Thaiihdc.org

  • เพิ่มขนาดตัวอักษร
  • ขนาดตัวอักษรปกติ
  • สดขนาดตัวอักษร
Thaiihdc.org

สะท้อนคิดการร่วมประชุมคณะกรรมการอำนวยการปฏิรูปการศึกษา

พิมพ์ PDF

วันที่ ๓ มิถุนายน ๒๕๕๘ ผมไปร่วมประชุมคณะกรรมการอำนวยการปฏิรูปการศึกษา ซึ่งเมื่อเข้าประชุม ก็เกิดความสงสัย ว่าคณะกรรมการชุดนี้ (ซึ่งผมเป็นกรรมการด้วยคนหนึ่ง) จะสามารถ "อำนวยการ" การปฏิรูปการศึกษา ได้ผลสักแค่ไหน

เพราะรู้สึกว่ากิจการนี้ เป็นกระบวนการ "เข็นครกขึ้นภูเขา" มีแรงโน้มถ่วง หรือแรงต้านจากระบบเดิมรุนแรงมาก ทั้งโดยจงใจและโดยไม่จงใจ

ผมสังเกตว่า เวลาฝ่ายที่อยู่ในระบบการศึกษา เสนอเรื่องต่างๆ มักมีเป้าอยู่ระหว่างทาง ไปไม่ถึงตัวเด็ก ไปไม่ถึงคุณภาพของผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษา

โครงการพัฒนาที่นำมาเสนอ จึงเป็นโครงการแบบเดิมๆ ที่มุ่งแก้ปัญหาแบบปะผุ ไม่ได้แก้ปัญหาเชิงระบบ เพราะคนในระบบเขาไม่คิดว่าเวลานี้ระบบบริหารการศึกษาไทยเดินผิดทาง

วาระสำคัญที่สุดคือ ร่าง พรบ. คณะกรรมการนโยบายการศึกษาและพัฒนามนุษย์แห่งชาติ พ.ศ. ...ซึ่งฝ่ายเลขานุการ (จากสภาการศึกษา) เสนอมาให้สำนักงานคณะกรรมการอำนวยการปฏิรูปการศึกษา เป็นหน่วยราชการ และเลขาธิการของ สำนักงานเป็นข้าราชการที่มาจากการแต่งตั้งผมเสนอว่าหากใช้รูปแบบนี้จะปฏิรูปการศึกษาไม่สำเร็จ ต้องให้สำนักงาน เป็นหน่วยงานของรัฐที่ไม่เป็นส่วนราชการ เลขาธิการมาจากการสรรหาจากคนที่มีความสามารถสูงจริงๆ และเจ้าหน้าที่ ต้องเป็นพนักงานที่มีความสามารถสูง จ้างงานตามสัญญาจ้าง ต่อสัญญาตามผลงาน ไม่ใช่จ้างงานแบบราชการที่มีความมั่นคง โดยไม่ต้องสนใจผลงาน

ผมแปลกใจที่ ในที่ประชุมมีคนสนับสนุนแข็งขันในประเด็นที่ผมเสนอไม่กี่คน

วาระเรื่อง การปรับขนาดโรงเรียนให้เหมาะสมมีข้อมูลว่าโรงเรียนขนาดเล็ก (จำนวนนักเรียน ๑๒๐ คนลงไป) ในปีการศึกษา ๒๕๕๗ มีถึง ๑๕,๕๐๖ โรงเรียน คิดเป็นร้อยละ ๕๐.๑๕ แต่ รศ. ประภาภัทรบอกว่า ต้องระวังอย่าให้ตัวเลขหลอก เพราะจริงๆ แล้วมีนักเรียนในโรงเรียนกลุ่มนี้เพียง ๑/๖ ของทั้งหมด

ผมพูดแรงกว่านั้น ว่าเรื่องที่เสนอไม่ใช่เป้าหมายสำคัญ เป้าหมายสำคัญคือคุณภาพการเรียนรู้ของนักเรียน ให้ได้ผลสัมฤทธิ์ของการเรียนคุณภาพสูง ต้องอย่าหลงเป้าอย่างที่ทำกันอยู่ในเวลา ๑๕ ปีที่ผ่านมา

วาระเรื่อง การสอบ NT และการยกเลิกการประเมินคุณภาพการศึกษาขั้นพื้นฐานระดับเขตพื้นที่การศึกษา (Local Assessment System - LAS)ผมพลั้งปากพูดคำว่า "ทำลายชาติ" ว่าระบบการประเมินแบบ summative assessment ระดับชาติที่ใช้ในปัจจุบัน ทำให้เกิดอาการสอนเพื่อสอบ (teach to test) นักเรียนเรียนเพื่อสอบ และสอบเฉพาะวิชา ไม่ใส่ใจเรียนรู้เพื่อพัฒนาบุคลิกลักษณะ ให้เป็นการเรียนเพื่อการพัฒนารอบด้าน ตามหลัก การเรียนรู้ในศตวรรษที่ ๒๑ ทำให้คุณภาพคนไทยด้อย เป็นการทำลายชาติ ทำให้ท่านรัฐมนตรีศึกษาฯ ประธานในที่ประชุมว่าพูดเกินไป ไม่น่าจะเป็นการทำลายชาติ

ผมพูดมากกว่านั้น อธิบายความผิดพลาดและความหลงผิดในการจัดระบบการประเมินของการศึกษาไทย ที่หลงให้ความสำคัญของ summative evaluation ไม่เห็นความสำคัญของ embedded formative assessment และ constructive feedback ตามที่ผมเคยบันทึกไว้ ที่นี่ที่นี่, และ ที่นี่

เสียดายที่ผมลืมชี้ให้เห็นว่า การศึกษาแบบสอนเพื่อสอบอย่างที่ทำกันอยู่นี่แหละ คือสาเหตุสำคัญของปัญหาวัยรุ่น ที่ติดเกม ติดยาเสพติด และตั้งครรภ์วัยรุ่น อย่างที่เห็นกันอยู่

ผมเคยเขียนบันทึกเรื่องยังหลงทางกันอยู่ ที่นี่

มีการนำเสนอเรื่อง วิสัยทัศน์และกรอบทิศทางการพัฒนาการศึกษา ระยะเวลา ๕ ปี (พ.ศ.๒๕๕๙ - ๒๕๖๓) เป็นวาระเพื่อทราบและให้กรรมการอ่านเอาเอง คุณหมอยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานต์ เสนอให้นำมาเสนอเป็นวาระเพื่อ พิจารณา ในคราวหน้า ผมสนับสนุน และเสนอเพิ่มให้ฝ่ายเลขาเสนอด้วยว่า ในกรอบทิศทางดังกล่าว มีการเปลี่ยนแปลง โครงสร้างของ การบริหารการศึกษาอย่างไรบ้าง โดยระบุว่า หากไม่มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอย่างจริงจัง เอกสารวิสัยทัศน์และกรอบทิศทาง ดังกล่าวก็จะเป็นเหมือนเอกสารทำนองเดียวกันที่ผ่านมา ๑๕ ปี ที่ไม่ทำให้คุณภาพการศึกษาดีขึ้น มีแต่จะเลวลง

ผลการประชุมคราวก่อนหน้านั้น อ่านได้ ที่นี่ ผมไม่ได้เข้าประชุม เพราะประชุมวันเดียวกันกับสภามหาวิทยาลัยมหิดล

ผมกลับมาใคร่ครวญที่บ้าน และสรุปกับตนเองว่า ปัญหาหลักของผู้มีตำแหน่งในระบบบริหารการศึกษาของชาติคือ มีมุมมองที่ผิดต่อธรรมชาติของการเรียนรู้ ยังมีมุมมองแบบกลไก แยกเป็นส่วนๆ การประเมินแยกออกจากการเรียนรู้ และการทำหน้าที่ โค้ช ของครู ไม่มองว่าการเรียนรู้เป็นกระบวนการซับซ้อนที่เสมือนมีชีวิต ที่การเรียนรู้ การโค้ช การประเมิน อยู่ด้วยกัน

ปัญหาหลักของระบบการศึกษาไทย คือมิจฉาทิฐิว่าด้วยธรรมชาติของการเรียนรู้

ผมขออภัยต่อคนในวงการศึกษา หากบันทึกนี้จะใช้ถ้อยคำรุนแรงไปบ้าง



วิจารณ์ พานิช

๕ มิ.ย. ๕๘


บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย 

คัดลอกจาก : https://www.gotoknow.org/posts/592568

แก้ไขล่าสุด ใน วันเสาร์ที่ 08 สิงหาคม 2015 เวลา 21:57 น.
 

กระบวนทัศน์ empowerment

พิมพ์ PDF

องค์กรต่างๆ ควรจัดกลุ่มให้ชัดเจน ว่าหน่วยงานใดเป็นหน่วยที่ทำงานหลัก สร้างผลลัพธ์ของธุรกรรม ขององค์กร หน่วยงานใดเป็นหน่วยสนับสนุน แล้วแยกแยะวิธีกำหนดผลงาน แยกแยะวิธีพัฒนาบุคลากรของหน่วยงาน รวมทั้งแยกแยะเกณฑ์ในการประเมินผลงานของ หน่วยสนับสนุน เพื่อส่งเสริมให้หน่วยสนับสนุนทำหน้าที่สนับสนุนอย่าง สร้างสรรค์ และด้วยการทำงานเชิงรุกร่วมกับหน่วยงานหลัก ที่สำคัญที่สุดคือ ให้หน่วยสนับสนุนมองผลลัพธ์ที่ปลายทาง ขององค์กร

ะบวนทัศน์ empowerment

ผมได้รับแต่งตั้งให้เป็นกรรมการอำนวยการสำนักแห่งหนึ่งในมหาวิทยาลัย ก และในการประชุมครั้งแรกของผม ได้รับแฟ้มประชุมก่อนวันประชุมหลายวัน ผมจึงตื่นตาตื่นใจกับแฟ้มประชุม และเพ่งสังเกตกระบวนทัศน์ที่อยู่เบื้องหลัง การจัดแฟ้มและสาระการประชุม และนำมาสู่การเขียนบันทึกสะท้อนคิดนี้

ผมเฝ้าสังเกตเพื่อเรียนรู้ว่า สิ่งที่เรียกว่า "การผุดบังเกิด" (emergence) ของปรากฏการณ์ใหม่ (new order) มีปัจจัยเอื้ออะไรบ้าง เพราะผมเพิ่งสัมผัส "การผุดบังเกิด" ของปรากฏการณ์ R2R ประเทศไทยมาหยกๆ ระหว่างวันที่ 22 - 24 กรกฎาคม 2558 นี่เอง

ปัจจัยหนึ่งที่ผมคิดว่าน่าจะสำคัญยิ่ง คือ กระบวนทัศน์ empowerment ของฝ่ายบริหาร และของหน่วยสนับสนุน

หน่วยสนับสนุน ที่ทำงานสนับสนุนเป็น มีความสำคัญมาก ต่อผลงานในระดับ "ไม่น่าเชื่อว่าจะเกิดขึ้นได้" หรือ "การผุดบังเกิด" นั่นเอง แต่น่าเสียดาย ที่วัฒนธรรมลำดับขั้น และวัฒนธรรมอำนาจสั่งการของไทย ได้ทำลายศักยภาพของ หน่วยสนับสนุนไปเสีย โดยชักนำให้หน่วยสนับสนุนได้รับการยกระดับขึ้นไปเป็น "สำนัก" ที่มีฐานะเทียบเท่าคณะ และใช้กฎเกณฑ์กติกาต่างๆ ในการตรวจสอบผลงานแบบเดียวกันกับคณะ ที่เป็น "หน่วยหลัก"

ปัญหาไม่ได้อยู่ที่การได้เป็นหน่วยงานที่ฐานะสูง แต่อยู่ที่ความสับสน ใช้กติกาตรวจสอบผลงานของหน่วยสนับสนุน เหมือนหน่วยหลัก ผลักดันให้หน่วยสนับสนุนกลายเป็น "แท่ง" อีกแท่งหนึ่งตามแนวตั้ง ความสัมพันธ์กับหน่วยหลักจึงค่อนข้าง ห่างเหิน ทั้งๆ ที่ธรรมชาติของงานเป็นงานสนับสนุน และมีธรรมชาติเป็นหน่วยงานแนวราบ ทำงานเชื่อมหน่วยงานแนวตั้ง เข้าด้วยกัน หรือทำงานข้ามพรมแดนไซโลแนวตั้ง

สภาพเช่นนี้ ทำให้หน่วยสนับสนุนไม่เกิดการทำงานภายใต้กระบวนทัศน์ "เอื้ออำนาจ" (empowerment) หรือหาทางหนุน หน่วยงานหลัก ในลักษณะที่หน่วยสนับสนุนทำงานแบบ proactive ภายใต้กระบวนทัศน์ของงานพัฒนาว่ามีธรรมชาติเป็น complex – adaptive หรือ chaordic ไม่ใช่ simple & linear ซึ่งหากมีการจัดการอย่างถูกต้อง จะเกิดการพัฒนาแบบก้าวกระโดด คือเกิด emergence แบบที่ผมเห็นในงาน R2R Forum ซึ่งหากเราต้องการผลลัพธ์ของงานพัฒนาแบบก้าวกระโดด จะต้องมีการ เรียนรู้และพัฒนาวิธีทำงาน พัฒนาวัฒนธรรมองค์กร ขึ้นมาทำงานในกระบวนทัศน์ใหม่นี้

ต้นเหตุของปัญหาคือ หน่วยสนับสนุนมองผลลัพธ์ของงานของตนเพียงครึ่งทาง มองที่งานของตนเท่านั้น ไม่มองที่ผลลัพธ์ ปลายทางขององค์กร ที่ทำโดยหน่วยงานหลัก

จึงขอเสนอว่า องค์กรต่างๆ ควรจัดกลุ่มให้ชัดเจน ว่าหน่วยงานใดเป็นหน่วยที่ทำงานหลัก สร้างผลลัพธ์ของธุรกรรม ขององค์กร หน่วยงานใดเป็นหน่วยสนับสนุน แล้วแยกแยะวิธีกำหนดผลงาน แยกแยะวิธีพัฒนาบุคลากรของหน่วยงาน รวมทั้งแยกแยะเกณฑ์ในการประเมินผลงานของ หน่วยสนับสนุน เพื่อส่งเสริมให้หน่วยสนับสนุนทำหน้าที่สนับสนุนอย่าง สร้างสรรค์ และด้วยการทำงานเชิงรุกร่วมกับหน่วยงานหลัก ที่สำคัญที่สุดคือ ให้หน่วยสนับสนุนมองผลลัพธ์ที่ปลายทาง ขององค์กร

มหาวิทยาลัยต้องหาทางทำให้หน่วยสนับสนุนทำงาน empowerment ที่มีการริเริ่มสร้างสรรค์ ไม่ใช่ทำแค่งานประจำ ตามแบบแผนเท่านั้น ต้องริเริ่มสร้างสรรค์ เพื่อหนุน (empower) หน่วยหลัก ให้บรรลุผลที่ปลายทางตามเป้าหมายขององค์กร

วิจารณ์ พานิช

๒๕ ก.ค. ๕๘

บนเครื่องบินจากกรุงเทพไปเชียงใหม่

บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย 

 

แก้ไขล่าสุด ใน วันเสาร์ที่ 08 สิงหาคม 2015 เวลา 22:05 น.
 

คุยกับศาสตราจารย์ด้านการศึกษาของฝรั่งเศส

พิมพ์ PDF

เที่ยงวันที่ ๙ มิถุนายน ๒๕๕๘ ผมมีโอกาสรับประทานอาหารกับศาสตราจารย์ Todd Lubart, ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยา มหาวิทยาลัยปารีส ซอร์บอนน์ ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยมี นพ. สุภกร บัวสาย ผู้จัดการ สสค. เป็นเจ้าภาพ มี ดร. ไกรยส ภัทราวาท แห่ง สสค. และ ดร. ธันยวิช วิเชียรพันธ์ แห่งมหาวิทยาลัยศรีปทุม ร่วมด้วย โดยที่ตอนเช้าวันนั้น ท่านได้นำเสนอเรื่องการวัดความริเริ่มสร้างสรรค์ ด้วยเครื่องมือ EPoC

ท่านเล่าเรื่องการรับนักศึกษาของฝรั่งเศสว่า แต่ละสาขาจะรับนักศึกษาได้มากที่สุดตามจำนวนที่นั่ง ในห้องบรรยายใหญ่ในมหาวิทยาลัย อย่างจิตวิทยาห้องบรรยายรับได้ ๑,๒๐๐ คน ก็ได้แค่นั้น แม้จะมีคนสมัคร มากกว่านั้น ก็ต้องเลือกและคัดออก

ระบบการศึกษาของเขาเป็นแบบแพ้คัดออก ตอนปลายปีที่หนึ่งอาจารย์จะทำให้นักศึกษาตกออกเสีย ประมาณครึ่งหนึ่ง ปลายปีที่สองตกออกอีกร้อยละ ๓๕ และปลายปีที่สามตกออกอีกร้อยละ ๒๐ ดังนั้น นักศึกษาที่เข้ามหาวิทยาลัยจะประสบความสำเร็จได้รับปริญญาตรี เพียงประมาณร้อยละ ๒๐ เท่านั้น เพราะมหาวิทยาลัยจะถูกทางการประเมินผลงานตามอัตราการได้งานของบัณฑิต คุณภาพของบัณฑิตจึงต้องสูง ตรงตามความต้องการของนายจ้างจริงๆ

ค่าเล่าเรียนในมหาวิทยาลัยของเขาปีละ ๒๐๐ ยูโรเท่านั้น ใครๆ ก็มีจ่าย แต่จ่ายแล้วจะรอดไป ชั้นสูงขึ้นหรือไม่ อยู่ที่ความสามารถ และความตั้งใจเอาจริงเอาจัง ในการเรียน

ผมถามท่านว่า การศึกษาของฝรั่งเศสก็เป็นแบบ Lecture-based ใช่ไหม ท่านบอกว่าใช่ แต่ก็มีชั้นเรียน แบบฝึกหัด ห้องละ ๔๐ คน มี นศ. ป. เอก เป็นผู้ช่วยสอน

เมื่อจบปริญญาตรี นักศึกษาก็ต่อไปเรียนปริญญาโททันที เพื่อเตรียมพร้อมสู่ตลาดแรงงาน ของผู้จบปริญญา

ส่วนคนที่สอบตกปี ๑ ก็สามารถสอบเข้ามหาวิทยาลัยใหม่อีก ๑ ครั้ง หากสอบเข้าเรียนได้ แต่สอบปี ๑ ตกอีกเป็นครั้งที่สอง ก็หมดสิทธิ์เข้ามหาวิทยาลัยอีก ต้องไปหางานตามวุฒิชั้นมัธยม

ท่านบอกว่า ฝรั่งเศสมีข้อมูลตัวเลขด้านการศึกษาและด้านความต้องการแรงงานอย่างดี และเอาตัวเลข สองฝ่ายมาใช้ในการจัดสรรงบประมาณ ยกตัวอย่างครู คณะศึกษาศาสตร์จะได้รับงบประมาณผลิตครูเท่าจำนวน ที่ต้องการเท่านั้น คือเท่าจำนวนครูที่เกษียณอายุและลาออก ที่ผ่านการตรวจสอบว่าสมควรจัดครูทดแทนเท่านั้น

สาขาใดความต้องการของตลาดลดลง อาจถูกปิดภาควิชา แต่อาจารย์มีความมั่นคงในตำแหน่งงาน ยังคงเป็นอาจารย์ แต่ต้องดิ้นรนหาวิชาสอนเอง หากหาไม่ได้ ก็จะถูกปลดออก

ท่านบอกว่า เวลานี้ตัวเลขคนตกงานของฝรั่งเศสประมาณ 15% (ของสเปนกว่า 40%) คนที่ตกงานเป็นคนที่วุฒิต่ำกว่าปริญญา

ผมฟังไปซักไป และคิดไป ว่าเขามีระบบ manpower planning เอามาใช้กำกับการให้งบประมาณในการ ผลิตกำลังคนระดับสูง เพราะตระหนักว่า ทรัพยากรมีจำกัด ต้องใช้ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด แต่ของเราไม่มี การจัดระบบ ไม่มีการทำตัวเลขข้อมูลสำหรับนำมาใช้วางแผนการผลิตกำลังคน

เพราะไร้ระบบนี่เอง ระบบอุดมศึกษาของเราจึงใช้ทรัพยากรสูญเปล่าอย่างมากมาย มีการผลิตบัณฑิต ตามกำลังของฝ่ายผลิต แทนที่จะผลิตตามความต้องการของประเทศ


วิจารณ์ พานิช

๑๑ มิ.ย. ๕๘


บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย 

คัดลอกจาก: https://www.gotoknow.org/posts/592956

แก้ไขล่าสุด ใน วันเสาร์ที่ 08 สิงหาคม 2015 เวลา 22:35 น.
 

ความกระหายต่อการเรียนรู้

พิมพ์ PDF

หนังสือ Creative Schools : The Grassroots Revolution That's Transforming Educationให้นิยามคำว่า learning, education, training, และ school มีคำที่สะดุดใจผม คือ appetite for learning ที่มนุษย์เรามีมาโดยกำเนิด แต่กลับมีน้อยลงเมื่อเด็กเข้าโรงเรียน ดังนั้น เป้าหมายหลักของการปฏิรูปการศึกษาคือ การทำให้ความกระหาย ต่อการเรียนรู้ดำรงต่อเนื่องตลอดชีวิตไม่ถูกลดทอนโดยโรงเรียนหรือโดยการศึกษา

การศึกษาที่เลว คือการศึกษาที่ดับธรรมชาติความกระหายใคร่รู้ของมนุษย์ การศึกษาที่ดีคือการศึกษา ที่ดำรงธรรมชาติดังกล่าว หรือขยายให้กว้างขวางมั่นคงยิ่งขึ้น เป็นการศึกษาแห่งศตวรรษที่ ๒๑

เพราะศตวรรษที่ ๒๑ เป็นศตวรรษที่ผู้คนมีชีวิตอยู่กับการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วพลิกผัน คนที่จะมีชีวิตที่ดี มีความสุข ในยุตศตวรรษที่ ๒๑ คือคนที่เข้าร่วมขบวนการสร้างการเปลี่ยนแปลง เป็น “ผู้สร้างการเปลี่ยนแปลง” (change agent) ที่มีชีวิตของการเรียนรู้ และมีธรรมชาติของความกระหายใคร่รู้ เต็มเปี่ยมในหัวใจและพฤติกรรม

คนที่อยู่ในโลก แบบหยุดนิ่ง ไม่รับรู้และเรียนรู้การเปลี่ยนแปลง ไม่ปรับตัวให้ล้ำหน้าการเปลี่ยนแปลง จะมีชีวิตที่ยากลำบาก

การศึกษาที่ถูกต้อง ในศตวรรษที่ ๒๑ ต้องเอื้อให้เยาวชน ดำรงความกระหายใคร่เรียนรู้ และมีทักษะในการปรับตัว ผ่านการร่วมขบวนผู้นำการเปลี่ยนแปลง ตลอดชีวิต


วิจารณ์ พานิช

๑๕ มิ.ย. ๕๘


บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย 

คัดลอกจาก : https://www.gotoknow.org/posts/592995

แก้ไขล่าสุด ใน วันเสาร์ที่ 08 สิงหาคม 2015 เวลา 22:46 น.
 

เรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลง : ๒๑. กระเทาะเปลือกไข่

พิมพ์ PDF

บันทึกชุด “เรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลง” ๒๖ ตอน ชุดนี้ ตีความจากหนังสือ Transformative Learning in Practice : Insight from Community, Workplace, and Higher Education เขียนโดย Jack Mezirow, Edward W. Taylor and Associates ตีพิมพ์เมื่อ ค.ศ. 2009

ภาค ๔ ของหนังสือ เป็นเรื่องการใช้ TL สร้างความเป็นชุมชนและการเปลี่ยนแปลงสังคม ประกอบด้วยบทที่ ๑๗ - ๒๓

ตอนที่ ๒๑ นี้ ได้จากการตีความบทที่ 20 Breaking Out of the Egg : Methods of Transformative Learning in Rural West Africa เขียนโดย Peter Easton (รองศาสตราจารย์ด้าน Adult and International Education, Florida State University), Karen Monkman (รองศาสตราจารย์ด้าน comparative education, DePaul University), Rebecca Miles (รองศาสตราจารย์ด้าน urban and regional planning, Florida State University)

สรุปได้ว่า เป็นเรื่องราวของการทำกิจกรรม “พูนพลังชุมชน” (community empowerment) ในอัฟริกา แล้วเกิดการ เปลี่ยนแปลงกระบวนทัศน์และพฤติกรรม ทั้งในระดับส่วนรวม (collective) และระดับบุคคล (individual) โดยที่กิจกรรมนี้ไม่ยึดมั่นเป้าหมายตายตัว มีการเรียนรู้และปรับตัวไปพร้อมๆ กันกับการทำกิจกรรมเพื่อ “พูนพลัง” (empower) คนกลุ่มด้อยโอกาส หรือถูกกดขี่ โดยไม่ท้าทายกลุ่มอำนาจเดิม

ผลที่เกิดเป็นการผุดบังเกิด (emergence) ไม่เป็นผลของการวางแผนดำเนินการตามเป้าหมาย ที่เป็นรูปธรรม (planned change)

บทนี้ว่าด้วยโครงการ Tostan (ภาษาพื้นเมือง แปลว่าออกจากไข่) ที่ดำเนินการในประเทศเซเนกัล เพื่อปลดปล่อยสตรีเพศจากประเพณีขลิบอวัยวะเพศ ใช้กระบวนการศึกษาผู้ใหญ่เพื่อให้การศึกษาและ empowerment แก่สตรีในชนบท ที่ดำรงชีวิตในภาคเกษตร เพื่อสร้าง transformative learning ข้อเขียนในบทนี้ สะท้อนความพยายามทำความเข้าใจการเรียนรู้และการเปลี่ยนแปลง จากมุมมองของหญิงเหล่านั้น ที่มีพื้นฐานต่างๆ แตกต่างจากผู้เขียนซึ่งเป็นคนในสังคมตะวันตกโดยสิ้นเชิง

คือเขียนแบบ cross cultural studies ต่อ transformative learning

ขณะนี้ Tostan ได้กลายเป็นองค์กรพัฒนาเอกชน ที่ไม่แสวงกำไร เป็นองค์กรนานาชาติ มีเว็บไซต์ ที่นี่


พื้นที่กิจกรรม

จุดเริ่มต้นจริงๆ เริ่มตั้งแต่ทศวรรษที่ 1970 ที่นักสังคมศาสตร์ชาวอเมริกันชื่อ Molly Melching ไปทำวิจัยเพื่อวิทยานิพนธ์ ของมหาวิทยาลัย อิลลินอยส์ และอยู่ต่อในฐานะ Peace Corps และต่อมาในฐานะ นักการศึกษานอกระบบ ผลงานยิ่งใหญ่จน Tostan กลายเป็นองค์กรใหญ่

พื้นที่ดำเนินการอยู่ในประเทศ เซเนกัล อัฟริกาตะวันตก ที่พูดภาษาฝรั่งเศส ประชาชนร้อยละ ๖๐ อยู่ในชนบท มีหลายเผ่า หลายภาษา ร้อยละ ๙๕ เป็นมุสลิม พลเมือง ๑๒.๕ ล้านคน เกือบครึ่งเป็นคนยากจน ในปี ค.ศ. 2005 ผู้หญิงรู้หนังสือเพียง ร้อยละ ๒๙ คิดเป็นประมาณครึ่งหนึ่งของอัตรารู้หนังสือของผู้ชาย แต่เวลานี้ความ แตกต่างด้านอัตรารู้หนังสือระหว่างเพศมีน้อยมาก คืออัตราจบการศึกษาระดับประถม ร้อยละ ๔๒ ในเด็กหญิง และร้อยละ ๔๙ ในเด็กชาย


การขลิบอวัยวะเพศหญิง

การขลิบอวัยวะเพศเด็กหญิง (FGC – Female Genital Cutting) ทำกันมานาน ในประเทศแถบ ด้านใต้ของทะเลทรายซาฮารา ถือเป็นพิธีกรรมยิ่งใหญ่ทางสังคม และแสดงความรักต่อลูกสาว ในเซเนกัลหญิงร้อยละ ๒๘ ถูกขลิบอวัยวะเพศ ในบางเผ่าไม่มีประเพณีนี้

พิธีนี้ทำในเด็กหญิงอายุ ๔ - ๑๒ ปี หรือบางแห่งทำในทารกอายุ ๒ สัปดาห์ก็มี ผลร้ายที่ตามมา ที่รุนแรงที่สุดคือตายจากการตกเลือดหรือติดเชื้อ ผลระยะยาวคือ ปวดเวลาร่วมเพศ คลอดลูกยาก หรือประจำเดือนออกยาก แม้องค์การอนามัยโลกจะรณรงค์ให้เลิก ก็ได้ผลน้อย เพราะชาวบ้านถือเป็นประเพณีศักดิ์สิทธิ์

โครงการ Tostan เป็นหนึ่งในโครงการที่สร้างการเปลี่ยนแปลง ยกเลิกประเพณีนี้ได้ผล เพราะชาวบ้านริเริ่มกันเอง


โครงการ Tostan

ได้กล่าวแล้วว่า ผู้ให้กำเนิดโครงการ Tostan คือ Molly Melching โดย Tostan ไม่เคยรณรงค์ต่อต้าน FGC เลย แต่มีเป้าหมายพูนพลังสตรีในชนบท โดยฝึกให้รู้หนังสือและคิดเลขเป็น และกิจการเริ่มส่งผลเมื่อ ทำงานไปหลายปี เน้นเยาวชนที่ออกจากโรงเรียนแล้ว และเป็นที่นิยม Molly และทีมตัดสินใจย้ายฐาน ปฏิบัติการสู่ชนบท ในหมู่บ้านชื่อ Saam Njay ที่มีประชากร ๓๐๐ คน เป็นชนเผ่า Wolof ซึ่งเป็นชนเผ่า ที่มีประชากรสูงสุดในประเทศ

เป้าหมายของการย้ายฐาน ก็เพื่อทดลองพัฒนาวิธีทำงานด้านการศึกษานอกแบบ (nonformal education) ที่เป็นการศึกษาผู้ใหญ่ ที่สอดคล้องกับวัฒนธรรมชนเผ่าพื้นเมือง เพื่อยกระดับการทำงานของ Tostan โดยยึดหลัก ๕ ประการคือ

  • ผู้เรียนมีส่วนร่วมกำหนดหลักสูตร ที่ทำแบบ participatory research
  • จัดกระบวนการตามวัฒนธรรมพื้นเมือง ใช้สื่อการเรียนรู้ง่ายๆ และใช้การเล่นละคร หรือบทบาทจำลอง หรือผูกเป็นเรื่องราว (dramatization) เพื่อสร้างความสนใจ และให้ผู้เรียนได้แสดงบทบาท
  • สร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้นำท้องถิ่น และผู้นำทางศาสนา แสดงความเคารพต่อศาสนา และความเชื่อของคนในชุมชน แม้ความเชื่อนั้นเป็นเป้าหมายของการเปลี่ยนแปลงก็ตาม (ดังกรณี FGC)
  • ใช้ holistic approach (ดำเนินการแบบบูรณาการ) คือผสมผสานเรื่องการอ่านและคิดเลข เข้ากับเรื่องราวจริงในชีวิต ทำแบบฝึกหัดจริง ประยุกต์ใช้ในสถานการณ์จริง รวมทั้งตีความเป็นจินตนาการไปสู่สถานการณ์ใหม่ที่ตนอยากเห็น
  • ให้ผู้เรียนดำเนินการ และเป็นเจ้าของโปรแกรม ปรับปรุง และติดตามผล

วิธีทำงานดังกล่าว ผสมกับการพูดคุยเสวนากับชาวบ้าน ค่อยๆ นำไปสู่การก้าวกระโดด คือได้วิธีทำงานแบบใหม่ คือ เริ่มด้วย โมดูล เรื่องการแก้ปัญหาในชุมชนชนบท ตามด้วยโมดูลที่ผู้เรียนต้องการแก้ไขในชีวิตจริง (เช่น การป้องกันโรค การจัดการโครงการ) ที่บูรณาการเรื่องอ่านออกคิดเลขเป็นเข้าไปด้วย

ในที่สุดทีมผู้เรียนจะกำหนดประเด็นที่ต้องการดำเนินการให้บรรลุผลสำเร็จ และทำ feasibility study ประเด็นที่ดำเนินการส่วนใหญ่เน้นการสร้างรายได้ และการพัฒนาชุมชน ซึ่งผู้ดำเนินการมักจะเป็นสตรี โดยที่ทางศูนย์ Tostan จะช่วยแนะนำแหล่งทุนดำเนินการให้ โครงการได้รับความสนใจจากแหล่งทุนเพิ่มขึ้น เรื่อยๆ ทั้งแหล่งทุนภายในประเทศ และแหล่งทุนนานาชาติ เช่น UNICEF, USAID และกิจกรรมก็ขยายสู่ชุมชน อื่น ชนเผ่าอื่น ทำให้มีการจดทะเบียน Tostan เป็น NGO อเมริกันในปี 1991 รวมทั้งมีเจ้าหน้าที่เพิ่มขึ้น เก่งขึ้น ขยายงานไปหลากหลายด้านขึ้น ภายใต้ “โปรแกรมพูนพลังชุมชน” (CEP – Community Empowerment Program)

โปรแกรมพูนพลังชุมชน เน้น holistic approach เพื่อช่วยให้ผู้เรียนบรรลุเป้าหมายที่กำหนด โดยการดำเนินการในระดับชุมชนนั้นเอง เกิดผลมหัศจรรย์ไม่คาดฝัน ขึ้นในหน่วยงานใหม่ เน้นที่สิทธิมนุษยชน ที่เชื่อมโยงประชาธิปไตยกับสุขภาวะของสตรี ดำเนินการโดยเคารพความเชื่อของประชาชน และเน้นชีวิตที่ดีของสตรี


ปณิธานของหมู่บ้าน M-B

หมู่บ้านนี้ชื่อยาว ผมจึงใช้ชื่อย่อ มีประชากร ๓ พันคน เหตุการณ์เกิดขึ้นในช่วงปี 1995 – 1997 หลังเรียนจบ โมดูลต่างๆ แล้ว ผู้เรียนตกลงกันว่า โครงการที่จะทำ คือจะดำเนินการขจัด FGC ให้หมดสิ้นไปจากชุมชน

เป็นผลของการที่ ในระหว่างการเรียน เหล่าสตรีได้นำประสบการณ์ส่วนตัวที่เป็นผลร้ายของ FGC เอามาแลกเปลี่ยนกัน และเป็นช่วงที่กระแสสังคมเรื่องสิทธิมนุษยชน และสิทธิสตรีมาแรง

ทีมชาวบ้านในโครงการ ติดต่อประสานงานกับทางการ และสมาชิกของหมู่บ้าน เพื่อเตรียมการแถลงเจตจำนง และประกาศเมื่อวันที่ ๓๑ กรกฎาคม ๒๕๔๐ ต่อหน้าผู้สื่อข่าว ๒๐ คน แต่ไม่เป็นข่าวใหญ่

ส่วนที่ช่วยให้เกิดความสำเร็จคือการแพร่ข่าวปากต่อปากของชาวบ้าน ซึ่งก็ก่อกระแสทั้งสนับสนุนและคัดค้าน โชคดีที่มีกิจกรรม CEP ในหมู่บ้านข้างเคียง ๒ หมู่บ้าน ชื่อ N-B และ KS และทีมงานตัดสินใจทำเรื่องเดียวกัน ที่หมู่บ้าน KS นำโดยคนที่เป็นหมอชาวบ้านผู้เชี่ยวชาญด้าน FCG เอง นำไปสู่การก้าวกระโดด


ก้าวกระโดด

เกิดขึ้นเมื่ออิหม่ามของหมู่บ้าน KS ผู้เป็นที่เคารพนับถือของคนทั่วไปทราบข่าว และสนใจ จึงไปคุยกับทีมงานชอง Tostan และกลุ่มสตรีของหมู่บ้าน M-B และเมื่อเข้าใจก็ไม่แสดงท่าทีต่อต้าน และกลับไปคุยกับญาติผู้หญิงของตนเองว่า FGC มีผลต่อสุขภาพอย่างไร เมื่อรู้ว่าผู้หญิงเหล่านี้ต้องทุกข์ทรมาน อย่างไร อิหม่ามก็กลายเป็นผู้สนับสนุนขบวนการต่อต้าน FGC อย่างแข็งขัน และแนะนำว่าต้องรณรงค์ ให้ทั่วถึงหลายหมู่บ้านที่คนแต่งงานข้ามกันไปข้ามกันมา เพื่อป้องกันไม่ให้มีการรังเกียจหญิงสาวที่ไม่ผ่าน FGC รวมทั้งแนะนำให้ใช้ถ้อยคำที่เป็นที่ยอมรับกันทางสังคมในการรณรงค์


รณรงค์ด้วยความเคารพ

กลุ่มสตรีจึงร่วมกันวางยุทธศาสตร์การรณรงค์

  • เดินทางไปทุกหมู่บ้าน ในพื้นที่ที่มีคนแต่งงานข้ามกัน เริ่มคุยกันเรื่องความเป็นญาติ
  • อย่าให้คำแนะนำว่าต้องทำอะไร แต่ให้บอกว่า คนในหมู่บ้าน M-B, N-B และ KS ทำอะไร เพราะอะไร แล้วปล่อยให้คนในหมู่บ้านนั้นบอกเล่าเรื่องราวของตนเอง และตัดสินใจเอง
  • หลีกเลี่ยงถ้อยคำที่ให้ภาพพจน์ หลีกเลี่ยงการเอาภาพไปโชว์ และพูดถึง FGC อ้อมๆ
  • หลีกเลี่ยงการตำหนิผู้ทำหน้าที่ FGC เพราะเขาทำหน้าที่ด้วยเจตนาดี

เมื่อตกลงกันได้เช่นนี้ อิหม่าม หมอชาวบ้านสตรีนักทำ FGC ที่หมู่บ้าน KS และหลานของอิหม่าม ร่วมกันเดินทางไปยัง ๑๐ หมู่บ้านที่เหลือ ที่คนแต่งงานกัน เพื่อรณรงค์ตามยุทธศาสตร์ที่กำหนด เกิดการพูดคุยเล่าเรื่องราวผลร้ายของ FGC กันอย่างกว้างขวาง โดยเหล่าผู้ชายก็เข้าร่วม และบอกว่า “ไม่เคยรู้มาก่อน” ตามมาด้วยการชุมนุมตัวแทนของ ๑๓ หมู่บ้าน ประกาศ “ไม่ทำอีกแล้ว” ต่อหน้าชุมชน และนักข่าว


ผลที่เกิดขึ้น

เหตุการณ์นี้เป็นข่าวใหญ่ สร้างการเปลี่ยนแปลงไปทั่วประเทศเซเนกัล สร้างชื่อเสียงให้ Tostan และสมาชิกกลุ่มสตรีของหมู่บ้าน M-B ในระดับนานาชาติ Tostan ส่งนักรณรงค์เดินทางไปยังหมู่บ้านต่างๆ ทั่วประเทศ

จนในที่สุดประธานาธิบดี และรัฐสภาก็ร่วมกันออกกฎหมายห้าม FGC โดยสิ้นเชิง ก่อความตกใจ ให้แก่อิหม่ามที่หมู่บ้าน KS และทีมงาน Tostan ว่าจะมีผลลบต่อการรณรงค์ คือมีผู้ต่อต้านกฎหมาย เพราะในวัฒนธรรมเซเนกัล การออกกฎหมายไม่ใช่ทางออกต่อการเปลี่ยนแปลงประเพณี ผู้คนไม่ชอบให้ คนอื่นคิดแทน ซึ่งก็เกิดผลร้ายจริงๆ คือหลังกฎหมายออก การทำ FGC เพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ตาม ทีมงาน Tostan ยังรณรงค์ตามยุทธศาสตร์ของตนเองต่อไป จนถึงปี 2007 ๒,๒๓๖ หมู่บ้าน จาก ๕,๐๐๐ เข้าร่วมการประกาศปลอด FCG ด้วยตนเอง

สื่อตะวันตกประโคมข่าวการรณรงค์ และแกนนำการรณรงค์ได้รับเชิญไปพูดในที่ประชุมขององค์การ นานาชาติ และในโอกาสสำคัญๆ ในประเทศตะวันตก

Tostan ได้ขยายการรณรงค์ไปยังประเทศใกล้เคียงด้วย รวมทั้งส่งเสริมการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ระหว่างประเทศ


การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น

ในปี 2007 Tostan และภาคี จัดงานฉลอง ๑๐ ปีคำประกาศ M-B และฉลอง ๒๐ ปี ของการดำเนินการ Tostan และมีการทบทวนวิธีดำเนินการ พบว่ายังคงยึดหลัก ๕ ประการ ตามที่กล่าวในตอนต้น โดยส่วนที่มีการปรับปรุงคือส่วน holistic empowerment ได้แก่

  • ผสมผสานยุทธศาสตร์แก้ปัญหาในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับสุขภาวะ เข้ากับการรู้หนังสือ และการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร
  • ใช้วิธีเรียนที่ฝังลึกอยู่ในวัฒนธรรมท้องถิ่น เน้นการผูกเป็นเรื่องราว (dramatization) การพูดคุยแลกเปลี่ยน และการฝึกทักษะ
  • ให้ผู้เข้าร่วมได้ริเริ่มสร้างสรรค์เอง
  • ในตอนท้าย เกิดกิจกรรมสร้างรายได้ หรือพัฒนาชุมชน ที่ทำด้วยตนเอง

สิ่งที่ควรเน้นไว้คือ ไม่มีโปรแกรม FGC โดยตรงเลย การรณรงค์ยกเลิก FCG เป็นผล ไม่ใช่เป้าหมายของ Tostan

การทบทวนสะท้อนคิด หาปัจจัยที่ก่อความสำเร็จระดับก้าวกระโดด พบว่าคือการเปลี่ยนจุดเน้น สู่สิทธิมนุษยชน และประชาธิปไตย แนวคิดสิทธิมนุษยชน พูนพลังสตรีให้กล้าพูดและดำเนินการยกเลิก FGC

จุดเน้นเดิมของ Tostan คือสร้างภาวะผู้นำในท้องถิ่น เพื่อดำเนินกิจกรรมต่อเนื่องจากการอบรม ที่สร้างสำนึกประชาธิปไตยท้องถิ่น ในระดับชุมชนและครอบครัว นำไปสู่สำนึกว่า ทุกคนมีสิทธิตีความวัฒนธรรมดั้งเดิม และปรับให้เหมาะสมต่อชีวิตในปัจจุบัน รวมทั้งสามารถปรับปรุง วิธีการตัดสินใจในระดับชุมชนได้ด้วย โดยนัยนี้ ชุมชนได้เปลี่ยนวัฒนธรรมการแต่งงานเด็กด้วย

Tostan ทำงานเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงในระดับลึก ที่เรียกว่า transformation และเมื่อทำงาน ไประยะหนึ่งก็เรียนรู้ว่า transformation ในวัฒนธรรมอัฟริกันไม่เหมือนในวัฒนธรรมอเมริกัน ในขณะที่ การเปลี่ยนแปลงในวัฒนธรรมอเมริกันเกิดในระดับปัจเจก แต่ในวัฒนธรรมอัฟริกันต้องมีมิติระดับชุมชนด้วย จึงจะเกิดการเปลี่ยนแปลงได้จริง เข้าใจว่า ข้อค้นพบนี้สำคัญในระดับเปลี่ยนทฤษฎีทางสังคมศาสตร์ทีเดียว และเชื่อมโยงกับทฤษฎี Tipping Point ของ Malcolm Gladwell ด้วย

สถานะของ Tostan เปลี่ยนแปลงไปอย่างมากมาย กลายเป็นองค์การพัฒนาระดับนานาชาติ และได้ตกผลึกวิธีการเชิงยุทธศาสตร์ของตนเหลือเพียง ๒ ข้อ คือ (๑) มิติด้านพูนพลังสังคม (๒) มิติด้าน “หว่านเมล็ดพืช” ได้แก่รู้หนังสือ คิดเลขเป็น จัดการเป็น และทำโครงการเป็น


ไตร่ตรองสะท้อนคิด

ความสำเร็จของ Tostan มาจากหลักการ ค่อยเป็นค่อยไป หรือทำไปเรียนรู้ไป ไม่ใช้ทำตามสูตรสำเร็จ ที่วางแผนไว้ล่วงหน้า และ transformation ก็เกิดขึ้นจากกระบวนการนี้

กิจกรรมหลักของ Tostan คือ “การศึกษานอกระบบ” (Non-formal Education) การไตร่ตรองสะท้อนคิดพบว่าความสำเร็จของ Tostan มาจากปัจจัยต่อไปนี้

  • ดำเนินการแบบมีส่วนร่วม และเคารพวัฒนธรรมท้องถิ่น
  • กล้าแหกคอกใช้วิธีพัฒนาการรู้หนังสือ และการพัฒนาอย่างอื่น แบบแหวกแนวไปจากวิธีการเดิมๆ
  • มีทักษะในการใช้ทั้งมิติเชิงปัจเจก และมิติเชิงชุมชน ในการสร้างการเปลี่ยนแปลง โดยใช้ในเครื่องมือด้านการจัดระบบงาน (organization) และการสร้างรายได้ (income generation)
  • ความสามารถในการเรียนรู้และพัฒนาวิธีประยุกต์หลักการสิทธิมนุษยชน และประชาธิปไตย เข้ากับสถานการณ์ส่วนบุคคลและส่วนท้องถิ่น เพื่อประโยชน์ของคนกลุ่มด้อยโอกาส

เขาตีความว่า ปัจจัยที่ ๔ ข้อข้างบน ช่วยสร้างสถานการณ์ให้สตรีที่เข้าร่วมเกิดการเรียนรู้ และค้นพบลู่ทางในการเปลี่ยนแปลงตนเอง ทั้งโดยปัจเจก และโดยการรวมกลุ่ม

การไตร่ตรองสะท้อนคิดเพื่อเขียนบทความนี้ ทำให้ผู้เขียนได้นิยามของ transformation ในมุมมองใหม่ ว่าไม่ใช่การเปลี่ยนแปลงไปสู่สิ่งใหม่ แต่เป็นการเปลี่ยนแปลงกลับสู่ความเป็นตัวตนที่มีอยู่แล้ว แต่ถูกบดบังด้วยสภาพแวดล้อมหรือวัฒนธรรมประเพณี คือเปลี่ยนแปลงกลับสู่มิติของความเป็นมนุษย์ ที่มีศักยภาพซ่อนอยู่ การเปลี่ยนแปลง คือการปลดปล่อยศักยภาพนั้นออกมา


วิจารณ์ พานิช

๒๗ ก.พ. ๕๘


บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย 

คัดลอกจาก: https://www.gotoknow.org/posts/593094

แก้ไขล่าสุด ใน วันเสาร์ที่ 08 สิงหาคม 2015 เวลา 22:55 น.
 


หน้า 292 จาก 561
Home

About Us

ศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ (ศบม.) เป็นองค์กรที่พัฒนาและจัดทำโครงการเพื่อทำประโยชน์ให้สังคม เป็นองค์กรสนับสนุนการดำเนินงานของภาครัฐ ช่วยแก้ปัญหาผู้ประกอบการภาคธุรกิจบริการที่ขาดแคลนบุคลากรที่มีมาตรฐานในการให้บริการ
อ่านเพิ่มเติม

มูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ ์

 iHDC Profile
บัญชีรายชื่อกรรมการ
ใบสำคัญแสดงการจดทะเบียน การเปลี่ยนแปลงกรรมการของมูลนิธิ
เอกสารประชาสัมพันธ์ โครงการ HMTC.pdf
เอกสารแนะนำโครงการ HMTC 1.pdf
เอกสารโครงการ HMTC 2 คุณสมบัติผู้เข้าร่วมโครงการ.pdf
iHDC นิติบุคคล.pdf
iHDC บุคคล.pdf
iHDC บุคคลเครือข่าย.pdf
รายงานการประชุม 6 มีนาคม 2560.pdf
ข้อบังคับมูลนิธิ
ใบสำคัญแสดงการจดทะเบียนจัดตั้งมูลนิธิ
Ihdc-Profile and Roadmap 2016-2019 Mar 23 2560.pdf
รายงานการประชุมใหญ่คณะกรรมการมูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ 2559.pdf
คำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ สาขาวิชาชีพ.pdf
รายงานการประชุมใหญ่วันที่ 18 ธ ค 2558 v 3.pdf
รายงานการประชุม วันที่ 24 ธันวาคม 2557 updated 4 มีนาคม 2558.pdf
iHDC-invitation Letter.doc
iHDC-Member Form Thai.doc
iHDC-Member Form English.doc
รายงานการประชุมกรรมการมูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ วันที่ 15 มกราคม 2556 ฉบับสมบูรณ์


thaibetter
พัฒนาประเทศไทยแบบทวีคูณ และยั่งยืน ( ททค )

Login


แบบสำรวจ

สถิติเว็บไซด์

สมาชิก : 5644
Content : 3068
เว็บลิงก์ : 26
จำนวนครั้งเปิดดูบทความ : 8747905

facebook

Twitter


ล่าสุด

บทความเก่า