Thaiihdc.org

  • เพิ่มขนาดตัวอักษร
  • ขนาดตัวอักษรปกติ
  • สดขนาดตัวอักษร
Thaiihdc.org

ความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย

พิมพ์ PDF

วันที่ ๑๕ และ ๑๖ ส.ค. ๕๕ ผมไปร่วมสัมมนาทางวิชาการเพื่อเสนอผลงานวิจัย สู่สังคมไทยเสมอหน้า การศึกษาโครงสร้างความมั่งคั่งและโครงสร้างอำนาจเพื่อการปฏิรูป ที่นำโดย ศ. ดร. ผาสุก พงศ์ไพจิตร ได้รับการสนับสนุนจากทุนศาสตราจารย์วิจัยดีเด่น   สนับสนุนโดย สกว., สกอ. และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย    การประชุมนี้จัดที่ จุฬาฯ

 

เริ่มด้วยบทสรุป ภาพรวมของผลงานวิจัย โดย ศ. ดร. ผาสุก    อ่านที่สื่อมวลชนเอาไปเผยแพร่ได้ที่  ที่จริงมีผลงานวิจัยเกี่ยวกับความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยอยู่พอสมควร    ค้นใน อินเทอร์เน็ต ได้   แต่ความสดใหม่ของผลงานของ ศ. ดร. ผาสุก อยู่ที่การชี้สาเหตุ ด้วยการนำปรากฏการณ์ทางสังคม ที่สะท้อนสาเหตุมาให้ดู   ดังกรณีผลงานวิจัยเรื่อง เครือข่ายผู้บริหารระดับสูง ผ่านเครือข่ายทางการศึกษา โดยนวลน้อย ตรีรัตน์ และภาคภูมิ วาณิชกะ ที่ผมมีโอกาสฟังการนำเสนอผลการวิจัย   แต่ฟังผู้วิจารณ์ คือ ศ. ดร. อานันท์ กาญจนพันธุ์ ได้ไม่ตลอด ก็ต้องออกเดินทางไปศาลายา เพื่อเป็นประธานการประชุมสภามหาวิทยาลัยมหิดล อ่านสรุปเรื่องนี้ที่สื่อมวลชนนำไปลงได้ที่นี่

 

งานวิจัยชุดนี้ความงามอยู่ที่ข้อมูล วิธีหาข้อมูล และการตีความ   และใช้การนำเสนอโดยมีผู้วิจารณ์ช่วยตีความ หาผู้วิจารณ์ที่แหลมคมมาช่วยตีความ   แต่ผมเสียดายที่สื่อมวลชนไทยไม่สามารถเก็บส่วนการตีความที่แหลมคมออกมาสื่อได้

 

หลังจากผมกลับแล้ว มีการนำเสนอเรื่องที่น่าสนใจทั้งสิ้น   โดยความน่าสนใจอยู่ในรายละเอียดของข้อมูล และอยู่ที่การตีความ    ผมเสียดายมาก ที่ไม่มีโอกาสฟัง    ผมปลอบใจตัวเองว่าชีวิตก็เป็นเช่นนี้เอง มีข้อจำกัดมากมาย

 

เรื่องถัดมาคือเรื่อง บริษัทกึ่งรัฐ-กึ่งธุรกิจ : กรณีศึกษาธุรกิจพลังงาน โดยนพนันท์ วรรณเทพสกุล   วิจารณ์โดย ดร. เดชรัต สุขกำเนิด   ซึ่งหัวข้อเต็มคือ องค์กรกึ่งรัฐกึ่งเอกชน อิทธิพลของธุรกิจพลังงานผ่านอำนาจเครือข่ายราชการ และชื่อเต็มของโครงการวิจัยคือ บริษัทกึ่งรัฐกึ่งเอกชน อำนาจและอิทธิพลในการสร้างความยิ่งใหญ่ของทุนพลังงานไทยหลังวิกฤต 2540

 

นสพ. กรุงเทพธุรกิจ นำสาระมาลงค่อนข้างได้รายละเอียด อ่านได้ที่นี่ ทำให้เราได้รับรู้ว่า ได้เกิดองค์กรแบบใหม่ขึ้นในสังคมไทย   ที่หลบหลีกการควบคุม และมีข้อได้เปรียบการแข่งขัน   เป็นคำอธิบายว่า ทำไมองค์กรกลุ่มนี้จึงโตพรวดพราด

 

อีกเรื่องหนึ่งคือ อิทธิพลท้องถิ่น กรณีศึกษาจังหวัดชลบุรี และ กรณีศึกษาจังหวัดสกลนคร ซึ่งเอกสารที่แจกเป็นบทคัดย่อของโครงการ โครงสร้างอำนาจและการสะสมทุนในจังหวัดชลบุรี โดย ชัยยนต์ ประดิษฐ์ศิลป   และเรื่อง โครงสร้างอำนาจท้องถิ่นในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดย ดร. สถาพร เริงธรรม

 

ผมสรุปกับตัวเองว่า ผลการวิจัยนี้บอกเราว่า ขบวนการสร้างความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยมีนวัตกรรม และความคล่องตัวสูงมาก   ในขณะที่ขบวนการลดความเหลื่อมล้ำยังไม่มีการทำงานอย่างเป็นระบบ หรือยังไม่มีขบวน

 

เช้าวันที่ ๑๖ ส.ค. ๕๕ ผมไปฟังเรื่อง การกระจุกตัวของความมั่งคั่งในสังคมไทย โดย ผศ. ดร. ดวงมณี เลาวกุล แห่งคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์   ที่ นสพ. นำไปลงข่าว ที่นี่ และวิทยุจุฬา ก็นำมาออกข่าวตอนเช้าวันที่ ๑๗ ส.ค. ด้วย    ผมได้เรียนรู้ว่าวิธีตรวจสอบความมั่งคั่งของบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลเขาดูที่การถือครอง ๓ อย่างคือ (๑) ที่ดิน  (๒) ทรัพย์สิน  และ (๓) หลักทรัพย์    แต่ผมเถียงความคิดนี้มานานแล้วสำหรับใช้เป็นทิศทางดำเนินชีวิตส่วนตัว    คือผมมองว่า ยังมีความมั่งคั่งอีก ๓ อย่างที่คนเราควรมุ่งสั่งสม ได้แก่ (๔) ทุนทางปัญญา  (๕) ทุนทางสังคม  และ (๖) อริยทรัพย์ คือทุนทางโมกษะ

 

งานวิจัยชุดนี้ดำเนินการได้เพราะสามารถเข้าถึงข้อมูลได้   แม้จะมี พรบ. ข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. ๒๕๔๐ แต่หน่วยราชการจำนวนมากก็ยังอ้างความมั่นคงของชาติ เพื่อหลีกเลี่ยงการให้ข้อมูลสำหรับนำมาทำงานวิจัย   ท่านเล่าให้ผมฟังเรื่องพฤติกรรมของหอสมุดแห่งชาติ ที่ไม่ยอมให้ถ่ายเอกสารสำคัญบางฉบับ   แต่เมื่อมีผู้ใหญ่ไปขอ ก็ถ่ายให้โดยง่าย   ในสังคมไทย กฎหมายไม่สำคัญเท่าความสัมพันธ์ส่วนตัว หรือความสัมพันธ์เชิงอำนาจ   นี่ก็เป็นสาเหตุทางอ้อมให้เกิดการกระจุกตัวของความมั่งคั่ง

 

ผมฟัง ดร. ดวงมณีไม่จบก็ต้อรีบเดินทางไปศิริราช เพื่อไปตรวจตาตามที่หมอนัด   จึงไม่ได้ฟังเรื่อง เครือข่ายอำนาจทักษิณ โครงสร้าง บทบาท และพลวัต โดยอุกฤษฏ์ ปัทมานันท์ (ซึ่ง นสพ. นำไปลงข่าวที่นี่)   และเรื่อง การปฏิรูประบบภาษีเพื่อสังคมไทยเสมอหน้า โดย ดร. ปัณณ์ อนันอภิบุตร หัวหน้าฝ่ายพัฒนาโครงสร้างภาษี สำนักนโยบายภาษี สศค.  ที่เสนอปรับ ๔ เรื่อง คือ (๑) ระบบการส่งเสริมการลงทุน  (๒) การลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา  (๓) มาตรการ เงินโอนแก้จนคนขยัน  (๔) ภาษีความมั่งคั่ง

 

เรื่องของคุณทักษิณนี้ วิทยุจุฬา เช้าวันที่ ๑๗ ส.ค. ๕๕ ออกข่าว เว็บไซต์ข่าวอิสระของอิหร่าน วิจารณ์รัฐบาลโอบามา ที่สนับสนุนทักษิณ   ผมค้นข่าวได้ที่นี่ ขบวนการทักษิณเป็นขบวนการลดหรือเพิ่มความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย?

 

 

วิจารณ์ พานิช

๑๗ ส.ค. ๕๕

บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย 

แก้ไขล่าสุด ใน วันจันทร์ที่ 08 ธันวาคม 2014 เวลา 20:57 น.
 

สอนอย่างมือชั้นครู :๒๐. เรียนจากกรณีศึกษา

พิมพ์ PDF

บันทึกชุด "สอนอย่างมือชั้นครู" ๓๔ ตอน ชุดนี้ ตีความจากหนังสือ Teaching at Its Best : A Research-Based Resource for College Instructors เขียนโดย Linda B. tags/Nilson">Nilson ซึ่งเป็นฉบับพิมพ์ปรับปรุงครั้งที่ ๓ ผมขอเสนอให้อาจารย์ในสถาบันการศึกษาไทยทุกคน หาหนังสือเล่มนี้อ่านเอง เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ เพราะหากติดตามอ่านจากบันทึกใน บล็อก ของผม ซึ่งลงสัปดาห์ละตอน จะใช้เวลากว่าครึ่งปี และการอ่านบันทึกของผมจะแตกต่างจากการอ่านฉบับแปล หรืออ่านจากต้นฉบับโดยตรง เพราะบันทึกของผมเขียนแบบตีความ ไม่ได้ครอบคลุมสาระทั้งหมดในหนังสือ

ตอนที่ ๒๐ นี้ ตีความจาก Part Four : More Tools : Teaching Real-World Problem Solving มี ๕ บท ตอนที่ ๒๐ ตีความจากบทที่ 19. The Case Method

สรุปได้ว่า การเรียนจากกรณีศึกษา เป็นการเรียนแบบที่นักศึกษาลงมือแก้ปัญหาจากเรื่องในกระดาษ ซึ่งอาจเป็นเรื่องที่มีความซับซ้อนมากน้อยแล้วแต่วัตถุประสงค์ของการเรียนรู้ เรื่องดังกล่าวต้องมีความสมจริง และท้าทายให้นักศึกษาตั้งใจหาทางออก หลังจากทำโจทย์แล้ว ต้อง debrief/reflect เพื่อทำความเข้าใจให้ชัดยิ่งขึ้น

การเรียนจากกรณีตัวอย่าง/กรณีศึกษา ช่วยให้นักศึกษาได้ฝึกคิดในระดับสูง จากสถานการณ์ในชีวิตจริง หากคำนึงถึงระดับของการลงมือทำของนักศึกษา ที่การเรียนแบบฟังการบรรยายอยู่ที่ขั้วต่ำสุด และการเรียนแบบรับใช้สังคม หรือแบบสวมบทบาท อยู่ที่ขั้วสูงสุด การเรียนจากกรณีตัวอย่างอยู่ที่ระดับกลางๆ

นักศึกษาจะได้รับกรณีตัวอย่างเป็นข้อเขียน หรือในบางกรณีอาจเป็นวีดิทัศน์ของการแสดง

หัวใจคือ ในการเรียนแบบนี้ นักศึกษาได้ฝึกคิดแก้ปัญหา ตามสภาพความเป็นจริงในสังคม หรือในชีวิตจริง ที่มีความซับซ้อนมาก เรื่องต่างๆ ไม่ตรงไปตรงมา ผลลัพธ์การเรียนรู้จะอยู่ในระดับสูง ที่การพัฒนาทักษะการประยุกต์ใช้ความรู้ ทักษะการวิเคราะห์ ทักษะการสังเคราะห์ และทักษะการประเมิน


ประสิทธิผลของการเรียนจากกรณีตัวอย่าง

การเรียนจากกรณีตัวอย่าง ให้ผลดีดังต่อไปนี้

  • ทำให้นักศึกษาต้องตั้งใจทำโจทย์ หรือตั้งใจเรียน
  • ช่วยให้เข้าใจสภาพจริงในโลกหรือชีวิต
  • ฝึกการแก้ปัญหาในสภาพที่ไม่แน่นอน มีความเสี่ยง และทางเลือกหลายทางอยู่ตลอดเวลา
  • ฝึกการคิดระดับสูง
  • เชื่อมโยงสู่ประเด็นเชิงจริยธรรมที่เกิดจากการตัดสินใจ
  • ได้ฝึกทั้งการคิดแบบอุปนัย (inductive) และแบบนิรนัย (deductive) โดยที่การเรียนโดยทั่วๆ ไปในระดับอุดมศึกษา ได้ฝึกเฉพาะการคิดแบบนิรนัยเท่านั้น
  • ใช้สำหรับมอบหมายงานเขียน เป็นโจทย์สำหรับการอภิปรายกลุ่ม หรือการทำงานกลุ่ม อย่างอื่นได้
  • ดึงดูดนักศึกษาเข้าชั้นเรียน
  • เพิ่มทัศนคติที่ดีของนักศึกษาต่อการเรียน และเพิ่มทัศนคติที่ดีของอาจารย์ต่อการสอน
  • เพิ่มผลลัพธ์การเรียนรู้ของนักศึกษา

อย่างไรก็ตาม ผลลัพธ์ที่ได้ ขึ้กับลักษณะของ วิธีเขียนกรณีตัวอย่างด้วย วิธีเขียนที่ดีคือใส่ตัวนักศึกษา เข้าไปในเรื่อง ให้นักศึกษารู้สึกสมจริง รู้สึกว่าตนมีส่วน และวิธี sequential interactive จะยิ่งสมจริงยิ่งขึ้น เกือบเหมือนนักศึกษาเป็นผู้ลงมือทำจริงๆ


สาขาวิชาที่เหมาะสมต่อการเรียนจากกรณีตัวอย่าง

กล่าวได้ว่า การเรียนจากกรณีตัวอย่างใช้ได้กับทุกสาขาวิชา โดยที่การศึกษาด้านวิชาชีพเป็นผู้ริเริ่มและ ใช้กันกว้างขวาง เพราะต้องฝึกความเคยชินกับสถานการณ์หรือบริบทที่มีความซับซ้อนมาก ในการประยุกต์ใช้ ความรู้ สาขาวิชากฎหมาย และบริหารธุรกิจ ใช้มาก คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ถึงกับสร้าง หลักสูตรทั้งหลักสูตร ด้วยวิธีเรียนรู้จากกรณีตัวอย่าง และตั้งสำนักพิมพ์เผยแพร่กรณีตัวอย่าง สาขาอื่นๆ ที่ใช้มากได้แก่ แพทยศาสตร์ พยาบาลศาสตร์ จิตวิทยาคลินิก บริหารการศึกษา บริหารวัด (คริสต์)

วิศวกรรมศาสตร์หลายสาขาใช้วิธีการนี้ รวมทั้งสาขาด้านศิลปะและวิทยาศาสตร์ ได้แก่ ประวัติศาสตร์ดนตรี ปรัชญา เศรษฐศาสตร์ รัฐศาสตร์ สังคมวิทยา จิตวิทยา ชีววิทยา และวิธีวิทยา ทางวิทยาศาสตร์ มีเว็บไซต์รวมรวมกรณีศึกษาด้านวิทยาศาสตร์ที่http://ublib.buffalo.edu/libraries/projects/cases/case.html

การใช้กรณีตัวอย่างในการฝึกอบรมอาจารย์ และผู้ช่วยสอน มีประโยชน์มาก เช่นกรณีตัวอย่างเรื่อง การลองดีต่อผู้มีอำนาจ ปฏิกิริยาก้าวร้าวรุนแรงต่อสาระการเรียนรู้ที่อ่อนไหวต่อความรู้สึก การกล่าวหาว่า มีการแบ่งแยกและปฏิบัติอย่างไม่เท่าเทียมกัน ข้อโต้แย้งกรณีการตัดเกรด และการทุจริต และ ความยุ่งยาก ในการเริ่มใช้เทคนิกหรือเทคโนโลยีใหม่


กรณีตัวอย่างที่ดีเป็นอย่างไร

กรณีตัวอย่างที่ดีอาจเขียนในลักษณะเรื่องราวของบุรุษที่สอง หรือบุรุษที่สาม และอาจเป็นเรื่องใน ปัจจุบันหรือในอดีต จะสั้นยาวแค่ไหนก็ได้ ที่สำคัญคือ ต้องมีคุณสมบัติต่อไปนี้


สมจริง

ไม่ว่าจะเป็นเรื่องจริง หรือเรื่องสมมติ ต้องสอดคล้องกับความเป็นจริงในปัจจุบัน ที่นักศึกษาสามารถ นำตัวเข้าไปร่วม การเขียนเรื่องให้สมจริงต้องมีรายละเอียดเชิงเทคนิก มีบุคลิกลักษณะของตัวละคร มีบริบทที่สมจริง มีประวัติศาสตร์เชื่อมโยงสู่ปัจจุบัน หรือเชื่อมโยงกับกระบวนการตัดสินใจ


ให้โอกาสสังเคราะห์

กรณีตัวอย่างควรเปิดโอกาสให้นักศึกษาสั่งสมความรู้เกี่ยวกับเรื่องนั้นไปสู่การวิเคราะห์ปัญหาเพื่อคิดหาทางออก หากไม่ใส่รายละเอียดให้นักศึกษาฝึกทบทวนสถานการณ์ นักศึกษาอาจหลงลืมความรู้พื้นฐานในการ ตัดสินใจในกิจกรรมวิชาชีพ


มีความไม่แน่นอน

กรณีศึกษาควรมีความซับซ้อน เปิดช่องให้มีทางออกได้หลายทาง หรือให้มีข้อถกเถียงได้ แม้จะมีทางเลือกได้หลายทาง อาจารย์ควรให้นักศึกษาเลือกทางใดทางหนึ่ง และให้คำอธิบายว่าทำไม จึงเลือกทางออกนั้น หรืออาจให้เรียงลำดับทางเลือก

ความไม่แน่นอนของทางเลือก อาจเกิดจากองค์ความรู้ที่ต่างกัน หรือเกิดจากสารสนเทศที่ไม่ครบถ้วน หรือเกิดจากวิธีมองปัญหาแตกต่างกัน


มีความเสี่ยง

ทางเลือกของนักศึกษาต้องมีความสำคัญ เช่นมีผลให้ตัวละครตกงานหรือเสียชีวิต หรือทำให้บริษัทล้มละลาย หรือแพ้คดี


ชนิดของกรณีตัวอย่าง

ข้อเขียนกรณีตัวอย่าง อาจสั้นมากๆ มีเพียงสองสามประโยค ไปจนถึงยาวมาก มีชนิดต่างๆ ดังนี้

  • Bullet case มีเพียงสองสามประโยค เพื่อบอกประเด็นวิชาการ เพื่อเป็นหัวข้อสำหรับ อภิปราย หรือเพื่อให้เขียนเรียงความสั้นๆ
  • Minicase มีสองสามย่อหน้า ถ้าเขียนแบบละคร ที่แสดงในสองสามนาที เรียกว่า vignette กรณีศึกษาที่มีความยาวจะทำให้มีประเด็นโต้แย้งได้มากขึ้น อาจารย์อาจเขียนมีทางเลือกได้ ๔ - ๕ ทางเลือก คล้ายๆ ข้อสอบหลายตัวเลือก ให้นักศึกษาเลือกพร้อมเหตุผลหรือคำอธิบาย กรณีศึกษาอาจยาวหลายหน้า กรณีศึกษาของคณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด อาจยาวถึง ๔๐ หน้า
  • Continuous case เล่าเรื่องราวเป็นตอนๆ เดินเรื่องตามเวลาจริง หรือย่นเวลา ช่วยให้ เรื่องราวสมจริงมากขึ้น เช่นนักศึกษาแพทย์ หรือนักศึกษาพยาบาล ศึกษาเรื่องของผู้ป่วย ที่อาการโรค หรือการตั้งครรภ์ เปลี่ยนแปลงไปตามเวลา
  • Sequential-interactive case ให้ข้อมูลเบื้องต้น แล้วให้นักศึกษาถามหรือขอข้อมูลเพิ่ม เป็นช่วงๆ โดยนักศึกษาทำหน้าที่เป็นผู้ตัดสินใจ


การทบทวนไตร่ตรองหลังศึกษากรณีตัวอย่าง (Debriefing)

การศึกษากรณีตัวอย่างจะนำไปสู่การเรียนรู้อย่างลึกตามเป้าหมายได้ อาจารย์ต้องจัดเวลาให้นักศึกษา ทบทวนไตร่ตรอง (debriefing/reflection/AAR) โดยอาจารย์ตั้งคำถามที่ท้าทายให้นักศึกษาคิดระดับสูง อันได้แก่การประยุกต์ วิเคราะห์ สังเคราะห์ และประเมินอย่างจริงจัง ต่อทางเลือกของนักศึกษา ในกรณีนี้ ทักษะในการตั้งคำถามที่ดี มีผลมากต่อการเรียนรู้ของนักศึกษา

วิธีตั้งคำถามแบบ "ปัญหา - ทางแก้ - วิธีป้องกัน" เป็นแนวทางง่ายๆ เช่นถามว่า "ปัญหาคืออะไร" "ทางแก้เป็นอย่างไร" "วิธีป้องกันไม่ให้เกิดปัญหานี้เป็นอย่างไร" อาจารย์สามารถใส่ลูกเล่นในการตั้งคำถาม ได้มากมาย เพื่อให้นักศึกษาเกิดการเรียนรู้ตามเป้าหมาย และในระดับสูง

การทบทวนไตร่ตรองนี้อาจทำทั้งชั้น หรือให้ทำเป็นกลุ่มย่อย หากให้ทำเป็นกลุ่มย่อย อาจให้ตัวแทนกลุ่มรายงานต่อชั้น


คำแนะนำต่อนักบุกเบิก

สำหรับสาขาวิชาที่ไม่ค่อยมีคนใช้กรณีศึกษา การริเริ่มขึ้นเองไม่มีความเสี่ยงที่น่ากังวล โดยทั่วไปนักศึกษาชอบ เพราะสนุกและได้ความรู้ดี ประเด็นสำคัญคือคุณภาพของกรณีศึกษา ซึ่งเมื่อยกร่าง อาจให้เพื่ออาจารย์ช่วยอ่านและให้ความเห็นเพื่อปรับปรุง

เมื่อเวลาผ่านไป ควรปรับปรุงกรณีศึกษาให้ดียิ่งขึ้น


วิจารณ์ พานิช

๔ ก.ย. ๕๗


บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย 

แก้ไขล่าสุด ใน วันจันทร์ที่ 08 ธันวาคม 2014 เวลา 21:08 น.
 

สอนอย่างมือชั้นครู :21. การเรียนโดยใช้ปัญหา (Problem-Based Learning – PBL)

พิมพ์ PDF
PBL มีประสิทธิผลสูงมากในการพัฒนาความสามารถต่อไปนี้ แก่นักศึกษา การทำงานเป็นทีม, การจัดการโครงการและภาวะผู้นำ, การสื่อสารด้วยวาจาและอาจรวมทั้งด้วยการเขียน, ทักษะทางอารมณ์, ความอดทนต่อความไม่แน่นอน, การคิดอย่างมีวิจารณญาณและการวิเคราะห์, ความเข้าใจหลักการ (conceptual understanding), ยุทธศาสตร์เพื่อการเรียนรู้ระดับสูงและการเรียนรู้โดยกำกับ ด้วยตนเอง, การประยุกต์ใช้สาระความรู้, ทักษะทางคลินิก (นักศึกษาแพทย์), การประยุกต์ใช้ยุทธศาสตร์ว่าด้วย ความเข้าใจเรื่องการเรียนรู้, ทักษะการวิจัยและการค้นหาความรู้, การจดจำความรู้, การตัดสินใจ

สอนอย่างมือชั้นครู :21. การเรียนโดยใช้ปัญหา (Problem-Based Learning – PBL)

บันทึกชุด "สอนอย่างมือชั้นครู" ๓๔ ตอน ชุดนี้ ตีความจากหนังสือ Teaching at Its Best : A Research-Based Resource for College Instructors เขียนโดย Linda B. Nilson ซึ่งเป็นฉบับพิมพ์ปรับปรุงครั้งที่ ๓ ผมขอเสนอให้อาจารย์ในสถาบันการศึกษาไทยทุกคน หาหนังสือเล่มนี้อ่านเอง เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ เพราะหากติดตามอ่านจากบันทึกใน บล็อก ของผม ซึ่งลงสัปดาห์ละตอน จะใช้เวลากว่าครึ่งปี และการอ่านบันทึกของผมจะแตกต่างจากการอ่านฉบับแปล หรืออ่านจากต้นฉบับโดยตรง เพราะบันทึกของผมเขียนแบบตีความ ไม่ได้ครอบคลุมสาระทั้งหมดในหนังสือ

ตอนที่ ๒๑ นี้ ตีความจาก Part Four : More Tools : Teaching Real-World Problem Solving มี ๕ บท ตอนที่ ๒๑ ตีความจากบทที่ 20. Problem-Based Learning

สรุปได้ว่า PBL เป็นวิธีการเรียนที่ให้ผลการเรียนรู้สูงมาก แต่ใช้ยาก ต้องการอาจารย์ที่มีทั้งทักษะ และความเอาใจใส่ โดยเฉพาะการช่วยแนะนำสร้าง โครงหรือนั่งร้าน (scaffolding) แก่การเรียนรู้ของนักศึกษา ที่พื้นความรู้อ่อน และทักษะด้านลักษณะนิสัย (non-cognitive) อื่นๆ ก็อ่อนแอ ซึ่งเมื่อก้าวข้ามความยากลำบาก ไปได้ จะเปลี่ยนชีวิตของนักศึกษาเหล่านี้

การเรียนโดยใช้ปัญหา (Problem-Based Learning - PBL) กับการเรียนจากกรณีศึกษา (The Case Method หรือ Case-Based Learning) คล้ายกันมาก คือนำเสนอเรื่องของชีวิตจริง เรื่องยุ่งๆ ของมนุษย์ มีความไม่ แน่นอนสูง และมีทางออกได้หลายทาง ความแตกต่างอยู่ที่ PBL ซับซ้อนกว่า ยุ่งเหยิงกว่า และนักศึกษา จะต้อง "ทำงานวิจัย" หาข้อมูลนอกเหนือจากที่โจทย์ให้ เพื่อนำมาใช้ในกระบวนการแก้ปัญหา เนื่องจาก PBL มีงานค่อนข้างมาก จึงต้องเรียนเป็นทีม ซึ่งจำนวนสมาชิกที่พอเหมาะคือ ๔ คน

วิธีการเรียนแบบนี้เริ่มจากคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัย McMaster ที่แคนาดา คิดวิธีนี้ขึ้นในช่วง ทศวรรษที่ 1960 เพื่อแก้ปัญหานักศึกษาเรียนจากการบรรยายแล้วผลการเรียนรู้ตื้น ไม่รู้จริง ปฏิบัติไม่ได้

เวลานี้ PBL ใช้กันอย่างแพร่หลายในทุกสาขาวิชา เช่นเดียวกันกับการเรียนจากกรณีศึกษา

ขั้นตอนการเรียนรู้โดยใช้ปัญหา

ในการเรียนแบบนี้ นักศึกษาจะร่วมกันทำกิจกรรมด้วยตนเองเป็นส่วนใหญ่ โดยมี ๑๐ ขั้นตอนตามลำดับดังต่อไปนี้

  • 1.ทีมนักศึกษาทำความเข้าใจโจทย์ (ซึ่งมักมีโครงสร้างไม่ชัด) ทำความเข้าใจถ้อยคำ ที่ตนยังไม่รู้ หรือยังเข้าใจไม่ชัดเจน
  • 2.ทีมนักศึกษาวิเคราะห์ และกำหนดประเด็นโจทย์ (อาจารย์อาจช่วยชี้แนะ)
  • 3.ทีมนักศึกษาตรวจสอบ และจัดระบบ ความรู้เดิมที่ตนมีอยู่แล้ว ตนสำหรับใช้แก้ปัญหา ซึ่งหมายความว่า นักศึกษาได้ฝึกแยกแยะปัญหาส่วนที่ไม่ใช่ประเด็นสำคัญออกไป
  • 4.นักศึกษาร่วมกันกำหนดความรู้ใหม่ที่ต้องการ สำหรับนำมาแก้ปัญหา นี่คือประเด็นเรียนรู้
  • 5.นักศึกษารวบรวมและจัดลำดับสำคัญของประเด็นเรียนรู้ และกำหนดวัตถุประสงค์ ของการวิจัยหรือค้นคว้าเพิ่มเติมจากภายนอก (อาจารย์อาจช่วยให้เอกสาร หรือแหล่งอ้างอิง)
  • 6.นักศึกษาแบ่งงานกันทำ
  • 7.นักศึกษาแต่ละคนค้นหาความรู้ ให้เสร็จภายในเวลาที่ตกลงกัน
  • 8.นักศึกษามาพบและแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันเป็นระยะๆ และกลับไปค้นคว้าเพิ่มเติม
  • 9.นักศึกษาร่วมกันสังเคราะห์ หรือบูรณาการความรู้ใหม่และความรู้เดิม เข้าเป็นชุดความรู้ สำหรับใช้แก้ปัญหา นี่คือขั้นตอนของการสร้างความรู้ (Constructicism)
  • 10.นักศึกษาเขียนรายงาน และ/หรือ นำเสนอรายงาน

อาจารย์ทำหน้าที่ช่วยแนะนำในตอนต้นเพียงเล็กน้อย หลังจากนั้นปล่อยให้นักศึกษาคิด ค้น และทำกันเอง ผลของ PBL ควรให้คล้ายสถานการณ์จริงมากที่สุด เช่น เป็นแผนปฏิบัติการ แผนการปฏิบัติรักษาผู้ป่วย แผนการเงิน แล้วให้นำเสนอต่อ "คณะผู้ตัดสินใจ" คือเพื่อนนักศึกษาทั้งชั้น

โอกาสปฏิบัติจริง

PBL ที่เป็นเรื่องยาว อาจมีส่วนที่นักศึกษาต้องทดลองแสดงบทบาทจำลอง เพื่อทำความเข้าใจตัวปัญหา เช่น เป็นสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบล ที่มีผลประโยชน์ทางการเมืองแตกต่างกัน เป็นสมาชิกที่ทำหน้าที่ ต่างกันของโครงการ แล้วแต่เรื่องในโจทย์ที่ได้รับ

โอกาสทำให้เสมือนจริง ไม่ได้มีเฉพาะด้าน ปัญหา กิจกรรม และบทบาท แต่ยังมีด้านเวลาที่เคลื่อนไป โดยเมื่อเวลาตามท้องเรื่องผ่านไป อาจารย์ให้ข้อมูลเพิ่มขึ้น

การเรียนรู้โดยใช้ปัญหานี้ อาจใช้เวลายาวเป็นภาคการศึกษา หรือเป็นปี หรืออาจสั้นเพียง ๑ - ๒ สัปดาห์ก็ได้

การประเมินโครงการ PBL

อาจารย์ต้องกำหนดเกณฑ์คุณภาพของผลงาน สำหรับใช้ในการให้เกรด เกณฑ์นี้ควรเป็น rubric เพื่อบอกระดับคุณภาพอย่างชัดเจน และควรบอกให้นักศึกษารับรู้ก่อนเริ่มงาน ผมมีความเห็นว่าควรมี กระบวนการให้นักศึกษา ร่วมสร้าง rubric ด้วย สำหรับเรียนรู้ว่าผลงานที่ดีเป็นอย่างไร ป้องกันนิสัยชุ่ย ทำงานเพียงให้สำเร็จแบบขอไปที หรือเพียงแค่ผ่าน

เกณฑ์ควรประกอบด้วย ความชัดเจนของการกำหนดประเด็นปัญหา การใช้ความรู้ภายนอก อย่างกว้างขวาง ความเป็นไปได้ของข้อเสนอแก้ปัญหา ความคุ้มทุนของวิธีการ วิธีการแก้ปัญหาได้ครบ ทุกแง่มุมหรือไม่ และเหตุผลในการเลือกแนวทางและวิธีการ

การให้เกรดเป็นความท้าทายต่ออาจารย์ ยิ่งหากจะให้เกรดแก่สมาชิกกลุ่มต่างกันยิ่งท้าทาย ว่าจะต้องมีเกณฑ์ที่ชัดเจน ตามปกติ เมื่อนักศึกษามีผลงานดีเข้าเกณฑ์ ก็มักให้เกรด A

ปัญหาที่ดีและแหล่งของปัญหาที่ดี

ลักษณะของปัญหาที่ดีของ PBL ก็เหมือนของ Case-Based Learning คือ สมจริง เปิดโอกาส ให้นักศึกษาสังเคราะห์ประเด็น มีความไม่แน่นอน และมีความเสี่ยง ปัญหาที่ดีเป็นปัญหาที่นักศึกษาจะออกไป ประสบในชีวิตการทำงาน เช่น การบริหารงานที่มีการสื่อสารผิดพลาด สถานที่ทำงานที่คนทำงานมีขวัญ กำลังใจต่ำ การดำเนินการตามนโยบายที่ยาก ความสัมพันธ์ที่ไม่ดีกับภายนอกหน่วยงาน และความขัดแย้งในเรื่อง เชิงจริยธรรม

เกณฑ์ของปัญหาที่ดีอาจใช้หลักของ Bloom คือปัญหาที่เลว นักศึกษาใช้การคิดเพียงระดับต้น คือ รู้ (know) และเข้าใจ (understand) ปัญหาที่ดีระดับปานกลาง นักศึกษาได้ฝึกความเข้าใจเรื่องราว และได้ประยุกต์ (apply) ส่วนปัญหาที่ดี นักศึกษาได้ฝึกวิเคราะห์ (analyse) และสังเคราะห์ (synthesize) โดยผมขอเติมว่า ปัญหาที่เป็นเลิศ นักศึกษาได้ฝึกประเมิน (evaluate) เรียนรู้วิธีการเรียนรู้และวิธีการพัฒนาวิธีการเรียนรู้ของตน (cognitive maturity) ไปจนถึงเปลี่ยนกระบวนทัศน์ของตนเอง (mindset change)

มีคลังโจทย์ของการเรียนรู้จากปัญหา ของมหาวิทยาลัย Delaware ที่ www.udel.edu/inst และคลังโจทย์ ด้านวิทยาศาสตร์ของมหาวิทยาลัย Buffalo ที่เคยให้ไว้ในตอนที่แล้ว

ประสิทธิผลของ PBL

PBL ได้รับการยอมรับนับถือมากในทางทฤษฎี เพราะนักศึกษาได้ฝึกกิจกรรมหลากหลายด้าน เพื่อการเรียนรู้ในระดับสูง รวมทั้งทักษะทางสังคม ได้แก่ การบันทึก การวางแผนกำหนดงาน ดำเนินการประชุม อภิปราย จัดลำดับความสำคัญ จัดระบบ วางแผน ค้นคว้าวิจัย ประยุกต์ วิเคราะห์ บูรณาการ ประเมิน ตัดสินใจ ต่อรอง ร่วมมือ ชักจูง เจรจาต่อรอง และบรรลุข้อตกลงจากความขัดแย้ง นอกจากนั้น อาจารย์ยังอาจเพิ่มเติมวัตถุประสงค์อื่นๆ เข้าไป โดยการออกแบบโจทย์

ผลการวิจัยบอกว่า PBL มีประสิทธิผลสูงมากในการพัฒนาความสามารถต่อไปนี้ แก่นักศึกษา การทำงานเป็นทีม, การจัดการโครงการและภาวะผู้นำ, การสื่อสารด้วยวาจาและอาจรวมทั้งด้วยการเขียน, ทักษะทางอารมณ์, ความอดทนต่อความไม่แน่นอน, การคิดอย่างมีวิจารณญาณและการวิเคราะห์, ความเข้าใจหลักการ (conceptual understanding), ยุทธศาสตร์เพื่อการเรียนรู้ระดับสูงและการเรียนรู้โดยกำกับ ด้วยตนเอง, การประยุกต์ใช้สาระความรู้, ทักษะทางคลินิก (นักศึกษาแพทย์), การประยุกต์ใช้ยุทธศาสตร์ว่าด้วย ความเข้าใจเรื่องการเรียนรู้, ทักษะการวิจัยและการค้นหาความรู้, การจดจำความรู้, การตัดสินใจ

นอกจากนั้น PBL ยังกระตุ้นความรู้เดิม (prior knowledge) และจัดหาความรู้ใหม่ตามบริบทที่ต้องการใช้ ทำให้เกิดกระบวนการซ้ำๆ ทำให้เกิดการเรียนรู้และจดจำแน่นแฟ้น หากสถานการณ์ปัญหาสะท้อนสภาพ การทำงานในวิชาชีพ ก็เท่ากับช่วยพัฒนาทักษะวิชาชีพ

อย่างไรก็ตาม PBL ก็มีจุดอ่อนด้วย คือใช้เวลามาก และทำยาก ไม่ว่าการหากรณีปัญหาที่เหมาะสม ต่อรายวิชา และการเขียนขึ้นเอง รวมทั้งอาจารย์ต้องมีประสบการณ์การสร้างโครง (scaffolding) ที่ดี นักศึกษาจึงจะดำเนินการ PBL ประสบผลสำเร็จ โดยเฉพาะนักศึกษาที่พื้นความรู้อ่อน อาจารย์ต้องเข้าไป ช่วยแนะนำมากหน่อย

มีการวิจัยลงลึก เปรียบเทียบผลการเรียนของนักศึกษาแพทย์ที่ใช้การเรียนแบบ PBL เทียบกับที่เรียนแบบจารีต พบข้อด้อยของ PBL เช่น นักศึกษาเรียนรู้เนื้อหาวิชาน้อยกว่า สั่งการใช้ยาและการตรวจสอบไฮเทคมากกว่า เป็นต้น

ความเห็นของนักศึกษา

นักศึกษาแพทย์ชอบ PBL มากกว่าการฟังการบรรยาย แต่นักศึกษาแพทย์เป็นนักศึกษากลุ่มพิเศษ ที่มีวุฒิภาวะสูง มีแรงจูงใจต่อการเรียนรู้สูง และเป็นคนมีวินัยในการเรียน

นักศึกษาระดับปริญญาตรีจำนวนหนึ่งไม่ชอบ PBL ว่าต้องเรียนหนักขึ้น แต่ได้เรียนรู้น้อย ทั้งๆ ที่ผลการทดสอบไม่ตรงกับความรู้สึกนี้

นักศึกษาปี ๑ จำนวนหนึ่งบอกว่า ไม่ชอบธรรมชาติของโจทย์ที่ไม่กำหนดตายตัว (open-ended) มีความไม่ชัดเจน ซับซ้อนมาก ไม่ระบุโครงสร้างงานและคำแนะนำอย่างชัดเจน รวมทั้งไม่มีมาตรฐาน สมรรถนะที่ชัดเจน ความไม่ชัดเจนเหล่านี้ ก่อความขัดแย้งในกลุ่มได้ง่าย

ข้อวิพากษ์ของนักศึกษาเหล่านี้ บอกว่า จะใช้ PBL อย่างได้ผล ต้องฝึกอาจารย์ และอาจารย์ต้องเอาใจใส่ การทำหน้าที่อย่างจริงจัง

โอกาสใช้ความสร้างสรรค์

อาจารย์มือใหม่ ควรหาโจทย์ที่มีอยู่แล้ว เอามาปรับหรือเขียนใหม่ ให้เข้ากับรายวิชาที่ตนสอน หรือหากจะเขียนเองก็ได้ โดยมีคำแนะนำขั้นตอนต่อไปนี้

  • 1.กำหนด หลักการ ความรู้ และทักษะ ที่ต้องการ สำหรับแก้ปัญหา
  • 2.เขียนผลลัพธ์การเรียนรู้ของนักศึกษา ที่เรียนในโครงการ PBL นี้
  • 3.เสาะหาปัญหาจริงที่เหมาะสม และสอดคล้องกับอาชีพในอนาคตของนักศึกษา
  • 4.เขียนเรื่องราวกรณีศึกษาเพื่อระบุปัญหา ใช้กาลปัจจุบัน มีข้อมูลจำเพาะ พร้อมทั้งตัวบุคคลที่จะแสดงบทบาท หนึ่งหรือหลายบทบาท ที่นักศึกษาเข้าไปสวมบทได้
  • 5.เขียนเรื่องราวปัญหา ให้มีส่วนขยาย โดยยึดแนวว่า ให้มีความสมจริง
  • 6.กำหนดผลงานที่ต้องส่ง เช่น ข้อตัดสินใจ บันทึก รายงาน งบประมาณ แผนปฏิบัติ หรือการนำเสนอที่โน้มน้าวใจ แล้วพัฒนา rubrics สำหรับประเมินคุณภาพของผลงาน

หลังจากนั้นอาจเขียนคู่มืออาจารย์ (facilitator's guide) และอาจนำออกเผยแพร่ทางอินเทอร์เน็ต ให้เพื่อนอาจารย์เลือกนำไปใช้

วิจารณ์ พานิช

๕ ก.ย. ๕๗

571203สอนอย่างมือชั้นครูNilsonLinda_B._Nilson, TA, วิธีสอน, Teaching, Teaching_Method,Project_Based_Learningเรียนรู้จากปัญหาวิธีเรียน, PBL

บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย 

แก้ไขล่าสุด ใน วันจันทร์ที่ 08 ธันวาคม 2014 เวลา 21:11 น.
 

สอบเสร็จคืนครู

พิมพ์ PDF
หลังจากศึกษากลไกการเรียนรู้มากขึ้น ผมจึงเข้าใจว่า สภาพ "สอบเสร็จคืนครู" นี้ เป็นอาการของการเรียนรู้อย่างผิวเผิน ใช้วิธีจำเป็นหลัก เพื่อจะตอบให้ตรงกับคำเฉลยของครู คือตรงกับที่ครูสอนนั่นเอง


สมัยผมเรียนชั้นมัธยม และมหาวิทยาลัย มีคำที่เราพูดกันบ่อยๆ ว่า ความรู้ที่ได้จากครูนั้น เมื่อเอามาใช้สอบเสร็จ และสอบได้ ก็คืนความรู้กลับไปให้ครูเกือบหมด

หลังจากศึกษากลไกการเรียนรู้มากขึ้น ผมจึงเข้าใจว่า สภาพ "สอบเสร็จคืนครู" นี้ เป็นอาการของการเรียนรู้อย่างผิวเผิน ใช้วิธีจำเป็นหลัก เพื่อจะตอบให้ตรงกับคำเฉลยของครู คือตรงกับที่ครูสอนนั่นเอง

คือครูก็ตั้งใจสอนให้จำ นักเรียนก็ตั้งใจจดจำ มีส่วนน้อยที่เข้าใจจริงๆ และมีน้อยมากที่ได้ฝึกเอาความรู้นั้นไปใช้ในสถานการณ์จริง ได้สัมผัสกับสิ่งที่เกิดขึ้นจากการนำความรู้นั้นไปใช้ แล้วไตร่ตรองทบทวน จนเกิดความเข้าใจระดับหลักการ (concept) ที่ก่อตัวหรืองอกงามขึ้นเองภายในตน

การเรียนสมัยผมเรียนเมื่อกว่า ๕๐ ปีมาแล้ว และเรียนได้ดี เป็นการเรียนแบบผิวเผิน สอบเสร็จก็ลืมไปเป็นส่วนใหญ่

การเรียนสมัยนี้ต้องเปลี่ยนไป ต้องเรียนให้เข้าใจจริง รู้จริง (mastery learning) ซึ่งต้องเรียนแบบเน้นการปฏิบัติ เน้นการเอาความรู้ไปใช้ในสถานการณ์จริง หรือเสมือนจริง ตามด้วยการทำ reflection / AAR จนเกิดความเข้าใจหลักการแบบที่อธิบายได้ด้วยตนเอง สามารถบอกได้ว่าผลงานแบบไหนดีกว่าแบบไหน เพราะอะไร คือเกิดการเรียนรู้ในระดับสูง (higher order learning) จากรู้ (know), ไปสู่ เข้าใจ (understand), เอาไปใช้เป็น (apply), วิเคราะห์เป็น (analysis), สังเคราะห์ได้ (synthesis), ประเมินได้ (evaluate), ปรับปรุงเปลี่ยนแปลงวิธีเรียนรู้ของตนเองเป็น (เปลี่ยน learning method), และจนถึงระดับสูงสุด เกิดการเปลี่ยนแปลงกระบวนทัศน์ (mindset change)

หากเรียนรู้ในระดับ mastery สอบเสร็จก็ไม่คืนครู เพราะเป็นการเรียนรู้ในระดับที่ลึกมาก อยู่ในตัวเรา ไม่ใช่เรียนรู้แบบผิวเผิน เน้นความจำเป็นหลัก


วิจารณ์ พานิช

๒๐ พ.ย. ๕๗


บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย 

แก้ไขล่าสุด ใน วันจันทร์ที่ 08 ธันวาคม 2014 เวลา 21:19 น.
 

เรือหลวงพระร่วง เรือรบหลวงลำแรกของชาติไทย

พิมพ์ PDF

เรือหลวงพระร่วงเป็นเรือหลวงลำแรกในประวัติศาสตร์ไทย ซึ่งข้าราชการและประชาชนผู้มีความจงรักภักดีต่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เล็งเห็นถึงความจำเป็นที่จะต้องสร้างเรือรบไว้เพื่อป้องกันราชอาราจักรทางทะเล จึงร่วมกันจัดตั้ง ราชนาวีสมาคมแห่งกรุงสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ (The Royal Navy League of Siam) ขึ้นเมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2457 เพื่อเรี่ยไรทุนทรัพย์ซื้อเรือรบถวายเป็นราชพลี พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีความยินดีและเห็นชอบ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ พระราชทานนามเรือนี้ว่า พระร่วง อันเป็นสิริมงคลตามวีรกษัตริย์อันเป็นที่นับถือของชาวไทยทั่วไป พระองค์ทรงเป็นกำลังสำคัญในการหาทุนเพื่อสร้างเรือลำนี้ เช่น ได้แก้ไขบทละครเรื่อง "มหาตมะ" ซึ่งทรงพระราชนิพนธ์ขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2475 ทรงนำเรื่องการเสียสละทุนทรัพย์สมทบทุนสร้างเรือรบเข้ามาเป็นหัวใจของเรื่อง และได้โปรดเกล้า ฯ ให้มีการแสดงเพื่อเก็บเงินสมทบทั้งในพระนครและต่างจังหวัด ทั้งยังมีการแสดงละครพระราชนิพนธ์อีกหลายเรื่องตลอดจนโปรดเกล้า ฯ ให้มีการประกวดภาพเพื่อหารายได้อีกด้วย นอกจากนั้นพระองค์ยังได้พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพรองค์เป็นจำนวน 80,000 บาท กับเงินที่พระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการได้พร้อมใจกันออกทุนเรี่ยไรถวายเมื่อครั้งจัดงานพระราชพิธีทวีธาภิเษกพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวซึ่งยังเหลือจากการใช้จ่ายเป็นจำนวนเงิน 116,324 บาท ทั้งยังได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ ซึ่งโปรดเกล้า ฯ พระราชทานทรัพย์อีกเป็นจำนวนเงิน 40,000 บาท เมื่อรวมกับเงินที่เรี่ยไรทั่วพระราชอาณาจักร ได้จำนวนรวมทั้งสิ้น 3,514,604 บาท 1 สตางค์ ในปี พ.ศ. 2463
ต่อมา นายพลเรือโท พระเจ้าพี่ยาเธอ กรมหมื่นชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ ทรงได้รับแต่งตั้งเป็นข้าหลวงพิเศษออกไปจัดซื้อเรือในภาคพื้นยุโรปพร้อมด้วยนายทหารอีก 5 นาย คณะข้าหลวงพิเศษตรวจการซื้อเรือในภาคพื้นยุโรปชุดนี้คัดเลือกได้เรือพิฆาตตอร์ปิโด มีนามว่า "เรเดียนท์" (RADIANT)
ของบริษัทธอร์นิครอฟท์ (Thornycroft Co.,) ประเทศอังกฤษ ซึ่งเห็นว่าเหมาะสมแก่ความต้องการของกองทัพเรือและเป็นเรือที่ต่อขึ้นเมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2459 ระหว่างมหาสงครามโลกครั้งที่ 1 ครั้นสงครามยุติลงเมื่อ พ.ศ. 2461 อังกฤษจึงยินดีขาย คณะข้าหลวงพิเศษได้ตกลงซื้อเรือลำนี้เป็นเงิน 200,000 ปอนด์ ส่วนเงินที่เหลือจากการซื้เรือนั้นได้พระราชทานให้แก่กองทัพเรือไว้สำหรับใช้สอย เสด็จในกรม ฯ ได้เป็นผู้บังคับการเรือลำนี้จากประเทศอังกฤษเข้ามาถึงประเทศไทยเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2463 นับเป็นเกียรติประวัติครั้งแรกที่คนไทยเดินเรือทะเลได้ไกลถึงเพียงนี้
สมรรถนะของเรือหลวงพระร่วงมีดังนี้ คือ มีระวางขับน้ำ 1,046 ตัน ความยาวตลอดลำ 83.57 เมตร ความกว้างสุด 8.34 เมตร กินน้ำลึก 4 เมตร อาวุธปืน 102 ม.ม. 3 กระบอก ปืน 76 ม.ม. 1 กระบอก ต่อมาติดปืน 40 ม.ม. 2 กระบอก ปืน 20 ม.ม. 2 กระบอก มีตอร์ปิโด 21 นิ้ว 4 ท่อ มีรางปล่อยระเบิดลึก และมีแท่นยิงปืนระเบิดลึก 2 แท่น เครื่องจักรเป็นแบบไอน้ำแบบ บี.ซี. เกียร์ เทอร์ไบน์ จำนวน 2 เครื่อง ใบจักรคู่ กำลัง 29, 000 แรงม้า ความเร็วสูงสุด 35 น นอต ความเร็วมัธยัสถ์ 14 นอต รัศมีทำการเมื่อความเร็วมัธยัสถ์ 1,896 ไมล์ ทหารประจำเรือ 135 คน
ก่อนที่เรือพระร่วงจะเดินทางเข้ามาถึงประเทศไทยนั้น คณะกรรมการราชนาวีสมาคมได้นำข้อความขึ้นกราบบังคมทูลพระกรุณาถึงกำหนดวันที่เรือพระร่วงจะมาถึงพระนคร ซึ่งกรรมการจะได้มีการรับรองฉลองเรือนั้น และกราบบังคมทูลพระกรุณาถวายเป็นเรือรบหลวง จึงทรงพระราชดำริว่า เรือพระร่วงลำนี้พระองค์ได้มีส่วนยิ่งกว่าผู้อื่นสมควรจะทรงรับหน้าที่ในการรับรองเรือนี้ด้วย จึงโปรดเกล้า ฯ ให้กำหนดการพระราชพิธีฉลองเป็นการหลวง ในวันที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2463 เวลา 4 นาฬิกา 45 นาที หลังเที่ยง พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินด้วยขบวนรถยนต์พระที่นั่งจากวังพญาไทมาประทับพระแท่นชุมสายที่ชาลาพระที่นั่งราชกิจวินิจฉัยด้านตะวันออก ทรงจุดเทียนเครื่องนมัสการทรงศีลแล้วเสด็จสู่เรือพระร่วง ทรงหลั่งน้ำพระมหาสังข์และทรงเจิมที่หัวเรือพระร่วง เป็นพระฤกษ์ เจ้าพนักงานลั่นฆ้องไชยและประโคมแตรสังข์พิณพาทย์ พระสงฆ์ 20 รูป ในพระที่นั่งราชกิจวินิจฉัยสวดไชยมงคลคาถา ทหารบรรเลงแตรสรรเสริญพระบารมี ประชาชนโห่ร้องถวายชัย พราหมณ์ได้หลั่งน้ำสังข์ต่อไป โหรผูกผ้าสีชมพู และได้ชักธงฉานขึ้นที่เสาหัวเรือรบพระร่วง โปรดเกล้า ฯ ให้พนักงานทหารเรือใช้จักรเคลื่อนเรือรบพระร่วงไปตามลำน้ำเจ้าพระยา กลับลำที่เหนือท่าเรือยนต์หลวง แล่นล่องไปถึงบางคอแหลมกลับขึ้นมาเทียบท่าราชวรดิษฐ์ตามเดิม พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นจากเรือพระร่วง ประทับพระที่นั่งราชกิจวินิจฉัย ทรงประเคนวัตถุปัจจัยเครื่องไทยธรรมแก่พระสงฆ์ 20 รูป พระสงฆ์ถวายอนุโมทนา และได้สวดมนต์สำหรับเรือพระร่วงอีกด้วย สมเด็จพระมหาสมณะถวายอดิเรก พระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นชินวรสิริวัฒน์ถวายพระพรลา เสร็จเวลา 7 นาฬิกา 45 นาที หลังเที่ยงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวประทับรถพระที่นั่งเสด็จพระราชดำเนินเข้าสู่พระบรมมหาราชวัง 
เวลา 9.00 นาฬิกาหลังเที่ยง พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินประทับ ณ ศาลาสหทัยสมาคมเสวยพระกระยาหารพร้อมด้วยพรบรมวงศานุวงศ์และข้าทูลละอองธุลีพระบาท เมื่อเสร็จการเลี้ยงแล้วเสด็จพระราชดำเนินด้วยรถพระที่นั่ง ทอดพระเนตรละครรำเรื่อง "ขอมดำดิน" ซึ่งโปรดเกล้า ฯ ให้ข้าราชการกรมมหรสพแสดงถวายเป็นการฉลองเรือพระร่วง พอได้เวลาอันสมควรเสด็จพระราชดำเนินกลับวังพญาไท

คัดลอกจาก บทความของคุณพิชาญ พงษ์พิทักษ์ใน Facebook
แก้ไขล่าสุด ใน วันอาทิตย์ที่ 23 พฤศจิกายน 2014 เวลา 00:05 น.
 


หน้า 318 จาก 561
Home

About Us

ศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ (ศบม.) เป็นองค์กรที่พัฒนาและจัดทำโครงการเพื่อทำประโยชน์ให้สังคม เป็นองค์กรสนับสนุนการดำเนินงานของภาครัฐ ช่วยแก้ปัญหาผู้ประกอบการภาคธุรกิจบริการที่ขาดแคลนบุคลากรที่มีมาตรฐานในการให้บริการ
อ่านเพิ่มเติม

มูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ ์

 iHDC Profile
บัญชีรายชื่อกรรมการ
ใบสำคัญแสดงการจดทะเบียน การเปลี่ยนแปลงกรรมการของมูลนิธิ
เอกสารประชาสัมพันธ์ โครงการ HMTC.pdf
เอกสารแนะนำโครงการ HMTC 1.pdf
เอกสารโครงการ HMTC 2 คุณสมบัติผู้เข้าร่วมโครงการ.pdf
iHDC นิติบุคคล.pdf
iHDC บุคคล.pdf
iHDC บุคคลเครือข่าย.pdf
รายงานการประชุม 6 มีนาคม 2560.pdf
ข้อบังคับมูลนิธิ
ใบสำคัญแสดงการจดทะเบียนจัดตั้งมูลนิธิ
Ihdc-Profile and Roadmap 2016-2019 Mar 23 2560.pdf
รายงานการประชุมใหญ่คณะกรรมการมูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ 2559.pdf
คำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ สาขาวิชาชีพ.pdf
รายงานการประชุมใหญ่วันที่ 18 ธ ค 2558 v 3.pdf
รายงานการประชุม วันที่ 24 ธันวาคม 2557 updated 4 มีนาคม 2558.pdf
iHDC-invitation Letter.doc
iHDC-Member Form Thai.doc
iHDC-Member Form English.doc
รายงานการประชุมกรรมการมูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ วันที่ 15 มกราคม 2556 ฉบับสมบูรณ์


thaibetter
พัฒนาประเทศไทยแบบทวีคูณ และยั่งยืน ( ททค )

Login


แบบสำรวจ

สถิติเว็บไซด์

สมาชิก : 5644
Content : 3068
เว็บลิงก์ : 26
จำนวนครั้งเปิดดูบทความ : 8747432

facebook

Twitter


ล่าสุด

บทความเก่า