Thaiihdc.org

  • เพิ่มขนาดตัวอักษร
  • ขนาดตัวอักษรปกติ
  • สดขนาดตัวอักษร
Thaiihdc.org

ชีวิตที่พอเพียง : ๒๒๐๐. เรียนรู้เรื่องความด้อยโอกาสของเด็กและเยาวชน

พิมพ์ PDF

วันที่ ๑๑ มิถุนายน ๒๕๕๗ ผมมีโอกาสคุยกับอาจารย์แหวว (พันธุ์ทิพย์ กาญจนจิตรา สายสุนทร) เรื่อง ความด้อยโอกาสของเด็กและเยาวชน จากมุมมองของนักกฎหมาย ที่คบค้ากับหมอในพื้นที่ชายแดนมานาน ทำให้ผมเข้าใจสังคมในมิติใหม่ๆ

ที่สำคัญยิ่ง ผมได้ตระหนักถึงความไม่เท่าเทียมในสังคมไทยและประเทศเพื่อนบ้าน ที่คนทั่วไป มักมองข้าม แต่ทีมอาจารย์แหววไม่ยอมให้ลอดสายตา สายตาของผู้เอาใจใส่สิทธิเด็กและผู้ด้อยโอกาส

ผมได้ตระหนักว่า ใครอยากทำงานวิจัยในโจทย์ใหม่ๆ ให้ไปหาโจทย์ที่ชายแดน ที่นั่นมีทั้งปัญหา และโอกาส มีเรื่องราวแปลกๆ ให้เราทำความเข้าใจ และให้ทำงานเพื่อสังคม เพื่อมนุษยชาติ

ผมชอบวิธีมองของ อ. แหวว ต่อ “เด็กและเยาวชนในพื้นที่สุขภาวะ” ที่มอง ๓ พื้นที่ คือ

  • ๑.เด็กและเยาวชนในพื้นที่ของโรงพยาบาล/สถานพยาบาล
  • ๒.เด็กและเยาวชนในพื้นที่ของสถาบันการศึกษา/โรงเรียน/มหาวิทยาลัย
  • ๓.เด็กและเยาวชนในพื้นที่ของครอบครัว

และผมชอบวิธีวิทยาการวิจัย ที่เน้นศึกษาจาก “เรื่องจริง” ของเด็กและเยาวชนข้ามชาติด้อยโอกาส และจากผู้สนับสนุนเด็กและเยาวชนดังกล่าว รวมทั้งทำงานร่วมกับหน่วยงาน/บุคคล ที่เป็นภาคประชาสังคม ที่ทำงานด้านนี้ นี่คือวิธีเก็บข้อมูลที่ “สุดยอด”

ผมจะไปเรียนรู้จากพื้นที่ จ. ตาก ระหว่างวันที่ ๑๑ - ๑๓ กรกฎาคม ๒๕๕๗ โดยความอนุเคราะห์ ของทีมอาจารย์แหวว จัดให้ลงพื้นที่ อำเภอท่าสองยาง อำเภอพบพระ และอำเภอแม่ระมาด ได้ข่าวว่าจะมี ผู้ใหญ่อีกหลายท่านร่วมขบวนไปด้วย เช่น ศ. ดร. อมรา พงศาพิชญ์ ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

ผมเตรียมตัวไปเรียนรู้แบบสัมผัส “เรื่องจริง” และสัมผัส “มุมมอง” ของท่านผู้รู้เหล่านี้ และเตรียมไปตั้งคำถาม เพื่อการเรียนรู้ของผม และเพื่อช่วยให้ทีม อ. แหวว “เหลา” โจทย์วิจัย ให้แหลมคม

สิ่งที่ผมตั้งคำถามคือ กิจกรรมของทีมงาน อ. แหวว เอื้อหรือส่งเสริมให้มีการทำงานสร้างพื้นที่สุขภาวะ แก่เด็กและเยาวชนตามแนวชายแดน แบบ holistic หรือไม่ หรือเป็นเพียงการทำงานแบบตั้งรับเท่านั้น

กว่าเรื่องนี้จะลง บล็อก ผมก็กลับมาจากการลงพื้นที่นี้แล้ว และคงจะได้นำมาเล่าต่อ ว่าผมไปเรียนรู้ อะไรบ้าง บันทึกนี้เขียนเพื่อสรุปประเด็นสำหรับการเตรียมตัวของตนเอง

วิจารณ์ พานิช

๑๒ มิ.ย. ๕๗

บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย 

แก้ไขล่าสุด ใน วันพุธที่ 16 กรกฏาคม 2014 เวลา 19:09 น.
 

ชีวิตที่พอเพียง : ๒๑๙๘. ควงสาวเที่ยวฝรั่งเศส ต่อด้วยสวิส 8. AAR (จบ)

พิมพ์ PDF

การเดินทางท่องเที่ยว คือการหาประสบการณ์เพื่อการเรียนรู้ การเดินทางครั้งนี้ ผมได้เรียนรู้มากที่สุดเรื่องคนแก่ จากการสังเกตสาวน้อยและตนเอง หนังสือแนะนำการท่องเที่ยว หรือบันทึกการเดินทางใน อินเทอร์เน็ต เขามักจัดสำหรับคนหนุ่มสาว ไม่เหมาะต่อสังขารคนแก่อายุเกิน ๗๐ อย่างเรา

เราเดินทางท่องเที่ยวเอง ไม่ได้ไปกับทัวร์ใดๆ แต่ตอนวางแผน ใช้บริการของ ดีทแฮล์ม ในการซื้อ Eurail Pass และเราจองโรงแรมเองโดยใช้ Booking.com ซึ่งผมเชื่อว่าว่าจองตรงเข้าไปที่โรงแรมเอง จะดีกว่า คือได้ราคาดีกว่า

แน่นอนว่า การเดินทางท่องเที่ยวที่ดีต้องเตรียมตัว ศึกษาสถานที่เที่ยวไปก่อน และต้องวางแผนอย่างดี ในหลายๆ ด้าน การเดินทางครั้งนี้ สาวน้อยเป็นผู้วางแผน เพราะเธอมีเวลา และชอบทำ ส่วนผมทำตัวเป็น ลูกทัวร์ เพราะมีงานยุ่งตลอด

สาวน้อยเริ่มด้วยการอ่านและศึกษาจากหนังสือนำเที่ยว ใครๆ ก็ไปเที่ยวฝรั่งเศส ซึ่งเป็นหนึ่งในหนังสือ ชุด ใครๆ ก็ไปเที่ยว เขียนโดย อดิศักดิ์ จันทร์ดวง ที่ลูกสาวซื้อมาอ่าน แม่จึงยืมมาใช้ และนำไปด้วยตลอด การเดินทาง มีประโยชน์มาก แต่เล่มก็หนักพอใช้ ผมมีความคิดว่า น่าจะหาทางพิมพ์ด้วยกระดาษที่ ไม่หนักมาก หรือขายเป็น eBook ด้วย จะช่วยให้เดินทางแบบตัวเบาได้ดียิ่งขึ้น

ผมยอมเดินทางหนักขึ้น ๑.๓ กิโลกรัม เอาคอมพิวเตอร์ MacBook Air ไปด้วย สำหรับใช้เขียนบันทึก ตอนพักผ่อนในที่พัก และตอนเดินทางบนรถไฟ ได้ผลดีมาก ตอนเดินทางสั้นๆ เพื่อไปเที่ยวต่างเมือง จากเมืองที่เราพักค้างคืน ผมเอา iPad mini ไปด้วย และใช้เขียนบันทึกบนรถไฟ เมื่อกลับมาถึงโรงแรมและมี Wifi ก็ถ่ายไฟล์บันทึกนั้นไปยัง MacBook ทำให้บันทึกชุด ควงสาวเที่ยวฝรั่งเศส ต่อด้วยสวิส มีรายละเอียด พอสมควร แต่ก็ระวังไม่ให้ยาวเกินไป

MacBook Air ที่เอาไปด้วย ทำหน้าที่รับถ่าย ไฟล์รูปจาก SD Card เอามาดูรูปขนาดใหญ่สวยกว่ามาก สาวน้อยชอบดูรูปดารา (สูงอายุ) ถ่ายในที่ต่างๆ

วิธีเที่ยวของผู้สูงอายุ ที่เดินมากไม่ไหว และไม่ต้องการจ่ายเงินมาก คือให้เที่ยวด้วยขนส่งมวลชน เน้นที่รถบัสที่ทางเมืองนั้นๆ เขาวางแผนบริการนักท่องเที่ยวอยู่แล้ว เราไปพบวิธีนี้ตอนท้ายๆ ของการเดินทาง ที่เมือง มาร์เซย์ ด้วยการหา Information Center ให้พบ ไปขอแผนที่เมือง แผนที่รถบัส และขอคำแนะนำว่า ในเวลาที่เรามี และข้อจำกัดของความสูงอายุ ต้องการนั่งรถบัสเที่ยว จะแนะนำสายไหนบ้าง จะได้เห็นอะไร ไปขึ้นรถที่ไหน เมื่อเอามาประกอบกับที่เราอ่านหนังสือนำเที่ยวไปก่อน ก็พอจะตัดสินใจได้ ว่าจะเลือกรถเมล์สายไหนบ้าง

ในที่สุดแล้ว การท่องเที่ยวเป็นกิจกรรมเพื่อเปลี่ยนบรรยากาศของชีวิต และเพื่อไปมีประสบการณ์ใหม่ๆ ช่วยให้เข้าใจโลก และรู้จักตนเองมากขึ้น

เราไปพบความเอื้อเฟื้อช่วยเหลือชี้สถานที่ของคนฝรั่งเศส และคนสวิส ประทับใจมาก และในวัน สุดท้าย ตอนเดินทางขึ้นรถรางสาย ๔ ไปสถานีรถไฟ ความเป๋อของคนแก่ทำให้ผมได้สัมผัส “มนุษย์ระดับหก” เป็นหญิงสาว ที่น่าจะเป็นคนท้องถิ่น ที่ช่วยเอาเป้ที่ผมวางลืมไว้บนม้านั่งรอรถ พอรถมาก็มัวกังวลกับการ ยกกระเป๋าใบโตสองใบขึ้นรถ ลืมเป้ที่มีเอกสารสำคัญทั้งหมดเสียสนิท เขาจึงเอาขึ้นมาให้ โดยไม่เอามาให้ผมเอง แต่เอาไปให้กลุ่มสาวๆ ญี่ปุ่นให้เอามาให้ผม เมื่อผมขอบคุณ เธอจึงบอกว่าคนเก็บมาให้เป็นคนนี้

ขอผลบุญจากการทำความดีโดยไม่หวังผลตอบแทนครั้งนี้ จงทำให้เธอมีจิตใจที่เอิบอิ่ม และส่งผลให้ มีชีวิตที่ดี ตลอดไปในภายหน้า

เหตุการณ์นี้ บอกผมว่า ผมแก่ถึงขนาดแล้ว หลงๆ ลืมๆ การเดินทางครั้งนี้ บอกเราว่า สาวน้อยกับผมก็หลงๆ ลืมๆ พอๆ กัน เพราะเราอายุต่างกันไม่ถึงปี คนหนึ่งตาไม่ดี แต่ขาดี อีกคนหนึ่งขาไม่ดี แต่ตาดี เดินทางด้วยกันพอช่วยกันได้ ที่ดีคือไม่ชอบเที่ยวห้างซื้อของเหมือนกัน การเดินทางครั้งนี้จึงไม่สนใจ ซื้อของเลย มาซื้อนิดๆ หน่อยๆ ที่สนามบิน

การเดินทางครั้งนี้ เน้นชมบ้านเมือง ต่างจากปีที่แล้วที่เน้นชมธรรมชาติ ครั้งนี้ผมจึงได้เข้าใจเมือง และผู้คนในยุโรป ว่าเขามีวิถีชีวิตต่อเนื่องมาเป็นหลายร้อยหรือพันปี อาคารบ้านเรือนเก่าปลูกมาหลายร้อยปี ยังอยู่ มีการดัดแปลงบ้าง ตามเทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้น

ลู่ทางทำมาหากินของผู้คนยุคนี้คืออุตสาหกรรมบริการ ให้รายได้ดีกว่าทำงานโรงงาน โดยต้องมี จุดขายของแต่ละเมือง บางเมืองมีทรากสถานที่เชิงวัฒนธรรมสมัยโรมันเป็นจุดขาย หลายเมืองมีอาคาร ที่สวยงาม เป็นมรดกมาตั้งแต่ยุคกลาง และยุคฟื้นฟูศิลปะวิทยา เราได้เห็นเฉพาะภายนอก ไม่ได้เห็นว่า ภายในอาคารผู้คนเขามีชีวิตอยู่อย่างไร มีการปรับปรุงภายในอาคารแตกต่างจากตอนสร้างเมื่อหลายร้อยปีก่อนไป แค่ไหน

ตอนไป walking tour ที่ ลียง ได้ไปเห็น traboule (ทางเดินสาธารณะ ในพื้นที่ส่วนบุคคล) และอาคารสูงสมัยโบราณ ที่อยู่ติดกันเป็นกลุ่ม มีที่ว่างตรงกลาง ไกด์เตือนความคิดว่า อาคารเหล่านี้สร้างสมัย ก่อนมีไฟฟ้า เรื่องการสร้างให้ได้แสงสว่าง จากพระอาทิตย์ จึงเป็นเรื่องใหญ่ ยิ่งหน้าหนาวอากาศมัว ยิ่งต้องการแสงสว่าง คนในเมืองหนาวที่อยู่กันแบบนี้ ต้องรู้จักเกรงใจกัน หรือเคารพกติกา โดยต้องมีการร่วมกันกำหนดกติกา

ได้ไปเห็นการส่งเสริมการขี่จักรยาน ทั้งเพื่อไปทำงาน ไปตลาด ไปส่งลูกไปโรงเรียน และไปออกกำลัง กลางแจ้ง เป็นการจัดลู่จักรยาน ให้ความสะดวกในการขี่โดยไม่ต้องกลัวถูกรถยนต์เฉี่ยว มีที่จอดจักรยานให้ หลากหลายแบบ รถไฟมีตู้ที่ต้อนรับจักรยาน มีรูปเขียนไว้ จึงมีการท่องเที่ยวในวันหยุดของครอบครัว ที่พ่อแม่ลูกจูงจักรยานคนละคันมาขึ้นรถไฟ ไปหาที่น่าขี่จักรยานเที่ยวพักผ่อน ที่ชไตน์ อัม ไรน์ ผมเห็นคน แบกเป้เป็นเรือยางพร้อมพาย เตรียมไปสูบลมเป็นเรือพายเล่นในแม่น้ำไรน์ การส่งเสริมการออกกำลังเหล่านี้ เป็นการสร้างเสริมสุขภาพทางอ้อม

วิจารณ์ พานิช

๘ มิ.ย. ๕๗

บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย 

แก้ไขล่าสุด ใน วันศุกร์ที่ 11 กรกฏาคม 2014 เวลา 12:59 น.
 

ชีวิตที่พอเพียง : ๒๑๙๕. ควงสาวเที่ยวฝรั่งเศส ต่อด้วยสวิส ๗. เดินทางกลับ

พิมพ์ PDF

เช้าวันอาทิตย์ที่ ๘ มิถุนายน ๒๕๕๗ เป็นวันสุดท้ายในซูริค สำหรับการเดินทางครั้งนี้ เรามีเวลาสบายๆ ไม่ต้องออกเดินทางเช้ามากอย่างทุกวัน เพราะเครื่องบินออกเวลา ๑๓.๓๐ น. เรากะออกจากโรงแรมเวลา ๙.๐๐ น. ผมจึงมีเวลาออกไปวิ่งออกกำลังกายแถว Zurich West ที่โรงแรม 25 Hours ตั้งอยู่

เป็นเวลาหลายวันที่ผมไม่ได้วิ่ง เพราะต้องออกเดินทางไปเที่ยวตั้งแต่เช้า แม้จะเดินมาก ระหว่างท่องเที่ยว แต่ผมรู้สึกว่าการเดินแบบช้าๆ กับการเดินเร็วหรือวิ่งเหยาะ ให้ผลต่อร่างกายแตกต่างกัน เป็นการสังเกตจากประสบการณ์ของตนเอง

ผมออกไปวิ่งเวลา ๖ น. เศษ ซึ่งแดดออกแล้ว วิ่งไปทางทิศตะวันตก ซึ่งเป็นเขตที่เมืองกำลังขยาย ออกไป มีบริเวณก่อสร้างล้อมรั้วอยู่ จึงเป็นโอกาสให้ต้นหญ้าขึ้นเต็ม หญ้าเมืองฝรั่งนี่ดอกสวย และมีสีสัน ทรงดอกหลากหลาย ผมจึงได้โอกาสถ่ายรูปดอกหญ้าสวยๆ เอามาฝาก

เราวางแผนไปพักที่ ซูริค และเที่ยวแถวนั้นอยู่แล้ว ทำให้สะดวกต่อการไปขึ้นเครื่องบินที่สนามบิน ซูริค โดยเรานั่งรถรางไปสถานีรถไฟ ซื้อตั๋วจากเครื่องขายตั๋ว แล้วไปรอรถไฟเที่ยว ๙.๑๗ น. ที่ชาลา ๑๐ ตามที่สาวน้อยดูจากตารางรถไฟ เราซื้อตั๋วชั้นสอง และขึ้นรถทันทีที่เข้าเทียบ เราจึงได้ที่นั่งริมประตู ไม่ช้ามีผู้โดยสารขึ้นมาจนแน่น ส่วนใหญ่ไปลงที่สนามบิน

จากสถานีรถไฟ เดินไปตรวจป้ายบอกว่าให้ไป เช็คอินที่หมายเลข ๑, ๒ หรือ ๓ ปรากฎว่า TG 971 ออกเวลา ๑๓.๓๐ น. เราไปเร็วไป ป้ายยังไม่บอกว่าให้ไปที่หมายเลขไหน ต้องรอราวๆ ๑ ชั่วโมงจึงบอกว่า ไปที่หมายเลข ๑ เราขึ้นบันไดเลื่อนหลายทอด ไปหาที่ เช็คอิน เมื่อเช็คอินได้แล้ว ก็ต้องเดินไปลงบันไดเลื่อนหลายทอด ไปขึ้นรถไฟฟ้าไปยังอาคารทางออก เมื่อได้แล้ว ก็ต้องเดินไปหาประตูกลุ่ม E เมื่อพบก็เดินขึ้นบันได (หรือขึ้นลิฟท์) ไปห้องรับรอง Panorama เพื่อพัก และกินอาหารและเครื่องดื่มรองท้อง เพราะเครื่องออกตั้ง ๑๓.๓๐ น.

แต่ก่อนจะไปห้องรับรอง ก็มีร้านปลอดภาษีมาดักรอให้บริการ สาวน้อยเข้าไปซื้อ ช็อกโกเล็ต สวิส ตามระเบียบ เมื่อเจ้าหน้าที่ได้ยินเราพูดภาษาไทย เขาก็รีบมาให้บริการ ด้วยจิตบริการของคนไทย คือเจ้าหน้าที่ขายของเป็นคนไทย คนไทยเราช็อปเก่งแค่ไหน เป็นที่รู้กัน

ห้องรับรองนี้มีเครื่องดื่มบริการอุดมสมบูรณ์ โดยเฉพาะที่มีแอลกอฮอล์ และกล้วยหอมอร่อย แต่อาหารคาวไม่เอาไหน

TG 971 ออกจากประตู E 34 ผู้โดยสารชั้นหนึ่ง ชั้นธุรกิจ และบัตรทอง ขึ้นเครื่องก่อน บนเครื่องบิน ร้อนกว่าในสนามบินเสียอีก วันนี้ที่ซูริคอากาศร้อนกว่า ๓๐ องศา แต่พอเครื่องบินขึ้น ก็เย็นฉ่ำ และบริการสุดประทับใจ อาหารอร่อย ผมเลือก main course เป็นเนื้อ ซึ่งก็ไม่ผิดหวัง สาวน้อยเลือกปลา เพราะเนื้อ แสลงโรค

ผมต้องหาทางนอนหลับให้ได้มากที่สุด ออมแรงไว้ประชุมวันรุ่งขึ้น คือวันที่ ๙ มิถุนายน ทั้งเช้าและบ่าย วิธีการที่ใช้คือกินยานอนหลับ ลอราซีแพม ๐.๕ มก. ซึ่งปรากฎว่าช่วยได้ไม่มาก หลับได้ไม่ยาว และหลับๆ ตื่นๆ รวมแล้วน่าจะหลับได้จริงๆ สัก ๔ - ๕ ชั่วโมง การหลับนี้สู้ขาไปไม่ได้

วิจารณ์ พานิช

๙ มิ.ย. ๕๗

บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย 

ท่านใดสนใจดูภาพประกอบโปรดกด link :http://www.gotoknow.org/posts/571881

แก้ไขล่าสุด ใน วันศุกร์ที่ 11 กรกฏาคม 2014 เวลา 13:05 น.
 

ชีวิตที่พอเพียง : ๒๑๙๔. ควงสาวเที่ยวฝรั่งเศส ต่อด้วยสวิส ๖. ซูริค

พิมพ์ PDF

เพราะเราเดินทางด้วยสายการบินไทย ไป-กลับ กรุงเทพ-ซูริค เราจึงวางแผนเที่ยวซูริคและบริเวณ ใกล้เคียงของสวิสตอนขากลับ โดยไปพักที่ซูริค ๓ คืน จองโรงแรม 25Hours Hotel Zurich West, Pfingstweidstrasse 102, 5. Gewerbeschule – Escher Wyss, Zurich 8005 ระหว่างวันที่ ๕ - ๘ มิถุนายน ๒๕๕๗ ค่าที่พัก ๔๒๕ ยูโร และเขาเก็บเงินทันทีที่จอง ดังเล่าแล้ว ที่นี่

วันที่ ๕ มิถุนายน ๒๕๕๗เราเดินทางจาก ลียง ไป ซูริค ด้วยรถไฟแบบที่หากปฏิบัติตามเจ้าหน้าที่ Accueil ต้องต่อ ๓ ต่อ คือจาก ลียง ด้วยรถขบวน 17971 (6.40) ไป Chambery-Chal.-les-Eaux (7.58) ต่อด้วยขบวน 96608 (8.43) ไป เจนีวา (9.57) หลังจากนั้นต้องขึ้นรถเจนีวา ลูเซิร์น ไปลง เบิร์น แล้วต่อรถอีกขบวนไปซูริค แต่สาวน้อยบอกว่า เราหาขบวนรถของสวิสเองจากเว็บไซต์ของการรถไฟสวิสดีกว่า คืนวันที่ ๔ เราจึงค้นทาง อินเทอร์เน็ต ได้ขบวนรถ ICN 523 (10.18) จากเจนีวาถึงซูริค 12.56 โดยตรงเลย แถมยังรู้ด้วยว่า ขึ้นที่ราง 6

ระหว่างนั่งรถไฟ ลียง - แชมเบอรี ฟ้าครึ้มฝนและมีหมอกจากไอน้ำระเหยจากฝนที่ตกเมื่อวาน ทิวทัศน์เป็นพื้นที่เกษตรกรรมสวยงามมาก

ที่สถานี แชมเบอรี สาวน้อยตาไว ดูจอเล็กๆ บอกชาลาที่รถไปเจนีวาออก ว่าเป็นชาลา A เราก็ลงบันได จากชาลาที่รถจอด ไปขึ้นลิฟท์ สู่ชาลา A ซึ่งอยู่ตรงหน้าสถานีนั่นเอง แล้วหาที่นั่งพักในสถานี ตอนเช้าเช่นนี้ อากาศค่อนข้างเย็น น่าจะราวๆ ๑๘ องศา

เรากำลังนั่งรถไฟออกจากฝรั่งเศสเข้าสู่สวิตเซอร์แลนด์ ผมมีความรู้สึกว่าคนฝรั่งเศสกำลังจะ กลายเป็นคนป่วย จากการสูบบุหรี่มาก และจากการเป็นโรคอ้วน

เมื่อลงที่สถานีเจนีวา ผู้โดยสารต้องเดินผ่านด่านตรวจศุลกากรของฝรั่งเศส ซึ่งไม่มีคนตรวจเลย ไม่เห็นเจ้าหน้าที่แม้แต่คนเดียว เราเดินไปยังชาลา ๖ รอสิบนาทีรถก็มา เป็นข้อพิสูจน์ว่า สำหรับการวางแผน ขึ้นรถไฟในสวิส สาวน้อยเก่งกว่าเจ้าหน้าที่ของ Accueil การรถไฟฝรั่งเศส เรานั่ง ICN 523 สุดทาง St. Gallen ไปลงที่ซูริคเลย (10.18 – 12.56) ระหว่างทางได้งีบหลับเป็นระยะๆ โดยขึ้นไปนั่งตู้ชั้น ๑ ส่วนที่เป็นห้องเงียบ ห้ามทำเสียงดัง เป็นครั้งแรกที่เราพบบริการเช่นนี้บนรถไฟ

ลงจากสถานี Zurich HB ถามทาง และหลงลงรถรางสาย ๔ ก่อนถึงโรงแรม 25Hours เป็นโรงแรมที่ หายากและไกลสถานีรถไฟที่สุดในการเดินทางครั้งนี้ แต่เมื่อถึงห้องพักก็หายเหนื่อย เพราะห้องดีเกินคาด ระดับห้องอยู่ในเกณฑ์ ๔ ดาว การตกแต่งห้อง เตียงนอน และห้องน้ำ สุดหรูและอยู่สบาย แต่ไม่มีแปรงสีฟัน หวี โลชั่น ผมสรุปว่า บริการโรงแรมในยุโรปไม่เน้นให้ของใช้กระจุกกระจิก ต่างจากบ้านเรา และในอเมริกา

เราขอแผนที่ และคำแนะนำการเที่ยวเมือง จากสาวที่เคาน์เตอร์ต้อนรับ ขึ้นไปพักผ่อนในห้องนิดหน่อย แล้วออกชมเมือง เพราะเรามีบัตรโดยสารรถราง ๒๔ ชั่วโมง การซื้อตั๋วรถรางมีหลักว่า อย่าซื้อตั๋วชนิด ใช้ครั้งเดียว ราคา ๔.๒ ฟรังก์ ให้ซื้อชนิด ๒๔ ชั่วโมง ราคาคนละ ๘.๔ ฟรังก์ ตั๋วทั้งสองชนิดใช้กับระบบ ขนส่งมวลชนได้ทุกชนิด

เรานั่งรถรางสาย ๔ กลับไปทางสถานีรถไฟ และเลยไปเลียบทะเลสาบ จนสุดทางที่สถานีรถไฟ Teifenbrunnen มีสวนสาธารณะเล็กๆ ริมทะเลสาบ สาวน้อยซื้อไอศครีมโคนไปนั่งกินและถ่ายรูป อย่างสำราญใจ แล้วนั่งรถรางสาย ๔ กลับ ผ่านสถานี Toni Areal ที่โรงแรมเราอยู่ในย่าน Zurich West ไปสุดทางอีกทางหนึ่ง

วันศุกร์ที่ ๖ มิถุนายน ๒๕๕๗เราตื่นตั้งแต่ตี ๕ ด้วยนาฬิกาปลุก ที่นอนและห้องพักของโรงแรม 25Hours นอนสบายช่วยให้เราหลับสนิทและยาว

กินอาหารเช้าที่ซื้อจากสถานีรถไฟเมื่อเย็นวาน อิ่มเอมเปรมปรีดิ์แล้วก็ออกเดินทาง (ด้วยรถรางสาย ๔ เจ้าประจำ) ไปที่สถานีรถไฟ จับ ICN 509 เที่ยว 7.09 น. ที่ Platform 10 ไป St. Gallenรถสายนี้ผ่าน Flughafen หรือสนามบินด้วย ข้อมูลของการรถไฟสวิสดีกว่าของฝรั่งเศส ตรงที่เรารู้หมายเลขชานชาลาล่วงหน้า ไม่ต้องไปรอลุ้นหน้าจอ อย่างของฝรั่งเศส

ตอนเดินเข้าไปในโถงใหญ่ของสถานีรถไฟ พบว่าต่างจากเย็นวานโดยสิ้นเชิง มีการจัดสถานที่จัดงาน Young Enterprise Switzerland แสดงว่าเขาสร้างอาคารสถานีรถไฟไช้ประโยชน์หลากหลาย ในฐานะเป็นสถานชุมนุมคน

ซูริค เป็นนครแห่งรถราง มีรถรางเป็นบริการขนส่งมวลชนหลัก เป็นเมืองทันสมัย เมื่อวานพอลงจากรถไฟผมก็สังเกตว่าคนที่ขึ้นลงรถไฟแต่งตัวเรียบร้อย สวมเสื้อนอก และบางคนผูกเน็คไทด้วย ที่สถานีรถไฟมี Information Center ใหญ่ มีเอกสารภาษาอังกฤษมากกว่าเมืองอื่นๆ

วันนี้ เราเอาเอกสารเหล่านั้น มาอ่านประกอบหนังสือ ใครๆ ก็ไปเที่ยวสวิตเซอร์แลนด์ อ่านบนรถไฟ ตอนเช้า แล้วปรับปรุงแผนเที่ยวของวันนี้ ได้นั่งรถสาย Scenic เที่ยวเพิ่มขึ้น คือสาย Pre-Alpine Expressจาก Herizau ไป Rapperswil


St. Gallen

จาก ซูริค รถไฟใช้เวลาชั่วโมงเศษก็ถึงเมืองซังต์ กอลเล็นสาวน้อยเดินถามทางไปมหาวิหารซังต์ กอลเล็นคนบอกทางผิดให้เราเดินอ้อม แต่ก็ถึงอยู่ดี เมื่อเข้าไปในวิหารเราก็ตะลึงกับความงดงามวิจิตรตระการตาสุดๆ เป็นศิลปะโกธิค มีไม้แกะสลักมากเป็นพิเศษกว่าวิหารอื่นๆ ที่ผมเคยเห็น มีครูพานักเรียนมาชมเป็นกลุ่มเล็กๆ

หลังจากนั้นสาวน้อยหาทางไปห้องสมุด Abbey Library of St. Gallซึ่งเราต้องจ่ายค่าตั๋วเข้าชมคนละ ๑๒ ฟรังก์ ซึ่งก็คุ้ม เพราะเป็นห้องสมุดที่สะสมหนังสือโบราณไว้มากมาย และจัดแสดงการผลิตหนังสือในสมัยโบราณ ที่ใช้คนเขียนคัดลอกทีละเล่ม โดยใช้ปากกาขนนก ดังนั้น ในเล่มหนังสืออาจมีส่วนที่ไม่เกี่ยวกับเรื่องราวในหนังสือ เช่นภาพลายเส้นเพื่อทดสอบปากกา คำเขียนขออภัยหากคัดลอกผิดเพี้ยน หรือหมายเหตุระบุชื่อผู้คัดลอก สาวน้อยติดใจว่าหนังสือโบราณซึ่งยังไม่มีกระดาษ ใช้หนังแกะ (parchment) ซึ่งอาจมีรู คนเขียนจะเขียนตัวหนังสือเลี่ยงรู และเจ้าของหนังสือจะใช้ด้ายชุนรอยขาดนั้น เขามีตัวอย่างของจริงมาจัดแสดง

ชาวจีนเป็นผู้ค้นพบวิธีทำกระดาษ ประมาณ ๑๐๐ ปีก่อน ค.ศ. แล้วเทคโนโลยีนี้ค่อยๆ แพร่เข้าสู่ยุโรป ผ่านทางเส้นทางสายไหม

บุคคลทั่วไปสามารถเข้าอ่านหนังสือโบราณเหล่านี้ ใน virtual library ที่นี่


Appenzell

จาก ซังต์ กอลเล็น เรานั่งรถไฟสาย Appenzell เที่ยว 11.38 น. ไปลงที่ Appenzellเพื่อไปชมเมืองเล็กๆ ตามคำแนะนำของหนังสือนำเที่ยว แต่ผิดหวัง ไปถีงเลยเที่ยง i ปิด เวลาเปิดใหม่ 14.00 เราเดินชมเมืองเก่าเล็กๆ อันสวยงามแล้วกลับไปสถานี รอรถเที่ยว 13.30 น. เพื่อไปลงที่ Herisau เพื่อต่อรถ Pre-Alpine Scenic Route ชมวิว และไปเที่ยวเมือง Rapperswil


Rapperswil

ที่ Rapperswilเมืองแห่งกุหลาบ ผมไปบอก จนท. Informatioin Center ว่าขอคำแนะนำ ใช้เวลาครึ่งถึงหนึ่งชั่วโมงเดินชมเมืองเธอให้แผนที่เมืองเก่าแนะนำให้เดินชมเมืองเก่ารอบเล็ก ๓๐ นาที เราเดินไปตามคำแนะนำ ได้ชมเมืองเก่า ชมสวนกุหลาบ และนั่งริมทะเลสาบซูริค ฟังเสียงนกร้อง ดูฝูงเป็ด เดินไปดูบริเวณแผ่นดินสามเหลี่ยมที่ยื่นออกไปในทะเลสาบซูริค เป็นที่น่านั่งพักผ่อน ลมดี วิวดี

เรากลับซูริคด้วยรถ S-Bahn เที่ยว S7 ออกเวลา 16.10 น. ถึงซูริคไม่ถึง ๑๗ น.

สรุปว่า วันที่ ๖ มิถุนายน เราเที่ยว ๓ เมือง คือ St. Gallen ไปชมวิหารและห้องสมุด Appenzell ไปชมเมืองเล็กๆ ที่ตึกรามสวยงาม และ Rapperswil ไปชมเมืองแห่งดอกกุหลาบ และนั่งรับลมริมทะเลสาบ

วันเสาร์ที่ ๗ มิถุนายน ๒๕๕๗เรามีแผนเที่ยว ๓ ที่ คือ (๑) เมือง ชาฟฟ์เฮาเซ่น (๒) เมือง ชไตน์ อัม ไรน์ และ (๓) พิพิธภัณฑ์แห่งชาติสวิส (Schweizeriches Landesmuseum) ในซูริค


Schaffhausen

เราไป Schaffhausenด้วยรถไฟ IC ออกจาก ซูริค 7.05 - 7.43 รถไฟขบวนนี้ไปสุดปลายทางที่เมือง ชตุ๊ทการ์ท เยอรมัน เป็นครั้งแรกที่ผู้ตรวจตั๋วถามว่าจะไปไหน หลังจากนั้นไปไหน

วันนี้สาวน้อยหัวหน้าทัวร์พาไปเที่ยวเมืองที่อยู่ในอ้อมกอดของประเทศเยอรมัน และมีแม่น้ำไรน์ไหลผ่าน ที่จริงมีน้ำตกไรน์อยู่ใกล้ๆ ด้วย แต่เราไม่มีเวลาไป เพราะจะต้องกลับซูริค ไปชมพิพิธภัณฑ์สักสองชั่วโมง ก่อนพิพิธภัณฑ์ปิดเวลา ๑๗ น. อย่างไรก็ตาม ตอนรถไฟจะแล่นเข้าเมือง Stein am Rhein เราก็เห็นน้ำตก อยู่ไม่ไกลนัก ถ่ายรูปได้ แต่ไม่ค่อยสวย เพราะมีแสงสะท้อนจากกระจกรถไฟ

รถไฟแล่นมาสุดปลายทางที่สถานีซูริคชาลา ๑๓ผู้โดยสารลง แล้วเราขึ้น อีกไม่กี่นาทีรถก็ออก แสดงว่าโบกี้และหัวรถจักรไม่ได้พักเลย เมื่อเห็นหัวรถจักรแล่นเข้ามาสาวน้อยอุทานว่าหัวรถจักรเก่าจัง

ที่ ชาฟฟ์เฮาเซ่น เราสนุกมาก กับการเดินชมอาคารที่มี balcony ยื่นออกมาเป็นหน้าต่าง ตกแต่งสวยงาม และป้ายแขวนหน้าอาคารบอกสินค้าในร้านที่เป็นรูปสวยงาม ที่ถนน Oberstadt สาวน้อยสนุกกับการซื้อผลไม้ ที่ตลาดชาวสวน ซึ่งอยู่ติดกับโบสถ์ St. Johannแล้วเราถามทางไปป้อมมูนอท (Munot) มีคนชี้ให้และเตือนว่าบันไดสูง เรากัดฟันขึ้นบันไดราวๆ ร้อยขั้น ไปพบว่ามีทางขึ้นอื่นที่ขึ้นง่ายกว่า แต่เราก็ได้เดินชมบริเวณ ที่ทำเป็นสวนสาธารณะสวยงาม และมีคนมาเที่ยวบ้าง เราถามทางลงซึ่งมีหลายทาง ตอนแรกเดินลงไปถ่ายภาพแม่น้ำไรน์ก่อน แล้วเดินกลับอีกทางหนึ่งซึ่งโชคดี ผ่านสวนกุหลาบอีกแล้ว แถมดีกว่าที่ Rapperswil ตรงที่เขาบอกพันธุ์กุหลาบด้วย และเมื่อลงไปอีก มีแปลงกุหลาบป่า ซึ่งก็มีป้ายบอกพันธุ์ เช่นเดียวกัน


Stein am Rhein

จาก ชาฟฟ์เฮาเซ่น เรานั่งรถไฟ S8 เที่ยว 11.01 น. ไป ชไตน์ อัม ไรน์ ใช้เวลาเพียง ๒๕ นาทีก็ถึง สาวน้อยถามทางไปสะพานข้มแม่น้ำไรน์ สู่เมืองเก่า ชไตน์ อัม ไรน์ ที่นี่มี ภาพวาด fresco ที่ผนังอาคารมากกว่าที่ Schafhausen แต่หน้าต่างแบบ balcony มีน้อยกว่า ที่จริงสองเมืองที่เราไปเที่ยววันนี้คล้ายๆ กัน ต่างกันที่ที่ ชไตน์อัมไรน์ มีแม่น้ำไรน์ให้เราเดินเลียบ และมีคนเอาแพยางมาสูบลมและลงพายเล่น และเมื่อเราไปนั่งรอรถไฟที่สถานี นกไนติงเกลร้องขับกล่อมไพเราะมาก

ระหว่างเดินเล่น เราได้อาศัยกินลูกเชอรีที่สาวน้อยซื้อจากตลาดชาวสวนที่ ชาฟฟ์เฮาเซ่น ในราคากิโลละ ๑๒ ฟรังก์ กลับถึงซูริคก็หมดหนึ่งกิโลพอดี

ที่ ชไตน์ อัม ไรน์ ลายแทงของเราบอกว่า รถไฟกลับซูริค ออกที่ชาลา ๓ แต่สาวน้อยผู้รอบคอบไปดูป้ายเหลืองแล้วบอกว่าชาลา ๑ และพาผมไปชาลา ๑ ซึ่งไม่ใช่จุดที่ผมคาด ถ้าผมไปคนเดียวคงจะตกรถไฟ เที่ยวนี้บทเรียนนี้สอนว่า แม้ข้อมูลของการรถไฟสวิสที่ว่าแม่นยำ ก็ยังผิดพลาดได้ ต้องตรวจสอบที่สถานี ให้แน่นอน

เรานั่งรถท้องถิ่นไป Winterthur เที่ยว 13.06 - 13.48 น. ตามลายแทงที่เราค้นมาจากอินเทอร์เน็ต เราจะต่อ S-Bahn 12 เที่ยว 19254 ที่ชาลา ๓ เวลา 13.52-14.11 ไปซูริค แต่สาวน้อยตาดี พอลงจากรถไฟที่ชาลา ๕ ของ วินเทอร์ทูร์ ก็เห็นป้ายที่ชาลา ๔ ว่ารถไปซูริค เวลา 13.55 เราจึงไม่ต้องเดินไกล แค่ย้ายฟากของชาลาเท่านั้น

กลับมาถึงสถานีรถไฟซูริค เวลา ๑๔.๒๕ น. เราขึ้นรถรางสาย ๔ ไปลงป้าย Museum เมื่อเข้าไป ปรากฏว่าเป็นพิพิธภัณฑ์การออกแบบ เราถามว่าพิพิธภัณฑ์แห่งชาติสวิสอยู่ที่ไหน จึงทราบว่าอยู่หน้าสถานี รถไฟนั่นเอง


พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติสวิส

เราไปซื้อตั๋ว ราคาคนละ ๘ ฟรังก์ และเอากระเป๋าไปฝากใน ล็อกเกอร์ แล้วไปดูนิทรรศการ๒ รายการ คือ (๑) สวิสในระหว่างปี 1900 – 1914 มีการเปลี่ยนแปลงอะไรบ้าง พอเข้าไปถึง ก็เป็นเรื่องการเปลี่ยนแปลง สถานะของผู้หญิง จากถูกครอบงำ มาเป็นมีเสรีภาพมากขึ้น ต่อมาก็เป็นผลงานวิชาการของ ซิกมันด์ ฟรอยด์ บอกว่าคนเราไม่ได้ทำตามเหตุผล แต่มีพฤติกรรมตามจิตใต้สำนึก และอื่นๆ อีกมากในช่วงเวลาเพียง ๑๕ ปี ในต้นศตวรรษที่ ๒๐ ปิดท้ายช่วงเวลา ๑๕ ปี ด้วยสงครามระหว่างมหาอำนาจ

นิทรรศการที่ (๒) คือ ประวัติศาสตร์ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ที่เขาเริ่มต้นดีมาก ว่า ประเทศสวิต เซอร์แลนด์ ประกอบด้วยคนหลายชนชาติมาตั้งแต่ต้น และในช่วงเวลาต่างๆ มีคนจากประเทศอื่นอพยพ เข้ามาอยู่เป็นระลอกๆ ที่ผมชอบมากคือเรื่องราวการต่อสู้แย่งอำนาจระหว่างกษัตริย์กับชนสามัญปกครองตนเอง ที่ในที่สุดชนสามัญปกครองตนเองชนะ พัฒนาสู่ความเป็นประเทศสวิตเซอร์แลนด์ในปัจจุบัน ที่พลเมืองมีคุณภาพชีวิตสูงมาก และความเป็นประชาธิปไตยสูงมาก

เว็บไชต์ ของพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติสวิส ที่นี่

ตกเย็นคนแก่ก็หมดแรง เพราะเราออกเที่ยวตั้งแต่ไก่โห่ คือก่อน ๗ น. ยิ่งเดินดูพิพิธภัณฑ์สาวน้อย ยิ่งเมื่อยง่าย ส่วนผมตรงกันข้าม ชมพิพิธภัณฑ์เมื่อไรมีแรงคึกคัก แต่ก็ต้องตัดใจชมแต่พอประมาณ และกลับโรงแรมเกือบ ๑๗ น.

๗ มิ.ย. ๕๗

โรงแรม 25 Hours, Zurich West

บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย 

สนใจดูภาพประกอบโปรดกด link :http://www.gotoknow.org/posts/571666

แก้ไขล่าสุด ใน วันศุกร์ที่ 11 กรกฏาคม 2014 เวลา 13:10 น.
 

ชีวิตที่พอเพียง : ๒๑๙๑. ควงสาวเที่ยวฝรั่งเศส ๕. อาวียง

พิมพ์ PDF

เช่นเดียวกันครับ บันทึกเที่ยวไปตามฝัน ๙ วันในฝรั่งเศส ตอนที่ 6 Avignon ช่วยให้ผมได้ virtual tour อาวียง ล่วงหน้าก่อนออกจากบ้านไปสนามบินสุวรรณภูมิ

ที่ อาวียง (Avignon) เราจองโรงแรม Avignon Hotel Monclar, 13-15 Avenue Monclar ระหว่างวันที่ ๒ - ๔ มิถุนายน ๒๕๕๗ ค่าที่พัก ๒ คืนเป็นเงิน ๒๑๐ ยูโร เราใช้ที่นี่เป็นค่ายพักทัพ สำหรับเที่ยวแคว้น โปรว้องซ์ (Provence) สาวน้อยกำหนดไปเที่ยวเมือง (Nimes) อาร์ล (Arles) และ มาร์เซย์ (Marseille)

คืนวันที่ ๑ มิถุนายน ๒๕๕๗ ผมนอน (ที่โรงแรม อะธีนา ปาร์ดิเยอ ลียง) ได้ประมาณ ๗ ชั่วโมง ด้วยความเมื่อยขบ เพราะเดินมากและแบกเป้ด้วย เดินทางคราวนี้ เป็นการทดสอบร่างกายที่ดีมาก ตอนนี้ผมนอนหลับเอง โดยไม่ต้องใช้ยานอนหลับช่วยเปลี่ยนเวลานอนแล้ว

เช้าวันที่ ๒ มิถุนายนเราตื่นด้วยนาฬิกาปลุก เวลา ๕ น. ลงไปกินอาหารเช้าเวลาก่อน ๖ น. พอ ๖.๓๐ เราก็เช็คเอ๊าท์จากโรงแรมเสร็จพร้อมฝากกระเป๋าใหญ่ ๒ ใบไว้ เดินไปหาข้อมูลรถไฟไป อาวีญอง เที่ยว ๗.๒๐ น. รู้ว่าเป็นขบวน ๑๗๗๐๕ แต่ป้าย LCD สีน้ำเงินยังไม่บอกชานชาลา เราและผู้โดยสารคนอื่นๆ ไปยืนออหน้าป้าย จนเวลา ๗.๑๖ น. จึงขึ้นว่า J ซึ่งโชคดี ขึ้นบันไดเลื่อนไปก็ถึงเลย และขึ้นไปก็เจอตู้ชั้น ๑ เลย

ก่อนหน้านั้น สาวน้อยผู้รอบคอบ บีบบังคับให้สามีไปที่ห้อง Accueil ไปถามขบวนรถ ter เที่ยวตรง (ไม่ต้องเปลี่ยน ขบวน) จาก ลียง ไปเจนีวา ในวันที่ ๕ ได้ข้อมูลไม่ตรงกับที่ได้จากเมืองไทย แถมบางช่วงยัง ต้องจองเสียอีก ผมสังเกตว่าเจ้าหน้าคนดำนี้แม้จะอัธยาศัยดี แต่ก็เป็นคนไม่ยืดหยุ่นนัก จึงไม่ขอให้เขา ตรวจสอบเพิ่ม เราพบว่าธุรกิจรถไฟของฝรั่งเศสนี้ บริษัท TGV รุกหนัก ข้อมูลมักจะเน้นของ TGV ซึ่งแพงกว่า ต้องจอง และ EuroPass ต้องจ่ายเงินเพิ่ม ๘๐๐ บาทต่อคน ส่วนของบริษัท ter ฟรีตลอดและไม่ต้องจอง

ตู้โดยสารเหมือนกับตอนเดินทางจาก อ๊านซี - ลียง เก้าอี้ใหญ่ นั่งสบาย พื้นรถปูพรม ผมหยิบตั๋ว Flexi EuroPass มาลงวันที่ใช้งาน แต่วันนี้ผู้โดยสารหลายคน ขึ้นลงตามสถานีระหว่างทาง เปลี่ยนหน้ากัน ทิวทัศน์ ระหว่างทางเป็นเรือกสวนไร่นา มีชลประทานอย่างดี มีระบบการให้น้ำแก่ต้นไม้ที่แปลก ผมไม่เคยเห็นมาก่อน คือเป็นระบบให้น้ำแบบเป็นท่อเหนือต้นไม้ ตามยาวของไร่ มีล้อเลื่อนเลื่อนไปรดน้ำได้ตลอดไร่

ตู้รถไฟไม่มีป้ายบอกสถานีหน้า ประกาศมีเฉพาะภาษาฝรั่งเศส แต่ก็ไม่เดือดร้อนมาก เราใช้วิธีดูเวลาถึงสถานีที่เราจะลง คือ อาวีญง รถไฟขบวนนี้ปลายทางที่ มาเซย์

อากาศอุ่นขึ้นเรื่อย ตอนเช้าเย็นสบาย แต่สายหน่อยก็อุ่น พยากรณ์อากาศว่าบ่ายนี้ที่อาวีญง ๒๘ องศาเซลเซียส

ถึง อาวีญง ๑๐.๔๑ น. มีป้ายบอกทางไปโรงแรม Monclar ไปพบพนักงานที่อัธยาศัยดีชื่อ Fred ชอบไปเมืองไทย เราทราบภายหลังว่า โรงแรมนี้จัดการโดยครอบครัว และคุณ เฟร็ด เป็นเจ้าของ คุณเฟร็ดแนะนำให้ เที่ยวเมือง อาร์ลส เมืองเดียวพอ ไม่ต้องไป นีมส์ เพราะเหมือนกัน คือเที่ยวโบราณสถานโรมันและเมืองเก่ายุคกลาง แต่นีมส์ใหญ่กว่ามาก เที่ยวยากกว่า ได้เห็น อาร์ลส ก็เหมือนเห็น นีมส์ ขนาดเล็ก เขาแนะนำว่าควรไปดู Pont Du Gard หรือสะพานทดน้ำโรมัน

จากโรงแรม เราออกมาเดินเที่ยวเมืองอาวีญง คั่นเวลารถไฟออกเพื่อไปเที่ยว อาร์ลส


เที่ยวเมือง Arles ชมเมืองเก่าสมัยกลาง และยุคฟื้นฟูศิลปะวิทยาการ (๒ มิถุนายน๒๕๕๗)

เราขึ้นรถไฟสายไป Marseilles St. Charles เที่ยว ๑๑.๔๔ น. สถานีเดียวถึง Arlesรถขบวนนี้มีแต่ชั้น ๒ ลงจากรถถือแผนที่ที่คุณ Fred ให้มา เดินเข้าเมืองไปดูโบราณสถานอายุกว่าสองสหัสวรรษ เริ่มจาก Amphitheatre หรือสนามการแสดงรูปวงกลม มีอัฒจรรย์รอบ เราไม่ได้ซื้อตั๋วเข้าไปดู คิดว่าดูภายนอกเห็นภาพใหญ่ และถ่ายรูปได้สวยกว่า เมื่อเดินวนไปทางขวาก็พบสนามการแสดงครึ่งวงกลม และเล็กกว่า เรียกว่า Theatre Antique คือเก่ากว่า เราใช้เวลาสองชั่วโมงครึ่งเดินชมเมืองเก่าเกือบทั่วถึง เราเดินถามทางไปสู่แม่น้ำโรน (Rhone ฝรั่งเศสออกเสียงว่า โฮน) ไปชน Place Jean Baptist Massilone) นั่งพักที่ม้านั่งสาธารณะ แล้วเดินเลียบแม่น้ำโรนกลับสู่สถานีรถไฟ

เมืองอาร์ลโฆษณาว่า แวน โก๊ะ มาอยู่ที่นี่ปีกว่า คงจะเป็นปีที่แกอารมณ์พลุ่ง (mania) รุนแรง เพราะแกวาดภาพกว่า ๓๐๐ ภาพในช่วงนั้น ดังนั้นเขาจึงถือโอกาสขายแวนโก๊ะควบกับกิจการท่องเที่ยว ด้วยบ้านที่เขาเคยอยู่ และด้วย Van Gogh Mediatheque

วันนี้การรถไฟฝรั่งเศสเสียชื่อ รถขบวนจาก มาเซย์ เสียเวลา ๒๕ นาที

กลับจาก อาร์ลส ถึง อาวีญง บ่ายสี่โมงเศษ เราเดินไปนั่งที่บริเวณสวนสาธารณะข้าง Information Center เป็นสวนสาธารณะเล็กๆ แต่สวยงามและบรรยากาศดีมาก มีต้นไม้ดอกหอมหลายชนิด

สาวน้อยหมดแรงเสียแล้ว เราจึงเดินกลับไปซื้อแซนวิชและพิซซ่ากลับไปกินที่โรงแรม โรงแรม Avingon Hotel Monclar อยู่หลังสถานีรถไฟ ต้องเดินออกไปหน้าสถานี เมื่อถึงถนนใหญ่เลี้ยวขวา ไปจนถึง ทางแยกเลี้ยวขวาอีกที ไปลอดใต้ทางรถไฟ โรงแรมอยู่ทางซ้ายมือ คุณ Fred เมื่อรู้ว่าเราเป็นคนไทย ก็โอภาปราศรัยแนะนำวิธีไปเที่ยวดีมาก ห้องพักมี ๒ เตียง เตียงหนึ่งใหญ่หน่อย ขนาดเท่าเตียงเดียวที่ Athena Part-Dieu แต่ห้องน้ำเล็กหน่อย โรงแรมนี้มีข้อเด่นที่โรงแรมอื่นเท่าที่เราไปพักไม่มีคือ (๑) บริการด้วยหัวใจของความเป็นมนุษย์ ให้คำแนะนำ ปรึกษาเรื่องการเที่ยว (๒) มีตู้เย็นเล็กๆ ให้ (๓) มีของใช้ในห้องน้ำมากกว่าที่อื่น (๔) มีไวน์ให้ ๑ ขวด (๕) การตกแต่งห้องที่ตั้งใจทำให้น่าอยู่ แต่ก็ยังไม่มี lotion กันผิวแห้ง ให้อยู่ดี

เช้าวันที่ ๓ มิถุนายน วันอังคาร เราตื่นเพราะนาฬิกาปลุกเวลา ๕ น. ได้นอนหลับสนิท คงเพราะความ เหนื่อยจากการเดินเที่ยว พอตื่นขึ้นมาก็ได้ยินเสียงนกไนติงเกลร้องให้ความสดชื่น แถมด้วยเสียงคูของนกเขา

อาหารเช้าที่โรงแรม อาวีญง โอเตล มงคลา ดีกว่าที่คิด มีไข่ต้มแข็งปอกเปลือก เนยแข็ง และไส้กรอก และอื่นๆ มากมาย รวมทั้งผลไม้ ที่อร่อยที่สุดคือขนมปังฝรั่งเศส และผมรู้สึกว่าเนยที่เขาจัดให้ก็อร่อยเป็นพิเศษ อาหารเช้านี้เขาคิดราคารวมในค่าห้องแล้ว เสียอย่างเดียว เขาเริ่มเปิด ๗.๓๐ น. ทำให้เราต้องรีบออกไปขึ้นรถไฟไป หมักเซย (เรียกแบบฝรั่งเศส ออกเสียงกึ่งเซยกึ่งไซย)


เที่ยว มาร์เซย์ เมืองท่าเก่า (๓ มิถุนายน ๒๕๕๗)

เราไปรถไฟขบวนที่สาวน้อยหัวหน้าทัวร์กำหนด ซึ่งออก ๘.๑๖ น. รถไฟมีเฉพาะชั้น ๒ แต่ขบวนนี้มีป้ายตัววิ่งบอกว่ารถไปไหน สถานีหน้าเป็นสถานีอะไร

รถไฟใช้เวลาชั่วโมงครึ่งก็ถึง หมักเซย (Marseille)

รถจอดสถานี (Prochain arret ออกเสียงว่า โปชินนาเร็ท) ระหว่างทางต่อไปนี้ : Arles, St. Martin Le Caux ซักมักต้า เลอคัวซ, Miramas มิรามาส์, St. Chamas, Rognac หรอกยัค, Vitrollles Aeroport Marseille, Pas-Des-Lanciers, L'Estaque เลสต๊าร์ก, Marseille Mediterranee (Arenc Euromediterranee), สุดปลายทางที่ หมักเซย แซงชาร์ลส (Marseille St. Charles)

บนรถไฟวันนี้ ได้เห็น จนท. ตรวจตั๋ว (สวมเสื้อยืด หมวกแก๊ป) อายุกลางคน มาพร้อมกับนายตรวจหนุ่มๆ ซึ่งแต่งสากลเต็มยศ มายืนสังเกตการณ์อยู่ห่างๆ

สถานีรถไฟ และทางรถไฟในยุโรปต่างจากรถไฟบ้านเราอย่างสิ้นเชิงอยู่อย่างหนึ่ง คือของเขามีสายไฟระโยงระยาง เพราะรถไฟของเขาเป็นรถไฟฟ้าทั้งหมด น่าจะถือได้ว่า นั่นเป็นความก้าวหน้าสำคัญของระบบขนส่งทางไกล เป็นโครงข่ายทั่วประเทศ ที่ของเรายังพัฒนาไม่ถึง หรือล้าหลังไปเป็นครึ่งศตวรรษ

สาวน้อยกับผมวางยุทธศาสตร์เที่ยวเมืองใหญ่ ด้วยการซื้อ Day Ticket นั่งรถเที่ยวให้มากที่สุด ให้พอดีกับสังขารคนแก่

เมื่อไปถึงสถานี Marseille St. Charles เราเข้าไปถาม Information Center ขอแผนที่ ขอแผนที่ Public Transport ชมเมือง และวิธีไปซื้อตั๋ววัน (๒๔ ชั่วโมง) เมื่อซื้อตั๋วได้แล้ว ก็คิดจะนั่งรถเมล์ไปท่าเรือเก่า (Vieux Port) ถามเขา ได้ความว่าต้องไปรถใต้ดิน นั่งรถใต้ดินไปเพียง ๒ ป้ายก็ถึง ไปเดินแกว่งอยู่พักหนึ่ง สาวน้อยชวนไปหา Information Center เราถามวิธีชมเมือง ๒ - ๓ ชั่วโมงแบบคนแก่เดินมากไม่ได้ ก็ได้วิธีขึ้นรถบัสเที่ยว ๒ สาย ไปกลับสายละ ๑ ชั่วโมง คือสาย ๘๓ เลียบริมทะเล ไป Round Point du Prado กับสาย ๖๐ ขึ้นเขาไปวิหาร Notre Dame de la Garde เพื่อชมวิว และทำใจให้บริสุทธิ์ในโบสถ์ (คาทอลิค)

เป็นความสำเร็จในการเที่ยวชมเมือง หมักเซย แบบคนแก่ ที่ได้ชมแบบไม่ต้องเดินมาก แต่ได้เห็นมาก ได้เห็นวิวทะเลเมดิเตอร์เรเนียน เห็นเกาะ ๒ เกาะในอ่าว เกาะหนึ่งเป็นป้อมปราการป้องกันเมือง และต่อมาเป็นที่กักกันนักโทษ อีกเกาะหนึ่งเคยใช้เป็นที่กักกันผู้ป่วยไข้เหลือง

รถบัสสาย ๖๐ พาเราไต่ขึ้นเขาลูกเดียว ไปจนสุดทางที่มหาวิหาร นอเตรอะดาม แล้วเราต้องขึ้นบันไดไปทีละระดับ เพื่อชมวิว สลับกับเข้าชมโบสถ์ ได้ชมวิวและถ่ายรูปสมใจ

เราจับรถ ไฟเที่ยว ๑๔.๑๐ น. กลับ อาวีญง สาวน้อยบอกว่า เที่ยวนี้แหละที่เรารอเสียเหนื่อยเมื่อวานนี้ที่ อาร์ลส วันนี้ตรงเวลา แต่โบกี้ทรุดโทรมมาก และอากาศร้อนอบอ้าว สงสัยแอร์เสีย

สรุปว่า ที่ หมักเซย เราไปดูเฉพาะส่วนเมืองเก่า ไม่ได้ไปดูส่วนเมืองใหม่ ที่ทันสมัยใหม่เอี่ยมที่เขาเรียกว่า Marseille Euromediterranee

กลับถึงสถานี อาวียง ซ้อตร์ (Avignon Centre) เกือบ ๑๖ น. เรากลับไปพักผ่อนที่โรงแรม ซึ่งมีเครื่องปรับอากาศเย็นสบาย หลังจากนั่งอบความร้อนในตู้รถไฟมาตลอดทาง

เกือบ ๑๘ น. เราออกไปเดินเล่น ซื้อแซนวิชเจ้าอร่อยที่ซื้อเมื่อวาน ชื่อร้าน Pains – Sandwicherie – Tarterie ไปนั่งกินที่สวนสาธารณะใกล้ Information Centre สาวน้อยเห็นขนม ท้าร์ต น่ากินจึงซื้อไปหนึ่งชิ้น ชมว่าอร่อยมาก วันนี้สวนสาธารณะน่านั่งน้อยกว่าเมื่อวาน เพราะอากาศร้อน และไม่มีลม ขากลับเราลองนั่งรถ CityZen รอบเมืองในเวลา ๑๒ นาที จอดตามป้ายต่างๆ เป็นรถเล็กๆ นั่งได้ไม่ถึง ๑๐ คน ราคาคนละ ๕๐ เซ็นต์ แล้วเดินกลับมาพักผ่อนและเขียนบันทึกี่โรงแรม

๔ มิถุนายน ตอนเช้าเที่ยว อาวีญง บ่ายเดินทางกลับ ลียง วันนี้พอเจอหน้าเจ้าของโรงแรมคนพ่อ เขาก็บอกว่าวันนี้อากาศไม่ดี แต่เราก็โชคดีที่โดนฝนพรำๆ เล็กน้อยเท่านั้น ระหว่างเดินเที่ยว


อาวีญง อดีตนครวาติกันนอกกรุงโรม

ในคริสตศตวรรษที่ ๑๔ ด้วยเหตุผลทางการเมือง ศูนย์กลางศาสนาคอทอลิก ย้ายจากโรมไปอยู่ที่ อาวีญง เราไปชมวังของพระสันตปาปา (Palais des Papes) ซึ่ง UNESCO ยกย่องให้เป็นมรดกโลก เดินขึ้นเดินลงปราสาทที่กว้างใหญ่ มีหลายชั้นและ มีห้องต่างๆ มากมาย ทั้งห้องรับรองแขก ห้องเลี้ยงอาหาร โรงครัว ห้องอ่านหนังสือ ห้องขังนักโทษ โดยเราต้องไม่ลืมว่า เราไปชมอาคารที่ก่อสร้างขึ้นใช้งานเมื่อ ๗๐๐ ปีมาแล้ว ที่วิถีการดำเนินชีวิตของผู้คน ต่างจากสมัยนี้มากมาย รวมทั้งเขาบอกว่าหลังจากไม่ได้เป็นวังของโป๊บ เพราะโป๊บย้ายกลับไปอยู่ที่โรมอย่างเดิม มีการรื้ออาคารบางส่วน และต่อเติมบางส่วน อีกหลายครั้ง

ค่าเข้าชมวังคนละ ๙ ยูโร ค่าเช่า audio guide คนละ 2 ยูโร การชมด้วย audio guide ช่วยมาก เขาใช้ระบบให้เรากดหมายเลข เครื่องก็จะ sync กับ wifi มีเสียงอธิบายออกมาทางลำโพงเล็กๆ ที่ดังพอที่ผม จะอาศัยฟังของสาวน้อยได้ เครื่องนี้หรี่หรือเพิ่มเสียงไม่ได้ เป็นวิธีให้บริการชมพิพิธภัณฑ์ที่น่าเอาอย่าง กรมศิลปากรน่าจะร่วมมือกับ NECTEC / NSTDA ทำระบบนี้ขึ้นใช้เอง กับพิพิธภัณฑ์ทั่วประเทศ

ชมวังของโป๊บอยู่ราว ๒ ชั่วโมง แล้วเดินไปทางเมืองเก่าสู่แม่น้ำโรน ไปชมสะพานขาด (Pont D’Avingon หรือ St. Benezet Bridge) จุดที่คนชอบถ่ายรูปที่สุดแห่งหนึ่งถ่ายรูปเสร็จสาวน้อยก็หมดแรง เดินกลับไปนั่งพักที่สถานีรถไฟ ผมเดินกลับโรงแรม ไปเอากระเป๋า และร่ำลาคุณ Fred

ผมขอแนะนำว่า เมือง อาวีญง น่าเที่ยวครับ อาจค้นลู่ทางไปเที่ยวได้ที่ www.avignon-tourisme.com

เราไปนั่งรอในสถานีรถไฟเป็นเวลาชั่วโมงเศษ ได้เห็นเหตุการณ์ไม่เรียบร้อยที่สถานี จึงมีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยกว่าสิบคนมาออกันอยู่ และมีการตรวจบัตรผู้โดยสารอย่างเข้มงวด เขามาขอดูตั๋วของเราด้วย

เรานั่งรถ ter ขบวน 14.18 น. ไป ลียง ได้พบหนุ่มสาวชาวจีนมาฮันนีมูน เราบอกว่าเราก็มาฮันนีมูนเหมือนกัน แต่เป็นครั้งที่ ๓๐ เจ้าบ่าวทำงานที่ China National Radio

ระหว่างนั่งรถไฟจาก อาวีญง ไป ลียง ฝนตก

ผมมาอ่านพบในแผ่นพับที่หยิบมาจาก Information Center ที่ อาวีญง ว่ามีทัวร์ที่น่าสนใจของProvence Panorama Sightseeing Toursทัวร์ที่ 7 Provence Best of ใช้เวลาทั้งวัน ราคาคนละ ๙๕ ยูโร หากผมรู้จัก ทัวร์นี้ก่อน ผมจะเลือกไปทัวร์นี้ แทนที่จะไป มาร์เซย์

นอกจากนั้น ยังมีแผ่นพับ Bienvenue en Provenceแนะนำสถานที่เที่ยวในแคว้น โปรว้อง ๔๒ ที่ ที่ผมสนใจที่สุดคือ สะพานส่งน้ำโรมัน Pont du Gard

วิจารณ์ พานิช

๓ มิ.ย. ๕๗ โรงแรม Avingon Hotel Monclar

ปรับปรุง ๔ มิ.ย. ๕๗ บนรถไฟกลับ ลียง

วิจารณ์ พานิช

ดูภาพประกอบโปรดกด Link : http://www.gotoknow.org/posts/571421

แก้ไขล่าสุด ใน วันศุกร์ที่ 11 กรกฏาคม 2014 เวลา 13:16 น.
 


หน้า 339 จาก 561
Home

About Us

ศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ (ศบม.) เป็นองค์กรที่พัฒนาและจัดทำโครงการเพื่อทำประโยชน์ให้สังคม เป็นองค์กรสนับสนุนการดำเนินงานของภาครัฐ ช่วยแก้ปัญหาผู้ประกอบการภาคธุรกิจบริการที่ขาดแคลนบุคลากรที่มีมาตรฐานในการให้บริการ
อ่านเพิ่มเติม

มูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ ์

 iHDC Profile
บัญชีรายชื่อกรรมการ
ใบสำคัญแสดงการจดทะเบียน การเปลี่ยนแปลงกรรมการของมูลนิธิ
เอกสารประชาสัมพันธ์ โครงการ HMTC.pdf
เอกสารแนะนำโครงการ HMTC 1.pdf
เอกสารโครงการ HMTC 2 คุณสมบัติผู้เข้าร่วมโครงการ.pdf
iHDC นิติบุคคล.pdf
iHDC บุคคล.pdf
iHDC บุคคลเครือข่าย.pdf
รายงานการประชุม 6 มีนาคม 2560.pdf
ข้อบังคับมูลนิธิ
ใบสำคัญแสดงการจดทะเบียนจัดตั้งมูลนิธิ
Ihdc-Profile and Roadmap 2016-2019 Mar 23 2560.pdf
รายงานการประชุมใหญ่คณะกรรมการมูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ 2559.pdf
คำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ สาขาวิชาชีพ.pdf
รายงานการประชุมใหญ่วันที่ 18 ธ ค 2558 v 3.pdf
รายงานการประชุม วันที่ 24 ธันวาคม 2557 updated 4 มีนาคม 2558.pdf
iHDC-invitation Letter.doc
iHDC-Member Form Thai.doc
iHDC-Member Form English.doc
รายงานการประชุมกรรมการมูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ วันที่ 15 มกราคม 2556 ฉบับสมบูรณ์


thaibetter
พัฒนาประเทศไทยแบบทวีคูณ และยั่งยืน ( ททค )

Login


แบบสำรวจ

สถิติเว็บไซด์

สมาชิก : 5644
Content : 3068
เว็บลิงก์ : 26
จำนวนครั้งเปิดดูบทความ : 8746794

facebook

Twitter


ล่าสุด

บทความเก่า