Thaiihdc.org

  • เพิ่มขนาดตัวอักษร
  • ขนาดตัวอักษรปกติ
  • สดขนาดตัวอักษร
Thaiihdc.org

ชีวิตที่พอเพียง : ๒๑๘๕. พลังของความไม่สนใจ

พิมพ์ PDF
ในโลกยุคข้อมูลข่าวสารระเบิด คนเราถูกกระตุ้นจากภายนอกอยู่ตลอดเวลา หากเราไม่มี “ภูมิคุ้มกันภายใน” เพื่อปกป้องตัวเองจากสิ่งเร้าที่ไร้ความหมายต่อเรา เราก็จะตกเป็นทาสของสิ่งรอบตัว ไม่เป็นตัวของตัวเอง ไม่มีพลังแห่งสมาธิ ผมตีความว่า ภูมิคุ้มกันภายในนี้คือ cognitive control เป็นวัคซีนที่เราต้องฉีดให้แก่ตัวเอง ผ่านการฝึก ไม่มีวัคซีนจากภายนอกมาช่วยเราได้

บทความโดย Daniel Goleman เรื่อง Mind games that matter : Training to stay focused ลงพิมพ์ใน นสพ. International New York Times ฉบับวันที่ ๑๔ พฤษภาคม ๒๕๕๗ ชี้ให้เห็นว่าคนสมัยนี้ต้องมี “ความไม่สนใจ” ต่อสิ่งรบกวนสมาธิทั้งหลาย ที่เรียกว่า distractions

คนที่อดทนต่อสิ่งเร้ารอบตัวไม่เป็นเรียกว่าคนสมาธิสั้น ถ้าเป็นเด็กเรียกว่าเป็นโรค ADHD (Attention Deficit and Hyperactive Disorder) ถ้าเป็นผู้ใหญ่เรียกว่าเป็นโรค ADD (Attention Deficit Disorder) แต่สาวน้อยวินิจฉัยว่า ผมเป็นโรค “คนแก่ไฮเปอร์” (EHD – Elderly Hyperactivity Disorder - ผมตั้งชื่อเอง) โดยเป็นคนมีสมาธิจดจ่อกับสิ่งที่ตนสนใจเท่านั้น ไม่สนใจสิ่งอื่น

กลับมาที่บทความ ซึ่งอ้างผลงานวิจัยของ Susan Smalley แห่ง UCLA ซึ่งในปี ค.ศ. ๒๐๐๗ ไปศึกษา เด็กวัยรุ่นที่ฟินแลนด์ พบว่ามีอัตราเป็น ADHD พอๆ กันกับในสหรัฐอเมริกา ความต่างอยู่ที่วัยรุ่นเหล่านี้ ในอเมริกาได้รับยา แต่เกือบทั้งหมดของวัยรุ่นที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคนี้ในฟินแลนด์ เกือบทั้งหมด ไม่ได้รับยารักษา

เขาอ้างผลการวิจัยของ James Swanson แห่ง UC Irvine ว่ายารักษา ADHD ให้ผลดีในปีแรกเท่านั้น หลังจากนั้นจะไม่ได้ผล

คนที่มีปัญหาเหล่านี้ขาดสิ่งที่เรียกว่า cognitive control ซึ่งหมายถึงความสามารถจดจ่อความสนใจอยู่ ที่เรื่องใดเรื่องหนึ่ง โดยไม่เอาใจใส่สิ่งที่เข้ามารบกวนหรือดึงดูดความสนใจไปทางอื่น คนที่มี cognitive control เข้มแข็ง จะไม่พ่ายแห้ต่อสิ่งเร้าที่เย้ายวน (impulse)

คนที่มีพฤติกรรมตามสิ่งเร้า เรียกว่ามี impulsive behavior เป็นคนที่ควบคุมตัวเองไม่ได้ หรือควบคุม ไม่ได้ดี จะมีปัญหาในการทำงาน และมีปัญหาในชีวิต เพราะมักตัดสินใจผิดพลาด ขาดความรอบคอบ ซึ่งเกิดจากขาด cognitive control

จะเห็นว่า คนที่มีความสามารถพุ่งความสนใจไปที่เรื่องใดเรื่องหนึ่ง และสนใจเรื่องนั้นเป็นเวลานาน ไม่วอกแวกไปกับสิ่งกระตุ้นทั้งหลาย เป็นคนที่มี cognitive control สูง นี่คือที่มาของชื่อบันทึกนี้ - พลังของความไม่สนใจ

บทความบอกว่า มีวิธีพัฒนา cognitive control อย่างได้ผลดี คือการฝึกสมาธิ (mindfulness) กับ cognitive therapy เขาบอกว่า cognitive therapy จะช่วยลดความรู้สึกผิดจากการตัดสินใจที่ผิดพลาด

บทความบอกว่า นิยามของ cognitive control มีได้หลากหลาย แล้วแต่ว่าใครเป็นคนนิยาม เขาบอกว่า หมายรวมถึง ความสามารถอดเปรี้ยวไว้กินหวาน หรือรอได้ (delayed gratification), การจัดการความพลุ่งพล่าน (impulse management), การควบคุมอารมณ์ของตนเอง (emotional self-regulation or self-control), การบังคับ ไม่ให้คิดนอกเรื่อง (the suppression of irrelevant thoughts), และการพุ่งความสนใจ หรือความพร้อมที่จะเรียน (the allocation of attention or learning readiness)

ทั้งหมดนี้ ทำให้ผมคิดว่า เป็นเรื่องเดียวกันกับ EF

บทความอ้าง Betty J. Casey แห่ง Well Cornell Medical College ว่า cognitive control เพิ่มระหว่างอายุ ๔ - ๑๒แล้วหลังจากนั้นจะมีระดับคงที่ ซึ่งผมไม่เชื่อ ผมเชื่อว่าคนเราสามารถฝึก cognitive control ให้มีพลัง เพิ่มขึ้นได้ตลอดชีวิต

ในโลกยุคข้อมูลข่าวสารระเบิด คนเราถูกกระตุ้นจากภายนอกอยู่ตลอดเวลา หากเราไม่มี “ภูมิคุ้มกันภายใน” เพื่อปกป้องตัวเองจากสิ่งเร้าที่ไร้ความหมายต่อเรา เราก็จะตกเป็นทาสของสิ่งรอบตัว ไม่เป็นตัวของตัวเอง ไม่มีพลังแห่งสมาธิ

ผมตีความว่า ภูมิคุ้มกันภายในนี้คือ cognitive control เป็นวัคซีนที่เราต้องฉีดให้แก่ตัวเอง ผ่านการฝึก ไม่มีวัคซีนจากภายนอกมาช่วยเราได้

วิจารณ์ พานิช

๑๔ พ.ค. ๕๗

บนเครื่องบิน China Airlines ไปปักกิ่ง

บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย 

แก้ไขล่าสุด ใน วันอาทิตย์ที่ 29 มิถุนายน 2014 เวลา 22:27 น.
 

หลักนิติรัฐ - หลักนิติธรรม

พิมพ์ PDF

หลักนิติธรรม The Rule Of Law และ หลักนิติรัฐ Rechtsstaat เป็นคำที่เริ่มมีการน้ำมาใช้กันอย่างแพร่หลายในสังคมไทย ตั้งแต่รัฐธรรมนูญปี 2540 เป็นต้นมา และในรัฐธรรมนูญปีพุทธศักราช 2550 เราก็ได้เห็นการนำกลับมาใช้ของคำว่า หลักนิติธรรมและหลักนิติรัฐ ได้อย่างชัดเจนมากที่สุด แต่อย่างไรก็ตาม ในสังคมไทยในขณะนี้ แม้เราจะมีการกล่าวถึงเรื่องหลักนิติธรรม และหลักนิติรัฐกันอย่างมากมาย แต่กลับไม่สามารถจับต้องได้ หรือ ขาดความรู้ความเข้าใจ ในหลักการดังกล่างอย่างแท้จริง

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับปัจจุบัน บัญญัติไว้ในมาตรา ๓ วรรคสองว่า “การปฏิบัติหน้าที่ของรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล รวมทั้งองค์กรตามรัฐธรรมนูญและหน่วยงานของรัฐ ต้องเป็นไปตามหลักนิติธรรม” นับเป็นครั้งแรกที่ได้มีการบัญญัติคำว่า “หลักนิติธรรม” ไว้ในรัฐธรรมนูญ แต่หากไปตรวจสอบประวัติการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ จะเห็นว่าในตอนแรกนั้น ผู้ยกร่าง ได้ใช้คำว่า "หลักนิติรัฐ" โดยไม่มีคำว่า "หลักนิติธรรม " ปรากฏอยู่ และก็ไม่ปรากฏเหตุผลว่าเพราะเหตุใด จึงเปลี่ยนมาใช้คำว่า "หลักนิติธรรม "

โดยปกติแล้ว เรามักจะพบว่า ทั้งสองคำถูกใช้ควบคู่ไปด้วยกันเสมอๆ โดยที่ไม่ได้แยกแยะความแตกต่างในรายละเอียด ซึ่งอันที่จริงแล้ว ก็ไม่ผิดเสียทีเดียว เพราะทั้งหลักนิติรัฐและหลักนิติธรรมต่างก็ได้รับการพัฒนาขึ้นในโลกตะวันตก โดยมีเป้าหมายที่จะจำกัดอำนาจของผู้ปกครองให้อยู่ในกรอบของกฎหมาย กล่าวอีกนัยหนึ่งทั้งหลักนิติรัฐและหลักนิติธรรมต่างก็ไม่ต้องการให้มนุษย์ถูกปกครองมนุษย์ด้วยกันเอง แต่ต้องการให้กฎหมายเป็นผู้ปกครองมนุษย์ ซึ่งหมายความว่าผู้ที่ทรงอำนาจบริหารปกครองบ้านเมืองจะกระทำการใดๆก็ตาม การกระทำนั้นจะต้องสอดคล้องกับกฎหมาย จะกระทำการให้ขัดต่อกฎหมายไม่ได้

แต่โดยรายละเอียดแล้ว ทั้งสองหลักมีความแตกต่างกันอยู่ ซึ่งสาเหตุแห่งความแตกต่างนั้นจะอยู่ที่การพัฒนาการในทางประวัติศาสตร์ ซึ่งอันที่จริงแล้ว ความแตกต่างนี้ก็ไม่เป็นที่น่าประหลาดใจแต่อย่างใด เพราะหลักการทั้งสองเกี่ยวพันกับ “กฎหมาย” ซึ่ง “กฎหมาย” นั้น เป็นผลผลิตทางวัฒนธรรมที่เชื่อมโยงกับประวัติความเป็นมาของชนแต่ละชาติ ความเข้าใจบางประการที่แตกต่างกันที่ชนชาติเยอรมันและอังกฤษมีต่อ มโนทัศน์ว่าด้วย “กฎหมาย” ตลอดจนประวัติศาสตร์การต่อสู้ทางการเมืองที่แตกต่างกันของชนชาติทั้งสองย่อมส่งผลต่อเนื้อหาของหลักนิติรัฐและหลักนิติธรรม และต่อการจัดโครงสร้าง บทบาท และความสัมพันธ์ขององค์กรของรัฐด้วย หลักนิติรัฐซึ่งได้รับการพัฒนาอย่างจริงจังในเยอรมนีในช่วงครึ่งหลังของศตวรรษที่สิบเก้านั้นได้แผ่ขยายอิทธิพลออกไปทั่วภาคพื้นทวีปยุโรป ส่วนหลักนิติธรรมซึ่งมีรากเหง้ามาจากประวัติศาสตร์การเมืองการปกครองและรัฐธรรมนูญของอังกฤษตั้งแต่สมัยที่ชาวนอร์แมนเข้ายึดครองเกาะอังกฤษนั้น ก็มีอิทธิพลไม่น้อยต่อโครงสร้างรัฐธรรมนูญของสหรัฐอเมริกาและต่อหลายประเทศที่ได้รับแนวความคิดจากสถาบันการเมืองการปกครองของอังกฤษ

หลักนิติรัฐ ( Rechtsstaat ) นั้นแก่นแท้ของหลักการนี้ คือ กฎหมายจะต้องไม่เปิดโอกาสให้ผู้ปกครองใช้อำนาจตามอำเภอใจ ภายใต้กฎหมายบุคคลทุกคนต้องเสมอภาคกัน และบุคคลจะต้องสามารถทราบก่อนล่วงหน้าว่ากฎหมายมุ่งประสงค์จะบังคับให้ตนทำอะไรหรือไม่ให้ตนทำอะไร ผลร้ายอันเกิดจากการฝ่าฝืนกฎหมายคืออะไร ทั้งนี้เพื่อที่จะบุคคลได้ปฏิบัติตนให้ถูกต้องสอดคล้องกับกฎหมาย แนวความคิดพื้นฐานดังกล่าวนี้ย่อมจะก่อให้เกิดหลักต่างๆตามมาในทางกฎหมายมากมาย เช่น หลักไม่มีความผิด ไม่มีโทษ โดยปราศจากกฎหมาย (nulla poena sine lege) เป็นต้น

แนวความคิดพื้นฐานของนิติรัฐก็คือ การจำกัดอำนาจของรัฐโดยกฎหมาย รัฐต้องผูกพันอยู่กับหลักการพื้นฐานและคุณค่าทางกฏหมายโดยไม่อาจบิดพริ้วได้ หลักนิติรัฐเรียกร้องให้รัฐดำเนินการในด้านต่างๆเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแท้จริงในสังคม ซึ่งการที่จะบรรลุวัตถุประสงค์ก็ต้องมีการสร้างระบบการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของบุคคลที่มีประสิทธิภาพและมีการยอมรับให้มีองค์กรตุลาการ (ศาลรัฐธรรมนูญ) ขึ้นมาโดยเฉพาะเพื่อให้องค์กรดังกล่าวช่วยปกป้องคุณค่าในรัฐธรรมนูญ

ปัจจุบันเป็นที่ยอมรับกันทั่วไปในระบบกฎหมายเยอรมันว่า หลักนิติรัฐมีองค์ประกอบสำคัญสองส่วน คือ

1)      องค์ประกอบในทางรูปแบบ ความเป็นนิติรัฐในทางรูปแบบ คือ การที่รัฐผูกพันตนเองไว้กับกฎหมายที่องค์กรของรัฐตราขึ้นตามกระบวนการที่รัฐธรรมนูญกำหนดขึ้นหรือที่รัฐธรรมนูญมอบอำนาจไว้ ทั้งนี้เพื่อจำกัดอำนาจของรัฐลง เมื่อพิจารณาในทางรูปแบบแล้ว ย่อมจะเห็นได้ว่าหลักนิติรัฐมุ่งประกันความมั่นคงแน่นอนแห่งนิติฐานะของบุคคล

2)      องค์ประกอบในทางเนื้อหา ความเป็นนิติรัฐในทางรูปแบบ คือ ส่วนความเป็นนิติรัฐในทางเนื้อหานั้น ก็คือ การที่รัฐประกันสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของราษฎร โดยกำหนดให้บทบัญญัติว่าด้วยสิทธิเสรีภาพมีค่าบังคับในระดับรัฐธรรมนูญ เรียกร้องให้รัฐต้องกระทำการโดยยุติธรรมและถูกต้อง พิจารณาในทางเนื้อหา นิติรัฐ ย่อมต้องเป็นยุติธรรมรัฐ (Gerechtigkeitsstaat)

ในทางปฏิบัติเป็นไปได้เสมอที่หลักความมั่นคงแน่นอนแห่งนิติฐานะกับหลักความยุติธรรมอาจจะขัดแย้งกัน เป็นหน้าที่ขององค์กรนิติบัญญัติที่จะพยายามประสานสองหลักการนี้เข้าด้วยกัน และในบางกรณีจะต้องตัดสินใจว่าจะใช้หลักการใดเป็นหลักการนำ บ่อยครั้งที่องค์กรนิติบัญญัติตัดสินใจเลือกหลักความมั่นคงแน่นอนแห่งนิติฐานะเพื่อประกันความมั่นคงในระบบกฎหมาย เช่น การกำหนดบทบัญญัติเกี่ยวกับอายุความไว้ในระบบกฎหมายเป็นต้น

หลักนิติธรรม (The Rule of Law) เป็นหลักการพื้นฐานในระบบกฎหมายอังกฤษ โดยมีความคิดที่ว่ามนุษย์ไม่ครต้องถูกปกครองโดยมนุษย์ด้วยกันเอง แต่จะต้องถูกปกครองโดยกฎหมาย      นักกฎหมายรัฐธรรมนูญของอังกฤษที่มีบทบาทมากที่สุดคนหนึ่งในการช่วยพัฒนาหลักนิติธรรม ก็คือ A.V. Dicey ตำราของเขาที่ชื่อว่า Introduction to the Study of the Law of the Constitution ในปัจจุบันกลายเป็นตำรามาตรฐานและเป็นตำราที่นักกฎหมายรัฐธรรมนูญอังกฤษส่วนใหญ่ต้องอ้างอิงเมื่อจะต้องอธิบายความหมายของหลักนิติธรรม Dicey อธิบายไว้ว่าหลักนิติธรรมจะต้องสัมพันธ์ใกล้ชิดกับความมีอำนาจสูงสุดของรัฐสภาและหลักนิติธรรมนั้นย่อมมีเนื้อหาสาระที่สำคัญ คือ บุคคลทุกคนย่อมเสมอภาคกันต่อหน้ากฎหมาย บุคคลไม่ว่าจะในชนชั้นใดย่อมต้องตกอยู่ภายใต้กฎหมายปกติธรรมดาของแผ่นดิน (the ordinary law of the land) ซึ่งบรรดาศาลธรรมดาทั้งหลาย (ordinary courts) จะเป็นผู้รักษาไว้ซึ่งกฎหมายดังกล่าว หลักนิติธรรมในความหมายนี้ย่อมปฏิเสธความคิดทั้งหลายทั้งปวงที่จะยกเว้นมิให้บรรดาเจ้าหน้าที่ทั้งหลายต้องเคารพต่อกฎหมาย บุคคลทั้งหลายย่อมไม่ต้องถูกลงโทษ หากไม่ได้กระทำการอันผิดกฎหมาย และไม่มีผู้ใดทั้งสิ้นแม้แต่กษัตริย์ที่จะอยู่เหนือกฎหมายได้ เราจะเห็นได้ว่าหลักนิติธรรมตามแนวความคิดของ Dicey นี้มุ่งเน้นไปที่ความผูกพันต่อกฎหมายของฝ่ายบริหาร ไม่ได้เรียกร้องฝ่ายนิติบัญญัติให้ต้องผูกพันต่อกฎเกณฑ์อื่นใดในการตรากฎหมาย

ดังนั้นประเทศที่ยึดตามหลักนิติธรรม จึงปฏิเสธการจัดตั้งศาลปกครองขึ้นมาเป็นอีกระบบศาลหนึ่งเคียงคู่ขนานกันไปกับศาลยุติธรรมหรือศาลธรรมดา โดย Dicey เห็นว่าหากจัดให้มีศาลปกครองหรือองค์กรอื่นซึ่งไม่ใช่ศาลยุติธรรมหรือศาลธรรมดาทำหน้าที่ตัดสินคดีปกครอง (ดังที่ปรากฏอยู่ในประเทศฝรั่งเศสในเวลานั้น) แล้ว บรรดาข้าราชการต่างๆที่ถูกฟ้องในศาลปกครองว่ากระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายย่อมอยู่ในฐานะที่ได้เปรียบกว่าราษฎรทั่วไป ซึ่ง Dicey เห็นว่าไม่ถูกต้อง แนวความคิดนี้ได้รับการยึดถือและเดินตามในบรรดาประเทศที่ได้รับอิทธิพลจากระบบกฎหมายอังกฤษจนถึงปัจจุบันนี้

โดยเหตุที่ในระบบกฎหมายอังกฤษ รัฐสภาเป็นผู้ทรงอำนาจสูงสุด ผลที่เกิดขึ้นตามมาก็คือ ศาลของอังกฤษไม่อำนาจที่จะตรวจสอบว่ากฎหมายที่รัฐสภาตราขึ้นชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือชอบด้วยกฎหมายใดๆ หรือไม่ กล่าวในทางทฤษฎีแล้ว รัฐสภาอังกฤษสามารถตรากฎหมายให้มีเนื้อหาสาระอย่างไรก็ได้ทั้งสิ้น สิทธิมนุษยชนหรือสิทธิพลเมืองไม่ได้มีฐานะเป็นกฎหมายที่สูงกว่ากฎหมายอื่นใดที่จะผูกพันรัฐสภาอังกฤษได้ ระบบการประกันสิทธิเสรีภาพของบุคคลในอังกฤษจึงแตกต่างจากหลายประเทศ โดยเฉพาะประเทศในภาคพื้นยุโรปที่ถือว่าสิทธิขั้นพื้นฐานของบุคคลนั้นมีค่าบังคับในระดับรัฐธรรมนูญ และย่อมผูกพันรัฐสภาในการตรากฎหมายด้วย อย่างไรก็ตาม ไม่พึงเข้าใจว่าระบบกฎหมายอังกฤษไม่คุ้มครองสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคล ในทางปฏิบัติสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคลย่อมได้รับความคุ้มครองโดยกฎหมายของรัฐสภาและโดย Common Law ที่พัฒนามาโดยศาลในมาตรฐานที่ไม่ต่ำกว่าประเทศอื่นๆในภาคพื้นยุโรปเลย

ผลของหลักนิติรัฐและหลักนิติธรรมและความแตกต่างระหว่างหลักการทั้งสอง

หากเราพิจารณาดีๆจะพบว่าหลักนิติรัฐและหลักนิติธรรมมีความแตกต่างกันอยู่ ทั้งในแง่ของบ่อเกิดของกฎหมาย วิธีการคุ้มครองสิทธิขั้นพื้นฐาน การกำหนดให้มีหรือไม่มีศาลปกครองและระบบวิธีพิจารณาคดี ตลอดจนการแบ่งแยกอำนาจ ดังจะชี้ให้เห็นได้ในเบื้องต้น ดังนี้

ความแตกต่างในแง่บ่อเกิดของกฎหมาย

 

ในระบบกฎหมายอังกฤษ ผู้พิพากษาซึ่งแต่เดิมเป็นผู้แทนของกษัตริย์นั้นได้เริ่มพัฒนา Common Law มาตั้งแต่ราวศตวรรษที่ ๑๒ ทั้งนี้เพื่อให้อำนาจของกษัตริย์ที่ส่วนกลางมั่นคงเข้มแข็ง กฎหมายที่ศาลใช้ในการตัดสินคดีนั้นมีลักษณะทั่วไป กล่าวคือ เป็นกฎเกณฑ์ที่มีเนื้อหาสอดคล้องกับจารีตประเพณีที่ปฏิบัติกันโดยทั่วไปในราชอาณาจักร  กฎหมายดังกล่าวได้รับการ “สร้าง” ขึ้นโดยผู้พิพากษา เมื่อศาลได้ตัดสินคดีใดคดีหนึ่งไปแล้ว หลักกฎหมายที่ศาลได้สร้างขึ้นเพื่อใช้ตัดสินคดีก็ตกทอดต่อมาเป็นลำดับ และกลายเป็นส่วนหนึ่งของกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่จริงในบ้านเมืองด้วย “กฎหมาย” ในระบบกฎหมายอังกฤษ จึงไม่ได้หมายถึงเฉพาะแต่กฎหมายที่ได้รับการตราขึ้นโดยรัฐสภาที่เรียกว่า “Statute Law” เท่านั้น แต่ยังหมายถึงหลักการและแนวทางการตัดสินของผู้พิพากษาอีกด้วย  การที่ระบบกฎหมายอังกฤษยอมรับให้ผู้พิพากษาสามารถ “สร้าง” กฎหมายขึ้นมาได้เองนี้ ส่งผลให้ระบบกฎหมายของอังกฤษมีลักษณะที่ยืดหยุ่น และสามารถพัฒนาให้สอดคล้องกับสภาพของสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา อย่างไรก็ตาม ไม่ได้หมายความว่าในระบบกฎหมายอังกฤษ ศาลจะเปลี่ยนแปลงแนวการตัดสินอย่างไรก็ได้ตามอำเภอใจ เพราะหลัก “satre decisis” คือ หลักที่ว่าศาลในคดีหลังต้องผูกพันตามหลักกฎหมายที่ศาลในคดีก่อนได้ตัดสินไว้แล้ว ยังเป็นหลักที่สำคัญ การเปลี่ยนแปลงแนวคำพิพากษาจึงไม่ใช่จะกระทำได้โดยง่าย

ระบบกฎหมายในภาคพื้นยุโรปกลับมีธรรมเนียมปฏิบัติที่แตกต่างออกไป เพราะในภาคพื้นยุโรปกฎหมายเกิดขึ้นจากการตราโดยกระบวนการนิติบัญญัติ ผู้พิพากษาในฐานะที่เป็นผู้ที่รับใช้รัฐมีหน้าที่ในการปรับใช้กฎหมาย การตัดสินคดีของผู้พิพากษาในแต่ละคดีไม่มีผลเป็นการสร้างกฎหมายขึ้นมาใหม่ แนวทางการตัดสินคดีของศาลในภาคพื้นยุโรปจึงไม่ถือว่าเป็นบ่อเกิดของกฎหมาย

เมื่อเปรียบเทียบกับระบบกฎหมาย Common Law ของอังกฤษ ระบบกฎหมาย Civil Law ของภาคพื้นยุโรปมีลักษณะเป็นระบบกฎหมายที่ “ปิด” กว่า ข้อดีของระบบนี้ก็คือ ความมั่นคงแน่นอนแห่งนิติฐานะจะมีสูงกว่า แต่ก็อาจจะมีข้ออ่อนตรงการปรับตัวให้เข้ากับสภาพของสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป อย่างไรก็ตาม การประมวลถ้อยคำขึ้นตัวบทกฎหมายในระบบกฎหมาย Civil Law นั้น ถ้อยคำจำนวนหนึ่งเป็นถ้อยคำเชิงหลักการ หรือถ้อยคำที่มีความหมายไม่เฉพาะเจาะจง ศาลในระบบกฎหมาย Civil Law จึงมีความสามารถในการตีความตัวบทกฎหมายให้สอดรับกับความยุติธรรมและสภาพของสังคมได้เช่นกันภายใต้กรอบของนิติวิธี

 

ความแตกต่างในแง่ของการคุ้มครองสิทธิขั้นพื้นฐาน

โดยเหตุที่ระบบกฎหมาย Common Law ในอังกฤษไม่มีรัฐธรรมนูญที่เป็นลายลักษณ์อักษร การประกันสิทธิขั้นพื้นฐานของบุคคลในอังกฤษ จึงไม่ได้เป็นการประกันในระดับรัฐธรรมนูญ สิทธิขั้นพื้นฐานของบุคคลในอังกฤษไม่ได้มีฐานะเป็นกฎหมายที่มีผลใช้บังคับโดยตรงและอยู่ในลำดับชั้นที่สูงกว่ากฎหมายธรรมดาที่ตราขึ้นโดยรัฐสภา อย่างไรก็ตามในทางปฏิบัติบุคคลย่อมได้รับการประกันสิทธิขั้นพื้นฐานโดยองค์กรตุลาการ แตกต่างกับในภาคพื้นยุโรป โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระบบกฎหมายเยอรมัน การคุ้มครองสิทธิขั้นพื้นฐานของบุคคลเป็นการคุ้มครองในระดับรัฐธรรมนูญ กล่าวคือ สิทธิขั้นพื้นฐานของบุคคลที่ได้รับการบัญญัติไว้ใน “กฎหมายพื้นฐาน” ซึ่งถือว่าเป็นรัฐธรรมนูญของประเทศเยอรมนีนั้น ผูกพันทั้งองค์กรนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการในฐานะที่เป็นกฎหมายที่มีผลใช้บังคับได้โดยตรง ซึ่งหมายความว่าในการตรากฎหมายขึ้นใช้บังคับ องค์กรนิติบัญญัติมีหน้าที่ในทางรัฐธรรมนูญที่จะต้องไม่ตรากฎหมายให้ขัดหรือแย้งต่อบทบัญญัติว่าด้วยสิทธิขั้นพื้นฐาน มิฉะนั้นย่อมต้องถือว่ากฎหมายดังกล่าวขัดต่อรัฐธรรมนูญ

ความแตกต่างในแง่ของการควบคุมตรวจสอบการตรากฎหมาย

ตามหลักนิติรัฐ องค์กรนิติบัญญัติย่อมต้องผูกพันต่อรัฐธรรมนูญในการตรากฎหมายขึ้นใช้บังคับ เพื่อให้หลักความผูกพันต่อรัฐธรรมนูญขององค์กรนิติบัญญัติมีผลในทางปฏิบัติ ประเทศหลายประเทศที่ยอมรับหลักนิติรัฐจึงกำหนดให้มีองค์กรที่ควบคุมตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหมายที่องค์กรนิติบัญญัติตราขึ้น ตามหลักนิติรัฐ การตรากฎหมายขององค์กรนิติบัญญัติย่อมตกอยู่ภายใต้การควบคุมตรวจสอบขององค์กรตุลาการ อย่างไรก็ตามการควบคุมตรวจสอบการตรากฎหมายขององค์กรนิติบัญญัตินั้น องค์กรตุลาการซึ่งทำหน้าที่ดังกล่าวนี้ คือ ศาลรัฐธรรมนูญก็ต้องผูกพันตนต่อรัฐธรรมนูญด้วย ศาลรัฐธรรมนูญจึงควบคุมตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหมายที่ตราขึ้นโดยองค์กรนิติบัญญัติโดยเกณฑ์ในทางกฎหมาย ไม่อาจนำเจตจำนงของตนเข้าแทนที่เจตจำนงขององค์กรนิติบัญญัติได้


หลักนิติธรรมนั้น ถือว่ารัฐสภาเป็นรัฐาธิปัตย์ ในทางทฤษฎีรัฐสภาสามารถตรากฎหมายอย่างไรก็ได้ทั้งสิ้น ไม่อาจมีกรณีที่รัฐสภาตรากฎหมายขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญได้ แม้หากว่าจะมีผู้ใดอ้างว่ารัฐสภาตรากฎหมายขัดกับรัฐธรรมนูญจารีตประเพณี การอ้างเช่นนั้นก็หามีผลทำให้กฎหมายที่ตราขึ้นโดยรัฐสภานั้นสิ้นผลลงไม่ ศาลในอังกฤษไม่มีอำนาจที่จะตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญจารีตประเพณีของกฎหมายที่ตราขึ้นโดยรัฐสภา และด้วยเหตุนี้อังกฤษจึงไม่มีศาลรัฐธรรมนูญ การควบคุมการตรากฎหมายของรัฐสภาอังกฤษจึงเป็นการควบคุมกันทางการเมือง ไม่ใช่ทางกฎหมาย

เราอาจกล่าวได้ว่าหลักนิติรัฐที่พัฒนามาในเยอรมนีสัมพันธ์กับหลักความเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญ และการคุ้มครองความเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญโดยองค์กรตุลาการ ในขณะที่หลักนิติธรรมที่พัฒนามาในอังกฤษสัมพันธ์กับหลักความมีอำนาจสูงสุดของรัฐสภา

ความแตกต่างในแง่ของการมีศาลปกครองและระบบวิธีพิจารณาคดี

ระบบกฎหมายอังกฤษไม่มีการแบ่งแยกกฎหมายเอกชนกับกฎหมายมหาชนออกจากกัน ด้วยเหตุนี้อังกฤษจึงไม่มีการจัดตั้งศาลปกครองขึ้นมาเป็นอีกระบบศาลหนึ่งโดยเฉพาะคู่ขนานไปกับศาลยุติธรรมดังที่ปรากฏในภาคพื้นยุโรป ในการฟ้องร้องขอให้ตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายของการกระทำของฝ่ายปกครองนั้น ราษฎรอังกฤษอาจฟ้องได้ในศาลยุติธรรมหรือศาลธรรมดา โดยหลักนิติธรรมถือว่าทั้งราษฎรและองค์กรเจ้าหน้าที่ของรัฐต่างต้องตกอยู่ภายใต้กฎหมายเดียวกันและภายใต้ศาลเดียวกัน

แต่ระบบกฎหมายเยอรมันซึ่งแยกกฎหมายมหาชนกับกฎหมายเอกชนออกจากกันนั้น ไม่ได้ยึดถือหลักการทำนองเดียวกับหลักนิติธรรมในอังกฤษ ในขณะที่หลักนิติธรรมที่พัฒนามาในระบบกฎหมายอังกฤษปฏิเสธการจัดตั้งศาล “เฉพาะ” เพื่อพิจารณาพิพากษาคดี เพราะเกรงว่าจะก่อให้เกิดความไม่เสมอภาคหรือไม่เท่าเทียมกันนั้น หลักนิติรัฐที่พัฒนามาในระบบกฎหมายเยอรมันไม่มีข้อกังวลต่อปัญหาดังกล่าว อย่างไรก็ตามแนวคิดที่แตกต่างกันในเรื่องนี้ระหว่างระบบกฎหมายอังกฤษกับระบบกฎหมายเยอรมันส่งผลต่อการออกแบบระบบวิธีพิจารณาคดีตลอดจนการนำพยานหลักฐานเข้าสืบในชั้นศาลด้วย กล่าวคือ ในระบบกฎหมายอังกฤษ ศาลอังกฤษจะทำหน้าที่เป็นคนกลางอย่างเคร่งครัด ศาลจะรับฟังพยานหลักฐานของคู่ความในคดีไม่ว่าคดีนั้นจะเป็นคดีแพ่งหรือคดีปกครอง จะควบคุมกระบวนพิจารณาให้คู่ความทั้งสองฝ่ายต่อสู้กันอย่างเป็นธรรม แล้วตัดสินคดี บทบาทของผู้พิพากษาในอังกฤษจึงเป็นเสมือนผู้ที่แก้ไขปัญหาความขัดแย้งโดยทำให้ผลของคดีมีลักษณะเป็นการชดเชยให้ความเป็นธรรม

ในระบบกฎหมายเยอรมัน ในคดีทางกฎหมายมหาชน ศาลเยอรมันมีอำนาจในการค้นหาความจริงในคดีโดยไม่จำเป็นต้องผูกพันอยู่กับพยานหลักฐานที่คู่ความได้ยื่นมาเท่านั้น ผู้พิพากษาเยอรมันจึงเปรียบเสมือนเป็นแขนของกฎหมายที่ยื่นออกไป มีลักษณะเป็นผู้แทนของรัฐที่ถือดาบและตราชูไว้ในมือ วินิจฉัยคดีไปตามกฎหมายและความยุติธรรม และบังคับใช้กฎหมายให้บรรลุผล

ความแตกต่างในแนวความคิดเรื่องการแบ่งแยกอำนาจ

หลักนิติรัฐถือว่าหลักการแบ่งแยกอำนาจเป็นหลักการที่เป็นองค์ประกอบสำคัญอันจะขาดเสียมิได้ ในขณะที่เมื่อพิเคราะห์คำอธิบายว่าด้วยหลักนิติธรรมแล้วจะเห็นได้ว่าไม่ปรากฏเรื่องการแบ่งแยกอำนาจในหลักนิติธรรม แต่ทั้งหลักนิติรัฐและหลักนิติธรรมต่างมีองค์ประกอบประการหนึ่งตรงกัน คือ การยอมรับความเป็นอิสระขององค์กรตุลาการ

บทส่งท้าย


ถึงแม้ว่าหลักนิติรัฐกับหลักนิติธรรมจะมีความแตกต่างกันอยู่ แต่หลักการทั้งสองต่างก็เป็นหลักการที่มุ่งจะสร้างความยุติธรรมและสันติสุขให้เกิดขึ้นในระบบกฎหมายเหมือนกัน และคงจะตอบได้ยากว่าหลักการใดดีกว่าหลักการใด หากนำเอาแนวความคิดทั้งสองมาพิเคราะห์เพื่ออธิบายระบบกฎหมายไทยโดยมุ่งไปที่การจัดโครงสร้างขององค์กรของรัฐในรัฐธรรมนูญไทยตลอดจนการกำหนดความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับราษฎรแล้ว จะเห็นได้ว่าในแง่ของรูปแบบ ระบบกฎหมายไทยพยายามจะเดินตามแนวทางของหลักนิติรัฐที่พัฒนามาในภาคพื้นยุโรป ดังจะเห็นได้จากการยอมรับหลักการแบ่งแยกอำนาจในมาตรา 3 การยอมรับหลักความเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญในมาตรา 6 ตลอดจนการประกันสิทธิเสรีภาพของราษฎรไว้ในหมวด 3 แม้กระนั้นเมื่อพิเคราะห์รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับปัจจุบัน ประกอบกับทางปฏิบัติที่เกิดจากการปรับใช้รัฐธรรมนูญแล้ว จะเห็นได้ว่าประเทศไทยยังห่างไกลจากความเป็นนิติรัฐมากนัก เช่นในมาตรา 3 ของรัฐธรรมนูญจะประกาศยอมรับหลักการแบ่งแยกอำนาจ แต่หลักการดังกล่าวก็ได้ถูกทำลายลงในมาตรา 239 ที่รัฐธรรมนูญบัญญัติให้คณะกรรมการการเลือกตั้งมีอำนาจวินิจฉัยเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของบุคคลก่อนประกาศผลการเลือกตั้งและให้คำวินิจฉัยนั้นเป็นที่สุด ซึ่งเท่ากับให้อำนาจองค์กรที่ทำหน้าที่บริหารจัดการการเลือกตั้งเป็นศาลได้ในตัวเอง

ในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ถูกเขียนให้มีความขัดแย้งกันเองมากอยู่มาก ซึ่งไม่ว่าจะด้วยจุดประสงค์ใดๆก็ตามย่อมทำให้ความยุติธรรมในระบบกฎหมายเกิดขึ้นได้ยาก

 

อ้างอิง

http://www.ids-th.org/index.phpoption=com_content&view=article&id=253%3A2010-02-01-05-21-13&catid=35%3Atotal-article&Itemid=59

 

แก้ไขล่าสุด ใน วันศุกร์ที่ 20 มิถุนายน 2014 เวลา 08:37 น.
 

หลักนิติรัฐ VS หลักนิติธรรม

พิมพ์ PDF

หลักนิติรัฐ VS หลักนิติธรรม

June 26, 2011 at 6:52pm

"หลักนิติรัฐ VS หลักนิติธรรม " โดย รศ.ดร. กำชัย จงจักรพันธ์

 

บ้านเมืองของเราในระยะหลังนี้ มีผู้พูดถึงคำว่า “นิติรัฐ” “นิติธรรม” บ่อยมาก จนมีผู้ถามผมอยู่หลายครั้งหลายหนเช่นกันว่า นิติรัฐ คืออะไร คือรัฐที่เคารพกฎหมายใช่หรือไม่ แล้วมันต่างอย่างไรกับอีกคำหนึ่ง คือนิติธรรม คำนี้หมายความว่าอะไร ?

 

ผมเคยมีโอกาสไปทำหน้าที่วิทยากรบรรยายเรื่องหลักนิติธรรมให้แก่ผู้บริหารการศึกษา ในหลักสูตรนักบริหารมหาวิทยาลัยระดับสูง ในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษามานานแล้ว แต่เมื่อต้องตอบคำถามแบบกระชับ ๆ ไปหลายครั้ง ก็คิดว่าอย่ากระนั้นเลย ขอทำหน้าที่ให้บริการทางวิชาการแก่สังคม เผื่อให้ท่านผู้อ่านอื่น ๆ ที่สนใจเรื่องนี้ได้ทราบด้วยคงจะดี

 

คำว่า นิติรัฐ (Rechtsstaat) มีต้นกำเนิดมาจากประเทศเยอรมัน หมายความสั้น ๆ ง่าย ๆ ว่า การปกครองโดยกฎหมาย มิใช่การปกครองโดยอำเภอใจของผู้ปกครอง ประเทศที่เป็นนิติรัฐ จึงต้องมีกฎหมายเป็นหลักในการปกครองประเทศ ผู้ปกครองประเทศจะกระทำการใด ๆ หรือดำเนินการใด ๆ ได้ต้องมีกฎหมายรองรับ จะกระทำอะไรตามอำเภอใจไม่ได้

 

หลักนิติรัฐ จึงมีหลักการพื้นฐานที่มุ่งจำกัดอำนาจของผู้ปกครอง ให้หลักประกันสิทธิขั้นพื้นฐานแก่ประชาชน อย่างไรก็ตาม หลักนิติรัฐ มิได้มีความหมายหยุดอยู่แค่นี้ นิติรัฐยังพัฒนารวมความ ขยายความถึง หลักที่ว่ากฎหมายต้องยืนอยู่บนหลักเหตุผล หลักเสมอภาค หลักห้ามมีผลย้อนหลังเอาโทษกับบุคคล หลักการไม่มีกฎหมาย ไม่มีความผิด หลักความเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญ  หลักการแบ่งแยกอำนาจ หลักประกันความเป็นอิสระของผู้พิพากษา ฯลฯ

 

คำว่า นิติธรรม (Rule of Law) มีต้นกำเนิดมาจากประเทศอังกฤษ มีความหมายโดยสรุปว่า แม้ประเทศอังกฤษจะยอมรับความมีอำนาจสูงสุดของรัฐสภาในการออกกฎหมาย แต่ไม่ใช่รัฐสภาจะออกกฎหมายอย่างไรก็ได้ กฎหมายที่ออกจะต้องเป็นกฎหมายที่ตั้งอยู่บนหลักนิติธรรมด้วย

 

หลัก นิติธรรม จึงมีหลักการพื้นฐานที่มุ่งจำกัดอำนาจของผู้ปกครองเช่นเดียวกัน และทำนองเดียวกับหลักนิติรัฐ หลักนิติธรรมยังพัฒนาหมายถึง บุคคลทุกคนต้องเสมอภาคกันภายใต้กฎหมาย กฎหมายต้องมีเนื้อหาที่ชัดเจน ให้เหตุผลได้ ไม่ขัดแย้งกันเอง ปฏิบัติได้ ใช้เป็นการทั่วไป เป็นธรรม  กฎหมายต้องมุ่งใช้ไปในอนาคต ไม่มีโทษย้อนหลัง มีการบังคับใช้กฎหมายโดยเสมอภาค กระบวนการตรากฎหมายต้องถูกต้องชัดเจน หลักความเป็นกฎหมายซึ่งใช้เป็นการทั่วไปไม่ว่ากับเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือเอกชน มีหลักประกันในความเป็นอิสระของผู้พิพากษา ฯลฯ

 

ความเหมือนกันก็คือ

ทั้งนิติรัฐ และนิติธรรม เป็นหลักการ เป็นแนวความคิดที่กำเนิดและพัฒนาขึ้นเพื่อมุ่งจำกัดอำนาจของผู้ปกครอง คุ้มครองประชาชน

ทั้งนิติรัฐ นิติธรรม เกี่ยวกับกฎหมาย  ทั้งนิติรัฐ นิติธรรมมุ่งกำกับหรือเป็นหลักให้กับกฎหมาย เพื่อให้กฎหมายต้องดี ต้องชัดเจน ต้องมีเหตุมีผล ต้องปฏิบัติได้ ต้องนำไปสู่ความยุติธรรม ทั้งในเชิงรูปแบบและเนื้อหา

 

 

ความแตกต่างกันก็คือ

นิติรัฐ มีจุดกำเนิดและพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ที่แตกต่างจากนิติธรรม นิติรัฐ เป็นหลักการสำคัญที่มีจุดเริ่มต้นที่ประเทศเยอรมัน อันเป็นประเทศในระบบ Civil Law และหลักนิติรัฐนี้เองที่มีอิทธิพลเผยแพร่ไปทั่วยุโรป

 

นิติธรรม เป็นหลักการสำคัญที่มีจุดเริ่มต้นที่ประเทศอังกฤษ อันเป็นประเทศในระบบ Common Law และทำนองเดียวกันหลักนิติธรรมมีอิทธิพลเผยแพร่ไปยังประเทศสหรัฐอเมริกาและประเทศทั้งหลายที่ใช้ระบบกฎหมาย Common Law

นิติรัฐ ให้ความสำคัญที่สิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน ดังนั้นผู้ปกครองจึงมีอำนาจจำกัดตามที่กฎหมายกำหนดไว้ เป็นความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับการใช้อำนาจ มีหลักการแบ่งแยกอำนาจ

 

นิติธรรม เน้นที่ความมีอำนาจสูงสุดของรัฐสภาที่จะออกกฎหมายมาบังคับใช้กับประชาชน แต่กฎหมายที่จะออกมาและมีผลใช้บังคับได้ต้องตั้งอยู่บนหลัก นิติธรรม

จุดเริ่มต้น จุดเน้นอาจแตกต่างกัน แต่สาระสำคัญต่างมุ่งเน้นจำกัดอำนาจของผู้ปกครองเหมือนกัน

 

นิติรัฐ พัฒนาและวิวัฒนาการไปจนถึงจุดที่มีการแบ่งแยกระบบศาลออกเป็นศาลพิเศษและศาลยุติธรรมทั่วไป  แต่นิติธรรม ไม่มีการแบ่งแยก มีระบบศาลเดียวคือศาลยุติธรรม / นิติรัฐ ถือหลักการความเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญ นิติธรรม ถือหลักการ The supremacy of parliament กฎหมายที่ออกโดยรัฐสภามีฐานะเหนือกว่า Case Law

 

นิติรัฐ นิติธรรม เปรียบเหมือนต้นไม้ที่มีสายพันธุ์เดียวกัน ที่ต่างมุ่งให้ร่มเงาแก่ประชาชน ให้ได้รับความยุติธรรม มุ่งจำกัดอำนาจของผู้ปกครอง แต่ไม้ทั้งสองไปเจริญงอกงามในสองดินแดน ที่มีประวัติศาสตร์ ระบบกฎหมาย สภาพแวดล้อม สภาพสังคม ฯลฯ ที่แตกต่างกัน เมื่อได้ดิน ได้น้ำ ได้ปุ๋ย ได้อากาศที่แตกต่างกัน ต้นไม้ทั้งสองก็ย่อมพัฒนาเติบโตแตกกิ่งก้านสาขา แตกต่างกันไปบ้าง มีบางส่วนเหมือน มีบางส่วนต่าง มีจุดเน้น หนักเบา เหมือนบ้าง ต่างบ้าง แต่เป็นความต่างบนความเหมือนกัน

 

และด้วยสปิริตเดียวกันนี้เอง จึงทำให้หลักนิติรัฐ และนิติธรรม เป็น “หลัก” ของกฎหมาย ที่นักกฎหมายไม่ว่าในระบบ Civil Law และ Common Law ต่างต้องยึดถือ เพื่อให้มั่นใจได้ว่า กฎหมายของเราจะนำไปสู่ความผาสุกและความยุติธรรมโดยแท้จริง

 

คำถามสุดท้ายที่ดูจะตอบยากที่สุดคือ แล้วทุกวันนี้ที่หลายฝ่ายพูดย้ำกันอยู่ทุกบ่อย ๆ นั้น ทำให้ประเทศไทยเรามีหลักนิติรัฐ นิติธรรมแล้วหรือยัง ก็คงตอบได้อย่างดีที่สุดคือ ทุกคนทุกฝ่ายก็เจตนาดี อยากให้เป็นเช่นนั้น

 

ความจริงในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ มาตรา ๓ วรรคสอง วางหลักนิติธรรมไว้แล้ว โดยได้บัญญัติไว้ว่า การปฏิบัติหน้าที่ของรัฐสภา รัฐมนตรี ศาล รวมทั้งองค์กรตามรัฐธรรมนูญและหน่วยงานของรัฐต้องเป็นไปตามหลักนิติธรรม ก็เช่นเดียวกัน คงตอบได้ว่าอย่างน้อยที่สุดผู้ร่างคงแสดงให้เห็นว่า ประเทศไทยของเราต้องการให้มีนิติรัฐ นิติธรรมอยู่ แต่พออ่านไปถึงบทเฉพาะกาล รัฐธรรมนูญฉบับนี้ส่วนที่ดูดี ๆ อยู่ข้างหน้านั้น ก็หายวับไปกับตาหมด เพราะบทเฉพาะกาลบอกเราโดยรวม ๆ ว่า บทบัญญัติที่ดี ๆ ข้างหน้านั้น (รวมหลักนิติธรรม) ไม่เอามาใช้ตอนนี้นะ (เพราะมี ม.๓๐๙)  ....

 

ด้วยใจเป็นธรรมครับ ผมว่าเรายังคงต้องเดินทางอีกไม่น้อยกว่าจะถึงจุดที่เราตอบชาวโลกได้ว่า เราเป็นประเทศที่ถือหลักนิติรัฐ นิติธรรม

 

และเหตุหนึ่งที่เราเดินทางไปยังไม่ถึง ก็ขออนุญาตคิดดัง ๆ ฝากไปยังนักกฎหมายทั้งหลาย ไม่ว่าค่าย Civil Law หรือ Common Law  ว่า หากพวกเราเข้าใจหลักนิติรัฐ และหลักนิติธรรมโดยแท้จริง และหากเรายึดมั่น เชื่อมั่น ศรัทธาในหลักนิติรัฐ และหลักนิติธรรม อย่างจริงใจ (มิใช่เพราะพูดแล้วเท่ห์ดี) เราย่อมต้องยึดหลักการที่ว่า “วิธีการที่ถูกต้องดีงาม มีความสำคัญไม่น้อยไปกว่าเป้าหมายที่ต้องการด้วย” เสมอ เพราะนักกฎหมายที่เคารพหลักนิติรัฐ นิติธรรม จะไม่มีวันเห็นด้วยกับคำที่ว่า “End justifies means.” และด้วยการยึดหลักนี้อย่างมั่นคง กฎหมายและกระบวนการยุติธรรมก็จะบิดเบี้ยวได้ยากมาก ฯลฯ

 

อ่านบทความจบแล้ว อย่าเพิ่งถามต่อนะครับว่า แล้ว Civil Law กับ Common Law ต่างกันอย่างไร ?  ไว้มีโอกาสและน่าสนใจพอ จะแลกเปลี่ยนกันต่อไปครับ

แก้ไขล่าสุด ใน วันพุธที่ 25 มิถุนายน 2014 เวลา 13:27 น.
 

คสช.กับการคืนความสุขให้ประชาชน (บทเรียนจากความจริง กับ ดร.จีระ 14/6/57)

พิมพ์ PDF

ในฐานะเป็นนักพัฒนาทุนมนุษย์มากว่า 30 ปี ผมดีใจที่ คสช.มีแนวทางที่จะคืนความสุขให้ประชาชนคนไทย

เนื่องจากผมสนใจเรื่องทุนแห่งความสุขทางทฤษฎีและนำไปปฏิบัติมานาน และยังเขียนแนวคิดไว้ในหนังสือ 8K’s, 5K’s ของผม

มีการนำเอาทฤษฎีทุนแห่งความสุขไปใช้ในหลายๆด้านโดยมีนักเรียนเขียนวิทยานิพนธ์ปรัชญาเอกหรือใช้หลายมหาวิทยาลัย

งขอแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติมดังต่อไปนี้ ความสุขของประเทศไทยมีได้ 2 แนวคือแนวที่หนึ่งสร้างบรรยากาศการให้ประเทศไทยกลับมามีความสุข ด้วยการสร้างความรู้สึกให้ประเทศไทยกลับมาเป็นประเทศที่น่าอยู่ เช่น

คนไทยทุกๆคนเคยเคารพรักพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ แต่ในยุคคุณทักษิณได้สร้างสถานการณ์ให้เกิดความเข้าใจผิดต่างๆในพระองค์ท่าน

  • แถมยังมีการปลุกระดมสร้างหมู่บ้านเสื้อแดงทั้งแผ่นดินสร้างความแตกแยกโดยมีเป้าหมายแค่รักษาอำนาจของตัวเอง
  • วิทยุชุมชนก็สร้างแต่บรรยากาศปลุกระดม สร้างความเกลียดชัง
  • มีการอบรมโรงเรียนเสื้อแดง ทั่วแผ่นดินไทย เป็นต้น

คสช.เข้ามาครั้งนี้ก็ขจัดปัญหาเหล่านี้ลงไปได้มาก แต่ต้องคืนความสุขในระยะยาว สร้างความสุขให้คนไทยมีชีวิตยั่งยืนตลอดไป ไม่ใช่แค่ระยะสั้นเท่านั้น

ผมเรียกวิธีแรกว่า Happy Thailand ซึ่งล้อมาจากแนวคิดที่ทางวิชาการเรียกว่า Happy place ทำให้ประเทศไทยน่าอยู่

แต่การสร้างความสุขให้แก่คนไทย น่าจะมีอีกแนวหนึ่งคือคืนความภูมิใจและศักดิ์ศรีของคนไทยแต่ละคนกลับมา เช่น

  • คสช.ต้องให้คนไทยภาคภูมิใจที่เป็นคนไทย
  • มีความหยิ่งและมีศักดิ์ศรีของคนไทย เดินไปที่ไหนก็เชิดหน้าชูตา
  • มีความรักและสามัคคีที่จะทำงานให้ประเทศต่อไป
  • มีรายได้และมีงานทำ เช่น จ่ายเงินให้ชาวนาเป็นค่าจำนำข้าว
  • คนไทยภูมิใจในรากหญ้าและประวัติศาสตร์ของประเทศไทย ไม่ใช่แค่ได้เศษเงินเล็กๆน้อยๆดังที่คุณทักษิณยื่นให้และหลอกคนไทยเพื่อพึ่งรัฐบาลแบบประชานิยม ต้องให้คนไทยเข้มแข็ง พึ่งตัวเองให้ชุมชนเข้มแข็ง
  • มอมเมาทุกอย่างด้วยวัตถุนิยมในยุคคุณทักษิณ

วิธีที่ผมเรียกว่า ทุนแห่งความสุข คือแต่ละปัจเจกบุคคลที่มีความสุขในความเป็นคนไทยและภูมิใจในความเป็นไทย ยืนอย่างสง่างามในเวทีโลก รู้จักรากเหง้าของบรรพบุรุษตัวเอง รู้จักประวัติศาสตร์ความเป็นมาอันงดงาม รู้จักบุญคุณรักษาและปกป้องประเทศไทย

ถ้าพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ทำสิ่งเหล่านี้และกระตุ้นระบบเศรษฐกิจระยะยาวให้คนไทยมีรายได้ต่อหัวเพิ่มขึ้นโดยเน้น 3 เรื่อง

  • กระตุ้นให้เกิดการลงทุนทางด้าน R&D อย่างจริงจัง เช่น พัฒนามาตรฐาน ภาคบริการ ภาคเกษตร และภาคอุตสาหกรรม สามารถยกระดับนวัตกรรมการผลิตและการตลาดให้สูงขึ้น ประเทศไทยก็จะก้าวไปข้างหน้าได้โดยหลุดพ้นจากกับดักทางเศรษฐกิจที่จมปลักกับความเป็นประเทศกำลังพัฒนา (Middle income trap)
  • ให้มีการพัฒนาคุณภาพของทุนมนุษย์ของคนไทยอย่างแท้จริง โดยเน้นมีปัญญามากกว่าปริญญา มีคุณธรรม จริยธรรมมากกว่าความโลภ อย่าเน้นวัตถุนิยมเท่านั้น
  • และสุดท้ายคือ วางโครงสร้างพื้นฐานไว้ โดยใช้งบประมาณอย่างคุ้มค่า ไม่ใช่แค่มีรถไฟความเร็วสูงเพื่อสนองเป้าหมายการเมืองเท่านั้น

นอกจากคืนความสุขตามที่ผมได้เสนอแนะ ยังอยากให้สังคมไทยและคนไทยมีความสุขอย่างยั่งยืนเพื่อตอบสนองปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ

การเปลี่ยนแปลงของประเทศครั้งนี้ จึงเป็นช่วงที่มีความสำคัญ ขออวยพรให้ คสช.ได้ทำงานอย่างเต็มที่บริหารประเทศไทยให้คนไทยรวมใจไปในทิศทางเดียวกันทำให้คนไทยภูมิใจในความเป็นไทยและเป็นหนึ่งเดียว (Unity with Diversity)

สิ่งเหล่านี้ต้องมองระยะยาวและต่อเนื่องโดยเฉพาะ ต้องสร้างจิตใจและจิตวิญญาณให้เกิดความรัก สามัคคีขึ้นในชาติอย่างแท้จริง เพื่อจะสร้างการปรองดองของชาติ

ดังนั้นการทำสิ่งเหล่านี้ให้สำเร็จ จึงต้องใช้เวลาและต้องปรับทัศนคติ (Mindset) ของคนไทยเข้าหากัน

ผมให้เวลา คสช.เสมอ เพื่อทำงานให้สำเร็จไม่ต้องไปวิตกกับข้อวิพากษ์วิจารณ์โดยเฉพาะกับคำวิจารณ์จากต่างประเทศ

จีระ หงส์ลดารมภ์

บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย 

แก้ไขล่าสุด ใน วันอังคารที่ 17 มิถุนายน 2014 เวลา 11:46 น.
 

ถาม-ตอบ เรื่องแผนธุรกิจ

พิมพ์ PDF

มีผู้สนใจทำธุรกิจโรงแรมและรีสอร์ท จำนวนมากติดต่อขอคำปรึกษาผมมาหลายท่านด้วยกัน ส่วนมากจะเป็นคำถามคล้ายๆกัน คืออยากทำธุรกิจแต่ไม่เคยมีความรู้และประสบการณ์ด้านธุรกิจที่อยากทำมาก่อน ผู้ที่ติดต่อเข้ามาส่วนมากได้อ่านบทความเรื่องแผนธุรกิจ ที่ผมเคยนำออกเผยแพร่เมื่อหลายปีที่แล้ว  จึงขอนำตัวอย่างคำถามและการตอบคำถามของผมมาเผยแพร่ เพื่อเป็นข้อคิดให้กับผู้ที่คิดจะลงทุนทำธุรกิจที่ตัวเองยังไม่เคยมีประสบการณ์มาก่อน หรือผู้ที่เพิ่งเริ่มทำธุรกิจไปแล้วและเริ่มประสบปัญหาได้นำไปพิจารณา

"อยากทำรีสอร์ตเล็กๆ สัก 10 ห้อง แถวหัวหิน ไม่มีความรู้ด้านนี้เลยค่ะ

อยากทราบข้อมูลเกี่ยวกับแผนธุรกิจ จุดคุ้มทุน ความเสี่ยง และที่สำคัญแหล่งเงินทุนค่ะ"

คำตอบ

การลงทุนทำธุรกิจ ไม่ใช่ว่าทุกคนทำได้ครับ ต้องมีความพร้อมในหลายเรื่องไม่ว่าจะเป็นเรื่องเงินลงทุน ความรู้ในธุรกิจ งานบริการเป็นงานที่จับต้องไม่ได้ เป็นเรื่องของการบริหารจัดการ ที่ให้ทำแผนธุรกิจก็เพื่อให้คุณทำการศึกษาหาข้อมูลและตอบคำถามในเรื่องเกี่ยวกับการทำธุรกิจนั้นๆ แผนธุรกิจประกอบด้วยแผนการลงทุน แผนการเงิน แผนการตลาด แผนการบริหารจัดการ รวมไปถึงแผนการบริหารคน ที่มีทั้งการคาดการณ์รายได้  รายจ่าย และการเติบโตของธุรกิจ  ช่วงระยะเวลาของจุดคุ้มทุน (ระยะเวลาที่จะได้เงินที่ลงทุนคืน หรือ รายได้ที่ทำให้ไม่ขาดทุน) สิ่งเหล่านี้ ต้องทำจากของจริง แต่ถ้าจะเอาแค่ทฤษฎี คุณสามารถหาซื้อหนังสือเรื่องการทำแผนธุรกิจได้จากร้านขายหนังสือทั่วๆไป มีให้เลือกหลายตำรา เมื่อทำแผนธุรกิจออกมาแล้ว ก็จะต้องมาดูว่ามีความเสี่ยงแค่ไหน ถ้าเสียงมากเกินไปก็ไม่ควรทำ ทำธุรกิจต้องมีความเสี่ยงควบคู่กันไป สำหรับแหล่งเงินทุน ก็มีได้ทั้งการระดมทุนของตัวเอง จากญาติและเพื่อนฝูง หรือระดมทุนจากคนทั่วๆไป ถ้าโครงการดี และคุณมีเครดิกดี แผนธุรกิจมีความน่าเชื่อถือ คุณก็มีโอกาสระดมทุนได้ง่ายขึ้น แหล่งเงินทุนที่ใช้กันทั่วๆไปก็มาจากธนาคาร คุณจะต้องมีแผนธุรกิจที่ดี และมีหลักทรัพยค้ำประกัน ธนาคารจึงจะปล่อยเงินกู้ให้คุณ

ถ้าอยากจะทำรีสอร์ทจริงๆต้องศึกษาธุรกิจให้ลึกซึ้งก่อนตัดสินใจลงทุน อย่าลงทุนแบบไม่รู้และปล่อยให้เป็นไปตามโชคชะตาครับ เหนื่อยทั้งตัวและหัวใจ แถมจะหมดตัวเป็นหนี้เป็นสิน สร้างความทุกข์ให้ตัวเอง

ม.ล.ชาญโชติ ชมพูนุท

16 ,มิถุนายน 2557

แก้ไขล่าสุด ใน วันจันทร์ที่ 16 มิถุนายน 2014 เวลา 12:45 น.
 


หน้า 346 จาก 561
Home

About Us

ศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ (ศบม.) เป็นองค์กรที่พัฒนาและจัดทำโครงการเพื่อทำประโยชน์ให้สังคม เป็นองค์กรสนับสนุนการดำเนินงานของภาครัฐ ช่วยแก้ปัญหาผู้ประกอบการภาคธุรกิจบริการที่ขาดแคลนบุคลากรที่มีมาตรฐานในการให้บริการ
อ่านเพิ่มเติม

มูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ ์

 iHDC Profile
บัญชีรายชื่อกรรมการ
ใบสำคัญแสดงการจดทะเบียน การเปลี่ยนแปลงกรรมการของมูลนิธิ
เอกสารประชาสัมพันธ์ โครงการ HMTC.pdf
เอกสารแนะนำโครงการ HMTC 1.pdf
เอกสารโครงการ HMTC 2 คุณสมบัติผู้เข้าร่วมโครงการ.pdf
iHDC นิติบุคคล.pdf
iHDC บุคคล.pdf
iHDC บุคคลเครือข่าย.pdf
รายงานการประชุม 6 มีนาคม 2560.pdf
ข้อบังคับมูลนิธิ
ใบสำคัญแสดงการจดทะเบียนจัดตั้งมูลนิธิ
Ihdc-Profile and Roadmap 2016-2019 Mar 23 2560.pdf
รายงานการประชุมใหญ่คณะกรรมการมูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ 2559.pdf
คำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ สาขาวิชาชีพ.pdf
รายงานการประชุมใหญ่วันที่ 18 ธ ค 2558 v 3.pdf
รายงานการประชุม วันที่ 24 ธันวาคม 2557 updated 4 มีนาคม 2558.pdf
iHDC-invitation Letter.doc
iHDC-Member Form Thai.doc
iHDC-Member Form English.doc
รายงานการประชุมกรรมการมูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ วันที่ 15 มกราคม 2556 ฉบับสมบูรณ์


thaibetter
พัฒนาประเทศไทยแบบทวีคูณ และยั่งยืน ( ททค )

Login


แบบสำรวจ

สถิติเว็บไซด์

สมาชิก : 5644
Content : 3068
เว็บลิงก์ : 26
จำนวนครั้งเปิดดูบทความ : 8746512

facebook

Twitter


ล่าสุด

บทความเก่า