Thaiihdc.org

  • เพิ่มขนาดตัวอักษร
  • ขนาดตัวอักษรปกติ
  • สดขนาดตัวอักษร
Thaiihdc.org

ชีวิตที่พอเพียง : ๒๑๖๖. ดื่มด่ำปิติสุขจากการประชุมคณะทำงาน HPER

พิมพ์ PDF

วันที่ ๑๙ - ๒๐ เมษายน ๒๕๕๗ ผมไปร่วมประชุมคณะทำงาน HPER (Health Professional Education Reform) เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนการปฏิรูประบบการศึกษาของวิชาชีพสุขภาพ โดยแม่งาน (อ. วิม - ศ. พญ. วณิชา ชื่นกองแก้ว) ตั้งชื่อการประชุมว่า “Journal Club : WHO Guidelines 2013” การประชุมนี้จัดที่ สวนสามพราน

ผู้เข้าร่วมประชุมมีเกือบ ๓๐ คน เดิมผมคิดว่าผมจะเป็นคนที่แก่ที่สุด แต่เอาเข้าจริง ศ. นพ. สมศักดิ์ โล่ห์เลขา นายกแพทยสภา แก่กว่าผม คือจริงๆ อายุ ๗๒ ปีเท่ากัน แต่ท่านแก่เดือนกว่า มีคณบดีและ ผู้อำนวยการวิทยาลัยมาร่วมหลายท่าน ขาดไปวิชาชีพเดียวคือเทคนิคการแพทย์

ผมกล่าวต่อที่ประชุมว่า คนที่มาประชุมนี้มาด้วยจิตอาสา ไม่มีอำนาจใดๆ สั่งการให้มา ที่มาก็เพราะต้องการร่วมกันปฏิรูปการศึกษาของวิชาชีพสุขภาพให้มีคุณภาพตามแนวทางในศตวรรษที่ ๒๑ เป็นการมาร่วมประชุมเพื่อประโยชน์ของวงการสุขภาพ และเพื่อบ้านเมือง และผมเชื่อว่า กระบวนการคุณภาพ ในวงการศึกษาของวิชาชีพสุขภาพ จะมีส่วนออกไปกระทบให้มีการปฏิรูปการเรียนรู้ในวิชาชีพกลุ่มอื่น และของการศึกษาระดับพื้นฐานด้วย

ผมได้กล่าวว่าการปฏิรูป ๒ ยุทธศาสตร์ใหญ่คือ Institutional Reform และ Instructional Reform คือปฏิรูประบบบริหารจัดการหลักสูตรและการจัดการเรียนรู้ในระดับสถาบัน กับปฏิรูประบบการเรียนการสอน โดยที่การปฏิรูประบบการเรียนการสอนนั้น ต้องไม่ใช่แค่ปฏิรูปหลักสูตร (Curriculum Reform) เพราะหนังสือ Embedded Formative Assessment สรุปมาจากผลการวิจัยว่า สิ่งที่เรียกว่า “หลักสูตร” นั้น มี ๓ ชั้น คือ (๑)หลักสูตรในกฎหมายกฎระเบียบ หรือเอกสาร TQF ซึ่งอาจเรียกว่า “หลักสูตรในกระดาษ” (๒) หลักสูตร ตามที่สะท้อนใน ตำราประกอบการเรียน หรือเอกสารรายงานต่างๆ และ (๓) หลักสูตรตามที่อาจารย์เอาไป จัดการเรียนรู้จริง มีผลต่อปฏิสัมพันธ์ระหว่างอาจารย์กับนักศึกษา ผลการวิจัยจากทั่วโลกบอกว่า หลักสูตร ตามข้อ ๑ และ ๒ ไม่ตรงกับหลักสูตรตามข้อ ๓ ซึ่งเป็นการปฏิบัติจริง Instructional Reform หมายถึงส่วนที่ ๓ นี้ ซึ่งจะเป็นการดำเนินการที่ก่อคุณประโยชน์แก่ศิษย์ของเราอย่างแท้จริง

ผู้เข้าร่วมประชุมต่างก็ “ทำการบ้าน” มาล่วงหน้าอย่างน่าชื่นใจ คือ อ. วิม ให้การบ้านเป็นรายทีม เมื่อตอนเราไปประชุมที่เขาใหญ่ ตามบันทึกนี้ แล้วนัดให้แต่ละทีมมาเล่าสาระในแต่ละบทสำคัญๆ ของเอกสาร Transforming and scaling up health professionals’ education and training ขององค์การอนามัยโลก รวมทั้งเล่า best practice ในหัวข้อนั้นๆ ในประเทศไทยเท่าที่ทราบ

หัวข้อที่นำมานำเสนอและแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันได้แก่

  • Faculty Development โดย ศ. ดร. นพ. สุรศักดิ์ บูรณตรีเวทย์
    • Curriculum Development โดย รศ. นพ. อานุภาพ เลขะกุล
    • Inter-professional Education โดย พญ. ปาริชาติ วงศ์เสนา
    • Direct Entry of Graduates โดย ดร. กมลรัตน์ เทอร์เนอร์
    • Admission Procedures โดย พญ. บุญรัตน์ วราชิต
    • Streamlined educational pathways and ladder programmes โดย ดร. ศุกร์ใจ เจริญสุข
    • Accreditation โดย ศ. นพ. พงษ์ศักดิ์ วรรณไกรโรจน์
    • Simulation Methods โดย ผศ. นพ. พิศิษฐ วัฒนเรืองโกวิท
    • CPD for Health Professionals โดย รศ. ดร. ดรุณี รุจกรกานต์

นพ. วิโรจน์ ตั้งเจริญเสถียร เป็น ๑ ในคณะยกร่าง Guideline นี้ด้วย และมาทำหน้าที่เป็นผู้สรุป แต่ละหัวข้อ จากการเสวนากับหมอวิโรจน์ ทำให้ผมได้เข้าใจว่า WHO ออก Guideline นี้มาเพื่อให้มีการโต้แย้ง หรือลองเอาไปใช้ แล้วเสนอแนะกลับไป และทำให้ผมคิดว่า ข้อดีของ Guideline นี้คือ เป็นแหล่งหาโจทย์วิจัย ชั้นดี ในเรื่อง Health Professionals’ Education and Training คือในแต่ละ recommendation เขาจะระบุไว้ด้วยว่า evidence low, moderate หรือ high อันที่ low คือโจทย์วิจัย

เท่ากับ WHO ใช้การทำ guideline เป็นเครื่องมือขับเคลื่อนการเรียนรู้เกี่ยวกับเรื่องนั้นๆ ในโลก นำไปสู่การยกระดับ Health Professionals’ Education and Training

การริเริ่มใหม่ๆ ในเมืองไทยมีมากกว่าที่คิด ทีมทำงานรวบรวมมาเล่าได้มากอย่างไม่น่าเชื่อ เป็นหลักฐานยืนยันข้อเสนอของผมหลังฟังการนำเสนอเรื่อง Faculty Development จบ ว่าวิธีการที่ WHO Guidelines เสนอ มีส่วนถูกเพียงไม่ถึง 50% เพราะเขาเน้นการจัดฝึกอบรมให้แก่คณาจารย์ เป็น top-down approach ซึ่งจะไม่ได้ผลต่อคนที่มีนิสัยหัวแข็งอย่างอาจารย์แพทย์ และวิชาชีพสุขภาพทั้งหลาย วิธีที่จะได้ผลต้องเน้น bottom-up change management อย่างน้อยร้อยละ ๗๐ โดยเสาะหาการริเริ่มตามแนวทาง instructional reform ตามที่เสนอในเอกสาร Health professionals for a new century : Transforming education to strengthen health systems in an interdependent world เอามายกย่องและจัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เพื่อหาทาง สนับสนุนการเชื่อมโยงขยายผลให้ลึกและกว้างขวางยิ่งขึ้น

แนวคิดของ WHO Experts ที่ยังย่ำอยู่กับ old paradigm of education มาชัดเจนอีกทีในตอน CPD (Continuing Professional Development คือเขาเน้นที่การพัฒนาบุคลากรที่การกำหนดให้ไปเข้ารับการอบรม เป็น Training mode of personnel development ไปรับถ่ายทอดความรู้สำเร็จรูปมาจากภายนอก ซึ่งผมเสนอว่า ควรให้น้ำหนักเพียง 20% อีก 80% เป็นเรื่อง Learning mode ในงานประจำนั้นเอง ซึ่งในประเทศไทยเรามีกลไก ด้านคุณภาพและการเรียนรู้ที่เข้มแข็งมาก ได้แก่ HA, R2R, KM, UM, Lean, CQI/TQM เป็นต้น

งาน HPER เป็นงานยากและซับซ้อน บัดนี้เราพอมองเห็นแสงสว่างรำไร ว่าหนทางแห่ง ความสำเร็จน่าจะอยู่ข้างหน้า เราน่าจะเดินคลำทางมาถูกทางแล้ว

ในตอนท้าย นพ. วิโรจน์สรุปการประชุมออกมาเป็น Applicability of WHO 2013 recommendations ซึ่งออกมาเป็นโจทย์วิจัยจำนวนมากมาย ที่ผมชอบใจมากคือการวิจัยติดตามผลระยะยาวของแพทย์ในโครงการ CPIRD ที่มีวิธีคัดเลือกที่แตกต่างจากวิธีทั่วไปที่ใช้คะแนนหรือ cognitive ability เป็นตัวตัดสิน แต่ในโครงการ CPIRD มีคะแนนจากการทดสอบทักษะและเจตคติด้านอื่นๆ ที่สำคัญต่อการเป็นแพทย์ร่วมด้วย ทำให้แม้ นศ. CPIRD จะมี cognitive ability ต่ำกว่า แต่ก็เรียนจบ ผ่านการสอบต่างๆ ได้ดีเท่า เพราะเป็นการเรียนกลุ่มเล็ก และใกล้ชิดอาจารย์ นี้คือผลการวิจัยของ พญ. บุญรัตน์ วราชิต แห่งศูนย์แพทย์ รพ. หาดใหญ่ ที่ตีพิมพ์ในวารสาร วิชาการนานาชาติทีเดียว

เราตกลงกันว่า จะมี National HPER Forum ปีละครั้ง เพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ผลของการริเริ่ม ในแนวทาง 21stCentury HPER และเป็นเวทีคบคิดแผนทำประโยชน์ด้านนี้ต่อยอดจากนวัตกรรม และ success story เหล่านั้น

บ่ายวันที่ ๒๐ เมษายน ผมขับรถกลับบ้านด้วยความอิ่มใจ

วิจารณ์ พานิช

๒๐ เม.ย. ๕๗

แก้ไขล่าสุด ใน วันอังคารที่ 27 พฤษภาคม 2014 เวลา 14:48 น.
 

การเรียนรู้ตลอดชีวิตต่างมุมมอง

พิมพ์ PDF

ผมเดาว่า การเรียนรู้ตลอดชีวิต มีความหมายแตกต่างกัน ต่อคนที่ให้ความหมายคำว่า “การเรียนรู้” แตกต่างกัน

ผมเดาว่า สำหรับคนทั่วไป การเรียนรู้ หมายถึงการรับเอาความรู้จากภายนอกเข้าสู่ตัว ซึ่งหากการเดานี้จริง ก็นับว่าอันตรายมากสำหรับสังคมไทย เพราะจะทำให้เรามีคนที่เชื่อง่ายเต็มแผ่นดิน

การเรียนรู้ ในยุคปัจจุบัน ต้องเป็นการสร้างความรู้ ความเข้าใจ ความเชื่อ และกระบวนทัศน์ ขึ้นภายในตนเอง จากความรู้ภายนอก และประสบการณ์ที่หลากหลายของตนเอง รวมทั้งจากการแลกเปลี่ยน เรียนรู้กับกัลยาณมิตร ตรงกับที่คุณหมอประเสริฐบอกว่า “อย่าเรียนคนเดียว” ที่ลงบันทึกไปแล้วเมื่อวันที่ ๒๑ พฤษภาคม ๒๕๕๗

การเรียนรู้ในศตวรรษที่ ๒๑ ต้องเป็นการเรียนรู้ผ่านวิจารณญาณ (critical thinking) ไม่ใช่เรียนรู้แบบเชื่อง่าย ซึ่งหมายถึงยึดถือ กาลามสูตร ในทางพุทธ

ต้องเป็นการเรียนรู้ที่มีดุลยภาพระหว่าง ศรัทธานำ กับ ปัญญานำ โดยที่ต้องตีความ ศรัทธา ให้ถูกต้อง ว่าไม่ใช่หมายถึงเชื่อแบบงมงาย แต่หมายถึงเชื่อในความดี คนดี ที่มีหลักฐานพิสูจน์ และเฉพาะด้านที่มี หลักฐานพิสูจน์เท่านั้น

การเรียนรู้ตลอดชีวิต จึงต้องมีหลายมิติ ในทุกมิติ มีทั้ง เชื่อ และ ไม่เชื่อ (skeptical) ปนกันไป สำหรับใช้เรียนรู้โดยการตั้งคำถาม หรือตั้งข้อสงสัย (IBL – Inquiry-Based Learning)

ฐานคติ (assumption) ในการเรียนรู้แห่งยุคสมัยก็คือ สาระ (content) ของความรู้ที่สื่อสารออกมา มากมายนั้น เจือปนมายาคติมากบ้างน้อยบ้าง บางกรณีก็เพื่อหลอกเอาดื้อๆ เช่นตัวอย่างโฆษณาขายสินค้า ในวิทยุชุมชนหลายสถานี คนที่รับสารแบบไม่ไตร่ตรอง ก็จะโดนหลอกได้ง่าย

ฐานคติของการเรียนรู้ตลอดชีวิตคือ ความเป็นจริงที่เลื่อนไหล หรือเป็นพลวัต (dynamic) ไม่ใช่หยุดนิ่งอยู่กับที่ เทคนิคหรือวิธีการที่ถือว่าดีในยุคก่อน มาถึงยุคนี้ต้องนับว่าด้อย เพราะมีวิธีการที่ดีกว่า หากเรามีข้อจำกัด เรียนรู้วิธีการใหม่ไม่ได้ ชีวิตของเราก็ล้าหลัง

ทักษะการเรียนรู้ (learning skills) พัฒนาได้น้อยหรือไม่ได้ โดยการเรียนการสอนแบบถ่ายทอดความรู้ หรือโดยการสอนวิชา จะฝึกได้โดยการเรียนรู้แบบปฏิบัติหรือลงมือทำ (Learning by Doing หรือ Active Learning) ตามด้วยการคิดทบทวนไต่ตรอง (reflection) ที่เรียกว่า การเรียนรู้แห่งศตวรรษที่ ๒๑ วิธีการที่เป็นรูปธรรมอย่างหนึ่งเรียกว่า Open Approach ซึ่งได้ลงบันทึกไว้เมื่อวันที่ ๑๙ พฤษภาคม ๒๕๕๗

นักเรียนในชั้นประถม ที่ครูจัดการเรียนรู้แบบ Open Approach จึงเท่ากับได้รับการปลูกฝัง ทักษะการเรียนรู้ตลอดชีวิตโดยไม่รู้ตัว

แต่การเรียนรู้ตลอดชีวิตจะเกิดขึ้นได้ดี ผู้นั้นต้องมีฐานความรู้เดิมที่แน่นหนา คือบรรลุ mastery learning มาก่อน ในทักษะที่ซับซ้อนชุดหนึ่ง ที่เรียกว่า ทักษะแห่งศตวรรษที่ ๒๑ คนที่เรียนในระดับการศึกษา ขั้นพื้นฐาน (ประถมและมัธยม) มาอย่างกระท่อนกระแท่น จะเรียนรู้ตลอดชีวิตยากหรือเรียนได้ไม่ลึกและ เชื่อมโยง คุณภาพของการศึกษาระดับพื้นฐานจึงสำคัญยิ่งสำหรับบ้านเมืองที่เข้มแข็ง

การเรียนรู้ตลอดชีวิตที่ดีต้องทำให้ ผู้คน “รู้” ตามที่ตนเองไตร่ตรองอย่างรอบคอบหรือรู้ผ่านวิจารณญาณของตนเอง ไม่ใช่ “รู้” ตามที่เขาบอกหรือผ่านการเชื่อผู้อื่น

วิจารณ์ พานิช

๑๖ เม.ย. ๕๗

570526, การเรียนรู้, การเรียนรู้ตลอดชีวิต, Open_Approach, วิจารณญาณ

บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย 

แก้ไขล่าสุด ใน วันอังคารที่ 27 พฤษภาคม 2014 เวลา 14:55 น.
 

ระบอบหรือการปกครองโดยธรรม

พิมพ์ PDF

ระบอบหรือการปกครองโดยธรรม

ภารกิจอันศักดิ์สิทธิ์ ของคนไทยทุกคนคือ ร่วมกันเสนอ ผลักดัน หลักการปกครองธรรมาธิปไตย 9 เพื่อเปลี่ยนการเมืองของนักการเมืองเน่าๆ เพียงหยิบมือเดียว มาเป็นการเมืองโดยธรรมของปวงชน

ระบอบ คือ

1) หลักการปกครองโดยธรรมอันเป็นแก่นแท้ของชาติ

2) เป็นเอกภาพของชาติ

3) เป็นหลักความยุติธรรมของชาติ

4) เป็นแม่บทเป็นบ่อเกิดแห่งกฎหมายของชาติ

5) เป็นกฎหมายความมั่นคงสูงสุดของชาติ

6) เป็นเหตุของกฎหมายรัฐธรรมนูญ

7) เป็นหลักธรรมแห่งความมั่นคงแห่งชาติ

8) หลักแห่งความเจริญรุ่งเรือง ที่ไม่ตาย ไม่เปลี่ยนแปลง

ระบอบหรือหลักการปกครองโดยธรรมที่เหมาะสมสำหรับประเทศไทยคือ หลักการปกครองธรรมาธิปไตย 9 ซึ่งสรุปมาจากอุดมการณ์แห่งชาติ คือ ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ขยายความออกมาเป็นหลักความยุติธรรม มั่นคง เจริญรุ่งเรือง ก้าวหน้า สันติสุข ในการอยู่ร่วมกัน กล่าวโดยย่อคือ

1)หลักธรรมาธิปไตย คือบ่อเกิดแห่งสันติสุขและความดีทั้งปวง

2)หลักพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขแห่งรัฐ

3)หลักอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชน (อำนาจบ้านเป็นของเจ้าของบ้าน อำนาจประเทศเป็นของเจ้าของประเทศ)

4)หลักเสรีภาพบริบูรณ์ (คือการให้ศักยภาพสูงสุดแก่ปวงชน มีพระพุทธเจ้าเป็นตัวอย่าง)

5)หลักความเสมอภาคทางโอกาส (เพื่อให้ประชาชนแสดงศักยภาพของตนๆ ได้อย่างเต็มที่)

6)หลักภราดรภาพ (ไม่มีการแบ่งชนชั้น ศาสนา)

7)หลักเอกภาพ (ความเป็นเอกภาพของปวงชนและในทุกองค์กร)

8)หลักดุลยภาพ (ความมั่นคง ตั้งอยู่บนฐานแห่งสันติสุข)

9)หลักนิติธรรม (ข้อที่ 1-8 ประมวลเป็นหลักนิติธรรม เป็นแม่บท เป็นบ่อเกิดกฎหมายรัฐธรรมนูญและกฎหมายทั้งปวง)

หลักการปกครองโดยธรรมนี้ ล้วนเป็นสิ่ง เป็นหลักธรรมที่ไม่ตาย ไม่เปลี่ยนแปลง เป็นของคนไทยทุกคนต่างก็สืบทอดกันมา โดยที่ท่านทั้งหลายก็ได้ปฏิบัติอยู่ในชีวิตประจำวันอยู่แล้ว โดยท่านทั้งหลาย อาจจะไม่รู้ตัว ซึ่งทุกคนต่างก็ได้ปฏิบัติเช่นนี้ในยามปกติเมื่อปฏิบัติต่อผู้อื่น จึงได้นำมาแสดให้เห็นชัดเจนอย่างเป็นทางการในทางการเมือง ซึ่งจะได้รับรู้โดยทั่วกัน และเป็นภารกิจอันศักดิ์สิทธิ์ (คือทั้งอำนาจและสิทธิหน้าที่ของประชาชน) ที่จะต้องร่วมมือกันผลักดันหลักการปกครองธรรมาธิปไตย 9 ให้สำเร็จโดยเร็ววัน อันเป็นความถูกต้องโดยธรรมชั่วลูกชั่วหลานตลอดไป อย่างไม่มีวันจบสิ้น นั่นก็คือ การสถาปนาสัมพันธภาพระหว่างหลักการปกครองธรรมาธิปไตย 9 กับปวงชนในชาติ

สัมพันธภาพที่หนึ่ง คือสัมพันธภาพระหว่างหลักการปกครองธรรมาธิปไตย 9 กับประชาชนทุกหมู่เหล่า

ดวงอาทิตย์ เป็นเอกภาพของดาวเคราะห์ ฉันใด

หลักการปกครองธรรมาธิปไตย ย่อมเป็นเอกภาพของปวงชน ฉันนั้น

สัมพันธภาพที่สอง คือสัมพันธภาพระหว่างหลักการปกครองธรรมาธิปไตย 9 กับกฎหมายรัฐธรรมนูญ

พี่น้องประชาชนทั้งหลาย พึงทราบว่า สัมพันธภาพที่หนึ่ง คือสัมพันธภาพระหว่างหลักการปกครองธรรมาธิปไตย 9 กับประชาชนทุกหมู่เหล่า จะเกิดขึ้นได้นั้น เป็นภารกิจอันศักดิ์สิทธิ์ของพี่น้องประชาชนทุกคน เพราะนี่เป็นการสร้างการเมืองโดยธรรมให้แก่พี่น้องเพื่อนร่วมชาติอย่างถูกต้องยิ่งใหญ่และเป็นชัยชนะของประชาชน เป็นภารกิจอันศักดิ์ของประชาชนเพราะเป็นการโค่น ทุบ ทำลาย ระบอบเผด็จการโดยนักการเมือง ให้สิ้นไปอย่างสันติ เป็นการร่วมกันขจัดความชั่วร้ายอันร้ายกาจของชาติเช่น

1) ความเชื่อความเห็นผิดอันร้ายแรงที่สุดต่อชาติของนักการเมืองคือ “รัฐธรรมนูญคือระบอบประชาธิปไตย”

2) ความขัดแย้ง แตกแยกของประชาชนในชาติที่แก้ไขยากที่สุด

3) ขจัดความฉ้อฉลทั่วทั้งแผ่นดิน คือเป็นเหตุของการคอร์รัปชั่นอย่างใหญ่โตมโหฬารที่แก้ไขได้ยากยากที่สุด

4) ทำให้ทุกรัฐบาลสามารถบริหารประเทศได้และทุกรัฐบาลจะดีหมด เพราะเป็นรัฐบาลของประชาชน ฯลฯ

5) ขจัดระบอบเผด็จการรัฐธรรมนูญ โดยพรรครัฐบาลและพวกพ้องเพียงหยิบมือเดียว ได้หมดสิ้น ขจัดระบอบเผด็จการรัฐสภาได้หมดสิ้น ขจัดระบอบทักษิณได้หมดสิ้น

ภารกิจดังกล่าวนี้ จึงได้ชื่อว่า “ภารกิจอันศักดิ์ของปวงชนไทย” ภารกิจนี้ ทุกคนทำได้ ทุกคนพยายาม และในสถานการณ์ การต่อต้านรัฐบาลระบอบเผด็จการกำลังได้ขยายตัวอย่างกว้างขว้าง ดังนั้น เหล่าแกนนำทั้งหลายของมวลมหาประชาชนทุกสาขาอาชีพ จะต้องเร่งเสนอและทำความเข้าใจให้กับพี่น้องประชาชน เพื่อร่วมกันผลักดัน เพื่อก้าวไปสู่ชัยชนะของประชาชนในทางการเมือง

ภารกิจของประชาชนมีเพียงอย่างเดียวเท่านั้น คือเปลี่ยนระบอบการเมืองของนักการเมืองเพียงหยิบมือเดียว มาเป็นระบอบการเมืองโดยธรรมของปวงชนคือสถาปนาหลักการปกครองธรรมาธิปไตย 9 ส่วนในการแก้ไข ปรับปรุงกฎหมายรัฐธรรมนูญ การปฏิรูปการปกครอง เป็นเรื่องของนักการเมืองและฝ่ายปกครอง

หากเรามีระบอบผิด กฎหมายรัฐธรรมผิด รัฐบาลผิด ทำปฏิรูปผิด คือยิ่งเป็นเผด็จการมากยิ่งขึ้น

หากเรามีระบอบถูก กฎหมายรัฐธรรมนูญถูก รัฐบาลถูก ทำปฏิรูปใดๆ ก็ ถูกต้องตามไปด้วย

ระบอบเผด็จการ อุปมากระดุมเม็ดแรกมันผิด เม็ดต่อไปมันก็ ผิดๆๆ ต่อไปเรื่อยๆ

ระบอบโดยธรรม อันมีหลักการปกครองโดยธรรม อุปมากระดุมเม็ดแรกถูกต้อง เม็ดต่อไปมันก็ถูกต้องตลอดสาย

นั่นก็หมายความว่า ประชาชนมีหลักการปกครองโดยธรรมที่ถูกต้อง ย่อมเป็นเหตุให้รัฐธรรมนูญถูกต้อง

กฎหมายรัฐธรรมนูญถูกต้อง ย่อมเป็นเหตุให้รัฐบาลถูกต้อง

รัฐบาลถูกต้อง ย่อมเป็นเหตุให้บริหารราชการบ้านเมืองได้ถูกต้องเป็นธรรมในทุกกระทรวง ทบวง กรม จังหวัด อำเภอ ตำบล หมู่บ้าน

การแก้ไขรัฐธรรมนูญ เป็นปัญหาปลายเหตุ การเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นปัญหาปลายเหตุ การปฏิรูปตำรวจ เป็นปัญหาปลายเหตุ ฯลฯ ทั้งสิ้น

ประชาชนจะฉลาดทางการเมือง การเมืองเป็นของประชาชน ประชาชนจะแข็งแกร่งได้ ประชาชนจะพ้นจากการเป็นทาสทางการเมือง ประชาชนจะสามารถควบคุมนักการเมืองทุกระดับได้ นักการเมืองคือลูกจ้างของประชาชน ข้าราชการคือลูกจ้างของประชาชน ฯลฯ สิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้ ก็ ด้วยการร่วมมือกันผลักดัน สถาปนาหลักการปกครองธรรมาธิปไตย 9 เพียงหนึ่งเดียวเท่านั้น นอกนั้นหลอกประชาชนทั้งสิ้น

หากแกนนำไม่เสนอหลักการปกครองธรรมาธิปไตย 9 เราก็รู้ทันทีว่า เขาเป็นพวกพรรคการเมืองมาหลอกประชาชนเพื่ออำนาจและประโยชน์ของพวกเขา และประชาชนจะพ่ายแพ้ไม่ได้อะไร ยังคงเป็นทาสทางการเมืองต่อไป

เปลี่ยนความเกลียดชังต่อกัน มาเป็นพลังแห่งปัญญา พลังแห่งความรัก ร่วมกันสร้างสรรค์ชาติ ภายใต้หลักการปกครองธรรมาธิปไตย 9 กันเถิด

ท่านผู้มีเกียรติทั้งหลาย ที่ได้อ่าน หากเข้าใจ และรู้ชัดว่า นี่คือชัยชนะของประชาชน ก็ช่วยกันส่งต่อ แชร์ต่อๆ กันไป คิดว่า ทำเพื่อชาติ เพื่อปวงชนไทย

ม.ล.ชาญโชติ ชมพูนุท

27 พ.ค.2557

บันทึกนี้ได้จากการคัดลอกจากเอกสารของ ดร.ป.เพชรอริยะ

แก้ไขล่าสุด ใน วันอังคารที่ 27 พฤษภาคม 2014 เวลา 15:08 น.
 

ปฐมลิขิต

พิมพ์ PDF
ญาณ, ปัญญา, วิชชา แสงสว่างแห่งความรุ่งโรจน์ สู่ท่านทั้งหลายแล้ว จะรอแต่พสกนิกร สาธุชนทั้งหลายทั่วแผ่นดิน จะลุกขึ้นแสดงพลังแห่งความจงรักภักดี ถือธรรมเป็นใหญ่ น้อมนำร่วมสถาปนาธรรมาธิปไตย ๙ สู่อารยธรรมใหม่ของแผ่นดิน ขจัดสิ้นเหตุวิกฤตชาติ

ข้าพเจ้า ขอนอบน้อมแด่.. พระบรมศาสดา พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้ขยายความปรมัตถธรรมคำสอนแห่งพระพุทธองค์ทั้งได้น้อมนำสืบทอดพระราชภารกิจและปณิธานแห่งบูรพพระมหากษัตริย์ บรมราชจักรีวงศ์

แสดงให้เห็นถึงเหตุแห่งปัญหาอุปสรรคและแนวทางแก้ไขเหตุวิกฤตชาติประสานโมกขธรรมกับระบอบการเมืองด้วยปัจจัย “ธรรมาธิปไตยบุคคล, ธรรมาธิปไตยกฎธรรมชาติ, ประยุกต์สู่ธรรมาธิปไตยทางการเมืองแห่งรัฐ บนความสัมพันธ์สามประสานเป็นหนึ่งเดียวกัน”


คุณธรรมแห่งชาติจะกลับคืนมาสู่ปวงชนทุกชนชั้น ได้รับประโยชน์มีปัจจัย๔ครบถ้วนสมบูรณ์ดีมีความปลอดภัยอย่างถ้วนหน้าปวงประชามีศีลธรรมนำชีวิตสู่ความร่มเย็นเปลี่ยนคุกเรือนจำ ที่คุมขังเป็นสวนสาธารณะบรรลุแผ่นดินธรรมแผ่นดินทอง ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมั่งคั่ง หรือสังคมธรรมาธิปไตยอันสาธุชนทั่วไปใฝ่ฝันอีกทั้งจะได้บรรลุพระราชภารกิจบูรพพระมหากษัตริย์แห่งบรมราชจักรีวงศ์

พระบาทสมเด็จพระปิยะมหาราชรัชกาลที่๕

พระบาทสมเด็จพระมหาธีรราชเจ้ารัชกาลที่๖

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯรัชกาลที่๗

และบรรลุพระปฐมบรมราชโองการใน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช มหาราช รัชกาลที่๙เราจะครองแผ่นดินโดยธรรมเพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม


ญาณ, ปัญญา, วิชชา แสงสว่างแห่งความรุ่งโรจน์ สู่ท่านทั้งหลายแล้ว จะรอแต่พสกนิกร สาธุชนทั้งหลายทั่วแผ่นดิน จะลุกขึ้นแสดงพลังแห่งความจงรักภักดี ถือธรรมเป็นใหญ่ น้อมนำร่วมสถาปนาธรรมาธิปไตย ๙ สู่อารยธรรมใหม่ของแผ่นดิน ขจัดสิ้นเหตุวิกฤตชาติ


เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช

ในวโรกาสมหามงคลสมัยเฉลิมฉลองทรงครองราชย์ ๖๐ ปี


กลับมาสู่ความถูกต้องดังเดิมนับแต่โบราณกาลมาคือ พระพุทธศาสนา พระมหากษัตริย์ (กองทัพ) และผู้มีคุณธรรมในแผ่นดิน ร่วมมือแก้ไขเหตุวิกฤตชาติ ให้ถูกต้องโดยธรรม เพื่อความมั่นคงของชาติและความผาสุกของปวงชนสืบไป


ธรรมาธิปไตย คือระบอบการเมืองใหม่ที่ยิ่งกว่าระบอบการเมืองอื่นใดในโลก

ธรรมาธิปไตย มิได้รับการสถาปนา โลกาจะวินาศ

ดร. ป. เพชรอริยะ

 

ธรรมาธิปไตย อารยธรรมใหม่ของแผ่นดิน ขจัดสิ้นเหตุวิกฤตชาติ (๑)

พิมพ์ PDF

ธรรมาธิปไตย อารยธรรมใหม่ของแผ่นดิน ขจัดสิ้นเหตุวิกฤตชาติ (๑)

สังขารทั้งปวงนั่นไม่เที่ยง มันร้อยเรียงแปรปรวนทุกขณะ สังขารทั้งปวงเป็นทุกขะ ธรรมะทั้งปวงเป็นอนัตตา

๑. การวิปัสสนาภาวนา พิจารณาขันธ์ ๕ จะพบว่า เป็นไปตามกฎไตรลักษณ์

รูป หรือกาย ประกอบด้วยธาตุ ๔ คือ ธาตุดิน ธาตุน้ำ, ธาตุไฟ และธาตุลม แสดงให้เห็นความแตกต่างหลากหลาย (สังขตธรรม)

นาม ๔ ได้แก่ เวทนา, สัญญา, สังขาร. วิญญาณ ก็มีความแตกต่างหลากหลาย (สังขตธรรม คือสังขารเกิดขึ้นตามเหตุปัจจัย แปรปรวนในท่ามกลาง และดับไปในที่สุด)

จิตที่ปรุงแต่งเป็นอกุศล เช่น กลัว โลภ โกรธ หลง นับตั้งแต่ทำลายตนเอง จนถึงทำลายระดับชาติ ระดับโลก ก็มีความแตกต่างหลากหลาย (สังขตธรรม)

จิตที่ปรุงแต่งเป็นกุศล ก็มีความแตกต่างหลากหลาย เช่น มนุษย์ เทวดา รูปพรหม อรูปพรหม และนับแต่การสร้างกุศลให้แก่ตนเอง ไปจนถึงการทำกุศลสร้างสรรค์ประเทศชาติ และโลก ก็มีความแตกต่างหลากหลาย (สังขตธรรม)

นิพพาน คือ สภาวะพ้นจากการปรุงแต่ง สิ้นอุปาทานจากขันธ์ ๕ เพราะไม่ยึดมั่นถือมั่นในสังขารทั้งปวงแล้ว เมื่อจะคิด พูด ทำความดี แต่ไม่ติดยึดในความดีที่ตนทำ จึงเป็นสภาวะจิตอิสระ ที่เหนือการปรุงแต่ง จึงพ้นจากกฎไตรลักษณ์ (อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา)

การมีปัญญารู้แจ้งตามความเป็นจริงแล้ว จะไม่ยึดมั่นถือมั่นในขันธ์ ๕ อันมีลักษณะความแตกต่างหลากหลายแล้ว (สังขตธรรม) ก็จะสามารถทำให้เราเข้าถึงนิพพาน อันเป็นลักษณะเอกภาพ ดังกล่าวนี้ เพื่อที่จะแสดงให้เห็นว่าขันธ์ ๕ นั้นดำรงอยู่บนความสัมพันธ์ระหว่างเอกภาพ (อสังขตธรรม) กับ ความแตกต่างหลากหลาย (สังขตธรรม) นั่นเอง

อีกอย่างหนึ่ง จิตปรุงแต่ง ด้วยความยึดมั่นถือมั่นทั้งกุศล และอกุศลจะมีลักษณะรวมศูนย์ที่ตนเอง ส่วนจิตที่มีปัญญารู้แจ้งอิสระพ้นการปรุงแต่ง เป็นจิตที่มีคุณธรรม มีลักษณะแผ่คุณธรรมออกไป

มีข้อสังเกตว่า จิตปุถุชนเป็นจิตปรุงแต่ง จะคิดเอาก่อน หรืออยากได้ก่อน (รวมศูนย์ที่ตน เป็นความเห็นผิด) แล้วจะให้ทีหลัง ลักษณะนี้จะเป็นทุกข์ เพราะตรงกันข้ามกับกฎธรรมชาติ

ส่วนจิตอริยชน จะเป็นหนึ่งเดียวกับกฎธรรมชาติ คือ จะคิดให้ก่อน หรือแผ่คุณธรรมเมตตาออกไปก่อน แล้วรับปัจจัย ๔ ในภายหลัง ถวายก็รับ ไม่ถวายก็ไม่เป็นไรตามมีตามได้ ใช้ปัจจัย ๔ เท่าที่จำเป็นไม่เก็บสะสม ท่านจึงไม่เป็นทุกข์ทางใจ เพราะรู้แจ้งในอรรถธรรมย่อมดำรงตนเป็นหนึ่งเดียวกับกฎธรรมชาติ

เช่นเดียวกับพระพุทธเจ้า หรือพระอรหันตสาวกทั้งหลาย จะแผ่เมตตาโปรดสัตว์ แล้วก็จะได้รับการถวายปัจจัย ๔ ทีหลัง (แผ่เมตตาสอนธรรมก่อน แล้วรับปัจจัย ๔ ทีหลังตามแต่จะได้รับการถวาย และใช้ไปเพื่อประโยชน์ส่วนรวม ทำแต่กุศลแต่ไม่ยึดมั่นถือมั่นในกุศลที่ตนทำ)

ฉะนั้นจิตของผู้รู้แจ้งแล้ว จะดำรงอยู่อย่างดุลยภาพ เป็นหนึ่งเดียวกับกฎธรรมชาติ จึงสามารถนำกฎธรรมชาติมาประยุกต์ใช้เพื่อประโยชน์สุขแห่งมนุษยชาติได้

(๒) ญาณทัสสนวิสุทธิ ปัญญาที่รู้แจ้งอรรถธรรมตามความเป็นจริงอย่างบริสุทธิ์ ทำให้รู้แจ้งต่อกฎธรรมชาติ อย่างเป็นไปเอง กฎธรรมชาติดำรงอยู่บนความสัมพันธ์ระหว่างสภาวะอสังขตธรรม (ด้านเอกภาพ) กับ สังขตธรรม อันเป็นด้านความแตกต่างหลากหลาย เช่น ธาตุต่างๆ หรือสิ่งไม่มีชีวิต ต่างมีความแตกต่างหลากหลาย  สิ่งมีชีวิต ได้แก่ พืชและสัตว์ ก็มีความแตกต่างหลากหลาย

สภาวะอสังขตธรรมมีลักษณะแผ่กระจาย ส่วนสภาวะสังขตธรรม มีลักษณะรวมศูนย์  จะเห็นว่าลักษณะแผ่กระจาย กับ รวมศูนย์ เป็นปัจจัยให้กฎธรรมชาติดำรงอยู่อย่างดุลยภาพ

ดังนี้แล้วก็แสดงให้เห็นชัดว่า ความสัมพันธ์ของกฎธรรมชาติ กับ ขันธ์ ๕ อยู่ภายใต้กฎเดียวกัน หรือเป็นหนึ่งเดียวกัน

(๓) เมื่อนำกฎธรรมชาติไปพิจารณาความสัมพันธ์ระหว่างดวงอาทิตย์ กับ ดาวเคราะห์ ทำให้พบความสัมพันธ์ ๒ ลักษณะ คือ

๑) ดวงอาทิตย์ เป็นด้านเอกภาพ ดาวเคราะห์ เป็นด้านความแตกต่างหลากหลาย

๒) ดวงอาทิตย์แผ่โอบอุ้มดาวเคราะห์ ขณะเดียวกันดาวเคราะห์ทั้งหลาย ต่างก็ขึ้นต่อดวงอาทิตย์ หรือรวมศูนย์อยู่ที่ดวงอาทิตย์  จะเห็นได้ว่าลักษณะแผ่ กับ รวมศูนย์ ก่อให้เกิดระบบสุริยะจักรวาลดำรงอยู่อย่างดุลยภาพ

(๔) ได้พิสูจน์ให้เห็นว่า ขันธ์ ๕, กฎธรรมชาติ, และจักรวาล ดำรงอยู่ภายใต้กฎเดียวกัน เป็นสิ่งเดียวกัน คือดำรงอยู่อย่างดุลยภาพ ระหว่างด้านเอกภาพ กับ ด้านความแตกต่างหลากหลาย ซึ่งดำรงอยู่บนสัมพันธภาพในลักษณะพระธรรมจักร นั่นเอง

(๕) อีกนัยหนึ่งแสดงให้เห็นว่า กฎธรรมชาติ ดำรงอยู่บนความสัมพันธ์ระหว่างด้านลักษณะทั่วไป (General) และด้านลักษณะเฉพาะ (Individual)

ลักษณะทั่วไป คือ ลักษณะที่แผ่กระจายครอบงำส่วนย่อยทั้งหมด หรือ ลักษณะเฉพาะ ที่มีความแตกต่างหลากหลายที่สัมพันธ์เกี่ยวพันกันทั้งหมด

ลักษณะเฉพาะ คือ ส่วนย่อย ที่มีความแตกต่างหลากหลาย ดังกล่าวนี้ขยายความเพิ่มเติมว่า

อสังขตธรรม เป็นด้านลักษณะทั่วไปของกฎธรรมชาติ ส่วน สังขตธรรมเป็นลักษณะเฉพาะของกฎธรรมชาติ หรือ อสังขตธรรม เป็นลักษณะทั่วไป ส่วน ธาตุต่างๆ, สิ่งไม่มีชีวิต, และสิ่งมีชีวิตทั้งพืชและสัตว์ เป็นด้านลักษณะเฉพาะ

บรมธรรม, นิพพาน, ธรรมาธิปไตยเป็นลักษณะทั่วไป ส่วนขันธ์ ๕ เป็นลักษณะเฉพาะ และอีกความสัมพันธ์หนึ่ง นิพพานเป็นลักษณะทั่วไป ส่วนการปรุงแต่งจิต เป็นกุศลบ้าง และอกุศลบ้าง และกลางๆ เป็นลักษณะเฉพาะ

ดวงอาทิตย์ เป็นลักษณะทั่วไป ส่วน ดาวเคราะห์ เป็นลักษณะเฉพาะ

อีกนัยหนึ่ง ถ้าลักษณะทั่วไปเป็นธรรม ลักษณะเฉพาะก็จะพลอยเป็นธรรมไปด้วย อย่างเช่น เมื่อใจบริสุทธิ์ การคิด การพูด การกระทำ ก็จะดีไปด้วย หรือ ถ้าดวงอาทิตย์ดำรงอยู่ได้ ดาวเคราะห์ทั้งหลายก็ยังดำรงอยู่ได้

แต่ถ้าลักษณะทั่วไปเลว ลักษณะเฉพาะหรือส่วนย่อยที่ประกอบกันขึ้นก็จะย่ำแย่ไป ด้วย เช่น ถ้ากิเลสครอบงำจิต การคิด, การพูด, การกระทำ ก็จะเป็นไปตามอำนาจกิเลส จากนั้นจึงได้นำสภาวะกฎธรรมชาติไปประยุกต์ในการสร้างสรรค์ระบอบการเมืองโดยธรรม การปกครอง เศรษฐกิจ สังคม ฯลฯ ขอให้ท่านได้พิจารณาต่อไป

๑) ประเทศชาติ เป็นลักษณะทั่วไปและเป็นด้านเอกภาพ ประชาชนเป็นลักษณะเฉพาะที่มีความแตกต่างหลากหลาย ประชาชนในชาติจะต้องขึ้นต่อชาติเสมอไป และเมื่อประชาชนบางส่วนคิดจะแยกประเทศ แสดงให้เห็นว่าการจัดความสัมพันธ์ทางการเมืองมีปัญหาอย่างแน่นอน นำไปคิดดู ปัญหาเกิดจากอะไร? ขอให้คิดไว้ก่อน

๒) ระบอบการเมือง เป็นลักษณะทั่วไป จะต้องแผ่กระจายครอบงำคนทั้งแผ่นดิน ประชาชนเป็นลักษณะเฉพาะอันแตกต่างหลากหลายก็ต้องขึ้นต่อระบอบการเมือง แต่...ระบอบการเมืองไทย ครอบงำเฉพาะคนที่จบปริญญาตรี ไม่เกิน ๔ ล้านคน และระบอบการเมืองไทยเป็นระบอบมิจฉาทิฏฐิ ถูกสร้างขึ้นจากคนที่ไม่มีความรู้ที่แท้จริง พวกเขาสร้างระบอบการเมืองปัจจุบันขึ้นมาทำลายประเทศชาติของตนเอง และก่อให้เกิดปัญหาต่างๆ ตามมาอย่างมากมาย จนยากที่แก้ไข

รัฐบาลเป็นผู้ออกและใช้กฎหมายภายใต้กรอบของรัฐธรรมนูญมิจฉาทิฏฐิ นำไปสู่ความผิดพลาด อ่อนแอ และขัดแย้งในส่วนต่างๆ เช่น ระหว่างรัฐบาลกับประชาชน สถาบันพระมหากษัตริย์ สถาบันสงฆ์ สถาบันครู ข้าราชการ รัฐวิสาหกิจ และก่อให้เกิดความเลวร้ายทางอบายมุข อาชญากรรมต่างๆ ท่วมทับแผ่นดิน

สภาพการณ์ปัจจุบันประชาชนไม่ยอมรับการปกครองจากรัฐบาล และรัฐบาลก็ไม่สามารถปกครองประชาชนได้ แสดงให้เห็นเด่นชัดขึ้นทุกวันๆ ว่าผู้ปกครองไทยขาดปัญญาโดยธรรม ตกอยู่ในกรอบของระบอบการเมืองรวมศูนย์ (เผด็จการระบบรัฐสภา) การปกครองก็รวมศูนย์ จึงก่อให้เกิดปัญหาที่ยากจะแก้ไข  นี่คือเหตุแห่งปัญหา ปมเงื่อนของความเลวร้ายทั้งปวง

ระบอบการเมืองโดยธรรม จะเป็นศูนย์กลาง เป็นเอกภาพของปวงชนในชาติ และเป็นลักษณะทั่วไป คือระบอบฯ จะแผ่กระจายความถูกต้องดีงาม ความเสมอภาคทางโอกาส ความยุติธรรม ฯลฯ สู่ปวงชน ส่วนการปกครองนั้นจะต้องรวมศูนย์ แผ่กับรวมศูนย์จะเป็นปัจจัยให้ดำรงอย่างดุลยภาพ และก่อเกิดพลังความร่วมมือของปวงชนอย่างมหาศาลในการสร้างสรรค์ชาติ

อีกนัยหนึ่ง ระบอบการเมืองต้องแผ่กระจายอำนาจอธิปไตยของปวงชน แต่พวกเขากลับทำให้รวมศูนย์ ส่วนการปกครองต้องรวมศูนย์ เขากลับไปกระจาย เช่น การปกครองส่วนท้องถิ่น มีรูปธรรม คือเลือกนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด คือพยายามที่จะให้มีการแยกตัวออกจากการปกครองส่วนกลาง เป็นการเสริมให้ผู้คนในจังหวัดนั้นเกิดอัตตาตัวตนขึ้นรู้สึกรักจังหวัดตนแต่ไม่รักคนจังหวัดอื่น หรือรักแต่คนในศาสนาตน แต่ไม่รักคนในศาสนาอื่น จนก่อให้เกิดปัญหาวิกฤตชายแดนใต้, การโอนย้ายครูไปสังกัดองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น ฯลฯ มันผิดธรรม ผิดกฎธรรมชาติ ผิดไปจากสามัญสำนึกที่ถูกต้องโดยธรรม และเป็นการลดบทบาทผู้ว่าราชการจังหวัด อันเป็นข้าราชการใต้พระบารมี นัยนี้เป็นการรุกไล่ ท้าทายอำนาจราชอาณาจักร เพื่อมุ่งไปสู่สาธารณรัฐ (Republic)

การปกครองส่วนท้องถิ่นตามหลักที่ถูกต้อง จะต้องกึ่งรวมศูนย์กึ่งกระจาย กึ่งรวมศูนย์ คือจะต้องขึ้นต่ออำนาจส่วนกลาง ส่วนกึ่งกระจายเพื่อให้เกิดความรวดเร็วและสอดคล้องกับความต้องการของท้องถิ่นนั้นๆ

ระบอบการเมืองเป็นลักษณะทั่วไป จะต้องเป็นสิ่งที่ดีงาม เป็นศูนย์กลางของปวงชน  แต่เมื่อผู้ปกครองได้สร้างระบอบการเมืองขึ้นมาอย่างมิจฉาทิฏฐิ การแก้ปัญหาที่ปลายเหตุนอกจากจะแก้ปัญหาไม่ได้แล้ว จะเสียเวลาและสูญเปล่า ทั้งยิ่งทำให้ปัญหาลักษณะเฉพาะขยายตัวมากยิ่งขึ้น ส่วนแนวทางทางแก้ไข มีเพียงทางเอกทางเดียวเท่านั้นคือพระเจ้าแผ่นดิน ทรงมีพระราชกรณียกิจสถาปนาการปกครองแบบธรรมาธิปไตย

การสถาปนาหลักธรรมาธิปไตย

เป็นเรื่องใหญ่ที่สำคัญที่สุดของประเทศชาติ

ดำเนินไปได้อย่างราบรื่นและเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย

 

ทั้งยังเป็นภารกิจอันศักดิ์สิทธิ์ก็ด้วยพระราชกรณียกิจเท่านั้น

แก้ไขล่าสุด ใน วันอังคารที่ 27 พฤษภาคม 2014 เวลา 18:32 น.
 


หน้า 351 จาก 561
Home

About Us

ศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ (ศบม.) เป็นองค์กรที่พัฒนาและจัดทำโครงการเพื่อทำประโยชน์ให้สังคม เป็นองค์กรสนับสนุนการดำเนินงานของภาครัฐ ช่วยแก้ปัญหาผู้ประกอบการภาคธุรกิจบริการที่ขาดแคลนบุคลากรที่มีมาตรฐานในการให้บริการ
อ่านเพิ่มเติม

มูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ ์

 iHDC Profile
บัญชีรายชื่อกรรมการ
ใบสำคัญแสดงการจดทะเบียน การเปลี่ยนแปลงกรรมการของมูลนิธิ
เอกสารประชาสัมพันธ์ โครงการ HMTC.pdf
เอกสารแนะนำโครงการ HMTC 1.pdf
เอกสารโครงการ HMTC 2 คุณสมบัติผู้เข้าร่วมโครงการ.pdf
iHDC นิติบุคคล.pdf
iHDC บุคคล.pdf
iHDC บุคคลเครือข่าย.pdf
รายงานการประชุม 6 มีนาคม 2560.pdf
ข้อบังคับมูลนิธิ
ใบสำคัญแสดงการจดทะเบียนจัดตั้งมูลนิธิ
Ihdc-Profile and Roadmap 2016-2019 Mar 23 2560.pdf
รายงานการประชุมใหญ่คณะกรรมการมูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ 2559.pdf
คำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ สาขาวิชาชีพ.pdf
รายงานการประชุมใหญ่วันที่ 18 ธ ค 2558 v 3.pdf
รายงานการประชุม วันที่ 24 ธันวาคม 2557 updated 4 มีนาคม 2558.pdf
iHDC-invitation Letter.doc
iHDC-Member Form Thai.doc
iHDC-Member Form English.doc
รายงานการประชุมกรรมการมูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ วันที่ 15 มกราคม 2556 ฉบับสมบูรณ์


thaibetter
พัฒนาประเทศไทยแบบทวีคูณ และยั่งยืน ( ททค )

Login


แบบสำรวจ

สถิติเว็บไซด์

สมาชิก : 5644
Content : 3068
เว็บลิงก์ : 26
จำนวนครั้งเปิดดูบทความ : 8745945

facebook

Twitter


ล่าสุด

บทความเก่า