Thaiihdc.org

  • เพิ่มขนาดตัวอักษร
  • ขนาดตัวอักษรปกติ
  • สดขนาดตัวอักษร
Thaiihdc.org

ชีวิตที่พอเพียง : ๒๒๕๒. อย่างไรเรียกว่าปฏิรูปการศึกษา

พิมพ์ PDF

วันอาทิตย์ที่ ๑๗ สิงหาคม ๒๕๕๗ มีการประชุมคณะกรรมการ มูลนิธิพูนพลัง ที่บ้านลูกสาวซึ่งอยู่ติดกันกับบ้านผมสาระเรื่องราวของเด็กนักเรียนนักศึกษาที่ได้รับทุนบอกชัดเจนว่า เด็กเหล่านี้ ไม่ได้ขาดแคลนเฉพาะเงินแต่ยังขาดแคลนผู้ใหญ่ที่มีน้ำใจเอื้ออาทรยินดีให้เวลาแนะนำปัญหาสารพัด ที่เขาประสบ

ผมบอกคณะกรรมการว่าคุณค่าสำคัญที่สุดที่มูลนิธิพูนพลังให้แก่สังคมไทย คือความเอื้ออาทร ในลักษณะเพื่อนมนุษย์มีต่อเพื่อนมนุษย์ที่ด้อยโอกาสกว่า หรือเยาว์วัยกว่า ไม่ใช่เรื่องเงินแต่เป็นเรื่องน้ำใจที่สังคมยุควัตถุนิยมเงินนิยมนับวันจะหย่อนยานไป

ในวันนี้ มีผลงานนิทานประกอบภาพที่นักเรียนจากโรงเรียนต่างๆ ส่งเข้าประกวด ๔๔ ผลงานภาพวาด และการทำเล่มสวยงามกว่าปีก่อนๆ อย่างเห็นได้ชัดแต่ “เลขา” บอกว่า เนื้อเรื่องมันตื้นๆสอนคุณธรรมแบบ ตรงไปตรงมาขาดความลุ่มลึกหรือซับซ้อน

ผมจึงบอกที่ประชุมว่านี่คือภาพสะท้อนของคุณภาพการศึกษาไทย เป็นผลลัพธ์ของการศึกษาที่มุ่งให้ ครูสอนแบบถ่ายทอดความรู้นักเรียนรับถ่ายทอดความรู้ แล้วจำเอาไว้ตอบข้อสอบออกข้อสอบแบบทวน ความจำนักเรียนจึงคิดไม่เป็นโดยเฉพาะอย่างยิ่งคิดซับซ้อนไม่เป็น

นี่คืออาการของความตกต่ำของการศึกษาไทยที่จะฉุดดึงให้สังคมไทยทั้งสังคมพลอยพินาศไปด้วยเพราะจะมีพลเมืองที่ด้อยคุณภาพทั้งประเทศ ความด้อยคุณภาพนี้สะท้อนจากข้อวิจารณ์โดยอดีตประธานเจโทร ในข่าวนี้

จะเห็นว่า ข้อด้อยที่ถูกวิจารณ์เป็นปัจจัยด้าน Non-cognitive ทั้งสิ้นเป็นปัจจัยที่สอนไม่ได้ แต่ฝึกได้โดยการเรียนแบบตื่นตัว (Active Learning)ไม่ใช่แบบรับถ่ายทอด

การปฏิรูปการศึกษาต้องเป็นไปเพื่อแก้ไขความตกต่ำนี้

วิจารณ์ พานิช

๑๗ ส.ค. ๕๗

บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย 

แก้ไขล่าสุด ใน วันเสาร์ที่ 27 กันยายน 2014 เวลา 09:04 น.
 

สอนอย่างมือชั้นครู: 10. ใช้เวลาในชั่วโมงทำงานที่ห้องทำงานให้เกิดประโยชน์สูงสุด

พิมพ์ PDF

บันทึกชุด “สอนอย่างมือชั้นครู” ๓๔ ตอน ชุดนี้ตีความจากหนังสือ Teaching at Its Best : A Research-Based Resource for College Instructorsเขียนโดย Linda B. Nilsonซึ่งเป็นฉบับพิมพ์ปรับปรุงครั้งที่ ๓ผมขอเสนอให้อาจารย์ในสถาบันการศึกษาไทยทุกคน หาหนังสือเล่มนี้อ่านเองเพื่อนำไปใช้ประโยชน์เพราะหากติดตามอ่านจากบันทึกใน บล็อก ของผมซึ่งลงสัปดาห์ละตอน จะใช้เวลากว่าครึ่งปี และการอ่านบันทึกของผมจะแตกต่างจากการอ่านฉบับแปล หรืออ่านจากต้นฉบับโดยตรงเพราะบันทึกของผมเขียนแบบตีความไม่ได้ครอบคลุมสาระทั้งหมดในหนังสือ

ตอนที่ ๑๐ นี้ ตีความจาก Part Two : Managing Your Coursesมี ๕ บทตอนที่ ๑๐ ตีความจากบทที่ 9. Making the Most of Office Hours

สรุปได้ว่า นอกจากสอนในชั้นเรียนแล้วอาจารย์ต้องจัดเวลาช่วยเหลือนักศึกษาที่ต้องการความ ช่วยเหลือเป็นรายคนด้วย โดยที่ต้องฝึกการโค้ชนักศึกษาให้นักศึกษาค้นพบคำตอบด้วยตนเอง และในการ ทำหน้าที่นี้ อาจารย์ต้องรู้จักป้องกันตนเองด้วย

ผู้เขียนบอกว่า ชั่วโมงสอนเป็นช่วงเวลาที่อาจารย์มีปฏิสัมพันธ์กับนักศึกษาทั้งชั้นแต่ชั่วโมงทำงาน ที่ห้องทำงาน (office hours) เป็นช่วงเวลาที่อาจารย์จะได้มีปฏิสัมพันธ์กับนักศึกษาเป็นรายคนซึ่งเป็นเวลาที่ อาจารย์จะได้ช่วยเหลือนักศึกษาเป็นรายคนหัวใจคือ ทำอย่างไรนักศึกษาที่มีปัญหาจึงจะมาหาอาจารย์ผมอ่านตรงนี้แล้ว ก็เห็นว่านักศึกษาที่ไหนๆ ก็ไม่ค่อยนิยมไปหาอาจารย์แปลกจริงๆ

อ่านหนังสือบทนี้แล้ว ทำให้ตีความว่า คำว่า Office hours ในที่นี้ หมายถึงเวลาทำงานของอาจารย์ อย่างเป็นทางการ ที่จัดให้นักศึกษามาปรึกษานอกชั้นเรียนตามปกติ ผมเข้าใจว่า มหาวิทยาลัยไทยไม่มีการจัดเวลา เพื่อเป้าหมายนี้อย่างเป็นทางการและหากมีการจัด และมีการใช้เวลาอย่างได้ผลดีน่าจะเป็นคุณแก่นักศึกษา มาก

 

ให้โอกาสนักศึกษาเข้าพบ

ได้กล่าวแล้วว่า ในทางปฏิบัติ แม้จะมีการจัดเวลาทำงานของอาจารย์ให้นักศึกษาเข้าพบ เพื่อขอคำปรึกษา ได้เป็นรายคนแต่ก็มีนักศึกษาน้อยรายที่ใช้ประโยชน์ของบริการนี้

มีการวิจัยหาเหตุผลที่นักศึกษาไม่นิยมเข้าพบเพื่อปรึกษาอาจารย์ได้ผลว่า เป็นเพราะนักศึกษารู้สึกว่า การเข้าพบอาจารย์ มีผลลดความภาคภูมิใจในตัวเอง (self-esteem)หรือลดความเป็นตัวของตัวเอง (autonomy)นอกจากนั้นยังพบว่า นักศึกษาที่เข้าพบอาจารย์มักเป็นกลุ่มที่สอบได้เกรดอยู่ระหว่าง B- ถึง C+นักศึกษากลุ่มที่ เรียนดี กับกลุ่มที่สอบตก มักไม่ไปหาอาจารย์เขาอธิบายว่ากลุ่มที่ได้เกรดต่ำมักจะคิดท้อถอย ว่าตนเองคงจะเรียน วิชานี้ไม่สำเร็จจึงไม่คิดไปหาอาจารย์เพื่อขอคำแนะนำให้พากเพียรพยายามจนเกิดผลสำเร็จ

จึงเป็นหน้าที่ของอาจารย์ ที่จะต้องหาวิธีดึงดูดนักศึกษาให้มาปรึกษาอาจารย์โดยเขาแนะนำปัจจัยหลัก ๔ ประการ คือ เทศะ กาละ การจัดรูปแบบ และ มีวิธีทำให้นักศึกษากล้ามาหา

เทศะ

เทศะหรือสถานที่พบปะมีความสำคัญยิ่งใกล้สถานที่ที่นักศึกษาคุ้นเคย หรือเป็นที่ที่นักศึกษา ใช้เป็นประจำวันโอกาสที่นักศึกษาจะเข้าพบอาจารย์จะเพิ่มขึ้นหนังสืออ้างผลการวิจัยที่อาจารย์ย้ายสถานที่ ของ office hour มาเป็นที่สนามหรือมาอยู่ในห้องสมุดจำนวนนักศึกษาที่เข้าขอคำปรึกษาจะมากขึ้นชัดเจน

การจัดรูปแบบ

มีผู้ทดลองจัด “ศูนย์บริการรายวิชา” (course center) ขึ้นในห้องเรียนตามปกติเป็นเวลาคาบละ ๑ - ๒ ชั่วโมงในเวลาปกติที่ไม่มีชั้นเรียนมีอาจารย์ของรายวิชาหรือผู้ช่วยมานั่งอยู่ในห้องประกาศให้นักศึกษามานั่ง ทำการบ้านคนเดียวก็ได้หรือมีคำถามมาปรึกษาก็ได้ใครสนใจมาก็มา ใครไม่สนใจหรือไม่มีปัญหาก็ไม่ต้องมาคือเป็นเวลาอิสระพบว่าเป็นที่ชื่นชอบของนักศึกษาและมีประโยชน์ต่อนักศึกษามากกว่าการจัด office hour ของอาจารย์ไว้บริการ

กาละ

เขาแนะนำให้จัดเวลาอย่างน้อย ๑ ชั่วโมงในวันจันทร์หรืออังคารเพราะนักศึกษามีเวลาอ่านหนังสือ ตอนวันหยุดสุดสัปดาห์ และอาจมีคำถาม

อาจารย์ต้องมีข้อมูลเวลาเรียนวิชาต่างๆ ของนักศึกษา และจัดเวลา office hour ให้ตรงกับช่วงเวลาที่นักศึกษาปลอดจากการเรียนวิชาอื่น

ทำให้นักศึกษากล้าเข้าหา

เริ่มจากการประกาศเวลา และสถานที่ ให้นักศึกษาเข้าพบในเอกสารข้อกำหนดรายวิชาประกาศด้วยวาจาในชั้นเรียนวันแรกและย้ำบ่อยๆ ในวันต่อๆ มารวมทั้งอาจระบุใน PowerPoint ประกอบการสอนเป็นครั้งคราวและมีประกาศติดไว้หน้าห้องทำงานของอาจารย์ด้วย

นอกเหนือจากการเชื้อเชิญในรูปแบบต่างๆ ข้างต้น มีคำแนะนำวิธีดึงดูดนักศึกษาเข้าพบ อาจารย์ดังต่อไปนี้

  • กำหนดให้นักศึกษาต้องเข้าพบอาจารย์ตามเวลาที่ระบุซึ่งจะเป็นช่วงต้นของการเรียนรายวิชาเมื่อคุ้นเคย นักศึกษาก็จะกล้าเข้าหาอาจารย์เอง ในภายหลัง
  • กำหนดให้นักศึกษาต้องมาพบอาจารย์ในช่วงที่กำลังเขียนรายงานชิ้นแรกเพื่อให้อาจารย์ได้ อ่านร่างรายงาน และให้คำแนะนำว่าอาจารย์คาดหวังผลงานที่เป็นอย่างไร
  • กำหนดให้นักศึกษาส่งการบ้าน หรือชิ้นงานที่ได้รับมอบหมาย โดยส่งที่ห้องทำงานของอาจารย์ ในช่วงเวลาที่ไม่ใช่เวลาของชั้นเรียนและไม่ส่งที่ห้องเรียน
  • นัดให้นักศึกษามาหาเพื่อคุยกันเรื่องเกรดของการบ้านหรือชิ้นงานที่ได้รับมอบหมายโดยอาจารย์อาจคืนเอกสารคำตอบหรือชิ้นงานที่อาจารย์ตรวจแล้ว และเขียนคำถาม หรือคำวิพากษ์ไว้ให้นักศึกษาไปอ่านเตรียมตัวอภิปรายกับอาจารย์โดยในกระดาษนั้น ไม่มีคะแนนหรือเกรด
  • กำหนดให้ทีมงานนักศึกษาแต่ละทีมที่ได้รับชิ้นงานไปทำร่วมกันมาพบอาจารย์ร่วมกันทั้งทีม อย่างน้อย ๑ ครั้ง

หากเมื่อถึงเวลานัด อาจารย์เกิดป่วยหรือมีภารกิจกระทันหันไม่อยู่ตามนัดต้องหาทางแจ้งนักศึกษา ล่วงหน้า และกล่าวคำขอโทษ

ใช้เวลาอย่างมีคุณค่า

ที่จริงหนังสือใช้ความว่า productive ซึ่งแปลว่ามีผลิตภาพ หรือมีผลงานสูง นั่นคืออาจารย์ต้องมี คำแนะนำต่อนักศึกษาที่มาหาอาจารย์ ให้เตรียมตัวมาอย่างดีให้เวลาที่ใช้ปรึกษาอาจารย์ เกิดประโยชน์สูงสุด ต่อนักศึกษา ตามที่นักศึกษาต้องการคำแนะนำนี้ควรอยู่ในเอกสารรายวิชา

เช่น แนะนำให้มาโดยมีเป้าหมายชัดเจนพร้อมกับนำเอกสารต่างๆ ที่นักศึกษาได้ศึกษาแล้วแต่ยังไม่เข้าใจกระจ่างเช่นบันทึกจากการฟังคำบรรยายสมุดบันทึกการทดลองในห้องปฏิบัติการร่างรายงานเอกสารที่อ่านและขีดเส้นใต้ส่วนที่ไม่เข้าใจเป็นต้นอาจแนะนำให้เขียนคำถาม หรือความไม่เข้าใจ ให้ชัดเจนและนำมาด้วย

ถ้านักศึกษามาหาเพราะไม่เห็นด้วยกับเกรด หรือคะแนน ที่ได้รับให้นำข้อเขียนของนักศึกษา ที่สนับสนุนความต้องการให้แก้เกรดโดยมีเอกสารอ้างอิงมาด้วย

บอกไว้ให้ชัดเจนว่า ถ้านักศึกษามาหาอาจารย์โดยไม่ได้เตรียมตัวมาให้พร้อม อาจารย์มีสิทธิยกเลิก การพบปะ และนัดใหม่ เพื่อให้นักศึกษากลับไปเตรียมตัวให้พร้อม

บอกไว้ให้ชัดเจนว่า หากนักศึกษาไม่เข้าชั้นเรียนแล้วมาหาอาจารย์ให้ช่วยสอนใหม่ อาจารย์ จะไม่รับนัด หรือยกเลิกนัดอาจารย์จะไม่รับนัดนักศึกษาที่ต้องการให้อาจารย์ทำการบ้านให้

เมื่อนักศึกษามาหาอาจารย์โดยเตรียมตัวมาอย่างดี อาจารย์ต้องให้เวลาและคำแนะนำอย่างเต็มที่อย่าให้เรื่องอื่นมาทำลายเวลานี้ของนักศึกษา

 

ติวแบบนักศึกษาเป็นผู้ปฏิบัติ

หนังสือใช้คำว่า tutoring แต่ผมชอบคำว่า coaching มากกว่า คืออาจารย์พึงใช้เวลานี้ในการ โค้ช นักศึกษาแบบตัวต่อตัวและวิธีโค้ชที่ดีที่สุดคือการตั้งคำถาม ไม่ใช่ตอบคำถาม

เมื่อนักศึกษาถาม อาจารย์ไม่ควรตอบคำถามตรงๆแต่ให้ถามกลับ ด้วยคำถามที่ค่อยๆ ช่วยให้นักศึกษา ค้นพบคำตอบเองวิธีนี้เป็นคล้ายๆ อาจารย์พลิกกลับตนเอง ให้นักศึกษา “สอน” เพื่อการเรียนรู้ของตัวนักศึกษา เองเพราะ “การสอนผู้อื่น” คือวิธีการเรียนรู้ที่ให้ผลสูงสุด ตาม Learning Pyramidอาจารย์ที่ทำอย่างนี้ได้ ต้องฝึกฝนตนเองมาอย่างหนัก

หากพบว่า นักศึกษามาพร้อมกับความเข้าใจผิดอาจารย์ต้องมีวิธีจัดการอย่างมีชั้นเชิงเริ่มต้นด้วย การกล่าวชมส่วนที่นักศึกษาทำได้ดี หรือเข้าใจถูกต้องเพื่อสร้างความรู้สึกที่ดี

นักศึกษาที่นัดแล้วไม่มาตามนัดอาจารย์พึงโทรศัพท์ติดตามหรืออาจนัดใหม่และพึงเตือนนักศึกษา ที่นัดแล้วลืม ได้ตระหนักว่าเวลาของอาจารย์มีค่า

 

นักศึกษาที่มีปัญหา

นักศึกษาอาจมีปัญหาการเรียน ปัญหาทางอารมณ์ หรือทางด้านสุขภาพจิต หากมีปัญหาด้านใด อย่างรุนแรง อาจารย์ต้องแจ้งหน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบของมหาวิทยาลัย

เช่นนักศึกษาที่พื้นความรู้อ่อนมากในหลายๆ วิชาต้องมีหน่วยงานทำหน้าที่ช่วยเหลือส่งไปเข้ารับ การอบรมเสริมความรู้ด้านนั้นๆ

นักศึกษาที่มีปัญหาทางอารมณ์แปลกๆ อาจเป็นเรื่องสุขภาพจิตก็ต้องส่งไปยังหน่วยงานของ มหาวิทยาลัยที่มีความรู้ และมีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรงโดยที่อาจารย์พึงมีความรู้ในการพิจารณาว่า ปัญหาของนักศึกษาเกินกำลังของตัวนักศึกษาเองและเกินกำลังของอาจารย์ที่จะจัดการ

ในกรณีที่นักศึกษาอาละวาด หรือก่อความรุนแรงอาจารย์ต้องรู้จักรักษาความปลอดภัยของตนเองโดยอย่าอยู่ในที่แคบหรือหลบหลีกไม่สะดวกรวมทั้งในกรณีอยู่สองต่อสองกับนักศึกษา ก็พึงหาวิธีไม่ให้เกิด ข้อครหาทางเพศหรือข้อครหาอื่นๆ

วิจารณ์ พานิช

๑๑ ส.ค. ๕๗

บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย 

แก้ไขล่าสุด ใน วันจันทร์ที่ 22 กันยายน 2014 เวลา 21:28 น.
 

ชีวิตที่พอเพียง : ๒๒๔๙. เพราะสะท้อนคิดจึงเรียนรู้

พิมพ์ PDF

ในการประชุมสภามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เมื่อวันที่ ๑๖ สิงหาคม ๒๕๕๗ วาระชูโรงคือ “การดำเนินการจัดการเรียนการสอนที่เน้น Active Learning” ที่รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ รศ. ดร. จุฑามาส ศตสุข เป็นผู้นำเสนอ และ ศ. ดร. สนิท อักษรแก้วแนะนำว่า ควรแปลงชื่อเป็นไทยว่า การสอนแบบตื่นตัว หรือแบบกระฉับกระเฉง วาระนี้วาระเดียว กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิให้ความเห็นกว่าหนึ่งชั่วโมง

คนแรกที่ให้ความเห็นคือ รศ. ดร. ยืน ภู่วรวรรณ ที่บอกว่า นักศึกษาที่เข้ามหาวิทยาลัยในช่วงนี้ เกิดหลัง ค.ศ. 1994 ซึ่งเป็นปีเกิดของ World Wide Web เทคโนโลยีสื่อสารนี้ได้เปลี่ยนบุคลิกลักษณะของคนรุ่นนี้ไป โดยสิ้นเชิง การจัดห้องเรียน/การเรียนรู้ จึงต้องปรับให้เหมาะกับบุคลิกลักษณะของผู้เรียน เป็นไปไม่ได้ ที่จะเปลี่ยนผู้เรียนให้เข้ากับวิธีการสอนแบบเก่า

บุคลิกลักษณะของคนยุคใหม่นี้ เช่น เป็นคนที่คุ้นกับการทำกิจกรรมหลายอย่างในเวลาเดียวกัน ถนัดรับข้อมูลแบบกราฟิกมากกว่าเป็นตัวอักษร อ่านเกิน ๗ บรรทัดไม่ได้ ความอดทนต่ำ จดจ่อกับเรื่องใด เรื่องหนึ่งต่อเนื่องได้ไม่เกิน ๗ นาที อยู่นิ่งไม่ได้ ชอบเรียนรู้จากเกม เพราะให้ความท้าทายและตื่นเต้น

ผมเสนอแนะต่อ ๒ ประเด็น คือ (๑) เก็บข้อมูลที่ตัวนักศึกษา ห้องเรียน และอาจารย์ เพื่อเอามาวิเคราะห์ สังเคราะห์ หาทางปรับปรุงกิจกรรมในห้องเรียน การสนับสนุนเชิงระบบ และเพื่อสร้าง evidence ว่าการเรียนแบบตื่นตัวนี้ ก่อผลดีต่อนักศึกษาที่ผลลัพธ์การเรียนรู้ ดีกว่าวิธีเก่า อย่างไร (๒) เสนอให้เอาใจใส่ coaching แก่นักศึกษาที่ออกไปทำงานในโครงการสหกิจศึกษา โดยทำหน้าที่ facilitate ให้นักศึกษา ทำ reflection หรือ AAR

มีคนอภิปรายต่อหลายท่าน ดีๆ ทั้งสิ้น แต่ผมขอตัดฉับไปที่ ศ. ดร. นิธิ เอียวศรีวงศ์ ที่บอกว่าขอให้ความเห็นของปีศาจ ไม่ใช่ทนายของปีศาจ (devil’s advocate) ว่าชื่นชมในข้ออภิปรายของ ดร. ยืน แต่ที่นักศึกษาได้รับจากการสอนในเวลานี้นั้น เป็น “ข้อมูล” ไม่ใช่ “ความรู้” เพราะความรู้นั้นได้มาจาก reflection ของตัวนักศึกษาเองเท่านั้น

ผมสว่างวาบทันที ว่า “เพราะสะท้อนคิดจึงเรียนรู้” กล่าวใหม่ว่า ถ้าไม่สะท้อนคิด (reflect, โยนิโสมนสิการ) ก็จะไม่ได้เรียนรู้ แม้จะเรียนอยู่ในห้องเรียน

คนเราต้องสะท้อนคิดอยู่ทุกนาที จึงจะได้เรียนรู้เต็มเปี่ยม

วิจารณ์ พานิช

๑๖ ส.ค. ๕๗

บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย 

แก้ไขล่าสุด ใน วันจันทร์ที่ 22 กันยายน 2014 เวลา 21:34 น.
 

ชีวิตที่พอเพียง : ๒๒๕๐. ดึงพลังธรรมชาติมาใช้ประโยชน์

พิมพ์ PDF

ระหว่างวิ่งออกกำลังตอนเช้าวันอาทิตย์ที่ ๑๗ สิงหาคม ๒๕๕๗ ผมฟังวิทยุ เอฟเอ็ม ๑๐๐.๕ รายการ กูดม้อร์นิ่ง อาเซี่ยน ผู้ดำเนินรายการพูดเรื่องการใช้การสื่อสารดาวเทียม ในการส่งข่าว ของวงการข่าว ว่าเดิมแพงมาก ต่อมามี อินเทอร์เน็ต ทำให้การส่งข่าวราคาลดลงอย่างมากมาย

ทำให้ผมปิ้งแว้บขึ้นว่า ความก้าวหน้านี้เกิดขึ้นจากการดึงพลังธรรมชาติมาใช้ประโยชน์ และ กระบวนการนี้ มันต่อยอดกัน นี่คือกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี

เราเรียนวิชาวิทยาศาสตร์ก็เพื่อการนี้

เพื่อรู้จักวิธีดึงเอาพลังธรรมชาติมาใช้ประโยชน์

แต่ธรรมชาติมันเป็นกลาง คือมีทั้งคุณและโทษ จะเป็นคุณหรือโทษขึ้นกับผู้ใช้ หรือมนุษย์ที่เป็นผู้ เข้าไปหยิบเอากระบวนการธรรมชาติมาใช้ ที่เป็นคุณคือ เมื่อทำความเข้าใจกระบวนการธรรมชาติ ก็คิดวิธีเอามาทำให้เป็นเทคโนโลยีเพื่อการใช้ประโยชน์ของมนุษย์ อย่างกรณีเทคโนโลยีสารสนเทศและ การสื่อสาร ที่เปลี่ยนแปลงวิถีชีวิต และเปลี่ยนแปลงบุคลิกลักษณะของมนุษย์ อย่างมากมาย ในช่วง ๒๐ ปีที่ผ่านมา

ซึ่งเป็นทั้งคุณและโทษ

โทษที่เกิด และก่อผลมหาศาล คือสร้างความเหลื่อมล้ำในโลก และในสังคม เพราะมันช่วยเป็น เครื่องมือให้มนุษย์เอาเปรียบกันได้สะดวกขึ้นด้วย

กลับมาที่ข้อเรียนรู้สำหรับสังคมไทย เราอยู่ในฐานะที่จะดึงพลังธรรมชาติมาใช้ประโยชน์ ในฐานะ “ผู้สร้างสรรค์” ได้ ซึ่งหมายความว่า ตรงกันข้ามกับการเป็นผู้เสพหรือบริโภค

ผมตั้งข้อสังเกต (ไม่ทราบว่าถูกหรือผิด) ว่านโยบายระดับชาติของเรา มุ่งส่งเสริมการเป็นผู้เสพ มากกว่าเป็นผู้สร้าง เน้นการเสพเพื่อสะดวกสบายส่วนตัว ไม่เน้นการสร้างสรรค์เพื่อประโยชน์สังคม หรือส่วนรวม โดยผลลัพธ์สุดท้าย คือความมั่งคั่ง ตกอยู่แก่คนจำนวนน้อย

ประชาธิปไตยต้องดูที่ผลลัพธ์สุดท้าย คือความมั่งคั่ง อยู่ดีมีสุข และอนาคตดี ที่กระจายในหมู่ ประชาชน ไม่ใช่นิยามประชาธิปไตยที่การเลือกตั้ง

การดึงพลังธรรมชาติมาใช้ประโยชน์ เป็นกระบวนการที่ซับซ้อน เชื่อมโยงไปยังกระบวนการอื่นๆ ในโลก และในสังคม กระบวนการที่ซับซ้อนเหล่านี้ ทำให้สังคมไทยพัฒนาไปเป็นสังคมบริโภค บริโภคสินค้าเทคโนโลยีจากประเทศอื่น หรือจากประเทศไทย ซึ่งในกระบวนการนี้มีผู้ประกอบการจำนวนหนึ่ง ได้รับประโยชน์ คือได้กำไรมหาศาล

นักการเมืองไทย (และโลก) มีแนวโน้มจะเข้าไปเป็นแนวร่วมนี้ ทั้งโดยรู้ตัวและไม่รู้ตัว เป็นแนวร่วม ผลักดันให้สังคมไทยเป็นสังคมบริโภค ไม่ใช่สังคมสร้างสรรค์

สังคมสร้างสรรค์ ที่เกิดใหม่และท้าทายมหาอำนาจเก่าอย่างมาก คือเกาหลี (ใต้) เราจะเห็นยุทธวิธี ใช้เทคโนโลยีนำ (โดยบริษัทเอกชนขนาดใหญ่) วิทยาศาสตร์และศาสตร์อื่นๆ หนุน รวมทั้งวัฒนธรรม

ดึงพลังธรรมชาติมาใช้ประโยชน์เพื่อสังคมไทย ต้องการยุทธศาสตร์ระดับประเทศ ยุทธศาสตร์ของ การสร้างสรรค์ และยุทธศาสตร์โลกาภิวัตน์

วิจารณ์ พานิช

๑๗ ส.ค. ๕๗

บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย 

แก้ไขล่าสุด ใน วันจันทร์ที่ 22 กันยายน 2014 เวลา 21:44 น.
 

ทำความสะอาดโรงเรียน

พิมพ์ PDF

ที่จริงไม่เฉพาะโรงเรียน หน่วยงานอื่นๆ ต่างก็มีความสกปรกโสโครกแฝงอยู่ด้วยเสมอ รวมทั้งโรงพยาบาล ความโสโครกในที่นี้ไม่ใช่ด้านกายภาพ แต่เป็นด้านสังคม และคุณธรรม

เราต้องช่วยกันปกป้อง และกวาดล้างโรงเรียน จากความไม่สะอาดเชิงคุณธรรม เป็นพิเศษ เพราะโรงเรียนต้องฝึกฝนปลูกฝังนักเรียนในด้านคุณธรรม นักเรียนต้องได้เห็นตัวอย่างพฤติกรรมดี และเห็นตัวอย่างที่คนทำชั่วได้รับโทษ

ความไม่สะอาดอยู่ในระบบ การอาศัยโรงเรียนหากินโดยการโกงกินจากการจัดซื้อจัดจ้าง ต้องถูกขจัด เพราะไม่ว่าผลประโยชน์ที่มิชอบนี้จะตกที่ใคร บ้านเมืองเสียหายทั้งสิ้น

การเลื่อนวิทยะฐานะครูแบบที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน ต้องยกเลิก แทนที่ด้วยผลงานที่สะท้อนการเรียนรู้ บูรณาการ เกิดผลลัพธ์การเรียนรู้รอบด้าน (พหุปัญญา) ของศิษย์ และการเรียนรู้จากกิจกรรมในห้องเรียน ของตัวครูเอง

ครูบางคนไม่ควรเป็นครู เพราะหากปล่อยให้เป็นจะทำร้ายเด็กด้วยพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม และสร้างความเสื่อมเสียให้แก่อาชีพครู เกณฑ์คุณสมบัติของครู และของคนที่ควรขจัดไปจากวงการครู ให้ครูดีๆ จำนวนหนึ่งช่วยกันยกร่างได้

คนแบบนี้ควรได้รับการตักเตือนและช่วยเหลือให้กลับตัวกลับใจ ให้เวลาระยะหนึ่ง หากเปลี่ยนแปลงตัวเองไม่ได้ ควรให้ออกไปประกอบอาชีพอื่น

ความสะอาดเชิงระบบ ของระบบการศึกษา ควรเลยจากโรงเรียน ไปสู่ระบบ ที่ต้องเป็นระบบที่เรียนรู้ คือต้องมีการเก็บข้อมูล เป็น feedback เพื่อนำไปสู่การปรับตัวเชิงระบบ และที่สำคัญ ไม่ให้การเมืองโสมม เข้ามาตักตวงผลประโยชน์โดยมิชอบ ในลักษณะ คอร์รัปชั่นเชิงนโยบาย

วิจารณ์ พานิช

๒๖ ส.ค. ๕๗

บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย 

แก้ไขล่าสุด ใน วันจันทร์ที่ 22 กันยายน 2014 เวลา 21:08 น.
 


หน้า 323 จาก 561
Home

About Us

ศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ (ศบม.) เป็นองค์กรที่พัฒนาและจัดทำโครงการเพื่อทำประโยชน์ให้สังคม เป็นองค์กรสนับสนุนการดำเนินงานของภาครัฐ ช่วยแก้ปัญหาผู้ประกอบการภาคธุรกิจบริการที่ขาดแคลนบุคลากรที่มีมาตรฐานในการให้บริการ
อ่านเพิ่มเติม

มูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ ์

 iHDC Profile
บัญชีรายชื่อกรรมการ
ใบสำคัญแสดงการจดทะเบียน การเปลี่ยนแปลงกรรมการของมูลนิธิ
เอกสารประชาสัมพันธ์ โครงการ HMTC.pdf
เอกสารแนะนำโครงการ HMTC 1.pdf
เอกสารโครงการ HMTC 2 คุณสมบัติผู้เข้าร่วมโครงการ.pdf
iHDC นิติบุคคล.pdf
iHDC บุคคล.pdf
iHDC บุคคลเครือข่าย.pdf
รายงานการประชุม 6 มีนาคม 2560.pdf
ข้อบังคับมูลนิธิ
ใบสำคัญแสดงการจดทะเบียนจัดตั้งมูลนิธิ
Ihdc-Profile and Roadmap 2016-2019 Mar 23 2560.pdf
รายงานการประชุมใหญ่คณะกรรมการมูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ 2559.pdf
คำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ สาขาวิชาชีพ.pdf
รายงานการประชุมใหญ่วันที่ 18 ธ ค 2558 v 3.pdf
รายงานการประชุม วันที่ 24 ธันวาคม 2557 updated 4 มีนาคม 2558.pdf
iHDC-invitation Letter.doc
iHDC-Member Form Thai.doc
iHDC-Member Form English.doc
รายงานการประชุมกรรมการมูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ วันที่ 15 มกราคม 2556 ฉบับสมบูรณ์


thaibetter
พัฒนาประเทศไทยแบบทวีคูณ และยั่งยืน ( ททค )

Login


แบบสำรวจ

สถิติเว็บไซด์

สมาชิก : 5644
Content : 3068
เว็บลิงก์ : 26
จำนวนครั้งเปิดดูบทความ : 8747185

facebook

Twitter


ล่าสุด

บทความเก่า