Thaiihdc.org

  • เพิ่มขนาดตัวอักษร
  • ขนาดตัวอักษรปกติ
  • สดขนาดตัวอักษร
Thaiihdc.org

​ชีวิตที่พอเพียง : ๒๑๘๙. ควงสาวเที่ยวฝรั่งเศส ๓. อ๊านซี

พิมพ์ PDF

อานซี มีชื่อเสียงว่าเป็นเมืองโบราณที่สวยงาม ที่อานซีเราพักสองที่ ที่แรกเป็นสถานที่ประชุม Working Group และ International Organizing Committee ของ PMAC 2015 ชื่อFondation Merieux’s Les Pensieres Conference Centre ซึ่งเราพัก ๒ คืน คืนที่ ๓ ที่อานซี เราย้ายไปพักที่โรงแรม Nouvel, 37 Rue Vaugelas, Annecy 74000 เพราะ Conference Centre อยู่ห่างเมืองและสถานีรถไฟ การเดินทางไปกลับ ไม่สะดวก และค่าที่พักก็แพงกว่าด้วย

ห้องพักที่ Les Pensieres ที่เราพัก เลขที่ ๕๑ อยู่บนชั้น ๒ หรือชั้นบนสุด เป็นอาคารเก่า ผนังบุไม้ ทั้งหมด และพื้นก็เป็นไม้ ผมชอบหน้าต่างที่มีกลอนแบบโบราณ มี ๒ ชั้น คือชั้นนอกกันลม ชั้นในกันแสง ชั้นกันแสงเป็นบานพับ ห้องน้ำเป็นแบบยืนอาบฝักบัว นับว่าสุขสบายอย่างยิ่ง ที่พิเศษคือสวนอันกว้างขวาง ร่มรื่นงดงาม และอากาศบริสุทธิ์ และอาหารเที่ยงก็อร่อย ส่วนอาหารเช้าเป็น Continental Breakfast อาหารโปรตีนเป็นไข่ต้ม ไม่มีไข่ดาว ไส้กรอก และอาหารเนื้ออย่างอื่น แต่ cereals ที่กินกับนมอร่อย เพราะมีผลไม้แห้งมากชนิด กาแฟก็อร่อยมาก โดยเฉพาะกาแฟ Espresso ชนิดเข้มข้นสุดๆ

ตอนบ่ายวันที่ ๒๘ พฤษภาคม ๒๕๕๗ คือวันที่เราไปถึง สาวน้อยกับผมเดินเล่นชมสวนของ Les Pensieres ที่สวยงามอย่างยิ่ง แต่สาวน้อยเดือดร้อนเพราะพื้นดินมันเป็นเนินเขาลาดลงสู่ทะเลสาบ อ๊านซี เขาเดินยาก เข่าไม่ดี

เราเดินออกข้างนอกกะว่าจะไปเดินที่ริมทะเลสาบ มาพบสามสาวคือ ฝน เปิ้ล แอ้ม เธอชวนนั่งรถเมล์ เข้าเมือง ไปเที่ยวเมือง ผมรีบไป เพราะอยากไปแต่ไม่รู้ว่าจะไปอย่างไร ผมบอกว่าจะเลี้ยงค่ารถเมล์ ล้วงเงินออกมา สาวๆ บอกว่านี่มันเงินสวิส ไม่ใช่เงินยูโร ลงท้ายเขาต้องออกเงินค่าโดยสารให้ก่อน คนละ ๑.๕ ยูโร (๗๐ บาท) ระยะทางประมาณ ๕ กิโลเมตร ผมได้นั่งชมวิว และไปเดินในเมือง รถเมล์สาย ๖๒ ที่เรานั่งไป ไปจอดสุดสายที่ข้างสถานีรถไฟ

เมืองต่างๆ ในยุโรป เขาเอาท่ารถเมล์มาไว้ข้างสถานีรถไฟ และเอาสถานีรถไฟและรถเมล์มาไว้ข้าง สนามบินด้วย ทำให้การคมนาคมเป็นเครือข่าย ให้ความสะดวกแก่ประชาชนคนชั้นกลางทั่วๆ ไป ผมพบภายหลังว่า รถบัสจากเจนีวา ก็มาจอดที่ท่ารถเมล์ข้างๆ สถานีรถไฟ อ๊านซีนั่นเอง

สาวน้อยคลำทางไปหาโรงแรม Nouvel ที่เราจองไว้สำหรับคืนวันที่ ๓๐ พบว่าอยู่ใกล้ๆ สถานีรถไฟนั่นเอง เราได้ไปเดินชมเมืองบริเวณใกล้ๆ สถานีรถไฟ และไปนั่งสังเกตวิถีชีวิตผู้คน ผมชอบที่เขามีเก้าอี้วางไว้ให้คน นั่งพัก ตามสวนสาธารณะ ที่อยู่ใกล้ๆ สถานี

สาวน้อยชวนไปที่สถานีรถไฟ ไปตรวจตราเวลาออกและเข้าของขบวนรถไฟที่เธอกำหนด ว่าจะเดินทางไปเมือง Chamonix เพื่อนั่งกระเช้าไฟฟ้าขึ้น Mt. Blanc ความสูง ๔ พันเมตร

เราจับรถเมล์สาย ๖๒ เที่ยว ๑๗.๑๕ น. กลับที่พัก ฝนเป็นผู้จ่ายเงินของ ๕ คน คนขับบอกว่า ต้องไปซื้อตั๋วที่สถานีรถไฟก่อน และเชิญให้เราขึ้นรถก่อน ส่วนฝนขึ้นมาทีหลัง เขาไม่รีบร้อน รอจนฝนมาพร้อมกับตั๋ว

คณะ PMAC นัดเวลาออกเดินทางไปกินอาหารเย็นบนเขา เวลา ๑๘.๐๐ น. ไปโดยรถบัสคันใหญ่ เพราะมีคนกว่า ๒๐ คน นั่งรถไป ๔๐ นาที ขึ้นเขาที่ความสูง ๑,๑๕๐ เมตร โดยที่เมือง อ๊านซี อยู่เหนือทะเล ๔๕๐ เมตร ภัตตาคารอยู่บนเนินที่รถขึ้นไปไม่ได้ ต้องเดินขึ้นไป สาวน้อยต้องใช้สามีเป็นไม้เท้า แต่ก็ขึ้นไปได้ ไม่ยากลำบากนัก ขึ้นไปแล้ววิวสวยมาก เห็นทะเลสาบอ๊านซีทั้งผืน และมีเมฆฝนบังพระอาทิตย์ ปล่อยให้ลำแสงแดดส่องลงมาเห็นเป็นลำสวยมาก

ยิ่งตอนพระอาทิตย์ใกล้ตกยิ่งสวย เห็นแสงทองสาดถ่ายรูปงามมาก

สาวๆ PMAC เอารายการอาหารมาให้สั่งล่วงหน้า บอกว่าให้สั่งจาก ๓ กลุ่มกลุ่มละอย่าง คือ ออเดิฟ อาหารหลัก และของหวาน ปรากฏว่าแต่ละอย่างจานใหญ่มโหฬารกินไม่หมด อาหารหลักมีผมสั่ง cheese fondu อยู่คนเดียว หมอสุวิทย์สั่งอย่างเดียวคือเนยแข็งทอด เขาจัดให้มาทอดเอง เป็นรายการที่เอิกเกริกที่สุด และผมก็ได้รับแจกด้วย ๑ คำ ส่วนฟองดูเนยของผมได้เลี้ยงคนที่นั่งใกล้กันถ้วนหน้า ผมพบว่า เนยในฟองดูที่ต้มอยู่ตลอดเวลานั้น ยิ่งต้มไปนานจนงวด ยิ่งอร่อย อร่อยกว่าเนยทอดของหมอสุวิทย์ด้วยซ้ำไป อาหารมื้อนี้เรากินกันเหนื่อย

เช้าวันที่ ๒๙ ผมออกไปวิ่งริมทะเลสาบเป็นเวลาครึ่งชั่วโมง ได้ทำความรู้จักสถานที่ เพื่อชวนสาวน้อย ไปเดินเล่นตอนบ่ายหลังประชุมเสร็จ สาวน้อยได้เดินไปนั่งพักไป เป็นระยะทางไปกลับประมาณ ๑ กิโลเมตร

คืนวันที่ ๒๙ เรานอนได้เต็มตา ๗ ชั่วโมงเต็ม ทางที่พักเอื้อเฟื้อจัดอาหารเช้าให้เรากินเวลา ๕.๓๐ น. เพราะเรานัดรถมารับเวลา ๖.๐๐ น. ไปส่งที่โรงแรม Nouvel ที่พัก Les Pensieres นี้ ดีทุกอย่างเสียแต่ว่า ทีวีไม่มีช่องภาษาอังกฤษเลย ที่นอนนอนสบายมาก อาจจะสบายที่สุดที่ผมเคยนอน โดยเฉพาะตัวที่นอน มันดูไม่หรูหรา แต่นอนสบาย ผ้าห่มก็ไม่หรู แต่ห่มนุ่มอุ่นสบาย

เช้าวันที่ ๓๐ รถมารอก่อนเวลา พาไปโรงแรม Nouvel ใช้เวลาไม่ถึง ๑๐ นาที เราฝากกระเป๋า แล้วเดินไปสถานีรถไฟ ซึ่งใช้เวลา ๓ นาที ไปตรวจสอบเวลา และพบว่าเที่ยวแรกที่ไป St. Gervais-Les-Fayet คือ 6.59 น. ออกที่ชาลา A ตรงหน้าสถานี เมื่อใกล้เวลาผมเดินออกไปดูลาดเลา มีป้ายบอกว่าขบวนถัดไป 6.59 ไป St. Gervais มีภาษาฝรั่งเศสเดาว่าต้องจองก่อน ผมจึงเอาตั๋ว Eurail Pass ให้เจ้าหน้าที่ที่ยืนตรงนั้น ถามว่าต้องจองไหม เขาบอกไม่ต้อง เขาจะดูแลให้

รถขบวนนี้เป็น Inter City มีแต่ชั้น 2 ที่นั่งแถวละ 2+2 รวม 10 แถวในครึ่งโบกี้ที่ผมนั่ง มีผู้โดยสาร 8 คน

ผมถ่ายรูปหน้าจอบอกสถานีระหว่างทาง เอามาเป็นข้อมูล บนรถไฟผมเปิด pocket WIFI ต่อ iPad ตรวจเส้นทางกับ iMap และ Google Map พบว่าของ Google ใช้การได้ดีกว่า ช่วยให้เข้าใจว่าเราเดินทางถึงไหนแล้ว เทคโนโลยีช่วยให้ความสะดวกได้ดีจริงๆ

ระหว่างทาง รถแล่นผ่านวิวภูเขา ไม่ค่อยมีที่ราบ เห็นยอดเขามีหิมะขาวโพลนอยู่ไกลๆ

รถไฟไปจอดที่สถานีแรก คือ La Roche Sur Foron อยู่นาน เอาหัวรถจักรออก ไปต่อท้ายขบวน แล้วแล่นไปอีกทาง ที่นั่งของเรา ที่เคยนั่งหันหน้าไปทางที่รถแล่น กลายเป็นนั่งหันหลังเราเรียกสถานีสุดท้ายว่า ฟาเย็ด เขาก็เข้าใจ

เดิมเราเข้าใจผิดว่า จากสถานี ฟแเย็ด ต้องต่อรถไฟอีกเที่ยวหนึ่งไป ชาโมนิกซ์ (Chaminix) แต่เอาเข้าจริงเป็นรถโค้ช ใช้เวลาเดินทาง ๑ ชั่วโมง ตอนแรกแล่นไปตามทางด่วน ที่ทำคล้ายสะพานยกระดับไปตามไหล่เขา แล้ววกเข้าเมืองเล็กๆ แวะรับส่งผู้โดยสารหกเจ็ดจุด ผมถ่ายรูปป้ายจุดรับส่งผู้โดยสารได้บ้างไม่ได้บ้าง ได้แก่ Servoz, .., Les Bossons, Les Moussoux, Chamonix Sud, แล้วไปจอดที่สถานีรถไฟ ชาโมนิกซ์

เราไปถามทางกลับไปกลับมา จนพบคนพูดภาษาอังกฤษได้ดี เขาอธิบายว่า คนทั่วไปเขาไป Cable car ไปที่ความสูง 1,913 เมตร ถ้าไปกระเช้าไฟฟ้า จะไปสูง 4 พันเมตร อากาศบาง อาจหายใจไม่ทัน เขาคงเห็นเราเป็นคนแก่

ในที่สุดเราก็คลำทางไปขึ้น Mont Blanc ด้วยรถไปฟ้าที่ลากด้วยสายเคเบิ้ล ดูง่ายๆ คือมีสามราง รางตรงกลางเป็นจักร เพื่อใช้เป็นตัวตตะกุยส่งรถขึ้นเขา ค่าตั๋วคนละ 29.5 ยูโร

รถคันที่เราขึ้นมี 2 โบกี้ บรรทุกได้ราวๆ โบกี้ละ 80 คน ผู้โดยสารเกือบเต็ม ใช้เวลา 20 นาทีก็ถึงสถานีปลายทาง ความสูง 1,913 เมตร โดยที่นาฬิกาผมบอกความสูง 1,885 เมตร

อากาศไม่หนาวอย่างที่คิด เสื้อหนาวตัวหนาของสาวน้อยจึงหมดโอกาสทำหน้าที่ นอกจากนั้นยังแดดจ้า คนที่ลงที่นี่เดินไปเที่ยวต่อ แต่เราดูวิว ถ่ายรูป และนั่งพัก แล้วจึงกลับรถเที่ยว 11.30 น. ลงไปถีง Chamonix ทันจับรถโค้ชเที่ยว 12.16 น. ไป ฟาแย็ดที่ขับตะบึง จนเราไปทันจับรถไฟเที่ยว 13.04 กลับอ๊านซี ขากลับรถไฟมีชั้น 1 เราจึงได้นั่งสบาย และควักเอาแซนวิชของสาวน้อยเอามากิน

เป็นอันว่าสาวน้อยกับผมได้ขึ้นชมเทือกเขาแอลป์ ตรงจุดที่มีชื่อเสียงรวม ๓ จุดแล้ว คือที่ Jungfraujoch, Matterhorn, และ Mont Blanc สองแห่งแรกอยู่ในสวิส แห่งหลังอยู่ในฝรั่งเศส ผมชอบแห่งแรกมากที่สุด อาจเป็นเพราะไปนานมากแล้ว เกือบ ๒๐ ปี เป็นช่วงที่หิมะสมบุรณ์ เห็น Glacier สมบูรณ์ แต่มาคราวนี้ ที่ Mont Blanc หิมะละลายจนเห็นแต่ทรากธารน้ำแข็ง

เราโชคดีที่ช่วงเช้าที่เราไปท้องฟ้าเปิด แดดจ้า และอากาศไม่หนาวจัด บนยอดสูง ๑,๙๑๓ เมตร อุณหภูมิน่าจะอยู่ที่ ๑๕ องศาเซลเซียสเท่านั้น กำลังเย็นสบาย

กลับมาพักที่โรงแรม Nouvel ระดับ ๒ ดาว ที่คุณภาพก็ตามนั้น ผมได้ห้อง ๑๒๕ อยู่ปลายสุด ของโรงแรม Wifi อ่อนมาก ต่อไม่ติด พนักงานแก้ปัญหาโดยพาไปใกล้ๆ ลิฟท์ ซึ่งอยู่กลางโรงแรม ให้ต่อ Wifi ที่นั่น บอกว่าหลังจากนั้นกลับไปที่ห้องจะต่อได้ ซึ่งไม่จริง ผมยอมแพ้ว่าที่ห้องผมต่อ Wifi ไม่ได้ ถ้าจะใช้ก็ต้องยอมเดินไปใช้ใกล้ๆ เคาน์เตอร์พนักงาน

นั่งพักในห้องจนพอมีแรง ก็ชวนกันเดินไปชมเมืองเก่า ที่เป็นมรดกโลก เป็นแหล่งนักท่องเที่ยว อาคารอยู่สองฝั่งแม่น้ำที่ไหลลงทะเลสาบ เราเดินไปจนชนทะเลสาบ มีสวนสาธารณะเก่าแก่ มีต้นไม้ใหญ่ อายุเป็นร้อยปี ร่มรื่นมาก คนมานั่งนอนพักผ่อนกันเต็ม ที่ทะเลสาบมีเรือล่องชมทะเลสาบคิดค่าบริการคนละ ๑๔ ยูโร เวลา ๑ ๙ั่วโมง เราไปเดินเล่นและนั่งพักเป็นระยะๆ แล้วกลับมาพักผ่อนที่โรงแรม

กลางคืนได้ยินเสียงตะโกนดังเป็นระยะๆ ตอนเช้าถามเจ้าหน้าโรงแรมว่าเสียงอะไร เขาบอกว่าเสียง บนถนน ซึ่งก็คือเสียงคนเมานั่นเอง

วิจารณ์ พานิช

๓๑ พ.ค. ๕๗

ถ้าผู้ใดสนใจชมภาพประกอบโปรดกด link :http://www.gotoknow.org/posts/571123

แก้ไขล่าสุด ใน วันอาทิตย์ที่ 29 มิถุนายน 2014 เวลา 21:25 น.
 

ประเมินเพื่อมอบอำนาจ : ๘. นักเรียนเป็นเจ้าของการเรียนรู้ของตน

พิมพ์ PDF

บันทึกชุด “ประเมินเพื่อมอบอำนาจ” (การเรียนรู้) ๑๐ ตอน ชุดนี้ ตีความจากหนังสือ Embedded Formative Assessment เขียนโดย Dylan Wiliam เพื่อเสนอใช้การทดสอบหรือการประเมินในทางบวก ต่อการเรียนรู้ โดยใช้แบบเนียนไปการกระบวนการเรียนรู้ของศิษย์ และเนียนไปกับการโค้ชศิษย์ เพื่อใช้ “การประเมินเพื่อพัฒนา” (formative assessment) ยกระดับการเรียนรู้ของนักเรียน ด้วยความเชื่อว่า การใช้ “การประเมินเพื่อพัฒนา” ที่ดำเนินการโดยครูในชั้นเรียน และดำเนินการอย่างถูกต้อง เป็นปัจจัยสำคัญที่สุด ต่อการยกระดับผลสัมฤทธิ์ของการเรียน (learning outcomes)

บันทึกตอนที่ ๘ นี้ ตีความจากบทที่ ๗ Activating Students as Owners of Their Own Learning เป็นยุทธศาสตร์ที่ ๕ ใน ๕ ยุทธศาสตร์ของการประเมินเพื่อการพัฒนาที่ดี คือ ยุทธศาสตร์การทำให้นักเรียน เป็นเจ้าของการเรียนรู้ของตนเอง มีความรู้ความเข้าใจกระบวนการเรียนรู้ของตนเอง (meta-cognition) และสามารถประเมิน และปรับกระบวนการเรียนรู้ของตนเองได้ ที่เรียกว่า กำกับการเรียนรู้ของตนเองได้ (self-regulated learning)

หัวใจของการเรียนรู้คือ ครูไม่ได้เป็นผู้สร้างการเรียนรู้ในตัวนักเรียน ผู้เรียนเท่านั้น ที่เป็นผู้สร้างกระบวนการเรียนรู้ (ขึ้นในตน)


การประเมินตนเองของนักเรียน

การประเมินตนเองของนักเรียนไม่ได้หมายความว่านักเรียนออกข้อสอบเอง ให้ตนเองทำ แล้วให้คะแนน และตัดสินได้-ตกเอง ซึ่งเรียกว่า การสอบเพื่อตัดสินได้-ตก (summative evaluation)

การประเมินตนเองของนักเรียนมีเป้าหมายเพื่อใช้พัฒนาการเรียนรู้ของตนเอง คือเป็นการประเมิน เพื่อพัฒนา (formative assessment) เอาผลการประเมิน มาพัฒนาการเรียนรู้ของตนเอง

การประเมินตนเองของนักเรียนเป็นทักษะ นักเรียนต้องฝึก ใหม่ๆ อาจประดักประเดิดบ้าง ต้องค่อยๆ ฝึก ใหม่ๆ ครูต้องช่วยมากหน่อย โดยใส่โครงสร้างเข้าไปในการประเมิน แล้วค่อยๆ ลดโครงสร้าง ให้นักเรียนเป็น ตัวของตัวเองในการประเมินมากขึ้น

โดยการประเมินตนเองของนักเรียนมี ๒ ส่วน คือ (๑) ส่วนที่ครูกำหนด (prescriptive component) เพื่อวินิจฉัยความรู้ความเข้าใจของนักเรียน (๒) ส่วนที่นักเรียนค่อยๆ เสาะหาเป็นระยะๆ (exploratory component) ทำโดยนักเรียนฝึกกำหนดเป้าหมายรายทางของงานที่ครูมอบหมาย (เพื่อเรียนรู้) ของตน แล้วกำหนดแผนการดำเนินการ และประเมินผลทุกสัปดาห์ คาดหวังว่าหากการเรียนรู้มีความก้าวหน้าดี จะเห็นผล ๒ อย่าง คือ นักเรียนคิดงานของตนเอง เป็นตัวของตัวเองมากขึ้นๆ และเกณฑ์ในการประเมิน ตนเองมีความชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ

ผลการวิจัยในครูและนักเรียนชั้นประถม ใน ปอร์ตุเกศ พบว่ากลุ่มนักเรียนที่ใช้การประเมินตนเอง ในช่วงเวลา ๒๐ สัปดาห์ ผลการเรียนคณิตศาสตร์เพิ่มขึ้นจากตอนเริ่ม ๑๕ หน่วย ในขณะที่ของกลุ่มควบคุม เพิ่มเพียง ๗.๘ หน่วย เขาแปลผลว่า ผลการเรียนของกลุ่มที่ให้นักเรียนประเมินตนเองเรียนคณิตศาสตร์ในเวลา ๒๐ สัปดาห์ ได้เท่ากับที่นักเรียนที่ไม่ได้ประเมินตนเองเรียนโดยใช้เวลา ๓๘สัปดาห์ คือการประเมินตนเอง ช่วยเพิ่มประสิทธิผลของการเรียนเกือบเท่าตัว

ทำไมการประเมินตนเองจึงมีผลเพิ่มการเรียนรู้ ยังไม่มีใครทราบแน่ เข้าใจว่าเหตุผลสำคัญคือมันเพิ่ม “การกำกับตนเอง” (self-regulation)


การเรียนโดยกำกับตนเอง(Self-Regulated Learning)

การเรียนโดยกำกับตนเองหมายความว่า นักเรียนสามารถประสาน พลังเพื่อการคิด (cognitive resources) อารมณ์ และการปฏิบัติ ไปสู่เป้าหมายของการเรียนรู้ โดย “การมีพลังเพื่อการคิด” หมายถึง นักเรียนมีความรู้ ทักษะ ยุทธศาสตร์ แรงจูงใจ และกล้าตัดสินใจ เพื่อบรรลุเป้าหมาย

ความสามารถในการเรียนโดยกำกับตนเอง ขึ้นกับ ๒ ปัจจัย คือ ความเข้าใจความคิดของตนเอง (metacognition) และแรงบันดาลใจ


ความเข้าใจการคิดของตนเอง(Metacognition)

John Flavell ผู้คิดคำศัพท์ metacognition ให้นิยามคำนี้ไว้ว่า “ความรู้เกี่ยวกับกระบวนการคิดของตนเอง รวมทั้งผลที่เกิดขึ้น และสิ่งอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่นคุณสมบัติของสารสนเทศ และข้อมูล ที่มีอิทธิพลต่อการเรียนรู้”

ความเข้าใจการคิดของตนเอง จึงหมายความรวมทั้ง รู้ว่าตนรู้อะไร (metacognitive knowledge) รู้ว่าตนทำอะไรได้ (metacognitive skills) รู้ว่าตนรู้อะไรบ้างเกี่ยวกับความสามารถในการคิดของตน (metacognitive experience) คุณค่าสำคัญของความเข้าใจการคิดของตนเองคือ ทำให้สามารถเชื่อมโยงความรู้ ที่จำเพาะ เอาไปใช้ในสถานการณ์ใหม่ที่แตกต่างกันได้ หากผู้นั้นมีแรงจูงใจที่จะใช้ความรู้นั้น


แรงจูงใจ(Motivation)

แรงจูงใจให้ทำหรือไม่ทำสิ่งใดๆ มี ๒ แบบ คือ แรงจูงใจภายนอก (extrinsic motivation - ทำเพราะ หวังผลที่จะได้รับอะไรบางอย่าง) กับแรงจูงใจภายใน (intrinsic motivation - ทำเพราะเป็นความพึงพอใจ ส่วนตน)

การทำสิ่งที่ตนพึงพอใจและกระบวนการที่ดำเนินต่อเนื่องด้วยใจจดจ่อและความพึงพอใจอย่างสูง เรียกว่าสภาวะ flow ซึ่งผมเคยเขียนถึง ที่นี่ สภาวะเช่นนี้ แรงจูงใจภายในเป็นพลังหลัก หนังสือบอกว่า เป็นสภาพที่มีความพอดีระหว่างแรงจูงใจกับความท้าทาย (challenge) ของงานนั้น

คนทั่วไปมองแรงจูงใจเป็นเหตุของความตั้งใจเรียน แต่จริงๆ แล้วมองเป็นผลของกระบวนการเรียนรู้ ที่ดี ก็ได้ ครูที่เก่งและเอาใจใส่ จะจัดกระบวนการเรียนรู้ที่สร้างแรงบันดาลใจให้เด็กมีแรงจูงใจต่อการเรียน และที่ดีที่สุดคือ เป็นแรงจูงใจภายใน

การทำสิ่งใด ต้องใช้พลังหรือมีการลงแรง (cost) แรงจูงใจ (ภายนอก) ให้ทำจะสูงหากผู้นั้นคิดว่าผลได้ (benefit) สูง คุ้มต่อการลงแรง

กระบวนการตัดสินใจทำ/ไม่ทำ สิ่งที่ซับซ้อนอย่างการเรียน มีปัจจัยเกี่ยวข้องที่ซับซ้อนมาก ปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งต่อนักเรียน คือความเชื่อว่าตนทำสิ่งนั้นได้ (self-efficacy) ซึ่งใกล้เคียงกับความมั่นใจ ในความสามารถของตนเอง ที่น่าตกใจคือ มีผลการวิจัยบอกว่า เมื่อนักเรียนเรียนในโรงเรียนสูงขึ้น ระดับของ self-efficacy ลดลง

กระบวนการเรียนรู้ของนักเรียนจะเข้มข้น หากนักเรียนมุ่งเป้าจิตใจที่การเรียนรู้ มากกว่าที่สมรรถนะ (performance) เขาบอกว่าสภาพนี้เกิดขึ้นได้โดยการที่ครูให้คำแนะนำป้อนกลับเชิงบวกและสร้างสรรค์ (positive constructive feedback)


การคิดกับแรงจูงใจ

การประเมินเป็นดาบสองคม อาจก่อผลดีหรือผลร้ายต่อการเรียนรู้ของศิษย์ก็ได้ เมื่อนักเรียนได้รับเชิญ ให้เข้าร่วมกิจกรรมใดก็ตาม เด็กจะหาสารสนเทศ ๓ ชุดประกอบการตัดสินใจเข้าร่วมหรือไม่เข้าร่วม ได้แก่ (๑) มุมมอง หรือการรับรู้ (perception) ของตนต่องานนั้น และบริบทที่เกี่ยวข้อง (๒) ทุนความรู้ความสามารถของตน ต่อการทำสิ่งนั้น และต้องออกแรงแค่ไหน เพื่อให้สำเร็จ (๓) แรงบันดาลใจเชิงความเชื่อ ต่อการทำงานนั้น และต่อโอกาสทำงานนั้นสำเร็จ

ความคิดที่สำคัญอยู่ที่การมุ่งเป้าหมายใด ระหว่างความเจริญก้าวหน้า (growth) กับความสุขสบาย (well-being) ทฤษฎีสำคัญต่อการสร้างบรรยากาศการเรียนรู้ให้นักเรียนมีแรงจูงใจสูงต่อการเรียนรู้ คือ dual-process regulation model เกี่ยวกับจิตวิทยาการเรียนรู้ ซึ่งกล่าวว่า ครูต้องหาทางสร้างบรรยากาศให้ศิษย์มุ่งมั่น อยู่กับเป้าหมายความเจริญก้าวหน้าในอนาคต ไม่ใช่เอาแต่ความสุขสบายในปัจจุบัน โดยหนังสือแนะนำวิธีการ ๕ แนวทาง

  • ๑.คอยย้ำเป้าหมายการเรียนรู้ และคุณค่าของมันต่อชีวิตในอนาคต เพื่อให้เด็กประเมิน ความก้าวหน้าไปสู่เป้าหมายได้ด้วยตนเอง
  • ๒.ส่งเสริมความเชื่อว่า ความสามารถเป็นสิ่งที่สะสมทีละน้อยๆ ไม่ใช่สิ่งที่หยุดนิ่งอยู่กับที่ และส่งเสริมความเชื่อว่า ทั้งความสำเร็จและความล้มเหลว เป็นบ่อเกิดของการเรียนรู้ ออกแรงแล้วล้มเหลว ไม่สูญเปล่าในด้านการเรียนรู้
  • ๓.พยายามไม่เปรียบเทียบผลการเรียนระหว่างนักเรียน เน้นเปรียบเทียบกับตัวเอง เพื่อสำรวจความก้าวหน้าในการเรียนรู้
  • ๔.ให้คำแนะนำป้อนกลับที่มีสิ่งที่ควรทำต่อไปในอนาคต ไม่ใช่เน้นบอกความผิดพลาด ในอดีตเพื่อแก้ไข
  • ๕.พยายามค่อยๆ มอบการกำกับการเรียนรู้ (จากครูกำกับ) ให้นักเรียนกำกับเอง เพื่อการเจริญก้าวหน้าในการเรียนของตนเอง และพัฒนาเป็น “ผู้กำกับการเรียนรู้ของตนเอง” (self-directed learner)


เทคนิคเชิงปฏิบัติ

เทคนิคที่กล่าวในบันทึกที่แล้วหลายเทคนิคนำมาใช้เพื่อเป้าหมายให้นักเรียนเป็นเจ้าของการเรียนรู้ ของตนเองได้ ต่อไปนี้จะกล่าวเพิ่มอีกจำนวนหนึ่ง โดยขอย้ำว่า ครูแต่ละท่านสามารถปรับวิธีการ หรือคิด วิธีการใหม่ ขึ้นมาใช้ให้เหมาะสมต่อบริบทของชั้นเรียนของท่านได้ และสามารถนำมาเป็นโจทย์วิจัย ในชั้นเรียนได้

เทคนิคไฟจราจร ใช้สำหรับให้นักเรียนแต่ละคนได้ฝึกประเมินการเรียนรู้ของตนอย่างง่ายๆ เช่นตอนต้นคาบเรียนครูทำความตกลงเป้าหมายของการเรียน ก่อนจบคาบให้นักเรียนแต่ละคนยกป้ายสีใดสีหนึ่ง ในสามสี คือ แดง (ยังไม่บรรลุเป้าหมาย) เหลือง (ไม่แน่ใจหรือไม่เข้าใจบางส่วน) เขียว (บรรลุเป้าหมายทั้งหมด)

กระบวนการนี้ เรียกว่า self report ซึ่งเป็นที่เข้าใจกันว่าความแม่นยำไม่มากนัก และอาจเกิด ผลข้างเคียงที่ไม่ต้องการได้ หากครูใช้ไม่เป็น เช่นหากครูกำหนดว่า ป้ายเขียวหมายถึง “ฉันพร้อมที่จะสอนเรื่องนี้แก่คนอื่น” นักเรียนบางคนอาจยกป้ายเขียวเพราะอยากให้ตัวเองดูดี เรื่องนักเรียนแสดงพฤติกรรมต่างๆ เพื่อให้ตัวเองดูดีนี้ ครูควรเอาใจใส่ และหาทางไม่ให้จิตวิทยาด้าน ความมีตัวตนนี้ เป็นอุปสรรคต่อการเรียนรู้

อาจปรับใช้เทคนิคนี้ในการเตรียมตัวสอบ โดยครูแนะนำนักเรียนว่า เวลาอ่านทบทวนบทเรียนหรือ บันทึกจากการฟังการบรรยาย ให้เอาดินสอสีทำวงกลมสีตามสีไฟจราจรไว้ที่ด้านบนของบันทึกหน้านั้น สีเขียวคือเข้าใจดีแล้ว สีเหลืองยังไม่ค่อเข้าใจ สีแดงคือยังไม่เข้าใจ เวลาทบทวนก่อนสอบก็เน้นดูเฉพาะหน้าสีแดงและเหลือง ไม่ต้องพลิกอ่านเปรอะไปหมดอย่างไร้เป้าหมาย

เทคนิคแผ่นสี นักเรียนทุกคนได้รับแจกแผ่น ซีดี เก่าที่ด้านหนึ่งติดกระดาษสีเขียว อีกด้านหนึ่งติดกระดาษสีแดง เมื่อเริ่มคาบเรียน ทุกแผ่นมีสีเขียวขึ้น ระหว่างครูสอน หากนักเรียนคนไหนไม่เข้าใจ หรือตามไม่ทัน ให้ยกด้านแดงขึ้นให้ครูเห็น เขาแนะนำว่า ในทางปฏิบัติ ครูต้องคอยสังเกตด้วย ไม่ใช่มัวก้มหน้าก้มตาอธิบายโดยไม่มองที่เด็ก เพราะเคยเกิดนักเรียนยกป้ายแดงตั้งหลายคนและผ่านไป หลายนาที แต่ครูไม่มอง นักเรียนขัดใจมาก

เทคนิคถ้วยสี ครูคนหนึ่งพบว่าแผ่นซีดีมองเห็นยาก จึงปรับเป็นใช้ถ้วยสี เมื่อเริ่มเรียนนักเรียน ทุกคนมีถ้วยเขียวอยู่บนโต๊ะ เมื่อเรียนไประยะหนึ่งเด็กคนใดไม่เข้าใจ ก็ยกถ้วยแดง ครูจะสุ่มให้เพื่อนที่เหลือ เป็นผู้ตอบ ซึ่งหมายความว่าในห้องเรียนมีบรรยากาศของ effective formative assessment ทั้งสองมิติ คือ (๑) นักเรียนตั้งใจ (engagement) อยู่กับการเรียนตลอดเวลา (๒) พร้อมรับปัจจัยด้านความบังเอิญ หรือไม่คาดคิด (contingency) อยู่ตลอดเวลา ซึ่งหมายความว่า นักเรียนที่มีถ้วยเขียวหรือเหลืองอยู่บนโต๊ะ เป็นผู้พร้อมตอบ คำถาม

แฟ้มบันทึกการเรียน(Learning Portfolios) ซึ่งต้องเป็นแฟ้มชนิดบันทึกประวัติการเรียนรู้ (learning portfolios) เพื่อให้เห็นพัฒนาการของความรู้และสมรรถนะ ในช่วงเวลาต่างๆ ไม่ใช่บันทึกสมรรถนะ (performance portfolios) แบบที่เอาผลงานมาตั้งแสดงในแกลอรี่ เมื่อมีผลงานใหม่ที่ฝีมือพัฒนาขึ้นกว่าเก่า ก็ปลดของเก่าออก เอาชิ้นที่ดีที่สุดออกแสดง

แฟ้มบันทึกการเรียน ที่เก็บประวัติการเรียนรู้และผลการเรียนทั้งหมดไว้ จะช่วยให้นักเรียนเอาผลงาน ของตนในช่วงเวลาต่างๆ มาเปรียบเทียบ และเห็นความก้าวหน้าของผลงาน ช่วยให้เกิดผล ๒ อย่าง (๑) มองเห็นลู่ทางพัฒนาต่อ (๒) เมื่อนักเรียนเอาใจใส่ที่การปรับปรุงให้ดีขึ้น ก็จะปลูกฝังความเชื่อว่าความสามารถ เป็นสิ่งที่ปรับปรุงขึ้นได้ทีละน้อย ไม่ใช่คงที่

บันทึกการเรียน(Learning Logs) เมื่อจบบทเรียน ครูให้นักเรียนแต่ละคนเขียนบันทึกการเรียนรู้ ของตน เพื่อฝึกให้นักเรียนไตร่ตรองทบทวนบนเรียนด้วยตนเอง (self-reflection) โดยครูตั้งประเด็นให้ มีครูคิดกุศโลบายให้การเขียนมีชีวิตชีวา มีการคิดจริงจัง โดยให้นักเรียนเลือกตอบคำถามต่อไปนี้เพียง๓ ข้อ

  • oวันนี้ ฉันได้เรียน ……
  • oฉันประหลาดใจเรื่อง…..
  • oสิ่งที่มีประโยชน์ที่สุดที่ฉันได้จากบทเรียนคือ ….. โดยจะเอาไปใช้…..
  • oฉันสนใจเรื่อง…..
  • oส่วนของบทเรียนที่ฉันชอบมากที่สุดคือ…. เพราะ…….
  • oสิ่งที่ฉันไม่แน่ใจ/ไม่เข้าใจ คือ………
  • oประเด็นสำคัญที่ฉันอยากเรียนรู้เพิ่มเติมคือ………
  • oความรู้สึกของฉันหลังจบบทเรียนนี้คือ………
  • oฉันน่าจะเรียนรู้ในบทเรียนนี้มากกว่านี้ ถ้า……….

ผมขอเพิ่มเติมเทคนิคที่ผมคิดว่ามีประโยชน์มาก ต่อการฝึกให้นักเรียนไตร่ตรองทบทวนการเรียนรู้ เพื่อฝึกเป็นเจ้าของการเรียนรู้ของตนเอง คือการทำ “โยนิโสมนสิการกลุ่ม” หรือ ไตร่ตรองทบทวนการเรียนรู้ เป็นกลุ่ม หรือในภาษาการจัดการความรู้เรียกว่า AAR (After Action Review) ซึ่งจะเท่ากับฝึกการเรียนรู้ ร่วมกันในชั้นเรียน (Collaborative Learning) ไปในตัว ครูทุกคนควรได้ฝึกทักษะการเป็น “คุณอำนวย” (facilitator) ของกระบวนการ AAR นี้

ครูมีบทบาทสำคัญในการจัดสถานการณ์ให้เกิดการเรียนรู้ แต่ผู้เรียนเท่านั้นที่เป็นผู้ทำให้เกิดการเรียนรู้ และคนที่เรียนรู้ได้มากกว่า คือคนที่สามารถจัดการการเรียนรู้ของตนได้ นักเรียนทุกคนสามารถฝึกฝนทักษะ การจัดการการเรียนรู้ของตน และกลายเป็นเจ้าของการเรียนรู้ของตนได้ แต่ต้องฝึกอย่างเป็นขั้นตอน และต้องใช้เวลา เพราะในตอนเริ่มต้น กระบวนการทบทวนไตร่ตรองประเมินการเรียนรู้ของตนเอง เป็นเรื่องกระทบกระเทือนอารมณ์ความรู้สึก และความเป็นตัวตนของนักเรียน ครูที่เอาใจใส่และมีทักษะการโค้ชเรื่องนี้ มีคุณค่ายิ่งต่อศิษย์

วิจารณ์ พานิช

๘ ม.ค. ๕๗

บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย 

แก้ไขล่าสุด ใน วันอาทิตย์ที่ 29 มิถุนายน 2014 เวลา 21:28 น.
 

ชีวิตที่พอเพียง : ๒๑๘๘. ควงสาวเที่ยวฝรั่งเศส ๒. เดินทาง

พิมพ์ PDF

เราเดินทางด้วยการบินไทย ไปซูริก เหมือนปีที่แล้ว คือเดินทางด้วยเที่ยวบิน TG 970 ออกจากสนามบินสุวรรณภูมิ เวลา ๐.๔๐ น. ของวันที่ ๒๘ พฤษภาคม ๒๕๕๗

ตอนนี้เราเปลี่ยนมาใช้บริการแท็กซี่ของคุณสุพรรณ ซึ่งบ้านอยู่ที่หมู่บ้านเอื้ออาทรใกล้ๆ บ้านผม เราไม่กวนคุณเสาร์ แม้บริการจะดีกว่า เพราะเห็นใจว่าคุณเสาร์งานมาก เกรงว่าแกจะทำงานตรากตรำเกินไป

เพราะสาวน้อยกลัวว่าคุณสุพรรณจะขับกลับบ้านไม่ทันเวลา เคอฟิว เราจึงนัดให้คุณสุพรรณมารับเวลา ๒๐.๐๐ น. ดังนั้น เวลาก่อนสามทุ่ม เราก็เช็คอินเสร็จ และผ่านเข้าไปซื้อเครื่องสำอางตามสั่งของลูกสาว คราวที่แล้วไปหาที่อเมริกาและจีนไม่ได้ มาทราบทีหลังว่ามีขายที่ร้านปลอดภาษีขาออกที่สุวรรณภูมินี่เอง และสาวน้อยก็ได้สิ่งที่ต้องการ

เพราะมาเช็คอินเร็วมาก จึงยังไม่ทราบประตูทางออก เราลงบันไดเลื่อนลงไปที่ห้องรับรองของ การบินไทย ไปนั่งอ่านหนังสือ ดื่มเครื่องดื่มและกินของว่าง รอเวลา ผมเดินไปดูจอแจ้งประตูทางออก หลายครั้ง จนเวลา ๒๓ น. ก็ยังไม่ขึ้น จึงไปถามเจ้าหน้าที่ที่เคาน์เตอร์ จึงรู้ว่าประตู B6 เมื่อเดินไปที่ประตู ระหว่างทางมีจอบอกประตูทางออกของเที่ยวบินต่างๆ จึงรู้ว่า จอในห้องรับรองมันเล็ก บอกข้อมูลไม่ครบ อย่างจอข้างนอก

เราไปนั่งรอที่ประตู B6 อีก ๑ ชั่วโมง จึงได้ขึ้นเครื่อง เครื่องบิน A340-600 เครื่องเก่า ไม่ทันสมัยอย่าง B777 ที่ผมนั่งไปออสโล และไป ซานฟรานซิสโก ในสองเที่ยวที่แล้ว เราได้ที่นั่ง 12E และ 12F นั่งคู่กันกลางลำ ถือเป็น aisle seat ทั้งคู่ สะดวกในการเข้าห้องน้ำ

อาหารมื้อแรก ถือเป็นอาหารค่ำได้ เพราะตรงกับเวลาสองทุ่มเศษของ ซูริค แต่มันเป็นเวลา ตีหนึ่งกว่าของกรุงเทพ เขาบริการเครื่องดื่มโดยไม่มีของขบเคี้ยว ถือว่าผิดธรรมเนียมมาก ผมดื่มยินโทนิค ของโปรด

อาหารจานแรก หรือ ออเดิฟ ประกอบด้วย ปลาทูน่าเพสโตครีม, ตับเป็ดกับวิปครีมช็อกโกเลต โดยมีผักแทรกระหว่างกลาง ออเดิฟนี้อร่อยดี ผมชอบรสขม จึงชอบตับเป็ดเป็นพิเศษ ตอนนี้ผมดื่มไวน์แดง Grand Enclos du Chateau de Cerons 2008

อาหารหลักมีให้เลือก ๔ อย่าง ผมเลือกเนื้อลูกวัวปรุงรสแบบซูริค มันฝรั่งทอดแบบซูริค และผักต่างชนิด สาวน้อยเลือกปลาแซลมอน ผมคาดว่าจะได้สเต้กเป็นชิ้นใหญ่ แต่เอาเข้าจริง เนื้อลูกวัวมาเป็นชิ้นเล็กๆ

เสิร์พที่สามเป็นเนยแข็งสองชนิดกับผลไม้สามชนิด อย่างละหนึ่งชิ้น ที่ผมลืมถ่ายรูป ตามมาด้วยขนมหวานคือ พายแบบวิส ซอสวานิลา กาแฟ และผมขอคอนญัค ซึ่งช่วยให้มึนได้ที่ โดยผมพิมพ์บันทึกนี้ระหว่างมึน

เทียบกับอาหารของสายการบิน ANA ที่ผมบินไปโตเกียว และต่อไป ซาน ฟรานซิสโก ผมชอบอาหารและบริการของ ANA มากกว่า ยื่งที่นั่ง-นอนแล้ว ต่างกันลิบ เพราะนั่นมันนอนราบได้ นี่นอนราว ๑๔๕ องศา เป็นที่นอนรุ่นเก่า

อย่างไรก็ตาม สาวน้อยนอนหลับได้มาก ผมหลับสองช่วง รวมแล้วน่าจะได้สัก ๕ ชั่วโมง โดยกินยา ลอราซีแพม ๐.๕ มิลลิกรัม

ผู้โดยสารในชั้นธุรกิจเที่ยวนี้เต็มทุกที่นั่ง ห้องน้ำ ๒ ห้องจึงไม่ค่อยพอใช้ ต้องรอกัน

ระหว่างนั่งเครื่องบิน ผมอ่านหนังสือเรื่อง Higher Education in America เขียนโดย Derek Bok ใน iPad mini หนังสือเล่มนี้ ศาสตราจารย์ นายแพทย์ ลินคอล์น เฉิน ประธาน China Medical Board ส่งมาให้เป็นหนังสือ เล่มในกระดาษ ตัวหนังสือเล็ก อ่านลำบากเพราะตาผมไม่ดี จึงลงทุนซื้อ eBook มาอ่านใน iPad ตอนนี้กำลังอ่านแบบอ่านผ่านๆ พอจะจับความได้ว่า เรื่องการศึกษานี้ มันซับซ้อนมาก คิดเดาเอาเองไม่ได้ จะเดาผิดบ่อย ต้องทำวิจัย จะพบความจริงแปลกๆ เช่นมีผลการวิจัยชิ้นหนึ่ง บอกว่า ในสหรัฐอเมริกา สมรรถนะสำคัญหลายอย่าง (เช่น critical thinking) ในนักศึกษาปี ๑ กับนักศึกษาปี ๔ แตกต่างกันน้อยมาก

เวลาตีสี่ท้องฟ้าก็สว่างโร่แล้ว ตีห้าแดดจ้า แต่เขายังปิดหน้าต่างเพื่อไม่ให้แสงรบกวน และเสิร์พอาหารเช้า ซึ่งผมเลือก Creamed mushroom omelet มากับไส้กรอกไก่ทอด และมันฝรั่ง Lyonnaise potatoes มะเขือเทศผ่าซีกอบน้ำมันมะกอกและสมุนไพร อาหารมื้อนี้อร่อยกว่ามื้อที่แล้ว สาวน้อยกินแพนเค้ก และเอาเบคอนกับมะเขือเทศมายกให้ผม ทำให้ผมอิ่มแปร้

ผม AAR การอยู่กับปัจจุบันขณะตอนกินอาหารว่า อาหารญี่ปุ่นช่วยการเจริญสติระหว่างกินได้ดีที่สุด เพราะเขาเสิร์พอาหารต่างรสแยกกันมา ไม่คละเคล้า ทำให้ผู้รับประทานได้ฝึกแยกแยะรสของอาหารแต่ละอย่าง ซึ่งก็คือฝึกสมาธินั่นเอง ผมตีความอย่างนี้ ไม่ทราบว่าถูกหรือผิด

อย่างไรก็ตาม ผมคิดว่า อาหารของการบินไทยขาด innovation เป็นอาหารแบบเดิมๆ ไม่ได้มี ยุทธศาสตร์ดึงดูดผู้โดยสารด้วยอาหารและเครื่องดื่ม อย่างที่ผมเคยไปพบที่สายการบินออสเตรีย สุดยอดอร่อย คือกาแฟ

การไปประชุมครั้งนี้ ทีมไทยไปกันทั้งหมด ๑๖ คน ๑๓ คนเดินทางด้วยสายการบิน ออสเตรีย มีเพียง ๓ คนที่ชวนภรรยาไปด้วย เดินทางโดยการบินไทย เข้าใจได้ง่ายว่า เพราะภรรยาบินด้วยตั๋วฟรี จากไมล์สะสมของสามี แบบเดียวกับคู่ผมนั่นแหละ การบินไทยถูกนักการเมืองเข้าไปแสวงประโยชน์ (ก็คอรัปชั่นนั่นแหละ) จนอ่อนแอ ผลประกอบการที่ขาดทุนบอกชัดเจน

เครื่องบินลงก่อนเวลา ประมาณครึ่งชั่วโมง ทั้งๆ ที่ตอนออกเสียเวลาเล็กน้อย ที่บินได้เร็วเพราะ ลมส่งท้ายแรงถึง ๔๐ ก.ม. ต่อชั่วโมง ลงจากเครื่องก็เดินไปตามป้าย ไปขึ้นรถรางภายในสนามบิน ไปผ่านด่านตรวจคนเข้าเมืองโดยไม่ต้องเขียนใบอะไรเลย แล้วไปรับกระเป๋าที่สายพาน ที่นั่นพบ อ. นรนิตย์ เศรษฐบุตร มาประชุมแค่ ๒ วัน

เราเดินไปตามป้ายบอกทางไปรถไฟ แล้วไปที่ช่องขายตั๋ว เอาตั๋ว Eurail Pass ไปประทับตราวันเริ่มใช้ โดยต้องมีพาสปอร์ตไปแสดง เราซื้อตั๋ว ๙ วัน ในราคา ๘๖๐ ยูโรต่อ ๒ คน จะใช้วันไหนก็เขียนวันที่ลงไปเอง แต่ต้องไม่หลังวันที่ ๒๕ ต.ค. ๒๕๕๗ ผมบอกว่าจะไปเจนีวา เขาถามว่าไปแอร์พอร์ต หรือไปซิตี้ ผมบอกไปซิตี้ เขาบอกว่าเที่ยวแรก ๗.๓๙ น. ที่ชานชาลา ๔ ผมบอกว่าเดินไม่ทัน เมียเดินช้า เขาบอกว่าเที่ยวถัดไป ๘.๑๓ น. ชาลา ๓ เรากะไปเที่ยวหลัง แต่ปรากฏว่าสองชาลานี้อยู่ติดกัน และเราก็จับเที่ยวแรกทัน สาวน้อยยังสด ยังพอเดินเร็วๆ ได้

สาวน้อยเก็บตารางรถไฟสวิสของปีที่แล้วไว้ และเอามาด้วย รถไฟเที่ยวนี้ชื่อ ICN จะไปถึงเจนีวาเวลา ๑๐.๔๒ น. เราจึงเปิดเครื่อง pocket wifi ที่ผมเตรียมซื้อและเปิด roaming มาจากเมืองไทย ต่อกับ iPad และส่ง Line ไปบอกคุณเปิ้ลว่า เราจะไปถึงเจนีวาเร็วกว่ากำหนด ที่เดิมกะว่าจะไปรถไฟเที่ยว ๙ โมงเศษ เราทำเวลาได้เร็ว ขึ้น ๒ ชั่วโมง คุณเปิ้ล Line มาบอกว่า รถจะไปรับเราเวลา ๑๑.๑๕ น. ณ จุดนัดพบคือหน้าโรงแรม Cornavin

บนรถไฟชั้น ๑ เรานั่งสองคนสี่ที่นั่ง สะดวกสบาย สาวน้อยค้นเอารายการและแผนที่ต่างๆ ที่เตรียมมา เอามาสั่งการลูกทัวร์ เรานั่งปรึกษาหารือกันอย่างสบายใจ รถไฟมีป้ายบอก Nachster Halt แปลว่าจอดครั้งต่อไป และมีประกาศเป็นภาษาเยอรมัน ตามด้วยภาษาอังกฤษ สะดวกมาก และยิ่งสะดวกที่สาวน้อยมีแผนที่เอามาดูภาพรวม ว่าเรากำลังเดินทางไปทางไหน ต่อไปจะถึงเมืองอะไร เมื่อรถจอด ป้ายจะบอกว่า Nach Geneve-Aeroport แปลว่า ไปสนามบินเจนีวา ซึ่งจะผ่านสถานีเมืองเจนีวาก่อน เราจะลงที่สถานีเมืองเจนีวา

หลังจากผ่านเมือง Biel/Bienne คำประกาศมี ๓ ภาษา เริ่มด้วยฝรั่งเศส ตามด้วยเยอรมัน และอังกฤษ และป้ายบอกสถานีถัดไปเปลี่ยนเป็นภาษาฝรั่งเศสว่า Prochain arret (อ่านว่า โปรเชนนาเระ) ตอนนี้รถไฟแล่น ผ่านทะเลสาบ Biel ตามด้วยทะเลสาบ Neuchatel วิวจึงสวยมาก และเราก็เตรียมไปยึดที่นั่งฝั่งซ้ายเพื่อชมวิว ใช้ประโยชน์จากการนั่งรถไฟชั้นหนึ่งเต็มที่

โบกี้รถไฟมีปลั๊กสำหรับชาร์จไฟคอมพิวเตอร์และเครื่องใช้อีเล็กทรอนิกส์ทั้งหลาย ผมจึงได้โอกาส ชาร์จไฟ iPad

รถไฟจอด ๗ สถานี ก่อนถึงสถานีเจนีวา ดังนี้ Zurich, Aarau, Olten, Solothurn, Biel/Bienne, Neuchatel, Yverdon-les-Bains, Geneve

เราลงจากรถไฟแล้วลากกระเป๋าไปนั่งรอที่หน้าโรงแรม Cornavin สัก ๑๕ นาที รถก็มารับเวลา ๑๑.๐๕ น. นั่งนอกอาคารและมีลม รู้สึกเย็น

รถที่มารับเป็นรถเมอร์เซเดส คนขับเป็นคนฝรั่งเศสจากอ๊านซี บอกว่าอากาศตอนนี้หนาวกว่าปกติ อุณหภูมิ ๑๒ องศา แทนที่จะเป็น ๒๐ หรือ ๒๒ อย่างปีก่อนๆ ใช้เวลา ๔๕ นาทีก็ถึง Les Pensieres เมื่อเวลาเกือบเที่ยง ที่ทีม PMAC Coordinators ประชุมกันเกือบเสร็จ เราได้รับเชิญให้กินอาหารเที่ยงเลย

การเดินทางขาไปนับว่าราบรื่นมาก

วิจารณ์ พานิช

๒๙ พ.ค. ๕๗

บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย 

แก้ไขล่าสุด ใน วันอาทิตย์ที่ 29 มิถุนายน 2014 เวลา 21:45 น.
 

ธรรมดาของชีวิต

พิมพ์ PDF

เกิดแล้วเติบใหญ่ไปจนแก่

ผันแปรเปลี่ยนไปไม่หยุดหย่อน

สุขเสพเจ็บร้าวผ่านหนาวร้อน

เกิดก่อนตายก่อนไปตามกัน


หลักธรรมคำกลอนพระสอนสั่ง

ชีวิตมีหวังเพื่อสร้างสรรค์

ทำบุญกุศลผลอนันต์

คุณค่าสำคัญเป็นมั่นคง


เข้าใจความจริงสิ่งไม่เที่ยง

หลีกเลี่ยงอย่าให้ดวงใจหลง

ชีวิตนิดน้อยค่อยค่อยลง

เดินตรงปลงจิตอนิจจัง


เหมือนการก้าวย่างบนทางผ่าน

วันหวานวารวัยในความหวัง

เคยมีเคยได้แล้วพ่ายพัง

สุขทุกข์หลายครั้งในวังวน


ให้ทานภาวนารักษาศีล

ป่ายปีนทำไปหลายหลายหน

มีทุกข์อย่าท้อขอให้ทน

ทำจนซึ่งใจอยู่ในบุญ


ไว้เป็นเสบียงเลี้ยงดวงจิต

ชีวิตมีธรรมคอยนำหนุน

จะอยู่หรือไปได้เป็นทุน

เจือจุนคนทำคอยนำทาง

บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย 

แก้ไขล่าสุด ใน วันอาทิตย์ที่ 29 มิถุนายน 2014 เวลา 21:50 น.
 

ชีวิตที่พอเพียง : ๒๑๘๗. ควงสาวเที่ยวฝรั่งเศส ๑. เตรียมตัว

พิมพ์ PDF

ผมต้องไปประชุม IOC (International Organizing Committee) ของ PMAC 2015 ในวันที่ ๒๙ พฤษภาคม ๒๕๕๗ มี่เมือง อ๊านซี (Annecy) ในฝรั่งเศส เนื่องจากรู้ล่วงหน้านาน จึงชวนสาวน้อยไปเที่ยวด้วย และเนื่องจากไปฝรั่งเศสอยู่แล้ว เธอจึงเลือกไปเที่ยวเมืองทางใต้ของประเทศฝรั่งเศส ได้แก่ อ๊านซี ลียง อาวียง _ _ แถมด้วยเที่ยวสวิสแถวๆ ซูริค เพราะเราเดินทางโดยสายการบินไทย ไป-กลับกรุงเทพ-ซูริค

การเตรียมตัวมี ๔ อย่างใหญ่ๆ คือ (๑) การเดินทาง (๒) ที่พัก (๓) ฟิตร่างกาย และ (๔) เลือกที่เที่ยว เราเดินทางโดย การบินไทยชั้นธุรกิจ โดยสาวน้อยใช้ตั๋วฟรีจากไมล์สะสมของผม การเดินทางในยุโรป ทางบริษัท ดีทแฮล์ม แนะนำให้ใช้ตั๋วรถไฟ ยูเรลพาส ที่เมื่อสาวน้อยศึกษารายละเอียดแล้วก็บ่นว่า เป็นคำแนะนำที่ผิด เขาว่า สวิสพาส ดีกว่าในแง่ค่าใช้จ่าย เงื่อนไขของยูเรลพาสคือต้องซื้อตั๋วชั้นหนึ่ง ซึ่งผมว่าก็ดีเหมือนกัน เราจะได้ลองนั่งรถไฟชั้นหนึ่งบ้าง

เราจองที่พักโดยใช้บริการของ Booking.com อีก ทั้งๆ ที่ผมเคยบ่นว่าจะไม่ใช้แล้ว และเมื่อใช้ก็พบว่า เขาปรับปรุงบริการให้สะดวกขึ้นเรื่อยๆ ถ้าเราใช้เป็น ก็นับว่าให้ความสะดวกมาก แต่ความซุ่มซ่าม หรือยุ่งๆ เบลอๆ ของผม ก็ทำให้เลือกโรงแรมไม่ค่อยเหมาะบ้าง ถือว่าผิดเป็นครู ทำให้ได้ประสบการณ์

เพราะปีที่แล้วสาวน้อยไปขาเดี้ยง ตามที่เล่าไว้ ที่นี่ ปีนี้จึงเตรียมพร้อมด้านความฟิตของร่างกายเต็มที่ แต่ก็ต้องเลือกจองโรงแรมที่อยู่ใกล้สถานีรถไฟ และต้องเตรียมหาข้อมูลว่า เมื่อออกจากสถานีรถไฟแล้ว จะเดินลากกระเป๋าไปหาโรงแรมได้อย่างไร พบว่า Booking.com เขามีที่บอกข้อมูลการเดินทาง และข้อความ “แสดงเส้นทาง” ให้เราคลิก เข้าไปเลือกว่าจะให้เขาแสดงเส้นทางจากไหนไปไหน เดินทางด้วยอะไร แล้วจะมีทั้ง แผนที่และคำอธิบาย บอกระยะทางและเวลาที่ใช้ในการเดินทางให้เสร็จ สะดวกมาก เสียแต่ว่า เมื่อ save ลงคอมพิวเตอร์ ส่วนเส้นทางในแผนที่มันหายไป ต้องใช้วิธีพริ้นท์ จึงได้มาทั้งคำอธิบายและแผนที่ ผมค้นพบวิธีค้น และนำไปบอกสาวน้อย ปรากฎว่าเธอพริ้นท์ไว้เรียบร้อยก่อนแล้ว

เรื่องเส้นทางนี้ เราสามารถใช้แผนที่ใน iPad Map ค้นหาได้ สะดวกขึ้นมาก

เราเตรียมตัวเดินทางแบบตัวเบา คือใช้กระเป๋าใบเล็ก (ขนาดเอาขึ้นเครื่องได้ แต่เราเช็คอินเข้าใต้ท้อง เครื่องบิน) เพื่อสะดวกในการเดินทางตอนขึ้นลงรถไฟ เอาเสื้อผ้าและของใช้ไปน้อยชิ้น เท่าที่จำเป็น ผมเอากางเกงไปสองตัวเท่านั้น คือนุ่งไปตัวหนึ่ง ใส่กระเป๋าเสื้อผ้าไปตัวหนึ่ง กะไปซักเสื้อผ้าที่โรงแรม เพราะที่ยุโรปอากาศแห้ง ซักผ้าแล้วแห้งง่าย และผมศึกษาวิธีทำให้เสื้อผ้าแห้งได้ง่ายโดยไม่บิดไว้ด้วย คือแขวนไม้แขวนไว้ ๑๕ นาทีให้น้ำหยดสะเด็ด แล้วใช้ผ้าขนหนูปูเอากางเกงหรือเสื้อวางราบเอาผ้าขนหนู อีกผืนวางทับ เพื่อซับน้ำจากผ้าที่ซัก แล้วจึงแขวนให้แห้ง กรณีผ้าแห้งยากอาจใช้ที่เป่าผมช่วย

คู่มือเลือกที่เที่ยว จัดการโดยสาวน้อย ใช้หนังสือ ใครๆ ก็ไปเที่ยวฝรั่งเศสโดยอดิศักดิ์ จันทร์ดวง

วิจารณ์ พานิช

๒๗ พ.ค. ๕๗

บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย 

แก้ไขล่าสุด ใน วันอาทิตย์ที่ 29 มิถุนายน 2014 เวลา 21:54 น.
 


หน้า 344 จาก 561
Home

About Us

ศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ (ศบม.) เป็นองค์กรที่พัฒนาและจัดทำโครงการเพื่อทำประโยชน์ให้สังคม เป็นองค์กรสนับสนุนการดำเนินงานของภาครัฐ ช่วยแก้ปัญหาผู้ประกอบการภาคธุรกิจบริการที่ขาดแคลนบุคลากรที่มีมาตรฐานในการให้บริการ
อ่านเพิ่มเติม

มูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ ์

 iHDC Profile
บัญชีรายชื่อกรรมการ
ใบสำคัญแสดงการจดทะเบียน การเปลี่ยนแปลงกรรมการของมูลนิธิ
เอกสารประชาสัมพันธ์ โครงการ HMTC.pdf
เอกสารแนะนำโครงการ HMTC 1.pdf
เอกสารโครงการ HMTC 2 คุณสมบัติผู้เข้าร่วมโครงการ.pdf
iHDC นิติบุคคล.pdf
iHDC บุคคล.pdf
iHDC บุคคลเครือข่าย.pdf
รายงานการประชุม 6 มีนาคม 2560.pdf
ข้อบังคับมูลนิธิ
ใบสำคัญแสดงการจดทะเบียนจัดตั้งมูลนิธิ
Ihdc-Profile and Roadmap 2016-2019 Mar 23 2560.pdf
รายงานการประชุมใหญ่คณะกรรมการมูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ 2559.pdf
คำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ สาขาวิชาชีพ.pdf
รายงานการประชุมใหญ่วันที่ 18 ธ ค 2558 v 3.pdf
รายงานการประชุม วันที่ 24 ธันวาคม 2557 updated 4 มีนาคม 2558.pdf
iHDC-invitation Letter.doc
iHDC-Member Form Thai.doc
iHDC-Member Form English.doc
รายงานการประชุมกรรมการมูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ วันที่ 15 มกราคม 2556 ฉบับสมบูรณ์


thaibetter
พัฒนาประเทศไทยแบบทวีคูณ และยั่งยืน ( ททค )

Login


แบบสำรวจ

สถิติเว็บไซด์

สมาชิก : 5644
Content : 3068
เว็บลิงก์ : 26
จำนวนครั้งเปิดดูบทความ : 8746512

facebook

Twitter


ล่าสุด

บทความเก่า