Thaiihdc.org

  • เพิ่มขนาดตัวอักษร
  • ขนาดตัวอักษรปกติ
  • สดขนาดตัวอักษร
Thaiihdc.org

ขอบฟ้าใหม่ในเรื่องความรู้ : 7. แนวทางจัดการความรู้ที่พิสูจน์แล้วว่าได้ผลดี.

พิมพ์ PDF

KM เป็นกิจกรรมที่มีความเลื่อนไหล (dynamic) ไม่คงที่ (static) ต้องจัดให้มีการปรับตัวตามพลวัต วัฒนธรรมในองค์กร เช่นการเปลี่ยนแปลงด้าน ไอที ต้องสามารถใช้พัฒนาการของ ไอที ทำให้กระบวนการ KM ง่ายและมีประสิทธิผลสูงขึ้น

7. แนวทางจัดการความรู้ที่พิสูจน์แล้วว่าได้ผลดี

บันทึกชุด “ขอบฟ้าใหม่ในเรื่องความรู้” นี้ ถอดความจากหนังสือชื่อ The New Edge in Knowledge เขียนโดย Carla O’Dell & Cindy Hubert แห่ง APQC (American Productivity and Quality Center) ให้มุมมองต่อ KM สมัยใหม่ มีประเด็นทั้ง เชิงทฤษฎีและเชิงปฏิบัติ สอดคล้องกับยุคสมัยอย่างยิ่ง

บันทึกตอนที่ ๗ นี้ มาจากบทที่ 5 Proven Knowledge Management Approaches

สรุปได้ว่า แนวทางดำเนินการ KM ที่ใช้ได้ผลดีอย่างแพร่หลายมี ๓ แนวทาง คือ COP, Lessons Learned, และ Best Practices Transfer แต่ละแนวทางต้องการการจัดการที่เหมาะสม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การจัดการอย่างเป็นระบบ

แนวทางจัดการความรู้ที่เสนอในบทนี้มี ๓ แนวทางคือ แนวทาง COP, แนวทาง AAR และแนวทาง Peer Assist โดยอาจใช้ชื่อเรียกแตกต่างกับที่วงการ KM ของไทยเราคุ้นเคย ผู้เขียนให้รายละเอียดวิธีดำเนินการ แต่ละแนวทางอย่างน่าประทับใจ

แนวทาง Communities of Practice (COP)

COP เป็นแนวทางหรือเครื่องมือสำคัญที่สุดของ KM ช่วยให้พนักงานเชื่อมโยงกัน และได้คำตอบ ต่อปัญหาที่ตนต้องการ ณ เวลาที่ต้องการคำตอบ, จัดเก็บเนื้อความรู้ (content) ที่มีความสำคัญต่อสมาชิก, จัดเก็บความรู้ไว้ในองค์กรเมื่อสมาชิกออกไป, และทำให้เนื้อหาความรู้สดใหม่โดยการตรวจจับความรู้ จากการเสวนา

คุณค่าของ COP ต่อองค์กร ได้แก่

  • เป็นวิธีการเปลี่ยนความรู้ของคนบางกลุ่ม ให้เป็นความรู้ที่รู้กันทั่วไปในองค์กร
  • ช่วยให้พนักงานแลกเปลี่ยนแนวความคิด ร่วมมือ และเรียนจากกันและกัน
  • เอาชนะพรมแดนของ work flow, หน้าที่, ภูมิศาสตร์ และเวลา
  • ช่วยให้เป็นผู้นำในตลาด โดยมีความเร็ว และนวัตกรรม
  • ช่วยเชื่อมโยงงานหลักและห่วงโซ่คุณค่าขององค์กร
  • ช่วยสร้างความสอดคล้องกับโครงสร้างการกำกับดูแลองค์กรอย่างเป็นทางการ
  • ช่วยให้ค้นพบ best practices

คุณค่าของ COP ต่อพนักงานระดับบุคคลได้แก่ สร้างวงสังคมที่เป็นกำลังใจ และช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ทำให้งานสนุกตื่นเต้น และมีการตรวจสอบความถูกต้องของตนเองอยู่ตลอดเวลา นอกจากนั้น ความรู้สึกเป็น ส่วนหนึ่งของชุมชนเพื่อนร่วมงาน มีความหมายมากต่อชีวิตการทำงาน

ลักษณะ ๑๐ ประการของ COP ที่ประสบความสำเร็จได้แก่

  • คุณค่าที่ชัดเจนและดึงดูดใจสมาชิก
  • มี “คุณอำนวย” และ “คุณเอื้อ” ที่เก่งและเอาจริงเอาจัง
  • การมี knowledge map ที่ครบถ้วนชัดเจนสำหรับความรู้ที่สำคัญของกลุ่ม
  • กระบวนการแลกเปลี่ยนความรู้ที่ระบุชัดเจน และดำเนินการได้ง่าย
  • เทคโนโลยีอำนวยความสะดวกที่ใช้ง่ายถูกใจสมาชิก และเอื้อต่อการแลกเปลี่ยนและ จัดเก็บความรู้ รวมทั้งเอื้อให้เกิดความร่วมมือกัน
  • มีการฝึกและสื่อสารระหว่างสมาชิก และผู้เกี่ยวข้อง
  • มีรายชื่อสมาชิกที่ครบถ้วน ถูกต้อง ทันสมัย
  • มีตัววัดความก้าวหน้าและความสำเร็จ เพื่อให้เห็นผลที่เป็นรูปธรรม
  • แผนดำเนินการเพื่อแสดงความชื่นชมยอมรับนับถือต่อสมาชิก
  • มีประเด็นที่เน้นจริงจังในช่วงเดือนแรก และช่วง ๓ เดือน และ ๖ เดือนต่อมา

ผู้เขียนนำวิธีการจัดการ COP ของบริษัทอเมริกันที่เป็นกรณีศึกษามาเสนอ คือของบริษัท ConocoPhillips, Fluor, และ Schlumberger โดยมีวิธีจัดการที่น่าสนใจคือ

  • การจัดให้มี Knowledge Sharing Team (คล้ายๆ ทีม “คุณอำนวย") จากส่วนต่างๆ ของบริษัท และมี team of leaders (คล้ายๆ ทีม “คุณเอื้อ”) จากทั่วบริษัททำหน้าที่กำหนดทิศทางและ ยุทธศาสตร์ของเครือข่าย
  • การจัดให้มีการเลือกตั้งหัวหน้า COP โดยเจ้าตัวต้องสมัคร (เพื่อแสดงความพร้อมใจ) และมีคนลงชื่อรับรองการสมัคร โดยที่การทำหน้าที่หัวหน้า COP ถือเป็นส่วนหนึ่งของ การปฏิบัติงานขององค์กร และได้รับการยอมรับจากหัวหน้างาน ทำให้กิจกรรม COP คึกคัก หนังสือบอกว่า กิจกรรมนี้มีประโยชน์ ๓ ประการ (๑) สร้างความสนใจและมีส่วนร่วม ของสมาชิก (๒) ช่วยให้ผู้บริหารหรือหัวหน้างานมีส่วนร่วมใน COP เพราะก่อนสมัคร พนักงานต้องขอความเห็นชอบจากหัวหน้างานเสียก่อน (๓) ความคึกคักในการสมัคร และเลือกตั้ง เป็นดัชนีบอก “สุขภาวะ” ของ COP
  • มีการจัดระบบการลงทะเบียน success story จาก COP มีการนำเสนอทั้งวิธีบรรลุผล และคุณค่า/ผลกระทบต่อองค์กรทั้งในด้านการเงิน และด้านอื่น แล้วมีทีมตรวจสอบ ก่อนลงทะเบียน ให้สมาชิกขององค์กรเข้าไปเรียนรู้ได้ และมีการรวบรวมว่าแต่ละ COP ได้สร้างคุณค่า ต่อองค์กรอย่างไรบ้าง
  • จับคู่พนักงานผู้น้อยที่หน่วยก้านดี กับพนักงานระดับกลางหรือระดับผู้ใหญ่ ให้ร่วมกันทำ หน้าที่ผู้นำ/ผู้ส่งเสริม COP ให้พนักงานผู้น้อยทำงานสร้างความคึกคักของ COP ภายใต้คำแนะนำหรือ mentoring ของพนักงานผู้ใหญ่ ตัวอย่างของงานดังกล่าว ได้แก่ ร่วมคิดโครงการและกำหนดเทคนิคการทำงานที่มีความสำคัญสำหรับจัดให้มีการแลกเปลี่ยน เรียนรู้ใน COP, พัฒนาความรู้ใหม่สำหรับปิดช่องว่างของความรู้หลักในการทำงาน, ทบทวน ความรู้ด้านกระบวนการทำงานที่มีอยู่แล้ว, ช่วยตอบคำถามในเวทีสนทนา, เป็นต้น พบว่านี่คือวิธีพัฒนาพนักงานเด่นที่ดีมาก ช่วยให้คนเก่งเติบโตได้อย่างรวดเร็ว

ต้องมีการกำหนดไว้อย่างชัดเจนว่า หัวหน้าหรือประธาน COP แต่ละ COP ทำหน้าที่และมีความรับผิดชอบอะไรบ้าง และเปิดเผยให้รับรู้ทั่วองค์กร การทำหน้าที่ หัวหน้า/ประธาน COP ถือเป็นการปฏิบัติงานของหน่วยงาน/องค์กร

ผู้เขียนได้ทำงานวิจัยให้แก่ APQC และพบปัจจัยสำคัญต่อความสำเร็จของ COP รวม ๑๐ ประการ ดังต่อไปนี้

  • สร้างระบบ COP ที่ครอบคลุมทั้งองค์กร โดยพัฒนาจาก COP ที่มีความสำเร็จอยู่แล้ว
  • ทำให้ COP สนองเป้าหมายสำคัญขององค์กร แยกแยะ COP ออกจากทีมแก้ไขปัญหา ระยะสั้น และแยกแยะจากการมีคลังความรู้ให้ค้นหาเองได้ผ่านระบบไอทีขององค์กร นั่นคือ เว็บไซต์ของ COP ภายในองค์กร ต้อง “มีชีวิต” และ “มีชีวิตชีวา” จากการดำเนินการ ของ “คุณเอื้อ” และ “คุณอำนวย”
  • ได้รับการสนับสนุนต่อเนื่องจากผู้บริหารระดับกลาง, ผู้บริหารระดับสูง, และผู้เชี่ยวชาญ เทคนิคการทำงาน (content experts) ด้านต่างๆ ให้ชัดเจนว่า การใช้เวลาใน COP เป็นเวลาปฏิบัติงาน
  • เน้นใช้ COP เชื่อมโยงพนักงานข้ามสายงาน (line), พื้นที่ (area), และภารกิจ (function)
  • ยกระดับการใช้เทคโนโลยีอย่างรอบคอบ เทคโนโลยีใหม่ต้องเพิ่มความเชื่อมโยง (connectivity) และเพิ่มคุณค่า อย่างแท้จริง
  • ระบุบทบาทและความรับผิดชอบของหัวหน้า/ประธาน COP ให้ชัดเจน และให้ได้รับการสนับสนุนจาก “คุณเอื้อ” ในหลากหลายส่วนงานขององค์กร, จาก ผู้จัดการสาระความรู้ (content manager) และระบบสาระความรู้ content system), จากผู้ประสานงานของ COP นั้น, และจากระบบ ไอที
  • จัดให้มี “แผนที่ความรู้” (Knowledge Map) ที่ครบถ้วนและเป็นระบบ สำหรับความรู้หลักของ COP รวมทั้งกระบวนการแลกเปลี่ยนความรู้ที่ใช้งานง่าย
  • ให้ COP รับผิดชอบการผลิต และขับเคลื่อนความรู้ที่มีความสำคัญยิ่งยวด รวมทั้งรับผิดชอบต่อผลการนำไปใช้
  • วัดคุณค่าของ COP นั้นๆ ต่อองค์กร และสื่อสารคุณค่านั้นไปทั่วองค์กร
  • สร้างความมั่นคงยั่งยืนระยะยาว โดยหมั่นปรับทิศทางเป้าหมายให้ตรงกับความต้องการ ขององค์กรที่เปลี่ยนแปลงไป

แนวทาง Lessons Learned

วงการ KM ไทยเรียกว่า AAR (After Action Review) ชื่ออื่นๆ ได้แก่ project milestone review, post-mortem, event debrief

หนังสือบอกว่า เป้าหมายหลักของแนวทางนี้คือ ไม่ทำผิดซ้ำ แต่ผมมีประสบการณ์ตรงว่า AAR มีคุณค่ามากกว่านั้น AAR ที่ดี มีพลังสร้างสรรค์วิธีทำงานในรูปแบบใหม่ คือเป็นเครื่องมือสร้างนวัตกรรม ในการทำงานได้ด้วย ซึ่งก็ตรงกับที่ระบุในหนังสือตอนต่อมา ที่ระบุคุณค่าของ AAR ห้าประการคือ

  • หลีกเลี่ยงการทำผิดซ้ำ และการต้องทดลองใหม่ที่ซ้ำของเดิม ช่วยให้ได้ใช้แนวทางเก่า ที่ปรับปรุงแล้วด้วยประสบการณ์ ช่วยให้ยกระดับงานจากบทเรียนที่ผ่านมา
  • ยกระดับคุณภาพของผลิตภัณฑ์และบริการ โดยลดข้อผิดพลาด ลดการทำซ้ำ และลดช่วงเวลาปฏิบัติงาน
  • นำเอาวิธีทำงานที่ดีมาสร้างมาตรฐาน ช่วยเพิ่มผลิตภาพ ประสิทธิภาพ และลดค่าใช้จ่าย ในการดำเนินงาน
  • ช่วยส่งเสริมารเรียนรู้ และการพัฒนาบุคลากร ลดเวลาพัฒนาพนักงานให้มีสมรรถนะ ที่ต้องการ ลดเวลาสำหรับการเรียนรู้ และบูรณาการการฝึกอบรมเข้ากับการเรียนรู้ จากการทำงาน
  • สร้างวัฒนธรรมแบ่งปันความรู้

หนังสือยกตัวอย่างคำถามหลักที่ใช้ใน AAR คือ หวังให้เกิดผลอะไร สิ่งที่เกิดขึ้นจริงเป็นอย่างไร ทำไมจึงมีความแตกต่างระหว่างเป้าหมายกับผลที่เกิดขึ้น มีใครอีกบ้างที่ควรได้รับรู้ข้อมูลนี้

แต่คำถามหลักที่ผมใช้ในกิจกรรม AAR คือ (๑) เป้าหมายของกิจกรรมที่ผ่านมามีอะไรบ้าง (โปรดสังเกตว่า มีหลายเป้าหมาย) ให้สมาชิกแต่ละคนพูดจากมุมหน้าที่ของตน พูดจากใจ (๒) ส่วนไหน ของเป้าหมาย ที่บรรลุผลมากกว่าที่คาดหวัง เพราะอะไร (๓) ส่วนไหนของเป้าหมายที่ไม่บรรลุ หรือบรรลุผลน้อย เป็นเพราะอะไร (๔) หากจะทำงานชิ้นนี้ใหม่ ตนจะทำต่างจากคราวที่ผ่านมาอย่างไรบ้าง (๕) ตนจะนำความรู้ ที่ได้ส่วนใดบ้างเอาไปใช้ต่อ ในงานอะไร

หนังสือบอกว่า AAR เป็นเครื่องมือที่ดี และใช้กันแพร่หลายมาก แต่โดยทั่วไปแล้วมักล้มเหลวที่จะ ก่อผลที่ต้องการ เพราะแม้จะตรวจจับความรู้ได้ แต่ก็มักไม่ได้เอาไปใช้ต่อ แม้กระทั่งภายในโครงการเดียวกัน และยิ่งใช้น้อยลงไปอีก ในหน่วยงานอื่นๆ ภายในองค์กร โดยมีอุปสรรคต่อไปนี้

  • บริบท หากจัดเก็บเรื่องราวไว้แบบไม่ระบุบริบทเหตุการณ์เกิดขึ้น จะนำไปใช้ต่อไม่ได้ หรือได้ยาก วิธีจัดเก็บแบบมีบริบท คือจัดเก็บเป็นเรื่องเล่าเร้าพลัง (story)
  • ระบบจัดเก็บ และค้นหา หากจัดเก็บโดยไม่ติดฉลากคำหลัก การค้นหาจะยาก หรือทำไม่ได้
  • ความเข้าใจลูกค้า ลูกค้าในที่นี้หมายถึงผู้นำเอาความรู้จาก AAR ไปใช้ต่อ ซึ่งอาจเป็นคนในโครงการปัจจุบันที่กำลังดำเนินการอยู่ หรือเป็นคนในโครงการอนาคต

เขายกตัวอย่างองค์กร CALL (The US Army Center for Army Lessons Learned) เป็นตัวอย่างองค์กร ที่ประสบความสำเร็จในการใช้ AAR เขาบอกว่า CALL ใช้วิธีการทำ AAR แตกต่างกันตามบริบทที่เหตุการณ์ เกิดขึ้น และจัดเก็บและเผยแพร่ข้อเรียนรู้ให้เหมาะสมกับสภาพ และงานของผู้ใช้ รวมทั้งมีวิธีขับเคลือนความรู้ ไปสู่ผู้ต้องการใช้

ข้อเรียนรู้สำหรับผม หลังจากอ่านหนังสือส่วนนี้คือ AAR ต้องมีคำถามที่ดี เพื่อกระตุ้นการ “คาย” ความรู้ฝังลึกจากการทำงานออกมา ต้องมาการ “เอื้ออำนวย” (facilitate) การเสวนา เพื่อให้ความรู้ปฏิบัติ ที่ฝังอยู่ลึกมากๆ ได้รับการปลดปล่อยออกมา

และเมื่อความรู้เหล่านั้นได้รับการปลดปล่อยแล้ว ต้องตามมาด้วยระบบบันทึก, edit, จัดหมวดหมู่, จัดเก็บอย่างเป็นระบบ, พร้อมกับระบบอำนวยความสะดวกในการค้นหาในภายหลัง (ติดฉลากคำหลัก)

หนังสือระบุ สองเส้นทางของ Lessons Learned คือ Path A กับ Path B

Path A เป็นการทำ Lessons Learned เพื่อปรับปรุงงานในขณะนั้น แนวทางนี้วงการ KM ในประเทศไทยใช้กันมาก

Path B เน้นดูดซับความรู้เข้าระบบ สำหรับนำไปใช้ในอนาคต ซึ่ง CALL ใช้มาก และ KM ในประเทศไทยน่าจะได้นำไปใช้ เขาแนะนำให้จัดให้มี ๔ องค์ประกอบหลัก

  • กำหนดว่าพนักงานจะค้นหา Lessons Learned ได้อย่างไร
  • สร้างวัฒนธรรมการใช้บทเรียนในอดีต นำมาปรับใช้ในสถานการณ์ของตน ซึ่งเป็นการเรียนรู้ที่ง่าย และตรงความต้องการของตนมากกว่าตำรา
  • “คลังความรู้นอกตำรา” (คลัง Lessons-learned) ที่เข้าถึงสะดวก ใช้ง่าย ตรงความต้องการ
  • “คุณอำนวย” ที่ช่วยเชื่อมโยงความรู้จากบริบทเดิม สู่บริบทใหม่ของงาน

คำแนะนำที่ทรงคุณค่ายิ่งคือ ในการจัดทีมทำงานใหม่ ให้จัดแบบที่เอื้อต่อการไหลของ Lessons-Learned คือให้มีพนักงานที่เคยทำงานที่สั่งสม Lessons-learned ที่มีประโยชน์ต่องานใหม่นั้น มาอยู่ในทีมงานใหม่ด้วย พนักงานที่เป็นทีมงานใหม่แต่ละคน ก็จะพกเอา Lessons-learned ในสมอง รวมทั้งวิธีเข้าสู่คลัง Lessons-learned มาสู่หน่วยงานใหม่

คำแนะนำคือ ให้มีสมดุลระหว่าง Path A กับ Path B และใน Project Management ให้เริ่มจากการศึกษา Lessons-learned นำมาปรึกษาหารือเพื่อต่อยอดใช้ในการทำงาน ซึ่งนำไปสู่เครื่องมือที่วงการ KM ไทยใช้กันอย่างชำนาญ คือ BAR แต่ไม่มีในสารบบ KM ต่างประเทศ

คำแนะนำอีกประการหนึ่งคือ ต้องกำหนดวิธีการจัดการ Lessons-learned อย่างเป็นระบบ และทำให้บูรณาการอยู่ในงานประจำตามปกติ

แนวทาง Transfer of Best Practices

วงการ KM ไทยเรียกว่า Peer Assist เป็นแนวทางที่เป้าหมายการถ่ายทอดความรู้ภาพใหญ่กว่า COP และ Lessons-learned โดยมีเป้าหมายหลักที่ช่วยให้วงจรการริเริ่มงานใหม่ไปสู่ผลสำเร็จสั้นลง ไม่ต้องคลำ หาวิธีการใหม่แบบเริ่มจากศูนย์ แต่นำเอาความรู้และวิธีการที่พิสูจน์แล้วว่าได้ผลดี (ในบริบทอื่น) มาปรับใช้ ช่วยลดความเสี่ยง เพิ่มคุณภาพ และเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน

เริ่มจากการมีกลไก/วิธีการ กำหนด Best Practice ที่เหมาะสมสำหรับถ่ายทอดไปใช้ในหน่วยงานอื่น พื้นที่อื่น หรือธุรกิจอื่น ภายในองค์กร

สภาพที่ต้องการการถ่ายทอด Best Practice ไปใช้ เกิดขึ้นเมื่อ (๑) ต้องการลดค่าใช้จ่าย ในส่วนที่เป็น ค่าใช้จ่ายคงที่ (fixed cost) (๒) ต้องการมาตรฐานเดียวกันในการทำธุรกิจในตลาดหลายตลาด (๓) ต้องการลด ค่าใช้จ่าย หรือเพิ่มคุณภาพ หรือต้องการมาตรฐานบริการเดียวกันในต่างสาขา

เมื่อมีสภาพความต้องการดังกล่าวเกิดขึ้น จะมีการประยุกต์ใช้ระบบการถ่ายทอด Best Practices เมื่อกิจกรรมถ่ายทอด Best Practices จะก่อ ROI (Return on Investment) สูง และเมื่อ

  • หน่วยงานในหลายพื้นที่ทำงานแบบเดียวกัน (เช่นสาขาของธนาคาร)
  • วิธีการที่ดีเหล่านี้ค่อนข้างเสถียร ไม่มีความจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงบ่อยๆ
  • มีหลักฐานยืนยันว่าวิธีการที่ดี ดีกว่าวิธีที่ใช้ปฏิบัติกันอยู่ และสามารถนำ ไปใช้ได้ในหลายพื้นที่
  • เชื่อว่าจะสามารถพิสูจน์ได้ว่า จะเกิดผลบวกด้านการเงินและด้านยุทธศาสตร์ หากนำวิธีการที่ดีนี้ไปใช้ในหลายพื้นที่
  • มีทรัพยากรสนับสนุนการถ่ายทอดความรู้
  • ไม่มีอุปสรรครุนแรงด้านความเป็นอิสระของหน่วยธุรกิจ

การถ่ายทอดความรู้จาก Best Practices ต้องทำอย่างเป็นระบบ และมีขั้นตอนต่างๆ รวมทั้ง

  • กำหนด Best Practice ที่จะถ่ายทอด
  • นำ Best Practice มา “ถอด” (capture) ความรู้ฝังลึก (tacit knowledge), และความรู้แจ้งชัด (explicit knowledge)
  • ตรวสอบ ประเมิน และปรับปรุง Best Practice ดังกล่าว
  • สื่อสาร และแลกเปลี่ยนวิธีปฏิบัติ โดยอาจจัดให้มีการเสวนาแลกเปลี่ยนระหว่างฝ่ายรับ กับฝ่ายให้
  • สนับสนุน ให้ฝ่ายรับนำเอาความรู้ไปประยุกต์ใช้ในบริบทของตน

อ่านแนวทางถ่ายทอด Best Practice ที่เสนอไว้ในหนังสือนี้แล้ว ผมเห็นว่าวิธี “เพื่อนช่วยเพื่อน” (Peer Assist) ที่วงการ KM ไทยใช้อยู่ ดีกว่า อ่านเรื่อง Peer Assist ได้ที่ https://www.gotoknow.org/posts/5849 และที่ https://www.gotoknow.org/posts/2415

เกณฑ์ในการเลือก Best Practice สำหรับถ่ายทอด

  • สร้างคุณค่า
  • สร้างผลกำไร
  • เป็นแนวเดียวกันกับยุทธศาสตร์ขององค์กร
  • ใช้เวลาสมเหตุสมผล
  • วัดผลได้
  • สามารถนำไปใช้ที่อื่นได้ (reproducibility)
  • มีหลักการที่สมเหตุสมผล
  • สนองความต้องการที่ยังไม่มีวิธีการอื่นสนองได้

ปัจจัยสำคัญต่อความสำเร็จในการถ่ายทอด Best Practice ได้แก่

  • สามารถถ่ายทอดไปยังหลายหน่วยงาน หรือหลายพื้นที่ ได้สำเร็จ
  • สามารถปรับวิธีการให้เหมาะสมต่อต่างบริบทภายในองค์กรได้
  • สามารถบูรณาการเข้ากับกิจกรรมพัฒนาอื่นๆ ที่องค์กรกำลังดำเนินการ
  • ได้รับการสนับสนุนอย่างจริงจังจากผู้บริหาร มียุทธศาสตร์การจัดการการเปลี่ยนแปลง ได้รับทรัพยากรสนับสนุน และมีเจ้าหน้าที่สนับสนุนการถ่ายทอดความรู้
  • มีการเตรียมการบังคับให้หน่วยงานต้องดำเนินการ
  • มีหน่วยงานทำหน้าที่สนับสนุนการถ่ายทอดความรู้
  • มีการวัดผลลัพธ์บ่อยกว่าแนวทาง KM แนวทางอื่นๆ

BAR ของผมต่อ โอกาสใช้การถ่ายทอด Best Practices ในประเทศไทย

ในประเทศไทยมีการทำ R2R แพร่หลาย ผลิต Best Practice มากมายในหน่วยงานย่อย เช่นในหอผู้ป่วยแห่งหนึ่งในโรงพยาบาล จึงเป็นโอกาสให้ผู้บริหารสนับสนุนให้ใช้เครื่องมือ Transfer of Best Practice ไปปรับใช้ในหอผู้ป่วยอื่นๆ ในโรงพยาบาลเดียวกัน หรือในโรงพยาบาลอื่นๆ

อภิปรายท้ายบท

แนวทาง KM ทั้ง ๓ แนวทางข้างต้น ได้รับการพิสูจน์ซ้ำแล้วซ้ำเล่า ว่าได้ผลดี โดยมีปัจจัยสนับสนุน ความสำเร็จคือ นโยบาย โครงสร้างพื้นฐาน การแสดงบทบาท และยุทธศาสตร์การจัดการการเปลี่ยนแปลง เพื่อสนับสนุน KM กิจกรรม KM ที่เข้มแข็งจะต้องมีการติดตามกิจกรรม และการวัดผลกระทบ

KM เป็นกิจกรรมที่มีความเลื่อนไหล (dynamic) ไม่คงที่ (static) ต้องจัดให้มีการปรับตัวตามพลวัต วัฒนธรรมในองค์กร เช่นการเปลี่ยนแปลงด้าน ไอที ต้องสามารถใช้พัฒนาการของ ไอที ทำให้กระบวนการ KM ง่ายและมีประสิทธิผลสูงขึ้น

วิจารณ์ พานิช

๒๔ มิ.ย. ๕๘

บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย 

คัดลอกจาก: https://www.gotoknow.org/posts/592403

แก้ไขล่าสุด ใน วันศุกร์ที่ 17 กรกฏาคม 2015 เวลา 23:52 น.
 

เรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลง : ๑๘. การศึกษาเพื่อความยั่งยืน.

พิมพ์ PDF

บันทึกชุด “เรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลง” ๒๖ ตอน ชุดนี้ ตีความจากหนังสือ Transformative Learning in Practice : Insight from Community, Workplace, and Higher Education เขียนโดย Jack Mezirow, Edward W. Taylor and Associates ตีพิมพ์เมื่อ ค.ศ. 2009

ภาค ๔ ของหนังสือ เป็นเรื่องการใช้ TL สร้างความเป็นชุมชนและการเปลี่ยนแปลงสังคม ประกอบด้วยบทที่ ๑๗ - ๒๓

ตอนที่ ๑๘ นี้ ได้จากการตีความบทที่ 17 Fostering a Learning Sanctuary for Transformation in Sustainability Education โดย Elizabeth A. Lange (ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านการศึกษาผู้ใหญ่ มหาวิทยาลัยอัลเบอร์ตา แคนาดา)

สรุปได้ว่า การศึกษาเพื่อความยั่งยืน มีพลังสร้างการเปลี่ยนแปลง (transformation) ได้ในหลากหลายมิติ การศึกษาแบบนี้จะมีพลังได้จริง ต้องการพื้นที่ที่ปลอดสิ่งรบกวน (sanctuary) เพื่อให้มีกระบวนการที่นำไปสู่ การเปลี่ยนแปลงได้ เป็นการเปลี่ยนแปลงที่มาจากพลังลี้ลับของปฏิสัมพันธ์แบบใจถึงใจ

ผู้เขียนได้ชื่อว่า เป็นนักการศึกษาเพื่อการเปลี่ยนแปลง ทั้งเปลี่ยนแปลงผู้อื่น และเปลี่ยนแปลงตนเอง เธอบอกว่า รู้จัก TL ตอนเป็นนักศึกษาครูผ่าน Paulo Freire ที่เป็นศาสตราจารย์อาคันตุกะ และตอนเป็นนักศึกษา ระดับบัณฑิตศึกษา เมื่อได้ฟัง Jack Mezirow พูดในการประชุมวิชาการ ทำให้เข้าใจ TL เพื่อแสวงหาความหมาย ในชีวิต วิพากษ์สภาพโครงสร้างสังคมที่ดำรงสภาพเดิมและจองจำ จัดการศึกษาเพื่อสร้างสังคมที่เป็นธรรมและมี สภาพแวดล้อมที่ยั่งยืน

ในบทนี้ผู้เขียนเล่าเรื่องการเดินทางในชีวิต และการเปลี่ยนแปลงการจัดการเรียนการสอนของตนเอง รวมทั้งวิธีการที่ใช้ในรายวิชาเปลี่ยนแปลงสังคมเพื่อสร้างความยั่งยืน ชื่อวิชา เปลี่ยนแปลงงานและชีวิต (Transforming Working and Living)

รายวิชานี้ ชี้ให้ผู้เรียนเห็นความแตกต่างระหว่างการมีชีวิตแบบรักษาสภาพเดิม กับการมีชีวิตเพื่อสร้าง อนาคตที่สังคมมีความเป็นธรรมมากกว่า และยั่งยืนกว่า

ผู้เขียนให้นิยามสังคมที่ยั่งยืนว่า เป็นสังคมที่สนองความต้องการของตนโดยไม่จำกัดโอกาสของ ความเป็นอยู่ที่ดี (well-being) ของตนเอง ของผู้อื่น ของคนรุ่นต่อไป และของสภาพแวดล้อม นิยามนี้ มีความหมายครอบคุมความเป็นธรรมในสังคมด้วย

ผมตีความต่อว่าสังคมที่ยั่งยืนเป็นสังคมที่ผู้คนไม่เบียดเบียนกัน ทั้งไม่เบียนเบียนตนเอง ไม่เบียดเบียนผู้อื่นทั้งที่มีชีวิตอยู่ในปัจจุบันและที่จะมามีชีวิตในอนาคต และไม่เบียดเบียนโลกและสภาพแวดล้อม

ผู้เขียนบอกว่า จะให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงลึก ที่เปลี่ยนชีวิตความเป็นอยู่ การกระทำ และการคิด อย่างถอนรากถอนโคน ต้องการ พื้นที่การเรียนรู้ที่ปลอดสิ่งรบกวน (learning sanctuary) ทั้งของ “คุณอำนวย” (หมายถึงอาจารย์) และของผู้เข้าร่วม (หมายถึงนักศึกษา)

โดย “พื้นที่ปลอดสิ่งรบกวน” มีความหมาย ๓ ประการ (๑) รูปแบบการเรียนรู้ที่มีความขัดแย้งในตัวเอง ระหว่างการเรียนแบบที่มีการไตร่ตรองใคร่ครวญแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันอย่างลึกซึ้ง และมีความเปิดกว้างต่อมุมมอง ใหม่ๆ ที่อาจเกิดขึ้น (๒) มีประสบการณ์เชิงปฏิสัมพันธ์ใหม่ๆ กับทั้งต่อสังคม และต่อธรรมชาติ (๓) มีพื้นที่ปลอดภัยสำหรับความสัมพันธ์ในกลุ่มที่ตั้งคำถามลึกๆ ภายในตน และตรวจสอบความเป็นจริงใหม่ๆ ในสังคมวงกว้าง

ผู้เขียนใช้ “การเรียนการสอนเพื่อการเปลี่ยนแปลง” (transformative pedagogy) ดังกล่าวแล้ว ไปพร้อมๆ กันกับปฏิเสธแนวทางการศึกษาแบบ “instrumentalist prescriptions for effectiveness and linear technicist” ซึ่งผมเข้าใจว่าหมายถึงการศึกษาแบบเป็นเครื่องมือบงการเพื่อเป้าหมายบางอย่าง และมองนักการศึกษาเป็นเทคนิเชียน ซึ่งผมตีความต่อว่า เป็นการศึกษาแบบลดคุณค่าของคน ไปเป็นเครื่องมือรับใช้เป้าหมายบางอย่าง

ตามความเชื่อของผู้เขียน การเรียนรู้ตามแนวทาง deliberative pedagogy เป็นสิ่งที่กำหนดผลไว้ ล่วงหน้าไม่ได้ และเป้าหมายของการศึกษาผู้ใหญ่ เน้นที่ ความหมายของชีวิต (meaning of living) มากกว่า ที่การทำมาหากิน (making a living) ผมคิดว่าย่อมมีคนเชื่อต่างจากนี้ได้

เมื่อผู้เขียนเชื่อเช่นนี้ ผู้เขียนจึงพาผู้เรียนเข้าไปในพื้นที่เรียนรู้ด้วยความตั้งใจ มีเนื้อหา และกระบวนการที่เตรียมมาอย่างดี แต่การเรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลงเป็นสิ่งที่อยู่ลึกกว่านั้น เป็นสิ่งลี้ลับ และไม่มีทางแน่ใจว่าจะเกิดหรือไม่ คือเป็นสิ่งที่อยู่เหนือกำกับของผู้เขียน


ให้ความหมายใหม่ ต่อการเรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลง

เมื่อประมาณ ๒๐ ปีมาแล้ว เมื่อผู้เขียนมีประสบการณ์ด้านการสอน ๑๕ ปี เริ่มจากเป็นครูมัธยม ในวิชาสังคมศาสตร์ เพื่อเตรียมนักเรียนวัยรุ่นไปเป็น active citizen ต่อมาในฐานะนักการศึกษาเพื่อพัฒนาความ เป็นธรรมทางสังคม ในส่วนที่เกี่ยวกับกิจกรรมนานาชาติ เป้าหมายคือเคลื่อนไหวให้คนชั้นกลางเข้ามา รับผิดชอบในฐานะพลเมือง โดยจัดให้ได้รับรู้เรื่องราวที่มาจากการวิจัยอย่างแม่นยำ และเชิญคนที่ได้รับ ผลกระทบจากต่างชาติมาพูดโดยตรง สิ่งที่กระทบใจผู้เขียนคือ มีช่องว่างระหว่างการรับรู้ กับการกระทำ

สำหรับผู้เขียนช่องว่างนี้หมดไปเมื่อเกิดเหตุการณ์รื้อกำแพงเบอร์ลิน (ค.ศ. 1989) การปล่อยตัวเนลสัน เมนเดลา ออกจากการคุมขัง (ค.ศ. 1990) และผู้เขียนนำทีมเดินทางไปศึกษาที่ เอล ซัลวาดอร์ การเริ่มสอน ในหลักสูตรการศึกษาผู้ใหญ่ ในมหาวิทยาลัย และการเบ่งบานของนโยบาย neoliberal ซึ่งก็คือเศรษฐกิจตลาด ที่มีผลให้เกิดการตกงาน หรือรายได้ไม่พอจ่าย ต้องทำงานสองกะ ที่ชักนำให้ผู้เขียนตั้งคำถามต่อสมมติฐาน ของตนเองด้านการศึกษา ที่นักศึกษาแสดงความต้องการทำงานที่เอื้อต่อชีวิตที่ดี ไม่ใช่ทำงานที่ลดทอน ชีวิตมนุษย์

จากการไตร่ตรองของผู้เขียน เห็นว่า TL เกิดขึ้นภายใต้เงื่อนไข (๑) มีการตั้งคำถามต่อโลกทัศน์ ภายใต้ความเชื่อว่ามนุษย์และสังคม เปลี่ยนแปลงได้ (๒) เปลี่ยนมุมมองต่อ transformation จากคิดว่าเกิดจาก การคิดแบบใช้เหตุผล ไปเป็นการเรียนรู้จากกาย ใจ และสถานที่/พื้นที่ (๓) เปลี่ยนมุมมองต่อปัจเจกบุคคล จากมองว่าเป็นปัจเจกที่มีปฏิสัมพันธ์ระหว่างปัจเจกต่อปัจเจก ไปเป็นมองว่าปัจเจกบุคคลเป็นส่วนหนึ่ง ของปฏิสัมพันธ์ทางสังคมระหว่างกัน เป็นส่วนหนึ่งของระบบสังคมที่มีชีวิต (๔) เปลี่ยนมุมมองต่อ transformation ว่าเป็นกระบวนการเปลี่ยนแปลงแบบค่อยเป็นค่อยไป ที่บุคคลจะลดความเห็นแก่ตัว และเกิดจิตเพื่อสังคม เปลี่ยนไปสู่ความคิดว่า แม้บุคคลจะต้องการเปลี่ยนตนเองไปทำประโยชน์เพื่อสังคม แต่ก็จะถูกเหนี่ยวรั้งด้วยค่านิยมเดิมๆ ของสังคม คือต้องไม่มองข้ามความสำคัญของระบบใหญ่ และ (๕) ความเชื่อในหลักการ radical ecology (Merchant, 2005) ที่กล่าวว่า ความทุกข์ยากของมนุษย์และความเสื่อมโทรม ของสภาพแวดล้อม เกิดจากระบบที่ไร้ความเป็นธรรม และแก้ไขได้ด้วยพื้นที่แห่งการเปลี่ยนแปลง ที่เอื้อให้สมาชิกสัมผัสสภาพใหม่ได้

ย้ำว่า การเรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลง ต้องเน้นสัมผัสตรง ไม่ใช่เน้นการคิดเป็นเหตุเป็นผล


ปฏิบัติการเพื่อการเรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลง

ผู้เขียนบอกว่า “การสอนเพื่อการเปลี่ยนแปลง” (transformative teaching) ที่ตนใช้ เป็น การสอนแบบมีชีวิต (organic teaching) ซึ่งหมายความว่า วัสดุหรือเรื่องราวที่นำมาสู่พื้นที่เรียนรู้ ต้องมาจากสภาพความเป็นจริงในสังคมที่เราดำรงชีวิตอยู่ และสภาพความเป็นจริงอย่างหนึ่ง ที่ซ่อนตัว อยู่ในสังคม คืออุดมการณ์หลัก (dominant ideologies) ซึ่งสำหรับนักศึกษาผู้ใหญ่เป็นเรื่องงาน ที่อุดมการณ์หลักคือ ประสิทธิภาพและการแข่งขัน ที่เป็นส่วนหนึ่งของลัทธิ neoliberal globalization ที่นำไปสู่สารพัดปัญหาสังคม

ผู้เขียนค้นหาเอกสารที่มีแนวทางเปลี่ยนแปลงอุดมการณ์หลักนี้ ที่วิเคราะห์ปรากฏการณ์ในสังคม และเสนอทางออก นำมาสังเคราะห์เป็นหลัก ๑๐ ประการเพื่อความยั่งยืน และนำมาใช้ออกแบบกิจกรรมใน รายวิชา เปลี่ยนแปลงงานและชีวิต ระบุในเอกสารรายวิชาว่า ผู้เรียนจะได้มีโอกาสคิดหาเป้าหมายใหม่ของการ ทำงาน พัฒนาหลักการเพื่อชี้นำงานและชีวิต ทำความเข้าใจผลกระทบของเศรษฐกิจโลกต่อชีวิตประจำวัน และพัฒนาแผนปฏิบัติ


จัดพื้นที่ปลอดสิ่งรบกวน ให้แก่การศึกษาผู้ใหญ่เพื่อความยั่งยืน

ผู้เขียนเชื่อว่า ปัจจัยสำคัญที่สุดต่อการเรียนรู้แบบที่กล่าว คือ “พื้นที่ปลอดสิ่งรบกวน” (learning sanctuary) เพื่อให้ผู้เรียนได้ไตร่ตรองสะท้อนคิดเรื่องงานและชีวิตของตน โดยใช้เป้าหมาย “ความยั่งยืน” (sustainability) เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลง

การเรียนมี ๑๖ คาบ (๓ ชั่วโมง) และ รีทรีตสุดสัปดาห์อีก ๔ ครั้ง จัดการเรียนเป็น ๓ วงรอบ เพื่อให้ผู้เรียนได้ทบทวนเรื่องเดิมในมิติที่ลึกยิ่งขึ้น เป็นการจัดประสบการณ์การเรียนรู้เป็นชุดกิจกรรม (conjuncture) ตามแนวคิดของ Gramsci ว่าการเรียนรู้ในห้องเรียนตามปกติจะให้การเรียนรู้แบบชั่วคราว ต้องมีกิจกรรมเป็นชุดและทำซ้ำในระยะยาว จึงจะเกิดการเรียนรู้ที่ถาวรกว่า


กระบวนการการเรียนการสอน

ผู้เขียนนำเสนอกระบวนการเรียนการสอนเป็นช่วงๆ ช่วงละหลายคาบ

ช่วงแรก เป็นการแนะนำตัวผู้เรียน บอกว่าสิ่งใดนำผู้เรียนเข้าเรียนรายวิชานี้ โดยใช้ภาพตัดแปะเป็นสื่อนำ ความคิด เป็นจุดเริ่มต้นของการวิพากษ์งานและชีวิต และเป็นการดึงเอาสภาพชีวิตจริงเข้าสู่การเรียน และการทำความเข้าใจหลักการใหม่ๆ ผ่านมุมมองของชีวิตจริงของตน

ช่วงที่สอง ชื่อ ชีวิตและงานที่ยั่งยืน (Sustainable Living and Sustainable Working) มีกิจกรรม

    • “การวิเคราะห์เชิงวัฒนธรรม” (cultural analysis) วิเคราะห์วิถีการดำรงชีวิตของตนเอง ว่าแต่ละวันใช้เวลาทำอะไรบ้าง ลงรายละเอียดเป็นรายนาที เก็บข้อมูล ๒ - ๓ สัปดาห์ วิเคราะห์การใช้จ่าย ลงรายละเอียด ว่าแต่ละเดือนใช้จ่ายอะไรบ้าง ลงรายละเอียดที่แต่ละบาท เพื่อเป็นสติต่อนิสัยการดำรงชีวิต และความคิดในด้าน ความสำเร็จ ความสุข ความสามารถในการผลิต และความมั่นคงปลอดภัย
    • กิจกรรมอยู่กับธรรมชาติ ลดเครียด เช่นเดินจงกรมในสวนป่า ด้วยสติระลึกรู้ทางอารมณ์
    • กิจกรรมเจริญสติแบบฝรั่ง เช่นกินแอ๊ปเปิ้ลช้าๆ ให้รับรู้รส ดื่มน้ำ เล่นกับเด็ก อาบน้ำ
    • ในช่วง ไตร่ตรองสะท้อนคิดความรู้สึกจากกิจกรรมข้างต้น ผู้เขียนนำเสนอประวัติ ของสังคมบริโภค และผลการวิจัยที่บอกว่ามีสหสัมพันธ์ผกผันระหว่างการบริโภคกับ ความสุข และสร้างบรรยากาศแห่งความหวังว่า ผู้เรียนสามารถเอาชนะความท้าทาย เหล่านี้ได้
    • กิจกรรมวิเคราะห์ด้านเศรษฐกิจสังคม คำนวณ ecological footprint ของผู้เรียนแต่ละคน เพื่อทำความเข้าใจระดับการบริโภค ให้เห็นว่า เพื่อการดำรงชีวิตขแงแต่ละคน ต้องการ พื้นที่เท่าไร นำตัวเลขไปเปรียบเทียบกับตัวเลขของประเทศอื่น และทำความเข้าใจว่า หากคนทั้งโลกบริโภคแบบคนอเมริกัน เราต้องการโลกอีกกี่ใบ เพื่อเป็นที่อาศัยของคน ในโลกนี้ทั้งหมด

นอกจากนั้น ยังให้ลองศึกษาวงจรชีวิตของเครื่องอุปโภค เช่นกางเกงยีน ๑ ตัว กล้วย ๑ ผล ซึ่งจะช่วยให้เข้าใจความเชื่อมโยงของสรรพสิ่งในโลก และเข้าใจโครงสร้างการผลิต ของโลก เชื่อมโยงกับงาน ให้เห็นว่าใครได้รับผลประโยชน์ ใครได้มาก ใครได้น้อย ทำไมเป็นเช่นนั้น นำไปสู่นิยามใหม่ของงานที่ดี ชีวิตที่พอเพียง

ช่วงที่สาม ช่วงวางแผนกิจกรรม ว่าจะเปลี่ยนแปลงอะไรบ้าง มีการระดมความคิดวางแผน การเปลี่ยนแปลง เป็นช่วงที่ต้องการพื้นที่ปลอดสิ่งรบกวน เพื่อมีสติอยู่กับตนเอง และเพื่อมีสมาธิ ในการเลือกทางเลือกที่เหมาะสม

พื้นที่ปลอดสิ่งรบกวนอาจเป็นการไป retreat ร่วมกันในพื้นที่ที่ธรรมชาติสวยงาม ทำกิจกรรม ผ่อนคลาย และใช้กิจกรรมเชิงศิลปะ นำไปสู่การวางแผนเปลี่ยนชีวิต

ช่วงที่สี่ ช่วงหลังกิจกรรม เป็นการวางแผนเผชิญอุปสรรคที่อาจเกิดขึ้น

ช่วงสุดท้าย เฉลิมฉลองการเปลี่ยนความคิดและการวางแผนกิจกรรม อาจมีการจัดตั้งโครงสร้างการทำงานร่วมกันหลังจบหลักสูตร


การศึกษาผู้ใหญ่ในฐานะพื้นที่ปลอดสิ่งรบกวน

พื้นที่ปลอดสิ่งรบกวนเกิดขึ้นได้ ๓ แบบ

(๑) ในระหว่างที่ผู้เขียนวางแผนการสอนอย่างตั้งอกตั้งใจ ผู้เขียนละวางสมมติฐานเดิมๆ ผู้เขียนเข้าสู่พื้นที่นี้ด้วยความเคารพ เพื่อไปสู่การเรียนรู้ขั้นลึก ที่ไม่อยู่ในแผน การสอนใดๆ แต่สามารถบรรลุได้ด้วยปฏิสัมพันธ์ทางสังคม

(๒) มีการเรียนจากปฏิสัมพันธ์เชิงลึกระหว่างกัน และปฏิสัมพันธ์กับทุกสิ่งในจักรวาล

(๓) สภาพที่สมาชิกกลุ่ม และ “คุณอำนวย” มีปฏิสัมพันธ์ต่อกันด้วยใจ จากใจถึงใจ


ไตร่ตรองสะท้อนคิด

พลังอยู่ที่ “ความตั้งใจอย่างมุ่งมั่น” (intentionality) ไม่ใช่ความตั้งใจระดับธรรมดา คือตั้งเป้า อย่างมุ่งมั่น แล้วปล่อยให้พลวัตของความสร้างสรรค์ทำงานอย่างเป็นธรรมชาติ นั่นคือ การเรียนรู้สู่การ เปลี่ยนแปลงเป็นสิ่งผุดบังเกิด และผุดบังเกิดร่วมกันกับเพื่อนสมาชิก ในรูปแบบที่ไม่จำเป็นต้องเหมือนกัน

นอกจากนั้น การเปลี่ยนแปลงอาจไม่ได้เกิดอย่างเป็นขั้นตอนตรงตามแผน แต่จะเป็นไปตามความตั้งใจอย่างมุ่งมั่น

กระบวนการเรียนรู้ของกลุ่มจะเป็นไปตามสภาพที่ยึดโยงอยู่กับความเป็นจริง และตามชีพจร อารมณ์ที่เกิดขึ้น อารมณ์ยิ่งรุนแรง โอกาสเกิดการเปลี่ยนแปลงยิ่งสูง ดังนั้น “คุณอำนวย” ต้องไม่กังวล กับอารมณ์ความรู้สึกกังวลใจ สับสน หรือโกรธ ที่เกิดขึ้นในกลุ่มระหว่างทาง

มีสมาชิกกลุ่มเปรียบเทียบการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ว่าคล้ายกับผีเสื้อออกมาจากรังไหม เป็นสิ่งที่แตกต่างจากเดิมโดยสิ้นเชิง ไม่สามารถอธิบายด้วยถ้อยคำได้ และเป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นจาก ปฏิสัมพันธ์ร่วมกัน เป็นผลของพลังที่มากกว่าการเรียนวิชา หนังสือที่ควรอ่านคือ Capra, F. (1996). The Web of Life : A new scientific understanding of living systems

ผมขอเพิ่มเติมข้อไตร่ตรองสะท้อนคิดของผมบ้าง ผมคิดว่า ที่กล่าวมาทั้งหมดในตอนนี้ เป็นการศึกษากระแสทางเลือก และไม่มีทางเข้าใจ หากไม่ได้ฝึกปฏิบัติด้วยตนเอง



วิจารณ์ พานิช

๑๓ ม.ค. ๕๘

สนามบินหาดใหญ่


บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย 

คัดลอกจาก: https://www.gotoknow.org/posts/592381

แก้ไขล่าสุด ใน วันพุธที่ 15 กรกฏาคม 2015 เวลา 21:25 น.
 

ชีวิตที่พอเพียง : ๒๔๕๒. ประชุมเตรียม PMAC 2016 ที่นิวยอร์ก.

พิมพ์ PDF

การประชุมนี้ เป็นภาคต่อเนื่องจากการประชุมที่โตเกียว เมื่อวันที่ ๑๖ - ๑๘ เมษายน ๒๕๕๘

การประชุมจัดระหว่างวันที่ ๒๖ - ๒๙ พฤษภาคม ๒๕๕๘ โดยมูลนิธิร็อกกี้เฟลเล่อร์เป็นเจ้าภาพ จัดประชุมที่ Rockefeller Foundation Headquarters 420 Fifth Avenue ตัดกับ 38th Street (ไม่ใช่ที่ Rockefeller Center ซึ่งเป็นย่านธุรกิจ และสถานที่ท่องเที่ยว) เป็นการประชุม ๓ ประชุมติดต่อกัน คือวันที่ ๒๖ - ๒๗ ประชุม Coordinators, วันที่ ๒๘ ประชุม Joint Secretariat, วันที่ ๒๙ ประชุม IOC ครึ่งวัน

การประชุม PMAC 2016 นี้ ชื่อเรื่องคือ Priority Setting for Universal Health Coverageอธิบายให้เข้าใจง่ายๆ ก็คือ หากจะให้มีการคุ้มครองสุขภาพถ้วนหน้า ก็ต้องมีการจัดลำดับความสำคัญว่าจะให้ความคุ้มครองการดูแลสุขภาพเรื่องอะไรบ้าง ที่เรียกว่า benefit package โดยที่เครื่องมือของการจัดลำดับความสำคัญก็คือ HTA (Health Intervention and Technology Assessment)

ผมไม่เคยเข้าประชุม coordinators ของการประชุมแต่ละ session เช่นนี้มาก่อนเลย มาเห็นผู้ประสานงานของแต่ละ session นำเสนอ โดยมีเอกสารให้อ่านล่วงหน้า แล้วผู้ประสานงานแต่ละ session สรุปต่อที่ประชุมซึ่งมีเกือบ ๓๐ คน และมีประชุมแบบ teleconference มาจากลอนดอนคนหนึ่ง และจากวอชิงตัน ดีซี อีกคนหนึ่ง หลังจาก ผู้ประสานงานสรุป ก็ให้คนอื่นๆ ในที่ประชุมซักถามและให้ความเห็นตามด้วยการให้ผู้ประสานงานสรุปว่าจะปรับปรุง session นั้นอย่างไรบ้าง

ทีมงานละเอียดรอบคอบมาก คอยช่วยกันตรวจสอบว่าทีมวิทยากรของแต่ละ session มีความสมดุลในเรื่องเพศ, ประเทศพัฒนาแล้ว - กำลังพัฒนา, ภาครัฐ - ภาคอุตสาหกรรม - ภาคประชาชน - ภาคสื่อมวลชน

coordinators ที่มาร่วมประชุมมีความแตกต่างกันมาก และมีประสบการณ์สูง ส่งผลให้การประชุมสร้างสรรค์มาก จึงเป็นประเด็นเรียนรู้สำหรับผมอย่างยิ่ง อย่างในเช้าวันที่ ๒๗ Dr. Leonardo Cubillos จากประเทศ โคลอมเบีย แห่งธนาคารโลก เสนอประเด็นการประชุม Parallel Session เรื่อง Human Rights เกี่ยวกับ right to health ชี้ให้เห็นว่าประเทศต่างๆ ปกป้องสิทธิต่อสุขภาพของพลเมืองด้วย ๒ วิธี คือ (๑) ออกกฎหมาย (๒) ใช้กระบวนการจัดลำดับความสำคัญ

ที่ผมตื่นตาตื่นใจคือมุมมองต่อการปกป้องสิทธิต่อสุขภาพที่ละเอียดลึกซึ้งมาก เช่น ไม่ถูกโฆษณาชวนเชื่อแบบไร้หลักฐาน ที่มั่นคงสนับสนุน เปิดโอกาสให้บุคคลปฏิเสธไม่รับบริการบางแบบ เรื่องสิทธิที่จะไม่ถูกปู้ยี่ปู้ยำด้วยเหตุผลว่าสิ่งนั้นเป็นสิ่งที่ดี แล้วหาทางยัดเยียดให้แก่ประชาชน เป็นการบังคับกลายๆ ให้รัฐต้องจ่าย

สิทธิที่สำคัญที่พูดกว้างๆ แต่ไม่ได้ลงรายละเอียดคือสิทธิที่จะได้รับการดูแลอย่างเท่าเทียมกัน ระหว่างคนจนกับคนรวย และระหว่างคนในชนบทกับคนในเมือง

วันที่ ๒๘ เป็นการประชุม Joint Secretariat Meeting คนที่มาประชุมเป็นหน้าเดิมเกือบทั้งหมด แต่ส่วนหนึ่งกลับไปก่อน และมีเพิ่มมา ๒ คน คนหนึ่งจากเกาหลี อีกคนหนึ่งคือ นพ. วินัย สวัสดิวร เลขาธิการ สปสช.

ถึงตอนนี้ โครงสร้างการประชุมก็เป็นรูปเป็นร่างเกือบเป็นชุดสุดท้ายแล้ว มี 5 plenary, 3 Parallel Session ในแต่ละช่วง มี ๕ ห้องพร้อมกัน มีการอภิปรายวิธีดึงดูดผู้เข้าร่วมประชุมให้อยู่ถึงวันสุดท้าย ซึ่งเป็นวันอาทิตย์ (๓๑ มกราคม ๒๕๕๙) ด้วยวิธีการหลากหลายรูปแบบ

วันที่ ๒๙ เป็นการประชุม IOC – International Organizing Committee ที่มีผู้ใหญ่จาก co-host มาประชุมเพิ่มขึ้นหลายคน จาก WB, Gates Foundation, Chattham House, USAID, และจากกระทรวงสาธารณสุขของไทย (ท่านรองปลัดฯ นพ. สุริยะ วงศ์คงคาเทพ) โดยที่ PMAC 2016 มี co-host ถึง ๑๐ หน่วยงาน ได้แก่ CGD, WHO, WB, JICA, USAID, CMB, RF, NICE, Bill & Melinda Gates Fdn, และ NECA ของเกาหลี หลายคนในที่ประชุมมาประชุมตั้งแต่ ๓ วันแรก จึงรู้เรื่องดี แต่ก็มีอีกหลายคน ที่เพิ่งมาประชุมในวันที่ ๔ ซึ่งเป็นการประชุม IOC จึงมีการซักถาม หรือแนะนำเพิ่มขึ้นอีกมาก

จากคำอภิปรายของผู้แทน People’s Health Movement ทำให้ผมได้เข้าใจว่า เป้าหมายของ priority-setting อย่างหนึ่งคือ equity นำไปสู่ประเด็น equity ในโลก ที่ต้องใส่ใจ priority ต่อประเทศ/สังคม ยากจน ให้มาก

มีการพูดถึง priority-setting ที่ระดับเล็กกว่าประเทศ เช่นระดับชุมชน ซึ่งที่จริงในสังคมไทยมีตัวอย่างดีๆ มากมาย ที่ อบต. ใช้ข้อมูลเพื่อจัดลำดับความสำคัญในการใช้ทรัพยากรเพื่อดูแลสุขภาวะของประชาชนในพื้นที่ของตน

การอภิปรายของเหล่านักพัฒนาทั้งหลายที่มาทำหน้าที่กรรมการ IOC ทำให้ผมได้เข้าใจว่า วิชาการด้าน priority-setting มอง priority-setting ว่าเป็นกระบวนการที่เลื่อนไหล ไม่ใช่คงที่ เปลี่ยนแปลงไปตามเวลา และตามบริบท และจะต้องมี องค์ประกอบต่อไปนี้ (1) accountability (2) equity (3) transparent (4) ใช้ evidence (5) คำนึงถึง social determinants of health และอื่นๆ

สรุปในภาพรวมได้ว่า การประชุมเพื่อเตรียมการ PMAC 2016 ที่ดำเนินการมาถึงขั้นนี้ มีความก้าวหน้าดีมาก มีการกำหนดปฏิทินการทำงาน เพื่อให้ coordinator ของแต่ละ session และของแต่ละ co-host ส่งข้อมูลต่างๆ ซึ่งถ้าเขาไม่ส่งตามกำหนด ทีมงานของ อ. บุ๋มก็จะติดตามทวงเอาจนได้

ผมได้เห็นบรรยากาศของความเป็นเจ้าของ PMAC ร่วมกัน และได้เห็นนักวิชาการไทยทำงานร่วมกับฝรั่ง อย่างเคียงบ่าเคียงไหล่ น่าชื่นใจมาก

คัดลอกจาก: https://www.gotoknow.org/posts/592372

แก้ไขล่าสุด ใน วันพุธที่ 15 กรกฏาคม 2015 เวลา 21:42 น.
 

มุมมองที่ลุ่มลึกต่อการเมืองระหว่างประเทศ

พิมพ์ PDF

Europe’s bizarre decision-making structure has allowed domestic German politics to prevail over all other considerations.

มุมมองที่ลุ่มลึกต่อการเมืองระหว่างประเทศ

บทความนี้ เขียนโดย Jeffrey Sachs ที่ผมอ่านใน นสพ. บางกอกโพสต์ เมื่อวานนี้ ให้ความลุ่มลึกเกินคาด ที่ไม่มีในสื่อมวลชนทั่วๆ ไป

เขาชี้ให้เห็นว่า วิกฤติเศรษฐกิจของกรีซในครั้งนี้ไม่ใช่จู่ๆ ก็เกิดขึ้น มันมีรากฐานยาวนาน และชี้ให้เห็นว่า เป็นผลของการบริหารที่ผิดพลาดขององค์กรการเงินของอียู และเจ้าหนี้ด้วย ได้แก่ธนาคารกลางของยุโรป (ECB - European Central Bank), IMF, EC, USA

ข้อผิดพลาดคือ การแก้ปัญหาแบบเล่นการเมือง เล่นเกม และความล้มเหลวของกลไกในสหภาพยุโรป คือประเทศสมาชิก ๑๙ ประเทศต่างก็รักษาผลประโยชน์ของประเทศตน ละเลยผลประโยชน์ร่วมกันของ สหภาพยุโรป

ผมอดหวนคิดถึงบ้านเราไม่ได้ เราไม่มีคนอย่าง Jeffrey Sachs มาเตือนสติให้เห็นแก่ประเทศชาติ มากกว่าผลประโยชน์ของกลุ่มย่อย

วิจารณ์ พานิช

๑๔ ก.ค. ๕๘

บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย 

คัดลอกจาก: https://www.gotoknow.org/posts/592375

แก้ไขล่าสุด ใน วันพุธที่ 15 กรกฏาคม 2015 เวลา 21:13 น.
 

หลักการปกครองธรรมาธิปไตย 9

พิมพ์ PDF

หลักการปกครองธรรมาธิปไตย 9 เหนือทุกลัทธิการเมืองของโลก เป็นครั้งแรกของโลก ยิ่งใหญ่ที่สุดของโลก คือหลักการปกครองธรรมาธิปไตย ๙ ได้จัดสัมพันธภาพเป็นหนึ่งเดียวกับกฎธรรมชาติ ซึ่งวิเศษยิ่งใหญ่ตรงที่จะยกอะไรๆ มาอธิบายก็ได้หมดทุกเรื่อง นับแต่การสืบพันธ์ถึงแกแลกซี่ (รูป)
๑) สัมพันธภาพระหว่าง "องค์เอกภาพหรือศูนย์กลาง กับ ความแตกต่างหลากหลาย" 
๒) องค์เอกภาพ มีลักษณะแผ่กระจายเมตตา ให้โอกาสก่อนออกไปทั่วสารทิศ ส่วนฝ่ายแตกต่างหลากหลาก มุ่งตรง ขึ้นตรงต่อองค์เอกภาพหรือศูนย์กลาง
๓) ด้วยเหตุปัจจัยในข้อ ๑ และข้อ ๒ ก่อให้เกิดดุลยภาพ ดำรงอยู่ได้อย่างมั่นคง
เมื่อนำมาใช้ กล่าวโดย่อคือ 
- สัมพันธภาพที่ ๑) ระหว่าง องค์เอกภาพ คือ หลักการปกครองธรรมาธิปไตย ๙ กับ ประชาชน
- สัมพันธภาพที่ ๒) ระหว่าง องค์เอกภาพ คือ หลักการปกครองธรรมาธิปไตย ๙ กับ กฎหมายรัฐธรรมนูญ 
อีกนัยยะหนึ่ง หลักการปกครองธรรมาธิปไตย ๙ นี้ ล้วนเป็นหลักธรรมที่ไม่ตาย ไม่เปลี่ยนแปลง ดังเช่น ชาติไม่ตาย แต่ประชาชนทยอยเกิด-ตายทุกวัน 
หลักธรรมาธิปไตยไม่ตาย แต่สรรพสิ่งทยอยเกิด-ตาย อยู่ตลอดเวลา 
หลักพระมหากษัตริย์ไม่ตาย แต่พสกนิการทยอยตาย-เกิดทุกวัน เป็นต้น 
ดังนั้นหลักการปกครองฯ จึงเป็นของคนไทยทุกคน ต่างก็สืบทอดกันมา โดยที่ประชาชนทั้งหลายก็ได้ปฏิบัติอยู่ในชีวิตประจำวัน ดังเช่น จุดหมายใดๆ ต้องมาก่อนวิธีการไปสู่จุดหมายเสมอ หลักการปกครองดังกล่าว ประชาชน บุคคลก็ได้ปฏิบัติอยู่ทุกวันโดยอาจจะไม่รู้ตัว ซึ่งทุกคนต่างก็ได้ปฏิบัติเช่นนี้ในยามปกติเมื่อปฏิบัติต่อผู้อื่น จึงได้นำมาแสดงให้เห็นชัดเจนอย่างเป็นทางการโดยยกขึ้นเป็นหลักการปกครองฯ ซึ่งเป็นหลักการทางการเมืองของประชาชนอย่างแท้จริง ซึ่งจะได้รับรู้โดยทั่วกัน และเป็นภารกิจอันศักดิ์สิทธิ์ของคนไทยทุกคน (คือทั้งอำนาจและสิทธิหน้าที่ของประชาชน)
ยิ่งไปกว่านั้น หลักการปกครองธรรมาธิปไตย ๙ ได้จัดลำดับด้วยเหตุปัจจัยของเหตุและผล ตามกฎอิทัปปัจจยตา หรือกฎแห่งกรรม พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติ กฎอิทัปปัจยตา อันเป็นกฎสากลหรือกฎทั่วไป (General Law) คือ ความสัมพันธ์ของเหตุปัจจัยระหว่างเหตุและผล ความว่า 
อิมสฺมึ สติ อิทํ โหติ เมื่อสิ่งนี้มี สิ่งนี้ก็มี 
อิมสฺสุปฺปาทา อิทํ อุปฺปชฺชติ เพราะสิ่งนี้เกิดขึ้น สิ่งนี้ก็เกิดขึ้น 
อิมสฺมึ อสติ อิทํ น โหติ เมื่อสิ่งนี้ไม่มี สิ่งนี้ก็ไม่มี 
อิมสฺส นิโรธา อิทํ นิรุชฺฌติ เพราะสิ่งนี้ดับ สิ่งนี้ก็ดับ 
เมื่อนำมาประยุกต์ใช้อย่างถูกต้องโดยธรรม จะเป็นไปตามกฎอิทัปปัจยตาฝ่ายบวก ฝ่ายเจริญก้าวหน้าโดยฝ่ายเดียว “เมื่อเหตุดี ผลย่อมดีตาม” ดังนี้
หลักธรรมาธิปไตย ย่อมเป็นเหตุปัจจัยให้หลักพระมหากษัตริย์ประมุขแห่งรัฐยิ่งใหญ่, 
หลักพระมหากษัตริย์ฯ ย่อมเป็นเหตุปัจจัยให้มีหลักอำนาจอธิปไตยของปวงชน, 
หลักอำนาจอธิปไตยของปวงชน ย่อมเป็นเหตุปัจจัยให้มีหลักเสรีภาพบริบูรณ์, 
หลักเสรีภาพบริบูรณ์ ย่อมเป็นเหตุปัจจัยให้มีหลักความเสมอภาคทางโอกาส, 
หลักความเสมอภาคทางโอกาส ย่อมเป็นเหตุปัจจัยให้มีภราดรภาพ, 
หลักภราดรภาพ ย่อมเป็นเหตุปัจจัยให้มีหลักเอกภาพ, 
หลักเอกภาพ ย่อมเป็นเหตุปัจจัยให้มีหลักดุลยภาพ, 
ทั้งหลักข้อที่ ๑-๘ ย่อมเป็นเหตุปัจจัยที่แท้ก็คือหลักนิติธรรม (Rule of Law)

ดังกล่าวนี้ เมื่อนำหลักธรรมาธิปไตย ๙ มาเป็นหลักการปกครอง จะเป็นปัจจัยให้ประชาชนได้รับความยุติธรรม ยกศักยภาพของประชาชนให้สูงขึ้นอย่างเป็นอารยะชนในทุกด้าน ประเทศชาติมีความมั่นคง และประชาชนมั่งคั่งอย่างยั่งยืน 
ด้วยทางคณะกรรมการฯ และแกนนำธรรมาธิปไตยทั่วประเทศ ได้มีความเห็นร่วมกันและพยายามอย่างยิ่งยวด เพื่อจะได้เสนอ คสช.และรัฐบาล ท่านพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ร่วมมือกันพิจารณา ออกนโยบายเร่งด่วนที่สุด ด้วยอำนาจที่มีอยู่เพื่อการสถาปนาหลักการปกครองธรรมาธิปไตย 9 ให้สำเร็จโดยด่วนที่สุด ก่อนยกร่างกฎหมายรัฐธรรมนูญ ฉบับที่ ๒๐ ไม่เช่นนั้นแล้ว ทั้ง คสช. และรัฐบาล จะพาเข้าสู่ระบอบเผด็จการรัฐธรรมนูญ ซ้ำรอยเก่า เป็นครั้งที่ ๒๐ รัฐบาลและกองทัพตกเป็นฝ่ายรับทางการเมืองทั้งจากภายในและภายนอก(กระแสธารณะรัฐ) อันจะเป็นอันตรายต่อชาติ-ราชบัลลังก์ อันจะเกิดขึ้นจากฝ่ายตรงข้ามที่เห็นผิดอย่างร้ายแรงต่อชาติ
ขอให้ทั้ง คสช. และรัฐบาล พิจารณาอย่างรอบคอบ รอบด้าน และทำได้สำเร็จ คือการสร้างความถูกต้องโดยธรรมอย่างยิ่งใหญ่ชั่วลูกชั่วหลานตลอดไป ยิ่งใหญ่ตลอดไป นั่นก็คือ การสถาปนาสัมพันธภาพระหว่างหลักการปกครองธรรมาธิปไตย 9 กับปวงชนในชาติ อย่างถูกต้องยิ่งใหญ่ 
ทั้งจะเป็นการปฏิบัติตามแนวทางการเมืองแห่งบูรพมหากษัตริย์ไทยและสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ โดยพระองค์ทรงพระราชปณิธาน เสนอหลักการปกครองประชาธิปไตย (จุดหมายของปวงชน) ก่อนยกร่างรัฐธรรมนูญ (วิธีการปกครองของปวงชน)

 

ปวิช เพชรอริยะ

 

แก้ไขล่าสุด ใน วันพฤหัสบดีที่ 09 กรกฏาคม 2015 เวลา 18:17 น.
 


หน้า 295 จาก 561
Home

About Us

ศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ (ศบม.) เป็นองค์กรที่พัฒนาและจัดทำโครงการเพื่อทำประโยชน์ให้สังคม เป็นองค์กรสนับสนุนการดำเนินงานของภาครัฐ ช่วยแก้ปัญหาผู้ประกอบการภาคธุรกิจบริการที่ขาดแคลนบุคลากรที่มีมาตรฐานในการให้บริการ
อ่านเพิ่มเติม

มูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ ์

 iHDC Profile
บัญชีรายชื่อกรรมการ
ใบสำคัญแสดงการจดทะเบียน การเปลี่ยนแปลงกรรมการของมูลนิธิ
เอกสารประชาสัมพันธ์ โครงการ HMTC.pdf
เอกสารแนะนำโครงการ HMTC 1.pdf
เอกสารโครงการ HMTC 2 คุณสมบัติผู้เข้าร่วมโครงการ.pdf
iHDC นิติบุคคล.pdf
iHDC บุคคล.pdf
iHDC บุคคลเครือข่าย.pdf
รายงานการประชุม 6 มีนาคม 2560.pdf
ข้อบังคับมูลนิธิ
ใบสำคัญแสดงการจดทะเบียนจัดตั้งมูลนิธิ
Ihdc-Profile and Roadmap 2016-2019 Mar 23 2560.pdf
รายงานการประชุมใหญ่คณะกรรมการมูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ 2559.pdf
คำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ สาขาวิชาชีพ.pdf
รายงานการประชุมใหญ่วันที่ 18 ธ ค 2558 v 3.pdf
รายงานการประชุม วันที่ 24 ธันวาคม 2557 updated 4 มีนาคม 2558.pdf
iHDC-invitation Letter.doc
iHDC-Member Form Thai.doc
iHDC-Member Form English.doc
รายงานการประชุมกรรมการมูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ วันที่ 15 มกราคม 2556 ฉบับสมบูรณ์


thaibetter
พัฒนาประเทศไทยแบบทวีคูณ และยั่งยืน ( ททค )

Login


แบบสำรวจ

สถิติเว็บไซด์

สมาชิก : 5644
Content : 3068
เว็บลิงก์ : 26
จำนวนครั้งเปิดดูบทความ : 8747901

facebook

Twitter


ล่าสุด

บทความเก่า