Thaiihdc.org

  • เพิ่มขนาดตัวอักษร
  • ขนาดตัวอักษรปกติ
  • สดขนาดตัวอักษร
Thaiihdc.org

ชีวิตมีค่า ควรบูรณาการ งาน กับ ชีวิต

พิมพ์ PDF

 

 

ชีวิตมีค่า ควรบูรณาการ งาน กับ ชีวิต

เมื่อเดือน กรกฎาคมที่ผ่านมา (2557) หนังสือพิมพ์ไฟแนนเชียล ไทม์ส ได้ลงบทสัมภาษณ์ การ์โลส สลิม เอลู (Carlos Slim Helú Aglamaz) เจ้าพ่อแห่งแวดวงสื่อสารโทรคมนาคม ชาวเม็กซิกัน วัย 74 ปี เจ้าของตำแหน่งบุคคลที่ร่ำรวยที่สุดในโลกในปัจจุบัน ออกมาเรียกร้องให้ทุกประเทศในโลก ควรกำหนดวันทำงานไว้เพียง 3 วันต่อสัปดาห์ โดยทำงานวันละ 11 ชั่วโมง เพื่อเปิดโอกาสให้กับตนเองได้พักผ่อนและมีเวลาให้กับกิจกรรมอื่นๆ ที่ตนสนใจ รวมถึงมีเวลาให้กับครอบครัวเพิ่มขึ้น

 

เขาคิดว่า แทนที่จะการปล่อยให้งานขโมยชีวิต หรือพรากทุกอย่างไปจากชีวิต การทำงานเพียง 3 วันและหยุดพักผ่อนอีก 4 วันต่อสัปดาห์ถือเป็นสิ่งที่มีความสำคัญยิ่ง เพราะเป็นผลดีต่อสุขภาพและความคิดสร้างสรรค์ของเรามากกว่า  เขาได้เริ่มนำวิธีการดังกล่าวเข้ามาใช้กับพนักงานของบริษัท และไม่ได้ส่งผลกระทบ ต่อรายได้ของบริษัทแต่อย่างใด
ชีวิตมีค่า ควรบูรณาการ งาน กับ ชีวิตคนทำงานส่วนใหญ่คงจะชอบและสนับสนุนแนวคิดนี้ เพราะไม่เพียงทำงานน้อยลง แต่ยังได้รายได้เท่าเดิม แถมมีเวลาทำสิ่งที่ตนเองชอบ หรือให้เวลากับครอบครัวได้มากขึ้น
ตรงกันข้าม ผู้ประกอบการคงไม่ค่อยจะปลื้มนัก เพราะหากเวลาทำงานลดลง โอกาสในการสร้างผลิตภาพจากงานย่อมน้อยลง และงานบางประเภทต้องการคนทำงานอย่างน้อยต้อง 5 วันต่อสัปดาห์ ยิ่งถ้าต้องจ่ายค่าจ้างเท่าเดิมในเวลาทำงานลดลง คงมีผู้ประกอบการน้อยรายที่เห็นด้วยกับแนวคิดนี้
แนวคิดการทำงานเพียง 3 วันต่อสัปดาห์ นับเป็นแนวคิดแปลกใหม่...แต่คำถามคือ วิธีนี้แก้ปัญหา ‘งานขโมยเวลาชีวิต’ ได้จริงหรือ? และ จำเป็นหรือไม่ที่ต้องใช้วิธีนี้?
ปัญหาที่ผ่านมาโดยตลอด คือ การที่เราแยกส่วนระหว่าง การทำงาน กับ การใช้ชีวิตส่วนตัว เรามักมองว่า งาน คือ งาน เราทำงานเพื่อแลกกับผลตอบแทน เพื่อให้ได้เงิน ได้สวัสดิการ นำมาเลี้ยงชีพ เลี้ยงครอบครัว และเวลาส่วนที่เหลือจากงาน คือ เวลาส่วนตัว หรือ เวลากับครอบครัว...ซึ่งเป็นเวลาที่เราใช้อย่างมีความสุขมากกว่า
ในมุมมองของผม หากเราแยกส่วนระหว่าง งาน กับ ชีวิต ไม่ว่าเราจะทำงานกี่วันต่อสัปดาห์ เราก็จะไม่สามารถค้นพบความสุขของชีวิตที่แท้จริง!!
การทำงานเป็นสิ่งที่อยู่คู่กับมนุษย์ทุกคน เมื่อเราเติบโตพ้นวัยเด็ก เราจะเข้าสู่ “วัยทำงาน” ซึ่งเป็นช่วงวัยที่เราต้องอยู่ยาวนานที่สุด อาจจะมากกว่าครึ่งชีวิตในการทำงาน ถ้าเราทำงานเพื่อเงิน โดยที่เราไม่เห็นคุณค่า ไม่ได้ชอบงานที่ทำอยู่เลย เราย่อมไม่มีความสุขในการทำงาน และถ้าเราไม่สามารถจัดสรรเวลา สร้างสมดุลระหว่างงานกับชีวิตส่วนตัวได้อย่างกลมกลืน อย่างมีประสิทธิภาพ แม้มีเวลามากก็อาจไม่ประสบความสำเร็จในชีวิตครอบครัวได้
ไม่ว่าเราทำงานกี่วันต่อสัปดาห์ หากเรามีทัศนคติเกี่ยวกับงานอย่างถูกต้อง เราจะใช้ชีวิตอย่างมีความสุข โดยไม่จำเป็นต้องเรียกร้องให้ลดเวลาทำงานลง
เริ่มจาก เลือกงานที่ ‘งาน’ อย่าเลือกงานที่ ‘เงิน’ ศ.คาร์ล พิลเลอร์เมอร์ (Karl Pillemer) แห่งมหาวิทยาลัยคอร์เนล ได้เขียนหนังสือ “บทเรียนชีวิต 30 เรื่อง” (30 Lessons for Living)  จากการสัมภาษณ์ชาวอเมริกันที่อายุเกิน 70 ปีขึ้นไป มากกว่า 1,200 คน ด้วยคำถามที่ว่า "จากประสบการณ์ชั่วชีวิตของคุณ อะไรคือบทเรียนสำคัญที่สุดที่อยากจะฝากไว้ให้ลูกหลาน"
บทเรียนประการแรกที่บรรดาผู้สูงอายุเห็นว่าสำคัญที่สุด คือ “ให้เลือกอาชีพโดยดูจากความต้องการภายใน มากกว่าผลตอบแทนด้านการเงิน” พวกเขากล่าวว่า ความผิดพลาดสำคัญในการเลือกอาชีพของเขา คือ การเลือกอาชีพ โดยดูจากผลตอบแทนมากกว่าสิ่งที่ชอบและคุณค่าที่ให้ต่ออาชีพ
เราจึงไม่ควรเลือกงานที่ “เงิน” หรือปัจจัยภายนอกอื่น ๆ แต่ควรเลือกงานที่คุณค่า และ สะท้อนตัวตนของเรา ทั้งการได้แสดงออกซึ่งศักยภาพ ความรู้ความสามารถ งานที่มีคุณค่าที่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อผู้อื่น และสังคมส่วนรวม เป็นงานที่ดีงาม เพื่อให้เกิดความรู้สึกภาคภูมิใจ และสมศักดิ์ศรีของชีวิตที่ได้เกิดมาเพื่อทำงานนั้น
บูรณาการ งาน กับ ชีวิต ในหนังสือ ข้อคิดเพื่อการทำงาน  ผมได้นิยามการทำงานของผมไว้ว่า “การทำงาน คือ การบูรณาการ ระหว่าง สิ่งที่เราคิด สิ่งที่เราเป็น สิ่งที่เราพูด และสิ่งที่เราทำ ทั้งสี่สิ่งนี้ต้องเป็นไปในทิศทางเดียวกัน จึงสัมผัสมิติความสำเร็จ ที่ได้ใช้ศักยภาพสูงสุดที่มีอยู่ในชีวิตออกมา” ผมเป็นคนที่เอาชีวิตไว้ตรงกลาง แล้วเอางานมาล้อมชีวิต โดยเลือกงานที่ “คุณค่า” ในเนื้อแท้ของงาน เป็นงานที่มีประโยชน์และเห็นคุณค่าที่จะเกิดขึ้นแก่ส่วนรวม  จึงทำให้ผมทำงานอย่างเต็มที่ เต็มกำลัง ไม่เคยเห็นงานเป็นส่วนเกินของชีวิต
ในขณะเดียวกัน ผมก็เห็นคุณค่าของการใช้เวลากับครอบครัว การใช้เวลาเพื่อการพักผ่อน จึงทำไปด้วยพร้อม ๆ กันไม่เคยคิดแยกส่วนชีวิตงานกับชีวิตส่วนตัว แต่บูรณาการเรื่องต่าง ๆ เหล่านี้ไปด้วยกันอย่างกลมกลืน สำหรับผมวันหยุดก็คือวันทำงาน วันที่ใช้เวลากับครอบครัวก็คือวันทำงาน เพราะเมื่อผมมีความสุขกับการทำงาน และเห็นคุณค่าในงานที่ทำ จึงเต็มใจที่จะทำงานในทุกที่ ทุกเวลา
ชีวิตมีค่า อย่าให้งานขโมยชีวิต แต่ควรให้งานบูรณาการเข้ากับชีวิตจะดีกว่า...
เราควรลดเวลาทำงานให้เหลือ 3 วันต่อสัปดาห์หรือไม่? จึงเป็นเรื่องที่ไม่สำคัญ หากเราเรียนรู้ที่จะบูรณาการงานกับชีวิตได้อย่างลงตัว เราย่อมใช้ชีวิตได้อย่างคุ้มค่าและมีความสุข ไม่ว่าวันหยุดหรือวันทำงาน..

 

งานวันนี้
ปีที่ 16 ฉบับที่ 700 วันที่ 19-26 สิงหาคม 2557
ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
ประธานสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา (IFD)
อีเมลนี้จะถูกป้องกันจากสแปมบอท แต่คุณต้องเปิดการใช้งานจาวาสคริปก่อน http://www.kriengsak.com
แก้ไขล่าสุด ใน วันพฤหัสบดีที่ 17 ธันวาคม 2015 เวลา 12:54 น.
 

คิดริเริ่มเก่ง อนาคตไกล

พิมพ์ PDF

คิดริเริ่มเก่ง อนาคตไกล

ผู้นำที่ขาดความคิดริเริ่ม และไม่เคยสร้างการเปลี่ยนแปลงใหม่ คือ ผู้สร้างความเสี่ยง ‘ล้มเหลว’ ในการนำคน นำองค์กรสู่อนาคต และพลาดเป้าหมายวิสัยทัศน์ที่วางไว้...
อนาคตเป็นของผู้ที่มีความพร้อมมากกว่าเสมอ ผู้นำที่มี “ความคิดริเริ่ม” และมีความสามารถในการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ย่อมมีโอกาสก้าวไปก่อน ก้าวไปไกล ก้าวไปสู่อนาคต ที่ประสบความสำเร็จได้มากกว่า
ตรงข้ามกับผู้นำที่นำแบบไปเรื่อย ๆ พอใจในสิ่งที่เป็นอยู่ รักษาระบบแบบอนุรักษ์นิยม ไม่คิดจะริเริ่มเปลี่ยนแปลงหรือสร้างสรรค์สิ่งใหม่ที่ดีกว่าด้วยตนเอง ถ้าไม่มีใครสั่งหรือไม่มีสถานการณ์บีบบังคับ อาจนำได้ในสถานการณ์ปกติ แต่จะไม่ใช่ผู้นำที่มีวิสัยทัศน์ยิ่งใหญ่ และไม่ใช่ผู้นำที่ปรับตัวเข้ากับอนาคตที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วได้

 

ผู้นำที่นำองค์กรประสบความสำเร็จ มักเป็นพวก ‘คิดดี คิดได้ ทำเป็น’ คิดริเริ่มสร้างสรรค์ทำสิ่งใหม่ ๆ ได้ด้วยตนเอง แสวงหา แนวทางใหม่ ๆ เพื่อให้ทำงานได้เร็วขึ้น ฉลาดขึ้น มีประสิทธิภาพสูงขึ้น สร้างผลลัพธ์ตามเป้าหมายได้มากขึ้น หรือเรียกว่า การมีความคิดเชิงนวัตกรรม
การมีความคิดเชิงนวัตกรรม หมายถึง การคิดริเริ่มทำสิ่งใหม่ ๆ ที่ดีขึ้นกว่าเดิม และพยายามหาวิธีนำแนวคิดใหม่เหล่านี้ มาทำให้เป็นจริง นำไปสู่การสร้างสิ่งใหม่ การใช้วิธีการใหม่ การประยุกต์ใช้ใหม่ เพื่อให้เกิดประโยชน์ตามวัตถุประสงค์ เช่น ทำให้งานมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลสูงขึ้น สร้างผลลัพธ์ได้มากขึ้น โดยใช้ต้นทุนลดลง ใช้ทรัพยากรลดลง เป็นต้น
ไม่เพียงคนที่เป็นผู้นำหรือผู้บริหารองค์กร แต่คนทำงานทุกคนควรฝึกนิสัยคิดริเริ่ม เพื่อให้เราสามารถปรับตัวเข้ากับการเปลี่ยนแปลงและเพิ่มโอกาสการเป็นผู้นำ และโอกาสความสำเร็จได้
คำถามคือ เราจะสามารถพัฒนาความสามารถในการคิดริเริ่มได้อย่างไร?
คิดริเริ่มเป็นนิสัย สร้างสิ่งใหม่เป็นธรรมชาติ ในการทำงานเราควรฝึกคิดริเริ่มสิ่งต่าง ๆ ได้ด้วยตนเอง ไม่ต้องคอยให้ใครมาสั่ง ไม่ต้องรอให้สถานการณ์บีบบังคับแล้วจึงค่อยทำ แต่คิดริเริ่มเป็นนิสัย มีความกระตือรือร้นตลอดเวลา อยากเห็นสิ่งที่ดีกว่าเดิม อยากทำให้ดีกว่าเดิม อยากให้เกิดผลลัพธ์ที่มีพลังมากกว่าเดิม ฯลฯ ไม่พอใจกับรูปแบบและวิธีการแบบเดิม ๆ ไม่พึงพอใจในผลลัพธ์เดิม ๆ ไม่แช่อยู่กับความสำเร็จเดิม ๆ
เราควรริเริ่มหาทางปรับปรุงประสิทธิภาพการทำงาน พยายามหาวิธีที่ดีขึ้น ฉลาดขึ้น นำเสนอสิ่งใหม่ วิธีการใหม่ ๆ แนวทางใหม่ ๆ อย่างต่อเนื่อง มุ่งสร้างผลลัพธ์เพิ่มขึ้นในขอบเขตงานที่ตนรับผิดชอบ โดยคิดเสมอว่า “จะทำให้ดีกว่าเดิมได้อย่างไร?” “มีวิธีใดบ้างที่ช่วยให้เกิดผลลัพธ์ทวีคูณขึ้น?” “เราจะสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อลูกค้าได้เร็วที่สุดอย่างไร ถ้าใช้เวลาเท่าเดิม คนเท่าเดิม?” ฯลฯ
กระตุ้นทีมงานคิดริเริ่ม ปลดปล่อยพลังสร้างสรรค์ ในการทำงานเป็นทีมจะเดินหน้าอย่างมีพลัง ถ้าทุกคนออกแรงเต็มที่ในการช่วยกันคิด ช่วยกันทำ ช่วยกันสร้างสิ่งใหม่ ๆ ที่เอื้อให้ความฝันที่มีร่วมกันเป็นจริง เราจึงควรมีส่วนทำหน้าที่ผลักดัน กระตุ้น และสนับสนุน ให้ทีมงานคิดริเริ่มสร้างสรรค์ไอเดียใหม่ ๆ แนวทางใหม่ ๆ ที่จะช่วยให้งานในความรับผิดชอบก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ โดยสื่อสารข้อมูลให้ชัดเจน ในเป้าหมาย เป้าประสงค์ที่ต้องการ
หากเราอยู่ในฐานะหัวหน้างาน หรือผู้บริหาร เราควรเป็นแบบอย่างนักคิดริเริ่ม สร้างแรงบันดาลใจให้คนกล้าคิดนอกกรอบ กระตุ้นความคิดสร้างสรรค์ทีมงานให้ได้มากที่สุด ท้าทายให้ทีมงานเชื่อมั่นในตนเอง ส่งเสริมกำลังใจ ให้ความเชื่อมั่นว่าจะสร้างผลลัพธ์ที่สร้างสรรค์ได้ หากความคิดริเริ่มนั้นถูกนำไปปฏิบัติได้จริงและควรส่งเสริมให้องค์กรสร้างบรรยากาศและวัฒนธรรมองค์กรที่ส่งเสริมการแสดงความคิดริเริ่มสร้างสรรค์
ขับเคลื่อนกระบวนการนำความคิด  ปฏิบัติได้จริง ไอเดียดี ๆ ที่ไม่ถูกนำมาใช้ก็ไม่ต่างกับการฝันเฟื่อง หรือฝันกลางวัน ดังนั้น ทุกความคิดดี ๆ ต้องมีการประเมินความเป็นไปได้ในการนำมาใช้จริง เราจึงต้องพยายามหาทางเอาไอเดียเหล่านั้นมาทำให้เกิดขึ้นจริง
ทุกองค์กรควรมีการส่งเสริมให้มีการขับเคลื่อนกระบวนการสร้างนวัตกรรมให้สำเร็จ ประกอบด้วย 3 ขั้นตอน จาก  Ideation – ไอเดียสร้างสรรค์ คัดเลือกแนวคิดใหม่ ๆ ที่มั่นใจว่าคิดได้ดีกว่าเดิม ใช้การได้ดีกว่าเดิม เกิดจากการทะลุทะลวงทางความคิดของทุกคนในทีม นำไปสู่ Implementation – ปฏิบัติได้จริง โดยประเมินไอเดียนั้นอย่างละเอียดรอบคอบ ปรับปรุงแก้ไข เพื่อให้มั่นใจว่านำไปปฏิบัติได้ ใช้ประโยชน์ได้จริง และที่สำคัญนวัตกรรมใหม่ ๆ ที่ผลิตออกมานั้น ต้องมี Impact – สร้างผลกระทบเชิงบวกนวัตกรรมนั้นไม่เพียงมีผลผลิต (output) แต่ต้องมุ่งผลลัพธ์ (outcome) เห็นผลลัพธ์ชัดเจน ส่งผลกระทบเชิงบวกตามเป้าประสงค์
หากเราสามารถปลดปล่อยศักยภาพในการคิดริเริ่มและสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ ออกมาได้มากเพียงใด เราจะพบว่า เรากลายเป็น “ผู้นำแห่งอนาคต” และเป็นที่ต้องการของทุกองค์กร
งานวันนี้
ปีที่ 16 ฉบับที่ 701 วันที่ 26 สิงหาคม -2 กันยายน 2557
ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
ประธานสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา (IFD)
อีเมลนี้จะถูกป้องกันจากสแปมบอท แต่คุณต้องเปิดการใช้งานจาวาสคริปก่อน http://www.kriengsak.com
แก้ไขล่าสุด ใน วันพฤหัสบดีที่ 17 ธันวาคม 2015 เวลา 13:06 น.
 

ยุทธศาสตร์การบริหาร 8E : ตอนที่ 3 ประสิทธิผล

พิมพ์ PDF

ยุทธศาสตร์การบริหาร 8E : ตอนที่ 3 ประสิทธิผล

ในบทความ 2 ตอนที่ผ่านมา ผมได้กล่าวถึงการบริหารปัจจัยนำเข้าอย่างมีประสิทธิภาพ (efficiency) และกระบวนการดำเนินงานอย่างดีเลิศ (Excellence) ไปแล้ว สำหรับบทความตอนที่ 3 ในบทความชุดยุทธศาสตร์การบริหาร 8E ที่ผมสร้างขึ้น ผมจะนำเสนอความหมาย นิยาม และมุมมองที่แตกต่างของ E ตัวที่ 3 คือ Effectiveness หรือแปลเป็นไทยได้ว่า “ประสิทธิผล” รวมถึงยกตัวอย่างการนำไปประยุกต์ใช้งาน เพื่อเกิดความเข้าใจง่ายและเห็นภาพชัดเจน และสามารถนำไปปรับใช้กับเรื่องอื่นๆ ได้อย่างเหมาะสม

 

การบริหารอย่างมีประสิทธิผล เป็นยุทธศาสตร์การบริหารจัดการที่เน้นผลผลิต (Output management strategy) ที่เกิดจากปัจจัยนำเข้าและกระบวนการดำเนินการ เพื่อให้เกิดผลสำเร็จเป็นไปตามความมุ่งหวัง (Purpose) วัตถุประสงค์ (Objective) หรือเป้าหมาย (Goal) และเป้าหมายเฉพาะ (Target) ทั้งเชิงปริมาณ เช่น ชนิด ประเภท และจำนวนผลผลิตที่ต้องการได้รับ และเชิงคุณภาพ เช่น การผ่านการประเมินมาตรฐานคุณภาพสินค้า เป็นต้น โดยต้องมีตัวชี้วัดที่ชัดเจนและเป็นรูปธรรม

การเกิดประสิทธิผล เกิดได้จากหลากหลายองค์ประกอบ วิธีการและเทคนิค เช่น

1.ซิกส์ ซิกม่า (Six Sigma) คือ เทคนิคการจัดการในการบริหารคุณภาพ และวิธีการปฏิบัติที่ดีเลิศในปัจจุบัน โดยมุ่งเน้นให้เกิดความผิดพลาดและมีความสูญเสียน้อยที่สุด บริษัทที่ประสบความสำเร็จกับการใช้เทคนิคซิกส์ ซิกม่า เช่น
(1) บริษัท โมโตโรล่า ที่ชอมเบิร์ก (Schaumburg) รัฐอิลลินอยส์ (Illinois) ประสบความสำเร็จจากการใช้ซิกส์ ซิกม่า โดยสามารถเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตได้มากกว่าร้อยละ 12 ต่อปี ลดต้นทุนจากการด้อยคุณภาพ (poor quality cost) ได้ร้อยละ 80 ทั้งยังกำจัดข้อผิดพลาดได้มากกว่าร้อยละ 90 และประหยัดต้นทุนการผลิตได้มากกว่า 11 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
(2) โรงพยาบาล Froedtertในมิลวอกี รัฐวิสคอนซิน สหรัฐอเมริกา เป็นโรงพยาบาลขนาด 655 เตียง โดยมีผู้ป่วยเพียง 1 รายเท่านั้นที่เกิดความผิดพลาดจากการได้รับยาผิด รวมถึงการรอผลตรวจจากห้องแล็บ ของหน่วยการดูแลพิเศษใช้เวลารอลดลงจาก 52 นาที เหลือเพียง 23 นาที
(3) วอลมาร์ท (Walmart) เป็นอีกหนึ่งบริษัทชั้นนำที่ได้รับความสำเร็จจากการนำซิกส์ ซิกม่า มาใช้ในการลดความผิดพลาดของระบบการออกใบเสร็จรับเงิน (Billing System Transaction) ทำให้สามารถลดจำนวนความผิดพลาดได้ถึงร้อยละ 98 และนับตั้งแต่เริ่มประยุกต์ใช้เครื่องมือนี้ บริษัทสามารถลดต้นทุนได้เป็นจำนวนมหาศาล

2.การตั้งวัตถุประสงค์และตัววัดผลด้วยระบบ OKRs (Objectives and Key Results) OKRs คือ วิธีการตั้งและเชื่อมโยงระหว่างเป้าหมายกับผลที่เกิดขึ้น โดยมีโครงสร้าง คือ (1) เป้าหมาย ทั้งในระดับองค์กร ทีมงาน และเป้าหมายส่วนตัว (2) ผลของแต่ละเป้าหมาย โดยระบุ 3-4 ตัวชี้วัดที่วัดค่าได้จริง โดยส่วนใหญ่แล้วจะกำหนดเป็นตัวเลขระหว่าง 0-1 เพื่อดูว่างานที่กำลังทำอยู่เข้าใกล้เป้าหมายมากน้อยเพียงใด บริษัทที่ใช้วิธีการนี้ ได้แก่ Intel, Google, Twitter, Sears, Linkedln,Oracle, Zynga และบริษัทอื่นๆ อีกมาก

บริษัทกูเกิล จะกำหนดเป้าหมายที่ท้าทาย อัศจรรย์ น่าดึงดูด และดูเหมือนเป็นไปไม่ได้ แต่สุดท้ายจะพยายามจนทำได้สำเร็จด้วยเพราะผู้บริหารมีความคิดที่ว่า เราไม่สามารถทำให้สิ่งแปลกใหม่ได้ หากยังคงตั้งเป้าหมายแบบธรรมดา เพราะฉะนั้น ลักษณะการวางเป้าหมายของกูเกิล จึงประกอบไปด้วย (1) ความล้มเหลวไม่อยู่ในตัวเลือก (2) การประสบความสำเร็จเพียงร้อยละ 65 ของสิ่งที่ไม่น่าจะเป็นไปได้ ดีกว่าการประสบความสำเร็จแบบร้อยละ 100 ของสิ่งที่ธรรมดา (3) มีรางวัลให้กับความสำเร็จ

จากรายงาน Google I/O 2015 พบว่า 1 ในหลายความสำเร็จที่เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ของกูเกิล คือ การไปถึงตัวเลข 1 พันล้านชิ้น กล่าวคือ กูเกิลมีแพลตฟอร์ม (platform) ระดับพันล้านอยู่ถึง 6 แพลตฟอร์ม คือ Google Search, YouTube, Google Maps, Gmail (900 ล้าน), Android และ Chrome ในขณะที่ไมโครซอฟท์เพิ่งประกาศวิสัยทัศน์ว่า จะผลักดัน Windows 10 ให้ครอบคลุมอุปกรณ์ 1 พันล้านชิ้น ภายใน 3 ปีและแอปเปิลเพิ่งขาย iOS ได้เกิน 1 พันล้านเครื่อง เมื่อต้นปี 2015 ที่ผ่านมา และเป้าหมายต่อไปของกูเกิล คือ เชื่อมโยงโลกด้วยข้อมูลจากเครื่องมือทุกประเภทของกูเกิล

จึงเห็นได้ว่าเป้าหมายเป็นสิ่งสำคัญ และการไปถึงเป้าหมายได้มีความสำคัญเช่นเดียวกัน วิธีการ ความคิด ทัศนคติ ความทะเยอทะยาน ความพร้อมทางทรัพยากร ทุน ฯลฯ ล้วนเป็นองค์ประกอบร่วมที่นำไปสู่ความสำเร็จได้ อย่างไรก็ตาม ผลผลิตเกิดขึ้นได้เสมอ เมื่อมีทั้งปัจจัยนำเข้าและกระบวนการผลิต แต่หากต้องการผลผลิตที่สำเร็จตามวัตถุประสงค์หรือเป้าหมายที่วางไว้การบริหารภาพรวมองค์กร นับว่ามีส่วนสำคัญมาก และองค์กรส่วนใหญ่ที่ประสบความสำเร็จ มักเป็นองค์กรที่ไม่หยุดคิด มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง และมุ่งมั่น ตั้งใจจริงที่จะเห็นความสำเร็จเกิดขึ้น

เมื่อประยุกต์หลักการนี้เข้าสู่บริบทประเทศไทยหลายครั้งที่ประเทศไม่เกิดการพัฒนาหรือเกิดการเปลี่ยนแปลง เพราะมีสาเหตุมาจากการที่ได้ผลผลิตไม่เป็นตามที่ต้องการ แม้จะมีการบริหารปัจจัยนำเข้า ทรัพยากรต่างๆ งบประมาณ ผ่านการดำเนินโครงการต่างๆ ในทุกๆ ปี แต่ผลที่เกิดขึ้นมักไม่เป็นไปตามเป้าหมายหรือวัตถุประสงค์ที่วางไว้

ดังจะเห็นได้จากงานที่เกี่ยวข้องกับประเด็นสาธารณะ เช่น การศึกษาที่ยังคงมีเด็กจำนวนมากที่เข้าไม่ถึงระบบการศึกษาที่มีคุณภาพ แม้จะมีงบประมาณด้านการศึกษาเป็นจำนวนมาก หรือการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานป้องกันน้ำท่วม แต่น้ำยังคงท่วมอยู่ หรือการดำเนินนโยบายหรือโครงการบางด้านที่ตั้งเป้าหมายให้เกิดประโยชน์กับทุกกลุ่ม แต่กลับเกิดประโยชน์กับกลุ่มคนเพียงบางกลุ่มเท่านั้น เป็นต้น

การบริหารอย่างมีประสิทธิผล นับเป็นสิ่งที่มีความสำคัญยิ่ง มุมมองที่แตกต่างและความตั้งใจจริงต่อการเกิดประสิทธิผลในการบริหารจัดการ ทำให้เกิดความเข้าใจเชิงลึก ความตระหนักและเห็นคุณค่าความสำคัญในการบริหารจัดการประเทศให้ดีมากยิ่งขึ้นกว่าเดิม ทั้งนี้ ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกัน โดยเฉพาะภาครัฐที่มีอำนาจการบริหาร จึงควรบริหารให้มีประสิทธิผลสูงสุด

มากยิ่งกว่านั้น ไม่เพียงแต่บริหารอย่างมีประสิทธิผลในเชิงคุณภาพและปริมาณเท่านั้น แต่ผู้บริหารควรเห็นแก่ภาพรวมของประเทศสูงสุด บริหารจัดการให้เกิดประสิทธิผลอย่างมีคุณค่าและคุณธรรมด้วย อันเป็นยุทธศาสตร์การบริหาร E ตัวถัดไป ซึ่งจะได้อธิบายในบทความครั้งต่อๆ ไป

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ
คอลัมน์ : ดร.แดน มองต่างแดน
ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
ประธานสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา (IFD)
แก้ไขล่าสุด ใน วันพฤหัสบดีที่ 17 ธันวาคม 2015 เวลา 13:15 น.
 

สอนลูกให้มีค่านิยมทำดีที่สุดเสมอ

พิมพ์ PDF

สอนลูกให้มีค่านิยมทำดีที่สุดเสมอ

จากนิทานเรื่องเต่ากับกระต่าย เมื่อเต่ากับกระต่ายต้องมาวิ่งแข่งกัน หากมองด้วยสายตาธรรมชาติแล้ว กระต่ายย่อมชนะอย่างแน่นอน  แต่เพราะเต่าทำอย่างเต็มที่หรือทำอย่างดีที่สุด จึงทำให้ในที่สุดเต่าเข้าเส้นชัยได้ก่อน ในเหตุการณ์นี้ ถ้ามีใครไปสัมภาษณ์กระต่ายก่อนการแข่งขัน กระต่ายคงไม่รู้ว่าตัวเองจะแพ้  หรือถ้าได้ถามเต่าก่อนการแข่งขัน เต่าก็คงไม่รู้อีกเช่นกันว่าตัวเองจะชนะ เราคงเคยได้เห็นการแข่งขันฟุตบอลหลายครั้งที่ฝ่ายเสียเปรียบถูกยิงประตูนำไปก่อน  และเหลือเวลาอีกไม่กี่นาทีจะหมดเวลาการแข่งขัน  แต่เพราะนักกีฬาเล่นอย่างเต็มที่จนนาทีสุดท้าย จึงสามารถพลิกเกมให้กลายมาเป็นฝ่ายชนะได้ นักศึกษาบางคนมีเวลาเหลือน้อยแล้วที่จะอ่านหนังสือให้จบก่อนสอบ  แต่หากคิดหาวิธีอ่านหนังสือให้ได้มากที่สุด ก็สามารถเข้าสอบทำคะแนนที่ดีได้เช่นกัน ในทางตรงกันข้าม บางคนเมื่อมีอาการเจ็บป่วยกลับไม่พยายามดูแลตัวเองอย่างดี แต่ปล่อยปละละเลยเพราะคิดว่าการดูแลตัวเอง ณ ขณะนั้นคงไม่ช่วยให้อะไรดีขึ้น  แต่ในความเป็นจริง หากเราดูแลพยายามตัวเองอย่างดีตามที่แพทย์สั่งอย่างดีที่สุด ย่อมทำให้อาการเจ็บป่วยบรรเทาเบาบางลงได้อย่างแน่นอน

 

พ่อแม่ควรสอนให้ลูกเป็นคนที่มีนิสัยทำดีที่สุดเสมอเพราะจะทำให้เขาเป็นคนไม่ล้มเลิก หรือท้อถอยต่ออุปสรรคปัญหาที่เกิดขึ้น   และจะทำให้เขามีความปรารถนาผลงานที่ดีเลิศเสมอ  ส่งผลให้เขาเป็นคนที่ประสบความสำเร็จในชีวิต  และยังสามารถผลิตผลงานที่เป็นประโยชน์ต่อมนุษยชาติได้ การทำดีที่สุดจะทำให้เราไม่ต้องมาเสียใจภายหลัง  เพราะเราไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นในอนาคต บางทีอาจมีบางอย่างที่ทำให้เกิดการพลิกสถานการณ์จากร้ายกลายเป็นดี  ตัวอย่างเช่น นักเรียนนักศึกษาเกิดตื่นสายในวันสอบ  จึงคิดจะไม่ไปสอบเพราะคิดว่าถึงอย่างไรก็คงไปไม่ทัน ซึ่งในความเป็นจริงในวันนั้นบังเอิญมีปัญหาทำให้ต้องเริ่มทำการสอบช้า  หากในวันนั้นนักศึกษาพยายามที่จะทำอย่างดีที่สุด  รีบแต่งตัวเดินทางไปสอบก็อาจจะยังทันสอบก็เป็นได้

ค่านิยมทำดีที่สุดเสมอ คืออะไร

ค่านิยมทำดีที่สุดเสมอคือ การเห็นคุณค่าของการทำอย่างสุดความสามารถ ใช้ความสามารถ เวลา และทรัพยากรที่มีอยู่อย่างเต็มที่ทุกเวลา ไม่ปล่อยให้สูญเสียไปอย่างเปล่าประโยชน์ แม้ในยามที่ต้องเผชิญสถานการณ์ที่ไม่เอื้ออำนวยหรือมีความจำกัด หรืออาจไม่ได้ผลสำเร็จตามที่ตั้งใจไว้ เป็นความพยายามที่จะทำให้ถึงที่สุดภายใต้สถานการณ์ที่จำกัด

การทำให้ดีที่สุดเสมอเป็นอย่างไร

ทำดีที่สุดแม้อาจไม่ได้รับผลลัพธ์อย่างที่คาดหวัง บางครั้งแม้เราทำดีที่สุดแล้วแต่ผลงานก็ไม่ได้ออกมาดีอย่างที่ใจคิด แต่การทำดีที่สุดก็ย่อมให้ผลงานที่ดีกว่า หรือช่วยบรรเทาผลเสียให้เบาบางลง   ตัวอย่างเช่น นักศึกษาอาจเตรียมนำเสนองานหน้าชั้นเรียนยังไม่เสร็จ หรือไม่สมบูรณ์แบบอย่างที่ตั้งใจไว้  แต่หากออกไปรายงานหน้าชั้นตามที่เตรียมมาอย่างเต็มที่ ย่อมได้คะแนนที่ดีกว่า แม้อาจได้น้อยกว่าที่คาดหวังก็ตาม ตรงกันข้ามกับเมื่อทำข้อมูลไม่เสร็จเลย จึงตัดสินใจขาดเรียน ไม่กล้าเผชิญความจริง เป็นต้น

ทำดีที่สุด โดยไม่ขึ้นอยู่กับผลตอบแทนหรือค่าจ้างที่ได้รับ  ทำดีที่สุดแม้ได้รับค่าจ้างหรือผลประโยชน์น้อยกว่าที่คาดหวัง ค่าจ้างหรือค่าตอบแทนที่ต่ำไม่ได้ทำให้ใช้ความทุ่มเทที่แตกต่างกัน  ในลักษณะค่าจ้างน้อยก็ลงแรงน้อย ค่าจ้างมากก็ลงแรงมาก  การคิดแบบนี้เป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง  เราควรทำดีที่สุดในทุกชิ้นงานโดยไม่ขี้นอยู่กับค่าตอบแทนที่ได้รับ  โดยใช้กำลังทรัพยากรที่มีอยู่อย่างเต็มที่ การทำเช่นนี้ย่อมส่งผลให้ผู้นั้นเจริญก้าวหน้าในหน้าที่การงานในที่สุด

ทำดีที่สุด โดยไม่ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ว่าจะกำลังเสียเปรียบหรือกำลังได้เปรียบ ตัวอย่างเช่น ในการแข่งขันเทนนิสระดับโลกครั้งหนึ่ง  ที่ดูเหมือนฝ่ายผู้คะแนนน้อยกว่ากำลังจะต้องพ่ายแพ้  แต่ด้วยใจที่ไม่ยอมแพ้ ยังคงรักษาฟอร์มการเล่นอย่างดีที่สุด  ภายหลังจึงพลิกกลับมาเป็นผู้ชนะได้ในที่สุด ในขณะที่บางครั้งเป็นเวลาที่กำลังได้เปรียบ ก็ไม่ควรประมาท เพราะสุดท้ายอาจกลับมาเป็นฝ่ายแพ้ได้ ตัวอย่างเช่น การใช้เวลาในห้องสอบของนักศึกษา ควรใช้ให้ครบเวลาสอบ แม้จะทำข้อสอบได้หรือไม่ก็ตาม หากออกก่อนเวลาย่อมทำให้ขาดโอกาสที่จะทบทวนคำตอบหรือทำคะแนนให้ดีขึ้น เป็นต้น

ทำดีที่สุดแม้ต้องจ่ายราคา เราไม่ควรเป็นคนยอมแพ้ตั้งแต่ยังไม่ทันเริ่มต้น  เมื่อเกิดเหตุการณ์ผิดพลาดขึ้น ก็ควรมีสติที่จะแก้ไขเพื่อผ่อนหนักให้เป็นเบา  รวมถึงกล้าเผชิญกับความผิดพลาด  แท้จริงการทำสิ่งใดก็ตาม ต่างก็ต้องจ่ายราคาไม่มากก็น้อย  ไม่ว่าจะเป็นเวลา แรงงาน ทรัพยากรต่างๆ เราจึงควรทำอย่างดีที่สุด  อย่างเต็มกำลัง เพื่อให้ได้ผลงานที่ดีกว่าในที่สุด

พ่อแม่ควรสอนค่านิยมทำดีที่สุดเสมอแก่ลูกอย่างไร

การสอนค่านิยมทำดีที่สุดเสมอแก่ลูกควรเริ่มจากพ่อแม่ที่เป็นแบบอย่างให้ลูกเห็นผ่านการดำเนินชีวิตประจำวัน เมื่อจะทำสิ่งใดก็ทำอย่างเต็มกำลัง สุดความสามารถในทุกสถานการณ์ ไม่ทำแค่พอผ่าน หรือแม้ในยามเมื่อเกิดความผิดพลาดขึ้น ควรมีสติ หาหนทางที่ดีที่สุดที่จะแก้ไข  เพื่อผ่อนหนักให้เป็นเบา ไม่ล้มกระดานหรือปล่อยเลยตามเลย ตัวอย่างเช่น เมื่อสอนการบ้านลูก ก็สอนอย่างดี ไม่ใส่ค่านิยมที่ว่า การบ้านไม่ต้องทำให้ดีก็ได้ หรือหากงานที่ทำนั้นยาก ก็ควรให้กำลังใจและช่วยกันคิดหาหนทางทำจนเสร็จ ไม่ล้มเลิกหรือยอมแพ้  นอกจากนั้นในการเตรียมตัวสอบ ควรสอนลูกให้อ่านหนังสืออย่างสุดความสามารถ อย่าคิดว่าเรียนให้ได้คะแนนพอผ่านก็พอ หรือประมาทไม่ทบทวนบทเรียนเพราะคิดว่าจำได้หมดแล้ว ไม่ต้องอ่านทบทวนก็ได้ เป็นต้น

แท้จริงในชีวิตของเราไม่ว่าจะทำสิ่งใดย่อมต้องพบอุปสรรคที่อาจทำให้เราไปไม่ถึงจุดหมายหรือ ประสบความสำเร็จอย่างที่คาดหวัง แต่หากเราฝึกนิสัยที่จะทำให้ดีที่สุดเสมอในทุกสถานการณ์  ย่อมทำให้เราได้รับผลลัพธ์ที่ดีที่สุด และไม่ต้องมานั่งเสียใจในภายหลัง ลักษณะของการทำดีที่สุดในทุกเวลาเป็นคุณลักษณะของคนที่จะประสบความสำเร็จในอนาคต  เป็นบุคคลที่อิ่มเอมใจในผลงานของตนเสมอ  และได้รับความไว้วางใจจากหัวหน้างานให้ทำงานสำคัญรวมถึงความไว้วางใจจากคนอื่น ผมเชื่อว่าหากเราสอนลูกให้เป็นคนที่ทำดีที่สุดเสมอ  เขาจะเป็นคนที่ดีเลิศที่ประสบความสำเร็จในชีวิตและกลายเป็นประชากรที่มีคุณภาพดีในประเทศของเราอีกด้วย  

ที่มา: แม่และเด็ก
ปีที่ 38 ฉบับที่ 521 กรกฎาคม 2558

ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
อีเมลนี้จะถูกป้องกันจากสแปมบอท แต่คุณต้องเปิดการใช้งานจาวาสคริปก่อน , http:// www.kriengsak.com

แหล่งที่มาของภาพ : http://2mxlif1h1cy7vfm836vsho188v.wpengine.netdna-cdn.com/wp-content/uploads/2013/02/iStock_000006825199XSmall.jpg

แก้ไขล่าสุด ใน วันพฤหัสบดีที่ 17 ธันวาคม 2015 เวลา 13:20 น.
 

การบริหารจัดการโรงแรม

พิมพ์ PDF

ทรัพยากรมนุษย์ในธุรกิจโรงแรม

ธุรกิจโรงแรมประกอบด้วยส่วนใหญ่ๆ  ๖ ส่วน ดังนี้

  1. ที่ดิน ได้แก่ที่ตั้งและบริเวณโดยรอบของโรงแรม
  2. ตัวอาคารโรงแรม  ห้องพัก ห้องจัดเลี้ยง ห้องประชุม และสิ่งอำนวยความสะดวกทั้งภายในและภายนอก  ได้แก่บริเวณสวน ที่จอดรถ เป็นต้น
  3. อุปกรณ์เครื่องมือเครื่องใช้ในดำเนินธุรกิจ รวมถึงระบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นระบบไฟฟ้า ระบบน้ำประปา  ระบบการรักษาสิ่งแวดล้อม และระบบอื่นๆอีกมากมาย
  4. อุปกรณ์ที่ใช้เพื่อนำไปให้บริการแก่ลูกค้าโดยตรง
  5. การบริหารการจัดการทั้งด้านการตลาด การบริการ การควบคุม การเงิน และอื่นๆ
  6. ทรัพยากรมนุษย์ได้แก่ ผู้ที่เป็นเจ้าของกิจการ ผู้ลงทุน  ผู้บริหาร และพนักงานทั้งหมด

 

ส่วนประกอบลำดับที่ ๑ – ๔ เป็นสิ่งที่มองเห็นและจับต้องได้ แต่ละส่วนต้องมีความสอดคล้องกันโดยมีการตลาดเป็นตัวกำหนด แต่โรงแรมในประเทศไทยส่วนมากไม่ได้นำการตลาดมาเป็นตัวกำหนด โดยมากกำหนดขึ้นโดยความพอใจของเจ้าของเป็นหลัก สร้างโรงแรมตามกระแสโดยไม่เคยมีความรู้ด้านธุรกิจมาก่อน บางรายสร้างโรงแรมมาเพื่อนำไปขายต่อ มิได้มีความตั้งใจที่จะทำธุรกิจโรงแรม บางรายก็ทำธุรกิจโรงแรมเพื่อการฟอกเงิน หรือเพื่อหน้าตา

 

ส่วนประกอบที่ ๕ และ ๖ เป็นสิ่งที่จับต้องไม่ได้ ส่วนประกอบทั้งสองส่วนนี้ได้มาจากทรัพยากรมนุษย์ ทั้งสิ้น ทรัพยากรมนุษย์ มีความแตกต่างกันหลายระดับ เป็นการยากที่จะมองเห็นคุณค่าที่แท้จริงของทรัพยากรนั้นๆจากภายนอก

 

ผู้ประกอบการธุรกิจโรงแรมส่วนมากใช้เงินลงทุนกับส่วนประกอบในลำดับที่ ๑-๔  เท่านั้น ส่วนประกอบลำดับที่ ๕ และ ๖ มักจะไม่ได้รับการดูแล ไม่มีการจัดงบไว้สำหรับการลงทุนในส่วนนี้  เจ้าของจะเป็นผู้บริหารและจัดการเอง โดยจ้างผู้จัดการมาทำงานเป็นกันชน และทำงานตามความต้องการของเจ้าของ ส่วนพนักงานทั่วๆไปจะจ้างตามสถานะของธุรกิจในชั่วงนั้นๆ มองค่าจ้างแรงงานเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ ดังนั้นเมื่อธุรกิจไม่ดี ก็จะลดต้นทุนการดำเนินการ  โดยการลดจำนวนพนักงานหรือตั้งเงินเดือนพนักงานให้น้อยที่สุด โดยไม่คำนึงถึงกฎหมายแรงงานเพราะมีวิธีเลี่ยงหลายวิธีด้วยกัน

 

ทรัพยากรมนุษย์ถือเป็นทรัพยากรที่สำคัญที่สุดเพราะเมื่อไม่มีมนุษย์ก็ไม่มีการดำเนินการอะไรทั้งสิ้น ทรัพยากรมนุษย์มิได้หมายถึงเฉพาะลูกจ้างเท่านั้น เจ้าของหรือผู้ลงทุนเองก็เป็นทรัพยากรมนุษย์เช่นกัน ดังนั้นประเทศชาติและสังคมจะอยู่ได้ก็ต้องมีทรัพยากรมนุษย์ที่ดีมีคุณภาพ ถ้าประเทศใดหรือสังคมใดมีทรัพยากรมนุษย์ที่ไม่ดีมีคุณภาพต่ำ ประเทศและสังคมนั้นก็จะมีปัญหามากไม่เจริญเหมือนกับประเทศและสังคมที่มีทรัพยากรมนุษย์ที่ดีและมีคุณภาพที่สูงกว่า

 

 

ธุรกิจโรงแรมเป็นธุรกิจการให้บริการประกอบด้วนส่วนโครงสร้างตัวโรงแรมและสิ่งของที่เป็นวัตถุที่จับต้องและมองเห็นได้กับส่วนของการให้บริการและการจัดการ ทั้งสองส่วนจะต้องสอดคล้องกันจึงจะทำให้ธุรกิจประสบผลสำเร็จตามเป้าหมาย ซึ่งจะต้องใช้เวลาในการอธิบายและทำความเข้าใจค่อนข้างยากและซับซ้อน ผมจึงจะไม่ขอกล่าวถึง แต่จะไปเน้นพูดในเรื่องของส่วนที่เกี่ยวข้องกับทรัพยากรมนุษย์เท่านั้น

ทรัพยากรมนุษย์ในธุรกิจโรงแรมแยกเป็นกลุ่มต่างๆดังนี้

๑) พนักงานระดับล่าง ความจริงธุรกิจโรงแรมต้องการพนักงานระดับล่างเป็นจำนวนมากและหลากหลายตำแหน่งด้วยกัน เช่นพนักงานบัญชี พนักงานการเงิน พนักงานต้อนรับ พนักงานเสิร์ฟอาหารและเครื่องดื่ม พนักงานทำความสะอาดในห้องพักลูกค้า พนักงานทำความสะอาดบริเวณทั่วไป พนักงานทำอาหาร พนักงานทำสวน พนักงานด้านธุรการ พนักงานยกกระเป๋า พนักงานฝ่ายบุคคล ยาม และอื่นๆอีกหลายตำแหน่ง  พนักงานในแต่ละตำแหน่งต้องการทักษะและความรู้ในการทำงานแตกต่างกัน ถึงแม้นว่าจะเป็นตำแหน่งงานในตำแหน่งเดียวกันแต่ต่างโรงแรม ก็ยังมีความต้องการความรู้ที่แตกต่างกัน เช่นพนักงานเสิร์ฟในห้องอาหารของโรงแรมในเมืองหลวงที่ลูกค้าเป็นชาวต่างชาติ กับโรงแรมในต่างจังหวัดที่ลูกค้าเป็นคนไทยจะมีมาตรฐานของทักษะความรู้ที่แตกต่างกัน

๒) พนักงานระดับหัวหน้างาน ได้แก่พนักงานที่ดูแลลูกน้องที่เป็นพนักงานในสายงานให้ทำงานถูกต้องมีประสิทธิภาพในสายงานนั้นๆ  เมื่อหัวหน้างานลาออก ผู้จัดการที่รับผิดชอบในสายงานนั้นก็จะแต่งตั้งให้พนักงานที่มีอายุการทำงานมากกว่าเพื่อนร่วมงานในสายงานเดียวกัน หรือผู้ที่ทำงานดีให้ขึ้นมาเป็นหัวหน้างาน โดยไม่มีการอบรมและสอนงานการเป็นหัวหน้า ด้วยเหตุนี้หลายๆโรงแรมจึงมีปัญหาเรื่องการให้บริการลูกค้า

๓) ผู้บริหารระดับกลาง ได้แก่พนักงานระดับบริหารที่มีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงกับสายงานของแต่ละสายงาน จะต้องได้ผู้ที่มีความรู้และเข้าใจในงานของสายงานนั้นอย่างละเอียด สามารถบริหารและจัดการให้งานในฝ่ายที่รับผิดชอบมีประสิทธิภาพและมาตรฐานตามที่ผู้บริหารระดับสูงตั้งเป้าไว้ นอกเหนือกว่านั้นยังต้องมีความเป็นผู้นำที่ดี และมีความรู้และเหตุผลในการชี้แจงต่อผู้บริหารระดับสูงขึ้นไป

๔) ผู้บริหารระดับสูง คนไทยมีโอกาสน้อยมากที่ได้ตำแหน่งนี้ เพราะโดยทั่วไปแล้ว เจ้าของหรือลูกหลานเจ้าของ จะเป็นผู้ดำรงตำแหน่งนี้เอง

๕) เจ้าของโรงแรม คือผู้ที่สำคัญที่สุดเพราะธุรกิจจะออกมาอย่างไรขึ้นอยู่กับเจ้าของเกือบจะ ๑๐๐ % โรงแรมบางแห่งมีเจ้าของคนเดียว บางโรงแรมมีหลายเจ้าของ (หุ้นส่วน) เจ้าของจะต้องเป็นผู้กำหนดวิธีการบริหารและจัดการว่าจะดำเนินการบริหารเองหรือจ้างคนอื่นมาบริหาร โรงแรมขนาดเล็กจนถึงขนาดกลางในประเทศไทยส่วนมากเจ้าของจะเป็นผู้บริหารเอง และจ้างผู้จัดการมาเป็นกันชน

 

ปัจจุบันธุรกิจโรงแรมขาดแคลนพนักงานเป็นจำนวนมากเกือบทุกระดับ โรงแรมระดับ ๔ – ๕ ดาวไม่ค่อยมีปัญหา เพราะ โรงแรมระดับนี้ส่วนมากบริหารงานโดยเชนจากต่างประเทศ เป็นโรงแรมที่มีรายได้ดีอย่างสม่ำเสมอ มีการตลาดระดับนานาชาติ โรงแรมระดับนี้มีการบริหารงานแบบมืออาชีพ โดยคนต่างชาติ พนักงานที่ทำงานด้านโรงแรมอยู่แล้ว และเด็กจบใหม่ที่ต้องการจะยึดงานโรงแรมเป็นอาชีพ จะพากันมาสมัครงานในโรงแรมระดับนี้ เมื่อมีผู้มาสมัครจำนวนมาก ทางโรงแรมก็มีโอกาสคัดเลือกคนที่มีคุณสมบัติตามที่โรงแรมต้องการ เมื่อรับพนักงานใหม่เข้ามาแล้ว โรงแรมก็ยังมีการจัดอบรมเพื่อพัฒนาพนักงานให้มีทักษะและความสามารถในการทำงานให้ดียิ่งขึ้น โรงแรมมีหน่วยงานดูแลเรื่องการพัฒนาคุณภาพของพนักงานโดยตรง ทำให้โรงแรมได้พนักงานดี มีทักษะและความสามารถสูง ประกอบกับความพร้อมด้านมาตรฐานในส่วนอื่นๆ ทำให้กิจการของโรงแรมดี มีรายได้สูง พนักงานได้รับค่า “ services charge “ สูง ส่วนเงินเดือนไม่แตกต่างกว่าโรงแรมในระดับอื่นมากนัก ( Services Charge คือเงินที่ทางโรงแรมเรียกเก็บจากลูกค้า และนำมาแบ่งให้กับพนักงานในอัตราที่เท่ากัน ดังนั้นเงินจำนวนนี้จะได้มากน้อยขึ้นอยู่กับการมาใช้บริการของลูกค้า ทางโรงแรมไม่ได้เป็นผู้จ่ายเงินจำนวนนี้  )

โรงแรมที่บริหารโดยเจ้าของจะมีปัญหาเรื่องการขาดพนักงานมากที่สุด เพราะพนักงานเข้าใหม่ส่วนมากจะเป็นเด็กจบใหม่ที่เหลือมาจากโรงแรมที่บริหารโดยเชนต่างชาติ  เด็กที่มาสมัครไม่ค่อยรู้อะไรแต่โรงแรมก็จำเป็นต้องรับเข้ามาเพราะไม่มีพนักงานคอยให้บริการลูกค้า  พนักงานที่เข้าใหม่ไม่ได้รับการฝึกอบรมเป็นเรื่องเป็นราว เรียนรู้จากพนักงานที่อยู่มาก่อนหรือจากหัวหน้างานที่ไม่ค่อยได้สอนเพราะสอนไม่เป็น หรือหัวหน้างานบางคนก็สอนแบบผิดๆถูกๆ งานหนักมากเพราะมีพนักงานน้อย  เงินเดือน และ services charge ค่อนข้างต่ำไม่พอเพียงกับค่าใช้จ่าย (โรงแรมระดับนี้มีรายได้จากค่า Services Charge น้อยกว่าโรงแรมที่บริหารโดยเชนจากต่างประเทศเป็นจำนวนมาก) พนักงานไม่ค่อยได้รับการสนับสนุนและพัฒนาในด้านการเรียนรู้มากนัก พนักงานที่เก่งเพราะเรียนรู้ด้วยตัวเองเมื่อมีโอกาสก็จะไปสมัครงานกับโรงแรมที่มีได้รายได้มากกว่า หรือได้รับการซื้อตัวให้ไปดำรงตำแหน่งงานที่สูงขึ้นจากโรงแรมอื่น พนักงานที่มีความสามารถไม่สูงนักก็จะต้องทนทำงานให้ผ่านไปวันๆโดยไม่มีอนาคต แถมวันดีคืนดีธุรกิจโรงแรมตกต่ำ พนักงานที่ยังไม่พ้นการทดลองงานก็จะถูกปลดออกส่วนพนักงานที่ยังเหลืออยู่ก็อาจถูกลดเงินเดือน

พนักงานระดับหัวหน้างานและพนักงานบริหารระดับกลางยิ่งแล้วใหญ่ ปัจจุบันขาดเป็นจำนวนมาก โรงแรมที่บริหารโดยการจ้างเชนจากต่างประเทศมาบริหาร ผู้บริหารระดับกลางขึ้นไปจะเป็นคนต่างด้าว หรือถ้าเป็นคนไทยก็มีตำแหน่งให้น้อยและพนักงานเก่าไม่ค่อยจะออก จึงทำให้พนักงานที่มาทีหลังมีโอกาสที่จะได้ตำแหน่งยาก ในที่สุดก็ต้องออกไปอยู่โรงแรมที่บริหารโดยเจ้าของ เมื่อไปอยู่ด้วยกันต่างคนก็ต่างผิดหวังทั้งเจ้าของและพนักงาน ส่วนของพนักงานเมื่อเคยอยู่โรงแรมที่มีระบบในการบริหารการจัดการที่แน่นอน เมื่อมาอยู่โรงแรมที่เจ้าของเป็นผู้บริหารทุกอย่างไม่แน่นอนแล้วแต่อารมณ์ของเจ้าของ ประกอบกับสิ่งอำนวยความสะดวกหลายๆอย่างต่างกันมากจึงทำให้พนักงานไม่สามารถทำงานได้เต็มที่ทำให้ผลงานไม่เด่นชัด ทางเจ้าของก็ผิดหวัง ในที่สุดพนักงานผู้นั้นก็ต้องไปหางานที่อื่น หรืออยู่แบบผ่านไปวันๆ

สืบเนื่องจากรัฐบาลปัจจุบันได้ให้ความสำคัญกับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวมากกว่ารัฐบาลที่ผ่านๆมา        ทำให้มีผู้สร้างโรงแรมเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก นักธุรกิจต่างแย่งกันลงทุนสร้างโรงแรมเพราะเห็นว่าจะได้กำไรแน่ๆ แม้นธุรกิจโรงแรมจะทำกำไรได้ไม่มากนักก็ไม่เดือดร้อนเพราะเงินที่ลงทุนไม่สูญหายไปไหน โรงแรมเป็นทรัพย์สิน นานๆไปก็มีกำไรในตัวของมันเอง แต่การลงทุนสร้างบุคลากรไม่ใช่ทรัพย์สิน จึงไม่สนใจที่จะลงทุน เมื่อสร้างโรงแรมเสร็จก็ไปดึงตัวบุคลากรจากโรงแรมอื่นถ้าธุรกิจไม่ดีก็ปลดพนักงานออก ปัญหาจึงไปตกหนักอยู่ที่ผู้บริหาร หรือผู้จัดการที่ถูกจ้างมาบริหารและจัดการ

โรงแรมที่สร้างด้วยเงินจำนวนมากจะกลายเป็นโรงแรมล้างทันที่ถ้าขาดพนักงาน งานโรงแรมเป็นงานบริการที่ละเอียดอ่อน แต่ละหน่วยงานมีความสำคัญพอๆกัน เกี่ยวข้องกันเป็นลูกโซ่  ธุรกิจโรงแรมจำเป็นต้อได้รับการลงทุนด้านทรัพยากรมนุษย์เป็นอย่างมาก  มนุษย์เป็นได้ทั้งผู้สร้างและผู้ทำลาย การสร้างทรัพยากรมนุษย์เพื่อมารองรับธุรกิจโรงแรมต้องทำให้ถูกทาง มีการร่วมมือกันเป็นเครือข่าย รัฐบาลต้องให้การสนับสนุนฝ่ายเอกชนอย่างถูกต้อง เอกชนหรือผู้ประกอบการโรงแรมเองก็ต้องปรับทัศนคติ เปลี่ยนวิสัยทัศน์ และหันมาลงทุนด้านทรัพย์ยากรมนุษย์อย่างจริงจัง

ผู้ใดกำลังหาที่ปรึกษาหรือโด้ชในการบริหารจัดการโรงแรม สามารถติดต่อผมได้ที่ e-mail address: อีเมลนี้จะถูกป้องกันจากสแปมบอท แต่คุณต้องเปิดการใช้งานจาวาสคริปก่อน หรือ                  โทร 089-1381950

ม.ล.ชาญโชติ ชมพูนุท

17 ธันวาคม 2558

 

แก้ไขล่าสุด ใน วันพฤหัสบดีที่ 17 ธันวาคม 2015 เวลา 21:50 น.
 


หน้า 278 จาก 561
Home

About Us

ศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ (ศบม.) เป็นองค์กรที่พัฒนาและจัดทำโครงการเพื่อทำประโยชน์ให้สังคม เป็นองค์กรสนับสนุนการดำเนินงานของภาครัฐ ช่วยแก้ปัญหาผู้ประกอบการภาคธุรกิจบริการที่ขาดแคลนบุคลากรที่มีมาตรฐานในการให้บริการ
อ่านเพิ่มเติม

มูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ ์

 iHDC Profile
บัญชีรายชื่อกรรมการ
ใบสำคัญแสดงการจดทะเบียน การเปลี่ยนแปลงกรรมการของมูลนิธิ
เอกสารประชาสัมพันธ์ โครงการ HMTC.pdf
เอกสารแนะนำโครงการ HMTC 1.pdf
เอกสารโครงการ HMTC 2 คุณสมบัติผู้เข้าร่วมโครงการ.pdf
iHDC นิติบุคคล.pdf
iHDC บุคคล.pdf
iHDC บุคคลเครือข่าย.pdf
รายงานการประชุม 6 มีนาคม 2560.pdf
ข้อบังคับมูลนิธิ
ใบสำคัญแสดงการจดทะเบียนจัดตั้งมูลนิธิ
Ihdc-Profile and Roadmap 2016-2019 Mar 23 2560.pdf
รายงานการประชุมใหญ่คณะกรรมการมูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ 2559.pdf
คำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ สาขาวิชาชีพ.pdf
รายงานการประชุมใหญ่วันที่ 18 ธ ค 2558 v 3.pdf
รายงานการประชุม วันที่ 24 ธันวาคม 2557 updated 4 มีนาคม 2558.pdf
iHDC-invitation Letter.doc
iHDC-Member Form Thai.doc
iHDC-Member Form English.doc
รายงานการประชุมกรรมการมูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ วันที่ 15 มกราคม 2556 ฉบับสมบูรณ์


thaibetter
พัฒนาประเทศไทยแบบทวีคูณ และยั่งยืน ( ททค )

Login


แบบสำรวจ

สถิติเว็บไซด์

สมาชิก : 5644
Content : 3068
เว็บลิงก์ : 26
จำนวนครั้งเปิดดูบทความ : 8747898

facebook

Twitter


ล่าสุด

บทความเก่า