Thaiihdc.org

  • เพิ่มขนาดตัวอักษร
  • ขนาดตัวอักษรปกติ
  • สดขนาดตัวอักษร
Thaiihdc.org

พัฒนาตนเองได้ ก้าวไกลกว่า

พิมพ์ PDF
"ความสามารถในการพัฒนา และเพิ่มพูนทักษะเป็นข้อแตกต่างที่ชัดเจนที่สุด ระหว่างผู้นำและผู้ตาม"
วอร์เรน เบนนิส และเบิร์ต นานุส ผู้เชี่ยวชาญด้านภาวะผู้นำระดับโลกได้กล่าวข้อความข้างต้นไว้
ผู้นำที่สามารถนำคน นำองค์กร ฝ่าฟันอุปสรรค บรรลุเป้าหมาย เจริญก้าวหน้าอย่างยั่งยืนได้ มักมีสิ่งหนึ่งที่เหมือนกัน คือ ไม่ยอมให้ตนเองเป็น ‘อุปสรรค’ ขัดขวางความสำเร็จ จึงพร้อมที่จะพัฒนาตนเองอยู่เสมอ ไม่คิดว่าตนเอง เก่งแล้ว ดีแล้ว พอแล้ว เปลี่ยนแปลงอะไรไม่ได้แล้ว แต่คิดเสมอว่า จะทำอย่างไรให้ดีขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ มักเป็นผู้ที่มีความถ่อมใจรับฟังผู้อื่น ไม่ถูกจำกัดด้วยความคิด ประสบการณ์ หรือ ความสำเร็จในอดีต  แต่พร้อมแก้ไข ปรับปรุง เปลี่ยนแปลงตนเอง จัดการข้อบกพร่องที่เป็นอุปสรรค เรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ เพิ่มพูนทักษะที่จำเป็นอยู่เสมอ

 

ไม่เพียงคนที่มีบทบาท ‘นำ’ ผู้อื่นในระดับต่าง ๆ เท่ากันที่จำเป็นต้องพัฒนาตนเอง แต่คนทำงานทุกคน หากต้องการก้าวหน้าอย่างไม่สะดุด ท่ามกลางโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เราจำเป็นต้องเรียนรู้ที่จะพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง
การพัฒนาตนเอง (self-development) หมายถึง การปรับปรุง เปลี่ยนแปลง แก้ไขจุดอ่อน เสริมสร้างจุดแข็งตนเองในมิติต่าง ๆ อย่างมีเป้าหมาย เรียนรู้ด้วยตนเองได้อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้มีความสามารถมากพอที่จะทำให้สิ่งที่คาดหวังไว้ประสบความสำเร็จ
คนทำงานทุกคนจำเป็นต้องพัฒนาตนเองในทุก ๆ มิติ ให้ดีขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ ต้องคิดเสมอว่า จะทำวันนี้ ให้ดีกว่าวันวาน และทำวันพรุ่งนี้ ให้ดีกว่าวันนี้ได้อย่างไร
เราทุกคนควรเรียนรู้ที่จะพัฒนาตนเอง ให้ครอบคลุมทุกเรื่อง ทุกมิติของชีวิต อาทิ ทัศนคติ วิธีคิด ความรู้ ทักษะ ลักษณะชีวิต ร่างกาย จิตใจ/อารมณ์ สังคม  เพื่อเพิ่มพูนศักยภาพในด้านต่าง ๆ อย่างครบถ้วน โดยยอมรับว่า คนเราไม่ได้สมบูรณ์เพียบพร้อมมาตั้งแต่เกิด และแม้มีความรู้ มีประสบการณ์ แต่มันก็ล้าสมัยได้เมื่อเวลาผ่านไป ดังนั้น จึงจำเป็นต้องเรียนรู้และพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง ต้องถ่อมใจยอมรับในข้อบกพร่อง และพร้อมเสริมสร้างจุดแข็ง เรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ เพิ่มเติมเสมอ
การพัฒนาตนเองจะมีลักษณะเป็นวงจรการพัฒนา เริ่มตั้งแต่ การสำรวจตนเอง การตั้งเป้าและวางแผนพัฒนา การลงมือพัฒนา และการประเมินผลการพัฒนา
สำรวจตนเอง – แก้ไข ‘จุดอ่อน’ เสริมสร้าง ‘จุดแข็ง’ เราควรสร้างนิสัย “นักพัฒนาตนเอง” ไม่แช่อยู่กับความเคยชิน พอใจอยู่ในแบบเดิม ๆ แต่หมั่นสำรวจ “จุดอ่อน” ในตัวเองที่เป็นอุปสรรคต่องานที่ทำ ต่อความสำเร็จของชีวิต อาทิ ชอบคิดแง่ลบ ขาดวินัย ทำงานช้า บุคลิกภาพไม่ดี ขาดความรู้ลึกซึ้ง ขาดทักษะด้านภาษา  ฯลฯ ไม่เพียงสำรวจจุดอ่อน แต่ต้องสำรวจจุดแข็ง และเรื่องอื่น ๆ ที่เราควรจะพัฒนาให้ดีขึ้น และเพิ่มโอกาสความสำเร็จให้ชีวิต เช่น หาวิธีทำงานให้เร็วขึ้น ด้วยวิธีที่ฉลาดขึ้น มีประสิทธิภาพสูงขึ้น  พัฒนาทักษะการคิดริเริ่ม การคิดแง่บวก การบริหารจัดการ การเป็นผู้นำที่มีคนศรัทธาเพิ่มมากขึ้น เป็นต้น
จากนั้น ให้เราจดรายการจุดอ่อนที่สมควรปรับปรุง เปลี่ยนแปลง และเรื่องที่เราต้องการพัฒนาตนเองให้ดีขึ้นออกมาให้หมด อาจจะสอบถามจากคนรอบข้างว่าเราควรเปลี่ยนแปลงในเรื่องใดบ้าง แล้วนำจุดอ่อนเหล่านั้นมาวิเคราะห์ดูว่า เราเป็นเช่นนั้นจริงหรือไม่ เพราะเหตุใด ส่งผลกระทบต่อความสำเร็จของงานอย่างไร และจะแก้ไขปรับปรุงให้ดีขึ้นได้อย่างไร
ตั้งเป้าและวางแผนพัฒนาตนเอง การพัฒนาตนเองจะสำเร็จได้ต้องมี ‘เป้าหมาย’ เราจึงต้องวางแผนปฏิบัติการในการพัฒนาตนเองในแต่ละเรื่องอย่างชัดเจนว่า จะพัฒนาเรื่องอะไร อย่างไร ไปสู่เป้าหมายอะไร เมื่อไหร่ แต่ละวันต้องทำอะไรบ้าง เช่น ตั้งเป้าทำงานให้เร็วขึ้น มีประสิทธิภาพขึ้น เห็นผลลัพธ์ชัดเจนขึ้น จึงกำหนดอย่างเจาะจงว่า จะทำอะไร มีเป้าหมายอะไร ใช้เวลาเท่าไร และทำให้สำเร็จตามนั้น เป็นต้น นอกจากนี้ เราอาจจะมีเป็นร้อย ๆ เรื่องที่ต้องพัฒนาในด้านต่าง ๆ จำเป็นต้องจัดเรียงลำดับความสำคัญ เรื่องใดควรพัฒนาก่อน หลัง เรื่องใดบ้างสามารถพัฒนาไปพร้อม ๆ กัน จะแบ่งเวลาเหมาะสมอย่างไร
ลงมือดำเนินการ มีเป้าหมายและแผนงานแล้วจะสำเร็จได้ ต้องผสานด้วย ‘ความตั้งใจจริง’ มุ่งมั่นตั้งใจ เอาจริงเอาจัง ในการเปลี่ยนแปลง และพัฒนาตนเอง เช่น ตั้งเป้าอ่านหนังสือวันละ 30 นาที ก็ไม่เพียงแต่อ่าน แต่ต้องคิดต่อว่าจะนำสิ่งที่อ่านมาใช้ประโยชน์ต่องานที่ทำได้อย่างไร หรือ ตั้งเป้าว่า ทุก 15 นาทีจะต้องสร้างผลลัพธ์ของงานบางอย่างขึ้น เพื่อให้การใช้เวลาเกิดประสิทธิภาพสูงสุด ก็ต้องวางแผนอย่างชัดเจนและลงมือทำให้เกิดขึ้นจริงให้ได้ เป็นต้น ในการลงมือดำเนินการพัฒนาตนเองในแต่ละเรื่อง ต้องมีความอดทน และพยายามฝึกให้เป็นนิสัย ไม่ย่อท้อแม้จะพ่ายแพ้ ล้มเหลว ยากลำบากในช่วงแรก ๆ แต่ต้องไม่ล้มเลิก จนกว่าจะบรรลุความสำเร็จตามเป้าหมาย
ประเมินผลการพัฒนา การพัฒนาตนเองจะประสบความสำเร็จมากน้อยเพียงใด จำเป็นต้องมีการสร้างตัวชี้วัดที่ชัดเจนเพื่อประเมินผลในเรื่องนั้น และตั้งเวลาเฉพาะเจาะจงสัก 5-10 นาที ในแต่ละวัน เพื่อทบทวนตัวเองในสิ่งที่ทำ มีสิ่งใดต้องแก้ไขปรับปรุง จะทำให้ดีขึ้นในครั้งต่อ ๆ ไปได้อย่างไร โดยประเมินตนเองอย่างเป็นธรรม ไม่เข้าข้างตนเอง ไม่หลอกตัวเอง ไม่มีอคติเข้าข้างตนเอง แต่ประเมินอย่างสมจริง และไม่พอใจเพียง ‘ดีแล้ว’ แต่คิดเสมอว่าต้อง ‘ดีขึ้นอีก’
จำไว้ว่า ความพึงพอใจที่จะทำเหมือนเดิมในวันนี้ คือ การเดินถอยหลังในวันพรุ่งนี้....
การพัฒนาตนเองเป็นการ ‘ปลดล็อค’ ความจำกัดในตัวเรา และขยายศักยภาพด้านต่าง ๆ ออกไปได้อย่างไม่สิ้นสุด ตราบเท่าที่เราไม่หยุดพัฒนาตนเอง

ที่มา: งานวันนี้
ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
ประธานสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา (IFD)
อีเมลนี้จะถูกป้องกันจากสแปมบอท แต่คุณต้องเปิดการใช้งานจาวาสคริปก่อน , http://www.kriengsak.com

แก้ไขล่าสุด ใน วันจันทร์ที่ 26 ตุลาคม 2015 เวลา 21:23 น.
 

เรียนรู้จากการอ่าน

พิมพ์ PDF

จงใช้ชีวิตราวกับว่าคุณจะตายในวันพรุ่งนี้ และจงเรียนรู้ราวกับว่าคุณจะมีชีวิตอยู่ตลอดไป (Live as if you were to die tomorrow. Learn as if you were to live forever.)

มหาตมะ คานธี ได้ให้ข้อคิดที่ดีมากสำหรับคนที่ต้องการใช้ชีวิตอย่าง ‘รู้คุณค่า’ และ ‘คุ้มค่า’ มากที่สุด ไม่ว่าเราเป็นใคร

 

หากรู้ว่าวันนี้เป็นสุดท้ายของชีวิต ย่อมเลือกทำในสิ่งต่าง ๆ ที่มีคุณค่ามากที่สุด และจะเร่งรีบทำสิ่งต่าง ๆ ให้ได้มากที่สุด เพื่อที่เขาจะได้ไม่เสียใจภายหลัง คนที่คิดเช่นนี้ จะเป็นคนที่ตระหนักว่า “เวลา” ทุกนาทีชีวิตนั้นมีคุณค่า จึงใช้อย่างเกิดประโยชน์สูงสุด ไม่ปล่อยทิ้งเรี่ยราด ไม่ผัดวันประกันพรุ่ง และแน่นอนว่า ย่อมสามารถสร้างสรรค์ผลสำเร็จของงานได้มากกว่า

เช่นเดียวกัน ในการดำรงชีวิต ทั้งชีวิตการทำงาน ชีวิตส่วนตัว การปรับตัวให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไป การทำความเข้าใจเทคโนโลยีใหม่ ๆ การก้าวตามให้ทันความรู้ใหม่ ๆ การแก้ปัญหาที่ไม่เคยพบมาก่อน จำเป็นต้อง “เรียนรู้” สิ่งต่าง ๆ ตลอดชีวิตของเรา ผู้ที่รู้ทันโลก รู้ทันงาน รู้ทันคน ย่อมได้เปรียบในการก้าวสู่อนาคตมากกว่า

การเรียนรู้เป็นเรื่องสำคัญ เราสามารถเรียนรู้เรื่องต่าง ๆ ได้อย่างหลากหลาย และช่องทางหนึ่งที่ช่วยส่งเสริมการเรียนรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ นั่นคือ การอ่าน
คำถามคือ ในฐานะคนทำงาน เราจะอ่านอะไร และอ่านอย่างไร จึงช่วยเพิ่มพูนการเรียนรู้ นำไปสู่ความก้าวหน้าได้?

อ่านหนังสือครบทุกมิติ เป็นความจริงที่ว่า สังคมใดที่ประชาชนส่วนใหญ่รักการอ่าน สังคมนั้นจะมีความก้าวหน้า เพราะเรียนรู้จากสิ่งที่อ่าน นำสิ่งที่อ่านมาประยุกต์ใช้ในชีวิตจริงได้ ดังนั้น การฝึกนิสัยรักการอ่านจึงสำคัญ พอ ๆ กับการเลือกหนังสือที่จะอ่าน เราอ่านอะไรไปบ่อย ๆ เข้า ชีวิตเราก็จะถูกแปลงสภาพแปลงโฉมไปตามนั้น ดังนั้น จึงควรเลือกให้อ่านในเรื่องที่จะเกิดประโยชน์ต่อความคิด ความรู้ ทักษะ ในมิติต่าง ๆ ครบถ้วนทุกด้าน เพื่อเพิ่มพูนความรู้และพัฒนาตนเองได้ต่อเนื่อง เช่น อ่านหนังสือพิมพ์ เพื่อติดตามข่าวสารบ้านเมืองตอนเช้า อ่านตำราเพิ่มเติม เพื่อเพิ่มพูนความรู้ในสาขาวิชาที่เกี่ยวข้องกับอาชีพของเรา อ่านเคล็ดลับการทำงานในด้านที่จะช่วยส่งเสริมความก้าวหน้า อ่านคู่มือเสริมทักษะ เพื่อพัฒนาทักษะที่จำเป็น เช่น พัฒนาทักษะภาษาอังกฤษ พัฒนาทักษะด้านการใช้คอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีที่ทันสมัยต่าง ๆ  เป็นต้น และหนังสืออีกประเภทที่ต้องอ่าน ได้แก่ หนังสือปรัชญา ศาสนาเพื่อคิดลึกซึ้งและยังมีผลจรรโลงจิตใจและคุณธรรมให้สูงขึ้น

อ่านแบบครุ่นคิดจนตกผลึก ขงจื้อกล่าวไว้ว่า การเรียนรู้โดยไม่มีการคิดเป็นการสูญเปล่า แต่การคิดโดยไม่มีการเรียนรู้เป็นอันตรายการคิดกับการเรียนรู้ต้องไปด้วยกัน หากไม่ไปด้วยกันจะมีปัญหา การอ่านเพื่อเรียนรู้จะต้องเป็นการอ่านไปคิดไป ทำความเข้าใจ ตั้งคำถามถกเถียง ครุ่นคิดสะท้อนคิดอยู่ภายในตัวเอง จนตกผลึกเป็นสิ่งที่เรียนรู้ซึ่งนำไปใช้ประโยชน์ได้จริง ดังนั้น การเรียนรู้และการคิดควรเป็นเรื่องที่ต้องไปด้วยกันและควรเดินไปในทิศเดียวกันอย่างแท้จริง

จดบันทึกสิ่งที่เรียนรู้ สิ่งที่เราอ่านจะคงอยู่เสมอ หากเราจดข้อคิด สิ่งที่ได้เรียนรู้จากการอ่านไว้ การจดบันทึกจะช่วยทบทวนความเข้าใจ และช่วยให้เราย้อนกลับมาดูใหม่ได้ทุกเมื่อ ทำให้เราไม่ลืมสิ่งที่เรียนรู้ไป นอกจากจดสิ่งที่เรียนรู้แล้ว ควรจดสิ่งที่เราจะนำไปใช้ประโยชน์ หรือคิดว่าจะปฏิบัติตามคำแนะนำอย่างไร เพื่อให้มั่นใจว่าเราเรียนรู้จากสิ่งที่อ่านอย่างเป็นรูปธรรม

แบ่งปันสิ่งที่เรียนรู้ การถ่ายทอดสิ่งที่เราเรียนรู้จากการอ่าน นอกจากจะเป็นประโยชน์ต่อผู้อื่นและงานในภาพรวมแล้ว ยังเท่ากับช่วยเราทบทวนสิ่งที่เราได้เรียนรู้มาให้เข้าใจหนักแน่นมากยิ่งขึ้น และช่วยให้เราประเมินตัวเองได้ว่า เราเข้าใจเรื่องที่อ่านได้มากน้อยเพียงใด โดยหากสังเกตดู หากเข้าใจเรื่องที่อ่านมาอย่างลึกซึ้ง เราจะสามารถถ่ายทอดและอธิบายให้ผู้อื่นฟังได้อย่างชัดเจน แม้เรื่องยากก็สามารถพูดด้วยภาษาที่เข้าใจง่าย ๆ ได้ แต่ถ้าเรายังอ่านไม่เข้าใจ ไม่รู้จริง เราจะไม่สามารถอธิบายสิ่งที่อ่านให้ผู้อื่นเข้าใจได้ ทำให้ต้องกลับไปทบทวนอีกรอบ

ลีโอนาร์โด ดา วินชี กล่าวไว้ว่า “การเรียนรู้ไม่เคยทำให้สมองเหนื่อยล้า” (Learning never exhausts the mind.)
หากเราตระหนักในความสำคัญของการเรียนรู้ที่มีต่ออนาคต เราจะไม่หยุดเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ จากช่องทางต่าง ๆ รอบตัว และหนึ่งในช่องทางที่ขาดไม่ได้เลย นั่นคือ การอ่านหนังสือดี ๆ ทุกวัน เพื่อเพิ่มพูนความคิด ความรู้ และปัญญา จากเรียนรู้สิ่งใหม่ตลอดชีวิตของเรา

 

ที่มา: งานวันนี้
ปีที่ 17
ฉบับที่ 744 วันที่ 19 สิงหาคม - 2 กันยายน 2558

ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด

ประธานสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา (IFD)
อีเมลนี้จะถูกป้องกันจากสแปมบอท แต่คุณต้องเปิดการใช้งานจาวาสคริปก่อน http://www.kriengsak.com

แก้ไขล่าสุด ใน วันจันทร์ที่ 26 ตุลาคม 2015 เวลา 21:31 น.
 

สสส. กับ การพัฒนาระบบความเป็นธรรมในสังคมไทย.

พิมพ์ PDF

รัฐไทยจะต้องถามตนเองให้มาก ว่า หน่วยงานราชการไทยมีความจำเป็นต้องมีพื้นที่กลางที่จะทำให้เกิดการคิดสร้างสรรค์ มีนวัตกรรมใหม่ๆ ในสังคม โดยมีความยืดหยุ่นในการดำเนินการ และเปิดช่องทางให้ทุกฝ่ายในสังคมเข้าร่วมอย่างบูรณาการหรือไม่ และควรเป็นไปในลักษณะใด เพื่อให้สังคมไทยมีความเจริญรุ่งเรือง ผู้คนมีสุขภาวะ และไม่ทอดทิ้งบุคคลใดไว้ข้างหลังอย่างแท้จริง

สสส. กับ การพัฒนาระบบความเป็นธรรมในสังคมไทย

ดร.สุนทรียา เหมือนพะวงศ์

ผู้พิพากษา

ในช่วงเวลานี้ มีการวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือที่เรียกชื่อย่อว่า "สสส." กันมาก ในประเด็นเรื่องวินัยทางการเงินหรือเรื่องการทำนโยบายผิดทิศทางต่างๆ ผู้ที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องควรตรวจสอบกันอย่างเต็มที่ หากพบข้อบกพร่องหรือผิดกฎหมายก็ดำเนินการตามขั้นตอนกฎหมายต่อไป สำหรับประเด็นข้อขัดข้องกับเกี่ยวกับการทำงานของผู้บริหารสสส.บางคนหรือระบบการทำงานบางอย่างที่ไม่โปร่งใส หากจะมี ก็ต้องวิพากษ์วิจารณ์แก้ไขกันไป

เนื่องจากผู้เขียนได้เคยเกี่ยวข้องกับงานของ สสส. อยู่บ้าง จึงอยากจะได้นำข้อมูลเกี่ยวกับการทำงานร่วมกันมาเผยแพร่ เพื่อให้เกิดการต่อยอดทางความคิดกันในสังคม โดยเฉพาะเรื่องประเด็นการพัฒนาระบบความเป็นธรรมในสังคมไทย ซึ่งหลายหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมได้พยายามทำกันอยู่ รวมทั้ง สสส. ด้วย ในฐานะหน่วยงานที่มุ่งสร้างสุขภาวะทางสังคม โดยมุ่งหมายในการบรรเทาความทุกข์ของผู้คนจากปัญหาความไม่เป็นธรรมต่างๆ ผู้เขียนได้เขียนบทความนี้ขึ้นด้วยความมุ่งหวังที่จะชักชวนให้ผู้ที่เกี่ยวข้องได้เข้ามาช่วยกันทบทวนงานของ สสส. ควบคู่กันไปกับการทบทวนงานขององค์กรอื่นๆ รวมทั้งหน่วยงานของท่านเองไปพร้อมกัน เพื่อช่วยกันสร้างสังคมไทยให้มีความเป็นธรรมที่อำนวยความสุขให้แก่คนไทยทุกคน (Fair Society, Healthy Life)

I. การร่วมงานกับ สสส.

ผู้เขียนเคยมีโอกาสทำงานในสถาบันวิจัยรพีพัฒนศักดิ์ ซึ่งเป็นองค์กรวิจัยของศาลยุติธรรม ตั้งแต่ยุคเริ่มต้นสถาบันวิจัยรพีฯ ได้จัดตั้ง "เวทีนิติศาสตร์เสวนา" (Judicial Dialogue) เพื่อเปิดพื้นที่ให้ฝ่ายต่างๆ ทั้งบุคลากรในกระบวนการยุติธรรม ภาคประชาชน และหน่วยงานต่างๆ ได้เข้าร่วมทำงานกับศาลในการพัฒนาระบบยุติธรรมของประเทศ ทำให้เกิดเครือข่ายการทำงานทางวิชาการหลากหลายรูปแบบ ทั้งเรื่องการพัฒนาบทบาทศาลตามรัฐธรรมนูญ การคุ้มครองสิทธิของประชาชนทางแพ่งและทางอาญา การพัฒนาระบบงานศาลในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ การคุ้มครองเด็กและสตรี และการคุ้มครองผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม เป็นต้น ด้วยความมุ่งหวังที่จะทำงานกับเครือข่ายต่างๆ อย่างกว้างขวาง ศาลยุติธรรมจึงได้ร่วมงานกับหน่วยงานภายนอกและองค์กรภายในประเทศในการดำเนินการดังกล่าว ซึ่งหน่วยงานต่างประเทศ ได้แก่ องค์กร ICJ, องค์กร USAID, องค์กร UN-WOMEN และมูลนิธิ Friedrich Naumann เป็นต้น สำหรับหน่วยงานภายใน ได้แก่ หน่วยงานหลากหลายภาคส่วน รวมถึงองค์กร สสส. ด้วย

(๑.) การพัฒนากระบวนการยุติธรรมสิ่งแวดล้อม

ในช่วงแรก สถาบันวิจัยรพีฯ ได้ร่วมกับศาลฎีกาและหน่วยงานจากต่างประเทศหลายแห่ง พัฒนากระบวนการยุติธรรมทางสิ่งแวดล้อม จนเกิดกิจกรรมกับแผนกคดีสิ่งแวดล้อมในศาลฎีกาและหน่วยงานด้านสิ่งแวดล้อมที่หลากหลาย ต่อมาได้ร่วมงานกับองค์กรภาคีของ สสส. ที่เข้ามาช่วยสนับสนุนงบประมาณและบุคลากร ทำให้มีการประชุมเชิงปฏิบัติการและงานวิจัยหลายเรื่อง ทั้งเรื่องการสำรวจปัญหามลพิษที่กระทบสุขภาพ การพัฒนาระบบการสืบสวนสอบสวนคดีสิ่งแวดล้อม การพัฒนาพยานผู้เชี่ยวชาญ รวมไปถึงการฝึกชาวบ้านให้จัดเก็บพยานหลักฐาน จนเกิดการพัฒนาความคิดและร่างกฎหมายเกี่ยวกับวิธีพิจารณาคดีสิ่งแวดล้อมและศาลสิ่งแวดล้อมตามลำดับ ซึ่งในปัจจุบัน สภาปฏิรูปแห่งชาติและสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ก็ได้ให้ความสำคัญกับร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องดังกล่าว และมีการนำข้อมูลจากการศึกษาในเบื้องต้นเหล่านี้ไปปรับใช้ด้วย

(๒.) การพัฒนากระบวนการยุติธรรมด้านเด็กและเยาวชนและแก้ไขบำบัดฟื้นฟูอื่นๆ

ในเรื่องการพัฒนางานเกี่ยวกับระบบยุติธรรมด้านเด็กเยาวชน สถาบันวิจัยรพีฯ ได้รับเชิญจากท่านอธิบดีธวัชชัย ไทยเขียว แห่งกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน ให้ร่วมจัดทำโครงการพัฒนาการปฏิบัติต่อเด็กและเยาวชนในกระบวนการยุติธรรม โดยร่วมกับฝ่ายอื่นๆ เช่น กรมคุมประพฤติ และโรงพยาบาลตุลาการเฉลิมพระเกียรติ โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณจาก สสส. โดยตรงเป็นครั้งแรก ซึ่งในปีถัดมา แต่ละหน่วยงานได้พัฒนางานของตนกันต่อ โดยสำนักงานศาลยุติธรรมได้รับงบประมาณสนับสนุนให้ทำระบบฐานข้อมูลองค์กรเด็กและเยาวชนทั่วประเทศ และการจัดทำโมเดลตัวอย่างเพื่อการทำงานแบบบูรณาการ จนถึงปีปัจจุบัน ศาลเยาวชนและครอบครัวกลางและศาลเยาวชนสิบกว่าแห่งก็ยังได้รับการสนับสนุนงบประมาณจาก สสส. ให้ทำโครงการบูรณาการความร่วมมือเพื่อให้เกิดการป้องกันและแก้ไขบำบัดฟื้นฟูเด็กและเยาวชนที่เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ซึ่งมีทั้งเด็กเสี่ยง เด็กที่กระทำความผิด เด็กที่เป็นเหยื่ออาชญากรรม และเด็กที่เป็นพยานในศาล โดยต่อมาโครงการดังกล่าวได้รับงบประมาณจากภาครัฐให้ขยายผลการดำเนินการไปในหลายจังหวัดเพิ่มเติม และมีทำงานร่วมกับกระทรวงทบวงกรมต่างๆ โดยมีการทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ และกำลังอยู่ในระหว่างการทำและขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์และแผนปฏิบัติการ ซึ่งจากการทำงานพัฒนาในเรื่องระบบการบำบัดร่วมกับสหวิชาชีพหลายฝ่าย ทราบว่า สสส. ยังขยายผลการทำงานไปยังหน่วยงานอื่นๆ จนเกิดเป็นการพัฒนาระบบบำบัดฟื้นฟูผู้เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมให้เป็นไปตามหลักวิชาการ ทั้งการพัฒนาคุณภาพชีวิตนักโทษหญิง หรือการทำแผนพัฒนาสตรีที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรม เป็นต้น

(๓.) การปฏิรูประบบยุติธรรมเพื่อสุขภาวะของประชาชนไทย

เกี่ยวกับการปฏิรูปงานศาลและกระบวนการยุติธรรมในภาพกว้าง สถาบันวิจัยรพีฯ ได้เคยร่วมงานกับสถาบันส่งเสริมการจัดการความรู้เพื่อสังคม ซึ่งเป็นหน่วยงานภาคีของสสส. เพื่อการพัฒนาระบบการจัดการความรู้ โดยทำการประชุมเชิงปฏิบัติการกับผู้พิพากษาหลายหน จนได้องค์ความรู้ไปพัฒนางานของศาล โดยเฉพาะเรื่องการพัฒนาระบบการเร่งรัดคดีในศาลสูง และสถาบันวิจัยรพีฯ ยังได้จัดกิจกรรมด้านการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมเพื่อสังคมอย่างต่อเนื่องกับภาคีเครือข่าย เช่น มูลนิธิเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค เป็นต้น

นอกเหนือจากการได้ร่วมงานกับ สสส. ในฐานะผู้แทนของสถาบันวิจัยรพีฯ แล้ว ผู้เขียนในฐานะส่วนตัวยังได้มีโอกาสได้รับทราบหรือมีส่วนในการช่วยพัฒนาโครงการเกี่ยวกับการปฏิรูประบบยุติธรรมในบางโครงการที่ สสส. ให้การสนับสนุน ไม่ว่าจะเป็นโครงการพัฒนาแผนงานระบบยุติธรรมกับสุขภาวะ ที่จัดทำโดยท่านชาญเชาวน์ ไชยานุกิจ รองปลัดกระทรวงยุติธรรม ที่มุ่งหมายพัฒนาระบบยุติธรรมอย่างเป็นองค์รวมโดยทุกฝ่ายในสังคม โครงการเครือข่ายวิชาการเพื่อสังคมเป็นธรรม ที่มุ่งเน้นการทำงานแบบกว้างเพื่อลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจ ความเป็นธรรมทางสังคม และความเป็นธรรมทางสุขภาพ หรือโครงการพัฒนาแนวทางการจัดทำยุทธศาสตร์เพื่อการปฏิรูประบบยุติธรรมโดยประชาชน ที่ผู้เขียนเองได้มีโอกาสทบทวนวิธีการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมแบบเดิมๆ และมองเห็นทางเลือกแบบใหม่ๆ ที่เน้นการปฏิรูประบบยุติธรรมที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง ด้วยหวังว่าจะได้เกิดการพัฒนางานยุติธรรมด้วยกระบวนทัศน์ใหม่ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมทั้งระบบขึ้นในสังคมไทยอย่างแท้จริงในอนาคต

(๔.) การสร้างผู้นำรุ่นใหม่เพื่อพัฒนาสุขภาวะด้านต่างๆ

กิจกรรมอีกส่วนหนึ่งที่ผู้เขียนได้รับอนุญาตจากสำนักงานศาลยุติธรรมให้ไปเข้าร่วมเมื่อหลายปีก่อนเป็นการเข้าร่วมหลักสูตรพัฒนาศักยภาพผู้นำ ในโครงการเครือข่ายพัฒนาศักยภาพผู้นำการสร้างสุขภาวะ ทำให้มีโอกาสรู้จักผู้คนที่มีพลังในการขับเคลื่อนสังคมที่มาจากหลากหลายสาขาอาชีพ ทั้งที่เป็นแพทย์ เภสัชกร นักกฎหมาย ทหาร นักข่าว นักวิชาการ และนักพัฒนาเอกชน โดยได้เรียนรู้และพัฒนาการทำงานเพื่อสร้างสุขภาวะทางสังคมที่มีรูปแบบและวิธีการที่หลากหลาย รวมทั้งได้เห็นเครือข่ายการทำงานของกลุ่มแพทย์สามพรานหรือแพทย์ชนบท ที่จับกลุ่มทำงานกันมาอย่างยาวนานเพื่อพัฒนาระบบสุขภาพแบบใหม่ๆ ผ่านการผลักดันให้เกิดการจัดตั้งองค์กรใหม่ เช่น สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ที่ช่วยคุ้มครองหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าให้แก่ประชาชน การตั้งองค์กร สสส. เอง และ "องค์กร ส." อื่นๆ อีกเป็นจำนวนมาก จนเกิดการกระจายตัวในการทำงานพัฒนาระบบสุขภาวะของคนในสังคมไทยในด้านต่างๆ และก่อให้เกิดแรงกระเพื่อมที่สำคัญในสังคมไทยดังที่ได้เห็นกัน

II. สิ่งที่ได้เรียนรู้จาก สสส.

ในช่วงนี้ ผู้เขียนได้มีโอกาสติดตามคำวิพากษ์วิจารณ์องค์กร สสส. จากบุคคลที่เกี่ยวข้องและสื่อต่างๆ ได้ยินทั้งความสำเร็จและข้อบกพร่อง ซึ่งผู้บริหารหรือผู้ที่เกี่ยวข้องคงจะต้องช่วยกันพลิกสถานการณ์ที่ถูกท้าทายจากฝ่ายต่างๆ นำพา สสส. ซึ่งเป็นองค์กรของรัฐองค์กรหนึ่งให้เดินหน้าต่อไปอย่างถูกต้องและก่อประโยชน์แก่สุขภาวะของประชาชนชาวไทยดังที่กำหนดเป็นภารกิจหลักขององค์กรไว้

จากการทำงานร่วมกับ สสส. ไม่ว่าจะโดยตรงหรือผ่านหน่วยงานภาคี ผู้เขียนได้เรียนรู้แนวคิดและวิธีการแบบใหม่ๆ หลายอย่าง ซึ่งเห็นว่าการพัฒนางานในแนวทางของ สสส. น่าจะทำให้สังคมไทย รวมทั้งนักปฏิรูประบบยุติธรรมไทยได้เรียนรู้ไปพร้อมๆ กัน และหวังว่าข้อสรุปที่มีอยู่นี้ อาจจะเป็นประโยชน์แก่หน่วยงานที่จะต้องวางนโยบายและดำเนินการกับ สสส. จะได้รับฟังข้อมูลอีกส่วนหนึ่งเพื่อประกอบในการพิจารณาดำเนินการต่อไป ประเด็นสำคัญที่ผู้เขียนได้มีโอกาสเรียนรู้จากการทำงานกับ สสส. และภาคีเครือข่าย น่าจะได้แก่เรื่องต่างๆ ดังต่อไปนี้

(๑.) การจัดระบบความคิด การกำหนดคำนิยาม และขอบเขตงานที่เป็นภารกิจแบบใหม่

สสส. และขบวนการปฏิรูปสุขภาพแนวใหม่ได้พยายามจัดระบบความคิดเรื่องการพัฒนาระบบสุขภาพ ทั้งผ่านการเรียนรู้จากปัญหาในการดำเนินการในอดีต และจากการเรียนรู้ความเคลื่อนไหวขององค์กรต่างๆ ที่เป็นสากล ทำให้เกิดการกำหนดคำนิยามและขอบเขตงานที่เป็นภารกิจแบบใหม่ที่กว้างขวางขึ้นจากเดิม โดยการทำการใคร่ครวญครุ่นคิดมองเรื่องที่เกี่ยวข้องอย่างเป็นองค์รวมและจัดระบบความคิดแบบใหม่ ทำให้มีการขยายผลจากคำว่า "สุขภาพ" (Health) ไปสู่คำว่า "สุขภาวะ" (Well Being) ที่มีความหมายกว้างขวางขึ้น จากการพัฒนาระบบโรงพยาบาลและแพทย์ ไปสู่ระบบสุขภาพของกลุ่มคนต่างๆ ในวงกว้าง มีการกระจายอำนาจการสร้างเสริม ป้องกัน รักษา ฟื้นฟู และเยียวยาสุขภาพไปยังแวดวงอื่น เริ่มตั้งแต่การลดละเลิกบุหรี่ เหล้า ซึ่งเป็นภารกิจตั้งต้น ขยายผลไปในเรื่องสุขภาวะทางกาย ทางจิตใจ ทางปัญญา รวมทั้งสุขภาวะทางสังคม ซึ่งมุ่งเน้นไปที่การลดความเหลื่อมล้ำทางสุขภาพที่ปรากฏในกลุ่มคนด้อยโอกาสในสังคมประเภทต่างๆ โดยมีเป้าหมายที่การสร้างความเป็นธรรมทางสุขภาพ บนพื้นฐานของการทำงานเชิงนโยบายผ่านปัจจัยโครงสร้างทางสังคมที่ส่งผลต่อสุขภาพ ตามกรอบข้อเสนอขององค์การอนามัยโลก ซึ่งก็สอดคล้องกับแนวทางของการประชุมสมัชชาสหประชาชาติครั้งล่าสุดที่ท่านนายกรัฐมนตรีได้ไปร่วมประชุมด้วย ที่เพิ่งประกาศเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals) ว่าโลกนี้จะไม่ทอดทิ้งใครไว้ข้างหลัง (Leave No One Behind)

ในเรื่องนี้ เมื่อเทียบกับระบบยุติธรรม จะเห็นได้ว่า ความพยายามในการปฏิรูปที่ผ่านมายังติดอยู่กับเรื่องการแก้ไขปัญหาในระบบศาล อัยการ และตำรวจ ซึ่งแม้จะได้มีความพยายามดำเนินการในหลายวิถีทาง รวมทั้งมีการปรับปรุงโครงสร้าง ตั้งองค์กรแบบใหม่เพิ่มมากขึ้น แต่ก็ยังเป็นเรื่องการกำหนดความหมายและคำนิยามแบบแคบที่เห็นว่าเรื่องความเป็นธรรมเกี่ยวข้องกับคดีความเท่านั้น ซึ่งในความเป็นจริง ปัญหาความไม่เป็นธรรมมีอยู่ทุกหนทุกแห่ง ตั้งแต่ในการปฏิบัติอย่างไม่ถูกต้องระหว่างบุคคลที่มีสถานะแตกต่างกัน โดยไม่จำเป็นต้องเป็นเรื่องของเจ้าหน้าที่เท่านั้น และปัญหาความไม่เป็นธรรมจากฝ่ายรัฐก็อาจจะมีอยู่ตั้งแต่ขั้นการทำกฎหมายของฝ่ายนิติบัญญัติ หรือขั้นการจัดสรรทรัพยากรของรัฐบาล ซึ่งอยู่นอกเหนือจากหน่วยงานยุติธรรมออกไปด้วย ปัญหาความไม่เป็นธรรมต้นทางไม่เคยถูกมองไปพร้อมๆ ความไม่เป็นธรรมปลายทาง ดังนั้น การจัดระบบความคิด การกำหนดคำนิยาม และขอบเขตงานที่เป็นภารกิจแบบใหม่เพื่อการปฏิรูประบบยุติธรรมของประเทศ ก็อาจจำเป็นต้องถูกนำมาทบทวนในลักษณะเดียวกันกับปัญหาระบบสุขภาพดังกล่าว

(๒.) การพัฒนางานเชิงบูรณาการและการสร้างเครือข่าย

กฎเหล็กที่สำคัญของผู้ที่ได้รับทุนสนับสนุนของ สสส.จะต้องดำเนินการ คือ การทำงานในเชิงบูรณาการและการสร้างเครือข่ายการทำงาน (Integration and Networking) ทำให้หน่วยงานต่างๆ ต้องพยายามพัฒนาแนวทางในการทำงานที่จะเชื่อมโยงกับฝ่ายอื่นๆ อย่างจริงจังมากขึ้น ผู้เขียนเชื่อว่ากฎกติกาที่ตั้งไว้ในเรื่องนี้น่าจะเป็นเรื่องการเห็นข้อบกพร่องของการพัฒนางานต่างๆ ในสังคมไทย ที่แยกส่วนแยกแท่งจนมองไม่เห็นงานของส่วนรวม ที่ทุกฝ่ายต้องร่วมกันคิดร่วมกันทำ ซึ่งวิธีการทำงานในลักษณะนี้ก็ไม่น่าจะขัดกับนโยบายประชารัฐที่รัฐบาลปัจจุบันได้ประกาศไว้ ที่มุ่งหวังให้ทุกๆ ฝ่ายได้มีเครือข่ายการทำงานเพื่อรวมพลังในการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นจริงนั่นเอง

แม้การพัฒนาในทางขวางน่าจะเป็นยุทธวิธีสำคัญที่ทุกภาคส่วนในสังคมจะได้นำไปใช้เพื่อขยายผลงานของตนให้กว้างขวาง แต่ในความเป็นจริงเรื่องนี้ยังมีข้อขัดข้องอยู่มาก โดยเฉพาะหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรม ที่มีความสัมพันธ์กันทางอำนาจในลักษณะของการตรวจสอบถ่วงดุลกันตลอดเวลา ทำให้ความร่วมมือและการประสานงานในการทำงานเป็นไปได้ยาก การแก้ไขกฎหมายแต่ละครั้ง หากมีเรื่องของอำนาจในการสั่งการ ก็จะเกิดข้อขัดแย้งและความหวาดระแวงระหว่างหน่วยงานเสมอว่าจะให้เป็นอำนาจของฝ่ายใด ทำให้ในภาพรวมขาดความเชื่อมต่อในการพัฒนางานทั้งระบบ นอกจากนี้หน่วยงานศาลและองค์กรอิสระมีธรรมเนียมปฏิบัติที่จะต้องแยกส่วนของตนออกไปอย่างอิสระ จนทำให้ขาดการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารและการรับฟังความคิดเห็นจากฝ่ายอื่นๆ ยิ่งไปกว่านั้น ระบบงานราชการยุติธรรมทั้งระบบยังขาดพื้นที่การมีส่วนร่วมของฝ่ายประชาชนอย่างเพียงพอ ทำให้การปฏิรูประบบยุติธรรมไม่อาจพัฒนาให้สอดคล้องกับความต้องการของประชาชนได้โดยง่าย

(๓.) การสร้างกลุ่มผู้นำเพื่อการขับเคลื่อนงาน

การได้มีโอกาสเข้าร่วมโครงการเครือข่ายพัฒนาศักยภาพผู้นำการสร้างสุขภาวะ ทำให้ผู้เขียนได้ไปเห็นกระบวนการสร้างผู้นำแนวใหม่ในกระบวนการพัฒนาสุขภาวะของสังคม ที่ สสส.พยายามสนับสนุนให้เกิดขึ้น บนรากฐานความเชื่อที่ว่าการทำงานที่สลับซับซ้อนที่มีเนื้อหาครอบคลุมหลายส่วนไม่อาจดำเนินการโดยวีรบุรุษหรือวีรสตรีขี่ม้าขาวคนใดคนหนึ่ง ภาวะการนำแบบรวมหมู่ (Collective Leadership) จึงเป็นหลักการสำคัญที่ สสส. และองค์กรภาคีพยายามสนับสนุนให้เกิดขึ้น ดังจะเห็นได้จากโครงการแบบใหม่ๆ เช่น การทำแผนงานเสริมสร้างศักยภาพผู้นำการเปลี่ยนแปลงเพื่อสร้างความเป็นธรรมทางสังคมและสุขภาพ หรือโครงการผู้นำเพื่ออนาคต ที่พยายามค้นหาเทคนิคแนวทางใหม่ๆ ในการสร้างผู้นำสังคมและชุมชนต่างๆ ให้มีอยู่อย่างเพียงพอในทุกหย่อมหญ้าในสังคมไทย

เมื่อเทียบกับการพัฒนาระบบยุติธรรมช่วงที่ผ่านมา จะเห็นว่าหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมยังตระหนักในเรื่องการพัฒนาบุคลากรและการสร้างผู้นำแบบใหม่น้อยเกินไป หรืออาจจะมีการดำเนินการอยู่บ้าง แต่หลักสูตรและวิธีการในการสร้างผู้นำยังไม่ก่อให้เกิดผู้นำในกระบวนการยุติธรรมที่มีความรู้ความคิดและจิตสำนึกในการทำงานพัฒนางานยุติธรรมเพื่อสังคม ที่จะสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงได้อย่างแท้จริง ยิ่งไปกว่านั้น การระดมบุคคลที่มีความสามารถทางด้านสติปัญญาและผู้ที่มีประสบการณ์ในการทำงานจากพื้นที่หน้างานที่รับผิดชอบให้มาร่วมกันทำงานเชิงหมู่แบบคลังสมอง เพื่อมองภาพปัญหาความไม่เป็นธรรมในสังคมไทยแบบองค์รวม และร่วมกันวางแผนแก้ไขปัญหากำหนดทิศทางการปฏิรูประบบยุติธรรมทั้งระบบ อย่างมีความมุ่งมั่นและมีความต่อเนื่อง เพื่อพัฒนางานปฏิรูประบบยุติธรรมไทยให้เกิดผลขึ้นจริงอย่างมีความยั่งยืน ก็ยังไม่เคยเกิดขึ้นในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา

(๔.) การเลือกจุดยืนในการดำเนินการที่ชัดเจน

แม้หน่วยงานของรัฐควรจะเป็นกลางในการจัดทำภารกิจ แต่สิ่งที่ผู้เขียนเห็นในการดำเนินการของ สสส. และองค์กรภาคี น่าจะเป็นการเลือกที่จะมีจุดยืนหรืออุดมการณ์ในการทำงานเพื่อคนระดับกว้าง และระดับล่างของสังคม ซึ่งภาษาของนักพัฒนาในต่างประเทศ อาจจะเรียกได้ว่า เป็น Pro-Poor Movement ดังจะเห็นได้ว่าโครงการและแผนงานต่างๆ ของ สสส. ยังเป็นเรื่องของการเปิดพื้นที่และเนื้องานใหม่ๆ ให้แก่กลุ่มคนต่างๆ ที่ยังขาดโอกาสในสังคม เพื่อทำให้กลุ่มคนที่ถูกหลงลืมในสังคมไทยได้มีสิทธิมีเสียงเพิ่มมากขึ้น ดังจะได้เห็นในเรื่องการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนไร้บ้าน เด็กข้างถนน เยาวชนในกระบวนการยุติธรรม กลุ่มแม่เลี้ยงเดี่ยว คนพิการ ผู้ติดเชื้อ คนหลากหลายเพศ หรือคนไร้รัฐไร้สัญชาติ ซึ่งมิได้ซ้ำซ้อน แต่เป็นการสร้างเสริมงานของหน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่หลักในการคุ้มครองสิทธิและสวัสดิการของบุคคลเหล่านั้น ที่อาจจะยังทำงานได้ไม่ครบถ้วน ทั้งโดยไม่มีงบประมาณเพียงพอ หรือยังไม่เห็นความสำคัญของเรื่องที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้ สสส. เลือกเปิดพื้นที่ใหม่ให้คนที่ทำเรื่องใหม่ๆ เพื่อสังคมได้มีที่ยืน เช่น กลุ่มละครเพื่อการเปลี่ยนแปลง การพัฒนาระบบการศึกษาและการเรียนรู้ทางเลือก หรือกลุ่มเยาวชนที่ทำงานศิลปวัฒนธรรมสะท้อนสังคม เพื่อให้เกิดจินตนาการและนวัตกรรมของสังคมแบบใหม่ๆ

การพัฒนางานในส่วนของระบบยุติธรรมไทยแม้จะได้พยายามดำเนินการกันมานาน แต่คนที่เกี่ยวข้องส่วนใหญ่ยังอาจไม่มีพื้นที่ที่ชัดเจนที่จะได้แสดงจุดยืนหรืออุดมการณ์ในการดำเนินงานที่เป็นเอกภาพ ด้วยองค์กรต่างๆ อาจจะขาดการเชื่อมร้อย หรือในส่วนขององค์กรราชการก็อาจจะทำงานกันไปตามหน้าที่โดยไม่จำเป็นต้องแสดงจุดยืนอะไร ยิ่งไปกว่านั้น การจัดทำโครงการพัฒนาศักยภาพบุคลากรยุติธรรมระดับสูงของหลายองค์กร ที่พยายามเปิดพื้นที่ให้ฝ่ายอื่นๆ เข้าไปมีส่วนร่วม กลับกลายเป็นการพัฒนาแบบ Pro-Rich Approach ที่เปิดโอกาสให้บุคคลชั้นสูงในสังคม โดยเฉพาะบรรดาพ่อค้าแม่ค้านักธุรกิจรายใหญ่สามารถเข้าถึงตัวบุคลากรระดับสูงในกระบวนการยุติธรรมอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนในประวัติศาสตร์ชาติไทย การพัฒนาสังคมโดยอุดมการณ์ที่อยู่ตรงข้ามทิศกันเช่นนี้ คงจะเป็นเรื่องที่คนในสังคมไทยทั้งสังคมคงจะต้องมาช่วยกันค้นหาจุดสมดุลที่เหมาะสมกันต่อไปในอนาคต

III. บทสรุป

ผู้เขียนมิได้มีวัตถุประสงค์ที่จะเขียนบทความนี้เพื่อออกมาปกป้ององค์กร สสส. จากการถูกตรวจสอบโดยฝ่ายต่างๆ และโดยส่วนตัวผู้เขียนมีความเชื่อมั่นว่าหน่วยงานของรัฐทุกหน่วยงานต้องทำงานอย่างถูกต้องและมีธรรมภิบาลที่ดี อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนเห็นว่าประเด็นข้อถกเถียงหลายเรื่องที่เกี่ยวกับงานของ สสส. เชื่อมโยงกับเรื่องยุทธศาสตร์การพัฒนาสังคมไทยในภาพรวมโดยตรง โดยเฉพาะเรื่องปัจจัยที่จะนำพาสังคมไปสู่ความสมบูรณ์ ซึ่งเรื่องสุขภาวะและเรื่องความเป็นธรรมก็เป็นตัวอย่างของเรื่องสำคัญที่ทุกฝ่ายจะต้องช่วยกันผลักดันให้เกิดขึ้น ผู้เขียนคงไม่ติดใจอะไร ถ้าผู้บริหารประเทศเลือกที่จะยุบองค์กร สสส. ทิ้งไป เพราะเห็นว่า สสส. ออกไปแย่งงานของกรมกองต่างๆ อย่างไม่ถูกต้อง แต่ผู้เขียนคิดว่ารัฐไทยอาจจะต้องถามตนเองให้มากว่า หน่วยงานราชการไทยมีความจำเป็นต้องมีพื้นที่กลางที่จะทำให้เกิดการคิดสร้างสรรค์ มีนวัตกรรมใหม่ๆ ในสังคม โดยมีความยืดหยุ่นในการดำเนินการ และเปิดช่องทางให้ทุกฝ่ายในสังคมเข้าร่วมอย่างบูรณาการหรือไม่ และควรเป็นไปในลักษณะใด เพื่อให้สังคมไทยมีความเจริญรุ่งเรือง ผู้คนมีสุขภาวะ และไม่ทอดทิ้งบุคคลใดไว้ข้างหลังอย่างแท้จริง

------------------------------------

บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย 

คัดลอกจาก: https://www.gotoknow.org/posts/596652

แก้ไขล่าสุด ใน วันอาทิตย์ที่ 25 ตุลาคม 2015 เวลา 08:39 น.
 

โครงการ“พัฒนายุทธศาสตร์การจัดการความรู้เพื่อขับเคลื่อนสังคมไทย”

พิมพ์ PDF

โครงการ“พัฒนายุทธศาสตร์การจัดการความรู้เพื่อขับเคลื่อนสังคมไทย” โดย สถาบันส่งเสริมการจัดการความรู้เพื่อสังคม (สคส.)

บทสรุปการสัมภาษณ์ผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้ให้สัมภาษณ์ นพ.ก้องเกียรติเกษเพ็ชร์ ผู้ก่อตั้ง บจก. สุขสาธารณะ วันที่ให้สัมภาษณ์ วันที่ 27 สิงหาคม 2558 ระยะเวลา 1 ชั่วโมง 27 นาที ผู้สัมภาษณ์ นางสาววสุภรณ์อําพนนวรัตน์ ผู้วิเคราะห์ข้อมูล นางสาวสุนิดา เพ็งลี/ นางสาวเบญจธรรม ดิสกุ

1. เป้าหมายองค์กร หรือเป้าหมายของงานที่ทําต่อ องค์กร / เครือข่าย / คนไทย ในอีก 10 ปีข้างหน้า การเปลี่ยนแปลงกระบวนทัศน์ของคนในสังคมคือสิ่งที่นพ.ก้องเกียรติตั้งเป้าหมายไว้ โดยอยากให้ทุกคนร่วมกันสร้าง empathy หรือ ความเข้าอกเข้าใจผู้อื่นให้เกิดขึ้นในสังคมไทย ภายใต้กรอบแนวคิดที่ว่า “เราจะทํางานบนพื้นฐานคุณค่าของกันและกัน (value chain)” เพื่อให้เกิดมุมมองที่ดีและก่อให้เกิดการเรียนรู้ที่ยั่งยืนและทําให้สังคมน่าอยู่มากขึ้น “..... สิ่งที่ผมคิดว่ามันจะสําคัญมาก ก็คือว่าเราต้องสร้าง empathy ขึ้นมาในสังคม การที่เราไม่มี empathy เพราะเราไม่เห็นความเชื่อมโยง เราไม่รู้ว่าสิ่งนี่มาอย่างไร เราไม่รู้ เราแค่มีหน้าที่บริโภคด้วยความสะดวกของเรา เราไม่รู้ว่ากว่าจะได้มามันเจ็บปวดแค่ไหน กว่าจะได้มาเขาต้องออกแรงขนาดไหน ถ้าเราสามารถเห็นความเชื่อมโยงนี้ได้ ทําให้ทุกคนเห็น เราจะทํางานบนคุณค่าของกันและกัน เขาเรียกว่า value chain จริงๆ คือผมเห็นคุณค่าของคุณ เพราะฉะนั้นถ้า ถ้าถามว่าทําไมถึงต้องลงไปทําถึงขนาดนี้ เพราะเราต้องทําให้เห็นทั้งหมดเลยนะ ถ้าผมไม่เห็นทั้งหมด ผมไม่รู้ทั้งหมด ผมก็จะทํางานแบบที่ทุกคนเป็นอยู่ตอนนี้ เพราะฉะนั้นสังคมมันจะเปลี่ยนแปลงได้ สังคมมันจะดีได้ มันต้องเห็นใจซึ่งกันและกัน มันต้องมี empathy ต้องคิดถึงคนอื่น” สังคมจะเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีได้นั้น ควรเริ่มจากการเข้าอกเข้าใจซึ่งกันและกัน หมั่นเรียนรู้ที่มาของสิ่งต่างๆ และที่สําคัญไปกว่านั้น การได้ลงมือปฏิบัติจริงจะสะท้อนให้เราเห็นถึงความยากลําบากที่จะเกิดสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เหล่านี้ก็จะส่งผลให้เรา “เห็นคุณค่าของกันและกัน” ได้เป็นอย่างดีนั่นเอง

2. บุคลากร/คนทํางานของท่านต้องมีคุณสมบัติและความสามารถอย่างไร เพื่อไปถึงเป้าหมายที่ตั้งไว้ คุณสมบัติหรือความสามารถของบุคลากรผ่านมุมมองของนพ.ก้องเกียรติ คือ ควรเป็นนักจัดการความคิด (critical thinking) มากกว่าเป็นนักจัดการความรู้ เพราะการเป็นนักจัดการความคิดจะทําให้บุคคลนั้นเกิดการตั้งคําถามและการหาคําตอบอย่างถูกต้อง ส่งผลให้เกิดกระบวนการคิดที่เป็นระบบและทําให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีในอนาคต โดยการยกตัวอย่างส่วนใหญ่แล้วจะบอกผ่านวิธีการที่นพ.ปฏิบัติอยู่ “ผมหาทีมงานมาร่วมกัน 5 คน แล้วเราก็ลงมือทํา ผมค่อยไม่สนใจชุดความรู้ของคนอื่น ผมสนใจว่าเขามีวิธีคิดอย่างไร แล้วเรามาสร้างกระบวนการ ถ้าผมฟังคนอื่นมาก หรือเอาความรู้คนอื่นมา ผมก็ไม่ต้องทําอะไรเลย เพราะมันทําไม่ได้ เพราะฉะนั้นสิ่งที่ผมคิดว่าสําคัญมากในอนาคตก็คือว่า critical thinking คือ วิพากษ์คนอื่นได้แยกแยะ ตัดตอน มองให้เห็นแล้ว ออกมาทํา” นอกจากกระบวนการจัดการความคิดที่จําเป็นต้องมีแล้ว สิ่งที่นพ.ก้องเกียรติเน้นย้ําในทุกช่วงของการสัมภาษณ์คือต้องการให้บุคลากรมีพฤติกรรมที่แสดงออกถึง empathy คือเรื่องการเข้าอกเข้าใจผู้อื่นว่าเพราะอะไรถึงเกิดสิ่งนี้มา เมื่อเราเห็นวิธีคิดของคนมากขึ้น เราก็จะเข้าใจปัญหาของคนอื่นมากขึ้น และ empathy ก็จะเกิดขึ้นไปพร้อมๆกับการจัดการความคิดที่ดี ดังเช่นตัวอย่างบทสัมภาษณ์ “….. เพราะฉะนั้นถ้าเราสามารถเข้าใจความคิดคนได้เห็นวิธีคิดของคนมากขึ้นมากขึ้น มันก็จะเป็น กระบวนการอันหนึ่งที่ทําให้เราเริ่มเห็นปัญหาของคนอื่น เข้าใจปัญหาของคนอื่นมากขึ้น empathy มันก็จะถูกสร้างขึ้น…..”

3. วิธีการหรือกระบวนการพัฒนาบุคลากรให้มีคุณสมบัติและความสามารถตามที่กําหนดในข้อ 2. นพ.ก้องเกียรติเลือกใช้วิธีการในการกําหนดให้บุคลากรไม่ว่าจะเป็นทีมงานนักวิจัยหรือกลุ่มชาวนาเกิด การจัดการความคิดที่ดีและเกิดพฤติกรรมที่มีความคิดเชื่อมโยง และใช้การดึงดูด (Attraction) กลุ่มดังกล่าวให้เกิดความชอบหรือหลงใหลในสิ่งเดียวกัน (passion) ด้วยการบอกถึงจุดมุ่งหมายที่ชัดเจน “….. ผมดึงเขาออกมาให้เขามีpassion ร่วมกับผมก่อน ถ้าเขาไม่มีpassion เขาก็คือลูกจ้างถูกปะ ถ้าเขามี Passion แล้วมันต้องมีเป้าหมายเดียวกันไม่เช่นนั้น passion มันก็จะกระเจิงนึกออกไหม ไม่มี Direction เพราะฉะนั้นผมก็จะใช้เครื่องมือในการที่จะชักชวน ผู้คน…..” “…..เวลาผมทํางานจะเห็นได้ว่าผมต้องไปเจอกับนักวิจัย สิ่งที่ผมทําคือการแชร์ passion ผมแชร์ว่าผมมีpassion อย่างไรที่ผมทําเรื่องนี้ถ้ามีpassion กับ vision ตรงกัน ผมก็ลุย ถามว่าอุปสรรคที่ยากที่สุดในการทํางานคือเรื่องการชวนคนให้เดินทางเส้นนี้ ที่อาจจะทําให้เกิดการเปลี่ยนแปลง แต่ถามว่าวันนี้ผมประสบความสําเร็จไหม ก็ประสบความสําเร็จ เพราะว่าผมทําคนเดียวไม่ได้ผมต้องทําร่วมคนอีก เราต้องคิดบน passion ที่ตรงกัน คือดึงเขาจากที่ไม่มี passion จนเขามี passion ตรงตาม passion ของกันและกัน อันที่ 2 คือเห็นเป้าหมายร่วมกัน เพราะฉะนั้นมันก็เลยทําให้เกิดการขับเคลื่อนที่เร็วแล้วก็แรงได้ตลอด ผมไปทํางานกับชาวนาผมไม่ได้บอกว่าผมจะมาซื้อข้าวผมบอกผมจะทําให้ทุกคนสุขภาพดีไม่ป่วย…..” นอกจากนี้กระบวนการในการพัฒนาบุคลากรของนพ.ก้องเกียรติ ยังนําไปปรับใช้ในการบริหารกลุ่มนักเรียนในโรงเรียนเพื่อให้เด็กเกิด empathy โดยชวนนักเรียนคิดว่าจะทําอย่างไรให้ข้าวมีผลผลิตที่มากขึ้น ผ่านการลงมือทดลองปลูกข้าวโดยการเพิ่มช่องว่างของกอข้าวมากขึ้น ไม่ใช้มูลสัตว์เพราะมูลสัตว์ปนเปื้อนสารเคม

“….. เพราะฉะนั้นเราก็เริ่มทําวิจัย (research) โดยผมให้โจทย์ให้กับที่โรงเรียนลําปลายมาศพัฒนา โดยชวนครูและนักเรียน เราอยากให้เด็กกลับมาเป็นชาวนาที่มีคุณภาพ มีความคิด มีพื้นฐานที่จะพัฒนาตนเอง ชวนนักเรียนคิดว่า ทําอย่างไรข้าวนี้ถึงจะได้ผลผลิต จากข้าว 1 เมล็ดกลายเป็น 200 เมล็ด เราไม่ใช้ปุ๋ยจากมูลสัตว์เพราะมูลสัตว์จะปนเปื้อนยาปฏิชีวนะ จากอุตสาหกรรมเกษตร มันจะทําให้ยาปฏิชีวนะลงไปในสิ่งแวดล้อมได้” ดังนั้น การเลือกใช้กระบวนการแบบนี้ย่อมส่งผลให้บุคลากรเกิดความรู้สึกร่วมในการอยากทํางานร่วมกันภายใต้เป้าห มายเดียวกัน และเกิดแรงบันดาลใจในการทํางานได้เป็นอย่างดี ด้วยปณิธานของนพ.ก้องเกียรติที่ตั้งใจทํางานเพื่อสังคมอย่างแท้จริงและเป็นแบบอย่างที่ดีในการสร้าง empathy ผ่านทั้งความคิด คําพูด และการกระทํานั้น ก็ถือว่าเป็นอีกวิธีหนึ่งที่ดีในการพัฒนาบุคลากรได้เช่นกัน

4. อุปสรรคต่อการพัฒนาบุคลากร และ องค์กร ในข้อ 2. อุปสรรคหนึ่งที่ไม่เอื้อให้เกิดการเป็นนักจัดการความคิดภายในองค์กร คือ บุคลากรบางส่วนไม่เรียนรู้การเป็นนักจัดการความคิด (critical thinking) แต่มักหาคําตอบจากการฟังความเห็นของคนอื่นหรือจดจําผ่านบุคคลอื่นมากกว่าการเรียนรู้จากการตั้งคําถามแ ละพยายามหาคําตอบด้วยตนเอง เหล่านี้อาจเกิดจากปัจจัยเรื่องทักษะหรือความสามารถของแต่ละบุคคล รวมถึงสภาพแวดล้อมที่อาศัยอยู่ เป็นต้น “ผมวุ่นวายกับ KM มาตั้งนานและ ผมรู้จักทีมที่ทํา Go to Know สนิทกันที่สงขลานครินทร์ ผมคิดว่านาทีมันอาจจะไม่ใช่คําตอบ ประเด็นที่ผมมองว่าไม่ใช่ก็คือว่า สิ่งที่เราทําเราทําแค่ Storytelling เราไม่ได้ทําไปถึง critical thinking ว่าคนคนนี้คิดอย่างไร นึกออกไหม…..” “….. ผมก็พยายามดึงวิธีคิดของเขามาให้มันทํางานกันให้ได้สิ่งที่มันจะเกิดขึ้นในอนาคตก็คือว่า เราจะ มี data มหาศาล เราจะมี Information มหาศาล เราจะมีความรู้มหาศาล แต่เราไม่มีความคิด ทักษะในการสําเร็จคือ critical thinking นั่นคือสิ่งที่เราต้องการมาก เราไม่มีเครื่องมือทํางานในเรื่อง critical thinking “…..มันไม่สร้างการเปลี่ยนแปลงครับ ผมบอกเลย ผมอยู่กับ KM มา ผมตามมาตลอด ผมบอกว่า KM ไม่สร้างการเปลี่ยนแปลงในองค์กร เพราะ KM ไปไม่ถึง critical thinking การเปลี่ยนแปลงเกิดได้ต้องมี critical thinking.....” จากอุปสรรคข้างต้น แสดงให้เห็นว่าบุคลากรที่ขาดการเป็นนักจัดการความคิด (critical thinking) ที่ดีนั้น ย่อมส่งผลต่อกระบวนการการเรียนรู้ภายในองค์กร และมีผลต่อการบริหารจัดการไม่ว่าจะทั้ง การจัดการในรูปแบบข้อมูลทั่วไป หรือ การบริหารบุคคลให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ดังนั้นแนวทางที่เหมาะสมคือ ฝ่ายบริหารร่วมกับฝ่ายพัฒนาบุคคลควรเป็นคุณอํานวย (facilitator) กล่าวคือ พยายามสร้างบรรยากาศการเรียนรู้ให้เกิดขึ้นในองค์กรผ่านการจัดระบบความคิดที่ถูกต้อง

5. ในอนาคต อยากจะทําอะไรเพิ่ม/มีเครื่องมืออะไรเพิ่ม เพื่อทําให้คนในองค์กรเรียนรู้และพัฒนาไปสู่เป้าหมายได้มากขึ้น (หากเป็นงานภาคสังคม รวมถึงคนทํางานร่วม/เครือข่ายด้วย) นพ.ก้องเกียรติบอกเล่าสิ่งที่คิดและวางแผนไว้ในอนาคต ซึ่งจะเป็นในภาพของการทํางานเพื่อสังคม เพื่อสร้างเสริมทักษะให้กับผู้สูงอายุ ที่จะเพิ่มสูงขึ้นในภายภาคหน้า “….คําถามคือถ้าผมจะนําพาเขาไปสู่ศตวรรษหน้าผมจะสอนทักษะอะไรให้กับเขาเพราะผมไม่เคยเป็น อย่างเขามาก่อนสิ่งที่ยากมากสําหรับเราคือว่า 1. เราอายุยืนขึ้น คนที่เคยต้องตายตอน 55 จะเป็น 80 คําถามคือ อีก 30-40 ปีข้างหน้าเขาอยู่ด้วยทักษะอะไร เขาควรต้องเข้าโรงเรียนไหม…..” แต่ถ้าหากเป็นเรื่องของ KM ยังไม่มีคําตอบในส่วนนี้เนื่องจากข้อมูลจากการสัมภาษณ์ไม่ค่อยแน่ชัด ว่าในอนาคตจะทําอะไรเพิ่มเติม

6. นิยามของ “การเรียนรู้” “การจัดการความรู้” และ “สุขภาวะ” นิยามของคําว่าการเรียนรู้ผ่านแนวคิดของนพ.ก้องเกียรติ สามารถสรุปได้ว่า การเรียนรู้คือการ “เข้าใจความคิด” มากกว่าความเข้าใจเนื้อหา “.....เพราะฉะนั้นทําอย่างไรเราถึงจะสร้างกลไกใหม่ ในการที่จะทําให้มีความรู้ความเข้าใจความคิด มากกว่าความรู้ความเข้าใจเนื้อหา” นอกจากนิยามของการเรียนรู้แล้ว สิ่งที่นพ.ก้องเกียรติบอกเล่าผ่านการสัมภาษณ์ก็คือ นิยามของการจัดการความรู้ ที่สุดท้ายแล้วไม่สามารถตอบโจทย์องค์กรได้ เพราะสิ่งสําคัญคือ “การจัดการความคิด” “….ถามผมว่า ในมุมมองเรื่องการจัดการความรู้คือว่าเราควรจะเลิก เราควรจัดการความคิดเรา” “….. ผมค้นหาข้อมูล บนวิธีคิดของคําว่าทําไมเขาถึงคิดอย่างนี้ทําไมเขาถึงทํา ทําไมมันถึงเกิดปรากฏ การณ์เพราะฉะนั้นสิ่งทีผมคิดว่าท้าทายพวกเรามากในการจัดการความไม่รู้หรือการจัดการความคิดต่างหาก”

7. มีการใช้ “การจัดการความรู้” อย่างไร มีความสําเร็จ (มี success story อะไรบ้าง) หรือไม่สําเร็จมีอะไรเกิดขึ้น เป็นเพราะอะไรจึงเกิดผลเช่นนั้น เรื่องราวความสําเร็จในการจัดการความรู้ของนพ.ก้องเกียรติถูกถ่ายทอดผ่านบทสัมภาษณ์ด้วยกันอยู่ 3 เรื่องหลัก ได้แก่

7.1) ความสําเร็จในการใช้ระบบซอฟต์แวร์ชื่อ Hospital OS ซึ่งเป็นเทคโนโลยีเปิด (open source) ที่เสริมศักยภาพให้โรงพยาบาลใช้ทรัพยากรอันจํากัดอย่างมีประสิทธิภาพ “….. ได้เงินมา 1,400,000 บาท มีเวลา 17 เดือน เขียนซอฟต์แวร์ให้โรงพยาบาล 10 แห่งได้ใช้ในประเทศไทย ที่ใดก็ได้ในประเทศไทย เรามีโรงพยาบาลชุมชนในเป้าหมายของเรา 700 แห่ง เพราะฉะนั้นเราก็มาสร้างกระบวนการในการทํางาน เพื่อทําให้เราสามารถที่จะพัฒนาซอฟต์แวร์ให้ได้และก็ไปถึงตั้งให้เขายอมใช้และทําให้เขาเกิดประสิทธิภาพ เพราะฉะนั้นใน 17เดือนที่เราได้เงินมา เราทําไปทั้งหมด 14 แห่งทั่วประเทศและเราก็ยังขยายงานต่อ จนสุดท้าย ณ ตอนนี้เรามีอยู่ประมาน90-100 แห่งทั่วประเทศ”

“…… เราทําให้เขาเห็นประโยชน์ครับ สิ่งที่พบก็คือว่า ถ้าเราไม่มีข้อมูลพวกนี้ เขาจะไม่สามารถบริหารจัดการอะไรได้เลย ข้อมูลยามีความสําคัญ เราสามารถติดตามว่าคนไข้ใช้ยามากขึ้นน้อยลงเท่าไหร่…..” “…..เราสร้างระบบให้กับเครือข่ายโรงพยาบาลภูมิพลเชื่อมต่อไปยัง 27 คลินิกที่เป็นเครือข่าย ใช้ซอฟต์แวร์ตัวเดียวกัน หมอที่โรงพยาบาลเห็นข้อมูลทุกอย่างที่เกิดขึ้นที่คลินิก ให้คําแนะนําหมดทั่วไปที่อยู่ปลายทางนี้ได้ หมอที่นี่รักษาอย่างไร ปรับยาอย่างไรได้ผล ไม่ได้ผล หมอเห็น คนไข้ไปเจาะเลือดที่โรงพยาบาลมาแสดงผลที่คลินิกได้ เราลด OPD จาก800 คนต่อวัน เหลืออยู่แค่450 - 500 คนต่อวัน คนไข้มีความสุขมาก ไม่ต้องมาแย่งที่จอดรถ ไม่ต้องเดินทางมา ไม่ต้องมาเข้าคิวรอ คนไข้ไปที่คลินิก คุณภาพเหมือนเดิม…..” เรื่องเล่าเกี่ยวกับการคิดค้นระบบเพื่อใช้ในโรงพยาบาลโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ส่งผลให้กระบวนการทํางาน (Work Process) ภายในโรงพยาบาลรวดเร็วขึ้นและตอบสนองความต้องการของคนไข้ได้เป็นอย่างดี

7.2) การพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อให้สามารถจัดเก็บข้อมูล personal health record ภายใต้แนวคิดของนพ.ก้องเกียรติที่ว่า “เราจะต้องสร้างเทคโนโลยีเอง” “…..เพราะฉะนั้นบริษัทสุดท้ายที่ทําก็คือ personal health record คืออย่างที่ผมทํามา 10 ปี ผมเอาข้อมูลที่ผมเก็บมาทั้งหมด 10 ปี ทํา data mining และก็ทํา Predictive ให้เขาเห็นว่าสิ่งที่เกิดขึ้นวันนี้คือ โรคเรื้อรัง และมันก็จะเกิดโรคแทรกซ้อนในอนาคต เราควรจะใช้ข้อมูลนี้ในการวางแผนทรัพยากร เช่นผมมีเบาหวาน 6 ล้านคน ตอนนี้ผมพอรู้ได้ว่า 10 ปีที่ข้างหน้า จะมีคนไข้เบาหวานกี่คนที่เป็นไตวาย กี่คนต้องการการล้างไต กี่รอบต่อสัปดาห์ เราควรจะต้องเริ่มวางแผนว่าอีก 10 ปีข้างหน้า เราจะมีหมอ โรคไตที่จะให้บริการล้างไตกี่คน พยาบาลล้างไตกี่คน เครื่องล้างไตกี่เครื่อง เราจะสร้างเทคโนโลยีเอง เราจะซื้อเทคโนโลยีคนอื่น พยายามอธิบายอย่างนี้ไม่รู้กี่ครั้ง ไม่มีใครสนใจ ไม่มีใครสนใจเลยว่ามันสําคัญกับการเอาข้อมูลในอดีตมาเพื่อทํานาย health resource ในอนาคต “…..ทํา application ทําซอฟต์แวร์ขึ้นมา เพื่อให้ไปอยู่ในโทรศัพท์มือถือให้ได้ไปตรวจเลือด ไปเช็ค กินอาหารถ่ายรูปวิเคราะห์ ทั้งหมดจะถูกเก็บไว้และก็จะanalyzeและมี guideline ให้ คุณควรจะดูแลสุขภาพได้ด้วยตัวคุณเอง” Personal Health record เป็นวิธีที่จะทําให้คนรักษาสุขภาพ ผ่านการทํา application และ Software ขึ้นมาเพื่อให้ข้อมูลทั้งหมดเข้าไปอยู่ในโทรศัพท์มือถือ เช่น เวลาไปตรวจเลือด หรือกินอาหาร ข้อมูลทั้งหมดจะถูกเก็บไปวิเคราะห์และมีคําแนะนําว่าคุณควรจะดูแลสุขภาพอย่างไรโดย app มีชื่อว่า “IPensook” ผู้ใช้ต้องบันทึกข้อมูลลงไปว่าแต่ละวันกินอะไร ทํากิจกรรมอะไรบ้าง และระยะเวลาเท่าไหร่ จากนั้นโปรแกรมก็จะประมวลผลออกมาให้ว่าคนที่อายุและสัดส่วนร่างกายใกล้เคียงกับคุณ ตอนนี้เขาอยู่กันแบบไหนบ้าง ซึ่งข้อมูลที่นํามาวิเคราะห์อาหารนั้นนํามาจากสถาบันวิจัยอาหาร ซึ่งคนที่เห็นข้อมูลดังกล่าวนี้จะเกิดความเข้าใจ และเกิด awareness ที่ต้องระวังเรื่องสุขภาพมากขึ้นและเพื่อเตรียมการรับมือกับสถานการณ์ในอนาคตที่กําลังจะเกิดขึ้นและเร่งหาวิ ธีป้องกันปัญหาได้อย่างถูกต้อง

7.3) จัดตั้งบริษัท สุขสาธารณะ จํากัด เป็นบริษัท Social Enterprise ทําเกี่ยวกับอาหารและการป้องกันสุขภาพ ภายใต้ชื่อ “สุขสาธารณะ” ทําผลิตภัณฑ์ที่เป็นสุข ทํางานกับชาวนาให้ชาวนาผลิตข้าวที่มีผลดีกับสุขภาพ “….. ปีแรกที่ผมทําได้ข้าวมา เราลงไปทํางานกับชาวนาที่เป็น่อแม่ของเด็กๆที่รร. ลําปลายมาศพัฒนา ชวนให้เขาเห็นประโยชน์ของข้าว ต่อสุขภาพของเขา เพราะข้าวสินเหล็กที่เลือกไป มีประโยชน์ทั้งสองด้าน คือ มีธาตุเหล็กในรูปที่ดูดซึมได้ง่าย และมีแป้งที่ไม่กลายเป็นน้ําตาล พอถึงช่วงเก็บเกี่ยวก็ลงพื้นที่อีก เพราะสัญญาแล้วว่าจะรับซื้อ แต่ไม่มีใครขาย ผมถามทําไมไม่ขายล่ะตกลงเอาไว้เรียบร้อยแล้ว ไม่ขาย ข้าวหมออร่อย อันที่สอง อยากให้ลูกกิน อยากให้คนแก่กิน เด็กๆและคนแก่จะได้สุขภาพดีเท่านี้ผมก็มั่นใจว่า งานที่ทําจะยั่งยืน เพระาเขาทําเพราะเห็นประโยชน์ ไม่ใช่เห็นแค่รายได้ พอปีต่อมาเลยตกลงว่ากันใหม่ นั่นคือสิ่งที่เราเข้าไป จาก 3-4 ครอบครัวที่อยากจะลอง ตอนนี้ขยายไป อย่างที่กาฬสินธุ์ 40-50 ครอบครัว เราไปที่กาฬสินธุ์สุรินทร์บุรีรัมย์เชียงใหม่ พะเยา เชียงราย ลําปาง” โดยเรื่องเล่าเกี่ยวกับการส่งเสริมให้ชาวนาปลูกข้าวแบบปลอดสารเคมีและเป็นข้าวเพื่อสุขภาพ สะท้อนให้เห็นถึงความตั้งใจจริงของนพ.ก้องเกียรติที่ตั้งใจทํางานเพื่อสังคมอย่างแท้จริง ซึ่งผลลัพธ์ที่ออกมานอกจากจะสําเร็จตามความต้องการแล้ว ยังช่วยสร้างทั้งรายได้ช่วยเหลือชาวนาที่ยากจนให้ความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

8. สรุปยุทธศาสตร์การจัดการความรู้/การเรียนรู้ในองค์กรคือ ยุทธศาสตร์ที่สําคัญคือ การจัดการความคิด (critical thinking) จําเป็นกว่า การจัดการความรู้ เพราะถ้าเราจัดการความคิดได้อย่างเป็นระบบและถูกต้อง ก็จะทําให้เกิดประโยชน์อันสูงสุดในการเรียนรู้อย่างแท้จริง “…..การเปลี่ยนแปลงเกิดได้ต้องมีcritical thinking เพราะ critical thinking มันเกิด Innovation ได้ แยกแยะ เห็นปัญหา เห็นเส้นทาง หาทางเลือก และมาเริ่ม ความรู้ไม่ได้ทําให้เกิดสิ่งนั้นนะครับ รู้ แต่คิดไม่เป็นก็จบ แต่พอมันตั้งคําถามได้มันจะเริ่มค้นหาความรู้…..” เมื่อองค์กรจําเป็นต้องก้าวให้ทันคู่แข่งขันในอนาคต ฟันเฟืองที่สําคัญคือ “บุคลากรในองค์กร” ดังนั้นหากองค์กรประกอบด้วยบุคลากรที่มีความสามารถและมีประสิทธิภาพในการจัดการกระบวนการคิดที่ดี ก็จะส่งผลให้องค์กรเติบโตอย่างยั่งยืน เกิด Learning Organization ภายในองค์กรได้

เอกสารนี้คัดลอกจากการเผยแพร่ โดย ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช

 

 

แก้ไขล่าสุด ใน วันอาทิตย์ที่ 25 ตุลาคม 2015 เวลา 11:38 น.
 

าดฝัน KM 3.0 ประเทศไทย : ฝันของ นพ. ก้องเกียรติ เกษเพ็ชร์ - ผู้ก่อตั้ง บจก. สุขสาธารณะ.

พิมพ์ PDF

เราต้องสร้าง empathy ขึ้นมาในสังคม การที่เราไม่มี empathy เพราะเราไม่เห็นความเชื่อมโยง เราไม่รู้ว่าสิ่งนี่มาอย่างไร เราไม่รู้ เราแค่มีหน้าที่บริโภคด้วยความสะดวกของเรา เราไม่รู้ว่ากว่าจะได้มามันเจ็บปวดแค่ไหน กว่าจะได้มาเขาต้องออกแรงขนาดไหน ถ้าเราสามารถเห็นความเชื่อมโยงนี้ได้ ทำให้ทุกคนเห็น เราจะทำงานบนคุณค่าของกันและกัน เขาเรียกว่า value chain จริงๆ คือผมเห็นคุณค่าของคุณ เพราะฉะนั้นถ้า ถ้าถามว่าทำไมถึงต้องลงไปทำถึงขนาดนี้ เพราะเราต้องทำให้เห็นทั้งหมดเลยนะ ถ้าผมไม่เห็นทั้งหมด ผมไม่รู้ทั้งหมด ผมก็จะทำงานแบบที่ทุกคนเป็นอยู่ตอนนี้ เพราะฉะนั้นสังคมมันจะเปลี่ยนแปลงได้ สังคมมันจะดีได้ มันต้องเห็นใจซึ่งกันและกัน มันต้องมี empathy ต้องคิดถึงคนอื่น

วาดฝัน KM 3.0 ประเทศไทย : ฝันของ นพ. ก้องเกียรติ เกษเพ็ชร์ - ผู้ก่อตั้ง บจก. สุขสาธารณะ

ดังได้เล่าแล้ว ที่นี่ ว่าเรากำลังเตรียมระดมความคิด ความฝัน และพลัง เพื่อขับเคลื่อน KM 3.0 ประเทศไทย ในการนี้ เราพยายามให้คนมาช่วยกันฝันให้กว้างขวางที่สุดเท่าที่จะทำได้ นอกจากจัดประชุม ปรึกษาหารือกันแล้ว ทีม ดร. มณฑล สรไกรกิตติกูล ยังทำหน้าที่ไปสัมภาษณ์บุคคลที่มีบทบาทสำคัญ ในทางปฏิบัติในบริบทที่หลากหลายมาก

บัดนี้ท่านเหล่านั้นอนุญาตให้นำออกเผยแพร่ต่อสาธารณะได้แล้ว จึงขอนำมาแบ่งปัน เพื่อขอรับฟังความเห็นเพิ่มเติม เสริมแต่ง มองต่าง ทำต่าง ทำต่อ ฯลฯ เราอยากได้แนวทางขับเคลื่อนที่มีคนมา ร่วมกันทำในบริบทของตน

อ่านความฝันของ นพ. ก้องเกียรติ เกษเพ็ชร์ - ผู้ก่อตั้ง บจก. สุขสาธารณะ, ผู้ก่อตั้งโรงเรียนกาละพัฒน์ และกิจการอื่นๆ อีกมาก ได้ที่ KM 3.0_ก้องเกียรติ.pdf

สรุปได้ว่า มุ่งทำเพื่อให้คนในสังคมมีความเข้าใจ และเห็นอกเห็นใจผู้อื่น (empathy) ผ่านความเข้าใจว่าสรรพสิ่งอิงอาศัยซึ่งกันและกัน เป็น value chain

วิจารณ์ พานิช

๒๒ ต.ค. ๕๘

บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย 

คัดลอกจาก: https://www.gotoknow.org/posts/596629

แก้ไขล่าสุด ใน วันอาทิตย์ที่ 25 ตุลาคม 2015 เวลา 08:18 น.
 


หน้า 283 จาก 561
Home

About Us

ศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ (ศบม.) เป็นองค์กรที่พัฒนาและจัดทำโครงการเพื่อทำประโยชน์ให้สังคม เป็นองค์กรสนับสนุนการดำเนินงานของภาครัฐ ช่วยแก้ปัญหาผู้ประกอบการภาคธุรกิจบริการที่ขาดแคลนบุคลากรที่มีมาตรฐานในการให้บริการ
อ่านเพิ่มเติม

มูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ ์

 iHDC Profile
บัญชีรายชื่อกรรมการ
ใบสำคัญแสดงการจดทะเบียน การเปลี่ยนแปลงกรรมการของมูลนิธิ
เอกสารประชาสัมพันธ์ โครงการ HMTC.pdf
เอกสารแนะนำโครงการ HMTC 1.pdf
เอกสารโครงการ HMTC 2 คุณสมบัติผู้เข้าร่วมโครงการ.pdf
iHDC นิติบุคคล.pdf
iHDC บุคคล.pdf
iHDC บุคคลเครือข่าย.pdf
รายงานการประชุม 6 มีนาคม 2560.pdf
ข้อบังคับมูลนิธิ
ใบสำคัญแสดงการจดทะเบียนจัดตั้งมูลนิธิ
Ihdc-Profile and Roadmap 2016-2019 Mar 23 2560.pdf
รายงานการประชุมใหญ่คณะกรรมการมูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ 2559.pdf
คำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ สาขาวิชาชีพ.pdf
รายงานการประชุมใหญ่วันที่ 18 ธ ค 2558 v 3.pdf
รายงานการประชุม วันที่ 24 ธันวาคม 2557 updated 4 มีนาคม 2558.pdf
iHDC-invitation Letter.doc
iHDC-Member Form Thai.doc
iHDC-Member Form English.doc
รายงานการประชุมกรรมการมูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ วันที่ 15 มกราคม 2556 ฉบับสมบูรณ์


thaibetter
พัฒนาประเทศไทยแบบทวีคูณ และยั่งยืน ( ททค )

Login


แบบสำรวจ

สถิติเว็บไซด์

สมาชิก : 5645
Content : 3068
เว็บลิงก์ : 26
จำนวนครั้งเปิดดูบทความ : 8748256

facebook

Twitter


ล่าสุด

บทความเก่า