Thaiihdc.org

  • เพิ่มขนาดตัวอักษร
  • ขนาดตัวอักษรปกติ
  • สดขนาดตัวอักษร
Thaiihdc.org

ชีวิตที่พอเพียง : ๒๒๐๔. ปฏิรูปการศึกษาฉบับทำทันที ประชาชนทำเอง

พิมพ์ PDF

เช้าวันเสาร์ที่ ๑๔ มิถุนายน ๒๕๕๗ ผมไปร่วมกิจกรรมประชุมภาคีปฏิรูปการศึกษา ที่ สสส. ที่สำนักข่าวอิศราลงข่าว ที่นี่ และ โพสต์ ทูเดย์ นำ “แถลงการณ์ความร่วมมือ ระหว่างนักการศึกษา / ภาคประชาสังคม / ภาคธุรกิจเอกชน ร่วมหุ้นทุกภาคส่วนปฏิรูปการศึกษาไทย ฉบับทำทันที ประชาชนทำเอง” มาลงทุกตัวอักษร ที่ http://www.posttoday.com/สังคม/การศึกษา/300602/แถล... หรืออาจอ่านต้นฉบับได้ ที่นี่ และ นสพ. เดลี่นิวส์ ลงข่าวที่นี่

ผมบอกตัวเองว่า เหตุการณ์รัฐบาลทักษิณที่มียิ่งลักษณ์เป็นหุ่นเชิด โกงกิน นำสู่ความขัดแย้งในสังคม และการปฏิวัติครั้งนี้ ประเทศไทยบอบช้ำมาก ไหนๆ ก็มีการปฏิวัติเพื่อกวาดล้างทำความสะอาดประเทศจากความโสมมทางการเมืองที่สุดจะโกงกิน อยู่แล้ว เราควรทำความสะอาดประเทศทางการศึกษาเสียด้วย เพราะระบอบทักษิณได้เข้ามาสร้างความโสมมให้แก่วงการศึกษาไม่น้อยกว่าวงการอื่นๆ

ในวันนั้น คนในวงการศึกษาเองไปเล่าให้ที่ประชุมรับทราบว่า นักการเมืองร่วมกับผู้บริหารระดับสูง มีวิธีจัดสรรเงินเพื่อการใช้จ่ายของนักการเมืองอย่างไร เงินงบประมาณด้านการศึกษาถูกใช้ไปในทางที่ไม่เกิดผล ต่อคุณภาพการศึกษาอย่างไร

นอกจากข้อเสนอตามที่ปรากฎในข่าวแล้ว ผมมีความเห็นว่า ต้องดำเนินการทุกอย่างโดยคำนึงถึงการ พัฒนารอยสัมผัสระหว่างครูกับศิษย์ ให้ส่งเสริมการเรียนรู้ทั้งของศิษย์และของครู เป้าหมายของทุกมาตรการ ต้องมุ่งไปสู่การพัฒนาจุดนี้

ในระยะสั้น คสช. ควรใช้อำนาจ เพื่อสร้างผลประโยชน์ให้แก่เด็กนักเรียน พ่อแม่ของเด็ก และแก่ครูดี และเพื่อตัดตอนคอรัปชั่น หรือการรั่วไหล ที่ยังแฝงตัวอยู่ โดยการสั่งการโยกงบประมาณพัฒนาครู ซึ่งมีอยู่ปีละ เป็นหมื่นล้าน เอามาให้สภาปฏิรูปการศึกษาที่เสนอให้ตั้งขึ้น ใช้ในการพัฒนาครูในรูปแบบใหม่ คือพัฒนา ณ จุดทำงาน ณ รอยสัมผัสกับศิษย์

เดิมงบประมาณพัฒนาครูนั้น เป็นงบประมาณที่รั่วไหลมากมาย ผมเคยไปรับรู้โครงการที่เห็นชัดๆ ว่าคอรัปชั่น และจะเอาชื่อผมไปฟอกบริสุทธิ์ด้วย แต่ผมรู้ทันและบอกให้เอาชื่อผมออกจากที่ปรึกษาโครงการ แต่ที่ร้ายยิ่งกว่านั้นคือเป็นการใช้เงินแบบมิจฉาทิฏฐิ คือเน้นนำครูออกมารับการอบรม ครูต้องทิ้งศิษย์มารับ การอบรม ซึ่งรู้ๆ กันอยู่ว่าได้ผลน้อยมาก วิธีที่ได้ผลต้องเน้นที่การเรียนรู้ของครู จากประสบการณ์สังเกต และเก็บข้อมูลจากชั้นเรียน คือครูเรียนจากลูกศิษย์ ซึ่งเป็นแนวทางที่ประเทศฟินแลนด์ใช้อยู่ และได้ผลทำให้คุณภาพการศึกษาของเขาอยู่ในกลุ่มดีที่สุดในโลก

งบประมาณพัฒนาครู ปีละประมาณ ๑ หมื่นล้านบาทภายใต้การจัดการแบบใหม่ พัฒนาครูแบบสัมมาทิฏฐิ จะก่อผลดีที่เห็นผลเร็ว แบบของยุทธศาสตร์การจัดการการเปลี่ยนแปลง ที่ pick the low-hanging fruits ก่อน คือทำสิ่งที่เห็นผลเร็วก่อน

ในการประชุมกลุ่มเล็กตอนบ่าย ผมมีเวลาอยู่ประชุมสั้นๆ ได้รับรู้ท่าทีของ คสช. ในเรื่องการศึกษา และได้เสนอความเห็น ๒ อย่างที่กล่าวแล้ว คือ (๑) การดำเนินการทุกเรื่องต้องมีศูนย์กลางอยู่ที่การพัฒนากิจกรรม ตรงรอยต่อระหว่างครูกับศิษย์ (๒) ต้องเปลี่ยนรูปแบบการพัฒนาครูประจำการเสียใหม่ ให้เน้นที่การเรียนรู้จาก การปฏิบัติหน้าที่ของครูเอง และผมได้เอ่ยข้อ (๓) ด้วย ว่าต้องคุยกับคณะศึกษาศาสตร์/ครุศาสตร์ หาทางเปลี่ยน วิธีการผลิตครู ให้ครูรุ่นใหม่มีทักษะในห้องเรียน ตามแนวทางการเรียนรู้แห่งศตวรรษที่ ๒๑ ศึ่งเราเรียนรู้จาก ประเทศฟินแลนด์ได้

คือหากเรายังผลิตครูตามรูปแบบเดิมๆ ก็จะปฏิรูปการศึกษาไม่สำเร็จ เพราะครูที่ผลิตในปัจจุบัน ไม่มี classroom skills ที่ต้องการ มีแต่ความรู้ทฤษฎี แต่เอามาปฏิบัติไม่ได้

ที่น่ายินดี เป็นข่าวจากสถานีวิทยุ เอฟ เอ็ม ๑๐๐.๕ เช้าวันที่ ๑๕ มิถุนายน ๒๕๕๗ เล่าผลการสอบถาม ความเห็นของประชาชนไทย ว่าเรื่องใดสำคัญที่สุดต่ออนาคตของชาติ ได้คำตอบว่า คือเรื่องคุณภาพการศึกษา โดยที่เรื่องเศรษฐกิจอยู่ในอันดับที่ ๓ ความเห็นนี้น่าจะกระตุ้น คสช. ให้หันมาให้ความสำคัญเรื่องการปฏิรูป การศึกษา

ที่สำคัญคือ เป็นโอกาสที่นอกจากกวาดล้างความสกปรกของสังคมแล้ว เราอยู่ในช่วง ๑๕ เดือนแห่ง โอกาสสร้างความดีงาม สร้างสังคมคุณธรรม ให้แก่ประเทศไทย ผ่านคุณภาพการศึกษา ที่เป็นการศึกษาแห่ง ศตวรรษที่ ๒๑ ที่ไม่ใช่เน้นสอนหรือเรียนวิชาเท่านั้น แต่เน้นการเรียนรู้แบบที่ตัวแทนจากโรงเรียน ดรุณสิกขาลัย กล่าวในการประชุมวันที่ ๑๔ มิถุนายน ว่าต้องให้เด็กได้เรียนแบบ constructionism ที่นักเรียน ผ่านกระบวนการคิด-ทำ-ไตร่ตรอง (reflect) ในทุกเรื่องทุกบทเรียน จนในที่สุดเกิดนิสัย (และทักษะ) เรียนรู้ ในทุกเรื่องทุกขณะจิตในชีวิต

วิจารณ์ พานิช

๑๔ มิ.ย. ๕๗ ปรับปรุง ๑๕ มิ.ย. ๕๗

บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย 

แก้ไขล่าสุด ใน วันเสาร์ที่ 19 กรกฏาคม 2014 เวลา 22:46 น.
 

สอนอย่างมือชั้นครู : ๑. เข้าใจศิษย์ และเข้าใจวิธีเรียนของศิษย์ (๑)

พิมพ์ PDF

บันทึกชุด “สอนอย่างมือชั้นครู” ๓๔ ตอน ชุดนี้ ตีความจากหนังสือ Teaching at Its Best : A Research-Based Resource for College Instructors เขียนโดย Linda B. Nilson ซึ่งเป็นฉบับพิมพ์ปรับปรุงครั้งที่ ๓ ผมขอเสนอให้อาจารย์ในสถาบันการศึกษาไทยทุกคน หาหนังสือเล่มนี้ไปอ่านเอง เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ เพราะหากติดตามอ่านจากบันทึกใน บล็อก ของผม ซึ่งลงสัปดาห์ละตอน จะใช้เวลากว่าครึ่งปี และการอ่าน บันทึกของผมจะแตกต่างจากการอ่านฉบับแปล หรืออ่านจากต้นฉบับโดยตรง เพราะบันทึกของผมเขียน แบบตีความ ไม่ได้ครอบคลุมสาระทั้งหมดในหนังสือ

ตอนที่ ๑ นี้ ตีความจาก Part One : Laying the Groundwork for Student Learning ซึ่งอาจารย์ มหาวิทยาลัยต้องเตรียมตัวก่อนเปิดเทอม มี ๕ บท ตอนที่ ๑ ตีความจากส่วนต้นของบทที่ 1. Understanding Your Students and How They Learn -- ทำความรู้จักศิษย์ และวิธีเรียนรู้ของศิษย์


ข้อมูลเกี่ยวกับนักศึกษาของท่าน

สถาบันอุดมศึกษาที่ดี ต้องมีข้อมูลเกี่ยวกับนักศึกษาให้อาจารย์ตรวจสอบทำความรู้จัก หนังสือแนะนำข้อมูลทั่วไป (ในบริบทสหรัฐอเมริกา) ได้แก่ : อายุ สภาพการสมรสและครอบครัว พื้นฐานทางเศรษฐฐานะ เชื้อชาติและชาติพันธุ์ สภาพการมีงานทำ (เต็มเวลาหรือบางเวลา) อยู่หอพักในมหาวิทยาลัยหรือไป-กลับ เป็นคนอเมริกันหรือต่างชาติ บ้านอยู่รัฐไหน เข้าเรียนด้วยการรับพิเศษหรือไม่/แบบใด

ในกรณีที่ นศ. ทั้งหมดหรือเกือบทั้งหมด เป็น นศ. อายุน้อย และพักหอพักในมหาวิทยาลัย อาจารย์สามารถวางแผนมอบหมายงานกลุ่มนอกห้องเรียนให้ทำได้มากหน่อย

ข้อมูลการทำกิจกรรมระหว่างเรียนชั้น ม. ปลาย ที่แสดงภาวะผู้นำของนักศึกษา ก็เป็นข้อมูลสำคัญต่อการวางแผนจัดการเรียนรู้ให้แก่ศิษย์

ข้อมูลผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนก่อนเข้ามหาวิทยาลัยมีความสำคัญยิ่ง ทั้งข้อมูลจากโรงเรียน และจากการทดสอบระดับชาติ รวมทั้งข้อมูลพิเศษอื่นๆ เช่นการเข้า Advanced Placement Program การได้รับเลือกเข้าแข่งขันทางวิชาการต่างๆ ฯลฯ

อีกข้อมูลที่สำคัญยิ่ง คือเป้าหมายในชีวิตของนักศึกษา หรืออาชีพ หรืองานที่เป็นเป้าหมายในชีวิต ของนักศึกษา ซึ่งอาจได้จากแบบสอบถาม นศ. เอง และได้จากข้อมูลบัณฑิตที่เพิ่งจบ ๒ - ๓ รุ่นหลัง


คนเราเรียนรู้อย่างไร

หลักการทั่วไปเกี่ยวกับการเรียนรู้ของมนุษย์ ได้แก่

  • คนเราเกิดมาเป็นสัตว์เรียนรู้ มีธรรมชาติอยากรู้อยากเห็น การเรียนรู้จึงเป็นธรรมชาติของมนุษย์
  • คนเราเรียนรู้โดยการเชื่อมโยงความรู้ใหม่เข้ากับความรู้เดิม หรือความเชื่อ ที่ตนมีอยู่แล้ว
  • คนเราเรียนสิ่งที่ตนคิดว่ามีความหมายต่อชีวิตของตน
  • คนเราเรียนผ่านกระบวนการทางสังคม โดยสร้างความรู้เป็นกลุ่ม แต่เรียนรู้แบบตัวคนเดียว
  • คนเราเรียนรู้เมื่อมีแรงจูงใจให้เรียน กระตุ้นโดยแรงบันดาลใจ และโดยความกระตือรือร้น ของผู้อื่นต่อชีวิตของตน
  • คนเราเรียนได้ไม่ดีในสถานการณ์การเรียนที่มีครูเป็นศูนย์กลาง คือเมื่อนักเรียนเรียนจาก การฟังคำอธิบายของครู แต่จะเรียนได้ดีเมื่อตนเองลงมือทำกิจกรรม เพื่อประสบการณ์ชีวิต สมองมนุษย์จะมีสมาธิอยู่ได้ไม่นาน ในสภาพ passive
  • คนเราเรียนรู้เมื่อตนเองคอยตรวจสอบการเรียนรู้ของตนเอง และไตร่ตรองสะท้อนคิด (reflection) เรื่องสมรรถนะ (performance) ของตนเอง จนเกิดทักษะกำกับการเรียนรู้ ของตนเองได้ (metacognition)
  • คนเราเรียนได้ดีกว่า หากบทเรียนไม่เพียงให้ นศ. มีส่วนดำเนินการทางกายภาพ และทางปัญญา เท่านั้น แต่มีส่วนกระทบอารมณ์ หรือจิตใจของ นศ. ด้วย ในทาง neuroscience อธิบายว่า การเรียนรู้หากจำกัดอยู่เฉพาะที่สมองส่วนหน้า (frontal lobe) การเรียนรู้จะไม่ลึก จะให้การเรียนรู้ลึก ต้องให้เกิดทั้งที่สมองส่วนหน้า และสมองส่วนลึก (limbic system)

ทั้ง ๘ ข้อข้างบน มีหลักฐานจากงานวิจัยทั้งสิ้น หนังสือให้เอกสารอ้างอิงไว้ด้วย

จากหลักการเรียนรู้ของมนุษย์ดังกล่าว นำไปสู่หลักปฏิบัติทั่วไปของครู/อาจารย์ ที่ถือว่าต้องใช้ ในกิจกรรมที่จะเสนอต่อไปตลอดทั้งเล่มของหนังสือนี้

  • เชียร์ให้ นศ. มีเป้าหมายสูง และสมเหตุสมผล โดยยึดตัว นศ. เป็นหลัก ไม่ใช่เอาใจครู/อาจารย์ เป็นหลัก
  • เริ่มจากจุดที่เป็นสภาพปัจจุบันของ นศ. ทำความเข้าใจพื้นความรู้ของ นศ. รวมทั้งความเชื่อ และลีลาชีวิต แล้วจัดบทเรียนให้สอดคล้องและเข้าใจง่ายต่อ นศ.
  • ทำให้บทเรียนสอดคล้องกับชีวิตของ นศ.
  • แสดงความกระตือรือร้น และความหลงใหล ต่อวิชาที่ตนสอน สภาพจิตใจเช่นนี้เป็น “โรคติดต่อ” ไปสู่ศิษย์ด้วย
  • มอบหมายงานที่สร้างสรรค์ และท้าทายแก่กลุ่ม นศ. และมอบงานที่ค่อนข้างเป็นงานประจำ ให้ นศ. ทำเป็นการบ้านที่ทำคนเดียว โดย นศ. บางคนอาจต้องการการติว โดยอาจารย์หรือโดยผู้ช่วย (TA) หรือโดยเพื่อน นศ. เอง กิจกรรมทบทวนสะท้อนคิด (reflection) ทั้งที่ทำคนเดียว และที่ทำเป็นกลุ่ม จะช่วยให้การเรียนรู้ลึกขึ้น
  • ใช้วิธีเรียนแบบ Active Learning หากจะสอนโดยบรรยาย จงบรรยายแบบมีปฏิสัมพันธ์ คือสลับกับการให้ นศ. ทำกิจกรรม
  • ใช้การเรียนรู้แบบประสบการณ์ตรง (experiential) ให้มากที่สุด ให้ นศ. ได้รับประสบการณ์ตรง ในการแก้ปัญหาที่เป็นเรื่องราวในชีวิตจริง ทั้งเหตุการณ์จริง หรือเหตุการณ์สมมติ
  • สอนแบบใช้หลายกิจกรรม ให้ นศ. ได้มีโอกาส อ่าน ฟัง พูด เขียน ดู วาด คิด ทำ และสัมผัส สิ่งใหม่เข้าสู่ระบบการเรียนรู้ของตน นั่นคือ จัดให้ นศ. ได้ใช้ประสาททุกชนิด และทุกส่วนของสมอง ในการเรียนรู้ ตัวอย่างเช่น ให้ นศ. อ่านหรือฟังสาระนั้น แล้วจดบันทึก ตามด้วยการจับคู่ หรือจับกลุ่มย่อย อภิปรายกับเพื่อน แล้วจับประเด็นด้วยการเขียน mindmap, การเขียนบรรยาย, ใช้ความรู้นั้นแก้ปัญหา, ตามด้วยการตอบโจทย์ทดสอบ
  • สอนให้ นศ. เรียนรู้วิธีเรียน จัดบทเรียนให้ นศ. ได้สังเกต วิเคราะห์ และประเมินว่าตนเรียนรู้ได้ดีแค่ไหน และจะปรับปรุงวิธีการเรียนรู้ของตนอย่างไร ผมขอเสนอความเห็นของผมว่า แต่ละเดือนจัดให้มี “ชั่วโมงสู่วิธีเรียนชั้นยอด” โดยให้ นศ. แต่ละคนเขียนวิธีเรียนที่ตนค้นพบว่าช่วยให้ตนเรียนบางวิชา หรือทุกวิชาได้อย่างดี แล้วจับกลุ่ม ๔ คน แลกเปลี่ยนกัน หาก นศ. ในชั้นเรียนจำนวนมาก อาจตามด้วยจับกลุ่ม ๘ หรือ ๑๖ แล้วให้ตัวแทนแต่ละกลุ่มใช้เวลากลุ่มละ ๒ นาที เล่าทีเด็ดวิธีเรียน แก่เพื่อนทั้งชั้น แล้วให้ นศ. โหวตหา ๓ เทคนิคที่ถือว่ายอดเยี่ยม ให้เจ้าของเขียนลง บล็อก ของชั้นเรียน เผื่อแผ่แก่เพื่อนนักศึกษาไทยทั้งประเทศ
  • จัดให้มีการทดสอบบ่อยๆ ในกระบวนการเรียน คอร์ส นั้นๆ เพื่อช่วยการเรียนของ นศ. ทั้งการทดสอบเป็นรายคน และให้ทำแบบฝึกหัดเป็นกลุ่มในชั้น ให้การบ้าน และให้ทำโครงงานเป็นทีม ย้ำว่าการทดสอบนี้ มีเป้าหมายเพื่อช่วยการเรียนรู้เป็นสำคัญ ไม่เน้นผลคะแนนได้-ตก
  • ส่งเสริมให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ที่กระตุ้นอารมณ์ ทำให้เป็นรื่องราว (dramatic) สนุกขบขัน สร้างความแปลกใจ รื่นเริง เกิดอารมณ์บ้า ตื่นเต้น หรือบีบหัวใจ ให้มีกรณีศึกษา หรือปัญหาศึกษา เกมและเรื่องราวจำลอง การแสดงบทบาทสมมติ (role play) การเรียนโดยการทำงานบริการสังคม (service learning) และการเรียนแบบที่ได้ลงมือปฏิบัติ ในประสบการณ์ตรง (experiential learning) แบบอื่นๆ ให้ นศ. จับกลุ่มย่อย ร่วมกันสะท้อนความคิด โต้แย้ง เสนอความเห็นที่แตกต่างหลากหลาย ต่อบทเรียน และการเรียนของตน กระบวนการแสดงออกทางอารมณ์จะช่วยให้สมองจารึกเป็นการ เชื่อมโยงเครือข่ายใยประสาท เกิดการเรียนรุ้ถาวร -- ในสมอง


การจัดโครงสร้างความรู้ช่วยส่งเสริมการเรียนรู้

สิ่งที่เรียกว่า “ความรู้” เกิดจากการจัดโครงสร้างของ ข้อมูล (data) และสารสนเทศ (information) ภายในสมอง (และร่างกายส่วนอื่น) ของมนุษย์ ผ่านการสังเกตรับรู้ (observation) ตามด้วยการไตร่ตรอง สะท้อนคิด (reflection) และการทำให้เป็นนามธรรม (abstraction) โครงสร้างดังกล่าว จะจัดขึ้นเป็นรูปแบบ (pattern) จากความหลากหลายสับสนของข้อมูลและสารสนเทศ

การศึกษา หรือการเรียนรู้ คือกระบวนการเพื่อให้เกิดโครงสร้างดังกล่าวในสมอง ซึ่งในทางรูปธรรม คือการสร้างเครือข่ายใยสมองนั่นเอง (แต่ผมมีความเชื่อส่วนตัวว่าการเรียนรู้เกิดขึ้นทั่วตัว ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในสมองเท่านั้น)

การจัดโครงสร้างดังกล่าว ทำให้เกิดความรู้ที่มีความหมาย ในรูปของ หลักการ (concept), การขยายเป็นหลักการทั่วไป (agreed-on generalization), การอนุมาน (inference), ทฤษฎี (theory), สมมติฐาน (hypothesis), กฎเกณฑ์ (principle), และความน่าจะเป็นไปได้ (probability) อาจกล่าวได้ว่า การจัดโครงสร้างก็เพื่อสร้างความหมายนั่นเอง

การเรียนรู้ที่ไม่ดี ไม่ได้ผลจริงจัง คือการจำเป็นส่วนเสี้ยว ขาดการปะติดปะต่อเชื่อมโยงส่วนต่างๆ เป็นโครงสร้างดังกล่าว ทำให้ นศ. ท่องจำความรู้โดยไม่ได้สร้างความหมายขึ้นในตน ไม่เกิดการเรียนรู้แบบ “รู้จริง”

การเรียนรู้ที่แท้จริง เป็นการ “สร้าง” (construct) “ความจริง” ตามความเข้าใจของผู้เรียนขึ้นภายในตน ไม่ใช่การท่องจำหรือรับเอา “ความจริงสำเร็จรูป” เป็นก้อนๆ มาจากครู หนังสือ หรือแหล่งความรู้

หาก นศ. ใช้วิธีค้นพบความรู้ แล้วจดจำเอามาเป็นของตน จะไม่เกิดการเรียนรู้ที่แท้จริง

การเรียนรู้ที่ท้จริง เริ่มจากการจับแก่น และภาพใหญ่ แล้วเชื่อมโยงข้อมูลและสารสนเทศที่รับรู้ (observation) เป็นรูปแบบ (pattern) เชื่อมโยงความสัมพันธ์ (relationship) ระหว่างส่วนย่อย โยงสู่รูปแบบและภาพใหญ่ มีหลักฐานบอกว่าสมองของมนุษย์รับรู้และเรียนรู้ โดยการรับรู้รูปแบบ (pattern recognition) รวมทั้งมีหลักฐานว่าสมองของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม นก สัตว์เลื้อยคลาน และอาจจะรวมทั้งปลา ต่างก็เรียนรู้แบบเดียวกัน นั่นคือเรียนรู้ผ่านโครงสร้างหรือรูปแบบความสัมพันธ์

นศ. ต้องได้รับการฝึก ให้พัฒนาทักษะการเรียนรู้ จากเรียนแบบ “มือใหม่” (novice) ไปเป็น “ผู้เชี่ยวชาญ” การเรียนรู้ โดยฝึกสร้างโครงสร้างแบบแผนตามลำดับขั้น (hierarchical organization of pattern) ของความรู้ในแต่ละสาขาวิชา ย้ำคำว่า “ตามลำดับขั้น” (hierarchical) เพื่อให้สามารถแยกแยะระหว่างความรู้แกน ของหลักการ กับความรู้ส่วนขยายที่มีลักษณะขึ้นกับบริบท (context-specific) ที่แตกต่างกัน เมื่อเป็น “ผู้เชี่ยวชาญ” จะสามารถคิดเคลื่อนขึ้นลงลำดับขั้นดังกล่าวได้อย่างคล่องแคล่ว

วิธีฝึกสร้างโครงสร้างดังกล่าวขึ้นใน นศ. ทำโดย

  • ในตอนต้นเทอม ให้ นศ. ทำกิจกรรมเพื่อ กู้คืน (retrieve) เรียบเรียง (articulate) และจัดระบบ (organize) ความรู้ที่ นศ. รู้แล้วในวิชานั้น โดยอาจารย์จ้องหาส่วนที่ นศ. เข้าใจผิด แล้วทำความเข้าใจกับ นศ. ว่าทำไมความเข้าใจนั้นจึงผิด
  • ทำความเข้าใจภาพรวมของวิชานั้นกับ นศ. โดยนำเสนอเป็นแผนผัง (graphic syllabus) เชิงระบบที่เชื่อมโยงกัน
  • นำเสนอแผนที่ผลลัพธ์การเรียนรู้ (outcome map) ของ นศ. เป็นลำดับขั้นตอน
  • ช่วยให้ นศ. เข้าใจความแตกต่างระหว่าง ข้อมูล (data), สารสนเทศ (information), และ ความรู้ (knowledge)
  • ให้ นศ. ได้เรียนรู้โครงสร้างของการคิดอย่างมีวิจารณญาน (critical thinking) ในสาขาวิชานั้น เช่น วิธีการเชิงวิทยาศาสตร์ (scientific method), กระบวนการวินิจฉัย (diagnostic process), กฎของการใช้ถ้อยคำชักจูงโน้มน้าว (the rules of rhetoric), ตรรกะขั้นพื้นฐาน (basic logic) อันได้แก่ ธรรมชาติของความจริง ความเห็น การตีความ และทฤษฎี, และตรรกะที่ผิด หาโอกาสให้ นศ. ได้เรียนรู้เปรียบเทียบกระบวนทัศน์ (paradigm หรือ metatheory)ที่ต่างกันในสาขาวิชา เช่น rational vs symbolic, interpretive vs postmodern ในวิชา English literature; pluralism vs elitism ในวิชารัฐศาสตร์; functionalism vs conflict theory ในวิชาสังคมวิทยา; positivism (หรือ empiricism) vs phenomenology ในวิชา social science epistemogogy
  • ออกแบบแบบฝึกหัดให้ นศ. ฝึก “รับรู้แบบแผน” (pattern recognition) และจัดกลุ่มสิ่งที่เกี่ยวข้องกัน (categorical chunking) ซึ่งจะช่วยให้ นศ. สามารถจัดการความรู้ใหม่ที่มากมายท่วมท้นได้ดี กระบวนการคิดที่รับรู้แบบแผน และจัดกลุ่มสิ่งของ/ความรู้ จะช่วยให้ นศ. มองเห็นความเหมือนหรือความต่างเชิงแนวคิด (concept) และมองเห็นความสัมพันธ์ ช่วยให้สามารถจัดกลุ่มความรู้ใหม่ให้เป็นชิ้นใหญ่ จำนวนน้อยชิ้น ง่ายต่อความเข้าใจและจดจำ ตรงกับหลักการเรียนรู้ว่า less is more
  • นอกจากให้ นศ. ได้ดู แผนผังรายวิชา และแผนที่ผลลัพธ์การเรียนรู้ แล้ว อาจารย์ควรให้ นศ. ได้เห็นแผนผังความสัมพันธ์ระหว่าง ทฤษฎี (theory), หลักการ (concept), และชุดความรู้ (knowledge schemata) เป็นภาพ concept map, mind map, flow chart, ตารางเปรียบเทียบ, ฯลฯ โดยอาจให้ นศ. ร่วมกันเขียนแผนภาพดังกล่าวขึ้นเอง เพื่อทำความเข้าใจด้วยตนเอง แผนภาพเหล่านี้จะช่วยให้เข้าใจง่าย และตรงจริตของคนรุ่นปัจจุบัน

วิจารณ์ พานิช

๑๐ มี.ค. ๕๗

บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย 

แก้ไขล่าสุด ใน วันเสาร์ที่ 19 กรกฏาคม 2014 เวลา 23:02 น.
 

เรียน คณะทำงานเตรียมการปฏิรูปเพื่อคืนความสงบสุขให้คนในชาติ

พิมพ์ PDF

ประเด็นที่เป็นปัญหาของประเทศที่ต้องการให้เกิดการเปลี่ยนแปลงหรือเกิดการปฏิรูป

ที่ทางคณะทำงานยกมาทั้ง 11 ประเด็น  นั้น

ผมเห็นว่าเกิดจากปัญหาต่างๆดังนี้

 

1.จากการเข้ายึดอำนาจการปกครองแผ่นดินโดยคณะบุคคลที่ใช้ชื่อว่า

คณะราษฎร”  เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 ในสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาล ที่ 7 ล้มระบอบการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์

จัดการปกครองโดยมีสภาและ กษัตริย์อยู่ใต้กฎหมายธรรมนูญการปกครองแผ่นดิน จะทำอะไรโดยลำพังไม่ได้ นอกจากได้รับ ความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎร (จากหนังสือ เอกกษัตริย์ใต้รัฐธรรมนูญ

เล่มที่ 1 หน้า 31)

2.สังคมไทยอ่อนแอ สืบเนื่องมาเป็นเวลานานเริ่มตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงการปกครอง ในปี  พ.ศ. 2475 คนไทยถูกปกครองโดยระบบเผด็จการรัฐสภา

คณะบุคลเป็นศูนย์กลางการ ปกครอง โดยใช้กฎหมายรัฐธรรมนูญเป็นเครื่องมือในการปกครองหลอกลวงบิดเบือนว่า เป็นการปกครองในระบอบประชาธิปไตย

สังคมถูกระบบทุนนิยมครอบงำ จนทำให้สังคมเปลี่ยนไป จากสังคมที่มีความโอบอ้อมอารี ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ประชาชนส่วนมาก มีคุณธรรม กลายเป็นสังคมที่เห็นแก่ตัว ชิงดีชิงเด่น บูชาเงินและวัตถุเป็นใหญ่

แนวคิดในการแก้ปัญหา ประกอบด้วย

1.ให้ความรู้ความเข้าใจในเรื่อง หลักการปกครองธรรมาธิปไตย 9" ประกอบด้วย

1.1.หลักธรรมาธิปไตยได้แก่การนำพุทธธรรมอันสูงสุดและหลักในการจัดความสัมพันธ์ อันเป็นหนึ่งเดียวกับกฎธรรมชาติ นำมาประยุกต์ใช้ในการแก้ปัญหาเหตุวิกฤตชาติทั้ง

เป็นสัจธรรมคำสอนที่สอดคล้องกับลักษณะและวิถีชีวิตของชนชาติไทย

1.2.หลักพระมหากษัตริย์ประมุขแห่งรัฐ สถาบันพระมหากษัตริย์มีความมั่นคง ยั่งยืนดุจเดียวกับกฎธรรมชาติ จัดความสัมพันธ์เป็นหนึ่งเดียวกับธรรมชาติ พระ

มหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะเป็นเอกภาพหรือศูนย์รวมของชาติเป็นปฐมภูมิ คือ มีอำนาจเหนืออำนาจอื่นใดทั้งหมด เช่นอำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร

อำนาจตุลาการ เป็นต้น  สถาบันพระมหากษัตริย์เป็นสถาบันแห่งธรรม ทรงธรรม เป็นธรรมาธิปไตย จึง   มีลักษณะแผ่ความเป็นธรรม แผ่พระบรมเดชานุภาพ

แผ่ความถูกต้อง แผ่ความเมตตา กรุณา ออกไปสู่ส่วนที่สัมพันธ์เกี่ยวพันธ์กันทั้งหมดทั้งในประเทศและ ต่างประเทศ

1.3.หลักอำนาจอธิปไตยของปวงชน เป็นหลักการปกครองที่สำคัญ เป็นอำนาจสูงสุดในการ ปกครองประเทศ แบ่งออกเป็น 2 ด้าน ได้แก่อำนาจอธิปไตยด้านชาติ

คืออำนาจในการ ปกครองประเทศของตนอย่างอิสระไม่ถูกครอบงำจากต่างประเทศ อำนาจอธิปไตยของปวงชนเข้มแข็ง (ความเป็นเอกภาพของประชาชนในชาติ) อำนา

อธิปไตยด้านชาติก็จะเข้มแข็ง ด้วยอย่างเป็นเหตุผล ตรงกันข้าม ถ้าอำนาจอธิปไตยไม่เป็นของปวงชน หรือเป็นของชน ส่วนน้อย จะทำให้อำนาจอธิปไตยด้านชาติอ่อนแอ

จะถูกแทรกแซงได้ง่ายจากนานาประเทศ ประเทศชาติ อำนาจอธิปไตย และการเมืองเป็นของทุกคน จึงไม่ควรแบ่งฝ่าย

1.4.หลักเสรีภาพของบุคคล หมายถึงเสรีภาพบริบูรณ์ของบุคคล เสรีภาพทางความคิด เสรีภาพทางการเมือง และเสรีภาพส่วนบุคคลเอกชน เป็นเสรีภาพบุคคล

นิติบุคคลและ รัฐ ไม่ควรละเมิดเสรีภาพของประชาชน

1.5.หลักความเสมอภาค ประชาชนได้รับความเสมอภาคทางการเมือง ความเสมอภาคทางกฎหมาย ความเสมอภาคทางโอกาสอย่างแท้จริง

1.6.หลักภารดรภาพ คือการถือว่ามวลมนุษย์ชาติและสรรพสัตว์ทั้งผองเป็นพี่น้องกัน เป็นเพื่อนเกิด แก เจ็บ ตาย ด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้น ถ้อยอาศัยบนฐานของความ

เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา และการให้โอกาสไม่เลือกปฏิบัติไม่แบ่งชนชั้น

1.7.หลักเอกภาพหรือรู้รักสามัคคีธรรมและความสันติสุขชองคนในชาติ บนความแตกต่าง

ทางวุฒิการศึกษา อาชีพ ศาสนา ลัทธิการเมือง ความเชื่อ ค่านิยม

1.8.หลักดุลยภาพ เป็นอีกมิติหนึ่งของธรรมชาติบนความสัมพันธ์ทั้งองค์รวมหรือ ทั้งระบบในส่วนที่สัมพันธ์เกี่ยวพันกันทั้งหมด การตั้งอยู่ ทรงอยู่

ดำรงอยู่ อย่างหลักดุลยภาพได้นั้นเป็นความสัมพันธ์ระหว่างด้านเอกภาพมีลักษณะแผ่กระจาย กับ ด้านความแตกต่างหลากหลายมีลักษณะรวมศูนย์ ในลักษณะพระธรรมจักร

1.9.หลักนิติธรรมหลักกฎหมายหรือหลักนิติธรรมอันเป็นหลักเป็นเกณฑ์แห่งความ ยุติธรรม

2.สถาปนาหลักการปกครองธรรมาธิปไตย ก่อนที่จะมีการกำหนดกฎหมายรัฐธรรมนูญเพื่อใช้ เป็นเครื่องมือในการปกครองตามหลักการปกครองธรรมาธิปไตย

จะทำให้ประเทศไทยเป็น ประเทศแรกที่คิดค้นหลักการปกครองที่ประชาชนส่วนมากมีธรรมาธิปไตยอยู่ในตัวทำให้ สังคมไทยกลับมาเข้มแข็ง เหมือนเดิม มีหลักการปกครองของ เราเองไม่ต้องไปตามก้นของ ประเทศอื่น ผมได้พยายามย่อให้สั้นที่สุด แต่ถ้าท่านคณะกรรมการให้ความสนใจและต้องการได้คำ อธิบายมากกว่านี้โปรดติดต่อผมได้ตลอดเวลา ผมและทีมงานยินดีเข้าไปนำเสนอเพิ่ม เติมหรือตอบคำถามข้อสงสัยจากท่านต่อไป

ขอแสดงความนับถือ

ม.ล.ชาญโชติ ชมพูนุท

8 กรกฎาคม 2557

 

 

 

 

แก้ไขล่าสุด ใน วันอาทิตย์ที่ 20 กรกฏาคม 2014 เวลา 00:02 น.
 

ชีวิตที่พอเพียง : ๒๐๑๑. ฝึกพูดไม่ไพเราะแต่มีคุณค่า

พิมพ์ PDF

ผมไปร่วมประชุมปรึกษาหารือ เรื่องแนวทางการประเมินคุณภาพการศึกษาแบบ eLearning หรือonline learning  ในรอบการประเมินรอบที่ ๔ ที่ สมศ. เมื่อเช้าวันที่ ๔ ก.ย. ๕๖   โดยมีคุณศุภชัย พงศ์ภคเธียร เป็นประธาน    และ ผอ. สมศ. ศ. ดร. ชาญณรงค์ พรรุ่งโรจน์ ก็อยู่ในที่ประชุมด้วย    ผู้เข้าร่วมประชุมคือผู้รู้ด้าน eLearning จากจุฬาฯ, มสธ., ม. รามคำแหง, รองเลขาธิการ กกอ. ดร. วราภรณ์ สีหนาท, ศ. ดร. ศรีศักดิ์ จามรมาน, ศ. ดร. อุทุมพร จามรมาน เป็นต้น   มีผมเป็นผู้ไม่รู้ได้รับเชิญไปร่วมอยู่คนเดียว

ผมจ้องอยู่นานว่าจะพูดเรื่องปัญหาของระบบประเมินคุณภาพการศึกษาไทย เป็นตัวทำลายคุณภาพของการศึกษา ดีหรือไม่   เพื่อทดสอบว่า ความเข้าใจของผมถูกต้องหรือไม่   เวทีนี้เหมาะสมมากที่จะพูด เพราะมีทั้งผู้บริหารระดับสูงถึงสูงสุดของ สมศ. และ สกอ. ที่เป็นจำเลยอยู่ด้วยกัน   ในที่สุด ผมก็ได้ช่อง ในตอนท้ายของการประชุม ที่เป็นช่วงรับประทานอาหารเที่ยง   และยังมีการคุยกันแบบไม่เป็นทางการ

เพื่อให้แม่นยำ ผมจึงถอดข้อความจากเครื่องบันทึกเสียง ดังต่อไปนี้

ผมถือโอกาสที่ท่าน ผอสมศอยู่ที่นี่ และท่านรองเลขาธิการ กกอด้วย    ประเด็นที่เราคุยกัน คือ เราต้องการประกันคุณภาพของ learning outcome  ของผู้เรียน    ผมไม่มีความรู้ทางการศึกษา แต่อ่านหนังสือด้านการเรียนรู้มาก อ่านแล้วมีข้อสรุปกับตัวเอง ซึ่งไม่แน่ใจว่าถูกหรือผิด และที่พูดนี้อาจทำให้คนในวงการศึกษาไม่สบายใจ ก็ต้องกราบขออภัย

ผมมีความรู้สึกว่าระบบการประเมิน ทั้งการประเมินภายใน และการประเมินภายนอก ของการศึกษา น่าจะเดินผิดทาง ถ้าดู learning outcome ว่าต้องทำให้เกิดพัฒนาการรอบด้าน ไม่ใช่เฉพาะด้านวิชาความรู้อย่างที่วัดกันอยู่ในการทดสอบระดับชาติที่ทำกัน ซึ่งวงการศึกษารู้กันทั่ว   และในพระราชบัญญัติการศึกษาก็ระบุชัดเจนทุกฉบับ    ว่าการศึกษาต้องให้เกิดพัฒนาการรอบด้าน ครบทุกด้าน   ทั้งด้านสติปัญญา หรือวิชาความรู้ (intellectual), ด้านอารมณ์ (emotional), ด้านสังคม (social), ด้านจิตวิญญาณ (spiritual), และด้านกายภาพ (physical)

แต่วิธีประเมินที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน ประเมินได้เพียงพัฒนาการด้านสติปัญญาเท่านั้น ประเมินพัฒนาการด้านอื่นไม่ได้ แต่สมัยที่ผมเรียนหนังสือ หน้าที่ประเมินที่รอบด้านนั้น ครูและโรงเรียนเป็นผู้ทำ    และที่ประเทศฟินแลนด์ ก็ให้ครูประเมิน และประเมินทุกด้าน   สมัยผมเรียนจนจบ ป. ๔ ครูและโรงเรียนเป็นผู้ประเมิน   ตอนจบ ม. ๖ ครูและโรงเรียนก็ประเมินเอง   มาสอบรวมกันทั้งประเทศเฉพาะ ม. ๘ หรือเตรียมอุดมศึกษา    สภาพของเราจึงเป็นคล้ายๆ ระบบการศึกษาค่อยๆ ลดฐานะครู ไม่เชื่อถือครู ว่าประเมินไม่แม่น หรือไม่ซื่อสัตย์    เราจึงหันมารวมศูนย์การประเมิน   และด้วยข้อจำกัดของการจัดการประเมิน จึงเหลือประเมินด้านเดียว คือประเมินวิชา ประเมินความจำ    และในที่สุดการศึกษาจึงสอนเพื่อสอบ   และผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาตกต่ำอย่างที่เป็นอยู่

ผมจึงขอเสนอว่า สมศ. จะอยู่อย่างในปัจจุบันนี้ไม่ได้   สมศ. ควรทำหน้าที่พัฒนาระบบการประเมิน   โดยต้องเอาการประเมินกลับไปไว้ในมือครู   ให้เกียรติครู   ให้ครูประเมินผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาครบทุกด้าน   พัฒนาครูให้ประเมินได้แม่นยำ   และให้ครูประเมินอย่างซื่อสัตย์เชื่อถือได้   ครูคนไหนประเมินได้ยังไม่น่าเชื่อถือ ก็ช่วยพัฒนา   ถ้ามีปัญหาด้านความซื่อสัตย์ก็ให้ปรับปรุงตนเอง   ถ้าปรับปรุงแก้ไขด้านความซื่อสัตย์ไม่ได้ ก็ไม่ควรให้เป็นครูอีกต่อไป

เพราะดึงการประเมินมาไว้ที่ส่วนกลาง    และประเมินเพียงด้านเดียวคือด้านความรู้    การศึกษาของเราจึงไม่เอาใจใส่ด้านการสร้างคนดี   และลามไปที่ครู   ครูจึงไม่มีคุณสมบัติด้านต่างๆ ครบด้านอย่างที่เป้าหมายการศึกษากำหนด

โชคดีจริงๆ ที่ท่านผู้รู้ในห้องประชุม อภิปรายสนับสนุนข้อสังเกตของผม    แต่การพูดคุยไปไม่ถึงการเปลี่ยนฐานการทำงานของ สมศและ สกอ.

ผมได้เรียนรู้ว่า ผู้บริหารระดับสูงของไทย ด้าน” ต่อการรับรู้ว่าปัญหาใหญ่ของบ้านเมืองในเชิงระบบ  ที่ตนเองรับผิดชอบอยู่ เป็นเรื่องที่ตนจะต้องรับมาดำเนินการแก้ไข    ต่างก็มีท่าทีแบบ ธุระไม่ใช่”   

 

 

วิจารณ์ พานิช

๕ ก.ย. ๕๖

 

 

บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย 

แก้ไขล่าสุด ใน วันพฤหัสบดีที่ 17 กรกฏาคม 2014 เวลา 07:57 น.
 

ปฏิรูปการเมืองไทย ฉบับ ศ. ดร. อมร จันทรสมบูรณ์

พิมพ์ PDF

ปฏิรูปการเมืองไทย ฉบับ ศ. ดร. อมร จันทรสมบูรณ์

นพ. ชูชัย ศุภวงศ์ ส่ง อีเมล์ มาดังต่อไปนี้

บางสารัตถะจากการสนทนากับศ.ดร.อมร จันทรสมบูรณ์ในวันอายุมงคล 84 ปี 13 กรกฎาคม 2557

ในราวปีพศ.๒๕๓๗-๓๘ ผมได้มีโอกาสดีที่ได้เข้าไปนั่งอยู่ในคณะกรรมการพัฒนาประชาธิปไตย(คพป) ที่ท่านอาจารย์หมอประเวศ วะสี เปนประธาน ทำให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ครั้งสำคัญในชีวิต ในครั้งนั้น ท่านอาจารย์หมอประเวศ บอกให้ผมประสานติดต่อผู้อาวุโสของบ้านเมืองสองท่านคือ ท่านอาจารย์ระพี สาคริก และท่านอาจารย์อมร จันทรสมบูรณ์ ยังจะไม่นำรายละเอียดมาเขียนไว้ ณ ที่นี้

ประเด็นที่สำคัญที่ต้องการบันทึกไว้คือ คุณูปการที่สำคัญยิ่งที่ท่านอาจารย์อมร มอบให้กับแผ่นดินนี้ ท่านอาจารย์อมรเขียนหนังสือเรื่องลัทธิรัฐธรรมนูญ(constitutionalism) ผมเห็นว่า เปนฐานคิดที่สำคัญที่ส่งผลต่อรัฐธรรมนูญ๔๐และ๕๐ เลยทีเดียว แม้ว่ารัฐธรรมนูญทั้งสองฉบับดังกล่าวไม่สามารถนำแนวคิดทั้งหลายที่เขียนไว้ในconstitutionalism มาได้ทั้งหมด

ผมต้องอ่านหนังสือเล่มนี้ไม่น้อยกว่าสามเที่ยวจึงพอจะเข้าใจ และอ่านซ้ำอีกหลายครั้งในบางตอนของหนังสือเล่มนี้ ในครั้งนั้นได้แต่คิดว่า ทำไมหนอเรื่องดีๆที่มีคุณค่าเช่นนี้จึงไม่เกิดขึ้นบนแผ่นดินสยาม

เชิญอ่านแนวคิดและความเห็นล่าสุดของท่านอาจารย์อมร จันทรสมบูรณ์ในยามอายุมงคล ๘๔ปี ที่มีต่อชาติบ้านเมือง

ชูชัย ศุภวงศ์

๑๕ กค. ๕๗

บางสารัตถะจากการสนทนากับศ.ดร.อมร จันทรสมบูรณ์ในวันอายุมงคล 84 ปี 13 กรกฎาคม 2557

ท่านอาจารย์อมร จันทรสมบูรณ์เห็นว่าการรัฐประหารเป็นความจำเป็นที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะวิกฤตของประเทศที่เกิดจากระบอบเผด็จการรัฐสภาของกลุ่มทุนเจ้าของพรรคการเมืองนั้นกัดกร่อนประเทศมายาวนานผ่านรัฐธรรมนูญหลายฉบับ คณะรัฐประหารควรใช้ความเป็นรัฎฐาธิปัตย์เยียวยาแก้ไขระบบกฎหมายพื้นฐานต่าง ๆ ให้ลุล่วงในขั้นตอนแรกนี้ก่อนจะก้าวไปสู่ขั้นตอนการมีสภาและรัฐบาลอันเป็นรูปแบบพื้นฐานของประชาธิปไตย เพราะเมื่อถึงขั้นตอนนั้นต่อให้เขียนธรรมนูญชั่วคราวคงอำนาจคณะรัฐประหารไว้อย่างไรก็ตามแต่ก็จะไม่เหมือนเดิมในขั้นตอนแรกแน่นอน เพราะเท่ากับคณะรัฐประหารสละความเป็นรัฎฐาธิปัตย์ไปแล้ว และท่านแน่ใจแล้วหรือว่าโครงสร้างทางการเมืองในขั้นตอนที่ 2 ที่มีธรรมนูญชั้วคราว สภาสนช. รัฐบาล และสภาปฏิรูป จะปฏิรูปประเทศได้สำเร็จในความหมายของการทำลายระบอบเผด็จการรัฐสภาของกลุ่มทุนเจ้าของพรรคการเมืองและสร้างระบอบประชาธิปไตยที่มีเหตุผลขึ้นมาได้

ถ้าการประกาศโร้ดแมปให้มีขั้นตอนที่ 2 และต่อด้วยขั้นตอนที่ 3 ที่จะมีการเลือกตั้งภายในอีก 1 ปีถัดไปเป็นเพราะต้องการให้โลกตะวันตกยอมรับ หรืออย่างน้อยก็ผ่อนคลายแรงกดดันลง ท่านก็ฝากข้อคิดไว้ว่าเราตอบโจทย์ผิด

เพราะในขั้นตอนที่ 2 นี้แม้จะจำลองรูปแบบประชาธิปไตยมาโดยมีธรรมนูญ มีสภา มีรัฐบาลที่มาจากสภา แต่ก็เพียงจำลอง ไม่ใช่ของจริง เพราะยังไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง แรงกดดันจากโลกตะวันตกแม้จะผ่อนคลายลงแต่ก็จะยังมีน้ำหนักอยู่โดยพุ่งเป้าไปที่การเร่งรัดให้ถึงขั้นตอนที่ 3 คือการเลือกตั้ง

ในที่สุดประเทศไทยก็จะเข้าสู่ขั้นตอนที่ 3 โดยที่การทำลายระบอบเผด็จการรัฐสภาของกลุ่มทุนเจ้าของพรรคยังไม่สำเร็จหรืออาจจะยังไม่ได้เริ่มต้นด้วยซ้ำ

Vicious Circle ก็จะยังคงดำรงอยู่ !

ทำไมเราไม่ตอบโจทย์ให้ตรงเป้า ?

โลกตะวันตกกดดันเราโดยอ้างเหตุผลว่าเราไม่เป็นประชาธิปไตย เราก็ควรจะชี้แจงตอบโจทย์ไปในประเด็นว่าด้วยความเป็นประชาธิปไตยหรือไม่เป็นประชาธิปไตยในบริบททางประวัติศาสตร์และประสบการณ์ที่โลกตะวันตกพาบพบประสบมาแล้วทั้งยุโรปและสหรัฐอเมริกา ไม่ใช่ไปตอบไม่ตรงโจทย์ไปว่าที่เราต้องรัฐประหารเพราะความขัดแย้งทางการเมืองมายาวนานร่วม 10 ปีทำให้เดินหน้าตามระบอบการเมือง (ประชาธิปไตย) ปรกติไม่ได้ จึงต้องหยุดยั้งชั่วคราว แล้วภายใน 1 ปีครึ่งจะคืนกลับสู่ (ประชาธิปไตย) ปรกติ แต่ไม่ได้อรรถาธิบายว่าอะไรเป็นสาเหตุให้เกิดความขัดแย้งในหมู่ประชาชน ซึ่งเป็นคนละเรื่องกัน

ตอบโจทย์ (โลกตะวันตก) อย่างไรให้ตรงเป้าเข้าประเด็น ?

ท่านอาจารย์อมร จันทรสมบูรณ์เห็นว่าเหตุผลในการชี้แจงที่จะทำให้โลกตะวันตกเข้าใจการทำรัฐประหารในบ้านเราได้ เราจำเป็นต้องใช้เหตุผลในเรื่องเดียวกัน คือ ความเป็นประชาธิปไตยหรือไม่เป็นประชาธิปไตย ไม่ใช่เรื่องสถานการณ์หรือเหตุการณ์วุ่นวายของประเทศไทยที่ทำให้ต้องทำรัฐประหาร และเราต้องมีความรู้ทาง ประวัติศาสตร์การเมืองของประเทศที่พัฒนาแล้วตามสมควร กล่าวคือ

สำหรับยุโรป เราน่าจะชี้แจงไปว่า สถานการณ์และเหตุการณ์ของประเทศไทยที่เกิดความวุ่นวายและมวลชนมีความแตกแยกกัน (และมีการทุจริตคอร์รัปชั่นโดยนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งอย่างมากมาย) ที่ทำให้ทหารจำต้องทำการรัฐประหารนั้น เกิดขึ้นเพราะประเทศไทยเกิดความผิดพลาดในการเขียนรัฐธรรมนูญทุกฉบับต่อเนื่องกันมาทีทำให้เกิดระบบเผด็จการโดยพรรคการเมืองในระบบรัฐสภา ดังเช่นที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในยุโรป คือ เกิดขึ้นในประเทศฝรั่งเศสในปีค.ศ. 1958 ซึ่งนายพลเดอโกลล์จำเป็นต้องเข้ามาแก้สถานการณ์ให้คนฝรั่งเศส และเคยเกิดขึ้นในประเทศเยอรมนีก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 (ค.ศ. 1939 – 1945) ทำให้เกิดเผด็จการของพรรคนาซีของฮิตเลอร์จนก่อให้เกิดสงครามครั้งที่ 2

และสำหรับสหรัฐอเมริกา ท่านอาจารย์เห็นว่าเราก็น่าจะชี้แจงในแนวทางเดียวกัน คือ ชี้แจงว่าสถานการณ์และเหตุการณ์ของประเทศไทยที่เกิดความวุ่นวายและมวลชนมีความแตกแยกกัน และมีการทุจริตคอร์รัปชั่นโดยนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งอย่างมโหฬาร ที่ทำให้ทหารจำต้องทำการรัฐประหารนั้น เกิดขึ้นเพราะประเทศไทยมีความผิดพลาดในการเขียนรัฐธรรมนูญทุกฉบับต่อเนื่องกันที่ทำให้เกิดระบบเผด็จการโดยพรรคการเมืองนายทุน ในระบบรัฐสภา ซึ่งได้แก่ระบอบทักษิณ โดยระบอบทักษิณได้พยายามทำให้ประชาชนเชื่อว่าพรรคการเมืองที่ส.ส.ของพรรคได้รับเลือกตั้งเข้ามาเป็นเสียงส่วนใหญ่ในสภาผู้แทนราษฎรย่อมสามารถใช้อำนาจรัฐได้โดยไม่มีขอบเขตและไม่ต้องถูกควบคุม เพราะถือว่านโยบายของพรรคได้รับความเห็นชอบจากประชาชนส่วนใหญ่มาแล้ว ซึ่งทำให้เกิดการทุจริตคอร์รัปชันอย่างมโหฬารโดยนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งที่สังกัดพรรคการเมืองที่รวมตัวกันเข้าผูกขาดอำนาจรัฐ

ความเชื่อเช่นนี้ได้เคยเกิดขึ้นมาแล้วในสหรัฐอเมริกาในระบบ spoils system ในต้นศตวรรษที่ 19 (ค.ศ. 1928) ในยุคของประธานาธิบดีแอนดรูว์ แจ็คสัน และสหรัฐอเมริกาต้องใช้เวลาถึง 1 ทศวรรษ ในการแก้ไขความเชื่อในระบอบประชาธิปไตยอย่างผิด ๆ นี้

ถ้าตอบโจทย์ตรงเป้าเข้าประเด็นเช่นนี้ เราก็ไม่จำเป็นต้องเร่งรัดเข้าสู่ขั้นตอนทึ่ 2 และ 3 เพื่อลดแรงกดดันจากโลกตะวันตก

แต่ใช้ความเป็นรัฎฐาธิปัตย์ตอบโจทย์ของประเทศเราเองจนเกิดความมั่นใจว่าโจทย์ได้รับการแก้ไขแล้วจึงเข้าสู่กระบวนการการเมืองตามปรกติ

กระบวนการการเมืองตามปรกติของระบอบประชาธิปไตยที่ได้รับการปรับแก้ให้มีเหตุผลแล้ว (rationalized democracy)

ไม่ใช่ระบอบเผด็จการของกลุ่มทุนเจ้าของพรรคการเมือง !

บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย 

แก้ไขล่าสุด ใน วันพฤหัสบดีที่ 17 กรกฏาคม 2014 เวลา 23:06 น.
 


หน้า 337 จาก 561
Home

About Us

ศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ (ศบม.) เป็นองค์กรที่พัฒนาและจัดทำโครงการเพื่อทำประโยชน์ให้สังคม เป็นองค์กรสนับสนุนการดำเนินงานของภาครัฐ ช่วยแก้ปัญหาผู้ประกอบการภาคธุรกิจบริการที่ขาดแคลนบุคลากรที่มีมาตรฐานในการให้บริการ
อ่านเพิ่มเติม

มูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ ์

 iHDC Profile
บัญชีรายชื่อกรรมการ
ใบสำคัญแสดงการจดทะเบียน การเปลี่ยนแปลงกรรมการของมูลนิธิ
เอกสารประชาสัมพันธ์ โครงการ HMTC.pdf
เอกสารแนะนำโครงการ HMTC 1.pdf
เอกสารโครงการ HMTC 2 คุณสมบัติผู้เข้าร่วมโครงการ.pdf
iHDC นิติบุคคล.pdf
iHDC บุคคล.pdf
iHDC บุคคลเครือข่าย.pdf
รายงานการประชุม 6 มีนาคม 2560.pdf
ข้อบังคับมูลนิธิ
ใบสำคัญแสดงการจดทะเบียนจัดตั้งมูลนิธิ
Ihdc-Profile and Roadmap 2016-2019 Mar 23 2560.pdf
รายงานการประชุมใหญ่คณะกรรมการมูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ 2559.pdf
คำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ สาขาวิชาชีพ.pdf
รายงานการประชุมใหญ่วันที่ 18 ธ ค 2558 v 3.pdf
รายงานการประชุม วันที่ 24 ธันวาคม 2557 updated 4 มีนาคม 2558.pdf
iHDC-invitation Letter.doc
iHDC-Member Form Thai.doc
iHDC-Member Form English.doc
รายงานการประชุมกรรมการมูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ วันที่ 15 มกราคม 2556 ฉบับสมบูรณ์


thaibetter
พัฒนาประเทศไทยแบบทวีคูณ และยั่งยืน ( ททค )

Login


แบบสำรวจ

สถิติเว็บไซด์

สมาชิก : 5644
Content : 3068
เว็บลิงก์ : 26
จำนวนครั้งเปิดดูบทความ : 8746792

facebook

Twitter


ล่าสุด

บทความเก่า