Thaiihdc.org

  • เพิ่มขนาดตัวอักษร
  • ขนาดตัวอักษรปกติ
  • สดขนาดตัวอักษร
Thaiihdc.org

​การสร้างผลงานวิชาการรับใช้สังคม

พิมพ์ PDF

มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เชิญผมไปพูดเรื่องการสร้างผลงานวิชาการรับใช้สังคม แก่อาจารย์จำนวนประมาณ ๔๐ คน และมีกรณีศึกษา ๒ เรื่องมานำเสนอ คือ

  • ๑..มาตรการทางการเงินการคลังเพื่ออนุรักษ์บ้านไม้เก่าอำเภอเชียงคาน โดย ดร. ประพันธ์พงศ์ ขำอ่อน คณะนิติศาสตร์ ที่ประมวลความรู้ และวิธีปฏิบัติในประเทศตะวันตก ในการออกกฎหมายบังคับ และสร้างแรงจูงใจ ในการอนุรักษ์อาคารโบราณ ส่วนหนึ่งเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว นำมาตรวจสอบกับกฎหมายไทย เพื่อหาทางแนะนำเทศบาลตำบลเชียงคานในการออกเทศบัญญัติ สร้างแรงจูงใจทางภาษี หรือจัดตั้งกองทุนให้ความช่วยเหลือด้านการลงทุนอนุรักษ์อาคารไม้เก่า ซึ่งเป็นข้อเสนอที่น่าสนใจมาก แต่งานวิจัยเพิ่งเสร็จ ยังไม่ทราบว่าทางเทศบาลตำบลเชียงคานจะดำเนินการอย่างไร
  • ๒.การพัฒนาชุมชนบ้านซับผุด ต. ยางสาว อ. วิเชียรบุรี จ. เพชรบูรณ์ พ.ศ. ๒๕๕๓ - ๒๕๕๖ ตามโมเดล CSR พอเพียง โดย รศ. ทองทิพภา วิริยะพันธุ์ เป็นงานพัฒนาชุมชนที่น่าสนใจมาก คือฝ่าย รศ. ทองทิพภา และบริษัทแหล่งทุนหลายบริษัท เข้าไปหนุนให้ชาวบ้านรวมตัวกันคิดเองทำเอง จึงเกิดการพัฒนาอย่างเป็นขั้นตอน เริ่มจากการจัดการน้ำ เพื่อการเกษตร ทำการเกษตรพอเพียง/เกษตรอินทรีย์ นำไปสู่การพัฒนาอาชีพอื่นๆ อย่างน่าชื่นชมมาก โครงการนี้มีการเก็บข้อมูลทำเป็นรายงานวิจัยเล่มโต

narrated ppt ของการบรรยายของผม เอามา ลปรร. ที่นี่

วิจารณ์ พานิช

๒๗ มิ.ย. ๕๗

บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย 

แก้ไขล่าสุด ใน วันศุกร์ที่ 01 สิงหาคม 2014 เวลา 10:59 น.
 

ชีวิตที่พอเพียง : ๒๒๑๑. จัดระเบียบโลกใหม่

พิมพ์ PDF

บัดนี้ เป็นที่ชัดเจนแล้วว่า ระเบียบโลก และระบบการเงินโลกที่สัมพันธมิตรผู้ชนะสงครามโลก ครั้งที่สอง นำโดยสหรัฐ ไปตกลงกันที่ Bretton Woods ที่เรียกว่า Bretton Woods Consensus นั้น ล้มเหลว นำพาโลกไปผิดทาง ดังบทความเรื่อง Toward Income Equality : A plan to alleviate poverty to better achieve stability, peace and harmony ซึ่งเป็นบทความ Advertising Supplement ของ นสพ. International New York Times วันที่ ๒๖ มิถุนายน ๒๕๕๗ ผู้ลงโฆษณาคือ Astana Economic Forum 2014 : Blueprint for global progress ที่ประเทศ คาซักสถาน

บทความนี้เขียนดีมาก ชี้ให้เห็นว่าระบบการเงินโลกที่ใช้อยู่ในปัจจุบันล้าสมัย นำไปสู่ความยากจนและ ความไม่เท่าเทียมกัน ผลต่อเนื่องคือความไม่มั่นคง ความขัดแย้ง และสงคราม ดังที่เราเห็นประทุตามที่ต่างๆ ในโลกมากขึ้นๆ น่าเสียดายที่บทความนี้ค้นด้วย กูเกิ้ล ไม่พบ

ระบบโลกปัจจุบัน เป็นระบบที่ยึดกฎที่เขาเรียกว่า Social Darwinism หรือชัยชนะของผู้แข็งแรง หรือผู้ได้เปรียบ

ในอีกหน้าหนึ่งของเอกสารชุดเดียวกัน มีเรื่อง World Anticrisis Conference ซึ่งจัดที่เดียวกัน และช่วงวันที่ ๒๑ - ๒๓ พฤษภาคม ๒๕๕๗ เช่นเดียวกันกับ Astana Economic Forum 2014 และมีการตีพิมพ์เผยแพร่ Concept of the World Anticrisis Plan

เมื่อค้นใน เว็บไซต์ ของ Astana Economic Forum ไปเรื่อยๆ จะพบเรื่อง Global Risk Expo ทำให้ได้ความรู้ว่าโลกเขากำลังหาทางป้องกันหายนะของมนุษยชาติกันอย่างไร

โลกมนุษย์ต้องการการจัดระเบียบใหม่ สร้างกฎกติกาของการอยู่ร่วมกันใหม่ ไม่ให้เกิดการแตกต่างกันมากเกินไป เพื่อความมั่นคงของสังคมมนุษย์ ลดวิกฤติด้านต่างๆ ลง ตัวอย่างของประเทศที่กติกาดี ผู้คนมีชีวิตอยู่อย่างราบรื่น และความแตกต่างระหว่างคนมีน้อย คือกลุ่มประเทศสแกนดิเนเวีย และสวิตเซอร์แลนด์

ประเทศไทยกำลังอยู่ในช่วงปฏิวัติ จัดระเบียบสังคมและเศรษฐกิจใหม่ เราควรเอาจริง เอาจังกับการปฏิวัตินี้ ปรับให้ถึงระดับโครงสร้าง วางรากฐานการเปลี่ยนแปลง ออกจากสังคม ที่เน่าเฟะด้วยคอร์รัปชั่น และความเห็นแก่ตัว ที่ระบอบทักษิณทิ้งไว้

วิจารณ์ พานิช

๒๗ มิ.ย. ๕๗

บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย 

แก้ไขล่าสุด ใน วันศุกร์ที่ 01 สิงหาคม 2014 เวลา 13:33 น.
 

ชีวิตที่พอเพียง : ๒๒๐๘. ร่วมกันปฏิรูปบ้านเมือง เริ่มที่เยาวชนท้องถิ่น

พิมพ์ PDF

เช้าวันที่ ๑๙ มิถุนายน ๒๕๕๗ ผมไปร่วมประชุม โครงการพัฒนาเยาวชนในชุมชนท้องถิ่น ๔ ภาค ระยะที่ ๒ซึ่งท่านที่สนใจอ่านเรื่องราวของโครงการได้ที่นี่

ผลงานชิ้นหนึ่งของโครงการนี้คือ หนังสือ เชื่อมร้อยและถักทอ บทเรียนความสำเร็จของนักถักทอชุมชน รุ่น ๑ ในการสร้างกลไกพัฒนาเยาวชนในชุมชนท้องถิ่น ซึ่งอ่านหรือ ดาวน์โหลด ได้ ที่นี่

ในการประชุม ผมได้ฟังการนำเสนอโครงการ๕ โครงการ ที่นักถักทอชุมชนไปชวนภาคีในท้องถิ่น ดำเนินการ ตามที่มีเล่าแล้วในหนังสือ เชื่อมร้อยและถักทอ ดำเนินการโรงเรียนพ่อแม่แก้ปัญหาแม่วัยใส พัฒนาศูนย์เด็กเล็ก ชวนเด็กทำดี เป็นต้น

นักถักทอชุมชน เป็นคนของ อบต. หรือเทศบาลตำบล ได้มาฝึกวิธีทำงานเป็นเครือข่าย เกิดทักษะใหม่ คุณค่าใหม่ กระบวนทัศน์ใหม่ เปลี่ยนจากกระบวนทัศน์เดิมที่ต่างคนต่างทำ หรือต่างหน่วยงานต่างทำ น่าชื่นชมอย่างยิ่ง หากกระบวนทัศน์นี้ยั่งยืนถาวร ก็จะเกิดประโยชน์ต่อบ้านเมืองของเราอย่างยิ่ง

ยิ่งกว่านั้น นักถักทอชุมชนยังได้เรียนรู้วิธีทำงานกับเยาวชน หาทางพัฒนาเยาวชนด้วยกิจกรรมในพื้นที่เอง ดำเนินการร่วมกับภาคีเครือข่ายที่หลากหลาย เกิดความรู้ความเข้าใจเยาวชนหลากหลายด้าน

มีโครงการหนึ่ง หลงดำเนินการวัด ไอคิวเด็ก และเอาผลไปบอกแก่พ่อแม่ กรรมการชี้ทิศทางท่านหนึ่ง คือ นพ. อุดม เพชรสังหาร จึงแนะนำว่า นั่นเป็นวิธีการเชิงลบ จะให้ผลเสียต่อการพัฒนาเด็ก วิธีดำเนินการ ต่อเด็กเล็กที่ถูกต้องคือ ต้องดูแลเด็กทุกคน ไม่เน้นที่เด็กเก่ง เพราะความเก่งหรือสมองดีไม่ใช่ประเด็นสำคัญที่สุด ต่อการมีชีวิตที่ดีในอนาคตเมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่ ท่านบอกว่าตัวตัดสินคือ Executive Function

ผมได้ที จึงสนับสนุนต่อว่า มีทฤษฎีว่าด้วยการเลี้ยงเด็กอยู่ ๒ ทฤษฎีที่ขัดกัน คือทฤษฎี Cognitive Theory กับ Non-cognitive Theory

ทฤษฎีแรก เป็นสิ่งที่ยึดถือกันทั่วไปในโลก รวมทั้งประเทศไทย คือเลี้ยงหรือดูแลเด็กเล็กโดยเน้นที่ “การเตรียมความพร้อม” สู่การเรียนวิชา แต่ในช่วงหลังๆ นี้ ผลการวิจัยบอกว่า เลี้ยงเด็กเล็กแบบ เน้นพัฒนาความยังยั้งชั่งใจ หรือการควบคุมตนเอง ให้ผลต่อชีวิตอนาคตดีกว่า นี่คือทฤษฎีหลัง หรือ Personality Traits Theory หรือ Character Theory ซึ่งมีตัวอย่างอยู่ในหนังสือ How Children Succeed ซึ่งก็เป็นเรื่องเดียวกันกับ EF นั่นเอง

ผมมีภารกิจที่จะต้องนั่งรถยนต์ ๕ ชั่วโมงไปชุมพร นัดให้ลูกสาวไปรับที่โรงแรม มิราเคิล สถานที่ประชุมเวลา ๑๑.๐๐ น. พอเวลา ๑๐.๔๕ น. เขาก็โทรศัพท์มาบอกว่า ได้นั่งรอที่ ล็อบบี้ ของโรงแรมอยู่แล้ว เมื่อจบการนำเสนอรายการที่ ๕ ผมจึงต้องขออนุญาตที่ประชุม ขอให้ความเห็นในภาพรวม มาคิดได้ทีหลังว่าผมลืมพูดเรื่องสำคัญที่สุด ที่ตั้งใจจะพูด

ที่ตั้งใจจะพูดคือ จะบอกว่าสิ่งที่คณะของนักถักทอชุมชนนี่แหละที่เป็น “การปฏิรูปประเทศไทย” ตัวจริงของจริง ที่ คสช. กำลังทำนั้นเป็นการปฏิรูประดับโครงสร้าง หรือภาพใหญ่ ที่ต้องการเนื้อในที่เรากำลัง ดำเนินการกันอยู่ หากไม่มีเนื้อในที่ดี กิจกรรมของ คสช. ก็จะเหมือน “ปูโพรก” หรือปูที่ไม่มีเนื้อ โครงข้างนอกดี แต่ไม่มีสาระหรือการปฏิรูปคุณภาพคน

ที่เรากำลังทำกันอยู่ คือการพัฒนาคุณภาพคน และไม่มีใครทำได้ดีเท่ากับคนในท้องถิ่นลุกขึ้นมา ดำเนินการกันเป็นเครือข่าย มีการถักทอสานพลังกันในท้องถิ่น และร่วมมือกับกลไกหรือภาคีภายนอก

ย้ำว่า คนในชุมชนท้องถิ่นต้องลุกขึ้นมาดำเนินการกันเอง เพื่อยกระดับคุณภาพของเด็กและเยาวชน ของตน ต้องไม่รอให้คนนอกมาชวน เราต้องเน้นพึ่งตนเอง คิดทำกันเอง อย่างต่อเนื่อง แล้วชวนหน่วยงาน หรือบุคคลภายนอกมาร่วมมือ ยุทธศาสตร์นี้จะมีผลให้หน่วยงานและบุคคลภายนอกมาร่วมมือจำนวนมาก

ผมเดาว่า จะมีคนนำคำที่ผมพูดในวันนั้น เอาไปเล่าต่อ จึงจะไม่เล่าเอง ขอสรุปว่า ผมมีความสุขมากในวันนั้น ที่ได้เห็นขบวนการขับเคลื่อนการพัฒนาเยาวชนในท้องถิ่น ที่ดำเนินการโดยการรวมตัวกันของคนในชุมชน เป็นจุดเริ่มต้น “ท้องถิ่นปกครองตนเอง” “จังหวัดปกครองตนเอง” เป็นรากฐานของการกระจายอำนาจการปกครองประเทศ ที่จะทำให้ประเทศไทยมีความก้าวหน้าเป็นประเทศ ที่พัฒนาแล้ว ที่ผู้คนจะไม่ถูกหลอกโดยนักการเมืองจอมโกงอีกต่อไป

“พี่ใหญ่” คุณนงนาท สนธิสุวรรณ เล่าเรื่องการประชุมนี้ไว้ ที่นี่

แก้ไขล่าสุด ใน วันอาทิตย์ที่ 27 กรกฏาคม 2014 เวลา 13:08 น.
 

ชีวิตที่พอเพียง : ๒๒๐๗. ความสุขจากการได้เป็นส่วนหนึ่งของความงอกงามทางวิชาการ

พิมพ์ PDF

เป็นความงอกงามทางวิชาการเข้าสู่ประโยชน์ด้านสุขภาวะของคนวงกว้าง ไม่ใช่งอกงามทางวิชาการ เพื่อวิชาการ คือเรื่องพยาธิใบไม้ในตับ กับมะเร็งท่อน้ำดีในภาคอีสาน ขยายจากการทำงานวิจัยพื้นฐาน ของศูนย์วิจัยพยาธิใบไม้ตับกับมะเร็งท่อน้ำดี ของ มข. ออกสู่การควบคุมและป้องกันโรคมะเร็งท่อน้ำดีในระดับภาค

จากงานวิจัยพื้นฐาน (Basic Research) เกี่ยวกับปรสิต คือพยาธิใบไม้ตับ และกลไกการเกิดมะเร็งท่อน้ำดี งอกงามหรือขยายสู่โครงการ “แก้ไขปัญหาพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดีในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ” (CASCAP – Cholangiocarcinoma Screening and Care Program) นำโดย รศ. นพ. ณรงค์ ขันตีแก้ว ที่มีระบบการจัดการเชิงเครือข่ายความร่วมมือเข้มแข็งอย่างน่าพิศวง

อ. หมอณรงค์เป็นศัลยแพทย์ หมอศัลย์โดยทั่วไปเก่งผ่าตัดคนไข้เป็นรายๆ แต่ อ. หมอณรงค์เรียนรู้ วิธีทำงานเป็นระบบ และเป็นเครือข่ายอย่างรวดเร็ว และมีการใช้ IT มาเป็นเครื่องมือในการทำงานร่วมมือกับ ประชากรกลุ่มเสี่ยงโดยตรงที่ เว็บไซต์ของโครงการ เกิดการลงทะเบียนบุคคลที่ตกอยู่ในกลุ่มเสี่ยง ด้วยตัวของเขาเอง ณ วันที่ ๑๖ มิถุนายน ๒๕๕๗ ที่ผมไปร่วมประชุมคณะกรรมการนโยบายศูนย์วิจัย พยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี มีผู้ลงทะเบียนกว่า ๖ หมื่นคน และเพิ่มขึ้นตลอดเวลา รศ. ดร. บัณฑิต ถิ่นคำรพ ผู้รับผิดชอบระบบ IT ของ CASCAP บอกว่า ท่านเป็นคนหนึ่งในหกหมื่นกว่าคนนั้น

ประชากรกลุ่มเสี่ยง จะได้รับการตรวจสอบรายละเอียดของความเสี่ยง และหาทางป้องกันไม่ให้ ชีวิตดำเนินไปสู่ปลายทางที่เป็นมะเร็งท่อน้ำดี ซึ่งเป็นเรื่องที่ซับซ้อน และจะต้องมีการทดลองดำเนินการ และวิจัยผลลัพธ์ต่อไป

โครงการ CASCAP นี้ได้รับ การสนับสนุนในลักษณะ Program 5 ปี งบประมาณกว่า ๕๐๐ ล้านบาท จากรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ และได้งบประมาณมาในปี ๒๕๕๗ เป็นเงินกว่า ๕๐ ล้านบาท และคาดว่าจะได้รับงบประมาณปี ๒๕๕๘ เกือบ ๑๖๒ ล้านบาท

ความสำเร็จในการหางบประมาณมาสนับสนุนกิจกรรมที่ดำเนินการโดย มข. ทำให้อธิการบดี และคณบดีคณะแพทยศาสตร์มีความสุข หรือพอใจ แต่กองเชียร์ภายนอกอย่างผม อยากเห็นคนอีสาน ได้รับประโยชน์ คืออุบัติการของมะเร็งท่อน้ำดีลดลง เกิดผลในลักษณะ primary prevention หรือ การป้องกันที่ต้นตอของโรค

อ. หมอณรงค์ บอกว่าเมื่อปีที่แล้ว ผมให้คำแนะนำว่า (ซึ่งผมลืมไปแล้ว) ต้องคิด risk management ว่าหากไม่ได้งบประมาณแผ่นดินอย่างต่อเนื่อง โครงการแก้ไขปัญหาพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี ในภาคตะวันออกเฉัยงเหนือ จะดำเนินการต่อเนื่องได้อย่างไร นำไปสู่การจัดตั้งมูลนิธิมะเร็งท่อน้ำดี และเชิญ ผศ. พญ. เนตรเฉลียว สัณหพิทักษ์ อดีตคณบดีคณะแพทยศาสตร์มาเป็นประธานกรรมการมูลนิธิ เวลานี้มูลนิธิฯ มีเงินกว่า ๔.๘ ล้านบาท เอาไว้ใช้ยามยาก

ปีนี้ผมให้ความเห็นว่า คงต้องคิด exit strategy ไว้ล่วงหน้า ว่าหลังจบโครงการนี้ คือครบ ๕ ปี กิจกรรมตรวจคัดกรองโรคพยาธิใบไม้ตับ และการจัดการความเสี่ยงของประชากรในภาคอีสาน จะมีหน่วยงานไหนรับไปทำ ซึ่งก็คงไม่พ้นหน่วยงานในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข

โครงการ CASCAP นี้ ต้องมีการจัดการแบบประสานสิบทิศ ผมรู้สึกพิศวงในความสามารถ ของศัลยแพทย์อย่างอาจารย์หมอณรงค์ ในการจัดการนี้

ศูนย์วิจัยพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี ประสบความสำเร็จสูงมากด้านการวิจัยพื้นฐาน สร้างความรู้ใหม่เกี่ยวกับพยาธิใบไม้ตับ และกลไกการเกิดมะเร็งท่อน้ำดี มีการตีพิมพ์ในวารสารวิชาการ ระดับยอดของโลก สร้างผลงานความร่วมมือกับต่างประเทศมากมาย และกำลังสร้างนวัตกรรม อีกด้านหนึ่งคือด้านการป้องกันและรักษา โดยได้เชิญ นพ. ยศ ตีระวัฒนานนท์ จาก HITAP มาช่วยให้ความเห็น และร่วมมือวิจัยความคุ่มค่าของโครงการ CASCAP ซึ่งจะเป็นวิธีทำงานที่มีกลไกตรวจสอบวิธีการดำเนินการ ของตนเอง ว่าคุ้มค่าหรือไม่ นี่ก็เป็นนวัตกรรมในการทำงานวิชาการอีกอย่างหนึ่ง

วิจารณ์ พานิช

๒๐ มิ.ย. ๕๗

โรงแรมนานาบุรี จังหวัดชุมพร

บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย 

แก้ไขล่าสุด ใน วันศุกร์ที่ 25 กรกฏาคม 2014 เวลา 10:07 น.
 

สอนอย่างมือชั้นครู : ๒. เข้าใจศิษย์ และเข้าใจวิธีเรียนของศิษย์ (๒) พัฒนาการด้านทักษะการเรียนรู้

พิมพ์ PDF

บันทึกชุด “สอนอย่างมือชั้นครู” ๓๔ ตอน ชุดนี้ ตีความจากหนังสือ Teaching at Its Best : A Research-Based Resource for College Instructors เขียนโดย Linda B. Nilson ซึ่งเป็นฉบับพิมพ์ปรับปรุงครั้งที่ ๓ ผมขอเสนอให้อาจารย์ในสถาบันการศึกษาไทยทุกคน หาหนังสือเล่มนี้อ่านเอง เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ เพราะหากติดตามอ่านจากบันทึกใน บล็อก ของผม ซึ่งลงสัปดาห์ละตอน จะใช้เวลากว่าครึ่งปี และการอ่านบันทึกของผมจะแตกต่างจากการอ่านฉบับแปล หรืออ่านจากต้นฉบับโดยตรง เพราะบันทึกของผมเขียนแบบตีความ ไม่ได้ครอบคลุมสาระทั้งหมดในหนังสือ

ตอนที่ ๒ นี้ ตีความจาก Part One : Laying the Groundwork for Student Learning ซึ่งอาจารย์มหาวิทยาลัยต้องเตรียมตัวก่อนเปิดเทอม มี ๕ บท ตอนที่ ๑ ตีความจากส่วนต้นของบทที่ 1. Understanding Your Students and How They Learn -- ทำความรู้จักศิษย์ และวิธีเรียนรู้ของศิษย์ ตอนที่ ๒ เป็นส่วนหลังของบทที่ ๑


พัฒนาการด้านการเรียนรู้ของนักศึกษาระดับปริญญาตรี

ประเด็นที่อาจารย์พึงตระหนักคือ นศ. ปี ๑ และ ปี ๒ ในระดับปริญญาตรี ยังเป็น “ผู้เยาว์” ในด้าน ทักษะการเรียนรู้ รวมทั้ง นศ. บางคนขึ้นปี ๔ แล้ว ก็อาจยังเป็นผู้เยาว์ ในด้านนี้อยู่ โดยผมขอสารภาพว่าตัวผมเองยังเป็นผู้เยาว์ในพัฒนาการทักษะการเรียนรู้หลังจบเป็นแพทย์ ต่อเนื่องไปอีกหลายปี ซึ่งหมายความว่า เมื่อผมได้รับบรรจุเป็นอาจารย์แล้ว ผมก็ยังเป็นผู้เยาว์ด้านการเรียนรู้ ต่อไปอีกสองสามปี

หน้าที่ของอาจารย์คือ ต้องช่วยให้ศิษย์เกิดพัฒนาการด้านวิธีเรียนรู้ ให้เกิดวุฒิภาวะด้านการเรียนรู้(epistemological maturity ) หรือ cognitive growth โดยต้องเข้าใจขั้นตอนของพัฒนาการด้านนี้

Linda B. Nilson อ้างถึงทฤษฎีพัฒนาการด้านปัญญา และจริยธรรม ในนักศึกษาระดับปริญญาตรี ของWilliam G. Perry และ สี่ระดับของการรู้ ของ Baxter Magolda และนำมาเปรียบเทียบในตาราง 1.1 ในหนังสือ ดังนี้

ขั้นตอนของพัฒนาการด้านการเรียนรู้ของ นศ. ป. ตรี ตามแนวคิดของ เปอร์รี่ ระดับการรับรู้ ตามแนวคิดของ มาโกลดา
3. เชิงเปรียบเทียบ (relativism) : ความเห็นทุกอย่างเท่าเทียมกัน
    มาตรฐานการเปรียบเทียบ
รู้อย่างอิสระ (independent knowing)
1. คิดสองขั้ว (duality) : คิดแบบขาวดำ ผู้มีอำนาจกำหนด
    ความไม่แน่นอน
รู้แบบสัมบูรณ์ (absolute knowing)
2. คิดหลายขั้ว (multiplicity) : ผู้มีอำนาจอ่อนแอ หรือชั่วคราว
    ความไม่แน่นอนเป็นสิ่งที่ยอมรับ หรือเป็นปกติ
รู้แบบเป็นทางผ่าน (transitional knowing)
4. ผูกพัน (ชั่วคราว) กับทฤษฎีที่ดีที่สุดที่มี รู้แบบผูกอยู่กับบริบท (contextual knowing)


หากจัดการเรียนรู้แบบบรรยายเนื้อวิชา นักศึกษาจะไม่มีวันเข้าใจความซับซ้อนนี้ ต้องให้เรียนรู้จากการ ลงมือปฏิบัติในสถานการณ์จริง แล้วสะท้อนคิด (reflection) ความซับซ้อนหลากหลายของความรู้ นศ. ก็จะค่อยๆ เกิดพัฒนาการด้านการรับรู้และเรียนรู้          ผมตีความว่า นี่คือการจัดสภาพการเรียนรู้ ในสภาพที่ไม่ชัดเจน ไม่แน่นอนตายตัว ที่ช่วยให้ศิษย์ ได้เข้าใจ ความเป็นจริงเกี่ยวกับความรู้และการเรียนรู้ ว่ามันซับซ้อนอย่างยิ่ง และในความเป็นจริง เรื่องต่างๆ มีหลายมิติ ซ้อนทับกันอยู่ หรือประกบกันอยู่ ทำให้ความรู้ต่างๆ มีหลายแง่หลายมุม

Willian G. Perry จัดตำแหน่งของระดับพัฒนาการด้านการเรียนรู้ออกเป็น ๙ ตำแหน่ง และบอกว่า นศ. ปี ๑ เข้ามหาวิทยาลัยโดยมีโลกทัศน์ที่ตำแหน่งที่ ๑ คือ โลกทัศน์ทวิลักษณ์ (dualistic) คือมองโลกและความรู้ เป็นสองขั้ว ถูก-ผิด ขาว-ดำ เมื่อพัฒนาเข้าสู่ตำแหน่งที่ ๒ เป็นโลกทัศน์พหุลักษณ์ (multiplicity) มองโลกและ ความรู้ว่ามองได้หลายแบบ หลายมุม ไม่ได้มีแค่ถูก-ผิด ขาว-ดำ ในตำแหน่งที่ ๓ นศ. เข้าใจความไม่แน่นอน (uncertainty) ของความรู้ แม้ “ผู้รู้” ก็ไม่ใช่ว่าจะรู้ถูกต้องไปทุกเรื่อง

ที่ตำแหน่งที่ ๔ นศ. เข้าใจว่าโลกและความรู้เป็น สัมพัทธ์ (relativism) ซึ่งอาจเรียกว่า เป็นสมมติ เมื่อเข้าสู่ตำแหน่งที่ ๕ นศ. เข้าใจว่า ความรู้ทุกอย่างเป็นสัมพัทธ์ และขึ้นกับบริบท โดยมีข้อกำหนด หรือ กติกากำกับ ในตำแหน่งที่ ๖ นศ. มีความสับสนกับความไม่ชัดเจนของความรู้ และเริ่มต้องการกำหนดตำแหน่ง ความเชื่อของตนเอง เมื่อกำหนดได้ก็เข้าสู่ตำแหน่งที่ ๗ คือยึดถือ (commitment) ความรู้ชุดหนึ่ง ในบางเรื่อง และในตำแหน่งที่ ๘ นศ. นำชุดความเชื่อนั้นไปทดลองใช้ในบริบทต่างๆ และเกิดความเข้าใจ พลัง และข้อจำกัดของความรู้ชุดนั้น และเข้าสู่ตำแหน่งที่ ๙ คือ เกิดความเข้าใจว่า ใจที่เปิดกว้าง รับรู้และเรียนรู้สรรพสิ่ง เป็นพื้นฐานของการเรียนรู้ตลอดชีวิต

Nelson อธิบายความสำคัญของพัฒนาการด้านทักษะการเรียนรู้ (cognitive growth) ของ นศ. ที่ นศ. สมองดี แต่พัฒนาการนี้ต่ำและไม่ได้รับความช่วยเหลือ อาจล้มเหลวในการเรียนได้ และแนะนำวิธีการฝึกให้ นศ. พัฒนาทักษะด้านการเรียนรู้ โดยหาทางให้ นศ. ได้พบเห็นความไม่แน่นอนของความรู้ในแต่ละวิชา ด้วยตนเอง อ่านบทความได้ ที่นี่

การได้ประจักษ์ความไม่แน่นอนของความรู้ ให้ นศ. เข้าใจว่า ไม่ใช่มีความรู้ที่ถูกต้องเพียงชุดเดียว จะช่วยให้ นศ. หลุดพ้นจากบ่วงโลกทัศน์ทวิลักษณ์ (ตำแหน่งที่ ๑) และพหุลักษณ์ (ตำแหน่งที่ ๒) รวมทั้งความไม่แน่นอน (ตำแหน่งที่ ๓)

เมื่อ นศ. เข้าใจความไม่แน่นอนของความรู้ ก็จะเข้าสู่ตำแหน่งที่ ๔ และ ๕ คือเข้าใจว่าความรู้เป็นสัมพัทธ์ โดยอาจารย์ต้องตะล่อมเรื่องราวในแต่ละศาสตร์ที่ตนสอน ให้ นศ. เห็นว่า ข้อค้นพบเดียวกัน สามารถนำไปสู่ ข้อสรุปที่แตกต่างกันได้

ในขั้นต่อไป อาจารย์ต้องช่วยเอื้ออำนวยให้ศิษย์ ก้าวหน้าไปสู่ตำแหน่งที่ ๖ และ ๗ ที่ นศ. มีทฤษฎีหรือ แนวคิดที่ตนยึดถือชั่วคราว สำหรับนำไปทดสอบด้วยตนเอง ให้เห็นว่า ในบริบทหนึ่ง ทฤษฎีหนึ่งให้ผลดีกว่า แต่ในอีกบริบทหนึ่ง ทฤษฎีที่ดูเหมือนด้อย กลับให้ผลดีกว่า (ภาษาวิชาการว่า มี validity สูงกว่า) นศ. จะตระหนักด้วยตนเองว่าแม้ทฤษฎีที่ตนเชื่อถือ ก็ไม่ควรยึดมั่นถือมั่น นศ. ก็จะพัฒนาผ่านตำแหน่งที่ ๘ สู่ตำแหน่งที่ ๙ ที่ใจเปิดกว้างเป็นอิสระจากความยึดมั่นถือมั่นทั้งปวง

นศ. จะได้เรียนรู้ว่า ในต่างศาสตร์ มีเกณฑ์ในการวัด validity แตกต่างกัน นั่นคือ แต่ละศาสตร์ มีรูปแบบของวิธีคิด (metacognitive model) แตกต่างกัน ส่วนนี้ (ตำแหน่งที่ ๗ และ ๘) นี่แหละที่เป็น ส่วนยากสำหรับ นศ. และต้องการความช่วยเหลือจากอาจารย์ ที่จะออกแบบกิจกรรมให้ นศ. ได้ทดลอง สัมผัส และเรียนรู้ ด้วยตนเอง ให้ นศ. ได้ตรวจสอบข้อยึดถือหรือความเชื่อในบริบทจริงที่หลากหลาย จนมั่นใจว่าทุกชุดความรู้มีทั้งข้อเด่นและข้อด้อยอยู่ในตัว ไม่มีความรู้ชุดใดที่สัมบูรณ์ ก็จะเข้าสู่ตำแหน่งที่ ๙ คือสภาพของการเรียนรู้อย่างไม่มีวันจบสิ้น

เมื่ออาจารย์เข้าใจเรื่องพัฒนาการของทักษะการเรียนรู้ของศิษย์ ก็จะสามารถประเมินตำแหน่งของศิษย์ แต่ละคนได้ และจะพบว่า นศ. ปี ๑ - ๒ มักจะอยู่ที่ตำแหน่งต้นๆ และเมื่อเลื่อนไปเรียนชั้นปีที่ ๓ - ๔ ก็จะเลื่อน ระดับของพัฒนาการด้านทักษะการเรียนรู้ขึ้นไป แต่ นศ. แต่ละคนจะมีระดับไม่เท่ากัน แม้เมื่อจบเป็นบัณฑิต แล้ว ไม่ใช่ทุกคนที่ขึ้นสู่ระดับ ๙

ข้อที่อาจารย์ทุกคนพึงตระหนักคือ อาจารย์พึงเอาใจใส่ประเมินและช่วยเหลือ ให้ นศ. แต่ละคนได้ยก ระดับพัฒนาการด้านทักษะการเรียนรู้ของตน ควบคู่ไปกับการเรียนรู้วิชาและทักษะอื่นๆ ที่จำเป็นสำหรับ ศตวรรษที่ ๒๑ คุณค่าส่วนนี้ ที่อาจารย์ให้แก่ศิษย์ จะติดตัวศิษย์ไปตลอดชีวิต


สอนนักศึกษา Gen M

นักศึกษาระดับปริญญาตรีในยุคปัจจุบันมีชื่อเรียกหลายชื่อ ได้แก่ generation Y, the Net generation, the NeXt generation, the millennial generation (คนพันธุ์เอ็ม), หรือ Me me me generation นักศึกษารุ่นนี้ มองการศึกษาระดับ มหาวิทยาลัยเป็นสินค้าอุปโภคที่จำเป็นสำหรับการสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจให้แก่ตนเอง ถือเป็นการ ลงทุน ดังนั้นเขาต้องการ “บริการ” ที่พอใจ แต่หากจะให้ทำงานหนักเพื่อการเรียนรู้ของตน ก็ไม่เต็มใจนัก

กล่าวอย่างเข้าใจง่ายที่สุดคือ นักศึกษารุ่นนี้ ความคิดและพฤติกรรมไม่เหมือนนักศึกษารุ่นอาจารย์ อาจารย์จะคาดหวังจากนักศึกษาตามความคิดของตนไม่ได้ ต้องยอมรับความจริงว่าโลกเปลี่ยนไป และคนรุ่นใหม่ ก็มีลักษณะตามแบบของเขา การจัดการเรียนการสอนจึงต้องเหมาะสมต่อลักษณะตามความเป็นจริง ของนักศึกษา

ข้อดีของ คนพันธุ์เอ็ม คือ เป็นคนที่ “ไม่กบฏ” คือยอมรับกฎเกณฑ์กติกาที่ตกลงกัน หากมีการตกลง กติกาในห้องเรียน นศ. รุ่นนี้จะไม่แหกกฎ หากอาจารย์บอกว่าจะตอบ อีเมล์วันละ ๒ ครั้ง ที่เวลา ๘.๐๐ กับ ๒๐.๐๐ น. นศ. ก็จะไม่เรียกร้องให้ต้องตอบทันทีตลอดเวลา ๒๔ ชั่วโมงของวัน แต่ถ้าอาจารย์เตรียมตัวไม่พร้อม หรือไม่มีระบบที่ดี ไม่เป็นมืออาชีพ ก็จะโดน นศ. รุ่นนี้สับเละ

ต้องไม่ลืมว่า ข้อความตามย่อหน้าบน เป็นการกล่าวอย่าง “over-generalization” นะครับ ในชีวิตจริง นักศึกษาจะมีลักษณะที่แตกต่างกันได้มาก ความแตกต่างของนักศึกษารุ่นนี้ แตกต่างกันมากกว่ารุ่นก่อนๆ ในหลากหลายด้าน


สอนนักศึกษาผู้ใหญ่

อุดมศึกษาไทยยังมีนักศึกษาผู้ใหญ่ไม่มาก แตกต่างจากในสหรัฐอเมริกา ที่มีคนจำนวนหนึ่งต้องออก ไปทำงานโดยยังไม่จบปริญญาตรี แล้วเมื่อได้โอกาสก็เข้าเรียนในมหาวิทยาลัยในฐานะนักศึกษาผู้ใหญ่ หนังสือเล่มนี้บอกว่า นักศึกษาผู้ใหญ่มีพฤติกรรมการเรียนไม่ต่างจากนักศึกษาวัยรุ่น แต่ก็มีพฤติกรรมบางอย่าง แตกต่างกัน ได้แก่ไม่ยอมรับอาจารย์ที่ขาดประสบการณ์ เป็นคนที่ให้คุณค่าแก่ประสบการณ์การทำงาน และประสบการณ์ชีวิตของตน และเนื่องจากได้มีประสบการณ์ชีวิตมาแล้ว จึงรู้ว่าชีวิตจริงมีความซับซ้อน และในบทเรียนก็ต้องการเรียนรู้แนวทางแก้ปัญหาหลายแนวทาง

นศ. ผู้ใหญ่ต้องการการสะท้อนคิด (reflection) หลังบทเรียน เพื่อจะได้ไม่ต้องท่องจำ ซึ่งไม่ถูกจริต และไม่ให้คุณค่าต่อความรู้เชิงทฤษฎีมากนัก สิ่งที่ต้องการคือความรู้ที่ใช้การได้


จัดชั้นเรียนให้คนทุกจริตเข้าถึงการเรียนรู้

ได้กล่าวแล้วว่า ชั้นเรียนในศตวรรษที่ ๒๑ มี นศ. ที่แตกต่างหลากหลายกันมาก ในด้านต่างๆ เช่น เชื้อชาติผิวพรรณ เศรษฐฐานะ ความเชื่อ ศาสนา อายุ พื้นความรู้ และสติปัญญา หลักการสำคัญคือ อาจารย์ต้อง เอาใจใส่ดูแล ให้ศิษย์ทุกคนได้เป็นส่วนหนึ่งของสังคมหรือชุมชนในชั้นเรียน ไม่มีคนถูกกีดกัน ออกนอกวง ไม่ว่าโดยไม่จงใจหรือจงใจ หนังสือเล่มนี้ใช้คำว่า inclusive instructing คืออาจารย์ต้อง ทำความเข้าใจวัฒนธรรมที่แตกต่างกันของ นศ. แต่ละกลุ่ม และหาทางดำเนินการให้เกิดบรรยากาศ ของกัลยาณมิตร เอื้อต่อการเรียนรู้ของ นศ. ทุกคน


ความท้าทาย

เนื่อจากอุดมศึกษาในยุคศตวรรษที่ ๒๑ เป็นอุดมศึกษาเพื่อทุกคน ไม่ใช่เพื่อคนเรียนเก่ง คนหัวดี หรือคนฐานะดี อีกต่อไป จึงเป็นความท้าทายของอาจารย์มหาวิทยาลัยที่จะต้องจัดการการเรียนรู้ ในสภาพความเป็นจริง ที่ นศ. เปลี่ยนไปดังกล่าวแล้ว

วิจารณ์ พานิช

๓๑ มี.ค. ๕๗

บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย 

แก้ไขล่าสุด ใน วันศุกร์ที่ 25 กรกฏาคม 2014 เวลา 10:15 น.
 


หน้า 336 จาก 561
Home

About Us

ศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ (ศบม.) เป็นองค์กรที่พัฒนาและจัดทำโครงการเพื่อทำประโยชน์ให้สังคม เป็นองค์กรสนับสนุนการดำเนินงานของภาครัฐ ช่วยแก้ปัญหาผู้ประกอบการภาคธุรกิจบริการที่ขาดแคลนบุคลากรที่มีมาตรฐานในการให้บริการ
อ่านเพิ่มเติม

มูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ ์

 iHDC Profile
บัญชีรายชื่อกรรมการ
ใบสำคัญแสดงการจดทะเบียน การเปลี่ยนแปลงกรรมการของมูลนิธิ
เอกสารประชาสัมพันธ์ โครงการ HMTC.pdf
เอกสารแนะนำโครงการ HMTC 1.pdf
เอกสารโครงการ HMTC 2 คุณสมบัติผู้เข้าร่วมโครงการ.pdf
iHDC นิติบุคคล.pdf
iHDC บุคคล.pdf
iHDC บุคคลเครือข่าย.pdf
รายงานการประชุม 6 มีนาคม 2560.pdf
ข้อบังคับมูลนิธิ
ใบสำคัญแสดงการจดทะเบียนจัดตั้งมูลนิธิ
Ihdc-Profile and Roadmap 2016-2019 Mar 23 2560.pdf
รายงานการประชุมใหญ่คณะกรรมการมูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ 2559.pdf
คำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ สาขาวิชาชีพ.pdf
รายงานการประชุมใหญ่วันที่ 18 ธ ค 2558 v 3.pdf
รายงานการประชุม วันที่ 24 ธันวาคม 2557 updated 4 มีนาคม 2558.pdf
iHDC-invitation Letter.doc
iHDC-Member Form Thai.doc
iHDC-Member Form English.doc
รายงานการประชุมกรรมการมูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ วันที่ 15 มกราคม 2556 ฉบับสมบูรณ์


thaibetter
พัฒนาประเทศไทยแบบทวีคูณ และยั่งยืน ( ททค )

Login


แบบสำรวจ

สถิติเว็บไซด์

สมาชิก : 5644
Content : 3068
เว็บลิงก์ : 26
จำนวนครั้งเปิดดูบทความ : 8746791

facebook

Twitter


ล่าสุด

บทความเก่า