Thaiihdc.org

  • เพิ่มขนาดตัวอักษร
  • ขนาดตัวอักษรปกติ
  • สดขนาดตัวอักษร
Thaiihdc.org

ลานพลับพลามหาเจษฎาบดินทร์

พิมพ์ PDF
ขอบคุณคุณพิชาญ ที่ค้นคว้าและนำข้อมูลทางประวัติศาสตร์ที่คนไทยทุกคนควรศึกษาเรียนรู้ มาเผยแพร่ให้ได้อ่านกันครับ
ม.ล.ชาญโชติ ชมพูนุท
4 กรกฎาคม 2557
ลานพลับพลามหาเจษฎาบดินทร์
ลานพระบรมราชานุสรณ์
น้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ
พระมหากษัตริย์ เจ้าสัว
ผู้นำพาเศรษฐกิจกรุงสยามสู่ยุคทอง
แห่งความโชติช่วงชัชวาลย์

ถนนราชดำเนิน บริเวณเชิงสะพานผ่านฟ้าลีลาศหาก ท่านทั้งหลายได้เคยเดินทางผ่านไปมาจะสังเกตเห็นพระบรมราชานุสาวรีย์ ขนาดเท่าครึ่งของพระองค์จริงประทับนั่งตรง มีแท่นฐานหินอ่อนรองรับ 2 ชั้น ด้านหลังพระบรมรูปเป็นฉากรูปพระวิมาน อันเป็นพระบรมราชสัญลักษณ์และพระราชลัญจกรประจำพระองค์ พื้นฉากด้านหน้าเป็นหินอ่อนเรียบ ฉากด้านหลังเป็นหินอ่อนจารึกพระราชประวัติและพระราชกรณียกิจ ลวดลายพระวิมานเป็นกระเบื้องเคลือบ พื้นลานที่รองรับแท่นฐานรวมทั้งกระถางต้นไม้ตามมุมเป็นหินแกรนิต ตั้งเด่นเป็นสง่าให้ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติได้เก็บภาพที่แวดล้อมด้วยทัศนียภาพอันงดงาม ไม่ว่าจะเป็น วัดภูเขาทอง โลหะปราสาท และสวนไม้ดอกไม้ประดับ ที่จัดไว้อย่างลงตัวยามเมื่อได้มาเยือน นั้นคือ "ลานพลับพลามหาเจษฎาบดินทร์" 
เป็นลานที่ประดิษฐานพระบรมราชานุสาวรีย์ของ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชการที่ 3 ซึ่งคณะกรรมการจัดงานเฉลิมพระเกียรติได้ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตสร้างพระบรม ราชานุสาวรีย์ พร้อมสร้างพลับพลารับพระราชอาคันตุกะ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนาง เจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดพระบรมราชานุสาวรีย์ และเป็นที่ตั้งพลับพลารับแขกบ้านแขกเมืองได้รับพระราชทานนามว่า "ลานพลับพลามหาเจษฎาบดินทร์" และกำหนดให้วันที่ 31 มีนาคม ของทุกปีเป็นวันมหาเจษฎาบดินทร์และเป็นงานรัฐพิธี

พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยและสมเด็จพระศรีสุราลัย (เจ้าจอมมารดาเรียม) ทรงพระราชสมภพเมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2330 มีพระนามเดิมว่า พระองค์ชายทับ เมื่อแรกประสูติทรงดำรงพระยศเป็น " หม่อมเจ้า " ด้วยเวลานั้นพระราชบิดายังทรงดำรงพระอิสริยยศเป็น เจ้าฟ้าต่างกรม และพระราชมารดาเป็นเพียงสามัญชน จนเมื่อสมเด็จพระบิดาได้รับการสถาปนาเป็นที่กรมพระราชวังบวรสถานมงคล หรือตำแหน่งพระมหาอุปราชแล้ว พระราชโอรสและพระราชธิดาที่ประสูติแต่เจ้าจอมมารดา จึงเลื่อนพระยศขึ้นเป็น " พระองค์เจ้า " ทุกพระองค์ ต่อมาในปีพุทธศักราช 2356 ภายหลังที่พระราชบิดาเสด็จขึ้นครองราชย์สมบัติแล้ว จึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯสถาปนา พระองค์เจ้าทับ ขึ้นเป็นเจ้าฟ้าต่างกรม ทรงพระนามตามพระสุพรรณบัฏว่า สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ เข้ารับราชการกรมท่า กรมพระคลังมหาสมบัติ กรมพระตำรวจ ว่าความฎีกาทรงพระปรีชาสามารถในการศึกษาหลายแขนง อาทิ ในด้านอักษรศาสตร์ พุทธศาสตร์ รัฐประศาสนศาสตร์ นิติศาสตร์ สถาปัตยกรรมศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ และพาณิชยศาสตร์ จึงเป็นเหตุให้ทรงได้รับความไว้วางพระราชหฤทัยจากพระบรมชนกนาถให้ไปบังคับบัญชาหน่วยราชการอื่น ๆ ต่างพระเนตรพระกรรณ
ขณะที่รัชการที่ 2 ทรงพระประชวรและเสด็จสวรรคตนั้น มิได้ตรัสมอบราชสมบัติให้แก่พระราชโอรสองค์ใด พระบรมวงศานุวงศ์และเสนาบดีได้ปรึกษากันเห็นควรถวายราชสมบัติแด่กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ แม้จะเป็นพระราชโอรสที่เกิดจากเจ้าจอม เนื่องจากทรงเจริญพระชนมายุมากกว่าเจ้าฟ้ามงกุฏ พระราชโอรสที่ประสูติจากสมเด็จพระบรมราชินี ซึ่งขณะนั้นทรงพระเยาว์และทรงผนวชอยู่ ทั้งยังไม่เคยทรงงานใหญ่มาก่อนและช่วงนั้นบ้านเมืองยังมีข้าศึกมาประชิดติดพันอยู่เนื่องๆ จึงได้ขึ้นครองราชย์ เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2367 โปรดให้จัดการปกครองบ้านเมืองเสียใหม่ให้เหมาะสมกับภาวการณ์ในเวลานั้น โดยโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งเมืองขึ้นใหม่เพื่อสะดวกแก่การปกครองและเพื่อรวบรวมราษฎรที่กระจัดกระจายกันให้มาอยู่รวมกันเป็นหมู่เหล่า นอกจากนี้ยังโปรดเกล้าฯ ให้สร้างป้อมปราการเพื่อป้องกันข้าศึกที่อาจจู่โจมเข้ามาทางเรือเพิ่มเติมขึ้นที่สมุทรปราการ สมุทรสงคราม สมุทรสาคร และที่จันทบุรี โปรดให้มีการปราบปรามโจรผู้ร้าย ซึ่งในเวลานั้นมี "พวกอั้งยี่" เข้ามาระรานปล้นสดมภ์จนราษฎรไทยที่อาศัยอยู่ในบริเวณนั้นเดือดร้อน จึงโปรดให้ทหารเรือยกกำลังไปปราบปรามจนสงบราบคาบ ตลอดจนการลักลอบค้าฝิ่นและการสูบฝิ่นก็ให้ปราบปรามเช่นกัน 
พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ 2 เมษายน 2394 สิริพระชนมายุได้ 64 พรรษา รวมเวลาที่เสด็จอยู่ในสิริราชสมบัตินาน 27 ปี พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชโอรสและพระราชธิดารวมทั้งสิ้น 51 พระองค์ โดยประสูติก่อนที่จะทรงบรมราชาภิเษก 38 พระองค์ และประสูติหลังจากที่ทรงบรมราชาภิเษกแล้ว 11 พระองค์ พระองค์มิได้ทรงสถาปนาสมเด็จพระอัครมเหสีพระองค์ใดขึ้นเป็นสมเด็จพระบรมราชินี ดั้งนั้นจึงไม่มีพระบรมราชินีในรัชกาลนี้ คงมีเพียงแต่เจ้าจอมมารดาและพระสนมเอกเท่านั้น เนื่องจากตั้งพระราชหฤทัยที่จะคืนราชสมบัติแก้เจ้าฟ้ามงกุฎ
แก้ไขล่าสุด ใน วันศุกร์ที่ 04 กรกฏาคม 2014 เวลา 21:59 น.
 

ชีวิตที่พอเพียง : ๗๗๑. สนุกกับการสอนแบบไม่สอน

พิมพ์ PDF

วันที่ ๓ มิ.ย. ๕๒ ผมบินไปนครศรีธรรมราช    เพื่อไปสอนนักศึกษาแพทย์ปี ๑ ที่ มวล. ในวิชาแพทย์กับสังคม ช่วง ๓ ชม. ที่ผมสอนเรียกว่าช่วงเรียน เวชจริยศาสตร์และการคิดเชิงวิพากษ์ ตามที่เล่าไว้แล้ว
ระหว่างเดินจากอาคารเรียนรวม ๑  ไปอาคารเรียนรวม ๓   เวลาประมาณ ๑๐ น. ใน มวล. ผมบอกนักศึกษาว่าคนกรุงเทพไม่มีสิทธิพิเศษที่จะได้หายใจอากาศที่สดชื่นอย่างนี้   ช่วงนั้นอากาศสดชื่นจริงๆ    ทำให้ผมระลึกชาติกลับไปเมื่อประมาณ ๑๐ ปีก่อน ช่วงที่ผมไปรักษาการอธิการบดีที่นั่นอยู่ ๔ เดือน   ผมมีความสุขมากกับการวิ่งออกกำลังตอนเช้าตรู่ในบรรยากาศที่ธรรมชาติสวยงาม    และอากาศบริสุทธิ์เหมือนวันนี้  
ช่วงเช้าผมได้มีโอกาสฟังการบรรยายของ ศ. แสวง บุญเฉลิมวิภาส กับ ผศ. นพ. ประเสริฐ วศินานุกร เรื่อง กฎหมายกับแพทย์ และ แพทย์กับสังคม    ได้มีโอกาสเรียนรู้เรื่องราวเกี่ยวกับแพทย์ในปัจจุบัน ที่ผมรู้น้อยมาก   เพราะผมเป็นหมอที่ไม่ประกอบวิชาชีพแพทย์มานานกว่า ๓๐ ปี 
ตกบ่าย เป็นช่วงที่ผมทำหน้าที่ “สอนแบบไม่สอน”   คือกล่าวนำเพียงสั้นๆ ให้ นศพ. เข้าใจว่า ทั้งเรื่องจริยธรรมและเรื่องความสามารถในการคิดนั้น   การสอนได้ผลน้อยมาก   ที่จะได้ผลคือแต่ละคนต้องเรียนเอง เรียนตลอดชีวิต เรียนจากชีวิตจริง    แต่ละคนต้องสอนตนเอง เตือนสติตนเอง    การเรียนในช่วงนี้จะไม่เน้นเรียนสาระ แต่จะเน้นการฝึกความสามารถในการเรียน    หรือฝึกทักษะในการเรียน   ผ่านการประชุมกลุ่มแบบใช้หมวก ๖ ใบ โดยสมมติว่าจะหารือกันเรื่อง “การจัดงานรับน้องใหม่ปีหน้า”   ตามที่เล่าไว้แล้ว    โดยให้เวลาประชุมกลุ่มเพียง ๔๐ นาที    แล้วให้ผู้แทนแต่ละกลุ่มนำเสนอต่อเพื่อนทั้งห้อง (๔๘ คน  เป็นชายเพียง ๑๔ คน) กลุ่มละ ๕ นาที 
ปรากฎว่าการประชุมกลุ่มมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลสูงมาก    มีทั้งความริเริ่มสร้างสรรค์และความรอบคอบในการวางแผนรับน้องใหม่ปีหน้า   
เรามีเวลาเหลือครึ่งชั่วโมงสำหรับการทบทวนบทเรียน (reflection หรือ AAR) ว่าเครื่องมือหมวก ๖ ใบ ช่วยให้เกิดพลังของการคิดรวมหมู่ ทำให้เกิดการคิดร่วมกันแบบ critical thinking อย่างไร   นศ. ได้ร่วมกันสะท้อนการเรียนรู้จากการปฏิบัติอย่างคึกคักมาก   ทำให้อาจารย์ผู้ไม่สอนได้สนุกไปด้วย   Narrated PowerPoint ของการสอนแบบไม่สอนอยู่ที่นี่

ผมมีข้อสังเกตว่า นศพ. ที่นี่ไม่มีแฟชั่น “เสื้อคับ-กระโปรงมินิ” เลย น่าชื่นชมจริงๆ

วิจารณ์ พานิช
๔ มิ.ย. ๕๒

แก้ไขล่าสุด ใน วันศุกร์ที่ 04 กรกฏาคม 2014 เวลา 12:03 น.
 

สอน (แบบไม่สอน) ทักษะการคิดอย่างมีวิจารณญาณ

พิมพ์ PDF

วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนีกรุงเทพ ต้องการพัฒนาทักษะการคิดอย่างมีวิจารณญาณ (critical thinking) แก่นักศึกษา จึงเชิญผมไปบรรยายเรื่องนี้แก่คณาจารย์ของวิทยาลัย ผมไตร่ตรองดูแล้ว คิดว่าการบรรยายจะไม่ช่วยให้อาจารย์เข้าใจ critical thinking และไม่ช่วยให้สามารถพัฒนาทักษะนี้ให้แก่ นักศึกษาได้

ผมจึงชวนให้เปลี่ยนเป็นทำกิจกรรมกลุ่มแทน โดยใช้เทคนิคการคิดแบบหมวกหกใบ แบ่งอาจารย์เป็น ๕ กลุ่ม กลุ่มละ ๘ คน ให้ ๒ กลุ่มแรกระดมความคิดกันเพื่อหาวิธีพัฒนา critical thinking ของอาจารย์ ๓ กลุ่มหลังระดมความคิดหาวิธีพัฒนา critical thinking ของนักศึกษา

ให้ผู้แทนของแต่ละกลุ่มนำเสนอต่อที่ประชุมว่า มีข้อเสนอให้ดำเนินการอะไรบ้าง และมีข้อสังเกต กระบวนการประชุมกลุ่มอย่างไร ตามด้วยให้แต่ละคน AAR พบว่าคณาจารย์แต่ละคนพอใจกระบวนการ เรียนรู้ critical thinking จากสัมผัสตรงของตนเองเช่นนี้มาก และได้แนวทางสำหรับเอาไปดำเนินการต่อ

ฟังและดู narrated ppt ของการประชุมส่วนหนึ่ง ได้ ที่นี่ และฟังเสียงการนำเสนอผลการประชุมกลุ่มไปจนจบการประชุมได้ ที่นี่

ผมเคยไปสอนเรื่องนี้แก่นักศึกษาแพทย์ปี ๑ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ และบันทึกไว้ ที่นี่ และ ที่นี่

วิจารณ์ พานิช

 

 

 

๑๙ พ.ค. ๕๗

แก้ไขล่าสุด ใน วันศุกร์ที่ 04 กรกฏาคม 2014 เวลา 12:06 น.
 

เสนอแนะต่อคณะทำงานเตรียมการปฏิรูป

พิมพ์ PDF
ระบบบริหารการศึกษาไทยที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน เป็นระบบที่ดำเนินการผิดทาง และนำไปสู่ความเสื่อมเสียศีลธรรมในสังคมในวงกว้าง ไม่เฉพาะการทุจริต และเสื่อมเสียศีลธรรมในวงการศึกษาเท่านั้น

เสนอแนะต่อคณะทำงานเตรียมการปฏิรูป

มหาวิทยาลัยมหิดล

เลขที่ ๙๙๙ พุทธมณฑลสาย๔

นครปฐม ๗๓๑๗๐

ที่ ศธ ๐๕๑๗.๐๑/

วันที่ ๒๗ มิถุนายน ๒๕๕๗

เรื่อง เสนอแนวคิดและข้อมูล เพื่อการปฏิรูปประเทศไทย

เรียน หัวหน้าคณะทำงานเตรียมการปฏิรูปเพื่อคืนความสุขให้คนในชาติ

สิ่งที่ส่งมาด้วย เอกสารรายงานข้อสรุปจากการปรึกษาหารือในที่ประชุมสภา

มหาวิทยาลัยมหิดล วันที่ ๑๘ มิถุนายน ๒๕๕๗

อ้างถึงหนังสือจากคณะทำงานเพื่อเตรียมการปฏิรูปเพื่อคืนความสุขให้คนในชาติ ด่วนที่สุด เลขที่ พ. ๑๐ /๒๕๕๗ ลงวันที่ ๑๓ มิถุนายน ๒๕๕๗ ซึ่งกระผมได้รับเมื่อวันที่ ๒๓ มิถุนายน ๒๕๕๗ ขอให้จัดส่งเอกสารเสนอข้อมูลใน ๑๐ เรื่อง ภายในวันศุกร์ที่ ๑๗ มิถุนายน ๒๕๕๗

กระผมเข้าใจว่า ให้ส่งภายในวันศุกร์ที่ ๒๗ มิถุนายน ๒๕๕๗ จึงขอเสนอแนวความคิดและข้อมูล ซึ่งเป็นของตัวกระผมเอง ประกอบกับที่ได้จากการปรึกษาหารือในที่ประชุมสภามหาวิทยาลัยมหิดล เมื่อวันที่ ๑๘ มิถุนายน ๒๕๕๗ และจากแหล่งอื่นๆ อีกหลายแหล่ง มาดังต่อไปนี้

  • 1.แนวทางปฏิรูปการเมือง ควรกำหนดให้ สส. ไม่จำเป็นต้องสังกัดพรรคการเมือง เพื่อป้องกันสภาพที่นายทุนใหญ่เป็นเจ้าของพรรคการเมือง ใช้เงินสร้างฐานอำนาจ ไปสู่เผด็จการทางรัฐสภา เพื่อผลประโยชน์ของตนเองและพวกพ้อง
  • 2.แนวทางสร้างมาตรฐานทางจริยธรรมของประเทศ ควรสนับสนุนดำเนินการตามข้อเสนอของ “แนวร่วมปฏิบัติเพื่อต่อต้านการทุจริตของภาคเอกชน” และข้อเสนอของ “ภาคีเครือข่ายต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น” ที่เสนอต่อสาธารณชนมาเป็นระยะๆ
  • 3.แนวทางการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ควรขอความเห็นจาก ศ. ดร. อมร จันทรสมบูรณ์ และ ดร. กิตติพงษ์ กิตยารักษ์
  • 4.แนวทางการปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดิน ควรลดขนาดของหน่วยราชการ แต่ทำให้ มีคุณภาพสูง ทำงานโดยใช้ข้อมูลและสารสนเทศ ทำงานในลักษณะส่งเสริมให้เกิด ผลลัพธ์ที่ต้องการ มากกว่าควบคุมสั่งการในรายละเอียด ซึ่งหมายความว่า ต้องเปลี่ยน กระบวนทัศน์ของการทำงานโดยสิ้นเชิง เลิกทำงานแบบ “หนึ่งกฎระเบียบใช้กับทุก สถานการณ์” (one-size-fits-all) เพราะเวลานี้สามารถใช้ข้อมูลและสารสนเทศแยกแยะ สถานการณ์ และผู้เกี่ยวข้องได้ไม่ยาก
  • 5.แนวทางป้องกันการทุจริต คอร์รัปชั่น เสนอตามข้อ ๒ ข้างบน
  • 6.แนวทางปฏิรูปการศึกษา เป็นเรื่องที่กระผมมีความสนใจ และได้ศึกษาไว้มาก และ มีเครือข่ายทำงานเรื่องนี้ กระผมยินดีมาให้ความเห็นในรายละเอียด

โดยสังเขป ระบบบริหารการศึกษาไทยที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน เป็นระบบที่ดำเนินการผิดทาง และนำไปสู่ความเสื่อมเสียศีลธรรมในสังคมในวงกว้าง ไม่เฉพาะการทุจริต และเสื่อมเสียศีลธรรมในวงการศึกษาเท่านั้น

ผลที่เกิดจากการบริหารระบบการศึกษาที่ผิดพลาดเช่นนี้ มีผลให้คุณภาพประชาชน ตกต่ำขาดวิจารณญาณ ขาดความสามารถในการเผชิญสถานการณ์ที่ซับซ้อน ถูกชักจูงหรือ หลอกลวงได้ง่าย ขาดคุณสมบัติของพลเมืองที่พึงประสงค์ในสังคมยุค (คริสต)ศตวรรษที่ ๒๑ ทำให้สังคมอ่อนแอ ขาดความสามารถ ในการแข่งขัน

ข้อเสนอที่สำคัญคือ การลดขนาดของกระทรวงศึกษาธิการ ลงเหลือจำนวนคนเพียง ร้อยละ ๕ - ๑๐ ของที่มีอยู่ในส่วนกลางในปัจจุบัน และกระจายอำนาจให้สถานศึกษาบริหาร จัดการตนเอง โดยมีคณะกรรมการโรงเรียนกำกับ การปฏิรูประบบการศึกษานี้ควรผ่าน ร่างพระราชบัญญัติ จัดตั้งสำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้ และคุณภาพเยาวชน (สสค.) และมอบหมายให้ ทำหน้าที่บริหาร การเปลี่ยนแปลง (change management) ของระบบการศึกษา ทำงานร่วมกับ เครือข่ายภาคประชาสังคม และภาคธุรกิจเอกชน เพื่อการปฏิรูปการศึกษา นำโดย รศ. ประภาภัทร นิยม อธิการบดี สถาบันอาศรมศิลป์ และควรจัดตั้งสถาบันวิจัยระบบการศึกษา ที่ริเริ่มโดยสถาบันวิจัย เพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ไว้บ้างแล้ว

  • 7.แนวทางปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจ ต้องเน้นส่งเสริมเศรษฐกิจฐานความรู้และนวัตกรรม บนความเข้มแข็งที่มีอยู่ของวัฒนธรรมความเป็นไทย จึงต้องเน้นลงทุนด้านการวิจัย และพัฒนา ทั้งของภาครัฐ ภาคธุรกิจเอกชน และภาคประชาสังคม เพื่อยกระดับประเทศ แบบก้าวกระโดด ออกจากกับดักรายได้ปานกลาง (middle income trap)
  • 8.แนวทางปฏิรูปด้านข้อมูลข่าวสาร เสนอให้ภาครัฐลงทุนพัฒนานักเขียนข่าวเชิงบวก หรือสื่อสร้างสรรค์ เสนอเรื่องราวดีๆ ที่เป็นความสำเร็จในแง่มุมต่างๆ ในสังคม ทำเรื่องที่ซับซ้อนให้เข้าใจง่าย สื่อสารออกสู่สังคม ให้ผู้คนเข้าใจความซับซ้อนของสังคม และเพื่อสร้างสรรค์สังคมที่ผู้คนมี ความอดทนมุ่งมั่น และมีจิตใจมุ่งทำความดีให้แก่ส่วนรวม หรือช่วยเหลือผู้อื่น โดยสื่อสารผ่านช่องทางที่หลากหลาย

ควรสนับสนุนการทำงานของสถานีโทรทัศน์ ไทย พีบีเอส ให้เข้มแข็ง

ยิ่งขึ้น

  • 9.แนวทางการปฏิรูปความเหลื่อมล้ำทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม เสนอให้ศึกษารายงาน “แนวทางการปฏิรูปประเทศไทย ข้อเสนอต่อพรรคการเมือง และผู้มีสิทธิเลือกตั้ง” ของคณะปฏิรูป ที่มี ฯพณฯ อานันท์ ปันยารชุน และ ศ. นพ. ประเวศ วะสี เป็นประธาน ซึ่ง ดาวน์โหลดได้ที่http://pkc.ac.th/ckfinder/userfiles/files/aenwthaangkaarptiruuppraethsaithy_khesntphrrkhkaaremuuengaelaphuumiisiththeluuektang.pdf
  • 10.แนวทางปฏิรูปด้านอื่นๆ ขอสนับสนุนแนวทางที่ สมาชิกของคณะที่ปรึกษา คสช. ท่านหนึ่ง คือ ศ. ดร. ยงยุทธ ยุทธวงศ์ นำไปเล่าให้ที่ประชุมสภามหาวิทยาลัยมหิดล เมื่อวันที่ ๑๘ มิถุนายน ๒๕๕๗ พร้อมทั้งขอคำแนะนำ และกรรมการสภามหาวิทยาลัย ได้เสนอข้อคิดเห็น ตามรายงานการประชุมสภาฯ ส่วนดังกล่าว ที่แนบมาด้วย

นอกจากนั้น ขอเสนอให้คณะทำงานเตรียมการปฏิรูปเพื่อคืนความสุขให้คนในชาติ พิจารณาข้อเสนอ ของเครือข่ายเดินหน้าปฏิรูปประเทศไทย ซึ่งดำเนินการโดยใช้เทคนิค “ภาพอนาคต” (scenario technique) เพื่อบรรลุความปรองดองในชาติ ดำเนินการมาแล้วประมาณ ๒ ปี

หากท่านหัวหน้าคณะทำงานเตรียมการปฏิรูปเพื่อคืนความสุขให้คนในชาติ ต้องการให้กระผมมาร่วม ระดมความคิดสู่ข้อเสนอแนะด้านการปฏิรูปการศึกษา หรือร่วมกิจกรรมอื่นๆ เพื่อสร้างความเข้มแข็ง ด้านการศึกษาซึ่งเป็นสาขาที่กระผมพอจะมีความรู้อยู่บ้าง กระผมยินดีมาร่วมอย่างเต็มความสามารถเพื่อประโยชน์ระยะยาวของบ้านเมืองอันเป็นที่รักของเรา

ขอแสดงความนับถือ

(ศาสตราจารย์ นายแพทย์วิจารณ์ พานิช)

นายกสภามหาวิทยาลัยมหิดล

โทรศัพท์ ๐๒๘๔๙๖๓๓๔

โทรสาร ๐๒๘๔๙๖๓๑๔

e-mail :  อีเมลนี้จะถูกป้องกันจากสแปมบอท แต่คุณต้องเปิดการใช้งานจาวาสคริปก่อน

อีเมลนี้จะถูกป้องกันจากสแปมบอท แต่คุณต้องเปิดการใช้งานจาวาสคริปก่อน (เลขานุการ)

บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย 

แก้ไขล่าสุด ใน วันจันทร์ที่ 30 มิถุนายน 2014 เวลา 21:33 น.
 

จาก ศ. ดร. เขียน ธีระวิทย์

พิมพ์ PDF

รัฐประหารไทย 2557 : ทางเลือกทางรอด

ก่อนหน้าที่ทักษิณ ชินวัตร จะก้าวขึ้นมามีอำนาจทางการเมืองเมื่อประมาณสิบปีที่แล้ว ผมเชื่ออย่างมั่นคงว่า ทหารจะหาข้ออ้างใดๆ มาทำรัฐประหารไม่ได้ทั้งสิ้น แต่จากนั้นเป็นต้นมา ผมว่าหลักการนี้จะมาใช้กับประเทศไทยภายใต้ระบอบทักษิณไม่ได้ ระบอบทักษิณสอนให้ผมเติบโตในด้านวิชาการ ทางการเมืองมากขึ้น การเมืองไทยในระบอบทักษิณมีลักษณะจำเพาะอย่างไร เรามีทางเลือกในการแก้ปัญหาโดยปราศจากการแทรกแซงของทหารอย่างไรหรือไม่ ผลประโยชน์ของชาติเราอยู่ที่ไหน เป็นประเด็นที่จะนำมาวิเคราะห์ในบทความเรื่องนี้อย่างย่อๆ

1.สาเหตุของรัฐประหาร

รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ภายใต้แกนนำของพรรคเพื่อไทย ซึ่งมีทักษิณ ชินวัตรเป็นเจ้าของพรรคนั้น ขาดความชอบธรรมที่จะปกครองประเทศตามระบอบประชาธิปไตย เพราะโกงการเลือกตั้ง ละเมิดกฎหมาย และรัฐธรรมนูญ ใช้กฎป่าทำให้ได้อำนาจและรักษาอำนาจ จนเป็นเหตุให้ผู้อยู่ใต้การปกครองใช้กฎป่าในการโค่นล้มรัฐบาลอันมิชอบด้วยกฎหมายได้

1.1 โกงการเลือกตั้ง การเลือกตั้งเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2554 ที่ได้ยิ่งลักษณ์ขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีนั้น พรรคเพื่อไทยและ ส.ส. ของพรรคได้ทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง กฎหมายพรรคการเมือง และรัฐธรรมนูญอย่างชัดแจ้งหลายประการ ถ้า กกต. (คณะกรรมการการเลือกตั้ง) บังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด จะมีผลทำให้พรรคเพื่อไทยถูกยุบ ส.ส.พรรคหลายคนจะถูกตัดสิทธิทางการเมืองและถูกดำเนินคดีอาญา ซึ่งมีโทษจำคุกและ/หรือปรับหลายกระทง
 เหตุที่ กกต.ไม่บังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดนั้นมีมาก ที่สำคัญคือ กกต. จังหวัดทั่วประเทศนั้น ขาดความรู้-ความสามารถ-ความเที่ยงธรรม และการละเมิดกฎหมายมีมากเกินไปที่จะดำเนินคดี การซื้อเสียงในท้องถิ่นชนบททั่วประเทศนั้นหาหลักฐานลำบาก นอกจากนั้น ก็ยังเกรงกลัวการข่มขู่จากคนในระบอบทักษิณซึ่งทำงานผ่านตำรวจ และขบวนการคนเสื้อแดง
 ยิ่งกว่านั้น การยุบพรรคการเมืองของทักษิณนั้นไม่ค่อยได้ผลในทางปฏิบัติ เช่น การยุบพรรคไทยรักไทย (2550) พรรคพลังประชาชน (2551) ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญตัดสินให้ตัดสิทธิ์ทางการเมืองของแกนนำพรรคนับร้อย แต่ทักษิณก็จัดตั้งพรรคใหม่ หา “มือปืนรับจ้าง” มาเล่นการเมืองโกงๆ พลิกแพลงให้ “ก้าวหน้า” มากขึ้น เช่น พรรคเพื่อไทยที่มียิ่งลักษณ์เป็นนายกรัฐมนตรีนั้น ยิ่งลักษณ์และบุคคลสำคัญๆ มิได้เป็นกรรมการบริหารของพรรค ระบอบทักษิณเตรียมตัวโกงล่วงหน้า ถ้าพรรคถูกยุบ กรรมการบริหารสิบกว่าคนที่เป็น “มือปืนรับจ้าง” ถูกตัดสิทธิ์ทางการเมืองก็ไม่เป็นไร พวกเขาก็ไปจัดตั้งพรรคการเมืองใหม่ คือใช้กลเม็ดทุกอย่างเพื่อให้ได้คะแนนเสียงข้างมากมาจัดตั้งรัฐบาลปกครองประเทศ นี่คือประชาธิปไตยในระบอบทักษิณ

1.2 ละเมิดกฎหมายและรัฐธรรมนูญ รัฐบาลยิ่งลักษณ์ทำผิดกฎหมายและรัฐธรรมนูญซ้ำซาก คิดว่ามีเสียงข้างมากแล้วสามารถทำอะไรได้ทุกอย่าง แก้รัฐธรรมนูญเพื่อลดอำนาจของประชาชน และทำลายความอิสระของวุฒิสภา พยายามจะออก พ.ร.บ. นิรโทษกรรม ฉบับ “เหมาเข่ง” ล้างโทษอย่างหมดจดให้นักการเมืองที่ทำผิดกฎหมายในรอบสิบปีที่ผ่านมา แม้ศาลจะได้ตัดสินลงโทษถึงที่สุดไปแล้วก็ให้ถือว่าไม่เคยทำผิด

เรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น ต่อมาศาลรัฐธรรมนูญก็ได้วินิจฉัยให้เป็นโมฆะไปแล้ว ผู้นำของรัฐบาลนี้ประกาศไม่ยอมรับคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญ และทุกครั้งที่ ป.ป.ช. (คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ) ศาลปกครอง และศาลรัฐธรรมนูญกำลังจะตัดสินคดีที่ฝ่ายรัฐบาลถูกดำเนินคดี ฝ่ายรัฐบาลจะออกมาข่มขู่คุกคามโดยวาจา ชุมนุมประท้วงปิดล้อมสำนักงาน และยิงหรือขว้างปาระเบิดใส่บ้านของกรรมการ ป.ป.ช. และตุลาการศาลรัฐธรรมนูญบางคนหลายครั้ง แต่รัฐบาลไม่เคยจับกุมคนร้ายได้เลย

ในเรื่องร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมนั้น เป็นตัวจุดชนวนให้เกิดการประท้วงใหญ่ทั่วประเทศ นำโดย กปปส. (คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ โดยมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข) แม้ในที่สุด โดยคำสั่งของทักษิณ รัฐบาลได้ถอนร่าง พ.ร.บ. ไปแล้วในขั้นวุฒิสภา แต่การชุมนุมประท้วงก็ยังไม่หยุด ในช่วง 6 เดือน ก่อนหน้าการรัฐประหาร คนร้ายของฝ่ายสนับสนุนรัฐบาลได้ใช้อาวุธสงครามยิงและขว้างระเบิดใส่ผู้ชุมนุมต่อต้านรัฐบาลครั้งแล้วครั้งเล่าเกือบทุกวัน เป็นผลให้มีคนตาย 28 คน บาดเจ็บ 837 คน ในจำนวนนี้มีที่บาดเจ็บสาหัสและต้องพิการตลอดชีวิตอีกเป็นจำนวนมาก

ในกรณีที่ฝ่ายตัดสินคดีและฝ่ายต่อต้านรัฐบาลเป็นฝ่ายถูกกระทำ ตำรวจและรัฐบาลนี้ยังไม่เคยจับผู้ร้ายมาดำเนินคดีได้เลยแม้แต่รายเดียว (แม้คนร้ายบางคนจะปรากฏโฉมหน้าในจอโทรทัศน์ที่มีภาพคนกำลังขว้างปาระเบิดจากกล้องวงจรปิดก็ตาม)

นอกจากนั้น รัฐบาลที่ถูกโค่นล้มไปยังมีความผิดฐานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เกี่ยวกับคดีต่างๆ มากมาย ที่สำคัญเช่น การทุจริตในโครงการรับจำนำข้าว การโยกย้ายนายถวิล เปลี่ยนศรี เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติอย่างไม่เป็นธรรม เป็นต้น จนทำให้ศาลรัฐธรรมนูญและ ป.ป.ช. ตัดสินให้นายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์พ้นจากตำแหน่งไปก่อนหน้าการเกิดรัฐประหารไม่นาน ผู้นำรัฐบาลและพรรคเพื่อไทยหลายคนได้ออกมาพูดจาข่มขู่ศาลรัฐธรรมนูญและป.ป.ช. อย่างอุกอาจ และประกาศไม่ยอมรับคำวินิจฉัยขององค์กรทั้งสองด้วย นั่นเท่ากับประกาศยกเลิกรัฐธรรมนูญ คนอื่นก็ไม่ต้องทำตามกฎหมายและรัฐธรรมนูญด้วย โดยเอาทักษิณที่เป็นนักโทษหนีคุกเป็นตัวอย่าง

1.3 อำนาจคือความชอบธรรม การอ้างเสียงข้างมากในการทำผิดกฎหมายหรือผิดรัฐธรรมนูญนั้น เป็นการบิดเบือนหลักการการปกครองในระบอบประชาธิปไตย เพราะประชาชนเลือก ส.ส.และ ส.ว.ไปทำความดีไม่ใช่ไปทำความชั่ว และไม่ใช่ให้ไปทำผิดกฎหมาย นักปราชญ์ที่ยิ่งใหญ่ของโลก Aristotle (พ.ศ.159?-221) เรียกพวกเสียงข้างมากที่ทำผิดกฎกติกาของประชาคมว่า “ทรราชโดยเสียงข้างมาก” ผู้นำเช่นนี้จะถูกโค่นล้มโดยการปฏิวัติ Hobbes (พ.ศ.2133-2222) และ Locke (พ.ศ.2174-2247) ต่างพูดถึงเรื่องนี้ในทำนองเดียวกันว่า ผู้ปกครองสูงสุดซึ่งใช้อำนาจเกินขอบเขตที่สัญญาประชาคมให้ไว้ (เท่ากับรัฐธรรมนูญและกฎหมายในปัจจุบัน) เขาเป็น “ทรราช” เมื่อเป็นเช่นนี้ ประชาคมพลเรือนสิ้นสุดลง กลับเข้าสู่ภาวะธรรมชาติอีก กฎหมายไม่มี มีแต่กฎป่า (law of the jungle) ไม่มีถูก ไม่มีผิด “อำนาจคือความชอบธรรม” ผู้ที่ชนะจากการใช้กำลังได้สิทธิในการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ เมิ่งจื่อ (พ.ศ.174-254) สาวกเอกของขงจื่อบอกว่า ผู้ชนะได้รับ “ประกาศิตแห่งสวรรค์” (เทียนมิ่ง) ให้ปกครองประเทศแทนผู้ปกครองคนเก่า (ดูวิเคราะห์เชิงทฤษฎีอย่างละเอียดใน เขียน ธีระวิทย์ “สิทธิการทำรัฐประหาร” ใน www.thaiworld.org หมวดว่าด้วยการเมือง)

2. ทางเลือกในการแก้ปัญหาวิกฤตการณ์การเมืองไทย

ก่อนที่ผู้บัญชาการทหารบก พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา จะประกาศใช้ พ.ร.บ.กฎอัยการศึก เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2557 และยึดอำนาจการปกครองในอีกสองวันต่อมานั้น ประเทศไทยเข้าสู่ยุควิกฤตครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ชาติไทย ปัญหาร้ายแรงที่ต้องแก้ไขอย่างรีบด่วน ที่สำคัญๆ โดยย่อคือ

ประการแรก รัฐบาลรักษาการปฏิบัติหน้าที่อย่างสมบูรณ์แบบไม่ได้ นอกจากรัฐบาลไม่มีนายกรัฐมนตรีรักษาการตามกฎหมายแล้ว ทำเนียบรัฐบาลและหน่วยราชการสำคัญๆ ถูกกลุ่มต่อต้านรัฐบาลยึดไว้นานเกือบ 6 เดือนแล้ว ใกล้จะอยู่ในสภาพเป็นรัฐที่ล้มเหลว (failed state)

ประการที่สอง ความแตกแยกของคนในสังคมเกิดขึ้นตั้งแต่ระดับครอบครัวจนถึงระดับรัฐบาล กลุ่มพลังมวลชนที่ต่อต้านรัฐบาล (กปปส.) และฝ่ายสนับสนุนรัฐบาล (นปช. หรือแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ) กำลังเผชิญหน้ากันใกล้ถึงจุดแตกหัก

ประการที่สาม รัฐบาลปฏิบัติหรือไม่ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ไม่รักษาความสงบเรียบร้อยตามกฎหมาย เป็นเหตุให้ผู้ชุมนุมต่อต้านรัฐบาลโดยสงบ ถูกลอบยิงและขว้างระเบิดจนมีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

ประการที่สี่ ชาวนาอีกประมาณ 850,000 ครอบครัวรอเงินที่รัฐบาลค้างชำระค่าจำนำข้าวอีกประมาณ 99,000 ล้านบาท พวกเขาเดือดร้อนแสนสาหัสจนถึงกับฆ่าตัวตายไปแล้วถึง 16 คน

ประการที่ห้า วิกฤตการเมืองกำลังส่งผลให้เกิดวิกฤตเศรษฐกิจ กระทบถึงสวัสดิภาพปากท้องของประชาชนแล้ว

ปัญหาเหล่านี้ เป็นภัยร้ายแรงต่อความมั่นคงของชาติ คนไทยส่วนมากทนต่อไปไม่ได้อีกแล้ว มีทางเลือกทางรอดอะไรบ้างในขณะนั้น

2.1 ทางเลือกที่ 1 : ให้รัฐบาลรักษาการจัดการเลือกตั้งใหม่

2.1.1 การเลือกตั้งทั่วไปครั้งล่าสุด (2 กุมภาพันธ์ 2557) ถูกขบวนการมวลชนนำโดย กปปส. ต่อต้าน จนศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยชี้ขาดให้เป็นโมฆะไปแล้ว ถ้าจะให้รัฐบาลรักษาการภายใต้การนำของทักษิณซึ่งเป็นเจ้าภาพตัวจริง จัดการเลือกตั้งอีกก็คงล้มเหลวเช่นเดิม

2.1.2 สมมติว่ารัฐบาลในระบอบทักษิณจัดการเลือกตั้งใหม่ได้สำเร็จ การโกงการเลือกตั้งและผลของการเลือกตั้งก็คงเหมือนเดิม ตามที่กล่าวแล้วในข้อ 1.1 หลังการเลือกตั้ง ขบวนการต่อต้านรัฐบาลก็คงไม่ลดความรุนแรงลงเลย

2.1.3 ปัญหาวิกฤติ 5 ประการดังกล่าวแล้วข้างต้นก็คงยังคั่งค้างอยู่ แก้ไม่ได้ และมีแนวโน้มว่าจะรุนแรงขึ้น คู่ขัดแย้งอาจจะยกพวกปะทะกัน กลายเป็นการจลาจลนองเลือดหรือสงครามกลางเมืองขึ้นมาได้

2.2 ทางเลือกที่ 2 : ให้รัฐบาลรักษาการลาออก

2.2.1 ผู้นำในระบอบทักษิณบอกว่ารัฐบาลรักษาการลาออกไม่ได้ จะต้องอยู่ในตำแหน่งจนกว่าจะได้รัฐบาลชุดใหม่ที่มาจากการเลือกตั้ง ความจริงการลาออกนั้นง่ายนิดเดียว จะลาออกทั้งคณะก็ได้หรือเป็นรายบุคคลก็ได้ เป็นเรื่องสิทธิส่วนบุคคล

2.2.2 จริงอยู่ไม่มีกฎหมายบังคับว่าจะต้องลาออก แต่เป็นมโนธรรมส่วนบุคคล รัฐบาลนี้ได้สร้างปัญหาให้ประชาชนเกิดความเดือดร้อนไปทุกหย่อมหญ้า โดยเฉพาะชาวนาผู้ยากไร้ 16 ชีวิตที่ฆ่าตัวตาย เพราะรอรับเงินค่าจำนำข้าวจากรัฐบาลนานเกินไป ก็น่าจะเป็นโศกนาฏกรรมใหญ่หลวงเพียงพอที่จะกระตุ้นจิตสำนึกให้รัฐบาลลาออก เพื่อหลีกทางให้รัฐบาลใหม่มาชำระหนี้ให้ได้ทันที

2.2.3 ถ้ารัฐบาลรักษาการลาออก วุฒิสภาในขณะนั้นมีอำนาจตามรัฐธรรมนูญที่จะสรรหาบุคคลที่มีคุณสมบัติเหมาะสมมาเป็นนายกรัฐมนตรีเพื่อจัดตั้งรัฐบาลบริหารประเทศสืบต่อไปได้

2.2.4 ปัญหาก็คือ รัฐบาลรักษาการยืนกระต่ายขาเดียวว่าจะไม่ยอมลาออก แม้รักษาความสงบเรียบร้อยไม่ได้ ก็ไม่ยอมลาออก คนอื่นจะเข้ามาบริหารราชการแทนก็ไม่ยอม

2.3 ทางเลือกที่ 3 : ให้วุฒิสภาจัดตั้งรัฐบาลใหม่

2.3.1 เมื่อสภาผู้แทนราษฎรถูกยุบไปแล้ว วุฒิสภาก็ต้องทำหน้าที่แทนในฐานะรัฐสภา จึงมีพันธะที่จะต้องช่วยหาทางออกให้ชาติโดยตรง

2.3.2 แต่ในทางปฏิบัติ มีปัญหาในแง่กฎหมายโต้เถียงกันมาก เช่น วุฒิสภาจะเรียกประชุมกันเองได้หรือไม่ เพราะรัฐบาลรักษาการไม่ยอมตราพระราชกฤษฎีกาเรียกประชุมวุฒิสภา และเมื่อรัฐธรรมนูญยังไม่ถูกยกเลิก การเลือกตั้งคนกลางที่มิได้ผ่านการเลือกตั้ง มาเป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ทำได้หรือไม่ เป็นต้น

2.3.3 ถ้าไม่เกิดการรัฐประหาร คาดกันว่าสมาชิกวุฒิสภาคงจะเลือกคนกลางที่เหมาะสม มาเป็นนายกรัฐมนตรีเพื่อจัดตั้งรัฐบาลขึ้นบริหารประเทศต่อไป

2.3.4 ผลที่จะตามมาคงคาดการณ์ได้ยาก ทางที่อาจเป็นไปได้มากที่สุดคือ รัฐบาลรักษาการภายใต้การชี้นำของทักษิณก็คงไม่ยอมออก พวกเสื้อแดงและคนพันธุ์ทักษิณ ก็คงจะร่วมมือกันต่อต้านรัฐบาลใหม่จนเข้าทำงานไม่ได้ ถ้าเช่นนั้น ตำรวจคงจะเข้าข้างรัฐบาลรักษาการเหมือนเดิม ทหารประกาศกฎอัยการศึก และต่อสู้กับกองกำลังติดอาวุธของคนในระบอบทักษิณ ความสงบสุขก็คงจะยังไม่เกิดขึ้น แต่สงครามกลางเมืองอาจเกิดขึ้นมาได้

2.4 ทางเลือกที่ 4 : รัฐประหาร

2.4.1 ในระบอบประชาธิปไตยนั้น ทหารจะใช้อำนาจแทรกแซงทางการเมืองไม่ได้ แต่ประเทศไทยภายใต้ระบอบทักษิณนั้น เรามีแต่ประชาธิปไตยจอมปลอมเท่านั้น

2.4.2 หัวหน้าคสช.(คณะรักษาความสงบแห่งชาติ) พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ให้เหตุผลของการทำรัฐประหารว่า วิกฤตของประเทศถึงจุดเดือดจึงจำเป็นต้องออกมายุติความวุ่นวายและการนองเลือด เมื่อท่านออกมาปราศรัยต่อ สื่อมวลชนครั้งแรกหลังรัฐประหาร ณ วันที่ 26 พฤษภาคม 2557 ท่านกล่าวโดยสรุปว่าประเทศไทยกำลังจะแตกสลาย ท่านจึงออกมาซ่อม ไม่ใช่ออกมาต่อสู้กับใคร

2.4.3 รัฐประหารนั้นเป็นเรื่องที่คนไทยไม่ต้องการ รวมทั้งทหารด้วย แต่ทหารไทยมีหน้าที่รักษาความมั่นคงของชาติด้วย ตอนที่เกิดการรัฐประหารขึ้นนั้น ต้องยอมรับว่าความมั่นคงของชาติถูกคุกคามอย่างรุนแรง สงครามกลางเมืองมีทีท่าว่าจะหลีกเลี่ยงได้ยาก

2.4.4 การชำระหนี้ชาวนานั้น คสช. ถือเป็นเรื่องเร่งด่วน จึงจัดการชำระหนี้ให้ได้เรียบร้อยภายในหนึ่งเดือนนับแต่วันที่เข้ายึดอำนาจ

2.4.5 ทหารอดทน-อดกลั้นมานาน เพื่อให้พลเรือนแก้ปัญหาวิกฤตการเมืองกันเอง แต่ในที่สุด เมื่อทางออกอื่นถูกปิดหมด ทหารจึงตัดสินใจทำรัฐประหาร ทั้งๆ ที่รู้ว่าจะได้รับการต่อต้านทั้งจากภายในและภายนอกก็ตาม

3. ปัญหาและลู่ทางในอนาคต

การทำรัฐประหารคราวนี้ สำเร็จลุล่วงไปโดยราบรื่น และสูญเสียทรัพยากรของชาติน้อยมาก คนที่มีคุณธรรมและมีความสำนึกผิดชอบชั่วดีล้วนมีความเห็นว่า การรัฐประหารคราวนี้แม้จะไม่ดี แต่ก็จำเป็นเพื่อกำจัดสิ่งชั่วร้ายที่นักการเมืองทำสะสมเอาไว้

ปัญหามีว่า คสช. จะสามารถสร้างความสงบ และสร้างความพอใจให้แก่ประชาชนต่อเนื่องไปจนถึงมีการเลือกตั้งทั่วไปได้หรือไม่ จะทำอะไรที่เป็นแก่นสาระสำคัญของระบอบประชาธิปไตย ส่งลูกต่อให้กับรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งได้หรือไม่ และจะทำอย่างไรที่จะลดความกดดันของคนที่รังเกียจการทำรัฐประหารและรัฐบาลทหาร จะตอบคนที่สงสัยได้หรือไม่ว่า คสช. มิใช่ “อำมาตย์” ที่จะทำสงครามชนชั้นกับ “ไพร่” ในชนบท ใช้อำนาจลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชนเท่าที่จำเป็นเพื่อความสงบส่วนรวม ทำรัฐประหารเพื่อผลประโยชน์ของคนไทย แต่ไม่ทำลายระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริงและผลประโยชน์ต่างๆ ของชาติ

3.1 ปัญหาภาพลักษณ์ของคณะรัฐประหาร

3.1.1 เป็นความจริงว่าประเทศไทยในปัจจุบันมีการปกครองโดยทหาร ปัญหามีว่า คสช. จะทำอย่างไรเพื่อให้คนที่รังเกียจเห็นว่า เพราะไม่มีทางเลือกที่ดีกว่า ทหารจึงต้องเข้ามาแก้ไขปัญหา ไม่ใช่เข้ามาปกครองอย่างถาวร

3.1.2 อกุศลกรรมที่ระบอบทักษิณทำเอาไว้ ทำให้การทำรัฐประหารคราวนี้ได้รับการต้อนรับเป็นอย่างดีจากประชาชนส่วนใหญ่ คสช. จะต้องทำงานให้คนไทยและชาวโลกเห็นว่า การเมืองที่ใช้อำนาจเงินเป็นใหญ่ มีข้อเสียอย่างไร มีทางเลือกอื่นที่ดีกว่าอะไรบ้าง

3.1.3 คสช. ต้องทำอย่างไรให้คนที่คัดค้านรัฐประหารเห็นว่าระบอบทักษิณเป็น “ทรราชโดยเสียงข้างมาก” ทำผิดกฎหมายและรัฐธรรมนูญซ้ำซาก และทำให้ประชาชนไม่เคารพกฎหมายด้วย เป็นเหตุให้ทหารต้องเข้ามาบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด และพยายามสร้างรากฐานการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด ให้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งสืบทอดต่อไปอย่างถาวร

3.1.4 ปัญหาที่ท้าทายก็คือ การขุดรากถอนโคนกำจัดระบอบทักษิณ โดยไม่ “ฟื้นฝอยหาตะเข็บ” ชวนให้เกิดการทะเลาะกันต่อ แต่เพื่อความปรองดองแห่งชาตินั้นต้องทำอย่างไร

3.2 ปัญหาความขัดแย้งระหว่าง “ไพร่” กับ “อำมาตย์”

3.2.1 ระบอบทักษิณได้อาศัยวิธีโกงการเลือกตั้งดังที่กล่าวแล้วในข้อ 1.1 ผสมกับความเชี่ยวชาญในการทำประชาสัมพันธ์โครงการประชานิยมของทักษิณ ทำให้พรรคการเมืองของทักษิณได้คะแนนเสียงข้างมากในภาคเหนือและภาคอีสาน กระแสความนิยมทักษิณในหมู่คนจนยังมาแรง ขบวนการคนเสื้อแดง อาศัยวิทยุชุมชนของฝ่ายทักษิณ พยายามสร้างภาพให้ชาวโลกเห็นว่า พวกเขาเป็น “ไพร่” พวกเดียวกับคนจน ต่อสู้กับ “อำมาตย์” ซึ่งเป็นชนชั้นปกครองและคนรวยในเมืองที่ต่อต้านพวกเขา

3.2.2 คสช. จะต้องทำอะไรให้คนจนในชนบท นักวิชาการมาร์กซิสต์ทั้งไทยและเทศเข้าใจว่า ชนชั้น ในสังคมไทยไม่มีจริง ทหารมิได้ทำรัฐประหารรับใช้อำมาตย์ดังที่ถูกกล่าวหา โครงการประชานิยมนั้นเป็นโครงการซื้อเสียงทางอ้อม ประโยชน์ที่ได้รับไม่ยั่งยืน ดูโครงการรับจำนำข้าวของทักษิณเป็นตัวอย่าง นายทุน ตัวจริงในระบอบทักษิณที่หลอกชาวโลกว่าเป็น”ไพร่”นั้น รวมหัวกันโกงกินเงินรับจำนำข้าวอย่างพิสดาร ทำให้ข้าวไทยถูกตีตลาดขายไม่ออกทั่วโลก เป็นเหตุทำให้รัฐบาลไม่สามารถเอาเงินมาชำระค่าข้าวให้ชาวนา ทำให้ชาวนาเดือดร้อน ต้องฆ่าตัวตายจำนวนมาก ถามคนที่ยกย่องทักษิณให้เป็นขวัญใจคนจนว่า มีใครบ้างที่บริจาคเงินช่วยเหลือครอบครัวผู้ตาย ? และใครเสี่ยงภัยเข้ายึดอำนาจรัฐ หาเงินมาชำระหนี้ให้ชาวนาจนหมดสิ้น? คนที่ช่วยชาวนานั้นเป็นเพราะมีความผูกพันกันทางชนชั้นกระนั้นหรือ?

3.3 ปัญหาสิทธิมนุษยชน

3.3.1 ประเด็นนี้ นักประชาธิปไตยต่างชาติแสดงความห่วงใยมากกว่าคนไทย ข้อนี้อธิบายให้คนเข้าใจได้ง่ายๆ ใครที่เคยอยู่ในสิงคโปร์สักครึ่งปีก็จะเข้าใจดีว่าสิงคโปร์ที่ปกครองโดยพลเรือน และไม่ต้องใช้กฎอัยการศึกนั้น ก็เหมือนกับอยู่ในไทยภายใต้การปกครองของคสช. และการประกาศใช้กฎอัยการศึก ประชาชนมีสิทธิและเสรีภาพใกล้เคียงกัน คนที่เชื่อฟังกฎหมายเป็นนิสัยทำมาหากินอยู่ได้สบายมาก

3.3.2 ปัญหาใหญ่อยู่ที่การบังคับใช้กฎหมาย ไทยเรามีคนละเมิดกฎหมายมาก ผู้บังคับใช้กฎหมายมิได้ทำหน้าที่อย่างซื่อสัตย์ จริงจังและตรงไปตรงมา ทหารไทยต่างกับนักการเมืองไทย มีระเบียบวินัยเป็นทุน จึงบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดได้

3.3.3 คสช. สั่งปิดสถานีวิทยุชุมชน วิทยุ โทรทัศน์ และเว็บไซต์เป็นจำนวนมาก รวมทั้งเซ็นเซอร์สื่อสังคมด้วย คสช.จะอธิบายได้หรือไม่ว่า ส่วนไหนเป็นการทำงานแทน กสทช. (สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ) ซึ่งมีหน้าที่ที่จะต้องทำมานานแล้ว แต่ไม่ทำ (เช่นปล่อยให้สถานีวิทยุชุมชน สถานีวิทยุและโทรทัศน์เถื่อนเกิดขึ้นมากมาย เป็นต้น) ส่วนไหนเป็นเครื่องมือของกลุ่มการเมือง ส่วนไหนชอบทำข่าวสร้างความแตกแยกภายในชาติ และส่วนไหนเป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ เป็นต้น สวนเหตุผลการห้ามชุมนุมทางการเมืองในยามประกาศกฎอัยการศึกนั้น คนไทยย่อมทราบกันดีแล้ว

3.4 แรงกดดันต่างชาติ

3.4.1 ทันทีที่เกิดการรัฐประหารขึ้นในวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 สหรัฐฯ นำประเทศพันธมิตรที่ใกล้ชิด เช่น ออสเตรเลีย ประกาศตัดความช่วยเหลือทางทหารมูลค่า 3.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ จากทั้งหมดที่สัญญากันไว้ 10.5 ล้านเหรียญฯ รัฐบาลสหรัฐฯ เรียกร้องให้ไทยคืนการปกครองให้พลเรือนสู่ความเป็นประชาธิปไตยโดยเร็ว และให้เคารพสิทธิมนุษยชนด้วย

ประเทศที่แสดงท่าทีต่อต้านการรัฐประหารของไทย เพื่อปกป้องประชาธิปไตยเหล่านั้น ไม่สนใจที่จะรู้ว่ารัฐบาลที่ถูกโค่นล้มไปนั้นเป็นประชาธิปไตยแท้ หรือประชาธิปไตยเทียม ส่วนมากแสดงความรังเกียจคณะทหาร และเอ็นดูผู้ถูกคุมตัวมากกว่าประชาชนคนไทย

3.4.2 สื่อมวลชนต่างประเทศ ในช่วง 10 วันแรกของการรัฐประหาร พากันเสนอข่าวด้านลบของคณะรัฐประหาร เช่น ภาพกลุ่มชนที่ต่อต้าน แต่ไม่มีภาพกลุ่มที่สนับสนุน เป็นต้น ต่อเมื่อ คสช. คุมสถานการณ์ได้เรียบร้อยแล้ว สื่อมวลชนต่างประเทศจึงเริ่มเสนอข่าวสองด้านเพิ่มมากขึ้น ทำให้ชาวต่างชาติรู้เรื่องเมืองไทยได้ถูกต้องมากขึ้น

3.4.3 เรื่องคนต่างชาติที่ไม่เป็นมิตรกับการรัฐประหารนี้ พลเอกประยุทธ์ หัวหน้า คสช. ได้มอบแนวนโยบายในทางปฏิบัติแก่นักการทูตไทยที่ประจำอยู่ในต่างประเทศว่า อย่าตอบโต้ ให้เกียรติ เข้าใจเขา แต่รักศักดิ์ศรีของเรา เรามีปัญหาจำเพาะของเราที่ต้องเลือกทางนี้ อดทนชี้แจงให้ต่างชาติเข้าใจ และแจ้งให้เขาทราบว่า เมื่อเราผ่านวิกฤตนี้ได้แล้ว ต่างชาติจะได้ประโยชน์อะไรบ้าง เมื่อเราทำดีแล้ว พวกเขาจะเข้าใจเอง

3.4.4 ในที่สุด ไม่ว่าต่างชาติจะมองรัฐประหารของไทยอย่างไร ถ้า คสช. มุ่งมั่นทำเพื่อผลประโยชน์ของคนไทย รักษาความสงบเรียบร้อยได้ บริหารกลไกของรัฐได้อย่างมีประสิทธิภาพ ยึดหลักการปกครองโดยกฎหมายอย่างมั่นคง มิตรต่างชาติจะเข้าใจเราเอง

ปัจฉิมลิขิต

สำหรับนักวิชาการไทยที่ไม่เห็นด้วยกับความเห็นของผมที่ว่ามาแล้ว ผมเข้าใจและเห็นใจ เพราะว่าเมื่อครั้งที่ตัวเองยังเห็นโลกน้อยและเป็นเด็กในทางการเมืองนั้น ก็คงคิดเหมือนๆ ท่านนั่นแหละ สำหรับมิตรต่างชาติที่ได้ประณามรัฐประหารของไทยนั้น ท่านอาจจะไม่เข้าใจการเมืองไทยภายใต้ระบอบทักษิณอย่างแท้จริง หรือไม่เช่นนั้นก็มิใช่มิตรแท้ของไทย

เขียน ธีระวิทย์

ศาสตราจารย์กิตติคุณ สาขารัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

นักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขารัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์

บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย 

แก้ไขล่าสุด ใน วันอาทิตย์ที่ 29 มิถุนายน 2014 เวลา 22:30 น.
 


หน้า 343 จาก 561
Home

About Us

ศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ (ศบม.) เป็นองค์กรที่พัฒนาและจัดทำโครงการเพื่อทำประโยชน์ให้สังคม เป็นองค์กรสนับสนุนการดำเนินงานของภาครัฐ ช่วยแก้ปัญหาผู้ประกอบการภาคธุรกิจบริการที่ขาดแคลนบุคลากรที่มีมาตรฐานในการให้บริการ
อ่านเพิ่มเติม

มูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ ์

 iHDC Profile
บัญชีรายชื่อกรรมการ
ใบสำคัญแสดงการจดทะเบียน การเปลี่ยนแปลงกรรมการของมูลนิธิ
เอกสารประชาสัมพันธ์ โครงการ HMTC.pdf
เอกสารแนะนำโครงการ HMTC 1.pdf
เอกสารโครงการ HMTC 2 คุณสมบัติผู้เข้าร่วมโครงการ.pdf
iHDC นิติบุคคล.pdf
iHDC บุคคล.pdf
iHDC บุคคลเครือข่าย.pdf
รายงานการประชุม 6 มีนาคม 2560.pdf
ข้อบังคับมูลนิธิ
ใบสำคัญแสดงการจดทะเบียนจัดตั้งมูลนิธิ
Ihdc-Profile and Roadmap 2016-2019 Mar 23 2560.pdf
รายงานการประชุมใหญ่คณะกรรมการมูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ 2559.pdf
คำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ สาขาวิชาชีพ.pdf
รายงานการประชุมใหญ่วันที่ 18 ธ ค 2558 v 3.pdf
รายงานการประชุม วันที่ 24 ธันวาคม 2557 updated 4 มีนาคม 2558.pdf
iHDC-invitation Letter.doc
iHDC-Member Form Thai.doc
iHDC-Member Form English.doc
รายงานการประชุมกรรมการมูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ วันที่ 15 มกราคม 2556 ฉบับสมบูรณ์


thaibetter
พัฒนาประเทศไทยแบบทวีคูณ และยั่งยืน ( ททค )

Login


แบบสำรวจ

สถิติเว็บไซด์

สมาชิก : 5644
Content : 3068
เว็บลิงก์ : 26
จำนวนครั้งเปิดดูบทความ : 8746512

facebook

Twitter


ล่าสุด

บทความเก่า