Thaiihdc.org

  • เพิ่มขนาดตัวอักษร
  • ขนาดตัวอักษรปกติ
  • สดขนาดตัวอักษร
Thaiihdc.org

จำเป็นหรือไม่ที่ต้องเรียนให้ถึงระดับปริญญาเอก?

พิมพ์ PDF

จำเป็นหรือไม่ที่ต้องเรียนให้ถึงระดับปริญญาเอก?

ผมเป็นคนชอบการเรียนรู้ หากเป็นไปได้จะพยายามเข้าสัมมนาและเรียนในหลักสูตรต่างๆ อยู่เสมอ โดยเฉพาะการอ่านหนังสือที่มีสาระและเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาองค์ความรู้ในตัวเอง ผมมองว่าการยอมให้เวลาไปกับการเรียนรู้สิ่งที่เป็นประโยชน์ จะทำให้ชีวิตเราทำประโยชน์ได้มากขึ้น

เมื่อไม่นานนี้ ผมได้อ่านบทความหนึ่งในนิตยสาร Forbes – The 400 Richest People in America ฉบับวันที่ 14 พฤศจิกายน 2017 เป็นเรื่องเกี่ยวกับระดับการศึกษาของเศรษฐีในสหรัฐอเมริกา โดยเปิดประเด็นว่า การศึกษาถึงระดับปริญญาเอกจำเป็นหรือไม่ เราจำเป็นต้องสำเร็จการศึกษาสูงถึงระดับใด ถึงจะมีโอกาสเป็นมหาเศรษฐีระดับโลกได้

การศึกษาระดับปริญญาเอกคืออะไร? สามารถช่วยให้มีความรู้มากขึ้นสำหรับการประกอบอาชีพได้จริงหรือไม่? หรือเป็นการเรียนเพียงเพื่อให้ได้ปริญญา หรือแท้จริงแล้ว เป็นการแสดงออกถึงความตั้งใจดีในการแสวงหาความรู้

การจบการศึกษาระดับปริญญาเอกอาจไม่ได้รับรองว่า จะทำให้เราเป็นเศรษฐีระดับโลกได้ เพราะจากการจัดอันดับของ Forbes 400 ที่เป็นเสมือนเครื่องมือที่สะท้อน “ความเพียงพอ” ของระดับการศึกษาต่อการเป็นเศรษฐีสหรัฐฯ พบว่า การศึกษา “ระดับปริญญาตรี” ก็เพียงพอแล้วสำหรับการเป็นเศรษฐีในสหรัฐ

บุคคลที่มีชื่อเสียงระดับโลกส่วนใหญ่ใน Forbes 400 มองว่า การเรียนสูงขึ้นไม่ได้ทำให้ได้รับอะไรไปมากกว่า “ใบปริญญา” แม้ในกลุ่ม Forbes 400 มีคนจบปริญญาตรีถึงร้อยละ 84 ก็ตาม ซึ่งตัวเลขนี้นับว่าเป็นจำนวนที่สูงเมื่อเทียบกับเพียงร้อยละ 33 ของกลุ่มผู้ใหญ่ชาวอเมริกาทั้งประเทศที่จบการศึกษาระดับปริญญาตรี

ประเด็นที่น่าสนใจคือ มหาเศรษฐีที่ถูกจัดอันดับใน Forbes 400 ถึงร้อยละ 23 จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยชั้นนำระดับโลก หรือสถาบันกลุ่มไอวี่ ลีกส์ (Ivy League Institution) เช่น มหาวิทยาลัยเพนซิลวาเนีย มหาวิทยาลัยสแตนด์ฟอร์ด มหาวิทยาลัยเยล มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด เป็นต้น ขณะที่คนอเมริกันทั่วไป มีเพียงไม่ถึงร้อยละ 0.8 ที่จบจากไอวี่ ลีกส์ ซึ่งอาจแสดงว่าคุณภาพการศึกษาคงมีผลต่อความสำเร็จของบุคคลเหล่านี้เช่นกัน

อย่างไรก็ตาม บุคคลใน Forbes 400 จำนวนหนึ่งขอพักการเรียนเพื่อออกมาเริ่มต้นเส้นทางอาชีพของตนเอง ที่เห็นได้ชัด คือ บิล เกตต์ และมาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก ที่ขอพักการเรียนจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด

นอกจากนี้ จากรายชื่อเศรษฐีประจำปี 2017 ใน Forbes 400 มีถึง 47 คน ที่ขอพักการเรียนในระดับมัธยมศึกษาตอนปลายและวิทยาลัย เพื่อเข้าสู่เส้นทางการทำงาน และมีเพียงร้อยละ 5 เท่านั้น ที่จบการศึกษาระดับปริญญาเอก

ก่อนที่จะตอบคำถามว่าจำเป็นหรือไม่ที่ต้องเรียนให้ถึงระดับปริญญาเอก?” เราคงต้องตอบให้ได้ก่อนว่า “ปริญญาเอก” คืออะไร รวมถึงต้องถามย้อนกลับไปว่า เป้าหมายชีวิตคืออะไร ความสามารถ ความถนัด ความชอบ จุดแข็ง จุดเด่นในตัวคุณคืออะไร และต้องตอบคำถามตัวเองให้ได้ว่า วันนี้เราค้นพบตัวเองแล้วใช่หรือไม่

หากเป้าหมายในชีวิตของเราจำเป็นต้องใช้การศึกษาระดับสูงเป็นเครื่องมือ ก็จงเรียนให้สูงและไกลที่สุดเท่าที่จะทำได้

สำหรับผม การศึกษาระดับปริญญาเอกโดยแท้ คือ การเริ่มหัดเรียนรู้วิธีผลิตและหัดผลิตความรู้ใหม่ให้โลก ผ่านการทำวิจัย เพราะการทำวิจัยแท้ คือ การผลิตความรู้ใหม่ให้โลก และพร้อมพัฒนาอยู่เรื่อยๆ เพื่อก้าวไปให้ถึงสุดพรมแดนความรู้ในแต่ละศาสตร์หรือวิชานั้นๆ คนจบปริญญาเอกที่แท้จริงมีคุณภาพ จึงมีโอกาสเป็นวิสามัญชนที่สร้างคุณูปการแก่โลก ด้วยการค้นหาและบริจาคความรู้ใหม่แก่มนุษยชาติ ผมจึงเห็นคุณค่าคนเรียนจนจบปริญญาเอก

การสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอกที่แท้จริงตามนิยามของผมนั้น จึงไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะต้องลงมือทำอย่างทุ่มเท จริงจัง และให้สอดคล้องกับอุดมการณ์ในชีวิต ดังคำของผมที่พูดอยู่เสมอๆ ว่าคำว่าบังเอิญ ไม่มีในพจนานุกรมของความสำเร็จ”

อย่างไรก็ดี ไม่ได้หมายความว่า มหาเศรษฐีระดับโลกหยุดการเรียนรู้ตั้งแต่ออกจากสถาบันการศึกษา แต่เป็นที่ทราบอยู่โดยทั่วกันว่า คุณสมบัติที่มหาเศรษฐีเหล่านี้มีตรงกัน คือ การรักการเรียนรู้ ดังนั้นแม้พวกเขาไม่ได้จบปริญญาสูง แต่ความรู้ทั่วไปที่พวกเขามีอาจไม่ได้ยิ่งหย่อนไปกว่าผู้จบปริญญาเอก เพียงแต่ไม่ถูกรับรองด้วยใบปริญญาเท่านั้น

หลายครั้ง ผลงานที่เทียบเท่าระดับปริญญาเอก ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในมหาวิทยาลัยเท่านั้น ทว่าอาจจะเกิดขึ้นในองค์กร บริษัท หน่วยงานใดๆ ได้ทั้งสิ้น หากมีการทำวิจัยหรือการผลิตองค์ความรู้สิ่งใหม่ๆ ให้กับโลกได้สำเร็จ

ดังตัวอย่าง Facebook ที่สามารถแปรเปลี่ยนผลงานวิจัยและพัฒนาให้เป็นนวัตกรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น Facebook Live API ที่ให้สามารถถ่ายทอดสดได้จากทุกอุปกรณ์และทุกที่ในโลกใบนี้ ซึ่งแน่นอนว่าจะส่งผลกระทบอย่างมากกับการดำรงชีวิตของมนุษย์และธุรกิจสื่อโทรทัศน์ โดยก่อนหน้านี้ Facebook ได้ทำให้ธุรกิจสื่อสิ่งพิมพ์ต้องปิดตัวกันถ้วนหน้า

ความสำเร็จของเศรษฐีและผู้มีชื่อเสียงระดับโลกหลายคน ต่างเกิดขึ้นจากการค้นพบตัวเองแล้วทั้งสิ้น กล่าวคือ มักค้นพบและมีเป้าหมายชีวิตบางอย่างที่ชัดแจ้งหรือซ่อนอยู่ ค้นพบว่าอะไรคือสิ่งที่ทำแล้วมีความสุข รู้ว่าตัวเองชอบและเก่งในเรื่องใด รู้ว่ากำลังจะเดินไปในทิศทางใด อันเห็นได้จากผลลัพธ์ที่ปรากฏออกมา ทั้งด้านรายได้ ความมีชื่อเสียง และผลกระทบอันนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงต่อสังคม ประเทศและโลกในวงกว้าง

สุดท้าย ผมขอสรุปว่า การจะเป็นเศรษฐีระดับโลก โดยปกติไม่สามารถเป็นไปได้ด้วยความบังเอิญ แต่มักเกิดจากการมีเป้าหมายในชีวิต และทำในสิ่งที่ตรงกับความถนัดของตนเอง ตลอดจนการเรียนรู้อย่างมีคุณภาพและต่อเนื่องตลอดชีวิต ไม่ว่าจะเป็นการเรียนรู้ในสถาบันการศึกษา หรือการเรียนรู้ด้วยตนเองก็ตาม

ในภาพระดับประเทศ การสร้างคนให้มีศักยภาพที่จะประสบความสำเร็จในระดับโลก ไม่ว่าจะเป็นสาขาอาชีพใด เราจำเป็นต้องพัฒนาการศึกษาและการเรียนรู้ของประเทศให้มีคุณภาพระดับโลก การศึกษาโดยเฉพาะอย่างยิ่งในระดับอุดมศึกษาต้องไม่เป็นเรือนจำทางปัญญาที่ดีแต่สร้างคนที่มีความรู้ท่วมหัว แต่กลับเอาตัวไม่รอด แต่ต้องเป็นเรือนเพาะชำทางปัญญาเพื่อเมื่อจบการศึกษาไป ไม่ว่าระดับใดจะสามารถเติบโตทางความรู้และปัญญาได้อย่างแท้จริง

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ

คอลัมน์ : ดร.แดน มองต่างแดน
ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
ประธานสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา (IFD)
อีเมลนี้จะถูกป้องกันจากสแปมบอท แต่คุณต้องเปิดการใช้งานจาวาสคริปก่อน http://www.kriengsak.com

Catagories: 

การศึกษา

Friday, 9 February, 2018 - 14:09


 

เรียนรู้มหาวิทยาลัยหุ้นส่วนสังคมที่สหราชอาณาจักร ๘. หุ้นส่วนนวัตกรรม

พิมพ์ PDF

เพื่อบรรลุประเทศไทย ๔.๐ ตัวขับเคลื่อนสำคัญ ๓ ตัวคือ  การริเริ่มสร้างสรรค์  นวัตกรรม  และบูรณาการ    มหาวิทยาลัย ๔.๐ จึงต้องพัฒนาขีดความสามารถในการทำงานสร้างสรรค์    โดยต้องเปลี่ยน mindset จากการทำงานนี้ด้วยตนเองแบบแยกส่วน เป็นร่วมมือกับผู้อื่น หรือภาคส่วนอื่น    คือต้องทำงานนวัตกรรมร่วมกับหุ้นส่วนนั่นเอง    โดยจุดเน้นของเป้าหมายนวัตกรรมคือการยกระดับเศรษฐกิจ สังคม และกลไกการจัดการในภาคส่วนต่างๆ เน้นที่ภาครัฐ 

ในการไปร่วมประชุมและดูงานครั้งนี้ไม่มีหัวข้อ engagement for innovation เลย    ดังนั้นบันทึกในหัวข้อนี้จึงได้จากการสังเกตและตีความของผมทั้งสิ้น 

มีหลักการที่ผมเรียนรู้จากหลายแหล่งว่า หากต้องการให้เกิดนวัตกรรม ต้องส่งเสริม “กิจกรรมข้ามแดน” คือให้มีการออกไปนอกความเคยชินเดิมๆ   ออกไปเผชิญความแตกต่างหรือความแปลกใหม่ของ “ดินแดนอื่น” วงการอื่น  หรือหลักการอื่น    กิจกรรม PE จึงน่าจะเป็น “ปุ๋ยอันโอชะ” สำหรับ “ต้นไม้นวัตกรรม”

 

นวัตกรรมในการวิจัย

นวัตกรรมอันแรกที่ผมจับได้มาจากหลักการ co-creation    และพบที่ UCL ดังได้เล่าแล้วในตอนที่ ๔ คือเรื่อง co-production in health research   ที่เขาใช้ผู้ป่วยโรคจิตเป็น “หุ้นส่วน” ในการวิจัยโรคนั้น    เพื่อนำ “ข้อมูลมือหนึ่ง” (first-hand information) จากตัวผู้ป่วยเอง นำมาเป็นส่วนหนึ่งของข้อมูลเพื่อพัฒนาบริการบำบัดรักษาที่เหมาะสมยิ่งขึ้น   ผมตีความว่า เป็นนวัตกรรมในระเบียบวิธีวิจัย (research methodology innovation) ที่นำเอาผู้รับผลจากงานวิจัยมาเป็นหุ้นส่วนของการวิจัยด้วย    หลักการนี้น่าจะนำไปสู่นวัตกรรมในการทำงานสร้างสรรค์อีกหลายด้าน  

 

นวัตกรรมจากการทำงานหุ้นส่วนสังคม

ที่จริงโครงการ PE ทั้งภาพใหญ่ ที่จัดการโดย NCCPE มีเป้าหมายสร้างนวัตกรรมที่มหาวิทยาลัย    คือเคลื่อนไปเป็น engaged university (https://www.publicengagement.ac.uk/sites/default/files/publication/manifesto_for_public_engagement_final_january_2010.pdf)   ในมุมมองนี้ มหาวิทยาลัยที่ผูกพันกับสังคมเป็นนวัตกรรมที่ยิ่งใหญ่   และเป็นนวัตกรรมที่ไม่หยุดนิ่งอยู่กับที่    มีการเรียนรู้และพัฒนาการต่อเนื่องไม่มีวันสิ้นสุด 

นวัตกรรมที่ผมสะดุดใจ มาจาก  Working Session : Museum-university partnerships : what have we learned?   โครงการ TORCH ของมหาวิทยาลัย Oxford ที่มีวิธีที่แยบยลในการ engage นักวิชาการสายมนุษยศาสตร์เข้ากับสังคม    รายละเอียดจะแยกไปเล่าในตอนที่ ๑๐

 

นวัตกรรมในการทำงานร่วมมือกับภาคธุรกิจเอกชน

นวัตกรรมจากการเป็นหุ้นส่วนกับภาคธุรกิจเอกชน เป็นเรื่องที่เข้าใจกันโดยทั่วไปและเห็นภาพเป็นรูปธรรมที่ผลิตภัณฑ์และบริการที่มีนวัตกรรม    แต่มักเป็นหุ้นส่วนภาคธุรกิจขนาดใหญ่   สำหรับประเทศไทยส่วนที่น่าสนใจคือหุ้นส่วนกับ SME   ซึ่งประชาคมยุโรปมี EU Framework Programme for Research and Innovation ที่เรียกว่า Horizon 2020     ระบุ Innovation in SMEs ที่ https://ec.europa.eu/programmes/horizon2020/en/h2020-section/innovation-smes    

 

นวัตกรรมทางสังคม  

HEFCE ได้เผยแพร่ บล็อก เรื่อง How higher education can support social innovation (http://blog.hefce.ac.uk/2016/03/03/how-higher-education-can-support-social-innovation/)    เมื่อวันที่ ๓ มีนาคม ๒๕๕๙  ประกาศให้ทุน Social Innovation ๖ โครงการเป็นเงินรวม ๙๘,๐๐๐ ปอนด์     ต่อเนื่องจากกิจกรรม Social Innovation Sandpit  http://www.hefce.ac.uk/news/newsarchive/2016/Name,107622,en.html      จะเห็นว่า เขาใช้เงินไม่มากดึงดูดให้มหาวิทยาลัยรวมตัวกันทำงานสร้างนวัตกรรมทางสังคม 

 

นวัตกรรมในการใช้นักศึกษาเป็นภาคีพัฒนาพื้นที่

เรื่องนี้เล่าไว้แล้วในตอนที่ ๕ เรื่อง Student capital : the power of student engagement https://www.bristol2015.co.uk/media/filer_public/6f/d3/6fd3fa25-0041-4c9e-a3dd-ed2b55f07073/bristol_method_student_capital_module_finalml.pdf    ซึ่งผมตีความว่าเป็นทั้งนวัตกรรมของบทบาทนักศึกษาต่อการพัฒนาพื้นที่  และนวัตกรรมด้านการเรียนรู้     

 

นวัตกรรมด้านการจัดการการเปลี่ยนแปลง

นวัตกรรมที่ยิ่งใหญ่ที่สุดที่ผมได้เรียนรู้จากการเดินทางไปประชุมและศึกษาดูงานครั้งนี้ คือ นวัตกรรมด้านการจัดการการเปลี่ยนแปลง (change management) ต่อสถาบันอุดมศึกษา ที่สหราชอาณาจักรดำเนินการอย่างเป็นขั้นตอนและเป็นระบบ   และเมื่อศึกษาในเว็บไซต์ก็พบว่าประชาคมยุโรป สหรัฐอเมริกา และแคนาดา ก็ดำเนินการในลักษณะคล้ายคลึงกัน    เพื่อ transform อุดมศึกษา ให้มี mindset, วิธีการ, และวัฒนธรรมหุ้นส่วนสังคม (public engagement)  

มองจากมุมของไทย นวัตกรรมที่ผลเห็นคือยุทธศาสตร์จัดการการเปลี่ยนแปลงเชิงบวก  ใช้พลังของความรู้, การริเริ่มสร้างสรรค์, การเรียนรู้, ข้อมูล, และกระบวนการเครือข่าย ในการขับเคลื่อน

ที่ผมติดใจมากคือ การสร้าง platform และ framework ของระบบภาพใหญ่    เพื่อเป็นเครื่องเตือนใจให้ภาคีมองเห็นภาพใหญ่ ให้รู้ว่าเป้าหมายเชิงอุดมการณ์คืออะไร  เป้าหมายเชิงรูปธรรมคืออะไรบ้าง  ยุทธศาสตร์ของการบรรลุเป้าหมายคืออะไรบ้าง    และกิจกรรมเพื่อการบรรลุเป้าหมายมีอะไรบ้าง    ตนเองอยู่ตรงไหน มีระดับของการเชื่อมโยงหุ้นส่วนอยู่ในระดับไหน    เพื่อจะได้หาทางพัฒนาตนเอง    โดยตัวช่วยสำคัญคือกรณีตัวอย่างความสำเร็จขององค์กรในเครือข่าย  และข้อมูลจากการประเมินการเปลี่ยนแปลงในภาพใหญ่เป็นระยะๆ   รายละเอียดของ framework อยู่ในตอนที่ ๕

วิจารณ์ พานิช

๒๘ ธ.ค. ๖๐

ห้อง ๓  ที่พักบ้านสวนครูกบ  ต. นาหินลาด  อ. ปากพลี  จ. นครนายก



บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย  ใน สภามหาวิทยาลัย

แก้ไขล่าสุด ใน วันจันทร์ที่ 15 มกราคม 2018 เวลา 15:32 น.
 

ชีวิตที่พอเพียง 3081. ชีวิตที่ดี

พิมพ์ PDF

บทความเรื่อง There is No One Wayto Live a Good Life เขียนโดย Scott Barry Kaufman ลงในนิตยสาร Scientific American Mind ฉบับเดือนมกราคม ๒๕๖๑ น่าอ่านมาก    มีความสุ่มลึกมาก

แค่สังกัดของผู้เขียนก็น่าสนใจแล้วคือเป็นผู้อำนวยการสถาบันชื่อ Imagination Institute  และเป็นนักวิจัยและอาจารย์ที่ Positive Psychology Center  แห่งมหาวิทยาลัยเพนซิลวาเนีย    ท่านแต่งหนังสือด้าน cognitive psychology ที่น่าอ่านหลายเล่ม

เป็นครั้งแรกที่ผมเห็นคำว่า humanistic psychology

ชีวิตที่ดีไม่ได้มีแบบเดียว    ผู้เขียนเสนอสองแนวทาง 

แนวทางแรกเรียกว่า แนวทางอุทิศตน (surrender yourself) แก่อุดมการณ์สูงส่ง

แนวทางที่สองเรียกว่า แนวทางพัฒนาเต็มศักยภาพ (fully human) แห่งความเป็นมนุษย์     มองมนุษย์เป็นเมล็ดพันธุ์แห่งความดี   ซึ่งหากมีดินดีน้ำดีก็จะพัฒนาเต็มศักยภาพ    ซึ่งผมคิดว่าจริงๆ แล้วมีความซับซ้อนมาก    และมองมนุษย์คนเดียวโดดๆ ไม่ได้   คนเราพัฒนาขึ้นมาโดยอาศัยปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นและสิ่งอื่น    เป็นผลของ connectedness    

ไม่ว่าแนวทางใดชีวิตที่ดีต้องบรรลุสภาพ “เหนือตัวตน” (transcend yourself)   

อ่านวิธีที่ผู้เขียนศึกษา Abraham Maslow และเถียงข้อเขียนของ David Brooks  เรื่อง When Life Asks for Everything แล้วผมศรัทธามาก    ที่จริงข้อเขียนของ David Brooks ก็ลุ่มลึกมาก   การถกเถียงกันเช่นนี้แหละที่ผมชอบอ่าน   เพราะมันประเทืองปัญญา 

ผู้เขียนบอกว่า David Brooks ตีความ Abraham Maslow ผิด    และเมื่ออ่านบทความทั้งหมดแล้ว    ผมชื่นชอบที่นักเขียนทั้งสองถกเถียงกันด้วยการตีความMaslow   ออกสู่สาธารณะ  ช่วยการเรียนรู้ความเข้าใจชีวิตที่มีความสุข   

ผมชอบมาก ที่ Kaufman เล่าว่าในตอนช่วงปลายชีวิต Maslow เขียนเถียงทฤษฎี hierarchy of needs ของตนเอง    ว่าพัฒนาการด้านจิตใจคนไม่ได้หยุดแค่ระดับ self-actualization   เพราะนั่นเป็นการมองจำกัดที่ตนเอง    ยังมีขั้นพัฒนาการที่สูงขึ้นไปอีกคือการทำดีเพื่อผู้อื่น    เขายกคำหลายคำที่แสดงระดับพัฒนาการของมนุษย์ได้แก่ morality, compassion, authenticity, responsibility, และ respect for individual difference   

และ Maslowยังศึกษาแนวทางพระโพธิสัตว์ ของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าด้วย

สุดยอดของข้อเขียนนี้คือประโยคสุดท้าย  “ .. it is implied that the best way to transcend the ego is via having a strong identity”   ซึ่งสะกิดให้ผมคิดต่อว่านี่แหละ เป้าหมายของการศึกษา   ที่เราต้องวางรากฐานให้แก่เด็ก

ที่จริงบทความของ David Brooks ก็ประเทืองปัญญาสุดๆ   เขาเสนอพัฒนาการของมนุษย์สองแนวทาง คือ แนวทาง ความสุข ๔ ชนิด  กับแนวทางระดับความต้องการ (hierarchy of needs) ของ Maslow  ต้องอ่านเองนะครับจึงจะได้ความมัน

วิจารณ์ พานิช

๒๔ ธ.ค. ๖๐

ห้อง 623, Flora Creek Resort, หางดง,เชียงใหม่


บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย  ใน KMI Thailand

แก้ไขล่าสุด ใน วันจันทร์ที่ 15 มกราคม 2018 เวลา 15:37 น.
 

เรียนรู้มหาวิทยาลัยหุ้นส่วนสังคมที่สหราชอาณาจักร ๙. พลังขับเคลื่อนความสัมพันธ์กับหุ้นส่วน

พิมพ์ PDF

"Framework เป็น scaffold สำหรับช่วยให้ผู้เกี่ยวข้องมองเห็นภาพเชิงอุดมการณ์หรือนามธรรมของกิจกรรมหุ้นส่วนสังคม เชื่อมโยงกับกิจกรรมหรือการปฏิบัติที่เป็นรูปธรรม โดยมองเห็นภาพย่อยเชื่อมโยงกับภาพรวม เป็นพลังขับเคลื่อนการเดินทางไกลของขบวนการ PE ให้เกิดความต่อเนื่องและมีการดำเนินการอย่างเป็นขั้นเป็นตอน ยอมรับความแตกต่างของแต่ละมหาวิทยาลัย โดยเฉพาะยอมรับระดับของการบูรณาการกิจกรรมหุ้นส่วนสังคมว่าบางมหาวิทยาลัยอาจเพิ่งเริ่มต้น บางมหาวิทยาลัยเดินทางมาไกลในระดับหนึ่งแล้ว และมีความโดดเด่นในบางด้าน"


คำว่า “พลังขับเคลื่อน” ในที่นี้ผมเอามาจากคำภาษาอังกฤษว่า driver   

 

นักวิชาชีพเชื่อมโยงหุ้นส่วนสังคมในฐานะพลังขับเคลื่อน

ผมฉุกคิดขณะเข้าร่วมประชุมกลุ่มย่อยเรื่อง Museum-university partnerships : what have we learned?  ในช่วงเช้าของการประชุมวันแรก (๖ ธันวาคม ๒๕๖๐)    หลังจากนำเสนอกรณีศึกษาจากมหาวิทยาลัยอ็อกซฟอร์ด, มหาวิทยาลัยลีดส์, และมหาวิทยาลัยเอดินเบิร์ก    ในช่วงของการถาม-ตอบและอภิปรายแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็น    อาจารย์ภาควิชากายวิภาคศาสตร์ จากคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเอดินเบิร์กชื่อ Tom Gillingham กล่าววาทะที่สะกิดใจผมว่าอาจารย์ไม่ใช่พลังหลัก (driver) ของการขับเคลื่อน engagement    อาจารย์เป็นพลังอำนวย  (facilitator)

ซึ่งหมายความว่า ต้องมีนักวิชาชีพเชื่อมโยงหุ้นส่วนสังคม เป็นกำลังหลักในการทำงาน engagement   

 

อาจารย์มหาวิทยาลัยในฐานะพลังขับเคลื่อน

ในการพูดคุยกันเป็นส่วนตัวระหว่างทีมไทยกับรองผู้อำนวยการ NCCPE คือ Sophie Duncan ผู้คล่องแคล่ว ตอนรับประทานอาหารเที่ยง วันที่ ๖ ธันวาคม ๒๕๖๐    เธอบอกว่ามี ๓ มหาวิทยาลัยที่มีศาสตราจารย์ด้าน  Public Engagement    คือ Open University, Kimberly University, และ Queen Mary University of London

และใน brochure ฉบับมีรายละเอียดของการประชุมที่เขาส่งให้เรา มีหัวข้อของการประชุมกลุ่มย่อย (Working Sessions) ที่จัดพร้อมกัน ๖ ห้อง    ห้องแรกหัวข้อ Leading engagement มีวิทยากรท่านหนึ่งชื่อ Richard Holliman, Professor of Engaged Research, Open University (http://www.open.ac.uk/blogs/pe...246)    อ่านประวัติของท่านแล้ว ผมก็ตีความว่า พลังขับเคลื่อนความสัมพันธ์กับหุ้นส่วนมีหลายมิติ หลายระดับ    นักวิชาชีพเชื่อมโยงหุ้นส่วนสังคมเป็นพลังหลักระดับหนึ่ง มิติหนึ่ง     นักวิจัยเชิงระบบ เชิงขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลง อย่างศาสตราจารย์โฮลลิแมน ก็เป็นพลังหลักอีกมิติหนึ่ง     เป็นพลังหลักเชิงขับเคลื่อนระบบ

ดังนั้น อาจารย์มหาวิทยาลัยบางคนอาจแสดงบทบาทเป็นพลังหลักในการขับเคลื่อนความร่วมมือกับหุ้นส่วนเพื่อพัฒนาสังคม   และอาจารย์อีกส่วนหนึ่ง (ส่วนใหญ่?) ทำหน้าที่เป็นผู้สนับสนุน (facilitator)

 

ชาลา (platform) และกรอบ (framework) การทำงาน

ผมตีความต่อว่า พลังขับเคลื่อนสำคัญอีกมิติหนึ่งคือ platform  และ framework ในการจัดการการเปลี่ยนแปลง   ให้ไปถึงระดับเปลี่ยนวัฒนธรรม   ดังเล่าแล้วในตอนที่ ๕ และ ๘ ยกตัวอย่าง framework สำหรับประเมินการ embed PE เข้าในหลักสูตร ดังในเอกสาร  Embedding Public Engagement in the Curriculum: A Framework for the Assessment of Student Learning from Public Engagement   ( https://www.publicengagement.ac.uk/sites/default/files/publication/assessing_student_learning_from_pe.pdf )    และเอกสาร DRAFT Attributes Framework for Public Engagement for university staff and students ( https://www.publicengagement.a...2010_0_0.pdf )    

Framework ด้านต่างๆ เหล่านี้ ผมตีความว่า เป็น scaffold สำหรับช่วยให้ผู้เกี่ยวข้องมองเห็นภาพเชิงอุดมการณ์หรือนามธรรมของกิจกรรมหุ้นส่วนสังคม เชื่อมโยงกับกิจกรรมหรือการปฏิบัติที่เป็นรูปธรรม    โดยมองเห็นภาพย่อยเชื่อมโยงกับภาพรวม   เป็นพลังขับเคลื่อนการเดินทางไกลของขบวนการ PE   ให้เกิดความต่อเนื่องและมีการดำเนินการอย่างเป็นขั้นเป็นตอน   ยอมรับความแตกต่างของแต่ละมหาวิทยาลัย   โดยเฉพาะยอมรับระดับของการบูรณาการกิจกรรมหุ้นส่วนสังคมว่าบางมหาวิทยาลัยอาจเพิ่งเริ่มต้น บางมหาวิทยาลัยเดินทางมาไกลในระดับหนึ่งแล้ว    และมีความโดดเด่นในบางด้าน  

เขาใช้ framework เหล่านี้ในการรับสมัครมหาวิทยาลัยที่ประเมินตนเองแล้วคิดว่าตนเองมีผลงานเข้าเกณฑ์ในระดับที่จะได้รับการยกย่อง   เมื่อมีการประเมินยืนยันก็ได้รับการยกย่องละรางวัล   เช่นการยกย่องให้ Engage Watermark Award (https://www.publicengagement.ac.uk/work-with-us/engage-watermark)    ที่ผมตีความว่าเกณฑ์การประเมินคือ framework อย่างหนึ่ง  


ผมพยายามสังเกตและค้นหา framework ที่จะช่วยขับเคลื่อนหุ้นส่วนความร่วมมือ (เช่น ภาคธุรกิจเอกชน, ภาคประชาสังคม, ภาคองค์การปกครองท้องถิ่น, ภาคศิลปะ, ภาคองค์การการกุศล เป็นต้น)    แต่หาไม่พบ   จึงมีความคิดว่า ในบริบทไทย ควรมี framework ความร่วมมือของหุ้นส่วนพัฒนาพื้นที่    สำหรับใช้เป็นพลังขับเคลื่อนด้วย 

 REF ในฐานะพลังขับเคลื่อน

REF ย่อมาจาก Research Excellence Framework ดำเนินการรอบแรกในปี ค.ศ. 2014   ประเมินรอบต่อไปในปี 2021   REF เข้ามาแทนการประเมินความเข้มแข็งด้านงานวิจัยของมหาวิทยาลัยแบบเดิมคือ RAE ซึ่งทำครั้งสุดท้ายในปี 2008    เขาใช้เวลาเตรียมการ REF 2014 ยาวนานถึง ๓ - ๔ ปี     และมีรายละเอียดมาก  ดังในเอกสาร http://www.ref.ac.uk/2014/media/ref/content/pub/assessmentframeworkandguidanceonsubmissions/GOS%20including%20addendum.pdf     ผมตีความว่า REF เป็นพลังขับเคลื่อน PE ด้านการวิจัยเพราะ REF ให้น้ำหนักต่อ impact ของผลงานวิจัยถึง ๒๐%   โดยนิยามคำว่า impact ละเอียดมาก    ส่วนมากเป็น impact ต่อสังคม หรือต่อภายนอกมหาวิทยาลัย    ทำให้ engaged research มีผลต่อการได้คะแนน REF สูง    อันส่งผลต่อเนื่องต่อจำนวนเงินงบประมาณสนับสนุนการวิจัยจากรัฐบาล

หากอ่านรายละเอียดในเอกสารที่ลิ้งค์ไว้ให้ จะเห็นว่า REF ไม่ได้เอียงไปทาง engaged research สุดกู่    เขายังให้น้ำหนักของความเข้มข้นและความใหม่ทางวิชาการของผลงานวิจัยถึงร้อยละ ๖๕   น้ำหนักอีกร้อยละ ๑๕ ให้แก่ บรรยากาศของงานวิจัยในมหาวิทยาลัย เน้นที่ความคึกคักและความต่อเนื่องยั่งยืน      

 

หน่วยประสานงานสร้างการเปลี่ยนแปลง

นี่คือ หน้าที่ของ NCCPE ตามที่เล่าแล้วในตอนที่ ๑   ยิ่งศึกษาผมก็ยิ่งพิศวงในยุทธศาสตร์และวิธีการสร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงบวก   ที่มีเป้าหมายลึกไปถึงการเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมของสถาบันอุดมศึกษา    ที่ได้รับการสนับสนุนและร่วมมือกันทำหลากหลายฝ่ายในสหราชอาณาจักร รวมทั้งร่วมมือกับต่างประเทศ 

ผมตีความว่า เคล็ดลับสำคัญคือ ทำให้เป็นระบบการเดินทางไกลที่มีเป้าหมายเชิงนามธรรมชัดเจน  มีเป้าหมายเชิงรูปธรรมที่ช่วยกันทำให้ชัดขึ้นเรื่อยๆ    และช่วยกันเรียนรู้พัฒนาวิธีการบรรลุเป้าหมายเหล่านั้นในแบบที่ร่วมกันคิดร่วมกันลองทำ    ไม่ใช่ใช้วิธีการให้หน่วยเหนือกำหนดวิธีการแล้วสั่งการให้ปฏิบัติอย่างที่มักใช้กันอยู่ในประเทศไทย 

เป็นการสร้างปฏิสัมพันธ์แนวระนาบเพื่อร่วมกันสร้างการเปลี่ยนแปลง ซึ่งก็คือใช้หลักภาคีหุ้นส่วน (engagement) กับมหาวิทยาลัยในการสร้างวัฒนธรรมมหาวิทยาลัยหุ้นส่วนสังคม นั่นเอง



วิจารณ์ พานิช

๒๘ ธ.ค. ๖๐

ห้อง ๓  ที่พักบ้านสวนครูกบ  ต. นาหินลาด  อ. ปากพลี  จ. นครนายก

แก้ไขล่าสุด ใน วันจันทร์ที่ 15 มกราคม 2018 เวลา 15:41 น.
 

สัมมนางาน "นิคม จันทรวิทุร" ครั้งที่ 15 เรื่อง การบริหารทรัพยากรมนุษย์และแรงงานสัมพันธ์ในระดับสากล : ข้อพิจารณาสำหรับประเทศไทย

พิมพ์ PDF

สวัสดีครับชาว  Blog,


การสัมมนางาน “วันนิคม จันทรวิทุร” ครั้งที่ 15 ประจำปี 2560 เรื่อง “การบริหารทรัพยากรมนุษย์และแรงงานสัมพันธ์ในระดับสากล:
ข้อพิจารณาสำหรับประเทศไทย” ในวันที่ 28 ธันวาคม 2560  ณ ห้องประชุมประกอบ หุตะสิงห์ ชั้น 3 อาคารเอนกประสงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ผมได้รับเกียรติให้ความเห็นต่อการปาฐกถาของ Prof. Dr. Greg Baber, Faculty of Business Administration, Monash University, Australia หัวข้อ The Importance of the Human Resources and Employment Relations Fields in the Global Economy: Developing Agendas for Research, Theory, Practice and a Professional Association” (ความสำคัญของบริบททรัพยากรมนุษย์และแรงงานสัมพันธ์ในเศรษฐกิจโลกาภิวัตน์: การพัฒนาประเด็นการวิจัย ทฤษฎี การปฏิบัติ และสมาคมวิชาชีพ) กล่าวรายงานการจัดงานโดย นายฐาปบุตร ชมเสวี ประธานคณะกรรมการบริหารมูลนิธินิคม จันทรวิทุร และกล่าวเปิดงาน โดย นายวิวัฒน์ ตังหงส์ รองปลัดกระทรวงแรงงาน

เพื่อเป็นการสร้างชุมชนแห่งการเรียนรู้ ผมจึงขอเปิด  Blog นี้เพื่อเป็นช่องทางในการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นร่วมกันครับ


จีระ  หงส์ลดารมภ์

การสัมมนางาน “วันนิคม จันทรวิทุร” ครั้งที่ 15 ประจำปี 2560

เรื่อง “การบริหารทรัพยากรมนุษย์และแรงงานสัมพันธ์ในระดับสากล : ข้อพิจารณาสำหรับประเทศไทย”

วันพฤหัสบดีที่ 28 ธันวาคม 2560

ณ ห้องประชุมประกอบ หุตะสิงห์ ชั้น 3 ตึกเอนกประสงค์ 1

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์

 

(สรุปโดยเขมิกา ถึงแก้วธนกุล ทีมงานวิชาการ Chira Academy และนักวิจัยมูลนิธิพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ระหว่างประเทศ)

 

กล่าวเปิดงาน

โดย นายวิวัฒน์ ตังหงส์ รองปลัดกระทรวงแรงงาน

          กล่าวถึงการเปลี่ยนแปลงทางด้านเทคโนโลยีได้ส่งผลกระทบต่อโครงสร้างรูปแบบการจ้างงาน ที่ไม่ได้ทำให้งานหายไป แต่เป็นการนำเทคโนโลยีมาสร้างประโยชน์กับทุกฝ่าย ดังนั้นประเด็นสำคัญคือต้องทำการศึกษาวิจัย และหาแนวร่วมในการสร้างการเปลี่ยนผ่าน และการสร้างระบบสัมพันธ์กับการจ้างงานที่ดี

 

การแนะนำองค์ปาฐก

โดย นายโกวิทย์  บุรพธานินทร์  กรรมการมูลนิธินิคม  จันทรวิทุร

          ประเด็นสัมมนาในวันนี้จะพูดถึงการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างตลาดแรงงาน และการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีที่มีผลต่อผู้ใช้แรงงานในวงกว้าง

การส่งผลจากเทคโนโลยีต่อการจัดองค์กรใหม่ การแข่งขัน และการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างนายจ้างและลูกจ้าง

การปูรากฐานการวิจัยจึงมาจากการคิดค้นแนวทฤษฎีใหม่ ๆ ที่สามารถนำไปปรับใช้กับตลาดแรงงาน และอุตสาหกรรมมที่เกี่ยวเนื่องกับประเทศไทย

ประเด็นที่องค์ปาฐกจะพูดถึงในวันนี้มี 3 ประเด็นคือ

1. HR Management คือเรื่องการบริหารทรัพยากรบุคคล โดยวิเคราะห์แนวโน้มและทิศทางในอนาคต

2. แรงงานสัมพันธ์ และการจ้างงาน Employment คือจะพูดถึงผลกระทบจากเทคโนโลยี และนำมาประยุกต์ใช้

3. บทบาทขององค์กรระหว่างประเทศว่าด้วยเรื่องแรงงานสัมพันธ์

 

ปาฐกถาหัวข้อ “The Importance of the Human Resources and Employment Relation Fields in the Global Economy : Developin Agendas for Research, Theory , Practice and a Professional Association” (ความสำคัญของบริบททรัพยากรมนุษย์และแรงงานสัมพันธ์ในเศรษฐกิจโลกาภิวัตน์  : การพัฒนาประเด็นการวิจัย ทฤษฎี การปฏิบัติ และสามาคมวิชาชีพ)

โดย Prof. Dr. Greg Baber, Faculty of Business Administration Monash Unil, Australia

 

Prof. Dr. Greg Baber กล่าวถึงประเด็นที่ปาฐกถาในวันนี้ จะพูดเรื่อง การบริหารจัดการทรัพยากรมนุษย์  แรงงานสัมพันธ์ วิชาชีพ โดยจะมีการซักถามและแลกเปลี่ยนความคิดเห็น

ในมุมมองด้านความสัมพันธ์ด้านการบริหารทรัพยากรมนุษย์จะเป็นอย่างไรในเศรษฐกิจโลก จะมีการบริหารสู่ความเป็นเลิศอย่างไร

จาการศึกษาและวิจัยโดยสมาคมพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของออสเตรเลียในบริบทของออสเตรเลีย สู่การสนำเสนอ Australia Human Resource Model พัฒนาโดยนักวิชาการออสเตรเลีย ซึ่งอาจแตกต่างจากบริบทของประเทศไทย ซึ่งประเทศไทยเองก็สามารถพัฒนาในบริบทของประเทศไทยเองได้เช่นกัน

ผลการศึกษา Australia Human Resource Model สามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้กับสถานประกอบการในขนาดเล็ก ขนาดกลาง และขนาดย่อม เริ่มจาก

1. การสร้างผู้นำการเปลี่ยนแปลง (Change Agent)

2. การสร้างให้เกิดความเป็นเลิศ

งานวิจัยในออสเตรเลีย และทางอเมริกาเหนือ พบว่า HRM + Specialist ไม่เพียงพอ ต้อง

3. มีการปรึกษาหารือ เจรจาต่อรองเพื่อให้องค์กรพัฒนาสู่ความเป็นเลิศมากขึ้นด้วย

บทบาทของ HRM in Practice เหมือนตำรวจที่จับคนผิด มีการบังคับใช้กฎหมาย ต้องทำงานเชิงกลยุทธ์ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงนอกจากกรอบเดิมเพื่อ Improve Experience of work ด้วย

นำเสนอทฤษฎี HRM ใน 6 ขั้นตอนเพื่อการปรับใช้

1. Evaluate the most appropriate practices, for your context

2. Decide to introduce a practice

3. Line managers agree to implement the practice

4. Line managers implement , in a quality way

5. Staff accept rationale for practice & respond appropriately 3-5 cannot occur without 1 and 2

6. Board / HRM leaders responsible for 1-2 : line  for 3-5 ?

- การประเมินการปฏิบัติภายใต้บริบทของท่านเอง หมายถึง ไม่ต้องแสวงหา Best Practice แต่ให้แสวงหาความเหมาะสมกับองค์กร โดยดูจากปัญหาที่แท้จริง

- ให้มี Good investment of time

- Discuss changing introduce the change การปรึกษาหารือในคนที่เกี่ยวข้องให้ชัดเจน ยกตัวอย่าง บริษัท Honda ก็ได้ใช้วิธีเดียวกันนี้ในการปรึกษาทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง

- HRM ต้องปรึกษาทั้งฝ่ายข้างบน และข้างล่างในการเปลี่ยนแปลง How do Manage timeline

บางครั้งจะพบว่ากิจการต่าง ๆ อาจมีความยุ่งยากเนื่องจากมีคนบางกลุ่มไม่ยอมรับการเปลี่ยนแปลงอย่างง่าย อาทิ กิจการเพื่อสุขภาพ สายการบิน ภาพยนตร์ ศิลปะ

ความยุ่งยากที่พบ อาทิ เรื่องการล่วงละเมิดทางเพศ พฤติกรรมเถื่อน ๆ เป็นต้น

- Creative partnership with worker  หมายถึง HRM ต้องสร้างการมีส่วนร่วมระหว่างคนทำงาน สหภาพ สมาคม และคนที่เกี่ยวข้อง

Diversity of Practice

Work Relation – Work with future technology

Negotiation Change – ช่วงการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

บทบาท HRM ต้องทำอย่างไรบ้าง

HRM ต้องเป็นนักยุทธศาสตร์ หมายถึงต้องรู้ว่าอะไรที่เปลี่ยนแปลง และต้องรู้ว่าจะไปสู่การเปลี่ยนแปลงอย่างนั้นต้องทำอะไรบ้าง

ยกตัวอย่าง เยอรมันให้ความสำคัญเรื่องการเปลี่ยนแปลงบุคลากรในองค์กร จะมีการฝึกอบรมกำลังแรงงานมากเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลง และพบได้ว่าการประกอบการในเยอรมันและสวีเดนอยู่ในอันดับต้น ๆ ของการรักษาเรื่องประสิทธิผล

การร่วมแสดงความคิดเห็น

1. มองว่า HRM ไม่สามารถเป็นตัวแทนการเปลี่ยนแปลงได้ เนื่องจากโลกอยู่ภายใต้ Capital list ทุกอย่างอยู่ภายใต้การได้เปรียบ ที่ Capital list เอาเปรียบคนข้างล่าง HRM เป็นเพียงกำลังของ Capital list จึงไม่สามารถให้แรงงานคนทำงานได้อย่างมีความสุข

          ตอบ การเปลี่ยนแปลงเป็นเรื่องยากที่จะทำโดยฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ซึ่งถ้าได้รับความร่วมมือจากระดับสูงจะสามารถทำให้การเปลี่ยนแปลงสามารถทำได้มากขึ้น  อย่างไรก็ตามขึ้นกับบริบทของท้องถิ่นที่ต้องค้นหาว่าอะไรทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้

2. ในอุตสาหกรรมยานยนต์ มีทิศทางการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีที่สูงเหมือนการเพิ่มประสิทธิภาพมากขึ้นโดยใช้คน

          ตอบ    1. สหภาพแรงงาน ต้องสามารถพึ่งพาได้ และสามารถใช้เทคโนโลยีมาก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น

2. ต้องศึกษาสถานการณ์ปัจจุบันเป็นอย่างไร

3. HRM ต้องมี Strategic move และ Decision Makingต้องมีความเป็นมืออาชีพอย่างแท้จริง ต้องหาทางในการพัฒนาตนเอง และทำงานเชิงกลยุทธ์มากขึ้น ไม่ใช้ทำตามสบาย และบังคับจัดการ

 

ปาฐกถาพิเศษ (ต่อ)

Employment Relation

          เน้นการศึกษาและวิจัยที่นักวิชาการและนักวิจัยสนใจ

          1. การเปลี่ยนแปลงในปัจจุบันจะเพิ่มผลผลิตอย่างไร

          - Lean Management คือการลงทุนในสิ่งที่เร่งด่วน และใช้คนจำกัดจริง ๆ เพื่อสร้างโอกาสทางการแข่งขัน

          2. โอกาสการทำงานที่ดีกว่า

          3. โอกาสที่เข้ามาในลักษณะลูกจ้าง

          4. บริบทการจ้างงานในภาวการณ์เปลี่ยนแปลง

          - รูปแบบที่ไม่เคยปรากฏในภาคต่าง ๆ

          - ความหลากหลายและความเป็นธรรมทางสังคม

          - การแก้ไขข้อขัดแย้งต่าง ๆ

          5. Work Relation เปลี่ยนจากเดิม

          สมาคมวิชาชีพ Ilera กล่าวเรื่องแรงงานสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่มีการรวมตัวกันได้ฝากถึงคนไทยว่าจะมีการแลกเปลี่ยนความคิดกับสมาคมอย่างไร

          - การร่วมมือกับทางสถาบันเสริมศึกษาและทรัพยากรมนุษย์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในการร่วมจัดงานในครั้งนี้กับ มูลนิธินิคม จันทรวิทุร และ มูลนิธิพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ระหว่างประเทศ น่าจะหาแนวทางความร่วมมือด้านการทำวิจัย ทางสมาคมจะเป็นความคาดหวังในการไปร่วมด้วย แต่ถ้ายังไม่มีอาจเป็นในนามตัวบุคคลที่ส่งจดหมายถึงสมาคมการจัดการงานบุคคลแห่งประเทศไทยไป  สมาคม Ilera คิดว่าเป็นสิ่งที่ดีที่ได้สนับสนุนการสนำสู่แรงงานสัมพันธ์ในองค์กรที่ทำให้องค์กรขับเคลื่อนได้

 

การให้ความเห็นต่อการปาฐกถา

โดย ศ.ดร.จีระ หงส์ลดารมภ์ เลขาธิการมูลนิธิพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ระหว่างประเทศ

          การผนึกกำลังร่วมกันของ 3 สถาบัน และ Prof.Dr.Greg Baber ในวันนี้ นับเป็นเรื่องที่ดี

          1. เสนอนโยบายรัฐบาลผ่านรองปลัดฯ เน้นการผนึกกำลังร่วมกัน ที่ผ่านมา กระทรวงแรงงานจะเน้นเรื่องกฎหมายมากเกินไป แต่ในเรื่องแรงงานสัมพันธ์ ศักดิ์ศรี ความเป็นผู้นำ และ Industry Relation อ่อนมาก  จึงต้องมีผู้นำแรงงานช่วยสนับสนุนมากขึ้น

          2. บริบท เน้น 2R’s คือ เลือกประเด็น Reality ด้าน HRM , Employ Relation, ระหว่างประเทศ นำไปปรับใช้กับประเทศไทย โดยเลือกประเด็นที่ Relevance จับกับนโยบายประเทศไทย 4.0 เพื่อนำให้ไทยพ้นจากกับดักประเทศรายได้ปานกลาง

          3. ผู้ใช้แรงงานต้องการ Intellectual Skill, Thinking Skill และต้องการมีความสามารถในการขับเคลื่อนองค์กร ดังนั้นการพัฒนาฝีมือแรงงานในวันนี้ได้ได้ต้องการแค่ Skill ธรรมดา แต่ต้องการ

                    - Knowledge

                    - Critical Thinking

                    - Creativity

                    - Innovation

                    - Entrepreneurship

          4. ร่วมกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และมูลนิธินิคม จันทรวิทุร ในยุคต่อไปต้องเป็น Interdisciplinary และไทยพาไทย คือต้องให้เกียรติ ยกย่อง และต้องมี HRDS

          5. การเรียนยุคใหม่ต้องแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน ให้เขาทำ Workshop ตัวละครที่สำคัญที่สุดคือคนที่อยู่ข้างล่างของสังคมได้มีโอกาสในการแสดงความคิดเห็น ปัญญาในยุคต่อไปต้องเกิดจากการรู้จริง


การอภิปราย หัวข้อ “การบริหารทรัพยากรมนุษย์และแรงงานสัมพันธ์ในประเทศไทย : สภาพปัญหา แนวทางการพัฒนา และความร่วมมือในเชิงสมาคมวิชาชีพ”

โดย ผศ.ดร.ศุภชัย ศรีสุชาติ ผู้อำนวยการสถาบันเสริมศึกษาและทรัพยากรมนุษย์ มธ.

     นายอนันต์ บวรเนาวรักษ์ ผู้อำนวยการสำนักแรงงานสัมพันธ์ กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน

     นายวรพงษ์ รวิรัฐ ที่ปรึกษา (อดีตนายก) สมาคมการจัดการงานบุคคลแห่งประเทศไทย

     น.ส.อัปสร กฤษณะสมิต ประธานสหพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจแห่งประเทศไทย

ดำเนินการอภิปรายโดย   ดร.โชคชัย สุทธาเวศ เลขาธิการมูลนิธินิคม จันทรวิทุร และอาจารย์คณะสังคมศาสตร์ และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

 

ผศ.ดร.ศุภชัย ศรีสุชาติ ผู้อำนวยการสถาบันเสริมศึกษาและทรัพยากรมนุษย์ มธ.

          การพัฒนาสังคมควรมีงานวิจัยเป็นฐาน

สถานการณ์ของประเทศ

1. การเติบโตของเศรษฐกิจของประเทศไทยเสมือนโตเพียง 3.1 – 3.2 % ในขณะที่ประเทศอื่นในอาเซียนโตถึง 7%

2. ทรัพยากรธรรมชาติเริ่มหมด

3. เกิดความเหลื่อมล้ำมากขึ้น

4. โครงสร้างประชากรในสังคมผู้สูงอายุมีภาวะพึ่งพิงมากขึ้น ต้องให้เด็กทำงานมากขึ้น อัตราการเจริญพันธ์ลดลงทุกภาค

5. Productivity ในภาคการผลิตน้อยเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน ประเทศไทยเกากลุ่มข้างล่าง

สถานการณ์ตลาดแรงงาน

          Skill Mismatching  ตั้งตัว และตื่นตัวอย่างน่าตกใจ โดยมีตัวเร่งปฏิกิริยา คือ

1. AI – Artificial Intelligent ปัญญาประดิษฐ์ คือการประดิษฐ์โปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่สามารถคิดหาเหตุผลได้ เรียนรู้ได้เหมือนสมองมนุษย์ ซึ่งสามารถนำมาทดแทนงานบางอย่างของคนได้

2. IOT – Internet of Things เป็นตัวขับเคลื่อน Information Driven ซึ่งอยู่ในนโยบายประเทศไทย 4.0  อย่างในเรื่อง Area Based Management เขตเศรษฐกิจพิเศษ

3. Business Model – อาชีพใหม่ คนทำอาชีพอิสระมากขึ้น

4. New Future of Work – Skill ใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้น คนเลือกเรียนวิชาอะไรก็ได้

          สิ่งที่พบคือ Skill เปลี่ยนแปลงไปเป็นเรื่อง Leadership Fellowship เป็นการคิดอย่างเป็นระบบ ไม่รวมเรื่องการพัฒนาอุตสาหกรรม  เราจะทำอย่างไรให้มีตัวเร่งปฏิกิริยา Generation Gap แก้ปัญหาที่มีอยู่และสิ่งที่ต้องเจอในอนาคต

          1. Generation

          2. Skill Gap Management

วิธีการแก้ไข

          1. ต้องสร้างความสัมพันธ์ระหว่างแรงงานกับค่าตอบแทน Platform ค่าจ้างต้องเปลี่ยน จะมีวิธีการจ่ายค่าจ้างอย่างไรให้ยุติธรรมเหมาะสม ในอนาคตสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้จะเกิดขึ้น เกิดงานรูปแบบใหม่ ๆ มากขึ้น ดังนั้นจึงต้องเตรียมความพร้อมมากขึ้น และอาจเกิดคำถามที่ว่า

  • ให้คนทำงานหรือเทคโนโลยีแบบไหนดีกว่ากัน
  • Skill ส่วนตัวของแรงงาน
  • การเลิกจ้างเฉพาะกลุ่ม Conflict Resolution
  • อัตราสหภาพลดลง เพราะคิดว่าไม่จำเป็นเนื่องจากการแก้ไขข้อขัดแย้งไม่เห็นอะไรรุนแรง ดังนั้นสิ่งที่สหภาพต้องทำคือ 1. Social Partnership 2. Knowledge Management

3. สหภาพแรงงาน + ที่ปรึกษา

          2. Targeting กลุ่มเฉพาะ กลุ่มไหนมีปัญหา มีการเริ่มเจรจาเรื่องโบนัส ให้มีการใช้ข้อมูลและระยะเวลา เน้นให้เกิดความเสมอภาค และยุติธรรม

          3. Development แรงงานและคนที่ที่เกี่ยวข้อง

          Return new skill + ปรับ sill ใหม่ ๆ มากขึ้น Skill Development

          สถาบันเสริมศึกษาและทรัพยากรมนุษย์ มธ.ได้ทำเรื่อง Public + In house course การวาง Platform

          สถาบันการศึกษา + เอกชน + รัฐบาล ทำร่วมกันให้มี Mutual Benefit สู่การสร้าง Social Partnership ต้องมีทั้งคนได้และคนเสีย

          ของขวัญที่ให้กับประชาชนคือ ทำอย่างไรที่จะตัด Silo และโยงเข้ากับแรงงานสัมพันธ์ได้

          แรงงานที่มีอยู่ ต้องเปลี่ยนแปลงทักษะเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงเป็นตัวเร่งในการทำงาน  ความเป็นหุ้นส่วน ผู้ประกอบการต้องมีความรู้ มีตัวชี้วัดที่เหมาะสม เน้นการพัฒนาที่ถูกต้องเหมาะสม และบูรณาการทำงาน

 

นายวรพงษ์ รวิรัฐ ที่ปรึกษา (อดีตนายก) สมาคมการจัดการงานบุคคลแห่งประเทศไทย

          สถานการณ์ด้านภาคอุตสาหกรรมมีการเติบโตขึ้นในปี 2015 แต่ยังคงมีระดับที่ค้างคาอยู่ อุตสาหกรรม Hi-tech เทคโนโลยี การวิเคราะห์ทรัพยากรบุคคล การรับนโยบาย การมีเครื่องมือเครื่องใช้อย่างเต็มที่ ระบบการบริหารและพัฒนาทรัพยากรบุคคลควรพัฒนาอย่างไร

          การบริหารทรัพยากรบุคคลเป็นอย่างไร  มีการพัฒนาอย่างไร โยงถึงบทบาทกระทรวงแรงงาน ที่มีการเปลี่ยนแปลงเติบโต และความคาดหวังในอนาคต การบริการที่แตกต่างจะเป็นปัญหา

          การเลือกใช้ระบบต่าง ๆ ขึ้นกับ HR จริง ๆ  แต่ผลคือจะทำให้ลูกจ้างยอมรับในความยุติธรรมด้านการบริการหรือไม่

          HR ขนาดใหญ่จะได้รับการยอมรับมากขึ้นต้องมีการพัฒนาอย่างจริงจัง

          1.เน้นรูปแบบไม่เน้นเนื้องานที่เป็นปัญหา

          2.โอกาสองค์กรต่าง ๆ

          3. การทำให้ลูกจ้างยอมรับในเรื่องความยุติธรรม และค่าตอบแทน HR จะสามารถอยู่ในใจลูกจ้างหรือไม่ ไม่ใช่นายจ้างอย่างลูกจ้างอย่าง  HR ต้องเข้าใจมากขึ้น นายจ้างให้โอกาสมากน้อยแค่ไหน

          แรงงานสัมพันธ์ที่ดี จะไม่มีความขัดแย้งกับความร่วมมือระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างที่แตกต่างกัน  เช่นถ้ามีเรื่องร้องเรียนมา ต้องสามารถแก้ไขให้ได้ภายใน 7 วัน ทั้งนายจ้างและลูกจ้างต้องมีบทบาทร่วมกันมากขึ้น

          สภาพอุตสาหกรรมขนาดเล็ก

          1. 4.0 นายจ้าง + ลูกจ้าง ต้องให้ความร่วมมือกันอย่างดีเท่านั้น

          - นายจ้างต้องหาตลาดใหม่ ๆ

          - การเปลี่ยนแปลงถ้าใครเปลี่ยนไม่ทันแพ้เลย

          - ศึกษาเทคโนโลยีใหม่ๆ ตลาดใหม่ ๆ เช่น อินเดีย ปากีสถาน โดยใช้จำนวนคนเท่าเดิม เครื่องจักรเท่าเดิม แต่ผลิตมากขึ้นเพื่อไปขายที่ใหม่มากขึ้น

          - เลิกคิดเรื่องกฎหมาย ใช้เหตุผลในการพูดคุย

การบริหารงาน HR

          1. ต้องเชื่อว่านักบริหาร HR เป็น Change Agent ต้องมีการคัดเลือกและใช้กระบวนการในการขับเคลื่อนองค์กร และได้รับความร่วมมือจากลูกน้อง

          2. มีระบบที่ดี มีกระบวนการที่ยุติธรรม อาทิการจ่ายเงินเดือน และโบนัสให้ยุติธรรม

          3. แรงงานสัมพันธ์เน้นการมีส่วนร่วม ต้องสร้างความมีส่วนร่วม ทำเพื่อองค์กรไม่ใช่ข้างใดข้างหนึ่ง 

4. การพัฒนาทรัพยากรบุคคล แยกกลุ่มที่ยังไม่พร้อมพัฒนา

5. สร้างค่านิยมองค์กรในการขับเคลื่อน วัฒนธรรมองค์กรในแนวเดียวกัน ยกตัวอย่างค่านิยมองค์กรหนึ่งเน้น เรื่องเคารพ ยอมรับ รวดเร็วถูกต้อง ทำงานเป็นทีม และนวัตกรรม โดยวิธีการสร้างค่านิยมให้วิเคราะห์ วิจัยตามความเชื่อ ป

 

น.ส.อัปสร กฤษณะสมิต ประธานสหพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจแห่งประเทศไทย

          วิธีการคือการลงลึกกับสภาพปัญหา ใช้วิธีการ Sub Contract มีวิธีคิด ค่านิยม ความเชื่อ ในองค์กรที่นำไปสู่เป้าหมายองค์กรเพื่อความอยู่รอด

          การทำงานของ HR กับสหภาพนั้นไม่ได้ต่างกัน แต่ HR มีหน้าที่ที่ต้องโดนสั่งให้ทำตามนโยบาย แต่สหภาพไม่ได้โดนสั่ง ดังนั้น HR + สหภาพ ก็คือคนเดียวกันได้

          ยกตัวอย่างเรื่องการไม่เชื่อฟังผู้ใหญ่โดยไม่คิด ต้องปรับไปสู่แนวคิดว่า ทำเพื่ออะไร ทำอย่างไร และเรามีส่วนร่วมอย่างไร เน้นการสร้างจิตสำนึกให้คนมีส่วนร่วมอย่างเรา สร้างความยุติธรรม ความสุจริตในองค์กร ไม่เอาเปรียบกัน

          สหพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจแห่งประเทศไทย เริ่มต้นเมื่อปี พ.ศ.2543 และจัดตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2549 มีพันธกิจคือ เป็นคณะกิจการสัมพันธ์ ดูแลลูกจ้างและสวัสดิการ

          การทำให้เกิดสหภาพแรงงานเป็นเรื่องยากเนื่องจากคนไม่เข้าใจว่ามีทำไม ดังนั้นการมีแรงงานสัมพันธ์ที่ดีต้องประสบกับตัวเอง และสามารถใช้กับตัวเองด้วย ทำอย่างไรให้ฝ่ายแรงงานสามัคคีกัน อาทิ การแก้ไข พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์

 

นายอนันต์ บวรเนาวรักษ์ ผู้อำนวยการสำนักแรงงานสัมพันธ์ กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน

          จากสถานการณ์ที่เป็นข้อพิพาท ข้อขัดแย้ง เน้นการส่งเสริมแรงงานสัมพันธ์ จะทำให้ข้อเรียกร้องจะลดลงไม่ถึง 1% สถานการณ์ที่มีจะเกิดขึ้นน้อย นำสู่การมีข้อจำกัดที่มากขึ้น

          เรื่องข้อพิพาท ข้อขัดแย้ง เป็นเรื่องปกติ จะแก้ไขจัดการอย่างไร ไม่ควรมีการนัดหยุดงาน หรือการก้าวล่วงการทำงานเกิดขึ้น

          สำนักแรงงานสัมพันธ์มีหน้าที่สร้างระบบให้แข็งแรง โดยใช้ระบบหุ้นส่วน  การคัดกลยุทธ์ และการคัดเลือกสถานประกอบการ และผู้ประกอบการดีเด่นเป็นตัวอย่าง

          มาตรการในการแก้ไขปัญหา จะให้นายจ้างและลูกจ้างได้พูดคุยกัน การรับฟังปัญหาและเฝ้าระวังปัญหา  แต่สิ่งที่พบคือสถานประกอบการให้โอกาสในการพูดคุยน้อยมาก ควรจัดให้มีเวทีในการพูดคุยกัน มีระบบทวิภาคี  มีการจัดตั้งและรับรองรายบุคคล ช่วยผลักดันและสร้างความสันติสุขและสงบสุข และนำไปสู่การผลักดันคนรุ่นใหม่ในการทำงานได้อย่างเห็นผลและเป็นธรรม

 

การร่วมแสดงความคิดเห็น

1. ควรมีการสอบวุฒิบัตรก่อนทำงานได้  คุณสมบัติคนที่ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทควรมีแนวคิดและทฤษฎีการจัดการความขัดแย้ง  ไม่ได้เอาเรื่องการจัดการเรียนรู้มาใช้ ทุกคนต้องเข้าใจเรื่องนี้ดี

2. อย่าฟังแต่ฝ่ายเดียว ต้องรู้วิธีการทำงานในการแก้ไขปัญหา  Maximize Profit ต้องหาความเป็นธรรมให้ได้  การพิจารณาความดีความชอบ มาตรการการลงโทษต้องมีมาตรฐาน  เพราะความขัดแย้งส่วนใหญ่เกิดจากความไม่เป็นธรรม ถ้าไม่สามารถแก้ไขได้จะทำให้การเข้าสู่ประเทศไทย 4.0 เป็นไปได้ยาก

3. การแยกหน้าที่ในการแก้ไขปัญหา การมีระบบรองรับในการจัดการปัญหาต่าง ๆ  การพัฒนาและส่งเสริมแรงงานในภาครัฐและเอกชน เพื่อสร้างจิตสำนึกในการทำงานและสร้างระบบที่เป็นธรรม

          ตอบ

- การประเมินที่นำมาใช้นั้นเป็นเพียงการประเมินเท่านั้น ไม่ได้เป็นการวัด การเอาเครื่องมือมาใช้ถ้าไม่รู้ข้อบกพร่องอาจเป็นปัญหา เครื่องมืออาจมีการเบี่ยงเบนได้เนื่องจากความคิดคน และไม่ได้ช่วยได้ 100 % แต่ยังดีกว่าไม่ไม่เครื่องมือ

          - Good Governance  ใช้เพื่อเจรจาทั้งฝ่ายนายจ้างแรงลูกจ้าง  การสร้างความเป็นธรรม เข้ามาช่วยในการพัฒนากฎระเบียบ สนับสนุนให้บริษัทมีธรรมาภิบาล จะช่วยทำให้การบริหารงานง่ายขึ้น

 

สรุปการสัมมนา

โดย ศ.ดร.จีระ หงส์ลดารมภ์

          1. ควรมองถึงการ Move จาก Micro ไปสู่ Macro หมายถึง Globalization ด้วย เพราะหลายคนมีบทบาทในระดับชาติและระดับข้ามชาติ จึงต้องผนึกกำลังกันเพื่อช่วยสังคม เศรษฐกิจการเมือง ประชาธิปไตย หมายถึง ความภาคภูมิใจที่มี Impact ต่อสังคมด้วย

          2. ให้ผู้เข้าร่วมสัมมนาคิดว่าได้อะไรจาการพูดในวันนี้มาคนละ 2 ประเด็นที่โดนใจ

          3. การร่วมมือกันที่จะเดินหน้าต่อไป อยากให้มีคณะทำงานเกิดขึ้น

          4. Impact ที่เกิดขึ้นในวันนี้ น่าจะทำงานต่อเนื่อง ต่อเนื่อง และต่อเนื่อง ถ้าจะเป็นองค์กร Impact ในอนาคตต้องทำการบ้านมากขึ้น

          5. น่าจะมี Working Group

          เรื่องทรัพยากรมนุษย์และแรงงานสัมพันธ์เป็นสงครามยืดเยื้อ ต้องสร้าง Impact ให้ทรัพยากรมนุษย์มีมูลค่าเพิ่ม ต้องผนึกกำลังสร้าง Synergy


บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย  ใน Chira Academy

แก้ไขล่าสุด ใน วันจันทร์ที่ 15 มกราคม 2018 เวลา 16:10 น.
 


หน้า 179 จาก 561
Home

About Us

ศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ (ศบม.) เป็นองค์กรที่พัฒนาและจัดทำโครงการเพื่อทำประโยชน์ให้สังคม เป็นองค์กรสนับสนุนการดำเนินงานของภาครัฐ ช่วยแก้ปัญหาผู้ประกอบการภาคธุรกิจบริการที่ขาดแคลนบุคลากรที่มีมาตรฐานในการให้บริการ
อ่านเพิ่มเติม

มูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ ์

 iHDC Profile
บัญชีรายชื่อกรรมการ
ใบสำคัญแสดงการจดทะเบียน การเปลี่ยนแปลงกรรมการของมูลนิธิ
เอกสารประชาสัมพันธ์ โครงการ HMTC.pdf
เอกสารแนะนำโครงการ HMTC 1.pdf
เอกสารโครงการ HMTC 2 คุณสมบัติผู้เข้าร่วมโครงการ.pdf
iHDC นิติบุคคล.pdf
iHDC บุคคล.pdf
iHDC บุคคลเครือข่าย.pdf
รายงานการประชุม 6 มีนาคม 2560.pdf
ข้อบังคับมูลนิธิ
ใบสำคัญแสดงการจดทะเบียนจัดตั้งมูลนิธิ
Ihdc-Profile and Roadmap 2016-2019 Mar 23 2560.pdf
รายงานการประชุมใหญ่คณะกรรมการมูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ 2559.pdf
คำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ สาขาวิชาชีพ.pdf
รายงานการประชุมใหญ่วันที่ 18 ธ ค 2558 v 3.pdf
รายงานการประชุม วันที่ 24 ธันวาคม 2557 updated 4 มีนาคม 2558.pdf
iHDC-invitation Letter.doc
iHDC-Member Form Thai.doc
iHDC-Member Form English.doc
รายงานการประชุมกรรมการมูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ วันที่ 15 มกราคม 2556 ฉบับสมบูรณ์


thaibetter
พัฒนาประเทศไทยแบบทวีคูณ และยั่งยืน ( ททค )

Login


แบบสำรวจ

สถิติเว็บไซด์

สมาชิก : 5644
Content : 3068
เว็บลิงก์ : 26
จำนวนครั้งเปิดดูบทความ : 8743964

facebook

Twitter


ล่าสุด

บทความเก่า