Thaiihdc.org

  • เพิ่มขนาดตัวอักษร
  • ขนาดตัวอักษรปกติ
  • สดขนาดตัวอักษร
Thaiihdc.org

หลักการปกครองธรรมาธิปไตย ๙

พิมพ์ PDF

"ทรงพระเจริญ ทรงพระเจริญ ทรงพระเจริญ ขอพระราชทานหลักการปกครองธรรมาธิปไตย ๙"

ว่าด้วยเรื่องอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชน (Sovereignty of the people) อำนาจสูงสุดในการปกครองเป็นของประชาชน" เกิดจากต่อสู้และความเชื่อตามหลักศาสนา 
ในประเทศที่ผ่านการปฏิวัติประชาธิปไตย คำว่า "อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชน เสรีภาพ ความเสมอภาค ภราดรภาพ เอกภาพ" คำเหล่านี้ได้ถูกตะโกน ป่าวร้อง ปากเปล่า ผ่านไมคโครโฟน โทรโข่ง สื่อต่างๆ เป็นสิบๆ ปี เป็นอย่างน้อย อย่างอินเดีย ก็ ๔๙ ปี เท่าทีมีในยุคนั้นๆ ผสานกับความเชื่อในปรัชญาของศาสนา "อำนาจอธิปไตย ของปวงชนจึงเกิดขึ้นจริงได้ด้วยความเชื่อมั่นและศรัทธา 
แต่การเคลื่อนทางการเมืองของไทย ไม่เคยตะโกน ไม่เคยป่าวร้อง ไม่เคยให้ความสำคัญ ทั้งๆ ที่เป็นหลักการปกครองสำคัญหลักหนึ่งของระบอบประชาธิปไตย เราได้ยินแต่คำว่า "เราต้องการรัฐธรรมนูญ" "เอาทักษิณ กลับบ้าน" "อภิสิทธิ์ออกไป" "อีปู ออกไป"

เราจึงรู้ได้ว่า ขบวนการเคลื่อนไหวทางการเมืองดังกล่าว ในอดีต เป็นความเคลื่อนไหวของผู้ปกครองขัดแย้งกันเอง แล้วหลอกประชาชนไปเป็นกำลัง ประชาชนเข้าร่วมเพราะทนไม่ได้กับสภาพการปกครองระบอบเผด็จการรัฐธรรมนูญ แต่ผู้นำ แกนนำก็เปลี่ยนความต้องการของประชาชน ไปเป็นความต้องการของแกนนำม๊อบ ทุกครั้งไป จึงได้แต่กฎหมายรัฐธรรมนูญ ร่วม ๒๐ ฉบับ ๘๒ ปี แต่ไม่เคยได้รับประชาธิปไตยแม้วินาทีเดียว

ต่อไป เห็นที่ จะต้องเปล่งเสียงของพสกนิกร ด้วยความจงรักภักดี ด้วยจิตใจแห่งความรัก ปัญญาสันติ เพื่อทำลายกำแพง "เผด็จการรัฐธรรมนูญ" ที่ขว้างกันระหว่างพระเจ้าแผ่นดิน กับ พสกนิกรทางการเมือง "ทรงพระเจริญ ทรงพระเจริญ ทรงพระเจริญ ขอพระราชทานหลักการปกครองธรรมาธิปไตย ๙"

ซึ่งสอดคล้องเป็นหนึ่งเดียวกับ พระปฐมบรมราชโองการ "เราจะครองแผ่นดินโดยธรรมเพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม" ประชาชนก็จะได้ หลักธรรมการปกครองครบทุกข้อ ถึง ๙ ข้อ พิจารณาอย่างแยบคายเถิด ปัญญาชนทั้งหลาย

 

สัมมนารับฟังความเห็นสาธารณะ "การค้าเสรี ไทย-ตุรกี

พิมพ์ PDF

วันนี้ (๑๘ พฤศจิกายน ๒๕๕๗) เข้าร่วมงานรับฟังความเห็นสาธารณะ"การค้าเสรีไทย-ตุรกี :ผลกระทบและนัยสำคัญต่อไทย ตามจดหมายเชิญจากผู้อำนวยการสถาบันวิจัยนโยบายเศรษฐกิจการคลัง นางไพรินทร์ ศรีศุภวินิจ

สืบเนื่องจากกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ได้มอบหมายให้มูลนิธิสถาบันวิจัยนโยบายเศรษฐกิจการคลัง (มูลนิธิ สวค) จัดทำโครงการศึกษาเรื่องการจัดทำความตกลงการค้าเสรีระหว่างไทยกับตุรกีซึ่งส่วนหนึ่งของโครงการฯคือ การจัดสัมมนารับฟังความเห็นสาธารณะ เพื่อให้ผู้แทนภาครัฐ รวมถึงภาควิชาการ และประชาชนทั่วไป ได้มีโอกาสรับทราบรวมถึงแลกเปลี่ยนข้อมูล ประสบการณ์ เสนอแนะข้อคิดเห็นในด้านการลงทุนและการประกอบธุรกิจในตลาดตุรกี

กล่าวเปิดงานโดยตัวแทนของกรมเจรจาการค้า 
นำเสนอผลการศึกษา "การจัดทำความตกลงการค้าเสรี (FTA) ระหว่างไทยกับตุรกี : ศักยภาพ โอกาส และความท้าทาย โดย ดร.อนันตโชค โอแสงธรรมนนท์ ผู้เชี่ยวชาญ สถาบันวิจัยนโยบายเศรษฐกิจการคลัง เอกสารนำเสนอ ๓๙ slides บทสรุป
๑.FTA ไทย-ตุรกี เป็นเรื่องของผลประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ทั้งจากมูลค่าการค้าที่เพิ่มขึ้นและการเข้าถึงตลาดใหม่ผ่านประเทศคู่เจรจา
๒.ผลกระทบในระดับมหภาคเป็นเชิงบวกสำหรับไทยมากกว่า แม้ไม่มาก
๓.บทบาทของสหภาพยุโรปไม่ได้ส่งผลต่อ FTA ไทย-ตุรกีโดยตรง แต่ FTA ไทย-EU มีผลกระทบต่อไทยมากกว่า
๔.ผลกระทบรายสาขาต้องดูประกอบกันหลายด้าน สินค้าที่มีศักยภาพของไทยคือ ยานยนต์และชิ้นส่วน ยางและผลิตภัณฑ์ พลาสติกและผลิตภัณฑ์ ในขณะที่สินค้าอ่อนไหวของไทยคือ พรม สิ่งทอ เครื่องแต่งกาย เฟอร์นิเจอร์ เครื่องจักรและอุปกรณ์ อุปกรณ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ แต่ข้อมูลการค้าอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอเนื่องจากบางสาขาเป็นการตั้งฐานผลิต
๕.ผลกระทบจากการศึกษาความเชื่อมโยงของอุตสาหกรรมแสดงให้เห็นว่า การแข่งขันเพิ่มขึ้นในทุกกิจกรรมของการผลิต ถ้าหากความสามารถเท่ากันก็จะเป็นการแข่งขันโดยตรง ถ้าความสามารถต่างกันอย่างชัดเจน ก็จะเกิดการส่งเสริมกัน แต่เป็นการส่งเสริมในกิจกรรมอื่นๆในการผลิต ไม่ใช่กิจกรรมเดียวกัน
๖.ดังนั้นมาตรการช่วยเหลือสาขาที่มีความสามารถในการแข่งขันน้อยมีความจำเป็น แต่ละสาขามีทั้งโอกาสและความท้าทายสำหรับธุรกิจไทย
วิจารณืการนำเสนอโดย อ.ดร.ปิติ ศรีแสงนาม คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
หลังจากพักทานของว่างดื่มชากาแฟ เป็นการนำเสนอผลการศึกษา "การจัดทำความตกลงการค้าเสรี (FTA) ระหว่างไทย-ตุรกี : ประสบการณ์และนัยสำคัญต่อประเทศไทย" โดย นายวรรณพงษ์ ดุรงคเวโรจน์ นักวิจัย สถาบันวิจัยนโยบายเศรษฐกิจการคลัง วิจารณ์โดย ดร.รัชดา เจียสกุล หุ้นส่วนและผู้อำนวยการ กลุ่มที่ปรึกษาเศรษฐกิจและธุรกิจ บริษัท โบลลิเกอร์ แอนด์ คอมพานี (ประเทศไทย)

ช่วงบ่ายเป็นการอภิปรายในหัวข้อ "ผลกระทบ และนัยสำคัญต่อไทยจากความตกลงการค้าเสรี (FTA) ระหว่างไทยกับตุรกี"โดยผู้แทนจาก ภาคธุรกิจทั้งคนไทยและคนตุรกี ดำเนินรายการโดย ดร.พิชญ์ นิตย์เสมอ

ขอชื่นชมผู้จัดงานทำได้ดีมาก เป็นวิจัยที่ดี ได้รับการชมจากผู้วิจารณ์ทั้งสองท่าน สำหรับผมประทับใจผู้วิจารณ์ทั้ง ๒ ท่าน ได้แก่ อ.ดร.ปิติ ศรีแสงนาม และ ดร.รัชดา เจียสกุล เสียดายที่ลืมเอากล้องถ่ายรูปไป ใช้มือถือถ่ายภาพ แต่ภาพออกมาไม่ดีแม้นแต่ภาพเดียว
ม.ล.ชาญโชติ ชมพูนุท
๑๘ พ.ย.๒๕๕๗

 

คำนิยม หนังสือ เรียนรู้...สู่สุขภาวะ

พิมพ์ PDF

คำนิยม หนังสือ เรียนรู้...สู่สุขภาวะ

คำนิยม

หนังสือ การเรียนรู้...สู่สุขภาวะ

วิจารณ์ พานิช

.................


บุคลากรในวิชาชีพสุขภาพ เป็นปัจจัยสำคัญยิ่งของระบบสุขภาพที่ดี เวลานี้ประเทศไทยได้ชื่อว่า เป็นประเทศที่มีระบบสุขภาพที่ดี เป็นตัวอย่างแก่โลกได้ เพราะเรามีระบบคุ้มครองสุขภาพถ้วนหน้า โดยที่ค่าใช้จ่ายของระบบสุขภาพก็ไม่สูงเกินไป

การคุ้มครองสุขภาพถ้วนหน้า จะบรรลุผลสำเร็จได้ ประเทศต้องมีโครงข่ายของระบบดูแลสุขภาพ ที่กระจายไปทั่ว และทำงานประสานงานร่วมมือกัน รวมทั้งต้องมีบุคลากรในวิชาชีพสุขภาพหลากหลายวิชาชีพ ที่มีสมรรถนะดีตรงตามความต้องการของปัญหาและความท้าทายด้านสุขภาพ ทำงานเป็นทีม ภายใต้ยุทธศาสตร์ ระดับประเทศที่ถูกต้อง คือ "สร้างนำซ่อม"

สภาพดังกล่าวไม่มีรูปแบบมาตรฐานหยุดนิ่งตายตัว เพราะ "ระบบสุขภาวะ" มีความเป็นพลวัตสูงมาก เปลี่ยนแปลงไปตามโครงสร้างของประชากรที่เปลี่ยนอย่างรวดเร็ว ดังในปัจจุบัน ประเทศไทยกลายเป็นสังคม คนแก่ รวมทั้งระบาดวิทยาของปัญหาสุขภาพก็เปลี่ยนแปลงไป โรคเรื้อรัง ได้แก่เบาหวาน และความดันโลหิตสูง กลายเป็นปัญหาหลัก นอกจากนั้นเทคโนโลยีใหม่ๆ ราคาแพงก็ออกสู่ตลาด เย้ายวนให้จ่ายเงินจำนวนมาก จัดหามาใช้

ระบบบริการสุขภาพของไทย ไม่ได้ดูแล หรือให้บริการ เฉพาะคนไทยเท่านั้น ยังให้บริการผู้ป่วยจาก ต่างประเทศด้วย ในปี พ.ศ. ๒๕๕๖ มีผู้ป่วยจากต่างประเทศเข้ามารับบริการ ๑.๔ ล้านครั้ง ทำรายได้ เข้าประเทศ ประมาณ ๑ แสนล้านบาท ระบบบริการสุขภาพของไทย จึงมีสภาพเป็นสินค้าออก เพื่อนำรายได้ เข้าประเทศด้วย

ในท่ามกลางความเลื่อนไหลและซับซ้อนของสังคม และระบบสุขภาพ การศึกษาของบุคลากร ในวิชาชีพสุขภาพ และการจัดการระบบบุคลากรในวิชาชีพสุขภาพ ที่ปฏิบัติงานอยู่ในระบบสุขภาพ ก็ต้องมีการปรับตัวให้สอดคล้อง

ขณะนี้ อยู่ในช่วง "การปรับตัวครั้งใหญ่" ของการศึกษาของบุคลากรในวิชาชีพสุขภาพทั่วโลก รวมทั้งในประเทศไทย ที่ถือได้ว่า เป็นการปรับใหญ่ ในช่วงหนึ่งร้อยปี หรือในหนึ่งศตวรรษ เป็นการปรับตัว รองรับความซับซ้อน และความเป็นจริงที่ขัดแย้งกันหลายคู่ ดังกรณีหน้าที่ของระบบสุขภาพ ที่จะต้องดูแล สุขภาพแก่คนไทยอย่างทั่วถึงและเท่าเทียมกัน และในขณะเดียวกัน ก็ยังคาดหวังให้ทำหน้าที่ให้บริการ ซ่อมสุขภาพแก่คนต่างชาติ เพื่อหารายได้เข้าประเทศ

ในสภาพที่ทุกสิ่งทุกอย่างใน(คริสต)ศตวรรษที่ ๒๑ มีการเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว ในอัตราเร่งที่สูงขึ้นๆ บุคลากรในวิชาชีพสุขภาพจึงต้องได้รับการศึกษาและฝึกฝนให้เกิดคุณสมบัติของภาวะผู้นำ เพื่อทำหน้าที่ เป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง (change agent) การศึกษาของบุคลากรในวิชาชีพสุขภาพ จึงต้องมีลักษณะเป็น Transformative Education รวมทั้งจะต้องมีสมรรถนะหลากหลายด้านตรงตามความต้องการของระบบสุขภาพ ของประเทศ ที่สำคัญคือ ต้องทำงานเป็นทีมร่วมกับผู้อื่น เป็น "ทีมสุขภาพ" ได้ดี

ภายใต้ความท้าทายเหล่านี้ เป็นนิมิตดีอย่างยิ่งต่อสังคมไทย ที่มีการรวมตัวกัน แบบที่มี ความพร้อมใจ ร่วมกันดำเนินการ"โครงการพัฒนาการศึกษาสำหรับบุคลากรด้านสาธารณสุขที่เหมาะสมในศตวรรษที่ ๒๑" โดยไม่มีคำสั่งจากหน่วยเหนือ หรือผู้มีอำนาจใดๆ เกิดเป็นเครือข่ายความร่วมมือในทุกวิชาชีพ ดำเนินการในระดับประเทศ

ความรู้ความเข้าใจในมิติที่ลึก เป็นเครื่องมือสำคัญในการเชื่อมโยงอุดมการณ์ของหลากหลายฝ่าย หลากหลายวิชาชีพ เข้าด้วยกัน เพื่อร่วมกันทำงานปฏิรูปการศึกษาของวิชาชีพสุขภาพ ให้ทำประโยชน์ แก่สังคมไทยได้อย่างทรงคุณค่ายิ่งขึ้น

ความรู้ดังกล่าว ส่วนหนึ่งอยู่ในหนังสือ "เรียนรู้...สู่สุขภาวะ" เล่มนี้ โดยคณะผู้ดำเนินการ โครงการพัฒนาการศึกษาสำหรับบุคลากรสาธารณสุขฯ ได้จัดแปลรายงานของคณะกรรมาธิการอิสระ ที่เรียกกันโดยทั่วไปว่า Lancet Commission Report ซึ่งเป็นรายงานที่เขย่าวงการศึกษาสำหรับวิชาชีพ สุขภาพทั่วโลก พร้อมทั้งแปลเอกสารอีก ๓ ชิ้นมารวบรวมไว้ด้วยกัน คือ (๑) บทความเรื่อง Global Supply of Health Professionals เขียนโดย Nigel Crisp และ Lincoln Chen ลงพิมพ์ใน New England Journal of Medicine (2014;370:950-7.) (๒) มติของคณะกรรมการองค์การอนามัยโลกส่วนภูมิภาค SEA/RC65/R7 และ (๓) มติสมัชชาสุขภาพโลกครั้งที่ ๖๖ (WHA66/23)

ความรู้ในหนังสือเล่มนี้เป็นเพียงพื้นฐานเริ่มต้น ความรู้ที่ทรงพลังยิ่งกว่า มาจากการปฏิบัติ ที่หน่วยงาน และวิชาชีพต่างๆ ในประเทศไทย ดำเนินการพัฒนารูปแบบการเรียนรู้ (Instructional Reform) และการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงในระดับสถาบัน (Institutional Reform) แล้วเกิดความสำเร็จ (หรือความล้มเหลว/ยากลำบาก) เมื่อนำมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้และตีความร่วมกัน ก็จะเกิดเป็นความรู้ ที่มีคุณค่าสำหรับขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลง เป็น "การเรียนรู้...สู่สุขภาวะ" ที่แท้จริง

ผมขอแสดงความชื่นชม และขอบคุณผู้แปล และคณะผู้จัดทำหนังสือที่ทรงคุณค่าเล่มนี้ ออกสู่สังคมไทย



วิจารณ์ พานิช

๒๘ กันยายน ๒๕๕๗


บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย 

แก้ไขล่าสุด ใน วันจันทร์ที่ 10 พฤศจิกายน 2014 เวลา 22:26 น.
 

การบริหารจัดการงาน ICT เพื่ออภิวัฒน์การเรียนรู้ประเทศไทย

พิมพ์ PDF

ดิฉันและ ดร.ธวัชชัย เป็นนักพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ นักวิชาการทางสังคม และเป็นครู โดยร่วมคิดและสร้างงานพัฒนาระบบและชุมชนออนไลน์มาด้วยกันตั้งแต่เรียนอยู่ที่ University of Maryland ในสาขา Information Systems และเมื่อจบการศึกษาจากสหรัฐอเมริกาเมื่อ พ.ศ. 2545 เราได้กลับมารับราชการในมหาวิทยาลัยเช่นเดิม ที่นี่เราก็ยังได้รับผลกระทบโดยตรงกับความเหลื่อมล้ำทางความรู้และทางเทคโนโลยีสารสนเทศทางการศึกษาของประเทศไทยเหมือนเช่นก่อนที่จะเดินทางไปศึกษาต่อ และยังพบอีกว่าประเทศไทยยังขาดระบบเทคโนโลยีสารสนเทศในด้านต่างๆ ที่เป็นศูนย์กลางของประเทศอีกด้วย จึงเป็นแรงบันดาลใจให้เรามุ่งมั่นที่จะเปลี่ยนแปลงประเทศจากจุดนี้

เราเริ่มต้นด้วยแนวคิดของการพัฒนาระบบบล็อก (Weblog) เพื่อเขียนรวบรวมและจัดการความรู้ประสบการณ์ของนักวิชาการของไทยรวมทั้งเราทั้งสองด้วย และแนวคิดนี้ในที่สุดก็ได้รับการสนับสนุนการพัฒนาระบบขึ้นมาโดยสถาบันส่งเสริมการจัดการความรู้เพื่อสังคม (สคส.) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ภายใต้ชื่อ GotoKnow.org ซึ่งย่อมาจาก The Gateway of Thailand's Online Knowledge Management และเริ่มเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการเมื่อ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2548

ท่ามกลางความร่วมมือจากทุกภาคส่วนโดยแรงผลักดันจาก สคส. เพื่อการทำให้สังคมไทยเป็นสังคมที่เข้มแข็งทางความรู้นั้น GotoKnow.org เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วและก่อเกิดเป็นชุมชนแนวปฏิบัติขนาดใหญ่ของกลุ่มสมาชิกหลากหลายกลุ่มอาชีพ ผู้คนในชุมชนเสมือนแห่งนี้ได้ประพฤติตนเป็นตัวอย่างอันดีให้แก่การดำเนินการจัดการความรู้แก่ประเทศไทยในการสร้างทักษะและวัฒนธรรมของการแลกเปลี่ยนความรู้ที่สามารถขยายผลไปได้อย่างกว้างขวาง

ตลอดระยะเวลา 9 ปีที่ผ่านมาจนถึงสิ้นเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2557 GotoKnow.org ได้รับการสนับสนุนเพื่อดำเนินงานด้านการพัฒนาระบบคลังความรู้และชุมชนออนไลน์เครือข่ายผู้เชี่ยวชาญจากองค์กรต่างๆ อันได้แก่ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มูลนิธิสถาบันส่งเสริมการจัดการความรู้เพื่อสังคม (สคส.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) และ สำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (สรอ.)

ในด้านการพัฒนาดูแลระบบ GotoKnow.org และการบริหารจัดการเครื่องแม่ข่ายนั้นได้ดำเนินการปรับปรุงและเพิ่มศักยภาพของระบบให้ใช้งานได้ง่ายสะดวกรวดเร็วตามเทคโนโลยีเว็บในปัจจุบัน และรองรับการใช้งานที่เติบโตขึ้นได้อย่างต่อเนื่องและสอดคล้องกับการใช้งานตามความต้องการของผู้ใช้ อีกทั้งได้ดูแลบริหารจัดการระบบและเครื่องแม่ข่ายให้สามารถรองรับการใช้งานตลอด 24 ชั่วโมง

GotoKnow.org ยังได้มีการดำเนินกิจกรรมแบบออฟไลน์เพื่อเชื่อมโยงเครือข่ายสมาชิก อาทิ การจัดอบรม การจัดเสวนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และการประชาสัมพันธ์ และได้กระตุ้นกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทางออนไลน์อย่างต่อเนื่อง อาทิ โครงการ Blog to Book โครงการรางวัลนักเขียนดีเด่น และโครงการ Crowdsourcing เขียนตามประเด็นเด่น

และในการทำความร่วมมือกับสำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิคส์ (สรอ.) เพื่อกระตุ้นการมีส่วนร่วมของประชาชนผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ยังผลให้ดัชนีชี้วัดการมีส่วนร่วมของประชาชน (e-Participation Index) ขององค์การสหประชาชาติ (UN) มีอันดับที่ดีขึ้น ซึ่งในปี พ.ศ. 2553 ประเทศไทยอยู่อันดับที่ 110 จาก 192 ประเทศ และในปี พ.ศ. 2555 ขึ้นมาอยู่ในอันดับที่ 48 จาก 193 ประเทศ

ข้อมูลล่าสุดจากการจัดอันดับเว็บไซต์ของไทยโดย Truehits.net พบว่า GotoKnow.org เป็นเว็บไซต์ด้านการศึกษาของไทยในอันดับที่ 1 ถึง 3 ของประเทศและอันดับโดยเฉลี่ยจากเว็บไซต์ไทยทั้งหมดอยู่ที่ประมาณอันดับ 40-75 อีกทั้งข้อมูลสถิติจาก Google Analytics แสดงให้ถึงจำนวนการเปิดอ่านหน้าเพจเฉลี่ยต่อเดือนของปี พ.ศ. 2557 จำนวนประมาณ 5 ล้านหน้า ปัจจุบัน GotoKnow มีสมาชิกประมาณ 200,000 คน สมุดบันทึก 100,000 เล่ม บันทึก 550,000 รายการ และรูปและไฟล์ข้อมูลประมาณ 1 ล้านรายการ ซึ่งมีการต่อยอดบันทึกด้วยความคิดเห็นประมาณ 3 ล้านรายการ และการสร้างเครือข่ายสังคมแบบการติดตามจำนวน 800,000 รายการ

ก้าวสู่ปีที่ 10 ของ GotoKnow.org สมาชิกยังคงใช้พื้นที่เสมือนนี้เป็นเวทีสาธารณะต่อประเด็นปัญหาระดับประเทศ พัฒนาปัญญาสาธารณะของประเทศ เป็นเวทีสาธารณะต่อการพัฒนาประเทศ พัฒนาสังคมด้วยจิตอาสา เชื่อมโยงเครือข่ายและสร้างฐานข้อมูลของนักการศึกษาและผู้เชี่ยวชาญของประเทศ และลดความเหลื่อมล้ำทางปัญญาและเทคโนโลยีสารสนเทศของไทย

ดิฉันและ ดร.ธวัชชัย ทำงานอยู่ด้วยแรงบันดาลใจและความมุ่งมั่นในการเปลี่ยนแปลงสังคมไทยให้เป็นสังคมแห่งการเรียนรู้มาโดยตลอด ในแต่ละวันที่เราได้รับรู้เรื่องราวจาก GotoKnow.org ถึงความจำเป็นเร่งด่วนต่อการปฏิรูปการศึกษา และได้รับรู้ความล้มเหลวของการศึกษาไทยในวงกว้าง อย่างไรก็ตามเราก็ยังได้เห็นความสำเร็จเล็กๆ ของครูในโรงเรียนขนาดเล็กจำนวนหนึ่งที่พยายามเปลี่ยนแปลงการศึกษาแต่ขาดเครื่องมือเทคโนโลยีสารสนเทศ เราจึงยังคงมุ่งใช้ความรู้ความสามารถในการพัฒนาระบบเพื่อการปฏิรูปการศึกษามากกว่าที่จะมุ่งไปพัฒนางานวิจัยที่ล้ำหน้าต่างๆ แต่อาจไม่มีประโยชน์ต่อประเทศไทยโดยตรงในปัจจุบัน

จากการที่เราได้เห็นประโยชน์ของ GotoKnow.org ต่อการพัฒนาคุณภาพของผู้สอนด้วยการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์การเรียนการสอน เราก็ยังได้เห็นความต้องการของผู้สอนในการพยายามใช้ GotoKnow.org เป็นพื้นที่จัดการการเรียนการสอนกับผู้เรียนอีกด้วย เราจึงสร้างชุมชนออนไลน์ของผู้เรียนขึ้นมาโดยใช้ชื่อว่า L3nr.org (เดิมชื่อ Learners.in.th) เพื่อใช้เป็นคลังความรู้สาธารณะที่ผู้เรียนจากทั่วประเทศ ซึ่งปัจจุบันมีสมาชิกจำนวน 200,000 คน จำนวนการเปิดอ่านหน้าเพจเฉลี่ยต่อเดือนของปีพ.ศ. 2557 จำนวนประมาณ 2 ล้านรายการ

และต่อมาใน พ.ศ. 2554 เราจึงได้พัฒนาระบบจัดการชั้นเรียนออนไลน์ขึ้นมาโดยใช้ชื่อว่า ClassStart.org เปิดให้บริการฟรีแก่ผู้เรียนผู้สอนทั่วประเทศมาตั้งแต่เดือนธันวาคม พ.ศ. 2554 และ ณ ปัจจุบันมีสมาชิกร่วม 180,000 คน และชั้นเรียน 12,000 ชั้นเรียนจากประมาณ 2,000 สถานศึกษาทั่วไทย เราได้สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) มาช่วยในการกระตุ้นให้เกิดการใช้งานระบบในแวดวง “ครูสอนดี” และนำไปขยายผลในจังหวัดนำร่อง

ClassStart.org เป็นระบบชั้นเรียนออนไลน์ของไทยที่ใหญ่ที่สุดในขณะนี้ ผู้สอนสามารถสร้างชั้นเรียนออนไลน์ได้เอง ไม่ต้องติดตั้งและดูแลเว็บไซต์และเครื่องแม่ข่ายเอง สามารถใช้งานได้ง่ายเข้าถึงได้ทุกที่ทุกเวลาจากทั่วทุกมุมโลกเพียงแค่มีคอมพิวเตอร์ หรือ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ส่วนตัว อาทิ แท็บเล็ต และสมาร์ทโฟน และ ClassStart.org ไม่มีการจำกัดจำนวนชั้นเรียนและจำนวนนักเรียนในชั้น รวมทั้งไม่จำกัดพื้นที่การเก็บข้อมูลอีกด้วย นอกจากนี้ยังสามารถรองรับปริมาณการใช้งานจำนวนมากอย่าง Massive Open Online Course (MOOC) ได้อีกด้วย และเอื้ออำนวยการเรียนการสอนร่วมกันระหว่างสถานศึกษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ

นอกจากนี้ล่าสุดเรายังให้ความสำคัญกับ Public Education ของประชาชนไทยด้วยการสร้างศูนย์กลางรวบรวมเนื้อหาการเรียนรู้ทั้งหมดทุกวิชาในทุกระดับชั้นเพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิตโดยไม่ต้องมีการวัดผลหรือเก็บคะแนนการเรียนรู้ใดๆ ขึ้นมาภายใต้โครงการ หวังดี อคาเดมี (Wonkdy.org) มาเป็นพื้นที่เพื่อสนับสนุนการเขียนร่วมกันในลักษณะเดียวกันกับ Wikipedia และเป็นพื้นที่ฟรีที่เก็บรวบรวมแบ่งปันเนื้อหาการเรียนการสอนที่เขียนและเรียบเรียงขึ้นโดยผู้สอนและผู้เชี่ยวชาญจากทั่วประเทศตามรายวิชาและระดับชั้น

ที่มาของ Wonkdy.org นั้นเกิดขึ้นมาจากว่าเราทั้งสองต้องการรู้ว่าลูกชายในวัยประถมหนึ่งของเราจะต้องเรียนอะไรบ้าง เราต้องการเป็นโค้ชให้ลูกเอง เราหาแบบทดสอบดีๆ สนุกๆ ได้มากมายและสร้างขึ้นมาเองอีกด้วย เพราะเรามีความตั้งใจที่จะไม่ฝากการศึกษาของลูกให้กับคนอื่นโดยการไปเรียนกวดวิชาในโรงเรียนติวเตอร์ที่มีอยู่ดาษดื่น

โครงการหวังดี อคาเดมี จึงถูกสร้างมาเป็นพื้นที่รวบรวมโน้ตของเราเพื่อจะได้รู้และช่วยสอนลูกได้ เพราะเราเชื่อว่าการเรียนรู้ที่ดีเพื่อพัฒนาเป็นการเรียนรู้ตลอดชีวิตต้องเริ่มต้นที่บ้าน และเป็นพื้นที่ออนไลน์ที่พ่อและแม่จะได้แบ่งปันเนื้อหาเหล่านี้ให้พ่อและแม่ของคนอื่นๆ ต่อไปเพราะเราอยู่ในสังคมเดียวกัน การเกื้อกูลกันโดยแบ่งปันความรู้คือของขวัญที่ดีที่สุดที่จะมอบให้แก่สังคม

เราสร้าง ClassStart.org, L3nr.org และ Wonkdy.org ขึ้นมาด้วยเงินทุนส่วนตัวเป็นหลักโดยไม่รีรอที่จะหาแหล่งทุนให้ได้เสียก่อน และด้วยประสบการณ์ในการพัฒนาและดูแลเว็บไซต์ขนาดใหญ่อย่าง GotoKnow.org มาแล้ว จึงทำให้เราสามารถพัฒนาเว็บไซต์เหล่านี้ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดในต้นทุนค่าใช้จ่ายที่คุ้มค่าที่สุด ยิ่งการเข้าหาแหล่งทุนในช่วงความผันแปรอย่างสูงของสภาวะเศรษฐกิจและการเมืองของไทยเป็นเรื่องยากมาก และที่สำคัญที่สุดคือแหล่งทุนที่จะเข้ามาร่วมพลิกฟื้นการศึกษาของชาติต้องมีความเชื่อมั่นในตัวเราและมีวิสัยทัศน์ร่วมกันกับเรา เราต้องการความสุขในการทำงานในการตอบโจทย์ที่ท้าทายเรามากกว่าทำงานเพื่อตอบสนองแหล่งทุนที่อาจจะเห็นโจทย์ไม่เหมือนกับเรา

ตามที่คาดหมายเอาไว้ ClassStart.org เติบโตขึ้นเป็นเท่าทวีคูณในระยะเวลาเพียงสองปีกว่าเท่านั้น ดังนั้นเพื่อสนับสนุนการเติบโตของเว็บไซต์ที่มีทั้งหมด คือ GotoKnow.org, L3nr.org และ ClassStart.org ที่ยังไม่มีองค์กรใดเข้ามาสนับสนุนอย่างเป็นทางการต่อจาก สสส. ที่เพิ่งสิ้นสุดสัญญาไป เราจึงเปิดรับโฆษณาจาก Google.com โดยวางบนเว็บไซต์ GotoKnow.org L3nr.org และ Wonkdy.org แต่ไม่ได้วางไว้ใน ClassStart.org จึงเทียบเท่ากับว่าสมาชิก GotoKnow.org L3nr.org และ Wonkdy.org ร่วมกันช่วยสร้าง ClassStart.org เพื่อเป็นเครื่องมือในการปฏิรูปการศึกษาของไทย

เว็บไซต์ทั้งหมดดังกล่าวมาจะเป็นฟันเฟืองในการอภิวัฒน์การเรียนรู้ของประเทศไทย GotoKnow.org จะเน้นให้ชัดเจนขึ้นถึงความเป็นชุมชนออนไลน์เพื่อครูอาจารย์ในทุกระดับชั้นได้เข้ามาแลกเปลี่ยนเรียนรู้บันทึกประสบการณ์การทำงาน ส่วน L3nr.org ก็จะเป็นสมุดบันทึกที่ผู้เรียนได้ใช้เพื่อบันทึกเป็น Portfolios และให้ความรู้แก่สังคมในวงกว้าง ส่วน Wonkdy.org ที่เพิ่งเริ่มต้นขึ้นก็จะพยายามทำให้เป็นพื้นที่เพื่อสนับสนุนการเขียนร่วมกันในลักษณะเดียวกันกับ Wikipedia ที่รวบรวมเนื้อหาทุกวิชาและทุกระดับชั้นของไทย

ที่สำคัญที่สุดคือ ClassStart.org เรามีความตั้งใจและมุ่งมั่นให้เป็นทั้งศูนย์กลางของประเทศในการจัดการเรียนการสอนในทุกระดับชั้นและเป็นฐานข้อมูลของผู้เรียนทั่วประเทศด้วยเช่นกัน นอกจากนี้ ClassStart.org จะเป็นระบบ Localized MOOC ของไทย สถานศึกษาทั่วประเทศไทยเปิดชั้นเรียนออนไลน์ใน ClassStart.org ให้แก่ผู้เรียนและผู้ที่สนใจทั่วประเทศโดยไม่คิดค่าใช้จ่ายใดๆ ใครก็ได้ที่สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตและมีความรักในการเรียนรู้ด้วยตนเองสามารถเข้าถึงคลิปวิดีโอเนื้อหาบทเรียนและแบบทดสอบที่เป็นภาษาไทยจากความร่วมมือของมหาวิทยาลัยชั้นนำของภาครัฐและเอกชนและสามารถได้เกียรติบัตรรองรับความสำเร็จในการศึกษาในชั้นเรียนนั้นๆ ได้อีกด้วย เหมือนอย่างที่มหาวิทยาลัยชั้นนำของโลกได้กำลังร่วมมือกันอยู่

การจะทำให้ได้เช่นนี้แม้จะมีความท้าทายที่จะต้องก้าวข้ามให้ได้อยู่มากมาย แต่เราจะค่อยทำไปทีละขั้นและไม่ได้มุ่งหวังความสำเร็จอันยิ่งใหญ่หรือชื่อเสียงลาภยศเงินทองแต่อย่างไร เพียงแค่เราได้มีความสุขที่ได้ทำงานและสามารถช่วยให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของสังคมไทยที่ดีขึ้น แม้อาจไม่มากมายแต่ก็ช่วยให้เราเข้าใจได้มากขึ้นว่า “ประโยชน์ของเพื่อนมนุษย์เป็นกิจที่หนึ่ง” ตามคำปณิธานของพระบิดาที่ดำรัสไว้นั้นทรงคุณค่าเพียงใด


หลังจากที่ดิฉันได้นำเสนอบทความนี้ในที่ประชุมสภาวิทยาเขตหาดใหญ่ ครั้งที่ 6 (4/2557) ในวันที่ 14 ตุลาคม 2557 ที่ประชุมเห็นชอบว่า มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์จะสนับสนุนงบประมาณแผ่นดินปี พ.ศ. 2559 ในการบริหารเว็บไซต์ทั้งสี่นี้

ดิฉันขอขอบคุณ อาจารย์หมอวิจารณ์ พานิช ที่ช่วยผลักดันให้ดิฉันได้เข้าร่วมประชุมกับสภาวิทยาเขตในครั้งนี้ และทำให้เกิดการสนับสนุนจากทางมหาวิทยาลัยตามมาดังกล่าว

ขอบพระคุณอาจารย์เป็นอย่างสูงแทนสมาชิก GotoKnow และอีกทั้งสามเว็บไซต์ด้วยค่ะ

อ.จันทวรรณ

บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย 

แก้ไขล่าสุด ใน วันจันทร์ที่ 10 พฤศจิกายน 2014 เวลา 22:51 น.
 

สอนอย่างมือชั้นครู: ๑๖. กิจกรรมเรียนโดยการปฏิบัติ

พิมพ์ PDF

บันทึกชุด “สอนอย่างมือชั้นครู” ๓๔ ตอน ชุดนี้ตีความจากหนังสือ Teaching at Its Best : A Research-Based Resource for College Instructorsเขียนโดย Linda B. tags/Nilson">Nilsonซึ่งเป็นฉบับพิมพ์ปรับปรุงครั้งที่ ๓ผมขอเสนอให้อาจารย์ในสถาบันการศึกษาไทยทุกคน หาหนังสือเล่มนี้อ่านเองเพื่อนำไปใช้ประโยชน์เพราะหากติดตามอ่านจากบันทึกใน บล็อก ของผมซึ่งลงสัปดาห์ละตอน จะใช้เวลากว่าครึ่งปี และการอ่านบันทึกของผมจะแตกต่างจากการอ่านฉบับแปล หรืออ่านจากต้นฉบับโดยตรงเพราะบันทึกของผมเขียนแบบตีความไม่ได้ครอบคลุมสาระทั้งหมดในหนังสือ

ตอนที่ ๑๖ นี้ ตีความจาก Part Three : Choosing and Using the Right Tools for Teaching and Learning มี ๗ บทตอนที่ ๑๖ ตีความจากบทที่ 15. Experiential Learning Activities

สรุปได้ว่า การเรียนจากการปฏิบัตินั้น มีรูปแบบที่หลากหลายและใช้ความสร้างสรรค์ของอาจารย์ ในการออกแบบกระบวนการเรียนรู้ได้อย่างไม่จำกัดโดยที่อาจารย์และทีมงานของมหาวิทยาลัยต้องออกแบบ และดำเนินการอย่างรอบคอบและในตอนท้ายต้องมีกิจกรรม debriefing / reflection / AAR / ใคร่ครวญทบทวน การเรียนรู้ ด้วยเสมอ

 

กิจกรรมเรียนโดยการปฏิบัติเป็น “ยำใหญ่” ของการจัดการเรียนรู้หลากหลายรูปแบบเพื่อให้นักศึกษา ได้ค้นพบและสร้างความรู้จากประสบการณ์ตรงทั้งที่เป็นประสบการณ์จำลอง และประสบการณ์จริง

การเรียนรู้แบบนี้ ก่อความผูกพัน (engagement) ของนักศึกษาต่อกิจกรรมการเรียน แตกต่างกันตั้งแต่ ปานกลางไปจนถึงรุนแรงสุดสุดก่อประสบการณ์ทางอารมณ์ ที่จะทำให้จารึกจดจำไปนานหรือตลอดชีวิตและเหมาะสมต่อ นักศึกษาที่มีสไตล์การเรียนรู้ แตกต่างหลากหลาย ทำให้เกิดการเรียนรู้ในระดับสูงและเกิดความสนใจ หรือฉันทะต่อวิชาความรู้เหล่านั้น ทำให้จดจำความรู้ได้ยาวนานกว่าการเรียนแบบที่ นักศึกษาตื่นตัวน้อยกว่า

 

การนำเสนอของนักศึกษา

การเรียนโดยนำเสนอ นอกจากนักศึกษาจะได้เรียนรู้สาระวิชาแล้วยังได้ฝึกทักษะการสื่อสาร ซึ่งนายจ้างแห่งศตวรรษที่ ๒๑ ต้องการมากรวมทั้งการสื่อสารในที่สาธารณะ

การนำเสนอด้วยวาจามีหลากหลายแบบ ดังตัวอย่าง

 

การโต้วาทีแนวแปลก

การโต้วาทีตามปกติที่มีฝ่ายเสนอฝ่ายค้านนำเสนอญัติเชิงบวก หรือเชิงลบ และคำคัดค้านโต้แย้ง ก็ใช้ในชั้นเรียนได้แต่การดัดแปลงเพื่อใช้ประโยชน์ในชั้นเรียน จะมีพลังมากกว่า เช่น

  • การโต้วาทีเพื่อโน้มน้าวให้เปลี่ยนใจ(change-your-mind debate)แบ่งนักศึกษาเป็น ๓ กลุ่มคือกลุ่มเห็นด้วยกับข้อเสนอกลุ่มไม่เห็นด้วยกับกลุ่มยังไม่ตัดสินใจให้แยกไปนั่ง กลุ่มละมุมห้องระหว่างการโต้วาที อนุญาตให้นักศึกษาเปลี่ยนกลุ่มได้เมื่อจบ จัดกระบวนการ debriefing / reflection / AARเน้นที่คนเปลี่ยนใจว่าทำไมจึงเปลี่ยนใจข้อมูลหลักฐานชิ้นไหนที่มีพลังเปลี่ยนใจนักศึกษาที่ยังคงไม่ตัดสินใจเข้ากลุ่มเป็นอีก กลุ่มหนึ่งที่จะช่วยให้ความเห็นเชิงวิเคราะห์ต่อประเด็นวิชาการ และต่อการโต้วาที
  • โต้วาทีแบบประเด็น - ต้านประเด็น (point – counterpoint) ทำโดยแบ่งนักศึกษาออกเป็นกลุ่มจำนวนกลุ่มเท่ากับจำนวนความเห็นที่แตกต่างในเรื่อง (issue) ที่นำมาโต้วาทีแต่ละกลุ่ม เตรียมข้อมูลหลักฐานมานำเสนอเพื่อสนับสนุนจุดยืนของตนเลือกตัวแทนกลุ่มที่ ๑ ให้นำเสนอจุดยืนของกลุ่ม พร้อมหลักฐานสนับสนุนแล้วให้ตัวแทนแต่ละกลุ่มนำเสนอ จุดยืน ข้อโต้แย้ง และหลักฐานสนับสนุนเมื่อครบทุกกลุ่ม จัดการอภิปรายทั้งชั้น เพื่อสรุป ข้อเรียนรู้
  • การโต้วาทีแบบ ข้อโต้แย้งทางวิชาการ(academic controversy) โดยทีมโต้วาทีทีมละ ๒ คน แบ่งเป็นสองฝ่ายโต้กันในเรื่องใดเรื่องหนึ่งแล้วสลับข้าง ให้ฝ่ายนำเสนอเป็นฝ่าย โต้แย้งเมื่อจบแล้ว ให้ทั้ง ๔ คนร่วมกันหาข้อยุติกิจกรรมนี้ต้องมีการค้นคว้ามาก่อน ล่วงหน้าเมื่อจบแล้วให้เขียนรายงาน

ตัวอย่างของการเรียนแนวนี้ในบริบทไทย อ่านได้ที่นี่

 

ผู้เชี่ยวชาญ หรือทีมผู้เชี่ยวชาญ

แต่งตั้งนักศึกษา ๑, ๒, หรือ ๓ คนเป็นผู้เชี่ยวชาญหรือทีมผู้เชี่ยวชาญ เรื่องใดเรื่องหนึ่งในวิชาที่เรียนให้ไปค้นความรู้เรื่องนั้นมาล่วงหน้า และส่ง annotated bibliography ของทีมต่ออาจารย์แล้วมานำเสนอใน ชั้นเรียนโดยอาจารย์ทำหน้าที่ซัก ให้ได้ข้อมูลที่ทันสมัยยิ่งขึ้นและได้ความเชื่อมโยงกับประเด็นการเรียนรู้ ในวันนั้น

 

การอภิปรายกลุ่ม

นักศึกษา ๔ - ๕ คนผลัดกันนำเสนอข้อมูลและมุมมองของตนในเรื่องนั้นโดยสมมติให้แต่ละคน สวมบทบาทต่างกันเช่นเรื่องการจัดการลุ่มน้ำเพื่อป้องกันปัญหาน้ำท่วมลุ่มน้ำเจ้าพระยานักศึกษาแต่ละคน สวมบทหนึ่งบท เช่น ชาวนาเกษตรกรนากุ้งข้าราชการกรมชลประทานนายก อบต.และข้าราชการกรมอุตุ นิยมวิทยาแต่ละคนต้องค้นข้อมูลเกี่ยวกับน้ำท่วม นำมาประกอบการอภิปราย เพื่อบอกความทุกข์และ ความต้องการของตน

อาจให้ทั้งชั้นเป็นผู้อภิปราย โดย “เรียกประชุมลูกบ้านของ อบต.” เพื่อปรึกษาหารือปัญหาน้ำเสีย ในลำคลองของตำบลให้ลูกบ้านคนหนึ่งเริ่มอภิปรายแล้วเรียกลูกบ้านคนต่อไปให้อภิปรายต่อ

 

การแถลงข่าว

อาจารย์ หรือนักศึกษาคนหนึ่ง แสดงบทบาทสมมติเป็นผู้ค้นพบความรู้ใหม่หรือเป็นผู้นำเสนอทางออก ในเรื่องใดเรื่องหนึ่งที่มีมุมมองที่โต้แย้งกันในสังคมให้นักศึกษากลุ่มหนึ่งแสดงบทนักข่าวอีกกลุ่มหนึ่งแสดง บทชาวบ้านในพื้นที่อีกกลุ่มหนึ่งแสดงบทชาวบ้านในพื้นที่ห่างไกลฯลฯให้นักข่าวถามคำถามที่ล้วง ความจริงหรือเรียกหาหลักฐาน

 

การประชุมสัมมนา(symposium)

ให้นักศึกษาคนหนึ่งไปค้นคว้าเรื่องใดเรื่องหนึ่ง นำมาเสนอต่อชั้นเรียนเพื่อนๆ ในชั้นเรียนทำหน้าที่ ตั้งคำถาม หรือให้ความเห็นสนับสนุน หรือโต้แย้ง

อาจมอบหมายให้นักศึกษา ๒ คน ทำหน้าที่ผู้วิพากษ์โดยให้โอกาสอ่านเอกสารข้อเสนอล่วงหน้า ๒ วันหลังการนำเสนอและการวิพากษ์ผู้ฟังในชั้นถามและอภิปราย

 

การสวมบท

ให้นักศึกษาเล่นละคร ในเรื่องที่มีความขัดแย้งในท้องเรื่องมีบทละครคร่าวๆ ให้ตัวแสดงแต่ละคนและแต่ละคนมีบทที่เขียน รายละเอียดคำพูดชัดเจนให้ท่องส่วนหนึ่งแต่ละคนไม่รู้รายละเอียดของบทแสดง และคำพูดของตัวแสดงอื่นหลังการแสดง ให้มีการ debrifing / reflection / AAR เพื่อหาประเด็นเรียนรู้ จากการแสดงนั้น

ตัวอย่างของเรื่องขัดแย้ง ที่นำมาเล่นลครได้

  • คนในวงวิชาชีพ (แพทย์, ทนายความ, ผู้รับเหมาก่อสร้าง, ฯลฯ) กับลูกค้า ที่ไม่พอใจบริการ
  • ผู้บริหารกับสหภาพ
  • ตัวแทนลูกจ้างพยายามชักจูงผู้บริหารให้ไม่ปิดโรงงานที่ขาดทุน
  • ผู้จัดการฝ่ายบริหารงานบุคคล กับความยากลำบากในการตัดสินใจจ้างผู้หญิง ผู้ชาย สมาชิกของกลุ่มชนส่วนน้อย ชนส่วนใหญ่ ที่มีทักษะเด่นและด้อยแตกต่างกันให้เข้าสู่ตำแหน่งแตกต่างกัน
  • นักการเมือง ที่มีความลำบากใจว่าจะเลือกผลประโยชน์ของพรรคพวก หรือผลประโยชน์ของบ้านเมือง
  • คู่สามีภรรยา ที่มีข้อโต้แย้งเรื่องเงิน การเลี้ยงดูอบรมลูก ฯลฯ

มีกรณีศึกษามากมาย ที่นำมาเล่นละครได้

 

สถานการณ์จำลองและเกม

เป็นการเรียนที่ท้าทายเร้าใจที่สุดเพราะมีแพ้ชนะแต่ไม่ว่าจะแพ้หรือชนะในเกมแต่นักศึกษาชนะเสมอในการได้เรียนรู้

 

เกมวิชาการ

Academic game สามารถประยุกต์ใช้กับการเรียนได้ทุกสาขาผมไม่ยกตัวอย่างในหนังสือมาบอก เพราะคิดว่าเป็นบริบทอเมริกันอาจารย์ไทยน่าจะใช้ความคิดสร้างสรรค์คิดเกมวิชาการสำหรับนักศึกษาของตนเมื่อใช้เกมวิชาการช่วยการเรียนรู้ น่าจะทำวิจัยตรวจสอบผลลัพธ์การเรียนรู้ไปด้วย หากต้องการตัวอย่าง ประกอบการคิด ก็สามารถค้นใน กูเกิ้ล ด้วยคำว่า Academic game ได้

 

สถานการณ์จำลอง(simultation)

สถานการณ์จำลองเป็นกิจกรรมเสมือนจริงให้อารมณ์ความรู้สึกเสมือนจริงจึงเกิดการเรียนรู้มาก และเรียนหลากหลายด้าน ในมิติที่ลึกคล้ายเรียนจากของจริง

เมื่อกว่า ๒๐ ปีมาแล้ว ผมได้เรียนรู้ “ผู้ป่วยจำลอง” ที่โรงเรียนแพทย์ในต่างประเทศฝึกเอาไว้ให้นักศึกษา แพทย์เรียนโดยที่นักศึกษาไม่ทราบว่าคนเหล่านี้เป็นผู้ป่วยจำลองเขาจะมาโรงพยาบาล และอาจารย์มอบหมาย ให้นักศึกษาแพทย์ซักประวัติ ตรวจร่างกายแล้วให้การวินิจฉัยแยกโรคผู้ป่วยจำลองของโรคไส้ติ่งอักเสบ เฉียบพลันจะเล่า ประวัติและอาการป่วย และตอบคำถามของนักศึกษาแพทย์ได้ตรงกับอาการของโรครวมทั้ง แสดงท่าทางเจ็บปวดและเมื่อนักศึกษาตรวจหน้าท้อง และกดตรงจุดสำคัญก็จะแสดงอาการสดุ้งเพราะปวด ได้เหมือนผู้ป่วยจริง

สถานการณ์จำลองในวิชาอื่นทำได้หลากหลายรูปแบบ เช่น ตลาดจำลองบริษัทจำลองชุมชนเมืองจำลองชุมชนชนบทจำลองหน่วยราชการจำลองเป็นต้น

อาจใช้คอมพิวเตอร์ จัดสถานการณ์จำลองเสมือน (virtual simulation) ให้นักศึกษาได้ซักซ้อม ปฏิบัติการบางอย่างเช่น CAI (Computer Assisted Instruction)ห้องปฏิบัติการเสมือน ที่มีได้เป็นร้อยๆ เรื่อง

อาจแสวงหาบทเรียนสถานการณ์จำลองได้จาก ๓ แหล่ง คือ(๑) ซื้อมักซื้อได้จากสำนักพิมพ์ในราคาสองสามร้อยเหรียญ(๒) หาของฟรี จากวารสาร หรือจากการประชุมวิชาการด้านการเรียนการสอนและ (๓) ผลิตขึ้นใช้เอง ตามคำแนะนำในหนังสือ Hertel, J & Millis BJ. Using simulations to promote learning in higher education, 2002.

การดำเนินการสถานการณ์จำลองใช้เวลามากอย่างสั้นที่สุดก็ ๑ ชั่วโมงและอาจารย์ต้องให้คะแนน เพื่อให้นักศึกษาตั้งใจทำเกณฑ์ให้คะแนนต้องไม่เน้นที่วาทะศิลป์ แต่เน้นที่คุณภาพของกลยุทธของการ ดำเนินการของนักศึกษา

การเรียนโดยการปฏิบัติทุกแบบต้องตามด้วยการทำ debriefing / reflection / AAR / ใคร่ครวญไตร่ตรอง เพื่อเรียนรู้ทฤษฎีจากการปฏิบัติอาจารย์จึงต้องฝึกทักษะ “คุณอำนวย” ของกิจกรรม AAR

 

เรียนโดยให้บริการ

เรียนโดยให้บริการ (Service Learning) เป็นกิจกรรมการเรียนรู้โดยให้นักศึกษาจัดทีมไปทำงานให้บริการ ชุมชนโดยมีเป้าหมายเพื่อการเรียนรู้ของตนโดยอาจารย์เป็นผู้ออกแบบไว้ในใจแล้วตะล่อมให้ทีมนักศึกษา แต่ละทีม ออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้ของตนให้ทั้งเกิดการเรียนรู้ที่ดี (ทั้งด้านวิชาการ และการบ่มเพาะ จิตอาสาตรงตามเป้าหมายผลลัพธ์การเรียนรู้)และเกิดประโยชน์อย่างแท้จริงต่อชุมชน

การเรียนโดยให้บริการนี้ ก่อผลลัพธ์การเรียนรู้ทั้งแก่นักศึกษาในหลากหลายด้าน และต่ออาจารย์ด้วยรวมทั้งจะมีส่วนสร้างความใกล้ชิด (engagement) ระหว่างมหาวิทยาลัยกับชุมชนด้วยหากจัดได้ดี จะก่อ การเรียนรู้เชิงอารมณ์ให้แก่ผู้เกี่ยวข้องเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาสังคมที่มีพลเมืองที่ไม่นิ่งดูดาย (concerned citizen)

การจัดการเรียนโดยให้บริการที่ดีต้องการเวลาเตรียมตัวของอาจารย์ และระบบการจัดการสนับสนุนโดยต้องคำนึงถึงประเด็นสำคัญต่อไปนี้(๑) เป้าหมายของผลลัพธ์การเรียนรู้ที่ต้องการและความต้องการ ที่แท้จริงของชุมชนต้องตรงกันระวังกิจกรรมที่ทำแบบเหลาะแหละพอเป็นพิธี(๒) ระมัดระวังประเด็น เชิงจริยธรรมกิจกรรมนั้นเป็นการฝืนใจนักศึกษาบางคนหรือเปล่าเพราะความเชื่อของเขาไม่ตรงกับคุณค่า ในโครงการ(๓) อาจารย์และทีมงานต้องไปเตรียมพื้นที่และติดต่อทำความเข้าใจกับแหล่งงาน หรือชุมชน เป็นอย่างดีรวมทั้งตกลงกันเรื่องผู้ทำหน้าที่ โค้ช ในชุมชนด้วยคือต้องเป็นความร่วมมือระหว่าง สถาบัน กับชุมชนและอาจต้องร่วมกันออกแบบประสบการณ์การเรียนรู้ในการทำกิจกรรมอย่าเพียงบอกว่าให้ไป ทำสิ่งนั้นสิ่งนี้ แล้วปล่อยให้นักศึกษาไปหาที่ฝึกเอาเอง(๔) มีการจัดระบบอำนวยความสะดวกแก่นักศึกษา เช่น การเดินทางระบบความปลอดภัยการประกันอุบัติเหตุ ฯลฯ

อย่าลืมทำ reflection ซึ่งอาจมีส่วน auto-reflection โดยการทำบันทึกประจำวัน หรือประจำครั้ง ที่นักศึกษาออกไปทำกิจกรรมสะท้อนความรู้สึกและการเรียนรู้ของตนจะยิ่งดี หากเขียนลง บล็อก ในระบบของรายวิชา เปิดโอกาสให้เพื่อนร่วมวิชาได้อ่านและร่วมสุนทรียสนทนาผ่านระบบไอซีที จะเกิดการเรียนรู้ที่ลึกและเกิดการเรียนรู้ที่กระตุ้นอารมณ์ความรู้สึกยิ่งขึ้น

หนังสือแนะนำแหล่งความรู้ Michigan Journal of Community Service-Learning และ Journal of Public Service and Outreach และผมยังพบ Journal of Higher Education Outreach and Engagement อีกด้วยน่าจะมีแหล่งค้นคว้าเรื่องการจัดการเรียนรู้โดยให้บริการชุมชนอีกมากมาย

ผมมีข้อเตือนใจว่า ในบริบทไทย การจัดการเรียนรู้แบบนี้เสี่ยงต่อการดำเนินการเล่นๆเหลาะแหละสักแต่ว่าให้ได้ทำไม่ได้เรียนรู้จริงตามเป้าหมายผลลัพธ์การเรียนรู้และมีผลร้าย คือสร้างนิสัยเหลาะแหละ ให้แก่นักศึกษา

วิจารณ์ พานิช

๑๙ ส.ค. ๕๗

 

บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย 

แก้ไขล่าสุด ใน วันศุกร์ที่ 07 พฤศจิกายน 2014 เวลา 16:06 น.
 


หน้า 319 จาก 561
Home

About Us

ศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ (ศบม.) เป็นองค์กรที่พัฒนาและจัดทำโครงการเพื่อทำประโยชน์ให้สังคม เป็นองค์กรสนับสนุนการดำเนินงานของภาครัฐ ช่วยแก้ปัญหาผู้ประกอบการภาคธุรกิจบริการที่ขาดแคลนบุคลากรที่มีมาตรฐานในการให้บริการ
อ่านเพิ่มเติม

มูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ ์

 iHDC Profile
บัญชีรายชื่อกรรมการ
ใบสำคัญแสดงการจดทะเบียน การเปลี่ยนแปลงกรรมการของมูลนิธิ
เอกสารประชาสัมพันธ์ โครงการ HMTC.pdf
เอกสารแนะนำโครงการ HMTC 1.pdf
เอกสารโครงการ HMTC 2 คุณสมบัติผู้เข้าร่วมโครงการ.pdf
iHDC นิติบุคคล.pdf
iHDC บุคคล.pdf
iHDC บุคคลเครือข่าย.pdf
รายงานการประชุม 6 มีนาคม 2560.pdf
ข้อบังคับมูลนิธิ
ใบสำคัญแสดงการจดทะเบียนจัดตั้งมูลนิธิ
Ihdc-Profile and Roadmap 2016-2019 Mar 23 2560.pdf
รายงานการประชุมใหญ่คณะกรรมการมูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ 2559.pdf
คำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ สาขาวิชาชีพ.pdf
รายงานการประชุมใหญ่วันที่ 18 ธ ค 2558 v 3.pdf
รายงานการประชุม วันที่ 24 ธันวาคม 2557 updated 4 มีนาคม 2558.pdf
iHDC-invitation Letter.doc
iHDC-Member Form Thai.doc
iHDC-Member Form English.doc
รายงานการประชุมกรรมการมูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ วันที่ 15 มกราคม 2556 ฉบับสมบูรณ์


thaibetter
พัฒนาประเทศไทยแบบทวีคูณ และยั่งยืน ( ททค )

Login


แบบสำรวจ

สถิติเว็บไซด์

สมาชิก : 5644
Content : 3068
เว็บลิงก์ : 26
จำนวนครั้งเปิดดูบทความ : 8747436

facebook

Twitter


ล่าสุด

บทความเก่า