Thaiihdc.org

  • เพิ่มขนาดตัวอักษร
  • ขนาดตัวอักษรปกติ
  • สดขนาดตัวอักษร
Thaiihdc.org

5. กระบวนการกำหนดยุทธศาสตร์ KM

พิมพ์ PDF

บันทึกชุด “ขอบฟ้าใหม่ในเรื่องความรู้” นี้ ถอดความจากหนังสือชื่อ The New Edge in Knowledge เขียนโดย Carla O’Dell & Cindy Hubert แห่ง APQC (American Productivity and Quality Center) ให้มุมมองต่อ KM สมัยใหม่ มีประเด็นทั้ง เชิงทฤษฎีและเชิงปฏิบัติ สอดคล้องกับยุคสมัยอย่างยิ่ง

บันทึกตอนที่ ๕ นี้ มาจากบทที่ 3 Knowledge Management Strategy and Business Case

สรุปได้ว่า ตอนที่ ๕ นี้ว่าด้วยเรื่องการกำหนดยุทธศาสตร์ KM ทั่วทั้งองค์กร ที่ส่งผลดีต่อกิจการ ขององค์กรอย่างแท้จริง เป็น KM ที่ “มีชีวิต” คือมีวิวัฒนาการก้าวหน้ายั่งยืน โดยต้องทำในรูปแบบ “การวางแผน ธุรกิจ KM”

ยุทธศาสตร์ KM ในที่นี้ เป็นขององค์กร ที่มีผู้บริหารหลายคน และท่านเหล่านั้นเป็น สปอนเซ่อร์ ของกิจกรรม KM ซึ่งหมายความว่าท่านเหล่านั้นจัดสรรทรัพยากรสนับสนุนกิจกรรม KM โดยมีความชัดเจน ว่าต้องการให้ KM ก่อผลกระทบอะไรทั้งต่อองค์กรภาพใหญ่ และต่อหน่วยงานย่อยของตน และผู้บริหารเหล่านั้น มั่นใจว่ายุทธศาสตร์ตามแผนธุรกิจ KM ที่เสนอ จะสนองผลที่ต้องการได้อย่างแท้จริง

ขั้นตอนแรกคือ ตรวจสอบ “KM maturity” ขององค์กร ซึ่งหมายความว่า มีความเชื่อว่าองค์กรมีการ ดำเนินการ KM อยู่แล้ว แต่อาจทำอย่างไม่เป็นระบบ และไม่รู้ตัว จุดสำคัญคือต้องไม่เริ่มจากศูนย์ ต้องดำเนิน การต่อยอดจากจุดแข็งที่มีอยู่แล้ว นี่คือยุทธศาสตร์อย่างหนึ่งของ KM

KM ระดับองค์กร กับ KM เฉพาะส่วน

ผู้เขียนแนะนำให้ใช้ KM ทั้งองค์กร (Enterprise KM) ไม่แนะนำให้ใช้เฉพาะบางหน่วยงาน (Local KM Initiatives) แบบต่างหน่วยต่างทำ เพราะคุณค่าสำคัญอย่างหนึ่งของ KM คือช่วยทะลายไซโลระหว่างหน่วยงาน และประโยชน์จากความแตกต่างหลากหลายระหว่างหน่วยงาน ทำให้การแลกเปลี่ยนเรียนรู้มีพลังยิ่งขึ้น รวมทั้งทำให้มี economy of scale จากการลงทุนส่งเสริม KM

โครงสร้างความคิดสำหรับพัฒนายุทธศาสตร์ KM

โครงสร้างความคิดที่ผู้เขียนแนะนำให้ใช้คือ ระดับพัฒนาการของ KM ที่เสนอโดย APQC (APQC’s Level of Knowledge Management Maturity) ดังรูปและคำอธิบายต่อไปนี้

องค์กรที่มีพัฒนาการ ระดับ ๑ (Initiate : Growing Awareness) มีความตระหนัก ว่าองค์กรมีปัญหาในการเก็บรักษา และแลกเปลี่ยน ความรู้ ผู้นำ KM ส่งเสริมการทำความเข้าใจ KM และการพัฒนายุทธศาสตร์ KM เริ่มโดยหาทางประเมิน ว่าพนักงานมีการแลกเปลี่ยนความรู้กันเพียงใด มีอะไรบ้างที่เป็นอุปสรรค มีเครื่องมือและเทคโนโลยี สำหรับ นำมาปรับใช้ได้ในกระบวนการ KM อย่างไรบ้าง

ระดับที่ ๒ (Develop : Growing Involvement) มีการดำเนินการเพื่อส่งเสริมการไหลของความรู้ ภายในองค์กร มีกลุ่มแกนนำ KM และทิศทางเชิงกลยุทธ กลุ่มแกนนำดำเนินการระบุความรู้ที่มีความสำคัญ ยิ่งยวด (critical knowledge) จัดการประชุมปฏิบัติการหาความต้องการ (need assessment) ร่วมกับพนักงานด้าน IT และด้านอื่นๆ ซึ่งผมคิดว่าหน่วย HRD (Human Resources Development) และ OD (Organization Development) ต้องเข้ามาร่วมเป็นแกนนำ กำหนด Key Performance Indicators ของระบบ KM รวมทั้งทำแผนที่ความรู้ (Knowledge Maps) เพื่อบอกความต้องการความรู้ และช่องว่าง (gaps) ที่มีอยู่

ระดับที่ ๓ (Standardize : Aligning processes and approaches) มีมาตรฐานการไหลของความรู้ โฟกัสที่ความต้องการของบริษัท เห็นผลที่ได้จาก KM และมีโครงสร้างพื้นฐานสนับสนุน KM (KM Infrastructure) มีความเป็นเจ้าของ (Strategic ownership) ต่อ KM โดยมีการกำหนดบทบาทความรับผิดชอบ ชัดเจน และมีการวัดตรวจสอบสุขภาพ และผลสัมฤทธิ์ของ KM ด้วย

ระดับที่ ๔ (Optimize : Driving organizational outcomes) มี alignment ระหว่าง KM กับ Organizational Objectives โดยเน้นที่การยกระดับความรู้สำคัญทั่วทั้งองค์กร สำหรับใช้สนับสนุน พันธกิจขององค์กร KM ได้รับการยอมรับว่าเป็นหน้าที่หลัก ยุทธศาสตร์ KM บูรณาการอยู่ในยุทธศาสตร์ องค์กร และรายงาน KM บูรณาการอยู่ในรายงานขององค์กร ในการวัด Performance Assessment ของพนักงาน มีการวัดผลงาน KM ด้วย KM บูรณาการอยู่ใน Talent management และ Leader development ขององค์กร

ระดับที่ ๕(Innovate : Improving) ปฏิบัติการ KM ฝังอยู่ในกระบวนการหลักขององค์กร โฟกัสที่ความสามารถในการใช้ KM ระดับองค์กร การไหลของความรู้สนับสนุนนวัตกรรม และ continuous improvement KM เป็นส่วนหนึ่งของ Enterprise Excellence Framework ระบบงบประมาณขององค์กร มีงบประมาณของ KM อยู่ด้วย และหน่วย KM ทำงานร่วมกับหน่วยงานที่รับผิดชอบ talent management, leader development, process improvement, organizational learning เพื่อพัฒนาแนวทางดำเนินการใหม่ๆ ที่ช่วยยกระดับของผลประกอบการขององค์กร

การใช้ความรู้ พัฒนาขึ้นกับโปรแกรม KM อย่างไร

เมื่อขีดความสามารถด้าน KM พัฒนาขึ้น ความสามารถในการประยุกต์ใช้ความรู้เพื่อเพิ่มมูลค่า และคุณค่าก็เพิ่มขึ้น ลักษณะและธรรมชาติของความรู้ที่มีความสำคัญยิ่งยวดจะมีวิวัฒนาการตามระดับ ของพัฒนาการของ KM เป็น ๔ แบบของความรู้ คือ

  • Ad hoc knowledge การจับความรู้ และนำเอาไปใช้ต่อ (reuse) มีน้อย
  • Applied knowledge มีความตระหนักในความสำคัญของความรู้ จึงมีระบบการนำไปใช้ต่อ
  • Leveraged knowledge ความรู้และการไหลของความรู้ เป็นหัวใจของผลประกอบการ
  • Dynamic knowledge มีการใช้ความรู้ทั่วทั้งองค์กรเพื่อสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน และนวัตกรรม

กำหนดยุทธศาสตร์เกี่ยวกับคุณค่าของ KM ในองค์กร

เมื่อมีความชัดเจนเรื่องพลังของ KM จุดอ่อนของ KM ในองค์กร และโอกาสในการยกระดับแล้ว ขั้นตอนต่อไปคือ กำหนดความชัดเจน ว่าจะนำ KM ในสร้างผลลัพธ์ต่อองค์กรอย่างไร ดังตัวอย่างของ วัตถุประสงค์

  • เพื่อให้พนักงานใหม่มีขีดความสามารถในการทำงานอย่างรวดเร็ว
  • จับความรู้ไว้ในองค์กร เมื่อพนักงานลาออก
  • จับความรู้จากการทำโครงการ สำหรับนำมาใช้ใหม่
  • ป้องกันความรู้เชิงเทคนิคสูญหายไป
  • ขยายขีดความสามารถด้านนวัตกรรม
  • สร้างวัฒนธรรมแลกเปลี่ยนความรู้
  • เร่งอัตราความเร็วในการเรียนของพนักงานทุกคน
  • เพื่อให้พนักงานที่มีประสบการณ์น้อย ได้เข้าถึงพนักงานที่มีประสบการณ์มาก

แล้วจึงบริหารทรัพยากร KM เพื่อผลลัพธ์ดังกล่าว ผ่านการพัฒนาคน (people), กระบวนการ (process), และเทคโนโลยี

ด้านคน ต้องจัดให้มีโครงสร้างกลางของการสื่อสารที่ทำให้คนแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และยกระดับความรู้ รวมทั้งสื่อสารให้พนักงานทราบความคาดหวังในผลงาน และต่อพนักงาน รวมทั้งให้สามารถระบุตัวพนักงาน ที่มีพฤติกรรมเป็นผู้นำด้าน KM

ด้านกระบวนการ ต้องมีเกณฑ์ในการคัดเลือกและมีวิธีจัดการ “ความรู้ฝังลึก” (Tacit Knowledge) ที่มีคุณค่าสูง มีวิธีการวัดคุณค่าของ KM, เครื่องมือ, และโครงการ ต่อองค์กร เพื่อสร้าง alignment ของสิ่งเหล่านั้น ต่อเป้าหมายเชิงยุทธศาสตร์ขององค์กร

ด้านเทคโนโลยี ยุทธศาสตร์ด้านเทคโนโลยีต้องทำให้เกิดโครงสร้างกลางด้านเทคโนโลยีเพื่อขับเคลื่อน KM ของทั้งองค์กร ไม่ใช่ต่างหน่วยต่างใช้เทคโนโลยีคนละอย่าง มี common taxonomy สามารถเอื้อให้มีการ จัดการ content หรือความรู้ ในด้านการตรวจจับ รวบรวม จัดหมวดหมู่ และแก้ไขเพิ่มเติม รวมทั้งเอื้อต่อ การไหลของความรู้ตามความต้องการ ต้องมีความชัดเจนว่า เทคโนโลยีที่จัดขึ้น จะช่วยพนักงานแต่ละคนให้ ค้นหาความรู้ ค้นหาพนักงานที่มีความรู้ ที่ตนต้องการได้สะดวกรวดเร็ว รวมทั้งพนักงานสามารถแลกเปลี่ยน แบ่งปัน “ความรู้ปฏิบัติ” ของตน ผ่านระบบเทคโนโลยีได้สะดวก

จุดสมดุลของยุทธศาสตร์

ผู้เขียนแนะนำว่า ในเรื่องเทคโนโลยีสารสนเทศ น่าจะลงทุนพัฒนาระบบขององค์กรในภาพรวม มากกว่าเครื่องมือชิ้นเล็กชิ้นน้อย ควรเน้นใช้เงินเพื่อส่งเสริม กระบวนการ และด้านคนให้มาก ระวังอย่าหมดเงินไปกับเทคโนโลยีราคาแพง ที่ใช้ได้ไม่คุ้มค่า

วางแผนธุรกิจ KM

หัวใจคือ KM ต้องทำให้กิจการหรือธุรกิจขององค์กรดีขึ้น จึงต้องมีการวางแผนธุรกิจของกิจกรรม KM เชิงปฏิบัติ ว่า KM ที่กำลังวางยุทธศาสตร์นี้ จะให้ผลต่อองค์กรอย่างแท้จริง มีการประมาณการการลงทุน และการจัดหาสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ เพื่อให้ความรู้ที่มีความสำคัญยิ่งยวด ไหลไปยังจุดที่มีความต้องการ อย่างแท้จริง

กล่าวให้ง่ายที่สุดคือ “แผนธุรกิจ KM” ต้องผ่านการพิจารณาของผู้บริหารระดับสูงหลายระดับ ว่าเป็นกิจกรรมที่ก่อผลคุ้มค่า ต่อธุรกิจหลักขององค์กร และก่อผลความเข้มแข็งยั่งยืนในระยะยาวขององค์กร

แผนธุรกิจ KM ควรประกอบด้วย

  • ขอบเขตเบื้องต้น (กระบวนการ โครงการ หน้าที่หรือขอบเขตของความรู้)
  • เป้าหมาย วัตถุประสงค์ และตัวชี้วัดความสำเร็จ สำหรับช่วงแรก
  • ข้อมูลพื้นฐาน
  • โอกาสที่ความรู้จะไหลเวียนดีขึ้น รวมทั้งผลประโยชน์ และคุณค่าที่ได้
  • ทรัพยากร และระบบเทคโนโลยีสารสนเทศที่ต้องการ
  • ผู้สนับสนุน และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลัก
  • ความเสี่ยง และอุปสรรคต่อความสำเร็จ
  • ประมาณการการลงทุน และผลกำไรที่ได้
  • เป้าหมายรายทาง และตารางเวลา
  • ต้องการให้อนุมัติอะไรบ้าง ก่อนเริ่มดำเนินการ

ย้ำว่า ต้องเป็นแผนธุรกิจ KM ของทั้งองค์กร และต้องใช้เวลา การปรึกษาหารือ และการไตร่ตรอง อย่างรอบคอบในขั้นตอนนี้

วิพากษ์และสรุป

มี ๕ ประเด็นสำคัญที่ต้องคำนึงถึงในการพัฒนา KM Strategy

  1. สมดุลระหว่าง people, process, technology
  2. ตอบสนองเป้าหมายภาพใหญ่ของทั้งองค์กร
  3. ถูกกาละ
  4. ช่วยยกระดับกิจกรรม/กระบวนการ และเทคโนโลยี ที่เป็นตัวหลักขององค์กร
  5. ยุทธศาสตร์นี้ จะช่วยเปลี่ยนแปลงมุมมองต่อคุณค่าของ KM

วิจารณ์ พานิช

๓๑ พ.ค. ๕๘

คัดลอกจาก: https://www.gotoknow.org/posts/591853

แก้ไขล่าสุด ใน วันเสาร์ที่ 04 กรกฏาคม 2015 เวลา 11:25 น.
 

ใช้ KM ทำ Reversed Strategic Management

พิมพ์ PDF

"ยุทธศาสตร์สร้างการเปลี่ยนแปลงต้องเน้นที่การปฏิบัติ มากกว่าเน้นที่ความคิดหรือทฤษฎี หรือกล่าว ให้มีดุลยภาพ ต้องใช้ทั้งความรู้ปฏิบัติและความรู้ทฤษฎีให้เสริมพลังกัน ตามแนวทางของวงจร SECI"

KM วันละคำ : 645. ใช้ KM ทำ Reversed Strategic Management

ผมได้แนวคิดนี้เมื่อวันที่ ๒๐ มิถุนายน ๒๕๕๘ ในการสัมมนาเรื่อง ยุทธศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล สู่การเป็นมหาวิทยาลัยวิจัยระดับโลก ที่แหลมผักเบี้ย จังหวัดเพชรบุรี

เพราะทีมจัดการประชุมเสนอแนวทางอย่างเป็นระบบ คือคิดจากเป้าหมาย ไปสู่การดำเนินการ เชิงกลยุทธ ไปสู่ตัวชี้วัด เรียกว่า Strategic Management

แต่ในทางปฏิบัติ ผมเสนอให้ทำกลับทาง คือทำแบบ KM เอาเรื่องราวความสำเร็จเล็กๆ ตามเป้าหมาย มา ลปรร. กัน โดยวิธีการ SSS (Success Story Sharing) จะช่วยให้ ความรู้ปฏิบัติ (Tacit Knowledge) ว่าด้วยการ ดำเนินการเพื่อเดินไปสู่เป้าหมายการเป็นมหาวิทยาลัยวิจัยระดับโลก ได้รับการยอมรับ และแพร่กระจายไปสู่ ทุกภาคส่วนของมหาวิทยาลัยมหิดล

ความสำเร็จเล็กๆ นี้ จะมีอยู่ทั่วไป ใน(เกือบ)ทุกส่วนงานของมหาวิทยาลัยมหิดล เวที SSS จะช่วยสร้าง ความมั่นใจว่า(เกือบ)ทุกส่วนงานมีศักยภาพ และมีการดำเนินการสู่เป้าหมาย มหาวิทยาลัยวิจัยระดับโลก อยู่แล้ว มากบ้างน้อยบ้างแล้วแต่ส่วนงาน

จะมีการพูดคุยในเวที SSS เพื่อไตร่ตรองสะท้อนคิด (Reflection/ AAR) ว่าจะขยาย SS (Success Story) ที่มีอยู่แล้ว ให้ลงลึกขึ้น กว้างขวางขึ้น เพื่อขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยมหิดลไปสู่เป้าหมายมหาวิทยาลัยวิจัยระดับโลก ได้อย่างไร เพื่อให้แต่ละส่วนงานเลือกหยิบไปดำเนินการ แล้วนำเอา SS มา ลปรร. ใน SSS ต่อไปอีก เพื่อค่อยๆ ขับเคลื่อนทุกส่วนงานของมหาวิทยาลัยมหิดล สู่มหาวิทยาลัยวิจัยระดับโลก

เป็นยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลง (change management) ด้วยความรู้ปฏิบัติ ที่ฝังลึกอยู่ใน เรื่องราวของความสำเร็จ เมื่อเอาเรื่องราวความสำเร็จมาเล่า ซักถาม และตีความ ก็จะเกิดการเคลื่อนย้าย ความรู้ฝังลึก (tacit knowledge) สู่ผู้ปฏิบัติในส่วนงานอื่น หรือทีมงานอื่น เปิดโอกาสให้มีการนำความรู้ฝังลึก ไปตีความ และใช้ในส่วนงานอื่น บริบทอื่น ก่อ SS สำหรับนำมาหมุนเกลียวความรู้ผ่านการปฏิบัติต่อเนื่อง ไม่จบสิ้น

ยุทธศาสตร์สร้างการเปลี่ยนแปลงต้องเน้นที่การปฏิบัติ มากกว่าเน้นที่ความคิดหรือทฤษฎี หรือกล่าว ให้มีดุลยภาพ ต้องใช้ทั้งความรู้ปฏิบัติและความรู้ทฤษฎีให้เสริมพลังกัน ตามแนวทางของวงจร SECI

เวที SSS เป็นเครื่องมือจับความรู้ปฏิบัติ และเปิดโอกาสให้มีการขับเคลื่อนความรู้สู่การปฏิบัติ ยกระดับความรู้ และยกระดับผลงาน อย่างไม่มีวันจบสิ้น

วิจารณ์ พานิช

๒๑ มิ.ย. ๕๘

บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย 

คัดลอกจาก: https://www.gotoknow.org/posts/591726

แก้ไขล่าสุด ใน วันเสาร์ที่ 04 กรกฏาคม 2015 เวลา 22:32 น.
 

ชีวิตที่พอเพียง : 2440a. อย่าให้พืชเฉพาะถิ่นของไทยสูญพันธุ์.

พิมพ์ PDF

" นี่คือโอกาส พัฒนาการท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์ คือโอกาสให้ทุนวิจัยขยายพันธุ์ สร้างระบบนิเวศน์จำลอง เพื่ออนุรักษ์ และจำหน่ายพันธุ์ เป็นธุรกิจเชิงนิเวศน์ "

อย่าให้พืชเฉพาะถิ่นของไทยสูญพันธุ์

บทความเรื่อง Act now to save Thailand’s threatened plant species ลงใน นสพ. บางกอกโพสต์ วันที่ ๒๗ มิถุนายน ๒๕๕๘ ระบุพืชใกล้สูญพันธุ์ในประเทศไทย ๓ ชนิด คือ พลับพลึงธาร (Crinum thaianum) พบเฉพาะที่ระนองและพังงา กับ หม้อข้าวหม้อแกงลิงชนิด Nepenthes suratensis พบเฉพาะถิ่น ที่สุราษฎร์ธานี และอีกชนิดคือ Cryprocoryne loeiensis (ค้นชื่อไทยไม่พบ) พบเฉพาะถิ่นในแม่น้ำโขงที่ อ. เชียงคาน จ. เลย

พืชเหล่านี้เสี่ยงสูญพันธุ์เพราะการพัฒนาของภาครัฐ แบบรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ดัง ข้อมูลนี้

ผมแปลกใจ ที่คนลุกขึ้นมาโวยเป็นฝรั่ง

นี่คือพืชเฉพาะถิ่น อยู่ในพื้นที่ที่มีระบบนิเวศน์จำเพาะ คือน้ำขึ้นน้ำลงประจำปี มีช่วงน้ำขึ้น และต้นพืชแช่น้ำอยู่นานหลายเดือน สลับกับหน้าแล้งยาว พืชต้องอยู่ในช่วงพัก หากมีการทำลาย ระบบนิเวศน์แบบนั้น พืชชนิดนั้นก็สูญพันธุ์

ผมมองว่า นี่คือโอกาส พัฒนาการท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์ คือโอกาสให้ทุนวิจัยขยายพันธุ์ สร้างระบบนิเวศน์จำลอง เพื่ออนุรักษ์ และจำหน่ายพันธุ์ เป็นธุรกิจเชิงนิเวศน์

วิจารณ์ พานิช

๒๘ มิ.ย. ๕๘




บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย 

คัดลอกจาก: https://www.gotoknow.org/posts/591725

แก้ไขล่าสุด ใน วันเสาร์ที่ 04 กรกฏาคม 2015 เวลา 22:43 น.
 

วิธีเขียนบททบทวนวรรณกรรม

พิมพ์ PDF

ผมได้รับ อีเมล์ ดังต่อไปนี้


เรียน ศาสตราจารย์ นายแพทย์วิจารย์ พานิช ที่เคารพ

ผมชื่อ ปัจจุบันเรียนปริญญาโท สาขาผู้นำทางสังคม ธุรกิจและการเมือง  มหาวิทยาลัย ผมติดตามอ่านผลงานของอาจารย์อย่างสม่ำเสมอใน Goto Know และได้รับประโยชน์ พร้อมทั้งมุมมองใหม่ที่ผมคิดไม่ถึงหลายประเด็น

ช่วงนี้ผมกำลังอ่าน literature review เพื่อทำวิทยานิพนธ์ ผมเกิดข้อสงสัยและคิดวกวนหาคำตอบมาหลายสัปดาห์ แต่ยังไม่มีคำตอบที่แน่นอน ปัญหา คือ ผมจะเขียนสรุปจากสิ่งที่ผมอ่านในบทความต่างๆ อย่างไร ยกตัวอย่างเช่น ผมอ่านบทความชิ้นหนึ่ง สมมติเนื้อหามี 10 หน้า ตั้งแต่หน้า 11-20 แล้วกันนะครับ เมื่ออ่านเสร็จ ผมควรสรุปเป็นย่อความสั้นด้วยความเข้าใจของผม แล้วนำไปเขียน literature review สักประมาณ 10-15 บรรทัด หรือผมควรจะตัดและคัดลอก (แบบไม่โจรกรรมวรรณกรรม) นำมาวางลงในงานผมได้ทันที

ส่วนตัวผมอ่านบทความครบทุกหน้าและสรุปตามที่ผมเข้าใจ แต่เมื่อนำไปให้อาจารย์ที่ปรึกษาพิจารณา ท่านบอกว่าวิธีการที่ผมทำนั้น จะทำให้เสียเวลาเพราะต้องอ่านทุกหน้า ใช้เวลาทำความเข้าใจนาน จึงสรุป จึงแนะนำให้ผมใช้วิธีคัดและนำมาวาง โดยการดัดแปลงข้อความก่อนนำมาใช้เล็กน้อย ตอนนี้ผมจึงสับสนว่า วิธีการแบบใด เหมาะสมหรือจะช่วยพัฒนาองค์ความรู้หรือได้พบข้อค้นพบใหม่จากการตีความ literature review กันแน่ครับ ผมจึงอยากข้อคำชี้เเนะจากผู้รู้เช่นอาจารย์ครับ

ผมติดตามอาจารย์มาหลายปี แต่ไม่เคยคิดว่าวันนี้จะส่งอีเมล์มาหาอาจารย์เลยครับ

ต้องขอรบกวนเวลาอาจารย์เพียงเท่านี้

ขอขอบพระคุณอาจารย์อย่างสูงครับ

ขอแสดงความเคารพอย่างสูง


ผมตอบดังนี้


เรียน ...

ขอบคุณสำหรับการติดตามอ่านบันทึกใน บล็อก และคำถามครับ

คำถามนี้ทำให้ผมได้เรื่องเขียนอีกบันทึกหนึ่ง ว่าด้วยการเขียนบททบทวนวรรณกรรม และการศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา ที่น่าจะแยกประเด็นเรียนรู้ได้ ๒ ประเด็น คือ (๑) เขียนบททวนวรรณกรรมเพื่ออะไร (๒) เขียนอย่างไร ซึ่งทั้งสองประเด็นเกี่ยวพันกัน คำตอบข้อที่ ๑ จะนำไปสู่คำตอบข้อที่ ๒ ที่แตกต่างกัน

อาจารย์ที่ปรึกษาของคุณคงมีเจตนาต้องการให้คุณเรียนจบเร็วๆ จึงแนะนำเช่นนั้น คือมีเป้าหมายเขียนทบทวนวรรณกรรมเพื่อให้เรียนจบ ได้ปริญญาโท จึงแนะนำให้คัดลอก โดยดัดแปลงเล็กน้อย เพื่อไม่ให้คอมพิวเตอร์ตรวจพบว่ามีการคัดลอก ซึ่งผมคิดว่า ก็ยังเป็นการคัดลอกอยู่ดี และผมยังมองว่า เป็น plagiarism

ในมุมมองของผม การเขียนวิทยานิพนธ์ทั้งเล่ม (รวมทั้งบททบทวนวรรณกรรม) คือเครื่องมือ ของการเรียนรู้ การเรียนรู้คือเป้าหมายที่แท้จริงของการเรียนปริญญาโท (และปริญญาอื่นๆ) ดังนั้น ในขั้นตอนของการเขียนบททบทวนวรรณกรรม จึงควรใช้ฝึกการอ่าน การสรุปความ และการสังเคราะห์ เชื่อมโยงประเด็นโดยอาจารย์ที่ปรึกษาควรช่วยอ่านและ feedback ให้แก่ศิษย์ เพื่อเป็นโค้ชของการฝึกนี้ อาจารย์ที่ไม่ได้ทำส่วนนี้ ผมถือว่าทำหน้าที่ไม่ครบถ้วนหรือบกพร่อง

ดังนั้น คำตอบของผมคือ ที่คุณทำนั้นถูกต้องแล้ว หากมองจากมุมของการฝึกฝนเรียนรู้ของตนเอง ที่อาจารย์ที่ปรึกษาแนะนำนั้นผิด

แต่ยิ่งกว่านั้น คุณควรได้ฝึกเชื่อมโยงสาระจากเอกสารอ้างอิงต่างชิ้น ต่างบทความ สังเคราะห์ เป็นสาระภาพใหญ่ หรืออาจฝึกเปรียบเทียบสาระของต่างชิ้นงาน และทำความเข้าใจที่มาของความ แตกต่างนั้น

คุณควรได้ฝึกตรวจสอบวิธีวิทยาของแต่ละชิ้นงาน ว่ามีความน่าเชื่อถือเพียงใด

การเรียนรู้สูงสุด คือหัดสังเกตวิธีตั้งโจทย์วิจัยของผลงานแต่ละชิ้น ว่าทำไมเขาคิดโจทย์นั้นออก และเขามีวิธีตอบโจทย์นั้นให้น่าเชื่อถืออย่างไร จากข้อมูลหลักฐานและการวิเคราะห์ข้อมูลที่ได้ เขาสรุปอย่างไร มีการสรุปอย่างระมัดระวัง ไม่สรุปเกินข้อมูลหลักฐานอย่างไร และข้อสรุปนั้น เพิ่มเติมความรู้ที่มีอยู่แล้วอย่างไร

มุมมองทั้งหมดของผมนั้น อยู่บนฐานความเชื่อว่า การทำปริญญาโทมีเป้าหมายหลักที่การฝึกฝน ตนเองทางด้านวิชาการ ให้อ่านผลงานวิจัยเป็น จับใจความเป็น ตรวจสอบความน่าเชื่อถือเป็น หาช่องโหว่ของความรู้เป็น และนำไปสู่การฝึกสร้างความรู้ (วิจัย) ด้วยตนเอง ในโครงการเล็กๆ เพื่อตอบคำถามที่มีความสำคัญ และไม่เคยมีใครตอบมาก่อน

ส่วนการได้ปริญญานั้น เป็นเรื่องรอง

จึงนำมาเล่าไว้ เพื่อแสดงจุดยืนหรือความเห็นเรื่อง plagiarism และเรื่องการทำปริญญาโท ของผม

หลังจากผมตอบไปไม่ข้ามวัน ก็ได้รับคำตอบดังนี้


เรียน อาจารย์วิจารณ์ พานิช

ตามที่อาจารย์แนะนำมานั้น ทำให้ผมมีความมั่นใจในการเรียนของผมมากยิ่งขึ้น แต่สิ่งที่ผมควรหลีกเลี่ยง คือ การมีปัญหากับอาจารย์ที่ปรึกษา ถ้าผมไม่ทำตามท่านนั่นคงหมายถึงผลกระทบที่ไม่ดีอาจจะเกิดขึ้นตามมา

ผมสังเกตอีกอย่างเห็นว่า ถึงผมจะอ่านและสรุปวรรณกรรมตามวิธีของผม เมื่อส่งอาจารย์ที่ปรึกษาก็ใช่ว่าท่านจะอ่านทุกคำ และคิดว่าผมคงลอกมาจากที่ใดสักแห่ง ซึ่งในความเป็นจริงผมสรุปจากการอ่านของผม

พอประสบเรื่องนี้ด้วยตนเอง จึงเห็นและเข้าใจปัญหาของผู้ทำลายการศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา ผู้ทำลายไม่ได้อยู่ที่ตัวผู้เรียนเสียทั้งหมด อยู่ที่ผู้สอนด้วย หรืออาจรวมทั้งวงจร

ผมขอเป็นหนึ่งคนที่จะไม่ทำลายการศึกษาของประเทศนี้ ผมจะทำด้วยวิธีการที่ถูกต้องดังอาจารย์ยืนยันให้กับผมครับ

ขอกราบขอบพระคุณอาจารย์ที่สละเวลาอ่านและตอบอีเมล์ของผม ผมรู้สึกซาบซึ้งใจมากครับ

และจะติดตามผลงานอาจารย์ต่อไปอย่างต่อเนื่อง


ด้วยความเคารพอย่างสูง


วิจารณ์ พานิช

๒๑ พ.ค. ๕๘


บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย 

คัดลอกจาก: https://www.gotoknow.org/posts/591681

แก้ไขล่าสุด ใน วันเสาร์ที่ 04 กรกฏาคม 2015 เวลา 23:02 น.
 

โรคกระเพาะ..หรือ..กรดไหลย้อน?

พิมพ์ PDF

วันนี้คุยเรื่อง โรคที่กำลังแจ้งเกิดและกำลังHot-Hit ใน 2 โรค คือ โรคกระเพาะอาหาร (Peptic Ulcer) และ โรคกรดไหลย้อน Gastro-Esophageal Reflux Disease ; GERD (เกิร์ด).. ไม่ใช่โรคร้ายแรงถึงชีวิตเหมือนโรคมะเร็งหรือโรคหัวใจ แต่เป็นโรคที่สร้างความทุกข์ทรมานให้กับผู้ป่วย ทำให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตและประสิทธิภาพการทำงานลดลง อย่างมากเลยนะค่ะ ... ความแตกต่างของทั้ง 2 โรคมีดังนี้ค่ะ

โรคกระเพาะอาหาร ...ที่เป็นแผลบริเวณกระเพาะอาหาร หรือ ลำไส้เล็กส่วนต้น หรือมีการอักเสบของเยื่อกระเพาะอาหาร คนที่เป็นโรคนี้แล้วสามารถรักษาให้หายขาดได้ ส่วนมากมักจะเป็นเรื้อรัง หรือเป็นนานๆ ถ้าไม่รักษาหรือปฏิบัติตัวให้ถูกต้องจะมีอาการเป็นๆ หายๆ และถ้าปล่อยให้เป็นมาก จะทำให้เกิดโรคแทรกซ้อน ซึ่งเป็นอันตรายถึงชีวิตได้

สาเหตุที่กระเพาะอาหาร มีกรดมากขึ้น เกิดขึ้นเนื่องจาก 
1. กระตุ้นของปลายประสาท เกิดจากความเครียด วิตกกังวลและอารมณ์ 
2. การดื่มแอลกอฮอล์ ได้แก่ เหล้า เบียร์ ยาดอง 
3. การดื่มกาแฟ 
4. การสูบบุหรี่ 
5. การกินอาหารไม่เป็นเวลา


เยื่อบุกระเพาะอาหารถูกทำลาย เกิดจาก 
1. การกินยาแก้ปวด ลดไข้ แก้ปวดกระดูก ปวดกล้ามเนื้อ ยาชุดที่มีแอสไพริน และยาสเตียรอยด์ ยาลูกกลอนต่างๆ 
2. การกินอาหารเผ็ดจัด และเปรี้ยวจัดจากน้ำสมสายชู 3. การดื่มแอลกอฮอล์ ได้แก่ เหล้า เบี้ย ยาดอง

3. การดื่มแอลกอฮอล์ ได้แก่ เหล้า เบี้ย ยาดอง

อาการของโรคกระเพาะ..

1. ปวดท้องลักษณะอาการปวดท้องที่สำคัญ คือ...ปวดบริเวณลิ้มปี ปวดแบบแสบๆ หรือร้อนๆ ... ปวดเรื้อรังมานาน เป็นๆ หายๆ เป็นเดือนหรือเป็นปี .... ปวดสัมพันธ์กับอาหาร เช่น ปวดเวลาหิว หรือท้องว่างเมื่อกินอาหารหรือนมจะหายปวดบางรายจะปวดหลังจากกินอาหารหรือนมจะหายปวดบางรายจะปวดหลังจากกินอาหารหรือ..ปวดกลางดึกก็ได้ .... อาการจะเป็นๆหายๆ

2. จุกเสียด แน่นท้อง ท้องอืด ท้องขึ้น ท้องเฟ้อ เรอลม มีลมในท้อง ร้อนในท้อง คลื่นไส้อาเจียน

3. อาการโรคแทรกซ้อน ได้แก่ อาเจียนเป็นเลือดดำ หรือแดง หรือถ่ายดำ เนื่องจากมีเลือดออกในกระเพาะอาหาร หรือลำไส้เล็กส่วนต้น ... ปวดท้องรุนแรง และ ช๊อค เนื่องจากแผลกระเพาะอาหารหรือลำไส้เล็กทะลุ ... ปวดท้องและอาเจียนมาก เนื่องจากการอุดต้นของกระเพาะอาหาร .... อาการของโรคกระเพาะอาหารจะไม่สัมพันธ์กับความรุนแรงของโรค ... บางรายไม่มีอาการปวดท้อง แต่มีแผลใหญ่มากในกระเพราะอาหาร หรือลำไส้ บางรายปวดท้องมากแต่ไม่มีแผลเลยก็ได้ค่ะ

 

โรคกรดไหลย้อน (Gastro-Esophageal Reflux Disease ; GERD: เกิร์ด) คือ ภาวะที่มีกรดหรือน้ำย่อยในกระเพาะอาหารไหลย้อนขึ้นมาบริเวณหลอดอาหาร ... ซึ่งหลอดอาหารเป็นอวัยวะที่ไม่ทนต่อกรด จึงทำให้เกิดการอักเสบของหลอดอาหาร ซึ่งโดยปกติ ... หลอดอาหารจะมีการบีบตัวไล่อาหารลงด้านล่างและหูรูด ... ทำหน้าที่ป้องกันการไหลย้อนของน้ำย่อย กรดหรืออาหาร ไม่ให้ไหลย้อนขึ้นมาบริเวณหลอดอาหาร ... แต่ในปัจจุบัน หูรูดส่วนนี้ทำงานได้น้อยลงในบางคน ซึ่งจะตรวจพบได้ประมาณ 1 ใน 5 คน พบในคนทั่วไป ... ทุกกล่ม .... ทุกช่วงอายุ แต่จะพบได้มากในคนอ้วนหรือสูบบุหรี่ และการไหลย้อนของกรด ....ถ้ามีมาก อาจไหลออกนอกหลอดอาหาร ... อาจทำให้มีผลต่อกล่องเสียง ลำคอ หรือปอดได้ค่ะ

โรคกรดไหลย้อน เป็นผลมาจากกรดในกระเพาะอาหารไหลย้อนขึ้นมาที่หลอดอาหาร ซึ่งกรดเหล่านี้มีความเข้มข้นสูงมาก ทำให้เกิดอันตรายต่อหลอดอาหาร และเยื่อบุในหลอดอาหารที่มีความบอบบาง กระทั่งทำให้เกิดการอักเสบตามมาค่ะ

อาการของโรค กรดไหลย้อน แบ่งเป็น 2 ระบบ ดังนี้

1. อาการที่เกิดในหลอดอาหาร ... จะมีอาการเจ็บคอ กลืนลำบาก รู้สึกเหมือนมีก้อนอยู่ในลำคอ แสบลิ้นเรื้อรัง จุกแน่นแถวๆ หน้าอกคล้ายอาหารไม่ย่อย อาการนี้มักจะเป็นมากขึ้นหลังอาหารมื้อหลัก การโน้มตัวไปข้างหน้า การยกของหนักหรือการนอนหงาย ที่สำคัญคือ จะมีอาการแสบหน้าอก เรอเปรี้ยว รู้สึกเหมือนมีกรดซึ่งเป็นน้ำรสเปรี้ยวหรือรสขมไหลย้อนขึ้นมาในปาก ... ภาวะดังกล่าวนี้อาจทำให้เกิดหลอดอาหารอักเสบ ... ถ้าเป็นมากจนเกิดแผลรุนแรง อาจทำให้หลอดอาหารตีบหรือเกิดการเปลี่ยนแปลงเซลล์ของเยื่อบุอาหารได้ค่ะ

2. อาการนอกหลอดอาหาร ... จะมีเสียงแหบเรื้อรัง มักมีเสียงแหบตอนเช้าหรือมีเสียงผิดปกติไปจากเดิม ไอเรื้อรัง รู้สึกสำลักในเวลากลางคืน หรือในบางรายอาจมีอาการทางระบบหายใจ เช่น หอบหืด หรืออาการเจ็บหน้าอกได้... ดังนั้นหากมีอาการเหล่านี้อาจเป็นสัญญาณที่บอกว่ากำลังถูก "โรคกรดไหลย้อน" คุกคาม ค่ะ

    • 1. ผู้ที่มีน้ำหนักเกิน.... เพราะคนอ้วน (ดูที่ค่าBMIนะคะ) จะมีความดันในช่องท้องสูงทำให้ กรดไหลย้อน ได้มากค่ะ
      2. กินแล้วไม่นอนทันที ... ควรกินอาหารมื้อสุดท้ายก่อนนอน ... อย่างน้อย 2-3 ชั่วโมง ถ้าอาการไม่ดีขึ้น...ควรลองเเลื่อนวลาทานอาหารให้เร็วขึ้นคราวละ 1 ชั่วโมง ... เพื่อให้กระเพาะอาหารได้ย่อยทันก่อนถึงเวลาเข้านอน

      3.หลังทานอาหารเสร็จ ถ้าเป็นไปได้ให้เดินเล่นหรือเดินแกว่งแขนสัก 20-30 นาที อย่าเพิ่งนั่งหรือนอน

      4. งดบุหรี่ เพราะการสูบบุหรี่....จะทำให้เกิดกรดมาก ทำให้หูรูดอ่อนแอ ค่ะ
      5. ใส่เสื้อหลวมๆ และไม่ควรใส่เข็มขัดที่รัดแน่นเกินไป .. เพื่อลดแรงกดที่กระเพาะ ... เพราะการสวมเสื้อผ้ารัดแน่นอาจเป็นการกระตุ้นให้กระเพาะหลั่งกรดออกมามาก
      6.ไม่ควรจะนอนออกกำลังกายหรือยกของหนัก ... หลังออกกำลังกาย 
      7. กินอาหารให้ตรงเวลา เคี้ยวให้ละเอียด และไม่ควรงดอาหารมื้อเช้า
      8. งดอาหารมันๆ อาหารทอด อาหารที่ปรุงด้วยหอมหัวใหญ่ดิบ กระเทียม มะเขือเทศ ช็อกโกแลต ถั่ว ลูกอม เนย ไข่ สะระแหน่ รวมทั้งอาหารที่มี รสเผ็ด เปรี้ยวและเค็มจัด เพราะ... มีแก๊สมาก รวมทั้งไม่ควรเติมน้ำส้มสายชูลงในอาหาร เพราะยิ่งจะเพิ่มกรดในกระเพาะอาหาร ควรเปลี่ยนมาทานอาหารที่มีไขมันต่ำ เช่น เนื้อสัตว์ไขมันต่ำ อย่างปลา ไก่และอาหารที่มีเส้นใยมากๆ เช่น ธัญพืช ผัก ผลไม้

      9. ไม่ควรดื่มนมตอนท้องว่าง เพราะนมเป็นอาหารที่ค่อนข้างย่อยยาก กระเพาะจึงต้องหลั่งกรดออกมามากเป็นพิเศษ

      10. รับประทานอาหารแค่พออิ่มหรืออาจแบ่งอาหารเป็นมื้อเล็กๆ ทานน้อยแต่บ่อยได้
      11. หลีกเลี่ยง ชา กาแฟ น้ำอัดลม เบียร์ สุรา โซดา ... เนื่องจากมีแก๊สที่ทำให้ปริมาตรกระเพาะอาหารเพิ่มขึ้น ... ส่วนเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นั้น ... จะไปกระตุ้นให้กล้ามเนื้อหูรูดหลอดอาหารเปิดออกและปล่อยให้กรดจากกระเพาะอาหารขึ้นมาที่หลอดอาหารได้สะดวกขึ้น

      12.ไม่เคี้ยวหมากฝรั่งมากเกินไป เพราะการเคี้ยวหมากฝรั่ง...มีส่วนเพิ่มการหลั่งน้ำลาย ทำให้กลืนน้ำลายลงไปมากขึ้น และเพิ่มการกลืนลมลงไปในท้อง
      13. เลี่ยงการนอนตะแคงขวา เพราะ ท่านี้จะทำให้กระเพาะอยู่เหนือหลอดอาหารอาจทำให้อาการกำเริบได้ 
      14. นอนยกหัว ให้สูงประมาณ 6-10 นิ้ว โดยอาจนอนบนหมอน 2 ใบ เพื่อไม่ให้กรดไหลเอ่อขึ้นมาที่คอ

      15. หมั่นออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ .... พักผ่อนให้เพียงพอ ลดความเครียด เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้ร่างกายแข็งแรง

      (ขอบคุณข้อมูลจากhttp://siamhealth.net/public_html/Disease/GI/reflu... http://health.kapook.com/view85.html ... th.wikipedia.org/wiki/โรคกรดไหลย้อน )


  • ขณะเดียวกัน การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการดำเนินชีวิต จะให้ผลดีมากเช่นกัน ซึ่งผู้ป่วย กรดไหลย้อน ควรปฏิบัติดังนี้

สรุปได้ว่า ... โรคกระเพาะ(Peptic Ulcer)เกิดจาก..มีแผลในกระเพาะอาหาร หรือลำไส้เล็กส่วนต้นหรือ กระเพาะอาหารมีกรดมากขึ้นหรือ เยื่อบุกระเพาะอาหารถูกทำลาย ... มีการอักเสบของเยื่อกระเพาะอาหาร ... ส่วน โรคกรดไหลย้อน คือ ภาวะที่กรดไหลย้อนจากกระเพาะอาหารไปยัง หลอดอาหาร ... ทำให้เกิดอาการเจ็บแน่นหน้าอก หรือแสบหน้าอก ...โรคกรดไหลย้อน หรือ GERD (เกิร์ด) ได้แจ้ง "เกิด" จนกลายเป็นโรค Hot-Hit ไปแล้วในปัจจุบันนี้นะคะและโรคกรดไหลย้อน ..จะมีอาการท้องอืดท้องเฟ้อร่วมด้วยคล้ายๆ กับอาการของโรคกระเพาะ ... จึงทำให้คนส่วนใหญ่มักจะเหมารวมว่า ตนเองอาจจะเป็นโรคกระเพาะอาหาร และไปซื้อยาเคลือบแผลในกระเพาะอาหารมารับประทานเอง ... ทำให้การรักษาไม่ตรงจุดนะคะ ... ระยะหลังมานี้จึงพบ โรคกรดไหลย้อน เพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ค่ะ ... แต่สามารถรักษาให้หายได้ทั้ง 2 โรค โดย การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการดำเนินชีวิต ทั้ง 15 ข้อที่กล่าวมาข้างต้น จะให้ผลดีมากนะคะ ความทุกข์ทรมานลดลง มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นและประสิทธิภาพการทำงานที่ดีนะคะ สมกับคำที่ว่า “อโรคยา ปรมาลาภา”... การไม่มีโรค เป็นลาภอันประเสริฐ" ซึ่งจะมีได้... ต้อง "ดูแลสุขภาพที่ดี" ร่วมไปกับ.. "การสร้างเสริมสุขภาพที่ถูกต้อง"นะคะ


ขอบคุณค่ะ

26 มิ.ย.2558

บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย 

คัดลอกจาก: https://www.gotoknow.org/posts/591682

 

แก้ไขล่าสุด ใน วันเสาร์ที่ 04 กรกฏาคม 2015 เวลา 23:16 น.
 


หน้า 296 จาก 561
Home

About Us

ศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ (ศบม.) เป็นองค์กรที่พัฒนาและจัดทำโครงการเพื่อทำประโยชน์ให้สังคม เป็นองค์กรสนับสนุนการดำเนินงานของภาครัฐ ช่วยแก้ปัญหาผู้ประกอบการภาคธุรกิจบริการที่ขาดแคลนบุคลากรที่มีมาตรฐานในการให้บริการ
อ่านเพิ่มเติม

มูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ ์

 iHDC Profile
บัญชีรายชื่อกรรมการ
ใบสำคัญแสดงการจดทะเบียน การเปลี่ยนแปลงกรรมการของมูลนิธิ
เอกสารประชาสัมพันธ์ โครงการ HMTC.pdf
เอกสารแนะนำโครงการ HMTC 1.pdf
เอกสารโครงการ HMTC 2 คุณสมบัติผู้เข้าร่วมโครงการ.pdf
iHDC นิติบุคคล.pdf
iHDC บุคคล.pdf
iHDC บุคคลเครือข่าย.pdf
รายงานการประชุม 6 มีนาคม 2560.pdf
ข้อบังคับมูลนิธิ
ใบสำคัญแสดงการจดทะเบียนจัดตั้งมูลนิธิ
Ihdc-Profile and Roadmap 2016-2019 Mar 23 2560.pdf
รายงานการประชุมใหญ่คณะกรรมการมูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ 2559.pdf
คำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ สาขาวิชาชีพ.pdf
รายงานการประชุมใหญ่วันที่ 18 ธ ค 2558 v 3.pdf
รายงานการประชุม วันที่ 24 ธันวาคม 2557 updated 4 มีนาคม 2558.pdf
iHDC-invitation Letter.doc
iHDC-Member Form Thai.doc
iHDC-Member Form English.doc
รายงานการประชุมกรรมการมูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ วันที่ 15 มกราคม 2556 ฉบับสมบูรณ์


thaibetter
พัฒนาประเทศไทยแบบทวีคูณ และยั่งยืน ( ททค )

Login


แบบสำรวจ

สถิติเว็บไซด์

สมาชิก : 5644
Content : 3068
เว็บลิงก์ : 26
จำนวนครั้งเปิดดูบทความ : 8747904

facebook

Twitter


ล่าสุด

บทความเก่า