อนคลายจากเวลาราชการ จึงเป็นการลำบากแก่พระองค์ซึ่งทรงพระเสลี่ยงมาในที่โถง ต้องผลัดพระภูษาในเวลาเมื่อเสด็จมาประทับถึงที่ในพระบรมมหาราชวัง จึงทรงพระราชดำริแปลงแคร่กันยา ซึ่งเป็นของสำหรับข้าราชการใช้ในขณะนั้น ให้เป็นพระวอขนาดน้อยหุ้มด้วยผ้าขี้ผึ้ง สำหรับทรงเสด็จเข้าในพระบรมมหาราชวังในฤดูฝน ครั้นเมื่อได้เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติแล้ว จึงพระราชทานนามพระวอนั้นว่าวอพระประเวศวัง และได้เป็นแบบอย่างสำหรับพระบรมวงศานุวงศ์ซึ่งเป็นกรมทรงทำตามอย่างนั้นสำหรับทรงเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทสืบมา พระองค์ทรงพระอุตสาหะในราชกิจมิได้ย่อหย่อนถึงเพียงนี้ จึงเป็นที่ต้องพระราชอัธยาศัยเป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัยแห่งสมเด็จพระบรมชนกนาถยิ่งกว่าพระบรมวงศานุวงศ์พระองค์อื่นๆ ก็ได้ทรงบังคับกิจราชการทั้งปวงมากขึ้นเกือบจะทั่วไปในกาลครั้งนั้น

รับพระราชทานพรรณนาพระราชประวัติในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อยังมิได้เสด็จดำรงสิริราชสมบัติ สิ้นความเพียงนี้ ก็แลการที่พระองค์ทรงประพฤติในการพระราชกุศลทั้งปวงก็ดี ในพระราชกรณีย์กิจทั้งปวงก็ดี ซึ่งได้รับพระราชทานพรรณนามาแล้วนั้น ล้วนเป็นไปโดยธรรมจริยาสมจริยา ต้องตามพระพุทธภาษิต(ต่อนี้ไปแสดงอธิบายธรรมตามนิเขปบท)

คัดลอกโดย ม.ล.ชาญโชติ ชมพูนุท

 

๒๕ ธันวาคม ๒๕๕๘

แก้ไขล่าสุด ใน วันศุกร์ที่ 25 ธันวาคม 2015 เวลา 19:54 น.
 

พระธรรมเทศนาเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (๖)

พิมพ์ PDF

พระธรรมเทศนาเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (๖)

พระราชนิพนธ์ใน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

เทศนากัณฑ์ ที่ ๑

เรื่องพระราชสันติวงศ์

หมายเหตุ บทความตอนนี้ยาวหน่อยครัย พยายามตัดออกมากแล้ว สำหรับท่านที่อ่านและเกิดเบื่อก่อนที่จะเลิกอ่านขอให้ข้ามไปอ่านช่วยสุดท้ายก่อนจบ รับรองว่าไม่ผิดหวังครับ

บัดนี้จะได้รับพระราชทานถวายวิสัชนา ในพระไตรลักษณ์และลำดับพระราชสันตติวงศ์ แห่งพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ฉลองพระเดชพระคุณประดับพระปัญญาบารมี อนุโมทนาในพระราชกุศลบุญนิธีอนวัชกิจ ซึ่งสมเด็จพระบรมบพิตรพระราชสมภารเจ้าทรงบำเพ็ญเป็นญาติธรรมจริยาทักษิณานุปทานมัย ฉลองพระเดชพระคุณในสมเด็จพระบรมปิตุลา และพระบรมปัยกาธิราช พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว อันได้เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ สืบขัตติยสันตติวงศ์เนื่องมา นับเป็นรัชกาลที่สามในพระบรมราชวงศ์ปัจจุบันนี้  ด้วยทรงพระปรารภคำนวณวันตั้งแต่พระบรมมหาประสูติกาล แห่งพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งได้มีในวันจันทร์ แรม ๑๐ ค่ำ เดือน ๔ ปีมะแม นพศก จุลศักราช ๑๑๔๙ เป็นปีที่ ๖ ในรัชกาลเป็นปฐมมาจนถึงวันเสาร์ แรม ๔ ค่ำ เดือน ๕ ปีชวดยังเป็นนพศก จุลศักราช ๑๒๔๙ นับวารดิถีตามสุริยคติกาลบรรจบครบรอบปีเต็มบริบูรณ์มิได้ยิ่งหย่อน เป็นอภิลักขิตกาลพิเศษ สมควรที่พระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการ ซึ่งได้พึ่งพระบารมีมาแต่กาลก่อน และที่ได้รับประโยชน์อันเนื่องมาแต่พระบรมเดชานุภาพและพระราชอุตสาหะของพระองค์ คือได้ทรงปกป้องพระราชอาณาเขตขอบขัณฑสีมา ให้อยู่เย็นเป็นสุขดำรงเป็นเอกราชนครมาถึง ๒๗ ปีเป็นต้น แล้วบำเพ็ญการกุศลฉลองพระเดชพระคุณ โดยความชื่นชมยินดีตามควรแก่กาลสมัย จึงมีพระบรมราชองค์การโปรดเกล้าฯ ให้จัดการบำเพ็ญพระราชกุศลส่วนพิเศษอันนี้ ณ.พระที่นั่งสุทไธสวรรย์ปราสาท อันเป็นราชกุฏาคารสถาน ซึ่งพระองค์ได้ทรงสถาปนาขึ้นไว้เป็นพระเกียรติยศอยู่ในแผ่นดิน โปรดให้เชิญพระพุทธปฏิมากรนาคสวาดองค์ ๑  พระพุทธปฏิมากรประจำพระชนมพรรษาวันองค์ ๑ พระชนมพรรษาสมปฏิมากร ๖๕ พระองค์ มาประดิษฐานเป็นที่ทรงนมัสการ แล้วโปรดเกล้าฯ ให้เชิญพระบรมอัฐิพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวมาสถิตในบุษบกทองคำ ประดิษฐานเหนือพระแท่นแว่นฟ้ากาญจนามัย แล้วโปรดให้นิมนต์พระสงฆ์ราชาคณะฐานานุกรมเปรียญ ๑๐๐ รูป แบ่งเป็น สามภาค ภาคหนึ่งเท่าจำนวนปีซึ่งได้เสด็จดำรงสิริราชสมบัติ พระราชทานผ้าไตรจีวรสลับแพร ผ้ากราบแพรต่วนตีตราแสดงการพระราชกุศล ๒๗ รูป  ภาคหนึ่ง เท่าพระชนมพรรษาซึ่งยังไม่ได้เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ และพระราชทานไตรจีวรผ้าล้วน ผ้ากราบแพรต่วน ๓๘ รูป อีกภาคหนึ่งเท่าพรรษากาลนับแต่หน้าปีเสด็จสวรรคตมาจนกาลบัดนี้  พระราชทานไตรจีวรและผ้ากราบผ้าล้วน ๓๕ รูป รวมสามภาคครบพระสงฆ์ ๑๐๐ รูป สดัปกรณ์พระบรมอัฐื สวดพระพุทธมนต์ เวลาเช้ารับประทานฉัน พระราชทานเครื่องไทยธรรมต่างๆ ทั้งของหลวงและของพระบรมวงศานุวงศ์ ซึ่งทรงจัดมาถวายช่วยการพระราชกุศลแล้วสดัปกรณ์พระสงฆ์ ๗๐๐ รูป มีพระธรรมเทศนาสามกัณฑ์ มีการมหรสพสมโภชพระบรมอัฐิตามสมควรแก่กาลสมัย และพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้พระเจ้าราชวงศ์เธอ สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ พระเจ้าน้องยาเธอ  สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ พระเจ้าลูกเธอและพระองค์เจ้า หม่อมเจ้า ซึ่งเป็นพระเจ้าหลานเธอและหลานหลวง ในรัชกาลที่สามนั้น ได้บำเพ็ญพระราชกุศลเป็นการฉลองพระเดชพระคุณ ในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวตามควรแก่ความประสงค์ ทรงพระราชอุทิศส่วนพระราชกุศลทั้งนี้ ถวายแด่สมเด็จพระบรมราชบิตุลาและพระบรมปัยกาธิราช เป็นการฉลองพระเดชพระคุณในอภิลักขิตสมัยในปัจฉิมกาล ด้วยประการฉะนี้

*เนื่องจากเทศนากัณฑ์ที่ ๑ เรื่องพระราชสันติวงศ์  มีความยาวมาก จึงขออนุญาต ไม่คัดลอกมาทั้งหมด เกรงว่าจะเสียเวลามาก จึงขออนุญาต คัดลอกมาเฉพาะส่วนที่เห็นว่าสำคัญเท่านั้น

บัดนี้จะได้รับพระราชทานพรรณนาความ ตามลำดับในพระราชสันติวงศ์ อันเนื่องมาแต่องค์สมเด็จพระปฐมบรมมหาปัยกาธิบดีอันเป็นบรรพบุรุษต้นพระบรมราชวงศ์ อันได้ประดิษฐานและดำรงกรุงรัตนโกสินทรมหินทรายุธยา ได้ประดิษฐานพระบรมวงศ์สืบเนื่องมาโดยความเจริญแพร่หลาย เป็นพระบรมราชวงศ์อันใหญ่ มีพระเจ้าแผ่นดินและพระบรมวงศานุวงศ์  ซึ่งได้เสด็จดำรงแผ่นดินและได้รับราชการ โดยกำลังพระสติปัญญาและกำลังพระกาย ปราบปรามและป้องกันสรรพความร้ายและภัยพิบัติ อันจะมาตกต้องแก่ สมณาจารย์       ประชาราษฎร อันเป็นชาวสยามและชาวต่างประเทศ ซึ่งได้อาศัยอยู่ในพระราชอาณาเขตพึ่งพระบารมี ได้อยู่เย็นเป็นสุขสืบมา ล่วงกาลได้กว่าร้อยปีเป็นกำหนด ควรที่มหาชนจะนับถือสักการบูชาแล้วตั้งจิตคิดฉลองพระเดชพระคุณโดยความกตัญญูกตเวที ให้พระบรมราชประเพณีวงศ์ดำรงยืนยาวสืบไปในภายหน้า

สมเด็จพระปฐมบรมมหาปัยกาธิบดีพระองค์นั้น  ได้เสด็จอุบัติในมหามาตยตระกูลโบราณในครั้งกรุงทวาราวดีศรีอยุธยา ได้ทำราชการสืบตระกูลตั้งนิวาสนสถานอยู่ในกำแพงพระนคร พระองค์มีพระโอรสพระธิดาซึ่งร่วมพระมารดาเดียวกันห้าพระองค์

๑.กรมสมเด็จพระเทพสุดาวดี อันเป็นต้นเชื้อวงศ์แห่งเจ้านายวังหลัง เพราะเป็นมารดาของกรมพระราชวังบวรสถานพิมุข และเจ้าฟ้ากรมหลวงธิเบศรบดินทร เจ้าฟ้ากรมหลวงนรินทรรณเรศ ซึ่งยังมีพระนัดดา ปนัดดา ปรากฏอยู่จนกาลวันนี้

๒.พระเจ้าขุนรามณรงค์ ซึ่งสื้นพระชนม์เสียแต่ครั้งกรุงทวาราวดีศรีอยุธยา

๓.กรมสมเด็จพระศรีสุดารักษ์ อันเป็นต้นเชื้อวงศ์ของเจ้านายอีกหมู่หนึ่ง ซึ่งเรียกตามคำสามัญว่า เจ้ากรมหลวงกรมขุน เพราะเป็นพระมารดาของเจ้าฟ้ากรมหลวงเทพหริรักษ์ เจ้าฟ้ากรมหลวงพิทักษมนตรี เจ้าฟ้ากรมขุนอิศรานุรักษ์ ซึ่งยังมีพระนัดดาปนัดดา ปรากฏอยู่จนกาลทุกวันนี้โดยมาก และพระองค์เป็นมารดาของกรมสมเด็จพระศรีสุริเยนทรามาตย์ ซึ่งเป็นสมเด็จพระบรมราชชนนีในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว อันยังมีพระราชนัดดาปนัดดาปรากฎอยู้อีกแผนกหนึ่งด้วย

๔.พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก

๕.กรมพระราชวังบวรมหาสุรสีหนาท ซึ่งเป็นต้นเชื้อวงศ์ของเจ้านายหมู้หนึ่งซึ่งเรียกโดยคำสามัญว่าเจ้านายวังหน้าพระพุทธยอดฟ้าฯ

*สมเด็จพระปฐมบรมมหาปัยกาธิบดี มีพระธิดา อันประสูติด้วยพระมารดาอื่น ปรากฏนามในภายหลังว่ากรมหลวงนรินทรเทวี เพราะได้กรมหมื่นนรินทรพิทักษ์เป็นพระภัสดา  ก็นับเป็นต้นตระกูลแห่งเจ้านายสืบมาอีกตระกูลหนึ่ง ซึ่งเรียกว่าเป็นต้นตระกูลเจ้าครอกวัดโพ

*โอรสสมเด็จพระปฐมบรมมหาปัยกาธิบดีอีกพระองค์หนึ่งนั้น คือเจ้าฟ้ากรมหลวงจักรเจษฎาต่างพระมารดากับกรมหลวงนรินทรเทวี เป็นต้นตระกูลเจ้านายอีกพวกหนึ่งซึ่งเรียกว่าพวกเจ้ากรมหลวงจักรเจษฎา

จึงควรนับว่าบรมราชตระกูลอันสืบมาแต่สมเด็จพระปฐมบรมมหาปัยกาธิบดี ได้มาประดิษฐานเป็นขัตติยราชตระกูลในกรุงรัตนโกสินทรมหินทรายุธยานี้ เป็นเจ็ดสายเจ็ดพวกด้วยประการฉะนี้

บัดนี้จะได้พระราชทานพรรณนาลำดับพระบรมราชวงศ์เฉพาะแต่สายที่ตรงลงมาจากพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก

พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกได้กรมสมเด็จพระอมรินทรามาตย์ (พระธิดาแห่งสมเด็จพระรูปศิรโสภาคมหานาคนารี อันมีนิวาสนสถานอยู่พาหิรุทยานแขวงเมืองสมุทรสงคราม เรียกว่าตำบลบางช้าง) เป็นพระราชเทวี แต่ยังไม่ได้เถลิงถวัลยราชสมบัติ มีพระราชโอรสพระราชธิดาถึงสิบพระองค์ พระองค์ที่ ๑ พระองค์ที่ ๒ สิ้นพระชนม์เสียแต่กรุงทวาราวดียังมิได้แตกทำลาย  พระองค์ที่ ๘ พระองค์ที่ ๙ และพระองค์ที่ ๑๐ สิ้นพระชนม์เสียแต่ยังทรงพระเยาว์

.พระธิดาองค์ที่ ๓  สมเด็จพระปฐมบรมอัยยิกาเธอ ได้เป็นพระชายาเจ้ากรุงธนบุรี มีพระโอรสนามว่าเจ้าฟ้าสุพันธวงศ์  แล้วเป็นเจ้าฟ้าอภัยธิเบศ  กรมขุนกษัตราน่ชิต ภายหลังต้องถอดเรียกชื่อเดิมว่าหม่อมเหทน

พระราชโอรสองค์ที่ ๔ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย

พระธิดาองค์ที่ ๕  สมเด็จพระเจ้าอัยยิกาเธอเจ้าฟ้ากรมหลวงศรีสุนทรเทพ

พระราชโอรสองค์ที่ ๖ กรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์ อันนับเป็นต้นตระกูลแห่งพระเจ้าบวรวงศ์เธอชั้นสอง

พระธิดาองค์ที่ ๗ สมเด็จพระเจ้าอัยยิกาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงเทพยวดี

*พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกยังมีพระราชบุตร พระราชบุตรี อันเกิดด้วยพระสนมเป็นพระราชบุตร ๑๓ พระองค์ พระราชบุตรี ๒๐ พระองค์ และเจ้านายทุกพระองค์ก็นับว่าเป็นต้นตระกูลของพระองค์เจ้า หม่อมเจ้า หม่อมราชวงศ์ อีกชั้นหนึ่ง ซึ่งนับว่าเป็นพระบวรวงศ์วงศ์เธอชั้นที่สาม และพระวรวงศ์เธอ และหม่อมเจ้าชั้นที่ ๑ มีหม่อมราชวงศ์หม่อมหลวง สืบประพันธ์กันเป็นอันมาก

บัดนี้จะได้รับพระราชทานพรรณนา ในพระราชโอรสพระราชธิดาของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย

พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย และ กรมสมเด็จพระศรีสุลาลัย ซึ่งเป็นสมเด็จพระบรมราชชนนี  มีพระราชโอรสพระองค์ใหญ่  คือพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว อันได้เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติสืบสนองพระองค์มา

พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย มีพระบรมราชเทวีพระองค์หนึ่ง ซึ่งปรากฏพระนามในภายหลังว่ากรมสมเด็จพระศรีสุริเยนทรามาตย์ มีพระราชโอรสพระองค์ที่ ๑ สิ้นพระชนม์เสียแต่แรกประสูติ

พระราชโอรสองค์ที่ ๒ คือพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว อันได้เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ (ต่อจากพระนั่งเกล้า)  มีพระราชโอรสพระราชธิดาเป็นเจ้าฟ้าแต่เดิมห้าพระองค์ คือสมเด็จพระเจ้าพียาเธอเจ้าฟ้าโสมนัส สิ้นพระชนม์เสียแต่วันประสูติ  และสมเด็จบรมบพิตรพระราชสมภารเจ้าซึ่งได้เสด็จเถลิงถวัลยราขสมบัติ ดำรงพระบรมราชวงศ์อยู่ในปัจจุบันนี้นับเป็นที่สอง สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอเจ้าฟ้าจันทรมณฑลโสภณภควดีกรมหลวงวิสุทธิกษัตริย์ นับเป็นที่สาม สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอเจ้าฟ้าจาตุรนต์รัศมี กรมพระจักรพรรดิพงศ์ นับเป็นที่สี่ สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภาณุรังสีสว่างวงศ์ กรมพระภาณุพันธุวงศ์วรเดช นับเป็นที่ห้า และมีพระราชโอรสพระราชธิดาเป็นเจ้าฟ้า ภายหลังอีกสองพระองค์ มีพระราชบุตร ๓๕ พระองค์ พระราชบุตรี ๔๒ พระองค์

พระราชโอรสองค์ที่ ๓ ของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย และกรมสมเด็จพระศรีสุริเยนทรามาตย์ คือ พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งมี พระราชบุตร พระราชบุตรี นับว่าเป็นพระเจ้าบวรวงศ์เธอชั้นที่ ๔

บัดนี้จะได้รับพระราชทานพรรณนาความแต่เฉพาะพระบาทสมเด็จจพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งเป็นเหตุอันสมเด็จบรมบพิตรพระราชสมภารเจ้าทรงพระปรารภ เพื่อบำเพ็ญพระราชกุศลฉลอง พระเดชพระคุณพระองค์นั้น ได้รับพระราชทานพรรณนาพระบรมราชวงศ์ฝ่ายพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ซึ่งเป็นสมเด็จพระบรมชนกนาถมาแล้ว บัดนี้จะได้รับพระราชทานพรรณนาลำดับพระวงศ์ ฝ่ายกรมสมเด็จพระศรีสุลาลัย ซึ่งเป็นสมเด็จพระบรมราชชนนี เพื่อให้เป็นที่ทรงระลึกถึงพระคุณแห่งบรรพบุรุษ และเป็นที่ทรงสังเวชตามพระบรมราชประสงค์ก็แลลำดับเชื้อวงศ์ซึ่งสืบเนื่องกันมาอย่างไรนั้น ท่านผู้ซึ่งเป็นใหญ่ในตระกูลแต่ก่อนๆมักจะปิดป้องมิให้ผู้น้อยในตระกูลทราบ ด้วยรังเกียจว่าจะไปออกนามเล่นในเวลาไม่เหมาะสม ในที่ไม่ควรบ้าง กลัวว่าผู้น้อยจะกำเริบเย่อหยิ่ง ว่าตัวเนื่องประพันธ์สนิทในท่านผู้มีเกียรติยศอันยิ่งใหญ่ในแผ่นดิน แล้วประพฤติการทุจริตผิดๆไปต่างๆด้วยความทะนงใจบ้าง ครั้นเมื่อท่านผู้ใหญ่ล่วงไปแล้ว ผู้น้อยในตระกูลนั้นก็ไม่ได้ทราบเชื้อสายว่ามาอย่างไร ไม่สามารถที่จะเล่าบอกกันจ่อๆไปได้ ดังนี้เป็นคติโบราณเคยประพฤติมาโดยมาก ก็แลราชินิกุลข้างฝ่ายกรมสมเด็จพระศรีสุลาลัย อันเป็นสมเด็จพระบรมราชชนนี พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น เมื่อไต่ถามดูก็ไม่ได้ความตลอดถ้วนถี่ มีเค้ามูลเพียงดังจะได้รับพระราชทานพรรณนาสืบไปนี้มีความว่า พระชนกของกรมสมเด็จพระศรีสุลาลัยนี้ มีนามบุญจัน ได้ทำราชการแผ่นดินเป็นที่พระยานนทบุรีศรีมหาอุทยาน ตั้งเคหสถานอยู่ในที่ซึ่งได้สถาปนาเป็นวัดเฉลิมพระเกียรติ ณ เมืองนนทบุรี มีภรรยาใหญ่ซึ้งเป็นพระชนนีกรมสมเด็จพระศรีสุลาลัย มีนามว่าเพ็ง มีแต่พระธิดาองค์เดียว คือกรมสมเด็จพระศรีสุลาลัย ได้ทำราชการในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้า แต่ยังเป็นสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เสด็จประทับอยู่ ณ บ้านหลวงเดิมแห่งพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ครั้นเมื่อเสด็จลงไปประทับอยู่ที่พระราชวังเดิม ก็ตามเสด็จลงไป ได้ประสูติพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ณ.พระราชวังเดิม แล้วมีพระราชโอรสอีกสองพระองค์ ทรงพระนามว่า พระองค์เจ้าป้อม กับพระองค์เจ้าหนูดำ  ทั้งสองพระองค์สิ้นพระชนม์แต่ก่อนแล้ว ครั้นเมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยได้เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ ก็เสด็จเข้ามาประทับในพะบรมมหาราชวัง ได้ดำรงที่พระสนมเอก บังคับการห้องเครื่อง ชนทั้งปวงออกพระนามว่าเจ้าคุณ และได้เสด็จออกไปประทับอยู่ที่พระราชวัง แห่งพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวแต่ยังเป็นกรมนั้นบ้างเป็นครั้งคราว จนพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ

พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวมี พระราชบุตร พระราชบุตรี อันเกิดด้วยพระสนมตั้งแต่ยังมิได้เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติโดยมาก ครั้งเมื่อเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติแล้ว ก็มีพระราชบุตร พระราชบุตรี อีกเพียงห้าปีเป็นกำหนด แล้วก็มิได้มีสืบไป พระราชบุตรองค์เป็นปฐม ทรงพระนามพระองค์เจ้ากระวีวงศ์ ถัดนั้นมาเป็นพระราชบุตรยังไม่มีพระนาม เรียกแต่ว่าพระองค์เจ้าหญิงใหญ่ พระองค์เจ้าทั้งสองพระองค์นี้ มีพระชนม์พรรษาเพียง ๙ ปี ๑๐ ปี          ก็สิ้นพระชนม์เสียแต่ยังมิได้เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ  ที่ ๓ เป็นพระราชบุตรี ทรงพระนามพระองค์เจ้าวิลาศ เป็นพระปิยราชธิดา ภายหลังมาพระราชทานอิสริยยศเป็นกรมหมื่นอับศรสุดาเทพ ได้ทรงรับราชการเป็นพนักงานพระสุคนธ์ ต่อพระองค์เจ้าวงศ์ซึ่งได้ทรงทำมาแต่ก่อน และเป็นผู้กำกับแจกเบี้ยหวัดฝ่ายในครั้นเมื่อประประชวรสิ้นพระชนม์ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระโสกาลัยเป็นอันมาก โปรดให้ตั้งพระเมรุ ณ.ท้องสนามหลวง พระราชทานเพลิงเป็นการใหญ่ ที่ ๔ เป็นพระราชบุตร ทรงพระนามพระองค์เจ้าชายดำ สิ้นพระชนม์เสียแต่ยังทรงพระเยาว์ ที่ ๕ พระราชบุตรี มีนามพระองค์เจ้าดวงเดือน  ในรัชกาลที่ ๔ ได้เป็นพนักงานพระสุคนธ์ เป็นหัวหน้าในพระเจ้าราชวรวงศ์เธอฝ่ายใน สิ้นพระชนม์ในรัชกาลนี้ ที่ ๖ พระองค์เจ้าหญิงสิ้นพระชนม์เสียแต่เยาว์ ที่ ๗ พระราชบุตรทรงพระนามพระองค์เจ้าสิริ แล้วโปรดให้เป็นกรมหมื่นมาตยาพิทักษ์ ได้บังคับบัญชากรมช่างมุก ทำบานวัดพระเชตุพนและการอื่นๆและได้ทรงเป็นนายด้านทำการทั่วไปในพระอุโบสถวัดพระเชตุพน และได้ทรงเป็นนายด้านทำการวัดหนังจนแล้วเสร็จ ครั้นเมื่อสิ้นพระชนม์ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระอาลัยเป็นอันมาก ด้วยเป็นพระราชโอรสองค์ใหญ่ในขณะนั้น จึงโปรดเกล้าฯให้จัดการปลูกพระเมรุ พระราชทานเพลิง ณ ท้องสนามหลวงเป็นการใหญ่ แล้วให้เชิญอัฐิบรรจุในพระโกศทองคำมาประดิษฐานไว้ ณ ตำหนักกรมสมเด็จพระศรีสุลาลัยในพระบรมมหาราชวัง ครั้นภายหลัง เมื่อสมเด็จบรมบพิตรพระราชสมภารเจ้าได้เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ จึงโปรดใช้ช่างทำพระโกศจำหลักลายลงยาราชาวดีเปลี่ยนถวายใหม่ แล้วก็ปรากฏพระนามว่าสมเด็จพระบรมมาตามหัยกาเธอ มาจนบัดนี้ สมเด็จพระบรมราชมาตามหัยกาเธอพระองค์นั้น มีพระโอรสและพระธิดาหลายพระองค์ ในเวลาที่พระบิดาสิ้นพระชนม์นั้นยังทรงพระเยาว์ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวซึ่งเป็นพระอัยกาโปรดให้เสด็จมาอยู่ในพระบรมมหาราชวัง  พระองค์ใหญ่ได้รับราชการฉลองพระเดชพระคุณในที่ใกล้ชิด ตามเสด็จอย่างพระเจ้าลูกเธอตลอดมา พระโอรสพระองค์ใหญ่ สมเด็จพระบรมอัยกาพระราชทานนามว่ามงคลเลิศ ในรัชกาลที่ ๔ ก็โปรดให้เป็นพระวงศ์เธอพระองค์เจ้า ทรงพระเมตตาเป็นอันมาก พระองค์เจ้ามงคลเลิศ มุตร และบุตรี ได้รับราชการฉลองพระเดชพระคุณหลายคน มีพระยาไชยสุรินทร์เป็นต้น พระธิดาพระองค์ใหญ่ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาใช้สอยสนิท โปรดว่าอยู่งานพัศดี จึงพระราชทานนามว่ารำเพย ภายหลังมาได้เป็นสมเด็จพระบรมราชเทวีในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ปรากฏพระนามว่าสมเด็จพระนางเจ้ารำเพยภมราภิรม มีพระบรมราชโอรสสามพระองค์ และพระธิดาองค์หนึ่ง ซึ่งได้รับพระราชทานออกพระนามมาแต่เบื้องต้นแล้วนั้น พระองค์ได้ดำรงอยู่ในตำแหน่งพระอัครมเหสีถ้วน ๙ ปี เป็นกำหนด ครั้นเมื่อเสด็จสวรรคตแล้ว ก็ได้ทรงรับพระเกียรติยศยิ่งใหญ่ในการพระศพตามอย่างสมเด็จพระบรมราชเทวี ครั้นในรัชกาลปัจจุบันนี้ จึงทรงสถาปนาพระอัฐิ เป็นกรมสมเด็จพระเทพศิรินทรามาตย์ สมเด็จพระบรมราชชนนี ตามโบราณราชประเพณีสืบมา ที่ ๓ เป็นพระธิดา ทรงพระนามหม่อมเจ้าชมชื่น ที่ ๔ เป็นพระธิดา ได้สนองพระเดชพระคุณมาแต่ยังทรงพระเยาว์จนปัจจุบันนี้ มีความชมเป็นอันมาก จึงพระราชทานพระสุพรรณบัฎให้เป็นพระสัมพันธวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพื้นพงศ์ประยูรวงศ์สนิท พระธิดาที่ ๕ มีนามหม่อมเจ้าประสงค์สรรพ์ พระธิดาที่ ๖ มีนามหม่อมเจ้าสารพัดเพชร พระธิดาที่ ๗ นามหม่อมเจ้าพรรณราย ได้ทำราชการฉลองพระเดชพระคุณในรัชกาลที่ ๔  พระโอรส องค์ที่ ๘ นามเดิม หม่อมเจ้าฉายเฉิด ทรงผนวชได้แปลพระปริยัติธรรมได้แปดประโยค ดำรงยศเป็นหม่อมเจ้าพระเปรียญ ครั้นเมื่อลาผนวชแล้ว พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ทรงพระมหากรุณาพระราชทานหีบทองเป็นเครื่องยศ ครั้นถึงรัชกาลปัจจุบันนี้ พระราชทานพระสุพรรณบัฏให้เป็นพระองค์เจ้า ภายหลังเลื่อนเป็นพระสัมพันธวงศ์เธอ กรมหมื่นนฤบาลมุขมาตย์ พระโอรสองค์ที่ ๙ พระองค์เจ้าประเสริฐศักด์ องค์ที่ ๑๐ พระบุตรตรี สิ้นพระชนม์ องค์ที่ ๑๑ พระองค์เจ้าโกเมน องค์ที่ ๑๒ พระองค์เจ้าคเนจร  องค์ที่ ๑๓  องค์ที่ ๑๔  และองค์ที่ ๑๕ สิ้นพระชนม์ องค์ที่ ๑๖ พระองค์เจ้าลัดดาวัลย์ องค์ที่ ๑๗ พระองค์เจ้าเสงี่ยม องค์ที่ ๑๘ สิ้นพระชนม์ ๑๙ พระองค์เจ้าแสงจันทร์ องค์ที่ ๒๐ พระองค์เจ้านิเวศ องค์ที่ ๒๑ พระองค์เจ้าชุมสาย องค์ที่ ๒๒ สิ้นพระชนม์  องค์ที่ ๒๓ พระองค์เจ้าสุบงกช  องค์ที่ ๒๔ องค์ที่ ๒๕  สิ้นพระชนม์ องค์ที่ ๒๖ เดิมเป็นพระเจ้าราชวรวงศ์เธอ กรมสมเด็จพระสุดารัตราชประยูร  องค์ที่ ๒๗ พระองค์เจ้าเปียก องค์ที่ ๒๘สิ้นพระชนม์ องค์ที่ ๒๙ พระองค์เจ้าอุไร องค์ที่ ๓๐ พระองค์เจ้ากินรี องค์ที่ ๓๑ สิ้นพระชนม์ องค์ที่ ๓๒ พระองค์เจ้าชาย อรรณพ องค์ที่ ๓๓ –๔๒ สิ้นพระชนม์ องค์ที่ ๔๓ พระองค์เจ้าจามรี องค์ที่ ๔๔ สิ้นพระชนม์ องค์ที่ ๔๕ พระองค์เจ้าอมฤตย องค์ที่ ๔๖ พระองค์เจ้าสุบรรณ องค์ที่ ๔๗ สิ้นพระชนม์ องค์ที่ ๔๘ พระองค์เจ้าสิงหรา องค์ที่ ๔๙ พระองค์เจ้าชมพูนุท  ในรัชกาลที่ ๔ ได้รับราชการเบ็ดเตล็ดต่างๆเป็นกรมหมื่นเจริญผลพูนสวัสดิ์ ครั้นในรัชกาลปัจจุบันได้ทรงบังคับการในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม และพระคลังพิมานอากาศ และมหาดเล็กช่าง เป็นนายด้านทำวัดเทพศิรินทราวาส และปฏิสังขรณ์วัดราชโอรส แล้วโปรดให้เลื่อนเป็นกรมขุน มีพระโอรสทรงผนวชได้แปลพระปริยัติธรรม ดำรงสมณศักดิ์เป็นหม่อมเจ้าเปรียญ แล้วภายหลังได้เลื่อนสมณศักดิ์เป็นหม่อมเจ้าพระราชาคณะ มีนามว่า หม่อมเจ้าพระสถาพรพิริยพรต องค์ที่ ๕๐ สิ้นพระชนม์  องค์ที่ ๕๑ พระองค์เจ้าบุตรี ได้รับราชการเป็นที่สนิทชิดใช้มาแต่ในรัชกาลที่ ๓ ได้ทรงรักษาประแจพระราชวัง ภายหลังได้ทรงบังคับการในพนักงานนมัสการและกำกับแจกเบี้ยหวัด นับว่าเป็นพระราชบุตรีที่สุดในรัชกาลนั้น เป็นจำนวนพระราชบุตร ๒๓ พระองค์ พระราชบุตรี ๒๘ พระองค์ รวม ๕๑ พระองค์ ดังนี้ฯ

ก็แลพระราชบุตร พระราชบุตรี ในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทั้ง ๕๑ พระองค์นี้ มีนามปรากฏว่าพระเจ้าราชวรวงศ์เธอ มีพระโอรสและพระธิดา สืบๆลงไป นับว่าเป็นเจ้านายแผนกหนึ่ง ซึ่งเรียกโดยสามัญว่าเจ้านายพวกราชวงศ์ ด้วยประการฉะนี้ ก็แลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น ถึงว่าไม่ได้มีพระราชโอรสและพระราชธิดาเป็นเจ้าฟ้า และไม่ได้สืบสันตติวงศ์เป็นพระเจ้าแผ่นดินก็ดี ก็ยังมีพระราชโอรสที่ได้ดำรงพระเกียรติยศใหญ่ เป็นสมเด็จพระบรมราชมาตามหัยยกาเธอ และมีพระธิดาเป็นกรมสมเด็จพระสุดารัตนราชประยูร มีพระราชนัดดาเป็นสมเด็จพระบรมราชเทวีถึงสองพระองค์ เป็นพระอัครชายาสามพระองค์ และมีพระราชปนัดดาเป็นเจ้าฟ้า แล้วและจะเป็นต่อไปอีกถึง ๑๓ พระองค์ดังนี้ฯ

บัดนี้จะได้รับพระราชทานพรรณนาข้อความ ซึ่งควรเป็นที่ยินดีชื่นชมของพระบรมวงศานุวงศ์ บรรดาซึ่งปรากฏว่าเป็นพวกราชวรวงศ์และข้าราชการทั้งปวง อันมีความนิยมยินดีระลึกถึงพระเดชพระคุณในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ตามความที่เป็นจริงประการใดนั้น และเมื่อสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ ดำรงตำแหน่งแผ่นดินสืบเนื่องต่อพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น ทรงพระดำริว่าพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จดำรงราชสมบัติมาถึง ๒๗ ปี มีข้าราชการที่นิยมยินดีต่อพระองค์มาแต่เดิมก็มาก และข้าราชการในภายหลังก็เป็นคนเกิดในรัชกาลของพระองค์ทั้งสิ้น ย่อมจะเป็นที่นับถือติดมั่นในใจอยู่ทั่วหน้า บางทีจะมีความเดือดร้อนรำคาญ ว่าราชตระกูลของพระบามสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้นเสื่อมสูญไปทุกที ก็จะเป็นที่ปั่นป่านรำค่ญใจไปต่างๆจึงทรงพระราชดำริจะรำงับข้อรำคาญนั้นให้เสื่อมหาย จึงได้ทรงรับสมเด็จพระนางเจ้าโสมนัศวัฒนาวดีเป็นพระบรมราชเทวี ก็ได้มีพระราชโอรสสมดังพระราชประสงค์ แต่ไม่ดำรงพระชนม์อยู่ได้ทั้งพระโอรสและพระชนนี จึงได้ทรงรับกรมสมเด็จพระเทพศิรินทรามาตย์ เป็นสมเด็จพระบรมราชเทวีต่อมา ก็ได้มีพระราชโอรสพระราชธิดาสมดังพระราชประสงค์ เพราะพระราชดำริดังนี้ จึงได้ดำรัสประกาศยกย่องสมเด็จพระบรมราชโอรสพระราชธิดาทั้ง ๔ พระองค์นี้ ว่าเป็นพวกราชวรวงศ์เนืองๆต่อมา ก็แลการซึ่งเป็นเช่นนี้  ก็นับว่าเป็นการอัศจรรย์  ด้วยพระบรมราชโอรสพระราชธิดาทั้ง ๔ พระองค์นั้น นับว่าเป็นพระราชวรวงศ์แห่งพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ถึงสามสายสามทาง คือ ถ้าจะนับตามลำดับพระบรมราชวงศ์  ซึ่งตรงมาแต่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็นับว่าพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นสมเด็จพระบรมบิตุลาธิราช ท่านทั้ง ๔ พระองค์นี้ เป็นพระราชภาคิไนยทางหนึ่ง ถ้าจะนับฝ่ายสมเด็จพระบรมราชมาตามหัยกาเธอ และกรมสมเด็จพระเทพศิรินทรามาตย์ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็นับว่าเป็นสมเด็จพระบรมราชปัยกาธิบดี ทั้ง ๔ องค์นี้นับว่าเป็นพระราชปนัดดาทางหนึ่ง ถ้าจะนับข้างฝ่ายเจ้าจอมมารดาแห่งสมเด็จพระบรมราชมาดามหัยกาเธอ ซึ่งสืบเนื่องมาแต่น้องนางของพระชนนีในกรมสมเด็จพระศรีสุลาลัย ก็นับเนื่องอยู่ในประพันธ์ ไม่ห่างไกลกว่าทางที่สองนัก ควรนับว่าสนิทกว่าสมเด็จพระเจ้าพี่ยาเธอเจ้าฟ้าชายโสมนัศ ด้วยประการฉะนี้ ซึ่งสมเด็จบรมบพิตรพระราชทานสมภาร ได้เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติสืบสันติวงศ์ดำรงราชตระกูลมานี้ นับว่าเป็นอันได้ดำรงพระวงศ์ทั้งสองฝ่ายให้เจริญยืนยาวสืบไป ราชตระกูลของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวมิได้เสื่อมสูญมีแต่ทรุดไปเช่นคิดเห็นโดยง่ายๆ ด้วยพระบรมราชโอรสและพระราชนัดดา ซึ่งจะสืบไปภายหน้ามากน้อยเท่าใด ก็คงนับเนื่องประพันธ์ในพระราชวงศ์ ทั้งพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวและพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ตลอดไปไม่มีทางที่จะหลีกละไปอย่างอื่นใด ควรที่พระบรมวงศานุวงศ์ ซึ่งนับว่าเป็นฝ่ายพระเจ้าราชวรวงศ์นี้ จะมีความชื่นชมนิยมต่อพระบารมี ให้เป็นที่ยินดีแห่งตน เมื่อสมเด็จพระบรมบพิตรพระราชสมภารเจ้าทรงทราบพระราชประพันธ์อันสนิทเนืองในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวดังนี้ จึงได้มีพระราชหฤทัยระลึกถึงพระเดชพระคุณแห่งพระองค์ ซึ่งได้ดำรงเป็นบรรพบุรุษอันยิ่งใหญ่ จึงทรงบำเพ็ญพระราชกุศลฉลองพระเดชพระคุณ ในอภิลักขิตกาลพิเศษครั้งนี้ อนึ่งเมื่อได้ทรงพิจารณาถึงพระราชสันตตติวงศ์ซึ่งเป็นบรรพบุรุษอันเสด็จล่วงไปแล้วนั้น ก็จะสังเวชพระราชหฤทัยในการที่เปลี่ยนแปลงไปเป็นธรรมดา จะได้ทรงเจริญสัญญาทั้งสามมี อนิจจสัญญา เป็นต้น ให้บริบูรณ์เป็นภาวนามัยบุญกริยา อันเป็นที่ตั้งแห่งกุศลราศี ต้องตามพุทธภาษิต อันทรงแสดงลักษณะทั้งสามประการนั้นฯ

คัดลอกโดย ม.ล.ชาญโชติ ชมพูนุท

๒๔ ธันวาคม ๒๕๕๘

 

แก้ไขล่าสุด ใน วันพฤหัสบดีที่ 24 ธันวาคม 2015 เวลา 18:28 น.
 


หน้า 275 จาก 561
Home

About Us

ศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ (ศบม.) เป็นองค์กรที่พัฒนาและจัดทำโครงการเพื่อทำประโยชน์ให้สังคม เป็นองค์กรสนับสนุนการดำเนินงานของภาครัฐ ช่วยแก้ปัญหาผู้ประกอบการภาคธุรกิจบริการที่ขาดแคลนบุคลากรที่มีมาตรฐานในการให้บริการ
อ่านเพิ่มเติม

มูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ ์

 iHDC Profile
บัญชีรายชื่อกรรมการ
ใบสำคัญแสดงการจดทะเบียน การเปลี่ยนแปลงกรรมการของมูลนิธิ
เอกสารประชาสัมพันธ์ โครงการ HMTC.pdf
เอกสารแนะนำโครงการ HMTC 1.pdf
เอกสารโครงการ HMTC 2 คุณสมบัติผู้เข้าร่วมโครงการ.pdf
iHDC นิติบุคคล.pdf
iHDC บุคคล.pdf
iHDC บุคคลเครือข่าย.pdf
รายงานการประชุม 6 มีนาคม 2560.pdf
ข้อบังคับมูลนิธิ
ใบสำคัญแสดงการจดทะเบียนจัดตั้งมูลนิธิ
Ihdc-Profile and Roadmap 2016-2019 Mar 23 2560.pdf
รายงานการประชุมใหญ่คณะกรรมการมูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ 2559.pdf
คำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ สาขาวิชาชีพ.pdf
รายงานการประชุมใหญ่วันที่ 18 ธ ค 2558 v 3.pdf
รายงานการประชุม วันที่ 24 ธันวาคม 2557 updated 4 มีนาคม 2558.pdf
iHDC-invitation Letter.doc
iHDC-Member Form Thai.doc
iHDC-Member Form English.doc
รายงานการประชุมกรรมการมูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ วันที่ 15 มกราคม 2556 ฉบับสมบูรณ์


thaibetter
พัฒนาประเทศไทยแบบทวีคูณ และยั่งยืน ( ททค )

Login


แบบสำรวจ

สถิติเว็บไซด์

สมาชิก : 5644
Content : 3068
เว็บลิงก์ : 26
จำนวนครั้งเปิดดูบทความ : 8747903

facebook

Twitter


ล่าสุด

บทความเก่า