Thaiihdc.org

  • เพิ่มขนาดตัวอักษร
  • ขนาดตัวอักษรปกติ
  • สดขนาดตัวอักษร
Thaiihdc.org

การสืบสันตติวงศ์ ร๕ -ร๑๐

พิมพ์ PDF

 

ที่มารากฐานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์

พิมพ์ PDF

 

ประชาธิปไตยสายตรง (๓) ประชาธิปไตยทางตรงของสวิส

พิมพ์ PDF

#ประชาธิปไตยสายตรง (๓)

#ประชาธิปไตยทางตรงของสวิส

สวิตเซอร์แลนด์หรือสวิส มีประชากรอยู่ 8.5 ล้านคน มีประวัติศาสตร์เก่าแก่ 700 ปี ประมาณประวัติศาสตร์ไทยนับแต่สมัยพ่อขุนรามคำแหงแห่งอาณาจักรสุโขทัย มีขนาดประมาณครึ่งหนึ่งของภาคเหนือของไทย แต่รายได้ต่อหัวสูงอันดับต้นๆ ของโลก มากกว่าไทยสิบกว่าเท่า

สวิสมีหลายเชื้อชาติและภาษา หลักๆ คือเยอรมัน (62%) ฝรั่งเศส (23%) อิตาเลียน (8%) และอีกประมาณ 0.5% พูดภาษาโรมันช์ ภาษาเก่าแก่ท้องถิ่นทางใต้ อย่างไรก็ดี สวิสมีคนต่างชาติอาศัยอยู่ถึง 2 ล้านคน หรือประมาณ 25% ของประชากร ทั้งแบบถาวรอย่างแรงงานที่มาทำงานหลายสิบปี หรือมาทำงานในองค์การระหว่างประเทศ หรือผู้อพยพ

สวิสเป็น “ประเทศ” ในระบอบสหพันธรัฐเมื่อปี 1848 หรือเมื่อ 172 ปีมานี่เอง โดยประกอบด้วย 26 เขตปกครอง (canton) หรือประมาณ “จังหวัด” ของบ้านเรา มี 2,222 เทศบาล

สวิสมีรัฐบาลกลางที่ประกอบด้วย 7 คน เป็นผู้แทนจากพรรคการเมืองที่ได้รับเลือกจากประชาชนทุก 4 ปี ใน 7 คนนี้จะเวียนกันเป็นประธานทุกปี เราจึงไม่ค่อยได้ยินว่าใครเป็นประธานาธิบดี เป็นนายกรัฐมนตรีของสวิส เป็นการปกครองที่ “รัฐบาล” มีอำนาจและมีเสียงน้อยที่สุดในโลกก็ว่าได้ เพราะยกอำนาจไปให้ “ประชาชน” และ “จังหวัด” เกือบหมด

ที่สวิส ประชาชนมีการโหวตปีละ 4 ครั้งในระดับประเทศ โดยไปลงคะแนนในข้อเสนอประมาณ 15 เรื่อง  ส่วนในระดับจังหวัดและระดับเทศบาลนั้นอีกมากมายนับไม่ถ้วน ประหนึ่งว่าเป็น “ส.ว.” กันทุกคน ที่จะต้องร่วมตัดสินใจในกฎหมายกฎเกณฑ์ของการอยู่ร่วมกัน แต่คนสวิสก็ให้ความเคารพต่อเสียงส่วนน้อย ประชาธิปไตยไม่ใช่ “ซีโร่ซัมเกม” ที่ผู้ชนะเอาหมด

 

ประชาธิปไตยทางตรงแบบสวิส บางครั้งก็เรียกว่า กึ่งทางตรง (semi-direct democracy) เพราะมีรัฐสภา มีส.ส.ที่ได้รับเลือกด้วย แต่ก็มีการแบ่งหน้าที่กัน เพียงแต่อำนาจสุดท้ายต้องให้ประชาชนมีส่วนร่วมตัดสินใจหรือ “รับรอง” ประมาณว่า ประชาชนทุกคนเป็น “ส.ว.” กันหมด “สภาประชาชน” จึงคล้าย “วุฒิสภา” ที่ทำหน้าที่รับรองกฎหมายต่างๆ และเสนอได้ด้วย

ประชาธิปไตยทางตรงของสวิสมีเครื่องมือสำคัญ คือ การลงประชามติ ซึ่งมี 3 แบบ คือ แบบบังคับ, แบบการริเริ่มของประชาชน, และแบบเลือกได้  ถ้ามีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ทุกคนต้องไปลงประชามติ การเรียกร้องแก้ไขรัฐธรรมนูญสามารถทำได้โดย “การริเริ่มของประชาชน” ที่ต้องรวบรวมรายชื่อผู้เห็นด้วยให้ได้ 100,000 คนภายใน 18 เดือน  นอกนั้นมีประเด็นอื่นๆ ที่ภาคประชาชนรวบรวมรายชื่อ 50,000 คน และ 8 จังหวัดเห็นด้วย สามารถเสนอเพื่อให้มีการลงประชามติในระดับชาติได้ เช่น เมื่อปี 2016 มีประเด็นเรื่อง “รายได้พื้นฐานถ้วนหน้า” (UBI) ที่ประชาชนร้อยละ 77% ลงมติไม่เห็นด้วย  หรือการเสนอให้ออกกฎหมายให้คนงานมีเวลาพัก 6 สัปดาห์ต่อปี ก็ตกไปเช่นเดียวกัน หรือ อาจเรียกร้องให้มีการแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวกับประเทศอื่นๆ ก็ได้ เช่น เมื่อไม่นานมานี้ ที่มีการเสนอให้ยกเลิก “พรมแดนเปิด” กับประเทศอียู สวิสไม่ใช่สมาชิกของอียู แต่มีข้อตกลงหลายอย่างร่วมกัน อย่างการทำวีซ่า การผ่านแดนอิสระกับประเทศอียู ซึ่งคนสวิสส่วนหนึ่งเห็นว่า ข้อตกลงนี้ทำให้เกิดปัญหาผู้อพยพที่ไม่อาจควบคุมได้ แต่ผลการลงประชามติ คนสวิสส่วนใหญ่อยากให้คงเดิม เพราะได้ประโยชน์กับคนสวิสเองมากกว่า ที่ไปศึกษาไปทำงานอยู่ในประเทศอียูหลายแสนคน การเสนอของประชาชนให้มีการตรากฎหมายที่ผ่านมาร้อยกว่าปีมีอยู่ 180 ครั้ง ปรากฎว่า มีเพียง 78 เรื่องเท่านั้นที่ประสบความสำเร็จ คือ ได้รับการรับรองจากประชาชนส่วนใหญ่ที่ลงมติเห็นชอบ  การลงประชามติของสวิสมีคนออกไปหย่อนบัตรไม่ถึงครึ่ง (ประมาณร้อยละ 48) แต่การวิจัยพบว่า ประชาชนคนสวิสพอใจกับระบอบประชาธิปไตยทางตรงเช่นนี้ และงานวิจัยที่เกี่ยวกับปราะชาธิปไตยในโลกบอกว่า เปอร์เซนต์การออกไปลงคะแนนไม่ได้วัดความเป็นประชาธิปไตยเสมอไป เพราะการไปลงคะแนนต่ำอาจหมายถึงประชาชนพอใจในสภาพที่เป็นอยู่ พอใจในการมีสิทธิมีเสียง อย่างกรณีสวิส ความจริง การลงประชามติหรือประชาธิปไตยทางตรงเป็นประเพณีที่ทำกันมากว่า 700 ปี ในบาง “จังหวัด” ก่อนจะเป็นระดับสหพันธรัฐ ปัจจุบันนี้มีการลงประชามติในแต่ละจังหวัดแตกต่างกันไป บางแห่งมากบางแห่งน้อย รวมไปถึงการลงมติในระดับเทศบาล ที่มีกระบวนการตามมาตรฐานของเขา (คงแตกต่างจาก การทำประชาคมตามหมู่บ้าน หรือตามอบต. เทศบาลของไทยเรา)

ตัวอย่างประเด็นที่มีการลงประชามติในระดับชาติ เช่น การห้ามสร้างสถานีนิวเคลียร์  การก่อสร้างทางรถไฟใหม่ในเทือกเขาแอลป์ รัฐธรรมนูญใหม่ การควบคุมการอพยพ การยกเลิกกองทัพ การเข้าร่วมสหประชาชาติ การลดชั่วโมงทำงาน  การเปิดตลาดไฟฟ้า เป็นต้น

แม้ว่าประชาธิปไตยทางตรงของสวิสจะได้รับคำชมจากทั่วโลก และเป็นโมเดลที่หลายประเทศอยากนำไปใช้ แต่คงทำไม่ได้ทั้งหมด เพราะมีประวัติศาสตร์ ความเป็นมา ภูมิรัฐศาสตร์และบริบททางสังคมวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน

แต่ประชาธิปไตยทางตรงจุดอ่อนเช่นเดียวกัน หนึ่งในนั้น คือ ทำให้พรรคการเมืองอ่อนแอ เพราะไม่ได้มีอำนาจเหมือนในประเทศประชาธิปไตยทั่วไป สภา ส.ส.ไม่ได้มีอำนาจมากมายเพราะถูกคานด้วยอำนาจของภาคประชาชนที่ทำตัวเป็นเหมือน “วุฒิสภา” หรือมากกว่าเสียอีก

ภาคประชาชนของสวิสเข้มแข็ง เพราะมีส่วนร่วมทางการเมือง สามารถ “ปกครองตนเอง” ในความหมายดั้งเดิมของ “ประชาธิปไตย” (ภาษากรีก demos แปลว่าประชาชน kratos แปลว่าปกครอง) และที่สำคัญ มีกระบวนการเรียนรู้ต่อเนื่องตลอดเวลา เพราะก่อนการลงประชามติในทุกระดับ ที่ดูเหมือนทำกันตลอดเวลาประหนึ่งประชาชนคือ “ส.ว.” นั้น มีการอภิปราย ถกเถียง นำเสนอข้อมูลเห็นด้วย ไม่เห็นด้วยในประเด็นนั้นๆ จากฝ่ายต่างๆ เพื่อนำไปสู่การตัดสินใจร่วมกันในที่สุด

 

 

ระบบการเมือง และเศรษฐกิจเมืองสวิสน่าสนใจมาก เสียดายว่า ข้อมูลที่ไกด์ไทยบอกกับนักท่องเที่ยวเวลาไปสวิสแทบไม่ได้มีอะไรเกี่ยวกับการเมืองสวิสเลย สวิสจึงเป็นเพียงประเทศในฝันที่ใครๆ อยากไปเที่ยวชมภูมิประเทศสวยงาม บ้านเมืองเจริญพัฒนา (จากที่เคยไปมากับทัวร์หลายปีก่อน และที่ได้ฟังจากคนอื่นๆ ที่ไปกันมา) คนไทยอยากไปซื้อนากฬิกาโรแลกซ์ ช็อคโกแล็ตอร่อย อยากไปชมยอดเขามัตเตอร์ฮอร์น (หรือแชร์วิโนในภาษาอิตาเลียน หรือแซร์แวงในภาษาฝรั่งเศส) ที่สวยที่สุดของเทือกเขาแอลป์ อยากนั่งกระเช้าไฟฟ้าหรือรถไฟขึ้นไปเล่นหิมะบนยอดเขา ถ่ายรูปสวยๆ มาอวดมาแชร์เพื่อนฝูง

 

นอกจากการเมือง สวิสมีบทเรียนมากมายในด้านเศรษฐกิจและสังคมให้เรียนรู้ ซึ่งไม่ได้มีแต่เนสเล่ โรแลกซ์ ช็อคโกเล็ตลินด์ นาฬิกายี่ห้อดัง แต่มีเรื่องพัฒนาการ การจัดการท่องเที่ยว เรื่องเศรษฐกิจชุมชน เรื่องการประกอบการขนาดย่อมที่น่าเรียนรู้อีกมาก

 

ถ้าจัดไปดูงาน ผสมผสานกับการไปเที่ยวก็คงไม่น่าเกลียดเท่าไร เพียงแต่จะไปทัวร์หรือไปดูงานมากกว่าเท่านั้น

 

เสรี พพ 27 ตุลาคม 2020


 

ประชาธิปไตยสายตรง (๒) ประชาธิปไตยชุมชน

พิมพ์ PDF

#ประชาธิปไตยสายตรง (๒)

#ประชาธิปไตยชุมชน

เป็นเรื่องดีที่ภาคการเมืองเสนอเรื่อง “ประชาธิปไตยที่หมู่บ้าน” เพื่อเป็นรากฐานประชาธิปไตยทีมั่นคง ป้องกันวงจรอุบาทว์ของการทำ “รัฐประหาร” (ของทหาร และการ “การผูกขาดอำนาจ” ของรัฐบาลพลเรือน – ผู้เขียนเติมเอง) ที่มหาวิทยาลัยมหิดลเมื่อบ่ายวันที่ 17 พฤศจิกายน 2561

เป็นเรื่องดีถ้าเป็น “วาทกรรม” (discourse) ที่จุดประกายการถกเถียง เป็นวิภาษวิธีที่นำไปสู่ข้อสรุปใหม่และเกิดปัญญา แต่ถ้าพูดเพียงให้ดูดี ไม่มีความตั้งใจให้เกิดขึ้นจริง ก็อาจเป็นเพียงวาทศิลป์ (rhetoric) การตีฝีปากที่บิดเบือนเพื่อประโยชน์ทางการเมืองเฉพาะหน้า เพราะท่านมหาตมะ คานธี บิดาแห่งชาติของอินเดีย เคยพูดไว้นานแล้วว่า “คำตอบอยู่ที่หมู่บ้าน” ท่านให้ความหมายที่เป็นองค์รวม ทั้งเศรษฐกิจ สังคม การเมือง โดยทำให้ดูเป็นตัวอย่างอีกด้วย นักการเมืองอินเดียบอกว่าเห็นด้วยกับท่าน แต่ในทางปฏิบัติไม่ได้ทำอะไรจริงจัง ทำอะไรที่ได้คะแนนเท่านั้น ท่านจึงเล่าเรื่องจากมหาภารตะ ตอนที่อรชุนจะออกรบแล้วลังเล พระนารายณ์ในร่างพระกฤษณะสารถีรถม้าของอรชุน กล่าวกับอรชุนเป็นเวลายาวนาน เนื้อหานั้นก็คือ ภวควคีตา หนึ่งในคัมภีร์อันสูงสุดของฮินดู อรชุนจึงได้ออกรบ มหาตมะคานธีสอนนักการเมืองอินเดียว่า อย่าได้คิดเพียงว่าทำอะไรแล้วจะชนะหรือไม่ ได้ประโยชน์ได้กำไรหรือไม่ จึงค่อยลงมือทำ แต่ให้ทำเพราะเป็นหน้าที่ เพราะเป็นสิ่งที่ถูกต้อง ดีงาม

 

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่รัชกาลที่ 9 ก็ทรงสอนเรื่องคล้ายกันใน “พระมหาชนก” เมื่อเรือสำเภาที่จะไปสุวรรณภูมิแตก คน 700 คนได้แต่อ้อนวอนเทวดา ตายหมด ขณะที่พระมหาชนกเตรียมตัวแล้วลงมือว่ายในมหาสมุทรอันกว้างใหญ่ นางมณีเมขลาเทวดามาเห็นจึงถามว่า ไม่เห็นฝั่งทำไมยังว่ายอยู่ได้ บทเรียนสำคัญของพระมหาชนก คือ “ความเพียรอันบริสุทธิ์ทำให้เกิดสิ่งอัศจรรย์” เทวดาได้อุ้มพระมหาชนกขึ้นฝั่งในที่สุด

ความปรารถนาดีของฝ่ายการเมืองที่อยากเห็น “ประชาธิปไตย” จากฐานราก คือ จากหมู่บ้าน ชุมชน ไม่ว่าชนบทหรือเมือง เป็นหลักคิดที่ทุกคนเห็นด้วยกันทั้งนั้น อยู่ที่วิธีการจะทำอย่างไรให้เกิดได้จริง ที่ผ่านมา นักการเมือง ข้าราชการ นักธุรกิจ รัฐบาล คนมีอำนาจ มักคิดแทนชาวบ้าน แบบปรารถนาดีประสงค์ร้าย เพราะไม่ได้เข้าใจจริงๆ ว่าชาวบ้านมีปัญหาอะไร มีศักยภาพอะไร ต้องการอะไร มักจะอ้างว่าได้ไปคลุกคลีเข้าถึงประชาชน แต่ผลที่ออกมาทำไมไม่มีอะไรที่ไปช่วยให้ “ชาวบ้าน” หรือ “ชุมชน” เข้มแข็งจริง กลับถูกครอบงำ และทำตามที่คนมีอำนาจบอกให้ทำ สั่งให้ทำ เพราะมีทั้งพระเดชและพระคุณ ดูแต่การเสวนาที่มหิดลวันก่อนก็ไม่มี “ชาวบ้าน” จาก “หมู่บ้าน” มาร่วมนั่งให้ความคิดเห็นแม้แต่คนเดียว เต็มไปด้วยคนจาก “หมู่บ้านจัดสรร” ที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ที่อ้างว่าพูด “แทนชาวบ้าน”

การทำความเข้าใจกับ “ประชาธิปไตยชุมชน” ไม่ควรเริ่มต้นจากการวิเคราะห์ “ทฤษฎี” หรือหลักปรัชญาด้วยวิธีการ “นิรนัย” (deductive) แต่ควรเรี่มต้นจาก “ชุมชน” ด้วยวิธีการ “อุปนัย” ( inductive) แนวคิดก็คงมีอย่างเดียวอันเป็นหลักสากล คือ ประชาธิปไตยหมายถึงประชาชนปกครองตนเอง จากนั้นควรไปค้นหาข้อมูลตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบันว่า ชาวบ้านในอดีตปกครองตนเองอย่างไร ก็จะพบหลักว่าด้วย “อนาธิปัตย์” (anarchism) หรือการปฏิเสธอำนาจรัฐ การหนีอำนาจรัฐ มาจนถึงการลอดรัฐและข้ามรัฐ

ชาวคีรีวงที่มูลนิธิหมู่บ้านได้ไปร่วมกับชาวบ้านวิจัยตนเองเมื่อปี 2531 ค้นหารากเหง้าและวิวัฒนาการของชุมชนพบว่า พวกเขาเป็นไพร่หนีนายเข้าไปอยู่ในหุบเขาหลวง ไม่ไปรบที่ไทรบุรีตั้งแต่ต้นรัตนโกสินทร์ และเพิ่งออกมาสู่โลกภายนอกเมื่อปี 2505 เมื่อเกิดวาตภัยแหลมตะลุมพุก

คีรีวงเป็นชุมชนที่เข้มแข็ง และรอดพ้นจากภัยพิบัติธรรมชาติและการครอบงำของอำนาจทางสังคมเศรษฐกิจการเมืองได้ดีกว่าชุมชนอื่นๆ มาจนถึงทุกวันนี้

 

เจมส์ ซี สก็อต ศาสตราจารย์ด้านรัฐศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยเยล ได้เขียนหนังสือเล่มหนึ่งเมื่อไม่กี่ปีมานี้ชื่อว่า ศิลปะการไม่ถูกปกครอง (The Art of Non-being Governed) พูดถึง “ชาวเขา” กว่า 100 ล้านคนที่อาศัยอยู่ในไทย ลาว เวียดนาม กัมพูชา พม่า ทางใต้ของจีนและทางตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดียว่า เป็น “คนไร้รัฐ” (non-state people) ที่อาศํยอยู่ใน “เขตเงา” (shadow zone) ด้วยความสมัครใจเพื่อหนีการปกครองและครอบงำของรัฐ

นักการเมืองที่อยากส่งเสริมประชาธิปไตยในระดับฐานราก ควรศึกษาจิตวิญญาณของการต่อสู้ของชุมชนในอดีต ศึกษาภูมิปัญญาและศักยภาพของชุมชนในการปกครองตนเอง แล้วดูตัวอย่างของคนอย่างคุณหมอสงวน นิตยรัมพงษ์และแพทย์ชนบททั้งหลายที่คลุกคลีอยู่กับชาวบ้านที่เจ็บป่วย จนพัฒนานโยบาย “30 บาทรักษาทุกโรค” ให้รัฐบาลนำไปใช้ รวมทั้งผลการวิจัย การทำงานกับชุมชนขององค์กรพัฒนาเอกชน องค์กรชุมชน ปราชญ์ชาวบ้าน รวมทั้งองค์กรรัฐอย่างสำนักงานสุขภาพแห่งชาติ ที่ส่งเสริมเครือข่ายประชาชนและธรรมนูญสุขภาพ ธรรมนูญจังหวัด ตำบล ทั่วประเทศ เหล่านี้ล้วนเป็นความพยายามของทุกฝ่ายในการส่งเสริมการดูแลตนเอง การปกครองตนเองของชุมชน ซึ่งมีศักยภาพเพียงพอที่จะทำเช่นนั้น เพียงแต่รัฐและผู้มีอำนาจไม่ “บอนไซ” ทำให้ชุมชนเป็นไม้ในกระถาง แต่ต้องปฏิรูป คือ ทุบกระถางให้ไม้ลงดิน เติบโตพึ่งพาตนเอง “คืนอำนาจ” ให้ชุมชน แทนที่จะไปคิดแทนชาวบ้านว่า ประชาธิปไตยในชุมชนควรมีระบบโครงสร้างอย่างไร นักการเมืองควรแก้ไขกฎหมายที่ไม่เป็นธรรม ที่สร้างความเหลื่อมล้ำ จำกัดโอกาสคนจนและชุมชนให้เติบโต ส่งเสริมการเรียนรู้ของชุมชน การเรียนรู้ในแบบที่สร้างความเข้มแข็งได้จริง

กฎหมายที่ดีและการเรียนรู้ที่มีพลังสร้างความเข้มแข็งให้ฐานราก คือ เงื่อนไขไปสู่ประชาธิปไตย ทำเช่นนี้ก่อนเถิด แล้วชุมชนจะคิดระบบโครงสร้างประชาธิปไตยในชุมชนของพวกเขาเอง

เสรี พงศ์พิศ สยามรัฐ 21 พฤศจิกายน 2561


 

แนวคิด "ประชาธิปไตยสายตรง"

พิมพ์ PDF

นำความ “ประชาธิปไตยสายตรง”

ผมขอนำแนวคิดเรื่อง “ประชาธิปไตยสายตรง” มาโพสท์ เพื่อการเรียนรู้ร่วมกันสักหลายตอน โดยวันนี้นำข้อเขียนเก่าเรื่อง “สภาประชาชน” ที่มีคนอ่าน (ในเวปต์เก่า) และแชร์มากที่สุดเมื่อหลายปีก่อน (๒๕๕๖ ก่อนรัฐประหาร ๑ ปี) ตอนที่กำลังวุ่นวายทางการเมืองและทุกฝ่ายช่วยกันหาทางออก

บทความต่อไป “ประชาธิปไตยชุมชน” เขียนเมื่อปลายปี ๒๕๖๑ หลังการสัมมนาที่มหิดลโดยผู้นำพรรคการเมือง นักวิชาการและผมได้เข้าร่วมอภิปราย

ต่อจากนั้น ข้อเขียนใหม่ ผมจะเล่าเรื่องประชาธิปไตยทางตรง (direct democracy) ที่สวิส และลิคเตนชไตน์ ว่าเขาทำกันอย่างไร พอจะเป็นแบบอย่างหรือแนวทาง โดยไม่ต้องถึงกับเป็นโมดงโมเดลอะไร เพราะบ้านเขาบ้านเราแตกต่างกันมาก

แต่ก็น่าจะมีบทเรียนให้เราเรียนรู้และนำคุณค่าและวิธีการดีๆ บางอย่างมาประยุกต์ใช้ได้ อย่างน้อยในระดับชุมชน อบต. เทศบาล ซึ่งมีขนาดเหมือนกับเทศบาลของสวิส และชุมชนบ้านเราในอดีตก็ดูแลกันเอง ปกครองกันเองมาตลอดจนเกิด “รัฐชาติ” เมื่อร้อยกว่าปีนี้เอง และเหมือนกับลิคเตนไชต์ทั้งประเทศ ซึ่งมีประชากรเพียง 38,000 คน มี ๑๑ เทศบาล มีคนไทยอยู๋ที่นั่นกว่า ๕๐๐ คน ประเทศเล็กที่สุดในโลกประเทศหนึ่งแห่งนี้ เป็นระบอบ constitutional monarchy มีเจ้าชายเป็นประมุข มีสภา บางคนเรียกโดยใม่ขัดเขินว่าเป็นระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชด้วยซ้ำ (เพราะเจ้าชายเขามีอำนาจมากที่สุด แต่ใช้น้อยที่สุดเพราะมีจิตใจเป็นประชาธิปไตยยิ่งกว่าประมุขทางการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งในหลายประเทศ) เป็นประเทศที่ประชาชนทุกคนมีส่วนร่วมทางตรง และมีรัฐธรรมนูญที่อนุญาตให้ชุมชนใด เทศบาลบาลใดอยากแยกออกไปเป็นอิสระ หรือไปอยู่กับประเทศอื่น (สวิส ออสเตรียที่อยู่ติดกัน หรือเยอรมันที่อยู่ใกล้กัน) ก็ทำได้เลย แต่ยุส่งท้าทายเท่าไรก็ไม่มีใครอยากไป เพราะเป็นประเทศที่ร่ำรวยทีสุดในโลก อาชญากรรมน้อยที่สุด อยู่ประเทศเล็กๆ นี้อยู่ดีกินดี มีความสุขอยู่แล้ว ใครบอกว่า รัฐในอุดมคติไม่มี เป็นเพียงยูโธเปีย !

 

#สภาประชาชน

ถ้าไปค้นหาในรัฐธรรมนูญไทยที่ใช้กันวันนี้คงไม่พบคำว่า “สภาประชาชน” แต่รัฐธรรมนูญมาจากประชาชน และ “เจตจำนง” ของประชาชนยิ่งใหญ่กว่ารัฐธรรมนูญที่เขียนออกมาเป็นตัวหนังสือ เพราะเจตจำนงนั้นคือหัวใจของอธิปไตยของปวงชน (อังกฤษถึงไม่มีรัฐธรรมนูญเป็นลายลักษณ์อักษร)  เมื่อประชาชนเลือกผู้แทนเข้าไปในสภา ไม่ว่าด้วยวิธีเลือกตั้งลงคะแนนหรือด้วยการสรรหา ซึ่งเป็นวิถีประชาธิปไตยทั้งนั้น แล้วผู้แทนเหล่านั้นต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อประโยชน์ของตนเองมากกว่าเพื่อสนองตอบเจตจำนงของประชาชน และศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าผิด พวกเขาย่อมหมดความชอบธรรมที่จะทำหน้าที่ต่อไป ถ้ายังยื้อเพื่ออยู่ในอำนาจ ประชาชนก็มีสิทธิลุกขึ้นมาร่วมมือกันหาทางออกจากวิกฤติ เรื่องเช่นนี้ไม่ได้มีแต่ในประเทศไทย หลายประเทศทั่วโลกก็เกิดสภาประชาชนในรูปแบบต่างๆ โดยเฉพาะในช่วงการเปลี่ยนแปลงประเทศจากระบอบหนึ่งไปสู่อีกระบอบหนึ่ง และที่สุด สภาประชาชนก็เป็นฝ่ายชนะ ไปดูประวัติศาสตร์ของเยอรมันตะวันตกตะวันออกเมื่อรวมชาติ และประเทศต่างๆในยุโรปตะวันออกในระยะ 20 ปีที่ผ่านมา

สภาประชาชนไม่ใช่เรื่องใหม่ในสังคมไทย เพียงแต่คำว่า “สภา” ทำให้เกิดความสับสน และถูกโยงไปหาคำอธิบายและสิทธิอำนาจในรัฐธรรมนูญซึ่งไม่ปรากฏ เพราะคำว่า “สภา” ในที่นี้เป็นความหมายเชิงเปรียบเทียบ เช่นเดียวกับที่เราเรียก ธนาคารข้าว ธนาคารควาย ธนาคารเลือด เราเรียกมหาวิทยาลัยชาวบ้าน มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน มหาวิทยาลัยชีวิต

ที่ตำบลไม้เรียง อำเภอฉวาง จังหวัดนครศรีธรรมราชมี “สภาผู้นำ” มาได้ประมาณ 20 ปีแล้ว ผู้นำสำคัญของไม้เรียงคือลุงประยงค์ รณรงค์ ซึ่งได้รับรางวัลแมกไซไซเมื่อปี 2547 ในฐานะผู้นำชุมชนดีเด่นแห่งเอเชีย ไม้เรียงได้รับการยกย่องว่าเป็นต้นแบบการพัฒนาชุมชนโลกเลยก็ว่าได้ เพราะได้รับคำชื่นชมจากธนาคารพัฒนาเอเชียและโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ และสื่ออย่าง CNN ได้เผยแพร่เรื่องราว แนวคิดและวิธีการพัฒนาของชุมชนนี้ไปทั่วโลก

สภาผู้นำของไม้เรียงเกิดจากข้อตกลงของชาวบ้านจากทั้งตำบลว่า ควรมี”แกนนำภาคประชาชน” ขึ้นมากำกับ ดูแล และช่วยกันพัฒนาท้องถิ่น ไม่ใช่ปล่อยให้เป็นเพียงหน้าที่ความรับผิดชอบของคนที่ได้รับเลือกเข้าไปใน อบต.หรือกำนัน ผู้ใหญ่บ้านเท่านั้น ที่ประชุมชาวบ้านตกลงให้แต่ละหมู่บ้านในตำบลไม้เรียงเลือกผู้แทนของตนเองมาหมู่บ้านละ 5 คน8 หมู่บ้านรวม 40 คน ชาวบ้านสามารถเลือกกำนันผู้ใหญ่บ้าน อบต. หรือผู้มีตำแหน่งในชุมชนมาร่วมได้แต่ทุกคนที่มาต้องไม่มาตามตำแหน่ง ต้องถอดหัวโขนออกหมด ทุกคนเป็นประชาชนเท่าเสมอกัน มูลนิธิหมู่บ้านเสนอให้ตั้งชื่อองค์กรนี้ว่า “สภาผู้นำ” ซึ่งชาวบ้านก็เห็นว่าชื่อเหมาะสมดี

ความจริง สภาผู้นำชุมชนไม้เรียงค่อยๆ วิวัฒนาการมาจากกลุ่มผู้นำ 12 คน ที่รวมกันหาทางออกให้ชุมชนตั้งแต่ปี 2524 เริ่มจากการแก้ปัญหาราคายางพารา ไปเรียนรู้จากหน่วยงานของรัฐและเอกชน ไปดูโรงงานรมควันยางแล้วมาสร้างโรงงานอบยางของตนเองในปี 2527 ด้วยการลงทุนลงหุ้นของชาวบ้านทั้งหมดเป็นเงิน 1 ล้านบาท จากนั้นก็ค่อยๆ จัดระบบเศรษฐกิจชุมชนทำแผนแม่บทยางพาราไทย แผนแม่บทชุมชน วิสาหกิจชุมชน ซึ่งล้วนเกิดจากการเรียนรู้และพัฒนาร่วมกันของชุมชนคนไม้เรียงที่ถูกนำไปใช้กันทั่วประเทศ รวมทั้ง “สภาผู้นำ” ที่มีผู้แทน 5 คนจากแต่ละหมู่บ้านดังกล่าว

หลายปีก่อน มีการเสนอกฎหมาย “สภาองค์กรชุมชน” โดยเอาความคิดจากสภาผู้นำไม้เรียงมาปรับประยุกต์ แนวคิดที่ลุงประยงค์และผู้นำในระดับชาติหลายคนไม่เห็นด้วย เพราะสภาผู้นำของประชาชนเป็นสภาคู่ขนานที่มีสิทธิอำนาจในตัวเองอยู่แล้ว ทำไมต้องออกกฎหมายไป “ครอบ” อำนาจของประชาชนอีก เป็น “ขบวนการ” (movement) ที่มีชีวิต มีพลัง กลับไปตีกรอบแช่แข็งให้เป็น “สถาบัน” (institution) จะด้วยเหตุผลเพราะต้องการงบประมาณสนับสนุนหรืออะไรก็แล้วแต่ วันนี้มีข้อพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า สภาองค์กรชุมชนก็ไม่ได้ทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอันเช่นเดียวกับสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจสังคมแห่งชาติซึ่งตั้งขึ้นมาแล้วก็มีกฎหมายรองรับ มีงบประมาณสนับสนุน แต่ไม่มีชีวิตจิตวิญญาณขับเคลื่อน แทบไม่มีบทบาทอะไรเลย

 

การที่ประชาชนรวมตัวกันเพื่อแก้ปัญหาและพัฒนาตนเอง เป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญ วันนี้เราเห็นการรวมกลุ่มของชุมชนเป็นแสนๆ กลุ่มในทุกหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ จังหวัด ทุกอาชีพ ในชนบท ในเมือง มากมายหลายระดับหลายรูปแบบ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง ที่โดดเด่นเห็นชัดมากในระยะหลังนี้เป็นสมัชชาประชาชนด้านสุขภาพที่จัดทั่วประเทศทั้งในระดับพื้นที่และในประเด็นต่างๆ มีสมัชชาประชาชนที่จัดทำธรรมนูญสุขภาพในระดับ อบต. เทศบาล และระดับจังหวัด มีกระบวนการที่กำลังเกิดเป็นสมัชชาประชาชนเพื่อให้จังหวัดจัดการตนเองเกิดธรรมนูญจังหวัด เรื่องเหล่านี้ไม่เห็นจะต้องไปค้นหาในรัฐธรรมนูญว่าเขียนไว้หรือไม่ จะเรียกสมัชชา จะเรียกสภา จะเรียกเครือข่าย จะเรียกชื่ออะไรไม่สำคัญเท่ากับความคิดที่ว่า ประชาชนจัดพื้นที่ จัดเวที เพื่อแสดงตนเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยในการจัดการชีวิต ชุมชน สังคม ของตนเอง เพราะการเคลื่อนไหวของประชาชนต่างหากที่เป็นพลังเพื่อการเปลี่ยนแปลง (dynamics) ที่แท้จริง ถ้ากลไกของรัฐไม่สามารถทำงานได้เพราะขาดความชอบธรรม ประชาชน ผู้เป็นเจ้าของอธิปไตย (sovereignty) ก็ต้องลุกขึ้นมากำหนดกฎกติกาใหม่ สร้างสังคมใหม่ จะเรียกกลไกนี้ว่าอะไรไม่สำคัญ และไม่จำเป็นต้องรออะไรเลย จัดกระบวนการสรรหาตัวแทนจากภาคส่วนต่างๆ เพื่อมาร่วมกันคิดหาทางออก

เสรี พงศ์พิศ สยามรัฐ 4 ธันวาคม 2556


 


หน้า 97 จาก 561
Home

About Us

ศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ (ศบม.) เป็นองค์กรที่พัฒนาและจัดทำโครงการเพื่อทำประโยชน์ให้สังคม เป็นองค์กรสนับสนุนการดำเนินงานของภาครัฐ ช่วยแก้ปัญหาผู้ประกอบการภาคธุรกิจบริการที่ขาดแคลนบุคลากรที่มีมาตรฐานในการให้บริการ
อ่านเพิ่มเติม

มูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ ์

 iHDC Profile
บัญชีรายชื่อกรรมการ
ใบสำคัญแสดงการจดทะเบียน การเปลี่ยนแปลงกรรมการของมูลนิธิ
เอกสารประชาสัมพันธ์ โครงการ HMTC.pdf
เอกสารแนะนำโครงการ HMTC 1.pdf
เอกสารโครงการ HMTC 2 คุณสมบัติผู้เข้าร่วมโครงการ.pdf
iHDC นิติบุคคล.pdf
iHDC บุคคล.pdf
iHDC บุคคลเครือข่าย.pdf
รายงานการประชุม 6 มีนาคม 2560.pdf
ข้อบังคับมูลนิธิ
ใบสำคัญแสดงการจดทะเบียนจัดตั้งมูลนิธิ
Ihdc-Profile and Roadmap 2016-2019 Mar 23 2560.pdf
รายงานการประชุมใหญ่คณะกรรมการมูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ 2559.pdf
คำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ สาขาวิชาชีพ.pdf
รายงานการประชุมใหญ่วันที่ 18 ธ ค 2558 v 3.pdf
รายงานการประชุม วันที่ 24 ธันวาคม 2557 updated 4 มีนาคม 2558.pdf
iHDC-invitation Letter.doc
iHDC-Member Form Thai.doc
iHDC-Member Form English.doc
รายงานการประชุมกรรมการมูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ วันที่ 15 มกราคม 2556 ฉบับสมบูรณ์


thaibetter
พัฒนาประเทศไทยแบบทวีคูณ และยั่งยืน ( ททค )

Login


แบบสำรวจ

สถิติเว็บไซด์

สมาชิก : 5643
Content : 3067
เว็บลิงก์ : 26
จำนวนครั้งเปิดดูบทความ : 8741846

facebook

Twitter


ล่าสุด

บทความเก่า