Thaiihdc.org

  • เพิ่มขนาดตัวอักษร
  • ขนาดตัวอักษรปกติ
  • สดขนาดตัวอักษร
Thaiihdc.org

ชูเชียงใหม่ต้นแบบการปฏิรูปศธ.-สปช.-สนช.ชื่นชมจัดการศึกษาเชิงพื้นที่-สำนักรักบ้านเกิด

พิมพ์ PDF

"ศธ.-สปช.-สนช." ประสานเสียงเหนียวแน่นเดินหน้ากระจายอำนาจ เชื่อปฏิรูปการศึกษามีความหวัง ยก "เชียงใหม่" ต้นแบบจัดการศึกษาเชิงพื้นที่บนฐานสำนึกรักท้องถิ่น
ศ.นพ.ประเวศ วะสี ประธานในที่ประชุมเวทีภาคีเชียงใหม่เพื่อการปฏิรูปการศึกษา ซึ่งจัดโดยภาคีเชียงใหม่เพื่อการปฏิรูปการศึกษา, องค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ และสำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) ว่า การศึกษาปัจจุบันเป็นระบบไซโล เน้นแยกส่วนตามช่วงชั้นการศึกษา ส่งผลให้ชุมชนท้องถิ่นอ่อนแอ, เส้นทางการศึกษาแออัด, มุ่งสู่การติว, การศึกษากลายเป็นการค้า, สร้างคนที่พิการ ไม่ทราบข้อเท็จจริงเน้นแต่ตำรา, ความอ่อนแอทางวิชาการของมหาวิทยาลัย, เกิดความสูญเสียต่อเศรษฐกิจ
"ฉะนั้นต้องแก้ไขโดยมุ่งปฏิรูปการศึกษา 5 ด้าน ได้แก่ 1.ปฏิรูปแนวคิดการศึกษา 2.ปฏิรูประบบการศึกษาจากแท่งไซโลไปสู่ระบบที่มีความหลากหลาย 3.ปฏิรูปกระบวนการเรียนรู้ที่ไม่ใช่การท่องตำรา 4.สร้างให้ยุทธศาสตร์การสื่อสารเพื่อการเรียนรู้ และ 5.ปฏิรูประบบบริหารจัดการศึกษา โดยกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ต้องปรับบทบาทเป็นผู้สนับสนุนเชิงนโยบายและวิชาการ โดยการกระจายอำนาจให้ชุมชนท้องถิ่นจัดการศึกษาด้วยตนเอง เพื่อให้เกิดความหลากหลายในการศึกษาตอบโจทย์ท้องถิ่น" ศ.นพ.ประเวศ กล่าว
ดร.อมรวิชช์ นาครทรรพ กรรมาธิการปฏิรูปการศึกษาและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) กล่าวว่า ปัญหาการศึกษาพบเด็กหลุดออกนอกการศึกษากลายเป็นแรงงานไร้ฝีมือขาดทักษะชีวิต เช่น เชียงใหม่พบเฉลี่ย 60-70% ส่วนกลุ่มเด็กเก่งเรียนในเมือง หรือเรียนต่อในกรุงเทพฯ เมื่อเรียนจบก็ทำงานไม่กลับถิ่นฐาน ซึ่งขัดกับเป้าหมายของการศึกษา ที่ต้องการให้เด็กหาเลี้ยงชีพและใช้ชีวิตอย่างมั่นคงในบ้านเกิดตนเองได้ ฉะนั้นโจทย์การศึกษาของคนไทยทั้งประเทศต้องเปลี่ยนใหม่ ต้องสร้างกลไกระดับชาติขับเคลื่อนต่อเนื่องอย่างน้อย 10 ปี จำเป็นต้องมีกฎหมายรองรับกระบวนการปฏิรูปเพื่อความต่อเนื่อง โดยเสนอผ่าน สปช. เพื่อหนุนให้ชุมชนท้องถิ่นลุกขึ้นมาจัดการศึกษาของตนเอง ไม่ให้การเมืองที่ไม่ดีเข้ามาแทรกแซงได้ เช่น จ.เชียงใหม่ ที่ดึงทุกภาคส่วนเข้ามาช่วยกันคิดกันทำ เพื่อพลิกโฉมหน้าการศึกษาของเชียงใหม่ที่ไม่ใช่แค่การยกคะแนนโอเน็ต 5 วิชาเท่านั้น แต่เพื่อปฏิรูปการศึกษาให้เด็กเชียงใหม่ฉลาดเท่าทันชีวิต รักท้องถิ่นมองเห็นวิสัยทัศน์และพร้อมจะเป็นส่วนหนึ่งของการทำให้เชียงใหม่เดินไปสู่เป้าหมายที่กำหนดไว้ในอีก 20 ปี
"ศธ.ต้องเปลี่ยนบทบาทเป็นหน่วยคอยสนับสนุนให้พื้นที่จัดการศึกษาแทนเป็นผู้ติดตามดูแลคุ้มครองประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นกับส่วนรวม สำหรับการปฏิรูปการศึกษาในยุค คสช. ผมเชื่อว่า จะทำได้สำเร็จ เพราะเป็นการทำงานร่วมกันทั้ง 3 ประสาน ระหว่าง ศธ., สปช. และสนช." ดร.อมรวิชช์ กล่าว--จบ--

--คมชัดลึก ฉบับวันที่ 10 ธ.ค. 2557 (กรอบบ่าย)--


แก้ไขล่าสุด ใน วันพฤหัสบดีที่ 18 ธันวาคม 2014 เวลา 21:51 น.
 

โลกทัศน์พัฒนา เพื่อปฏิรูปครูไทย

พิมพ์ PDF
คำว่า Growth Mindset (โลกทัศน์พัฒนา หรือโลกทัศน์พรแสวง) เป็นคำสำคัญมากสำหรับการศึกษา หรือการเรียนรู้


คำว่า Growth Mindset (โลกทัศน์พัฒนา หรือโลกทัศน์พรแสวง) เป็นคำสำคัญมากสำหรับการศึกษา หรือการเรียนรู้

เป็นสิ่งที่ตรงกันข้ามกับ Fixed Mindset (โลกทัศน์หยุดนิ่ง หรือโลกทัศน์พรสวรรค์) ที่ผมเข้าใจว่า วงการศึกษาไทยยึดถือกันมาป็นเวลานานหลายสิบปี จนปัจจุบัน

เรื่องนี้ผมเคยเขียนในคำนิยมหนังสือ เลี้ยงให้รุ่ง ใน บันทึกนี้

วันนี้ขอขยายความ ไปสู่การพัฒนาครู และการพัฒนาตนเองของคนทุกคน

ผมคิด (ไม่ทราบว่าคิดถูกหรือคิดผิด) ว่าสังคมไทยเรามีมิจฉาทิฐิในเรื่องยึดถือโลกทัศน์พรสวรรค์ เหนือโลกทัศน์พรแสวง คนไทยเราจึงไม่ค่อยมีความมุมานะบากบั่นพัฒนาตนเองในด้านต่างๆ ปล่อยให้ความสนุกสบายเป็นเจ้าเรือน เราจึงมีคำผิดๆ ว่า "เรียนจบ"

เมื่อ "เรียนจบ" ได้ปริญญา ก็เลิกเรียนรู้ต่อ คิดว่าที่เรียนมาจากมหาวิทยาลัยเพียงพอแล้ว ซึ่งไม่จริงอย่างยิ่งสำหรับชีวิตในศตวรรษที่ ๒๑ เพราะโลกเปลี่ยนแปลงเร็ว ความรู้เปลี่ยนชุดบ่อย คำว่าเรียนจบจึงไม่มี ต้องเรียนรู้เรื่อยไป การเรียน/การศึกษา จึงต้องติดอาวุธ "โลกทัศน์พรแสวง" ให้แก่นักเรียน/นักศึกษาทุกคน และติดอาวุธทักษะและฉันทะในการเรียนรู้ นี่คือการศึกษาในศตวรรษที่ ๒๑ ที่ครูจะต้องทำหน้าที่ปลูกฝังให้ศิษย์เกิดโลกทัศน์/ฉันทะ/ทักษะ ว่าด้วยการเรียนรู้ตลอดชีวิต

นั่นหมายความว่า ครูเองก็ต้องมี โลกทัศน์/ฉันทะ/ทักษะ ว่าด้วยการเรียนรู้ตลอดชีวิต สำหรับพัฒนาตนเอง Growth Mindset จึงเป็นหัวใจของการพัฒนาครู ดังตัวอย่างที่ประเทศฟินแลนด์ ที่ผมเพิ่งไปดูงานมาเมื่อ ๖ เดือนที่แล้ว และบันทึกไว้ ที่นี่ ที่ฟินแลนด์ นักเรียนเรียนในชั้นเรียนวันละ ๕ ชั่วโมง แต่ครูเรียนวันละ ๗ ชั่วโมง เพราะนักเรียนเรียนระหว่าง ๘.๓๐ น. ถึง ๑๔.๓๐ น. พัก ๑ ชั่วโมง ครูก็เรียนในช่วงเวลาดังกล่าว และมารวมตัวกันเรียนรู้ร่วมกันในหมู่ครู และร่วมกับครูใหญ่ ในช่วง ๑๔.๓๐ - ๑๖.๓๐ น. ทุกวัน โดยเอาเรื่องราวที่พบในชั้นเรียน ๕ ชั่วโมงก่อน มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน

ครูฟินแลนด์ หรือระบบการศึกษาฟินแลนด์ มีระบบการทำงานที่สะท้อน "โลกทัศน์พัฒนา" ทั้งต่อนักเรียน และต่อครู

ครูที่ดี ที่อุทิศตนต่อวิชาชีพครู จะไม่ใช่เรียนวันละ ๗ ชั่วโมง แต่จะเรียนรู้ ๒๔ ชั่วโมงต่อวัน ทั้งเนื้อทั้งตัว ทั้งชีวิต จะเป็นไปเพื่อการเรียนรู้เพื่อพัฒนา โลกทัศน์/ฉันทะ/ทักษะ ว่าด้วยการเรียนรู้ตลอดชีวิต ทั้งของศิษย์และของตนเอง รวมทั้งของเพื่อนครูด้วย

สภาพเช่นนี้ วิชาชีพครู จะเป็นวิชาชีพที่สูงส่ง เป็นที่เชื่อถือ และเคารพนับถือ ไม่มีทางเป็นวิชาชีพที่ตกต่ำ


วิจารณ์ พานิช

๒๒ ต.ค. ๕๗

โรงแรม Motel One, นครเบอร์ลิน


บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย 

แก้ไขล่าสุด ใน วันจันทร์ที่ 08 ธันวาคม 2014 เวลา 21:24 น.
 

มิติใหม่ของการบริหารการเปลี่ยนแปลง เพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษา

พิมพ์ PDF

เว็บไซต์ของ ศูนย์สุขภาพจิตในโรงเรียน ของมหาวิทยาลัย ยูซีแอลเอ ลงเรื่อง Using UCLA framework, Alabama, Georgia lead way in addressing barriers to learning น่าอ่านมาก

เขาเล่าว่า การแก้ปัญหาการศึกษา">คุณภาพการศึกษาในสหรัฐอเมริกา ทำกันมากแต่ส่วนใหญ่ไม่ได้ผล เพราะทำแบบส่วนเสี้ยว (fragmented) ต่างคนต่างทำ หรือแยกกันทำไม่ได้จัดการการเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นระบบ

ผู้อำนวยการของ UCLA Center for Mental Health in Schools Program and Policy Analysis ชื่อ Howard Adelman และผู้อำนวยการร่วมชื่อ Linda Taylor จึงร่วมกันพัฒนา Innovative Framework ชื่อ the Unified and Comprehensive System of Learning Supportsเพื่อพัฒนาผลลัพธ์การเรียนรู้ของนักเรียน อย่างเป็นระบบ

เขตพื้นที่การศึกษา Gainesville City Schools ในรัฐ จอร์เจีย นำกรอบแนวทางดำเนินการดังกล่าวไปใช้ ในช่วงปี 2007 – 2011 และปรากฎผลดังต่อไปนี้

  • อัตราการเรียนจบ เพิ่มจากร้อยละ ๗๓.๓ เป็น ๘๗.๒
  • ในทุกโรงเรียนจำนวนนักเรียนที่ผลการทดสอบของรัฐให้ผล "สูงกว่าความคาดหมาย" เพิ่มขึ้น
  • คะแนนการทดสอบ SAT, ACT และ AP เพิ่มขึ้น
  • อัตราการตั้งครรภ์วัยรุ่นลดลงร้อยละ ๔๐
  • จำนวนนักเรียนที่ขาดเรียนมากกว่า ๑๐ วันในแต่ละปีการศึกษาลดลงจากร้อยละ ๒๑ เป็น ๕และจำนวนนักเรียมมาเรียนสายลดลงร้อยละ ๑๑
  • การใช้คณะกรรมการตัดสินกรณีปัญหาวินัยนักเรียนลดลงร้อยละ ๒๗
  • ความพึงพอใจของผู้ปกครองเพิ่มจากร้อยละ ๗๘เป็น ๙๓

บุคคลสำคัญที่สุดต่อความสำเร็จนี้ คือผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษา Gainesvilleชื่อ Merrianne Dyer ผู้ให้ความเห็นว่าต้องเริ่มจากการทำความเข้าใจว่า ตัวอุปสรรคสำคัญต่อการเรียนรู้ของนักเรียนคืออะไรบ้างแล้วหาทางป้องกันและดำเนินการแก้ไขอุปสรรคเหล่านั้นและจัดสรรทรัพยากร เพื่อจัดการตัวอุปสรรคเหล่านั้น

Dyer บอกว่ากลไกสำคัญคือการปรับเปลี่ยนโครงสร้างบทบาทภาวะผู้นำ เพื่อจัดการความท้าทายเหล่านั้นในแต่ละโรงเรียน ต้องมีทีมจัดการที่มีผู้นำ ดำเนินการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการจัดการอุปสรรคย้ำว่าเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการดำเนินการไม่ใช่เพิ่มงานหรือกิจกรรมบางอย่างเข้าไป และไม่ใช่เปลี่ยนแปลงวิธีดำเนินการเพียงบางส่วน หรือที่ครูบางคน เท่านั้น

สาเหตุหลักของการที่นักเรียนมีปัญหาผลการเรียนต่ำอย่างเรื้อรัง มีปัญหารากฐาน ที่ประเด็นด้านสังคม อารมณ์ และหรือสรีรวิทยา ของเด็กและของครอบครัวของเด็กการนำทฤษฎีด้านสุขภาพจิตของ Adelman และ Taylor มาใช้ป้องกัน และแก้ปัญหา จึงก่อผลดี

รัฐ อะลาบามา นำแนวทางนี้ไปดำเนินการทั้งรัฐดัง เว็บไซต์นี้

นั่นคือวิธีการแก้ปัญหาผลลัพธ์การเรียนรู้ที่ได้ผลในสหรัฐอเมริกาวิธีแก้ปัญหาของไทยไม่จำเป็นต้องเหมือนกันแต่ผมเชื่อว่า หลักการจากข่าวนี้ ที่นำมาใช้ในบริบทไทยได้ มี ๒ ประการ คือ(๑) ดำเนินการเป็นระบบ เปลี่ยนระดับโครงสร้างการทำงาน และการจัดสรรทรัพยากรโดยมีทีมบริหารการเปลี่ยนแปลงและมีภาวะผู้นำของทีมที่เข้มแข็ง(๒) ต้องศึกษาข้อมูลตัวปัญหาและสาเหตุ สำหรับนำมาใช้กำหนดยุทธศาสตร์ และเป้าหมายของดำเนินการ

ที่ลืมไม่ได้คือ เป้าหมาย ผลลัพธ์การเรียนรู้ของนักเรียนไม่ใช่ผลประโยชน์ของคนในระบบการศึกษาเป็นตัวเป้าหมายหลัก

วิจารณ์ พานิช

๓ พฤศจิกายน ๒๕๕๗


บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย 

แก้ไขล่าสุด ใน วันจันทร์ที่ 08 ธันวาคม 2014 เวลา 20:34 น.
 

ชีวิตที่พอเพียง : ๒๓๐๓. ทำงานการกุศลของบริษัท

พิมพ์ PDF

งานการกุศลของบริษัท ในภาษาอังกฤษเรียกว่า corporate philantropy

ผมมีบุญ ได้รับการเชื้อเชิญให้ไปร่วมงาน corporate philantropy ของธนาคารไทยพาณิชย์ คือมูลนิธิสยามกัมมาจลซึ่งเมื่อทำมาได้ ๘ ปี ก็เกิดการเรียนรู้มากมาย เกิดโมเดลของ corporate philantropy ที่มีลักษณะจำเพาะ จนต่างชาติสนใจ มาขอเรียนรู้ และเชิญไปนำเสนอที่ฮ่องกง

การกุศลของบริษัท ในรูปแบบของมูลนิธิสยามกัมมาจล ไม่ใช่การบริจาค ไม่ใช่การประชาสัมพันธ์หรือโฆษณาชื่อเสียงของบริษัท แต่เป็นการทำงานสร้างความเจริญให้แก่บ้านเมือง โดยในกรณีมูลนิธิสยามกัมมาจล เป็นการทำงานพัฒนาเยาวชน เน้นพัฒนาลักษณะนิสัย (character) และทำงานแบบมีภาคีเป็นผู้ลงมือทำ มูลนิธิเข้าไปหนุน ในลักษณะไม่ใช่แค่ให้เงิน แต่เป็นการหนุนด้วยวิธีทำงานที่มีระบบการจัดการและการเรียนรู้ต่อเนื่อง นี่คือลักษณะจำเพาะ

ย้ำว่า บริษัทโดยทั่วไปมักทำการกุศล และ CSR โดยการให้เงินสนับสนุนกิจกรรมที่มีผลดีต่อสังคม แต่ธนาคารไทยพาณิชย์มีทั้งส่วนนั้น และส่วนที่ดำเนินการโดยมูลนิธิสยามกัมมาจล โดยส่วนที่ดำเนินการโดยมูลนิธิสยามกัมมาจล เน้นการเข้าไปร่วมเป็นภาคีหนุนการทำงาน ทำให้ภาคีได้เพื่อนร่วมกันทำงาน โดยที่ภาคีได้ผลงานไปทั้งหมด มูลนิธิสยามกัมมาจลเป็นผู้อยู่เบื้องหลัง

เป็นการอยู่เบื้องหลัง โดยเข้าไปเสริมด้านการจัดการและการเรียนรู้ เพราะ NGO ที่ทำงานพัฒนาชุมชน และในกรณีนี้พัฒนาเยาวชน มักอ่อนแอด้านการจัดการและการเรียนรู้ต่อเนื่อง ผู้จัดการมูลนิธิสยามกัมมาจล คือคุณเปา ชำนาญเรื่องการจัดการความรู้ และการสื่อสารสังคม จึงฝึกทีมงานของมูลนิธิเข้าไปหนุนกิจกรรมของภาคี ทำให้ภาคีได้ผลงานที่หนักแน่นขึ้นอย่างมากมาย กลายเป็นว่า ในบางเรื่องมูลนิธิฯ ไม่ได้สนับสนุนเงิน หรือสนับสนุนน้อยมาก แต่สนับสนุนกระบวนการ (จัดการ เรียนรู้ และสื่อสารสังคม) เป็นตัวหลัก

ดังกรณี Teach for Thailand ดำเนินการสร้าง ผู้นำสังคมหรือ Change Agent ให้แก่ประเทศผ่านการทำงานอาสาสมัครเป็นครูในโรงเรียนที่นักเรียนเป็นเด็กด้อยโอกาส โครงการ TFT ต้องการการสนับสนุนทางการเงิน แต่นอกจากเงินแล้ว ทางธนาคารไทยพาณิชย์และมูลนิธิสยามกัมมาจลยังสนับสนุน เวลาของผู้เชี่ยวชาญ ในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ โดยร่วมทำ reflection จากประสบการณ์ตรงของ TFT fellow เท่ากับเป็นการสนับสนุนเชิงปัญญานั่นเอง

งานการกุศลของบริษัท ไม่ใช่เงินเป็นตัวหลัก ตัวหลักคือปัญญา


วิจารณ์ พานิช

๒๑ พ.ย. ๕๗

แก้ไขล่าสุด ใน วันจันทร์ที่ 08 ธันวาคม 2014 เวลา 20:39 น.
 

ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา

พิมพ์ PDF

หนังสือ สูง ต่ำ ไม่เท่ากัน : ทำไมระบบการศึกษาจึงสร้างความเหลื่อมล้ำบอกว่า    ในส่วนของความเหลื่อมล้ำที่วัดได้   ได้ศึกษา ๓ ประเด็น คือ (๑) ความเหลื่อมล้ำของโอกาส   (๒) ความเหลื่อมล้ำของทรัพยากรที่ลงทุนเพื่อการศึกษา และ (๓)​ ความเหลื่อมล้ำของผลลัพธ์ทางการศึกษา

เรื่องแรก คือความเหลื่อมล้ำของโอกาส หนังสือบอกว่าเป็นข่าวดี    คือในภาพใหญ่ ความเลื่อมล้ำลดลงมาก    คือคนไทยมีโอกาสเข้าถึงการศึกษาได้ดีขึ้นอย่างน่าชื่นใจ    ซึ่งประเด็นนี้ผมเถียงหัวชนฝาว่าไม่จริง    เพราะเราต้องมองที่โอกาสเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ ไม่ใช่โอกาสเข้าถึงการศึกษาเฉยๆ

เวลานี้คนไทยต้องดิ้นรนทุกข์ยาก เพื่อหาที่เรียนที่มีคุณภาพให้แก่ลูกหลาน ไม่ต่างจากสมัยก่อน    นี่คือข้อสังเกตของผม

หาที่เรียนยังไม่พอ ต้องจ่ายเงินค่ากวดวิชาที่แสนแพงอีกด้วย

น้องชาย (นพ. วิโรจน์ พานิช) เล่าให้ฟังว่า    ที่สุราษฎร์ คนที่พอมีเงิน นิยมส่งลูกไปเรียนชั้นมัธยมที่มาเลเซีย    เพราะคุณภาพคุ้มค่าเงิน    และถูกกว่าให้เรียนที่เมืองไทย    เพราะเรียนที่เมืองไทยต้องรวมค่ากวดวิชา และอื่นๆ ด้วย

เรื่องที่สอง ความเหลื่อมล้ำของทรัพยากร ผมสนับสนุนความเห็นในรายงานนี้อย่างเต็มที่    ว่าเวลานี้เราลงเงินผิดที่    และเห็นว่าเป็นเรื่องที่กระทรวงศึกษาธิการจะต้องรับผิดชอบดำเนินการต่อไป    นักวิจัยควรเก็บข้อมูลติดตามผล    ว่าระบบของเราดีขึ้นหรือเลวลง เมื่อเวลาผ่านไป

ความเหลื่อมล้ำและผิดพลาดในเรื่องการจัดสรรทรัพยากร    อยู่ที่จัดสรรให้แก่การศึกษาระดับปฐมวัยน้อย และค่อยๆ จัดเพิ่มขึ้น จนสูงสุดในระดับอุดมศึกษา     นี่คือแนวทางที่ผิด    เพราะผลของการศึกษาที่ดีในระดับปฐมวัย จะก่อผลดีต่อรัฐสูงสุด    ส่วนผลของการศึกษาระดับอุดมศึกษาได้แก่ตัวบุคคลมากกว่าผลต่อรัฐ

แต่ก็มีข้อสังเกตเพิ่มในเรื่องเมื่อลงเงินไปแล้ว ต้องใช้ให้เกิดประโยชน์    จะเห็นว่า ประเด็นคุณภาพแฝงอยู่ในนโยบายการศึกษาทุกจุด    หากไม่มีคุณภาพในการใช้เงิน ยังมีคอรัปชั่นทางตรงและทางอ้อมมากมายในวงการศึกษา ใส่ทรัพยากรลงไปก็สูญเปล่า

เรื่องที่สาม ผลลัพธ์ทางการศึกษาของผู้เรียน    มีความเหลื่อมล้ำระหว่างภูมิภาค, ระหว่างในและนอกเทศบาล และระหว่างหน่วยงานที่กำกับสถาบันการศึกษา

ผมขอเพิ่มเติมความเหลื่อมล้ำของผลลัพธ์ทางการศึกษาระหว่างนักเรียนในชั้นเรียนเดียวกัน    ผมได้ยินมาว่าความเหลื่อมล้ำนี้สูงกว่าความเหลื่อมล้ำระหว่างโรงเรียน   เมื่อวิเคราะห์จากข้อมูลผลการสอบ PISA   ผมคิดว่า ควรมีการวิจัยเรื่องความเหลื่อมล้ำของผลลัพธ์ทางการศึกษาในชั้นเรียน    เพื่อหาทางแก้ เพราะเป็นเรื่องใหญ่ที่แสดงความผิดพลาดในการจัดการเรียนรู้    และน่าจะเป็นเรื่องที่แก้ได้ไม่ยาก ตามหลักการศึกษา

 

วิจารณ์ พานิช

๑๒ ต.ค. ๕๖

 

บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย 

แก้ไขล่าสุด ใน วันจันทร์ที่ 08 ธันวาคม 2014 เวลา 20:49 น.
 


หน้า 317 จาก 561
Home

About Us

ศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ (ศบม.) เป็นองค์กรที่พัฒนาและจัดทำโครงการเพื่อทำประโยชน์ให้สังคม เป็นองค์กรสนับสนุนการดำเนินงานของภาครัฐ ช่วยแก้ปัญหาผู้ประกอบการภาคธุรกิจบริการที่ขาดแคลนบุคลากรที่มีมาตรฐานในการให้บริการ
อ่านเพิ่มเติม

มูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ ์

 iHDC Profile
บัญชีรายชื่อกรรมการ
ใบสำคัญแสดงการจดทะเบียน การเปลี่ยนแปลงกรรมการของมูลนิธิ
เอกสารประชาสัมพันธ์ โครงการ HMTC.pdf
เอกสารแนะนำโครงการ HMTC 1.pdf
เอกสารโครงการ HMTC 2 คุณสมบัติผู้เข้าร่วมโครงการ.pdf
iHDC นิติบุคคล.pdf
iHDC บุคคล.pdf
iHDC บุคคลเครือข่าย.pdf
รายงานการประชุม 6 มีนาคม 2560.pdf
ข้อบังคับมูลนิธิ
ใบสำคัญแสดงการจดทะเบียนจัดตั้งมูลนิธิ
Ihdc-Profile and Roadmap 2016-2019 Mar 23 2560.pdf
รายงานการประชุมใหญ่คณะกรรมการมูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ 2559.pdf
คำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ สาขาวิชาชีพ.pdf
รายงานการประชุมใหญ่วันที่ 18 ธ ค 2558 v 3.pdf
รายงานการประชุม วันที่ 24 ธันวาคม 2557 updated 4 มีนาคม 2558.pdf
iHDC-invitation Letter.doc
iHDC-Member Form Thai.doc
iHDC-Member Form English.doc
รายงานการประชุมกรรมการมูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ วันที่ 15 มกราคม 2556 ฉบับสมบูรณ์


thaibetter
พัฒนาประเทศไทยแบบทวีคูณ และยั่งยืน ( ททค )

Login


แบบสำรวจ

สถิติเว็บไซด์

สมาชิก : 5644
Content : 3068
เว็บลิงก์ : 26
จำนวนครั้งเปิดดูบทความ : 8747425

facebook

Twitter


ล่าสุด

บทความเก่า