Thaiihdc.org

  • เพิ่มขนาดตัวอักษร
  • ขนาดตัวอักษรปกติ
  • สดขนาดตัวอักษร
Thaiihdc.org

ชีวิตที่พอเพียง : ๒๑๐๘. สัปดาห์แห่งการรับใช้มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลฯ(๔) วันที่สองของ PMAC 2014

พิมพ์ PDF

หลังเดินออกกำลังตอนเช้า ผมรีบรับประทานอาหาร อาบน้ำ แล้วไปร่วมประชุม debrief (AAR) ตามคำสั่งของ ดร. ตวง (วลัยพร)    ที่นัดทีม rapporteur ไทย มาเล่าประเด็นในแต่ละ session ที่ตน capture ได้     เห็นได้ชัดเจนว่าการประชุมนี้ให้การเรียนรู้ดีมาก    อ. หมอภิเศกและผมจึงเสนอให้เชิญทีมคณะทำงานปฏิรูป HPER ที่เพิ่งจัดทีมเมื่อ ๒ สัปดาห์ก่อน มาร่วม ลปรร. ด้วย    ตอนเย็นวง debriefing จึงใหญ่ขึ้นมาก

PL 3 Achieving Universal Health Coverage : Addressing Health Workforce Inequity ความไม่เท่าเทียมมีทั้งภายในประเทศ ระหว่างเมืองกับชนบท    และมีความไม่เท่าเทียมกันระหว่างประเทศด้วย    วิธีการที่จะให้มีบุคลากรสุขภาพในพื้นที่ชนบทห่างไกล    คือเอาการศึกษาไปไว้ที่นั่น   จัดหลักสูตรการเรียนรู้ ให้ได้ฝึกงานในพื้นที่   ให้คนที่จบเป็นบัณฑิต และทำงานในพื้นที่ ได้มีลู่ทางเจริญก้าวหน้าจากการทำงาน ในพื้นที่นั้น    ทั้งความก้าวหน้าในการเรียนรู้ ฝึกอบรมวิชาชีพต่อเนื่อง    และความก้าวหน้าในอาชีพการงาน

ฝ่ายการศึกษาต้องมีบทบาทในบริการสุขภาพของพื้นที่    รวมทั้งต้องใช้ระบบข้อมูล เพื่อการจัดการ และพัฒนาระบบสุขภาพในพื้นที่   เรื่องระบบข้อมูลนี้ ผู้นำเสนอเรื่อง iHRIS จากโครงการ CapacityPlus เล่าว่า ระบบข้อมูลนี้ ทำให้ตรวจพบบุคลากรผี ๑ หมื่นคนในสาธารณรัฐโดมินิกัน

เขาไม่ได้พูดเรื่องความไม่เท่าเทียมระหว่างประเทศ    เพราะเอาไปไว้ตอนบ่าย ใน PL 4

PS 3.4 A New Era for Health Professional Education Through Innovative Technologies ผมไปเข้าฟังเพราะอยากรู้พัฒนาการใหม่ๆ ในการใช้เทคโนโลยีเพื่อเปลี่ยนโฉมการศึกษา    การประชุมเริ่มด้วย ปาฐกถานำสั้นๆ โดย Julio Frank ซึ่งกล่าวว่า IT ช่วย ๓ อย่าง  (๑) ช่วยให้เข้าถึงเนื้อความรู้ได้ง่ายขึ้น  (๒)​ทำให้เรียนรู้จริง ผ่าน SPOCSFlipped Classroom (๓) เชื่อมโยงได้ทั้งโลก

ศ. ฮูลิโอ เฟร๊งค์ บอกว่า ท่านไม่ชอบคำว่า Massive ใน MOOC (Massive Open Online Course)    เพราะมันส่งสัญญาณผิดว่าเน้นใช้ ไอซีที เพื่อเข้าถึงคนจำนวนมาก    แต่คุณค่าที่แท้จริงอยู่ที่เป็นการใช้ ไอซีที เพื่อการเรียนแบบที่เป็นความผูกพัน (Engaged Learning) ของ นศ.   ซึ่งหมายความว่า ประกอบด้วย ๓ องค์ประกอบ  (1) active,  (2) interactive และ (3) self-paced    และทำให้เกิด Blended Learning คือมีทั้ง onsite และ online ทำให้เกิด community of learners เชื่อมโยงกับโลก  ​

คือหากใช้เป็น ไอซีที จะช่วยให้เกิดการเรียนรู้ทั้งแบบ personalized และแบบ massive ที่เป็นขั้วตรงกันข้าม

Dr. Najeeb Al-Shorbaji, WHO, Director Department of Knowledge, Ethics and Research เล่าเรื่อง eLearning ยืดยาว และในเอกสารประกอบการประชุมก็มีรายละเอียดมาก    ผมลองค้นในเว็บไซต์ของ WHO พบ ที่นี่

ความก้าวหน้าของ ICT ทำให้ eHealth และ eLearning ก้าวหน้าไปมาก    การที่ นศ. ไปเรียนโดย การทำงานในพื้นที่ห่างไกลก็ไม่ห่างจากการติดตามให้คำแนะนำของอาจารย์

ผมได้เรียนรู้ว่า เวลานี้มี Khan Academy Healthcare & Medicine แล้ว    ช่วยเอื้อต่อการเรียนแบบ personalized และ flip classroom

ที่น่าสนใจมากคือ Lee Kong Chain School of Medicine ของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีนานยาง สิงคโปร์ ที่ร่วมมือกับ Imperial College, London   ที่ออกแบบหลักสูตรทั้งหลักสูตรให้มี ICT platform เป็น eLearning   แบบที่มี Schedule, Resource Bank และ Exam Bank อยู่บน iPad ของ นศ. แต่ละคน    และจะเก็บข้อมูลไว้ ตั้งแต่เข้าเรียน จนจบหลักสูตรได้ปริญญา    ฟังแล้ว จะเป็นโรงเรียนแพทย์ที่โมเดิร์นสุดๆ    แต่เขาก็เพิ่งเริ่มปีนี้เอง     ผมนึกอยู่ในใจว่า การที่หลักสูตรและการเรียนการสอนมีกรอบขนาดนี้ ขัดหลักการ open architecture อย่างยิ่ง

ฟัง session นี้แล้ว ผมคิดว่า มหาวิทยาลัยไทยควรร่วมกันสร้างระบบ ไอซีที เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ แบบ transformative, community-based, authentic learning   ที่มีการ โค้ช ใกล้ชิดผ่าน eCoaching, eEmbedded Formative Assessment

PL 4 Impact of Globalization of Health Market on Health Workers and Health Professional Education เป็น session ที่ธนาคารโลกเป็นโต้โผ

เขาบอกว่า เรื่องตลาดแรงงานบุคลากรสุขภาพเป็นตัวอย่างร้ายที่สุดของความล้มเหลวของตลาด (market failure) คือปล่อยให้ตลาดทำงานอย่างอิสระไม่ได้   ประเทศรวยจะแย่งคนไปจากประเทศยากจน    อย่างที่เป็นอยู่ ในเวลานี้    เขาเรียกว่า ปัญหา international migration ของบุคลากรสุขภาพ

องค์การอนามัยโลก พยายามแก้ปัญหา โดยการออก  WHO Global Code of Practice on the International Recruitment of Health Personnel ซึ่งก็ไม่มีประเทศไหนปฏิบัติตาม    ปัญหายังคงดำรงอยู่ ไม่ดีขึ้นเลย    ทางสหรัฐอเมริกาเองก็เข้าไปช่วยประเทศในอัฟริกา ผลิตบุคลากรสุขภาพเพิ่มขึ้น    แล้วส่วนหนึ่งของบุคลากร เหล่านั้นก็ไหลไปทำงานในสหรัฐอเมริกา    เท่ากับคล้ายๆ ไปลงทุนผลิตบุคลากรในต่างประเทศ เพื่อเอาไปใช้ในประเทศของตนเอง

ต้นตอของปัญหาคือ โลกผลิตบุคลากรสุขภาพไม่พอใช้    ประเทศรวยเอง ซี่งมีเงินลงทุนผลิต ก็ผลิตไม่พอใช้สำหรับประเทศของตนเอง    แม้จะไม่พยายามดูดไปจากประเทศยากจน    บุคลากรเหล่านั้น ก็ย่อมอยากไปอยู่ในที่ที่คุณภาพชีวิตของตนดีกว่า     หากไม่มีการปลูกฝังเลือดรักชาติ หรือเห็นแก่ประโยชน์ของเพื่อนร่วมชาติให้เข้มข้น

ผมว่า วิธีแก้ที่ชะงัดคือ ผลิตบุคลากรให้มีคุณสมบัติตามความต้องการของท้องถิ่น    อย่าไปเน้น มาตรฐานสากล    ซึ่งเขียน/คิดแบบนี้ คนที่เน้นวิชาชีพนิยมก็จะไม่พอใจ

PS 4.1 Transforming Health Professional Schools Thorugh Faculty Development ผมจ้องไปเข้า session นี้ เพราะสนใจเรื่องการพัฒนาอาจารย์

องค์การอนามัยโลกได้เผยแพร่เอกสาร Transforming and Scaling up Health Professional Education and Training ซึ่งคณะวิชาด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพทุกแห่งควรศึกษา และเอามาทำความเข้าใจร่วมกันในหมู่ผู้บริหาร และคณาจารย์    สำหรับนำข้อคิดเห็นในเอกสารนี้มาใช้ประโยชน์

ผมสนใจ FAIMER Fellowship และ Master’s Program สำหรับฝึกอาจารย์ ที่เน้น online learning เป็นสำคัญ    ไปเรียนแบบ face to face เพียงปีละ ๑ - ๒ สัปดาห์เท่านั้น    จุดสำคัญคือ ได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของ Community of Practice ของอาจารย์จากทั่วโลก    ผมอยากให้มีอาจารย์ไทยไปร่วมสักปีละ ๑ - ๒ คน    เพื่อสร้างนักวิชาการด้านการพัฒนาอาจารย์

ประเด็นสำคัญของอาจารย์ในวิชาชีพสุขภาพคือ ต้องเป็น ๓ อย่างในเวลาเดียวกัน คือ (1) teacher เพื่อจัดการเรียนรู้  (2) scholar เพื่อสร้างความรู้  (3) leader เพื่อการเปลี่ยนแปลง

Debriefing ของทีม rapporteur ไทย ร่วมกับคณะทำงาน HPER    นำโดย ดร. ตวง ใช้เวลา ๑ ๑/๒ ชม. (๑๘.๐๐ - ๑๙.๓๐ น.)  ให้ความรู้มาก เพราะแต่ละคนเข้า PS (Parallel Session) ได้เพียงเรื่องเดียว    จึงได้ฟังการสรุปของห้องอื่นด้วย    รวมทั้งได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ (ลปรร.) reflection ของผู้เข้าฟังห้องนั้นด้วยกัน   เห็นได้ชัดเจนว่าแต่ละคนจับประเด็น ได้ไม่ครบ หรือไม่ลึกพอในบางส่วน    เมื่อมีการ ลปรร. กัน ต่างก็ได้ประโยชน์

 

 

วิจารณ์ พานิช

๓ ก.พ. ๕๗

 

 

บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย 

แก้ไขล่าสุด ใน วันเสาร์ที่ 15 มีนาคม 2014 เวลา 20:35 น.
 

ชีวิตที่พอเพียง : ๒๑๐๙. สัปดาห์แห่งการรับใช้มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลฯ(๕) วันสุดท้ายของ PMAC 2014

พิมพ์ PDF

9.00 – 10.00 Synthesis : Summary, Conclusion & Recommendation  เป็นการนำเสนอของทีม rapporteur ที่มี นพ. วิโรจน์ ตั้งเจริญเสถียร เป็นหัวหน้า    นำเสนอโดย Akiko Maeda จากธนาคารโลก    ซึ่งนำเสนอได้กระชับ ชัดเจน และครบถ้วน เป็นที่ประทับใจยิ่ง    โดยมีคนเสนอประเด็นที่ยังตกหล่นไปบ้าง หรือยังเน้นไม่หนักพอบ้าง    ดู ppt สรุป ที่นี่ และฟังเสียงการนำเสนอ และ ข้อเสนอแนะ ที่นี่

PL 5 Reaffirming Commitment / Visioning the Future เป็นการเชื่อมโยงข้อสรุปจากการประชุม สู่การทำงานระยะยาวต่อเนื่อง    ให้เกิดผล transform HPE สู่ Health Equity ได้จริง    ซึ่งหัวใจคือความร่วมมือกัน ทำงานออกไปนอกพรมแดนของตนเองที่คุ้นเคย    แต่เรื่องนี้พูดง่ายทำยาก และต้องคำนึงถึงสภาพแวดล้อม ของแต่ละประเทศแต่ละสังคม ที่แตกต่างกัน 

ที่จริง session นี้ เป็นพื้นที่สำหรับให้ partner ใหญ่ เช่น WHO, WB มาพูดยืนยันความเอาจริงเอาจัง ของตน    สิ่งที่เราไม่อยากเห็นคือ จบการประชุมก็จบกัน    เราอยากเห็นการประชุมเป็นจุดเริ่มต้นของการทำงาน เพื่อบรรลุเป้าหมาย    ซึ่งในที่นี้คือ ความเป็นธรรม ด้านสุขภาพ

ยุทธศาสตร์หนึ่งที่น่าสนใจ คือใช้ social determinants of health เป็นตัวเดินเรื่อง ทำงานร่วมกันระหว่าง หลายวิชาชีพ และระหว่างฝ่ายระบบสุขภาพ กับฝ่ายการศึกษา     ซึ่งผมคิดว่าต้องเชื่อมโยงออกไปร่วม กับฝ่ายพัฒนาประเทศในภาพรวม ซึ่งของเราคือสภาพัฒน์ฯ  และกระทรวงการคลังด้วย     ยุทธศาสตร์ที่ย่อมลงมาคือใช้ UHC เป็นตัวเดินเรื่อง

Closing SessionRecognition for Excellence in Health Profession Educators

เริ่มด้วยการแสดงศิลปะเงาแสดงการต่อตัวคนเป็นรูปต่างๆ      ตามด้วยพิธีมอบโล่แก่นักการศึกษา ตัวอย่าง ๗ คน ที่มีผู้เสนอชื่อและผลงาน   แล้วคณะกรรมการคัดเลือกที่มี ศ. คุณหญิง กอบจิตต์ ลิมปพยอม เป็นประธานกรรมการ ทำหน้าที่ตัดสิน

ตามด้วยพิธีปิด ที่นักเต้นมาเต้นตามจังหวะเพลงที่แต่งสำหรับการประชุมครั้งนี้    และเชิญแขกต่างประเทศไปปิดภาพวาดจากการประกวดศิลปะของงาน    ให้ความครึกครื้นประทับใจ

ขอบันทึกไว้ว่า นวัตกรรมใหม่สำหรับการประชุมครั้งนี้คือมี App ทั้งของ iPad, iPhone และของ Android ใช้ access สารสนเทศของการประชุม   ชื่อ PMAC 2014    ให้ความสะดวกมาก

ตอนรับประทานอาหารเที่ยง ผมเข้าร่วมประชุม WHO – ANHER Lunch Meeting เพื่อหารือการทำงานร่วมกันต่อเนื่อง    ส่วนทีม rapporteur ไทย และคณะทำงาน HPER ไทย ก็ไปนั่งรับประทานอาหารและทำ debriefing กันต่อ

ตอนบ่ายเป็น PMAC 2014 IOC – PMAC 2015 IOC Joint Meeting เพื่อสรุปผลงานปีนี้ และเตรียมงานปีหน้าทันที    โดยตกลงกันได้แล้วว่า ปีหน้าจะเป็นเรื่อง Global Health เน้นที่ ๓ ประเด็น คือ Governance, Financing และ ... มีการระดมความคิดตั้งชื่อการประชุมทั้งในห้องประชุม และใน e-mail loop หลังการประชุมคึกคักมาก    โดยคงจะไปตกลงกันได้ในการประชุม Joint Secretariat ที่ เจนีวา กลางเดือนนี้

ทีมคณะทำงาน HPER ไทย นัดประชุม Retreat เพื่อวางยุทธศาสตร์ และแผนการทำงานทันที    นัดวันที่ ๒๒ - ๒๔ ก.พ. ๕๗

เป็นการประชุม PMAC ที่ผมสนุกที่สุด    และจะมีส่วนหนุนการทำงานต่อเนื่องจากการประชุม ได้มากที่สุด

 

 

วิจารณ์ พานิช

๔ ก.พ. ๕๗

แก้ไขล่าสุด ใน วันเสาร์ที่ 15 มีนาคม 2014 เวลา 20:39 น.
 

ชีวิตที่พอเพียง : ๒๑๐๔. ทบทวนตนเองในช่วงวิกฤติการเมืองไทย

พิมพ์ PDF

เมื่อเกิดเหตุการณ์ร่าง พรบ. นิรโทษกรรมฉบับสุดซอย    ผมเริ่มเขียน บล็อก คัดค้าน เมื่อวันที่ ๓๑ ต.ค. ๕๗ ที่นี่ เป็นเวลาเกือบ ๓ เดือน

จุดยืนของผมคือ ต่อต้านคอรัปชั่น    โดยอาศัยหลักฐานจากโครงการรับจำนำข้าว ที่ผมเขียน บล็อก คัดค้านเปิดโปงมาตลอด     แต่ก็ไม่รู้ว่าวิธีโกงกินเขาทำกันอย่างไร

เมื่อวันที่ ๒๕ ม.ค. ๕๖ ผู้ใหญ่ที่คนรู้จักกันทั้งเมือง และเคยทำงานรับใช้รัฐบาลทักษิณมาก่อน    บอกผมว่า วิธีโกงกินง่ายนิดเดียว คือรัฐบาลขายข้าวสารผ่านบริษัทของ เจ๊ D    ในราคาต่ำ เช่นสมมติว่า รัฐบาลขายให้ ก.ก. ละ ๑๐ บาท    บริษัทเจ๊ D เอาไปขายต่อ ๑๓ บาท    ท่านบอกว่าลองคูณดูเถิด ว่าผลประโยชน์มันมากแค่ไหน

วิกฤติการเมืองครั้งนี้ ก่อความสูญเสียทางเศรษฐกิจน่าจะเป็นแสนล้านบาท     แต่เราเห็นแล้วว่า รัฐบาลทักษิณที่มียิ่งลักษณ์เป็นหุ่นเชิด ได้ก่อความเสียหายมากกว่านี้นับสิบเท่า     โดยที่การชุมนุมประท้วง เมื่อเลิกรา ประเทศจะได้รับผลประโยชน์กลับคืนมามากกว่าที่สูญเสีย    แต่ผลลบจากรัฐบาลที่ชั่วร้ายของทักษิณ จะยังก่อผลร้ายต่อเนื่องอีกยาวนานต่อสังคมไทย

สำหรับผม การชุมนุมประท้วงในช่วง ๓ เดือนที่ผ่านมา     ได้เปิดเผยความจริงที่คนไทยไม่รู้ออกมา อย่างต่อเนื่อง    ว่าระบอบทักษิณได้ฉ้อโกงประเทศไปมากเพียงใด มีการดำเนินการอย่างเป็นระบบ     เชื่อมโยงออกไปยังสื่อมวลชนนอกประเทศ

ทำให้ผมได้เรียนรู้เท่าทันสื่อ เพิ่มขึ้นมากมาย    ได้รู้ว่าเจ้าของที่แท้จริงของมติชนเป็นใคร    ได้รู้วิธี “ซื้อ” สื่อต่างประเทศ ที่ถือกันว่าเป็นสื่อคุณภาพ    ได้เข้าใจว่า เงินบวกความฉลาดแกมโกงมันซื้อได้ทุกอย่างที่ขวางหน้า    รวมทั้งระบบถ่วงดุลอำนาจทางการเมืองของประเทศไทย

ผมได้รู้จัก moral integrity ของคน

 

 

วิจารณ์ พานิช

๒๗ ม.ค. ๕๗

 

 

บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย 

แก้ไขล่าสุด ใน วันเสาร์ที่ 15 มีนาคม 2014 เวลา 20:10 น.
 

ชีวิตที่พอเพียง : ๒๑๑๘. เงินนิยม

พิมพ์ PDF

บทความนี้ บอกเราว่า นโยบายประชานิยมรถคันแรก เป็นนโยบายที่ผิดพลาด    นอกจากนั้น เห็นชัดเจน ว่าโครงการรับจำนำข้าว ก็เป็นโครงการประชานิยมที่ทำร้ายบ้านเมือง     ทั้งหมดนั้นเป้าหมายที่แท้จริงคือการ เอาชนะเลือกตั้ง เพื่ออำนาจทางการเมือง     เพื่ออำนาจรวมศูนย์สู่คนคนเดียว

เป็นการสร้างความร่ำรวยทางธุรกิจ ผ่านการผูกขาด    แล้วใช้อำนาจเงินสร้างอำนาจทางการเมือง    เป็นประชาธิปไตยแนวธนาธิปไตย   ทั้งผ่านการซื้อ สส. เข้าพรรค  ซื้อเสียง  และซื้อกลไกตรวจสอบ    เมื่อได้อำนาจทางการเมืองแบบรวบอำนาจอยู่ที่คนคนเดียว โดยมีน้องสาวเป็นหุ่นเชิด    ก็สามารถกำหนดนโยบาย ประชานิยม แฝงคอรัปชั่นหมุนเงินเข้ากระเป๋าตนเองและพวกพ้อง

ทั้งหมดนั้น อยู่ภายใต้ความคิดเงินนิยม อำนาจนิยม

 

ผมไม่คิดว่า ความชั่วร้ายจะมั่นคงถาวร

 

 

วิจารณ์ พานิช

๑๔ ก.พ. ๕๗

แก้ไขล่าสุด ใน วันเสาร์ที่ 15 มีนาคม 2014 เวลา 23:20 น.
 

คำนิยม หนังสือ “พุทธวิทยาศาสตร์แห่งชีวิต ภาคต้น ชีวิต พระพุทธศาสนา และ วิทยาศาสตร์”

พิมพ์ PDF
หลักการพัฒนาชีวิตมนุษย์ หรือหลักการศึกษา ระบุไว้ชัดเจนมานานแล้ว ว่าต้องเน้นพัฒนาให้เป็นคนเต็มคน มีพัฒนาการทั้งด้านนอกและด้านใน คือไม่เฉพาะมีความรู้ความเข้าใจ ธรรมชาติและโลกภายนอกตัวเท่านั้น ยังต้องเข้าใจชีวิตจิตใจภายในตนเองด้วย

คำนิยม หนังสือ “พุทธวิทยาศาสตร์แห่งชีวิต ภาคต้น ชีวิต พระพุทธศาสนา และ วิทยาศาสตร์”

 

 

คำนิยม

 

หนังสือ พุทธวิทยาศาสตร์แห่งชีวิต ภาคต้น  ชีวิต พระพุทธศาสนา และ วิทยาศาสตร์

 

วิจารณ์ พานิช

 

………………

 

ชื่อ พุทธวิทยาศาสตร์แห่งชีวิต ของหนังสือชุดนี้ (ซึ่งมี ๓ เล่ม) บอกชัดเจนว่า เป็นหนังสือตีความชีวิต ของมนุษย์ ด้วยหลักการของพุทธศาสนา และด้วยวิทยาศาสตร์   หรือเป็นหนังสือที่เชื่อมโยงพุทธศาสนา วิทยาศาตร์ และชีวิต เข้าด้วยกัน   เขียนโดยวิศวกรที่มีใจฝักใฝ่ในพุทธศาสนามาเป็นเวลานาน   และเป็นผู้ค้นคว้ามาก ทั้งในด้านวิทยาศาสตร์ และในด้านพุทธศาสนา

ผมเข้าใจว่า หนังสือชุดนี้เป็นการริเริ่มครั้งแรกในประเทศไทย    ในเล่มแรก ชีวิต พระพุทธศาสนา และ วิทยาศาสตร์ เป็นการรวบรวม ตีความ และเขียนเผยแพร่ ความเชื่อมโยงระหว่างพุทธศาสนา วิทยาศาสตร์ และชีวิต อย่างรอบด้านครบถ้วน   โดย จะถือว่าเป็น หนังสือวิทยาศาสตร์ก็ได้ เพราะค่อนเล่มเป็นข้อความรวบรวมและตีความความรู้ความก้าวหน้า ทางวิทยาศาสตร์     จะถือเป็นหนังสือพุทธศาสนาก็ได้ เพราะมีการอ้างอิงตีความหัวใจของพุทธศาสนา จากมุมมองของปราชญ์ หลากหลายสาขา รวมทั้งปราชญ์ในพระพุทธศาสนายุคปัจจุบันของไทย   แต่ผมมองว่า หัวใจของหนังสือเล่มนี้อยู่ที่การทำความเข้าใจชีวิตของมนุษย์   ทำความเข้าใจจากมุมมองของพระพุทธศาสนา และจากมุมมองของวิทยาศาสตร์ ประกอบกัน หรือมองอย่างบูรณาการ

หนังสือเล่มนี้ ชี้ให้เห็นว่า ยิ่งความรู้ทางวิทยาศาสตร์ก้าวหน้าเพียงไร ก็ยิ่งใช้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ อธิบายหลักการของพุทธศาสนาอย่างเป็นรูปธรรมได้มากขึ้นเพียงนั้น   และยิ่งยืนยันหลักการของพุทธศาสนา ว่าเป็นแนวทางดำเนินชีวิตที่ถูกต้อง และเป็นไปตามหลักธรรมชาติ   ดังข้อสรุปในหน้า ๒๔๘ ของหนังสือว่า “ความสำคัญในการเรียนรู้ตามแนวทางพระพุทธศาสนา คือ การเรียนรู้ความจริงของธรรมชาติและชีวิต”   ซึ่งควรเป็นไปตามข้อความในหน้าสุดท้ายของหนังสือ ที่กล่าวว่า “แม้ธรรมชาติจะมีการกำหนดรูปแบบของชีวิต ไว้พอสมควร    แต่ชีวิตปัจจุบันและอนาคตจะเป็นอย่างไร    ก็อยู่ที่ตัวเราเองเป็นผู้ตัดสินใจ    ดังนั้น  การกระทำในปัจจุบัน จึงมีความสำคัญ    ซึ่งเราควรมีสติรู้ตัวในปัจจุบันอยู่ตลอดเวลา”

หากได้รวบรวมและสรุปองค์ความรู้ด้านประสาทวิทยาศาสตร์ (Neuroscience) ที่ก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว   จะเข้าใจเรื่องกลไกการรับรู้และเรียนรู้ ที่เป็นปรากฏการณ์ในสมอง    ที่ทำให้การปฏิบัติฝึกฝนนำไปสู่ การเปลี่ยนแปลงการเชื่อมโยงเครือข่ายใยประสาทในสมอง   เชื่อมโยงวิทยาศาสตร์ของมิติด้านการพัฒนาโลก ภายนอก กับมิติด้านการพัฒนาธรรมภายใน ตามรูปที่ ๗ หน้า ๒๓๐     “พุทธวิทยาศาสตร์แห่งชีวิต” ก็จะชัดเจนยิ่งขึ้น   และเป็นหลักฐานสนับสนุนข้อความในหน้า ๑๘๔ ว่า “จิตเป็นเพียงสังขตธรรม หรือเรียกทางวิทยาศาสตร์ว่า เป็นเพียงปรากฏการณ์ของธรรมชาติ ที่เกิดขึ้นจากการถูกปรุงแต่ง ขึ้นมาตามเหตุปัจจัย”  และ “โลกที่เรารับรู้ว่าจริงนั้น แท้จริงเป็นเพียงมายาของข้อมูลที่ถูกรับรู้   และถูกสมมติสร้างเป็นการรับรู้ว่าเป็นสิ่งนั้นสิ่งนี้” (หน้า ๑๖๑)    องค์ความรู้ด้านประสาทวิทยาศาสตร์นี้ ส่วนหนึ่งจะอยู่ในหนังสือเล่มที่สองของชุด ธรรมชาติของร่างกาย และ จิต

อ่านหนังสือเล่มนี้แล้ว ผมสรุปกับตนเองว่า    โลกเรา หรืออย่างน้อยสังคมไทย ในปัจจุบัน ดำเนินการเชื่อมโยงระหว่างศาสนา กับชีวิตผู้คน ไปในทางที่ผิด    โดยเราแยกการพัฒนาด้านจิตใจ หรือด้านศาสนา   ออกจากการพัฒนาความรู้ความสามารถในการประกอบสัมมาชีพ และการดำรงชีวิตที่ดี   การพัฒนาคนแบบแยกส่วน ระหว่างพัฒนาการในทางธรรม (ศาสนา) หรือพัฒนาการด้านใน   กับการพัฒนาความรู้และทักษะในทางโลก หรือพัฒนาการด้านนอก   เป็นความผิดพลาดที่สำคัญยิ่งของการศึกษาไทย   และการศึกษาของประเทศต่างๆ ทั่วโลก   เป็นความผิดพลาดที่นำพาอารยธรรมมนุษย์ไปในทางมิจฉาทิฏฐิแห่งความโลภ ความเห็นแก่ตัวจัด  และความรุนแรง   อย่างที่เห็นอยู่ในปัจจุบัน

ที่จริง หลักการพัฒนาชีวิตมนุษย์ หรือหลักการศึกษา ระบุไว้ชัดเจนมานานแล้ว    ว่าต้องเน้นพัฒนาให้เป็นคนเต็มคน    มีพัฒนาการทั้งด้านนอกและด้านใน    คือไม่เฉพาะมีความรู้ความเข้าใจ ธรรมชาติและโลกภายนอกตัวเท่านั้น    ยังต้องเข้าใจชีวิตจิตใจภายในตนเองด้วย    นักวิทยาศาสตร์ร่วมสมัยที่ศึกษา (เน้นที่การฝึกปฏิบัติ) และเผยแพร่แนวคิดนี้อย่างกว้างขวางท่านหนึ่งคือ ศาสตราจารย์ อาเธอร์ ซาย้องค์ (Arthur Zajonc) นักฟิสิกส์ที่ฝักใฝ่การพัฒนาจิต   และเวลานี้เป็น president ของ Mind and Life Institute

แต่ระบบการศึกษาไทยในปัจจุบัน ได้แยกเอาการเรียนรู้เพื่อฝึกฝนจิตใจในทางธรรมออกไป   เหลือเฉพาะการเรียนวิชาทางโลกอยู่ในหลักสูตร   มีผลทำให้คนไทยมีความอ่อนแอทางจิตใจ กระแสวัตถุนิยมเข้าครอบงำโดยง่าย    ท่านพุทธทาสจึงเรียกการศึกษาไทยในปัจจุบัน ว่า “การศึกษาหมาหางด้วน”

ผมขอแสดงความชื่นชม ต่อผู้เขียนหนังสือเล่มนี้ คือ ดร. รุ่งเรือง ลิ้มชูปฏิภาณ์ (ผู้ที่ผมยังไม่เคยรู้จักเป็นการส่วนตัว) ที่มีฉันทะและวิริยะในการค้นคว้าและเขียนหนังสือชุดนี้ออกเผยแพร่แก่สังคมไทย   และขอขอบคุณมูลนิธิพัฒนาการเรียนรู้เด็กไทย และบริษัท ซัม ซิสเท็ม จำกัด ที่จัดพิมพ์เผยแพร่หนังสือชุดที่มีคุณค่ายิ่งนี้    ขอให้ทุกท่านที่เกี่ยวข้อง ได้มีความสุขจากกุศลกรรมอันยิ่งใหญ่นี้เทอญ

 

วิจารณ์ พานิช

๓๐ ตุลาคม ๒๕๕๖

 

 

บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย 

แก้ไขล่าสุด ใน วันพุธที่ 12 มีนาคม 2014 เวลา 10:17 น.
 


หน้า 380 จาก 561
Home

About Us

ศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ (ศบม.) เป็นองค์กรที่พัฒนาและจัดทำโครงการเพื่อทำประโยชน์ให้สังคม เป็นองค์กรสนับสนุนการดำเนินงานของภาครัฐ ช่วยแก้ปัญหาผู้ประกอบการภาคธุรกิจบริการที่ขาดแคลนบุคลากรที่มีมาตรฐานในการให้บริการ
อ่านเพิ่มเติม

มูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ ์

 iHDC Profile
บัญชีรายชื่อกรรมการ
ใบสำคัญแสดงการจดทะเบียน การเปลี่ยนแปลงกรรมการของมูลนิธิ
เอกสารประชาสัมพันธ์ โครงการ HMTC.pdf
เอกสารแนะนำโครงการ HMTC 1.pdf
เอกสารโครงการ HMTC 2 คุณสมบัติผู้เข้าร่วมโครงการ.pdf
iHDC นิติบุคคล.pdf
iHDC บุคคล.pdf
iHDC บุคคลเครือข่าย.pdf
รายงานการประชุม 6 มีนาคม 2560.pdf
ข้อบังคับมูลนิธิ
ใบสำคัญแสดงการจดทะเบียนจัดตั้งมูลนิธิ
Ihdc-Profile and Roadmap 2016-2019 Mar 23 2560.pdf
รายงานการประชุมใหญ่คณะกรรมการมูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ 2559.pdf
คำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ สาขาวิชาชีพ.pdf
รายงานการประชุมใหญ่วันที่ 18 ธ ค 2558 v 3.pdf
รายงานการประชุม วันที่ 24 ธันวาคม 2557 updated 4 มีนาคม 2558.pdf
iHDC-invitation Letter.doc
iHDC-Member Form Thai.doc
iHDC-Member Form English.doc
รายงานการประชุมกรรมการมูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ วันที่ 15 มกราคม 2556 ฉบับสมบูรณ์


thaibetter
พัฒนาประเทศไทยแบบทวีคูณ และยั่งยืน ( ททค )

Login


แบบสำรวจ

สถิติเว็บไซด์

สมาชิก : 5644
Content : 3068
เว็บลิงก์ : 26
จำนวนครั้งเปิดดูบทความ : 8744362

facebook

Twitter


ล่าสุด

บทความเก่า