Thaiihdc.org

  • เพิ่มขนาดตัวอักษร
  • ขนาดตัวอักษรปกติ
  • สดขนาดตัวอักษร
Thaiihdc.org

สอนเก่ง สอนดี ครูเหล่านี้ต้องมีคุณสมบัติอะไร

พิมพ์ PDF
ครูต้องมีคุณสมบัติ 4 เก่งซึมซับอยู่ในตัวครูก่อนจึงจะสามารถสร้างแรงบันดาลใจให้นักศึกษาสนใจเรียนรู้

ได้อ่านบทความของ ดร.จันทวรรณ ปิยะวัฒน หัวข้อ "

สอนเก่ง สอนดี ครูเหล่านี้ต้องมีคุณสมบัติอะไร

จึงขอแสดงความคิดเห็นดังนี้

ผมมีความเห็นว่าครูสอนดี คือครูที่ทำการบ้านมาดี เอานักศึกษาเป็นศูนย์กลาง จะต้องทำความเข้าใจนักศึกษาทั้งห้อง แยกนักศึกษาเป็นกลุ่ม สร้างแรงบันดาลใจให้นักศึกษาเกิดความต้องการในการศึกษาหาความรู้ ครูต้องเรียนรู้ร่วมกับนักศึกษา ใช้กลยุทธ์และวิธีการเฉพาะในแต่ละกลุ่มนักศึกษา เพื่อให้เรียนรู้และเข้าใจในการซึมซับคุณสมบัติ 4 เก่ง ให้อยู่ในตัวนักศึกษา คุณสมบัติ 4 เก่ง ประกอบด้วย 1.เก่งคน หมายถึงเข้าใจคนรอบข้าง มีมนุษย์สัมพันธ์และสามารถบริหารคนได้ รู้และเข้าใจคนรอบข้าง แต่ก่อนที่จะทำอย่างนั้นได้จะต้องเริ่มจากการบริหารตัวเอง เข้าใจและรู้จักตัวเอง รู้เท่าทันอารมณ์และสามารถควบคุมอารมณ์ของตัวเองได้ จึงจะเรียกได้ว่าเก่งคน 2.เก่งคิด คิดในสิ่งที่สร้างสรรค์ คิดในสิ่งที่ทำให้เกิดประโยชน์ต่อส่วนรวม ไม่ใช่ประโยชน์ของตนเองหรือประโยชน์ของกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งและทำให้กลุ่มอื่นได้รับความเดือดร้อน ไม่กลัวปัญหาและอุปสรรค์ สามารถคิดนำปัญหาและอุปสรค์มาสร้างโอกาส 3.เก่งงาน เข้าใจงานและเป้าหมายของงาน เรียนรู้และเข้าใจงานของตัวเอง ทำงานและรับผิดชอบงาน มีทักษะในการทำงานไม่ว่าจะเป็นทักษะทางแรงงานหรือทักษะทางความคิด สามารถพัฒนาและเพิ่มมูลค่าอย่างต่อเนื่อง นอกเหนือจากทำงานเก่งแล้วยังต้องเข้าใจเป้าหมายของงาน สามารถทำงานร่วมกับคนอื่น มีวิสัยทัศน์ในการทำงาน 4.เก่งการดำรงชีวิต สามารถแบ่งเวลาในการดำรงชีวิต ไม่เบียดเบียนตัวเองและผู้อื่น สร้างความสุขอย่างยั่งยืน

ส่วนความลึกของแต่ละเก่งขึ้นอยู่กับแต่ละคนในแต่ละมิติ เช่นวัย อาชีพ ตำแหน่ง สถานะทางครอบครัวและสังคม

ครูต้องหาวิธีการและกลยุทธ์เฉพาะกับนักศึกษาแต่ละคนให้เกิดแรงบันดาลใจในการเรียนรู้ เมื่อนักศึกษาเกิดแรงบันดาลใจแล้ว นักศึกษาผู้นั้นจะไปหาวิธีการเรียนรู้ด้วยตัวเขาเอง ครูมีหน้าที่ในการเป็นโค้ช ผู้ให้กำลังใจ และให้การสนับสนุน ครูหลายท่านอาจจะแย้งว่า นักศึกษามีจำนวนมากครูไม่สามารถเข้าใจและเข้าถึงนักศึกษาทุกคนได้ เรื่องนี้ขึ้นอยู่กับการบริหารจัดการ ถ้าครูมีความตั้งใจจริง ผมเชื่อว่าทำได้ ถ้าครูสามารถฝึกตัวเองให้เป็นคนที่มีคุณสมบัติ 4 เก่งได้ เรื่องที่ผมกล่าวมาก็เป็นเรื่องที่ไม่ยากเกินกำลัง

บทความของ ดร.จันทวรรณ ปิยะวัฒน์

ช่วงเดือนนี้เรากำลังช่วยกันฝันว่า ห้องเรียนที่ดีควรเป็นอย่างไร ดิฉันก็เป็นครูคนหนึ่งที่มีความฝันค่ะ

  • ดิฉันฝันอยากสอนนักเรียนให้มีทักษะในการเรียนรู้มากกว่าที่จะสอนให้รู้เนื้อหา
  • ฝันอยากเห็นนักเรียนทุกคนอ่าน reading assignments หรือดู  clip VDOs มาก่อนล่วงหน้า เพื่อลดเวลาในการ lecture ลง
  • ฝันอยากบอกเล่าประสบการณ์ที่ตนเองมีมากกว่าสอนเนื้อหาในหนังสือ
  • ฝันอยากได้ร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนกับนักเรียนมากกว่าที่ดิฉันจะพูดอยู่ฝ่ายเดียว
  • ฝันอยากเห็นห้องเรียนมีความสนุกสนาน นักเรียนมีความสนใจกระตือรือร้นอยากเรียนรู้
  • ฝันอยากให้นักเรียนมีทักษะในการฟัง พูด อ่าน เขียน ภาษาอังกฤษได้ดี เพราะความรู้ที่เด็กไทยเข้าถึงได้ถูกจำกัดด้วยทักษะในการใช้ภาษาอังกฤษ

แต่กว่า 10 ปีที่รับราชการเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย ดิฉันคิดว่าตัวเองก็ยังคงไม่รู้ว่าจะสอนให้ดีต้องสอนอย่างไร เรียกได้ว่ามีแต่วิชาชีพที่ตนมีประสบการณ์แต่ไม่มีทักษะในการสอนดี

และคิดต่อไปว่าแล้วในชั้นเรียนระดับมหาวิทยาลัยที่มีนักศึกษากว่า 100 คนจะสอนให้ดีได้อย่างไร หลายคนบอกว่าเริ่มต้นด้วยการจำชื่อนักศึกษาให้ได้ครบทุกคน แค่นี้ก็ยากแล้วค่ะแต่ก็มีคนทำได้นะคะ

ครูสอนดีเหล่านี้มีคุณสมบัติอย่างไรหนอ? และมีเทคนิควิธีการสอนอย่างไร? สอนอะไร? สอนเนื้อหามากไหม? หรือทำโครงการเป็นหลัก? มีใครทำวิจัยเรื่องนี้อยู่บ้างไหมค่ะ เพราะถ้ารู้ได้ก็คงเป็นแนวทางในการพัฒนาครูได้เป็นอย่างดีค่ะ

และเมื่อครูในห้องเรียนสอนได้ดี โรงเรียนกวดวิชาคงไม่จำเป็นอีกต่อไป แต่ก็คงต้องมาหาหนทางกันว่าแล้วครูจะหารายได้เสริมมาดำรงชีวิตอย่างไร เพื่อนดิฉันหลายคนลาออกจากการเป็นครูไปเป็นตัวแทนขายประกัน

แต่อย่างไรดิฉันก็ยังมีประเด็นที่ยังสงสัยก็คือ ครูที่เรียกว่าสอนดีต้องเป็นคุณสมบัติอย่างไร? ต้องจบปริญญาโทเอกไหม? ต้องเป็นคนช่างพูดหรือเปล่า? ต้องมีประสบการณ์ในการสอนไหม?


 

บทความของอาจารย์วิจารณ์ พานิช

พิมพ์ PDF
เป็นเครื่องมือฝึก นศ. ให้มีโลกทัศน์กว้างขวาง มีความเข้าใจความรู้ที่ซับซ้อน ไม่ชัดเจน และไม่แน่นอน

 

ครูเพื่อศิษย์ส่งเสริมให้ศิษย์สนุกกับการเรียน  : 32. เทคนิคดึงความสนใจ นศ.  (12) โต้วาที

บันทึกชุดนี้ ได้จากการถอดความ ตีความ และสะท้อนความคิด    จากการอ่านหนังสือ Student Engagement Techniques : A Handbook for College Faculty เขียนโดย ศาสตราจารย์ Elizabeth F. Barkley ในตอนที่ ๓๐ นี้ ได้จาก Chapter 13  ชื่อ Analysis and Critical Thinking    และเป็นเรื่องของ SET 12 : Split-room Debate

บทที่ ๑๓ ว่าด้วยเรื่องการวิเคราะห์และการคิดอย่างมีวิจารณญาณ   ประกอบด้วย ๘ เทคนิค  คือ SET 8 – 15   จะนำมาบันทึก ลรร. ตอนละ ๑ เทคนิค

 

SET 12 โต้วาที

จุดเน้น  : ความร่วมมือ

กิจกรรมหลัก :    การอภิปราย

ระยะเวลา  :  ๑ คาบ

โอกาสเรียน online  : สูง

 

เป็นเครื่องมือฝึก นศ. ให้มีโลกทัศน์กว้างขวาง    มีความเข้าใจความรู้ที่ซับซ้อน ไม่ชัดเจน และไม่แน่นอน

หลังฟังการบรรยาย หรืออ่านกรณีศึกษา    จัด ๒ ฝั่งของห้องเรียน เป็นฝั่งฝ่าย ก   กับฝั่งฝ่าย ข   ให้ นศ. เลือกเองว่าตนจะอยู่ฝ่ายใด   เพื่อโต้วาทีกัน   โดยมีกติกาว่าผลัดกันพูดฝ่ายละคน   เมื่อฝ่ายหนึ่งพูดจบเวลา ก็ชี้ตัวบุคคลของฝ่ายตรงกันข้ามให้เป็นผู้พูด   และมีกติกาให้ย้ายข้างได้โดยสมัครใจ เมื่อได้รับข้อมูลความรู้มากขึ้น จนเปลี่ยนใจ   รวมทั้งอนุญาตให้เดินไปพูดคุยกับเพื่อนได้ทั้งห้อง

 

ขั้นตอนดำเนินการ

  1. ครูหาประเด็นตามเนื้อหาในรายวิชา ที่เป็นข้อโต้แย้งหรือหาข้อยุติที่ชัดเจนไม่ได้    และมีประเด็นโต้แย้งได้เป็น ๒ ค่าย   เหมาะต่อการนำมาเป็นประเด็นโต้วาที   ตั้งชื่อสั้นๆ ให้ดึงดูดความสนใจ   และมีประเด็นโต้แย้งชัดเจน  แต่ก็มีความกว้างยืดหยุ่นเพียงพอที่จะโต้วาทีกันได้สนุก
  2. เตรียมให้ นศ. มีพื้นความรู้เรื่องนั้นเพียงพอ    โดยการบรรยาย หรือมีเอกสารให้อ่าน  หรือมอบหมายให้ นศ. ค้นคว้ามาก่อน
  3. กำหนดกติกา  เช่น นศ. สามารถนำเสนอประเด็นได้เพียงคราวละประเด็นเดียว    หรือกำหนดเวลาให้นำเสนอได้เพียงคนละ ๓ นาที   เป็นต้น   และเลือก นศ. เป็น “ผู้ช่วยกรรมการ” เช่น ทำหน้าที่จับเวลา
  4. อธิบายกติกา พร้อมตอบข้อซักถาม   กำหนดพื้นที่ของฝ่ายเสนอ   พื้นที่ของฝ่ายค้าน
  5. ให้เวลา นศ. คิดสักครู่ แล้วให้แต่ละคนเลือกเดินเข้าสู่พื้นที่ฝ่ายที่ตนเห็นว่ามีน้ำหนักมากกว่า
  6. ให้ฝ่ายเสนอพูดก่อน    จบลงด้วยการชี้ฝ่ายตรงข้าม ๑ คนเป็นผู้พูด
  7. ทำสลับฝ่ายเช่นนี้จนหมดประเด็นที่จะเสนอหรือโต้แย้ง    ครูประกาศยุติการโต้วาที    ให้ นศ. กลับไปนั่งตามปกติ   และอภิปรายเพื่อสรุปประเด็นสำคัญ   รวมทั้งทำความเข้าใจเรื่องการเปลี่ยนใจ หรือเปลี่ยนความคิด

 

ตัวอย่าง

วิชาภาวะผู้นำทางการศึกษา

ศาสตราจารย์ผู้สอนวิชานี้ ได้ทำความเข้าใจเชิงลึกในหลายหลายด้านที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา    เพื่อให้ได้ลับ/ฝึก ความคิดเห็นของตนให้ชัดเจน หรือคมชัด   เพื่อเตรียมเข้าสู่หน้าที่ผู้บริหารโรงเรียน   โดยใช้การเรียนรู้ผ่านการโต้วาที    โดยเตรียมโจทย์จำนวนหนึ่ง เช่น  “โรงเรียนของรัฐควรสอนลัทธิพระเจ้าสร้างโลก คู่ขนานไปกับการสอนวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิต เป็นส่วนหนึ่งของหลักสูตรวิทยาศาสตร์”  “ควรใช้ระบบใบสำคัญจ่าย (voucher) เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้เรียนมีโอกาสเลือก และให้เกิดการแข่งขันระหว่างโรงเรียน”    และหลังการโต้วาที ครูให้ นศ. เขียนเรียงความเพื่อสรุปประเด็นจากมุมมองทั้งสองด้าน และสรุปมุมมองของตนเอง

 

การปรับใช้กับการเรียน online

ทำคล้ายโต้วาทีแบบพบหน้า   ครูเขียนคำอธิบายเหตุผลเป้าหมายของการโต้วาที   กำหนดหัวข้อโต้วาที   และบอกข้อกำหนดต่างๆ   สร้างเวทีโต้วาที online พร้อมกับบอกประเด็นการโต้วาที    แล้วให้ นศ. แต่ละคนบอกเหตุผลด้านเห็นด้วย   เสร็จแล้วให้ บอกเหตุผลที่ไม่เห็นด้วย   แล้วให้ นศ. แต่ละคนเปลี่ยนข้าง    จบแล้วให้ นศ. แต่ละคนเขียนข้อสรุปและสังเคราะห์ พร้อมเพิ่มข้อคิดเห็นส่วนตัว

 

การขยายวิธีการ หรือประโยชน์

·      แทนที่จะเป็นการโต้วาทีทั้งชั้น   อาจปรับเป็นจัดทีม   หรือจัดเป็นคู่ ให้โต้กัน

·      อาจหาหัวเรื่องที่มีประเด็นโต้แย้งกัน ๓ ทางเลือก   จัดโต้วาที ๓ ฝ่าย

·      อาจกำหนดให้ นศ. ค้นคว้ามาล่วงหน้า    เพื่อให้ได้ข้อมูลหลักฐานแน่นแฟ้นขึ้น

·      หลังการโต้วาทีให้ นศ. เขียนเรียงความ ว่าตนชัดเจนขึ้นในประเด็นใดบ้าง   แปลกใจเรื่องอะไรบ้าง เพราะอะไร   เปลี่ยนใจเรื่องอะไรบ้าง เพราะอะไร   ได้รับความรู้ใหม่อะไรบ้าง

 

คำแนะนำ

เทคนิคนี้จะได้ประโยชน์จริงจัง เมื่อนศ. มีพื้นความรู้หรือข้อมูลเรื่องนั้นมากเพียงพอ    จึงควรจัดให้ นศ. เตรียมหาความรู้มาก่อน   พึงป้องกันสภาพที่ นศ. โต้กันด้วยวาทะที่ไร้ความเข้าใจแท้จริง หรืออย่างขาดข้อมูล   คือต้องไม่ใช่โต้วาทีเอามันด้วยวาทะเชือดเฉือนหรือสนุกโปกฮา

ครูพึงเลือกเรื่องสำหรับใช้เครื่องมือนี้ ที่มีมุมมองได้ ๒ ขั้นจริงๆ    และไม่ใช่ขั้วถูก-ผิด

ในกรณีที่ นศ. ย้ายมาอยู่ฟากหนึ่งจนอีกฝ่ายหนึ่งเหลือเพียง ๒ - ๓ คน ครูควรยุติการโต้   และชมเชยฝ่ายข้างน้อยในความกล้าหาญยืนหยัดแม้จะมีแรงกดดัน

การจัดการโต้วาทีที่ได้ผลดี  จะช่วยให้ นศ. ได้เรียนรู้วิธีคิดแบบวิเคราะห์ที่พุ่งเป้า  ลึก  และมีมุมมองที่หลากหลาย    นศ. ควรได้ฝึกให้ความคิดเห็นที่ตรงกันข้ามกับความเห็นของตนเอง    เพื่อฝึกวิธีคิดที่หลุดพ้นจากทัศนคติแบบขั้วตรงกันข้าม หรือขาว-ดำ    ซึ่งจะช่วยเพิ่มความอกทนอดกลั้นต่อความแตกต่าง

ตามปกติ นศ. จะสบายใจที่จะโต้วาทีอยู่ข้างที่ “เป็นพระเอก” ไม่สบายใจที่จะอยู่ฝ่าย “ผู้ร้าย”   ครูต้องสร้างบรรยากาศที่หนุนให้ นศ. สบายใจที่จะอยู่ฝ่ายไหนก็ได้   โดยเข้าใจว่า นี่คือกระบวนการเรียนรู้วิธีคิดเชิงวิเคราะห์

หากประเด็นโต้วาทีเป็นเรื่องใกล้ตัว นศ.  หรือตรงกับยุคสมัย   นศ. ก็จะสนใจมาก

หลังจบการโต้วาทีไปแล้ว    ครูอาจมอบหมายกิจกรรมต่อเนื่อง    เช่นให้เขียนบทวิเคราะห์เรื่องดังกล่าว ยาว ๑ - ๒ หน้า    โดยอาจให้สมมติตัวเองเป็นนักวิเคราะห์นโยบาย ให้แก่ผู้ยกร่างกฎหมาย   หรือเป็นที่ปรึกษาของ ซีอีโอ บริษัท

 

เอกสารค้นคว้าเพิ่มเติม

Frederick PJ. (2002). Engaging students actively in large lecture settings. In Stanley CA (Ed.), Engaging large classes  : Strategies and twchniques for college faculty. Bolton, MA : Anker, pp 62-63.

วิจารณ์ พานิช

๑๘ ต.ค. ๕๕

 

 

 

· เลขที่บันทึก: 506146
· สร้าง: 19 ตุลาคม 2555 05:22 · แก้ไข: 19 ตุลาคม 2555 05:22
· ผู้อ่าน: 39 · ดอกไม้: 3 · ความเห็น: 0 · สร้าง: 1 วัน ที่แล้ว
· สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกัน
 

การบริหารจัดการความขัดแย้งทางความคิด

พิมพ์ PDF
การบริหารจัดการ การโต้แย้งทางความคิด

ได้อ่านบทความของอาจารย์วิจารณ์ พาณิช ทำให้เกิดความคิดต่อยอดเพื่อนำไปใช้เป็นแนวทางในการนำปัญหาความขัดแย้งทางความคิดที่เกิดขึ้นในสังคมประเทศไทย ไปบริหารจัดการให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติ (ทำปัญหาให้เป็นโอกาส)

อยากเห็นการนำแนวความคิดนี้ไปใช้กับเรื่องความขัดแย้งทางความคิดที่เกิดขึ้นจริงในประเทศไทยในปัจจุบัน เช่น 1.เรื่องประกันราคาข้าว 2.เรื่องการประมูล 3 G 3.เรื่องการบริหารจัดการน้ำ 4.เรื่องพลังงานของประเทศ (ปตท ปล้นประชาชน) 5.ความปองดอง 6.ความขัดแย้งทางการเมืองที่กระทบต่อประเทศชาติ 7.ฯลฯ

โดยสามารถจัดให้มีเวทีในการนำเรื่องความคิดเห็นที่ขัดแย้ง มาดำเนินการตามแนวคิดที่กล่าวมา โดยทำในเวทีสถาบันการศึกษา หรือในรายการทีวี หรือในคณะกรรมาธิการในรัฐสภา หรือในเวที workshop ที่หน่วยงานภาครัฐใช้งบประมาณมากมายในการจัดประชุม เสวนา เป็นต้น

( บทความของอาจารย์วิจารณ์ พานิช ด้านล่าง )

เป็นเครื่องมือฝึก นศ. ให้คิดแบบวิเคราะห์อย่างลึก คือให้วิเคราะห์ทั้งสองด้านของข้อโต้แย้ง เพื่อฝึกฝนให้ไม่คิดแบบ ใช่-ไม่ใช่ คือเห็นความซับซ้อนภายในประเด็นหรือเรื่องนั้นๆ นอกจากนั้นการได้ฝึกฟังความเห็นของเพื่อน และแสดงความเห็นของตนเอง เป็นการฝึกทักษะการสื่อสาร

 

ครูเพื่อศิษย์ส่งเสริมให้ศิษย์สนุกกับการเรียน  : 31. เทคนิคดึงความสนใจ นศ.  (11) ข้อโต้แย้งทางวิชาการ

บันทึกชุดนี้ ได้จากการถอดความ ตีความ และสะท้อนความคิด    จากการอ่านหนังสือ Student Engagement Techniques : A Handbook for College Faculty เขียนโดย ศาสตราจารย์ Elizabeth F. Barkley ในตอนที่ ๓๐ นี้ ได้จาก Chapter 13  ชื่อ Analysis and Critical Thinking    และเป็นเรื่องของ SET 11 : Academic Controversy

บทที่ ๑๓ ว่าด้วยเรื่องการวิเคราะห์และการคิดอย่างมีวิจารณญาณ   ประกอบด้วย ๘ เทคนิค  คือ SET 8 – 15   จะนำมาบันทึก ลรร. ตอนละ ๑ เทคนิค

 

SET 11 ข้อโต้แย้งทางวิชาการ

จุดเน้น  : ความร่วมมือ

กิจกรรมหลัก :   การอ่าน การอภิปราย

ระยะเวลา  :  ๑ คาบ

โอกาสเรียน online  : สูง

 

เป็นเครื่องมือฝึก นศ. ให้คิดแบบวิเคราะห์อย่างลึก    คือให้วิเคราะห์ทั้งสองด้านของข้อโต้แย้ง    เพื่อฝึกฝนให้ไม่คิดแบบ ใช่-ไม่ใช่    คือเห็นความซับซ้อนภายในประเด็นหรือเรื่องนั้นๆ    นอกจากนั้นการได้ฝึกฟังความเห็นของเพื่อน และแสดงความเห็นของตนเอง เป็นการฝึกทักษะการสื่อสาร

 

ขั้นตอนดำเนินการ

1.           ครูหาประเด็นตามเนื้อหาในรายวิชา ที่เป็นข้อโต้แย้งหรือหาข้อยุติที่ชัดเจนไม่ได้   รวมทั้งจะช่วยสร้างมุมมองที่แตกต่าง    เป็นเรื่องที่น่าสนใจสำหรับ นศ.    แต่ก็ไม่สร้างความขัดแย้งหรืออารมณ์รุนแรงเกินไปในกลุ่ม นศ.

2.           เขียนเรื่องขึ้นเป็นกรณีศึกษา    พิมพ์สำเนาลงกระดาษต่างสี    พร้อมคำสั่งหรือแนวทางให้ นศ. ดำเนินการ    เพื่อแจกให้ นศ. ซึ่งแบ่งออกเป็น ๒ สี สมมติว่า สีเขียว(กำหนดให้สีเขียวมีจุดยืนหนึ่งตามในกรณีศึกษา)    กับ สีน้ำเงิน ซึ่งกำหนดให้มีจุดยืนตรงกันข้าม

3.           แบ่ง นศ. ออกเป็น ๒ สี เท่าๆ กัน    แจกเอกสารกรณีศึกษา และบอกให้ นศ. แต่ละคนอ่านเรื่อง และกำหนดความเห็นของตนเองไว้

4.           ให้ นศ. จัดกลุ่ม กลุ่มละ ๔ คน   แต่ละกลุ่มมีสีเขียว ๒ คน   สีน้ำเงิน ๒ คน

5.           ให้ นศ. ในแต่ละกลุ่มจับคู่สีเดียวกัน  ระดมความคิดกันเพื่อหาข้อสนับสนุนจุดยืนตามที่ได้รับมอบตามสี   ใช้เวลา ๒ - ๓ นาที

6.           ให้ นศ. แยกกลุ่ม เดินไปหาเพื่อนสีเดียวกันในห้อง เพื่อแลกเปลี่ยนความเห็นกัน    โดยมีเป้าหมายรวบรวมข้อคิดเห็นสำหรับสนับสนุนจุดยืนตามสีของตน

7.           นศ. กลับมารวมกลุ่ม ๔ คนอย่างเดิม   (ตามข้อ 4)

8.           ให้คู่สีเขียวนำเสนอจุดยืนของตน   คู่สีน้ำเงินฟังโดยไม่พูดอะไร

9.           ให้คู่น้ำเงินซักถามเพื่อความกระจ่าง    แล้วให้คู่น้ำเงินนำเสนอ  คู่เขียวฟัง   หลังจากนั้นคู่เขียวซักถาม

10.      ให้เปลี่ยนข้างจุดยืน  โดยมีเวลาเตรียมคิดสักครู่   แล้วอภิปรายโต้แย้งกัน

11.      หลังจากนั้น ขอให้ทีม ๔ คนอภิปรายหาข้อยุติหรือฉันทามติใน ๔ คน

12.      จัดให้อภิปรายร่วมกันในชั้น   โดยให้ทีม ๔ คน ที่เลือกข้างความเห็นสีเขียวยกมือ   และให้ทีมที่เลือกสีน้ำเงินยกมือ    ให้ นศ. ที่เปลี่ยนความเห็นอธิบายว่าทำไมตนจึงเปลี่ยนใจ

 

ตัวอย่าง

วิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ

ศาสตราจารย์ผู้สอนวิชานี้ กำหนดให้ นศ. ถกเถียงกันว่า “ใครเป็นเจ้าของอดีต”   โดยครูบรรยายสั้นๆ ว่าในปัจจุบันพิพิธภัณฑ์ต่างๆ ถูกกดดันให้คืนสิ่งของต่างๆ ในพิพิธภัณฑ์   กลับไปให้แก่ประเทศที่เป็นแหล่งกำเนิดของสิ่งของเหล่านั้น    ด้วยเหตุผลว่ามีการเอามาจากประเทศต้นกำเนิดอย่างไม่ถูกต้อง    ประเทศต้นกำเนิดอารยธรรมโบราณ เช่น กรีซ  จีน  อียิปต์  อิตาลี  จอร์แดน  อิหร่าน  เตอรกี  ปากีสถาน  อ้างว่าสิ่งของเหล่านี้เป็นสมบัติของชาติ   ที่ช่วยแสดงเอกลักษณ์ของชาติในโลกสมัยใหม่    แต่ภัณฑารักษ์ นักประวัติศาสตร์ และคนในประเทศตะวันตก อ้างว่าสิ่งของเหล่านั้นเป็นสมบัติของมนุษยชาติ    ที่ควรจะได้นำมาจัดแสดงเพื่อการเรียนรู้อารยธรรมมนุษย์ ที่ก้าวข้ามพรมแดนรัฐชาติ

ครูจึงใช้เครื่องมือ “ข้อโต้แย้งทางวิชาการ” เพื่อให้ นศ. ได้ทำความเข้าใจรายละเอียด   และฝึกคิดวิเคราะห์อย่างลึกซึ้ง

 

การปรับใช้กับการเรียน online

เทคนิคคล้าย Academic Controversy  ที่มีการพัฒนาสำหรับเรียน online ชื่อ “Progressive Project”   วิธีการคือ   ครูเสนอรายชื่อประเด็น ให้ นศ. เลือก ๑ ประเด็น   แล้วให้ นศ. จับคู่ ระหว่าง นศ. ก  กับ นศ. ข    เริ่มโดย นศ. อ่านเอกสาร   แล้ว นศ. ก เขียนเหตุผลสนับสนุน ๓ ข้อ ส่งให้ นศ. ข    แล้ว นศ. ข เขียนเหตุผลค้าน ๓ ข้อ   แล้วส่งครู    ครูส่งผลงานนี้ไปยัง นศ. อีกคู่หนึ่ง ให้ประเมินจุดแข็งจุดอ่อนของเหตุผลสนับสนุนและเหตุผลค้าน   ส่งกลับให้ครู (Conrad RM, Donaldson JA. (2004). Engaging the online learner : Activities and resources for creative instruction. San Francisco : Jossey-Bass.)

 

การขยายวิธีการ หรือประโยชน์

แทนที่จะให้ นศ. กลุ่ม ๔ คน หาข้อฉันทามติด้านเขียวหรือด้านน้ำเงิน    เปลี่ยนเป็นให้หาทางสร้างฉันทามติใหม่ ที่เป็นการรอมชอมระหว่างสองขั้ว

 

คำแนะนำ

การให้ นศ. โต้แย้งจากมุมที่ต่างกันทั้งสองมุม ช่วยให้ นศ. ได้ฝึกติดจากต่างมุม   โดยไม่ถูกแรงกดดันจากความคิดแบ่งขั้วในสังคม

 

ข้อคิดเห็นของผม

น่าจะดัดแปลงวิธีการข้างต้น    ให้ นศ. ไปค้นหาข้อมูลหลักฐานเกี่ยวกับข้อโต้แย้งเรื่องนั้นเพิ่มเติมจากในเอกสารกรณีศึกษาของครู   ก็จะทำให้ นศ. ได้ฝึกค้นคว้า   และจะทำให้ได้ฝึกการวิเคราะห์ในมิติที่ซับซ้อนและลึกยิ่งขึ้น

 

เอกสารค้นคว้าเพิ่มเติม

Jacobson D. (2002). Getting students in a technical class involved in the classroom. In Stanley DA (Ed.), Engaging large classes : Strategies and techniques for college faculty.  Bolton, MA : Anker, pp. 214-216.

วิจารณ์ พานิช

๑๗ ต.ค. ๕๕

 

เรียนรู้ตลอดชีวิต บทความของคุณวัฒนา คุณประดิษฐ์

พิมพ์ PDF

Constructivism  กับ  การศึกษาตามอัธยาศัย การศึกษาตลอดชีวิต

Constructivism  คือ ลัทธิการศึกษาที่ให้ความสำคัญกับสร้างองค์ความรู้ 
การศึกษาตามอัธยาศัยมีแนวโน้มในการเป็นลัทธิการศึกษาแนวสร้างองค์ความรู้.
ซึ่งก็แตกต่างอย่างสุดขั้วจากลัทธิการศึกษาอีกประเภทหนึ่ง  คือ ลัทธิท่องจำคำตอบ
แล้วเอาไปสอบอย่างสิ้นเชิง

สมมุติฐานของความรู้และองค์ความรู้  มาจากความรู้  ตัวความรู้ ข้อเท็จจริง
ก็มาจากประสาทสัมผัสทั้งห้า  ทั้งรูป แสง สี  รส กลิ่น สัมผัส  นำเอามาปรุงแต่ง
เป็นการจัดประเภท สร้างเรื่องราว  สร้าง หลักการ กฎ  และการอธิบาย 
การกระทำต่อความรู้เช่นจัดประเภท สร้างเรื่องราว หลักการ กฎ และคำอธิบาย
นั่นแหละคือการสร้างองค์ความรู้

การสร้างองค์ความรู้ มีสิ่งสำคัญในการสร้างอย่างหนึ่งก็คือ ตรรกะและระบบความคิด
ตรรกะและระบบความคิด มีอยู่สองอย่าง คือ นิรนัย และ อุปนัย 
นิรนัย (Deductive) ก็คือตรรกะการให้เหตุผล ที่ร้อยเรียงความรู้มาจาก กฎ หลักการ  ที่รับรู้มาก่อนแล้ว
เพียงแต่เรียบเรียงให้สอดคล้องกับ กฎ ความรู้ หลักการ เหล่านั้น
อุปนัย (Inductive)  ก็คือตรรกะ การให้เหตุผล ที่เกิดจากการสร้าง กฎ หลักการ จากข้อเท็จจริง
โดยเรียบเรียงจากข้อเท็จจริง

ตรรกะแบบนิรนัย ส่วนใหญ่  เป็นความรู้สำเร็จรูปที่กำหนดเป็นความจริงขึ้นมา  การท่องจำกฎ
หลักการ ที่เชื่อว่าเป็นจริง  ถือว่าปลอดภัยเพราะหลักการเหล่านี้ได้ถูกกลั่นกรองโดยนักวิชาการ
แต่ไม่มีองค์ความรู้ใหม่   ในแต่ละบริบท  ตรรกะชุดนี้ยึดความจริงสูงสุดของอำนาจที่กำหนด
จากหลักสูตร  ไม่ให้ความสำคัญของคนหรือผู้เรียนรู้  ผู้เรียนรู้อยู่ในฐานะของ Object

ตรรกะแบบอุปนัย  ใช้วิธีการเรียบเรียงข้อเท็จจริง  เข้าไปสู่ หลักการ กฎ  วิธีการเหล่านี้จะพบว่า
มีหลักการ กฎที่หลากหลาย  เนื่องจากมีองค์ความรู้และวิธีการที่แตกต่างตรงบริบท และเน้นความสำคัญ
และให้ความสำคัญของมนุษย์  และสถาปนามนุษย์ให้อยู่ในฐานของ Subject

ยกตัวอย่างองค์ความรู้ทางการเกษตรแผนใหม่ผ่านระบบการศึกษา  เน้นการจัดการเกษตรเชิงเดี่ยวแบบ
พึ่งพา  ปุ๋ย ยาฆ่าแมลง และเทคโนโลยที่จะซื้อ  ไปสู่ระบบการจัดการฟาร์ม  ด้วยหลักวิทยาศาสตร์
จัดการทำต้นทุน กำไร ขาดทุน แบบการบริหารธุรกิจ  ความเป็นจริงแบบนี้ได้ถูกสร้างโดยนักวิชาการ
ที่จบการศึกษาจากต่างประเทศ  ที่ได้เรียนรู้ระบบเกษตรแบบปฏิวัติเขียว เขาจึงนำมาเขียนหลักสูตร

ส่วนอีกองค์ความรู้หนึ่ง  มาจากเกษตรกรที่สังเกตวิถีชีวิตของตนเอง  ว่าทำอะไรก็เป็นหนี้สินเพราะอะไร
เกิดการคิดวิเคราะห์ออกมา และทดลองการผลิตแบบใหม่ที่ไม่พึ่งพาตลาด  พึ่งพาตนเอง  ผลของการค้นคิด
ทำให้เกิดคุณภาพชีวิตของการพึ่งพาตนเอง  อันเกิดจากการคิดจากขอ้เท็จจริงที่มีอยู่  และสรุปลงเป็น
ทฤษฎีว่า  ถ้าใช้การผลิตแบบเดิมพึ่งพาตลาด จะต้องชอกช้ำใจ  และเป็นหนี้ตลอดกาล  หากผลิตการเกษตร
แบบพึ่งพาตนเอง ก็จะมีซุปเปอร์มาเก็ตอยู่ในสวนของตนเอง 

ความล่มจมของเกษตรกรไทย มาจากวิธีแบบไหน คงจะสรุปเป็น กฎและทฤษฎีได้
แต่เนื่องจากความพยายามของนายทุนบรรษัทข้ามชาติ ทำให้ระบบเกษตรแบบพึ่งพา
ได้สนับสนุนและถูกชื้อตัวจากการหลอกไปแลกแจกกระดาษ  ตลอดจนการทำให้เกิดหลักสูตร
ที่พึ่งพาการใข้ปุ๋ย และยาฆ่าแมลง  ผ่านการส่งเสริมของหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง
กับการเกษตร  เพื่อให้เกษตรกรของเราเป็นผู้บริโภคปุ๋ย ยาฆ่าแมลง และปัจจัยการผลิต
ราคาแพง  ด้วยการจูงใจด้วยกำไรที่เป็นตัวเงิน ซึ่งก็ถูกกำหนดโดยกลไกของการตลาด
ที่มีพ่อค้าคนกลางได้รับผลประโยชน์สูงสุด

การศึกษาตามอัธยาศัย และการเรียนรู้ตลอดชีวิตของขบวนการปราชญ์ชาวบ้านอีสาน
เป็นไปในรูปแบบของการสร้างองค์ความรู้ จากปรากฎการณ์  ที่เป็นอยู่  ทำให้หลุดพ้น
จากการเป็นหนี้ และมีคุณภาพชีวิตที่มีอยู่  และปรากฎการณ์สำคัญอีกปรากฎการณ์หนึ่ง
คือปรากฏการณ์หมอเขียว  หมอเขียวทำงานสาธารณสุข ได้สังเกตว่า วิธีวิทยาทางการแพทย์
ส่วนใหญ่เฉพาะโรคเรื้อรัง ไม่สามารถแก้ไขปัญหาของคนป่วยไข้ได้  หมอเขียวจึงได้พยายาม
หาวิธีการรักษาแบบพึ่งพาตนเอง ไม่พึ่งพาหมอ  ด้วยการทดลองทุกอย่างด้วยตนเอง และ
รักษาคนรอบข้าง  จนเกิดทฤษฎีแบบหมอเขียว ทฤษฎีสมดุลร้อนเย็น สมัยใหม่  การสร้าง
องค์ความรู้แบบนี้ทำให้คนหันมาพึ่งพาตนเอง  เป็น Super Constructivism  ที่มีปรากฎการณ์
ที่เห็นได้ สัมผัสได้  ได้ผลจริง

สรุปแล้วว่า Constructivism อยู่คู่ กับ การเรียนรู้ตลอดชีวิต  การศึกษาตามอัธยาศัย
ชนิดแยกออกจากกันไม่ออก  เพียงแต่ถูกกีดกัน  ลดบทบาท  ไม่ให้คนได้พึ่งพาตนเองได้
ก็เท่านั้นเอง

 

คำสำคัญ (keywords): เรียนรู้ตลอดชีวิต
· เลขที่บันทึก: 506163
· สร้าง: 19 ตุลาคม 2555 09:51 · แก้ไข: 19 ตุลาคม 2555 09:51
· ผู้อ่าน: 11 · ดอกไม้: 1 · ความเห็น: 1 · สร้าง: ประมาณ 1 ชั่วโมง ที่แล้ว
· สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกัน
 

บทความของอาจารย์วิจารณ์ พานิช เทคนิคช่วยความจำ

พิมพ์ PDF
นี่คือเทคนิคช่วยความจำแก่ นศ. ในเนื้อหาส่วนที่ต้องจำ เช่นคำศัพท์ ข้อเท็จจริงบางเรื่อง ปีของเหตุการณ์ ชื่อบุคคล เป็นต้น

ครูเพื่อศิษย์ส่งเสริมให้ศิษย์สนุกกับการเรียน  : 26. เทคนิคดึงความสนใจ นศ.  (6) เกม “ทีมเป็นหรือตาย”

บันทึกชุดนี้ ได้จากการถอดความ ตีความ และสะท้อนความคิด    จากการอ่านหนังสือ Student Engagement Techniques : A Handbook for College Faculty เขียนโดย ศาสตราจารย์ Elizabeth F. Barkley ในตอนที่ ๒๓ นี้ ได้จาก Chapter 12  ชื่อ Knowledge, Skills, Recall, and Understanding    และเป็นเรื่องของ SET 6 :  Team Jeopardy

 

SET 6 เกม “ทีมเป็นหรือตาย”

จุดเน้น  : ความร่วมมือ

กิจกรรมหลัก :   อภิปราย

ระยะเวลา  :  ๑ คาบ

โอกาสเรียน online  : ต่ำ

 

นี่คือเทคนิคช่วยความจำแก่ นศ. ในเนื้อหาส่วนที่ต้องจำ   เช่นคำศัพท์  ข้อเท็จจริงบางเรื่อง  ปีของเหตุการณ์  ชื่อบุคคล    ชื่อเกม Team Jeopardy นั้น ศ. เอลิซาเบธ เอามาจากรายการทีวี Jeopardy!   หากครูท่านใดจัดเกมนี้ให้ นศ. เล่น ก็ตั้งชื่อให้โดนใจได้ตามบริบทของ นศ. ของท่านเอง

นศ. เล่นแข่งขันกันเป็นทีม   แต่ละทีมหมุนเวียนกันเลือกคำถามในชนิดคำถามของรอบนั้น ปรึกษากันแล้วตอบ

คำถามในสลากเป็นเรื่องราวในวิชาที่เรียน    โดยเขียนในรูปของคำตอบ   เช่นวิชาประวัติศาสตร์ไทย ชั้น ป. ๔   สลากใบหนึ่งเขียนว่า “พระมหากษัตริย์ผู้ก่อตั้งกรุงศรีอยุธยาเป็นเมืองหลวง”   คำตอบคือ พระเจ้าอู่ทอง    สลากอีกใบหนึ่งเขียนว่า  “พ.ศ. ที่กรุงศรีอยุธยาตกเป็นเมืองขึ้นของพม่าครั้งที่ ๑”   คำตอบคือ ๒๑๑๒

 

ขั้นตอนดำเนินการ

  1. เลือกเครื่องมือเล่นเกม   เช่น ฉายคำถามขึ้นจอ   หรืออย่างอื่น
  2. คิดชนิดของคำถาม ว่าจะมีชนิดใดบ้าง   เช่น คน  สถานที่  เหตุการณ์  วันที่  พ.ศ.  สิ่งของ เป็นต้น   กำหนดว่าจะให้มีกี่คำถามในแต่ละชนิดคำถาม   จะให้มีการแข่งขันกี่รอบ
  3. ทำตารางสำหรับฉายขึ้นจอ   บอกชนิดของคำถาม  และคะแนนสำหรับคำถามหากตอบถูก   เช่นตัวอย่างข้างล่าง

 

ชนิดที่ ๑

ชนิดที่ ๒

ชนิดที่ ๓

ชนิดที่ ๔

ชนิดที่ ๕

๑๐

๑๐

๑๐

๑๐

๑๐

๑๕

๑๕

๑๕

๑๕

๑๕

๒๐

๒๐

๒๐

๒๐

๒๐

๒๕

๒๕

๒๕

๒๕

๒๕

 

  1. เตรียมคำถามสำหรับแต่ละชนิดของคำถาม เรียงลำดับยากง่าย    และกำหนดคะแนนสำหรับแต่ละคำถาม
  2. กำหนดวิธีขอเช้าแข่ง    วิธีที่ง่ายที่สุดคือ ให้หัวหน้าทีมยกมือและร้องว่า “พร้อม”
  3. กำหนดกติกาการเล่น   ซึ่งมีความหลากหลายได้มาก   ตัวอย่างกติกาดังข้างล่าง

-               แต่ละทีมมีหัวหน้าทีม ใช้เวลาไม่เกิน ๓๐ วินาทีเลือกคำถามตามในตาราง (เช่น ชนิดที่ ๑ ช่อง ๒๕ คะแนน)

-               ทีม ก เริ่มเล่น   ครูอ่านคำถาม  ทีม ก มีเวลาปรึกษากัน ๑ นาที และแจ้ง “พร้อมตอบ”

-               เมื่อทีม ก แจ้งพร้อมตอบ  หัวหน้าทีมมีเวลา ๓๐ วินาที ในการตอบ ต่อเพื่อนทั้งชั้น

-               หากตอบถูก ทีม ก ได้คะแนนตามที่ระบุไว้    และทีม ข จะเป็นผู้เล่นต่อไป

-               หากตอบผิด  ทีม ก ได้ ๐ คะแนน   และทีม ข ได้โอกาสตอบ   หากทีม ข ตอบถูก  ก็จะได้คะแนนของข้อนั้น   และได้โอกาสเลือกเล่นคำถามอีก ๑ ข้อ

-               หากตอบไม่ได้ในเวลาที่กำหนด   ทีมนั้นไม่ได้คะแนนของข้อนั้น   และทีมต่อไปได้โอกาสตอบ    หากตอบถูก ได้โอกาสเลือกตอบอีกข้อหนึ่ง

-               เมื่อเล่นจบ ทีมที่ได้คะแนนสูงสุดได้ที่ ๑, ๒, ๓ ตามลำดับ   หากคะแนนเท่ากัน มีการแข่งตัดเชือก

-               สมาชิกของทีมที่ได้ที่ ๑ ได้คะแนนสะสม ๕๐ แต้ม   ที่ ๒ ได้ ๓๐   ที่ ๓ ได้ ๑๐

 

  1. แบ่ง นศ. ในชั้นเป็นทีม ทีมละ ๕ - ๖ คน   และให้เลือกหัวหน้าทีม ๑ คน เป็นผู้ขอเข้าแข่ง   เลือกคำถาม  และตอบคำตอบหลังปรึกษากันในทีม
  2. เขียนกติกา  ติดประกาศไว้ในชั้น   และทำความเข้าใจกับ นศ.   รวมทั้งตอบคำถามจนเข้าใจทั่วกัน
  3. จับฉลากว่าทีมไหนเล่นก่อน
  4. เริ่มเล่น  ดำเนินตามกติกา
  5. กาช่องคำถามที่ถูกเลือกแล้ว
  6. จัดให้มีแผ่นกระดาษติดประกาศคะแนนของแต่ละทีม

 

ตัวอย่าง

วิชา ประวัติศาสตร์อเมริกัน

ครูใช้การเล่นเกมช่วยทบทวนสาระ ๑ สัปดาห์ก่อนสอบกลางเทอม  และก่อนสอบปลายเทอม   โดยในวันก่อนเล่นเกม ครูแจกคู่มือทบทวนสาระของวิชา ว่าสาระประกอบด้วยความรู้ในชนิดใดบ้าง    นศ. บอกว่าชอบการทบทวนโดยเล่นเกมมาก   และผลสัมฤทธิ์ของการเรียนของ นศ. ดีขึ้นกว่าเดิม

 

การปรับใช้กับการเรียน online

จัดไม่ได้

 

 

การขยายวิธีการ หรือประโยชน์

  • อาจเปลี่ยนรูปแบบของคำถาม  เช่นแทนที่จะถามด้วยคำตอบ ก็ใช้คำถามธรรมดา
  • เพื่อช่วย นศ. Visual learner  หรือ นศ. ต่างชาติที่ไม่เก่งภาษาที่ใช้ในชั้นเรียน   ฉายคำถามขึ้นจอ แทนครูอ่าน
  • อาจตั้งคำถามชนิดที่ต้องใช้ความคิดซับซ้อน  หรือให้แก้ปัญหา   โดยให้เวลาคิดเพิ่มขึ้น
  • อาจซ่อน “คำถามคะแนนพิเศษ” ที่จะได้แก่ทีมที่บังเอิญเลือก    เพื่อสร้างความตื่นเต้น
  • ไม่ควรมีคะแนนติดลบ   เพราะจะสร้างความกังวลแก่ นศ. โดยใช่เหตุ
  • อาจให้ นศ. ผลัดกันทำหน้าที่จัดเกม
  • มีเว็บไซต์ www.learningware.com มี ซอฟท์แวร์สำหรับสร้างเกม   และแนะนำวิธีใช้ online
  • อาจดัดแปลงได้อีกมากมาย

คำแนะนำ

  • การเล่นเกมเป็นหรือตายเหมาะมากในวิชาที่มีสาระที่ต้องจำมาก    ไม่ค่อยเหมาะแก่วิชาที่เน้นการคิด
  • อย่าลืมจัดให้มีคู่มือการเรียน เพื่อให้ นศ. เตรียมตัว
  • ใช้ นศ. เป็น “ ผู้ช่วยพิธีกร”
  • การเล่นเกมนี้ เน้นการทำงานเป็นทีมหรือช่วยเหลือกัน   ดังนั้น ครูน่าจะสร้างกติกาอนุญาตให้ทีมขอความช่วยเหลือจากเพื่อนในชั้นได้
  • อย่าลืมมีกติกาลงโทษ นศ. ที่ป่วนเกม หรือขี้โกง

 

เอกสารค้นคว้าเพิ่มเติม

Yaman D, Covington M. I’ll take learning for 500 : Using game shows to engage, motivate, and train. San Francisco : Pfeiffer, pp. 47-49.

วิจารณ์ พานิช

๑๒ ต.ค. ๕๕

 


หน้า 523 จาก 561
Home

About Us

ศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ (ศบม.) เป็นองค์กรที่พัฒนาและจัดทำโครงการเพื่อทำประโยชน์ให้สังคม เป็นองค์กรสนับสนุนการดำเนินงานของภาครัฐ ช่วยแก้ปัญหาผู้ประกอบการภาคธุรกิจบริการที่ขาดแคลนบุคลากรที่มีมาตรฐานในการให้บริการ
อ่านเพิ่มเติม

มูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ ์

 iHDC Profile
บัญชีรายชื่อกรรมการ
ใบสำคัญแสดงการจดทะเบียน การเปลี่ยนแปลงกรรมการของมูลนิธิ
เอกสารประชาสัมพันธ์ โครงการ HMTC.pdf
เอกสารแนะนำโครงการ HMTC 1.pdf
เอกสารโครงการ HMTC 2 คุณสมบัติผู้เข้าร่วมโครงการ.pdf
iHDC นิติบุคคล.pdf
iHDC บุคคล.pdf
iHDC บุคคลเครือข่าย.pdf
รายงานการประชุม 6 มีนาคม 2560.pdf
ข้อบังคับมูลนิธิ
ใบสำคัญแสดงการจดทะเบียนจัดตั้งมูลนิธิ
Ihdc-Profile and Roadmap 2016-2019 Mar 23 2560.pdf
รายงานการประชุมใหญ่คณะกรรมการมูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ 2559.pdf
คำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ สาขาวิชาชีพ.pdf
รายงานการประชุมใหญ่วันที่ 18 ธ ค 2558 v 3.pdf
รายงานการประชุม วันที่ 24 ธันวาคม 2557 updated 4 มีนาคม 2558.pdf
iHDC-invitation Letter.doc
iHDC-Member Form Thai.doc
iHDC-Member Form English.doc
รายงานการประชุมกรรมการมูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ วันที่ 15 มกราคม 2556 ฉบับสมบูรณ์


thaibetter
พัฒนาประเทศไทยแบบทวีคูณ และยั่งยืน ( ททค )

Login


แบบสำรวจ

สถิติเว็บไซด์

สมาชิก : 5642
Content : 3067
เว็บลิงก์ : 26
จำนวนครั้งเปิดดูบทความ : 8740712

facebook

Twitter


ล่าสุด

บทความเก่า