Thaiihdc.org

  • เพิ่มขนาดตัวอักษร
  • ขนาดตัวอักษรปกติ
  • สดขนาดตัวอักษร
Thaiihdc.org

ชีวิตที่พอเพียง : ๒๒๓๔. มารยาทในวงการวิทยาศาสตร์

พิมพ์ PDF

ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ จัดการประชุมสัมมนานักวิจัยไบโอเทค ครั้งที่ ๑๕ ประจำปี ๒๕๕๗ เมื่อวันที่ ๓๐ กรกฎาคม ๒๕๕๗ และเชิญผมไปบรรยายเรื่อง Etiquette in Science Community จึงนำ narrated ppt มา ลปรร. ที่นี่ ท่านที่ต้องการฟังเฉพาะเสียง ฟังหรือดาวน์โหลดได้ ที่นี่

ที่จริงผมไม่มีความรู้เพียงพอที่จะบรรยายเรื่องนี้ จึงใช้ยุทธศาสตร์ไม่บรรยาย ใช้สุนทรียสนทนา (dialogue) แทน เพื่อทำให้ผู้ที่มาร่วมงานในห้องประมาณกว่า ๒๐๐ คน รู้สึกว่าเป็นเรื่องใกล้ตัว และทุกคนมี ประสบการณ์ที่เกี่ยวข้อง สามารถนำมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันได้

วิจารณ์ พานิช

๓๐ ก.ค. ๕๗

บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย 

แก้ไขล่าสุด ใน วันเสาร์ที่ 30 สิงหาคม 2014 เวลา 11:52 น.
 

ชีวิตที่พอเพียง : ๒๒๓๑. วิ่งออกกำลังกายที่ ซิดนีย์ (๒)

พิมพ์ PDF

เพราะวิ่งตอนเช้าท่ามกลางอากาศหนาวเย็นมา ๒ เช้า ที่เมือง Wagga Wagga, NSW เมื่อไปวิ่งที่ ซิดนีย์ เช้าวันที่ ๒๔ กรกฎาคม ๒๕๕๗ ผมจึงรู้สึกว่าอากาศอุ่นสบายอย่างยิ่ง โดยอุณหภูมิอยู่ที่ ๑๒ องศา

ความคิด/ความรู้สึกของคนเป็นการเปรียบเทียบ ดังเรื่องอุณหภูมิดังกล่าวแล้ว นอกจากนั้นบรรยากาศของสถานที่วิ่ง ก็แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง ระหว่าง ซิดนีย์ กับ ว้อกก้า ว้อกก้า คือที่ ซิดนีย์ ผมวิ่งในบริเวณ ดาร์ลิ่ง ฮาเบอร์ (เพราะพักที่โรงแรม โนโวเทล ร็อกฟอร์ด) ซึ่งเป็นย่านที่มีสิ่งก่อสร้างสวยงาม สำหรับเป็นที่พักผ่อนหย่อนใจในนครใหญ่ ส่วนที่ ว้อกก้า ว้อกก้า ผมวิ่งบนทางเท้าริมถนน ที่อาคารเป็นอาคารธรรมดาๆ ชั้นเดียวหรือสองชั้น เป็นบรรยากาศบ้านนอก

ระหว่างวิ่ง ในบรรยากาศของ ดาร์ลิ่ง ฮาเบอร์ ซึ่งพื้นที่บริเวณหนึ่งกำลังมีการก่อสร้างเพิ่มเติม ผมมีความคิดว่า ที่นี่ผู้คนชอบออกมาพักผ่อนใน open space เขาจึงก่อสร้างพื้นที่สาธารณะให้น่าไปเที่ยว แต่ที่บ้านเรา อากาศร้อน พื้นที่ open space อากาศร้อนเกินไป คนจึงไม่นิยมไปเที่ยวในพื้นที่สาธารณะที่เป็นพื้นที่ เปิด เป็นโอกาสให้ห้างใหญ่ๆ กลายเป็นที่เดินเที่ยวของผู้คน

เช้าวันที่ ๒๔ ผมวิ่งคลำทางอยู่พักหนึ่งจึงคุ้นเคยทิศทาง และจำได้ว่าอะไรอยู่ตรงไหน เพราะเคยมาวิ่ง ที่บริเวณนี้เมื่อ๒ ปีที่แล้ว ดังในบันทึกซึ่งอ่านได้ที่นี่

เนื่องจากโรงแรม โนโวเทล ร็อกฟอร์ด อยู่ห่างจากใจกลางของ ดาร์ลิ่ง ฮาเบอร์ ไปทางทิศใต้ ผมจึงได้สัมผัสบริเวณที่ไม่เคยไปสัมผัสเมื่อ ๒ ปีก่อน ที่เป็นสนามกว้างและมีสระน้ำเรียงรายที่ขอบสนาม ที่นี่มีฝูงนกนางนวล และมีนกกระสาจำนวนมากกว่าที่ผมเคยพบเมื่อ ๒ ปีก่อน ไม่ทราบว่านกกระสามันค่อยๆ ปรับตัว จนเวลานี้กลายเป็นนกเมืองมากขึ้นเรื่อยๆ และสภาพแตกต่างกันมากในเวลา ๒ ปี หรือสภาพเป็น อย่างนี้มานานแล้ว แต่ผมเพิ่งมาเห็นนกกระสาจำนวนมากในเมือง ในการเดินทางคราวนี้

ความแตกต่างจากเมื่อ ๒ ปีที่แล้ว อีกอย่างหนึ่งคือการก่อสร้างในพื้นที่ขนาดใหญ่ ทางทิศตะวันตกของ ดาร์ลิ่ง ฮาเบอร์

ผมวิ่งไปพบสะพานคนเดิน ข้ามถนนเข้ามายังบริเวณ ดาร์ลิ่ง ฮาเบอร์

ผมติดใจพื้นที่เปิด ที่มีที่นั่งเล่น เล่นกีฬา และสนามเด็กเล่น ว่านี่คือเมืองที่เอาใจใส่ให้บริการพักผ่อน หย่อนใจแก่ผู้คน ทำให้ ซิดนีย์ เป็นเมืองที่น่าอยู่มาก

เช้าวันที่ ๒๕ ผมตั้งใจออกวิ่งตอนที่สว่างกว่าเมื่อวาน เพราะวันนี้ออกไปดูงานสายกว่า คือ ๙ น. ผมตั้งใจออกไปวิ่งต่างเวลา เพื่อชมบรรยากาศที่แตกต่างกัน และเมื่อสว่างมากขึ้น ก็ถ่ายรูปได้สวยขึ้นด้วย แต่ลมฟ้าอากาศไม่เป็นใจ ฟ้ามัวและอากาศเย็นกว่าเมื่อวาน แต่ผมก็ได้วิ่งตรงจากโรงแรมไปทางด้านตะวันตก ของ Darling Harbour ตรงไปขึ้นสะพาน Pyrmont ข้ามอ่าวไปฝั่งตะวันออก แล้ววิ่งกลับ ได้ชมนก (นางนวล และกระสา) ชมไม้ และถ่ายรูปวิวระหว่างทาง

เช้าวันนี้ผมสังเกตว่าในฝูงนกกระสามีลูกนกปนอยู่ด้วย สังเกตจากตัวเล็ก ปากสั้น และบางตัวส่งเสียง ร้องแบบลูกนก รวมทั้งมีแม่ (หรือพ่อก็ไม่ทราบ) คอยดูแล นกกระสาชอบไปอยู่ที่สนาม เดาว่าน่าจะมีไส้เดือน หรือหนอนให้หากิน ดร. วัฒนา รัตนพรม แห่ง มรภ. สุราษฎร์ เอารูปถ่ายมาอวดว่า นกกระสามันรู้จักคุ้ยถังขยะ หาอาหารกิน

ไหนๆ ก็เล่าเรื่องไป ซิดนีย์ ขอถือโอกาสเล่าเรื่องไปทัวร์ Opera House เป็นครั้งที่ ๒ ในบ่ายวันที่ ๒๕ กรกฎาคม ๒๕๕๗ เป็นทัวร์ ๑ ชั่วโมง นำโดยไกด์อายุเกือบ ๖๐ ตัวเตี้ยล่ำหนวดขาว และรวยอารมณ์ขัน ผมพบว่า ไกด์แต่ละคนมีวิธีพาเที่ยว และเล่าเรื่องราวต่างกัน ผมจำได้ว่า ไกด์ คนที่พาผมชมเมื่อ ๔ ปีก่อนเล่าเรื่อง ประวัติการก่อสร้าง และโครงสร้างอาคารละเอียดมาก แต่ไกด์คนนี้เล่าเพียงสั้นๆ แต่พาชมห้องชมละคร ห้องใหญ่จุ ๒,๗๐๐ คน ที่เขากำลังซ้อมละครร้องเรื่อง ดอน จิโอวานนี่ กันอยู่ เขาอธิบายว่า ละครสลับเรื่องทุกวัน เพื่อให้ตัวแสดงที่เป็นนักร้องได้พักคอ โดยที่มีการเปลี่ยนฉากทุกวัน

ผมได้เรียนรู้ว่า แผงกลมแบนที่ห้อยลงมาจากเพดาน ตรงเวที ก็เพื่อสะท้อนเสียง ให้นักร้องได้ยินเสียง ของตนเองในเวลาครึ่งวินาที ไม่ใช่ ๒ วินาทีหากเสียงสะท้อนมาจากเพดาน ที่สูงมาก และได้เห็นไม้บุผนัง ที่เป็นไม้ Birch ออสเตรเลียสีขาวนวลสวยงาม รวมทั้งการบุไม้เป็นหลืบสวยงาม เพื่อดูดซับและสะท้อน เสียงให้สม่ำเสมอทั่วห้อง โดยไม่มีการใช้เครื่องขยายเสียง เสียดายที่เขาห้ามถ่ายรูป ท่านที่สนใจจริงๆ ค้นดูรูปใน Google ได้

ไกด์พาไปชมห้องชั้นล่าง ที่เขากำลังเตรียมเวทีแสดงดนตรี อธิบายว่าที่นั่งตรงไหนแพงตรงไหนถูก โดยที่ทุกที่นั่งจะได้ยินเสียงไพเราะเท่ากัน การจ่ายแพงเลือกที่นั่งก็เพื่อปรนเปรอตา ไม่ใช่หู และก่อนจะออก จากห้อง ก็มีเสียงเปียโนดังขึ้น เป็นเสียงที่นุ่มไพเราะอย่างยิ่ง

ผมได้รู้ว่า โรงละครนี้มี ๖ ห้อง อยู่ชั้นบน ๓ ห้อง ชั้นล่าง ๓ ห้อง โดยที่ตอน Utzon ออกแบบ ไม่มีห้องชั้นล่าง ๓ ห้อง

ผมได้เขียนเล่าการไปทัวร์ Opera House ครั้งแรกเมื่อ ๔ ปีก่อนไว้ที่นี่

วิจารณ์ พานิช

๒๓ ก.ค. ๕๗

บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย 

ชมภาพประกอบกด link http://www.gotoknow.org/posts/575110

แก้ไขล่าสุด ใน วันพุธที่ 27 สิงหาคม 2014 เวลา 22:09 น.
 

เรียนรู้พันธกิจมหาวิทยาลัยเพื่อสังคมที่ออสเตรเลีย : ๑. เตรียมตัว

พิมพ์ PDF

สถาบันคลังสมองของชาติจัดการศึกษาดูงาน เรื่องพันธกิจมหาวิทยาลัยเพื่อสังคม (University Engagement) ที่ออสเตรเลีย ระหว่างวันที่ ๑๙ - ๒๖ กรกฎาคม ๒๕๕๗ เริ่มด้วยการเข้าร่วมการประชุม 2014 International Engagement Australia Conference 21-23 July 2014 ที่มหาวิทยาลัย Charles Sturt เมือง Wagga Wagga, NSW, Australia ตามด้วยการดูงานที่มหาวิทยาลัย ซิดนีย์ และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยี ซิดนีย์ (UTS – University of Technology Sydney)

สถาบันคลังสมองฯ ทำงานส่งเสริมพันธกิจมหาวิทยาลัยเพื่อสังคมอย่างเป็นระบบ ดังเอกสารข้อเสนอโครงการจัดตั้งเครือข่าย Engagement Thailandซึ่งอ่านได้ ที่นี่ และผมก็เคยไปดูงานเรื่องEngagement Australia เมื่อ ๒ ปีที่แล้ว ดังเล่าไว้ในบันทึกนี้

ในการเดินทางไปประชุมและดูงานที่ออสเตรเลียเมื่อ ๒ ปีที่แล้ว ผมได้ลงบันทึกชุด เรียนรู้อุดมศึกษาออสเตรเลีย ไว้ อ่านได้ ที่นี่

สถาบันคลังสมองฯ ส่งเอกสารเกี่ยวกับ Engagement Australia มาให้อ่านก่อน มีสาระน่าอ่านมาก ที่นี่ จากเอกสารนี้ ทำให้ผมรู้จักวารสาร Australasian Journal of University Community Engagement เป็นตัวอย่างของ Scholarship of UCE หรือ Scholarship of Translation ซึ่งอาจจะ เรียกว่า “วิชาการขาลง” คือขาเอาวิชาการไปใช้ประโยชน์ ซึ่งคิดอย่างนี้ก็อาจจะผิด เพราะความสัมพันธ์ ระหว่างมหาวิทยาลัยกับสังคมควรเป็นความสัมพันธ์สองทาง ร่วมกันทำงานเพื่อการสร้างสรรค์ ที่เป็นประโยชน์ต่อทั้งฝ่าย real sector และฝ่ายมหาวิทยาลัย

จากเอกสาร PowerPoint ของ EA นี้ ผมได้เรียนรู้ว่าวารสาร AJUCE รับตีพิมพ์ผลงาน ๓ ประเภท คือ Research, Case Study, และ Essay/Reflection/Opinion น่าจะเป็นแนวทางที่วารสารวิชาการรับใช้สังคมของไทย น่าจะเข้าไปศึกษา และนำมาปรับใช้

เอกสารที่ Engagement Thailand แปลมาจากของออสเตรเลีย เพื่อทำความเข้าใจหลักการ พันธกิจสัมพันธ์ ซึ่งอ่านได้ ที่นี่ ให้ความกระจ่างเรื่องหลักการของ UE เพิ่มขึ้น และที่สำคัญ ชี้ให้เห็นว่า UE ด้านการวิจัยของไทยเรามีความก้าวหน้ามาก จากงานวิจัยท้องถิ่นที่ริเริ่มและ สนับสนุนโดย สกว. ที่ดำเนินการมาตั้งแต่ปี ๒๕๔๑ ผมขอเพิ่มเติมว่า ทุนวิจัย พวอ. ของ สกว. ที่เริ่มในปีนี้ ก็เป็นการริเริ่ม UE ด้านการวิจัยอีกแบบหนึ่ง คือเชื่อมโยงกับภาคอุตสาหกรรม

เช้าวันอาทิตย์ที่ ๒๐ กรกฎาคม ๒๕๕๗ หลังจากเดินทางด้วยเครื่องบินจากสุวรรณภูมิไปยังซิดนีย์ ๘ ชั่วโมงเศษ และรอตรวจคนเข้าเมืองอีกเกือบ ๒ ชั่วโมง คณะที่เดินทางรวม ๑๑ คน (ที่จริงคณะเดินทางทั้งหมด ๑๒ คน แต่ ผศ. นพ. เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ อธิการบดี มศว. เดินทางไปสมทบวันรุ่งขึ้น) นำโดย ศ. ดร. วิจิตร ศรีสะอ้าน ประธานคณะกรรมการ เครือข่ายมหาวิทยาลัยเพื่อสังคม (Engagement Thailand) ใช้เวลาหนึ่งชั่วโมง เศษๆ บนรถโค้ช (ระหว่างเดินทางจากสนามบินซิดนีย์ไปยังเมือง Kiama) ทำ BAR (Before Action Review) โดยผมอาสาเป็น “คุณอำนวย” ตั้งคำถามว่า แต่ละท่านเดินทางร่วมไปกับคณะนี้ด้วยวัตถุประสงค์ (ของตนเอง) อะไร เพื่อกลับไปทำอะไร

คณะ ๑๑ คนไปจาก มทร. ศรีวิชัย ๒ ท่าน, มน. ๒, สคช. ๒, มช. ๑, มศว. ๑, มทส. ๑, มรภ. สุราษฎร์ธานี ๑, และ มหิดล ๑ ฟังจาก BAR ผมได้ตระหนักว่าคนมหาวิทยาลัยไทยมองพันธกิจมหาวิทยาลัยเพื่อสังคม ว่าเป็นงานบริการวิชาการแก่สังคมนั่นเอง แต่เป็นบริการวิชาการภาคขยาย และมีการทำให้เป็นผลงานวิชาการ

ศ. ดร. วิจิตร ศรีสะอ้าน ชี้ให้เห็นว่า พันธกิจมหาวิทยาลัยเพื่อสังคม สมัยใหม่ ต้องไม่ใช่ “วิชาการขาลง” ที่คนมหาวิทยาลัยเอาความรู้หรือเทคนิคไปให้แก่สังคม เท่านั้น แต่ต้องเป็น “วิชาการแบบไหลสองทาง” คือ สถาบันอุดมศึกษาทำงานร่วมกัน real sector แบบเป็นภาคีร่วมคิดร่วมทำ เริ่มตั้งแต่การคิดโครงการ หรือกิจกรรม ต้องคิดร่วมกัน ไม่ใช่ฝ่ายสถาบันอุดมศึกษาคิดให้ ทำให้ เพียงฝ่ายเดียว และความร่วมมือนี้ ต้องนำไปสู่การสร้างสรรค์ใหม่ๆ หรือนวัตกรรม

แนวคิดแบบนี้ตรงกับที่ Professor Andrew Vann อธิการบดีของ CSU เจ้าภาพ เขียนไว้ในคำนำของConference Programme ว่า CSU มอง Engagement เป็น two-way street คือมหาวิทยาลัย แชร์ความรู้ให้แก่ ชุมชน และเรียนรู้จากชุมชนในเวลาเดียวกัน

การสร้างสรรค์ จากปฏิสัมพันธ์ระหว่างสถาบันอุดมศึกษา กับ real sector นี่แหละที่เป็นคุณค่า ทางวิชาการ ที่ผมสนใจ ผมอยากรู้ว่า ประเทศอื่นๆ เขามีวิธีทำให้ปฏิสัมพันธ์นี้ก่อคุณค่าทางวิชาการอย่างไรบ้าง

วิจารณ์ พานิช

๒๑ ก.ค. ๕๗

บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย 

แก้ไขล่าสุด ใน วันพุธที่ 27 สิงหาคม 2014 เวลา 22:23 น.
 

ช่วยกันกระตุ้นให้สังคมไทยโปร่งใสมากขึ้น

พิมพ์ PDF

ช่วยกันกระตุ้นให้สังคมไทยโปร่งใสมากขึ้น

ผมมองยุค คสช. เป็นยุคกวาดล้างความโสมม ที่หมักหมมมาจากรัฐบาลทักษิณที่มียิ่งลักษณ์เป็นหุ่นเชิด

โดยหวังว่ารัฐบาล คสช. / ประยุทธ จะไม่สร้างความโสมมเสียเอง จากความสอพลอเป็นปุ๋ย

เพื่อสร้างโครงสร้างอำนาจ ที่จะป้องกันความโสมม โกงกินบ้านเมือง โครงสร้างหนึ่งที่ควรลงหลัก วางโครงไว้ คือความโปร่งใสเปิดเผยในบ้านเมือง ให้กิจการสาธารณะต้องเปิดเผยข้อมูลแก่สังคม และต้องให้ ข้อมูลรายละเอียดแก่นักวิจัย สำหรับเอามาศึกษาภาพใหญ่ของบ้านเมือง แล้วบอกแก่สังคม

ระบบหนึ่งที่ต้องการการแก้ไขส่วนนี้อย่างยิ่ง คือระบบพลังงาน

นอกจากการเปิดเผยข้อมูลแล้ว อีกมาตรการหนึ่งที่จะสร้างสังคมที่โปร่งใส คือการกำหนดให้ นโยบายสาธารณะต้องแสดงหลักฐานยืนยันว่านโยบายนั้น พัฒนาขึ้นโดยมีหลักฐานความรู้ หรือการวิจัยยืนยัน

นอกจากนั้น หลังจากใช้นโยบายสาธารณะนั้นๆ ไปได้ ๒ - ๓ ปี ต้องให้ทีมนักวิจัยที่เป็นกลาง และมีความสามารถสูง เข้าไปประเมินผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น ว่าได้ผลลัพธ์ตามเป้าหมายที่กำหนดไว้หรือไม่ และมีผลลัพธ์อะไรอีกบ้าง ที่ก่อผลดีโดยไม่คาดคิด เพราะอะไร รวมทั้งประเมินผลร้ายหรือผลข้างเคียงที่เกิดขึ้น ถือการประเมินนี้เป็น “การประเมินเพื่อพัฒนา” (Formative Assessment) นำไปสู่การปรับปรุงนโยบาย และมาตรการ และเพื่อกำกับไม่ให้ คอร์รัปชั่นเชิงนโยบาย ดำเนินไปได้

คอร์รัปชั่นเชิงนโยบายที่ร้ายแรงที่สุดของยุครัฐบาลทักษิณที่มียิ่งลักษณ์เป็นหุ่นเชิด คือนโยบายรับจำนำข้าว ที่ก่อความเสียหายด้านการเงินแก่บ้านเมืองน่าจะถึง ๑ ล้านล้านบาท รวมทั้งก่อความเสียหายด้านอื่นๆ อีกมากมาย เราต้องช่วยกันเสนอแนะให้รัฐบาลนี้ และกลไก สนช. และอื่นๆ สร้างโครงสร้างและกลไกป้องกันไม่ให้ความชั่วร้ายนี้กลับมาใหม่

วิจารณ์ พานิช

๒๕ ส.ค. ๕๗

บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย 

แก้ไขล่าสุด ใน วันพุธที่ 27 สิงหาคม 2014 เวลา 21:45 น.
 

ชีวิตที่พอเพียง : ๒๒๒๔. ไปชายแดนตาก : ๑. อำเภอท่าสองยาง ๑๑ ก.ค. ๕๗

พิมพ์ PDF
ไปเรียนรู้ฝึกฝน altruistic brain

ตอนที่ ๐

สาวน้อย (ร้อยชั่ง) ถามว่า ไปหลงเสน่ห์อะไรของอาจารย์แหวว ถึงยอมหอบกระเป๋าทิ้งเมียในวันหยุดยาว (๑๑ - ๑๓ ก.ค. ๕๗) ไปชายแดนจังหวัดตากกับอาจารย์แหวว

ผมตอบว่า หลงเสน่ห์นักกฎหมายรับใช้คนรวย ที่ผันตัวเองมารับใช้คนจนและคนด้อยโอกาส ผมอธิบายให้เธอฟังว่า ผมใช้อาจารย์แหววเป็นครูสอนวิชา altruism โดยผมมีสมมติฐานว่า คนแบบนี้มี altruistic brain ที่มีคุณภาพสูงมาก มีพลังรุนแรง ถึงขนาดว่าเมื่อ altruistic emotion ระเบิดขึ้นแล้ว ช้างสารก็ฉุดไม่อยู่ ซึ่งภาษาอังกฤษเรียกว่า impulsive behavior

ผมตั้งคำถามกับตัวเองว่า วงการศึกษาไทยจะมีวิธีการกระตุ้นสมองส่วน altruistic brain อย่างไร แล้วติดตามเรียนรู้ จากอาจารย์แหวว

จริงๆ แล้วอาจารย์แหววชวนผมไปเรียนรู้การทำงานเรื่องคนไร้สถานะ ตามตะเข็บชายแดนที่คณะของท่านดำเนินการอยู่ เป็นการทำงานจริง พร้อมกับทำงานวิจัยไปด้วย ลูกศิษย์ของอาจารย์แหววจึงได้เรียนกฎหมายแบบลงมือทำ (Activity-Based Learning) ที่เป็นการทำเรื่องจริง หรือทำงาน การเรียนนี้ จึงเป็น authentic learning สำหรับลูกศิษย์ของอาจารย์แหวว ส่วนผมเป็น “ลูกศิษย์ของลูกศิษย์” คือตามไปดูห่างๆ โดยมีกำหนดการดังนี้ ซึ่งเป็นกำหนดการที่ปรับได้    ดังนั้น ในบางช่วงจึงไม่ได้เป็นตามนี้   ทีมอาจารย์แหววอยู่ทำงานรวม ๗ วัน ใน ๔ อำเภอ   ส่วนคุณเปากับผมและอีกหลายคน ร่วมเรียนรู้ ๓ วัน ใน ๓ อำเภอ คือท่าสองยาง พบพระ และแม่ระมาด

เมื่อลงจากเครื่องบินนกแอร์ที่สนามบินนานาชาติแม่สอดเวลา ๑๑ น. ผมก็ตกใจ   เพราะทีมที่ไปมีจำนวนมากกว่าที่คิด และยังมีทีมของจังหวัดตากมารับที่สนามบิน และร่วมเดินทางไปด้วย นำโดย นพ. พูนลาภฉันทวิจิตรวงศ์ (นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด), นพ. ธวัชชัย ยิ่งทวีศักดิ์ (หมอหนึ่ง) ผอ. รพ. ท่าสองยาง, สาธารณสุขอำเภอท่าสองยาง, และเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลที่เป็นบุคคลที่มีปัญหาด้านสถานะบุคคล ๒ คน คือคุณชนินทร์ (จ่อซุหะ) กับคุณยาว (เบียะอ่อ)

คณะของเราเป็นคณะใหญ่ จำนวนกว่า ๔๐ คน นั่งรถตู้ ๕ คัน เป็นขบวน ไปตามถนน ๑๐๕ นำโดยรถตำรวจ ที่ส่งต่อกันเป็นทอดๆ ตามพื้นที่ที่รับผิดชอบ   เส้นทางถนนส่วนใหญ่เลียบแม่น้ำเมย ซึ่งเป็นเส้นกั้นเขตแดนระหว่างพม่ากับไทย จึงเดาได้ว่า ถนนเส้นนี้เป็นถนนที่ต้องระมัดระวัง ในเรื่องชายแดน

เรานั่งรถไปตามถนนที่คดเคี้ยว เพราะเป็นถนนเลียบภูเขา รวมทั้งฝนตกพรำเกือบตลอดทาง กว่าจะไปถึง สถานพักพิงบ้านแม่ทัศนีย์ (คีรีประณีต) เป้าหมายศึกษาหาความรู้จุดแรก รวมทั้งเป็นที่กินอาหารเที่ยง เวลาก็ปาเข้าไป ๑๓.๓๐ น.    เราจึงกินอาหารด้วยความ เอร็ดอร่อย และได้รับรู้สภาพของบ้านเลี้ยงเด็กจำนวน ๖๗ คน ที่เป็นเด็กกำพร้า เด็กพิการ เด็กยากจน ได้รับความช่วยเหลือจากวงการศาสนาคริสต์    เธอเอ่ยชื่อคุณไซม่อนหลายครั้ง    แน่นอนว่า การเลี้ยงเด็กถึง ๖๗ คน ย่อมมีปัญหามากมายหลากหลายด้าน และด้านหนึ่งคือเรื่องสถานะบุคคล    แต่แม่ทัศนีย์ ก็มีใบหน้าที่อิ่มเอิบแจ่มใส ในลักษณะอิ่มสุข    ผมมาพบคนที่ altruistic brain ใหญ่ อีกคนหนึ่งแล้ว

พูดคุยซักถามทำความเข้าใจ และฟังเพลงหมู่ของเหล่าเด็กๆ และแม่ทัศนีย์ สองเพลง จนเกือบสามโมงเย็น   เราก็ต้องออกเดินทางไปยังบ้านมอทะ ที่โรงเรียนบ้านแม่อุสุวิทยา สถานที่เด็กนักเรียนและชาวบ้านมอทะผู้ใหญ่จำนวนหนึ่ง ที่มีปัญหาสถานะบุคคล จำนวนกว่าสองร้อยคน กำลังรอเราอยู่    ผมเดาว่าเขาคงรออย่างกระวนกระวาย เพราะเราไปถึงช้ากว่าเวลานัดกว่าหนึ่งชั่วโมง

โรงเรียนบ้านแม่อุสุวิทยาเป็นโรงเรียนใหญ่ สอนตั้งแต่ชั้นอนุบาลถึงชั้น ม.๖ มีนักเรียนถึง ๑,๕๖๕ คน    นักเรียนร้อยละ ๙๙ เป็นกะเหรี่ยง   ไม่มีสัญชาติ ๒๙๒ คน กระทรวงศึกษาธิการให้รหัสหมายเลขบุคคลขึ้นต้นด้วย G และจัดงบประมาณ สนับสนุน ตามมติ ครม. ปี ๒๕๔๘    นักเรียนอยู่ประจำที่โรงเรียน ๒๕๖ คน เพราะบ้านไกล ต้องเดินขึ้นเขาไป

เวทีเริ่มด้วยคุณหมอธวัชชัย เล่าเรื่องสภาพการให้บริการสุขภาพในพื้นที่ภูเขา กันดาร ห่างไกล มีทั้งคนมีสิทธิ์บริการ สุขภาพและคนไม่มีสิทธิ์และคนแอบสวมสิทธิ์    และลงท้ายด้วยปัญหาคนที่ควรได้รับสิทธิเป็นคนสัญชาติไทย แต่ไม่ได้รับการรับรองสิทธิ โดยยกตัวอย่างเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาล ๒ คน คือชนินทร์กับยาว

หลังจากนั้น ผู้ใหญ่บ้านเล่าปัญหาการสำรวจเพื่อรับรองสถานะบุคคล ว่าทางราชการมาเป็นช่วงๆ มีคนตกสำรวจมาก และครูใหญ่เล่าเรื่องนักเรียน

ที่นี่ผมได้เข้าใจตัวเลขทะเบียนบุคคล ๑๓ หลัก ว่าขึ้นต้น 0 หมายถึงนักเรียนที่ยังไม่ได้รับการรับรองสิทธิเข้าเมืองและสิทธิอาศัย แต่กระทรวงศึกษาธิการ รับรองสิทธิเข้าเรียนได้,   6 หมายถึงได้สิทธิอยู่ชั่วคราว แต่ยังมีสถานะคนเข้าเมืองผิดกฎหมาย,  7 หมายถึงลูกของ 6,    00 หมายถึงผู้ติดตามแรงงานต่างด้าว    ดูความหมายของตัวเลขดังกล่าวได้ที่นี่ และดูเรื่อง มาตรา ๒๓ แห่ง พรบ. สัญชาติ (ฉบับที่ ๔) ๒๕๕๑ ที่นี่ และความรู้เรื่องสัญชาติไทย ที่นี่ (แต่ภาษากฎหมายอ่านเข้าใจยากจัง)

หลังจากอธิบายสภาพสังคม และบริการสุขภาพของคนในอำเภอ ก็ถึงรายการนักเรียน ๔ คน ที่มีปัญหาสถานะบุคคลแตกต่างกัน    เริ่มจาก นส. หทัย (คนกะเหรี่ยงไม่มีระบบนามสกุล) ชั้น ม.๖ บอกว่าพ่อแม่มาอยู่ที่นี่กว่า ๓๐ ปี ตนเองเรียนที่โรงเรียนนี้มาตั้งแต่ชั้นอนุบาล จนถึง ม. ๖ แล้ว  เคยไปยื่นขอสัญชาติไทยตาม พรบ. สัญชาติ มาตรา ๗ ทวิ วรรคสอง ตั้งแต่เรียนชั้น ป. ๖ ก็ไม่ได้   ปัจจุบันก็ได้ยื่นคำร้องขอสัญชาติ และทำอะไรอีกหลายอย่าง นส. หทัยเล่าความยากลำบากในชีวิตของตน และร้องไห้สะอึกสะอื้น ทำเอาคนในห้องสลดใจไปตามๆ กัน

คุณเตือนตั้งคำถามให้นักเรียนตอบ

- ถือบัตรอะไร นักเรียนคนที่สอง (สุรเดช) ตนเอง 7,  พ่อ 0,  แม่ 6    คำแนะนำคือ สุรเดชควรร้องขอสัญชาติไทยตั้งแต่ปี ๒๕๕๓

คนที่น่าชื่นชมมากคือคนที่ ๔ ที่เป็นผู้ชาย เมื่อถามว่าพ่อแม่มีบัตรประชาชนพม่าไหม เขาตอบว่ามีทั้งสองคน    คำแนะนำของ อ. แหววคือ ให้นักเรียนกลับไปทำพาสปอร์ต พม่า แล้วขอวีซ่าเข้าเมืองในฐานะนักเรียน    แล้วขอแปลงสัญชาติเป็นไทยได้ในภายหลัง

หลังซักถามนักเรียน คณะที่ไปศึกษาดูงานคุยกันเอง ได้แนวทางดำเนินการของภาคีมากมาย    ความรู้สึกลึกๆ ของผมคือ ผมได้ไปเห็นความไม่เป็นธรรมในสังคม ได้สัมผัสความชั่วร้ายของสถานภาพ “คนกินคน” แสวงหาผลประโยชน์ส่วนตนจาก ความยากลำบากของเพื่อนมนุษย์    และเดาว่าส่วนใหญ่เป็นฝีมือของทางราชการ เชื่อมโยงกับคอร์รัปชั่น และความไร้ประสิทธิภาพของระบบ โดยไม่มีหน่วยเหนือเอาใจใส่แก้ไขระบบ ผมนึกตำหนิ กพร. อยู่ในใจ

อ. แหวว บอกว่า จะจัด “ห้องเรียน” ให้แก่เจ้าของสิทธิ์ เพื่อให้ดูแลตนเอง และดูแลช่วยเหลือกันเองได้ ในระดับหนึ่ง โดยจะแบ่งคนดังกล่าวออกเป็น ๕ กลุ่ม ได้แก่ (๑) คนที่ไม่มีเอกสารรับรองตัวบุคคลใดๆ เลย เพราะไม่มีชื่อในทะเบียนราษฎรของรัฐใดเลยบนโลก, (๒) คนสัญชาติไทยที่ถูกบันทึกในทะเบียนราษฎรไทยว่าเป็นคนต่างด้าว,  (๓) คนที่ถูกบันทึกในทะเบียนราษฎรไทยที่เกิดในประเทศไทย แต่ไม่ได้รับการรับรองสัญชาติใดๆ เลย,  (๔) คนที่ถูกบันทึกในทะเบียนราษฎรไทยที่เกิดนอกประเทศไทย แต่ไม่ได้รับการรับรองสัญชาติใดๆ เลย และ  (๕) คนที่ถูกบันทึกในทะเบียนราษฎรไทยในสถานะแรงงานต่างด้าว หรือผู้ติดตามแรงงานต่างด้าว

จบวงประชุมที่โรงเรียนเย็นมาก เราเดินทางไปโรงพยาบาลท่าสองยาง กินอาหารเย็น แล้ว AAR กัน     จากวง AAR ทำให้ทีมงานจัดกิจกรรมครั้งนี้ได้ความรู้มาก สำหรับปรับปรุงกิจกรรมในวันต่อๆ ไป และผมก็ได้ความรู้เพิ่มขึ้นมากด้วย

ท่านที่สนใจจริงๆ ฟังเสียงการประชุมที่บ้านมอทะ ที่โรงเรียนบ้านแม่อุสุวิทยาได้ที่นี่

ผมได้เรียนรู้ว่า มีคณะกรรมการรับรองความเป็นคนไทยพลัดถิ่น ซึ่งมีกรรมการอยู่ในคณะที่เดินทางไปครั้งนี้ ๒ คน คือ อ. แหวว กับ คุณเชษฐ์ (ภควินท์ แสงคง)    นอกจากนั้นในทีมศึกษาครั้งนี้ยังมีจากมูลนิธิกระจกเงา, สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ,  กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์,  มูลนิธิศุภนิมิตร,  สสส.,  สำนักงานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย, บางกอก (ลีกัล) คลินิก,  และมูลนิธิสยามกัมมาจล     ทั้งหมดนี้รวมพลังกัน ไปร่วมคณะศึกษาดูงานครั้งนี้ เพื่อดำเนินการจัดการปัญหาสถานะบุคคลอย่างยั่งยืนถาวร ไม่ปล่อยให้เป็นปัญหาเรื้อรัง  อย่างที่ดำเนินอยู่นานนับสิบปี เป็นบ่อเกิดของการแสวงประโยชน์โดยมิชอบ การละเมิดสิทธิมนุษยชน และการค้ามนุษย์    รวมๆ แล้วผมคิดว่า เป็นเรื่องปัญหาทางสังคม ที่ต้องมีการจัดการจริงจังในยุค คสช. นี้


หมายเหตุ

ขอขอบคุณ อ. แหวว ที่กรุณาแก้ไขต้นฉบับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งส่วนที่เป็นข้อกฎหมาย

วิจารณ์ พานิช

๑๑ก.ค. ๕๗

ชมภาพประกอบโปรดกด link : http://www.gotoknow.org/posts/574627

แก้ไขล่าสุด ใน วันเสาร์ที่ 16 สิงหาคม 2014 เวลา 10:03 น.
 


หน้า 331 จาก 561
Home

About Us

ศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ (ศบม.) เป็นองค์กรที่พัฒนาและจัดทำโครงการเพื่อทำประโยชน์ให้สังคม เป็นองค์กรสนับสนุนการดำเนินงานของภาครัฐ ช่วยแก้ปัญหาผู้ประกอบการภาคธุรกิจบริการที่ขาดแคลนบุคลากรที่มีมาตรฐานในการให้บริการ
อ่านเพิ่มเติม

มูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ ์

 iHDC Profile
บัญชีรายชื่อกรรมการ
ใบสำคัญแสดงการจดทะเบียน การเปลี่ยนแปลงกรรมการของมูลนิธิ
เอกสารประชาสัมพันธ์ โครงการ HMTC.pdf
เอกสารแนะนำโครงการ HMTC 1.pdf
เอกสารโครงการ HMTC 2 คุณสมบัติผู้เข้าร่วมโครงการ.pdf
iHDC นิติบุคคล.pdf
iHDC บุคคล.pdf
iHDC บุคคลเครือข่าย.pdf
รายงานการประชุม 6 มีนาคม 2560.pdf
ข้อบังคับมูลนิธิ
ใบสำคัญแสดงการจดทะเบียนจัดตั้งมูลนิธิ
Ihdc-Profile and Roadmap 2016-2019 Mar 23 2560.pdf
รายงานการประชุมใหญ่คณะกรรมการมูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ 2559.pdf
คำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ สาขาวิชาชีพ.pdf
รายงานการประชุมใหญ่วันที่ 18 ธ ค 2558 v 3.pdf
รายงานการประชุม วันที่ 24 ธันวาคม 2557 updated 4 มีนาคม 2558.pdf
iHDC-invitation Letter.doc
iHDC-Member Form Thai.doc
iHDC-Member Form English.doc
รายงานการประชุมกรรมการมูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ วันที่ 15 มกราคม 2556 ฉบับสมบูรณ์


thaibetter
พัฒนาประเทศไทยแบบทวีคูณ และยั่งยืน ( ททค )

Login


แบบสำรวจ

สถิติเว็บไซด์

สมาชิก : 5644
Content : 3068
เว็บลิงก์ : 26
จำนวนครั้งเปิดดูบทความ : 8746823

facebook

Twitter


ล่าสุด

บทความเก่า