Thaiihdc.org

  • เพิ่มขนาดตัวอักษร
  • ขนาดตัวอักษรปกติ
  • สดขนาดตัวอักษร
Thaiihdc.org

การเรียนรู้ประวัติศาสตร์ของไทยในยุคปัจจุบัน ควรมีรูปแบบและวิธีการอย่างไร

พิมพ์ PDF

คุณขวัญชนก ลีลาวณิชไชย แห่ง สกว. ผู้รับผิดชอบทำจดหมายข่าว ประชาคมวิจัย ตั้งโจทย์ “การเรียนรู้ประวัติศาสตร์ของไทยในยุคปัจจุบัน ควรมีรูปแบบและวิธีการอย่างไร” ให้ตอบครึ่งหน้ากระดาษ

ท่านที่สนใจเรื่องนี้อย่างจริงจัง ค้นจาก อินเทอร์เน็ตได้ โดยใช้คำค้นว่า “Teaching history in the 21st century” แต่ในที่นี้ผมจะให้ความเห็นจากมุมมองของผม ซึ่งไม่รับรองว่าถูกต้อง

การศึกษาประวัติศาสตร์ในปัจจุบัน ไม่ควรเน้นจำเรื่องราวเหตุการณ์ ปี พ.ศ., รัชกาล, ฯลฯ เพราะข้อความรู้เหล่านั้นหาได้ง่ายจากแหล่งต่างๆ โดยเฉพาะจาก อินเทอร์เน็ต แต่ควรเน้นเรียนให้รู้เท่าทันว่า เรื่องราวจากบันทึกประวัติศาสตร์มีอคติ แล้วแต่ใครเป็นผู้บันทึก และผู้บันทึกชั้นต้นย่อมตีความเรื่องราว เหล่านั้นไปชั้นหนึ่งแล้ว และหากมีการคัดลอกต่อๆ กันมา เรื่องราวก็อาจจะผิดเพี้ยนไปตามการตีความ และอคติของผู้คัดลอก เรื่องราวในประวัติศาสตร์จึงไม่ได้มีไว้ ให้เรียนแบบปลงใจเชื่อไปเสียทั้งหมด 
การเรียนประวัติศาสตร์ยุคปัจจุบันจึงควรเรียนแบบนำเอาสาระเรื่องราวในประวัติศาสตร์จากแหล่งต่างๆ มาตีความ เพื่อทำความเข้าใจเหตุผลที่มาที่ไปของเรื่องราวในประวัติศาสตร์ โดยไม่เน้นความถูกต้อง ไม่สรุปไว้ล่วงหน้าว่าต้องตีความแบบใดจึงจะถูกต้อง เน้นการเชื่อมโยงเหตุการณ์ สาระ เพื่อให้คำอธิบายแสดงเหตุผล เพื่อฝึกฝนความคิด และการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ หรือโต้แย้งข้อสันนิษฐานต่างๆ ในประวัติศาสตร์

ทั้งนี้ ความลุ่มลึกละเอียดอ่อนของการตีความ ย่อมต้องปรับไปตามระดับวุฒิภาวะของผู้เรียน

ผมมีความคิดว่า เรื่องราวในประวัติศาสตร์ สะท้อนธรรมชาติของมนุษย์ ที่มีทั้งด้านบวกและด้านลบ และยังสะท้อนความเชื่อมโยงระหว่างชีวิตมนุษย์กับธรรมชาติหลากหลายด้าน หากการเรียนประวัติศาสตร์ มีการตั้งคำถามความเชื่อมโยงเหล่านั้น การเรียนรู้ย่อมประเทืองปัญญาอย่างยิ่ง

การเรียนประวัติศาสตร์ควรเน้นที่การตั้งคำถาม และเน้นการมีคำตอบหลายคำตอบ

 

 

วิจารณ์ พานิช
๓๐ ก.ค. ๕๖ 

บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย Prof. Vicharn Panich

แก้ไขล่าสุด ใน วันพุธที่ 28 สิงหาคม 2013 เวลา 17:52 น.
 

การแสดงจินตลีลา ชุด “อาเซียนเป็นหนึ่ง”

พิมพ์ PDF

การแสดงจินตลีลาเป็นการแสดงท่วงท่าลีลาการเต้นรำที่สื่อความรู้สึกคิดตามจินตนาการ ผ่านเสียงดนตรีและเสียงเพลง เพื่อสุนทรียะทางอารมณ์ของผู้ชมทุกท่าน


แนวคิดของการแสดง จินตลีลาชุด “อาเซียนเป็นหนึ่ง” มุ่งหลอมรวมจิตใจของชาวคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐมกับทุกดวงใจของผองมิตรในหมู่ประเทศสมาชิกประชาคมอาเซียนทั้ง 10 ประเทศ สู่ความเป็นหนึ่งเดียว....

โดยใช้เพลง The ASEAN Way และเพลงอาเซียนรวมใจ  ประกอบการแสดง จินตลีลาชุด “อาเซียนเป็นหนึ่ง”

ร่วมใจกัน สมานฉันท์ สร้างสรรค์ภูมิภาคให้มั่นคง และดำรงอยู่ร่วมกันอย่างผาสุกทุกผืนแผ่นดิน

เป็นสังคมแห่งความรักและเอื้ออาทร ใส่ใจในการแบ่งปัน และกล้าที่จะฝันสู่สันติภาพของเรา “อาเซียนเป็นหนึ่ง”


รวมดวงใจ รวมรัก สามัคคี


ดวงฤดี มีหนึ่งเดียว เกี่ยวสัมพันธ์


ร่วมสุขทุกข์ บุกก้าวไป ไปด้วยกัน


สายสัมพันธ์ อาเซียนนั้น จงเจริญ.....

 

เพลง อาเซียนร่วมใจ
เนื้อร้อง/ทำนอง ประภาส ชลศรานนท์
ดนดรี คุณพระช่วยออร์เคสตรา
ขับร้อง ปาน ธนพร แวกประยูร / บี พีระพัฒน์ เถรว่อง


* อาเซียนร่วมใจ อาเซียนเรามาร่วมใจ
อาเซียนร่วมใจ อาเซียนเรามาร่วมใจ
มาเลเซีย พม่า กัมพูชา ลาว ไทย
สิงคโปร์ เวียดนาม บรูไน ฟิลิปปินส์ ... อินโดนีเซีย
อาเซียนร่วมใจ อาเซียนเรามาร่วมใจ
อาเซียนร่วมใจ อาเซียนเรามาร่วมใจ


(ญ.) รอบบ้านเราอยู่ติดกัน ขอบรั้วชนกัน เป็นบ้านพี่เมืองน้อง
ตะวันออกเฉียงใต้เรืองรอง แผ่นดินสีทองสาดส่องบ้านเรา
รอบบ้านเราอยู่ติดกัน สุขทุกข์รวมกัน แบ่งปันบรรเทา
ฝนรั่ว ฝนแล้งก็แบ่งเบา บ้านเธอบ้านเขาเรามาช่วยเหลือกัน

(ซ้ำ *)


อาเซียนร่วมใจ อาเซียนเรามาร่วมใจ
อาเซียนร่วมใจ อาเซียนเรามาร่วมใจ


(ช.) ข้าวปลาและอาหาร ตั้งร้านเรียงกัน ผูกพันแลกเปลี่ยน
วัฒนธรรมเราหมุนเวียน ปรับเปลี่ยนเชื่อมโยง เสริมส่งแข็งแรง
(พร้อมกัน) มาจับมือกันสร้างรั้ว เพราะลมเศรษฐกิจนั้นมันพัดแรง
รั้วนี้จะแข็งจะแกร่ง มันอยู่ที่เรา ผองชาวอาเซียนร่วมใจ

 

(ญ.) รอบบ้านเราอยู่ติดกัน ขอบรั้วชนกัน เป็นบ้านพี่เมืองน้อง
ตะวันออกเฉียงใต้เรืองรอง แผ่นดินสีทองสาดส่องบ้านเรา


(ช.) เพราะบ้านเราอยู่ติดกัน สุขทุกข์ร่วมกัน แบ่งปันบรรเทา
ฝนรั่ว ฝนแล้งก็แบ่งเบา บ้านเธอบ้านเขาเรามาช่วยเหลือกัน


อาเซียนร่วมใจ อาเซียนเรามาร่วมใจ
อาเซียนร่วมใจ อาเซียนเรามาร่วมใจ


(ช.) ข้าวปลาและอาหาร ตั้งร้านเรียงกัน ผูกพันแลกเปลี่ยน
วัฒนธรรมเราหมุนเวียน ปรับเปลี่ยนเชื่อมโยง เสริมส่งแข็งแรง


(พร้อมกัน) มาจับมือกันสร้างรั้ว เพราะลมเศรษฐกิจนั้นมันพัดแรง
รั้วนี้จะแข็งจะแกร่ง มันอยู่ที่เรา ผองชาวอาเซียนร่วมใจ


(อาเซียนร่วมใจ อาเซียนเรามาร่วมใจ) มาเลเซีย พม่า


(อาเซียนร่วมใจ อาเซียนเรามาร่วมใจ) กัมพูชา ลาว ไทย


(อาเซียนร่วมใจ อาเซียนเรามาร่วมใจ) สิงคโปร์ เวียดนาม บรูไน


(อาเซียนร่วมใจ อาเซียนเรามาร่วมใจ) ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย ... อาเซียน

 

The ASEAN Way

Raise our flag high, sky high
Embrace the pride in our heart
ASEAN we are bonded as one
Looking out to the world.
For peace, our goal from the very start
And prosperity to last.

We dare to dream we care to share.
Together for ASEAN
we dare to dream,
we care to share for it's the way of ASEAN


คำแปล

ชูธงเราให้สูงสุดฟ้า โอบเอาความภาคภูมิไว้ในใจเรา
อาเซียนเราผูกพันเป็นหนึ่ง
มองมุ่งไปยังโลกกว้าง
สันติภาพ คือเป้าหมายแรกเริ่ม
ความเจริญ คือปลายทางสุดท้าย
เรากล้าฝัน
และใส่ใจต่อการแบ่งปัน
ร่วมกันเพื่ออาเซียน
เรากล้าฝัน
และใส่ใจต่อการแบ่งปัน
นี่คือวิถีอาเซียน


เนื้อร้องภาษาไทยอย่างเป็นทางการ

พลิ้วลู่ลม โบกสะบัด ใต้หมู่ธงปลิวไสว
สัญญาณแห่งสัญญาทางใจ
วันที่เรามาพบกับ
อาเซียนเป็นหนึ่งดังที่ใจเราปรารถนา
เราพร้อมเดินหน้าไปทางนั้น
หล่อหลอมจิตใจให้เป็นหนึ่งเดียว
อาเซียนยึดเหนี่ยวสัมพันธ์
ให้สังคมนี้มีแต่แบ่งปัน
เศรษฐกิจสังคมก้าวไกล

คัดลอกจาก http://www.gotoknow.org/posts/546411

แก้ไขล่าสุด ใน วันอังคารที่ 27 สิงหาคม 2013 เวลา 23:23 น.
 

อีกก้าวหนึ่ง ของการกลับทางห้องเรียน

พิมพ์ PDF

นิตยสาร Scientific American ฉบับเดือนสิงหาคม ๒๕๕๖ มีรายงานพิเศษเรื่อง Learning in the Digital Age ซึ่งผมมองว่า เป็นอีกก้าวหนึ่งของการกลับทางห้องเรียน โดยเขาเน้นการใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยยิ่งขึ้น เน้นการใช้ MOOC (Massive Open Online Course) ในการเรียน และมีระบบ ซอฟท์แวร์ ช่วยให้ครูและผู้บริหารจัดการเรียนรู้แบบใหม่ และจัดการเรียนรู้แก่เด็กเป็นรายคนได้ เด็กแต่ละคน เลือกเรียนได้ตามความเร็วที่เหมาะแก่ตนเอง

อ่านส่วนที่เขาให้อ่านฟรี ได้ ที่นี่

เป็นสัญญาณ ว่ายุคการเรียนรู้ผ่านระบบ ออนไลน์ กำลังจะเข้ายึดครองห้องเรียน โรงเรียน และระบบการศึกษา ของประเทศต่างๆ ซึ่งหมายความว่า ระบบการศึกษาของประเทศทั่วโลก กำลังเผชิญทั้งโอกาส และความท้าทายใหญ่ 
มองในแง่ของโอกาส นี่คือโอกาสปฏิรูปการเรียนรู้/การศึกษา ในศตวรรษที่ ๒๑ ของไทย แต่จะต้องเข้าใจว่า ต้องปฏิรูปทั้งระบบ ต้องฝึกทักษะใหม่ให้แก่ครูประจำการ ต้องจัดหลักสูตรผลิตครูแบบใหม่ เพื่อให้มีกระบวนทัศน์ใหม่ และทักษะการเป็นครูแบบใหม่ 
มองในแง่ความท้าทาย (ปัญหา/หายนะ) นี่คือเส้นทางสู่ความเป็นประเทศราชทางเทคโนโลยี และการเรียนรู้ และเป็นเส้นทางสู่คอรัปชั่นครั้งมโหฬาร คล้ายๆ โครงการรับจำนำข้าวเปลือกทุกเมล็ด โครงการจัดการน้ำ ๓.๕ แสนล้านบาท และโครงการระบบรถไฟความเร็วสูง ๒ ล้านล้านบาท

หากไม่จัดระบบการเรียนรู้ผ่าน MOOC ให้เป็นระบบ เราก็จะทำกันอย่างต่างคนต่างทำ แทนที่จะได้ผลดีคุ้มค่าการลงทุน เราก็จะจ่ายมาก ได้ผลน้อย หรืออาจใช้ MOOC เพื่อเป้าหมายการเรียนรู้แห่งศตวรรษที่ ๒๐ คือเน้นเรียนความจำสาระ ก็จะยิ่งขาดทุนย่อยยับ

หากไม่คิดเองให้ดี เราก็จะลอกแบบของต่างประเทศมาทั้งดุ้น การศึกษาเพื่อสร้างความเป็นไทย ยกระดับจุดเด่นของวัฒนธรรมไทย เพื่อสร้างความเป็นพลเมืองไทย ก็จะไม่เกิด กลายเป็นเรียนตามแนวทางสร้างพลเมืองของประเทศอื่น ความภาคภูมิใจในความเป็นไทยจะหายไป กลายเป็นเส้นทางสูญชาติ สูญวัฒนธรรมประจำชาติ

เราต้องช่วยกันทำให้ คลื่นลูกใหม่ ของการปฏิรูปการศึกษา ด้วย MOOC เป็นเส้นทางแห่งโอกาส ไม่เป็นเส้นทางแห่งหายนะ

 

 

วิจารณ์ พานิช
๒๓ ก.ค. ๕๖ 
วันเข้าพรรษา

คัดลอกจาก http://www.gotoknow.org/posts/546441

แก้ไขล่าสุด ใน วันอาทิตย์ที่ 25 สิงหาคม 2013 เวลา 10:46 น.
 

การเรียนรู้บูรณาการพลังสาม : หัวใจอุดมศึกษา : ๑๙. ส่งเสริมวัฒนธรรมแห่งความรับผิดชอบที่ MSU

พิมพ์ PDF

บันทึก ๒๐ ตอนนี้ ได้จากการตีความหนังสือ The Heart of Higher Education : A Call to Renewal เขียนโดยผู้มีชื่อเสียง ๒ ท่านคือ Parker J. Palmer และ Arthur Zajonc ซึ่งเมื่อผมอ่านคร่าวๆ แล้ว ก็บอกตัวเองว่า นี่คือข้อเสนอสู่การเรียนรู้เพื่อเป็นคนเต็มคน ที่มี “พลังสาม” เข้มแข็ง คือ สมอง ใจ และวิญญาณ (head, heart, spirit) หรือพูดด้วยคำที่ฮิตในปัจจุบันคือ การเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลงจากภายในตน (Transformative Learning)

แม้ว่าหนังสือเล่มนี้จะเน้นเสนอการเปลี่ยนแปลงในระดับอุดมศึกษา แต่ผมมีความเชื่อว่าต้องใช้กับการศึกษาทุกระดับ รวมทั้งการศึกษาตลอดชีวิต และตัวผมเองก็ต้องการนำมาใช้ฝึกปฏิบัติเองด้วย

ผมตั้งเป้าหมายในการอ่านและตีความหนังสือเล่มนี้ ออกบันทึกลง บล็อก ชุด เรียนรู้บูรณาการพลังสาม ว่า ต้องการเจาะหาแนวทางทำให้จิตตปัญญาศึกษา เข้าสู่การศึกษากระแสหลัก เพื่อให้คนไทยมีทักษะจิตตภาวนา บูรณาการอยู่ในทักษะแห่งศตวรรษที่ ๒๑ เป็นส่วนหนึ่งของทักษะชีวิต

การเรียนรู้บูรณาการ (สมอง ใจ และวิญญาณ) พัฒนา ๓ ด้านไปพร้อมๆ กัน และส่งเสริมเกื้อกูลซึ่งกันและกัน ในภาษาอังกฤษเรียกว่า Integrative Learning ในบางที่เรียกว่า Transformative Learning ซึ่งแปลเป็นไทยได้ ๒ แบบ ว่า (๑) การเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลงระดับรากฐาน คือเปลี่ยนจากติดสัญชาตญาณสัตว์ เป็นมีจิตใจสูง ซึ่งมนุษย์ทุกคนบรรลุได้ บรรลุได้ในฐานะบุคคลทางโลก ไม่ต้องเข้าวัด หรือไม่ต้องบวช (๒) เป็นการเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลง หรืองอกงาม ภายในตน ตรงกันข้ามกับการเรียนรู้แบบรับถ่ายทอดความรู้มาจากภายนอก

ผมได้ตีความเขียนบันทึกจากบทหลักในหนังสือจบแล้ว แต่ยังมีส่วนเพิ่มเติม เพื่อบอกวิธีปฏิบัติอีกหลายตอน ที่ผมคิดว่ามีประโยชน์ต่ออาจารย์ที่ต้องการจัดการเรียนรู้แบบ Integrative/Transformative Learning อย่างจริงจัง

บันทึกตอนที่ ๑๙ นี้ ตีความจากส่วนหนึ่งของ Appendix C : Adninistrative and Campuswide Initiatives เรื่อง Integrated, Embedded, and Engaged : Promoting a Culture of Responsibility at MSU – Chautauqua / Dialogue เขียนโดย Stephen L. Esquith, Professor, Department of Philosophy, and Dean, Residential College in the Arts and Humanities at Michigan State University เล่าเรื่อง การจัดเสวนา เรื่องของสังคมในศตวรรษที่ ๒๑ ที่มีมุมมองจากทั้งด้านวัฒนธรรมและด้านวิทยาศาสตร์ เพื่อสร้างสำนึกรับผิดชอบต่อสังคมในหมู่ นศ. และอาจารย์ของมหาวิทยาลัยมิชิแกนสเตท

คนมหาวิทยาลัย มิชิแกนสเตท เรียกกิจกรรมนี้ว่า Chautauqua เป็นคำที่มีรากมาจากกิจกรรมในศตวรรษที่ ๑๙ ที่เชิญองค์ปาฐกด้านการศึกษา และศิลปิน ไปให้ความบันเทิงทั้งทางปัญญาและอารมณ์ แก่ครอบครัวที่ไปพักผ่อน ณ ชายหาด ของทะเลสาบ Chautauqua ตอนเหนือของรัฐ นิวยอร์ก และชื่อนี้ได้กลายเป็นวิสามานยนามของเวทีสาธารณะ ที่เป็นเวทีเปิด สำหรับถกเถียงประเด็นใดประเด็นหนึ่ง ที่เป็นจุดสนใจในขณะนั้น ด้วยมุมมองทั้งด้านวัฒนธรรมและด้านวิทยาศาสตร์ ดังคำอธิบายที่นี่

มหาวิทยาลัยมิชิแกนสเตท ทดลองทำโครงการนี้เป็นโครงการ ๒ ปี ใน ๓ วิทยาลัยที่ นศ. อยู่ประจำในหอพัก โดยมี AAC&U ร่วมเป็นผู้สนับสนุน โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างวัฒนธรรมรับผิดชอบต่อสาธารณะ ทั้งในระดับบุคคล ระดับสังคม และระดับสถาบัน

ความรับผิดชอบต่อสังคม/สาธารณะ ของมหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นชุมชนวิชาการ คืออะไร มองได้หลายแง่มุม

แง่มุมหนึ่งมองจากมุมของเสรีภาพทางวิชาการ (Academic Freedom) เสรีภาพต้องคู่กับความรับผิดชอบ รู้ว่าอะไรควรอะไรไม่ควร ในประเทศประชาธิปไตยมีเสรีภาพในการแสดงออก แต่พลเมืองทุกคน ต้องรู้ว่าการแสดงออกแบบไหน ในเรื่องอะไรเป็นสิ่งที่ควร/ไม่ควร ในมหาวิทยาลัยก็เช่นกัน ทั้งอาจารย์และ นศ. ต้องเรียนรู้ว่า การแสดงออกเชิงเสรีภาพทางวิชาการของตนมีขอบเขตจำกัดอย่างไร เสรีภาพโดยไม่มีขอบเขตเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ ผู้มีการศึกษาทุกคนต้องเรียนรู้ข้อจำกัดของเสรีภาพ
เช่น นศ. และอาจารย์ พึงมีวิจารณญาณว่าสมควรนำเอาข้อความแบบไหนไปใส่ไว้ในเว็บไซต์ของมหาวิทยาลัย หรือใน social media ของตน โดยที่ประกาศตนว่าเป็น นศ. ของมหาวิทยาลัย ก

เวทีเสวนา Chautauqua เป็นเวทีที่ทุกคนเท่าเทียมกันในการแสดงความเห็นที่แตกต่างหลากหลายโดยไม่มีข้อขัดแย้ง เป็นเวที่ที่ นศ. ผู้เยาว์ได้เรียนรู้จากสภาพจริง ว่าประชาธิปไตยคืออะไร ความเท่าเทียมกันในการแสดงออกเป็นอย่างไร มิติของความรับผิดชอบต่อสังคมในการแสดงออกเป็นอย่างไร เป็นการเรียนรู้จากตัวอย่างของจริง ไม่ต้องสอน

สิ่งที่ นศ. ได้เรียนรู้จากกระบวนการนี้ คือเทคนิค สุนทรียเสวนา/สานเสวนา (dialogue) ที่ผู้คนรับฟังกันอย่างเคารพซึ่งกันและกัน กับสาระในแต่ละประเด็นที่นำมาเสวนากัน โดยมีผู้นำเสวนาที่เป็นผู้ทำงานหรือมีประสบการณ์ตรงในเรื่องนั้น จากหลากหลายบทบาทหรือมุมมอง แล้วหลังจากนั้น ทุกคนที่เข้าร่วมก็มีความเท่าเทียมกันในการแสดงความคิดเห็น ความเชื่อ หรือเล่าประสบการณ์ของตน

บทความนี้ไม่ได้ให้รายละเอียดของการจัดเวทีเสวนา แต่มีข้อความที่แสดงว่าแต่ละหัวข้ออาจมีเวทีเสวนาหลายครั้ง สัปดาห์ละครั้ง ครั้งละ ๓ ชั่วโมง ตัวอย่างหัวข้อเช่น Sustainability and Human Rights; Race, Justice and Equity ในบางกรณีอาจมีการฉายภาพยนตร์ประกอบด้วย

โครงการเสวนานี้ ค่อยๆ ฝังรากเป็นวัฒนธรรมองค์กร ในด้านสำนึกรับผิดชอบต่อสังคม และขยายตัวสู่การเรียนรู้ในหลักสูตรปกติ นำไปสู่ service learning, กิจกรรมภาคสนาม, หลักสูตรฝึกงาน (internship), หลักสูตรที่เชื่อมโยงกับหน้าที่พลเมือง, การไปเรียนรู้ในต่างประเทศ, หลักสูตรข้ามสถาบันที่มีการทำงานรับใช้ชุมชน, ฯลฯ

ขบวนการ/วิธีการ Chautauqua ในศตวรรษที่ ๒๑ มีการดำเนินการหลากหลาย อ่านได้ ที่นี่

ผมอ่านเรื่องนี้แล้ว นึกถึงขบวนการนักศึกษาระหว่างปี ๒๕๑๔ - ๒๕๑๙ ที่มีกระบวนการกระตุ้นสำนึกสังคมของ นศ.

 

 

วิจารณ์ พานิช
๑๑ ก.พ. ๕๖

คัดลอกจาก http://www.gotoknow.org/posts/546137

แก้ไขล่าสุด ใน วันเสาร์ที่ 24 สิงหาคม 2013 เวลา 23:54 น.
 

ชีวิตที่พอเพียง : ๑๙๗๗. สดชื่นในเช้าอากาศดี

พิมพ์ PDF

ช่วงกลางเดือนกรกฎาคม ๒๕๕๖ ฝนตกตอนกลางคืน ตอนเช้าอากาศเย็น และมีลมพัดเอื่อยๆ ผมจึงได้เดินออกกำลังด้วยความสดชื่น ยิ่งในวันหยุด ออกเดินสาย มีแสงให้ถ่ายรูปความงามรอบตัว ได้ความสุขจากชีวิตที่พอเพียง คือไม่มีค่าใช้จ่าย
ในหมู่บ้านสิวลี ติวานนท์ ที่ผมอยู่ มีบ้านที่ปลูกไม้ดอกสวยงามหลายบ้าน และยิ่งกว่านั้น ยังนิยมปลูกไม้ไทยดอกหอม ไม่ว่าฤดูกาลใด ได้กลิ่นหอมอ่อนๆ อยู่เสมอ ไม้เหล่านี้ที่บ้านผมไม่มีเสียแล้ว เพราะต้นไม้ใหญ่โตและแตกกิ่งก้าน จนต้นไม้เล็กไม่ได้แดด พากันล้มตายไปเกือบหมด ที่ทนอยู่ได้คือต้นโมก

เช้าวันนี้ ผมฉวยกล้องถ่ายรูปคู่ใจไปเดินด้วย และถ่ายรูปวิวและดอกไม้งามๆ ไว้เป็นที่ระลึก ที่เสียดายคือต้นบัวหลวงในสระใหญ่ ที่โดนขุดรากถอนโคนไปหมดสิ้น สระน้ำในหมู่บ้านกลายเป็นสระว่างเปล่า ขาดความงามของใบบัวและดอกบัว แต่เมื่อถ่ายรูปก็ได้ความงามไปอีกแบบ คือได้เงาต้นไม้ริมสระ

 

 

วิจารณ์ พานิช
๑๔ ก.ค. ๕๖

 

กาหลงที่เกสรสีนี้ ผมไม่เคยเห็น ตรวจสอบในอินเทอร์เน็ตก็ไม่มี

 

ลั่นทมที่งามพิศ ทั้งสี การจัดเรียงกลีบ ดอกตูม และใบที่เป็นฉากหลัง

 

ต้นไม่ทราบชื่อ สะและทรงงามสะดุดตา

 

นี่ก็ไม่ทราบชื่อ

 

ยางอินเดียใบด่างต้นนี้สวยมาก

 

ยิ่งส่วนยอดสียิ่งสวย

 

สระน้ำ ที่บัดนี้ไร้บัวเสียแล้ว

 

ให้เงาสะท้อนต้นไม้และเมฆบนท้องฟ้า งามไปอีกแบบ

ไม้ใบงามใต้แสงเงา

 

บัวดินที่บ้านลูกสาว


คัดลอกจาก http://www.gotoknow.org/posts/546223

 


หน้า 456 จาก 561
Home

About Us

ศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ (ศบม.) เป็นองค์กรที่พัฒนาและจัดทำโครงการเพื่อทำประโยชน์ให้สังคม เป็นองค์กรสนับสนุนการดำเนินงานของภาครัฐ ช่วยแก้ปัญหาผู้ประกอบการภาคธุรกิจบริการที่ขาดแคลนบุคลากรที่มีมาตรฐานในการให้บริการ
อ่านเพิ่มเติม

มูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ ์

 iHDC Profile
บัญชีรายชื่อกรรมการ
ใบสำคัญแสดงการจดทะเบียน การเปลี่ยนแปลงกรรมการของมูลนิธิ
เอกสารประชาสัมพันธ์ โครงการ HMTC.pdf
เอกสารแนะนำโครงการ HMTC 1.pdf
เอกสารโครงการ HMTC 2 คุณสมบัติผู้เข้าร่วมโครงการ.pdf
iHDC นิติบุคคล.pdf
iHDC บุคคล.pdf
iHDC บุคคลเครือข่าย.pdf
รายงานการประชุม 6 มีนาคม 2560.pdf
ข้อบังคับมูลนิธิ
ใบสำคัญแสดงการจดทะเบียนจัดตั้งมูลนิธิ
Ihdc-Profile and Roadmap 2016-2019 Mar 23 2560.pdf
รายงานการประชุมใหญ่คณะกรรมการมูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ 2559.pdf
คำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ สาขาวิชาชีพ.pdf
รายงานการประชุมใหญ่วันที่ 18 ธ ค 2558 v 3.pdf
รายงานการประชุม วันที่ 24 ธันวาคม 2557 updated 4 มีนาคม 2558.pdf
iHDC-invitation Letter.doc
iHDC-Member Form Thai.doc
iHDC-Member Form English.doc
รายงานการประชุมกรรมการมูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ วันที่ 15 มกราคม 2556 ฉบับสมบูรณ์


thaibetter
พัฒนาประเทศไทยแบบทวีคูณ และยั่งยืน ( ททค )

Login


แบบสำรวจ

สถิติเว็บไซด์

สมาชิก : 5644
Content : 3068
เว็บลิงก์ : 26
จำนวนครั้งเปิดดูบทความ : 8742713

facebook

Twitter


ล่าสุด

บทความเก่า