Thaiihdc.org

  • เพิ่มขนาดตัวอักษร
  • ขนาดตัวอักษรปกติ
  • สดขนาดตัวอักษร
Thaiihdc.org

"คุณภาพคน" เริ่มต้นที่ "บ้าน" ...เลี้ยงดูบุตรหลาน ให้เป็น "คนเต็มคน : PIESS" (ตอนที่ 1).

พิมพ์ PDF

“วัยเด็กตอนต้นหรือช่วงปฐมวัย” เป็นวัยที่มีอัตราการเจริญงอกงามและพัฒนาการในทุกๆ ด้านสูงที่สุด และเป็นวัยของการสร้างฐานบุคลิกภาพ ที่จะส่งผลสำคัญต่อบุคลิกภาพเมื่อโตขึ้น จึงเป็นวัยที่เหมาะสมที่สุดสำหรับการปลูกฝังทักษะและคุณลักษณะที่พึงประสงค์ เปรียบเสมือนเหล็กที่ยังร้อน ที่สามารถตีให้เป็นรูปทรงต่างๆ ตามที่ต้องการได้ง่าย ดังภาษิตตะวันตกที่ว่า “Strike while the iron is hot.” จึงขอเชิญชวนให้ทุกบ้าน หันมาสร้างอนุชนคนรุ่นใหม่ ด้วยการเลี้ยงดูบุตรหลานในช่วงปฐมวัย ให้เป็น "คนเต็มคน"

ในเวลาที่ผ่านมา กระทรวงศึกษาธิการ ได้กำหนดนโยบายในด้านการเผยแพร่ความรู้ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับอาเซียน เพื่อสร้างความตระหนักและเตรียมความพร้อมของครู คณาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษา นักเรียน นักศึกษาและประชาชน เพื่อก้าวสู่ประชาคมอาเซียนในปี 2558 ที่กำลังจะมาถึงในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้านี้ ตลอดจนกำหนดนโยบายด้านการพัฒนาศักยภาพของนักเรียน นักศึกษาและประชาชน ให้มีทักษะที่เหมาะสมเพื่อเตรียมความพร้อมสู่ประชาคมอาเซียน เช่น ความรู้ภาษาอังกฤษ ภาษาเพื่อนบ้าน เทคโนโลยีสารสนเทศ ทักษะและความชำนาญที่สอดคล้องกับการปรับตัวและเปลี่ยนแปลงทางอุตสาหกรรม

แต่พอได้ดูสถิติต่างๆ ของประเทศไทยเปรียบเทียบกับประเทศสมาชิกอาเซียนอื่นๆ ดังตัวอย่างในภาพข้างล่างแล้ว ก็น่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง เพราะชี้ว่า เด็ก เยาวชนและคนไทยทั่วไป จะอยู่ในฐานะเสียเปรียบคนในประเทศสมาชิกอาเชียนอื่นๆ เมื่อประชาคมอาเซียนมาถึง ถ้าหากมัวชะล่าใจไม่หาทางแก้ไขจุดอ่อนต่างๆ

 


ด้วย “คุณภาพของคนไทย” เป็นปัจจัยสำคัญที่สุด ที่จะช่วยให้ประเทศไทยสามารถให้ความร่วมมือและแข่งขันได้อย่างมีศักดิ์ศรี กับประเทศสมาชิกอื่นๆ ในประชาคมอาเซียน ผู้เขียนจึงขอเสนอทางเลือกทางรอดของประเทศไทยในเวทีอาเซียน นั่นก็คือ “การสร้างคนไทยให้เป็นคนคุณภาพ” โดย “การสร้างคนรุ่นใหม่ที่มีคุณภาพ” ขึ้นมา ซึ่งจะมีโอกาสทำได้สำเร็จกว่าการแก้ไขคนรุ่นเก่า ดังภาษิตไทยที่ว่า “ไม้อ่อนดัดง่าย ไม้แก่ดัดยาก

ไม้อ่อน ณ ที่นี้ หมายถึง “วัยเด็กตอนต้น หรือเด็กฐมวัย (Early Childhood)” ซึ่งอยู่ในช่วงอายุแรกเกิดถึง 6 ปี (การกำหนดอายุในแต่ละช่วงวัยในที่ต่างๆ มักไม่ค่อยตรงกัน) เนื่องจากเป็นวัยที่มีอัตราการเจริญงอกงามและพัฒนาการในทุกๆ ด้านสูงที่สุด และเป็นวัยของการสร้างฐานบุคลิกภาพ ที่จะส่งผลสำคัญต่อบุคลิกภาพเมื่อโตขึ้น จึงเป็นวัยที่เหมาะสมที่สุดสำหรับการปลูกฝังทักษะและคุณลักษณะที่พึงประสงค์ เปรียบเสมือนเหล็กที่ยังร้อน ที่สามารถตีให้เป็นรูปทรงต่างๆ ตามที่ต้องการได้ง่าย ดังภาษิตตะวันตกที่ว่า “Strike while the iron is hot.” อนึ่ง การได้รับการปูพื้นฐานที่ดีไปจากบ้าน จะทำให้สถานศึกษาซึ่งรับช่วงต่อในการพัฒนาอนุชน สามารถทำหน้าที่อย่างได้ผลมากขึ้น ดังคำคมของอริสโตเติ้ลปราชญ์ชาวกรีกที่ว่า “”Well begun is half done.

สารสนเทศ (Information) ที่ผู้เขียนนำมาใช้ประกอบการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เกี่ยวกับการพัฒนาเด็กปฐมวัยให้เป็นคนเต็มคน มาจาก 2 แหล่งใหญ่ๆ แหล่งแรกคือ ประสบการณ์เชิงวิชาการของผู้เขียน ซึ่งมาจากการศึกษาอบรมหลักสูตรต่างๆ ด้านการพัฒนาเด็กปฐมวัย การก่อตั้งโปรแกรมวิชาการศึกษาปฐมวัย ในสังกัดคณะครุศาสตร์ สถาบันราชภัฏอุบลราชธานี (ณ ขณะนั้น) การผลิตครูปฐมวัย การเขียนตำราด้านพัฒนาการและการเลี้ยงดูเด็กปฐมวัย และที่สำคัญที่สุด คือ การวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม (Participatory Action Research : PAR) กับครูและผู้ปกครองของเด็กชั้นอนุบาลปีที่ 1 (อายุ 4-5 ปี) ในการพัฒนาเด็กปฐมวัยคู่ขนานกันไประหว่างบ้านกับโรงเรียน เป็นเวลา 2 ปี (รวมช่วงการศึกษานำร่อง การศึกษาเต็มรูป และการขยายผล) โดยได้รับทุนอุดหนุนการวิจัยจาก สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ

“กิจกรรมสร้างเสริมพัฒนาการเด็ก” จะเป็นกิจกรรมที่กำหนดหรือเสนอแนะให้ผู้ปกครองจัดให้กับเด็กในวันหยุดสุดสัปดาห์ ให้สอดคล้องกับหน่วยประสบการณ์ที่ครูจัดให้กับเด็กที่โรงเรียนในสัปดาห์ที่ผ่านมา อนึ่ง ในสารจะมีความรู้สำหรับผู้ปกครองชุด “การสอนลูกให้เป็นคนเก่ง ดี และมีความสุข” ฉบับละ 1 ตอน ดังตัวอย่าง เนื้อหาบางส่วนในตอนที่ 8 เล่านิทานให้ลูกฟัง ซึ่งจะบอกถึงประโยชน์ของการเล่านิทาน มีคำแนะนำวิธีการเลือกหนังสือนิทาน และวิธีการเล่านิทานที่จะช่วยให้เด็กได้รับทั้งความเพลิดเพลินและเกิดการเรียนรู้ตามจุดประสงค์ด้วย

สื่อวีดิทัศน์ที่ใช้มีหลายประเภท ได้แก่ เพลง นิทาน งานประดิษฐ์ เกมการแข่งขัน สารคดี และสถานการณ์จำลอง เป็นต้น ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ในบันทึกที่เกี่ยวข้อง เรื่อง “สอนลูกดูทีวี”…และ…“ดูรายการดีๆ จะเกิดคุณ”

โปรดติดตามตอนที่ 2 ที่จะกล่าวถึงสารสนเทศแหล่งที่สอง ที่ผู้เขียนจะนำมาใช้ประกอบการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เกี่ยวกับการเลี้ยงดูบุตรหลานจากช่วงปฐมวัยให้เติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่สมบูรณ์ ซึ่งมาจากประสบการณ์ในชีวิตจริงของผู้เขียน ทั้งในบทบาทของการเป็น “ลูก” ที่กำพร้าพ่อมาตั้งแต่ช่วงปฐมวัย (อายุประมาณ 4 ปี) เคยกินข้าวกับต้มหัวหอมแดงจิ้มน้ำพริกอย่างเดียวเพราะความขัดสน ตั้งใจจะรับแม่ไปอยู่ด้วยหลังแม่เกษียณอายุราชการ เพื่อชดเชยที่มีโอกาสอยู่กับแม่น้อยมาก และจะได้ดูแลให้แม่ให้ได้สุขสบายบ้างหลังตรากตรำในการเลี้ยงดูลูกทั้งห้ามานาน แต่ก็ไม่มีโอกาสเพราะแม่ด่วนจากไปหลังเกษียณอายุราชการเพียงไม่กี่เดือน  และในบทบาทของการเป็น “แม่” ที่ต้องเลี้ยงลูกกำพร้าสองคนมาตั้งแต่ช่วงปฐมวัย แม่ที่รักลูกสุดหัวใจ แต่ในด้านการกล่อมเกลี้ยงเลี้ยงดูลูก มีทั้งที่ทำได้เหมาะสมก่อให้เกิดผลดี และที่ทำผิดพลาดไปก่อให้เกิดความเสียหาย ซึ่งจะนำมาเป็นอุทาหรณ์สำหรับกัลยาณมิตรในการดูแลบุตรหลาน ตั้งแต่อยู่ในครรภ์จนเติบใหญ่

บทความนี้คัดลอกมาจาก บทความของ ผศ.วิไล แพงศรี ที่นำเผยแพร่ทางเวป: https://www.gotoknow.org/posts/570253 สนใจโปรดเข้าไปใน link ที่ให้มาเพื่อติดตามผลงานซึ่งมีอยู่มากหลาย

แก้ไขล่าสุด ใน วันจันทร์ที่ 06 เมษายน 2015 เวลา 11:32 น.
 

ศึกษาพฤติกรรมมนุษย์

พิมพ์ PDF

วันนี้พอมีเวลาว่าง จึงถือโอกาส ค้นเอกสารต่างๆที่เก็บไว้ในแฟ้ม เพื่อนำมาจัดเก็บรวบรวมให้เป็นหมวดหมู่เดียวกัน พอหยิบแฟ้มแรกมาดู เจอเอกสารประชาสัมพันธ์ "หลักสูตรเพื่อพัฒนาศักยภาพและวิธีคิดในการดำเนินชีวิต ค่ายเพื่อชีวิต" ของคุณปรีดา ยมพุก ผมเคยไปเข้าค่ายมาแล้ว ในฐานะผู้สังเกตการณ์   เป็นหลักสูตรที่ดี ทีมงานเข้มแข็ง ผมเคยติดต่อเพื่อให้มาเข้าร่วมเป็นเครือข่ายของมูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ และมีการดำเนินการเพื่อหาแนวทางในการเป็นเครือข่าย แต่ก็ยังไม่สามารถรวมตัวกันได้ หลังจากอ่านเอกสารแล้ว อดใจไม่ได้ที่จะขอนำเอกสารมาเผยแพร่ เนื่องจากเห็นว่าเป็นประโยชน์ต่อทุกๆท่าน

ศึกษาพฤติกรรมมนุษย์ (ทั้งตนเองและผู้อื่น)

แท้จริงแล้วมนุษย์ต่างมีระบบความคิด ระบบการมองโลกที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเช่ง แม้ว่าจะเป็นพี่น้องกัน หรือยู่ในครอบครัวเดียวกันต่างก็มีแนวการมองโลกที่แตกต่าง

การที่คนเราสามารถเข้าถึงระบบการมองโลกและระบบความคิดของคนอีกคนหนึ่งจะช่วยให้เราเข้าใจและสามารถคาดคะเนพฤติกรรมของคนๆนั้นได้หากเราสามารถอ่านใจสามีหรือภรรยา พ่อแม่หรือลูก หัวหน้าหรือลูกน้องออกแล้วละก็เราก็จะสามารถคาดว่า ถ้าเราพูดหรือปฎิบัติอย่างนี้ อีกฝ่ายจะมีปฎิกริยาตอบโต้กลับมาอย่างไร อาการแปลกอกแปลกใจก็จะมลายหายไป

หากวันนี้เราสามารถคาดคะเนพฤติกรรมของกันและกัน และรู้ว่าจะพูดอย่างไร ระวังอย่างไรกับคนประเภทต่างๆแล้วความขัดแย้งกับตนเอง ครอบครัว ที่ทำงาน สังคมภายนอก ก็จะลดน้อยลง ในทางกลับกันเราจะรู้สึกสงสาร รู้สึกเห็นใจ รู้จักประนีประนอมและถนอมน้ำใจผู้อื่น สามารถอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขบนพื้นฐานของหลักความเข้าใจเรื่องมนุษย์ ที่สำคัญเราจะได้รู้จักตนเองเสียทีว่าเราเป็นคนเช่นไร คนส่วนใหญ่มักมองตัวเองไม่ออก เพราะเราแทบไม่เคยสังเกตระบบการมองโลก ระบบความคิดและนิสัยของตัวเราเองว่าเป็นอย่างไร มีจุดบกพร่องหรือจุดที่ควรปรับปรุงแก้ไขอะไรบ้าง เพราะเราชินกับมัน หรือไม่ก็คิดว่ามันเป็นส่วนหนึ่งของตัวเราเสียแล้ว

พฤติกรรมมนุษย์ หรือประเภทของจริตมนุษย์มีอยู่ด้วยกัน 6 ประเภท ตามหลักคัมภีร์วิสุทธืมรรค

1.ราคะจริต

ลักษณะ บุคลิกดี น้ำเสียงนุ่มนวล ไพเราะ คิดในความสวยความงาม ความหอม ความไพเราะ ความอร่อย

จุดแข็ง มีความประณีต อ่อนไหวและละเอียดอ่อน ช่างสังเกตเก็บข้อมูลเก่ง มีบุคลิกหน้าตาเป็นที่ชอบและชื่นชมของทุกคนที่เห็น วาจาไพเราะเข้าได้กับทุกคน เก่งในการประสานงาน การประชาสัมพันธ์และงานที่ต้องใช้บุคลิกภาพ

จุดอ่อน ไม่มีสมิธิ ทำงานใหญ่ได้ยาก ไม่มีเป้าหมายในชีวิต ไม่มีความเป็นผู้นำ ขี้เกรงใจคน ขาดหลักการ มุ่งแต่บำรุงบำเรอผัสสะทั้ง 5 ของตัวเอง คือ รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ชอบพูดคำหวานหูแต่อาจไม่จริง อารมณ์รุนแรง ช่างอิจฉาริษยา ชอบปรุงแต่ง

วิธีแก้ไข พิจารณาโทษของจิตที่ขาดสมาธิ ฝึกพลังจิตให้มีสมาธิ หาเป้าหมายที่แน่ชัดในชีวิต พิจารณาสิ่งปฎิกูลต่างๆของร่งกายมนุษย์เพื่อลดความคิดในรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส

2.โทสะจริต

ลักษณะ จิตขุ่นเคือง โกรธง่าย คาดหวังว่าโลกต้องเป็นอย่างที่ตัวเองคิด พูดตรงไปตรงมา ชอบชี้ถูกชี้ผิด เจ้าระเบียบ เคร่งกฎเกณฑ์ แต่งตัวประณีต สะอาดสะอ้าน เดินเร็ว ตรงแน่ว

จุดแข็ง อุทิศตัวทุ่มเทให้กับการงาน มีระเบียบวินัยสูง วิเคราะห์เก่ง มองอะไรตรงไปตรงมา มีความจริงใจต่อผู้อื่น สามารถพึ่งพาได้ พูดคำไหนคำนั้น ไม่ค่อยโลภ

จุดอ่อน จิตขุ่นมัว ร้อนรุ่ม ไม่มีความเมตตา ไม่เป็นที่น่าคบค้าสมาคมของคนอื่นและไม่มีบารมี ไม่มีความคิดสร้างสรรค์ สร้างวจีกรรมเป็นประจำ มีโรคภัยไข้เจ็บได้ง่าย

วิธีแก้ไข สังเกตอารมณ์ตัวเองเป็นประจำ เจริญเมตตาให้มากๆ คิดก่อนพูดนานๆและพูดทีละคำ ฟังทีละเสียง อย่าไปจริงจังกับโลกมากนัก เปิดใจกว้างรับความคิดใหม่ๆ พิจารณาโทษของความโกรธต่อความเสื่อมโทรมของร่างกาย

3.โมหะจริต

ลักษณะ ง่วง ซึม เบื่อ เซ็ง ดวงตาเศร้า ซึ้งๆ พูดจาเบาๆนุ่มนวล อ่อนโยน ยิ้มง่าย อารมณ์ไม่ค่อยเสีย ไม่ค่อยโกรธใคร ไม่ชอบเข้าสังคม ไม่ชอบทำตัวเป็นจุดเด่น เดินแบบขาดจุดหมาย ไร้ความมุ่งมั่น

จุดแข็ง ไม่ฟุ้งซ่าน เข้าใจอะไรได้ง่ายและชัดเจน มีความรู้สึก มักตัดสินใจอะไรได้ถูกต้อง ทำงานเก่งโดยเฉพาะงานประจำ ไม่ค่อยทุกข์หรือเครียดมากนัก เป็นคนดี เป็นเพื่อนที่น่าคบ ไม่ทำร้ายคน

จุดอ่อน ไม่มีความมั่นใจ มองตัวเองต่ำกว่าความจริงโทษตัวเองเสมอ หมกมุ่นแต่เรื่องตัวเอง ไม่สนใจคนอื่น  ไม่จัดระบบความคิดทำให้เสมือนไม่มีความรู้ ไม่มีความเป็นผู้นำไม่ชอบเป็นจุดเด่น สมาธิอ่อนและสั้น เบื่อง่าย อารมณ์อ่อนไหวง่าย ใจน้อย

วิธีแก้ไข ตั้งเป้าหมายชีวิตให้ชัดเจน ฝึกสมาธิสร้างพลังจิตใหเเข้มแข็ง ให้จิตออกจากอารมณ์ โดยจับการเคลื่อนไหวของร่างกายหรือเล่นกีฬา แสวงหาความรู้และต้องจัดระบบความรู้ความคิด สร้างความแปลกใหม่ให้กับชีวิตอย่าทำอะไรซ้ำซาก

4.วิตกจริต

ลักษณะ พูดเป็นน้ำไหลไฟดับ ความคิดพวยพุ่ง ฟุ้มซ่าน อยู่ในโลกความคิด ไม่ใช่โลกความจริง มองโลกในแง่ร้ายว่าคนอื่นจะเอาเปรียบ กลั่นแกล้งเรา หน้าจะบึ้ง ไม่ค่อยยิ้ม เจ้ากี้เจ้าการ อัตตาสูง คิดว่าตัวเองเก่ง อยากรู้อยากเห็นไปทุกเรื่อง ผัดวันประกันพรุ่ง

จุดแข็ง เป็นนักคิดระดับเยี่ยม มองอะไรทุลุปุโปร่งหลายชั้น เป็นนักพูดที่เก่ง จูงใจคน เป็นผู้นำในหลายวงการ ละเอียดรอบคอบ เจาะลึกในรายละเอียด เห็นความผิดเล็ก ความผิดน้อยที่คนอื่นไม่เห็น

จุดอ่อน มองจุดเล็กลืมภาพใหญ่ เปลี่ยนแปลงความคิดตลอดเวลา จุดยืนกลับไปกลับมา ไม่รักษาสัญญา  มีแต่ความคิดไม่มีความรู้สึก ไม่มีวิจารณญาณ ลังเลมักตัดสินใจผิดพลาด มักทะเลาะวิวาท ทำร้ายจิตใจเอารัดเอาเปรียบผู้อื่น มีความทุกข์เห็นแต่ปัญหา แต่หาทางแก้ไม่ได้

วิธีแก้ไข เลือกความคิด อย่าให้ความคิดลากไป ฝึกสมาธิแบบอานาปานัสสติ เพื่อสงบสติอารมณ์ เลิกอกุศล คลายจากความฟุ้งซ่าน สร้างวินัย ต้องสร้างกรอบเวลา ฝึกมองภาพรวมคิดให้ครบวงจร หัดมองโลกในแง่ดี พัฒนาสมองด้านขวา

5.ศรัทธาจริต

ลักษณะ ยึดมั่นอย่างแรงกล้าในบุคคล หลักการหรืความเชื่อ ย้ำคิดย้ำพูดในสิ่งที่ตนเองเชื่อถือและศรัทธา คิดว่าตนเองเป็นคนดีน่าศรัทธา ประเสริฐกว่าคนอื่น เป็นคนจริงจัง พูดมีหลักการ

จุดแข็ง มีพลังจิตสูงและเข้มแข็ง พร้อมที่จะเสียสละเพื่อผู้อื่น ต้องการเปลี่ยนแปลงตัวเองและสังคมไปสู่สภาพที่ดีกว่าเดิม มีพลังขับเคลื่อนมหาศาล มีลักษณะความเป็นผู้นำ

จุดอ่อน หูเบา ความเชื่ออยู่เหนือเหตุผล ถูกหลอกได้ง่าย ยิ่งศรัทธามากปัญญายิ่งลดน้อยลง จิตใจคับแคบไม่ยอมรับความคิดที่แตกต่าง ไม่ประนีประนอม มองโลกเป็นขาวและดำ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่ตนคิดว่าถูกต้อง สามารถทำได้ทุกอย่างแม้แต่ใช้ความรุนแรง

วิธีแก้ นึกถึงกาลามสูตร ใช้หลักเหตุผล พิจารณาเหนือความเชื่อ ใช้ปัญญานำทางและใจศรัทธาเป็นพลังจิตเคลื่อน เปิดใจกว้างรับความคิดใหม่ๆ ลดความยึดมั่นถือมั่นในตัวบุคคลหรือุดมการณ์ ลดความยึดมั่นในตัวกูของกู

6.พุทธิจริต

ลักษณะ คิดอะไรเป็นเหตุเป็นผล มองเรื่องต่างๆตามสภาพความเป็นจริง ไม่ปรุงแต่ง พร้อมรับความคิดที่ต่างไปจากของตนเอง ใฝ่รู้ ช่างสังเกต มีความเมตตา ไม่เอาเปรียบคน หน้าตาผ่องใสตาเป็นประกายไม่ทุกข์

จุดแข็ง สามารถเห็นเหตุผลได้ชัดเจนและรู้วิธีแก้ไขปัญหาต่างๆได้อย่างถูกต้อง อัตตาต่ำพร้อมเปิดรับข้อเท็จจริง จิตอยู่ในปัจจุบัน ไม่จมปลักในอดีตและไม่กังวลในสิ่งที่จะเกิดในอนาคต เป็นกัลยาณมิตร

จุดอ่อน มีความเฉื่อยไม่ต้องการพัฒนาจิตวิญญาณ ชีวิตราบรื่นมาตลอดหากต้องการเผชิญพลังด้านลบ อาจเอาตัวไม่รอด ไม่มีความเป็นผู้นำ จิตไม่มีพลังพอที่จะดึงดูดคนให้คล้อยตาม

วิธีแก้ไข ถามตัวเองว่าพอใจแล้วหรือกับสภาพความเป็นอยู่ในปัจจุบัน เพิ่มพลังสติสมาธิพัฒนาจิตใจให้มีพลังขับเคลื่อที่แรงขึ้น เพิ่มความเมตตา พยายามทำประโยขน์ให้กับสังคมมากขึ้น

สภาวะจิตของคนตามธรรมชาติจากการแบ่งจริตมนุษย์เป็น 6 ประเภทใหญ่ๆ ท่านจะสังเกตได้ว่าตัวท่านเองและคนรอบข้างเป็นคนจริตประเภทใดมีแนวโน้นพฤติกรรมที่แสดงออกเป็นอย่างไร และแต่ละจริตมีข้อดีข้อเสียอย่างไร และที่สำคัญที่สุด หากตัวเราเป็นจริตนั้นๆจะมีวิธีการปรับปรุง และแก้ไขจริตนั้นๆได้อย่างไร และเราจะดึงประโยชน์จากจริตนั้นได้อย่างไร แม้ว่าในคนๆหนึ่ง อาจมีจริตประสมประสานกันอยู่ แต่จะมีจริตใดจริตหนึ่งที่โดดเด่นกว่าจริตอื่นในแต่ละช่วงเวลาของชีวิต จริตอื่นที่รองลงมาจะกลายเป็นจริตเด่นขึ้นมาได้เมื่อคนๆนั้นต้องประสบกับวิกฤติการณ์หรือมรสุมในชีวิตหรือในทางกลับกันเมื่อชีวิตมีความเจริญรุ่งเรืองสูงาสุด จริตรองก็จะกลายเป็นจริตเด่นได้

ม.ล.ชาญโชติ ชมพูนุท

5 เมษายน 2558

คัดลอกจากเอกสาร Team Ad visor

 

 

 

วันจักรี

พิมพ์ PDF

๒๓๓ ปี แห่งราชวงศ์จักรี
พระมหากษัตริย์ทั้ง ๙ พระองค์
แห่งกรุงรัตนโกสินทร์และพระบรมราชจักรีวงศ์

พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช
( ครองราชย์ พ.ศ. ๒๓๒๕ - ๒๓๕๒ )
องค์ปฐมบรมมหากษัตริย์แห่งพระราชวงศ์จักรี ทรงเป็นสุดยอดนักรบผู้กรำศึกเหนือ เสือใต้มาตลอดพระชนม์ชีพ ทรงเป็นนักปกครองและนักการเมืองผู้ทรงพระอัจฉริยะภาพ ทรงเป็นองค์จอมทัพซึงเป็นที่รักของทหารทุกนาย

พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย 
( ครองราชย์ ๒๓๕๒ - ๒๓๖๗ )
ทรงเป็นมหากษัตริย์ศิลปิน ผู้ทรงพลิกฟื้นศิลปวัฒนธรรมไทยให้กลับมาเจริญรุ่งเรืองอีกครั้ง

พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว
( ครองราชย์ พ.ศ.๒๓๖๗ - ๒๓๙๔ )
ทรงเป็นผู้นำพากรุงรัตนโกสินทร์สู่ความมั่งคั่งรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจ ทรงรอบรู้ในกิจการบ้านเมือง
ทรงใฝ่ธรรมะ ด้วยการปฎิสังขรวัดวาอารามมากมาย

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
( ครองครองราชย์ พ.ศ. ๒๓๙๔ - ๒๔๑๑ )
ทรงผนวชมายาวนาน ทรงตั้งธรรมยุติกนิกาย
ทรงเริ่มเปิดประเทศรับเอาวัฒนธรรมตะวันตกเข้ามา ทรงรู้ถึงภัยอันน่ากลัวของลัทธิจักรวรรดิ์นิยม ซึ่งแผ่เข้ามาในทวีปเอเชีย และทรงมีพระปรีชาญาณอันสุขุมคัมภีรภาพ ในการรับมือกับภัยดังกล่าวจนเป็นที่เลื่องลือไปทั่วทุกทิศานุทิศ
ทรงเป็นนักดาราศาสตร์ที่ยิ่งใหญ่ พระองค์แรกองประเทศไทย

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระปิยมหาราช
( ครองราชย์ พ.ศ. ๒๔๑๑ - ๒๔๕๓ )
ทรงปฎิรูปพระราชอาณษจักรครั้งใหญ่ที่สุด ทรงนำพาความเจริญทุกๆด้านเข้ามาสู่กรุงรัตนโกสินทร์ ทรงประกาศเลิกทาส 
ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ผู้ทรงรับมือกับลัทธิล่าอาณานิคมอย่างทรงพระอัจฉริืยะภาพ ทำให้กรุงสยามเป็นเพียงไม่กี่ประเทศในทวีปเอเชียที่ไม่ต้องตกเป็นเมืองขึ้นของฝรั่งตาน้ำข้าว ทรงเป็นปิยมหาราชซึ่งเป็นที่รักยิ่งของมหาชนชาวสยามไปชั่วกลานิรันดร์

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหาธีรราชเจ้า
( ครองราชย์ พ.ศ. ๒๔๕๓ - ๒๔๖๘ )
ทรงดำเนินการปฎิรูปแผ่นดินต่อจากพระราชบิดา ทรงตราพระราชบัญญัตินามสกุล ทรงตราพระราชบัญญัติการศึกษา ทรงสถาปนาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทรงนำกองทัพสยาม มีชัยในสงครามโลกครั้งที่ ๑ ทรงมีบทพระราชนิพนธ์ปลุกใจให้คนไทยเกิดความรักชาติมา่กมาย

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว 
( ครองราชย์ พ.ศ. ๒๔๖๘ - ๒๔๗๗ )
ทรงเป็นพระมหากษัตริย์นักประชาธิปไตย
ทรงยอมสละพระราชอำนาจในระบอบสมบูรณญาสิทธิราชย์แก่ปวงชนชาวไทยเพื่อจะได้เกิดประชาธิปไตยในแผ่นดิน โปรดเกล้าฯพระราชทานรัฐธรรมนูญฉบับแรกแก่ราษฎรทั้งมวล

พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล
( ครองราชย์ พ.ศ. ๒๔๗๗ - ๒๔๘๙ )
ทรงเป็นยุวกษัตริย์ผู้มีพระมหากรุณาธิคุณแก่ประชาชนชาวไทยเป็นล้นพ้น เสด็จสำเพ็งเพื่อระงับข้อพิพาทระหว่างคนไทยกับคนจีน การที่พระองค์ท่านสวรรคตเพราะแสงปืน ทำให้ความเศร้าโศกเกิดขึ้นทั้งแผ่นดิน

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช
ครองราชย์ 9 มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๙ ถึงปัจจุบัน
ทรงเป็นศูนย์รวมจิตใจของไทยทั้งชาติ เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎรไปทุกภูมิภาค ทรงสู้รบกับคอมมิวนิสต์ด้วยการแก้ปัยหาความยากจน ทรงแก้ปัญหาน้ำท่วม ทรงแก้ปัญหารถติด ทรงระงับเหตุการณ์วุ่นวายทางการเมืองต่างๆ ด้วยพระอัจฉริยะภาพ ทรงครองราชย์ยาวนาน และทรงเป็นที่รัก เคารพ บูชายิ่งของพสกนิกรทั้งแผ่นดิน

บทความนี้คัดลอกจากเฟสบุ๊ค ของ คุณพิชาญ พงษ์พิทักษ์

แก้ไขล่าสุด ใน วันอาทิตย์ที่ 05 เมษายน 2015 เวลา 23:41 น.
 

ตำนานหลักเมือง

พิมพ์ PDF

ตำนานหลักเมือง
กรุงเทพมหานคร อมรรัตนโกสินทร์
อาถรรย์งู 4 ตัวเป็นเหตุ
ทำให้ มีหลักเมือง คู่กัน
เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์

“พระโหรา กล่าวโศลกบูชาฤกษ์และพระมหาราชครูอ่านกระแสพระราชโองการตั้งพระมหานคร ขุนโหรเริ่มประกอบพิธีกล่าวอุทิศเทพสังหรณ์ อัญเชิญก้อนดินซึ่งพลีมาแต่ทิศทั้ง 4 แห่งพระนคร กระทำให้เป็นก้อนกลมดุจลูกนิมิตลงสู่ก้นหลุมเป็นลำดับกันไปเริ่มแต่ทิศบูรพา ทักษิณ ปัจฉิมและอุดร จากนั้นนำแผ่นศิลาเลขยันต์สำหรับรับรองหลักวางลงบนก้อนดินทั้ง 4 ก้อนนั้น ส่วนภายในก้นหลุมนั้นเล่าก็ได้ตกแต่งไว้เรียบร้อย กรุด้วยผ้าขาวสะอาดบริสุทธิ์ ดาษไปด้วยใบไม้อันเป็นมงคล 9 ประการ โปรยปรายแก้วนพรัตน์ไว้เรียงรายโดยรอบขอบปริมณฑลภายในก้นหลุมนั้น”

ขณะที่ได้พระฤกษ์ พระโหราย่ำฆ้องบอกกำหนดพระฤกษ์ ชีพราหมณ์เป่ามหาสังข์แกว่งบัณเฑาะว์ เจ้าพนักงานประโคมดุริยางค์แตรสังข์และพิณพาทย์ เจ้าหน้าที่ประจำยิงปืนใหญ่เป็นมหาพิชัยฤกษ์ เริ่มพระราชพิธีอัญเชิญเสาหลักเมืองลงสู่หลุม โดยวางไว้บนแผ่นศิลายันต์
ทันทีนั่นเอง ก็เกิดปรากฏการณ์เป็นมหัศจรรย์ขึ้น โดยปรากฏว่ามีงูตัวเล็กๆ 4 ตัว ปาฏิหาริย์ลงไปอยู่ในหลุมนั้น และก็บังเอิญบันดาลให้ทุกคนที่ไปร่วมชุมนุมประกอบพิธีอยู่ ณ ที่นั่น ได้เห็นงูในขณะที่เคลื่อนเสาหลักเมืองนั้นลงไปในหลุมเสียแล้ว ซึ่งเมื่อก่อนที่จะยกเสาลงสู่หลุมนั้น หาปรากฏว่ามีงู 4 ตัวดังกล่าวนั้นไม่ และก็หมดโอกาสที่จะแก้ไขประการใดๆ ได้ทั้งสิ้น เพราะเมื่อตอนที่เห็นงูนั้น เป็นขณะที่เสาได้เคลื่อนลงหลุมแล้ว จึงจำเป็นจะต้องปล่อยให้เลยตามเลยไป โดยปล่อยให้เสาลงไปในหลุมและกลบดินให้แน่น ทำให้งูทั้ 4 ตัวนั้น ต้องตายอยู่ภายในก้มหลุมนั่นเอง
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ในขณะที่ฝังเสาหลักเมืองนี้ ได้ยังพระวิตกให้แก่สมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ เป็นอันมาก ทรงเรียกประชุมเหล่าเสวกามาตย์ราชบัณฑิตปุโรหิตาจารย์ พระราชาคณะและบรรดาผู้รู้ทั้งปวงมาร่วมประชุมวิจารณ์ถึงเหตุการณ์ที่บังเกิดขึ้นครั้งนี้ว่า จะเป็นมงคลนิมิตหรืออวมงคลนิมิต บรรดาผู้รู้ทั้งปวงต่างก็ให้ความเห็นสอดคล้องต้องกันว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้จัดว่าอยู่ในจำพวกอวมงคลนิมิต แต่ก็ไม่สามารถจะชี้ลงไปได้ว่า ผลจะปรากฏออกมาในทำนองใด นอกจากจะลงความเห็นว่างูเล็กทั้ง 4 นั่นแหละ จะเป็นมูลเหตุนำความอวมงคลให้แก่บ้านเมือง
แต่ก็เกิดเหตุการณ์ที่ถือว่าเป็นการบอกกล่าวของเทพยดาฟ้าดินขึ้นมาในระยะนั้น โดยเกิดฟ้าผ่าไฟไหม้พระที่นั่งอมรินทร์มหาปราสาท ทำให้ทรงพระราชวินิจฉัยออกมาว่าเป็นการสะเดาะเคราะห์เมือง โดยที่เทพยดาบันดาลให้เกิดฟ้าผ่าจนไฟไหม้พระมหาปราสาท ตามธรรมดาต้องเสียเมืองก่อนจึงจะเสียพระมหาปราสาท คราวนี้ได้เสียพระมหาประสาทไปแล้วเท่ากับเสียเมืองไป เพราะเหตุที่ชะตากรุงเทพมหานครในระยะเริ่มตั้งแต่ฝังเสาหลักเมืองมานั้น ชะตาเมืองอยู่ในเกณฑ์ร้ายถึง 7 ปี 7 เดือน เป็นอันเสร็จสิ้นพระเคราะห์เมืองไป และจะถาวรลำดับกษัตริย์ไป 150 ปี (เทพย์ สาริกบุตร “โหราศาสตร์ในวรรณคดี”)
การวางชะตาเมืองนี้เป็นเรื่องสำคัญ โหรหลวงจะต้องผูกชะตาเมืองถวาย พร้อมกับทำนายเหตุการณ์บ้านเมืองล่วงหน้ได้ เมื่อครั้งนั้น โหรหลวงได้ทูลเกล้าฯ ถวายดวงเมือง 2 แบบ คือ แบบแรก บ้านเมืองจะเจริญรุ่งเรือง ไม่มีเหตุวุ่นวาย แต่ทว่าจะต้องมีอยู่ระยะหนึ่ง ที่ประเทศไทยต้องตกเป็นเมืองขึ้นของต่างชาติ

แบบหลัง ประเทศไทยจะมีแต่เรื่องยุ่งวุ่นวายไม่มีที่สิ้นสุด แต่ทว่าจะสามารถรักษาเอกราชได้ตลอดไป ปรากฏว่า พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงเลือกดวงเมืองตามแบบหลัง เพราะพระองค์คงจะทรงเห็นว่าการที่จะต้องตกไปเป็นเมืองขึ้นของชาติอื่นนั้น แม้บ้านเมืองจะเจริญรุ่งเรืองแค่ไหนก็ไม่ความหมายอันใด เมื่อสิ้นความเป็นไทย

ต่อมาถึงสมัยรัชกาลที่ 4 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จขึ้นครองราชย์ ซึ่งทรงเชี่ยวชาญด้านโหราศาสตร์มาก อีกทั้งทรงตรวจดวงพระชะตาของพระองค์ว่าเป็นอริแก่ลัคนาดวงเมืองกรุงเทพฯ ท่านจึงทรงทำพิธีแก้เคล็ดอาถรรพณ์อย่างแบบยนปัญญา โดยทรงพระราชดำริว่าหลักเมืองเดิมชำรุดทรุดโทรมมาก ไม่ได้ซ่อมแซมมาหลายรัชกาล จึงทรงโปรดเกล้าฯ ให้ทำขึ้นใหม่ โดยโปรดทรงแก้ไขดวงเมือง ประกอบพิธีจาริกดวงพระชันษาพระมหานครลงบนแผ่นทองคำหนัก 1 บาท ในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม

โปรดให้ถอนเสาหลักเมืองเดิมออก และประดิษฐานฝังเสาหลักเมืองใหม่ขึ้นอีกเสาหนึ่งคู่กัน กับเสาเดิม แกนในเป็นเสาไม้สัก มีไม้ชัยพฤกษ์ประดับนอก หัวเสาเป็นรูปยอดเม็ดทรงมัณฑ์ พร้อมบรรจุชะตาพระนคร ให้มีสิริสวัสดิ์พิพัฒนมงคล มีอุดมมงคลฤกษ์ ในวันอาทิตย์ที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2395 เวลา 04:48 น. แล้วให้ช่างสร้างแปลงรูปศาลหลักเมืองเสียใหม่ ให้ยอดเป็นรูปปรางค์ตามอย่างศาลาที่กรุงศรีอยุธยา จากนั้นทรงบรรจุดวงพระชันษาพระมหานครใหม่ไว้ที่เสาหลักเมือง และมีการสมโภชฉลองด้วย

ด้วยเหตุนี้ เสาหลักเมืองที่ประดิษฐาน ณ ศาลพระหลักเมืองกรุงเทพฯ จึงมี 2 ต้น คือเสาเดิมครั้งรัชกาลที่ 1 คือต้นสูง ที่ได้ทำพิธีถอนเสาแล้ว แต่หาที่เก็บที่เหมาะสมไม่ได้จึงคงไว้ ส่วนเสาพระหลักเมืองครั้งรัชกาลที่ 4 คือ ต้นที่มีส่วนสูงทอนลงมา และด้วยความชาญฉลาดของพระองค์ ยังทรงมีพระราชดำริ จะสร้างสะพานเชื่อมเมืองหลวงใหม่ กรุงเทพ กับเมืองหลวงเก่าฝั่งธนให้ติดต่อถึงกัน แก้เคล็ดอีกทางด้วย แต่ในยุคนั้นยังไม่มีเทคโนโลยี สามารถสร้างสะพานข้ามแม่น้ำที่กว้างขนาดนั้นได้
จนกระทั่งในสมัยรัชกาลที่ 7 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งกำหนดจะมีงานเฉลิมฉลอง กรุงเทพมหานคร 150 ปี ใน พ.ศ. 2475 ทรงคำนึงถึงพระราชดำริในรัชกาลที่ 4 ที่จะสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาเชื่อม 2 ฝั่ง อีกทั้งยังทรงเห็นว่า กรุงเทพมหานครได้เจริญก้าวหน้าขึ้นมาก และขยายไปทางด้านตะวันออก มากกว่าด้านอื่น แต่ทางด้านฝั่งธนบุรีมีพื้นที่ติดกัน เป็นเรือกสวนและมีผู้คนอาศัยอยู่มาก การไปมากับฝั่งพระนคร ยังยากลำบากต้องใช้แต่ทางเรือ ถ้าสร้างสะพานเชื่อมถึงกันจะได้ประโยชน์ ในโอกาสฉลองกรุงเทพฯ 150 ปี ควรจะมีสิ่งที่เป็นอนุสรณ์สถานสร้างไว้ เพื่อระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ ของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดจุฬาโลก ที่สร้างกรุงเทพมหานครขึ้นมา
ส่วนคำทำนายว่าจักดำรงวงศ์กษัตริย์สืบไป 150 ปีนั้น ไปครบเอาปี พ.ศ. 2475 พอดี ซึ่งเป็นปีที่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ในระยะนั้น เจ้านาย 4 พระองค์เป็นผู้รับผิดชอบกิจการของบ้านเมือง ทั้งฝ่ายนอกฝ่ายใน ซึ่งทุกพระองค์ทรงมีพระราชสมภพในปีเดียวกันทั้ง 4 พระองค์คือ ปีมะเส็งซึ่งหมายถึงงูเล็ก หรืองูทั้ง 4 ตัวที่ตายอยู่ในหลุมฝังเสาหลักเมืองวันนั้น นิมิตงูเล็กในเสาหลักเมืองสมัยรัชการที่ 1 จึงเป็นเรื่องอัศจรรย์

แต่ด้วยพระบารมีของรัชกาลที่ 4 ที่ทรงแก้อาถรรพณ์ล่วงหน้าเสีย โดยถอนเสาหลักเมืองเดิม และวางดวงชะตาพระนครขึ้นใหม่ จึงไม่เป็นไปตามคำทำนาย เพียงเปลี่ยนการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาเป็นระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข เท่านั้น และจะทำให้ดำรงวงศ์กษัตริย์อยู่คู่กับกรุงเทพมหานคร ตลอดไป อีกตราบนานเท่านาน

 

 

คัดลอกจากเฟสบุ๊ค ของคุณพิชาญ พงษ์พิทักษื

แก้ไขล่าสุด ใน วันอาทิตย์ที่ 05 เมษายน 2015 เวลา 23:44 น.
 

กรุงเทพมหานคร อมรรัตนโกสินทร์

พิมพ์ PDF

๖ เมษายน
๒๓๓ ปี
กรุงเทพมหานคร อมรรัตนโกสินทร์
มหานครที่ไม่มีใครรบชนะ
ราชธานีอันกว้างใหญ่ดุจเทพนคร

กรุงรัตนโกสินทร์
ราชอาณาจักรไทย ซึ่งมีประวัติศาสตร์สืบย้อนขึ้นไปได้กว่า ๘๐๐ ปี ได้มีการเปลี่ยนแปลงที่ตั้งของราชธานี อันเป็นศูนย์รวมของการปกครองและการบริหารราชการแผ่นดินมา ๔ ครั้งราชธานีแรกคือกรุงสุโขทัย ต่อมาคือกรุงศรีอยุธยา กรุงธนบุรี และกรุงรัตนโกสินทร์ในปัจจุบัน

โดยเฉพาะกรุงศรีอยุธยาอันมีนามเต็มว่า

“กรุงเทพมหานคร บวรทวารวดีศรีอยุธยา มหาดิลกภพ นพรัตนราชธานี บุรีรมย์”

นั้น มีนามสามัญอันปรากฏทั่วไปในพงศาวดาร จดหมายเหตุ หมายรับสั่ง ใบบอก สารตรา และเอกสาร สำคัญทางประวัติศาสตร์อื่น ๆ ว่า กรุงเทพมหานครบ้าง พระนครบ้าง ตลอดระยะเวลากว่า ๔๐๐ ปี ฉะนั้น ต่อมาแม้ราชธานีจะย้ายมาอยู่ที่กรุงธนบุรีก็ดี กรุงรัตนโกสินทร์ก็ดี คำเรียกราชธานีว่ากรุงเทพมหานคร หรือ พระนครนั้นก็ยังใช้สืบกันมาโดยตลอด
เมื่อพระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทร มหาจักรีบรมนาถ พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ทรง สถาปนาราชธานีใหม่ ณ ฝั่งตะวันออกของ แม่น้ำ เจ้าพระยา เสร็จการฉลองพระนครแล้วจึงพระราชทานนามพระนครใหม่ เปลี่ยนแปลงจากครั้งกรุงศรีอยุธยาว่า

“กรุงรัตนโกสินทร์อินท์ อโยธยา”

ครั้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาเจษฎาธิบดินทร์ พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงแก้นามพระนครเป็น

“กรุงเทพมหานคร บวรรัตนโกสินท์ มหินทอยุธยา”

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหามงกุฎ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเปลี่ยนคำว่า บวร เป็น อมร เปลี่ยนคำว่า มหินทอยุธยา โดยวิธีการสนธิศัพท์เป็น มหินทรายุธยา และเติมสร้อยนามต่อ ทั้งเปลี่ยนการสะกดคำ สินท์ เป็น สินทร์ ชื่อ กรุงรัตนโกสินทร์จึงมีนามเต็มว่า

“กรุงเทพ มหานคร อมรรัตนโกสินทร์ มหินทรายุธยา มหาดิลกภพ นพรัตน์ราชธานีบูรีรมย์ อุดมราชนิเวศมหาสถาน อมรพิมานอวตารสถิต สักกทัตติยวิษณุกรรมประสิทธิ์”

อันแปลได้ความว่า

กรุงเทพมหานคร
พระนครอันกว้างใหญ่ ดุจเทพนคร
อมรรัตนโกสินทร์
เป็นที่สถิตของพระแก้วมรกต
มหินทรายุธยา
เป็นมหานครที่ไม่มีใครรบชนะได้
มหาดิลกภพ
มีความงามอันมั่นคง และเจริญยิ่ง
นพรัตน์ราชธานีบูรีรมย์
เป็นเมืองหลวงที่บริบูรณ์ด้วยแก้วเก้า
ประการน่ารื่นรมย์ยิ่ง
อุดมราชนิเวศมหาสถาน
มีพระราชนิเวศใหญ่โตมากมาย
อมรพิมานอวตารสถิต
เป็นวิมานเทพที่ประทับของพระราชา
ผู้อวตารลงมา
สักกทัตติยะวิษณุกรรมประสิทธิ์
ซึ่งท้าวสักกเทวราชพระราชทานให
้พระวิษณุกรรมลงมาเนรมิตไว้

มูลเหตุที่ราชธานีใหม่จะได้นามว่ากรุงรัตนโกสินทร์นั้น พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชนิพนธ์ไว้ในเรื่องพระราชกรัณยานุสรณ์ว่า “การถือน้ำในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกนั้น ทรงพระราชศรัทธาเลื่อมใสมาก จึงได้ทรงสถาปนาพระอารามในพระบรมมหาราชวัง แล้วพระราชทานนามว่า วัดพระศรีรัตนศาสดาราม เชิญพระพุทธปฏิมากรมาประดิษฐานไว้บนบุษบกทองคำในพระอุโบสถ แล้วจึงพระราชทานนาม พระนครใหม่ให้ต้องกับการซึ่งมีพระพุทธมณีรัตนปฏิมากรแก้วมรกตพระองค์นี้เป็นศิริสำหรับ พระนคร… นามซึ่งว่า รัตนโกสินทร์ นั้น พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวท่านรับสั่งว่า เพราะท่านประสงค์ความว่า เป็นที่เก็บรักษาไว้ขององค์พระมหามณีรัตนปฏิมากรพระองค์นี้มาก จึงยกไว้เป็นหลักพระนคร พระราชทานนามพระนคร ก็ให้ต้องกับพระนามพระมหามณีรัตนปฏิมากรพระองค์นี้ด้วย เพราะฉะนั้น เมื่อถึงการพระราชพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัจจาอันใหญ่นี้ จึงได้โปรดให้ข้าราชการมากระทำสัตย์สาบาน แล้วรับน้ำพระพิพัฒน์สัตยาเฉพาะพระพักตร์พระมหามณีรัตนปฏิมากร
คำว่า “กรุง” ตามสารานุกรมไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน เล่ม ๑ หมายถึง “เมืองหลวงหรือเมืองใหญ่ซึ่งเป็นที่ประทับอยู่ประจำของพระมหากษัตริย์ หรือเป็นเมืองที่ตั้งสถานที่ทำการของรัฐบาล แต่ก่อนใช้ในความหมายว่า ประเทศ ก็มีเช่นคำว่า “กรุงสยาม”
อนึ่ง ตามพระบรมราชาธิบาย ในพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหามงกุฎ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีว่า “คำว่า “กรุง” นี้ เดิมหมายความว่า “แม่น้ำ” โดยอรรถาธิบายว่า ผู้ใดมีอำนาจเหนือพื้นน้ำหรือเป็นเจ้าแห่งแม่น้ำตั้งแต่ปากน้ำไปจนถึงที่สุดของ แม่น้ำ ผู้นั้นก็ได้ชื่อว่าเป็นเจ้ากรุง แลเมืองที่ เจ้าพระองค์นั้นประทับอยู่ก็เลยเรียกว่า “กรุง” อย่างเมืองหลวงปัจจุบันนี้ เรียกว่า กรุงเทพฯ หรือกรุงเทพพระมหานคร ฉะนั้น”
ส่วนสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าฯ กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงพระนิพนธ์ไว้ใน สาส์นสมเด็จว่า กรุงมิได้แปลว่า “เมือง” แต่แปลว่า จักรวรรดิ (Empire) มีประเทศราชน้อยใหญ่เป็นเมืองขึ้น มีใช้ในหนังสือเก่าเวลาออกพระนาม พระเจ้าจักรพรรดิ ออกต่อท้ายนามกรุงก็มี เช่น พระเจ้ากรุงสีพี เป็นต้น

 

 

ตัดลอกจากการเผยแพร่ในเฟสบุ๊ค ของคุณพิชาญ พงษ์พิทักษ์

 

แก้ไขล่าสุด ใน วันอาทิตย์ที่ 05 เมษายน 2015 เวลา 23:47 น.
 


หน้า 305 จาก 561
Home

About Us

ศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ (ศบม.) เป็นองค์กรที่พัฒนาและจัดทำโครงการเพื่อทำประโยชน์ให้สังคม เป็นองค์กรสนับสนุนการดำเนินงานของภาครัฐ ช่วยแก้ปัญหาผู้ประกอบการภาคธุรกิจบริการที่ขาดแคลนบุคลากรที่มีมาตรฐานในการให้บริการ
อ่านเพิ่มเติม

มูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ ์

 iHDC Profile
บัญชีรายชื่อกรรมการ
ใบสำคัญแสดงการจดทะเบียน การเปลี่ยนแปลงกรรมการของมูลนิธิ
เอกสารประชาสัมพันธ์ โครงการ HMTC.pdf
เอกสารแนะนำโครงการ HMTC 1.pdf
เอกสารโครงการ HMTC 2 คุณสมบัติผู้เข้าร่วมโครงการ.pdf
iHDC นิติบุคคล.pdf
iHDC บุคคล.pdf
iHDC บุคคลเครือข่าย.pdf
รายงานการประชุม 6 มีนาคม 2560.pdf
ข้อบังคับมูลนิธิ
ใบสำคัญแสดงการจดทะเบียนจัดตั้งมูลนิธิ
Ihdc-Profile and Roadmap 2016-2019 Mar 23 2560.pdf
รายงานการประชุมใหญ่คณะกรรมการมูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ 2559.pdf
คำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ สาขาวิชาชีพ.pdf
รายงานการประชุมใหญ่วันที่ 18 ธ ค 2558 v 3.pdf
รายงานการประชุม วันที่ 24 ธันวาคม 2557 updated 4 มีนาคม 2558.pdf
iHDC-invitation Letter.doc
iHDC-Member Form Thai.doc
iHDC-Member Form English.doc
รายงานการประชุมกรรมการมูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ วันที่ 15 มกราคม 2556 ฉบับสมบูรณ์


thaibetter
พัฒนาประเทศไทยแบบทวีคูณ และยั่งยืน ( ททค )

Login


แบบสำรวจ

สถิติเว็บไซด์

สมาชิก : 5644
Content : 3068
เว็บลิงก์ : 26
จำนวนครั้งเปิดดูบทความ : 8747784

facebook

Twitter


ล่าสุด

บทความเก่า