Thaiihdc.org

  • เพิ่มขนาดตัวอักษร
  • ขนาดตัวอักษรปกติ
  • สดขนาดตัวอักษร
Thaiihdc.org

คำนิยม หนังสือ อย่าเรียนหนังสือคนเดียว

พิมพ์ PDF

คำนิยม

หนังสือ อย่าเรียนหนังสือคนเดียว

โดย นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์

………………..

 

คุณหมอประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้ เป็นนักเขียนที่เขียนหนังสือได้หลายแนว และเป็นผู้มีความรู้หลายด้าน เป็นมนุษย์อัจฉริยะสำหรับผม ที่ผมยกย่อง และเจียมตัวว่าทำตามอย่างไม่ได้

หนังสือ อย่าเรียนหนังสือคนเดียว เป็นหนังสือรวมบทความที่ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์และนิตยสารต่างๆ รวม ๒๑ เรื่อง เลือกมาเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับเรื่องการศึกษาหรือการเรียนรู้ ด้วยความที่ผู้เขียนเป็นจิตแพทย์เด็ก เป็นนักดูหนัง นักอ่านและ นักวิจารณ์การ์ตูนทำให้หนังสือเล่มนี้มีสาระที่สนุกสนาน

ตอนที่สนุกที่สุดสำหรับผมคือเรื่องที่ ๘ การเล่นสมมติกับตอนที่ ๙ ยังเล่นกันเป็นอยู่มั๊ยเอ่ยซึ่งผมคิดว่ามีคุณค่าต่อพ่อแม่ที่มีลูกเล็กด้วยรวมทั้งต่อ ปู่ย่าตายายที่มีหลานเล็ก ผมถึงกับส่งบทความสองตอนนี้ไปให้ลูกสาวที่สิงคโปร์ เพราะเขามีลูกสาวอายุ ๓ ขวบ

ตอนที่ให้ความรู้ใหม่มากที่สุดสำหรับผมคือเรื่องที่ ๑๖ อย่าเรียนหนังสือคนเดียว ที่เล่าเรื่องวิวัฒนาการของมนุษย์ Homo sapiens ที่วิวัฒนาการมาจากมนุษย์ สปีชี่ส์ อื่น ก็ด้วยการพัฒนาความสามารถในการสร้างนวัตกรรม โดยการปรึกษาหารือกับคนอื่น ทำให้เกิดการสร้างสรรค์รวมหมู่ (collective creativity) เป็นที่มาของหลักการเรียนรู้ว่าต้องเรียนโดยมีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่น ที่เรียกว่า การเรียนรู้เป็นทีม (team learning) ซึ่งเป็นหลักการเรียนรู้แห่งศตวรรษที่ ๒๑

ตอนที่สะเทือนใจผมมากที่สุดคือ ตอนที่ ๑๘ ปัญหาระบบบริการเด็กสมาธิสั้น ผมเกิดความรู้สึกว่าเด็กจำนวนไม่น้อย ถูกกระทำจากระบบที่อ่อนแอ หรือเป็นระบบที่ผิด เรื่องนี้เป็นตัวอย่างของรอยต่อหรือจุดสัมผัสระหว่างระบบการศึกษา กับระบบสาธารณสุข ผมขอเสนอว่า คุณหมอประเสริฐเองนี่แหละที่น่าจะช่วยเด็กไทย โดยทำโครงการพัฒนานำร่อง ที่จังหวัดเชียงรายเพื่อพัฒนาระบบนี้ น่าจะขอการสนับสนุนทุนจาก สสส. ได้ โดยหากได้ดำเนินการจริง ควรมีคณะกรรมการชี้ทิศทาง เข้าไปร่วมแนะนำและเรียนรู้ เพื่อหาทางขยายผลสู่จังหวัดอื่นๆ

ผมเคยอ่านบทความที่บอกว่าบริษัทยามีเล่ห์กลชักจูงให้หมอใช้ยาในเด็กสมาธิสั้น (อ่านได้จากบทความเรื่อง Drugging the Vulnerable : Atypical Antipsychotics in Children and the Elderly ที่อ้างในบันทึก http://www.gotoknow.org/posts/446653) ผมมองว่านี่เป็นอาชญากรรม และไม่อยากเห็นเด็กไทยตกเป็นเหยื่อ หากมีการพัฒนาระบบบริการเด็กสมาธิสั้น ผมเชื่อว่าจะลดจำนวน “เด็กสมาธิสั้น” ลงไปได้มากมาย

ในเรื่องที่ ๒ การศึกษาคือการพัฒนามนุษย์ ช่วยทบทวนประสบการณ์ชีวิตของผมเกี่ยวกับมูลนิธิสดศรีฯ ที่ผมมีโอกาสร่วมด้วยตั้งแต่แรกในปี พ.ศ. ๒๕๓๗ และยิ่งมีปิติสุขเมื่อทราบว่าในช่วงฟื้นฟูมูลนิธินี้ การทำงานใช้ soft KM เป็นเครื่องมือสำคัญ ผมใช้เวลาในชีวิต ๕ - ๖ ปีทุ่มเททำงานพัฒนาเครื่องมือ KM ให้แก่สังคมไทย จึงย่อมจะรู้สึกมีความสุข เมื่อทราบว่า มีการนำเครื่องมือนี้ไปทำงานสำคัญเพื่อประโยชน์สาธารณะ

แผนงานพัฒนาจิตเพื่อสุขภาพ เป็นการจัดการเรียนรู้อย่างหนึ่ง เน้นการเรียนรู้ด้านใน เรียนรู้วิธีสร้างหรือสัมผัสความสุข ที่ซ่อนอยู่ในการทำงานเพื่อผู้อื่น หรือซ่อนอยู่ในมิติของความเป็นมนุษย์ ที่เรียกว่าการมีความสุขเมื่อได้เสียสละเพื่อผู้อื่น(altruism) ต้องใช้กระบวนการจัดการความรู้ แงะมันออกมาร่ายรำทำความสุขให้แก่ผู้ทำงาน ที่จริงการทำงานทุกชนิด สามารถตีความคุณค่า แก่ผู้อื่นหรือแก่ส่วนรวมได้ทั้งสิ้นสามารถนำวิธีการจัดการความรู้ด้านในออกมาสร้างสุขภาวะด้านใน หรือสุขภาพจิต ของผู้ทำงาน ได้ทั้งสิ้น

ในเรื่องที่ ๔ ชุมชนเรียนรู้ของครูมืออาชีพผมชอบที่ นพ. ประเสริฐบอกว่า PLC ที่แท้ขาดพ่อแม่เด็กไม่ได้ หลักการนี้เชื่อมโยงไปสู่หลักการในเรื่องที่ ๑๖ คือการเรียนรู้ที่ดีต้องเรียนแบบเชื่อมโยง หาทางใช้ความริเริ่มสร้างสรรค์รวมหมู่ และการริเริ่มสร้างสรรค์เพื่อเด็ก ย่อมเป็นสิ่งที่พ่อแม่ยินดีเข้าร่วม

สรุปความว่า ทุกตอนในหนังสือเล่มนี้สนุกและน่าตื่นตาตื่นใจทั้งสิ้นตอนที่ตื่นตาตื่นใจผมที่สุดคือเรื่องหนังการ์ตูน (ที่เป็นเรื่องชำนาญของผู้เขียน) เรื่องที่ ๑๒ โจทย์ปัญหาเรื่องกาเมร่า เพราะผมไม่เคยดูหนังการ์ตูนเลย ได้ความรู้ว่าหนัง การ์ตูนญี่ปุ่นชุดนี้เชื่อมโยงกับความอัดอั้นตันใจในสังคมญี่ปุ่นเกี่ยวกับการแพ้สงครามจากบทความนี้เอง และยิ่งทำให้ผมประทับใจในความรอบรู้ของคุณหมอประเสริฐ

หนังสือเล่มนี้อ่านง่าย เบาสมอง และสนุก ตามสไตล์ของผู้เขียน แต่ก็ให้ความประเทืองปัญญาด้วย เหมาะสำหรับคนที่เป็นพ่อแม่ เป็นครูและนักการศึกษา และสำหรับคนทุกคน เพราะคนทุกคนต้องเรียนรู้ตลอดชีวิต

วิจารณ์ พานิช

๑๕ เมษายน ๒๕๕๗

……………………..

บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย 

แก้ไขล่าสุด ใน วันพฤหัสบดีที่ 22 พฤษภาคม 2014 เวลา 09:43 น.
 

ชีวิตที่พอเพียง : ๒๑๖๓. ธุรกิจกับการยกระดับคุณภาพสังคม

พิมพ์ PDF

บทความธุรกิจกับการยกระดับคุณภาพสังคม เขียนโดย วิรไท สันติประภพ เขียนดีน่าอ่านอย่างยิ่ง บอกเราว่าบ้านเมืองของเรานั้นหวังพึ่งกลไกที่เคยทำหน้าที่มาในอดีต (การเมือง และราชการ) ได้น้อย ดร. วิรไท ตั้งความหวังไว้ที่ธุรกิจขนาดใหญ่ และเขียนเตือนสติธุรกิจขนาดใหญ่ ว่าการทำธุรกิจเพื่อยกระดับคุณภาพสังคม มีส่วนสำคัญต่อความยั่งยืนของธุรกิจ กล่าวคือ ต้องทำธุรกิจอย่างมีเป้าหมายระยะยาว

ผมคิดต่อ ว่าแม้คนเล็กคนน้อย ก็ควรทำมาหากินเป็นผู้ประกอบการรายย่อย ซึ่งก็คือทำธุรกิจนั่นเอง และต้องทำธุรกิจอย่างรับผิดชอบต่อสังคม ที่ควรทำคือรวมตัวกันทำธุรกิจ เรียนรู้ต่อเนื่อง และทำประโยชน์ให้แก่สังคม

สังคมดีไม่ใช่สิ่งที่รอคอย ไม่ใช่สิ่งที่เรียกร้องจากคนอื่น ตัวเราเองต้องเข้าไปมีส่วนสร้าง แม้เป็นคนเล็กคนน้อยก็มีส่วนสร้างได้ หลายคนเล็กคนน้อยรวมตัวกันช่วยกันสร้าง จุดเริ่มต้นคือตัวเราเอง ในส่วนที่เราทำได้ด้วยตัวเราเอง เช่นความซื่อสัตย์ ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ การเห็นแก่ส่วนรวม และที่สำคัญ ไม่โกง

อย่าเอาอย่างรัฐบาลทักษิณ ที่มียิ่งลักษณ์เป็นหุ่นเชิด ที่โกงชาติบ้านเมือง โกงอย่างมูมมาม

วิจารณ์ พานิช

๑๗ เม.ย. ๕๗

 

บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย 

แก้ไขล่าสุด ใน วันพฤหัสบดีที่ 22 พฤษภาคม 2014 เวลา 08:30 น.
 

Open Approach - วิธีประยุกต์การจัดการเรียนรู้แบบ Active Learning สู่การเรียนรู้ในศตวรรษที่ ๒๑

พิมพ์ PDF

 

ผมขอนำตอนหนึ่งในหนังสือ คู่คิด ครูเพลิน ของโรงเรียนเพลินพัฒนาแผนกประถม มาเผยแพร่วิธีการจัดการเรียนการสอนแบบ Active Learning ที่ล้ำลึกยิ่ง ดังต่อไปนี้

 

 

 

What : Open Approach คืออะไร?

 

Open Approach คือการจัดการเรียนรู้ที่ครูใช้โจทย์สถานการณ์ ปัญหาปลายเปิดในการขับเคลื่อนกระบวนการเรียนรู้ของผู้เรียน โดยที่ผู้เรียนแต่ละคนเป็นผู้นำเสนอวิธีการแก้ปัญหาของตน เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันในชั้นเรียน เพื่อเรียนรู้วิธีการคิดและวีธีการทำความเข้าใจทั้งของตนเองและของผู้อื่น ร่วมกัน

 

กระบวนการเรียนรู้แบบ Open Approach นั้นเป็นแนวคิดใหม่สำหรับประเทศไทยที่แตกต่างจากเดิม เพราะบทบาทของครูเปลี่ยนไปจากที่เน้นการบรรยายเนื้อหา การทำแบบฝึกหัดให้นักเรียนดูเป็นตัวอย่างและการ สรุปเนื้อหาที่เรียนในช่วงท้ายบทเรียน ไปสู่การเปิดชั้นเรียนที่ก่อแรงบันดาลใจ การใช้โจทย์สถานการณ์ปัญหา การส่งเสริมผู้เรียนให้ลองผิดลองถูกจนสามารถสร้างความรู้ขึ้นได้ด้วยตนเอง การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ การถอด บทเรียนที่นำไปสู่การประมวล สังเคราะห์ สรุป ความรู้ใหม่ร่วมกัน

 

 

 

Why : ทำไมต้อง Open Approach?

 

Open Approach เป็นกระบวนการเรียนรู้ที่ทำให้นักเรียนมีวิถีและวิธีการเรียนรู้ที่แตกต่างหลากหลาย เป็นการพัฒนาการเรียนรู้ของตนเองอย่างทั่วถึงเต็มศักยภาพของแต่ละคน ผู้เรียนได้ยกระดับความรู้ และ ระดับการเรียนรู้ร่วมกันผ่านการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ทำให้เกิดการเรียนรู้ในระดับสูงเกิดสมรรถนะฝังลึกที่จะเรียนรู้แก้ปัญหาและสร้างสรรค์ในเรื่องและ ในเงื่อนไขที่ตนยังไม่เคยรู้จักได้ด้วยตนเองและโดยกระบวนการกลุ่มจนเกิดการเปลี่ยนแปลงภายในตนเอง (Transformative Learning) ร่วมกัน ซึ่งจะทำให้ผู้เรียนเกิด อุปนิสัยและความสามารถในการเรียนรู้ตลอดชีวิต อันเป็นภารกิจหลักประการหนึ่ง ของโรงเรียนเพลินพัฒนาที่จะทำให้นักเรียนเป็นผู้มีความสามารถในการเรียนรู้ตลอดชีวิต

 

นอกจากนี้ Open Approach ยังเป็นกระบวนการเรียนรู้ที่ทำให้ครูสามารถเห็นศักยภาพ และสมรรถนะของผู้เรียนได้ชัดเจนเพียงพอ ที่จะนำไปปรับปรุงแผนการเรียนการสอน ปรับปรุงตัวผู้สอน ไปจนถึงเข้า ช่วยเหลือผู้เรียนได้อย่างทั่วถึง ซึ่งส่งเสริมให้กระบวนการ Lesson Study ดำเนินไปได้เป็นอย่างดี

 

 

 

How : ลำดับของกระบวนการเรียนรู้ในแนวทางของ Open Approach มีอะไรบ้าง?

 

งานสำคัญของครูในชั้นเรียน OpenApproach

 

๑. ขั้นแนะนำ

 

๒. ขั้นเปิดประเด็นโจทย์

 

๓. ขั้นแก้ปัญหาและ/หรือสร้างสรรค์

 

๔.ขั้นนำเสนอความรู้และแลกเปลี่ยนเรียนรู้

 

๕. ขั้นสรุป

 

 

 

ลำดับกระบวนการเรียนรู้ “Open Approach” ในแต่ละขั้นตอนเป็นอย่างไร?

 

๑) ขั้นแนะนำเป็นช่วงเวลาที่ครูช่วยสร้างภาวะพร้อมเรียนรู้การซึมซับคุณค่าแรงบันดาลใจ และ จุดมุ่งหมาย เพื่อเป็นการเปิดประตูใจ จินตนาการและการลงมือกระทำให้เกิดกับผู้เรียน

 

- ภาวะพร้อมเรียนรู้ คือภาวะที่จิตใจ ประสาทสัมผัสและ ร่างกายของผู้เรียนอยู่ในภาวะที่มีความตื่นทั่วพร้อมผ่อนคลายดำเนินอยู่ในสมดุลที่ดี

 

- การซึมซับคุณค่า หมายถึง การให้ประสบการณ์แก่ ผู้เรียนในการซึมซับความดี ความงาม ความจริงของสิ่งที่กำลังจะเรียน เป็นการเรียนรู้อย่างลึกซึ้งผ่าน สภาพแวดล้อม บรรยากาศ และกิจกรรมบางอย่าง โดย ไม่ต้องผ่านการคิดอย่างเป็นลำดับ

 

- แรงบันดาลใจคือแรงจูงใจแรงศรัทธาในการเรียนรู้ใน การแก้ปัญหาและในการสร้างสรรค์สิ่งที่กำลังจะเรียน

 

- จุดมุ่งหมาย คือ เป้าหมายที่ท้าทายและภาพจินตนาการที่ชัดเจนของผู้เรียนที่จะบรรลุผลสัมฤทธิ์ในสิ่งนั้น

 

๒) ขั้นเปิดประเด็นโจทย์ เมื่อผู้เรียนมีแรงขับเชิงบวกในการเรียนรู้ เนื่องจากการมีภาวะพร้อมเรียนรู้การซึมซับคุณค่า เกิดแรงบันดาลใจและการมีจุดมุ่งหมายที่ชัดเจน ก็เป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมที่ผู้เรียนจะต้องเผชิญกับเงื่อนไขหรือโจทย์หรือข้อจำกัดที่มีความเหมาะสม

 

ขั้นเปิดประเด็นโจทย์จึงเป็นช่วงเวลาที่ครูแจกเงื่อนไข หรือโจทย์ สำหรับแก้ปัญหา และ/หรือสร้างสรรค์ที่เหมาะสมให้แก่ผู้เรียน และเมื่อแรงขับพบกับเงื่อนไข หรือโจทย์หรือข้อจำกัดที่เหมาะสม จะเกิดเป็นความพยายามในการจัดการกับเงื่อนไขนั้นๆ จนก้าวผ่านไปสู่ผลสัมฤทธิ์ที่มุ่งหมาย และในกระบวนการนี้ผู้เรียนจะสร้างความรู้ความสามารถชุดใหม่ขึ้นมาด้วยตนเอง ซึ่งสิ่งนี้คือหลักการพื้นฐานของ “Active Learning” และ “Constructionism” ทุกประเภท

 

โจทย์ของ Open Approach มีลักษณะสำคัญดังนี้

 

๑. เป็นสถานการณ์หรือเงื่อนไขที่ผู้เรียนยังไม่เคยพบมาก่อน

 

๒. เป็นสถานการณ์หรือเงื่อนไขที่ผู้เรียนยังไม่มีความรู้ความสามารถเพียงพอที่จะแก้ปัญหาหรือ สร้างสรรค์ตามเงื่อนไขของโจทย์ได้ทันที

 

๓. มีความสัมพันธ์อย่างแนบแน่นกับความรู้ความสามารถที่ผู้เรียนสะสมอยู่ในตัว มีความยากพอเหมาะและนำไปสู่ การสร้างความรู้ความสามารถชุดใหม่ กล่าวคือ ถ้าผู้เรียนนำความรู้ความสามารถที่สะสมอยู่มาใช้ ในกระบวนการลองผิดลองถูกเปลี่ยนมุมมองและหาทางให้สุดความสามารถ (Heuristics) ก็จะสามารถแก้โจทย์หรือสร้างสรรค์ภายใต้เงื่อนไขของโจทย์นั้นได้ และพร้อมกันนั้นผู้เรียนก็ได้สร้างความรู้ความสามารถชุดใหม่ขึ้น ซึ่งเป็นการต่อยอด สังเคราะห์ หรือ ยกระดับขึ้นจากความรู้ ความสามารถเดิมที่สะสมมา

 

๔. มีความน่าสนใจเชื้อเชิญและท้าทายให้ผู้เรียนเข้าไปแก้ปัญหาหรือสร้างสรรค์ภายใต้เงื่อนไขนั้น

 

๕. มีลักษณะเปิดกว้างให้ผู้เรียนทดลองและค้นคว้า วิธีการที่หลากหลายและผลลัพธ์ที่อาจแตกต่างแต่ก็ ยังสามารถกำกับทิศทางและขอบวงของการเรียนรู้ให้เป็นไปตามแผนการเรียนรู้ได้

 

๓) ขั้นแก้ปัญหาและ/หรือสร้างสรรค์ เป็นช่วงเวลาที่ผู้เรียนลงมือแก้ปัญหาและ/หรือสร้างสรรค์ภายใต้เงื่อนไขของโจทย์ที่ได้มา (โดยมากมักเป็นงานเดี่ยวหรืองานกลุ่มขนาดเล็กเพื่อให้ผู้เรียนได้เผชิญกับเงื่อนไขของโจทย์ด้วยตนเองอย่างทั่วถึง) เมื่อผู้เรียนกำลังต่อสู้หรือจัดการกับเงื่อนไขหรือโจทย์ที่กาลังเผชิญด้วยแรงขับเชิงบวกนั้นผู้เรียนกำลังสร้างความรู้ความสามารถชุดใหม่ขึ้นด้วย ตนเอง

 

๔) ขั้นนำเสนอและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เป็นช่วงเวลาที่ผู้เรียนได้นำเสนอวิธีการ และผลของการแก้ปัญหา และ/หรือ การสร้างสรรค์ของตนกับเพื่อน และพร้อมกันนั้นก็เป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้วิธีการและผลลัพธ์ที่แตกต่างกันเพื่อร่วมกันศึกษา เปรียบเทียบ พิจารณา ประเมิน รวมถึงจัดระเบียบวิธีการและผลลัพธ์ที่แตกต่างเหล่านั้นขั้นนำเสนอและแลกเปลี่ยนเรียนรู้เป็นการเปิดศักยภาพ และ สมรรถภาพของผู้เรียนทุกคนเข้าหากัน หลอมรวมศักยภาพ และ สมรรถภาพของผู้เรียนทุกคนสู่การเรียนรู้ร่วมกัน เรียนรู้วิธีการเรียนรู้ที่แตกต่างร่วมกัน อีกทั้งยังเป็นการเรียนรู้ที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงภายในตัวของผู้เรียนอีกด้วย

 

๕) ขั้นสรุป เป็นช่วงเวลาที่ผู้เรียนแลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อสังเคราะห์ และยกระดับความรู้ใหม่ร่วมกัน

 

บทบาทสำคัญของครูในการจัดกระบวนการเรียนรู้แบบ Open Approach

 

๑) เปิดประตูผู้เรียนสู่การเรียนรู้ที่ขับเคลื่อนด้วยตัวผู้เรียนเอง

 

๒) ส่งเสริมดูแลเอาใจใส่ให้ผู้เรียนได้แก้ปัญหาและ/หรือสร้างสรรค์ ภายใต้เงื่อนไขของโจทย์อย่างทั่วถึงและต่อเนื่องโดยการหล่อเลี้ยงแรงขับจับประเด็นตั้งคำถามเพิ่มลดหรือปรับประสบการณ์ สนับสนุนอำนวยความสะดวกดูแลความเรียบร้อย แนะนำ ช่วยเพิ่มลดหรือปรับทรัพยากรฯลฯเพื่อให้ผู้เรียนได้นำความร้คูวามสามารถ ที่สะสมอยู่ออกมาใช้ให้มากที่สุดจนเกิดการสร้างความรู้ความสามารถชุดใหม่ขึ้น(constructionism) จากการลองผิดลองถูกเปลี่ยนมุมมองและหาทางให้ถึงที่สุดด้วยตนเอง(heuristics) และพร้อมๆกันนั้นครูยังช่วยจัดวางวิธีบันทึกความคิดความรู้สึก ความเข้าใจ บันทึกวิธีการ บันทึกผลลัพธ์ที่สัมพันธ์กับวิธีการช่วยตั้งคำถามช่วยตั้งประเด็นให้ผู้เรียน สังเกตเห็นและประเมินวิธีสร้าง ความเข้าใจและวิธีทำของตนเองในการแก้ปัญหาหรือการ สร้างสรรค์นั้นๆ(metacognition)

 

๓) ประเมินผู้เรียนในขณะเรียนรู้ โดยการมีสติตั้งใจฟังสังเกตและรู้สึก อย่างละเอียดอ่อนฉับไวและแม่นยำ เพื่อหยั่งให้ถึงภาวะการนำความรู้ความสามารถออกมาใช้ ภาวะการสร้างความรู้ความสามารถชุดใหม่แรงบันดาลใจวิถีการเรียนรู้วิธีการเรียนรู้ อาการเข้าใจ ขอบเขตและคุณภาพของความเข้าใจพลังความสามารถและ ข้อจำกัดของผู้เรียนแต่ละคนในขณะที่กำลังเรียนรู้ผ่านการแก้โจทย์ หรือการสร้างสรรค์ภายใต้เงื่อนไขของโจทย์ เป็นการประเมินเพื่อ พัฒนาอย่างฉับพลันทันทีไม่ใช่การประเมินเพื่อตัดสิน

 

๔) ตอบสนองต่อผลการประเมินนั้นอย่างเหมาะสมและทันเวลา โดยการตั้งคำถามจับประเด็นให้คำแนะนำ ให้ตัวอย่างอำนวยความช่วยเหลือฯลฯที่เหมาะสมกับผู้เรียนแต่ละคนอย่างสงบ มีสติในจังหวะที่เหมาะสมทันท่วงทีเพื่อช่วยให้ผู้เรียนหลุดจากภาวะติดขัดหรือการเข้าใจผิดหรือช่วยให้ผู้เรียนเข้าสู่การเรียนรู้ที่กว้างขวาง ลึกซึ้งมากขึ้นและดำเนินการแก้ปัญหาหรือสร้างสรรค์ต่อไปได้อย่างราบรื่น

 

๕) ขับเคลื่อนและปรับพฤติกรรมผู้เรียนด้วยวิธีการเชิงบวก เมื่อมีผู้เรียนบางคนที่ไม่อยู่ในภาวะพร้อมเรียนหรือติดขัดอย่างมากหรือมีพฤติกรรมที่ไม่ส่งเสริมการเรียนรู้ หรือรบกวนการเรียนรู้ของเพื่อน ครูจะขับเคลื่อนและปรับพฤติกรรมผู้เรียนนั้นด้วยวิธีการเชิงบวก ทั้งนี้ เพื่อรักษาแรงจูงใจด้านบวกของผู้เรียนคนนั้นและรักษา บรรยากาศเชิงบวกของชั้นเรียนเอาไว้ให้ต่อเนื่อง

 

การเรียนรู้ในศตวรรษที่ ๒๑ ชั้นเรียนต้องมีสภาพดังที่บรรยายข้างบน และครูต้องมีทักษะดังที่ บรรยายข้างบน ขอขอบคุณครูศีลวัต และครูวิมลศรี ศุษิลวรณ์ ที่อนุญาตให้นำมาเผยแพร่

 

วิจารณ์ พานิช

 

๑๔ เม.ย. ๕๗

 

บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย Prof. Vicharn Panich

 

แก้ไขล่าสุด ใน วันอังคารที่ 20 พฤษภาคม 2014 เวลา 17:28 น.
 

ชีวิตที่พอเพียง : ๒๑๖๑. กวาดล้างอำนาจทมึนออกจากหัวใจ

พิมพ์ PDF

 

สังคมไทยเป็นสังคมอำนาจ มีอำนาจแนวดิ่งกดทับผู้คนอยู่โดยไม่รู้ตัว มีผลให้ผู้คนขาดอิสรภาพ ไม่กล้าแสดงความเป็นตัวตนของตนเอง สภาพเช่นนี้ไม่สอดคล้องกับยุคสมัย ที่อยู่ในศตวรรษที่ ๒๑ ที่ผู้คนจะอยู่ดีได้ด้วยความริเริ่มสร้างสรรค์นวัตกรรม และด้วยบรรยากาศแห่งอิสรภาพ เสรีภาพ ที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมเป็นตัวกำกับ

 

คนไทยทุกคนจึงต้องเรียนรู้ทักษะในการกวาดล้างอำนาจทมึนออกจากหัวใจ กวาดล้างสิ่งกดทับทั้งหลายออกไป ไม่ให้มันลดทอนมิติของความเป็นมนุษย์ของเรา รวมทั้งต้องระมัดระวังตัวเอง ให้ไม่ไปกดทับคนอื่นโดยไม่ตั้งใจหรือไม่รู้ตัว ยิ่งผู้สูงอายุอย่างผมยิ่งต้องระวัง เพราะสังคมไทยเชื่อถือวัยวุฒิมากเกินไป

 

ในโลกที่เปลี่ยนแปลงรวดเร็วและคาดเดาไม่ได้ “ความจริง” มันดิ้นได้ หรือกล่าวในภาษาสละสลวยว่า “เป็นพลวัต” (dynamic) จริงวันนี้ในสถานการณ์นี้ ในวันข้างหน้าไม่นาน และสถานการณ์ต่างออกไป ความจริงนั้นกลับใช้ไม่ได้

 

ยิ่งกว่านั้น “ความจริง” มันมีความลึกและความเชื่อมโยง ซับซ้อนยุ่งเหยิง และมักมีคนเอา “มายา” มาพ่วงหรือโดยสาร “ความจริง” นั้น ในบางกาละเทศะ กลายเป็น “ความจริงปนมายา” ตัวอย่างคือคำโฆษณาทั้งหลาย

 

ชีวิตคือการเรียนรู้ เป็นการเรียนรู้ตลอดชีวิต เพื่อให้รู้ทัน “ความจริง” ทั้งหลาย

 

หนังสือทางการศึกษา ชื่อ Teaching at Its Bestบอกว่า วุฒิภาวะด้านการเรียนรู้ของคนเรา บรรลุจุดสูงสุดเมื่อตระหนักว่า “ความรู้เป็นมายา” ไม่ควรยึดมั่นถือมั่น แต่จะพัฒนาถึงขั้นตอนนี้ ซึ่งเป็นขั้นตอนที่ ๙ ต้องผ่านขั้นตอนต้นๆ มาก่อน ตั้งแต่เริ่มต้น ที่การมองโลกเป็นสองขั้ว ถูก-ผิด ขาว-ดำผ่านสู่ความเข้าใจว่ามีมากขั้ว หรือเป็น spectrum จนยึดมั่นถือมั่นความคิด บางแบบ และนำแนวคิดแบบนั้นไปทดลองใช้ในสถานการณ์ต่างๆ จนในที่สุดตระหนักด้วยตนเองว่าความรู้ที่แน่นอนตายตัวนั้น ไม่มี

 

การเรียนรู้ที่แท้ เป็นการเดินทางเข้าสู่มหาสมุทรแห่งความรู้ จนในที่สุดหลุดพ้นจากอำนาจกดทับของความรู้ ในทำนอง “อยู่ในน้ำโดยไม่เปียกน้ำ”

 

สารสนเทศ ความรู้ และปัญญา เป็นสิ่งไม่ควรยึดมั่นถือมั่น

 

วิจารณ์ พานิช

 

๑๔ เม.ย. ๕๗

 

บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย Prof. Vicharn Panich

 

แก้ไขล่าสุด ใน วันอังคารที่ 20 พฤษภาคม 2014 เวลา 17:23 น.
 

ร้อยเรียงงาน....ร้อยเรียงคน

พิมพ์ PDF

 

ย่างเข้าสู่ปีที่ 2 ของการทำงานในมหาวิทยาลัย คำว่า "อาจารย์" ก็ยังเป็นสิ่งที่ฉันไม่คุ้นเคย ย้อนกลับไปนึกถึงปีแรกที่เข้ามาทำงาน ชีวิต จิตใจฉันทุ่มไปที่หนังสือ ทุ่มไปที่เนื้อหาวิชาที่ฉันต้องสอน ความเครียด ความกังวล ที่จะต้องนำสาระสำคัญของวิชาที่มีอยู่มากมาย อัดๆๆ ลงไปในวิชาที่ฉันรับผิดชอบ สอนให้ครบ สอนให้หมด สอนให้จบ นั่นคือเป้าหมายของฉัน ณ ขณะนั้น ทว่าผลสัมฤทธิ์ของการเรียนของนักศึกษาที่ได้มานั้น ไม่ได้เป็นไปอย่างที่ฉันคาดการณ์ไว้ ฉันกลับมาทบทวนตัวเองนี่ฉันพลาดอะไรไปไหม ทำไมนักศึกษาจึงเรียนไม่รู้เรื่อง ทำไมนักศึกษาจึงทำข้อสอบไม่ได้ ฉันก็สอนแบบที่ฉันเรียนมานี่นา มันไม่น่าจะมีอะไรผิดพลาด.....

 

แล้วฉันก็ได้พบหนทางอีกทางหนึ่ง ฉันได้เข้าอบรมจิตตปัญญาศึกษา ณ ที่แห่งนั้นทำให้ฉันได้ทบทวนตัวเอง ได้ทบทวนอีกความหมายหนึ่งในการทำงาน ในอดีต...ฉันเริ่มต้นงานสอนของฉัน ด้วยจิตใจที่เป็นกังวลต่อความรู้ กลัวว่าฉันจะส่งต่อความรู้ไปยังผู้เรียนได้ไม่พอ สิ่งสำคัญที่สุดของฉัน ณ ตอนนั้นคือเนื้อหา ไม่ใช่ผู้เรียน สิ่งที่ฉันคิดว่าต้องทำให้ดีที่สุด คือส่งต่อความรู้ให้ครบถ้วนมากที่สุด ด้วยวิธีการเดียวกับที่ฉันได้รับมา มันเป็นช่วงเวลาที่ฉันรู้สึกอึดอัด

 

จิตตปัญญาศึกษาทำให้ฉันได้มองเห็นคน มองเห็นความแตกต่างของแต่ละคน มองเห็นสัมพันธภาพ มองเห็นการเรียนรู้ของแต่ละคนที่ต้องเกิดมาจากภายใน ฉันเริ่มค้นหาแนวทางในการเรียนรู้ ฉันเริ่มมองหารูปแบบ มองหาวิธีการใหม่ๆ ที่จะทำให้ฉันเข้าถึงผู้เรียนได้ ความกังวลในเนื้อหาค่อยคลายลง เพราะฉันเห็นว่าการเรียนรู้ที่แท้จริงนั้นต้องมาจากภายในผู้เรียน กระบวนการ วิธีการในการนำผู้เรียนเข้าไปสู่ความรู้นั้นต่างหากเป็นเรื่องใหญ่ ภาคการศึกษาที่ 2 ในการสอนของฉัน จึงเป็นเหมือนห้องทดลองเล็กๆ ฉันหันกลับมาเรียนรู้ผู้เรียน ประยุกต์เอาวิธีการการเรียนการสอนแบบต่างๆ เข้ามาใช้ พยายามจดบันทึก(การทดลอง)นี้ไว้ ฉันสนุกกับงานขึ้นมาอย่างมาก สัมพันธภาพระหว่างฉันกับผู้เรียนเกิดขึ้นมา ร้อยเรียงเป็นชุมชนแห่งการเรียนรู้ และฉันก็เรียนรู้ว่าไม่มีอะไรที่สมบูรณ์แบบ แต่ก็ไม่มีอะไรที่จะเสียประโยชน์ การก้าวย่างในงานของฉัน จะต้องถูกพัฒนาเป็นวงจรอย่างต่อเนื่่อง เป็นการเรียนรู้ที่จะไม่สิ้นสุด

 

จนถึงขณะที่บันทึกอยู่นี้ ฉันรู้สึกขอบคุณ รู้สึกดีกับประสบการณ์ที่ผ่านมา แม้ว่าจะไม่สมบูรณ์ แต่ก็คืออีกหนึ่่งสิ่งในการเรียนรู้

 

บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย จิตศิรินf

 

แก้ไขล่าสุด ใน วันจันทร์ที่ 19 พฤษภาคม 2014 เวลา 19:36 น.
 


หน้า 355 จาก 561
Home

About Us

ศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ (ศบม.) เป็นองค์กรที่พัฒนาและจัดทำโครงการเพื่อทำประโยชน์ให้สังคม เป็นองค์กรสนับสนุนการดำเนินงานของภาครัฐ ช่วยแก้ปัญหาผู้ประกอบการภาคธุรกิจบริการที่ขาดแคลนบุคลากรที่มีมาตรฐานในการให้บริการ
อ่านเพิ่มเติม

มูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ ์

 iHDC Profile
บัญชีรายชื่อกรรมการ
ใบสำคัญแสดงการจดทะเบียน การเปลี่ยนแปลงกรรมการของมูลนิธิ
เอกสารประชาสัมพันธ์ โครงการ HMTC.pdf
เอกสารแนะนำโครงการ HMTC 1.pdf
เอกสารโครงการ HMTC 2 คุณสมบัติผู้เข้าร่วมโครงการ.pdf
iHDC นิติบุคคล.pdf
iHDC บุคคล.pdf
iHDC บุคคลเครือข่าย.pdf
รายงานการประชุม 6 มีนาคม 2560.pdf
ข้อบังคับมูลนิธิ
ใบสำคัญแสดงการจดทะเบียนจัดตั้งมูลนิธิ
Ihdc-Profile and Roadmap 2016-2019 Mar 23 2560.pdf
รายงานการประชุมใหญ่คณะกรรมการมูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ 2559.pdf
คำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ สาขาวิชาชีพ.pdf
รายงานการประชุมใหญ่วันที่ 18 ธ ค 2558 v 3.pdf
รายงานการประชุม วันที่ 24 ธันวาคม 2557 updated 4 มีนาคม 2558.pdf
iHDC-invitation Letter.doc
iHDC-Member Form Thai.doc
iHDC-Member Form English.doc
รายงานการประชุมกรรมการมูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ วันที่ 15 มกราคม 2556 ฉบับสมบูรณ์


thaibetter
พัฒนาประเทศไทยแบบทวีคูณ และยั่งยืน ( ททค )

Login


แบบสำรวจ

สถิติเว็บไซด์

สมาชิก : 5644
Content : 3068
เว็บลิงก์ : 26
จำนวนครั้งเปิดดูบทความ : 8745989

facebook

Twitter


ล่าสุด

บทความเก่า