Thaiihdc.org

  • เพิ่มขนาดตัวอักษร
  • ขนาดตัวอักษรปกติ
  • สดขนาดตัวอักษร
Thaiihdc.org

แนวคิดประชาสังคมในทัศนะของอดัม สมิธ

พิมพ์ PDF

ข้อเสนอของสมิธเป็นเป้าหมายสูงสุดทางการเมือง เป็นเรื่องของการนำปรัชญาทางศีลธรรมมาเป็นกฏทางการเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องความยุติธรรมถือว่าเป็นคุณธรรมอันดับแรกที่ต้องมีในสังคมพาณิชยกรรมและสังคมแห่งเสรีชน ส่วนคุณธรรมด้านอื่นๆ ได้แก่ ความปรารถนาที่จะประกอบความดี (benevolence) ซึ่งเป็นคุณธรรมที่พลเมืองจะต้องมีความผูกพัน ข้อเสนอที่เป็นแก่นของปรัชญาที่สมิธเสนอก็คือ มีความเป็นไปได้ที่จะเชื่อมระหว่างความยุติธรรมกับความปรารถนาที่จะประกอบความดีเพื่อให้พลเมืองผู้พอใจในเสรีนิยมมีความรู้สึกตระหนักในคุณธรรม เมื่อพลเมืองมีเสรีภาพก็ต้องมีกฎหมายที่ยุติธรรมขึ้นมากำกับด้วยเพื่อลงโทษผู้ฝ่าฝืนหรือทำในสิ่งที่ทำลายคุณธรรม พลเมืองที่มุ่งประกอบความดีจะแสดงความดีออกมาได้ต้องมีกฎหมายที่ยุติธรรมคุ้มครองให้ประกอบความดี

อดัม สมิธ มีชีวิตอยู่ระหว่า ค.ศ.1723-1790 เป็นนักปรัชญาชาวสกอตต์ที่สนใจปัชญาทางศีลธรรมมีแนวคิดในทำนองเดียวกับเฟอร์กูสัน  งานเขียนของสมิธแสดงให้เห็นถึงความสนใจในการถกอภิปรายถึงสังคมสมัยใหม่ สมิธได้รับอธิพลทางความคิดจากปรัชญาการเมืองของอริสโตเติลที่เชื่อว่า มนุษย์โดยพื้นฐานแล้วก็คือพลเมือง มนุษย์เป็นสัตว์การเมือง มนุษย์จะดำรงอยู่ได้ก็ต้องอยู่ในสังคมที่มนุษย์สร้างขึ้นมา มนุษย์โดยธรรมชาติแล้วจึงมีความรักสังคมที่เขาอยู่ และมีความปรารถนาที่จะอยู่ร่วมกันด้วยความสามัคคี และสังคมนี้ควรได้รับการปกป้องเพื่อการดำรงชีวิตของพวกเขา สมิธได้เสนอแนวคิดที่ท้าทายสะท้อนให้เห็นความขัดแย้งทางศีลธรรมของมนุษย์อันมีเหตุกำเนิดมาจากสังคมพาณิชยกรรมและการปฎิวัติอุตสาหกรรมในยุโรป เฟอร์กูสันพยายามค้นหาคำอธิบายถึงสังคมที่มีความซับซ้อนของประชาสังคมสมัยใหม่ซึ่งครอบคลุมไปถึงเรื่องความไม่เท่าเทียมกันและการเกิดความเป็นปัจเจกชนนิยมขึ้น สมิธเน้นว่าสังคมพาณิชยกรรมไม่เพียงแต่นำไปสู่ความฉ้อโกง และความเลวร้ายทางศีลธรรมของมนุษย์ที่เกิดจากความขัดแย้งทางคุณธรรมที่มุ่งประโยชน์ส่วนตน แต่ในอีกทางหนึ่งสังคมพาณิชยกรรมก็มีส่วนดีที่ยังทำให้การเติบโตอุตสาหกรรมเพิ่มมากขึ้น มีการแลกเปลี่ยนที่เป็นธรรม ใช้วิธีการจ้างงานเพื่อแลกเปลี่ยนประโยชน์ซึ่งกันและกัน ในงานเขียนเรื่องทฤษฎีแห่งความรู้ทางศีลธรรม (The Theory of Moral Sentiments)  สมิธเสนอว่าการใช้ชีวิตในสังคมสาธารณะต้องมีคุณธรรม การแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการต้องมีความเป็นธรรมและต้องมีการจัดระเบียบทางสังคมที่ดีเกิดขึ้น

สมิธแบ่งความแตกต่างระหว่างสังคมดั้งเดิมกับสังคมที่มีความอารยะโดยใช้เกณฑ์ที่พิจารณารูปแบบของพัฒนาการทางเศรษฐกิจ สมิธพยายามอธิบายว่าการแบ่งงานกันทำช่วยทำให้เกิดความมั่งคั้งของชาติได้อย่างไร นอกจากนี้ได้อธิบายถึงตลาดเสรีว่านำไปสู่การขยายตัวอย่างมากของสังคมพาณิชยกรรมและการปรับปรุงระบบการแบ่งงานกันทำ ยิ่งพาณิชยกรรมขยายตัวมากเท่าใด การแบ่งงานกันทำก็ยิ่งมีความสมบูรณ์มากขึ้นเท่านั้น สมิธเห็นว่าสังคมพาณิชยกรรมเป็นการพัฒนาการขั้นสุดท้าย เป็นสังคมที่มีการแบ่งงานกันทำในระบบการผลิต มีระบบกฎหมาย สัญญา การแลกเปลี่ยนทรัพย์สินและเงินตราในหมู่เอกชน สังคมในยุคนี้มีอุตสาหกรรมที่ทันสมัย มีการสะสมทุนเพื่อนำเทคโนโลยีมาใช้ในการผลิต ซึ่งทำให้ใช้เวลาน้อยลงในการผลิตสินค้าชนิดใดชนิดหนึ่ง การแบ่งงานกันทำเมื่อมองทั้งระบบสังคมแล้วจำเป็นที่จะต้องมีความร่วมมือทางสังคมเกิดขึ้น ที่สำคัญที่สุด สถาพสังคมแบบนี้นำไปสู่ความแบ่งแยกความสัมพันธ์ระหว่างสังคมพาณิชยกรรมออกจากสังคมการเมืองสมัยใหม่

ข้อเสนอของสมิธเป็นเป้าหมายสูงสุดทางการเมือง เป็นเรื่องของการนำปรัชญาทางศีลธรรมมาเป็นกฏทางการเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องความยุติธรรมถือว่าเป็นคุณธรรมอันดับแรกที่ต้องมีในสังคมพาณิชยกรรมและสังคมแห่งเสรีชน ส่วนคุณธรรมด้านอื่นๆ ได้แก่ ความปรารถนาที่จะประกอบความดี (benevolence) ซึ่งเป็นคุณธรรมที่พลเมืองจะต้องมีความผูกพัน ข้อเสนอที่เป็นแก่นของปรัชญาที่สมิธเสนอก็คือ มีความเป็นไปได้ที่จะเชื่อมระหว่างความยุติธรรมกับความปรารถนาที่จะประกอบความดีเพื่อให้พลเมืองผู้พอใจในเสรีนิยมมีความรู้สึกตระหนักในคุณธรรม เมื่อพลเมืองมีเสรีภาพก็ต้องมีกฎหมายที่ยุติธรรมขึ้นมากำกับด้วยเพื่อลงโทษผู้ฝ่าฝืนหรือทำในสิ่งที่ทำลายคุณธรรม พลเมืองที่มุ่งประกอบความดีจะแสดงความดีออกมาได้ต้องมีกฎหมายที่ยุติธรรมคุ้มครองให้ประกอบความดี

สมิธเห็นว่าปัจเจกชนมีความโน้นเอียงมาแต่กำเนิดที่จะเคารพกฎแห่งความยุติธรรมตามธรรมชาติ  มนุษย์นำตัวเข้าสู่ประชาสังคมก็ด้วยหลักสองประการ ได้แก่ หลักแห่งอรรถประโยชน์ (principle of utility) และหลักแห่งอำนาจหน้าที่ (principle of authority) กล่าวคือ ในหลักประการแรกนั้น มนุษย์โดยธรรมชาติมีความปรารถนาที่จะทำสภาพของตนเองให้ดีขึ้น ความปรารถนานี้โดยปกติมนุษย์ทำให้เป็นรูปธรรมขึ้นมาโดยใช้วิธีการหาเหตุผลมาอ้างเพื่อแสวงหาความมั่นคง (argumentation of fortune) เพื่อให้บรรลุเหตุผลดังกล่าวปัจเจกชนควรที่จะพอใจกับเสรีภาพส่วนตัวที่จะตัดสินใจว่าตนเองควรจะใช้ทรัพยากรและทักษะของตนมาร่วมกิจกรรมของประชาสังคมอย่างไร สมิธพรรณาว่า เป็นระบบสังคมเสรีทุกคนมีเสรีภาพอย่างสมบูรณ์ที่จะนำตัวเองเข้าสู่การหาประโยชน์ตามแนวทางของตนเพื่อสร้างความพึงพอใจให้แก่ตน หรือสร้างอรรถประโยชน์ให้แก่ตน มนุษย์จึงต้องนำตนเองเข้าสู่ประชาสังคม

ส่วนหลักแห่งอำนาจหน้าที่ สมิธเห็นว่า รัฐบาลมีหน้าที่เพียงสามประการเท่านั้นคือ หนึ่งปกป้องการรุกรานของศัตรูจากภายนอก สองปกป้องสาธารณะต่างๆรวมทั้งงานด้านการศึกษา และสามบริหารงานยุติธรรม รัฐต้องมีมาตรการต่างๆ ที่ป้องกันไม่ให้ปัจเจกบุคคลฝ่าฝืนกฎแห่งความยุติธรรม เพื่อให้ปัจเจกชนได้ดำรงชีวิตเพื่อแสวงหาประโยชน์ตามที่ตนต้องการ เมื่อรัฐทำหน้าที่นี้ได้สมบูรณ์เป็นหลักประกันให้เสรีชนเข้าสู่ประชาสังคม ความเห็นของสมิธดังกล่าวนี้ถือว่าเป็นลักษณะสำคัญประการหนึ่งของประชาสังคมแบบเสรีนิยม

สมิธเน้นว่า มนุษย์เราโดยธรรมชาติมีความเป็นสังคมและแสดงออกถึงความเป็นสัตว์สังคมของตนออกมาในเชิงสถาบันที่ไม่มีแบบแผนเป็นทางการ มนุษย์รับรู้ว่าโลกประกอบด้วยการปฎิบัติทางสังคมอันหลากหลายและมีสถาบันทางสังคมมากมาย ในสังคมการค้าแบบเสรีจำเป็นต้องมีคุณธรรมของพลเมือง (civic virtue) ที่แสดงออกในพื้นที่ปริมณฑลสาธารณะในลักษณะเป็นการแลกเปลี่ยนการกระทำต่อกันด้วยความยุติธรรม ในตลาดเสรีเป็นพื้นที่ที่มนุษย์แลกเปลี่ยนหมุนเวียน แรงงาน ทุน รวมไปถึงการแลกเปลี่ยนความเห็นเกี่ยวกับความดีของมนุษย์ และความเห็นทางการเมือง ตลาดเสรียังเป็นแหล่งที่แสดงให้เห็นถึงความรุ่งเรืองทางการศึกษา วิทยาศาสตร์ ปรัชญา และศิลปะ สมิธเชื่อว่าความรู้สึกทางอารมณ์ จินตนาการ และความเข้าใจสรรพสิ่งเป็นพื้นฐานของความเห็นอกเห็นใจซึ่งกันและกัน และเป็นจุดสำคัญที่ทำให้มนุษย์คิดเกี่ยวกับสังคมแบบเสรี

ม.ล.ชาญโชติ ชมพูนุท

11 มิถุนายน 2556

ข้อมูลจากหนังสือ พัฒนาการและพัฒนาประชาสังคม โดย ผศ.ทศพล สมพงษ์

 

ทฤษฎีสัญญาประชาคม

พิมพ์ PDF

ทฤษฎีสัญญาประชาคม

เป็นการนำเสนอความคิดที่อธิบายความชอบธรรมใหม่เกี่ยวกับที่มาของอำนาจรัฐ จากเดิมที่เชื่อกันโดยทั่วไปว่า ผู้ปกครองซึ่งก็คือกษัตริย์มีความชอบธรรมในการใช้อำนาจปกครองที่ได้รับมาจากพระเจ้าที่เรียกว่า อำนาจเทวสิทธิ์ (Diving Right) อำนาจจากสวรรค์นี้ผู้ปกครองได้รับผ่านมาทางศาสนจักร ตามความเชื่อแบบเดิมนี้อำนาจของอาณาจักรและอำนาจของศาสนจักรจึงเป็นอันเดียวกัน แต่อำนาจรัฐตามแนวคิดของนักปรัชญากลุ่มสัญญาประชาคมเสนอขึ้นมาใหม่ อ้างที่มาของอำนาจรัฐว่าเกิดจากการยินยอมพร้อมใจกันของมนุษย์ในสังคมมาตกลงจัดระเบียบการอยู่ร่วมกันด้วยการมอบอำนาจให้ผู้นำทำหน้าที่แทนตนในนามของส่วนรวม นักปรัชญาทั้งสามคนให้เหตุผลแตกต่างกันในการอธิบายถึงความจำเป็นที่มนุษย์ยินยอมมาอยู่ร่วมกันเป็นสังคมและยอมมอบอำนาจให้ผู้อื่นปกครอง โดยนักทฤษฎีแต่ละคนมีคำอธิบายอ้างถึงพื้นฐานธรรมชาติของมนุษย์ในแง่มุมที่แตกต่างกัน แต่ที่มีทัศนะเหมือนกันคือธรรมชาติของมนุษย์เป็นเหตุแห่งการทำข้อตกลงยินยอมในการจัดตั้งและมอบอำนาจให้ผู้นำ

 

โทมัส ฮอบส์ (มีชีวิตอยู่ในช่วง ค.ศ.1588-1679) เสนอแนวคิดที่ท้าทายอำนาจของศาสนจักรที่เชื่อว่าพระเจ้าเป็นผู้สร้างมนุษย์และกฏต่างๆ รวมทั้งมอบเทวสิทธิ์ให้แก่กษัตริย์เป็นผู้ปกครอง แต่ฮอบส์มีแนวคิดว่าสังคมและรัฐบาลไม่ได้ถูกบวชหรือสร้างขึ้นมาโดยพระเจ้าหรือธรรมชาติ หากแต่มนุษย์เองมีความจำเป็นต้องสร้างรัฐขึ้นอย่างไม่เป็นธรรมชาติ เพราะโดยธรรมชาติมนุษย์เป็นสัตว์ที่เห็นแก่ตัว ละโมบ อยู่ไม่สุข และไม่มั่นคง พฤติกรรมของมนุษย์ถูกผลักดันไปโดยตัณหาของตนและพยายามใช้เหตุผลที่จะทำทุกอย่างเพื่อความอยู่รอดและความมั่นคงของตนเอง การป้องกันตัวที่ดีที่สุดคือ การโจมตีก่อน ทำให้เกิดการแย่งชิงและสงคราม ภาวะทางธรรมชาติของมนุษย์ก็คือสงคราม ชีวิตมนุษย์จึงอยู่อย่างโหดร้าย ยากไร้ และอายุสั้น ในภาวะธรรมชาติมนุษย์มีความเท่าเทียมกันทั้งในความสามารถของร่างกายและสติปัญญา ความเสมอภาคที่สำคัญที่สุดคือ ความเท่าเทียมในการประหัตประหารกัน เพราะความกังวลสูงสุดของมนุษย์คือ การปกปักรักษาตนเอง ความเสมอภาคด้วยความสามารถนำไปสู่ความเสมอภาคด้านความหวังและการแข่งขันซึ่งเกิดจากความโลภของมนุษย์ ความเป็นศัตรูกันโดยธรรมชาติของมนุษย์จึงเกิดขึ้น ฮอบส์มีความเห็นว่า ความกลัวตาย ความปรารถนา และความหวัง ได้โน้มนำมนุษย์ไปสู่สันติสุขโดยชี้นำให้มีกฎสำหรับใช้ชีวิตร่วมกันอย่างสันติ มนุษย์จึงเริ่มสร้างเงื่อนไขให้เกิดสันติภาพ มนุษย์แต่ละคนควรจะเต็มใจสละสิทธิของตนที่มีต่อสิ่งทั้งปวง การยินยอมสละสิทธิร่วมกันนี้เรียกว่าสัญญาประชาคม (Social Contract) ประชาชนสังคมเกิดขึ้นได้โดยสัญญาประชาคม โดยที่แต่ละคนมีพันธะผูกพันกับตนเองด้วย มนุษย์ร่วมกันทำสัญญาว่า จะไม่ขัดขืนคำสั่งของตัวบุคคลหรือคณะบุคคลที่พวกเขายอมรับว่ามีอำนาจในองค์อธิปัตย์ (Sovereing) ของพวกเขา มนุษย์ต้องยอมสละสิทธิที่จะปกป้องตัวเองและตกลงให้องค์อธิปัตย์ ผู้มีอำนาจใช้สิทธินี้แทนปัจเจกชน องค์อธิปัตย์จึงทำหน้าที่เป็นตัวแทนของมนุษย์ทุกคนเพื่อปกป้องไม่ให้เกิดความขัดแย้ง การแย่งชิง และการประหัตประหารกัน ปัจเจกชนต้องเชื่อฟังรัฐและมีเสรีภาพได้เท่าที่องค์อธิปัตย์จะอนุญาต ปัจเจกชนจะกบฎต่อรัฐได้ถ้าองค์อธิปัตย์ทำลายสิทธิทางธรรมชาติในการป้องกันตนเองของปัจเจกชน เช่น การฆ่าหรือทำร้ายพวกเขา

ฮอบส์มีชีวิตอยู่ในช่วงที่สถานการณ์ทางการเมืองของอังกฤษที่ต้องประสานรอยร้าวระหว่างกษัตริย์กับรัฐสภาได้เสนอความเห็นไว้ว่าน่าจะมอบอำนาจการปกครองให้กษัตริย์มีอำนาจสมบูรณาญาสิทธิราชย์เพียงคนเดียวทำหน้าที่ในการใช้องค์อธิปัตย์

 

จอห์น ล็อก (มีชีวิตอยู่ในช่วง ค.ศ.1632-1704) มีทัศนะเกี่ยวกับธรรมชาติของมนุษย์ต่างจาก ฮอบส์ โดยล็อกมองว่ามนุษย์มีเหตุผลและจิตสำนึกที่จะแยกความถูกผิดได้ ภาวะธรรมชาติของมนุษย์มีความสมบูรณ์และมีเสรีภาพเต็มที่ที่จะจัดการกับชีวิตของตนเองตามแนวทางที่เห็นว่าเป็นสิ่งที่ดีที่สุด มนุษย์มีอิสระจากการแทรกแซงจากคนอื่น  อย่างไรก็ตามมนุษย์ก็ไม่ได้มีอิสระที่จะทำสิ่งต่างๆได้ตามความพึงพอใจของตนทุกประการ ในภาวะธรรมชาติเป็นช่วงก่อนมีสังคมการเมือง (pre-political) เป็นภาวะที่ไม่มีองค์อำนาจ (authority) หรือรัฐบาลที่จะลงโทษผู้ที่ฝ่าฝืนกฎหมาย (เพราะเป็นสภาที่ยังไม่มีกฏหมาย) แต่มันไม่ใช่ภาวะที่จะไปล่วงสิทธิของคนอื่น สภาพธรรมชาติมีกฎแห่งธรรมชาติปกครองอยู่ซึ่งผูกพันทุกๆคนไว้ ทุกคนมีความเท่าเทียมที่จะถูกปกครองหรือผูกมัดโดยกฏแห่งธรรมชาติ

ในทัศนะของล็อกมองว่ากฏแห่งธรรมชาติถือว่าเป็นพื้นฐานของศีลธรรมที่พระเจ้าประทานมาให้ด้วยคำบัญชา มนุษย์เราจะต้องไม่ทำอันตรายชีวิต เสรีภาพ และทรัพย์สินของคนอื่น เราถูกห้ามโดยกฏธรรมชาติมิให้ทำอันตรายคนอื่น ภาวะแห่งธรรมชาติจึงเป็นภาวะที่มีเสรีภาพและสันติภาพ ภาวะตามธรรมชาติจึงไม่ใช่ภาวะสงครามตามความเห็นของ ฮอบส์ แต่ก็สามารถพัฒนาไปสู่การเกิดสงครามได้ เมื่อมนุษย์ทำร้ายคนอื่น ภาวะสงครามเริ่มขึ้นเมื่อคนหนึ่งประกาศสงครามกับอีกคนหนึ่ง โดยการขโมยทรัพย์สินหรือโดยความพยายามที่จะให้คนอื่นเป็นทาส ด้วยเหตุที่ว่าภาวะธรรมชาติไม่มีอำนาจแห่งสังคมการเมืองที่มนุษย์จะใช้เป็นช่องทางเรียกร้องความยุติธรรม และด้วยเหตุที่ภาวะธรรมชาติยอมให้มนุษย์ปกป้องชีวิตตนเองได้ ดังนั้นเพื่อสันติภาพมนุษย์จึงต้องสละภาวะธรรมชาติออกไป  โดยมาทำสัญญาประชาคมร่วมกันเพื่อสร้างรัฐบาลของชาวประชา (civil government) ขึ้นเพื่อปกป้องชีวิตและทรัพย์สิน เป็นการสร้างสังคมการเมืองขึ้นมาจากเจตจำนงร่วม ที่มีฐานะเป็นองค์อธิปัตย์ มนุษย์ได้สร้างองค์ทางการเมืองขึ้นมา (body politic) เป็นรัฐบาลที่ผ่านการยินยอมตามข้อตกลงของมนุษย์ มนุษย์ได้รับของสามสิ่งที่ไม่มีในภาวะธรรมชาติแต่ได้จากการทำสัญญาร่วมกัน คือ อำนาจทางกฏหมาย (นิติบัญญัติ) อำนาจการพิจารณาโทษผู้ทำผิด (ตุลาการ) และอำนาจในการนำกฏหมายไปบังคับใช้ (บริหาร) มนุษย์แต่ละคนจึงยอมมอบตนเองให้กับอำนาจทั้งสามนี้เพื่อปกป้องตนเองและลงโทษผู้ละเมิดกฏแห่งธรรมชาติ และยอมมอบอำนาจนี้ให้กับรัฐบาลที่ได้สร้างขึ้นมาโดยผ่านการทำข้อตกลง

ล็อคมีความเห็นว่า เป้าหมายปลายทางของการอยู่ร่วมกันก็เพื่อพิทักษ์ความมั่นคงของชีวิต เสรีภาพ และความอยู่ดีมีสุขโดยทั่วไปของมนุษย์ อย่างไรก็ตามล็อกเห็นว่าข้อตกลงที่ทำสัญญากับรัฐบาลนี้สามารถทำลายลงได้ เมื่อมนุษย์มีเหตุผลในการต่อต้านอำนาจของรัฐบาลได้ เมื่อผู้ปกครองทำตัวเป็นทรราช เช่นทำลายระบบกฏหมายและปฏิเสธความสามารถของประชาชนในการออกกฏหมายเพื่อปกป้องชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน สุดท้ายทรราชได้นำตัวเองเข้าสู่สงครามกับประชาชน ดังนั้น ประชาชนมีสิทธิที่จะปกป้องตนเองตามภาวะธรรมชาติ เหมือนเมื่อก่อนจะตกลงสร้างสังคมขึ้นมา กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ เมื่อรัฐบาลไม่ปกป้องชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ทรราชกลับทำตัวเป็นปรปักษ์กับผลประโยชน์ของประชาชน ประชาชนมีสิทธฺิที่จะต่อต้านอำนาจผู้ปกครองโดยล้มสัญญาประชาคม แล้วเข้าสู่กระบวนการสร้างสังคมการเมืองขึ้นมาใหม่

ฌ็อง ฌ้ากส์ รุสโซ (มีชีวิตอยู่ระหว่าง ค.ศ.1712-1778) ได้พรรณาระบวนการทางประวัติศาสตร์ของมนุษย์ชาติตั้งแต่เริ่มต้นที่อยู่ในภาวะธรรมชาติจนกระทั่งก้าวหน้าสู่ความเป็นประชาสังคม (Civil Society) รุสโซ่มีความเห็นว่าตามภาวะแห่งธรรมชาติมนุษย์อยู่ในภาวะสันติภาพและเป็นช่วงที่มีคุณธรรมสูงสุด (Quixotic time) มีชีวิตเรียบง่าย และโดดเดี่ยว ความต้องการเล็กๆน้อยๆ สามารถหามาสร้างความพอใจได้อย่างสบายๆตามที่หาได้ในธรรมชาติ เพราะธรรมชาติมีความสมบูรณ์และมีประชากรไม่มาก จึงไม่มีการแข่งขันแย่งชิง มนุษย์ไม่ค่อยสนใจพฤติกรรมของกันและกัน เหตุผลที่จะนำไปสู่ความกลัวและความขัดแย้งมีน้อยมาก มนุษย์อยู่กันอย่างเรียบง่ายและมีศีลธรรมอันบริสุทธิ์ ทำให้มนุษย์มีความเมตตาสงสารต่อผู้อื่น จึงไม่มีเหตุผลให้มนุษย์ต้องทำร้ายผู้อื่น แต่เมื่อเวลาผ่านไปมนุษย์ได้เผชิญกับการเปลี่ยนแปลง มีประชากรเพิ่มมากขึ้น วิถีการหาความพึงพอใจของมนุษย์ก็เปลี่ยนไปด้วย มนุษย์ค่อยๆมาอยู่รวมกันเป็นครอบครัวและชุมชน  พร้อมกับมีการคิดค้นและประดิษฐ์สิ่งต่างๆขึ้นเพื่อใช้ชีวิตได้ง่ายขึ้น ทำให้มนุษย์มีเวลาว่างที่จะครุ่นคิดเปรียบเทียบตนเองกับคนอื่นๆ อันเป็นผลมาจากค่านิยมสาธารณะ (public value) เมื่อมีการเปรียบเทียบกันทำให้เกิดความละอายขายหน้าและความรู้สึกอิจฉาซึ่งกันและกัน รวมทั้งมีการดูถูกเหยียดหยามและความหยิ่งยะโส ตามแนวคิดของรุสโซ่สิ่งสำคัญที่ทำให้มนุษย์ไม่มีความเรียบง่ายอีกต่อไปก็คือ การมีสมบัติส่วนตัว ทำให้มนุษย์เปลี่ยนจากภาวะอันบริสุทธิ์ไปสู่ลักษณะที่มีความโลภ การแข่งขัน ความทะนงตน ความไม่เท่าเทียมกัน และความชั่วร้าย มนุษย์จึงหลุดหายไปจากภาวะแห่งธรรมชาติ

การมีทรัพย์สินส่วนตัวนำไปสู่สภาพความไม่ยุติธรรม บางคนสะสมทรัพย์สินมากขึ้น ขณะที่คนอื่นๆ ถูกบังคับให้ทำงานเพื่อสร้างทรัพย์สินให้คนอื่น พัฒนาการของชนชั้นทางสังคมก็เริ่มต้นขึ้น  ผู้มีทรัพย์สินได้แสดงเจตนาออกมาว่า มันจะเป็นประโยชน์ต่อพวกเขามากถ้าสังคมได้สร้างรัฐบาลขึ้นมาเพื่อปกป้องทรัพย์สินของปัจเจกชนจากการลักขโมยและจากการใช้กำลังบังคับเอาทรัพย์สินของคนอื่น ดังนั้นสังคมจึงตกลงกันจัดตั้งรัฐบาลขึ้นมาโดยการทำสัญญา ซึ่งอ้างเหตุผลว่าจะเป็นการรับประกันความเท่าเทียมกันและปกป้องทุกคน เป็นการสร้างรัฐบาลขึ้นมาโดยการทำสัญญาประชาคมเป็นข้อตกลงว่า มนุษย์จะมีเสรีภาพและอยู่ร่วมกันอย่างไร โดยไม่ยอมให้มีการใช้กำลังและมีการบีบบังคับจากคนอื่น รุสโซ่ยืนยันว่าสามารถทำได้โดยการทำให้เจตจำนงเฉพาะตนเป็นเจตจำนงร่วม (general will)  ด้วยการทำข้อตกลงกับคนอื่นๆอย่างเท่าเทียมและมีเสรีภาพที่จะแสดงเจตจำนง มนุษย์จึงยอมสละทิ้งสิทธิและเสรีภาพที่มีอยู่ตามธรรมชาติ การยินยอมมอบตนเองให้กับเจตจำนงร่วมที่มนุษย์ได้สร้างองค์กรหรือกายใหม่ขึ้นมาเป็นกายร่วม (collective body)  สมมุติกันขึ้นมาว่าเปรียบเสมือนกับเป็นบุคคลหรือกายใหม่เรียกว่า องค์อธิปัตย์ มนุษย์จึงมีพันธะต่อเจตจำนงร่วม ตามความเห็นของรุสโซ่คนเราไม่สามารถถ่ายโอนเจตจำนงของตนให้กับคนอื่นได้ (เหมือนดังที่ทำกันในระบบประชาธิปไตยแบบตัวแทน) การแสดงเจตจำนงเฉพาะตนเพื่อแปลงมาเป็นเจตจำนงร่วมนั้น รุสโซ่เห็นว่าพลเมืองทุกคนต้องมาร่วมกันพิจารณาตัดสินอย่างเห็นฟ้องต้องกันเป็นมติมหาชนว่าจะอยู่ร่วมกันอย่างไร เช่น ควรออกกฏหมายอะไรบ้าง ดังนั้นพลเมืองต้องหมั่นรวมตัวประชุมกันอย่างสม่ำเสมอ ตามนัยนี้ก็คือประชาธิปไตยทางตรงที่เหมาะกับรัฐขนาดเล็กที่ผู้คนรู้จักตัวตนว่าใครเป็นใคร

แนวความคิดตามปรัชญาการเมืองว่าด้วยสัญญาประชาคมของปรัชญาเมธีทั้งสามท่านมีอิทธิพลทางความคิดต่อคนยุโรปในช่วงปลายศตวรรษที่ 17 ถึงต้นศตวรรษที่ 18 ความเชื่อในเรื่องเทวสิทธิมีน้อยลง แต่หันมามีความเชื่อว่า รัฐมาจากการร่วมมือของประชาสังคมในการร่วมตกลงสร้างกฏ กติกา เพื่อจัดระเบียบทางสังคมและยินยอมมอบอำนาจให้แก่ผู้ปกครองทำหน้าที่ในองค์อธิปัตย์

ม.ล.ชาญโชติ ชมพูนุท

10 มิถุนายน 2556

ข้อมูลจากหนังสือ "พัฒนาการและพัฒนาประชาสังคม" โดย ผศ.ทศพล สมพงษ์

ตอนต่อไป "แนวคิดประชาสังคมในยุคสมัยใหม่

 

แนวคิดประชาสังคมยุคใหม่

พิมพ์ PDF

ยุคประวัติศาสตร์สมัยใหม่เริ่มตั้งแต่ช่วงปลายศตวรรษที่ 18 สังคมยุโรปก้าวเข้าสู่สังคมพาณิชยกรรมและอุตสาหกรรมในยุคนี้มีปรัชญาเมธีทางการเมืองหลายคนที่มีแนวคิดเกี่ยวกับประชาสังคม นักปรัชญาแต่ละคนมีแนวคิดและความเข้าใจเกี่ยวกับประชาสังคมต่างกัน และยังมีแนวคิดเกี่ยวกับประชาสังคมแตกต่างไปจากแนวคิดในยุคโบราณและยุคก่อนสมัยใหม่ นักปรัชญาการเมืองที่มีแนวคิดกับประชาคมสังคมที่กล่าวถึงในยุคนี้ได้แก่

๑.อดัม เฟอร์กูสัน (มีชีวิตในช่วง ค.ศ.1723-1816) นักปรัชญาชาวสก็อตได้นำแนวคิดประชาสังคมมาอธิบายในทฤษฎีการเมืองใหม่ ในทัศนะของเฟอกูสันมองว่าประชาคมเป็นสังคมที่ได้รับการขัดเกลาและปรุงแต่งให้มีความเป็นอารยธรรม เป็นสังคมที่อยู่ในขั้นตอนที่มีความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ การเมือง การสังคม เฟอกูสันเห็นว่าความก้าวหน้าคือตัวชี้วัดถึงความมีอารยธรรม จุดมุ่งหมายของมนุษย์คือการสลัดความลำบากและความไม่สะดวกสบายออกไป ขณะเดียวกันก็มุ่งไขว่คว้าหาความได้เปรียบต่างๆ เพื่อการปรับปรุงการดำรงชีวิตในปัจจุบันให้ดีขึ้น ความก้าวหน้าของอารยธรรมเป็นสิ่งที่ค่อยๆเกิดขึ้นโดยตัวของมันเอง อารยธรรมเป็นสิ่งที่ไม่สามารถคาดการณ์ได้ ไม่มีรัฐบาลใดที่สามารถจะดำเนินการตามแผนและโครงการให้เกิดอารยธรรมขึ้นมาได้ องค์กรทางสังคมและรัฐบาลในรูปแบบต่างๆ กำเนิดขึ้นมาจากธรรมชาติที่แตกต่างกันของแต่ละสังคม ประชาสังคมเป็นสิ่งที่พัฒนาขึ้นมาเองพร้อมกับการขัดเกลาและปรุงแต่งสังคม มีการพัฒนาการค้นคว้าทางเทคโนโลยีและแบ่งงานกันทำ เฟอกูสันเห็นว่าเส้นทางแห่งความก้าวหน้าของมนุษย์มีหลายขั้นตอนตั้งแต่จากความป่าเถื่อนในยุคดั้งเดิมจนกระทั่งก้าวไปสู่อารยธรรมที่มีความก้าวหน้า สังคมมีการเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นพลวัต

อารยธรรมพัฒนาขึ้นมาพร้อมๆกับการปรุงแต่งสังคมและการค้นคว้าหาวิธีการปรับปรุงการดำรงชีวิตให้ดีขึ้น เฟอกูสันเห็นว่าการมีทรัพย์สินส่วนตัวเป็นหัวใจสำคัญของความก้าวหน้า เมื่อปัจเจกชนมีการถือครองทรัพย์สินความมีสิทธิก็เกิดขึ้น เป็นสิทธิในการครอบครองทรัพย์สินรวมไปถึงแรงงาน เช่นมีสิทธิที่จะมีแรงงานไว้ใช้ สิทธิในการมีอำนาจผูกขาดในแรงงานของตน  เมื่อมนุษย์มีทรัพย์สินขณะเดียวกันก็มีการไตร่ตรองและคิดที่จะหาทรัพย์สิน ทำให้แต่ละคนต้องดูแลผลประโยชน์ของตนเอง นำทรัพย์สินมาผูกพันแสดงความเป็นตัวตน นำไปสู่การแบ่งระดับชั้นและสถานะทางสังคม เฟอกูสันเห็นว่าสิทธิในทรัพย์สินและการปกป้องทรัพย์สินเป็นเงื่อนไขสำคัญของเสรีภาพส่วนบุคคล ของพลเมือง ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของการขัดเกลาและปรุงแต่งสังคมไปสู่ความมีอารยธรรม

การวัดถึงความก้าวหน้าและการมีอารยะธรรมจะดูที่การมีกฎหมายแห่งชาติ ความก้าวหน้าทางการค้าและพฤติกรรมที่ได้รับการขัดเกลาปรุ่งแต่งแล้วของพลเมือง ความก้าวหน้าของสังคมดังกล่าวเป็นลักษณะสำคัญในการนำไปสู่พัฒนาการของประชาสังคม แต่การพัฒนาไปสู่การเป็นประชาสังคมนั้นยังมีเงื่อนไขอื่นๆอีก คือการแข่งขันทางการค้าระหว่างชาติและภาวะตรึงเครียดจากการถูกรุกรานและสงคราม สถานการณืเหล่านี้เรียกร้องให้คนในชาติมีใจเป็นหนึ่งเดียวเพื่อป้องกันสาธารณะ นำไปสู่การปรับปรุงส่วนราชการต่างๆ ขึ้นมารองรับโดยต้องใช้คนที่มีความสามารถทางปัญญาและความประเสริฐทางศีลธรรม ความรู้สึกผูกพันทางอารมณ์และความเป็นมิตรของคนในชาติประกอบกับความรู้สึกเป็นปรปักษ์อย่างรุนแรงกับศัตรู ทำให้พลเมืองมีความกระตือรือร้นและความเข้มแข็งพร้อมที่จะมาเป็นผู้พิทักษ์สังคม สงครามในทัศนะของเฟอกูสันจึงเป็นการสร้างความเข้มแข็งให้กับกองทัพของสังคมและจิตวิญญาณแห่งความรักชาติ

ตามความคิดของเฟอกูสันความก้าวหน้ามิได้หมายถึงเพียงความก้าวหน้าทางศิลปะและเทคโนโลยีเท่านั้นแต่รวมไปถึงการปรับปรุงทางศีลธรรมด้วย ความก้าวหน้าจะเกิดขึ้นไม่ได้เลยถ้าหากมนุษย์ไม่แสวงหาความสมบูรณ์ซึ่งหมายถึงความเข้าใจในธรรมชาติของความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ที่ดำรงชีวิตอยู่ในสังคมทางการเมือง การอบรมพัฒนาความดีและปลูกฝังความรู้สึกทางศีลธรรมเป็นประเด็นสำคัญของแนวคิดประชาสังคม ความเข้มแข็งของรัฐไม่ได้ขึ้นอยู่กับความมั่งคงเท่านั้น แต่ที่สำคัญกว่านั้นคือคุณธรรมของพลเมือง

เฟอร์กูสันเห็นว่าไม่มีระบบกฎหมายใดๆ ไม่ว่าจะเป็นกฏหมายทางการเมืองหรืกฎธรรมชาติใดๆสามารถที่จะปกป้องสังคมการเมืองได้ สังคมการเมืองอาจถูกกัดเซาะให้ผุกร่อนได้หากปราศจากการทำนุบำรุงคุณธรรมของพลเมือง ถึงแม้นจะมีสถาบันทางการเมืองที่ดีที่สุดก็ไม่เพียงพอต่อการป้องกันรักษาเสรีภาพของบุคคลได้ เสรีภาพที่ใช้กันอย่างรื่นรมย์จะไม่ถูกปกป้องอีกต่อไปหากไม่มีการเฝ้าระวังทางการเมืองและการมีส่วนร่วมทางการเมืองของพลเมือง หากไม่มีส่วนร่วมทางการเมือง รัฐบาลของสังคมพาณิชยกรรมอาจกลายมาเป็นรัฐบาลเผด็จการที่ทำในสิ่งเลวร้ายต่่อสาธารณะขึ้นมาได้ ในทัศนะของเฟอร์กูสันเห็นว่าการมีส่วนร่วมทางการเมืองเป็นความจำเป็นทางศีลธรรมของพลเมืองและเป็นคุณลักษณะพื้นฐานของประชาสังคม เสรีภาพทางการเมืองต้องเข้าใจว่าเป็นเสรีภาพแบบพลเมือง (civic liberty) ซึ่งฟอร์กูสันแยกออกต่างหากจากเสรีภาพส่วนตัว (private liberty) การปรุงแต่งทางการเมืองจะต้องพัฒนาฝึกฝนให้สมาชิกในสังคมเป็นผู้มีเหตุผลและมีจิตใจที่จะทำหน้าที่ทางสังคมและปฎิบัติการสาธารณะต่างๆ สิทธิและเสรีภาพส่วนบุคคลรวมทั้งความมั่นคงในทรัพย์สินจะไม่มีความสมบูรณ์พอหากพลเมืองไม่มีความคิดที่จะแสดงออกถึงความมีคุณธรรมและดำรงชีวิตแบบพลเมืองผู้กระตือรือร้น เฟอร์กูสันเน้นว่า เสรีภาพทางการเมืองและการมีส่วนร่วมทางการเมืองเป็นตัวบ่งบอกถึงรัฐที่มีความอิสระและเป็นรูปแบบของรัฐบาลที่ดี

ประชาสังคมจะเติบโตรุ่งเรืองขึ้นมาพร้อมกับพลเมืองผู้มีความรักในความเป็นธรรมและมีความผูกพันต่อสาธารณะ ชีวิตของพลเมืองจะไม่มีความหมายใดๆหากดำรงตนอยู่นอกปริมณฑลสาธารณะ กล่าวคือมีแต่ชีวิตส่วนตัวโดยไม่มีชีวิตสาธารณะ

ม.ล.ชาญโชติ ชมพูนุท

10 มิถุนายน 2556

ข้อมูลจากหนังสือพัฒนาการและการพัฒนาประชาสังคม โดย ผศ.ทศพล สมพงษ์


 

นโยบายเก๊

พิมพ์ PDF

นโยบายเก๊

ผมมีความเห็นมาตลอด ว่าโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาลยิ่งลักษณ์เป็นนโยบายเก๊  เก๊ในที่นี้หมายความว่าจะก่อผลร้ายต่อประเทศ ดังบันต่อไปนี้

 

1.วิพากษ์ผลของโครงการรับจำนำข้าว

นิตยสาร Bloomberg Businessweek ฉบับวันที่ ๒๒ - ๒๘ เม.ย. ๕๖  ลงบทความ Thailand’s Farmer-Friendly Policy Blows Up ผู้เขียนเล่าว่าเวลานี้รัฐบาลไทยมีข้าวเก็บอยู่ ๑๘ ล้านตัน  และ รมต. พาณิชย์ บุญทรง บอกเมื่อวันที่ ๕ เม.ย. ๕๖ ว่าปีนี้รัฐบาลจะขายข้าว ๗ ล้านตัน

ข้าวที่เก็บไว้เกิน ๑ ปี จะเสียหายจากการเก็บ

รัฐบาลไทยพยายามขายข้าวแบบ G to G ซึ่งจะทำให้ปกปิดราคาเป็นความลับ  เมื่อวันที่ ๑๕ เม.ย. ๕๖ รมต. พาณิชย์ของ ไอวอรี โคสต์ บอกว่า รัฐบาล ไอวอรี โคสต์ ซื้อข้าวไทยจำนวนหนึ่งในราคาที่ “competitive and stable”  แต่เมื่อข้าวงวดแรก ๓๘,๕๐๐ ตันไปถึง  พบว่าต้องทิ้งไป ๗,๖๐๐ ตัน เพราะมีปัญหาคุณภาพ

ปีนี้บริษัท Swiss Agri-Trading ซื้อข้าวไทยเพียง ๓๐,๐๐๐ ตัน  โดยที่ก่อนปี ๒๕๕๔ ซื้อ ๒๐๐,๐๐๐ ตัน

ในปี ๒๕๕๕ การส่งออกข้าวของประเทศไทยลดลง ๓๗%  และรัฐบาลไทยต้องขาดทุน ๘๐,๐๐๐ ล้านบาทจากการรับจำนำข้าว"

วิจารณ์ พานิช

๒๘ เม.ย. ๕๖

 

2.ผลกระทบจากโครงการรับจำนำข้าวทุกเมล็ด

ผมได้รับรายงานผลการวิจัยของนักเศรษฐศาสตร์ที่มีความเป็นกลาง   จึงขอนำมาเผยแพร่ต่อดังนี้

“โครงการรับจำนำข้าวเปลือกทุกเมล็ด มีผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านโครงสร้างตลาดค้าข้าว และกลไกการแข่งขันในตลาดข้าวไทยอย่างมีนัยสำคัญ  รวมทั้งยังส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในวงกว้าง  ทั้งในแง่ผลกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันของข้าวไทย   รวมไปถึงผลกระทบต่อภาระงบประมาณของประเทศ  และกรอบความยั่งยืนทางการคลังในอนาคต”

“โครงการรับจำนำข้าว มีผลให้ต้นทุนของผู้ส่งออกและราคาข้าวไทย สูงกว่าประเทศคู่แข่ง  โดยเฉพาะเวียดนามและอินเดียค่อนข้างมาก  ส่งผลให้ประเทศผู้ซื้อข้าวของไทย หันไปนำเข้าข้าวจากแหล่งอื่นที่มีราคาถูกกว่า  โดยในปีที่ผ่านมาปริมาณการส่งออกข้าวของไทยปรับลดลง 35% (YoY)  และทำให้ไทยต้องเสียแชมป์ผู้ส่งออกข้าวเป็นครั้งแรกในรอบกว่า ๒๐ ปี  สำหรับแนวโน้มการส่งออกข้าวในปีนี้  คาดว่ายังคงเป็นปีที่ยากลำบากสำหรับไทย  เพราะแม้ว่ารัฐบาลจำเป็นจะต้องทะยอยระบายข้าวออกจากสต็อกที่มีอยู่ในมือก็ตาม  แต่ผู้ส่งออกไทยคงต้องเผชิญกับอุปสรรคหลายประการ  ทั้งจากราคาข้าวไทยที่สูงกว่าคู่แข่งมาก  เงินบาทที่มีแนวโน้มแข็งค่า  ภาวะการแข่งขันที่รุนแรงขึ้น ภาวะเศรษฐกิจโลกที่มีความไม่แน่นอนสูง  รวมทั้งตลาดข้าวซึ่งยังเป็นของผู้ซื้อ  หรือแม้แต่นโยบายของประเทศผู้นำเข้าข้าวหลายประเทศที่เริ่มหันมาให้ความสำคัญกับนโยบายพึ่งพาผลผลิตภายในประเทศของตนเองมากขึ้น”

“ส่วนในประเด็นด้านภาระงบประมาณ  คงต้องยอมรับว่าโครงการนี้ได้ก่อให้เกิดภาระด้านการคลังที่สูงมาก  ทั้งจากการตั้งราคารับซื้อข้าวจากชาวนาที่สูงกว่าราคาตลาดมาก ดอกเบี้ยเงินกู้  รวมทั้งค่าใช้จ่ายในการจัดเก็บ  บริหารจัดการ และการระบายสต็อกข้าว รวมไปถึงความเสี่ยงจากผลขาดทุนที่เกิดจากการเสื่อมสภาพของข้าว หากไม่สามารถระบายข้าวในสต็อกได้หมดภายใน ๑​ - ๒ ปี  ครม. อนุมัติกรอบวงเงินงบประมาณสำหรับโครงการรับจำนำข้าวปีการผลิต 2012/13 สำหรับข้าวนาปีและนาปรัง รวม ๔๐๕,๐๐๐ ล้านบาท)  ทั้งนี้ จากการประมาณการเบื้องต้น คาดว่า รัฐบาลจะต้องใช้วงเงินในการดำเนินการโครงการนี้ประมาณ 4.6 – 4.7 แสนล้านบาทต่อปี  ซึ่งจะทำให้ภาครัฐมีผลขาดทุนจากโครงการไม่ต่ำกว่าปีละ ๑.๒ แสนล้านบาท  และจะทำให้หนี้สาธารณะต่อ GDP เพิ่มขึ้นอีกราว ๑๓% (กรณีที่รัฐไม่สามารถระบายข้าวที่รับจำนำไว้ได้) เป็น ๕๗%  จากปัจจุบันซึ่งอยู่ที่ ๔๔%  ซึ่งเข้าใกล้กรอบความยั่งยืนทางการคลัง (Fiscal Sustainability Framework)  ซึ่งกำหนดไว้ที่ ๖๐%  ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพทางการคลังของประเทศในอนาคตได้”

ผมดูทีวีเมื่อวันที่ ๒ เม.ย. ๕๖ เห็น ดร. นิพนธ์ พัวพงศกร แห่ง ทีดีอาร์ไอ ออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลเปิดเผยข้อมูลการขายข้าว  ไม่ใช่ปกปิดอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน  ทำให้การตรวจสอบโดยสังคมทำไม่ได้  จะเห็นว่ารัฐบาลมีปัญหาความโปร่งใส  ทำให้ข้อกล่าวหาว่าโครงการนี้เป็นวิธีถ่ายเงินหลวงเข้าพรรคหรือเข้ากระเป๋า น่าสงสัยว่าจะจริงมากยิ่งขึ้น"

วิจารณ์ พานิช

๔ เม.ย. ๕๖

ผลร้ายคือ ทำลายเศรษฐกิจในภาพรวม  และก่อความทุจริตขึ้นในสังคม  กล่าวตรงๆ คือเกิดการโกงกินหนักยิ่งขึ้น  บัดนี้ผลดังกล่าวกำลังเผยโฉม

ที่จริงนโยบายเก๊ในรัฐบาลที่แล้วก็มี  ตัวอย่างคือโครงการ SP2 ด้านการศึกษา  ที่เป็นโครงการฝึกอบรมครู  ซึ่งผมได้ไปคัดค้านและให้ความเห็นที่คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ  คำคัดค้านของผมไม่มีน้ำหนักเลย  เพราะทุกฝ่ายต่างก็ต้องการผลประโยชน์  หน่วยงานที่เสนอโครงการต้องการผลงานจัดการฝึกอบรมและรายได้  ซึ่งบัดนี้ก็ชัดเจนแล้วว่า เงินเหล่านั้นละลายหายไป  คงจะได้ประโยชน์ในการปล่อยเม็ดเงินออกไปกระตุ้นเศรษฐกิจ  แต่วงการศึกษาขาดทุน  คือยิ่งส่งเสริมลัทธิฝึกอบรม ไม่ให้คุณค่าลัทธิเรียนรู้  ซึ่งหมายความว่า สังคมไทยขาดทุนในด้านการเผยแพร่มิจฉาทิฐิ

นโยบายเก๊ ที่ผมคิดว่าคนไทยต้องจับตามอง คือ โครงการจัดการน้ำ ๓.๕ แสนล้าน  เห็นพฤติกรรมของผู้รับผิดชอบของรัฐบาลแล้ว ผมไม่ไว้ใจเลย

วิจารณ์ พานิช

๘ มิ.ย. ๕๖

คัดลอกจาก http://www.gotoknow.org/posts/538463

 

 

ช่วยกันยกระดับความสามารถของคนไทย

พิมพ์ PDF

 

วิดีทัศน์สั้นๆ ไม่ถึง ๑๒ นาที เรื่อง Malcolm Gladwell Explains Why Human Potential Is Being Squandered? ซึ่งดูได้ ที่นี่ บอกเราว่า  แต่ละสังคมสามารถเพิ่มสมรรถนะของประชาชนของตนได้อีกมาก  และเป็นที่รู้กันว่า ปัจจัยแข่งขันหรืออยู่รอดอยู่ดีของสังคม ปัจจัยสำคัญที่สุดคือคน หรือสมรรถนะของคน

Malcolm Gladwell เป็นนักเขียนยอดนิยมของผม  และผมเคยบันทึกเรื่องเกี่ยวกับเขา ที่นี่

วิดีทัศน์เรื่องนี้พูดเรื่อง Talent Capitalization หรือการจับเอาคนมีปัญญาหรือความสามารถพิเศษ มาทำประโยชน์ให้แก่สังคม  ว่ามีอุปสรรคสำคัญอยู่ ๓ ประการ คือ  (๑) ความยากจน (poverty)  (๒) ความโง่เขลา (stupidity) (ของระบบ)  และ (๓) วัฒนธรรม (culture)

ความยากจน ทำให้เด็กขาดโอกาสเรียนสูง  ความโง่เขลาของระบบ หรือระบบที่ผิดพลาด ในการเสาะหาผู้มีความสามารถพิเศษ มาฝึกเพื่อให้เก่งจริงๆ ในเรื่องนั้น  ทำให้ได้จำนวนคนมาฝึกน้อยไป  เขายกตัวอย่างดารากีฬาฮ้อกกี้  เอาวันเดือนปีเกิดมาดู  และชี้ให้เห็นว่าเกือบทั้งหมดเกิดต้นปี  อธิบายว่าเพราะระบบคัดเด็กเอามาฝึกฮ้อกกี้ทำตอนเด็กอายุ ๘ ขวบ  นับวันที่ ๓๑ ธ.ค. เป็นวันตัดว่าใครจะได้เข้ากลุ่ม  ตอนอายุ ๘ ขวบ เด็กที่เกิดต้นปีกับท้ายปีตัวโตต่างกันมาก  เด็กที่เกิดต้นปีจึงมีโอกาสได้รับคัดเลือกมากกว่า  เขาแนะว่า หากคัดเด็กอีกกลุ่มหนึ่ง  ตัดที่วันเกิด ๓๐ มิ.ย. ก็จะได้เด็กที่มีพรสวรรค์ในการเล่นฮ้อกกี้เพิ่มขึ้นเท่าตัว

เรื่องวัฒนธรรม เขายกตัวอย่างเด็กเชื้อจีน ที่พ่อแม่อพยพเข้าไปอยู่อเมริกา  ลูกๆ มีโอกาสประสบความสำเร็จในชีวิตสูงกว่าคนขาวในอเมริกาอย่างชัดเจน  คำอธิบายคือ เด็กได้รับการอบรมบ่มนิสัยให้ขยัน และอดทน  วัฒนธรรมขยันและอดทน ทำให้เด็กหมั่นฝึกฝนตนเอง มีผลให้สมรรถนะสูง

คำอธิบายเหล่านี้ นักการศึกษาไทยน่าจะได้พิจารณา เอามาออกแบบระบบการศึกษาไทย

 

 

วิจารณ์ พานิช

๑๗ เม.ย. ๕๖

คัดลอกจาก http://www.gotoknow.org/posts/538397

 


หน้า 478 จาก 561
Home

About Us

ศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ (ศบม.) เป็นองค์กรที่พัฒนาและจัดทำโครงการเพื่อทำประโยชน์ให้สังคม เป็นองค์กรสนับสนุนการดำเนินงานของภาครัฐ ช่วยแก้ปัญหาผู้ประกอบการภาคธุรกิจบริการที่ขาดแคลนบุคลากรที่มีมาตรฐานในการให้บริการ
อ่านเพิ่มเติม

มูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ ์

 iHDC Profile
บัญชีรายชื่อกรรมการ
ใบสำคัญแสดงการจดทะเบียน การเปลี่ยนแปลงกรรมการของมูลนิธิ
เอกสารประชาสัมพันธ์ โครงการ HMTC.pdf
เอกสารแนะนำโครงการ HMTC 1.pdf
เอกสารโครงการ HMTC 2 คุณสมบัติผู้เข้าร่วมโครงการ.pdf
iHDC นิติบุคคล.pdf
iHDC บุคคล.pdf
iHDC บุคคลเครือข่าย.pdf
รายงานการประชุม 6 มีนาคม 2560.pdf
ข้อบังคับมูลนิธิ
ใบสำคัญแสดงการจดทะเบียนจัดตั้งมูลนิธิ
Ihdc-Profile and Roadmap 2016-2019 Mar 23 2560.pdf
รายงานการประชุมใหญ่คณะกรรมการมูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ 2559.pdf
คำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ สาขาวิชาชีพ.pdf
รายงานการประชุมใหญ่วันที่ 18 ธ ค 2558 v 3.pdf
รายงานการประชุม วันที่ 24 ธันวาคม 2557 updated 4 มีนาคม 2558.pdf
iHDC-invitation Letter.doc
iHDC-Member Form Thai.doc
iHDC-Member Form English.doc
รายงานการประชุมกรรมการมูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ วันที่ 15 มกราคม 2556 ฉบับสมบูรณ์


thaibetter
พัฒนาประเทศไทยแบบทวีคูณ และยั่งยืน ( ททค )

Login


แบบสำรวจ

สถิติเว็บไซด์

สมาชิก : 5643
Content : 3067
เว็บลิงก์ : 26
จำนวนครั้งเปิดดูบทความ : 8741854

facebook

Twitter


ล่าสุด

บทความเก่า