Thaiihdc.org

  • เพิ่มขนาดตัวอักษร
  • ขนาดตัวอักษรปกติ
  • สดขนาดตัวอักษร
Thaiihdc.org

พระธรรมเทศนาเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (๖)

พิมพ์ PDF

พระธรรมเทศนาเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (๖)

พระราชนิพนธ์ใน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

เทศนากัณฑ์ ที่ ๑

เรื่องพระราชสันติวงศ์

หมายเหตุ: ตอนนี้ยาวหน่อยครับ ท่านใดอ่านแล้วเกิดเบื่อ ขอให้ข้ามไปอ่านช่วงสุดท้ายก่อนจบ รับรองว่าไม่ผิดหวังครับ

บัดนี้จะได้รับพระราชทานถวายวิสัชนา ในพระไตรลักษณ์และลำดับพระราชสันตติวงศ์ แห่งพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ฉลองพระเดชพระคุณประดับพระปัญญาบารมี อนุโมทนาในพระราชกุศลบุญนิธีอนวัชกิจ ซึ่งสมเด็จพระบรมบพิตรพระราชสมภารเจ้าทรงบำเพ็ญเป็นญาติธรรมจริยาทักษิณานุปทานมัย ฉลองพระเดชพระคุณในสมเด็จพระบรมปิตุลา และพระบรมปัยกาธิราช พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว อันได้เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ สืบขัตติยสันตติวงศ์เนื่องมา นับเป็นรัชกาลที่สามในพระบรมราชวงศ์ปัจจุบันนี้  ด้วยทรงพระปรารภคำนวณวันตั้งแต่พระบรมมหาประสูติกาล แห่งพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งได้มีในวันจันทร์ แรม ๑๐ ค่ำ เดือน ๔ ปีมะแม นพศก จุลศักราช ๑๑๔๙ เป็นปีที่ ๖ ในรัชกาลเป็นปฐมมาจนถึงวันเสาร์ แรม ๔ ค่ำ เดือน ๕ ปีชวดยังเป็นนพศก จุลศักราช ๑๒๔๙ นับวารดิถีตามสุริยคติกาลบรรจบครบรอบปีเต็มบริบูรณ์มิได้ยิ่งหย่อน เป็นอภิลักขิตกาลพิเศษ สมควรที่พระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการ ซึ่งได้พึ่งพระบารมีมาแต่กาลก่อน และที่ได้รับประโยชน์อันเนื่องมาแต่พระบรมเดชานุภาพและพระราชอุตสาหะของพระองค์ คือได้ทรงปกป้องพระราชอาณาเขตขอบขัณฑสีมา ให้อยู่เย็นเป็นสุขดำรงเป็นเอกราชนครมาถึง ๒๗ ปีเป็นต้น แล้วบำเพ็ญการกุศลฉลองพระเดชพระคุณ โดยความชื่นชมยินดีตามควรแก่กาลสมัย จึงมีพระบรมราชองค์การโปรดเกล้าฯ ให้จัดการบำเพ็ญพระราชกุศลส่วนพิเศษอันนี้ ณ.พระที่นั่งสุทไธสวรรย์ปราสาท อันเป็นราชกุฏาคารสถาน ซึ่งพระองค์ได้ทรงสถาปนาขึ้นไว้เป็นพระเกียรติยศอยู่ในแผ่นดิน โปรดให้เชิญพระพุทธปฏิมากรนาคสวาดองค์ ๑  พระพุทธปฏิมากรประจำพระชนมพรรษาวันองค์ ๑ พระชนมพรรษาสมปฏิมากร ๖๕ พระองค์ มาประดิษฐานเป็นที่ทรงนมัสการ แล้วโปรดเกล้าฯ ให้เชิญพระบรมอัฐิพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวมาสถิตในบุษบกทองคำ ประดิษฐานเหนือพระแท่นแว่นฟ้ากาญจนามัย แล้วโปรดให้นิมนต์พระสงฆ์ราชาคณะฐานานุกรมเปรียญ ๑๐๐ รูป แบ่งเป็น สามภาค ภาคหนึ่งเท่าจำนวนปีซึ่งได้เสด็จดำรงสิริราชสมบัติ พระราชทานผ้าไตรจีวรสลับแพร ผ้ากราบแพรต่วนตีตราแสดงการพระราชกุศล ๒๗ รูป  ภาคหนึ่ง เท่าพระชนมพรรษาซึ่งยังไม่ได้เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ และพระราชทานไตรจีวรผ้าล้วน ผ้ากราบแพรต่วน ๓๘ รูป อีกภาคหนึ่งเท่าพรรษากาลนับแต่หน้าปีเสด็จสวรรคตมาจนกาลบัดนี้  พระราชทานไตรจีวรและผ้ากราบผ้าล้วน ๓๕ รูป รวมสามภาคครบพระสงฆ์ ๑๐๐ รูป สดัปกรณ์พระบรมอัฐื สวดพระพุทธมนต์ เวลาเช้ารับประทานฉัน พระราชทานเครื่องไทยธรรมต่างๆ ทั้งของหลวงและของพระบรมวงศานุวงศ์ ซึ่งทรงจัดมาถวายช่วยการพระราชกุศลแล้วสดัปกรณ์พระสงฆ์ ๗๐๐ รูป มีพระธรรมเทศนาสามกัณฑ์ มีการมหรสพสมโภชพระบรมอัฐิตามสมควรแก่กาลสมัย และพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้พระเจ้าราชวงศ์เธอ สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ พระเจ้าน้องยาเธอ  สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ พระเจ้าลูกเธอและพระองค์เจ้า หม่อมเจ้า ซึ่งเป็นพระเจ้าหลานเธอและหลานหลวง ในรัชกาลที่สามนั้น ได้บำเพ็ญพระราชกุศลเป็นการฉลองพระเดชพระคุณ ในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวตามควรแก่ความประสงค์ ทรงพระราชอุทิศส่วนพระราชกุศลทั้งนี้ ถวายแด่สมเด็จพระบรมราชบิตุลาและพระบรมปัยกาธิราช เป็นการฉลองพระเดชพระคุณในอภิลักขิตสมัยในปัจฉิมกาล ด้วยประการฉะนี้

*เนื่องจากเทศนากัณฑ์ที่ ๑ เรื่องพระราชสันติวงศ์  มีความยาวมาก จึงขออนุญาต ไม่คัดลอกมาทั้งหมด เกรงว่าจะเสียเวลามาก จึงขออนุญาต คัดลอกมาเฉพาะส่วนที่เห็นว่าสำคัญเท่านั้น

บัดนี้จะได้รับพระราชทานพรรณนาความ ตามลำดับในพระราชสันติวงศ์ อันเนื่องมาแต่องค์สมเด็จพระปฐมบรมมหาปัยกาธิบดีอันเป็นบรรพบุรุษต้นพระบรมราชวงศ์ อันได้ประดิษฐานและดำรงกรุงรัตนโกสินทรมหินทรายุธยา ได้ประดิษฐานพระบรมวงศ์สืบเนื่องมาโดยความเจริญแพร่หลาย เป็นพระบรมราชวงศ์อันใหญ่ มีพระเจ้าแผ่นดินและพระบรมวงศานุวงศ์  ซึ่งได้เสด็จดำรงแผ่นดินและได้รับราชการ โดยกำลังพระสติปัญญาและกำลังพระกาย ปราบปรามและป้องกันสรรพความร้ายและภัยพิบัติ อันจะมาตกต้องแก่ สมณาจารย์       ประชาราษฎร อันเป็นชาวสยามและชาวต่างประเทศ ซึ่งได้อาศัยอยู่ในพระราชอาณาเขตพึ่งพระบารมี ได้อยู่เย็นเป็นสุขสืบมา ล่วงกาลได้กว่าร้อยปีเป็นกำหนด ควรที่มหาชนจะนับถือสักการบูชาแล้วตั้งจิตคิดฉลองพระเดชพระคุณโดยความกตัญญูกตเวที ให้พระบรมราชประเพณีวงศ์ดำรงยืนยาวสืบไปในภายหน้า

สมเด็จพระปฐมบรมมหาปัยกาธิบดีพระองค์นั้น  ได้เสด็จอุบัติในมหามาตยตระกูลโบราณในครั้งกรุงทวาราวดีศรีอยุธยา ได้ทำราชการสืบตระกูลตั้งนิวาสนสถานอยู่ในกำแพงพระนคร พระองค์มีพระโอรสพระธิดาซึ่งร่วมพระมารดาเดียวกันห้าพระองค์

๑.กรมสมเด็จพระเทพสุดาวดี อันเป็นต้นเชื้อวงศ์แห่งเจ้านายวังหลัง เพราะเป็นมารดาของกรมพระราชวังบวรสถานพิมุข และเจ้าฟ้ากรมหลวงธิเบศรบดินทร เจ้าฟ้ากรมหลวงนรินทรรณเรศ ซึ่งยังมีพระนัดดา ปนัดดา ปรากฏอยู่จนกาลวันนี้

๒.พระเจ้าขุนรามณรงค์ ซึ่งสื้นพระชนม์เสียแต่ครั้งกรุงทวาราวดีศรีอยุธยา

๓.กรมสมเด็จพระศรีสุดารักษ์ อันเป็นต้นเชื้อวงศ์ของเจ้านายอีกหมู่หนึ่ง ซึ่งเรียกตามคำสามัญว่า เจ้ากรมหลวงกรมขุน เพราะเป็นพระมารดาของเจ้าฟ้ากรมหลวงเทพหริรักษ์ เจ้าฟ้ากรมหลวงพิทักษมนตรี เจ้าฟ้ากรมขุนอิศรานุรักษ์ ซึ่งยังมีพระนัดดาปนัดดา ปรากฏอยู่จนกาลทุกวันนี้โดยมาก และพระองค์เป็นมารดาของกรมสมเด็จพระศรีสุริเยนทรามาตย์ ซึ่งเป็นสมเด็จพระบรมราชชนนีในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว อันยังมีพระราชนัดดาปนัดดาปรากฎอยู้อีกแผนกหนึ่งด้วย

๔.พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก

๕.กรมพระราชวังบวรมหาสุรสีหนาท ซึ่งเป็นต้นเชื้อวงศ์ของเจ้านายหมู้หนึ่งซึ่งเรียกโดยคำสามัญว่าเจ้านายวังหน้าพระพุทธยอดฟ้าฯ

*สมเด็จพระปฐมบรมมหาปัยกาธิบดี มีพระธิดา อันประสูติด้วยพระมารดาอื่น ปรากฏนามในภายหลังว่ากรมหลวงนรินทรเทวี เพราะได้กรมหมื่นนรินทรพิทักษ์เป็นพระภัสดา  ก็นับเป็นต้นตระกูลแห่งเจ้านายสืบมาอีกตระกูลหนึ่ง ซึ่งเรียกว่าเป็นต้นตระกูลเจ้าครอกวัดโพ

*โอรสสมเด็จพระปฐมบรมมหาปัยกาธิบดีอีกพระองค์หนึ่งนั้น คือเจ้าฟ้ากรมหลวงจักรเจษฎาต่างพระมารดากับกรมหลวงนรินทรเทวี เป็นต้นตระกูลเจ้านายอีกพวกหนึ่งซึ่งเรียกว่าพวกเจ้ากรมหลวงจักรเจษฎา

จึงควรนับว่าบรมราชตระกูลอันสืบมาแต่สมเด็จพระปฐมบรมมหาปัยกาธิบดี ได้มาประดิษฐานเป็นขัตติยราชตระกูลในกรุงรัตนโกสินทรมหินทรายุธยานี้ เป็นเจ็ดสายเจ็ดพวกด้วยประการฉะนี้

บัดนี้จะได้พระราชทานพรรณนาลำดับพระบรมราชวงศ์เฉพาะแต่สายที่ตรงลงมาจากพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก

พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกได้กรมสมเด็จพระอมรินทรามาตย์ (พระธิดาแห่งสมเด็จพระรูปศิรโสภาคมหานาคนารี อันมีนิวาสนสถานอยู่พาหิรุทยานแขวงเมืองสมุทรสงคราม เรียกว่าตำบลบางช้าง) เป็นพระราชเทวี แต่ยังไม่ได้เถลิงถวัลยราชสมบัติ มีพระราชโอรสพระราชธิดาถึงสิบพระองค์ พระองค์ที่ ๑ พระองค์ที่ ๒ สิ้นพระชนม์เสียแต่กรุงทวาราวดียังมิได้แตกทำลาย  พระองค์ที่ ๘ พระองค์ที่ ๙ และพระองค์ที่ ๑๐ สิ้นพระชนม์เสียแต่ยังทรงพระเยาว์

.พระธิดาองค์ที่ ๓  สมเด็จพระปฐมบรมอัยยิกาเธอ ได้เป็นพระชายาเจ้ากรุงธนบุรี มีพระโอรสนามว่าเจ้าฟ้าสุพันธวงศ์  แล้วเป็นเจ้าฟ้าอภัยธิเบศ  กรมขุนกษัตราน่ชิต ภายหลังต้องถอดเรียกชื่อเดิมว่าหม่อมเหทน

พระราชโอรสองค์ที่ ๔ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย

พระธิดาองค์ที่ ๕  สมเด็จพระเจ้าอัยยิกาเธอเจ้าฟ้ากรมหลวงศรีสุนทรเทพ

พระราชโอรสองค์ที่ ๖ กรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์ อันนับเป็นต้นตระกูลแห่งพระเจ้าบวรวงศ์เธอชั้นสอง

พระธิดาองค์ที่ ๗ สมเด็จพระเจ้าอัยยิกาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงเทพยวดี

*พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกยังมีพระราชบุตร พระราชบุตรี อันเกิดด้วยพระสนมเป็นพระราชบุตร ๑๓ พระองค์ พระราชบุตรี ๒๐ พระองค์ และเจ้านายทุกพระองค์ก็นับว่าเป็นต้นตระกูลของพระองค์เจ้า หม่อมเจ้า หม่อมราชวงศ์ อีกชั้นหนึ่ง ซึ่งนับว่าเป็นพระบวรวงศ์วงศ์เธอชั้นที่สาม และพระวรวงศ์เธอ และหม่อมเจ้าชั้นที่ ๑ มีหม่อมราชวงศ์หม่อมหลวง สืบประพันธ์กันเป็นอันมาก

บัดนี้จะได้รับพระราชทานพรรณนา ในพระราชโอรสพระราชธิดาของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย

พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย และ กรมสมเด็จพระศรีสุลาลัย ซึ่งเป็นสมเด็จพระบรมราชชนนี  มีพระราชโอรสพระองค์ใหญ่  คือพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว อันได้เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติสืบสนองพระองค์มา

พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย มีพระบรมราชเทวีพระองค์หนึ่ง ซึ่งปรากฏพระนามในภายหลังว่ากรมสมเด็จพระศรีสุริเยนทรามาตย์ มีพระราชโอรสพระองค์ที่ ๑ สิ้นพระชนม์เสียแต่แรกประสูติ

พระราชโอรสองค์ที่ ๒ คือพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว อันได้เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ (ต่อจากพระนั่งเกล้า)  มีพระราชโอรสพระราชธิดาเป็นเจ้าฟ้าแต่เดิมห้าพระองค์ คือสมเด็จพระเจ้าพียาเธอเจ้าฟ้าโสมนัส สิ้นพระชนม์เสียแต่วันประสูติ  และสมเด็จบรมบพิตรพระราชสมภารเจ้าซึ่งได้เสด็จเถลิงถวัลยราขสมบัติ ดำรงพระบรมราชวงศ์อยู่ในปัจจุบันนี้นับเป็นที่สอง สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอเจ้าฟ้าจันทรมณฑลโสภณภควดีกรมหลวงวิสุทธิกษัตริย์ นับเป็นที่สาม สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอเจ้าฟ้าจาตุรนต์รัศมี กรมพระจักรพรรดิพงศ์ นับเป็นที่สี่ สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภาณุรังสีสว่างวงศ์ กรมพระภาณุพันธุวงศ์วรเดช นับเป็นที่ห้า และมีพระราชโอรสพระราชธิดาเป็นเจ้าฟ้า ภายหลังอีกสองพระองค์ มีพระราชบุตร ๓๕ พระองค์ พระราชบุตรี ๔๒ พระองค์

พระราชโอรสองค์ที่ ๓ ของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย และกรมสมเด็จพระศรีสุริเยนทรามาตย์ คือ พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งมี พระราชบุตร พระราชบุตรี นับว่าเป็นพระเจ้าบวรวงศ์เธอชั้นที่ ๔

บัดนี้จะได้รับพระราชทานพรรณนาความแต่เฉพาะพระบาทสมเด็จจพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งเป็นเหตุอันสมเด็จบรมบพิตรพระราชสมภารเจ้าทรงพระปรารภ เพื่อบำเพ็ญพระราชกุศลฉลอง พระเดชพระคุณพระองค์นั้น ได้รับพระราชทานพรรณนาพระบรมราชวงศ์ฝ่ายพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ซึ่งเป็นสมเด็จพระบรมชนกนาถมาแล้ว บัดนี้จะได้รับพระราชทานพรรณนาลำดับพระวงศ์ ฝ่ายกรมสมเด็จพระศรีสุลาลัย ซึ่งเป็นสมเด็จพระบรมราชชนนี เพื่อให้เป็นที่ทรงระลึกถึงพระคุณแห่งบรรพบุรุษ และเป็นที่ทรงสังเวชตามพระบรมราชประสงค์ก็แลลำดับเชื้อวงศ์ซึ่งสืบเนื่องกันมาอย่างไรนั้น ท่านผู้ซึ่งเป็นใหญ่ในตระกูลแต่ก่อนๆมักจะปิดป้องมิให้ผู้น้อยในตระกูลทราบ ด้วยรังเกียจว่าจะไปออกนามเล่นในเวลาไม่เหมาะสม ในที่ไม่ควรบ้าง กลัวว่าผู้น้อยจะกำเริบเย่อหยิ่ง ว่าตัวเนื่องประพันธ์สนิทในท่านผู้มีเกียรติยศอันยิ่งใหญ่ในแผ่นดิน แล้วประพฤติการทุจริตผิดๆไปต่างๆด้วยความทะนงใจบ้าง ครั้นเมื่อท่านผู้ใหญ่ล่วงไปแล้ว ผู้น้อยในตระกูลนั้นก็ไม่ได้ทราบเชื้อสายว่ามาอย่างไร ไม่สามารถที่จะเล่าบอกกันจ่อๆไปได้ ดังนี้เป็นคติโบราณเคยประพฤติมาโดยมาก ก็แลราชินิกุลข้างฝ่ายกรมสมเด็จพระศรีสุลาลัย อันเป็นสมเด็จพระบรมราชชนนี พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น เมื่อไต่ถามดูก็ไม่ได้ความตลอดถ้วนถี่ มีเค้ามูลเพียงดังจะได้รับพระราชทานพรรณนาสืบไปนี้มีความว่า พระชนกของกรมสมเด็จพระศรีสุลาลัยนี้ มีนามบุญจัน ได้ทำราชการแผ่นดินเป็นที่พระยานนทบุรีศรีมหาอุทยาน ตั้งเคหสถานอยู่ในที่ซึ่งได้สถาปนาเป็นวัดเฉลิมพระเกียรติ ณ เมืองนนทบุรี มีภรรยาใหญ่ซึ้งเป็นพระชนนีกรมสมเด็จพระศรีสุลาลัย มีนามว่าเพ็ง มีแต่พระธิดาองค์เดียว คือกรมสมเด็จพระศรีสุลาลัย ได้ทำราชการในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้า แต่ยังเป็นสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เสด็จประทับอยู่ ณ บ้านหลวงเดิมแห่งพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ครั้นเมื่อเสด็จลงไปประทับอยู่ที่พระราชวังเดิม ก็ตามเสด็จลงไป ได้ประสูติพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ณ.พระราชวังเดิม แล้วมีพระราชโอรสอีกสองพระองค์ ทรงพระนามว่า พระองค์เจ้าป้อม กับพระองค์เจ้าหนูดำ  ทั้งสองพระองค์สิ้นพระชนม์แต่ก่อนแล้ว ครั้นเมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยได้เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ ก็เสด็จเข้ามาประทับในพะบรมมหาราชวัง ได้ดำรงที่พระสนมเอก บังคับการห้องเครื่อง ชนทั้งปวงออกพระนามว่าเจ้าคุณ และได้เสด็จออกไปประทับอยู่ที่พระราชวัง แห่งพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวแต่ยังเป็นกรมนั้นบ้างเป็นครั้งคราว จนพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ

พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวมี พระราชบุตร พระราชบุตรี อันเกิดด้วยพระสนมตั้งแต่ยังมิได้เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติโดยมาก ครั้งเมื่อเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติแล้ว ก็มีพระราชบุตร พระราชบุตรี อีกเพียงห้าปีเป็นกำหนด แล้วก็มิได้มีสืบไป พระราชบุตรองค์เป็นปฐม ทรงพระนามพระองค์เจ้ากระวีวงศ์ ถัดนั้นมาเป็นพระราชบุตรยังไม่มีพระนาม เรียกแต่ว่าพระองค์เจ้าหญิงใหญ่ พระองค์เจ้าทั้งสองพระองค์นี้ มีพระชนม์พรรษาเพียง ๙ ปี ๑๐ ปี          ก็สิ้นพระชนม์เสียแต่ยังมิได้เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ  ที่ ๓ เป็นพระราชบุตรี ทรงพระนามพระองค์เจ้าวิลาศ เป็นพระปิยราชธิดา ภายหลังมาพระราชทานอิสริยยศเป็นกรมหมื่นอับศรสุดาเทพ ได้ทรงรับราชการเป็นพนักงานพระสุคนธ์ ต่อพระองค์เจ้าวงศ์ซึ่งได้ทรงทำมาแต่ก่อน และเป็นผู้กำกับแจกเบี้ยหวัดฝ่ายในครั้นเมื่อประประชวรสิ้นพระชนม์ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระโสกาลัยเป็นอันมาก โปรดให้ตั้งพระเมรุ ณ.ท้องสนามหลวง พระราชทานเพลิงเป็นการใหญ่ ที่ ๔ เป็นพระราชบุตร ทรงพระนามพระองค์เจ้าชายดำ สิ้นพระชนม์เสียแต่ยังทรงพระเยาว์ ที่ ๕ พระราชบุตรี มีนามพระองค์เจ้าดวงเดือน  ในรัชกาลที่ ๔ ได้เป็นพนักงานพระสุคนธ์ เป็นหัวหน้าในพระเจ้าราชวรวงศ์เธอฝ่ายใน สิ้นพระชนม์ในรัชกาลนี้ ที่ ๖ พระองค์เจ้าหญิงสิ้นพระชนม์เสียแต่เยาว์ ที่ ๗ พระราชบุตรทรงพระนามพระองค์เจ้าสิริ แล้วโปรดให้เป็นกรมหมื่นมาตยาพิทักษ์ ได้บังคับบัญชากรมช่างมุก ทำบานวัดพระเชตุพนและการอื่นๆและได้ทรงเป็นนายด้านทำการทั่วไปในพระอุโบสถวัดพระเชตุพน และได้ทรงเป็นนายด้านทำการวัดหนังจนแล้วเสร็จ ครั้นเมื่อสิ้นพระชนม์ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระอาลัยเป็นอันมาก ด้วยเป็นพระราชโอรสองค์ใหญ่ในขณะนั้น จึงโปรดเกล้าฯให้จัดการปลูกพระเมรุ พระราชทานเพลิง ณ ท้องสนามหลวงเป็นการใหญ่ แล้วให้เชิญอัฐิบรรจุในพระโกศทองคำมาประดิษฐานไว้ ณ ตำหนักกรมสมเด็จพระศรีสุลาลัยในพระบรมมหาราชวัง ครั้นภายหลัง เมื่อสมเด็จบรมบพิตรพระราชสมภารเจ้าได้เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ จึงโปรดใช้ช่างทำพระโกศจำหลักลายลงยาราชาวดีเปลี่ยนถวายใหม่ แล้วก็ปรากฏพระนามว่าสมเด็จพระบรมมาตามหัยกาเธอ มาจนบัดนี้ สมเด็จพระบรมราชมาตามหัยกาเธอพระองค์นั้น มีพระโอรสและพระธิดาหลายพระองค์ ในเวลาที่พระบิดาสิ้นพระชนม์นั้นยังทรงพระเยาว์ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวซึ่งเป็นพระอัยกาโปรดให้เสด็จมาอยู่ในพระบรมมหาราชวัง  พระองค์ใหญ่ได้รับราชการฉลองพระเดชพระคุณในที่ใกล้ชิด ตามเสด็จอย่างพระเจ้าลูกเธอตลอดมา พระโอรสพระองค์ใหญ่ สมเด็จพระบรมอัยกาพระราชทานนามว่ามงคลเลิศ ในรัชกาลที่ ๔ ก็โปรดให้เป็นพระวงศ์เธอพระองค์เจ้า ทรงพระเมตตาเป็นอันมาก พระองค์เจ้ามงคลเลิศ มุตร และบุตรี ได้รับราชการฉลองพระเดชพระคุณหลายคน มีพระยาไชยสุรินทร์เป็นต้น พระธิดาพระองค์ใหญ่ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาใช้สอยสนิท โปรดว่าอยู่งานพัศดี จึงพระราชทานนามว่ารำเพย ภายหลังมาได้เป็นสมเด็จพระบรมราชเทวีในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ปรากฏพระนามว่าสมเด็จพระนางเจ้ารำเพยภมราภิรม มีพระบรมราชโอรสสามพระองค์ และพระธิดาองค์หนึ่ง ซึ่งได้รับพระราชทานออกพระนามมาแต่เบื้องต้นแล้วนั้น พระองค์ได้ดำรงอยู่ในตำแหน่งพระอัครมเหสีถ้วน ๙ ปี เป็นกำหนด ครั้นเมื่อเสด็จสวรรคตแล้ว ก็ได้ทรงรับพระเกียรติยศยิ่งใหญ่ในการพระศพตามอย่างสมเด็จพระบรมราชเทวี ครั้นในรัชกาลปัจจุบันนี้ จึงทรงสถาปนาพระอัฐิ เป็นกรมสมเด็จพระเทพศิรินทรามาตย์ สมเด็จพระบรมราชชนนี ตามโบราณราชประเพณีสืบมา ที่ ๓ เป็นพระธิดา ทรงพระนามหม่อมเจ้าชมชื่น ที่ ๔ เป็นพระธิดา ได้สนองพระเดชพระคุณมาแต่ยังทรงพระเยาว์จนปัจจุบันนี้ มีความชมเป็นอันมาก จึงพระราชทานพระสุพรรณบัฎให้เป็นพระสัมพันธวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพื้นพงศ์ประยูรวงศ์สนิท พระธิดาที่ ๕ มีนามหม่อมเจ้าประสงค์สรรพ์ พระธิดาที่ ๖ มีนามหม่อมเจ้าสารพัดเพชร พระธิดาที่ ๗ นามหม่อมเจ้าพรรณราย ได้ทำราชการฉลองพระเดชพระคุณในรัชกาลที่ ๔  พระโอรส องค์ที่ ๘ นามเดิม หม่อมเจ้าฉายเฉิด ทรงผนวชได้แปลพระปริยัติธรรมได้แปดประโยค ดำรงยศเป็นหม่อมเจ้าพระเปรียญ ครั้นเมื่อลาผนวชแล้ว พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ทรงพระมหากรุณาพระราชทานหีบทองเป็นเครื่องยศ ครั้นถึงรัชกาลปัจจุบันนี้ พระราชทานพระสุพรรณบัฏให้เป็นพระองค์เจ้า ภายหลังเลื่อนเป็นพระสัมพันธวงศ์เธอ กรมหมื่นนฤบาลมุขมาตย์ พระโอรสองค์ที่ ๙ พระองค์เจ้าประเสริฐศักด์ องค์ที่ ๑๐ พระบุตรตรี สิ้นพระชนม์ องค์ที่ ๑๑ พระองค์เจ้าโกเมน องค์ที่ ๑๒ พระองค์เจ้าคเนจร  องค์ที่ ๑๓  องค์ที่ ๑๔  และองค์ที่ ๑๕ สิ้นพระชนม์ องค์ที่ ๑๖ พระองค์เจ้าลัดดาวัลย์ องค์ที่ ๑๗ พระองค์เจ้าเสงี่ยม องค์ที่ ๑๘ สิ้นพระชนม์ ๑๙ พระองค์เจ้าแสงจันทร์ องค์ที่ ๒๐ พระองค์เจ้านิเวศ องค์ที่ ๒๑ พระองค์เจ้าชุมสาย องค์ที่ ๒๒ สิ้นพระชนม์  องค์ที่ ๒๓ พระองค์เจ้าสุบงกช  องค์ที่ ๒๔ องค์ที่ ๒๕  สิ้นพระชนม์ องค์ที่ ๒๖ เดิมเป็นพระเจ้าราชวรวงศ์เธอ กรมสมเด็จพระสุดารัตราชประยูร  องค์ที่ ๒๗ พระองค์เจ้าเปียก องค์ที่ ๒๘สิ้นพระชนม์ องค์ที่ ๒๙ พระองค์เจ้าอุไร องค์ที่ ๓๐ พระองค์เจ้ากินรี องค์ที่ ๓๑ สิ้นพระชนม์ องค์ที่ ๓๒ พระองค์เจ้าชาย อรรณพ องค์ที่ ๓๓ –๔๒ สิ้นพระชนม์ องค์ที่ ๔๓ พระองค์เจ้าจามรี องค์ที่ ๔๔ สิ้นพระชนม์ องค์ที่ ๔๕ พระองค์เจ้าอมฤตย องค์ที่ ๔๖ พระองค์เจ้าสุบรรณ องค์ที่ ๔๗ สิ้นพระชนม์ องค์ที่ ๔๘ พระองค์เจ้าสิงหรา องค์ที่ ๔๙ พระองค์เจ้าชมพูนุท  ในรัชกาลที่ ๔ ได้รับราชการเบ็ดเตล็ดต่างๆเป็นกรมหมื่นเจริญผลพูนสวัสดิ์ ครั้นในรัชกาลปัจจุบันได้ทรงบังคับการในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม และพระคลังพิมานอากาศ และมหาดเล็กช่าง เป็นนายด้านทำวัดเทพศิรินทราวาส และปฏิสังขรณ์วัดราชโอรส แล้วโปรดให้เลื่อนเป็นกรมขุน มีพระโอรสทรงผนวชได้แปลพระปริยัติธรรม ดำรงสมณศักดิ์เป็นหม่อมเจ้าเปรียญ แล้วภายหลังได้เลื่อนสมณศักดิ์เป็นหม่อมเจ้าพระราชาคณะ มีนามว่า หม่อมเจ้าพระสถาพรพิริยพรต องค์ที่ ๕๐ สิ้นพระชนม์  องค์ที่ ๕๑ พระองค์เจ้าบุตรี ได้รับราชการเป็นที่สนิทชิดใช้มาแต่ในรัชกาลที่ ๓ ได้ทรงรักษาประแจพระราชวัง ภายหลังได้ทรงบังคับการในพนักงานนมัสการและกำกับแจกเบี้ยหวัด นับว่าเป็นพระราชบุตรีที่สุดในรัชกาลนั้น เป็นจำนวนพระราชบุตร ๒๓ พระองค์ พระราชบุตรี ๒๘ พระองค์ รวม ๕๑ พระองค์ ดังนี้ฯ

ก็แลพระราชบุตร พระราชบุตรี ในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทั้ง ๕๑ พระองค์นี้ มีนามปรากฏว่าพระเจ้าราชวรวงศ์เธอ มีพระโอรสและพระธิดา สืบๆลงไป นับว่าเป็นเจ้านายแผนกหนึ่ง ซึ่งเรียกโดยสามัญว่าเจ้านายพวกราชวงศ์ ด้วยประการฉะนี้ ก็แลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น ถึงว่าไม่ได้มีพระราชโอรสและพระราชธิดาเป็นเจ้าฟ้า และไม่ได้สืบสันตติวงศ์เป็นพระเจ้าแผ่นดินก็ดี ก็ยังมีพระราชโอรสที่ได้ดำรงพระเกียรติยศใหญ่ เป็นสมเด็จพระบรมราชมาตามหัยยกาเธอ และมีพระธิดาเป็นกรมสมเด็จพระสุดารัตนราชประยูร มีพระราชนัดดาเป็นสมเด็จพระบรมราชเทวีถึงสองพระองค์ เป็นพระอัครชายาสามพระองค์ และมีพระราชปนัดดาเป็นเจ้าฟ้า แล้วและจะเป็นต่อไปอีกถึง ๑๓ พระองค์ดังนี้ฯ

บัดนี้จะได้รับพระราชทานพรรณนาข้อความ ซึ่งควรเป็นที่ยินดีชื่นชมของพระบรมวงศานุวงศ์ บรรดาซึ่งปรากฏว่าเป็นพวกราชวรวงศ์และข้าราชการทั้งปวง อันมีความนิยมยินดีระลึกถึงพระเดชพระคุณในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ตามความที่เป็นจริงประการใดนั้น และเมื่อสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ ดำรงตำแหน่งแผ่นดินสืบเนื่องต่อพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น ทรงพระดำริว่าพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จดำรงราชสมบัติมาถึง ๒๗ ปี มีข้าราชการที่นิยมยินดีต่อพระองค์มาแต่เดิมก็มาก และข้าราชการในภายหลังก็เป็นคนเกิดในรัชกาลของพระองค์ทั้งสิ้น ย่อมจะเป็นที่นับถือติดมั่นในใจอยู่ทั่วหน้า บางทีจะมีความเดือดร้อนรำคาญ ว่าราชตระกูลของพระบามสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้นเสื่อมสูญไปทุกที ก็จะเป็นที่ปั่นป่านรำค่ญใจไปต่างๆจึงทรงพระราชดำริจะรำงับข้อรำคาญนั้นให้เสื่อมหาย จึงได้ทรงรับสมเด็จพระนางเจ้าโสมนัศวัฒนาวดีเป็นพระบรมราชเทวี ก็ได้มีพระราชโอรสสมดังพระราชประสงค์ แต่ไม่ดำรงพระชนม์อยู่ได้ทั้งพระโอรสและพระชนนี จึงได้ทรงรับกรมสมเด็จพระเทพศิรินทรามาตย์ เป็นสมเด็จพระบรมราชเทวีต่อมา ก็ได้มีพระราชโอรสพระราชธิดาสมดังพระราชประสงค์ เพราะพระราชดำริดังนี้ จึงได้ดำรัสประกาศยกย่องสมเด็จพระบรมราชโอรสพระราชธิดาทั้ง ๔ พระองค์นี้ ว่าเป็นพวกราชวรวงศ์เนืองๆต่อมา ก็แลการซึ่งเป็นเช่นนี้  ก็นับว่าเป็นการอัศจรรย์  ด้วยพระบรมราชโอรสพระราชธิดาทั้ง ๔ พระองค์นั้น นับว่าเป็นพระราชวรวงศ์แห่งพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ถึงสามสายสามทาง คือ ถ้าจะนับตามลำดับพระบรมราชวงศ์  ซึ่งตรงมาแต่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็นับว่าพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นสมเด็จพระบรมบิตุลาธิราช ท่านทั้ง ๔ พระองค์นี้ เป็นพระราชภาคิไนยทางหนึ่ง ถ้าจะนับฝ่ายสมเด็จพระบรมราชมาตามหัยกาเธอ และกรมสมเด็จพระเทพศิรินทรามาตย์ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็นับว่าเป็นสมเด็จพระบรมราชปัยกาธิบดี ทั้ง ๔ องค์นี้นับว่าเป็นพระราชปนัดดาทางหนึ่ง ถ้าจะนับข้างฝ่ายเจ้าจอมมารดาแห่งสมเด็จพระบรมราชมาดามหัยกาเธอ ซึ่งสืบเนื่องมาแต่น้องนางของพระชนนีในกรมสมเด็จพระศรีสุลาลัย ก็นับเนื่องอยู่ในประพันธ์ ไม่ห่างไกลกว่าทางที่สองนัก ควรนับว่าสนิทกว่าสมเด็จพระเจ้าพี่ยาเธอเจ้าฟ้าชายโสมนัศ ด้วยประการฉะนี้ ซึ่งสมเด็จบรมบพิตรพระราชทานสมภาร ได้เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติสืบสันติวงศ์ดำรงราชตระกูลมานี้ นับว่าเป็นอันได้ดำรงพระวงศ์ทั้งสองฝ่ายให้เจริญยืนยาวสืบไป ราชตระกูลของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวมิได้เสื่อมสูญมีแต่ทรุดไปเช่นคิดเห็นโดยง่ายๆ ด้วยพระบรมราชโอรสและพระราชนัดดา ซึ่งจะสืบไปภายหน้ามากน้อยเท่าใด ก็คงนับเนื่องประพันธ์ในพระราชวงศ์ ทั้งพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวและพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ตลอดไปไม่มีทางที่จะหลีกละไปอย่างอื่นใด ควรที่พระบรมวงศานุวงศ์ ซึ่งนับว่าเป็นฝ่ายพระเจ้าราชวรวงศ์นี้ จะมีความชื่นชมนิยมต่อพระบารมี ให้เป็นที่ยินดีแห่งตน เมื่อสมเด็จพระบรมบพิตรพระราชสมภารเจ้าทรงทราบพระราชประพันธ์อันสนิทเนืองในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวดังนี้ จึงได้มีพระราชหฤทัยระลึกถึงพระเดชพระคุณแห่งพระองค์ ซึ่งได้ดำรงเป็นบรรพบุรุษอันยิ่งใหญ่ จึงทรงบำเพ็ญพระราชกุศลฉลองพระเดชพระคุณ ในอภิลักขิตกาลพิเศษครั้งนี้ อนึ่งเมื่อได้ทรงพิจารณาถึงพระราชสันตตติวงศ์ซึ่งเป็นบรรพบุรุษอันเสด็จล่วงไปแล้วนั้น ก็จะสังเวชพระราชหฤทัยในการที่เปลี่ยนแปลงไปเป็นธรรมดา จะได้ทรงเจริญสัญญาทั้งสามมี อนิจจสัญญา เป็นต้น ให้บริบูรณ์เป็นภาวนามัยบุญกริยา อันเป็นที่ตั้งแห่งกุศลราศี ต้องตามพุทธภาษิต อันทรงแสดงลักษณะทั้งสามประการนั้นฯ

คัดลอกโดย ม.ล.ชาญโชติ ชมพูนุท

๒๔ ธันวาคม ๒๕๕๘

 

 

แก้ไขล่าสุด ใน วันพฤหัสบดีที่ 24 ธันวาคม 2015 เวลา 18:33 น.
 

พระธรรมเทศนาเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (๕)

พิมพ์ PDF

พระธรรมเทศนาเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (๕)

พระราชนิพนธ์ใน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

การพระราชกุศล

ในสมัยพระชนมายุพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว บรรจบ ๑๐๐ ปี

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระปรารภถึงวารดิถีซึ่งนับแต่วัน พระบรมมหาประสูติกาลแห่งสมเด็จพระบรมปิตุลาและพระบรมปัยกาธิราช พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ครบ ๑๐๐ ปี ตามสุริยคติกาลในวันเสาร์เดือน ๕ แรม ๔ ค่ำปีชวดยังเป็นนพศกศักราช ๑๒๔๙ แล้วทรงพระดำริ จะทรงบำเพ็ญพระราชกุศล เป็นการฉลองพระเดชพระคุณในสมัยกาลพิเศษนี้ จึงมีพระราชโองการโปรดเกล้าฯ ดำรัสสั่งเจ้าพนักงานให้จัดการที่จะทรงบำเพ็ญพระราชกุศล ณ พระที่นั่งสุทไธสวรรย์ปราสาท ตามกาลกำหนด

ณ.วันศุกร์เดือน ๕ แรม ๓ ค่ำ เจ้าพนักงานเชิญพระพุทธปฏิมากรนาคสวาดพระองค์ ๑ พระพุทธปฏิมากรห้ามสมุทรประจำวันพระชนมพรรษาพระองค์ ๑ พระพุทธปฏิมากรประจำปีพระชนมพรรษา ๖๕ พระองค์ มาตั้งบุษบกดอกไม้สด แล้วเชิญพระบรมอัฐิและพระบรมทนต์ในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว มาสถิตในบุษบกทองคำประดิษฐ์ฐานเหนือพระแท่นแว่นฟ้าทองคำในพระที่นั่งสุทไธสวรรย์ปราสาท

เวลา ๒ ทุ่ม พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จออกพระทวารพระที่นั่งอนันตสมาคมประทับ ณ พระที่นั่งสุทไธสวรรย์ปราสาท ทรงบำเพ็ญพระราชกุศล พระสงฆ์ราชาคณะ ฐานานุกรมเปรียญ ๑๐๐ รูป สวดพระพุทธมนต์สัตตปริตรจบแล้วทรงทอดผ้าไตรสดัปกรณ์ แบ่งพระสงฆ์เป็น ๓ ภาค ภาคหนึ่งเท่าปีที่เสด็จดำรงสิริราชสมบัติผ้าไตรสลับแพร กราบพระแพรต่วนตีพิมพ์แสดงการพระกุศล ๒๗ รูป ภาคหนึ่งเท่าปีพระชนมพรรษาเมื่อยังไม่ได้เสด็จดำรงสิริราชสมบัติไตรผ้าล้วนกราบพระแพรตีพิมพ์ ๓๘ รูป ภาคหนึ่งเท่าปีนับแต่หน้าปีสวรรคตมาจนบรรจบพระชนมพรรษาครบ ๑๐๐ ปี ไตรผ้ากราบพระผ้าตีพิมพ์ ๓๕ รูป แล้วพระวรวงค์เธอพระองค์เจ้าพระอรุณนิภาคุณากร ถวายเทศนาพระไตรลักษณ์แสดงพระราชสันตติวงศ์แห่งพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวในเบื้องต้น จบแล้วทรงทอดผ้าไตรสดัปกรณ์และทรงประเคนเครื่องบริขารภณฑ์กับพระราชทานจตุปัจจัยมูลราคา ๑๐ ตำลึง แล้วทรงทอดผ้าขาวพับพระราชาคณะฐานานุกรมเปรียญอันดับสดัปกรณ์ ๑๐๐ รูป แล้วทรงจุดดอกไม้เพลิงและทอดพระเนตรการมหรสพซึ่งมีที่ท้องสนามไชย มีโขนหน้าจอ โรง ๑ หนังโรง ๑ สิงโต มังกร     รำโคม และดอกไม้เพลิงต่างๆตามธรรมเนียม เวลา ๒ ยามเศษเสด็จขึ้น

วันเสาร์เดือน ๕ แรม ๔ ค่ำ เวลาเช้า ๕ โมง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จออกประเคนชัชชโภชาหาร พระสงฆ์รับพระราชทานฉันบนพระที่นั่งสุทไธสวรรย์ปราสาทบ้าง แบ่งไปฉันในที่อื่นบ้าง ครั้นพระสงฆ์ฉันแล้วทรงประเคนเครื่องไทยธรรมเป็นภาคเอก ๒๗ ภาคโท ๓๘ ภาคตรี ๓๕ แล้วพระสงฆ์สวดทักขิณานุโมทนา ฐานาถวายอนุโมทนาแล้วทรงพระสงฆ์สดัปกรณ์อีก ๕๐๐ รูป หม่อมเจ้าพระสถาพรพิริยพรต (พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า) ถวายเทศนาธรรมจริยาสมจริยาบรรยายพระราชประวัติในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ในเวลาเมื่อยังไม่ได้เสด็จดำรงสิริราชสมบัติในเบื้องต้น จบแล้วทรงทอดผ้าไตรสดัปกรณ์และทรงประเคนเครื่องบูชากัณฑ์เทศนา และพระราชทานวัตถุเป็นมูลกัปปียภัณฑ์ราคา ๑๐ ตำลึงแล้วเสด็จขึ้น

เวลาบ่าย ๕ โมงเศษ โปรดเกล้าฯให้สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชเจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จออกทรงโปรยที่พระที่นั่งสุทไธสวรรย์ปราสาท มะนาวผลละสลึง ๒๐๐ ผล ผลละเฟื้อง ๓๐๐ ผล รวม ๕๐๐ ผล มีการมหรสพเวลากลางวัน ไม้ลอย ญวนหก ตามธรรมเนียม

เวลา ๒ ทุ่ม พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จออก พระธรรมวโรดม (แดง) ถวายเทศนาโภชนทาน พรรณนาพระราชประวัติแห่งพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ตั้งแต่เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติจนเสด็จสวรรคต จบแล้วทรงทอดผ้าไตรสดัปกรณ์และทรงประเคนเครื่องวรามิสต่างๆและมูลค่าปัจจัยทั้ง ๔  ราคาชั่งสิบตำลึงเป็นธรรมเนียมเทศนบูชาแล้วทรงทอดผ้าขาวพับสดัปกรณ์ ๑๐๐ รูป แล้วทรงจุดดอกไม้เพลิงและทอดพระเนตรการมหรสพ เสด็จขึ้น ๒ ยามเศษ

อนึ่งในการพระราชกุศลครั้งนี้ โปรดเกล้าฯพระราชทานพระบรมราชานุญาต ให้พระบรมวงศานุวงค์และข้าทูลละอองธุลีพระบาทถวายในส่วนเงินเรี่ยรายในการพระราชกุศลเป็นการฉลองพระเดชพระคุณ ในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นจำนวนเงินเป็นอันมาก เงินรายนี้จะโปรดเกล้า ฯ ให้ทำการปฏิสังขรณ์พระอุโบสถ เจดียสถานและเสนาเสนาะในวัดราชโอรส ซึ่งเป็นพระอารามพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสถาปนาขึ้นไว้ เพื่อเป็นการรุ่งเรืองในพระพุทธสาสนา และปรากฏพระเกียรติยศไปสื้นกาลนาน

โคลงพระราชนิพนธ์

ตูผู้แต่งเทศน์เอื้อน                                                      อนุสรณ์ นี้ ฤา

ชื่อจุฬาลงกรณ์                                                                        เนื่องเชื้อ

สำหรับแต่การจร                                                          คราวหนึ่ง แลนา

ย่นย่อพอแต่เนื้อ                                                           เรื่องตั้งฟังเอง ฯ

 

คัดลอกโดย ม.ล.ชาญโชติ ชมพูนุท

 

๒๓ ธันวาคม ๒๕๕๘     

แก้ไขล่าสุด ใน วันพุธที่ 23 ธันวาคม 2015 เวลา 17:24 น.
 

พระธรรมเทศนาเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว

พิมพ์ PDF

พระธรรมเทศนาเฉลิมพระเกียรติ

พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว

พระราชนิพนธ์ใน

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

(ตอนที่ ๑)

 

พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธ์ยุคล โปรดให้พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานพะราชทานเพลิงศพ “ หม่อมเจ้าชนม์เจริญ ชมพูนุท” ณ.เมรุวัดมกุฏกษัตริยาราม วันที่ ๓๐ พฤศจิกายน ๒๕๐๖

เนื่องด้วยจะได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า พระราชทานเพลิงศพ  หม่อมเจ้าชนม์เจริญ ชมพูนุท ในวันที่ ๓๐ พฤศจิกายน ๒๕๐๖ ณ.เมรุวัด มกุฎกษัตริยาราม บุตรและธิดาหม่อมเจ้าชนม์เจริญ ได้มาปรึกษาข้าพเจ้า ว่าจะจัดพิมพ์หนังสือแจกเรื่องอะไรจึงจะเหมาะสม และขอให้ข้าพเจ้ารวบรวมเขียนพระประวัติ หม่อมเจ้าชนม์เจริญ ข้าพเจ้าได้แนะให้จัดพิมพ์หนังสือที่เกี่ยวข้องกับพระราชประวัติ ของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวพระมหากษัตริย์พระองค์ที่สามในราชวงศ์จักรี เพราะเห็นว่าพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเป็นพระมหากษัตริย์ ที่ยังมีคนไทยน้อยคนทราบและสนใจถึงพระบรมราชปรีชาญาณ ตลอดจนพระมหากรุณาธิคุณที่ได้พระราชทานไว้ต่อประเทศชาติ ซึ่งทั้งในรัชสมัยของพระองค์และต่อมานั้นมีคุณค่าอย่างยิ่งสำหรับประเทศชาติและชาวไทย โดยเฉพาะพระราชนโยบายในการดำเนินราชกิจที่เกี่ยวกับนโยบายต่างประเทศ จะเห็นได้ว่าแม้แต่ชาวต่างประเทศผู้ซึ่งในรัชสมัยของพระองค์ซึ่งคิดที่จะเอาเปรียบประเทศไทย ก็ต่างยกย่องและเกรงขามในพระปรีชาญาณของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์เสด็จเถลิงราชสมบัติในยามที่ประเทศไทยยังปั่นป่วน อันเป็นผลเนื่องแต่การเสียกรุงศรีอยุธยาต่อพม่า และยังเป็นขณะเวลาที่กำลังเพิ่งจะเริ่มตั้งตัวได้ โดยที่ศึกพม่าก็ยังต้องทำอยู่ และพร้อมๆกันนี้ ภัยจากนโยบายการขยายจักรวรรดิของชาวตะวันตกก็ได้ขยายตัวถึงขีดสุดและคืบหน้าเข้ามาในตะวันออกไกล กำลังจะเป็นภัยต่อชาติไทยอย่างยิ่งใหญ่ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว กลับทรงใช้ภัยทั้งสองประการนี้ให้เป็นประโยชน์เพื่อความปลอดภัยของประเทศชาติ ทรงทำให้ภัยจากการรุกรานของพม่าหมดไป ด้วยการใช้การขยายอาณานิคมของประเทศอังกฤษนั่นเองเป็นเครื่องมือ และพร้อมๆกันนี้ก็ทรงใช้พม่าเป็นเครื่องมือกีดกั้นมิให้ภัยของการขยายอาณานิคมของชาวตะวันตกมาแผ้วพาลราชอาณาจักร พระราชนโยบายต่างประเทศต่างๆของพระองค์จัดได้ว่าเป็นรากฐานของนโยบายการต่างประเทศของไทย ซึ่งสมเด็จพระอนุชาธิราช พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและพระมหากษัตริย์ในรัชสมัยต่อมาทรงดำเนินตามกันมา จนเป็นเหตุให้ประเทศไทยเป็นประเทศเดียวในพื้นที่ถิ่นนี้ที่ดำรงอิสรภาพอยู่ได้ และเป็นประเทศที่ได้รับผลกระทบกระเทือนจากผลของการขยายอาณานิคม ของประเทศตะวันตกน้อยที่สุด พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นพระอัยยิกาของ หม่อมเจ้าชนม์เจริญ หม่อมเจ้าชนม์เจริญทรงเป็นโอรสองค์ที่ ๔ ของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าชมพูนุท กรมขุนเจริญผลพูลสวัสดิ์พระราชโอรสหม่อมเป้าเป็นหม่อมมารดา ประสูติเมื่อวันที่ ๑๒ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๓๔ ตามลำดับดังนี้

๑.พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหลวงชินวร สิริวัฒน์ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า (พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภุชชงค์)

๒.หม่อมเจ้าหญิงสงวนวงศ์วัฒนา

๓.หม่อมเจ้า โสตถิผล

๔.หม่อมเจ้า ชนม์เจริญ

ข้าพเจ้ารู้จักรักใคร่นับถือหม่อมเจ้าชนม์เจริญ ซึ่งข้าพเจ้าเรียกว่าลุงชนม์ ทั้งๆที่ท่านมีศักดิ์เป็นตามาตั้งแต่สมัยที่ข้าพเจ้ายังนุ่งกางเกงติดกัน และติดต่อสัมพันธ์กับท่านตลอดมา นับเป็นเวลาหลายสิบปี ทั้งนี้เพราะว่า

เมื่อพระชนม์ท่านได้ราว ๑ ปี พระบิดาของท่านกรมขุนเจริญผล ทรงพระประชวรหนัก พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จเยี่ยมพระอาการ กรมขุนเจริญผลได้กราบบังคมทูลว่า ท่านได้ทรงนิมนต์ให้พระโอรสพระองค์ใหญ่ คือสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ ซึ่งขณะนั้นทรงผนวชอยู่ให้ทรงลาสิกขาออกมาดูแลน้องๆ แต่พระสังฆราชเจ้าได้ทรงปฏิญาณไว้แล้วว่าจะไม่ทรงลาผนวชจนตลอดพระชนม์ชีพ  ท่านจึงขอทูลเกล้าถวายพระโอรสคือ ลุงโสต (ม.จ.โสตถิผล) กับลุงชนม์เป็นข้าใต้เบื้องพระยุคลบาท ดังนั้นเมื่อกรมชุนเจริญผลสิ้นพระชนม์แล้ว พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงรับลุงชนม์เข้ามาอยู่ในพระบรมมหาราชวัง และเนื่องด้วยลุงชนม์เป็นเจ้านายในรัชกาลเดียว (รัชกาลที่ ๓) กับพระวิมาดาเธอ กรมพระสุธาสินีนาถ (พระอรรคชายาในขณะนั้น) จึงได้พระราชทานให้พระวิมาดาผู้ทรงเป็นย่าของข้าพเจ้า เป็นผู้ปกครองดูแลลุงโสต ลงุชนม์ และพระวิมาดาก็ได้สนองพระมหากรุณาธิคุณตามพระราชกระแสรับสั่งมาจนตลอดพระชนม์ชีพ

ลุงชนม์ประทับอยู่กับพระวิมาดาเธอกรมพระสุทธาสินีนารถ ในพระบรมมหาราชวัง จนกระทั่งทรงโสกัณฑ์ พระวิมาดาจึงได้โปรดให้เสด็จออกมาประทับอยู่นอกพระบรมมหาราชวัง และทรงศีกษาในโรงเรียนมกุฎราชกุมารจนทรงจบหลักสูตร ต่อมาได้ทรงผนวชเป็นสามเณร จนกระทั่งมีพระชนม์ครบจึงทรงผนวช สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรสทรงเป็นพระอุปัชฌาย์ และทรงจำพรรษาอยู่ที่วัดบวรนิเวศวิหาร

ภายหลังที่ทรงลาสิกขาบทแล้ว พระวิมาดาโปรดให้ไปประทับอยู่ที่วังลดาวัลย์ โดยประทานให้สมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงลพบุรีราเมศวร พระโอรสเป็นผู้ทรงอุปการะ และโปรดให้รับราชการในกระทรวงมหาดไทย

ในปี  พ.ศ.๒๔๕๕ ได้ทรงสมรสกับคุณเขียน บุณยมานพ ธิดา คนโตของพระยาสัตยพรตสุนันนท์ ผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ มีโอรส ธิดา ๑๒ คน กับหม่อมเขียน ๑๐ คน และหม่อมเรียมอีก ๒ คน

๑.ม.ร.ว.หญิง ชมพู

๒.ม.ร.ว.หญิง ฟูผล

๓.ม.ร.ว.ชนม์สวัสดิ์

๔.ม.ร.ว.มนัศปรีดี

๕.ม.ร.ว.หญิง ฉวีเฉลิม

๖.ม.ร.ว.เสริมจิต

๗.ม.ร.ว.ชิดฉันท์ (ถึงแก่กรรม)

๘.ม.ร.ว.จันทร์ศรี (ชัยวัฒน์) (ในหม่อมเรียม ชมพูนุท)

๙.ม.ร.ว.หญิง ฤดีมน

๑๐.นาวาอากาศตรี ม.ร.ว.อนุผลพัฒน์ (ในหม่อมเรียม ชมพูนุท)

๑๑.ม.ร.ว.วัฒนากร

๑๒.ม.ร.ว.อนุจรจรัส

เมื่อ พ.ศ.๒๔๔๘ ลุงชนม์ ทรงลาออกจากราชการมาประกอบธุรกิจส่วนพระองค์ ต่อมาตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๐๐ เริ่มประชวรด้วยโรคพระหทัย และประชวรกระเสาะกระแสะเรื่อยมา โดยพระอาการดีบ้างทรุดบ้างตลอดมา จนกระทั่งวันศุกร์ที่ ๒๓ สิงหาคม ๒๕๐๖ ได้สิ้นพระชนม์ชีพที่บ้าน เลขที่ ๕๐๗/๓ ถนนศรีอยุธยา พญาไท

ยศที่ได้ทรงรับ

พ.ศ.๒๔๖๐                 มหาดเล็กสำรอง

พ.ศ.๒๔๖๑                 มหาดเล็กพิเศษ

พ.ศ.๒๔๖๓                 รองหุ้มแพร

พ.ศ.๒๔๖๖                 หุ้มแพร

พ.ศ.๒๔๖๙                 สำรองอำมาตย์เอก

ตำแหน่ง

พ.ศ.๒๔๕๔                 เสมียนมหาดไทยมณฑลปราจีน

พ.ศ.๒๔๕๕                 รองปลัด ฉะเชิงเทรา

พ.ศ.๒๔๕๗                 นักเรียนปกครอง

พ.ศ.๒๔๕๗                 รองปลัด ระยอง

พ.ศ.๒๔๕๘                 รองเวรกระทรวงมหาดไทย

พ.ศ.๒๔๖๙ – ๒๔๗๔ ปลัดกรม กระทรวงมหาดไทย

พ.ศ.๒๔๗๖                 เสมียนตรามณฑลอุดรธานี

พ.ศ.๒๔๗๗                 นายอำเภอบ้านผือ อุดรธานี

พ.ศ.๒๔๗๘                 นายอำเภอหมากแข็ง อุดรธานี

พ.ศ.๒๔๘๐                 ปลัดจังหวัดพิจิตร

พ.ศ.๒๔๘๑                 นายอำเภอกะเปอร์ จังหวัดระนอง

พ.ศ.๒๔๘๒                 ปลัดกรม กรมมหาดไทย

เครื่องราชอิสสริยภรณ์

พ.ศ.๒๔๖๒                 เหรียญรัตนาภรณ์ชั้น ๕

พ.ศ.๒๔๖๔                 ตรามงกุฎสยามชั้น ๕

พ.ศ.๒๔๖๗                 ตราช้างเผือกชั้น ๕

พ.ศ.๒๔๗๓                 ตรามงกุฎสยามชั้น ๔

พ.ศ.๒๔๘๐                 (จ.ป.๔) ตราช้างเผือกชั้น ๔

ดังได้กล่าวแล้วว่า ข้าพเจ้าสนิทสนมกับท่านมานาน ตลอดจนท่านได้เคยเสด็จมาช่วยเหลือทำงานให้ข้าพเจ้า จึงพอจะกล่าวได้ว่า ข้าพเจ้ารู้จักท่านดี ลุงชนม์มีพระนิสัยเงียบสุขุมและอ่อนโยน ไม่ค่อยชอบยุ่งกับคนอื่น แต่พร้อมๆกันนี้ มิใช่ว่าท่านจะเป็นคนที่อ่อน ตรงกันข้าม ท่านเป็นผู้ที่รักษาเกียรติตนอย่างยิ่ง เพราะว่าเมื่อท่านมีความคิดเห็นของตนอย่างไร ในเมื่อท่านเห็นว่าท่านถูก ท่านก็มักจะรักษาไว้ไม่ค่อยจะโอนอ่อนผ่อนให้ใครง่ายๆ ชีวิตของท่านก็คล้ายๆกับพระนิสัย คือท่านไม่เคยรุ่งโรจน์เฟื่องฟูจนเหลือเฟือ แต่ท่านก็ไม่ทำความเสียหาย ไม่ทำให้ใครต้องเดือดร้อน ท่านเป็นคนที่ต้องต่อสู้กับภาวะของชีวิตมาตลอดพระชนม์ชองท่าน ดังเช่นที่บิดาผู้มีบุตรมากส่วนใหญ่ที่ต้องเผชิญ ในเมื่อท่านมาสิ้นพระชนม์ลง จึงเป็นที่เศร้าโศกของญาติมิตรที่คุ้นเคยรักใคร่ท่านเป็นอย่างยิ่ง

ภาณุพันธุ์

คัดลอกโดย ม.ล.ชาญโชติ ชมพูนุท

๒๒ ธันวาคม ๒๕๕๘

 

 

แก้ไขล่าสุด ใน วันอังคารที่ 22 ธันวาคม 2015 เวลา 18:04 น.
 

พระธรรมเทศนาเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว

พิมพ์ PDF

พระธรรมเทศนาเฉลิมพระเกียรติ

 

พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว

พระราชนิพนธ์ใน

 

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

(ตอนที่ ๑)


พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธ์ยุคล โปรดให้พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานพะราชทานเพลิงศพ “ หม่อมเจ้าชนม์เจริญ ชมพูนุท” ณ.เมรุวัดมกุฏกษัตริยาราม วันที่ ๓๐ พฤศจิกายน ๒๕๐๖

เนื่องด้วยจะได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า พระราชทานเพลิงศพ  หม่อมเจ้าชนม์เจริญ ชมพูนุท ในวันที่ ๓๐ พฤศจิกายน ๒๕๐๖ ณ.เมรุวัด มกุฎกษัตริยาราม บุตรและธิดาหม่อมเจ้าชนม์เจริญ ได้มาปรึกษาข้าพเจ้า ว่าจะจัดพิมพ์หนังสือแจกเรื่องอะไรจึงจะเหมาะสม และขอให้ข้าพเจ้ารวบรวมเขียนพระประวัติ หม่อมเจ้าชนม์เจริญ ข้าพเจ้าได้แนะให้จัดพิมพ์หนังสือที่เกี่ยวข้องกับพระราชประวัติ ของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวพระมหากษัตริย์พระองค์ที่สามในราชวงศ์จักรี เพราะเห็นว่าพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเป็นพระมหากษัตริย์ ที่ยังมีคนไทยน้อยคนทราบและสนใจถึงพระบรมราชปรีชาญาณ ตลอดจนพระมหากรุณาธิคุณที่ได้พระราชทานไว้ต่อประเทศชาติ ซึ่งทั้งในรัชสมัยของพระองค์และต่อมานั้นมีคุณค่าอย่างยิ่งสำหรับประเทศชาติและชาวไทย โดยเฉพาะพระราชนโยบายในการดำเนินราชกิจที่เกี่ยวกับนโยบายต่างประเทศ จะเห็นได้ว่าแม้แต่ชาวต่างประเทศผู้ซึ่งในรัชสมัยของพระองค์ซึ่งคิดที่จะเอาเปรียบประเทศไทย ก็ต่างยกย่องและเกรงขามในพระปรีชาญาณของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์เสด็จเถลิงราชสมบัติในยามที่ประเทศไทยยังปั่นป่วน อันเป็นผลเนื่องแต่การเสียกรุงศรีอยุธยาต่อพม่า และยังเป็นขณะเวลาที่กำลังเพิ่งจะเริ่มตั้งตัวได้ โดยที่ศึกพม่าก็ยังต้องทำอยู่ และพร้อมๆกันนี้ ภัยจากนโยบายการขยายจักรวรรดิของชาวตะวันตกก็ได้ขยายตัวถึงขีดสุดและคืบหน้าเข้ามาในตะวันออกไกล กำลังจะเป็นภัยต่อชาติไทยอย่างยิ่งใหญ่ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว กลับทรงใช้ภัยทั้งสองประการนี้ให้เป็นประโยชน์เพื่อความปลอดภัยของประเทศชาติ ทรงทำให้ภัยจากการรุกรานของพม่าหมดไป ด้วยการใช้การขยายอาณานิคมของประเทศอังกฤษนั่นเองเป็นเครื่องมือ และพร้อมๆกันนี้ก็ทรงใช้พม่าเป็นเครื่องมือกีดกั้นมิให้ภัยของการขยายอาณานิคมของชาวตะวันตกมาแผ้วพาลราชอาณาจักร พระราชนโยบายต่างประเทศต่างๆของพระองค์จัดได้ว่าเป็นรากฐานของนโยบายการต่างประเทศของไทย ซึ่งสมเด็จพระอนุชาธิราช พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและพระมหากษัตริย์ในรัชสมัยต่อมาทรงดำเนินตามกันมา จนเป็นเหตุให้ประเทศไทยเป็นประเทศเดียวในพื้นที่ถิ่นนี้ที่ดำรงอิสรภาพอยู่ได้ และเป็นประเทศที่ได้รับผลกระทบกระเทือนจากผลของการขยายอาณานิคม ของประเทศตะวันตกน้อยที่สุด พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นพระอัยยิกาของ หม่อมเจ้าชนม์เจริญ หม่อมเจ้าชนม์เจริญทรงเป็นโอรสองค์ที่ ๔ ของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าชมพูนุท กรมขุนเจริญผลพูลสวัสดิ์พระราชโอรสหม่อมเป้าเป็นหม่อมมารดา ประสูติเมื่อวันที่ ๑๒ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๓๔ ตามลำดับดังนี้

๑.พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหลวงชินวร สิริวัฒน์ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า (พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภุชชงค์)

๒.หม่อมเจ้าหญิงสงวนวงศ์วัฒนา

๓.หม่อมเจ้า โสตถิผล

๔.หม่อมเจ้า ชนม์เจริญ

ข้าพเจ้ารู้จักรักใคร่นับถือหม่อมเจ้าชนม์เจริญ ซึ่งข้าพเจ้าเรียกว่าลุงชนม์ ทั้งๆที่ท่านมีศักดิ์เป็นตามาตั้งแต่สมัยที่ข้าพเจ้ายังนุ่งกางเกงติดกัน และติดต่อสัมพันธ์กับท่านตลอดมา นับเป็นเวลาหลายสิบปี ทั้งนี้เพราะว่า

เมื่อพระชนม์ท่านได้ราว ๑ ปี พระบิดาของท่านกรมขุนเจริญผล ทรงพระประชวรหนัก พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จเยี่ยมพระอาการ กรมขุนเจริญผลได้กราบบังคมทูลว่า ท่านได้ทรงนิมนต์ให้พระโอรสพระองค์ใหญ่ คือสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ ซึ่งขณะนั้นทรงผนวชอยู่ให้ทรงลาสิกขาออกมาดูแลน้องๆ แต่พระสังฆราชเจ้าได้ทรงปฏิญาณไว้แล้วว่าจะไม่ทรงลาผนวชจนตลอดพระชนม์ชีพ  ท่านจึงขอทูลเกล้าถวายพระโอรสคือ ลุงโสต (ม.จ.โสตถิผล) กับลุงชนม์เป็นข้าใต้เบื้องพระยุคลบาท ดังนั้นเมื่อกรมชุนเจริญผลสิ้นพระชนม์แล้ว พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงรับลุงชนม์เข้ามาอยู่ในพระบรมมหาราชวัง และเนื่องด้วยลุงชนม์เป็นเจ้านายในรัชกาลเดียว (รัชกาลที่ ๓) กับพระวิมาดาเธอ กรมพระสุธาสินีนาถ (พระอรรคชายาในขณะนั้น) จึงได้พระราชทานให้พระวิมาดาผู้ทรงเป็นย่าของข้าพเจ้า เป็นผู้ปกครองดูแลลุงโสต ลงุชนม์ และพระวิมาดาก็ได้สนองพระมหากรุณาธิคุณตามพระราชกระแสรับสั่งมาจนตลอดพระชนม์ชีพ

ลุงชนม์ประทับอยู่กับพระวิมาดาเธอกรมพระสุทธาสินีนารถ ในพระบรมมหาราชวัง จนกระทั่งทรงโสกัณฑ์ พระวิมาดาจึงได้โปรดให้เสด็จออกมาประทับอยู่นอกพระบรมมหาราชวัง และทรงศีกษาในโรงเรียนมกุฎราชกุมารจนทรงจบหลักสูตร ต่อมาได้ทรงผนวชเป็นสามเณร จนกระทั่งมีพระชนม์ครบจึงทรงผนวช สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรสทรงเป็นพระอุปัชฌาย์ และทรงจำพรรษาอยู่ที่วัดบวรนิเวศวิหาร

ภายหลังที่ทรงลาสิกขาบทแล้ว พระวิมาดาโปรดให้ไปประทับอยู่ที่วังลดาวัลย์ โดยประทานให้สมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงลพบุรีราเมศวร พระโอรสเป็นผู้ทรงอุปการะ และโปรดให้รับราชการในกระทรวงมหาดไทย

ในปี  พ.ศ.๒๔๕๕ ได้ทรงสมรสกับคุณเขียน บุณยมานพ ธิดา คนโตของพระยาสัตยพรตสุนันนท์ ผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ มีโอรส ธิดา ๑๒ คน กับหม่อมเขียน ๑๐ คน และหม่อมเรียมอีก ๒ คน

๑.ม.ร.ว.หญิง ชมพู

๒.ม.ร.ว.หญิง ฟูผล

๓.ม.ร.ว.ชนม์สวัสดิ์

๔.ม.ร.ว.มนัศปรีดี

๕.ม.ร.ว.หญิง ฉวีเฉลิม

๖.ม.ร.ว.เสริมจิต

๗.ม.ร.ว.ชิดฉันท์ (ถึงแก่กรรม)

๘.ม.ร.ว.จันทร์ศรี (ชัยวัฒน์) (ในหม่อมเรียม ชมพูนุท)

๙.ม.ร.ว.หญิง ฤดีมน

๑๐.นาวาอากาศตรี ม.ร.ว.อนุผลพัฒน์ (ในหม่อมเรียม ชมพูนุท)

๑๑.ม.ร.ว.วัฒนากร

๑๒.ม.ร.ว.อนุจรจรัส

เมื่อ พ.ศ.๒๔๔๘ ลุงชนม์ ทรงลาออกจากราชการมาประกอบธุรกิจส่วนพระองค์ ต่อมาตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๐๐ เริ่มประชวรด้วยโรคพระหทัย และประชวรกระเสาะกระแสะเรื่อยมา โดยพระอาการดีบ้างทรุดบ้างตลอดมา จนกระทั่งวันศุกร์ที่ ๒๓ สิงหาคม ๒๕๐๖ ได้สิ้นพระชนม์ชีพที่บ้าน เลขที่ ๕๐๗/๓ ถนนศรีอยุธยา พญาไท

ยศที่ได้ทรงรับ

พ.ศ.๒๔๖๐                 มหาดเล็กสำรอง

พ.ศ.๒๔๖๑                 มหาดเล็กพิเศษ

พ.ศ.๒๔๖๓                 รองหุ้มแพร

พ.ศ.๒๔๖๖                 หุ้มแพร

พ.ศ.๒๔๖๙                 สำรองอำมาตย์เอก

ตำแหน่ง

พ.ศ.๒๔๕๔                 เสมียนมหาดไทยมณฑลปราจีน

พ.ศ.๒๔๕๕                 รองปลัด ฉะเชิงเทรา

พ.ศ.๒๔๕๗                 นักเรียนปกครอง

พ.ศ.๒๔๕๗                 รองปลัด ระยอง

พ.ศ.๒๔๕๘                 รองเวรกระทรวงมหาดไทย

พ.ศ.๒๔๖๙ – ๒๔๗๔ ปลัดกรม กระทรวงมหาดไทย

พ.ศ.๒๔๗๖                 เสมียนตรามณฑลอุดรธานี

พ.ศ.๒๔๗๗                 นายอำเภอบ้านผือ อุดรธานี

พ.ศ.๒๔๗๘                 นายอำเภอหมากแข็ง อุดรธานี

พ.ศ.๒๔๘๐                 ปลัดจังหวัดพิจิตร

พ.ศ.๒๔๘๑                 นายอำเภอกะเปอร์ จังหวัดระนอง

พ.ศ.๒๔๘๒                 ปลัดกรม กรมมหาดไทย

เครื่องราชอิสสริยภรณ์

พ.ศ.๒๔๖๒                 เหรียญรัตนาภรณ์ชั้น ๕

พ.ศ.๒๔๖๔                 ตรามงกุฎสยามชั้น ๕

พ.ศ.๒๔๖๗                 ตราช้างเผือกชั้น ๕

พ.ศ.๒๔๗๓                 ตรามงกุฎสยามชั้น ๔

พ.ศ.๒๔๘๐                 (จ.ป.๔) ตราช้างเผือกชั้น ๔

ดังได้กล่าวแล้วว่า ข้าพเจ้าสนิทสนมกับท่านมานาน ตลอดจนท่านได้เคยเสด็จมาช่วยเหลือทำงานให้ข้าพเจ้า จึงพอจะกล่าวได้ว่า ข้าพเจ้ารู้จักท่านดี ลุงชนม์มีพระนิสัยเงียบสุขุมและอ่อนโยน ไม่ค่อยชอบยุ่งกับคนอื่น แต่พร้อมๆกันนี้ มิใช่ว่าท่านจะเป็นคนที่อ่อน ตรงกันข้าม ท่านเป็นผู้ที่รักษาเกียรติตนอย่างยิ่ง เพราะว่าเมื่อท่านมีความคิดเห็นของตนอย่างไร ในเมื่อท่านเห็นว่าท่านถูก ท่านก็มักจะรักษาไว้ไม่ค่อยจะโอนอ่อนผ่อนให้ใครง่ายๆ ชีวิตของท่านก็คล้ายๆกับพระนิสัย คือท่านไม่เคยรุ่งโรจน์เฟื่องฟูจนเหลือเฟือ แต่ท่านก็ไม่ทำความเสียหาย ไม่ทำให้ใครต้องเดือดร้อน ท่านเป็นคนที่ต้องต่อสู้กับภาวะของชีวิตมาตลอดพระชนม์ชองท่าน ดังเช่นที่บิดาผู้มีบุตรมากส่วนใหญ่ที่ต้องเผชิญ ในเมื่อท่านมาสิ้นพระชนม์ลง จึงเป็นที่เศร้าโศกของญาติมิตรที่คุ้นเคยรักใคร่ท่านเป็นอย่างยิ่ง

ภาณุพันธุ์

คัดลอกโดย ม.ล.ชาญโชติ ชมพูนุท

๒๒ ธันวาคม ๒๕๕๘

แก้ไขล่าสุด ใน วันอาทิตย์ที่ 24 มกราคม 2016 เวลา 16:08 น.
 

พระธรรมเทศนาเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ตอน ๒

พิมพ์ PDF

พระธรรมเทศนาเฉลิมพระเกียรติ

พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว

พระราชนิพนธ์ใน

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

(ตอนที่ ๒)

คำไว้อาลัย ของ

พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเฉลิมพลทิฆัมพร

พระงค์เจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอนุสรมงคลการ

เกือบจะเรียกได้ว่า นับแต่ข้าพเจ้าลืมตาขึ้นดูโลก ก็ได้รู้จักกับบุคคลสองท่าน พ่อและแม่รับสั่งว่าเป็นญาติสนิท องค์หนึ่งใหญ่โตสูงใหญ่และดำ อีกองค์หนึ่งตรงกันข้าม ผอมและขาวราวกับลมจะพัดปลิวไป และทั้งสององค์เป็นญาติสนิทของข้าพเจ้าทั้งสองจริงๆ เพราะทรงเป็นโอรสของพระองค์เจ้าชายชมพูนุท กรมหมื่นเจริญผลพูลสวัสดิ์ พระโอรสในสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว นับตามศักดิ์เป็นพระปิตุลาของย่าของข้าพเจ้า (พระวิมาดาเธอฯ กรมพระสุทธาสินีนารถ) องค์หนึ่งทรงพระนามว่า หม่อมเจ้าโสตถิผล และอีกองค์หนึ่งทรงพระนาม หม่อมเจ้าชนม์เจริญ ทั้งสององค์เรียกท่านว่า ลุงโสต และลุงชนม์

ในที่นี้ขออธิบายอะไรบางอย่างเพื่อ ให้เป็นที่แน่ชัดสักเล็กน้อยเพื่อกันลืมไว้ว่า ในราชตระกูลเจ้านายในพระราชวงศ์ทรงนับเรียกญาติกันอย่างหนึ่งที่แปลกไปกว่าบุคคลสามัญ ซึ่งหากจะนับเรียงญาติกัน ในถานะที่ท่านลุงโสตและท่านลุงชนม์ทรงเป็นญาติทางฝ่ายบิดาของข้าพเจ้าก็ควรเรียกว่าอา เพราะมีพระชนม์อ่อนกว่าพ่อ แต่ที่เรียกว่าลุง ก็โดยถือกันเป็นประเพณีในเมื่อเจ้านายองค์ใดองค์หนึ่งมีผู้ให้กำเนิด เป็นเจ้าในพระราชวงศ์ด้วยกันแล้ว ก็มักจะไม่นับเรียกตามศักดิ์ของฝ่ายที่มีศักดิ์สูงกว่า พ่อทรงเป็นเจ้าฟ้า ส่วนแม่ทรงเป็นพระองค์เจ้า จึงนับลุงทั้งสองเข้าผนวกในญาติฝ่ายนั้น ซึ่งความจริงก็เป็นญาติด้วยกันทั้งสองฝ่ายด้วยประการฉะนี้

ข้าพเจ้าได้สนิทสนมกับลุงทั้งสององค์มาอย่างเท่าเทียมกัน เพราะทั้งสองพระองค์เจริญพระชนม์มาในอาณัติของพ่อ  จึงเป็นที่รักสนิทสนมเล่นหัว โดยท่านทรงเป็นผู้แนะนำให้ข้าพเจ้าทั้งสองได้รับความสนุกสนานเพลิดเพลินใจมาเป็นอย่างดี ท่านลุงโสตทรงมี  สุรเสียงดัง โปรดการช่าง  ส่วนท่านลุงชนม์เรียบร้อย โปรดเล่านิทานเรื่องต่างๆอย่างสนุกสนานเป็นการตรงกันข้ามกับเชษฐาของท่าน ข้าพเจ้าทั้งสองจึงได้สนิทสนมในฐานะญาติสนิทในครัวเรือน และมีความรักใคร่เป็นอย่างยิ่ง ทั้งนี้สืบเนื่องลงมาจนถึงลูกๆของท่าน ก็ได้รับอุปการบางคนมาเป็นเพื่อนเล่นสนิทเป็นกันเองด้วย ทั้งสององค์ทรงรับราชการในกระทรวงมหาดไทย แต่กระนั้นก็คอยติดตามและได้พบปะกันอยู่เสมอ เพราะพ่อของข้าพเจ้าก็รับราชการในกระทรวงนั้น ส่วนใหญ่ประทับอยู่หัวเมือง เจ้าในพระราชวงศ์ไม่ทรงมีอภิสิทธิ์ในทางราชการ พ่อของเราทั้งสองทรงเป็นเทศาภิบาลมณฑลนครศรีธรรมราช ลุงโสตฯ และลงชนม์ทรงเป็นนายอำเภอ เมื่อพ่อได้ทรงเลื่อนพระยศเป็นเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ลุงชนม์ยังทรงเป็นนายอำเภออยู่ต่างจังหวัด และข้าพเจ้าทั้งสองถูกส่งไปศึกษาต่างประเทศจึงได้ห่างเหินกันไปชั่วขณะหนึ่ง นับเป็นเวลานานโขอยู่ แต่เมื่อกลับมา ความเป็นญาติ ความรักใคร่สนิทสนมก็กลับมาใหม่โดยไม่ต้องมีใครมาแนะนำ เมื่อเราทั้งสองเดินทางตุหรัตตุเหร่ไปตามปะสาคนหนุ่ม เพื่อเข้าป่ายิงสัตว์และชมภูมิประเทศบ้านเมืองไปโดยทั่ว เมื่อไปถึงจังหวัดอุดรก็ได้ไปพบลุงชนม์ทรงเป็นนายอำเภออยู่ที่นั่น และเราก็ได้อาศัยเรือนนายอำเภออันโกโรโกโส เสาโย้พื้นลั่นเป็นที่อาศัยคนละหลายๆเดือน และคนละหลายๆครั้ง ได้ร่วมนอนร่วมกินอยู่กับบุคคลในเครือญาติของท่าน และได้รับความสนุกสนานเพลิดเพลินอย่างชนิดจะลืมเสียไม่ได้เลยในชีวิตนี้ ทั้งๆที่ตกอยู่ในฐานะลำบากอย่างเหลือแสน เพราะครั้งกระนั้นจังหวัดอุดรมิได้เจริญเยี่ยงที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ไม่มีน้ำประปา  บางครั้งแทบจะเรียกได้ว่าไม่มีน้ำอะไรๆทั้งสิ้นเสียเลย ไม่มีแม้แต่ไฟฟ้า ค่ำคืนต้องจุดตะเกียง ไปไหนมาไหนต้องใช้ใต้ เพราะนั่นเป็นเวลาเมื่อสามสิบปีที่ผ่านมาแล้ว ทำให้ข้าพเจ้าทั้งสองได้เรียนรู้ชีวิตของชาวชนบท เพราะลงชนม์ทรงเป็นนายอำเภอหัวเมือง ทรงมีพระชนม์อยู่อย่างข้าราชการหัวเมือง

เมื่อเราทั้งสองออกจากจังหวัด ท่องเที่ยวไปตามที่ต่างๆ จากตัวจังหวัด ลุงชนม์ทรงถือโอกาสเสด็จออกตรวจภูมิประเทศ หอบลูกๆและหม่อมไปด้วยกัน ครั้งนั้นเราไม่ได้ไปกันด้วยรถยนต์แต่ไปด้วยเกวียนเป็นกองคารวานอย่างสนุกสนาน พวกเราต่างมีเกวียนแต่ละเล่ม ส่วนมากบรรทุกของ หรือให้พวกผู้หญิงกับเด็กนั่งไป ส่วนพวกผู้ชายขี่ม้าค่ำไหนนอนนั่น ว่ากันกลางป่ากลางดงโดยไม่อาจกำหนดเลือกที่ได้ พอตกเย็นก็ตั้งค่าย ใช้เกวียนรายรอบ ให้สัตว์พาหนะและคนนอนตรงกลาง สุมไฟไว้รอบๆอีกทีหนึ่งเหมือนในหนัง แต่เราก็ไม่ได้ทำเพื่อความโก้เก๋ตามแบบภาพยนตร์อย่างคนในสมัยนี้ทำกันหรอก เพราะครั้งกระนั้น หากไม่ทำเช่นนั้นแล้ว เสือก็จะมาตะครุบไปกินอย่างแน่นอน การเดินทางของเราแม้แต่ระยะไม่ไกลนัก ในจังหวัดเดียวกันและจังหวัดใกล้เคียงก็ต้องใช้เวลาแรมเดือนจึงจะไปได้รอบ ท่านลุงชนม์ทรงตรวจราชการของท่าน จับโจรผู้ร้ายไปตามเรื่องซึ่งเราก็พลอยร่วมในความตื่นเต้นนั้นด้วย ส่วนใหญ่พวกเราหนุ่มๆมักออกล่าสัตว์ ท่านลุงชนม์นับว่าเป็นครูในทางที่เดี๋ยวนี้เรียกว่านิยมไพรให้ด้วย เพราะข้าราชการหัวเมืองจำเป็นต้องมีความรู้ในเรื่องนี้เป็นอย่างดี ในสมัยนั้นไม่มีรถจิ๊บ จะใช้เป็นพาหนะบุกบั่นเกวียนแสนจะช้า เดินทางไปตามทางที่ไม่ใช่ถนน เราเที่ยวไปถั่วเกือบทุกแห่งในจังหวัดนั้นและจังหวัดใกล้เคียง บางครั้งก็ประสบอุบัติเหตุขณะที่ต้องขึ้นเขาสูงชัน เกวียนพลั้งพลาดลงมาพังยับเยินจนดูเสมือนกองไม้กองหนึ่ง แต่แล้วในไม่ช้าเราก็สามารถซ่อมยานวิเศษให้กลับทรงรูปดีดังเก่าได้ ที่เรียกว่ายานวิเศษนั้นก็เนื่องด้วย มันเป็นยาน ของไทยที่เหมาะสมกับภูมิประเทศกันดาร ยิ่งกว่ายานใดๆทั้งสิ้น เพราะเรามีของอาหลั่ยอยู่ทุกหนทุกแห่ง เพียงแต่เอามีดหรือขวานไปสับฟันมา ผูกโน้นพันนี่เข้าเดี๋ยวเดียวก็กลับเป็นยานที่แข็งแรงบรรทุกของบรรทุกคนเดินทางกันต่อไปได้แล้ว

ในบางครั้งเราก็จะใช้เรือเล็กๆ เล็กจนน่ากลัวที่สุดสำหรับลำแม่น้ำโขงที่กว้างใหญ่และเชียวกรากล่องไปตามแก่งด้วยกัน จึงนับได้ว่าลุงทั้งสองเป็นเพื่อนร่วมเป็นร่วมตายมาด้วยกันด้วย เพราะขณะนั้นท่านลุงโสตทรงออกจากราชการแล้ว และติดตามไปกับเราด้วย เราจึงได้ลุงทั้งสองเป็นมัคคุเทศที่ชำนาญยิ่งทั้งสององค์ เราบุกบั่นกันไปทุกหนแห่ง ปีนขึ้นไปถึงยอดภูสดึงในครั้งที่เอ่ยถึงชื่อนี้ยังไม่มีคนรู้จัก เราขึ้นไปนอนอยู่บนยอดเขาคนละหลายๆวัน บางครั้งก็ข้ามเขาไปเที่ยวในประเทศซึ่งปัจจุบันนี้เป็นประเทศลาว กินเหล้าข้าวเหนียวที่ใช้เป็นเชื้อเพลิงหุงข้าวต้มแกงได้เป็นอย่างดี  มันเป็นความสุข ความสนุกที่เป็นกำไรชีวิตอย่างสูงสุดที่เราเคยได้รับมา และจะไม่มีวันลืมได้เลยในชั่วชีวิตนี้ ท่านลุงทั้งสององค์ต่างก็เคยได้ช่วยหาเห็บที่กัดกินเนื้อออกให้พ้นจากความทุกข์ เด็ดทากอันน่าเกลียดน่ากลัวที่สูบเลือดเนื้อ ครอบครัวของท่านหุงข้าวต้มแกงเลี้ยงดูให้อิ่มเอิบโดยไม่คิดเหนื่อยยาก จนเราทั้งสองดูเสมือนว่าได้ละลายเข้าไปอยู่ในครอบครัวของท่าน ไม่ใช่เพียงญาติเปล่า ๆ เราต้องการอะไร หรือจะไปไหน ท่านก็หาให้และไปด้วย ด้วยพระทัยยินดีร่วมสนุกสนานโดยไม่มีการเหนื่อยเหน็จกันเลย

แต่ขณะนี้ท่านทรงจากไปจากที่ๆ เราจะเลือกเวลาไปร่วมสนุกกับท่านได้แล้ว จนกว่าจะถึงกาลอันเป็นไปตามธรรมชาติของแต่ละบุคคล เราจึงเหลืออยู่แต่ความทรงจำ และความรักที่หากพยายามอย่างไรก็คงสลัดทิ้งไปเสียไม่ได้ เราทั้งสองขอบอกกับทุกๆคน ว่าเราคิดถึงลุงโสต ลุงชนม์ทุกๆครั้งที่เห็นใบไม้สีขียว ที่เห็นห้วยธารน้ำไหล ที่ได้ยินเสียงของป่าและล้อเกวียนที่เห็นแสงแดดที่แผดเผาเรือนร่างของเราให้ร้อน และสายฝนที่ตกลงมาเปียกปอนเรือนร่าง เพราะลุงทั้งสองได้เคยประทับเคียงข้างเรามาในวัยแรกเริ่มของชีวิตนั่นเอง

ด้วยสัจจะของข้าพเจ้าสองคนพี่น้องที่ได้สร้างบุญกุศลประกอบความดีมา ขอเป็นพลานิสงส์ดลบันดาลให้ท่านลงโสตลุงชนม์ผู้เสด็จล่วงลับไปก่อนแล้วจงทรงทราบโดยญาณวิถีทางใดทางหนึ่ง ว่าเราทั้งสองรักท่านเหลือเกิน และขอพลานิสงส์นี้ดลบันดาลให้ทรงรับความสุขตามอัตภาพในสัมปรายภพโน้น จนกว่าที่เราจะได้พบกันใหม่ หากอาจเป็นไปได้

เฉลิมพลทิฆัมพร  /  อนุสรมงคลการ

คัดลอกโดย ม.ล.ชาญโชติ ชมพูนุท ๒๒ ธันวาคม ๒๕๕๘

 

 

แก้ไขล่าสุด ใน วันอังคารที่ 22 ธันวาคม 2015 เวลา 21:13 น.
 


หน้า 276 จาก 561
Home

About Us

ศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ (ศบม.) เป็นองค์กรที่พัฒนาและจัดทำโครงการเพื่อทำประโยชน์ให้สังคม เป็นองค์กรสนับสนุนการดำเนินงานของภาครัฐ ช่วยแก้ปัญหาผู้ประกอบการภาคธุรกิจบริการที่ขาดแคลนบุคลากรที่มีมาตรฐานในการให้บริการ
อ่านเพิ่มเติม

มูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ ์

 iHDC Profile
บัญชีรายชื่อกรรมการ
ใบสำคัญแสดงการจดทะเบียน การเปลี่ยนแปลงกรรมการของมูลนิธิ
เอกสารประชาสัมพันธ์ โครงการ HMTC.pdf
เอกสารแนะนำโครงการ HMTC 1.pdf
เอกสารโครงการ HMTC 2 คุณสมบัติผู้เข้าร่วมโครงการ.pdf
iHDC นิติบุคคล.pdf
iHDC บุคคล.pdf
iHDC บุคคลเครือข่าย.pdf
รายงานการประชุม 6 มีนาคม 2560.pdf
ข้อบังคับมูลนิธิ
ใบสำคัญแสดงการจดทะเบียนจัดตั้งมูลนิธิ
Ihdc-Profile and Roadmap 2016-2019 Mar 23 2560.pdf
รายงานการประชุมใหญ่คณะกรรมการมูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ 2559.pdf
คำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ สาขาวิชาชีพ.pdf
รายงานการประชุมใหญ่วันที่ 18 ธ ค 2558 v 3.pdf
รายงานการประชุม วันที่ 24 ธันวาคม 2557 updated 4 มีนาคม 2558.pdf
iHDC-invitation Letter.doc
iHDC-Member Form Thai.doc
iHDC-Member Form English.doc
รายงานการประชุมกรรมการมูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ วันที่ 15 มกราคม 2556 ฉบับสมบูรณ์


thaibetter
พัฒนาประเทศไทยแบบทวีคูณ และยั่งยืน ( ททค )

Login


แบบสำรวจ

สถิติเว็บไซด์

สมาชิก : 5644
Content : 3068
เว็บลิงก์ : 26
จำนวนครั้งเปิดดูบทความ : 8747899

facebook

Twitter


ล่าสุด

บทความเก่า