Thaiihdc.org

  • เพิ่มขนาดตัวอักษร
  • ขนาดตัวอักษรปกติ
  • สดขนาดตัวอักษร
Thaiihdc.org

ครั้งหนึ่งในชีวิต .......เกิดอะไรกับผม

พิมพ์ PDF

วันที่ 23 มิถุนายน 2558 ผมได้รับเชิญเข้าร่วมประชุมเชิงปฎิบัติการด้านการท่องเที่ยว ที่โรงแรมแมนดาริน ผมมีโอกาสได้พบสุภาพสตรีที่น่าสนใจ 2 ท่าน ท่านแรกได้รับการแนะนำจากนักจัดรายการจากสถานีโทรทัศน์ช่อง 5 ระหว่างช่วงพักดื่มกาแฟ ได้รับการแนะนำว่าเป็นคุณทีมหมอในโครงการของพระเทพฯ เนื่องจากมีเวลาน้อยทำได้แค่แนะนำตัวและมูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ฯ ผมได้ให้นามบัตรไว้กับคุณหมอ และคุณหมอได้จดชื่อ e-mail address และเบอร์โทรศัพท์ ลงบนแผ่นกระดาษให้ผม

ส่วนท่านที่สอง เป็นหนึ่งในวิทยากรร่วมเสวนา ท่านนำเสนอในมุมมองที่ยังไม่มีใครยกขึ้นมาก่อน เป็นประเด็นที่น่าสนใจ  ผมรู้สึกทึ่งมาก เมื่อจบการเสวนา จึงรีบวิ่งเข้าไปแนะนำตัวเองกับวิทยากรท่านนั้น  สำหรับท่านที่สองนี้มีโอกาสได้สนทนาและถ่ายรูปร่วมกัน

ช่วงหัวค่ำระหว่างนั่งเช็ค e-mail และเตรียมส่ง e-mail ถึง สุภาพสตรีทั้งสองท่านที่ได้พบเมื่อบ่ายวันนี้ ได้รับ e-mail จากสุภาพสตรีท่านแรกที่ว่าเป็นคุณหมอ ขอให้ผมส่งข้อมูลของมูลนิธิไปให้พิจารณา เนื่องจากฟังผมแนะนำแล้วเห็นว่าเป็นโครงการที่ดีมากสามารถช่วยคนได้เป็นจำนวนมาก และคุณหมออยากมีส่วนร่วมในโครงการนี้

ผมได้ตอบ e-mail ของสุภาพสตรีท่านแรกพร้อมส่งเอกสารมูลนิธิฯไปให้พิจารณา  และส่ง e-mail ถึงสุภาพสตรีท่านที่สอง พร้อมแนบเอกสารข้อมูลของมูลนิธิฯ ไปให้เช่นกัน

วันที่ 24 มิถุนายน 2558 ได้รับ e-mail ตอบกลับจากสุภาพสตรีทั้งสอง ท่าน ต่างพร้อมที่จะมีส่วนร่วมในการช่วยโครงการของมูลนิธิฯ แต่เนื่องจากผมจะต้องเดินทางไปเกาะ พี พี และจะเดินทางกลับกรุงเทพปลายเดือน มิถุนายน จึงตอบ e-mail ท่านสุภาพสตรีทั้งสองท่านไปว่า จะโทรศัพท์ไปหาเพื่อนัดหมายคุยรายละเอียดเพื่อหาแนวทางในการมีส่วนร่วมโครงการของมูลนิธิฯ ในวันที่ 30 เมษายน หลังจากกลับจากการประชุมที่เกาะ พี พี

วันที่ 30 มิถุนายน โทรไปหาสุภาพสตรีท่านแรกที่เป็นหมอ คุณหมอแจ้งว่ากำลังจะเดินทางไปประเทศลาวในวันที่ 7 กรกฎาคม 2555 และชวนผมร่วมเดินทางไปด้วย เพื่อให้ไปดูกิจกรรมที่คุณหมอทำอยู่ซึ่งเป็นการช่วยเหลือคนลาวและคนไทย เพื่อให้ผมพิจารณาว่าจะต่อยอดกิจกรรมของทั้งสองฝ่ายได้อย่างไร ( ผมเข้าใจว่าเป็นการเดินทางเป็นคณะของหมอในโครงการของพระเทพฯ) ผมได้สอบถามถึงค่าใช้จ่ายในการเดินทาง คุณหมอแจ้งว่าไม่มีค่าใช้จ่ายอะไร ผมจึงได้ตอบตกลงไป แต่ขอพบก่อนเพื่อสอบถามรายละเอียดเรื่องกำหนดการเดินทาง โดยได้ตกลงนัดพบกันที่ กระทรวงสาธรณสุข ในวันที่ 2 กรกฎาคม เวลา 17.00 น

วันที่ 2 กรกฎาคม ผมไปพบคุณหมอที่กระทรวงสาธารณสุข ตามเวลา 17.00 น แต่คุณหมอแจ้งว่ายังติดงานอยู่จะเสร็จประมาณ 19.00 น และนัดพบสถานที่ใหม่ จึงตกลงพบกันที่ The Mall ถนนงามวงศ์วาน เวลา 19.00 น ผมจึงถือโอกาสไปรอที่ The Mall เลย โดยไปถึงที่ The Mall เวลาประมาณ 17.30 น และเดินฆ่าเวลาจนถึง 19.00 น คุณหมอโทรมาว่ากำลังจะออกจากที่ประชุม ผมเข้าใจว่าคุณหมอคงมาถึง The Mall ไม่เกิน 15 นาที จึงเข้าไปนั่งรอคุณหมอที่ร้าน MK SUKI โดยยังไม่ได้สั่งอะไร รอจนถึง 20.00 น คุณหมอก็ยังมาไม่ถึง เกรงใจทางร้านมากเพราะมานั่งตั้ง 1 ชั่วโมงแล้วยังไม่ได้สั่งอะไรทานเลย จึงสั่งเป็ดมานั่งทานก่อน คุณหมอมาถึงร้าน ประมาณ 20.30 น ระหว่างทานอาหาร คุณหมอได้คุยและนำรูปภาพที่ประเทศลาวที่คุณหมอแจ้งว่าจะทำเป็น Home Stay เพื่อสร้างคนท้องถิ่นให้มาดูแล และแจ้งว่าคุณหมอจะต้องเดินทางไปล่วงหน้าก่อนผม และให้ผมบินตามไปพบคุณหมอที่สนามบินอุบลราชธานี ในวันที่ 7 ก.ค. เพื่อเดินทางเข้าประเทศลาว สำรวจสถานที่ และเข้าไปพบกับเจ้าแขวงลาว และค้างคืนที่ลาว วันที่ 8 กลับเข้ามาที่ฝั่งไทย และค้างคืนกับชาวบ้านเพื่อดูชีวิตความเป็นอยู่ และวันที่ 9 คุณหมอจะส่งผมที่สนามบินเพื่อเดินทางกลับกรุงเทพ และให้ผมจ่ายค่าตั๋วเครื่องบินเอง ผมได้ปฎิเสธว่าถ้าเป็นเช่นนี้ผมไม่ไป คุณหมอจึงแจ้งว่าถ้าเช่นนั้นคุณหมอจะออกค่าตั๋วเครื่องบินให้ผมเอง เพราะอยากให้ผมไปเห็นและช่วยให้คำปรึกษาถึงความเป็นไปได้ของโครงการ และถ้าเป็นไปได้ก็จะจ้างผมเขียนแผนโครงการให้ ผมจึงแจ้งไปว่าเอาอย่างนี้และกัน ให้คุณหมอเป็นผู้รับผิดชอบการเดินทางครั้งนี้ โดยผมจะช่วยเป็นที่ปรึกษาในการจัดทำแผนให้โดยไม่คิดค่าใช้จ่ายใดๆ และผมจะนำเพื่อนร่วมงานไปด้วยอีกคนเพื่อกลับมาจะได้ช่วยกัน คุยกันไปทานกันไปจนถึงเวลาปิดร้านจึงแยกย้ายกันกลับ และตกลงที่จะส่งสำเนาหนังสือเดินทางของผมกลับเพื่อนเพื่อให้คุณหมอไปจัดการซื้อตั๋วเครื่องบินให้ผมและเพื่อน

วันที่ 3 กรกฎาคม ผมพบกับเพื่อนอีกคนที่เขามีความชำนาญเรื่องการทำธุรกิจกับคนลาว และรู้จักคนใหญ่คนโตในลาวหลายคน สนใจที่จะไปกับผมถ้าคุณหมอไม่ขัดข้อง โดยเขาจะเป็นผู้ออกค่าใชเจ่ายของเขาเอง จึงโทรแจ้งคุณหมอว่าตกลงทางผมจะไปกันทั้งหมอ 3 คน โดยคุณหมอเป็นผู้รับผิดชอบด้านค่าใช้จ่ายของผมและเพื่อนที่ไปทำงานให้คุณหมอโดยไม่ได้คิดค่าตัว ส่วนเพื่อนอีกคนเขาเป็นพ่อค้า เขาจะเป็นคนออกค่าใช้จ่ายเอง เนื่องจากเขาอาจมีผลประโยชน์ร่วมในการเดินทางครั้งนี้ คุณหมอก็ไม่ได้ว่าอย่างไร ผมจึงส่งสำเนาหนังสือเดินทางของเพื่อนที่เพิ่มเข้ามา เพื่อให้คุณหมอนำไปซื้อตั๋วเครื่องบินและแจ้งราคาตั๋วมาเพื่อจะได้โอนเงินไปให้คุณหมอ

วันที่ 4 ก.ค. ทั้งวันไม่สามารถติดต่อคุณหมอได้ เพราะต้องการทราบเรื่องเที่ยวบิน จนช่วงค่ำจึงติดต่อคุณหมอได้ คุณหมอแจ้งว่าติดธุระทั้งวันไม่ว่างเลย และแจ้งว่าตกลงการเดินทางต้องเปลี่ยนแปลงการเดินทาง  โดยให้ผมและเพื่อน รวม 3 คน ขับรถกันไปเองที่โครช และพบกับคุณหมอที่โรงพยาบาลที่โคราช ในวันที่ 6 ก.ค. ไม่เกินเวลา 17.00 น คุณหมอจะเช่ารถตู้เพื่อเดินทางร่วมกันทั้งหมด 7 คน (ฝ่ายผม 3 คน ฝั่งคุณหมอ 4 คน) เพื่อการเดินทางครั้งนี้

ผมคิดว่าจะไม่ไปยกเลิกการเดินทางเพราะไม่มีอะไรแน่นอนเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา แต่เพื่อนของผมอีก 2 คนอยากไปเพราะต้องการให้ถึงที่สุด รู้ให้จริงว่าจะเกิดอะไรขึ้น ในที่สุดจึงตกลงตามนั้น

วันที่ 5 ก.ค. คุณหมอโทรมาขอให้ไปรับคุณหมอตอน 9.00 น วันที่ 6 ที่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์รังสิต และขอติดรถไปโคราชด้วย หลังจากนั้นปล่อยให้คุณหมอดูงานที่โรงพยาบาล หลังจากคุณหมอเสร็จงานจึงเดินทางโดยรถตู้ไปค้างคืนที่อุบล และวันที่ 7 ค่อยเดินทางไปประเทศลาว

วันที่ 6 ก.ค.นัดเพื่อทั้งสองคนพบผมที่บ้านเวลา 8.00 น เพื่อขับรถไปรับคุณหมอ (ประมาณ 7.00 น ได้รับโทรศัพท์จากคุณหมอว่า ขณะนี้คุณหมออยู่ที่สระบุรีแล้ว มาดูงานที่โรงพยาบาลที่สระบุรี ให้มารับคุณหมอที่สระบุรีด้วย พอไปถึงที่นัดพบที่สระบุรีตอน 9.00 น คุณหมอแจ้งว่างานคุณหมอจะเสร็จประมาณ 11.30 น ขอให้รอคุณหมอด้วย จะได้ติดรถไปที่โคราช ปรากฎว่าพบคุณหมอเวลา 13.00 น จึงเริ่มออกเดินทางไปที่โคราช  ไปถึงโคราชประมาณ 15.30 น เสียเวลารอคุณหมอที่โคราชและรอรถเกือบ 3 ชั่วโมง สรุป คุณหมอไม่สามารถหาเช่ารถตู้ได้ จึงให้รุ่นน้องตีรถจากอุบลมารับ ที่โคราช เป็นรถกะบะ นั่งกันมา 5 คน จนถึงบุรีรัมภ์ มีรถกะบะอีกคันที่ตีมาจากอุบล มาสมทบ และขับตามกันมา 2 คัน ผมและเพื่อนั่งรถคันที่ตีมาสมทบที่ บุรีรัมภ์ และคุณหมอกับเจ้าของรถที่ตีไปรับที่โคราชนั่งมาอีกคัน ถึงชายแดนอุบลติดกับประเทศลาว ตีสองกว่าๆ เข้าพักที่รีสอร์ท

วันที่ 7 ก.ค.ออกจากรีสอร์ท เพื่อไปไหว้พระที่วัดริมฝั่งโขง และชมท่าข้ามฝากท้องถิ่นของเอกชน ก่อนนั่งเรือข้ามฝากไปที่ฝั่งลาวไปขึ้นที่ด่านท้องถิ่น ต้องต่ายขึ้นฝั่งสูงขนาดตึก 5 ชั้น นั่งรถเก๋ง 3 ตอน เข้าไปติดต่อแวะเยี่ยมคนไทยที่ไปลงทุนที่ลาว ทานกลางวันและกลับฝั่งไทยเกือบไม่ทันเวลาด่านปิด  และไปค้างคืนที่บ้านของจ่าตำรวจที่ขับรถไปรับที่บุรีรัมภ์ (เข้าใจว่าเป็นแฟนของคุณหมอ) ทานข้าว และคุญกับชาวบ้านเป็นที่สนุกสนาน

วันที่ 8 ก.ค.รอคุณหมอทำธุระจนถึง 11.00 น จึงออกจากอุบล โดย นั่งกันมา 5 คน จ่าตำรวจเป็นผู้ขับ ผมนั่งหน้า เพื่อนของผม 2 คนและคุณหมอรวม 3 คนนั่งด้านหลัง มาถึงโคราช เกือบ 18.00 น หลงทางในตัวเมืองโคราช เอารถที่โรงพยาบาลและขับรถกลับกรุงเทพ ร่วม 19.00 น โดยคุณหมอแยกไปทำธุระต่อ กับจ่าตำรวจ ผมและเพื่อนแวะทานข้าวที่สระบุรี ในเวลาเกือบ 21.00 น และกลับมาถึงกรุงเทพ เวลา เกือบ 23.00 น

เป็นการเดินทางที่เหนื่อยมาก ไม่ได้เที่ยวที่ไหนเลย ได้ไหว้พระแค่วัดเดียว นั่งรถทั้งวัน แถมวันที่ไปประเทสลาว แย่ที่สุด ที่ลาวไม่ได้ดูอะไรเลย นั่งรถเก๋ง 3 ตอน อัดกัน 8 คน ขึ้นๆลงๆตลอดเวลาเพราะคุณหมอแวะไปหาใครต่อใคร และคุยอะไรกันไม่ทราบเป็นเวลานานๆ ปล่อยให้พวกผมยืนรอเหมือนกับเป็นผู้ติดตาม ตอนขึึ้นลงฝั่งลาวอันตรายมาก ไม่มีบันได้ขึ้นลง ต้องต่ายขึ้นลงกันเอง ผู้ร่วมเดินทางคนหนึ่งหกล้ม ได้แผลทั้งไปและกลับ ดีที่ผมไม่เป็นอะไร แต่ก็เพลียมาก

เห็นใจจ่าตำรวจมาก วันที่ 6 ต้องตีรถจากอุบลเพื่อไปรับพวกผมที่จังหวัดสุรินทร์ วันที่ 7 ตื่นแต่เช้าและร่วมเดินทางลาวทั้งวัน พอช่วงเย็นจ่าตำรวจก็ต้องเข้าครัวทำกับข้าวให้พวกเราทาน ก่อนจะแยกย้ายไปนอนก็ประมาณ 23.00 น เช้าตื่นแต่เช้าประมาณ 6.00 น ต้องมาทำกับข้าวเช้าให้พวกเราทานกันอีก พอ 11.00 น ก็ต้องขับรถมือเดียวพาพวกเราไปส่งที่โคราช และทราบว่าต้องตีกลับอุบลเลย  ผมได้ขอให้เขานอนค้างอย่าขับกลับอุบลคืนนั้นแต่ก็ไม่ทราบว่าเขาเชื่อหรือไม่ ทุกอย่างอยู่ที่คุณหมอเพียงคนเดียว

ผมถามตัวเองว่ามันเกิดอะไรขึ้น มีการนั่งทบทวนและถามตัวเองว่า ผมตอบตกลงไปกับเขาได้อย่างไร ตอนแรกเขาชวนผมคนเดียว และพาไปฝั่งลาว ถ้านำผมไปปล่อยไว้ที่ลาว ผมจะทำอย่างไร หรือตอนนั่งรถไปที่ฝั่งลาว และกลับมาที่ฝั่งไทย เกิดมีการนำของผิดกฎหมายเข้ามาและถูกจับได้จะทำอย่างไร และอื่นๆที่อาจเป็นไปได้หลายอย่าง ป

ผมสอบถามคนที่แนะนำผมให้รู้จักคุณหมอ ก็ไม่ได้ข้อมูลอะไร ฟังเขามาอีกทีเคยพบกันหลายครั้ง แต่ก็ไม่ทราบข้อมูลส่วนตัวเลย คุณหมอแจ้งว่าเขาจบทั้งแพทย์ และ ดร.ขณะนี้เป็นผู้บริหารอยู่ในคณะแพทย์ศาสตร์ โรงพยาบาลธรรมศาสตร์รังสิต ผมและเพื่อพยายามหาข้อมูลเพิ่มเติมพร้อมการยืนยันสถานที่ทำงานก็ไม่พบข้อมูลใดๆ

ประสบการณ์ครั้งนี้ถือเป็นบทเรียนบทหนึ่งในชีวิตของผม ยังงงอยู่จนถึงปัจจุบันว่าเกิดขึ้นได้อย่างไร กับคนที่ระมัดระวัง รอบครอบ และไม่ชอบทำอะไรเสี่ยงๆ แถมไปรอคนเป็นชั่วโมงๆได้อย่างไร

สำหรับสุภาพสตรีท่านที่สอง วันที่ 30 เมษายน ผมลืมโทรไปหาท่าน และไม่ได้ติดต่ท่าน จนวันที่ 18 กรกฎาคม 2558 ท่านส่ง e-mail มาให้ผมอีกครั้ง จึงได้ติดต่อนัดพบกับท่านในวันที่ 22 กรกฎาคม เวลา 10.00 น ที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยลัยธุรกิจบัณฑิต ได้คุยกับท่านจนถึง 12.00 น ท่านเชิญทานกลางวัน แต่มีเวลาน้อยเนื่องจากผมมีประชุมที่กระทรวงสาธารณสุขเวลา 13.00 น เลยใช้เวลาทานข้าวด้วนกันแค่ 30 นาที และมีนัดพบกันท่านใหม่ในวันที่ 29 กรกฎาคม นี้

ม.ล.ชาญโชติ ชมพูนุท

23 กรกฎาคม 2558

 

 

แก้ไขล่าสุด ใน วันพฤหัสบดีที่ 23 กรกฏาคม 2015 เวลา 17:11 น.
 

ประสบการณ์การใช้รถ

พิมพ์ PDF

วันที่ 15 ก.ค.2558 ตรวจสภาพรถด้วยตัวเอง เช็คน้ำ เช็คน้ำมันเครื่อง และอื่นๆ พบน้ำมันเบรคพร่องพอประมาณ จึงแวะไปถามช่างที่เป็นผู้ซ่อมเบรคครั้งล่าสุดว่าเขาเปลี่ยนน้ำมันเบรคอะไรให้ เพื่อจะได้ไปซื้อมาเติมน้ำมันเบรคที่พร่อง ช่างตรวจดูน้ำมันเบรคแล้วแจ้งว่าพร่องไปไม่มาก ไม่ต้องเติม รอให้น้ำมันเบรคพร่องไปจนถึงขีดต่ำสุดค่อยมาเปลี่ยนผ้าเบรคทีเดียว และแจ้งว่าเป้าโช๊คอัฟหน้าทั้งสองข้างมีรอยแตก ทิ้งไว้อันตราย แนะนำให้รีบเปลี่ยน ได้สอบถามว่าค่าอะหลั่ย และค่าแรงเท่าใด ช่างแจ้งว่าค่าเป้าโช๊คอัฟใหม่ราคาข้างละ 400 บาท และค่าแรง 200 บาท รวม 1,000 บาท ได้ถามไปว่าถ้าไปซื้อเป้าโช๊คอัฟจากร้านเชียงกง (เป็นของแท้มือสองจากญี่ปุ่น) จะดีกว่าไหม เพราะเคยไปเปลี่ยนโช๊คอัพมาแล้วราคาถูกและใช้ดีกว่าซื้ออะหลั่ยเทียมที่ราคาแพงกว่าและทนสู้ของแท้จากเชียงกงไม่ได้ ช่างตอบว่าก็ดีราคาพอๆกัน

ตัดสินใจขับรถไปที่ร้้านเล็กโช๊คอัฟ ที่สี่แยกแคลาย (ร้านที่เคยไปเปลี่ยนโช๊คอัฟแต่ไม่ได้เปลี่ยนเป้าโช๊คอัฟเมื่อปีกว่าๆที่ผ่านมา) โชคดีทางร้านมีของและสภาพดีมาก ราคารวมค่าแรง 800 บาท ใช้เวลาไม่ถึงครึ่งชั่วโมง ราคาถูกกว่าให้ช่างประจำทำซึ่งจะต้องเสียเวลารอช่างไปหาซื้อของและทำการถอดและติดตั้งอย่างต่ำๆครึ่งวัน (กรณีที่ช่างไม่ได้ทำรถให้คนอื่นอยู่ก่อน) หลังจากนั้นขับรถกลับบ้าน และไม่ได้ใช้รถอีกเลย จนวันที่ 19 ก.ค. ขับรถออกไปทำธุระ รู้สึกว่ารถผิดปกติ พวงมาลัยกินขวา เวลาเลี้ยวรถมีปัญหาหนักและเบาเป็นช่วงๆผิดปกติ จึงนึกได้ว่าลืมถามช่างไปว่าจะต้องนำรถไปตั้งศูนย์ล้อใหม่หรือไม่หลังจากเปลี่ยนเป้าโช๊คอัฟ แต่เนื่องจากวันนั้นเป็นวันอาทิตย์ร้านโช๊คอัฟปิด

วันจันทร์ที่ 20 ก.ค. แวะไปเติมลมที่ร้าน A.C.T. ถนนแจ้งวัฒนะ ร้านที่ซื้อยางเป็นประจำ ระหว่างเติมลมยางได้ถามช่างว่าเวลาเปลี่ยนเป้าโช๊คอัฟแล้วต้องตั้งศูนย์ใหม่หรือไม่ ช่างแจ้งว่าต้องตั้งศูนย์ใหม่ เพราะตอนเปลี่ยนเป้าโช๊คอัฟ ต้องถอน๋โช๊คอัฟออกมา ดังนั้นค่าต่างๆจะเปลี่ยนไปหมด จึงถามว่าค่าตั้งศูนย์เท่าไหร่ ช่างแจ้งว่าราคา 350 บาท จึงให้ช่างรีบทำการตั้งศูนย์ให้ ระหว่างการตั้งศูนย์ล้อ ช่างพบว่าท่อน้ำมันเกียรต์ออตโต้รั่ว และเพลาขับซ้ายหลวมมากจวนจะหลุดแล้ว ได้สอบถามว่าถ้าเปลี่ยนราคาเท่าใด ช่างแจ้งว่า ถ้าเป็นของแท้ข้างละหมื่นกว่าบาท แต่ถ้าเป็นของซ่อมโดยเราต้องแลกของเก่าของเราราคาข้างละ 3,500 บาท สองข้างราคา 7,000 บาท ส่วนสายท่อน้ำมันเกียรต์ที่รั่วต้องไปซื้อท่อยางที่ร้านอะหลั่ย ใช้เวลาประมาณครึ่งชั่วโมง แต่ถ้าจะเปลี่ยนเพลาขับต้องใช้เวลาในการสั่งของและติดตั้งประมาณ 3 ชั่วโมง จึงขอทำแค่ตั้งศูนย์ล้อ เพราะต้องรีบไปประชุมไม่มีเวลา อีก 2-3 วันจึงจะมาทำได้เพราะติดภาระกิจต้องใช้รถ

หลังเสร็จประชุมประมาณ 16.30 น แวะไปร้านเล็กโช๊คอัฟ เพื่อเช็คว่ามีเพลาขับหรือไม่ ทางร้านมีแค่เพลาขับตัวยาว แต่เพลาขับตัวสั้นที่ว่าหลวมมากไม่มีต้องขอเวลาหาให้แต่ต้องใช้เวลา ส่วนเพลาขับตัวยาวมีสภาพ 90% ราคา 1,200 บาท อย่างไรก็ตามทางร้านเล็กโช๊คอัฟได่เช็คเพลาขับทั้งสองข้างและแจ้งว่าไม่ได้หลวมอย่างที่ช่างตั้งศูนย์แจ้ง ยังใช้ได้เป็นปกติ แต่ยางกันฝุ่นด้านซ้ายของเพลาขับขาด และแนะนำให้ไปเช็คและตรวจสอบอีกที่ที่ร้านเจ้าพระยากลการ ที่ชำนาญด้านเครื่องล่างทั้งหมดซึ่งอยู่ใกล้ๆ จึงแวะไปที่ร้้านดังกล่าว

เจ้าของร้านให้ช่างช่วยตรวจสอบ และยืนยันตรงกับทางเล็กโช๊คอัฟว่าเพลาขับไม่ได้หลวม แต่ตรวจสอบและพบว่า แล็กเพาเวอร์รั่ว แต่ไม่มากแค่ซึมๆ (ซึ่งทราบมานานร่วมปีแล้ว แต่ช่างแจ้งว่าถ้าพวงมาลัยยังไม่หนักก็ยังใช้ได้ไว้รอเปลี่ยนเมื่อเสียจริงๆ ราคาแล็กประมาณ สามพันกว่าบาท) ส่วนเรื่องน้ำมันเบรคพร่องพูดตรงกับช่างประจำที่เคยซ่อมว่าไม่ต้องเติมเพราะจะทำให้ไม่ทราบเมื่อผ้าเบรคบาง อย่างไรก็ตามแนะนำว่าควรจะตรวจดูผ้าเบรค หลังจากตรวจดูผ้าเบรคปรากฎว่าผ้าเบรคหน้ายังหนาอยู่แต่ผ้าเบรคหลังบางมาก

สรุปจึงได้ทำการ เปลี่ยนผ้าเบรคหลัง เจียรจานเบรคหลัง เปลี่ยนยางกันฝุ่นเพลาขับ ด้านซ้ายทั้งตัวในและตัวนอก เปลี่ยนสายท่อส่งน้ำมันเกียรต์ออตโต้ รวมค่าแรงและค่าอะหลั่ยทั้งสิ้น 2,250 บาท

ม.ล.ชาญโชติ ชมพูนุท

21 กรกฎาคม 2558

แก้ไขล่าสุด ใน วันอังคารที่ 21 กรกฏาคม 2015 เวลา 06:13 น.
 

ปิดตำนาน! ระเบิดทิ้งโรงงาน"ฟิล์มโกดัก"ชื่อดัง หลังล้มละลาย

พิมพ์ PDF

ปิดตำนาน! ระเบิดทิ้งโรงงาน"ฟิล์มโกดัก"ชื่อดัง หลังล้มละลาย
และบทวิเคราะห์กลยุทธการตลาด : 
ทำไมฟูจิอยู่ได้ ขณะที่โกดักล้มละลาย !!

สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า บริษัทโกดักได้ระเบิดทำลายโรงงาน "โกดัก" ผู้ผลิตฟิล์มชั้นนำของโลก ในเมืองโรเชสเตอร์ ในรัฐนิวยอร์ก ถือเป็นการปิดตำนานโรงงานของบริษัทชื่อดังแห่งนี้ ซึ่งตั้งตระหง่านมากว่า 90 ปี

รายงานระบุว่า เหตุการณ์ระเบิดทำลายนี้เกิดขึ้นเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา โดยโรงงานโกดัก ซึ่งประกอบด้วยตึกอาคารกว่า 40 แห่ง ได้ถูกทำลายเพื่อสร้างอสังหาริมทรัพย์ใหม่ ภายในเวลาไม่กี่วินาที ซึ่งตึกได้กลายเป็นซากปรักหักพังอย่างราบคาบ ท่ามกลางเหล่าผู้คนที่เฝ้าดูเหตุการณ์ปิดตำนานโรงงานแห่งนี้ ซึ่งตั้งบนถนนอีสต์แมน บิสสิเบส พาร์ค เป็นเวลาถึง 92 ปี ในยุคที่โลกยังต้องพึ่งฟิล์ม "เนกาทีฟ" ก่อนที่โลกจะเข้าสู่สื่อดิจิตอล ในช่วงไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมา

โดยในยุคก่อน กล้องใช้ฟิล์มตัวแรกของโลกถือกำเนิดขึ้นเมื่อปี 1888 และฟิล์มโกดักกลายเป็นฟิล์มยอดนิยมของยุค ก่อนเข้าสู่ภาวะโลกเปลี่ยนแปลงสู่เทคโนโลยีดิจิตอล และทำให้โกดักเข้าสู่ภาวะขาดทุนหนักและล้มละลาย โดยบริษัทได้ยื่นเรื่องต่อศาลขอพิทักษ์ทรัพย์ และเปลี่ยนแนวทางการขายของบริษัทเป็นผู้ผลิตอุปกรณ์ปรินซ์ภาพด้วยระบบไฮเทค และมุ่งขายให้แก่หน่วยงานธุรกิจมากกว่าผู้บริโภค

ในขณะที่แบรนด์ยักษ์ระดับตำนานของโลก อย่างโกดักกำลังจะถึงกาลอวสาน คู่ปรับ คู่ชก คู่แข่งตัวฉกาจ
จากอีกซีกหนึ่งของโลก อย่าง ฟูจิ กลับรุ่ง พุ่งทะยาน ตรงข้ามอย่างน่าฉงน?!?! ไฉนเลยจึงลงเอยเช่นนี้หนอออ …

ทั้งคู่ อยู่ในธุรกิจฟิล์มถ่ายรูป เผชิญคลื่นยักษ์ ของการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีไปสู่ดิจิตอล สัปดาห์ก่อน ผมเขียนถึงหายนะของโกดักไปแล้ว คราวนี้ อยากเอ่ยถึงกลายพลิกตัวกลับ และกระจายตัวออกของฟูจิ ซึ่งเป็นกรณีศึกษาในมุมกลับ ขององค์กรซึ่งเผชิญสถานการณ์ที่คล้ายคลึงกันมากๆ ครับ

ฟูจิ (หรือชื่อบริษัทเต็มคือ Fuji Photo Film Co., Ltd.) ก่อตั้งขึ้นในปี 1934 โดยหมายจะเป็นผู้ผลิตฟิล์มถ่ายรูปรายแรก ภายใน 10 ปีแรกของการเริ่มต้นธุรกิจ ฟูจิได้กลายมาเป็นเป็นผู้ผลิตฟิล์มถ่ายภาพ, ฟิล์มภาพยนตร์ และฟิล์มเอ็กซเรย์ ในประเทศญี่ปุ่น

ในทศวรรษ 1940 ฟูจิได้เข้าสู่ธุรกิจกระจกส่องขยาย เลนส์ และอุปกรณ์หลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สอง ฟูจิได้ขยายอาณาจักร กระจายการลงทุนไปยังธุรกิจอื่นๆ อาทิ อุปกรณ์ทางการแพทย์ (เอ็กซเรย์), การพิมพ์, ระบบภาพอิเลคทรอนิค และอุปกรณ์แม่เหล็กไฟฟ้า

ปี 1962 ฟูจิ ได้ร่วมลงทุน กับบริษัท RankXerox (ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนกับซีรอกซ์อีกที) เกิดเป็น FujiXerox ดูแลธุรกิจของซีรอกซ์ ในเอเชีย-แปซิฟิค

ตั้งแต่กลางทศวรรษ 1950 เป็นต้นมา ฟูจิเริ่มเดินหน้าขยายตลาดออกสู่โลกอย่างแข็งขัน และธุรกิจก็เติบโตตามลำดับ กระทั่งในทศวรรษ 1980 ฟูจิเริ่มชื่อว่า การเป็นบริษัทชั้นระดับโลกไม่ใช่เรื่องไกลเกินฝัน ฟูจิได้วางเป้าที่จะมี World Class FUJIFILM status

ในอีกด้านหนึ่ง ฟูจิก็ได้เป็นหนึ่งในผู้นำการพัฒนาเทคโนโลยีดิจิตอล ที่นำไปประยุกต์ใช้กับภาพถ่าย การแพทย์ และการพิมพ์ กระแสดิจิตอลที่คืบคลานมาเรื่อย ๆ ทำให้ฟูจิรู้ดีว่า หากนิ่งเฉยเสีย เห็นทีอนาคตจะร่วง

ในปี 2006 ฟูจิตัดสินใจที่จะปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการใหม่ ด้วยการก่อตั้งบริษัท FUJIFILM Holdings Corporation ขึ้นมา เพื่อรับมือกับโลกที่เปลี่ยนไป

แม้ปัจจุบัน ฟูจิจะเน้นการผลิตไปที่กล้องดิจิตัล เครื่องปรินท์เตอร์ และเครื่องถ่ายเอกสาร แต่ฟูจิยังก็ยืนยันที่จะผลิตฟิล์มต่อไป แม้ว่ายอดจำหน่ายจะมีเพียงแค่ร้อยละ 3 ของผลิตภัณฑ์ทั้งหมดของบริษัทเท่านั้น

แต่สิ่งที่น่าตื่นเต้นกว่า คือการขยายไปยังปริมณฑลใหม่ ๆ ทางธุรกิจโดยฟูจิพยายามถามตัวเอง ว่าอะไรคือความเชี่ยวชาญเฉพาะที่ตนมี หนึ่งในนั้น คือการประยุกต์ใช้องค์ความรู้ทางเคมีชั้นยอด ที่แต่เดิมใช้กับภาพถ่าย ไปใช้กับ ผิวพรรณ ก่อเกิดเป็นธุรกิจความงาม ขึ้นมา

ฟูจิร่วมทุนกับกลุ่มธุรกิจด้านสุขภาพอย่าง Astalift ที่เป็นแบรนด์ชั้นนำด้านความงามชื่อดังของญี่ปุ่น เมื่อ 5 ปีก่อน ล่าสุด ฟูจิยังได้ร่วมลงทุนกับบริษัท Mitsubishi Corporation เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ด้านชีวเวชภัณฑ์ เพื่อขยายธุรกิจจากการเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีภาพถ่ายและเครื่องถ่ายเอกสาร ไปสู่วงการเวชภัณฑ์อีกด้วย

อะไรเป็นปัจจัยที่ทำให้ชะตากรรมของฟูจิ แตกต่างจากโกดัก? และบทเรียนจากฟูจิ ให้แรงบันดาลใจอะไร กับบริษัทในธุรกิจที่ล่อแหลมต่อการล่มสลายบ้าง?

บทวิเคราะห์

ในที่สุดโกดักก็ถึงกาลล้มละลาย ปิดตำนาน 131 ปีของบริษัทที่ครั้งหนึ่งเคยมีสถานะเท่า เทียมกับ Google และ Apple ในปัจจุบัน

แต่ทว่าไม่ได้บริษัทที่ได้รับผลกระทบจากการการเติบโตของกล้องดิจิตอลและสมาร์ทโฟน จนกระทั่งทำลายธุรกิจฟิล์มซึ่งเป็นธุรกิจหลักนั้นไม่ได้มีเพียงโกดักเท่านั้น ฟูจิซึ่งเป็นคู่แข่งสำคัญก็ ตกอยู่ในสถานการณ์นี้ด้วยเช่นกัน

แล้วทำไมฟูจิถึงยังรุ่งเรืองอยู่ได้ ขณะที่โกดักต้องล้มละลาย... นี่เป็นคำถามที่หลายคนยังสงสัยอยู่

ผู้บริหารฟูจิมีวิสัยทัศน์ที่แตกต่างจากผู้บริหารโกดัก ที่คิดว่าฟิล์มจะคงอยู่ได้อีกระยะหนึ่ง นั่นคือไม่ตกลงเป็นรูปตัววีอย่างแน่นอน ดังนั้นโกดักคงคิดว่าจะเก็บเกี่ยวไปได้นานพอดู แต่ฟูจิคิดว่าท้ายที่สุดแล้ว ดิจิตอลต้องมากินเนื้อฟิล์มอย่างแน่นอนและรวดเร็วด้วย

ผู้นำฟูจิจึงมี Sense of Urgency มากกว่าโกดัก เพราะเห็นเทรนด์ดิจิตอลพร้อมๆ กัน แต่เชื่อว่าตลาดฟิล์มจะสูญพันธุ์อย่างเร็ว ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่เพราะฟิล์มเป็นธุรกิจหลัก ถ้าไม่สามารถปรับตัวได้อย่างรวดเร็วและสร้างธุรกิจใหม่ทันท่วงที ชะตากรรมก็คงไม่พ้นล้มละลาย

เมื่อมีสำนึกแห่งความเร่งรีบแล้ว ฟูจิรู้ว่าอะไรที่ควรต้องทำและต้องทำทันทีไม่อาจรอช้าได้ แม้แต่วินาทีเดียว นั่นคือการเก็บเกี่ยวจากธุรกิจฟิล์มให้เร็วที่สุดและมากที่สุด จากนั้น Diversify ออกนอกธุรกิจฟิล์มเพราะเชื่อว่าในที่สุดฟิล์มจะหมดอนาคตอย่างแน่นอน

นั่นคือการตั้งคำถามว่าความเชี่ยวชาญที่ฟูจิมีนั้นจะขยายไปสู่ธุรกิจใดได้บ้างที่มีศักยภาพและ ด้วยวิธีใด

ความเชี่ยวชาญของฟูจิเกี่ยวกับเคมี สามารถนำไปประยุกต์กับธุรกิจเครื่องสำอางค์ ฟูจิจึงขยายไปสู่ธุรกิจเครื่องสำอางค์ และยังขยายไปสู่ธุรกิจฟิล์มที่เคลือบหน้าจอแอลซีดี ซึ่งทำให้สามารถมองภาพจากด้านข้างได้ จากนั้นก็ขยายเข้าไปสู่ Medical Imaging equipment business โดยเข้าไปซื้อบริษัทหลายบริษัทที่อยู่ในเซ็กเตอร์นี้

การอยู่รอดของฟูจิคือการมองการณ์ไกล และสำนึกแห่งความเร่งรีบของผู้นำองค์กร ที่เมื่อเห็นภัยอันตรายจาก Disruptive Technology แล้ว ก็ไม่อยู่นิ่งเฉย เปลี่ยนวิสัยทัศน์และ กลยุทธ์องค์กรอย่างรีบด่วน

ขณะที่โกดักปรับตัวช้าเกินไป และอ่านสถานการณ์ไม่ขาด ยังคิดว่่าฟิล์มยังคงอยู่ได้อีกระ ยะหนึ่ง การขยายตัวไปสู่ธุรกิจช้าและไม่ประสบความสำเร็จ

และทั้งๆ ที่โกดักเป็นผู้ประดิษฐ์กล้องดิจิตอลเป็นรายแรก กลับไม่เอาจริงเอาจังกับ มันเท่าที่ควร เพราะกลัวว่าดิจิตอลจะมากินเนื้อฟิล์มซึ่งเป็นธุรกิจหลักที่ทำรายได้ดี

แต่สุดท้ายมันก็เข้ามากินจริงๆ ผลก็คือต้องล้มละลาย

 

 

คัดลอกจากเฟสบุ๊คของ คุณพิชาญ พงษ์พิทักษ์

 

21 กรกฎาคม 2558

 

แก้ไขล่าสุด ใน วันอังคารที่ 21 กรกฏาคม 2015 เวลา 06:32 น.
 

ขอบฟ้าใหม่ในเรื่องความรู้ : 8. แนวทางจัดการความรู้แนวทางใหม่ๆ.

พิมพ์ PDF

พลังของ โซเชี่ยล มีเดีย ได้เปลี่ยนจุดเน้นของ KM จากการจัดเก็บและจัดการเนื้อความรู้ (content) สู่เน้นการเชื่อมโยงพนักงาน

8. แนวทางจัดการความรู้แนวทางใหม่ๆ

บันทึกชุด “ขอบฟ้าใหม่ในเรื่องความรู้” นี้ ถอดความจากหนังสือชื่อ The New Edge in Knowledge เขียนโดย Carla O’Dell & Cindy Hubert แห่ง APQC (American Productivity and Quality Center) ให้มุมมองต่อ KM สมัยใหม่ มีประเด็นทั้ง เชิงทฤษฎีและเชิงปฏิบัติ สอดคล้องกับยุคสมัยอย่างยิ่ง

บันทึกตอนที่ ๘ นี้ มาจากบทที่ 6 Emerging Knowledge Management Approaches

สรุปได้ว่า ในยุคดิจิตัล / ยุคไซเบอร์ / ยุคโซเชี่ยล มีเดีย นี้ มีช่องทางจัดการความรู้แนวทางใหม่ๆ ที่สะดวก และทรงพลังมากมาย ในสภาพที่ connectivity ด้านเทคโนโลยีสะดวกเช่นนี้ การเคลื่อนย้ายความรู้ แม้จะสำคัญ แต่การเชื่อมโยง (connect) คน สำคัญกว่า และจะนำไปสู่การไหลของความรู้แบบไม่รู้ตัว ไม่เป็นภาระ และอาจเจือปนความสนุก โดยที่ต้องมีการวางระบบให้เกิดการเชื่อมโยงระหว่างคนได้ง่าย แล้วมีระบบของเทคโนโลยีให้ความรู้ไหลสู่ระบบจัดเก็บ จัดหมวดหมู่ ตีความหมาย และกลายเป็นส่วน ของความรู้ในองค์กร ที่ง่ายต่อการค้นไปใช้ ณ จุดและเวลาที่ต้องการ

แนวทางจัดการความรู้แนวทางใหม่ๆ เน้นที่ ไอที ทั้งสิ้น เกิดขึ้นจากความก้าวหน้าของ ไอที ในยุค IT 2.0 เน้นการเอาชนะสารสนเทศล้นเกิน โดยสรุปประเด็นความรู้เป็นข้อความสั้นๆ ส่งไปให้พนักงาน

เครื่องมือยุค 2.0

  • บล็อก (blog) ย่อมาจากคำ web log เป็นการเขียนบันทึก หรือไดอารี่ ออนไลน์ นั่นเอง
  • Collaboration tool ที่ใช้กันมากที่สุดคือ Microsoft SharePoint
  • Expertise location เป็นเครื่องมือบูรณาการคน, กระบวนการ, เทคโนโลยี, และเนื้อความรู้ เพื่อเชื่อมโยงคนกับสารสนเทศเกี่ยวกับคนอื่นๆ หาคนที่มีทักษะและเชื่อมไปสู่คนที่มีคำถาม หรือต้องการความรู้ รวมทั้งช่วยหาตัวคนที่เหมาะสำหรับไปทำงานในโครงการที่ต้องการ ทักษะนั้นๆ
  • Mashup เป็นเครื่องมือรวมข้อมูลจาก ๒ แหล่ง เพื่อจัดทำเป็นแหล่งเนื้อความรู้ใหม่
  • Microblog เป็นเครื่องมือเผยแพร่ข้อมูลสั้นๆ เช่น Twitter
  • Podcast เป็นคลิปเสียงหรือ วีดิทัศน์ ที่สามารถ ดาวน์โหลดลงคอมพิวเตอร์ หรือสมาร์ทโฟนได้
  • RSS (Really Simple Syndication) ช่วยให้คนบอกรับข่าวสาร ออนไลน์ ได้
  • Social bookmarking, folksonomy, และ collaborative tagging เป็นเครื่องมือแลกเปลี่ยน สารสนเทศ ที่อยู่ใน เว็บ
  • Social Networking ที่รู้จักกันดีที่สุดคือ FaceBook (และ Line)
  • Virtual space พื้นที่เสมือนสำหรับการเรียนรู้
  • Wiki เป็นระบบสำหรับแลกเปลี่ยนเนื้อความรู้ แก้ไข และตีพิมพ์เผยแพร่

พลังของ Social Computing

เครื่องมือกลุ่มนี้ในชั้นแนวหน้าได้แก่ FaceBook, Line, Twitter, เป็นต้น ได้ช่วยเปิดโอกาสให้พนักงาน เปลี่ยนจากผู้บริโภคความรู้ มาเป็นผู้สร้างและเผยแพร่ความรู้ ด้วยกลไกปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงานผ่าน โซเชี่ยล มีเดีย ทำให้เกิด “ประชาธิปไตยด้านความรู้” คือเกิดพลังของความสัมพันธ์แนวราบ (ในด้านความรู้) ขึ้นมาตีคู่กับความสัมพันธ์แนวดิ่ง

พลังของ โซเชี่ยล มีเดีย ได้เปลี่ยนจุดเน้นของ KM จากการจัดเก็บและจัดการเนื้อความรู้ (content) สู่เน้นการเชื่อมโยงพนักงาน

โอกาสใหม่ๆ ต่อ KM ที่มาจาก โซเชี่ยล มีเดีย ได้แก่

  • เชื่อมโยงพนักงานที่ทำงานคล้ายกัน หรือมีความสนใจร่วมกัน
  • ลดเวลาที่ใช้ในการตีพิมพ์เผยแพร่ความรู้
  • เพิ่มจำนวน “ผู้เผยแพร่” และ “ผู้ใช้” ความรู้ ภายในองค์กร
  • สาระความรู้ มีลักษณะ “ขับเคลื่อนโดยผู้ใช้” (user-driven) มากขึ้น ลดภาระของ “ผู้จัดการสาระความรู้” (content manager) หรือเปิดโอกาสให้ผู้จัดการสาระความรู้ ทำงานที่ซับซ้อนและมีคุณค่ายิ่งขึ้น
  • ลดความจำเป็นที่จะต้องคิดโครงสร้าง taxonomy ที่ซับซ้อนยุ่งยาก
  • ช่วยยกระดับความรู้ ผ่าน feedback
  • ใส่สาระความรู้ได้ง่าย
  • พนักงานมีอำนาจเหนือเครื่องมือ ในการใช้เครื่องมือ และในการใส่สาระความรู้
  • ใช้ง่ายและสนุก

ตรงนี้ผมขอตั้งข้อสังเกตต่อ KM ในบริบทสังคมไทย ว่าผมเห็นด้วยกับ ดร. ประพนธ์ ผาสุขยืด ใน บันทึกนี้ ว่าสิ่งสำคัญที่เราขาด ทำให้ KM ไม่มีพลัง คือ 3I (Inspiration, Imagination, Innovation) KM ในสังคมไทยยุคนี้ น่าจะมุ่งใช้พลังของ โซเชี่ยล มีเดีย เพื่อปลุกพลัง 3I นี้

มิติใหม่ๆ ของสารสนเทศ

เมื่อเริ่มมี KM กิจกรรมนี้ได้เปลี่ยนโลกทัศน์ของมนุษย์ต่องาน (ว่างานเป็นแหล่งสร้างสรรค์ปัญญา ทั้งขององค์กรและของพนักงาน) ในยุคสารสนเทศ 2.0 พนักงานจะยิ่งเปลี่ยนโลกทัศน์ว่าด้วยพลังของการเคลื่อน ย้าย ขุมความรู้ (Knowledge Assets) ภายในองค์กร (เชื่อมกับภายนอกองค์กร) ในแนวทางใหม่ๆ

พลังของปฏิสัมพันธ์ทางสังคม จะนำไปสู่ “ความรู้เพื่อการปฏิบัติ” (actionable knowledge) ใหม่ๆ

มิติใหม่ๆ ของสารสนเทศได้แก่

  • สาระในสารสนเทศ
  • สารสนเทศเกี่ยวกับสารสนเทศ เช่น ผู้เขียน วันที่ ฉลาก (tag), metadata, คนที่เคยนำไปใช้, ฯลฯ ที่เพิ่มข้อมูลเกี่ยวกับบริบทเข้าไป
  • สารสนเทศ ว่ามีสารสนเทศนั้นอยู่ เพื่อทำให้ผู้ใช้ค้นหาได้ง่าย โดยเฉพาะโดยการค้นผ่าน สมาร์ทโฟน
  • มิติด้านสังคมของสารสนเทศ เช่น ความพึงพอใจของพนักงานต่อเนื้อหา การที่มีคนเข้ามาใช้ แล้วทำ tagging, bookmarking, rating, recommending, commenting, editing, reviewing, downloading และ forwarding

ความตระหนักในมิติใหม่ๆ เหล่านี้ และที่จะค้นพบในอนาคต จะช่วยให้สามารถพัฒนาระบบสารสนเทศ ที่พร้อมใช้ และรบกวนการทำงานน้อยที่สุด

ศูนย์กลางดิจิตัล (The Digital Hub)

อาจเรียกว่า Digital KM Hub เป็นศูนย์กลางความรู้แจ้งชัด (explicit knowledge) ที่พนักงานสามารถ เข้าถึงได้ด้วยตนเอง เมื่อต้องการ เป็น one-stop service ที่เข้าถึงง่าย และได้ความรู้ตรงตามความต้องการ ให้บริการ ๒๔ ชั่วโมงในหนึ่งวัน และ ๗ วันในหนึ่งสัปดาห์ พนักงานสามารถเข้าถึงความรู้ที่ต้องการใช้ทำงาน ได้ตลอดเวลา และค้นจากที่ไหนก็ได้ เครื่องมือเหล่านี้ได้แก่ portals, search engines, directories, databases

นอกจากนั้น ยังเป็นจุดศูนย์กลางของการแลกเปลี่ยนความรู้ แนวความคิด และประสบการณ์

ศูนย์กลางดิจิตัลที่ดี มีลักษณะ ๗ ประการ ต่อไปนี้

  1. พนักงานสามารถเข้าถึงแหล่งข้อมูล/ความรู้ ได้เมื่อต้องการใช้
  2. สามารถค้นหาความรู้ หรือตัวบุคคลที่มีความรู้ได้
  3. เทคโนโลยีสามารถช่วยให้ค้นหาความรู้ได้จากทุกแหล่ง ไม่ว่าจะอยู่ห่างไกลกันเพียงใด
  4. แนวทางดำเนินการที่ใช้ สามารถขยายขอบเขตได้ เช่นในบริษัทข้ามชาติ สามารถขยายไปทั่วโลกได้
  5. เทคโนโลยีที่ใช้ไม่รบกวนผู้ปฏิบัติงาน และพร้อมใช้
  6. สนองความต้องการของพนักงานทุกตำแหน่งหน้าที่
  7. สร้างและสนองวัฒนธรรมที่เปิดกว้างต่อการให้และการรับความรู้ (การแลกเปลี่ยนเรียนรู้) ในระหว่างปฏิบัติงานประจำวัน

เครื่องมือที่ใช้เป็นศูนย์กลางดิจิตัล

Wikis

วิกิเป็นเครื่องมือที่ทรงพลังมากในการสร้างองค์ความรู้ใหม่ จากความร่วมมือของสมาชิกในชุมชน และยังเป็นเครื่องมือ โอเพ็นซอร์ส อีกด้วย ยิ่งมีสาชิกเข้ามาใช้และปรับปรุงเนื้อความมากเท่าไร สาระความรู้ก็ยิ่งทรงพลัง หรือมีคุณภาพมากเพียงนั้น

ตัวอย่างการใช้ วิกิ ใน บริษัท Rockwell Collins Inc. ใช้พัฒนาคู่มือปฏิบัติงานโดยพนักงาน ที่ส่วนใหญ่เป็นวิศวกร พัฒนาฐานข้อมูล FAQ ที่มีข้อมูลตามคำศัพท์ให้ค้นได้ง่าย รวมทั้งสามารถติดต่อ ผู้เชี่ยวชาญในสาระแต่ละด้าน

บริษัท Siemens AG ใช้ วิกิ ในหลากหลายกิจกรรม เช่น ในการเขียนรายงานการประชุม, กำหนดวาระการประชุม, เอกสารเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์, รายงาน, และคำศัพท์ต่างๆ มีการใช้วิกิ ในกลุ่มปฏิบัติงานขนาดเล็ก ในหน่วยธุรกิจ และวิกิข้ามหน่วยธุรกิจ โดยมีทั้งหมด ๖๐ กลุ่มวิกิภายในองค์กร

บริษัท Accenture ประยุกต์ วิกิ เข้ากับ “ผู้ใช้” สาระความรู้ ให้ช่วยกันสร้างความรู้ สู่วิธีการที่แตกแขนงไปจากองค์ความรู้หลัก ทำให้วิธีการแก้ปัญหาที่กำลังเผชิญอยู่ มีหลากหลายแนวทาง

กระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐอเมริกา ใช้ วิกิ เพื่อสร้างความรู้ขององค์กร และเพื่อให้มีการ เขียนและแก้ไขข้อความจากหน่วยงานของกระทรวง ในส่วนต่างๆ ของโลก พนักงานทุกคนมีสิทธิเขียนบทความ ที่สอดคล้องกับความต้องการ หลังเหตุการณ์ 9/11 ชุมชนสืบราชการลับของสหรัฐอเมริกา ร่วมกันสร้าง Intellipedia เพื่อสร้างสารสนเทศราชการลับ

บริษัท Hewlett-Packard ใช้ วิกิ เพื่อสร้างความร่วมมือกว้างขวางภายในองค์กร และสร้างฐานข้อมูลของกลุ่ม

บริษัท เชลล์ ใช้ วิกิ สร้าง เอนไซโคลปิเดีย ที่มีรายละเอียดมาก ของบริษัท โดยรวบรวมความรู้ มาจากหลากหลายแหล่ง รวมทั้งจากโปรแกรมฝึกอบรมต่างๆ

แต่ ไม่ใช่ว่า วิกิ จะไร้ปัญหา เพราะพนักงานต้องการเวลาในการเขียนลง วิกิ และผู้เชี่ยวชาญ ยิ่งไม่มีเวลา นอกจากนั้น ผู้เชี่ยวชาญอาจไม่พอใจที่ข้อเขียนของตนถูกพนักงานใหม่แก้ไข และไม่ใช่ว่า ปัญญารวมหมู่ (collective wisdom) จะดีกว่าปัญญาของผู้เชี่ยวชาญจริงๆ

บล็อก

บล็อก เป็นเครื่องมือ โซเชี่ยล เน็ตเวิร์ค ที่สร้างปฏิสัมพันธ์และมีโอกาสได้รับ feedback จากผู้อ่าน มีพลังสูงในการประชาสัมพันธ์แนวความคิดของผู้บริหาร องค์กรต่างๆ ใช้ บล็อก ในกิจกรรม KM ดังต่อไปนี้

บริษัท เชลล์ มี บล็อกเก้อร์ ๔๑๕ คน ใช้การเขียน บล็อก ทดแทนการเขียนบันทึกสำหรับ ห้องปฏิบัติการ ทดแทนสมุดบันทึกในห้องปฏิบัติการไปเลย และใช้ บล็อก เป็นสมุดบันทึก อิเล็กทรอนิกส์ บันทึกทั้งการวางแผน และผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น เปิดโอกาสให้นักวิทยาศาสตร์นอกโครงการนั้น เข้ามาให้ความเห็น ต่อยอดความรู้

กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกา ให้ทูตและเจ้าหน้าที่สถานทูตทั่วโลกเขียน บล็อก และอ่าน บล็อก ซึ่งกันและกัน แล้วเข้า web chat เพื่ออภิปรายความรู้เหล่านั้น แผนกเศรษฐกิจ ของสถานทูตสหรัฐฯ ในอิสตันบูล ใช้ บล็อก เผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับเศรษฐกิจของประเทศเตอรกี ทดแทนการใช้ อีเมล์ มีประโยชน์ ในด้านที่สามารถนำไปเข้า archive ของกระทรวงได้เลย นอกจากนั้น ยังใช้ บล็อก แลกเปลี่ยนเรียนรู้ในกลุ่ม เจ้าหน้าที่ ไอที ของกระทรวง ใน ๔ ทวีป

อย่างไรก็ตาม ประโยชน์หลักของ บล็อก คือ เป็นเครื่องมือของผู้บริหารและพนักงาน ในการสื่อสาร ประเด็นสำคัญต่อชุมชนวงกว้างขององค์กร เพื่อรับฟัง feedback

Social Tagging & Book-marking

เป็นเครื่องมือให้พนักงานแลกเปลี่ยน ลิ้งค์ ไปยัง เว็บไซต์ และเนื้อหาความรู้ที่ตนคิดว่ามีประโยชน์ ต่อการทำงาน ช่วยให้เพื่อนพนักงานทราบว่ามีสารสนเทศเรื่องนั้นๆ อยู่ รวมทั้งทราบว่ามีคนจำนวนมาก แค่ไหนเห็นคุณค่า รวมทั้งบอกคุณค่าตามคำหลักที่ติดฉลากไว้ และมีการบอกน้ำหนักคุณค่าตามความถี่ ของการใช้งาน ตัวอย่างของการใช้งานโดยองค์กรต่างๆ ได้แก่

บริษัท MITRE ใช้เครื่องมือ Onomi ที่ปรับปรุงจาก delicious ในการแลกเปลี่ยนและจัดการ bookmark ส่วนตัวของพนักงาน ให้กลายเป็นความรู้ขององค์กร โดยมีกลไกจัดการต่อ bookmark โดยอาจ edit, delete, e-mail, หรือ search ได้ พนักงานอาจดูได้ว่า bookmark ใดมีคนเข้าไปอ่านมาก และสามารถเข้าไปอ่านประวัติ ของบุคคลที่เป็นเจ้าของ bookmark และจะมีรายการ bookmark ของบุคคลนั้นทั้งหมด และมีหมายเลขโทรศัพท์ สำหรับติดต่อ บุคลากรสามารถเข้าไปติด tag ที่บุคคลยอดนิยม ให้เตือนมายังตนเมื่อมี bookmark ใหม่ของบุคคลนั้น

บริษัท IBM Global Business Services จัดระบบ search โดยมี social tagging อยู่ด้วย ช่วยให้พนักงาน แต่ละคนมีระบบกรองข้อมูลเวลาค้น ให้ได้รับเฉพาะข้อมูลจากบุคคลและ site ที่ติดฉลากด้วย social tag เท่านั้น เท่ากับ ช่วยให้ได้รับข้อมูลที่จัดเฉพาะตัว พนักงานสามารถเข้าไปดูว่ามีใคร tag ตำแหน่งนั้นบ้าง และเข้าไปดู tag site ของเพื่อนพนักงานได้ รวมทั้งมี watch list ประจำวัน ว่าพนักงานที่เป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องต่างๆ tag อะไรบ้าง เท่ากับ social tagging และ RSS Feed ช่วยให้พนักงานได้รับ virtual apprenticeship จากผู้ชำนาญการ

Rating and Recommendations

ตัวอย่างของเครื่องมือ KM โดย rating ใช้ในเว็บไซต์ Amazon.com ที่ให้ผู้อ่านให้ เรทติ้งหนังสือที่ตนซื้อ หลังอ่านจบ บริษัท Accenture ให้พนักงานให้เรทติ้งแก่ไอเดียของเพื่อนพนักงาน เพื่อนำไอเดียที่ได้เรทติ้งสูง เสนอให้ผู้บริหารพิจารณา พบไอเดียดีๆ ที่นำมาใช้ปรับปรุงงานมากมาย โดยที่ต้องมีการจัดการให้มีคำแนะนำ บนเว็บไซต์ ให้พนักงานรู้สึกสบายใจที่จะเสนอไอเดีย

บริษัท IBM Global Business Services จัดระบบให้เอกสารสำคัญไปปรากฎบนจอคอมพิวเตอร์ ของพนักงาน เพื่อให้พนักงานให้ เรทติ้ง ในระดับ ๑ - ๕ และอาจให้ความเห็นเพิ่มเติมเป็น tag กลับไปได้ ความเห็นนี้จะเผยแพร่ไปยังพนักงานคนอื่นๆ ทันที มีการจัดเก็บเอกสารและเรทติ้งไว้ในระบบข้อมูลกลาง มีการเปรียบเทียบเรทติ้ง และจัดหมวดหมู่ข้อมูลความรู้ ถือเป็นปัญญารวมหมู่ (collective wisdom) ขององค์กร ช่วยให้พนักงานเลือกใช้ความรู้ที่มีคุณภาพสูง และกรองเอาความรู้ที่มีคุณภาพต่ำออกไป ระบบนี้มีจุดอ่อน ตรงที่ไม่เป็นความลับ พนักงานทุกคนรู้ว่าเพื่อนให้เรทติ้งอย่างไร ข้อมูลนี้อาจมีผลลบต่อความสัมพันธ์ระหว่าง เพื่อนพนักงาน และหากนำมาใช้ในสังคมไทยอาจมีการขอคะแนนกัน

เครื่องมือค้นแบบ บริการครบที่จุดเดียว (Federated Search Functions)

เป็นเครื่องมือช่วยลดภาระการค้นหาความรู้จากหลากหลายแหล่ง และลดภาระต่อข้อมูล มากมายสับสน เขาบอกว่า พลังของเครื่องมือชนิดนี้คือ findability (ส่วนให้มีพลังค้นหาความรู้ แหล่งความรู้ และบุคคลที่ต้องการ) โดยไม่ต้องไปค้นด้วยหลายเครื่องมือ ที่หลายแหล่ง

บริษัท MITRE มีเครื่องมือ Moogle (Google ฉบับของบริษัท MITRE) ช่วยให้พนักงานทุกคน สามารถเข้าถึง เนื้อหาความรู้, แหล่งทักษะหรือความชำนาญ, รายชื่อบุคคลใน forum, และตำแหน่งของ SharePoint site พนักงานทุกคนได้รับอนุญาตให้เข้าถึง SharePoint site ของทุก community เครื่องมือ Integrated Search ช่วยให้ดึงความรู้ที่ต้องการจากทุก site ได้โดยง่าย

บริษัท Shell ใช้เครื่องมือ Corporate Wiki ที่ภายในมีเครื่องมือค้นเพื่อให้บริการครบที่จุดเดียว บรรจุอยู่ แม้ Wiki จะเปิดให้พนักงานเข้าไปเติม แก้ไข delete และปรับปรุงข้อความ แต่บริษัทมีระบบรับผิดชอบ เติมเนื้อความรู้เข้าไปในคลังความรู้นี้ ทำให้เพียงร้อยละ ๒๐ ของเนื้อความรู้มาจากพนักงาน อีกร้อยละ ๘๐ มาจากการจัดการของบริษัท

บริษัท Accenture มีเครื่องมือให้พนักงานค้นความรู้ได้จากจุดเดียว โดยค้นความรู้ได้ ๒ แบบ คือความรู้เพื่อการทำงานโดยทั่วไป กับการค้นความรู้เชิงลึกที่อยู่ใน attachment ความรู้เหล่านี้ได้แก่ ความรู้เกี่ยวกับบริษัท, ความรู้ในการทำงาน, การฝึกอบรม, วิธีการ, ผู้เชี่ยวชาญ, การอภิปรายแลกเปลี่ยน, และความรู้จากภายนอก

RSS (Really Simple Syndication)

เป็นเครื่องมือช่วยแจ้งเตือนว่ามีการเพิ่มเติมหรือแก้ไขสาระที่อยู่ใน cyber space หรือมี post ใหม่ ใน site ภายใน หรือภายนอกองค์กร ดังตัวอย่าง Gotoknow มี RSS ช่วยแจ้งเจ้าของบันทึกเมื่อมีคนมากดไล้ค์ หรือมาเขียน comment

Microblogs

หมายถึงการสื่อสารสั้นๆ จาก ๑ คน ไปยังคนจำนวนมาก ตัวอย่างที่ใช้กันมากคือ Twitter เป็นเครื่องมือที่ทรงประสิทธิภาพในการขอคำแนะนำ, feedback, หรือช่วยเหลือ มีพลังมาก ในการสื่อสารภายในทีมทำ project และช่วยการติดตามการทำงานของสมาชิกในทีม รวมทั้งใช้นัดหมายการประชุม

องค์กรสามารถบันทึกข้อความสั้นๆ เหล่านี้ไว้ บริษัท MITRE มีเครื่องมือ TWITRE สำหรับใช้ในการทำงานและบริหารงาน ใช้ค้นหาคนที่มีทักษะที่ต้องการ ใช้บอกตำแหน่งที่ทำงานของพนักงาน และบอกให้รู้ว่าตนพร้อมร่วมกิจกรรมที่มีความต้องการตัวหรือไม่ เขาบอกว่ามีพลังมากในการนัดหมาย ใช้แทนปฏิทินนัดไปเลย

ผมคิดว่า เทคโนโลยี big data จะช่วยให้ทำ data mining ข้อมูลจาก ข้อความสั้นเหล่านี้ จัดทำเป็นคลังความรู้ขององค์กร อีกทางหนึ่งได้

สมาร์ทโฟน (Mobile Devices)

สมาร์ทโฟน ช่วยให้พนักงานเข้าถึงความรู้ที่ต้องการได้ ณ เวลาที่ตนต้องการความรู้ (teachable moment) ไม่ว่าพนักงานจะทำงานอยู่ที่ใด และช่วยให้องค์กรติดต่อหรือสนองตอบพนักงาน องค์กรสามารถเพิ่มพลัง ของเครื่องมือนี้ ได้โดยทำให้ความรู้อยู่ในสภาพที่เมื่อปรากฎบนจอขนาดเล็ก พนักงานก็รับการสื่อสารได้ง่าย รวมทั้งต้องจัดการให้ระบบ firewall ของไอที อำนวยความสะดวกต่อ สมาร์ทโฟนของพนักงาน

ผู้เขียนหนังสือแนะนำว่า การใช้ สมาร์ทโฟน เหมาะสำหรับแจ้งข้อความสั้นๆ บอก site ของความรู้ที่ต้องการ รับส่งอีเมล์ แต่ไม่เหมาะสำหรับการส่งข้อความยาวๆ ซึ่งคำแนะนำนี้อาจล้าสมัยไปแล้ว เพราะหนังสือเล่มนี้ออกวางตลาดปี ค.ศ. 2011 ซึ่งหมายความว่าสาระในหนังสือเขียนตามความเป็นจริงเมื่อราวๆ ค.ศ. 2009 คือ ๖ ปีมาแล้ว ในช่วงเวลาดังกล่าว mobile devices (tablets, smart phones) ก้าวหน้าขึ้นอย่างมากมาย

เนื่องจากสาระในหนังสือบทที่ ๖ นี้ค่อนข้างยาว และผมตั้งใจตีความลงรายละเอียด จึงทำให้จำเป็น ต้องแบ่งเนื้อสาระเรื่องวิธีการจัดการความรู้แนวทางใหม่ๆ ไปตอนที่ ๙ อีกตอนหนึ่ง

วิจารณ์ พานิช

๒๗ มิ.ย. ๕๘

บนเครื่องบินกลับจากเชียงใหม่สู่ดอนเมือง

บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย 

คัดลอกจาก : https://www.gotoknow.org/posts/592662

แก้ไขล่าสุด ใน วันอังคารที่ 21 กรกฏาคม 2015 เวลา 20:52 น.
 

สมองวัยรุ่นอันสุดวิเศษ

พิมพ์ PDF

บทความใน Scientific American เดือนพฤษภาคม ๒๕๕๘ เรื่อง The Amazing Teen Brain บอกความมหัศจรรย์ของสมองวัยรุ่น ว่าเป็นสมองที่สุดยอดยืดหยุ่น เพื่อการเจริญเติบโตและเรียนรู้ แม้จะยังอ่อนแอด้านความรอบคอบใคร่ครวญ เพราะนั่นคือสิ่งที่เป็นไปตามธรรมชาติ

คุณสมบัติความยืดหยุ่นปรับตัวได้ดีของสมอง เรียกว่า brain plasticity เกิดจากความสามารถ ในการย้าย หรือเปลี่ยนแปลง การเชื่อมต่อใยประสาทระหว่างส่วนของสมองต่างพื้นที่ เป็นคุณสมบัติที่สมองวัยรุ่นมีสูงสุด มีคุณอนันต์ต่อชีวิตวัยรุ่น ที่จะเรียนรู้และปรับตัวต่อสิ่งแวดล้อมภายนอก ทำให้วัยรุ่นมีความสามารถในการ ปรับตัวสูงมาก แต่ก็มีอันตรายตรงที่ทำให้วัยรุ่นเสี่ยงต่อพฤติกรรมไม่พึงประสงค์ และเสี่ยงต่อโรคจิต

ผลการวิจัยที่เพิ่งค้นพบบอกว่า ความเสี่ยงนี้เกิดจากความไม่สอดคล้องพอดีกัน ระหว่างพัฒนาการของ การเชื่อมต่อเครือข่ายใยประสาทในสมองส่วน limbic กับพัฒนาการของการเชื่อมต่อใยประสาทของสมอง ส่วนหน้า

สมองส่วน ลิมบิก ทำหน้าที่กระตุ้นอารมณ์พลุ่งพล่าน ในขณะที่สมองส่วนหน้า (prefrontal cortex) ทำหน้าที่ควบคุม อารมณ์ ให้มีความรอบคอบ การเชื่อมต่อใยประสาทของสมองส่วน ลิมบิก พัฒนาเต็มที่ใน ช่วงวัยรุ่น แต่ในวัยรุ่นการเชื่อมต่อใยประสาทของสมองส่วนหน้ายังพัฒนาไม่เต็มที่ จะไปพัฒนาเต็มที่เอาเมื่อ อายุประมาณ ๒๕ ปี ดังนั้น ชีวิตมนุษย์ในช่วงวัยรุ่นจึงเป็นช่วงของความไม่สมดุลระหว่างสมองส่วน ลิมบิก กับสมองส่วนหน้า เป็นช่วงชีวิตที่มนุษย์เสี่ยงต่อการตัดสินใจหรือพฤติกรรมแบบหุนหันพลันแล่นที่สุด ผมรู้ตัวดีว่าในช่วงนั้นผมเคยผิดพลาดมาอย่างไร

บทความย้ำว่า ในช่วงวัยรุ่น ขนาดของสมองทั้งส่วน ลิมบิก และสมองส่วนหน้าไม่ได้เปลี่ยนแปลงแบบ โตหรือขยายขึ้น แต่เปลี่ยนแปลงที่การเชื่อมต่อใยประสาท (wiring)

พลังเชื่อมต่อ (connectivity) ของสมองของผู้ใหญ่เพิ่มมากกว่าของเด็กถึง ๓,๐๐๐ เท่า จากพัฒนาการ ของปลอกประสาท (myelinization) ซึ่งเป็นส่วนของสมองที่มีสีขาว (white matter) การศึกษาพลังเชื่อมต่อ ของส่วนต่างๆ ของสมองโดยใช้ MRI บอกว่า พลังเชื่อมต่อบรรลุวุฒิภาวะสูงสุดเมื่ออายุใกล้ๆ ๒๙ ปี

สมองมีพลังสูงมาก เพราะมันสามารถ "กำจัดขยะ" (pruning) ได้ตลอดเวลา โดยกำจัดเซลล์สมอง ส่วนที่ไม่ได้ใช้หรือใช้น้อยออกไป เหลือพื้นที่ (ซึ่งมีจำกัด) ในสมองให้แก่เซลล์สมองส่วนที่ใช้บ่อย กระบวนการ pruning นี้เกิดขึ้นอย่างขมักเขม้นที่สุดในช่วงวัยรุ่น ส่วนของเซลล์สมองนี้รวมกันเรียกว่าสมองสีเทา (grey matter) ส่วนสมองสีเทานี้ขยายตัวมากในวัยเด็ก และโตเต็มที่เมื่ออายุ ๑๐ ปี หลังจากนั้นจะหดตัวลง แต่ที่ สมองส่วนหน้า (prefrontal cortex) สมองสีเทาจะเติบโตเต็มที่เมื่ออายุ ๒๕ - ๒๙ ปี สมองส่วนนี้ทำหน้าที่ EF

สมองส่วนอารมณ์ (ลิมบิก) ขยายตัวครั้งใหญ่ตอนเริ่มหนุ่มสาว (puberty) อายุ ๑๐ - ๑๒ เมื่ออายุ ๑๕ ก็พัฒนาเต็มที่ แต่สมองส่วนสติ (สมองส่วนหน้า) พัฒนาช้ากว่า พัฒนาเต็มที่อย่างเร็วก็อายุ ๒๕ นี่เป็น "ความไม่สอดคล้อง" (mismatch) ด้านชีววิทยา

ในด้านสังคม มนุษย์เราพัฒนาวุฒิภาวะเต็มที่เมื่อตั้งครอบครัวมีลูก ซึ่งเวลานี้เกิดช้ากว่าสมัย ๔๐ ปีก่อน เป็นเวลา ๕ ปี คือน่าจะอยู่ที่อายุ ๓๐ เวลาของ ความไม่สอดคล้อง ในการพัฒนาของสมองสองส่วนจึงเพิ่มขึ้น จาก ๑๐ ปี เป็น ๑๕ ปี

นี่คือธรรมชาติของมนุษย์ ที่ไม่มีใครหลีกเลี่ยงได้

ช่วงเวลาดังกล่าว มองว่าเป็นช่วงของความอ่อนแอ (vulnerability) ก็ได้ หรือจะมองมุมกลับ ว่าเป็นหน้าต่างแห่งโอกาสพัฒนาได้ก้าวกระโดด (opportunity) ก็ได้

ผมคิดต่อ ว่าการศึกษาที่สอดคล้องกับชีวิตในศตวรรษที่ ๒๑ จะส่งเสริมให้เยาวชนพัฒนาตัวตน และรู้จักตนเอง เกิด "พลังคลั่งไคล้" (passion) ต่อกิจกรรมสร้างสรรค์ที่ตนรักและถนัด พัฒนาความริเริ่ม สร้างสรรค์ ทักษะในการเรียนรู้จากการปฏิบัติหรือสภาพชีวิตจริง และความเป็นผู้สร้างการเปลี่ยนแปลง ที่จะเป็นคุณไปตลอดชีวิต ช่วงเวลา ๑๕ ปีนี้ เป็นช่วงโอกาสที่จะพัฒนา ความเป็นเลิศ หรือความสร้างสรรค์ ที่พิเศษไปจากความสำเร็จธรรมดาๆ

แต่ในช่วงชีวิตดังกล่าว ก็เป็นช่วงที่คนเราหลุดเข้าไปสู่อบายมุขได้ง่ายที่สุด สาเหตุการตายอันดับ ๑ - ๓ ของชีวิตช่วงนี้คือ อุบัติเหตุจราจร ถูกฆ่า และฆ่าตัวตาย ปัญหาอย่างอื่นคือ ติดยา ตั้งครรภ์วัยรุ่น และประกอบอาชญากรรม ซึ่งผมเชื่อว่าปัญหาเหล่านี้ลดลงได้มากมายจากการศึกษาที่ถูกต้อง

ความรู้เกี่ยวกับสมองวัยรุ่นที่ก้าวหน้าอย่างมากมาย เอามาใช้ทำความเข้าใจกับพ่อแม่ผู้ปกครอง ครู นักจิตวิทยา นักแนะแนว ให้เข้าใจวัยรุ่นมากขึ้น รู้จักจังหวะที่จะต้องอดทนต่อบางพฤติกรรม และรู้วิธีให้สติ การนำธรรมชาติของสมองช่วงนี้มาทำความเข้าใจกับตัววัยรุ่นเอง ก็จะช่วยให้เขาเผชิญมรสุมสมองวัยรุ่นได้ดีขึ้น

มองจากมุมของวิวัฒนาการในชีวิตมนุษย์ สมองที่ยืดหยุ่นของมนุษย์นี่แหละ ที่ช่วยให้มนุษย์ปรับตัว อยู่ได้ทุกที่ในโลก ปรับวิถีชีวิตเข้ากับเทคโนโลยีใหม่ๆ เช่นยุคหนังสือในช่วง ๕๐๐ ปี และในช่วง ๒๐ ปีที่ผ่านมา ปรับตัวเข้ากับยุคดิจิตัล

สมองวัยรุ่นสุดวิเศษด้านศักยภาพ แต่ก็เป็นจุดอ่อนให้แก่ทางอบายด้วย


วิจารณ์ พานิช

๑๙ มิ.ย. ๕๘

บนรถยนต์ ระหว่างเดินทางไปงานสัมมนายุทธศาสตร์ของมหาวิทยาลัยมหิดล ที่เพชรบุรี


บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย 

คัดลอกจาก: https://www.gotoknow.org/posts/592468

แก้ไขล่าสุด ใน วันศุกร์ที่ 17 กรกฏาคม 2015 เวลา 23:32 น.
 


หน้า 294 จาก 561
Home

About Us

ศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ (ศบม.) เป็นองค์กรที่พัฒนาและจัดทำโครงการเพื่อทำประโยชน์ให้สังคม เป็นองค์กรสนับสนุนการดำเนินงานของภาครัฐ ช่วยแก้ปัญหาผู้ประกอบการภาคธุรกิจบริการที่ขาดแคลนบุคลากรที่มีมาตรฐานในการให้บริการ
อ่านเพิ่มเติม

มูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ ์

 iHDC Profile
บัญชีรายชื่อกรรมการ
ใบสำคัญแสดงการจดทะเบียน การเปลี่ยนแปลงกรรมการของมูลนิธิ
เอกสารประชาสัมพันธ์ โครงการ HMTC.pdf
เอกสารแนะนำโครงการ HMTC 1.pdf
เอกสารโครงการ HMTC 2 คุณสมบัติผู้เข้าร่วมโครงการ.pdf
iHDC นิติบุคคล.pdf
iHDC บุคคล.pdf
iHDC บุคคลเครือข่าย.pdf
รายงานการประชุม 6 มีนาคม 2560.pdf
ข้อบังคับมูลนิธิ
ใบสำคัญแสดงการจดทะเบียนจัดตั้งมูลนิธิ
Ihdc-Profile and Roadmap 2016-2019 Mar 23 2560.pdf
รายงานการประชุมใหญ่คณะกรรมการมูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ 2559.pdf
คำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ สาขาวิชาชีพ.pdf
รายงานการประชุมใหญ่วันที่ 18 ธ ค 2558 v 3.pdf
รายงานการประชุม วันที่ 24 ธันวาคม 2557 updated 4 มีนาคม 2558.pdf
iHDC-invitation Letter.doc
iHDC-Member Form Thai.doc
iHDC-Member Form English.doc
รายงานการประชุมกรรมการมูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ วันที่ 15 มกราคม 2556 ฉบับสมบูรณ์


thaibetter
พัฒนาประเทศไทยแบบทวีคูณ และยั่งยืน ( ททค )

Login


แบบสำรวจ

สถิติเว็บไซด์

สมาชิก : 5644
Content : 3068
เว็บลิงก์ : 26
จำนวนครั้งเปิดดูบทความ : 8747899

facebook

Twitter


ล่าสุด

บทความเก่า