Thaiihdc.org

  • เพิ่มขนาดตัวอักษร
  • ขนาดตัวอักษรปกติ
  • สดขนาดตัวอักษร
Thaiihdc.org

เกาะเต่า ตำนานแห่งเกาะนรก

พิมพ์ PDF

เกาะเต่าเป็นเกาะเล็กๆโดดเดี่ยวกลางอ่าวไทยห่างไกลจากผืนแผ่นดินใหญ่โดยรอบเป็นเกาะซึ่งเต่าตนุขึ้นไปวางไข่ และไม่มีผู้คนอาศัยอยู่เลย ในอดีตเกาะเต่าใช้เป็นที่คุมขังของนักโทษการเมือง รุ่นกบฏบวรเดช หลายคนถูกย้ายจากเกาะตะรุเตามาเกาะเต่า ด้วยเหตุผลว่านี่คือเกาะกลางทะเลอ่าวไทยที่ตั้งโดดเดี่ยว มีน้ำทะเลกว้างไกลเป็นรั้วกั้นกักกันอิสรภาพ 

พ.ศ.2476 ประวัติศาสตร์ของเกาะเต่าถูกบันทึกไว้ว่าเกาะเต่าคือเกาะแห่งความโหดร้ายเพราะใช้เป็นที่คุมขังของนักโทษการเมือง ครั้งเมื่อเกิดสงครามแปซิฟิกขึ้น ทางรัฐบาลกลัวว่าอังกฤษจะมาชิงตัวนักโทษการเมืองไปจากเกาะตะรุเตา เพราะที่ตั้งเกาะตะรุเตาอยู่ชายแดนฝั่งมหาสมุทรอินเดียจึงย้ายนักโทษคดีการเมือง จากเกาะตะรุเตามาที่เกาะเต่า นักโทษทุกคนจะถูกตีตรวน ส่งขึ้นโบกี้รถไฟจากสถานีรถไฟกันตังตอนเช้าไปถึงสถานีท่าข้ามจังหวัดสุราษฏร์ธานีในตอนเย็น และจากสถานีท่าข้ามก็ลงเรือไปยังบ้านดอน เพื่อพักแรมที่คุกสุราษฏร์ธานี พักผ่อนกันไม่กี่ชั่วโมงก็ต้องนำตัวไปลงเรือเชวงศักดิ์สงครามผ่านเกาะสมุย เกาะพะงัน มุ่งต่อไปเกาะเต่า

รัฐบาลได้ตั้งงบประมาณก้อนใหญ่สำหรับทำการหักร้างถางป่า สร้างเกาะเต่าเป็นสถานกักกันนักโทษการเมืองโดยเฉพาะนักโทษสามัญมีแต่พวกที่มาช่วยเจ้าหน้าที่เรือนจำทำงาน หุงต้มในครัวทำความสะอาดและรับใช้ครอบครัวพัศดี และเจ้าหน้าที่เรือนจำเท่านั้นโรงขังได้สร้างอย่างแน่นหนาอยู่ ภายในรั้วรอบขอบชิด ส่วนบ้านพักของผู้อำนวยการเกาะ เจ้าหน้าที่เรือนจำและเจ้าหน้าที่ตำรวจ ได้สร้างอย่างสวยงามทันสมัย มีถังเก็บน้ำใหญ่จุน้ำได้ ถึง 3,000 แกลลอน

แต่ขณะที่นักโทษการเมืองไปถึงนั้นปรากฏว่าถังน้ำใหญ่นี้ได้ พังทลายลงจนใช้การไม่ได้นั่นแสดงให้เห็นชัดว่าเกาะเต่าไม่มีแหล่งน้ำและนักโทษการเมืองจะต้องประสพกับปัญหาเรื่องขาดแคลนน้ำกินน้ำใช้ ทางการค่ายคุมขังได้ขุดบ่อเล็ก ๆ ขึ้นแทน เมื่อนักโทษการเมือง 54 คนต้องใช้น้ำพร้อมกันในเวลาจำกัด น้ำไหลซึมออกมาไม่พอที่จะใช้ได้ทั่วถึง นักโทษการเมืองจึงต้องซื้อน้ำอาบน้ำ กินด้วยราคาแพง ในระยะเดือนแรกที่ไปถึงที่นั่น พัศดีเพี้ยน อนุโรจน์ ผู้อำนวยการเกาะได้ให้เกียรติ และปฏิบัติต่อนักโทษการเมืองอย่างดีตามแบบฉบับที่ควรปฏิบัติต่อนักโทษการเมือง คือ ในตอนกลางวันอนุญาตให้นักโทษการเมืองออกจากบริเวณรั้วท่องเที่ยว ไปตกปลาหาพืชผักเป็นอาหารได้โดยเสรี ในเวลากลางคืนจึงได้จำกัดให้นักโทษการเมืองอยู่ในบริเวณรั้วกั้น 

แต่เพียงชั่วเวลาไม่นาน การปฏิบัติต่อนักโทษการเมืองดีเกินไปยังผลให้พัศดีเพี้ยนผู้นี้ต้องถูกสั่งย้ายจากเกาะเต่าโดยพันตำรวจเอกพระกล้ากลางสมร(มงคล หงสไกร) อธิบดีกรมราชทัณฑ์ขณะนั้นเห็นว่า เป็นการปล่อยปละนักโทษการเมืองเกินไป ร้อยตรีพยอม เปรมเดชา ได้มาเป็นพัศดีแทน โดยมี จ่าผ่อน หนูรักษา เป็นผู้ช่วย ในทันทีที่เข้ารับตำแหน่ง เขาก็สั่งกักขังนักโทษการเมืองไว้ในเรือนขังในเวลา กลางคืน และกักให้อยู่ในบริเวณรั้วในเวลากลางวัน 

นักโทษการเมืองจึงหมดโอกาสที่จะไปตกปลา หาหอย หาปู และพืชผักมาเป็นอาหาร จำต้องกินอาหารอันแร้นแค้น ละขาดคุณภาพซึ่งทางเรือนจำจัดหาให้ ร่างกายจึงขาด อาหารและผ่ายผอมอ่อนแอ จนไม่อาจต้านทานต่อเชื้อไข้จับสั่นที่เป็นมาแล้วจากเกาะตะรุเตา เมื่อได้รับเชื้อใหม่อันร้ายแรงของเกาะเต่าซึ่งเป็นที่ที่เพิ่งหักร้างถางพงใหม่ๆและฝนตกชื้นเสมอ นักโทษการเมืองจึงเป็น ไข้จับสั่นกันแทบทุกคน ความคับแค้นประการสำคัญที่สุดก็คือการติดต่อส่งข่าวคราวทางจดหมายกับญาติ เป็นไปด้วย ความลำบากอย่างยิ่ง เพราะเรือไม่มีเชื้อเพลิงทั้งเรือดำน้ำทางฝ่ายสัมพันธมิตรก็ยุ่มย่ามมากขึ้น

เรือเสบียงจึงเดินทางมาเกาะเต่าเพียงเดือนละครั้งแต่มีน้อยครั้งที่จะมีจดหมายถึง นักโทษการเมืองทั้งนี้จะเป็นเพราะเหตุใดก็สุดจะเดาพัศดีพยอมได้ชี้แจงว่าจดหมายต่าง ๆ ที่ส่งไปถึงญาตินั้นจะต้องผ่านการตรวจของเจ้าหน้าที่เรือนจำเสียก่อน อย่างไรก็ตามนักโทษการเมืองแทบจะไม่ได้รับจดหมายหรือข่าวคราวตอบจากญาติเลย นั่นหมายถึงการขาดแคลนเงินทอง เครื่องอุปโภคบริโภค และที่ร้ายที่สุดคือการขาดแคลนยาที่จะใช้บำบัดรักษาโรค ทางการเรือนจำก็ไม่ยอมจ่ายยาหรือดูแลรักษาแต่ประการใด ข้าวของเงินทองที่ญาติส่งไปให้ ก็หายตกหล่นเสียเป็นส่วนใหญ่

เรือเสบียงจึงเดินทางมาเกาะเต่าเพียงเดือนละครั้งแต่มีน้อยครั้งที่จะมีจดหมายถึง นักโทษการเมืองทั้งนี้จะเป็นเพราะเหตุใดก็สุดจะเดาพัศดีพยอมได้ชี้แจงว่าจดหมายต่างๆที่ส่งไปถึงญาตินั้นจะต้องผ่านการตรวจของเจ้าหน้าที่เรือนจำเสียก่อน อย่างไรก็ตามนักโทษการเมืองแทบจะไม่ได้รับจดหมายหรือข่าวคราวตอบจากญาติเลย นั่นหมายถึงการขาดแคลนเงินทอง เครื่องอุปโภคบริโภค และที่ร้ายที่สุดคือการขาดแคลนยาที่จะใช้บำบัดรักษาโรคทางการเรือนจำก็ไม่ยอมจ่ายยาหรือดูแลรักษา แต่ประการใด ข้าวของเงินทองที่ญาติส่งไปให้ ก็หายตกหล่นเสียเป็นส่วนใหญ่

นักโทษการเมืองแทบไม่ได้รับเครื่องอุปโภคบริโภค และยาที่ทางบ้านส่งไปเลย มารดาของ สอเสถบุตร ได้พยายามทุกวิถีทางที่จะส่งของไปให้บุตรชายแต่ของเหล่านั้นก็ไปไม่ถึงยาเท่าที่จะหาได้นั้นได้จากการต้องซื้อจากเจ้าหน้าที่เรือนจำด้วยราคาแพงลิบลิ่ว ซึ่งยานั้นอาจเป็นยาซึ่งญาติของ นักโทษการเมืองนั่นเองที่ส่งไปให้

ต่อมาพระกล้ากลางสมร อธิบดีกรมราชทัณฑ์ขณะนั้น ได้มีคำสั่งให้นักโทษการเมืองที่มีอายุต่ำกว่า 60 ปีทั้งหมด ทำงานกรรมกรเช่นเดียวกับนักโทษสามัญ ทั้งนี้เป็นการผิดกฎของเรือนจำที่ว่า นักโทษการเมือง ซึ่งถือกันว่าเป็นนักโทษชั้นเยี่ยมย่อมได้รับการยกเว้นมิให้ต้องทำงานกรรมกร หากให้ทำงานช่วยเจ้าหน้าที่ ควบคุมงาน หรือทำงานกี่ยวกับหนังสือ หรือการบัญชีเท่านั้น เบื้องหลังของคำสั่งนี้ก็คือ การทำงานกรรมกร จะทำให้นักโทษการเมืองได้มีโอกาสออกกำลังกาย อันเป็นการต่อต้านโรคภัยไข้เจ็บให้เบาบางลง 

ในการทำงาน กรรมกรนั้น นักโทษการเมืองได้ถูกเกณฑ์ให้ออกไปทำงานในป่า งานที่ถูกกำหนดให้ทำนั้นมีทั้ง ทำถนน ถางป่า โค่นต้นไม้ ดายหญ้า ปราบที่สำหรับทำไร่ถั่ว และไร่มันสำปะหลังซึ่งผลิตผลทางการเกษตรเหล่านี้เป็นสมบัติของค่ายคุมขังทั้งสิ้น อันการกลั่นแกล้งให้นักโทษการเมืองต้องทำงานหนัก กรำแดดกรำฝนในขณะที่เป็นไข้จับสั่น ตลอดจน การตัดหนทางมิให้ญาติได้มีโอกาสส่งเครื่องอุปโภคบริโภค และยารักษาโรคไปให้นักโทษการเมืองนั้น เป็นเสมือน คำสั่งประหารชีวิตนักโทษการเมืองโดยแท้ เพราะการขาดแคลนเงิน อาหาร ยารักษาโรคในถิ่นทุรกันดาร ซึ่งเต็มไปด้วยเชื้อไข้จับสั่นอันร้ายแรงย่อมหมายถึงความตาย 

อันที่จริงแล้ว นักโทษการเมืองเท่าที่เหลืออยู่นี้ ล้วนเป็นผู้ที่ถูกตัดสินจำคุกตลอดชีวิต แต่เมื่อได้รับการลดหย่อนโทษในวาระพิเศษต่างๆประกอบกับเป็นผู้ ประพฤติตนดี โทษที่ได้รับจึงเหลือเวลาอีกเพียงสองปีเศษๆเท่านั้น ดังนั้นหากพวกนักโทษการเมืองรุ่นนี้ได้รับ การปลดปล่อยให้พ้นโทษ ก็อาจจะกลับมาเป็นเสี้ยนหนามของรัฐบาลขณะนั้นได้ วิธีที่ดีที่สุดที่จะตัดไฟแต่ต้นลม ก็คือ กลั่นแกล้งและบีบคั้นทั้งทางร่างกายและจิตใจ เพื่อให้นักโทษการเมืองรุ่นนี้ ต้องมีอันเป็นไป จนสูญสิ้นชีวิตที่เกาะเต่า ด้วยพิษไข้จับสั่นและความอดอยาก

ผลของการออกไปกรำแดดกรำฝนทำงานหนักในป่า ในระหว่างฤดูฝนของปี 2486 นั้นเอง ทำให้นักโทษการเมืองซึ่งไม่เคยกับการทำงานหนัก ร่างกายขาดอาหารผ่ายผอมอ่อนแอ และมีเชื้อไข้จับสั่นอยู่แล้วได้รับเชื้อไข้ป่าหรือไข้จับสั่นอย่างร้ายแรงเข้าอีกจึงกำเริบหนัก และระบาดแพร่หลายไปอย่างร้ายแรงเป็นเหตุให้ชีวิตของนักโทษการเมืองต้องสูญสิ้นไปถึงหกคน ในช่วงระยะเวลาเพียงหกสัปดาห์ คนแรกที่ต้องสิ้นชีวิต บนเกาะเต่าด้วยพิษไข้จับสั่นขึ้นสมอง คือ ร้อยเอกหลวงจักรโยธิน (หม่อมหลวงบุษ อิศรางกูร) ขณะที่ หลวงจักรโยธินไข้ขึ้นสูง ดิ้นทุรนทุรายพร่ำเพ้อเรียกหาแต่ลูกเมีย อาการหนักอยู่ในขั้นอันตราย พระยาจินดา จักรรัตน์ ได้บริจาคยาฉีดแอตตาบรินให้หนึ่งหลอด อาการก็ยังไม่ทุเลาลง หม่อมเจ้าสิทธิพร กฤดากร จึงประทานยาแคมเฟอร์ให้อีกหนึ่งหลอดก็หาประโยชน์อะไรมิได้ 

ด้วยหลวงจักรฯได้สิ้นชีวิตลงในเวลาอีกไม่กี่ชั่วโมงต่อมาพระแสงสิทธิการติดตามหลวงจักรฯไปเป็นคนที่สองด้วยไข้จับสั่นอีกเช่นกัน ต่อมา อ่ำ บุญไทย นักหนังสือพิมพ์ เจ้าของนามปากกา “แม่น้ำโขง”ก็ได้จบชีวิตลงเป็นคนที่สามด้วยโรคท้องมานโรคนี้ได้ก่อความทุกข์ทรมานให้แก่อ่ำ บุญไทยอย่างยิ่งเมื่อต้นเดือนกรกฎาคม นายแพทย์ซึ่งเป็นนักโทษต้องคดีฆ่าภรรยาตายได้เดินทางไปเกาะเต่าพร้อมกับเรือเชวงศักดิ์สงครามเพื่อทำการเจาะท้องให้ อ่ำ บุญไทยจนท้องยุบเป็นปกติ แต่เพียงระยะเวลาไม่กี่วันท้องของอ่ำกลับโตใหญ่ขึ้นอีกเมื่อไม่มีนายแพทย์เจาะท้องให้อ่ำจึงใช้ตะปูซึ่งฝน จนแหลมเจาะท้องของตนเองอีกหลายครั้งหลายหน จนในที่สุดเขาก็สิ้นสุดชีวิตและสิ้นความทรมานทั้งปวง

คนที่สี่ที่สิ้นชีวิตด้วยไข้จับสั่นในเวลาไล่เลี่ยกับอ่ำ บุญไทย ก็คือ สิบโทศาสตร์ คชกุล ศาสตร์เป็นคนตัวคนเดียว ไม่เคยมีญาติพี่น้อง หรือผู้หนึ่งผู้ใดส่งเสียเขา ตลอดเวลาที่เขาต้องโทษ ภรรยาของ เขาได้ทอดทิ้งเขาไปในทันที ที่เขาต้องถูกจำคุก สอ เสถบุตร ได้ให้ความอุปการะช่วยเหลือแก่ศาสตร์ตลอดเวลา ทั้งในเรื่องเงิน เสื้อผ้า อาหารการกินและยา 

“ไทยน้อย” ได้เขียนไว้ในหนังสือเรื่องค่ายคุมขังนักโทษการเมืองว่า “ความเป็นอยู่ของเราในค่าย ได้มีพื้นฐานอยู่ในคติที่ว่า ตัวใครตัวมัน เพราะทุกคนเท่ากับลอยคออยู่ในห้วงมหาสมุทร อีเมตินเม็ดหนึ่งหรือควินินเม็ดหนึ่ง หมายถึง ชีวิต ในที่นี้เราน่าจะอนุโมทนาแก่น้ำใจอันงดงามของ หลวงมหาสิทธิโวหาร (สอ เสถบุตร) ซึ่งช่วยทั้งยา เงินและอาหารแก่ ศาสตร์ เพื่อจะประคับประคองชีวิตของเขา ไว้จนสุดความสามารถ ตลอดจนเสื้อผ้าก็พยายามว่าจ้างคนซักฟอกให้ตามสมควร 

แต่ในที่สุด ศาสตร์ก็ต้อง จากเราไปอย่างไม่มีวันกลับ”สอ เสถบุตร เล่าว่าในสภาพแวดล้อมอันคับแค้น ซึ่งขาดทั้งยาและอาหารเช่นนั้นการให้ยาแก่เพื่อนซึ่ง กำลังจะตาย อาจหมายถึงความตายของตัวเองในเวลาต่อไปเมื่อหมดยา ดังนั้นมันจึงเป็นเรื่องของการตัดสินใจที่ยากยิ่งระหว่างมนุษยธรรมกับสัญชาตญาณของการอยู่รอดนักโทษการเมืองทุกคนต้องระวังสุขภาพและใช้วิธีบำบัดรักษาโรคด้วยตนเอง เจ้าหน้าที่เรือนจำมิได้ เหลียวแลหรือให้การบำบัดรักษาแต่อย่างใด ยาควินินแอตตาบริน หรืออิเมตินแต่ละเม็ดมีความหมายต่อชีวิตของแต่ละคนการมียาโดยจำกัดทำให้แต่ละคนใช้วิธีบำบัดรักษาตนเองด้วยวิธีต่างๆกัน บางคนแบ่งยากิน ทีละน้อยแต่กินเรื่อยๆจึงเกิดอาการชินกับยาและยาก็มีไม่มากพอที่จะบำบัด

โรคซึ่งเป็นอยู่อย่างร้ายแรงให้หายขาดได้ บางคนเวลาที่เป็นน้อยอยู่ ถนอมยาไว้ไม่ยอมกิน พอเป็นมากถึงขั้นเพ้อคลั่งยาก็เอาไว้ไม่อยู่ เช่นในรายของพระแสงสิทธิการ เมื่อพระแสงฯสิ้นชีวิตลงนั้น มียาแอตตาบรินและควินิน ซ่อนอยู่ใต้หมอนและใต้ที่นอน เป็นจำนวนมาก 

ส่วนสอ เสถบุตร นั้นได้ใช้วิธีที่ว่า โดยปกติเขาจะไม่กินยาป้องกันไว้ก่อน แต่ถ้าโรคไข้จับสั่น กำเริบขึ้นเมื่อใด เขาก็รีบกินยาอย่างเต็มที่ เพื่อให้หายจากโรคโดยเร็วที่สุด ด้วยวิธีการเช่นนี้ สอ เสถบุตร ทั้งที่ตัวเล็ก บอบบางจึงรอดชีวิตจากไข้จับสั่นของเกาะเต่ามาได้ในระหว่างที่ความตายกำลังคุกคามนักโทษการเมืองบนเกาะเต่าอยู่นั้น หม่อมราชวงศ์นิมิตรมงคล นวรัตน์ และดร.โชติ คุ้มพันธ์ ซึ่งต้องโทษจำคุกตลอดชีวิตอยู่ในเรือนจำบางขวางในคดีพยายามก่อการกบฏ พ.ศ.2481 ถูกทางการรัฐบาลขณะนั้น เห็นว่าเป็นบุคคลประเภทหัวแข็ง ไม่เข็ดหลาบ อันจะเป็นเสี้ยนหนาม แก่รัฐบาลได้ ทางราชการจึงได้มีคำสั่งเนรเทศบุคคลทั้งสอง ให้มาร่วมความทุกข์ทรมานและความตายกับนักโทษการเมืองที่เกาะเต่า

ม.ร.ว.นิมิตรมงคล นวรัตน์ อดีตนายทหารอากาศผู้นี้ท่านผู้อ่านคงจะจำได้ว่า ได้เคยต้องโทษในคดี กบฏบวรเดช พ.ศ. 2476 มาแล้ว และได้รับการปลดปล่อยให้พ้นโทษไปในปี พ.ศ.2480 และต่อมา ม.ร.ว.นิมิตรมงคล ก็ถูกจับกุมอีก ถูกฟ้องร้องและต้อง คำพิพากษาของศาลพิเศษให้จำคุกตลอดชีวิต ในคดีพยายามก่อการกบฏ พ.ศ. 2481 อันเป็นคดีเดียวกันกับร้อยโทเณร ตาละลักษณ์ และนักโทษการเมืองอีก 17 คน ต้องคำพิพากษาให้ประหารชีวิตในเรือนจำบางขวาง 

ภาพที่ม.ร.ว.นิมิตรมงคล นวรัตน์ และดร.โชติ คุ้มพันธ์ ประสพเมื่อแรกไปถึงเกาะเต่านั้น ทำให้เขา ตกใจแทบสิ้นสติ เพราะมันเป็นภาพของเมืองนรกบนโลกมนุษย์อย่างแท้จริง แทบทุกคนผอมจนมีแต่หนัง หุ้มกระดูก หน้าซีดเซียวแววตาแห้งแล้งอิดโรย บางคนนั่งกอดเข่าห่มผ้าตัวสั่นสะท้าน บางคนก็ดิ้นทุรนทุราย ผ้าผ่อนหลุดรุ่ย ปากก็พร่ำเพ้อตะโกนโวยวายด้วยพิษไข้ขึ้นสมอง บางคนก็อาเจียนเปื้อนเปรอะบริเวณที่นอนอยู่ บางคนก็นั่งซึมดวงตาเหม่อลอย บางคนก็นอนขดห่มผ้าตัวสั่นราวกับลูกนก ผู้มาใหม่ทั้งสองสำนึกทันทีว่า ตนถูกส่งเข้ามาอยู่ในแดนแห่งความตายร่วมกับนักโทษการเมืองในคดีกบฏ พ.ศ.2476

ม.ร.ว.นิมิตรมงคล นวรัตน์เองในเวลาต่อมาก็เกือบจะสูญสิ้นชีวิตด้วยพิษไข้ขึ้นสมองถ้าหากมิได้รับพระกรุณาอย่างใหญ่หลวงจากหม่อมเจ้าสิทธิพรกฤดากร พระองค์ท่านได้ทรงเสียสละอย่างยิ่งโดยประทานยาฉีดซึ่งมีเหลืออยู่เพียงสองสามหลอดสุดท้ายของพระองค์เพื่อช่วยชีวิตของม.ร.ว.นิมิตรมงคลไว้ต่อมาไม่นาน หลวงโจมพลล้าน อดีตผู้บังคับการตำรวจจังหวัดเพชรบุรีผู้มีน้ำใจโอบอ้อมอารีก็มีอาการเพียบหนักเขาพร่ำเพ้อดิ้นทุรนทุรายด้วยพิษไข้จับสั่นขึ้นสมอง และเฝ้าแต่พร่ำรำพันเรียกหาลูกเมียตลอดเวลาจนสิ้นใจไปในตอนพลบค่ำวันหนึ่ง หลังจากนั้นไม่กี่วัน เผื่อน ปุณฑนิก ก็ตายลงโดยกะทันหันเป็น คนที่หก

การที่เพื่อนนักโทษการเมืองต้องสูญสิ้นชีวิตไปถึงหกคนในชั่วระยะเวลาเพียงหกสัปดาห์ทำลายขวัญนักโทษการเมืองที่เหลืออยู่อย่างยิ่ง เมื่อถึงที่สุดแห่งความคับแค้น คนบางคนก็ทิ้งศักดิ์ศรีของตน ลืมยศถาบรรดาศักดิ์ และเกียรติยศหมดสิ้น เผยให้เห็นถึงแก่นแท้อันเป็นธรรมชาติของมนุษย์ที่เห็นแก่ตัว และรู้จักแต่การรักษาตัวรอดเป็นยอดดีการศึกษาที่ได้รับมาอย่างดีไม่อาจจะช่วยกล่อมเกลาจิตใจของคนบางคนได้นักโทษการเมืองบางคนถึงกับยอมลดตัวลงมาประจบประแจงกราบกรานขอความกรุณาต่อผู้คน เพื่อให้ได้มาซึ่ง อภิสิทธิ์และความสะดวกสบายต่าง ๆ เหนือคนอื่น ด้วยการเป็นสายให้เจ้าหน้าที่คอยสอดแนมความเป็นไปตลอดจนนำเรื่องราวที่เพื่อนนักโทษการเมืองคุยกันไปฟ้องเจ้าหน้าที่เพื่อหาความดีความชอบ ซึ่งบางทีก็เป็นเรื่องจริงบ้างไม่จริงบ้างก่อให้เกิดความหวาดระแวงซึ่งกันและกันจนแตกแยกเป็นก๊กเป็นเหล่าขึ้น นักโทษการเมืองคนใดหรือหมู่ใดคณะใดวางตัวเฉย ไม่ยอมประจบประแจงหรือให้สินจ้างแก่เจ้าหน้าที่ จึงดูเหมือนว่าเป็น พวกหัวแข็งไม่ยอมอ่อนน้อม ก็ได้รับความบีบคั้นกลั่นแกล้งให้ต้องทำงานหนักยิ่งขึ้น

เมื่อเรือเชวงศักดิ์สงคราม ซึ่งเคยเป็นเรือเสบียงเดินระหว่างสุราษฎร์ธานีกับเกาะเต่าต้องหยุดเดิน เพราะขาดน้ำมัน ทางการเรือนจำจึงได้นำเรือไชโยซึ่งต้องฟืนเป็นเชื้อเพลิงมาเดินแทน นักโทษการเมืองชุดที่ได้ รับคำสั่งให้ไปโค่นต้นไม้ตัดฟืนเตรียมไว้ป้อนเรือไชโยมี สอ เสถบุตรหม่อมหลวงทวีวงศ์ วัชรีวงศ์ ปรุง สุเสวี ประเสริฐ คชมหิทธิ์ และแผ้ว แสงส่งสูง ด้วยเหตุที่ภูมิประเทศส่วนใหญ่ของเกาะเต่าเป็นภูเขา ต้นไม้ใหญ่จึงขึ้น อยู่ตามไหล่เขา เมื่อนักโทษการเมืองช่วยกันโค่นต้นไม้ลงแล้ว ก็ต้องช่วยกันงัดให้ไม้กลิ้งลงมาตามไหล่เขา จนถึงชายทะเล แล้วจึงผ่าออกเป็นดุ้นฟืนขนาดยาวประมาณ 65 ซม. นักโทษการเมืองคณะนี้ จึงได้รับสมญา ว่า "กลุ่มช้าง"

ครั้นแล้วในระหว่างระยะเวลาแห่งความลำบากยากแค้นแสนสาหัสนั้นเองวันหนึ่งก็ได้มีเครื่องบินลำหนึ่งมาบินวนอยู่เหนือเกาะ ขณะที่บินวนอยู่นั้นนักบินก็โบกมือให้นักโทษการเมืองเสมือนจะเป็นสัญญาณบอกกล่าวอะไรสักอย่างหนึ่งนักโทษการเมืองพากันถกเถียงถึงเรื่องเครื่องบินลำนั้นอยู่เป็นเวลากว่าสามสัปดาห์จึงได้ความจริงที่นักบินใจบุญผู้นั้นได้มาบอกใบ้ให้ทราบความจริงอันนั้นก็คือนักโทษการเมืองได้รับพระราชทาน อภัยโทษ เนื่องจากได้มีการเปลี่ยน รัฐบาลใหม่โดยจอมพลแปลก พิบูลสงคราม จำต้องลาออกจากตำแหน่ง นายกรัฐมนตรี ด้วยเหตุที่แพ้คะแนนเสียงในรัฐสภาเรื่องการสร้าง นครเพชรบูรณ์ ให้เป็นเมืองหลวงของประเทศ และสร้างพุทธบุรี ที่จังหวัดสระบุรี นายควง อภัยวงศ์ ได้มาเป็นรัฐมนตรีแทน และคณะรัฐมนตรีใหม่ได้มีมติให้กราบบังคมทูลขอพระราชทานอภัยโทษแก่นักโทษการเมือง ทั้งในคดีกบฏบวรเดช พ.ศ.2476 และคดีกบฏ พ.ศ.2481

ทางการกำหนดให้มีการปลดปล่อยนักโทษการเมืองที่จังหวัดสุราษฎร์ธานีในวันที่ 20 ตุลาคม 2487 ความหวังและกำลังใจก็พลันบังเกิดขึ้นทันทีนักโทษการเมืองดูเต็มไปด้วยความสดชื่นกระปรี้กระเปร่า และมีชีวิตชีวาความเจ็บไข้ได้ป่วยก็ดูจะหายไปราวปลิดทิ้งบรรดาเจ้าหน้าที่เรือนจำต่างๆก็ดูเปลี่ยนท่าทีไปโดยฉับพลันกิริยาท่าทางตลอดจนถ้อย คำพูดจาก็ดูเต็มไปด้วยความเคารพนบนอบเสียงเรียกขาน คุณหลวงคุณพระท่านเจ้าคุณใต้เท้าขอรับกระผมดังอยู่ทั่วไป แทนถ้อยคำเสียดสีเกรี้ยวกราด 

ผู้คุมบางคนก็ขอฝากเนื้อฝากตัวประจบประแจงท่านนักโทษการเมืองที่มีหวังว่า จะได้กลับไปเป็นใหญ่เป็นโต นักโทษการเมืองได้รับคำสั่งให้เตรียมตัวออกเดินทางจากเกาะเต่าไปยังคุกเมืองสุราษฎร์ธานี เพื่อรอเวลาปลดปล่อยที่นั่นปัญหามีอยู่ว่าเมื่อได้รับการปลดปล่อยแล้วนักโทษการเมืองจะเอาเงินที่ไหน ซื้อเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายใหม่แทน เสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มอันขาดกะรุ่งกะริ่งใกล้สภาพอนาจารของตน นักโทษการเมืองจะเอาเงินที่ไหนหาอาหารรับประทานระหว่างการเดินทางและจะเอาเงินที่ไหน เป็นค่ารถจากสถานีรถไฟหัวลำโพงไปบ้านของตนมิหนำซ้ำบางคนก็ยังไม่แน่ใจว่าบ้านที่ตนเคยอยู่นั้น จะถูกลูกระเบิดไป หรือเปล่า ที่คุกเมืองสุราษฎร์ธานีผู้คุมได้ทำหน้าที่เป็นคนกลางนำสินค้าซึ่งเป็นของเก่าติดตัวนักโทษการเมืองไปขายให้แก่ประชาชน ด้วยเหตุที่ขณะนั้นเป็นเวลาสงครามเครื่องอุปโภคต่างๆขาดแคลน และราคาแพงอย่างยิ่งเมื่อนักโทษการเมืองซึ่งหูหนวกตาบอดต่อภาวะความเป็นไปของโลก ภายนอกขายของในราคาถูกอย่างไม่น่าเชื่อประชาชนจึงพากันหลั่งไหลเบียดเสียดไปซื้อของดีราคาถูก ที่ประตูเรือน จำราวกับตลาดนัด

ปรุงสุเสวีขายสายสร้อยทอง หนักหนึ่งบาท ไปด้วยราคา 40 บาท ก็ดีใจว่า ตั้ง 18 บาท เพราะเมื่อซื้อมานั้นซื้อด้วย ราคาเพียง 22 บาท อันที่จริงราคาทองขณะนั้น บาทละ 400 กว่าบาท สอเสถบุตรและแผ้วแสงสูงส่งขายมุ้งไปในราคาหลังละ 40 บาทส่วนหม่อมเจ้า สิทธิพรกฤดากรทรงขายผ้าห่มสักหลาดอย่างดีใหม่เอี่ยมไปในราคา 80 บาท ก็ดีพระทัยว่าขายได้ราคา แต่พอหนึ่งชั่วโมงให้หลังจีนเจ้าของร้านตัดเสื้อกางเกง ก็วิ่งมาขอซื้ออีกโดยเสนอให้ ราคาถึงผืนละ1,000 บาท แต่พระองค์ท่าน ก็ไม่มีจะขายให้แล้วในวันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2487 อันเป็นวันที่นักโทษการเมืองได้รับปลดปล่อยนั้นทั่วทั้งตลาดเมืองสุราษฎร์ธานีขวักไขว่ไปด้วยอดีตนักโทษการเมืองในสภาพเครื่องแต่งกายอันน่าขันระคนน่าสงสารบางคนสวมเสื้อขาดกะรุ่งกะริ่ง

บางคนสวมรองเท้าซึ่งเกือบจะเรียกไม่ได้ว่าเป็นรองเท้าโดยที่พื้นข้างล่างโหว่จนแทบจะรองรับเท้าไว้ไม่ได้ บางคนสวมหมวกซึ่งเป็นรูพรุนไปหมดสมัยนิยมของเครื่องแต่งกายได้เปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิงการนุ่งผ้าม่วง หรือนุ่งกางเกงแพรแล้วใส่เสื้อนอกคอปิดกระดุมห้าเม็ดได้หายไปหมดสิ้นจากสมัยนิยมอดีตนักโทษการเมืองตัดสินใจไม่ถูกว่าตนควรจะซื้อเสื้อผ้าสำหรับสวมใส่อย่างไรดี 

ม.ร.ว.นิมิตรมงคล นวรัตน์ และขุนศิริโยธินได้ไปซื้อกางเกงขาสั้นตัดเย็บด้วยผ้าทอด้วยใยสังเคราะห์ โดยเห็นว่ามีลวดลายสวยเหมือนผ้าสักหลาดและซื้อเสื้อโปโลกับหมวกกันแดดแต่เมื่อเปลี่ยนเครื่องแต่งตัวเสร็จแล้ว และเดินฝ่าแสงแดดอันร้อนแรงจะไปขึ้นรถไฟก็เกิดอาการคันไปทั้งตัวจนทนไม่ได้ต้องเปลี่ยนเครื่องแต่งกายกลับไปสวมชุดนักโทษ ตามเดิม 

ที่สถานีเพชรบุรี ได้มีประชาชนเป็นจำนวนมากนำข้าวห่อ และขนมหม้อแกงหลายสิบถาดมาเลี้ยงต้อนรับพร้อมกับอวยชัยให้แก่อดีตนักโทษการเมืองทุกคน ในระหว่างทางได้มีเพื่อนผู้อารีคนหนึ่งนำเสื้อนอก แบบสากลมาให้ สอ เสถบุตร สวมใส่ สอ เสถบุตรเล่าว่า เขามีความรู้สึกเคอะเขินชอบกลหลังจากที่มิได้สวมใส่ เสื้อนอกมาเป็นเวลากว่าสิบปี ณ สถานีรถไฟบางกอกน้อย ธนบุรี คุณมานิต วสุวัต เป็นมิตรคนแรกที่รอรับ สอ เสถบุตรอยู่ พร้อมกับ เสนอให้ตำแหน่งผู้อำนวยการหนังสือพิมพ์ “ศรีกรุง”แก่สอ เสถบุตร 

ที่มา kohtaocenter.com oceansmile.com

 

ชีวิตที่พอเพียง: ๑๘๙๓. เตรียมควงสาวเที่ยวสวิส

พิมพ์ PDF

ผมมีประชุมเตรียมงาน PMAC 2014 ที่เมืองมองเทรอซ์สวิตเซอร์แลนด์ ระหว่างวันที่ ๑๖- ๑๗ พ.ค. ๕๖ จึงฉวยโอกาสชวนสาวไปฮันนีมูนที่สวิสเป็นครั้งที่ ๒ คราวที่แล้วไปเมื่อปี ๒๕๔๕ ไปพักที่เมือง Grindelwald  นั่งรถไฟขึ้นเขาไปชม Jungfraujoch  เที่ยวเมืองInterlaken, Montreau,Vevey และGeneva

ได้ตั๋วการบินไทยสุวรรณภูมิ - ซูริคไปกลับ ๙-๑๘ พ.ค. ๕๖ ด้วยการอำนวยความสะดวกของคุณหยกแห่งสำนักงานPMAC  สาวน้อยผู้รอบคอบก็สั่งการให้ผมเตรียมกำหนดการ โดยคอยค้นอินเทอร์เน็ต หาเรื่องราวการท่องเที่ยวของคนไทยที่สวิสส่งให้ผม สาวน้อยเขาค้นเก่ง

เรากะเที่ยวโดยรถไฟจึงกะจะซื้อ Swiss Pass 15 วันตั๋วชั้น ๒ เพราะรถไฟว่าง และดูรูปรถไฟชั้น ๒ แล้วก็คิดว่าสบายเพียงพอแล้ว หาที่เที่ยวและที่พักไปตามเมืองที่จะไป

เมืองแรกที่จะเที่ยวคือ ซูริคแต่ไม่นอนไปนอนที่ลูเซิร์น เพราะค่าโรงแรมถูกกว่ามาก สองเมืองนี้ห่างกันชั่วโมงเดียวทางรถไฟ

สาวน้อยเล็งเที่ยวชมวิวโดยGlacier Express โดยไปเริ่มที่เมือง Zermatt  ตอนแรกเราคิดจะนั่งตลอดทาง ๗๑/๒ ชั่วโมงไป St. Moritz แล้วค้างที่นั่น๑คืน เพราะอ่าน Lonely Planet แล้วเขาบอกว่าเป็นเมืองชนบทที่สวยมาก แต่เมื่อค้นเก่งขึ้นเรื่อยๆ ผมก็ตัดสินใจว่านั่งGlacier Express เพียงครึ่งทางไปลงที่Oberwald ก็พอแล้วเข้าใจว่า เป็นการนั่งรถไฟไปบนยอดของทิวเขาแอลป์ บนตู้รถที่ออกแบบเฉพาะสำหรับชมวิว

บันทึกของนักท่องเที่ยวไทยหนุ่มสาว ๘ คน เขียนโดยCherry ในสาวน้อยเล่าเรื่องSweet in Swiss รวม ๘ ตอน  มีส่วนช่วยการวางแผนของเรามากที่สุด ขอขอบคุณมา ณ ที่นี้  แต่เราเป็นผู้สูงอายุต้องปรับแผนให้เหมาะแก่สังขาร

ค้นข้อมูลวางแผนไป ใจก็สะท้อนคิดถึงบ้านเมืองของเราว่า หากเราต้องการเป็นสังคมรายได้สูงกระโดดออกจากกับดักสังคมรายได้ปานกลาง (Middle-Income Trap) เราก็ต้องวางโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ ให้เป็นระบบเศรษฐกิจบนฐานของอุตสาหกรรมบริการเชิงนวัตกรรม(Innovative Economy)  ตัวอย่างของสวิสมีให้เห็นจะๆ

คุณCherry เล่าเรื่องด้วยภาพที่งดงาม มีข้อเขียนเล็กๆน้อยๆ แต่ที่เธอรำพึงบ่อยๆคือ ทำมาหากินกันอย่างไรบ้านเมืองจึงเหมือนอยู่บนสวรรค์อย่างนี้ คำตอบของผมคือ เพราะบ้านเมืองของเขาลำบาก สภาพธรรมชาติที่ยากเข็ญ กลายเป็นเบ้าหล่อหลอมให้คนของเขาอดทน ขยัน ซื่อสัตย์ มีคุณภาพ และคิดวางฐานเศรษฐกิจการทำมาหากินถูกต้อง คือ มีอาชีพที่ value-added สูง  นาฬิกาคุณภาพสูงงี้  มีดสวิสงี้  การท่องเที่ยวบนฐานธรรมชาติ (อย่างที่ผมจะไปอุดหนุน) งี้  เป็นที่ตั้งองค์การนานาชาติงี้  นี่คือการวางรากฐานของบ้านเมือง

เขาวางรากฐานดี ถูกต้อง ทำต่อเนื่องทำอย่างเป็นระบบ  บ้านเมืองเขาจึงเป็นอย่างที่เห็น  โดยผมเชื่อว่า หัวใจอยู่ที่คุณภาพคน ความเท่าเทียมกันระหว่างคน และระบบการปกครองบ้านเมืองแบบกระจายอำนาจ ไม่ใช่ระบบรวมศูนย์  และช่องว่างทางสังคมสูงอย่างบ้านเรา

เขาใช้พลังไอทีช่วยอำนวยความสะดวกของนักท่องเที่ยวได้ถึงขนาดนี้ ผมกะจะลงGlacier Express ที่เมืองOberwald ในวันที่ ๑๕ พ.ค. ๕๖  ผมสามารถค้นได้ว่าจะเดินทางกลับไปMontreaux โดยใช้เวลา ๓ ชั่วโมง  เปลี่ยนรถ ๑ ครั้ง จากการลงรายละเอียดของเราที่นี่

ที่จริงสมัยนี้ก่อนไปเที่ยวจริง เราสามารถไปเที่ยวเสมือนได้ ดังกรณีการนำเที่ยวของคุณCherry  และโดยการเข้าไปดูในYouTube เช่นที่นี่ที่นี่และที่นี่ โดยรายการหลังนี้ทำให้ผมเข้าใจการเล่นสกีเสียใหม่ แตกต่างจากที่เข้าใจเดิม  เปลี่ยนเป็นมองว่าการเล่นสกีก็เหมือนการไปเดินเล่นโดยไม่ต้องเดินใช้ความสามารถในการเลี้ยงตัว และทางลากบนผืนหิมะช่วยให้เดินทางลงเขาได้อย่างสนุกสนาน


วิจารณ์  พานิช

๒๓ ก.พ. ๕๖

คัดลอกจาก http://www.gotoknow.org/posts/533294

 

บทเรียนจากความจริง ศ.ดร.จีระ หงส์ลดารมภ์

พิมพ์ PDF

วาระแห่งชาติ พัฒนาเยาวชนไทย ให้เป็นรูปธรรม (ตอน 2)

 

สัปดาห์ที่แล้วมีผู้อ่าน 3-4 ท่าน ส่งข้อมูลมาทาง Website ของแนวหน้า ดังต่อไปนี้

-ผมอยากให้เด็กไทยอยู่ในสังคมการเรียนรู้ คือ Life Long Learning

-เด็กไทยกับเด็กเยอรมันแตกต่างกันมาก เด็กไทยขาดวินัยแต่เด็กเยอรมันมีวินัยมาก

การจัดแคมป์เยาวชนของมูลนิธิเราจะเป็นคนดีสำเร็จลุล่วงไป 3 คืน 4 วัน เป็นช่วงเวลาที่คุ้มค่ามาก

ต้องขอบพระคุณ ฯพณฯ อำพล เสนาณรงค์ องคมนตรี ที่กรุณาให้กำลังใจพวกเรามาเป็นประธานเปิดงานอย่างสมเกียรติและสมศักดิ์ศรี

 


ภาพกิจกรรม Goodman Knowledge Camping 1st
ระหว่างวันที่ 20-23 ตุลาคม 2555
ได้รับเกียรติจาก ฯพณฯ อำพล เสนาณรงค์ องคมนตรี เป็นประธานพิธีและปาฐกถาพิเศษ
“พระราชดำริและหลักการทรงงานของในหลวง”
กล่าวต้อนรับโดย ดร.ปรเมษฐ์ โมลี (ผอ.โรงเรียนเทพศิรินทร์)
กล่าวรายงานโดย พลตำรวจเอก เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส
และปาฐกถา “หลักคิดจากมูลนิธิเราจะเป็นคนดี”
ณ โรงเรียนเทพศิรินทร์ เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2555

---------------------------------------------------------------------------------------

ขอขอบคุณ พลตำรวจเอก เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส ประธานมูลนิธิเราจะเป็นคนดี ที่เน้นว่า ทำความดีไว้ ไม่มีวันจะล่มสลาย

ผู้อำนวยการคนใหม่ของโรงเรียนเทพศิรินทร์ ดร.ปรเมษฐ์ โมลี ประเดิมงานใหญ่ ทำหน้าที่ได้ไม่มีที่ติ ทำงานให้พวกเรา
ชาวเขียวเหลืองอย่างภูมิใจและให้เกียรติมูลนิธิเราจะเป็นคนดี

ขอขอบคุณคุณหญิงศรีศิริ กฤษณจันทร์, พล.ร.ต.นพดล สุภากร ผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการต่อสู้อากาศยานและรักษาฝั่ง และนาวาเอกเจริญพล คุ้มราศี รองผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการต่อสู้
อากาศยานและรักษาฝั่ง ที่ให้เกียรติมาต้อนรับและมอบประกาศนียบัตร ณ หน่วยบัญชาการต่อสู้อากาศยานและรักษาฝั่ง อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี

การไปเข้าค่ายใน หน่วยบัญชาการต่อสู้อากาศยานและรักษาฝั่งกองทัพเรือ มีคุณประโยชน์มากเพราะได้เห็นระเบียบวินัยที่เราต้องให้เยาวชนคนไทย Back to basics กลับสู่พื้นฐาน

-เน้นความดีและเก่ง

-เน้นคุณธรรม จริยธรรม

-เน้นระเบียบวินัย

การตรงต่อเวลา ค่านิยมเหล่านี้หายไปจากสังคมไทยพวกเราต้องเอากลับมาให้ได้

ผมมีโอกาสไปร่วมทุกๆ วัน ได้อธิบายถึงวิธีการเรียนและการมองอนาคต โดยการกำหนดวิสัยทัศน์ของประเทศไทย

ถึงแม้ว่าเวลาจะน้อยก็ได้เป็นการทำงานเป็นกลุ่มๆ ได้ดีมาก เพราะ

-หาความรู้ร่วมกัน

-มีจินตนาการที่เด่นชัด

-มีพลังที่ซ่อนเร้น และทำออกมาให้ประจักษ์

-รับฟังความคิดที่แตกต่างกัน

เป็นที่น่าดีใจว่า ใน 8 กลุ่มมองวิสัยทัศน์ประเทศไทยในอนาคตเน้น

1.การเกษตร ต้องส่งออกและมีมูลค่า ปลอดสารพิษ เศรษฐกิจพอเพียงประกอบวิถีชีวิต

2.เป็นครัวของโลก อาหารไทยและเน้นวัฒนธรรมไทย

3.เน้นทุนทางวัฒนธรรม โดยเฉพาะ การใช้ Value Diversity (คุณค่าที่หลากหลาย) คือการรู้จักวัฒนธรรมที่หลากหลาย เยาวชนก่อนเรียนมองวัฒนธรรมไม่ออก คิดว่าเป็นของโบราณ ไม่มีคุณค่าคล้ายๆ เป็นของกรมศิลปากร แตะต้องไม่ได้ พอมาได้ฟัง เห็นว่าวัฒนธรรมเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตของคนไทยและสามารถนำมาสร้างมูลค่าได้ น้องๆ ก็เริ่มมีความเข้าใจ มีความหวังมากขึ้นและเริ่มเห็นคุณค่าของวัฒนธรรม แต่ก่อนจะสนใจแต่วัฒนธรรมของประเทศอื่นๆ และลอกเลียนแบบ

4.เรื่องคุณภาพของคน มีการพูดในหมู่นักเรียน โดยเฉพาะไม่มีมาก่อนว่าเรื่องคนจะสำคัญมากขนาดนี้ มีกลุ่มหนึ่งกำหนด
วิสัยทัศน์ เรื่อง มองทรัพยากรมนุษย์ข้ามชาติ มาทำงานในประเทศไทย แต่ต้องพัฒนาคนไทยให้เก่งและดีทัดเทียมไปด้วย

5.มีการพูดถึงการศึกษาของบ้านเรามาก ซึ่งน่าจะดีเพราะ ครูทั้ง 14 โรงเรียนมาร่วมฟังด้วย หลายท่านอาจจะคิดว่า วิธีการแบบป้อน ไม่ให้เด็กได้แสดงออก อาจจะต้องมีการเปลี่ยนวิธีการสอนที่เน้น Creativity เป็นสู่ Innovation มากขึ้น

6.เรื่องการแพทย์ไทย ใน 20 ปีข้างหน้า ก็มีการพูดกันมากว่า อาจจะเอาแพทย์แผนไทยและแพทย์สมัยใหม่เข้ามาร่วมด้วยกันและให้เมืองไทยเป็นแหล่งของการดูแลผู้สูงอายุของอาเซียนหรือของอาเซียน+6การสร้างความสุขในการใช้ชีวิตอย่างมีความสุข เน้นการป้องกันเช่น Wellness and Spa


ภาพกิจกรรม Goodman Knowledge Camping 1st ที่หน่วยบัญชาการต่อสู้อากาศยานและรักษาฝั่ง อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี โดยมี คุณหญิงศรีศิริ กฤษณจันทร์, พล.ร.ต.นพดล สุภากร ผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการต่อสู้อากาศยานและรักษาฝั่งและนาวาเอกเจริญพล คุ้มราศี รองผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการต่อสู้อากาศยานและรักษาฝั่ง ที่ให้เกียรติมาต้อนรับและมอบประกาศนียบัตร และได้รับเกียรติจาก รศ.อัษฎางค์ ปาณิกบุตร และ ผศ.พงษ์ศักดิ์ กรรณล้วน ร่วมเป็นวิทยากรและ Workshop ส่วนกิจกรรมของนักเรียนก็ได้ร่วมกิจกรรมมากมายในโครงการมีการทำกิจกรรม เข้าฐานการเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงให้นักเรียนรู้และปฏิบัติงานจริง เช่น การดำนา ปลูกผัก การปั้น EM ball เป็นต้น
-----------------------------------------------------------------------------

ประเด็นสำคัญก็คือ ปีนี้เป็นปีแรกที่มูลนิธิเราจะเป็นคนดีได้มอบหมายให้ทีมของผมได้ทำงานเพื่อโรงเรียนอื่นๆ นอกระบบของเทพศิรินทร์ ซึ่งทำมาแล้ว 14 ปี ที่เทพศิรินทร์

ซึ่งได้รับโอกาสอีกในปีหน้าพวกเราก็จะมีเวลาเตรียมตัวมากขึ้น โดยเฉพาะการคัดเลือกนักเรียนที่สนใจอยากมาหาความรู้จริงๆ

ทีมงานหรือพี่เลี้ยงของทีมอาจารย์กฤช สินอุม และอาจารย์เอื้อตั้งศรีตระกูล มีประสบการณ์มาก ผมดูวิธีการทำงานแล้วภูมิใจมาก

วิทยากรผู้ใหญ่ หลายท่านก็กรุณามาร่วมอย่างเต็มที่โดยเฉพาะ รศ.อัษฎางค์ ปาณิกบุตร, ผศ.พงษ์ศักดิ์ กรรณล้วน อยู่ร่วมวิจารณ์ Workshop อย่างมีคุณค่า

ส่วนทีมของผม มีทีมงานเสริมคือ คุณเอราวรรณ แก้วเนื้ออ่อนและคุณภัทรพร อันตริกานนท์ ก็ทำงานอย่างดีเลิศร่วมกัน เติมพลังให้แคมป์ประสบความสำเร็จทางด้านวิชาการและการบริหาร

ปีหน้าก็น่าจะจัดช่วงวันปิยมหาราชอีก เพราะมีวันหยุดคั่นกลางจะได้ไม่ใช้เวลาวันทำงานมากเกินไป น่าจะมีประโยชน์ ถ้าดึงเอานักเรียนโรงเรียนอื่นๆ เช่น ในภาคอีสานหรือภาคเหนือ มาร่วมสังเกตการณ์ด้วย จะทำให้นักเรียนและครูได้ประสบการณ์เพื่อนำไปปฏิบัติต่อไป

ขอขอบคุณ “มูลนิธิเราจะเป็นคนดีครับ”

 

ศ.ดร.จีระ หงส์ลดารมภ์
เลขาธิการมูลนิธิพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ระหว่างประเทศ
อีเมลนี้จะถูกป้องกันจากสแปมบอท แต่คุณต้องเปิดการใช้งานจาวาสคริปก่อน
www.gotoknow.org/blog/chiraacademy
แฟกซ์ 0-2273-0181


 

พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร

พิมพ์ PDF

กว่าพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากรจะมาประดิษฐานอยู่ในพระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนมหาศาสดาราม ในพระบรมมหาราชวังนั้น ก็จะขอย้อนถึงที่มาที่ไปล่ะกัน เพื่อทำความเข้าใจน่ะขอรับ ^^"

พระแก้วมรกตเป็นพระพุทธรูปที่แกะสลักจากหยกอ่อนสีเขียวดังมรกต เป็นพระพุทธรูปสกุลศิลปะก่อนเชียงแสนถึงศิลปะเชียงแสน หลักฐานที่ตรงกันระบุว่าพบครั้งแรก ประดิษฐานอยู่ในเจดีย์วัดป่าญะ เมืองเชียงราย (ปัจจุบันคือวัดพระแก้วงามเมือง อำเภอเมืองเชียงราย) ในปี พ.ศ.1977 (หรือ ค.ศ.1434) ฟ้าได้ผ่าลงองค์พระเจดีย์จนพังทลายลง จึงพบพระพุทธรูปพอกปูนลงรักปิดทอง จึงได้นำไปไว้ในวิหาร ต่อมาปูนบริเวณพระนาสิกเกิดกระเทาะออก เห็นเป็นเนื้อมรกต จึงกระเทาะปูนออกทั้งองค์ เห็นเป็นเนื้อหยกสีมรกตทั้งองค์

พระเจ้าสามฝั่งแกนแห่งเชียงใหม่ทราบข่าวการค้นพบพระพุทธรูปนี้ จึงเชิญมาประดิษฐานที่เชียงใหม่ แต่ช้างทรงพระแก้วมรกตกลับไม่เดินทางไปยังเชียงใหม่ แต่ไปทางลำปางหากช้างนั้นมีพระแก้วมรกตอยู่บนหลังช้าง เชียงใหม่เห็นว่าลำปางก็อยู่ในอาณาจักรล้านนาจึงนำไปไว้ที่วัดพระแก้วดอนเต้า ถึงสมัยพระเจ้าติโลกราช ได้เชิญพระแก้วมรกตมายังเชียงใหม่ สร้างปราสาทประดิษฐานไว้แต่ถูกฟ้าผ่าหลายครั้ง ครั้นเมื่อพระเจ้าไชยเชษฐาแห่งล้านช้างซึ่งเป็นญาติกับราชวงศ์ล้านนามาครองเมืองเชียงใหม่ เมื่อพระเจ้าไชยเชษฐาเสด็จกลับหลวงพระบาง ก็เชิญพระแก้วมรกตไปด้วยพร้อมกับพระพุทธสิหิงค์ ทางเชียงใหม่ขอคืนก็ได้แต่พระพุทธสิหิงค์ เมื่อล้านช้างย้ายเมืองหลวงจากหลวงพระบางมาเวียงจันทน์ก็เชิญพระแก้วมรกตลงมาด้วย ต่อมาสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ทรงสถาปนากรุงธนบุรีขึ้นเป็นเมืองหลวง พระองค์ได้ทรงอัญเชิญพระแก้วมรกต และพระบาง มาจากอาณาจักรล้านช้างเวียงจันทน์ (ลาว) ในครั้งนั้นประดิษฐานไว้ที่วัดอรุณราชวราราม ต่อมาเมื่อสิ้นรัชสมัยของพระองค์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงอัญเชิญพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากรลงบุษบกในเรือพระที่นั่ง เสด็จข้ามฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา มาประดิษฐานยังวัดพระศรีรัตนศาสดาราม จนถึงปัจจุบัน ส่วนพระบางพระราชทานคืนให้แก่ลาว

 

วีรชัย พลาศรัย

พิมพ์ PDF

รู้จักหัวหน้าทีมสู้คดีพระวิหาร "วีรชัย พลาศรัย" 

ในการแถลงคดีปราสาทพระวิหาร นอกจาก "เอลินา มิรอง" จะได้รับความชื่นชมจากคนไทย คนหนึ่งที่ลืมไม่ได้ก็คือ "วีรชัย พลาศรัย" เอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงเฮก หัวหน้าคณะทำงานสู้คดี ผู้มีชื่อเล่นว่า "แสบ" เกิดวันที่ 9 มิถุนายน 2503 จบปริญญาเอกจากซอร์บอนน์ ฝรั่งเศส ภริยาชื่อ "อลิซาเบธ พลาศรัย" เป็นลูกครึ่งไทย-สวิส ท่านทูตรับราชการในกระทรวงการต่างประเทศมายาวนาน ดำรงตำแหน่งสำคัญๆ รวมถึงอธิบดีกรมสนธิสัญญาฯ และถูกย้ายด้วยเหตุผลที่สื่อรายงานว่าขัดแย้งกับฝ่ายการเมือง เพราะคัดค้านการออกแถลงการณ์ร่วมกับกัมพูชาขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก ก่อนถูกย้ายกลับตำแหน่งเดิมในสมัยนายเตช บุนนาค เป็น รมว.ต่างประเทศ และได้ไปประจำกรุงเฮกในสมัย "รัฐบาลอภิสิทธิ์" เพื่อเตรียมสู้คดีนี้

ข้อมูลจาก http://bit.ly/XM6Tor
ภาพจากคลิป http://bit.ly/11li9sr

 


หน้า 492 จาก 561
Home

About Us

ศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ (ศบม.) เป็นองค์กรที่พัฒนาและจัดทำโครงการเพื่อทำประโยชน์ให้สังคม เป็นองค์กรสนับสนุนการดำเนินงานของภาครัฐ ช่วยแก้ปัญหาผู้ประกอบการภาคธุรกิจบริการที่ขาดแคลนบุคลากรที่มีมาตรฐานในการให้บริการ
อ่านเพิ่มเติม

มูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ ์

 iHDC Profile
บัญชีรายชื่อกรรมการ
ใบสำคัญแสดงการจดทะเบียน การเปลี่ยนแปลงกรรมการของมูลนิธิ
เอกสารประชาสัมพันธ์ โครงการ HMTC.pdf
เอกสารแนะนำโครงการ HMTC 1.pdf
เอกสารโครงการ HMTC 2 คุณสมบัติผู้เข้าร่วมโครงการ.pdf
iHDC นิติบุคคล.pdf
iHDC บุคคล.pdf
iHDC บุคคลเครือข่าย.pdf
รายงานการประชุม 6 มีนาคม 2560.pdf
ข้อบังคับมูลนิธิ
ใบสำคัญแสดงการจดทะเบียนจัดตั้งมูลนิธิ
Ihdc-Profile and Roadmap 2016-2019 Mar 23 2560.pdf
รายงานการประชุมใหญ่คณะกรรมการมูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ 2559.pdf
คำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ สาขาวิชาชีพ.pdf
รายงานการประชุมใหญ่วันที่ 18 ธ ค 2558 v 3.pdf
รายงานการประชุม วันที่ 24 ธันวาคม 2557 updated 4 มีนาคม 2558.pdf
iHDC-invitation Letter.doc
iHDC-Member Form Thai.doc
iHDC-Member Form English.doc
รายงานการประชุมกรรมการมูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ วันที่ 15 มกราคม 2556 ฉบับสมบูรณ์


thaibetter
พัฒนาประเทศไทยแบบทวีคูณ และยั่งยืน ( ททค )

Login


แบบสำรวจ

สถิติเว็บไซด์

สมาชิก : 5642
Content : 3067
เว็บลิงก์ : 26
จำนวนครั้งเปิดดูบทความ : 8741576

facebook

Twitter


ล่าสุด

บทความเก่า