Thaiihdc.org

  • เพิ่มขนาดตัวอักษร
  • ขนาดตัวอักษรปกติ
  • สดขนาดตัวอักษร
Thaiihdc.org

พระธรรมเทศนาเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ตอน ๔

พิมพ์ PDF

พระธรรมเทศนาเฉลิมพระเกียรติ

พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว

พระราชนิพนธ์ใน

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

(ตอนที่ ๔)

“ร่มโพธิ์ของลูก”

๒๓ สิงหาคม๒๕๐๖ ...............พวกเราลูกๆ ของ ท่านพ่อ ได้พบกับความสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ที่สุด เมื่อ ท่านพ่อ ผู้เปรียบเสมือนร่มโพธิ์ที่ให้ความร่มรื่นแก่เราตลอดมาได้จากพวกเราไป ไม่มีความโศกเศร้าอาลัยใดๆ ที่พวกเราเคยได้รับจะยิ่งใหญ่เท่ากับความสูญเสีย ท่านพ่อ ของเราไปในครั้งนี้

ท่านพ่อ เป็นพ่อที่ให้ความรักแก่ลูกๆทุกคน ไม่ว่าชายหรือหญิงอย่างทัดเทียมกัน ทรงปกครองลูกแบบนักประชาธิปไตยโดยแท้ ไม่เคยก้าวล่วงเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับชีวิตส่วนตัวของลูกๆ ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องการเลือกงาน หรือการสมรส นอกจากจะประทานความเห็นชี้แนวทางดำเนินชีวิต เมื่อพวกเราไปทูลขอความเห็นว่าการใดควร การใดไม่ควร

ท่านพ่อ ทรงเป็นนักปกครองแบบประชาธิปไตยไม่เฉพาะแก่ลูกๆ หากแต่ทรงปกครองข้าราชการใต้บังคับบัญชา ตลอดจนประชาชนที่อยู่ในความรับผิดชอบ  ในฐานะที่ทรงเป็นนายอำเภอ เป็นปลัดจังหวัด  แหละแม้นขณะที่ทรงเป็นผู้จัดการบริษัท ก็ทรงถือปฏิบัติในแนวเดียวกับที่ได้ทรงใช้กับลูกๆ  ถือเสมือนข้าราชการหรือพนักงานในบังคับบัญชา ตลอดจนประชาชนทั้งหลายที่อยู่ในความปกครองเป็นญาติสนิท แหละนี่เองที่ทำให้ ท่านพ่อ เป็นที่รักใคร่นับถือของคนทั่วๆไปที่ได้มีส่วนเข้ามาใกล้ชิดติดต่อด้วย จนถึงขนาดที่เรียกองค์ท่านว่า      “ท่านพ่อ” เหมือนกับที่พวกเราลุกๆ ได้เรียกกันจนติดปากตลอดมา

ในยามว่าง ท่านพ่อยังโปรดการดำริหาทางช่วยเหลือราชการด้วยวิธีต่างๆ เช่นได้เคยรวบรวมลูกๆชายหญิงร่วมกับครู นักเรียน ข้าราชการทั้งทหารและพลเรือนในจังหวัดอุดรธานี ฝึกหัดละครและเปิดการแสดงเพื่อเก็บเงินช่วยราชการทหารซื้ออาวุธปืนกลหนัก ให้แก่จังหวัดทหารบกอุดรธานี เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายอำเภอเมืองอุดรธานี จนได้รับหนังสือชมเชยจากกระทรวงเจ้าสังกัดมาแล้ว

ท่านพ่อทรงเอาพระทัยใส่ต่อความเป็นอยู่ของลูกๆอย่างสม่ำเสมอ คอยตักเตือนสั่งสอนให้พวกเราทุกคนประพฤติตนในทางที่ดีงาม และยินดีด้วยเมื่อลูกๆได้ประสบ ลาภ ยศ สรรเสริญ ซึ่งนับว่าเป็นกุศลผลบุญของลูกๆที่ได้มาเกิดเป็นลูกของท่านพ่อ เมื่อเราสูญเสียท่านพ่อ เราก็รู้สึกเสมือนว่า เราสิ้นแล้วซึ่งร่มโพธิ์ สิ่งเดียวซึ่งยังคงจะฝังอยู่ในใจของลูกๆทุกคนก็คือความรักและระลึกในพระกรุณาคุณของท่านพ่อ

ด้วยกุศลบุญราศี  ที่พวกเราลูกๆ ได้ประกอบการบำเพ็ญกุศลในครั้งนี้ และจะได้ประกอบต่อไปในภายหน้า ลูกทุกคนขอถวายเป็นผลานิสงส์ดลบันดาลให้ท่านพ่อได้ทรงรับความสุขสงบยิ่งล้ำในสัมปรายภพนั้นเทอญ

“ลูกทุกคนของพ่อ”

 

คำนำ

พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธ์ยุคล ทรงแจ้งมายังกรมศิลปากรว่า มีพระประสงค์จะจัดพิมพ์หนังสือประทานแจกในงานพระราชทานเพลิงศพ หม่อมเจ้าชนม์เจริญ ชมพูนุท ผู้เป็นพระญาติผู้ใหญ่ใกล้ชิด และทรงพอพระทัยเลือกหนังสือเรื่อง “พระธรรมเทศนา เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว” ซึ่งเป็นพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สำหรับพิมพ์เป็นที่ระลึกในงานนี้ กำหนดงานวันที่ ๓๐ พฤศจิกายน ๒๕๐๖ ณ.เมรุวัดมกุฎกษัตริยาราม

หนังสือพระธรรมเทศนาเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวนี้ ได้เคยพิมพ์มาแล้วครั้งหนึ่งในงานพระเมรุสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ เมื่อ พ.ศ.๒๔๘๑ การพิมพ์ครั้งนี้จึงนับเป็นครั้งที่ ๒

กรมศิลปากรขอถวายอนุโมทนาในพระกุศลราศี ซึ่งพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธ์ยุคล ได้ทรงบำเพ็ญอุทิศแด่ หม่อมเจ้าชนม์เจริญ ชมพูนุท และโปรดให้พิมพ์หนังสือนี้แจกจ่ายเป็นวิทยาทาน ขอพระกุศลทั้งปวงจงสัมฤทธิผลดลบันดาลให้ หม่อมเจ้า   ชนม์เจริญ ชมพูนุท ซึ่งสิ้นชีพตักษัยไปแล้วนั้น ทรงประสบอิฏฐคุณมนุญผลในสัมปรายภพจงทุกประการ เทอญ

กรมศิลปากร

๒๐ พฤศจิกายน ๒๕๐๖

คัดลอกโดย ม.ล.ชาญโชติ ชมพูนุท

 

 

 

 

แก้ไขล่าสุด ใน วันอังคารที่ 22 ธันวาคม 2015 เวลา 23:48 น.
 

พระธรรมเทศนาเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ตอนที่ ๓

พิมพ์ PDF

พระธรรมเทศนาเฉลิมพระเกียรติ

พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว

พระราชนิพนธ์ใน

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

(ตอนที่ ๓)

“ท่านพ่อ”

ข้าพเจ้ามีโอกาสได้รู้จักกับท่าน ม.จ.ชนม์เจริญ ชมพูนุท เมื่อปีที่ ๒๔๙๐ หลังจากรัฐประหารแล้วใหม่ๆ ท่านมาสู่หนังสือพิมพ์เกียรติศักดิ์ ในฐานะผู้จัดการหนังสือพิมพ์ประชาธิปไตย ซึ่งนำมาพิมพ์ที่โรงพิมพ์เกียรติศักดิ์ขณะอยู่ในบริเวณโรงพิมพ์หลักเมือง

ความสนิทสนมอย่างรวดเร็วที่ท่าน ได้ประทานแก่ข้าพเจ้าและคณะในกองบรรณาธิการประชาธิปไตยในครั้งนี้ ในฐานะทรงเป็นผู้จัดการบริษัทสหอุปกรณ์การพิมพ์จำกัดซึ่งเป็นเจ้าของหนังสือพิมพ์ประชาธิปไตย คงจะเป็นเพราะท่านไม่ทรงถือพระองค์เลยแม้กับผู้ซึ่งอยู่ในวัยลูกๆหลานๆ ตลอดเวลาที่ได้อยู่ใกล้ชิดสนิทสนมกัน  ในเวลาต่อมาท่านได้วางพระองค์ จนเป็นเหตุให้คนในกองบรรณาธิการทั้งหมดตลอดจนคนงานอื่นๆเรียกท่านว่า “ท่านพ่อ”  ติดปากจนกระทั่งทุกวันนี้ เมื่อเอ่ยถึง “ท่านพ่อ” ทุกคนทราบทันทีว่าหมายถึงใคร สิ่งที่ประทับใจเราทุกคนแม้ในบัดนี้ก็คือ ความเมตตาปรานีของท่านต่อคนงานทุกคน ตั้งแต่หัวหน้าไปจนถึงเด็กรับใช้ในสำนักงาน ทรงให้ความเป็นกันเองและสนิทสนมเหมือนลูกเหมือนหลาน สิ่งที่ทุกคนในครั้งนั้นจะลืมไม่ได้ก็คือ เหตุการณ์ในสำนักงานของเราเอง กล่าวคือวันหนึ่งพวกเราไม่ค่อยสนุกสนานเหมือนทุกๆวัน บางคนก็นั่งคุยกันเบาๆ  เมื่อท่านเสด็จมาเห็นสภาพเช่นนั้น จึงถามยิ้มๆว่า “พวกนี้ถ้าจะไม่มีตังกินเหล้านะซี” เมื่อได้รับตอบตรงตามที่คาด ท่านก็ควักสตางค์ส่งให้ พร้อมกับบอกก่อนที่จะเสด็จไปว่า “อย่าให้เมานักนะเดี๋ยวจะทำงานไม่ไหว” เมื่อท่านออกจากบริษัทไปแล้ว ทรงมาเยี่ยมพวกเราเสมอ แต่ระยะหลังๆ ได้ทราบว่าสุขภาพไม่สู้จะสมบูรณ์เลยห่างเหินไป จนกระทั่งพวกเราได้รับข่าวอันเศร้าสลดว่า ท่านได้จากพวกเราไปเสียแล้ว ......

ขอผลแห่งกุศลกรรมที่ท่านได้ทรงบำเพ็ญในชาตินี้ จงดลบันดาลให้ท่านได้ไปสู่สุคติในสัมปรายภพนั้นเทอญ

ไสว พรหมมี

บรรณาธิการหนังสือพิมพ์ประชาธิปไตย

คัดลอกโดย ม.ล.ชาญโชติ ชมพูนุท

 

๒๒ ธันวาคม ๒๕๕๘

แก้ไขล่าสุด ใน วันอังคารที่ 22 ธันวาคม 2015 เวลา 22:15 น.
 

ประชุมใหญ่คณะกรรมการมูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์

พิมพ์ PDF

ประชุมใหญ่คณะกรรมการมูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ประจำปี 2558 ในวันที่ 18 ธันวาคม 2558 เวลา 14.00-17.00 น ณ สำนักงานเลขที่  71/39 ถนนบรมราชชนนี แขวงอรุณอมรินทร์ เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ

วาระการประชุม

1.เรื่องเพื่อทราบ

2.รายงานผลการดำเนินงานปี 2558

3.รายงานสถานะการเงิน ณ.ปัจจุบัน

4.พิจารณาแผนการดำเนินงานปี 2559

5.พิจารณาแต่งตั้งผู้ตรวจสอบบัญชี

6.พิจารณาเปิดบัญชีเงินฝากประจำ พร้อมนำเงินจากบัญชีออมทรัพย์โอนมาฝากบัญชีเงินฝากประจำและใช้บัญชีออมทรัพย์เป็นบัญชีสำหรับรายรับรายจ่ายที่ใช้ในกิจกรรมของมูลนิธิฯ รวมถึงค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการมูลนิธิฯ

7.พิจารณาแต่งตั้งคณะทำงานและอำนาจหน้าที่

8.เรื่องอื่นๆ

แก้ไขล่าสุด ใน วันพฤหัสบดีที่ 17 ธันวาคม 2015 เวลา 23:34 น.
 

ASEAN-ASEAR: ยุทธศาสตร์ความร่วมมือ ASEAN-รัสเซีย

พิมพ์ PDF

ASEAN-ASEAR: ยุทธศาสตร์ความร่วมมือ ASEAN-รัสเซีย

เมื่อวันที่ 8-10 ตุลาคมที่ผ่านมา ผมได้เดินทางไปเมืองวลาดิวอสตอค (Vladivostok) ประเทศรัสเซีย เพื่อเข้าร่วมงาน 2 งานคือ“Young Russia-Young ASEAN: Expanding Regional Connections, The 3rd Russia-ASEAN Youth Summit” และใน Russia-ASEAN Expert Forum ซึ่งผมได้รับเกียรติในการเป็นทั้งวิทยากรบรรยาย อาจารย์สอนนักศึกษา และตัวแทนผู้เชี่ยวชาญอาวุโสจากประเทศไทย เพื่อถกแถลงประเด็นสำคัญต่างๆ เช่น การสร้างความร่วมมือระหว่างอาเซียน-รัสเซีย ภาวะเศรษฐกิจไทยปัจจุบันและความร่วมมือรัสเซีย-ไทย เป็นต้น
ในบทความนี้ ผมจึงขอนำเสนอแนวคิดและความเห็นที่ผมได้ให้ไว้ในที่ประชุมดังกล่าว ได้แก่ ข้อเสนอในการสร้างความร่วมมือทางเศรษฐกิจ ระหว่างอาเซียนกับรัสเซียในภูมิภาคตะวันออกไกล สิ่งที่น่าสนใจและเป้าหมายของเมืองวลาดิวอสตอคอันเป็นศูนย์กลางเขตเศรษฐกิจตะวันออกไกลของรัสเซีย และภาพรวมทางเศรษฐกิจของประเทศรัสเซียในปัจจุบัน
จากการประชุมฯ ผมได้เสนอประเด็นความร่วมมือระหว่างอาเซียน-รัสเซียว่า ภูมิภาคตะวันออกไกลหรือเขตสหพันธ์ตะวันออกไกล (Far Eastern Federal District) นี้ ควรจะถูกเรียกว่า ASEAR หรือ "Association of South East Asian Russia" เพื่อให้เกิดความตระหนักว่า รัสเซียไม่ใช่ตะวันตกเท่านั้น แต่มีพื้นที่ที่มีความใกล้ชิดกับเอเชียด้วย ผมเสนอว่าควรจัดทำความร่วมมือใหม่ที่เรียกว่า “ASEAN-ASEAR Cooperation” เพราะภูมิภาคตะวันออกไกลนับเป็นประตูเชื่อมการขนส่งของรัสเซีย กับประเทศในเขตเอเชีย-แปซิฟิก และการขนส่งสินค้าจากต่างประเทศเข้ารัสเซียและเอเชียกลาง
จากข้อมูลของสถานทูตไทยในกรุงมอสโก พบว่า เขตเศรษฐกิจภูมิภาคตะวันออกไกล เป็นเขตที่มีพื้นที่กว้างใหญ่ที่สุดของรัสเซีย มีทรัพยากรธรรมชาติประเภทสินแร่และรัตนชาติเป็นจำนวนมาก อาทิ ทองคำ เพชร ถ่านหิน น้ำมัน ไม้ และทรัพยากรทางทะเล 
ถึงแม้ว่าภาคตะวันออกไกลจะมีขนาดเศรษฐกิจไม่ใหญ่โตเหมือนเขตอื่นๆ กล่าวคือ มีสัดส่วนของจีดีพีเพียงร้อยละ 6 แต่มีความสำคัญในเชิงภูมิเศรษฐกิจเป็นอย่างมาก เนื่องจากมีเมืองท่าวลาดิวอสตอคที่ทำหน้าที่เป็นประตูการค้าเชื่อมรัสเซียกับเขตเศรษฐกิจของประเทศเอเชียแปซิฟิก และประเทศในเอเชียแปซิฟิกก็ใช้เมืองท่านี้ ในการส่งสินค้าเข้ารัสเซียและประเทศในเขตเอเชียกลางด้วย
ความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากร และวัตถุดิบของภาคตะวันออกไกลของรัสเซีย จะเป็นประโยชน์ในการพัฒนาอุตสาหกรรมของไทย และยังตั้งอยู่ไม่ไกลจากท่าเรือขนส่งของมหาสมุทรแปซิฟิก ซึ่งอยู่ในวิสัยที่ไทยจะขนถ่ายวัตถุดิบเข้าประเทศไทยได้ โดยมีต้นทุนค่าขนส่งไม่สูงนัก แต่มีข้อด้อยตรงที่พื้นที่นี้มีประชากรไม่หนาแน่นและกระจัดกระจาย ซึ่งอาจไม่คุ้มทุนที่จะพัฒนาให้เป็นตลาดสินค้าของไทย นอกจากนี้ ยังต้องเผชิญกับการแข่งขันสูงจากสินค้าที่มาจากจีน เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น ซึ่งมีพรมแดนติดกับรัสเซียอีกด้วย
ทั้งนี้ เป้าหมายทางเศรษฐกิจของรัสเซียในการพัฒนาภูมิภาคตะวันออกไกลคือ จะใช้เมืองวลาดิวอสตอคเป็นเมืองศูนย์กลาง ที่จะผลักดันให้เขตเศรษฐกิจตะวันออกไกลของรัสเซียเจริญเติบโต และสามารถก้าวสู่การเป็นโซนเศรษฐกิจพิเศษขั้นสูงได้ โดยทำให้เป็นเมืองท่าที่ปลอดภาษี

นอกจากนี้ ผมยังได้เสนอในการประชุมโต๊ะกลมผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งประกอบด้วยท่านทูตจากรัสเซียและประเทศต่างๆ ในอาเซียน รวมทั้งผู้นำทางการเมือง และผู้นำทางการศึกษาในรัสเซียและอาเซียนว่า เนื่องจากรัสเซียและจีนถูกผลักให้ใกล้ชิดกัน โดยคู่แข่งมหาอำนาจโลกปัจจุบันอย่างสหรัฐอเมริกาและอียู การที่รัสเซียเข้ามาสร้างความสัมพันธ์ที่ลึกซึ้งกับอาเซียน จะช่วยให้เกิดความเจริญรุ่งเรือง ความสมดุลแห่งอำนาจ และความปลอดภัยของภูมิภาค ซึ่งในเรื่องนี้ ประเทศไทยในฐานะเศรษฐกิจขนาดใหญ่อันดับสองของอาเซียน สามารถเล่นบทบาทเป็นดุมล้อของอาเซียน และเป็นผู้นำในการขับเคลื่อนให้เกิดความสัมพันธ์เช่นนี้ได้
ทว่า เศรษฐกิจรัสเซียในปัจจุบันอยู่ในช่วงชะลอตัวมาตั้งแต่ปี 2556 เนื่องจากแรงกดดันทางการเมืองระหว่างประเทศจากสหรัฐอเมริกา กลุ่มประเทศยุโรปและชาติพันธมิตร ประกอบกับตั้งแต่เดือนกรกฎาคมปี 2557 เป็นต้นมา ราคาน้ำมันโลกลดลงอย่างรวดเร็ว ส่งผลทำให้จีดีพีของรัสเซียในไตรมาสที่ 2 ของปี 2558 หดตัวลงร้อยละ 4.6 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ซึ่งรุนแรงกว่าช่วงไตรมาสแรก ที่จีดีพีหดตัวลงร้อยละ 2.2 เศรษฐกิจรัสเซียในปัจจุบันถือว่าซบเซาลงมากที่สุดในรอบ 6 ปี และมีโอกาสกลับไปหดตัวลงอีก หากราคาน้ำมันยังมีแนวโน้มลดลง เพราะน้ำมันนับเป็นสินค้าส่งออกอันดับหนึ่งและเป็นรายได้หลักของรัสเซีย
ด้วยสถานการณ์ที่เช่นนี้ การพัฒนาความร่วมมือระหว่างอาเซียนกับรัสเซีย จึงต้องเป็นไปอย่างระมัดระวัง ในแง่ดีคือ อาเซียนจะมีอำนาจต่อรองมากขึ้น เพราะรัสเซียมีความจำเป็นต้องแสวงหาพันมิตรอื่น เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจของตน แต่เราจำเป็นอย่างยิ่งในการจับตามองเศรษฐกิจรัสเซีย รวมถึงความร่วมมือระหว่างจีนกับรัสเซีย และท่าทีของสหรัฐอเมริกาและอียูที่มีต่อจีนและรัสเซีย เพื่อการวางตัวอย่างเหมาะสมของประเทศไทยและอาเซียน
ผมดีใจที่เป็นตัวแทนในฐานะคนไทย ที่ได้มีโอกาสแสดงความคิดเห็นในเวทีนี้ และผมเชื่อว่าประเทศไทยจะได้ประโยชน์อย่างยิ่ง เพราะผลสัมฤทธิ์ของการประชุมนี้ จะถูกรายงานตรงไปถึงประธานาธิบดีและนักการเมืองคนสำคัญของรัสเซียด้วย
ท้ายที่สุด อาเซียนต้องเตรียมความพร้อมรับมือในทุกสถานการณ์ คือ การรักษาความมีเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ สร้างนวัตกรรม สนับสนุนการทำวิจัยและการพัฒนาอุตสาหกรรม สินค้าและบริการ เพื่อให้สามารถยืนได้ด้วยตัวเอง และมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจได้อย่างต่อเนื่อง
ประเด็นสำคัญคือ การสร้างความมั่นคงทางการเมือง ทั้งในและระหว่างประเทศสมาชิก เพื่อไม่ให้มีประเทศใดเข้ามาแทรกแซงความสัมพันธ์ในกลุ่มประเทศอาเซียนได้ เพราะหาก 10 ประเทศสมาชิกอาเซียน มีความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง อาเซียนจะกลายเป็นจุดเชื่อมโยงระหว่างโลกตะวันตกกับโลกตะวันออก อันสามารถสร้างประโยชน์มากมายให้แก่ประเทศไทยและอาเซียน
ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ
คอลัมน์ : ดร.แดน มองต่างแดน
ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
ประธานสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา (IFD)
แก้ไขล่าสุด ใน วันพฤหัสบดีที่ 17 ธันวาคม 2015 เวลา 12:46 น.
 

ขุดรากถอนโคนนิสัยโกหก เพื่ออนาคตลูก

พิมพ์ PDF

ขุดรากถอนโคนนิสัยโกหก เพื่ออนาคตลูก

เด็ก ๆ กับนิสัยช่างโกหก  มักเป็นสิ่งที่มาควบคู่กันเสมอ คงเป็นเรื่องแปลกและหายากในการที่จะเสาะหาเด็กสักคนหนึ่งหรือคน ๆ หนึ่งซึ่งไม่เคยพูดโกหกเลยมาตลอดทั้งชีวิต  อย่างไรก็ตาม การโกหกของลูกนั้นหาใช่อุปนิสัยที่พ่อแม่ควรเพิกเฉยแต่อย่างใด ตรงกันข้าม ควรหาทางจัดการอย่างเด็ดขาดในทางที่ถูกต้องเหมาะสม

 

เนื่องจากพฤติกรรมการโกหกนั้นนับเป็นพฤติกรรมเชิงลบที่สามารถบ่มเพาะงอกเงยกลายเป็นลักษณะชีวิตของความไม่ซื่อสัตย์ในเรื่องอื่น ๆ แตกแขนงต่อยอดได้ต่อไปในอนาคต รวมไปถึง “ต้นทุนความเสี่ยงของการโกหกนั้นสูงมาก”  เพราะแลกกับอนาคต หรือชีวิตของเราที่เหลือทั้งหมด และคำขอโทษเมื่อถูกจับได้ อาจไม่เพียงพอที่จะซื้อ ‘ศรัทธา’ ที่ผู้อื่นเคย เชื่อมั่น เชื่อมือ เชื่อถือ เชื่อใจ ในตัวเราซึ่งสูญเสียไปแล้ว กลับคืนมาได้  
อัล เดวิด (Al David) อดีตโค้ชและผู้บริหารทีมอเมริกันฟุตบอลที่มีชื่อเสียง ได้กล่าวไว้อย่างน่าคิดว่า “คำโกหกเพียงครั้งเดียว ทำให้ความจริงนับพันมัวหมองไป”
ในอาชีพการทำงาน การโกหก...และ ‘ถูกจับได้’ เพียงครั้งเดียว อาจทำให้อนาคตการทำงาน ชื่อเสียงที่อุตสาห์สะสมไว้ด้วยความเพียรพยายาม ‘ล่มสลาย’ ลง และไม่มีวันรื้อฟื้นกลับมาได้อีกเลย ประตูอนาคตของคนที่มีชื่อเสียงจำนวนไม่น้อย ต้องถูกปิดลงตลอดกาล....เมื่อถูก ‘เปิดโปง’ อาทิ
...เจเนต คุก (Janet Cooke) นักเขียนคนหนึ่งของสำนักข่าววอชิงตัน โพสต์ เธอได้เขียนบทความเรื่อง “โลกของจิมมี่” (Jimmy’s World)  ตีพิมพ์เมื่อวันที่ 28 กันยายน ค.ศ.1980 เล่าเรื่องราวของจิมมี่ เด็กชายวัย 8 ขวบ ซึ่งเป็นรุ่นที่สามของครอบครัวที่ติดเฮโรอีน ในบทความเธอได้นำเสนออย่างละเอียด ทั้งการสัมภาษณ์ การเล่าเรื่องราวต่าง ๆ ได้อย่างน่าสนใจ จนได้รับรางวัลพูลิตเซอร์ (Pulitzer) เมื่อปี ค.ศ.1981 แต่หลังจากนั้น ได้มีการค้นหาเด็กชายจิมมี่ ตามที่เธอกล่าวอ้าง กลับพบว่า ไม่มีตัวตนจริง เป็นเรื่องที่เธอกุขึ้น และเมื่อถูกจับได้ เธอจึงจำใจออกมายอมรับว่า ‘โกหก’ เป็นเรื่องที่แต่งขึ้น จากคำบอกเล่าที่มีความจริงเพียงเล็กน้อย
เมื่อถูกจับได้ ...เท่ากับอนาคตในอาชีพย่อมสิ้นสุดลง เธอถูกให้ออกจากงาน และต้องคืนรางวัลพูลิตเซอร์อันทรงเกียรติที่ได้มา
...แลนซ์ อาร์มสตรอง (Lance Armstrong) นักปั่นจักรยานเจ้าของแชมป์การแข่งขันตูร์เดอฟร็องส์ 7 สมัย ตั้งแต่ปี ค.ศ.1999 ถึง 2005 ความเป็นแชมป์ของเขาสิ้นสุดลง ในปี ค.ศ.2012 เมื่อคณะกรรมการต่อต้านการใช้สารกระตุ้นของสหรัฐอเมริกา (US Anti-Doping Agency, USADA) ตรวจสอบพบว่า เขาใช้สารกระตุ้นผิดกฎหมาย เมื่อจำนนต่อหลักฐาน ในที่สุดเขาได้สารภาพว่า ที่ผ่านมา เขาใช้สารต้องห้ามจริง และยอมรับว่า เป็นไปไม่ได้ที่เขาจะได้แชมป์ทั้ง 7 สมัย ถ้าไม่ได้ใช้สารเหล่านี้
เมื่อถูกจับได้ ...เขาถูกลงโทษห้ามมิให้ลงแข่งขันตลอดชีพ ถูกริบตำแหน่งและรางวัลคืนทั้งหมด 7 สมัยที่ได้รับ  อนาคตในวงการจักรยาน ซึ่งเป็นส่วนสำคัญของชีวิตได้สิ้นสุดลง
การโกหก แท้จริงแล้วเป็นเพียงลักษณะอาการที่แสดงออกมาภายนอกด้วยการพูดในบางสิ่งบางอย่างที่ไม่ใช่ความจริงหรือไม่ตรงกับความเป็นจริง อาจด้วยสาเหตุ เพราะความกลัวการถูกลงโทษ กลัวถูกต่อว่าเนื่องมาจากทำงานผิดพลาดล้มเหลว หรือทำไม่ได้ดังที่พ่อแม่ตั้งใจไว้ กลัวพ่อแม่เสียใจ โดยไม่เคยรับรู้หรือถูกปลูกจิตสำนึกจากพ่อแม่เลยว่าการโกหกเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง  
พ่อแม่จำนวนไม่น้อยที่รู้สึกหงุดหงิดหรือหัวเสียไปกับอาการช่างโกหกของลูก โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีที่ลูกทำผิดแล้วไม่ยอมรับผิดหรือบอกว่าไม่ได้เป็นคนทำ รวมไปถึงเมื่อมีคนข้างเคียงมาฟ้องว่า ลูกของเราเป็นเด็กขี้โกหก พ่อแม่ย่อมอาจรู้สึกเดือดเนื้อร้อนใจ มีความโกรธกับพฤติกรรมดังกล่าวจนอาจแก้ปัญหาพฤติกรรมของลูกโดยใช้อารมณ์นำหน้า เช่น การดุว่า จ้องจับผิด  การลงโทษอย่างรุนแรง  ฯลฯ แทนที่จะค่อย ๆ นั่งลงคิดหาทางปรับเปลี่ยนพฤติกรรมดังกล่าวของลูกด้วยความเข้าใจซึ่งจะสามารถแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นได้อย่างตรงจุดตรงประเด็นมากกว่า  
การพิจารณาเพียงเพราะคำพูดบางอย่างของลูกที่ไม่ตรงกับความเป็นจริงตามที่พ่อแม่เข้าใจ จึงไม่เพียงพอที่จะสามารถตัดสินได้ว่าลูกของเราเป็นเด็กที่ชั่วร้ายนิสัยไม่ดีแต่อย่างใด จนกว่าพ่อแม่จะสามารถหาคำตอบได้ว่าการที่ลูกพูดโกหกหรือพูดไม่เป็นความจริงนั้นแท้จริงแล้วเนื่องมาจากสาเหตุใด ทำไมลูกต้องพูดโกหกในเรื่องนี้กับเรา เป็นต้น เพื่อสามารถหาแนวทางการแก้ปัญหาได้อย่างตรงจุดตรงประเด็นต่อไป
โดยลำดับแรกสุดที่พ่อแม่ควรศึกษาให้เข้าใจอย่างถ่องแท้ นั่นคือลักษณะพฤติกรรมการโกหกของเด็กในแต่ละช่วงวัย ว่าเป็นอย่างไรตั้งแต่เด็กวัยคลาน วัยก่อนเรียน วัยเข้าเรียน ไปจนถึงวัยรุ่น ซึ่งมีความแตกต่างกันไปตามพัฒนาการด้านอารมณ์ความรู้สึกการใช้เหตุและผลในแต่ละช่วงอายุของตัวเด็กเอง  ตัวอย่างเช่น 
เด็กวัยคลาน (toddles) เหตุผลของการโกหกเนื่องมาจากต้องการตอบสนองความต้องการของตนเองเป็นหลัก เป็นการโกหกในรูปแบบที่ง่าย ๆ ไม่ซับซ้อนเพื่อปฏิเสธในบางสิ่งที่ไม่ต้องการ ไม่อยากทำ หรือโกหกเพื่อได้บางสิ่งที่ตนอยากได้อยากทำ โดยในเรื่องนี้ ดร.อลิซาเบธ เบอร์เกอร์ (Elizabeth Berger) แพทย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านพฤติกรรมเด็กและผู้เขียนหนังสือ “Raising Kids With Character”  ได้กล่าวว่าเมื่อพบว่าลูกในวัยนี้มีพฤติกรรมโกหก พ่อแม่ไม่จำเป็นต้องเข้าไปเผชิญหน้าหรือโต้แย้งกับลูกโดยเฉพาะอย่างยิ่งการตั้งตนเป็นฝ่ายตรงข้ามและพยายามให้ลูกเป็นผู้ผิด เพราะสิ่งที่พ่อแม่จะได้รับกลับมาจากลูกนั่นคือการโกหกต่อไปอีกอย่างไม่รู้จบ โดยหากลูกทำแจกันแตก แทนที่พ่อแม่จะถามว่าใครทำแจกันใบนี้แตก (ซึ่งคำตอบส่วนลูกส่วนใหญ่คือโกหกว่า “ไม่” ไว้ก่อน) ให้พ่อแม่ตั้งคำถามกับลูกใหม่ว่า  “ดูแจกันที่แตกใบนี้สิ ลูกจะทำอย่างไรกับมัน” เพื่อให้ลูกรู้ว่าพ่อแม่รู้แล้วว่าใครทำแตกไม่จำเป็นที่ลูกจะต้องมาโกหกพ่อแม่อีกว่าไม่ได้เป็นคนทำ  เป็นต้น  
เด็กวัยก่อนเข้าเรียน (preschoolers) พฤติการณ์โกหกของเด็กในวัยนี้มักเกี่ยวพันไปกับพฤติกรรมการเล่นของเด็กเองอย่างแยกกันไม่ออก อาทิ การเล่นคิด พูดจินตนาการเป็นเรื่องราวต่าง ๆ นอกเหนือไปจากโลกแห่งความเป็นจริง ซึ่งนับเป็นกระบวนการคิดแบบหนึ่งของเด็กในการคิดสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ พ่อแม่ไม่จำเป็นต้องเดือดเนื้อร้อนใจกับพฤติกรรมดังกล่าวเว้นแต่จะนำมาซึ่งปัญหาอื่น ๆ ตามมา อาทิ การไม่ยอมเล่นกับเพื่อนในโลกแห่งความจริง มีปัญหาการเข้าสังคม ซึ่งพ่อแม่จำเป็นต้องหาทางแก้ไขในเรื่องนั้นอย่างเจาะจงต่อไป 
เด็กวัยเรียน (schoolkids) เป็นวัยที่เริ่มมีเหตุและผลในการทำสิ่งต่าง ๆ หากพ่อแม่พบว่าลูกมีพฤติกรรมโกหก จำเป็นต้องค้นหาอย่างเข้าใจว่าที่ลูกโกหกหรือพูดไม่จริงนั้นเป็นเพราะสาเหตุใด ลูกมีความเข้าใจอะไรที่ผิดพลาดไป หรือมีค่านิยมบางอย่างที่ผิดไปหรือไม่จึงทำให้ลูกต้องพูดโกหกในเรื่องนั้น ๆ  ตัวอย่างเช่น  โกหกเพราะต้องการการยอมรับจากเพื่อนฝูง จากพ่อแม่  โกหกเพื่อหลบหนีความจริงที่เจ็บปวด โกหกเพราะอาย โกหกเพราะหนีความผิด โกหกเพราะคิดว่าหากโกหกแล้วไม่มีใครจับได้นับว่าเป็นคนเก่งคนฉลาด โกหกเพราะต้องการช่วยเหลือเพื่อน เป็นต้น  ซึ่งเมื่อพ่อแม่ทราบถึงรากพฤติกรรมดังกล่าวแล้วขั้นต่อไปคือการชี้แจงให้ลูกเข้าใจและสร้างค่านิยมใหม่ให้กับลูกแทนที่ ตัวอย่างเช่น ในเรื่องคุณค่าที่แท้จริงในชีวิต การนับถือตนเอง  การยอมรับความผิดการพูดความจริงนับเป็นความกล้าหาญ การพูดโกหกเป็นการกระทำของคนที่ขี้ขลาด เป็นต้น
ช่วงก่อนเข้าวัยรุ่น (tweens) เป็นช่วงวัยที่เริ่มเปลี่ยนผ่านจากเด็กสู่วัยรุ่น จึงมักขาดเสถียรภาพทางอารมณ์ มีความตึงเครียดต่อสถานการณ์ต่าง ๆ ที่เข้ามาได้โดยง่าย และเมื่อรู้สึกว่าตนเองไม่สามารถควบคุมสถานการณ์นั้น ๆ ได้จึงมีปฏิกิริยาตอบสนองโดยการพูดโกหกออกมา ซึ่งเป็นสัญญาณว่ากำลังอยู่ในภาวะเครียดหรือเข้าตาจน อย่างไรก็ตามการพูดโกหกของเด็กนั้นนับเป็นพฤติกรรมที่แสดงให้เห็นถึงการมีสติปัญญาในการหาทางออกจากปัญหาด้วยเช่นกัน อย่างไรก็ตามเด็กในวัยนี้มักมีปัญหาเรื่องการมองเชิงอนาคตหรือการคาดเดาถึงผลที่เกิดขึ้นตามมาจากพฤติกรรมการโกหกของตน 
พ่อแม่ควรชี้ให้ลูกเห็นว่าการโกหกไม่ใช่เรื่องดี และชี้ให้เห็นถึงผลเสียที่ตามมาในอนาคตของนิสัยช่างโกหก เช่น เป็นการหาเรื่องเดือดร้อนใส่ตัวเอง เป็นที่รังเกียจของสังคม ไม่มีใครอยากคบเป็นเพื่อน ไม่มีใครเชื่อถือ ชื่อเสียงเสียหาย ฯลฯ โดยอาจยกตัวอย่างประกอบที่เห็นชัด ๆ ตัวอย่างเช่น นิทานสอนใจเด็กเลี้ยงแกะ…นิทานเรื่องสองพี่น้องที่คนน้องยิงเป็ดของยายตายและกลัวความผิดคนพี่เห็นจึงขู่ว่าหากไม่ยอมรับใช้หรือทำตามที่ตนสั่งจะไปฟ้องยาย จนในที่สุดคนน้องทนไม่ไหวกับการใช้งานอย่างโขกสับของพี่จึงไปสารภาพกับยาย ยายบอกว่ารู้มาตั้งนานแล้วและพร้อมจะให้อภัยมานานแล้วรอวันที่หลานคนน้องมาสารภาพเอง…ตัวอย่างจากข่าวดารานักร้องดังยอดนักโกหก เป็นต้น เพื่อให้เด็กเห็นภาพอย่างเป็นรูปธรรม เกิดความเกรงกลัวถึงผลที่ตามมาและไม่คิดจะใช้วิธีการโกหกในการแก้ปัญหาอีก  
นอกจากการทำความเข้าใจพฤติกรรมการโกหกในแต่ละช่วงวัยเพื่อหาทางช่วยเหลือลูกอย่างถูกวิธีแล้วแล้ว สิ่งสำคัญอื่น ๆ ที่พ่อแม่ควรตระหนักไว้เสมอในการช่วยพัฒนาอุปนิสัยเชิงบวกให้แก่ลูกนั้นได้แก่   
เริ่มแต่วัยเยาว์ มิใช่มาแก้ไขตอนโตซึ่งอาจไม่ทันกาล โดยเริ่มดูแลเอาใจใส่ใกล้ชิดลูกของเราตั้งแต่วันนี้ตั้งแต่เขายังเป็นเด็กเล็ก ๆ  ยิ่งใกล้ชิดมากแบบมองตาก็รู้ใจ พ่อแม่ย่อมรู้ไม่ยากว่าที่ลูกพูดออกมานั้นโกหกหรือเป็นเรื่องจริง  
เป็นแบบอย่างด้วยชีวิต เป็นการยากที่จะสอนลูกไม่ให้โกหกแต่แม่ยังทำเสียเอง เช่น สั่งลูกให้ไปบอกกับแขกที่มาพบว่า “อย่าบอกนะว่าแม่อยู่บ้าน”  หรือจากคติธรรมสาระขันที่คุณสามสลึงได้ยกตัวอย่างเป็นเรื่องเล่าว่า คุณแม่ลูกสาววัยสี่ขวบคนหนึ่งโกรธมากที่ลูกชอบพูดโกหกพูดปดอยู่เป็นประจำ สอนแล้วสอนเล่าลูกก็ยังชอบพูดโกหกเป็นนิสัย จึงพูดขู่ลูกว่า “ถ้าลูกขืนพูดโกหกอีก แม่มดจะมาจับลูกไป" ลูกสาวย้อนกลับแม่ว่า "ลูกไม่กลัว"  คุณแม่จึงซักต่อว่า "ทำไมไม่กลัว" ลูกตอบกลับไปว่า "เพราะถ้ามีแม่มดจริง ก็จับแม่ไปก่อนแล้ว พ่อแม่จึงควรระมัดระวังในการเป็นแบบอย่างที่ดีซึ่งมีค่ามากกว่าแค่การสอนแต่คำพูด ไม่เช่นนั้นลูกอาจตอกกลับเราในทำนองเดียวกันกับเรื่องเล่านี้ก็เป็นได้ 
สอนด้วยความรักความเข้าใจ มิใช่การจับผิดหรือแก้ปัญหาอย่างฉาบฉวยด้วยการลงโทษเพียงแค่ดูจากพฤติกรรมซึ่งเป็นผลปลายทางที่แสดงออกมาจากรากปัญหาที่อยู่ภายใน การสร้างเพียงรูปแบบ หรือการกำหนดกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ให้ลูกทำตามเท่านั้นเป็นสิ่งที่ไม่เพียงพอ เช่น หากพ่อแม่สอนลูกในเรื่องของการพูดโกหกว่า “ห้ามโกหกแม่นะ แม่ไม่ชอบ” ลูกย่อมไม่พูดโกหกเพราะกลัวว่าแม่จะโกรธหรือตี โดยที่ในความเข้าใจของเขานั้นอาจคิดในอีกมุมหนึ่งว่า “หากจะโกหกแม่ต้องมีชั้นเชิงอย่าให้แม่จับได้” หรือ “จะไปโกหกหลอกลวงใครที่ไหนก็ได้ยกเว้นกับแม่ตัวเอง” เป็นต้น
สร้างความชัดเจน  ทั้งความชัดเจนในการให้คุณค่าหรือการสร้างค่านิยมของการพูดความจริงการยอมรับผิด ว่าเป็นเรื่องที่น่ายกย่อง เป็นความกล้าหาญ เป็นบ่อเกิดแห่งลักษณะชีวิตแห่งความซื่อสัตย์ ซื่อตรง  อันจะนำเราไปสู่ความเจริญรุ่งเรือง ความสำเร็จอย่างยั่งยืนต่อไปในอนาคต  
นอกจากนี้พ่อแม่ควรสร้างบทลงโทษที่ชัดเจนให้แก่ลูกด้วย อาทิ  หากพ่อแม่สอนแล้ว พูดคุยด้วยความรักความเข้าใจ ชี้ถูกชี้ผิดให้ลูกเห็นถึงผลดีผลเสียแล้วลูกยังดื้อดึงจะโกหกอยู่ร่ำไป พ่อแม่จำเป็นต้องมีมาตรการการลงโทษลูกตามความเหมาะสมในแต่ละช่วงวัย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้หลาบจำเนื่องมาจากความรักที่มีต่อลูกไม่ต้องการให้ลูกต้องรับผลร้ายจากนิสัยดังกล่าว  
การแก้ไขนิสัยการโกหกของลูกนั้น สิ่งสำคัญคือพ่อแม่ต้องนิยามให้ชัดว่า การโกหกที่จะเกิดเป็นผลเสียต่อลูกและเป็นพฤติกรรมเชิงลบอันไม่พึงประสงค์นั้นมีลักษณะอย่างไร รวมทั้งศึกษาทำความเข้าใจกับพัฒนาการของพฤติกรรมการโกหกที่ปรากฏในเด็กแต่ละช่วงวัยเพื่อสามารถแก้ไขได้อย่างตรงจุดตรงประเด็นและที่สำคัญคือ การสอนด้วยการเป็นแบบอย่างของพ่อแม่เอง ทั้งแบบอย่างของการมีค่านิยมที่ถูกต้องและพฤติกรรมที่แสดงออกมาอย่างสอดคล้องกันเพื่อสร้างลูกของเราให้เป็นผู้ใหญ่ที่ดีของสังคมไทยต่อไปในอนาคต ด้วยอุปนิสัยแห่งความสัตย์จริงซึ่งเป็นรากฐานแห่งคุณธรรมและความสำเร็จทั้งปวง

ที่มา: แม่และเด็ก
ปีที่ 38 ฉบับที่ 522 สิงหาคม 2558

ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
อีเมลนี้จะถูกป้องกันจากสแปมบอท แต่คุณต้องเปิดการใช้งานจาวาสคริปก่อน , http:// www.kriengsak.com

แหล่งที่มาของภาพ : http://www.thaihealth.or.th/data/content/25476/cms/e_abhpsvwyz246.jpg

แก้ไขล่าสุด ใน วันพฤหัสบดีที่ 17 ธันวาคม 2015 เวลา 12:51 น.
 


หน้า 277 จาก 561
Home

About Us

ศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ (ศบม.) เป็นองค์กรที่พัฒนาและจัดทำโครงการเพื่อทำประโยชน์ให้สังคม เป็นองค์กรสนับสนุนการดำเนินงานของภาครัฐ ช่วยแก้ปัญหาผู้ประกอบการภาคธุรกิจบริการที่ขาดแคลนบุคลากรที่มีมาตรฐานในการให้บริการ
อ่านเพิ่มเติม

มูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ ์

 iHDC Profile
บัญชีรายชื่อกรรมการ
ใบสำคัญแสดงการจดทะเบียน การเปลี่ยนแปลงกรรมการของมูลนิธิ
เอกสารประชาสัมพันธ์ โครงการ HMTC.pdf
เอกสารแนะนำโครงการ HMTC 1.pdf
เอกสารโครงการ HMTC 2 คุณสมบัติผู้เข้าร่วมโครงการ.pdf
iHDC นิติบุคคล.pdf
iHDC บุคคล.pdf
iHDC บุคคลเครือข่าย.pdf
รายงานการประชุม 6 มีนาคม 2560.pdf
ข้อบังคับมูลนิธิ
ใบสำคัญแสดงการจดทะเบียนจัดตั้งมูลนิธิ
Ihdc-Profile and Roadmap 2016-2019 Mar 23 2560.pdf
รายงานการประชุมใหญ่คณะกรรมการมูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ 2559.pdf
คำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ สาขาวิชาชีพ.pdf
รายงานการประชุมใหญ่วันที่ 18 ธ ค 2558 v 3.pdf
รายงานการประชุม วันที่ 24 ธันวาคม 2557 updated 4 มีนาคม 2558.pdf
iHDC-invitation Letter.doc
iHDC-Member Form Thai.doc
iHDC-Member Form English.doc
รายงานการประชุมกรรมการมูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ วันที่ 15 มกราคม 2556 ฉบับสมบูรณ์


thaibetter
พัฒนาประเทศไทยแบบทวีคูณ และยั่งยืน ( ททค )

Login


แบบสำรวจ

สถิติเว็บไซด์

สมาชิก : 5644
Content : 3068
เว็บลิงก์ : 26
จำนวนครั้งเปิดดูบทความ : 8747903

facebook

Twitter


ล่าสุด

บทความเก่า