Thaiihdc.org

  • เพิ่มขนาดตัวอักษร
  • ขนาดตัวอักษรปกติ
  • สดขนาดตัวอักษร
Thaiihdc.org

ชีวิตที่พอเพียง: ๒๐๙๑. สะท้อนคิดจากการดูวีดิทัศน์ R2R

พิมพ์ PDF

แผ่น DVD 2 แผ่น    คือเรื่อง วิถี R2R สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน กับเรื่อง ร่วมสร้างวัฒนธรรม R2R สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน แผ่นหนึ่ง     กับอีกแผ่นหนึ่ง เรื่อง วิถี R2R เรียบง่าย คุณภาพ ครบวงจร ที่จัดทำโดยโครงการ R2R ประเทศไทย     ผมดูแล้วหวนคิดถึงชีวิตของตนเอง

แต่ก่อนอื่นผมขอเชิญชวนให้ดูวีดิทัศน์ ๓ เรื่องนี้    ซึ่งเป็นเรื่องการพัฒนาคุณภาพงาน    พัฒนาโดยพนักงาน ตัวเล็กตัวน้อยหน้างาน    ที่ทำให้คนเล็กคนน้อยกลายเป็น ผู้ยิ่งใหญ่” ในการพัฒนางานของตน    เพื่อรับใช้หรือทำประโยชน์แก่ผู้อื่น

คนเราทุกคนเป็นผู้ยิ่งใหญ่ได้    โดยไม่ต้องยิ่งใหญ่กว่าคนอื่น ไม่ต้องอยู่ในฐานะหัวหน้าควบคุมคนอื่น    แต่มุ่งทำงานของตนให้ดีขึ้นกว่าเดิม    หาวิธีการใหม่ๆ เอามาปรับปรุงงาน    โดย R2R เป็นเครื่องมืออย่างหนึ่ง    ใช้การวิจัยเป็นเครื่องมือ ของการพัฒนางาน    ความสำเร็จในการพัฒนางานของตน และเป็นประโยชน์ต่อผู้อื่น ทำให้เราเป็นผู้ยิ่งใหญ่   เป็นผู้นำ น่าชื่นชม

วัฒนธรรมคุณภาพ เป็นสิ่งที่ผมได้เรียนรู้ ตอนทำงานเป็นคณบดีคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ช่วงปี ๒๕๒๘ - ๒๕๓๒    ที่ขบวนการ QCC (Quality Control Circle) กำลังเบ่งบานในสังคมไทย   ทำให้ผมได้เรียนรู้และเชื่อมั่นว่า กระบวนการคุณภาพ มุ่งพัฒนาคุณภาพงานของตนอย่างต่อเนื่อง (CQI – Continuous Quality Improvement) เป็นวัฒนธรรมคุณภาพ ที่องค์กรใด และบุคคลใดสามารถปลูกฝังไว้ในตนได้    จะเป็นคุณไปตลอดชีวิต

คุณประโยชน์หลัก อยู่ที่มันปลุกความมั่นใจในตัวเอง ของคนทุกคน   รวมทั้งคนที่ทำงานอยู่ในระดับที่เรียกว่า แรงงานไร้ฝีมือ เช่นพนักงานทำความสะอาด    ผมได้ประจักษ์กับตา ว่าเมื่อเขาได้รวมทีมกันทำกระบวนการ QC   ทำความเข้าใจเป้าหมายงานของตน    และร่วมกันตั้งเป้าหมายใหม่ ที่ดีกว่าเดิม    แล้วใช้กระบวนการ PDCA เพื่อบรรลุเป้าหมายใหม่นั้น    ชีวิตการทำงานของพนักงานเหล่านี้เปลี่ยนไป    เขาไม่ได้ทำงานจำเจอีกต่อไป    แต่ทำงานสร้างสรรค์วิธีทำงานใหม่ๆ ที่ให้ผลดีกว่าเดิม    ศักยภาพความเป็นมนุษย์ของเขาได้รับการปลุกขึ้นมา

ดังนั้น เมื่อผมไปเป็นผู้ช่วยคุณหมอสมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ ไปรับใช้ศิริราช    ในการคลำหาทางต่อยอดคุณค่าของชิ้นงาน จำนวนมหาศาลของศิริราช ให้กลายเป็นผลงานวิจัย / วิชาการ    เมื่อประมาณ ๙ ปีที่ผ่านมา    กระบวนการพูดคุย หรือที่เราเรียกกันว่า เป็นการ โค้ช งาน    ก็ค่อยๆ เปลี่ยนเป้า     จากเป้าผลงานวิชาการ เป็นเป้ายกระดับคุณภาพงานประจำ    และเกิด R2R เป็นเครื่องมือในที่สุด

R2R จึงเป็นหลายอย่างในเวลาเดียวกัน   แต่ที่สำคัญที่สุดคือ เป็นเครื่องมือพัมนาวัฒนธรรมคุณภาพ

จะทำอะไรก็ตาม ต้องทำอย่างมีคุณภาพ    คุณภาพสูงอาจไม่ได้ในทันที    แต่เมื่อพัฒนาคุณภาพอย่างต่อเนื่อง    ในที่สุดก็จะได้ผลงานที่คุณภาพสูง

ความมานะพยายาม และดำเนินการต่อเนื่องไม่หยุดยั้ง    ชำนะอุปสรรคทั้งปวง

 

 

วิจารณ์ พานิช

.๕๗

 

 

บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย 

แก้ไขล่าสุด ใน วันศุกร์ที่ 07 กุมภาพันธ์ 2014 เวลา 02:16 น.
 

ผู้เป็นเจ้าของการเรียนรู้ : ๔. นักเรียนนักวิจัย

พิมพ์ PDF

บันทึกชุดผู้เป็นเจ้าของการเรียนรู้รวม ๖ ตอนนี้ ตีความจากหนังสือ Who Owns the Learning? : Preparing Students for Success in the Digital Ageโดย Alan November ซึ่งผมตีความว่า เป็นเรื่องการใช้ digital technology ช่วยให้เกิด active learning หลากหลายรูปแบบ    ทำให้เปลี่ยนแปลงบทบาทของนักเรียน เป็นผู้ทำงานสร้างสรรค์ หรือสร้างความรู้เพื่อการเรียนรู้ของตน   ครูเปลี่ยนไปทำหน้าที่ โค้ช หรือ “คุณอำนวย” (learning facilitator)

ในตอนที่ ๔ นี้ ตีความจากบทที่ 4 The Student as Researcher   เป็นเรื่อง นักเรียนเป็นนักวิจัย โดยตั้งคำถาม แล้วค้นหาคำตอบที่แม่นยำจาก อินเทอร์เน็ต    และนำคำตอบที่ค้นได้มาใช้งาน

ดังนั้น ความหมายของคำว่า นักวิจัย ของ Alan November คือเป็นนักวิจัยจาก อินเทอร์เน็ต    โดยเริ่มต้นต้องฝึกนักเรียนให้มี web literacy เสียก่อน    โดยเขาบอกว่า เด็กนักเรียนโดยทั่วไปใช้ paper literacy ในการค้นข้อมูลจาก อินเทอร์เน็ต   ซึ่งหมายความว่า เด็กเหล่านี้ยังไม่มี web literacy ที่เขาใช้คำว่า web illiterate คือไร้การศึกษาด้าน อินเทอร์เน็ต    คือแค่ใช้เป็น ไม่ได้แปลว่ามีการศึกษา

อินเทอร์เน็ต หรือ เว็บ มีโครงสร้างและไวยากรณ์ของการจัดระบบสารสนเทศ แตกต่างจากสารสนเทศบนกระดาษ   รวมทั้งขั้นตอนการจัดเก็บและค้นหาสารสนเทศก็มีลักษณะจำเพาะ     เขาบอกว่า นักเรียนมักนำเอา paper literacy ที่ตนมี มาใช้กับโลกดิจิตัล ทำให้ได้ข้อมูลผิดๆ หรือได้ความรู้ที่ผิวเผิน

สิ่งที่นักเรียนต้องได้รับการฝึกฝน คือวิธีการค้นหาสารสนเทศอย่างแม่นยำและสร้างสรรค์    และแนวทางหนึ่งคือ ผ่าน “นักเรียนนักวิจัย”

เมื่ออ่านข้อความในบทนี้จบ    ผมสรุปว่าเป็นเรื่องของการเรียนรู้และฝึกฝน 21st Century Skills ส่วนที่เป็น ICT Skills    มากกว่าเรื่องของการวิจัยจริงๆ    โดยเขาตีความคำว่า research ที่เขาใช้ ว่าหมายถึงการค้นคว้า    และเป็นการค้นคว้าจากโลก ดิจิตัล ได้อย่างรู้เท่าทัน  มีวิจารณญาณต่อสิ่งที่ค้นได้    และรู้จักเลือกแหล่งค้นคว้าที่น่าเชื่อถือ    รู้จักวิธีค้นที่ทำให้ได้สารสนเทศตรงตามที่ตนต้องการ และมีความแม่นยำ    เมื่อเอาไปอ้างอิงผู้อ่านหรือผู้รับสารยอมรับในความน่าเชื่อถือ    รวมทั้งรู้จักวิธีใช้สารสนเทศที่ค้นมาได้ อย่างมีจริยธรรม    คือได้เรียนรู้หลักการและทักษะด้านจริยธรรมในโลก ดิจิตัล

แต่หากท่านผู้อ่านบันทึกนี้ นำคำแนะนำในบทนี้ไปเชื่อมโยงกับตอนท้ายๆ ของบันทึกที่แล้ว ในชุดเรียนโดยลงมือทำ นี้    ท่านที่เป็นครูก็จะสามารถ โค้ช การทำวิจัยแบบที่ดำเนินการจริงในชุมชน (โลกจริง)     และค้นคว้าสารสนเทศจากโลก ดิจิตัล มาประกอบ    จะช่วยให้นักเรียนได้ผลงานวิจัยที่มีคุณค่าได้    ก็จะเป็นการฝึกนักเรียนนักวิจัยที่แท้จริงในความหมายของผม    ซึ่งที่จริงในประเทศไทยมีการจัดการเรียนการสอน แบบ RBL (Research-Based Learning) อยู่บ้างแล้ว    ท่านที่สนใจอ่านได้ ที่นี่ ที่นี่ และ ที่นี่

ผู้ที่จะให้ความรู้และคำแนะนำด้านทักษะสารสนเทศ แก่นักเรียนคือบรรณารักษ์    โดยมีประเด็นสำคัญ ที่นักเรียนควรได้เรียนหลักการและทักษะลงรายละเอียดตามความเหมาะสมของชั้นเรียน และวุฒิภาวะของเด็ก   ดังต่อไปนี้

 

    • การใช้โลก ออนไลน์ หรือโลก ดิจิตัล อย่างปลอดภัย    ไม่ถูกหลอกลวง  โดยอันตรายที่ร้ายที่สุดคือเสียคน หรืออาจถึงกับเสียชีวิต
    • แหล่งค้นคว้า (ฐานข้อมูล  เว็บไซต์) ที่มีความน่าเชื่อถือสูง    อาจต้องจำแนกตามประเภทของสารสนเทศที่ต้องการ
    • เครื่องมือค้น (search engine) สำหรับใช้ค้นหาสารสนเทศแต่ละประเภท   หากต้องการเอกสารที่มีความเป็นวิชาการมากกว่า  Google scholar ดีกว่า Google เป็นต้น
    • วิธีค้น แบบที่รู้จักและเข้าใจไวยากรณ์ของการค้น    เพื่อให้ได้ผลที่ตรงความต้องการ    ไม่ใช่ได้ผลมามากมายจนแยกยาก หรือเสียเวลามากในการแยกหาสิ่งที่ต้องการ
    • วิธีตรวจสอบความน่าเชื่อถือของสารสนเทศที่ค้นได้
    • วิธีใช้สารสนเทศที่ค้นได้อย่างถูกต้องตามหลักจริยธรรม และกฎหมาย     ไม่ถูกกล่าวหาว่าลอกเลียน (plagiarize) หรือละเมิดลิขสิทธิ์หรือสิทธิทางปัญญา

 

 

วิจารณ์ พานิช

๑ ม.ค. ๕๗

 

บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย 

แก้ไขล่าสุด ใน วันศุกร์ที่ 07 กุมภาพันธ์ 2014 เวลา 09:16 น.
 

ผู้เป็นเจ้าของการเรียนรู้ : ๓. นักเรียนนักเขียน

พิมพ์ PDF

บันทึกชุดผู้เป็นเจ้าของการเรียนรู้รวม ๖ตอนนี้ ตีความจากหนังสือ Who Owns the Learning? : Preparing Students for Success in the Digital Ageโดย Alan November ซึ่งผมตีความว่า เป็นเรื่องการใช้ digital technology ช่วยให้เกิด active learning หลากหลายรูปแบบ    ทำให้เปลี่ยนแปลงบทบาทของนักเรียน เป็นผู้ทำงานสร้างสรรค์ หรือสร้างความรู้เพื่อการเรียนรู้ของตน   ครูเปลี่ยนไปทำหน้าที่ โค้ช หรือ “คุณอำนวย” (learning facilitator)

บ่อยครั้งที่นักเรียนเรียนรู้ได้ดีกว่า หากเรียนจากเพื่อนนักเรียนด้วยกันเอง    และหลักการเรียนรู้ตาม Learning Pyramid คือ คนเราเรียนรู้ได้ดีที่สุดจากการสอนคนอื่น

หลักการเรียนรู้ในศตวรรษที่ ๒๑   และการเรียนรู้แบบ active learning   ก็คือ นักเรียนต้องมีบทบาท สำคัญ ในการจัดการเรียนรู้ของตนเอง และของเพื่อนๆ    รวมทั้งเผื่อแผ่ออกไปนอกชั้น นอกโรงเรียน และนอกประเทศ ด้วย    ครูเปลี่ยนไปทำหน้าที่ โค้ช และ “global publisher”

ในตอนที่ ๓ นี้ ตีความจากบทที่ 3 The Student as Scribe   เป็นเรื่องการจัดการบันทึก จากการฟังการบรรยายของชั้นเรียน    โดยนักเรียนผลัดเปลี่ยนกันทำหน้าที่จดและจัดทำบันทึกของแต่ละคาบเรียน ออกเผื่อแผ่แก่เพื่อนในชั้น และแก่โลก    นักเรียนในชั้นจะมีบันทึกการฟังการบรรยายที่ครบถ้วนถูกต้องสมบูรณ์     ให้นักเรียนทุกคนใช้ทบทวนการเรียน    และยังเผื่อแผ่ให้แก่เพื่อนในห้องเรียนอื่น    และแก่โลกด้วย

เป็นการแก้ปัญหาเด็กจดไม่ทัน    และเป็นการฝึกการทำงานเป็นทีม ไปในตัว

นักเรียนคนอื่นๆ ที่ไม่ได้ “เข้าเวร” รับผิดชอบการบันทึก ก็ยังคงจดการบรรยายตามเดิม    แต่จะมีนักเรียน ๑ หรือ ๒ คน ทำหน้าที่ทีมบันทึก    แล้วภายใน ๒ - ๓ วัน ทีมบันทึกก็จะนำบันทึกฉบับร่างขึ้น บล็อก ของชั้นเรียน    เพื่อให้เพื่อนนักเรียนและครูช่วยกันปรับปรุงแก้ไข    แล้วภายใน ๑ สัปดาห์ บักทึกการบรรยายฉบับสมบูรณ์ ก็จะอยู่ใน บล็อก หรือระบบฐานข้อมูลแบบอื่นในระบบ ไอซีที ของชั้นเรียน    เป็นบันทึกถาวรให้นักเรียนทุกคนเข้าดูได้ตลอดเวลา    รวมทั้งเผื่อแผ่แก่โลกด้วย

ผมขอหมายเหตุว่า ในหนังสือระบุว่าเป็นการจดการบรรยาย    แต่ผมเห็นต่าง ผมเห็นว่าการเรียนสมัยนี้ การบรรยายต้องมีน้อยมาก    แทนด้วยกระบวนการที่นักเรียนเป็นฝ่ายลงมือทำเป็นส่วนใหญ่    การจดบันทึก ของนักเรียนควรเปลี่ยนเป็นบันทึกกิจกรรมการเรียน ของทุกคาบเรียน    โดยนักเรียนที่รับผิดชอบทำบันทึก อาจไปค้นคว้าเพิ่มเติมเพื่อทำให้สาระในบันทึกมีความครบถ้วนสมบูรณ์ยิ่งขึ้น

เท่ากับเป็นการฝึกการจับใจความ การเขียน การใช้ถ้อยคำ และอื่นๆ

ตัวอย่างของครูที่ทดลองใช้วิธีการฝึกฝนเรียนรู้แบบนี้ในศิษย์ของตนคือ Darren Kuropatwa ครูคณิตศาสตร์ ที่โรงเรียน McIntyre Collegiate High School เมือง Winnipeg  รัฐ Manitoba  แคนาดา     ซึ่งผมเข้าใจว่าเวลานี้ไม่ได้ทำงานที่นั่นแล้ว    หนังสือ Who Owns the Learning? อ้างประสบการณ์ของครู ดาเรน ตอบข้อสงสัยหลายข้อว่า การให้เด็กผลัดกันจัดทำบันทึกชั้นเรียนดีจริงหรือ มีข้อเสียบ้างไหม    เด็กจะพากันละเลย ไม่จดบันทึกของตนเอง รอแต่จะใช้บันทึกฉบับสมบูรณ์ของชั้นเรียนไหม

คำตอบคือ ขึ้นอยู่กับครูสร้างแรงบันดาลใจในการเรียน สร้างความรับผิดชอบในการเรียนของตนเอง ของนักเรียน    รวมทั้งส่งเสริมให้นักเรียนช่วยกัน อย่างกรณีชั้นเรียนของครูดาเรน   นักเรียนตกลงกันให้ทุกคน แบ่งปันบันทึกของตนเอง ขึ้นระบบ ไอซีที ของชั้นเรียน    ซึ่งในกรณีนี้ใช้ Google doc    แล้วทีมนักเรียน ที่รับผิดชอบเขียนบันทึกฉบับสมบูรณ์ ใช้บันทึกเหล่านั้นตรวจสอบความถูกต้องครบถ้วนสมบูรณ์ ของบันทึกฉบับสมบูรณ์ โดยครูดาเรนคอยให้คำแนะนำ และให้ความเห็นชอบให้นำลงใน บล็อก ของชั้นเรียนได้

เมื่อนักเรียนคุ้นเคย หรือมีความมั่นใจในการทำบันทึกการเรียนในชั้นเรียนแล้ว    ต่อไปเมื่อมีกิจกรรมอื่นๆ ในโรงเรียน หรือในชุมชน    ครูและนักเรียนอาจตกลงกันมอบหมายหรือหาอาสาสมัคร ทำหน้าที่ “ผู้สื่อข่าว” บันทึกรายงาน เหตุการณ์และข้อเรียนรู้จากกิจกรรมนั้นๆ ออกเผยแพร่    เพื่อทำประโยชน์แก่เพื่อนนักเรียน แก่ชุมชน และแก่โลก    นักเรียนก็จะได้รับการฝึกฝนการทำความเข้าใจ การจับประเด็น การบันทึกเพื่อนำเสนอให้ตรงความจริง และน่าสนใจ    รวมทั้งได้ฝึกฝนงอกงามจิตสาธารณะ    จะเห็นว่าครูสามารถใช้หลักการ “นักเรียนเป็นผู้สร้าง(สรรค์)” ออกแบบการเรียนรู้ให้แก่ศิษย์ได้อย่างไม่จำกัด    โดยใช้หลักการ “เรียนรู้จากเหตุการณ์ในชีวิตจริงในปัจจุบัน”

เมื่อนำมาเชื่อมโยงกับวิทยุชุมชนในท้องถิ่น    ครูอาจร่วมมือกับผู้ดำเนินรายการวิทยุชุมชน ให้เข้ามาเป็น “สหมิตรครู” (co-educator)   ร่วมกันฝึกฝนให้นักเรียนป็นผู้สื่อข่าว นำมาออกวิทยุชุมชน    สหมิตรครูช่วยอบรม กล่อมเกลานิสัยรับผิดชอบ มีความแม่นยำ และเคารพสิทธิมนุษยชน    รวมทั้งเอาบางเรื่องมาเป็นโครงงาน เพื่อการเรียนรู้เชิงลึกและเชื่อมโยง

ผลจากโครงงาน อาจนำมารายงานต่อชุมชนเจ้าของเหตุการณ์    ในรูปแบบที่หลากหลาย ทั้งในรายการวิทยุชุมชน  หรืออาจจัดเวทีนำเสนอ  จัดแสดงเป็นละคร  หรือทำเป็นหนังสั้น    นักเรียนจะได้เรียนรู้ ฝึกฝนทักษะที่หลากหลาย จากการนำเสนอนี้    โดยต้องไม่ลืมใช้พลัง ไอซีที สมัยใหม่ ในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับสังคมภายนอก และกับโลกด้วย    โดยนำหนังสั้นขึ้น เว็บ และลง YouTube   นำรายการวิทยุขึ้น เว็บ    และถ่ายวีดิทัศน์รายการละคร ขึ้นเว็บและลง YouTube

โดยครูต้องพิจารณา ว่านักเรียนที่เรียนอยู่ชั้นใด มีวุฒิภาวะระดับใด จึงจะทำงานในระดับใดได้    และเมื่อให้ลองทำแล้ว ครูควรให้นักเรียนบันทึกเรื่องราวและข้อมูลของผลงานไว้ด้วย    โดยหากตั้งคำถามวิจัยให้เหมาะสม    ข้อมูลเหล่านี้จะนำไปสู่ผลงานวิจัยชั้นเรียนที่ยอดเยี่ยม

คำติชม หรือคำวิจารณ์ของคนในชุมชนที่ได้ฟังหรือได้ชมผลงาน    และของคนที่ได้เรียนรู้เรื่องราวผ่าน อินเทอร์เน็ต จะเป็นข้อมูลป้อนกลับ (feedback) ที่ดี ต่อนักเรียน   ช่วยกระตุ้นแรงบันดาลใจของนักเรียน   และช่วยให้การเรียนรู้ยิ่งเชื่อมโยงกว้างขวางยิ่งขึ้น    คนเหล่านี้น่าจะถือได้ว่าเป็น “สหมิตรครู” ได้ด้วย

ผลงานเหล่านี้ของนักเรียน ควรจัดเก็บเป็นฐานข้อมูลผลงานของนักเรียนอย่างเป็นระบบ    ทั้งในระบบ online และระบบ offline    ให้นักเรียนรุ่นหลังค้นคว้ามาศึกษาได้    เพื่อเด็กรุ่นหลังจะได้ทำโครงงานสร้างสรรค์ต่อยอดขึ้นไป

ประสบการณ์ของครู ในการทำหน้าที่ “คุณอำนวย” หรือ โค้ช ของการเรียนรู้ด้วยการลงมือสร้างผลงานออกเผื่อแผ่แก่เพื่อน แก่ชุมชน และแก่โลก    มีคุณค่ายิ่งต่อการทำหน้าที่ครูยุคศตวรรษที่ ๒๑   สามารถนำมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับเพื่อนครูได้ ใน PLC ของครู

ผู้เป็นเจ้าของการเรียนรู้คือนักเรียน    โดยครูก็ร่วมเรียนรู้ด้วย

 

 

วิจารณ์ พานิช

๑ ม.ค. ๕๗

 

บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย 

แก้ไขล่าสุด ใน วันศุกร์ที่ 07 กุมภาพันธ์ 2014 เวลา 12:29 น.
 

จดหมายเปิดผนึกถึงนายกรัฐมนตรี - มรว. ปรีดิยาธร เทวกุล

พิมพ์ PDF
ผู้บริหารประเทศที่ดีเมื่อถึงจุดหนึ่งก็จะต้องตัดสินใจเพื่อประเทศชาติ ผมหวังว่าจดหมายเปิดผนึกของผมฉบับนี้จะช่วยให้ ฯพณฯ ตัดสินใจเพื่อหยุดยั้งความเสียหายที่เกิดแก่ประเทศชาติได้เสียที

จดหมายเปิดผนึกถึงนายกรัฐมนตรี - มรว. ปรีดิยาธร เทวกุล

อ่านและชม ที่นี่

วิจารณ์ พานิช

๖ ก.พ. ๕๗

 

บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย 

แก้ไขล่าสุด ใน วันศุกร์ที่ 07 กุมภาพันธ์ 2014 เวลา 09:11 น.
 

ชีวิตที่พอเพียง: ๒๐๘๗. โยนิโสมนสิการระบบหลักประกันสุขภาพในประเทศไทย สู่การปฏิรูปประเทศไทย

พิมพ์ PDF

เอกสารเล่มเล็ก เรื่อง ความเหลื่อมล้ำระหว่างระบบประกันสุขภาพในประเทศไทยและ โครงการประเมินการให้บริการผู้ป่วยอุบัติเหตุฉุกเฉินร่วมสามกองทุนภายใต้นโยบาย เจ็บป่วยฉุกเฉิน รักษาทุกที่ ทั่วถึงทุกคนที่พิมพ์เผยแพร่โดย สวรส. ในปี ๒๕๕๖   บอกอะไรเราหลายอย่าง

คนไทยทุกคนมีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า มาตั้งแตีปี ๒๕๔๕    จะครบ ๑๒ ​ปี ในเดือนเมษายา ๒๕๕๗ นี้     โดยระบบที่มาทีหลังสุด และครอบคลุมจำนวนคนมากที่สุดคือระบบ หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ที่บริหารโดย สปสช.    ส่วนระบบที่มีมานานที่สุดคือ ระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ ที่ผมมักเรียกว่า สวัสดิการ ๓ ชั่วโคตร    คือดูแลตัว ข้าราชการและคู่สมรส  บุตรที่ไม่บรรลุนิติภาวะ (ไม่เกิน ๓ คน)  และพ่อแม่    ซึ่งเป็นระบบที่เอื้อเฟื้อมาก และตัวข้าราชการได้ประโยชน์จริงๆ    แต่ในที่สุดรัฐบาลก็รับภาระทางการเงินไม่ไหว    จึงต้องปลดบางหน่วยงานออก ไม่ให้บุคลากรเป็นข้าราชการอีกต่อไป    ให้เป็นพนักงานราชการ    ได้สวัสดิการรักษาพยาบาลจำกัดที่ตัวข้าราชการคนเดียว    เรื่องสวัสดิการต่างๆ นั้น มันเป็นของดี    แต่ถ้าไม่มีวิธีจัดการให้พอดี ก็มีปัญหาไม่มีเงินจ่าย

 

ระบบที่มากับระบบแรงงาน คือระบบประกันสังคม

หนังสือเล่มนี้ เป็นผลงานวิจัยเปรียบเทียบสวัสดิการด้านสุขภาพของทั้ง ๓ ระบบนี้    และผมจะไม่กล่าวถึงสาระ เพราะท่านสามารถเข้าไปอ่านหนังสือหรือดาวน์โหลดเก็บไว้ใช้งานได้ ตามลิ้งค์ ที่ให้ไว้แล้ว    แต่ผมจะขอโยนิโสมนสิการ (reflect, AAR) ประเด็นที่ผมต้องการ ลปรร. กับสังคมไทย ๓ ประการ

๑. โครงการต่างๆ ของบ้านเมือง    ต้องเตรียมการประเมินเพื่อพัฒนา ไว้ล่วงหน้า ตั้งแต่ตอนวางแผนกิจกรรมนั้นๆ    เมื่อดำเนินการไประยะหนึ่ง ต้องมีการวิจัยเพื่อประเมินผล    โดยต้องมีทีมนักวิจัยที่แม่นยำวิชาการ และซื่อสัตย์มีความน่าเชื่อถือ (มี integrity) ไม่มีใครสั่งให้แปลงผลวิจัยได้    หนังสือเล่มนี้เป็นตัวอย่าง

สังคมไทยต้องมีองค์กรหรือหน่วยงาน ที่ทำหน้าที่ตามข้อ ๑ ในเรื่องหลักๆ ของบ้านเมืองได้   เช่นด้านเศรษฐกิจ เรามี ทีดีอาร์ไอ   ด้านสุขภาพ มี สวรส.    แต่ด้านที่สำคัญในระดับคอขาดบาดตายต่ออนาคตของบ้านเมือง คือด้านการศึกษา เราไม่มีหน่วยงาน และไม่มีการสร้างนักวิจัยตามข้อ ๑    นอกจากนั้นยังน่าจะพิจารณาจัดตั้ง สถาบันวิจัยสร้างสรรค์และตรวจสอบนโยบายสาธารณะ ตามข้อเสนอของคุณบรรยง พงษ์พานิช ที่นี่

 

๒ การใช้ประโยชน์หน่วยงานวิจัยที่เก่ง และซื่อสัตย์ต่อวิชาการ ยังไม่เป็นวัฒนธรรมของการเมืองและสังคมไทย    ฝ่ายการเมืองต้องการคนทำวิจัยเพื่อสนับสนุนนโยบายของตนมากกว่า     ดังกรณีที่อดีตนายกรัฐมนตรี ดร. ทักษิณ เคยกล่าวกับทีมผู้บริหาร สกว. เมื่อประมาณปี ๒๕๔๕ (ผมอยู่ในคณะด้วย) ว่า    ถ้า สกว. อยากได้งบประมาณ ก็อย่าไปคิดตั้งโจทย์วิจัยอื่น   ให้ใช้โจทย์วิจัยว่า ทำอย่างไรนโยบายของรัฐบาลจะได้ผล    และดังกรณี ทีดีอาร์ไอ ไม่ค่อยเป็นที่ชื่นชอบของนักการเมือง ไม่ว่ารัฐบาลไหน

 

การปฏิรูปประเทศไทย ควรคำนึงถึงการสร้างระบบปัญญาของประเทศ

 

 

วิจารณ์ พานิช

๕ ม.ค. ๕๗

 

 

บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย 

แก้ไขล่าสุด ใน วันศุกร์ที่ 07 กุมภาพันธ์ 2014 เวลา 12:35 น.
 


หน้า 393 จาก 561
Home

About Us

ศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ (ศบม.) เป็นองค์กรที่พัฒนาและจัดทำโครงการเพื่อทำประโยชน์ให้สังคม เป็นองค์กรสนับสนุนการดำเนินงานของภาครัฐ ช่วยแก้ปัญหาผู้ประกอบการภาคธุรกิจบริการที่ขาดแคลนบุคลากรที่มีมาตรฐานในการให้บริการ
อ่านเพิ่มเติม

มูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ ์

 iHDC Profile
บัญชีรายชื่อกรรมการ
ใบสำคัญแสดงการจดทะเบียน การเปลี่ยนแปลงกรรมการของมูลนิธิ
เอกสารประชาสัมพันธ์ โครงการ HMTC.pdf
เอกสารแนะนำโครงการ HMTC 1.pdf
เอกสารโครงการ HMTC 2 คุณสมบัติผู้เข้าร่วมโครงการ.pdf
iHDC นิติบุคคล.pdf
iHDC บุคคล.pdf
iHDC บุคคลเครือข่าย.pdf
รายงานการประชุม 6 มีนาคม 2560.pdf
ข้อบังคับมูลนิธิ
ใบสำคัญแสดงการจดทะเบียนจัดตั้งมูลนิธิ
Ihdc-Profile and Roadmap 2016-2019 Mar 23 2560.pdf
รายงานการประชุมใหญ่คณะกรรมการมูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ 2559.pdf
คำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ สาขาวิชาชีพ.pdf
รายงานการประชุมใหญ่วันที่ 18 ธ ค 2558 v 3.pdf
รายงานการประชุม วันที่ 24 ธันวาคม 2557 updated 4 มีนาคม 2558.pdf
iHDC-invitation Letter.doc
iHDC-Member Form Thai.doc
iHDC-Member Form English.doc
รายงานการประชุมกรรมการมูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ วันที่ 15 มกราคม 2556 ฉบับสมบูรณ์


thaibetter
พัฒนาประเทศไทยแบบทวีคูณ และยั่งยืน ( ททค )

Login


แบบสำรวจ

สถิติเว็บไซด์

สมาชิก : 5644
Content : 3068
เว็บลิงก์ : 26
จำนวนครั้งเปิดดูบทความ : 8743970

facebook

Twitter


ล่าสุด

บทความเก่า