Thaiihdc.org

  • เพิ่มขนาดตัวอักษร
  • ขนาดตัวอักษรปกติ
  • สดขนาดตัวอักษร
Thaiihdc.org

สอนอย่างมือชั้นครู : ๔. ประมวลวิชาที่ครบถ้วน

พิมพ์ PDF

บันทึกชุด “สอนอย่างมือชั้นครู” ๓๔ ตอน ชุดนี้ ตีความจากหนังสือ Teaching at Its Best : A Research-Based Resource for College Instructors เขียนโดย Linda B. Nilson ซึ่งเป็นฉบับพิมพ์ปรับปรุงครั้งที่ ๓ ผมขอเสนอให้อาจารย์ในสถาบันการศึกษาไทยทุกคน หาหนังสือเล่มนี้อ่านเอง เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ เพราะหากติดตามอ่านจากบันทึกใน บล็อก ของผม ซึ่งลงสัปดาห์ละตอน จะใช้เวลากว่าครึ่งปี และการอ่านบันทึกของผมจะแตกต่างจากการอ่านฉบับแปล หรืออ่านจากต้นฉบับโดยตรง เพราะบันทึกของผมเขียนแบบตีความ ไม่ได้ครอบคลุมสาระทั้งหมดในหนังสือ

ตอนที่ ๔ นี้ ตีความจาก Part One : Laying the Groundwork for Student Learning ซึ่งอาจารย์มหาวิทยาลัยต้องเตรียมตัวก่อนเปิดเทอม มี ๕ บท ตอนที่ ๔ ตีความจากบทที่ 3. The Complete Syllabus

ประมวลวิชาหมายถึงเค้าโครงอย่างย่อของวิชาเรียน วิชาใดวิชาหนึ่ง เพื่อเป็นสารสนเทศ สื่อแก่ นักศึกษาใน ๓ เรื่อง คือ (๑) รายวิชา (๒) เนื้อหา และ (๓) ตัวอาจารย์ผู้สอน เพื่อช่วยให้นักศึกษา “เดินทาง” สู่เป้าหมายได้สำเร็จในรายวิชานั้น ผู้เขียนบอกว่าเอกสารประมวลวิชา ควรมี ๕ - ๑๐ หน้า แต่หากเขียนให้ ละเอียดอาจยาวถึง ๒๐ - ๕๐ หน้า กลายเป็นคู่มือไปเลย


รายการของประมวลวิชา

ผมตกใจที่เมื่ออ่านตอนนี้ พบว่ามีถึง ๒๓ รายการ ตามด้วยประเด็นเชิงกฎหมายที่พึงระวังอีก ๑๓ ข้อ รายการของประมวลวิชา ๒๓ ข้อ มีดังต่อไปนี้

  • ๑.ข้อมูลเกี่ยวกับรายวิชาที่ครบถ้วน
  • ๒.ข้อมูลเกี่ยวกับตัวอาจารย์
  • ๓.ข้อมูลเกี่ยวกับบุคลากรผู้ช่วย
  • ๔.รายการเอกสารอ่านประกอบ พร้อมข้อสรุปสั้นๆ
  • ๕.ข้อมูลอื่นๆ เกี่ยวกับเอกสาร หรือวัสดุ อื่นๆ ที่นักศึกษาอาจใช้ประกอบการเรียนรายวิชา เช่น วิธีซื้อให้ได้ราคาที่ไม่สูงเกินไป
  • ๖.คำอธิบายรายวิชา (course description) ที่ครบถ้วน
  • ๗.ผลลัพธ์การเรียนรู้ของนักศึกษา ที่คาดหวัง
  • ๘.ข้อกำหนดการให้เกรด
  • ๙.เกณฑ์การประเมินผลงานที่อาจารย์มอบหมาย โครงงาน และการนำเสนอด้วยวาจา
  • ๑๐.เกณฑ์ตัดสินผลการเรียน ที่นอกเหนือจากคะแนนเป็นเกรด เช่นความคาดหวังว่านักศึกษา ต้องร่วมแสดงข้อคิดเห็นในชั้นเรียน
  • ๑๑.ข้อกำหนดเรื่องการคิดหรือไม่คิดเวลาเข้าชั้นเรียน หรือการแสดงความเอาใจใส่ในการเรียน
  • ๑๒.ข้อกำหนดเรื่องการขาดสอบ หรือส่งการบ้านช้ากว่ากำหนด
  • ๑๓.ข้อกำหนดเรื่องการทุจริตในการเรียนและการสอบของสถาบัน และของตัวอาจารย์
  • ๑๔.ข้อกำหนดของสถาบันเกี่ยวกับนักศึกษาที่มีความพิการ
  • ๑๕.ข้อกำหนดเรื่องความเป็นระเบียบเรียบร้อย และการอภิปรายแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็น ทางวิชาการในห้องเรียน
  • ๑๖.ข้อกำหนดเรื่องวิธีการ และความปลอดภัย ทางห้องปฏิบัติการ
  • ๑๗.บริการสนับสนุนนักศึกษาในวิทยาเขต
  • ๑๘.ตัวช่วยการทำการบ้าน และการเรียนรู้ด้านอื่นๆ
  • ๑๙.ตารางเรียนรายสัปดาห์
  • ๒๐.ข้อพึงระมัดระวังด้านกฎหมาย
  • ๒๑.รายวิชานี้ตอบสนองความต้องการของหลักสูตรที่นักศึกษาเรียนอย่างไร
  • ๒๒.ข้อมูลเกี่ยวกับตัวอาจารย์
  • ๒๓.บอกปรัชญาการสอนของอาจารย์ (ตัวท่าน)

รายการข้างบนนั้น นอกจากช่วยการเรียนของนักศึกษาแล้ว ยังช่วยปกป้องอาจารย์และสถาบัน ในกรณีมีความขัดแย้งหรือความไม่พอใจเกิดขึ้น และหนังสือเล่มนี้เขียนขึ้นในบริบทของประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งอุดมศึกษากลายเป็นสินค้ามากขึ้นทุกที อาจารย์กลายเป็นผู้ให้บริการ จึงต้องสร้างเงื่อนไขหรือข้อตกลง ไว้ล่วงหน้า การนำมาใช้ในบริบทสังคมไทย พึงปรับให้เหมาะสม และด้วยเหตุที่จะต้องปกป้องอาจารย์ และสถาบัน จากการฟ้องร้อง จึงมีข้อแนะนำ ๑๓ ข้อ ด้านกฎหมาย ดังนี้

  • ๑.กำหนด prerequisite ของรายวิชาที่นักศึกษาจะต้องสอบผ่าน ก่อนที่จะสอบผ่านรายวิชานี้ ไม่ว่าเงื่อนไขนี้จะปรากฎอยู่ใน course catalogue หรือไม่ก็ตาม
  • ๒.เวลาและความบ่อยที่อาจารย์ตอบ อี-เมล์ ของนักศึกษา
  • ๓.วันใดบ้าง เวลาใด ที่อาจารย์สามารถรับโทรศัพท์ของนักศึกษาได้
  • ๔.นโยบายของสถาบันในการดำเนินการตามที่กำหนดโดยกฎหมาย ADA (American with Disabilities Act)
  • ๕.ข้อกำหนดเกี่ยวกับการขาดสอบ ไม่ส่งการบ้าน หรือมาสอบสาย หรือส่งการบ้านช้า กว่ากำหนด ระบุการลงโทษ และการไม่มีข้อยกเว้นให้ชัดเจน
  • ๖.ข้อกำหนดเรื่องการเข้าชั้นเรียน และการมีจรรยามารยาทในห้องเรียน
  • ๗.ข้อกำหนดเรื่องการมีส่วนร่วมในชั้นเรียน หากมีการให้คะแนน อาจารย์ต้องมีเอกสารยืนยันข้อมูลการมีส่วนร่วมของนักศึกษาแต่ละคน
  • ๘.ข้อกำหนดเรื่องความซื่อสัตย์สุจริตในการเรียน
  • ๙.ข้อกำหนดเรื่องความปลอดภัยในห้องปฏิบัติการ
  • ๑๐.ข้อกำหนดเรื่องความเป็นระเบียบเรียบร้อย และการอภิปรายแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็น ทางวิชาการในห้องเรียน
  • ๑๑.ข้อกำหนดที่ชัดเจนเรื่องเกณฑ์การให้เกรด
  • ๑๒.ข้อเขียนที่แสดงความไม่รับผิดชอบหากนักศึกษาไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดของรายวิชา แล้วสอบตก
  • ๑๓.ข้อเขียนที่เตือนไว้ล่วงหน้าว่า ข้อกำหนดในประมวลวิชานี้จะมีการเปลี่ยนแปลงได้ โดยมีการตกลงกับนักศึกษา และ/หรือ เพื่อประโยชน์ในการเรียนรู้ของนักศึกษา


ผังประมวลรายวิชา

ได้กล่าวแล้วว่าคนรุ่นใหม่ชอบอ่านเอกสารที่เป็นรูปภาพหรือแผนผัง (graphic) มากกว่าอ่าน ตัวหนังสือล้วนๆ จึงควรเขียนผังประมวลรายวิชา เป็น flow chart, graphic organizer, หรือเป็นไดอะแกรม แสดงลำดับขั้นตอนของกิจกรรมการเรียนรู้ มีตัวอย่างในหนังสือ


ประมวลรายวิชา ออนไลน์ ที่ “มีชีวิต

ข้อดีของ ประมวลรายวิชา ออนไลน์ ที่ “มีชีวิต” คืออาจารย์สามารถเพิ่มเติม หรือเปลี่ยนแปลงได้ โดยต้องระบุไว้ตั้งแต่แรกว่า ประมวลรายวิชา ออนไลน์ นี้ “มีชีวิต” ต่อไปอาจารย์จะเพิ่มเติมภาพ, ลิ้งค์, ข้อโต้เถียงต่อประเด็นที่ยังไม่เป็นที่ยุติ และอื่นๆ

หลักการคือ เพื่อให้นักศึกษาอ่านง่ายว่ามีการเพิ่มเติมส่วนใด ส่วนที่เพิ่มเติมแก้ไขควรแยกใน โฟลเดอร์ ต่างหาก หรือใช้สีที่แตกต่างออกไป


วิธีทำให้นักศึกษาอ่านและเข้าใจเอกสารประมวลรายวิชา

เอกสารประมวลรายวิชาเป็นเครื่องมือสื่อสาร เพื่อประโยชน์ร่วมกันระหว่างนักศึกษากับอาจารย์ เป็นตัวช่วยอำนวยความสะดวกในการเรียนรู้สู่ความสำเร็จของนักศึกษา เป็นเครื่องมือสร้างความสัมพันธ์ ระหว่างนักศึกษากับอาจารย์

แต่อาจารย์จะคาดหวังไม่ได้ ว่านักศึกษาทุกคนจะศึกษาประมวลรายวิชาอย่างละเอียด จึงเป็นหน้าที่ ของอาจารย์ที่จะต้องหาทางเอ่ยพาดพิง ถึงประมวลรายวิชาส่วนนั้นส่วนนี้ เมื่อมีเรื่องหรือเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้อง และเขาแนะนำวิธีการให้นักศึกษาเข้าใจเอกสารประมวลรายวิชาอย่างถ้วนถี่ ๔ วิธี โดยอาจารย์เลือกใช้ วิธีใดวิธีหนึ่ง ดังต่อไปนี้

  • ๑.จัดเวลาให้นักศึกษาอ่านในตอนเริ่มเรียน แล้วแบ่งกลุ่มย่อยให้นักศึกษาแลกเปลี่ยน ความเข้าใจ หรือตอบชุดคำถามที่อาจารย์ตั้งขึ้น
  • ๒.มอบให้นักศึกษาไปอ่านเป็นการบ้าน แล้วในช่วงที่ ๒ ของการเรียน ให้นักศึกษาถาม ประเด็นที่ไม่เข้าใจ หรือต้องการทราบเพิ่ม แล้วให้นักศึกษาลงชื่อในเอกสารว่าตนได้อ่าน และเข้าใจเอกสารประมวลรายวิชาอย่างดีแล้ว
  • ๓.มอบให้นักศึกษาไปอ่านเป็นการบ้าน แล้วจัดให้มีการทดสอบแบบที่มีคะแนนในช่วงที่ ๒ ของการเรียน วิธีนี้เหมาะแก่ประมวลรายวิชาที่ยาว และมีรายละเอียดมาก ข้อสอบควร เป็นคำถามที่กระตุ้นการคิดอย่างมีวิจารณญาณ และต้องตอบด้วยเรียงความอย่างสั้น
  • ๔.แจกเอกสารประมวลรายวิชาในการเรียนคาบแรก แล้วรอไปจนประมาณสัปดาห์ที่ ๓ เพื่อให้นักศึกษาเริ่มคุ้นกับรายวิชา และเริ่มสนใจเรื่องผลสำเร็จในการเรียน จึงนำเรื่องประมวลรายวิชามาพูดคุย ตั้งคำถามและตอบคำถามกับนักศึกษา จะเป็นการพูดคุยที่ได้ผลดี


วิวัฒนาการของประมวลรายวิชา

เมื่ออ่านข้อความทั้งหมดนั้นแล้ว ก็พอจะเดาได้ว่า เอกสารประมวลรายวิชาในสหรัฐอเมริกาจะต้องหนาขึ้น ส่วนหนึ่งเพื่อป้องกันตนเองของอาจารย์และสถาบัน จากนักศึกษาที่มีปัญหาในตัวเอง แต่พยายามโยนความผิดไปให้ผู้อื่น หรือต้องการเรียกร้องผลการเรียนที่ดีกว่าที่ตนได้

นอกจากนั้น อาจารย์ยังสามารถระบุข้อความที่แสดงจุดเด่นของรายวิชาของตน และสร้างนวัตกรรม วิธีนำเสนอประมวลรายวิชาของตนให้น่าสนใจ และกระตุ้น อำนวยความสะดวก ต่อการเรียนรู้ของศิษย์ได้ อย่างมีข้อจำกัดน้อย ผู้เขียนหนังสือบอกว่า จัดเป็นวิวัฒนาการแบบก้าวกระโดด ที่เอาสารประมวลรายวิชา ซึ่งถือว่าเป็นเอกสารทางการสามารถเปลี่ยนแปลงได้ขนาดนี้

วิจารณ์ พานิช

๒๐ มิ.ย. ๕๗

บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย 

แก้ไขล่าสุด ใน วันเสาร์ที่ 09 สิงหาคม 2014 เวลา 14:49 น.
 

ชีวิตที่พอเพียง : ๒๒๑๘. เรียนรู้จากเพื่อนในวัยเด็ก

พิมพ์ PDF

เพื่อนที่โรงเรียน “ศรียาภัย” นัดกินข้าวเที่ยงที่ร้าน แดรี่ควีน เชิงสะพานพระนั่งเกล้า วันอาทิตย์ที่ ๖ กรกฎาคม ๒๕๕๗ โดยการนัดของบรรจง วิมลทรัพย์ตามเคย โดยคราวนี้สุมิตรปวารณาตัวเป็นเจ้าภาพ ผมบันทึก AAR ของการพบปะคราวที่แล้วที่ 

คราวนี้ทั้งคนนัดและคนรับนัดคงจะเลอะๆ เลือนๆ กันไปมาก จึงมีคนที่ไม่มาเพราะอ้างว่าไม่ได้รับเชิญ และเมื่อเพื่อนโทรศัพท์ไปตามตัว ก็มาไม่ได้ บอกว่าร่างกายมันไม่อำนวย รวมแล้วมีคนมา ๑๐ คน คือ โปร่ง เภานิบล (ซึ่งมาเป็นครั้งแรก) มากับ ประชุม ใจสมคม, ธำรงศักดิ์ ทินบาล, พินิจ ศิลปศร, นิยม, โสภณ พัฒนอิ่ม, สุมิตร ตยาคีพิสุทธิ์, บรรจง วิมลทรัพย์, (พล. อ.ท.) จำลอง เกษสยม, และวิจารณ์ พานิช

ในบันทึกนี้จะมีพระเอก ๒ คน คือพินิจ ศิลปศร กับ โสภณ พัฒนอิ่ม

พินิจ ศิลปศร เรียนหนังสือไม่มาก ไม่ได้ปริญญา แต่ทำงานเก่งมาก พินิจบอกว่า ตอนที่เขาเป็นสรรพากรอำเภอหาดใหญ่ ผมก็อยู่ที่นั่น และเนื่องจากเขามองว่าผมมีตำแหน่งใหญ่โต เขาจึงไม่ได้บอกใคร ว่าเป็นเพื่อนกับผม แต่ที่เล่ากันเฮฮาคือเรื่อง พินิจกับจำลอง

ตอนนั้นจำลองยศนาวาอากาศโท ตำแหน่ง ผบ. ฝูงบิน ซึ่งนับถือกันว่าใหญ่ระดับผู้ว่าราชการจังหวัด คราวหนึ่ง นายอำเภอเชิญจำลองไปเป็นเกียรติในงานเลี้ยงของอำเภอ นายอำเภอได้ข่าวระแคะระคายว่าพินิจเป็นเพื่อนของจำลอง จึงถามพินิจโดยตรงว่าเป็นเพื่อนกันหรือ พินิจตอบว่าเปล่า เขาให้เหตุผลที่ตอบเช่นนั้นว่า เพราะตำแหน่งของจำลองมีเกียรติ ใหญ่โตมาก หากไปอ้างเป็นเพื่อนจะทำให้ความใหญ่โตลดลง

พินิจเป็นคนสมองดี และขยันขันแข็ง ทำงานอย่างมีระบบ เรียนรู้เพิ่มเติมต่อเนื่อง จนในที่สุดเป็นสรรพากรจังหวัดสงขลา ซึ่งถือเป็นจังหวัดใหญ่ และสรรพากรจังหวัดได้รับกำหนดตำแหน่งเป็น ซี ๙ แต่โชคไม่ดี สมัยนั้นรัฐบาลขาดเงิน จึงมีคำสั่งระงับ การกำหนดตำแหน่งให้ซีสูงขึ้น เขาจึงเกษียณอายุราชการในระดับ ซี ๘ แต่ก็ยังมีคนมาเชิญเป็นวิทยากรให้ความรู้ด้านภาษี แก่บุคลากรในบริษัท เขาเล่าว่า อัตราค่าตอบแทนวิทยากรคือ ชั่วโมงละ ๑,๕๐๐ บาท แต่ถ้ามีคนเข้าฟังเกิน ๒๐๐ คน จะได้ค่าตอบแทนรายชั่วโมงเพิ่มขึ้นคนละ ๑๐ บาท เขาบอกว่ารายได้ดีทีเดียว แต่ตอนนี้เขาไม่รับงานแล้ว ให้เหตุผลว่า เพราะต้องค้นคว้าติดตามการเปลี่ยนแปลงมาก กฎระเบียบต่างๆ เปลี่ยนแปลงรวดเร็ว เป็นภาระในการติดตามสำหรับผู้สูงอายุ

เขาบอกว่ารัฐบาลที่ระงับการกำหนดซีของเขาเป็นซี ๙ คือรัฐบาลชวน ฟังดูแล้ว คนเป็นรัฐบาลมีความยากลำบาก ในการตอบสนองความต้องการส่วนตัวของผู้คน และได้รับความนิยม เมื่อทรัพยากรไม่เอื้ออำนวย

เขาถามผมว่า ไปเป็นวิทยากรบ่อยไหม ผมตอบว่าบ่อย เขาถามว่าอัตราค่าตอบแทนชั่วโมงละเท่าไร ผมตอบว่าไม่เคย กำหนด ผู้เชิญให้เอง ที่ได้รับอยู่ในช่วงระหว่างชั่วโมงละ ๐ - ๓,๐๐๐ บาท แต่ชั่วโมงละ ๓,๐๐๐ บาทนานๆ จึงจะได้สักครั้ง คำตอบนี้คงทำให้พินิจพอใจว่าอัตราที่เขาเคยได้รับ สูงมาก

คนที่สร้างความประทับใจให้ผมมากที่สุดคือ โสภณ พัฒนะอิ่ม ที่มีชื่อเสียงในหมู่เพื่อนๆว่าเป็นดอนฮวน คือมีภรรยาถึง ๑๓ คน โดยเวลานี้อยู่กัยภรรยาคนที่ ๑๓ ที่เชียงใหม่ และยังคงติดต่อกับภรรยาอีกคนหนึ่งที่อยู่ที่หาดใหญ่ แต่เรื่องประทับใจของผม ไม่ใช่เรื่องมีเมียมาก กลับเป็นเรื่องใจกุศล

โสภณไปอยู่ที่ ต. หนองตอง อ. หางดง จ. เชียงใหม่ และเริ่มทำงานเพื่อชุมชน ในการดูแลผู้ป่วยโรคจิตเภท (schizophrenia) ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๔๘ ตำบลนี้ได้กลายเป็นตำบลตัวอย่างที่ชุมชนรวมตัวกันช่วยกันดูแลผู้ป่วยโรคจิต (คนบ้า) เวลานี้มีคนในตำบล ทั้งหมด ๘,๙๐๐ คน เป็นโรคนี้ ๕๗ คน ได้รับการดูแลจนมีชีวิตตามปกติได้ ๑๑ คน มีการรวมตัวกันตั้ง สมาคมเพื่อผู้บกพร่องทางจิต สำนักงานตั้งอยู่ที่อาคารคลังสมอง โรงพยาบาลศรีธัญญา เป็นความร่วมมือระหว่างทางราชการ กับชุมชนเข้มแข็ง ที่น่าชื่นชมมาก

รุ่งขึ้น วันที่ ๗ กรกฎาคม ผมไปอ่าน นสพ. ที่ห้องรับรองการบินไทยที่สนามบินสุวรรณภูมิ นสพ. ไทยรัฐพาดหัวข่าวหน้า ๑ ว่า “แฉคนบ้าเพิ่มล้น รพ. เร่ร่อนเกลื่อนเมือง” ให้ตัวเลขจากกรมสุขภาพจิตว่า ปี ๒๕๕๖ มีผู้ป่วยทางจิตมารักษาใน รพ. ของรัฐ ๓.๔ แสนราย และอีกราว ๑.๗ แสนรายที่ไม่ได้รับการรักษา และเป็นคนเร่ร่อน เขาไปสัมภาษณ์รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต มาเขียนข่าว น่าเสียดายที่ไม่ได้เอาเรื่องราวความสำเร็จของศูนย์สุขภาพจิตชุมชน อย่างที่ทำในตำบลหนองตอง อ. หางดง จ. เชียงใหม่ มาออกข่าว เพื่อส่งเสริมให้ชุมชนรวมตัวกันช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ที่เกิดมามีกรรมเช่นนี้ โดยที่หากดำเนินการจริงจัง จะมีผู้ป่วยทางจิตจำนวนหนึ่งกลับมามีชีวิตปกติได้ โสภณเขามีเรื่องเล่าเกี่ยวกับผู้ป่วยเหล่านี้

จากการพูดคุยลงไปในรายละเอียด โสภณมีความรู้มากในเรื่องผู้ป่วยโรคจิต และสะท้อนความมีจิตใจดีงามออกมา ซึ่งเมื่อซักเลยไปถึงเรื่องภรรยา ผมก็สัมผัสวิธีคิดเกี่ยวกับความสัมพันธ์สามี-ภรรยา ที่แตกต่างไปจากคนทั่วไป คือเป็นเรื่องที่เน้น ความสัมพันธ์ทางใจ และการอยู่ร่วมกันชั่วคราว ไม่สัญญาเรื่องความมั่นคงถาวร แต่ก็มีความเอื้ออาทรต่อสุขทุกข์ของกันและกัน เขาบอกว่า เมื่อเขาจะไปมีภรรยาคนใหม่ เขาก็จะบอกภรรยาคนเก่าว่า บัดนี้ถึงเวลาที่เขาจะมาหาไม่บ่อยอย่างเดิม และต่อไปข้างหน้าหากภรรยาได้พบผู้ชายที่ดี และจะไปมีสามีใหม่ เขาก็ไม่หวงห้าม ผมคิดว่า ผู้หญิงที่จะรับเขาเป็นสามี ต้องยอมรับนิสัยนี้ของเขาแล้วล่วงหน้า โดยที่เขาก็ไม่ปิดบังนิสัยนี้ ไม่ว่าต่อใครทั้งสิ้น

ผมกลับมาค้นด้วย กูเกิ้ล ที่บ้าน พบว่าโสภณมีตำแหน่งเป็นประธานศูนย์สุขภาพจิตชุมชนวัดหนองตองพัฒนา และมีเรื่องราวความสำเร็จของศูนย์นี้ร่วมกับกรมสุขภาพจิต ก่อนจากกันในงานเลี้ยง ผมบอกโสภณว่า งานชิ้นนี้ของเขาน่าชื่นชมมาก และได้บุญมาก ผมรู้สึกว่า โสภณเป็นคนที่บรรลุ ความเป็นมนุษย์ระดับหกในmoral development ของ Lawrence Kohlberg

ที่จริงยังมีเพื่อนที่มีลักษณะแปลกน่าสนใจอีกคนหนึ่ง คือประชุม ใจสมคม แต่จะเอาไว้เล่าประกอบบันทึกการนัดพบ คราวหน้า วันที่ ๙ พฤศจิกายน ๒๕๕๗ ที่ประชุม ใจสมคม รับเป็นเจ้าภาพ และในบันทึกคราวหน้าจะมีเรื่องของเพื่อน อีกคนหนึ่ง ที่เล่าว่าตนเป็นเบาหวาน น้ำตาลในเลือดขึ้นไป ๑๙๐ หมอให้ยา ลดลงมาที่ ๑๓๐ มีคนแนะให้กินใบกระท่อม เวลานี้กินใบกระท่อมอย่างเดียว น้ำตาลเหลือ ๙๐ ผมลองค้นเรื่องใช้ใบกระท่อมรักษาเบาหวาน ที่นี่

วิจารณ์ พานิช

๖ก.ค. ๕๗

แก้ไขล่าสุด ใน วันเสาร์ที่ 09 สิงหาคม 2014 เวลา 15:01 น.
 

ชีวิตที่พอเพียง : ๒๒๑๙. คิดยาว - คิดสั้น

พิมพ์ PDF

บทความ Social value and business value linkedใน นสพ. บางกอก โพสต์ วันที่ ๗ กรกฎาคม ๒๕๕๗ ส่วน Asia Focus หน้า ๓ ลงผลงานวิจัยของบริษัท PricewaterhouseCoopers ที่สำรวจความเห็นของบริษัทจำนวน ๒๑๑ แห่งในมาเลเซีย ไทย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม ว่าบริษัทจัดการความยั่งยืน (sustainability) อย่างไร และผมตีความว่าบริษัทที่เห็นคุณค่า และจัดการความยั่งยืนเป็นอย่างดี เป็นบริษัทที่คิดยาว ตรงกันข้าม บริษัทที่ไม่สนใจ ไม่ให้คุณค่าความยั่งยืน เป็นบริษัทที่คิดสั้น

กราฟแท่ง ในรูปประกอบ บอกเราว่า บริษัทในประเทศไทยคิดสั้นที่สุดใน ๕ ประเทศ หากผลการวิจัยนี้แม่นยำ ก็เป็นสัญญาณเตือนว่าผู้ประกอบการไทยมีแนวโน้มทำธุรกิจแบบหวังเพียงผลระยะสั้น ซึ่งเป็นโลกทัศน์ที่ไม่ดีสำหรับบ้านเมือง

โลกทัศน์ของบริษัท สะท้อนโลกทัศน์ของคนไทยทั่วไปหรือไม่ หากสะท้อน ก็ยิ่งน่าวิตก

คำถามคือ เราจะช่วยกันแก้ไขปัญหาผู้คนมีโลกทัศน์ “คิดสั้น ใจแคบ ใฝ่ต่ำ” อย่างไรหรือมองเชิงบวก เราจะช่วยกันสร้างสรรค์สังคมที่ผู้คนมีโลกทัศน์ “คิดยาว ในกว้าง ใฝ่สูง” ได้อย่างไร

วิจารณ์ พานิช

๗ก.ค. ๕๗

แก้ไขล่าสุด ใน วันเสาร์ที่ 09 สิงหาคม 2014 เวลา 15:08 น.
 

หลักสูตรปริญญาเอกแบบใหม่

พิมพ์ PDF

ในที่ประชุมสภามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เมื่อวันที่ ๕ กรกฎาคม ๒๕๕๗ สภาได้อนุมัติหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต (D.Phil.) สาขาวิชาวิทยาศาสตร์ระบบโลก (Doctor of Philosophy in Earth System Science) เป็นหลักสูตรนานาชาติ

นี่คือหลักสูตร D. Phil แบบ อ็อกซฟอร์ด ที่เราไม่คุ้นเคย เพราะเราคุ้นแต่ระบบอเมริกัน ที่เขาจัดระบบ ของหลักสูตร และการฝึกอบรมที่ชัดเจน ในขณะที่ระบบ D. Phil. เน้นที่การทำวิจัย ไม่เน้นรายวิชาที่เรียน เอาผลการวิจัยเป็นมาตรวัดจนมั่นใจว่ามีความรู้เพียงพอ และอาจารย์ที่ปรึกษา (ซึ่งเป็นที่น่าเชื่อถือ) เสนอให้ได้รับ ปริญญา

หัวใจของคุณภาพจึงอยู่ที่ ๒ ปัจจัยคือ (๑) คุณภาพของอาจารย์ที่ปรึกษา (๒) ผลงานวิจัยที่มีคุณภาพสูง

สภามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มีมติว่า เกณฑ์ของผลงานวิจัยของหลักสูตรนี้คือ มี ๒ รายงานวิจัย ที่ตีพิมพ์ในวารสารในฐานข้อมูล ISI จำนวน ๒ บทความ โดยทั้งสองบทความอยู่ใน Q1 และ Q2 และหนึ่งบทความอยู่ใน Q1

ผู้มีความรู้เรื่องนี้ และส่งเสริมให้ ม. สงขลานครินทร์มีหลักสูตรปริญญาเอกระบบนี้คือ ศ. ดร. ปรีดา วิบูลย์สวัสดิ์ ท่านบอกว่า อังกฤษเอาระบบนี้มาจากเยอรมัน

ผมมีความเชื่อในการศึกษาปริญญาเอกแบบนี้ ซึ่งอาจเรียกว่าแบบเน้นวิจัย (ไม่เน้นเรียนวิชา) หรือเรียกว่าแบบฝึกฝนกับอาจารย์ ผมเชื่อว่าถ้าได้อาจารย์ชั้นยอด จะได้ความรู้มากกว่าเรียนแบบอเมริกัน ที่จริงผมก็เรียนแบบนี้กับอาจารย์หมอประเวศและอาจารย์หมอสุภา เพียงแต่ได้ความรู้ ไม่ได้ปริญญา

วิจารณ์ พานิช

๕ ก.ค. ๕๗

บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย 

แก้ไขล่าสุด ใน วันเสาร์ที่ 09 สิงหาคม 2014 เวลา 15:14 น.
 

​ไปเรียนรู้เรื่องการศึกษาของชาวบ้าน ที่อำนาจเจริญ

พิมพ์ PDF

ไม่ว่าชาวบ้านหรือชาวเมือง นักบวช นัการเมือง ข้าราชการ และ ฯลฯ ต่างก็ต้องเรียนรู้ตลอดชีวิตทั้งสิ้น คนที่ประสบความสำเร็จในชีวิต คือคนที่มีทักษะ ฉันทะ และวิริยะ ของการเรียนรู้ตลอดชีวิต

วันอาทิตย์ที่ ๒๙ มิถุนายน ๒๕๕๗ ผมจึงไปเรียนรู้เรื่องราวของการเรียนรู้ในรูปแบบหนึ่งของชาวบ้าน ที่ตำบลไก่คำ อำเภอเมือง จังหวัดอำนาจเจริญ โดยร่วมขบวนของ โครงการ ขับเคลื่อนสังคมด้วยวัฒนธรรมการใช้ข้อมูล (NPI) ที่ดำเนินการโดยมูลนิธินโยบายสุขภาวะ

เราไปเยี่ยมชื่นชมชาวบ้าน ตำบลไก่คำ ดำเนินการพัฒนาระบบข้อมูล สำหรับใช้วางแผนพัฒนาตำบล ของตน ซึ่งมองในมุมหนึ่ง เป็นการเรียนรู้ร่วมกันของชาวบ้าน มองอีกมุมหนึ่ง นี่คือกลไกของชุมชนบริหาร จัดการตนเอง เป็นส่วนหนึ่งของขบวนการปฏิรูปประเทศไทย โดยชาวบ้านดำเนินการกันเอง ไม่ต้องรอ ทางราชการ ไม่ต้องรอนักการเมือง ไม่ต้องรอคณะ คสช.

โครงการ NPI ดำเนินการเพื่อขับเคลื่อนขบวนการพัฒนาอย่างมีข้อมูลและสารสนเทศสำหรับใช้ ตรวจสอบทำความรู้จักตนเอง ตรวจสอบทิศทางของการพัฒนาที่เกิดขึ้น และใช้วางแผนการพัฒนาของตนเอง เน้นการดำเนินการของชาวบ้านหรือชุมชน เพื่อสร้างประเทศไทยที่มีการกระจายอำนาจการปกครอง และกระจายอำนาจทางการเมือง

ผมได้เรียนรู้ว่า ตำบลไก่คำมีความท้าทายสำคัญๆ หลายอย่างทั้งที่เห็นชัดๆ คือการเป็นพื้นที่บ่อขยะของ เทศบาลเมืองอำนาจเจริญ เสี่ยงต่อการที่จะเป็นอันตรายต่อสุขภาพ และเกิดความขัดแย้งระหว่างประชาชน กับทางราชการ และที่เห็นไม่ชัด คือข้อมูลที่โครงการ NPI มาดำเนินการเก็บและวิเคราะห์ข้อมูลสภาพเศรษฐกิจ-สังคมของคนไก่คำ ชี้ให้เห็นประเด็นสำคัญๆ ที่ผมมองว่าชาวบ้านสามารถรวมตัวกันปรับปรุงตัวเองเพื่อไปสู่ “เมืองธรรมเกษตร” ได้มากมาย แต่ผมไม่เห็นผู้นำชุมชนจับประเด็นเหล่านี้มาพูดเลย

ประเด็นสำคัญที่สุด ที่ ดร. เดชรัต ย้ำแล้วย้ำอีก แต่ก็ไม่มีคนเห็นความสำคัญ คือค่าใช้จ่ายร้อยละ ๓๕ (ปีละ ๘๙ ล้านบาท) เป็นค่าใช้จ่ายที่ไม่ควรต้องจ่าย คือเป็นค่าอาหารสำเร็จรูป เครื่องดื่ม และยาสูบ

ทำให้ผมนึกถึงคำ information literacy การพัฒนาสังคม/ชุมชนไทย ต้องเอาใจใส่พัฒนาเรื่องนี้ด้วย

ประชาคมในจังหวัดอำนาจเจริญ รวมตัวกันประกาศแนวทางพัฒนาจังหวัดเป็นจังหวัดจัดการตนเอง โดยมีเป้าหมายเป็นจังหวัดแห่งธรรมเกษตร กำหนดเวลาเดินทางไกล ๒๐ ปี สู่เป้าหมายดังกล่าว ตอนบ่าย เราได้ฟังการเล่าเรื่อง “ย้อนรอยประวัติศาสตร์และแนวทางขับเคลื่อนอำนาจเจริญสู่เมืองธรรมเกษตร” โดยคุณชาติวัฒน์ ร่วมสุข และผู้นำชุมชนอำนาจเจริญท่านอื่นๆ อีกกว่า ๑๐ ท่าน ได้รับฟังเรื่องราวของ กลุ่มคนที่มีอุดมการณ์เพื่อท้องถิ่นของตน ที่น่าประทับใจยิ่ง แต่ที่ผมแปลกใจคือ ท่านเหล่านี้ยังใช้ข้อมูลน้อย แม้จะมีประสบการณ์การจัดทำแผนแม่บทชุมชนมาอย่างโชกโชน และมีประสบการณ์ทำข้อมูลชุมชน ร่วมกับโครงการ NPI

ผมสรุปกับตนเองว่า คนไทยไม่ค่อยมีวัฒนธรรมใช้ข้อมูลและสารสนเทศ ในการกำหนดนโยบาย

ผมได้เรียนรู้จาก นพ. ชาญวิทย์ วสันต์ธนารัตน์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะองค์กร ของ สสส. ว่าการเก็บข้อมูลชุมชนควรใช้ระบบที่ สสส. สนับสนุนให้ มช. ทำที่อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่ ร่วมกับบริษัท ทรู และ กูเกิ้ล โดยใช้ GPS และเก็บข้อมูลใส่ สมาร์ทโฟนหรือ แท็บเล็ต ข้อมูลจะไปประมวลเข้าเครื่องแม่ข่าย ทันที และสามารถดูสภาพแวดล้อมของบ้านนั้นๆ ผ่าน Google Earth ได้ การนำเทคโนโลยีนี้มาใช้ที่จังหวัด อำนาจเจริญ ทางมหาวิทยาลัยมหิดลอำนาจเจริญน่าจะเข้าร่วมได้ โดยต้องเอาใจใส่ทั้งด้านเทคโนโลยี และด้าน กระบวนการตีความข้อมูลเพื่อเอาไปใช้ประโยชน์ เพื่อสร้างความเข้าใจร่วมกันในชุมชน เรื่องนี้มูลนิธิ สยามกัมมาจล น่าจะได้เอามาใช้กับการพัฒนาเยาวชนด้วย เป็นเครื่องมือให้เยาวชนสนใจสภาพความเป็นไป ของชุมชนของตน และเห็นโอกาสเข้าไปร่วมพัฒนา

มหาวิทยาลัยมหิดล อำนาจเจริญ เป็นภาคีพัฒนาที่สำคัญ ทางประชาคมอำนาจเจริญชื่นชมมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการที่มหาวิทยาลัยดำเนินการโครงการ อพ.สธ. (อนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตน์ราชสุดาฯ) ๑๔ พื้นที่ และกำลังจะขยายเป็น ๒๑ พื้นที่ เพราะเป็นกิจกรรมที่ เอื้ออำนาจการปกครองตนเองของชุมชน พร้อมทั้งเอื้อการเรียนรู้เรื่องความหลากหลายทางชีวภาพ ของชุมชน ด้วย

จังหวัดอำนาจเจริญ เป็นจังหวัดตัวอย่าง ในด้านมีความเข้มแข็งขององค์กรชุมชน มีศูนย์ประสานงานขบวนองค์กรชุมชน และเครือข่ายสภาองค์กรตำบล นำโดยนายวานิชย์ บุตรี เครือข่ายธรรมนูญประชาชนคนอำนาจเจริญ นำโดยนายชาติวัฒน์ ร่วมสุข เครือข่ายสภาองค์กร ชุมชนจังหวัดอำนาจเจริญ โดยที่ผู้นำชุมชนบอกที่ประชุมตอนบ่ายว่า สภาพการนำของประชาคม จังหวัดอำนาจเจริญ มีลักษณะ “การนำร่วม” ไม่มีผู้นำสูงสุดคนเดียว

เป็นความเข้มแข็ง บนความสำเร็จในการเชื่อมโยงเครือข่ายภายในจังหวัด และเชื่อมโยงกับกลไกต่างๆ ในระดับประเทศ ดังจะเห็นว่า ในวันนี้ หน่วยงานสำคัญๆ ในการพัฒนาประเทศมีตัวแทนมาร่วมประชุม ได้แก่ สภาพัฒน์ฯ, พอช. (ผอ. มาเอง พร้อมกับรักษาการ ผอ. พอช. อีสานใต้), สป.สช., สสส.,

วันที่ ๓๐ มิถุนายน หลังการประชุมคณะกรรมการกำกับทิศทางของแผนงาน ขับเคลื่อนสังคมด้วย วัฒนธรรมการใช้ข้อมูล ในตอนเช้า ตอนบ่ายเราไปศึกษาปัญหาฝายลำเซบาย อำเภอตะพานหิน ที่สร้างความเดือดร้อน แก่ชาวบ้าน    เราได้ทราบว่าฝายนี้สร้างโดยกระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และสิ่งแวดล้อม    เป็นโครงการปี พ.ศ. ๒๕๓๙ สมัยนายยิ่งพันธ์ มนสิการ เป็นรัฐมนตรี    โดยสร้างพร้อมกับฝายราศรีไสล    นายยิ่งพันธ์นี้ ต่อมาถูกศาลตัดสินว่ามีความผิดกรณีทุจริตคลองด่าน ร่วมกับนายวัฒนา อัศวเหม    แต่นายยิ่งพันธ์ตายเสียก่อน จึงไม่ได้รับโทษ    ส่วนนายวัฒนาหลบหนีออกไปนอกประเทศ

ไปดูแล้ว ผมลงมติกับตัวเอง ว่านี่คือหลักฐานการทุจริตที่ทางราชการร่วมมือกับนักการเมือง ที่ต้องการหากินกับการก่อสร้าง และหลีกเลี่ยง EIA โดยการเรียกชื่อว่าฝาย ทั้งๆ ที่เป็นเขื่อนชัดๆ    เขื่อนนี้สร้างเสร็จปี ๒๕๔๓ พอปี ๒๕๔๔ ก็ก่อปัญหาน้ำท่วมแก่ราษฎรบางพื้นที่ และก่อปัญหาเรื่อยมา    เพราะเขาสร้างคันดินกั้นน้ำสูง ๕ เมตร ขนาบสองข้างลำเซบาย เหนือเขื่อน ทำให้น้ำฝนที่ตกขังอยู่นอกคันดิน ไหลลงลำเซบายไม่ได้ จึงท่วมบ้านของชาวบ้าน

กรมชลประทานต้องแก้ไขโดยที่ประตูระบายน้ำลงลำเซบายเป็นช่วงๆ ในภายหลัง ก็ดูจะไร้ผล

ผมถ่ายรูปหอเตือนภัยที่วัด ที่อยู่ใกล้คันดินข้างลำเซบาย เอามาลงไว้เป็นหลักฐานคอร์รัปชั่นด้วย    ชาวบ้านบอกว่าไม่เคยเตือนอะไรเลย ยกเว้นเปิดเพลงชาติเดือนละ ๒ ครั้ง    ฟังชาวบ้านพูดแล้ว เห็นชัดว่าเขาไม่มีศรัทธาในราชการเลย เขารู้เต็มอกว่า การก่อสร้างต่างๆ เพื่อผลประโยชน์ของผู้เกี่ยวข้อง ไม่ใช่ผลประโยชน์ของเขา

ไปอำนาจเจริญคราวนี้ ผมสวมแว่นตาการเรียนรู้ของชาวบ้าน    คนที่ไปจากกรุงเทพส่วนใหญ่ สวมแว่นตาขับเคลื่อนสังคมด้วยวัฒนธรรมการใช้ข้อมูล    ส่วนชาวอำนาจเจริญสวมแว่นตาการพัฒนา เป็นจังหวัดจัดการตนเอง ไปสู่สภาพชีวิตความเป็นอยู่แบบธรรมเกษตร ผมต้องสวมอีกแว่นหนึ่ง ในฐานะนายกสภามหาวิทยาลัยมหิดล ที่มีวิทยาเขตอยู่ที่อำนาจเจริญ คือแว่น comprehensive social engagement ในการทำหน้าที่สถาบันอุดมศึกษา

แม้จะเหนื่อย แต่ก็ได้ความรู้ และความสุข

วิจารณ์ พานิช

๓๐ มิ.ย. ๕๗ ปรับปรุง ๒ ก.ค. ๕๗

บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย 

ต้องการดูภาพประกอบกด link :http://www.gotoknow.org/posts/573855

แก้ไขล่าสุด ใน วันพุธที่ 06 สิงหาคม 2014 เวลา 07:59 น.
 


หน้า 334 จาก 561
Home

About Us

ศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ (ศบม.) เป็นองค์กรที่พัฒนาและจัดทำโครงการเพื่อทำประโยชน์ให้สังคม เป็นองค์กรสนับสนุนการดำเนินงานของภาครัฐ ช่วยแก้ปัญหาผู้ประกอบการภาคธุรกิจบริการที่ขาดแคลนบุคลากรที่มีมาตรฐานในการให้บริการ
อ่านเพิ่มเติม

มูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ ์

 iHDC Profile
บัญชีรายชื่อกรรมการ
ใบสำคัญแสดงการจดทะเบียน การเปลี่ยนแปลงกรรมการของมูลนิธิ
เอกสารประชาสัมพันธ์ โครงการ HMTC.pdf
เอกสารแนะนำโครงการ HMTC 1.pdf
เอกสารโครงการ HMTC 2 คุณสมบัติผู้เข้าร่วมโครงการ.pdf
iHDC นิติบุคคล.pdf
iHDC บุคคล.pdf
iHDC บุคคลเครือข่าย.pdf
รายงานการประชุม 6 มีนาคม 2560.pdf
ข้อบังคับมูลนิธิ
ใบสำคัญแสดงการจดทะเบียนจัดตั้งมูลนิธิ
Ihdc-Profile and Roadmap 2016-2019 Mar 23 2560.pdf
รายงานการประชุมใหญ่คณะกรรมการมูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ 2559.pdf
คำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ สาขาวิชาชีพ.pdf
รายงานการประชุมใหญ่วันที่ 18 ธ ค 2558 v 3.pdf
รายงานการประชุม วันที่ 24 ธันวาคม 2557 updated 4 มีนาคม 2558.pdf
iHDC-invitation Letter.doc
iHDC-Member Form Thai.doc
iHDC-Member Form English.doc
รายงานการประชุมกรรมการมูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ วันที่ 15 มกราคม 2556 ฉบับสมบูรณ์


thaibetter
พัฒนาประเทศไทยแบบทวีคูณ และยั่งยืน ( ททค )

Login


แบบสำรวจ

สถิติเว็บไซด์

สมาชิก : 5644
Content : 3068
เว็บลิงก์ : 26
จำนวนครั้งเปิดดูบทความ : 8746790

facebook

Twitter


ล่าสุด

บทความเก่า