Thaiihdc.org

  • เพิ่มขนาดตัวอักษร
  • ขนาดตัวอักษรปกติ
  • สดขนาดตัวอักษร
Thaiihdc.org

คำนิยม หนังสือ สร้างสุขแท้ด้วยปัญญาเพื่อพัฒนาหมอดีของแผ่นดิน

พิมพ์ PDF

หนังสือ สร้างสุขแท้ด้วยปัญญา เพื่อพัฒนาหมอดีของแผ่นดิน (ชุมชนเรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลง) เล่มนี้ มีถ้อยคำและรูปแบบที่สะท้อนการเรียงร้อยจากใจ เน้นการบอกความในใจลึกๆ ซึ่งเมื่ออ่านแล้วทำให้เกิดพลัง ที่เป็นพลังด้านใน ด้านจิตวิญญาณ หรือด้านจิตใจใฝ่ดี มุ่งทำประโยชน์แก่ผู้อื่น เป็นส่วนหนึ่งของการเรียนรู้เพื่อ การเปลี่ยนแปลงทั้งเนื้อทั้งตัว ที่เรียกว่า Transformative Learning

โครงการผลิตแพทย์เพื่อชนบท (CPIRD) เน้นให้แพทย์ที่สำเร็จการศึกษา ออกไปทำงานในชนบท ด้วยความสุข โดยมีทักษะ ฉันทะ วิริยะ และจิตตะ ต่อสภาพการทำงานในชนบทของไทย ซึ่งในเวลานี้ไม่ได้ กันดารหรือห่างไกลความเจริญแต่อย่างใด โครงการนี้จะประสบความสำเร็จได้ นักศึกษาต้องได้เรียนรู้มิติ ด้านในเช่นนี้ สำหรับเป็น “ภูมิคุ้มกัน” ต่อโรควัตถุนิยม

โรควัตถุนิยม เงินนิยม ระบาดไปทั่วโลก ครอบงำจิตใจมนุษย์แบบไม่รู้ตัว พวกเราทุกคนต่างก็ ถูกครอบงำด้วยกันทุกคน (รวมทั้งผมด้วย) มีอาการโรคมากบ้างน้อยบ้าง แล้วแต่กรณี โรคนี้ก่อปัญหา ที่ซับซ้อนทางสังคมและเศรษฐกิจ รวมทั้งก่อปัญหาแก่ระบบบริการสุขภาพของประเทศไทยด้วย คือทำให้การกระจายบุคลากรด้านสุขภาพไปยังเมืองเล็ก และชนบท ทำได้ยาก ซึ่งแม้เราจะมีมาตรการหลายอย่าง และได้ผลดีในระดับหนึ่ง แต่มีข้อมูลบอกว่ามาตรการเหล่านี้อาจกำลังเพลี่ยงพล้ำ มีแนวโน้มว่าแพทย์รุ่นใหม่ นิยมเลือกทำงานเบาและได้เงินมาก แทนที่จะเลือกทำงานที่ให้คุณค่าทางใจสูง แม้จะมีความยากลำบากบ้าง

ผมขอแสดงความชื่นชม ต่อศูนย์แพทยศาสตรศึกษาชั้นคลินิก โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา และสำนักวิชาแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ที่ริเริ่มสร้างหลักสูตรใหม่สำหรับหมอรุ่นใหม่ ในเขตจังหวัด “นครชัยบุรินทร์” ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๔๙ เกิดวิชาชนบทศึกษาทางการแพทย์ ที่จัดกระบวน การเรียนรู้เพื่อสร้างทักษะในการดำเนินชีวิตแพทย์ชนบทอย่างมีความสุข

เป็นการ “กล้าฝัน กล้าริเริ่ม และปรับปรุงต่อเนื่อง” จนขณะนี้ “กล้านำมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้” ในวงกว้าง ดังปรากฎในหนังสือ สร้างสุขแท้ด้วยปัญญา เพื่อพัฒนาหมอดีของแผ่นดิน เล่มนี้

หนังสือเล่มนี้ มีทั้งภาคหลักการ หรือทฤษฎี และภาคฝึกปฏิบัติจิตตปัญญา เพื่อให้เกิดทักษะด้านใน เพื่อการเรียนรู้ด้านใน คือจิตตปัญญาศึกษาที่เน้นสมองซีกขวา ดังปรากฎในกิจกรรมในค่ายนักศึกษาแพทย์ รุ่นใหม่มีใจอัศจรรย์ ผมขอย้ำว่า การเรียนรู้ด้านใน ฝึกฝนจิตตปัญญาศึกษานี้ คนเราทุกคนต้องฝึกฝนตลอดชีวิต ในชีวิตประจำวัน หากโรงเรียนแพทย์ และสถาบันการศึกษาทุกแห่ง ดำเนินการให้การเรียนรู้ฝึกฝนจิตตปัญญา ควบคู่ไปกับการเรียนรู้วิชาชีพ และการเรียนรู้วิชา และทักษะ อื่นๆ ประเทศไทยจะมีพลเมืองที่มีคุณภาพยิ่งขึ้นเป็นอันมาก นำไปสู่สังคมที่มีสันติสุข ดังปรากฎในกลุ่มประเทศสแกนดิเนเวีย และกลุ่มนอร์ดิก

เครื่องมือฝึกจิตตปัญญาแก่นักศึกษาอยู่ในกิจกรรมต่างๆ ในค่ายใจอัศจรรย์ ตามที่ปรากฏในหนังสือเล่มนี้ ซึ่งผมเชื่อว่าอาจารย์ที่เข้าร่วม ทั้งที่เป็นวิทยากรและไม่เป็นวิทยากร ก็จะได้อานิสงส์ ได้ฝึกจิตตปัญญาของตนไปด้วย เพิ่มเติมจากทุนเดิมที่เป็นคนเห็นคุณค่าของความสุขทางใจอยู่แล้ว

ผมเข้าใจว่า อาจารย์ที่ปรากฎตัวในหนังสือเล่มนี้เป็นผู้ที่ได้ฝึกฝนจิตตปัญญา ทั้งด้วยกระบวนการ ในค่ายใจอัศจรรย์ และด้วยกระบวนการปฏิบัติจริงในการทำหน้าที่อาจารย์ ในโครงการผลิตแพทย์เพื่อชนบท เมื่อคนเหล่านี้มาทำกระบวนการสุนทรียสนทนา (dialogue) ร่วมกัน และร่วมกับท่านพระอาจารย์ไพศาล วิสาโล จึงเกิดคำสนทนาที่มีพลังล้ำลึก อยู่ในหนังสือตอน “เราสอนอย่างที่เราเป็น” ถ้อยคำเหล่านี้ยากที่คนทั่วไป จะปล่อยออกมา หรือเมื่อเปล่งถ้อยคำออกมาแล้ว ก็ยากที่จะเรียงร้อยเป็นตัวหนังสือ ผมจึงขอแสดงความชื่นชมต่อคณะผู้จัดทำหนังสือ และต่อคณะผู้ร่วมอยู่ในกระบวนการสุนทรียสนทนา ที่ประสบความสำเร็จในการถ่ายทอดกระบวนการฝึกฝนจิตตปัญญา ทั้งของนักศึกษา และของอาจารย์ เพื่อการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ออกไปในวงกว้าง

หนังสือเล่มนี้ จะไม่เพียงเป็นเครื่องมือพัฒนาหมอดีของผ่นดินเท่านั้น แต่จะเป็นเครื่องมือพัฒนา คนดีของแผ่นดิน ด้วย

ผมขอขอบคุณผู้เกี่ยวข้องกับการทำหนังสือ สร้างสุขแท้ด้วยปัญญา เพื่อพัฒนาหมอดีของแผ่นดิน(ชุมชนเรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลง) ทุกท่าน ทั้งที่เกี่ยวข้องโดยตรงและโดยอ้อม และขออนุโมทนาต่อกุศลกรรมนี้ ขอให้ทุกท่านได้รับปิติสุข จากการทำคุณประโยชน์แก่สังคมไทยในครั้งนี้

วิจารณ์ พานิช

๒๘ มิถุนายน ๒๕๕๗

บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย 

แก้ไขล่าสุด ใน วันอังคารที่ 05 สิงหาคม 2014 เวลา 22:49 น.
 

ชีวิตที่พอเพียง : ๒๒๑๕. ยุคโป้ปดมดเท็จ

พิมพ์ PDF

นสพ. The Wall Street Journal ฉบับวันที่ ๓ ก.ค. ๕๗ ลงบทวิจารณ์หนังสือชื่อ Virtual Unreality : Just Because the Internat Told You, How Do You Know It’s Trueเขียนโดย Charles Seife (ศาสตราจารย์ด้านวารสารศาสตร์) ชี้ว่า internet ไม่ใช่เป็นเพียง “ความจริงสมมติ” (virtual reality) เท่านั้น แต่ยังเป็น “ความไม่จริงสมมติ” (virtual unreality) ได้ด้วยซึ่งผมสนับสนุนเต็มที่

ลองค้นชื่อหนังสือด้วย Google พบว่าเป็นหนังสือแนะนำในนิตยสาร Scientific American ซึ่งอ่านได้ที่นี่ และหากท่านผู้อ่านค้นจริงๆ จะพบว่าหนังสือเล่มนี้เป็น talk of the town ทีเดียว โดย New York Times ขึ้นชื่อเรื่องว่า Online, the Lying is Easyในโลก ออนไลน์ การโกหกเป็นเรื่องง่าย

อ่านแล้วผมนึกในใจว่า ในโลกการเมือง การโกหกเป็นเรื่องธรรมดา การเอาเงินที่โกงบ้านเมืองไปใส่ไว้ในชื่อคนใช้ เลขา หรือคนสนิท เป็นเรื่องที่คนโกงทำกันหน้าตาเฉย ขอโทษครับ .... นั่นไม่ใช่เรื่อง อินเทอร์เน็ต หรือโลก ออนไลน์ แต่ก็อดแวะเข้าไปไม่ได้ เพราะเป็นเรื่องโป้ปดมดเท็จเช่นเดียวกัน

ผมว่า เราต้องให้ความเป็นธรรมต่อเทคโนโลยี ว่าเทคโนโลยีมีนเป็นกลาง เป็นเครื่องมือ ไม่ใช่ผู้กระทำ ตัวผู้กระทำคือมนุษย์ ความดีหรือความชั่วอยู่ที่คนใช้เครื่องมือนั้นๆ เหมือนไฟนั่นแหละ เมื่อมนุษย์รู้จักใช้ไฟให้แสงสว่าง ให้ความอบอุ่น ใช้ปรุงอาหาร ฯลฯ ชีวิตมนุษย์ก็ก้าวหน้าเรื่อยมา ไฟจึงมีคุณอนันต์ต่อมนุษย์ แต่ในบางกรณีมนุษย์ก็ใช้ไฟ ในการทำลายล้าง เช่นใช้เผาบ้านเผาเมือง

อินเทอร์เน็ต ช่วยให้มีการรวบรวม สะสม และเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารได้กว้างขวางรวดเร็ว ทั้งข้อมูลข่าวสาร ที่เป็นความจริง และที่เป็นความเท็จ ทั้งที่น่าเชื่อถือ และที่ไม่น่าเชื่อถือ

มนุษย์ในยุคศตวรรษที่ ๒๑ จึงต้องเรียนรู้และพัฒนา ICT / Information Literacy ให้แก่ตนเอง ถือเป็นส่วนหนึ่งของทักษะแห่งศตวรรษที่ ๒๑

วิจารณ์ พานิช

๓ ก.ค. ๕๗

บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย 

แก้ไขล่าสุด ใน วันอังคารที่ 05 สิงหาคม 2014 เวลา 22:43 น.
 

ชีวิตที่พอเพียง : ๒๒๑๔. สิบสิ่งที่จักสูญ มุมมองของนักอนาคตศาสตร์

พิมพ์ PDF

นิตยสาร The Futurist ตีพิมพ์เรื่อง Top 10 Disappearing Futuresน่าอ่านมาก จึงนำมาฝาก เพื่อเตือนว่าโลกในอนาคตที่ไม่ไกลนัก จักเปลี่ยนไปจากสภาพปัจจุบันในหลากหลายด้าน คนเราพึงเตรียมตัว เรียนรู้และปรับปรุงตัว ไว้รองรับการเปลี่ยนแปลงเหล่านั้น โดยเขาใช้ปี ค.ศ. 2030 เป็นปีเป้าหมายของการทำนายอนาคต และใช้วิธีถามความเห็นจากกลุ่มคนจำนวนมาก (crowdsourcing) ที่อาจมีความเห็นแตกต่างกัน

ผมสะดุ้งโหยง เพราะสิ่งที่เขาทำนายว่าจักสูญไปแน่ๆ คือโรงเรียนกับหมอ แถมด้วย สมาร์ทโฟน อย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

ผมเดาว่า นักอนาคตศาสตร์เขาเดาปัจจัยเปลี่ยนแปลงหลักๆ เอามาคิดต่อ ว่าจะมีผลในประเด็นใหญ่ๆ อย่างไร ผมมองว่าการทำนายนี้ประโยชน์อยู่ที่วิธีคิด หรือเหตุผล ไม่ใช่อยู่ที่ว่าคำทำนายคืออะไร เพราะคำทำนายอาจไม่แม่นก็ได้ เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นจริงมันซับซ้อนเกินกว่าที่มนุษย์เราจะคาดเดาได้ครบถ้วน คือเราใช้คำทำนายเป็นเครื่องมือของการเรียนรู้ ไม่ใช่เพื่อเอามาถือมั่น

เรื่องแรกคือโลกแห่งความเกลียดชังจักสูญไป เขาใช้คำว่า Intolerance and Misunderstandingให้เหตุผลว่า เพราะในไม่ช้า คนจะพกสมาร์ทโฟนทุกคน และในนั้นจะมีเครื่องแปลภาษา ผู้คนต่างภาษาต่างวัฒนธรรมต่างความเชื่อ จะสื่อสารถึงกันได้หมด

ผมชอบวิธีนำเสนอของเขา ที่เสนอแบบ สื่อให้เห็นความซับซ้อน และสื่อความเห็นที่ขัดแย้งกันในลักษณะขั้วตรงกันข้าม คือในหัวข้อแรกนี้ ประกอบด้วยบทความสั้นๆ ๕ บทความ เขียนโดยต่างคน ต่างหัวข้อกัน ได้แก่ (1) Disappearance of Endangered Languages, Economic Immigration Barriers, and Mass Religious Intolerance (2) Counterpoint : Why Cultural Understanding May Disappear (3) Vanishing Languages and the Rise of English and Chinese (4) The End of Religion, the Rise of Spirituality (5) Goodbye, Macho Man

สรุปง่ายๆ ความไม่ยอมรับและเข้าใจผิดต่อกัน อาจสูญหายไป หรืออาจยิ่งรุนแรงขึ้น เพราะปฏิกิริยาของมนุษย์ ต่อความสะดวกในการสื่อสารถึงกันนั้น อาจไปในทางบวก หรืออาจไปในทางลบ ทางลบคือสภาพ hyperconnectivity อาจ ยิ่งทำให้คนเรา ต้องหาทางปกป้องตนเองจากสื่อสารที่ตนไม่ต้องการ เปิดรับเฉพาะที่ตนต้องการ ความเข้าใจสิ่งที่แตกต่าง หลากหลายจึงยิ่งจำกัด

อ่านแล้วผมคิดว่า วงการศึกษาต้องเอาใจใส่พฤติกรรมศาสตร์เพิ่มขึ้น ศึกษาปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับ สภาพแวดล้อมใหม่ๆ โดยเฉพาะเทคโนโลยีใหม่ๆ ผมมองเห็นโจทย์วิจัยมากมายจากการอ่านบทความนี้

เรื่องที่ ๒ คือ Educational Processes โดยมี ๓ หัวข้อย่อย คือ (1) Disappearing Public Education เขาบอกว่า การศึกษาที่จัดโดยรัฐ เป็นของใหม่ สำหรับอารยธรรมมนุษย์ คือเกิดในปลายศตวรรษที่ ๑๙ นี่เอง ในเวลาไม่ถึง ๒๐๐ ปี การศึกษาที่จัดโดยรัฐจะถึงจุดจบ แทนที่ด้วยการศึกษาที่จัดโดยธุรกิจเอกชน ในรูปแบบใหม่ๆ ที่ไม่ใช่แบบชั้นเรียนอย่างที่เราคุ้นเคย

ผมคิดว่าเรื่องที่ ๒ นี้ น่าจะเป็นที่เห็นพ้องกัน ว่าที่เขานำเสนอ ๓ หัวข้อย่อยนั้น น่าจะเกิดขึ้นจริง

หัวข้อย่อยที่ (2) Education Abandons the Factory Model เป็นกระบวนการในชีวิตผู้คนอย่างหนึ่งที่จะเปลี่ยนไป โดยสิ้นเชิง เป็นการหมดยุค “one size fits all” หรือชั้นเรียนที่นักเรียนทุกคนเรียนเหมือนๆ กัน ไปสู่การศึกษาที่จัดเฉพาะราย สิ่งที่เกิดแล้วในเวลานี้คือหลักสูตรเฉพาะบุคคล (IEP – Individualized Education Plan) เทคโนโลยี learning analyticsสำหรับใช้ตรวจสอบหาวิธีเรียนที่เหมาะต่อนักเรียนแต่ละคน

หัวข้อย่อยที่ (3) The End of Grade Point Average ยิ่งนับวันเราก็ยิ่งเห็นชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ ว่า GPA ไม่ใช่เครื่องวัด การเรียนรู้ที่แม่นยำ และเป็นวิธีที่ครูมีอำนาจมากเกินไป มีวิธีการใหม่ที่ใช้บุคคลที่สามเข้ามาประเมิน และวิธีที่มีหน่วยงานรับประเมินและให้การรับรองขีดความสามารถเฉพาะด้าน ที่เรียกว่า badges

เรื่องที่ ๓ คือ สหภาพยุโรป ที่อาจไม่ดำรงอยู่ ผมขอข้ามไป ไม่นำมาบันทึก ใครสนใจอ่านเอาเองนะครับ

เรื่องที่ ๔ Jobs and Workplace Processesเขาบอกว่า ถึงปี ค.ศ. 2030 การจ้างงานในโลกนี้ ๒ พันล้านคนตามทักษะ ในปัจจุบันจะหายวับไป ซึ่งหมายความว่าต้องการทักษะใหม่ๆ เข้ามาแทนที่ เป็นตัวยืนยันว่า การศึกษาสมัยใหม่ต้องเลยจาก การเรียนความรู้ ไปสู่การฝึกทักษะด้านการเรียนรู้

เขาระบุ disruptive technology 12 ชนิด ที่จะเป็นตัวการทำลายอาชีพ ได้แก่ อินเทอร์เน็ตเคลื่อนที่, ความรู้และการทำงานอัตโนมัติ, การเชื่อมโยงสื่อสารระหว่างเครื่องมือต่างๆ, cloud technology, advanced robotics, ยานยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติ, จีโนมิกส์ยุคใหม่, energy storage, 3-D printing, advanced materials, การค้นหาแหล่งพลังงานใหม่ๆ, และ พลังงานหมุนเวียน

ส่วนที่ผมสนใจยิ่งคือ อาชีพครู จะเปลี่ยนเป็นอาชีพโค้ช เขาทำนายว่า ในปี 2030 ร้อยละ ๙๐ ของการเรียนแบบที่เรียนในห้องเรียนปัจจุบัน จะเรียนทาง ออนไลน์

ในเรื่องที่ ๔ นี้ มีหัวข้อย่อย ๓ หัวข้อคือ หัวข้อย่อยที่ 1 The Coming Demise of Teamwork บอกว่าการทำงานเป็นทีมจะหมดไป ซึ่งผมไม่เห็นด้วย ผมเชื่อว่างานต่างๆ จะซับซ้อนมากขึ้น และต้องการความร่วมมือเป็นทีมมากขึ้น หัวข้อย่อยที่ 2 Obsolescence of Fixed Pay-Per-Time Compensation แทนที่ด้วยระบบ pay-per-task และหัวข้อย่อยที่ 3 Whither the Board of Directors หมดยุคเป็นกรรมการบริษัท เพื่อเกียรติยศ เงินค่าตอบแทน และอำนาจส่วนตน แทนที่ด้วยระบบกำกับดูแลบริษัทที่เป็นตัวแทนของผู้ถือหุ้นจริงๆ ข้อนี้ผมเห็นด้วยอย่างยิ่ง เขาบอกว่า การเป็นกรรมการบริษัทจะมีความเสี่ยงสูง จนไม่มีใครอยากเป็น

เรื่องที่ ๕ ร้านขายของ (store) เขาบอกว่า หัวใจมี ๒ อย่างคือ ตำแหน่งที่ตั้ง (location) กับช่องทางขายใหม่ๆ (new channels) ผมมองว่า ร้านขายของจะมี ๒ แบบ คือ real store กับ virtual store ซึ่งให้ความสะดวกแก่ลูกค้าคนละแบบ ร้านขายของที่เป็นร้านจริงๆ จะเปลี่ยนโฉมหรือเปลี่ยนหน้าที่ ไปเป็นสถานที่สาธิตสินค้า เมื่อลูกค้าพอใจก็สั่งซื้อ ข้อมูลสั่งซื้อจะไปที่โรงงานผลิต ผลิตให้ตามสั่ง และส่งของถึงบ้านตามกำหนดที่ตกลงกัน ร้านขายของกลายเป็นร้านสั่งของ

วิจารณ์ พานิช

๔ก.ค. ๕๗

บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย 

แก้ไขล่าสุด ใน วันเสาร์ที่ 02 สิงหาคม 2014 เวลา 05:42 น.
 

สอนอย่างมือชั้นครู : ๓. ออกแบบรายวิชา โดยเอาผลลัพธ์การเรียนรู้เป็นหลัก

พิมพ์ PDF

บันทึกชุด “สอนอย่างมือชั้นครู” ๓๔ ตอน ชุดนี้ ตีความจากหนังสือ Teaching at Its Best : A Research-Based Resource for College Instructors เขียนโดย Linda B. Nilson ซึ่งเป็นฉบับพิมพ์ปรับปรุงครั้งที่ ๓ ผมขอเสนอให้อาจารย์ในสถาบันการศึกษาไทยทุกคน หาหนังสือเล่มนี้อ่านเอง เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ เพราะหากติดตามอ่านจากบันทึกใน บล็อก ของผม ซึ่งลงสัปดาห์ละตอน จะใช้เวลากว่าครึ่งปี และการอ่านบันทึกของผมจะแตกต่างจากการอ่านฉบับแปล หรืออ่านจากต้นฉบับโดยตรง เพราะบันทึกของผมเขียนแบบตีความ ไม่ได้ครอบคลุมสาระทั้งหมดในหนังสือ

ตอนที่ ๓ นี้ ตีความจาก Part One : Laying the Groundwork for Student Learning ซึ่งอาจารย์มหาวิทยาลัยต้องเตรียมตัวก่อนเปิดเทอม มี ๕ บท ตอนที่ ๓ ตีความจากบทที่ 2. Outcome-Centered Course Design

นี่คือปฐมบทของการจัดการเรียนรู้โดยใช้นักศึกษาเป็นฐาน หรือการทำให้นักศึกษาเป็นเจ้าของ กระบวนการการเรียนรู้ ซึ่งต้องทำให้การสอนกับการเรียน เป็นคนละด้านของเหรียญเดียวกัน โดยเน้นให้ นักศึกษาเป็นผู้ลงมือกระทำเพื่อแสดงว่าตนได้เรียนรู้ ตัวอย่างของการกระทำได้แก่ เขียน, อภิปราย, แสดง, เขียนแผ่นภาพ, ลงมือทดลองหรือสาธิต, นำเสนอด้วยวาจา, สร้างเว็บเพจ, สอนผู้อื่น, เป็นต้น


วิธีเขียนผลลัพธ์ของการเรียนรู้

เขียนจากมุมของนักศึกษา ว่านักศึกษาจะต้องทำอะไรได้บ้าง เมื่อเรียนรายวิชานั้นจบ หรือเมื่อเรียน ไปได้ระยะหนึ่ง และเพื่อให้นักศึกษาบรรลุเป้าหมายนั้น นักศึกษาต้องทำหรือไม่ทำอะไรบ้าง Linda Nielsen ให้ตัวอย่างข้อเขียน เพื่อแสดงชัดเจนว่า ผู้ทำให้บรรลุผลลัพธ์นั้นคือตัวนักศึกษาเอง ดังต่อไปนี้ “นักศึกษาอาจมีระดับสมรรถนะแตกต่างกันในความสามารถต่อไปนี้ ท่านจะเรียนรู้และมีความสามารถเหล่านี้ได้ ก็ต่อเมื่อท่านทำตามข้อกำหนดของรายวิชา เข้าชั้นเรียนอย่างสม่ำเสมอ ทำงานที่ได้รับมอบหมายอย่างเอาใจใส่ และตรงเวลา และปฏิบัติตนตามความคาดหวังในฐานะนักศึกษา”

ก่อนจะเขียนผลลัพธ์ของการเรียนรู้ อาจารย์ต้องใช้หลักของซุนวูเสียก่อน คือ “รู้เขา” และ “เขา” ในที่นี้คือ ตัวรายวิชา และตัวนักศึกษา

อาจารย์ผู้สอนต้องทำความเข้าใจที่มาที่ไปของรายวิชาที่ตนจะสอน ว่ามีเป้าหมายอะไร มีความหมายต่อชีวิตในอนาคตของนักศึกษาอย่างไร ฯลฯ

พร้อมๆ กัน อาจารย์ต้องทำความรู้จักนักศึกษาที่ลงทะเบียนเรียนวิชานั้น ตามที่กล่าวแล้วในตอนก่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ทำความเข้าใจว่านักศึกษามาลงทะเบียนเรียนวิชานี้ด้วยความมุ่งหวังอะไร

“เขา” ที่สาม คือตัวช่วยทั้งหลายที่จะช่วยให้การเรียนและการสอนสะดวก ซึ่งจะได้มาโดยง่ายหากถาม อาจารย์ที่เคยสอนวิชานั้นมาแล้ว ว่า ตัวช่วยอะไรบ้าง (เช่น หนังสือ วิธีการสอน กิจกรรม การบ้าน ฯลฯ) ที่ช่วยให้เกิดผลลัพธ์การเรียนรู้ที่ดี อะไรบ้างที่ใช้ไม่ได้ผล

หากข้อมูลยังไม่ค่อยชัดเจน ควรเขียนผลลัพธ์ของการเรียนรู้ และการออกแบบการเรียนรู้ ไว้อย่างกว้างๆ ให้มีความยืดหยุ่นปรับปรุงได้ง่าย แล้วค่อยๆ ปรับปรุงไปเรื่อยๆ เมื่อมีข้อมูลเพิ่มขึ้นจากประสบการณ์ตรง

ข้อเขียนผลลัพธ์ของการเรียนรู้มี ๓ ส่วน ได้แก่

ส่วนที่ ๑ ระบุผลลัพธ์ที่วัดได้ โดยต้องเขียนเป็นคำกริยา ที่แสดงการกระทำ เช่น นิยาม จัดหมวดหมู่ สร้าง คำนวณ อย่าใช้คำที่แสดงสภาวะภายในตัวคนที่สังเกตไม่ได้ เช่น รู้ เรียนรู้ เข้าใจ ตระหนัก ชื่นชม

ส่วนที่ ๒ ระบุเงื่อนไขของผลลัพธ์นั้น ว่าสามารถทำได้ในสถานการณ์ใด โดยวิธีใด เช่นโดยการเขียน โดยการนำเสนอด้วยวาจา โดยการนำเสนอเป็นแผ่นภาพ โดยการนำเสนอเป็นมัลติมีเดีย เป็นต้น

ส่วนที่ ๓ เกณฑ์และมาตรฐานในการวัดผลลัพธ์ดังกล่าว เพื่อให้รู้ว่า ผลลัพธ์แค่ไหนจะได้เกรด เอ, บี, ซี, หรือตก


ชนิดของผลลัพธ์การเรียนรู้

มี ๕ ชนิด ได้แก่

  • ๑.ด้านการคิด หรือพุทธิพิสัย (cognitive) ตัวอย่างเช่น ความรู้และความจำ; ความเข้าใจและการแปลความ; การประยุกต์ใช้, การวิเคราะห์, การสังเคราะห์ และการสร้าง; การประเมินผล
  • ๒.ด้านทักษะพิสัย (psychomotor) สามารถลงมือทำได้ อาจต้องอาศัยความสัมพันธ์ระหว่างตากับมือ เช่น ปฏิบัติการทางการแพทย์และ การพยาบาล; เทคนิคทางห้องปฏิบัติการ; ปฏิบัติการด้านสัตว์ทดลอง; การประกอบ ทดสอบ ใช้งาน ซ่อม เครื่องยนต์หรือยานยนต์; การร้องเพลง; การเต้นรำ; การเล่นเครื่องดนตรี; การใช้เสียง และหน้าตาท่าทางในการพูดในที่สาธารณะ
  • ๓.ด้านจิตพิสัย (affective) เช่น การมีท่าทีที่เหมาะสมในการดูแลผู้ป่วย และให้ความเห็นอกเห็นใจ; การแสดงความน่าเชื่อถือและความเอาใจใส่ต่อลูกความ ลูกค้า ผู้ใต้บังคับบัญชา และนักศึกษา; แสดงความอดทนอดกลั้นต่อความเห็นที่ต่าง; แสดงอารมณ์ที่มั่นคง มั่นใจ ผ่อนคลาย และตอบสนองต่อผู้ฟัง ในการพูดในที่สาธารณะ
  • ๔.ด้านจริยธรรม (ethical) แสดงการตัดสินใจที่คำนึงถึงผลกระทบต่อบุคคลอื่น ต่อสัตว์ หรือต่อสภาวะแวดล้อม เช่น การตัดสินใจของแพทย์หรือพยาบาลเกี่ยวกับการจัดลำดับ ก่อนหลังในการดูแลผู้ป่วย การยกเลิกการดูแล หรือการยืดเวลาตาย; การตัดสินใจของทนายความ ว่าจะดูแลผลประโยชน์ของลูกความอย่างไร; การตัดสินใจทางการบริหาร ที่มีข้อได้เสียด้านสังคม เศรษฐกิจ การเมือง และด้านนิติธรรม
  • ๕.ด้านสังคม (social) แสดงออกเป็นพฤติกรรมต่อคนอื่น เช่น ความร่วมมือและเคารพผู้อื่นเมื่อทำงานเป็นทีม; การแสดงภาวะผู้นำในยามจำเป็น; การแสดงความมุ่งมั่น (ไม่ใช่ก้าวร้าว เมินเฉย หรือดื้อแพ่ง) ในยามมีความขัดแย้ง; มีทักษะในการต่อรองหรือเจรจา

วิธีจำแนกผลลัพธ์ของการเรียนรู้อีกแบบหนึ่ง เสนอโดย Fink ว่ามี ๖ ชนิด

  • ๑.ความรู้พื้นฐาน (Foundational Knowledge) นักศึกษาสามารถทบทวนความจำและแสดงความเข้าใจแนวคิด และสารสนเทศ เรื่องต่างๆ เป็นพื้นฐานการเรียนรู้ระดับต่อๆ ไป
  • ๒.การประยุกต์ (Application) นักศึกษาสามารถคิดอย่างซับซ้อน บูรณาการการคิดอย่างมีวิจารณญาณ คิดสร้างสรรค์ และคิดสู่การปฏิบัติ; พัฒนาทักษะที่สำคัญ; และเรียนรู้วิธีจัดการโครงการที่ซับซ้อน ทำให้สมารถเรียนรู้อย่างอื่นได้ต่อไปอีก
  • ๓.บูรณาการ (Integration) นักศึกษาเห็นความเชื่อมโยง ระหว่างแนวคิด สาขาวิชา บุคคล และความเป็นจริงในชีวิตของตน
  • ๔.มิติของความเป็นมนุษย์ (Human dimension) นักศึกษารู้จักตนเอง และรู้จักผู้อื่นมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เข้าใจมิติของความเป็นมนุษย์ต่อการเรียนรู้
  • ๕.เอาใจใส่ (Caring) นักศึกษาเรียนรู้ด้านความสนใจ ความรู้สึก และคุณค่า ในสิ่งที่ตนกำลังเรียน และเกิดแรงบันดาลใจที่จะเรียนรู้ต่อไปอีก
  • ๖.เรียนรู้วิธีเรียนรู้ (Learning how to learn) นักศึกษาเรียนรู้กระบวนการเรียนรู้ของตนเอง และกระบวนการเรียนรู้โดยทั่วไป ซึ่งจะช่วยให้นักศึกษาเรียนรู้อย่างมีสติ อย่างได้ผล และอย่างมีประสิทธภาพ


ชนิดของผลลัพธ์การเรียนรู้ด้านพุทธิพิสัย

การเขียนผลลัพธ์ของการเรียนรู้ด้านพุทธิพิสัย (Cognitive Outcomes) เน้นกันมากที่สุดในมหาวิทยาลัย จึงลงรายละเอียดด้านนี้ โดยถือตาม Bloom’s Taxonomy ดังนี้

  • จำได้ (มีความรู้) (Remembering) (ต่ำสุด)
  • เข้าใจ ( Understanding)
  • ประยุกต์ได้ (Applying)
  • วิเคราะห์ได้ (Analyzing)
  • ประเมินได้ (Evaluating)
  • สร้างสรรค์ได้ (Creating / Synthesizing) (สูงสุด)

ในตารางที่ ๒.๑ ของหนังสือ ได้ให้คำกริยาที่แสดงขีดความสามารถในผลลัพธ์การเรียนรู้ของแต่ละระดับ เช่นในระดับที่ ๖ สร้างสรรค์/สังเคราะห์ได้ หนังสือให้คำกริยาไว้ดังต่อไปนี้ adapt, arrange, assemble, build, change, collect, compose, conclude, construct, create, design, develop, discover, estimate, extend, formulate, forward, generalize, imagine, infer, integrate, invent, make up, manage, modify, originate, organize, plan, post, predict, prepare, produce, propose, set up, suppose, theorize

ในตารางที่ ๒.๒ ได้ให้ตัวอย่างวลีของผลลัพธ์การเรียนรู้ด้านพุทธิพิสัยแต่ละระดับไว้ ตัวอย่างในระดับ ประเมินได้ เช่น “ประเมินความน่าเชื่อถือของข้อสรุปที่ได้จากข้อมูลและการวิเคราะห์ทางสถิติ” “ให้คำแนะนำการลงทุนในหุ้น ตามข้อมูลผลประกอบการของบริษัท และมูลค่าคาดการณ์”

ในภาษาทางการศึกษาสมัยเก่า ตอนที่ผมเริ่มเป็นอาจารย์เมื่อเกือบครึ่งศตวรรษมาแล้ว ยังไม่มีคำว่า “ผลลัพธ์ของการเรียนรู้” (Learning Outcome) แต่ใช้คำว่า “วัตถุประสงค์ของการเรียนรู้” (Learning Objective) แทน


ออกแบบกระบวนการเรียนรู้

การออกแบบกระบวนการเรียนรู้ใช้หลักการ “ออกแบบถอยหลัง” (backward design) จากผลลัพธ์ของการเรียนรู้ (ที่กำหนด) ที่อาจเรียกว่า “เป้าหมายปลายทาง” ย้อนกลับมาที่ “เป้าหมายรายทาง” และย้อนกลับมาที่จุดปัจจุบัน หรือพื้นความรู้เดิม ของนักศึกษา

เป้าหมายรายทางต้องเริ่มจากง่ายไปหายาก คือนักศึกษาต้องบรรลุผลลัพธ์การเรียนรู้ที่เป็นพื้นฐาน หรือง่ายก่อน แล้วจึงค่อยๆ บรรลุเป้าหมายรายทางที่ยากขึ้นๆ และต้องใช้เป้าหมายแรกๆ เป็นตัวเชื่อม ในหนังสือ เขายกตัวอย่างการเขียนกระบวนการเรียนรู้ เพื่อบรรลุเป้าหมาย “มีความสามารถในการเขียนข้อเสนอ โครงการวิจัย” ขั้นตอนผลลัพธ์การเรียนรู้ (เป้าหมายรายทาง) เรื่องนี้ เรียงจากหน้าไปหลัง ควรเป็นดังนี้

  • กำหนดกรอบปัญหาการวิจัย หรือกำหนดสมมติฐาน
  • แสดงเหตุผลว่าเรื่องนั้นมีความสำคัญ
  • ดำเนินการทบทวนวรรณกรรม (literature review) และเขียนรายงาน
  • ออกแบบการวิจัยที่เหมาะสม
  • ระบุวิธีเก็บข้อมูล
  • ระบุวิธีการวิเคราะห์ข้อมูล
  • อธิบายความสำคัญของผลลัพธ์ที่ได้
  • ระบุงบประมาณที่ต้องการ

นี่คือตัวอย่างโครงเป้าหมายรายทาง สำหรับใช้ออกแบบกระบวนการเรียนรู้ ของรายวิชา

อาจารย์ต้องไม่ลืมว่า การเรียนรู้ที่แท้ คือการฝึกทักษะสำหรับนำไปใช้งานได้ในสภาพจริงของชีวิต ไม่ใช่การ “มีความรู้” แบบจำได้หมายรู้ ซึ่งเป็นเพียงขั้นต้นของผลลัพธ์การเรียนรู้ ดังนั้น ในขั้นตอนของ การเรียนรู้ นักศึกษาต้องค่อยๆ เข้าใจมายาของความรู้ ว่าความรู้ที่คงที่ตายตัวไม่มีอยู่จริง เพราะสถานการณ์จริง มีความซับซ้อนมีบริบทที่แตกต่างหลากหลาย ความรู้ที่นำมาใช้จริงและได้ผลย่อมต้องซับซ้อนตามไปด้วย


กรอบทฤษฎีสำหรับใช้ออกแบบกระบวนการเรียนรู้ของรายวิชา

หนังสือเล่มนี้เสนอว่า มีทฤษฎีอยู่ ๓ ชุด ที่จะช่วยเป็นหลักหรือกรอบยึด ในการออกแบบกระบวนการ เรียนรู้ คือ

  • 1.ทฤษฎี Taxonomy of Cognitive Operation ของ Bloom และที่ปรับปรุงโดย Anderson & Krathwohl
  • 2.ทฤษฎี Cognitive Development ของ Perry และทฤษฎีของ Baxter – Magolda
  • 3.ทฤษฎี Categories of Learning ของ Fink

สองทฤษฎีแรกเน้นพัฒนาการเป็นขั้นตอน จากง่ายไปยาก (heirarchical) แต่ทฤษฎีของ Fink แตกต่างออกไป ไม่เน้นลำดับยากง่าย แต่เน้นการสั่งสม (cumulative) และปฏิสัมพันธ์ (interactive)


ให้นักศึกษาประจักษ์กระบวนการเรียนรู้ของตนเอง

นักศึกษายุคปัจจุบันไม่ถนัดการอ่านตัวหนังสือ แต่ถนัดการอ่านภาพ อาจารย์จึงควรเขียนแผ่นภาพ “แผนผังผลลัพธ์การเรียนรู้” (Outcome Map) แจกให้นักศึกษาใช้ตรวจสอบการเรียนรู้ของตนเอง


จัดการรายวิชาโดยยึดผลลัพธ์เป็นศูนย์กลาง

แผนผังผลลัพธ์การเรียนรู้เปรียบเสมือนโครงหรือโครงกระดูก อาจารย์ต้องใส่เส้นเอ็นยึดโยงกระดูก และใส่กล้ามเนื้อ เพื่อให้ได้ข้อกำหนดรายวิชาที่ครบถ้วน โดยยึดหลักเขียนแบบถอยหลัง จากผลลัพธ์สุดท้าย หรือปลายทาง มาสู่ผลลัพธ์รายทาง สู่ต้นทาง

หลักการที่สำคัญคือ สอนน้อยเกินไป ดีกว่าสอนมากเกินไป ต้องระมัดระวังว่าอาจารย์มักเป็น ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะสาขา และมีจุดอ่อนคือรู้มาก และกลัวศิษย์จะไม่รู้ จึงใส่เนื้อหาที่จะสอนมากเกินไป ผลสุดท้ายคือ ศิษย์เรียนรู้น้อย และไม่ลึก

ตำรา เอกสาร เว็บไซต์ สำหรับให้นักศึกษาอ่าน ควรจำกัดเท่าที่จำเป็น หากมีตำราประจำรายวิชา ที่เหมาะสม ๑ เล่ม จะดีที่สุด ไม่ควรให้นักศึกษาต้องซื้อตำราเกินรายวิชาละ ๑ เล่ม พึงตระหนักว่า การมอบหมายให้นักศึกษาอ่าน กับการอ่านของนักศึกษาเป็นคนละสิ่ง หากมอบหมายแล้วนักศึกษาไม่อ่าน มีคำแนะนำในบทที่ ๒๓ ของหนังสือ

กิจกรรมในชั้นเรียน การบ้าน และการทดสอบ ต้องดำเนินการตามแผนผังผลลัพธ์การเรียนรู้ที่เขียนไว้ เพื่อให้กระบวนการการเรียนรู้ดำเนินการตรงเป้า ไม่เปะปะ อาจารย์ควรใช้แผนผังผลลัพธ์ที่เขียนไว้ ช่วยนำทาง การวางแผนกิจกรรมการเรียนรู้ ลงไปถึงรายชั่วโมง

วิจารณ์ พานิช

๒๐ มิ.ย. ๕๗

บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย 

 

ชีวิตที่พอเพียง : ๒๒๑๓. อย่าเป็นนักบริโภค ให้เป็นนักลงทุน

พิมพ์ PDF

Rich Karlgaard ผู้พิมพ์นิตยสาร Forbes กล่าวสุนทรพจน์ในพิธีมอบปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัย Northcentral เมื่อวันที่ ๗ มิถุนายน ๒๕๕๗ และนิตยสาร Forbes ฉบับเดือนกรกฎาคม ๒๕๕๗ นำบางส่วนมาลงในคอลัมน์ Thought Leaders เรื่อง Advice to Grads : Get Healthy and Investมีสาระที่ดีมาก

เขาแนะนำให้ปฏิบัติตาม "triangle of health" ซึ่งประกอบด้วย สุขภาวะด้านกายภาพ (physical health), สุขภาวะด้านจิตใจและอารมณ์ (mental and emotional), และ สุขภาวะด้านสังคม (social health)

เขาแนะให้ลงทุนใน ๓ มุมของสามเหลี่ยมนี้

หลักการนั้นง่าย ในทางปฏิบัติจะว่าง่ายก็ง่าย จะว่ายากก็ยาก ขึ้นอยู่กับตัวเราเอง ที่ว่าง่ายก็คือ แค่ลงมือปฏิบัติ แต่ในชีวิตจริงของคนทั่วๆ ไป ไม่ตรงไปตรงมา เพราะมันมีความเย้ายวนให้เราเถลไถลไปนอกทาง คำแนะนำในทางปฏิบัติในบทความนี้ จึงมีค่ายิ่ง

คำแนะนำประโยคเดียวคือ จงทำให้ชีวิตของตนเต็มไปด้วยพลังและสุขภาวะ (energy and health) โดยใช้หลัก สามเหลี่ยมแห่งสุขภาวะ

วิถีปฏิบัติในชีวิตประจำวันนั่นเอง คือเส้นทางสู่สุขภาวะทางจิตใจและอารมณ์ เช่น วิธีหายใจ นั่ง ยืน และท่าทาง หากมีวิธีปฏิบัติที่ถูกต้อง มันจะช่วยประคองจิตใจและอารมณ์ นั่นคือคำแนะนำที่คุณ Rich ได้มาจากนักแสดง ฮอลลีวู้ด ในการฝึกพูด และผมยืนยันว่าใช้ได้ผล

เขาแนะนำว่า "การจัดการความกลัว" เป็นอีกเส้นทางหนึ่ง สู่สุขภาวะด้านจิตใจและอารมณ์ ผมตีความเอาเองว่า การศึกษาที่ถูกต้อง จะฝึกเยาวชนให้เป็นนักจัดการความกลัวโดยอัตโนมัติ โดยที่ทักษะในการจัดการความกลัวเป็นองค์ประกอบหนึ่งของ ทักษะแห่งศตวรรษที่ ๒๑

ผมเข้าใจว่ากลัวสอบตก เป็นปมในใจ หรือในจิตใต้สำนึกของคนจำนวนมาก ผมไม่แน่ใจว่าคนที่เรียนเก่ง หรือได้เรียนสาขายากๆ เช่นแพทย์ จะตกเป็นเหยื่อมากกว่าคนอื่นๆ หรือไม่

ในงานศพแม่ เมื่อกลางเดือนมิถุนายน ๒๕๕๗ พี่น้องผม ๓ คนที่เป็นหมอคุยกันเรื่องฝันว่าสอบตก ทั้งสามคนยอมรับต่อกันว่าฝันเรื่องนี้ซ้ำๆ กันบ่อยมาก น้องชายคนเล็กเล่าว่าเมื่อเอามาคุยในวงเพื่อนแพทย์ ก็สารภาพกันออกมาว่าตนก็ฝัน และไม่กล้าบอกใคร เมื่อมาได้ทราบว่าคนอื่นก็ฝัน ทำให้รู้สึกสบายใจว่าตนไม่ได้ผิดปกติ

น้องชายทั้งสองคนเล่าความฝันที่ฝันซ้ำๆ อีกเรื่องหนึ่ง ที่ผมก็ฝันเหมือนกัน คือเรื่องการขับรถ ที่มองไปข้างหน้าไม่เห็นและบังคับรถไม่ได้ ความฝันนี้เป็นจิตใต้สำนึกของความกลัวหรือเปล่า ก็ไม่ทราบ

สำหรับสุขภาวะด้านสังคมมีตัวอย่างชีวิตผู้คนมากมาย ที่เมื่อได้รวมกลุ่มกับผู้อื่นทำกิจกรรมเพื่อสังคม แล้วมีความสุข ที่เคยเจ็บป่วยไม่สบาย เช่นปวดหัว มึนงง นอนไม่หลับ หงุดหงิด หายไปหมด กลายเป็นคนอารมณ์ดี นอกจากนั้น ยังมีหนังสือ A World Waiting to Be Borne : Civility Rediscovered เขียนโดย Scott Peck ผู้ล่วงลับ

กลับมาที่สุนทรพจน์ของ Rich Karlgaard เขาแนะนำว่าบัณฑิตใหม่ต้องอย่าทำตนเป็น "ผู้บริโภค" (consumer) ต้องทำตนเป็น "นักลงทุน" (investor) คือเน้นลงทุนเพื่อ ๓ มุมของสามเหลี่ยมแห่งสุขภาวะ

วิจารณ์ พานิช

๑ ก.ค. ๕๗

บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย 

แก้ไขล่าสุด ใน วันศุกร์ที่ 01 สิงหาคม 2014 เวลา 11:06 น.
 


หน้า 335 จาก 561
Home

About Us

ศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ (ศบม.) เป็นองค์กรที่พัฒนาและจัดทำโครงการเพื่อทำประโยชน์ให้สังคม เป็นองค์กรสนับสนุนการดำเนินงานของภาครัฐ ช่วยแก้ปัญหาผู้ประกอบการภาคธุรกิจบริการที่ขาดแคลนบุคลากรที่มีมาตรฐานในการให้บริการ
อ่านเพิ่มเติม

มูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ ์

 iHDC Profile
บัญชีรายชื่อกรรมการ
ใบสำคัญแสดงการจดทะเบียน การเปลี่ยนแปลงกรรมการของมูลนิธิ
เอกสารประชาสัมพันธ์ โครงการ HMTC.pdf
เอกสารแนะนำโครงการ HMTC 1.pdf
เอกสารโครงการ HMTC 2 คุณสมบัติผู้เข้าร่วมโครงการ.pdf
iHDC นิติบุคคล.pdf
iHDC บุคคล.pdf
iHDC บุคคลเครือข่าย.pdf
รายงานการประชุม 6 มีนาคม 2560.pdf
ข้อบังคับมูลนิธิ
ใบสำคัญแสดงการจดทะเบียนจัดตั้งมูลนิธิ
Ihdc-Profile and Roadmap 2016-2019 Mar 23 2560.pdf
รายงานการประชุมใหญ่คณะกรรมการมูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ 2559.pdf
คำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ สาขาวิชาชีพ.pdf
รายงานการประชุมใหญ่วันที่ 18 ธ ค 2558 v 3.pdf
รายงานการประชุม วันที่ 24 ธันวาคม 2557 updated 4 มีนาคม 2558.pdf
iHDC-invitation Letter.doc
iHDC-Member Form Thai.doc
iHDC-Member Form English.doc
รายงานการประชุมกรรมการมูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ วันที่ 15 มกราคม 2556 ฉบับสมบูรณ์


thaibetter
พัฒนาประเทศไทยแบบทวีคูณ และยั่งยืน ( ททค )

Login


แบบสำรวจ

สถิติเว็บไซด์

สมาชิก : 5644
Content : 3068
เว็บลิงก์ : 26
จำนวนครั้งเปิดดูบทความ : 8746791

facebook

Twitter


ล่าสุด

บทความเก่า