Thaiihdc.org

  • เพิ่มขนาดตัวอักษร
  • ขนาดตัวอักษรปกติ
  • สดขนาดตัวอักษร
Thaiihdc.org

EIC Research Series: เรื่องของ gig

พิมพ์ PDF

ผมได้อ่านรายงานการวิจัยด้านล่าง แล้วรู้สึกเป็นห่วงความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะความมั่นคงในครอบครัว อย่างไรก็ตาม ผมคิดว่างานวิจัยนี้ มุ่นเน้นไปที่คำตอบแบบผิวเผิน ไม่ได้ลงลึกถึงความจริงในด้านความมั่นคง นำเสนอเพียงแค่ความรู้สึกของความต้องการอิสระในการทำงาน แต่ไม่ได้วิจัยลึกลงไปถึงสาเหตุที่แท้จริงว่าทำไมคนชอบทำงาน "gig"

EIC Research Series: เรื่องของ gig EP1
ผู้เขียน: กัลยรักษ์ นัยรักษ์เสรี

ต้องอธิบายก่อนว่า gig ในที่นี้ ไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับ กิ๊ก ที่หมายถึงความสัมพันธ์ที่มากกว่าเพื่อนแต่ไม่ใช่แฟน หรือการแอบนอกใจไปคุยกุ๊กกิ๊กกับคนอื่น อย่างที่หลายคนเข้าใจ แม้คำอ่านจะพ้องเสียงกัน แต่ความหมายนั้นทิ้งห่างกันไกล

 

gig ในที่นี้ หมายถึง งานชั่วคราว งานที่รับจ้างเป็นระยะเวลาสั้นๆ และจบเป็นครั้งๆ ไป ไม่ยึดติดกับที่ใดที่หนึ่ง ตัวอย่างเช่น งานพาร์ทไทม์ งานฟรีแลนซ์ จุดเด่นของรูปแบบการทำงานนี้คือมีอิสระ ไม่ว่าจะเป็นการเลือกรับงานหรือเวลาทำงาน โดยค่าตอบแทนขึ้นอยู่กับจำนวนงานและความยากง่ายของงานที่ทำ ซึ่งระบบเศรษฐกิจที่ประกอบด้วยลักษณะการทำงานในรูปแบบนี้ เรียกว่า Gig Economy

 

ในประเทศไทย ศัพท์คำนี้อาจจะไม่เป็นที่คุ้นหู แต่ความจริงระบบการทำงานแบบ Gig Economy นั้นอยู่คู่กับประเทศไทยมานานแล้ว ด้วยความที่บ้านเราเป็นประเทศเกษตรกรรม ในฤดูเพาะปลูกและฤดูเก็บเกี่ยวที่ต้องใช้แรงคนเยอะๆ จึงเกิดอาชีพรับจ้างตามเรือกสวนไร่นาขึ้น หรือถ้าให้ใกล้ตัวขึ้นอีกหน่อย ลองนึกภาพอากงสมัยยังหนุ่มเพิ่งโล้สำเภาเข้ามาตั้งรกรากในไทย อาชีพเริ่มต้นของอากงในสมัยนั้นคือการรับจ้างแบกของส่งของให้เถ้าแก่เจ้าต่างๆ โดยรับเงินเป็นครั้งๆ ตามรอบที่ส่งได้ ถ้าเจ้าไหนไม่มีงานก็ไปรับจ้างจากเจ้าอื่น ไม่ได้มีพันธะสัญญาอะไรต่อกัน สิ่งที่อากงของเราทำนี่แหละคืองานแบบ gig

 

สำหรับยุคปัจจุบัน การเติบโตของโลกออนไลน์ และแนวคิดเศรษฐกิจแบ่งปัน (Sharing Economy) ทำให้ Gig Economy ยิ่งเฟื่องฟู ประเภทงาน gig ก็เริ่มมีความหลากหลาย บวกกับค่านิยมของคนยุคใหม่ที่ต้องการมีอิสระเป็นตัวของตัวเองก็ยิ่งทำให้ gig worker หรือคนที่รับงานรูปแบบ gig เพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อยๆ จนกลายเป็นที่พูดถึงกันในวงกว้างว่างานรูปแบบ gig ที่ว่านี้จะเข้ามาแทนที่รูปแบบงานนั่งโต๊ะที่เราทำกันอยู่ในไม่ช้า

 

แล้ว gig มันดียังไง ทำไมใครๆ ก็อยากเป็น

 

ว่าด้วยประชากรชาว gig

ก่อนจะถามตัวเองว่าอยากเป็น gig หรือไม่ หลายคนคงอยากรู้ว่าประชากรชาว gig นี่มีอยู่กี่คนกันแน่

 

แม้จะยังไม่มีประเทศไหนเปิดเผยตัวเลขอย่างเป็นทางการ แต่ Mckinsey Global ซึ่งเป็นสถาบันที่ปรึกษาชั้นนำ ประเมินว่าในสหรัฐฯ และประเทศแถบยุโรปมีจำนวนคนทำงานในลักษณะครั้งคราวรวมกันอยู่ 162 ล้านคน หรือราว 1 ใน 4 ของประชากรวัยทำงาน ถือเป็นตัวเลขที่สูง แถมยังมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นอีกเรื่อยๆ เผลอๆ อาจจะโตดีกว่าจำนวนคนทำงานในตลาดงานประจำเสียด้วยซ้ำ

ประเทศไทยเองก็ยังไม่มีการเก็บตัวเลขอย่างเป็นทางการเช่นกัน แต่ผลสำรวจของอีไอซี (จากผู้ตอบแบบสอบถาม 9,387 คน) พอจะทำให้เราประมาณการได้ว่าประชากรชาว gig มีอยู่ประมาณ 30% ของคนวัยทำงาน หมายความว่าในคนจำนวน 10 คน จะมีคนที่เป็น gig worker อยู่ 3 คน ซึ่งในสามคนนี้ก็แบ่งย่อยได้อีกเป็นคนที่มีงานประจำอยู่แล้วแต่รับงานอิสระเป็นส่วนเสริม 2 คน และคนที่รับงานอิสระหรืองานครั้งคราวอย่างเต็มตัว (เช่น คนที่เป็นฟรีแลนซ์) 1 คน

 

อาชีพยอดนิยมของเหล่า gig worker ชาวไทยคือ รับจ้างทั่วไป ธุรกิจส่วนตัว ขายสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ และลงทุนในหุ้นหรือสินทรัพย์อื่นๆ สำหรับอาชีพรับจ้างทั่วไปนั้นมีตั้งแต่ทำสวน แม่บ้าน บาริสต้าร้านกาแฟ ไปจนถึงวิชาชีพเฉพาะทาง อย่างแพทย์พยาบาล นักออกแบบกราฟิก นักกฎหมายและที่ปรึกษาทางการเงิน จะเห็นได้ว่าสายอาชีพของงานในรูปแบบ gig นั้นมีหลากหลาย และยังสามารถขยายขอบเขตประเภท เพิ่มความแปลกขึ้นได้อีกมาก เช่น ที่ญี่ปุ่น มีอาชีพคุณลุงรับจ้างไปเป็นเพื่อนทำธุระ บริการนี้เรียกว่า Ossan Rental (ossan ในภาษาญี่ปุ่นแปลว่า คุณลุง) แม้จะเพิ่งเปิดให้บริการมา 4 ปีแต่ก็ได้รับความนิยมสูง แถมเหล่าคุณลุงยังมีรายได้ดี คือราวๆ หนึ่งพันเยนต่อชั่วโมง (หนึ่งพันเยนอยู่ที่ราวๆ 300 บาท)

 

 

ใครใครก็เป็น gig ได้

แน่นอนว่าถึงไม่ใช่รุ่นลุง ก็สามารถรับงาน gig ได้ และค่าตอบแทนนั้นก็ไม่ได้จำกัดอยู่แค่ 300 บาทต่อชั่วโมงเช่นกัน

 

จากผลสำรวจของอีไอซี gig worker ชาวไทยนั้นมีความหลากหลายมาก ทั้งในแง่ของอายุ รายได้ ระดับการศึกษา ช่วงอายุที่มีสัดส่วนเป็น gig worker มากที่สุดคือรุ่นเบบี้บูมเมอร์ ซึ่งส่วนใหญ่มีฐานรายได้ที่มั่นคงแล้วจึงเลือกรับงานอิสระได้อย่างเต็มตัว ส่วนระดับรายได้นั้นมีตั้งแต่น้อยกว่า 9,000 บาทต่อเดือน ไปจนถึงมากกว่า 100,000 บาทต่อเดือน โดย gig worker ส่วนใหญ่ตอบว่าระดับรายได้อยู่ที่ประมาณ 15,000-50,000 บาท ต่างกันไปตามประเภทงาน คุณภาพงานและความขยันของคนทำ (คือขยันมากงานก็มาก เงินก็เยอะ)

 

อีกประเด็นที่ควรพูดถึงคือความหลากหลายในแง่ของการศึกษา อย่างที่เราพูดถึงกันในตอนแรกว่างาน gig ในประเทศไทยมีมานานแล้ว เช่น รับจ้างแบกของ รับจ้างเก็บเกี่ยวพืชผลตามไร่นา เป็นต้น ซึ่งสมัยก่อนคนที่รับงานเหล่านี้คือคนที่มีการศึกษาน้อย คนการศึกษาดีส่วนมากมักไปสมัครรับราชการซึ่งถือว่าโก้มากๆ เมื่อหลายสิบปีก่อน แต่มายุคนี้ เหล่า gig worker นั้นมีตั้งแต่คนที่จบน้อยกว่ามัธยมไปจนจบปริญญาเอก

 

จะเห็นได้ว่าเทรนด์ Gig Economy ทำให้ค่านิยมในรูปแบบการทำงานเปลี่ยนไป ทั้งยังทลายข้อจำกัดการทำงานในเรื่องอายุ ระดับการศึกษา หรือแม้แต่เชื้อชาติและภาษา ขอแค่มีทักษะ มีแรง มีเวลาที่จะทำงานได้ก็เพียงพอแล้ว ไม่ว่าใครก็สามารถรับงาน gig ได้

 

ใครใครก็อยากเป็น gig

อ่านถึงตรงนี้ ไหนใครอยากเป็น gig บ้างยกมือขึ้น

ไม่ต้องเขินอายไป เพราะไม่ใช่คุณคนเดียวที่มีความคิดนี้

ผลสำรวจของอีไอซีบอกเราว่าคนไทยที่อยากลาออกจากงานประจำมารับงาน gig นั้นมีมากถึง 86% นับเป็นตัวเลขที่สูงจนน่าจะทำให้หลายบริษัทที่จ้างพนักงานประจำเยอะๆ ต้องกุมขมับได้ แต่ที่เซอร์ไพรซ์ยิ่งไปกว่านั้นคือ จำนวนคนที่อยากเปลี่ยนงานมาเป็น gig worker นั้นมีมากเกิน 2 ใน 3 ของคนทุกกลุ่ม ไม่ว่าจะแบ่งด้วยช่วงอายุ สังกัดอาชีพ ระดับเงินเดือน หรือภาระทางบ้าน ตัวเลขเปอร์เซ็นต์อาจจะมากน้อยต่างกันไปบ้าง เช่น คนที่ทำงานบริษัทเอกชนอยากจะเปลี่ยนมากกว่าคนทำงานภาครัฐ คนเจนวายอยากเปลี่ยนมากกว่าคนรุ่นเบบี้บูมเมอร์ แต่โดยรวมแล้วก็จะอยู่ที่ระดับประมาณนี้

 

สาเหตุหลักๆ ที่ทำให้คนอยากเปลี่ยนมาทำงานเป็น gig worker ก็คือเรื่องการมีอิสระ

นี่คือข้อได้เปรียบสำคัญของการเป็น gig worker ซึ่งคนทั่วไปก็รับรู้แบบนั้น เพราะมันเป็นจุดขายที่แพลตฟอร์ม gig economy เจ้าใหญ่ๆ อย่าง Uber และ Task Rabbit ต่างเอามาใช้โฆษณาหาพาร์ทเนอร์ (ซึ่งก็คือคนขับหรือคนรับจ้างนั่นแหละ)

เป็นเจ้านายตัวเอง สร้างรายได้ทุกเมื่อที่คุณต้องการคือคำกล่าวชักชวนของ Uber

ถึงอย่างนั้นก็ตาม ใช่ว่าทุกคนที่อยากเปลี่ยนมารับงาน gig จะยอมลาออกจากงานประจำมาตามหาอิสรภาพแห่งการทำงานกันทุกคน ด้วยค่านิยมทางสังคม บวกกับภาระ และข้อผูกมัดอะไรหลายๆ อย่าง ทำให้คนเราไม่สามารถทำทุกอย่างได้ตามใจคิด

งั้นเรามาลองฟังความเห็นของคนที่เป็น gig worker กันดีกว่า ว่าที่เขาเลือกมารับงาน gig อย่างจริงๆ จังๆ นั้นเป็นเพราะอะไร

 

เหตุผลที่คนเป็น gig

หลังจากที่ได้พูดคุยกับคนรู้จักที่เป็น gig worker หลายๆ คน บวกกับดูตัวเลขในผลสำรวจของอีไอซี เราพอจะสรุปเหตุผลหลักที่คนเลือกมาทำงานในรูปแบบ gig ได้อยู่ 3 ข้อ

 

1.บริการจัดการเวลาได้เอง

 

ข้อนี้นับว่ามาแรงแซงโค้งที่สุด เพราะไม่ว่าจะจากการพูดคุยหรือจากผลสำรวจ gig worker ส่วนใหญ่ต่างเลือกตอบข้อนี้เป็นอันดับแรก การบริหารเวลาได้เองนี้ถือเป็นจุดเด่นของการทำงานในรูปแบบ gig ยกตัวอย่างเช่น ถ้าคุณเป็นฟรีแลนซ์ คุณก็สามารถแบ่งเวลาทำงานได้ตามใจตัวเอง อยากเริ่มทำงานตั้งแต่เช้า หรืออยากตื่นสายแล้วค่อยมานั่งปั่นงานตอนดึกๆ อยากแบ่งเวลาให้ครอบครัว พบปะเพื่อนฝูง อ่านหนังสือเตรียมสอบ หรือไปทำธุระอื่นๆ ได้หมดตามที่สบายใจ แม้จะฟังดูชีวิตดี แต่จุดเด่นข้อนี้ก็อาจทำให้ชีวิตคุณพังได้เช่นกัน ถ้าจัดสรรเวลาไม่เป็น หรือแยกชีวิตที่บ้านกับชีวิตทำงานไม่ออก

 

2.   ได้ทำงานจากความชอบ และความสุข

 

ความชอบและความสุขนี้หมายรวมไปถึงแพสชัน (passion) ซึ่งแปลความหมายได้ว่า ความหลงใหล ความปรารถนาอย่างแรงกล้าในการทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งด้วย สมัยนี้ ใครๆ ก็พูดถึงการหาความสุขใส่ตัวกันทั้งนั้น จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่หลายคนจะยอมทิ้งงานประจำเงินเดือนสูงๆ เพื่อออกมาทำในสิ่งที่ตัวเองชอบและมีแพสชันกับมัน เพื่อนชาว gig คนหนึ่งชอบสร้างสรรค์งานประดิดประดอยมากอยู่แล้วเป็นทุนเดิม พอเรียนจบเธอก็ได้งานประจำที่มั่นคงเงินเดือนดี จนสองปีหลังมานี้ก็เริ่มทำงานอิสระขายช่อดอกไม้แห้งผ่านโซเชียลคอมเมิร์ซไปด้วย แม้จะต้องเจียดเวลาว่างหลังเลิกงานมาทำ แม้จะต้องโบกมือลาวันหยุดแสนสบายออกไปเดินปากคลองตลาดเพื่อหาซื้อดอกไม้ แต่เธอก็ยืนยันที่จะสานกิจการเล็กๆ นี้ต่อ เพราะมันคือพื้นที่ที่สร้างความสุขให้กับเธอ

 

 

3.   เลือกงานได้เอง

 

ไม่ใช่แค่เลือกเวลาทำงานได้อย่างเดียว แต่ gig worker ยังเลือกงานที่ทำได้ด้วย ขอบเขตของการเลือกนั้นมีทั้งเลือกงานที่หลากหลายจะได้มีความรู้มีประสบการณ์รอบด้าน เลือกงานให้ไม่ซ้ำไม่จำเจเพื่อให้ไม่เบื่อ เลือกงานที่ท้าทายเพื่อพัฒนาฝีมือได้เรื่อยๆ เลือกงานที่ทำแล้วมีความสุข นี่อาจเป็นสิ่งที่งานประจำให้กับพนักงานไม่ได้ แต่งานในรูปแบบ gig นั้นไร้ข้อผูกมัด ไม่มีคนมาคอยชี้นิ้วสั่ง และถ้าต้องร่วมงานกับคนที่ไม่ชอบ ก็เซย์โนได้สบายๆ ไม่คิดมาก แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ระดับความเลือกเองก็มีผลต่อจำนวนงาน เคยลองถามเพื่อนที่เป็นล่ามฟรีแลนซ์ว่างานมาเยอะไหม เธอตอบว่าก็มีงานเข้ามาเรื่อยๆ ถ้าไม่ใช่คนเลือกมาก

 

คนโบราณสอนว่า โลภมากมักลาภหาย แต่สำหรับกรณีนี้ เลือกมากงานก็หายได้เช่นกัน

 

มีเหตุผลอีกสองสามข้อที่แม้จะได้แรงโหวตไม่มาก แต่ก็น่ายกขึ้นมากล่าวถึง เรื่องแรกคือการไม่มีข้อจำกัดด้านรายได้ อย่างที่รู้กันว่างานในรูปแบบ gig นั้นได้ค่าตอบแทนตามจำนวนงานหรือคุณภาพงานที่ทำ ขยันมากก็ได้มาก เก่งมากก็ได้มาก คนที่มีเป้าหมายเก็บเงินล้านให้ได้เร็วๆ คงจะชอบข้อดีนี้ เรื่องที่สองคือไม่มีข้อจำกัดด้านอายุ จากผลสำรวจ gig worker หลายคนก็อยู่ในวัยเกษียณหรือเข้าใกล้วันทำบุญแซยิดกันทั้งนั้น คนรับงาน gig จึงไม่มีความกังวลว่าเกษียณแล้วไปไหนดี ขอแค่มีทักษะต่างๆ ตรงตามเงื่อนไขของงานที่จะรับจ้างก็พอแล้ว เรื่องสุดท้ายคือเพื่อนร่วมงาน ถ้าได้เพื่อนร่วมงานดีชีวิตทำงานก็ดีไป แต่ถ้าไม่ ก็ไม่เป็นไร เพราะงาน gig รับแล้วก็จบเป็นครั้งๆ ไป เพื่อนร่วมงานไม่ดีก็เจอกันครั้งเดียวจบ หมดปัญหาดราม่า

 

ถ้าลองดูดีๆ จะเห็นว่าเหตุผลที่กล่าวมาทั้งหมดล้วนมีพื้นฐานมาจากความต้องการมีอิสระในการเลือก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเลือกเวลาทำงาน เลือกงาน เลือกระดับรายได้ หรือแม้แต่เลือกเพื่อนร่วมงานที่ตรงกับความพอใจของเรา จึงอาจกล่าวได้ว่า ในยุคนี้ที่ใครๆ ต่างบอกว่าเป็นยุคแห่งการปรับแต่งทุกสิ่งทุกอย่างตามความต้องการ (customization)  การปรับแต่งที่ว่านี้ไม่ได้จำกัดอยู่แค่เพียงสินค้าหรือประสบการณ์อีกต่อไป แต่เดินทางมาถึงการปรับแต่งการทำงานตามใจเราแล้วเช่นกัน 

 

นี่คงเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ใครๆ ก็อยากเป็น gig เพราะมันคือการทำงานในแบบที่คุณเลือกได้

แก้ไขล่าสุด ใน วันอาทิตย์ที่ 19 พฤศจิกายน 2017 เวลา 07:45 น.
 

Gig Economy: โลกยุคใหม่ของคนทำงาน

พิมพ์ PDF


ผมได้อ่านบทความของคุณกัลยรักษ์ นัยรักษ์เสรี ฉบับนี้หลังจากที่ได้เสนอความคิดเห็นในบทความของคุณกัลยรักษ์ ที่เขียนหลังจากบทความนี้ จากการได้อ่านทั้งสองตอน ถือว่าผู้เขียนได้นำเสนอประเด็นความคิดเห็นที่ได้จากการวิจัย ที่น่าสนใจมาก เป็นสิ่งที่ควรจะนำมาคิดและหาคำตอบที่แท้จริงว่าทำไมคนสมัยนี้จึงต้องการทำงานเป็น "gig" ตามเหตุผลที่ผู้เขียนได้นำมาเผยแพร่ อย่างไรก็ตามผมยังเชื่อว่าสิ่งที่ท่านนำมาเขียนโดยการอ้างอิงถึงงานวิจัย ผมยังคงมีความเห็นเช่นเดียวกับที่นำเสนอไว้คราวแรก คือน่าจะมีสาเหตุที่สำคัญมากกว่าความพอใจในการทำงานอิสระ เพียงด้านเดียว ต้องนำประเด็นของความมั่นคงเข้ามาพิจารณาด้วย   เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญที่เกี่ยวเนื่องกับความมั่นคงทางเศรษฐทั้งของส่วนตัว ครอบครัว สังคม และประเทศชาติ 

ม.ล.ชาญโชติ ชมพูนุท

19 พ.ย.2560

Gig Economy ในยุคใหม่ของคนทำงาน

ผู้เขียน: กัลยรักษ์ นัยรักษ์เสรี

เผยแพร่ในนิตยสารการเงินธนาคาร ฉบับเดือนตุลาคม 2017

Gig Economy คืออะไร

ถ้าดูที่ความหมาย แท้จริงแล้ว Gig เป็นคำแสลง หมายถึงการแสดงของนักดนตรีหรือวงดนตรีที่รับจ้างเป็นครั้งๆ ไป ซึ่งภายหลังก็รวมไปถึงงานประเภทอื่นๆ ที่มีลักษณะเป็นครั้งคราวด้วย ประกอบกับกระแสที่คนยุคนี้หันมานิยมทำงานอิสระรับงานเป็นช่วงเวลาสั้นๆ ไม่ยึดติดกับที่ใดที่หนึ่ง ท่ามกลางการเติบโตของแพลตฟอร์มออนไลน์ที่สร้างช่องทางการหารายได้ใหม่ๆ โดยไม่ยึดติดกับรูปแบบการทำงานเดิม ลักษณะการทำงานแบบนี้จึงถูกเรียกว่าGig Economy หมายถึงระบบเศรษฐกิจที่ประกอบด้วยงานครั้งคราว หรืองานที่รับจ้างจบเป็นครั้งๆ ไป


แล้วใครถูกรวมอยู่ใน Gig Economy บ้าง คำตอบคือ เหล่าฟรีแลนซ์ พาร์ทไทม์ เอาท์ซอร์ส ไปจนถึงคนที่รับจ้างผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ เช่น คนขับ Uber และคนที่รับงานผ่าน Upwork หรือ Gigwalk เป็นต้น ลักษณะสำคัญของคนทำงานเหล่านี้ คือมีอิสระ ไม่ว่าจะเป็นการเลือกรับงานหรือเวลาทำงาน โดยได้รับค่าตอบแทนตามจำนวนงานที่ทำ ที่สหรัฐฯ สถาบันวิจัย Brookings เผยว่าการจ้างงานใน Gig Economy กำลังเติบโตรวดเร็วยิ่งกว่าในตลาดงานประจำเสียด้วยซ้ำ


ข้อดีของการทำงานในรูปแบบ Gig Economy คือมีความยืดหยุ่นในเรื่องเวลาทำงาน เราสามารถบริหารจัดการเวลาและจัดลำดับความสำคัญของงานได้ตามใจ แต่ในขณะเดียวกัน ก็ต้องแลกมาด้วยความไม่มั่นคงจากรายได้ที่ไม่แน่นอน และยังเสี่ยงถูกแย่งงานจากคนอื่นที่มีฝีมือหรือทักษะแบบเดียวกัน


Gig Economy ถือเป็นอีกหนึ่งเทรนด์แรงของยุคนี้ เพราะได้เข้ามาเปลี่ยนรูปแบบการทำงาน การจ้างงาน รวมถึงความสัมพันธ์ระหว่างนายจ้างและลูกจ้างในปัจจุบัน กลายเป็นเรื่องใกล้ตัวที่น่าจับตามองว่าในอนาคตชีวิตการทำงานของเราจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้าง


Gig Economy เติบโตจากอะไร

ปัจจัยหลักที่ส่งเสริมการเติบโตของ Gig Economy มีอยู่ 3 ข้อ

1. สังคมออนไลน์ โลกออนไลน์เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ Gig Economy เติบโตอย่างก้าวกระโดด เพราะทำให้
อุปสงค์ (คนที่ต้องการว่าจ้าง) กับอุปทาน (คนที่ต้องการงาน) มาเจอกันได้ง่ายขึ้น โดยมีแพลตฟอร์มออนไลน์เป็นคนกลาง ยกตัวอย่างเช่น TaskRabbit แอปพลิเคชันสำหรับหาเพื่อนบ้านมาช่วยงานและทำธุระแทน เช่น ทำความสะอาดบ้าน ซ่อมท่อประปา ย้ายของ จ่ายบิลค่าไฟ ฯลฯ ในกรณีนี้อุปสงค์ก็คือเจ้าของบ้านที่อยากได้คนช่วยงาน ส่วนอุปทานก็คือเพื่อนบ้านที่กำลังว่างและมีแรงจะมาช่วยงานได้ 


2. แนวคิดเศรษฐกิจแบ่งปัน (sharing economy) ชวนให้เรานำของที่มีอยู่มาแบ่งให้คนอื่นใช้งาน แนวคิดนี้ทำให้เกิดงานและช่องทางหารายได้ใหม่ๆ ตัวอย่างเช่น Airbnb เปิดโอกาสให้คนนำที่พักมาปล่อยเช่า Spinlister นำจักรยานมาให้คนอื่นยืม หรืออย่าง Grab และ Uber ที่เราคุ้นเคยกันดีก็สร้างโอกาสหารายได้กับคนที่มีรถด้วยการนำออกมาให้บริการรับส่ง กลายเป็นช่องทางหาเงินใหม่ๆ โดยไม่ยึดติดกับการทำงานนั่งโต๊ะแบบเดิม


3. ไลฟ์สไตล์ของคนยุคใหม่ ที่ต้องการมีอิสระ ได้ทำตามใจตัวเอง ทั้งในการตัดสินใจเรื่องงานและการบริหารเวลาในชีวิต ซึ่ง Gig Economy ก็เข้ามาตอบโจทย์ความต้องการตรงนี้ได้เป็นอย่างดี เราจึงได้เห็นคนยุคนี้เมินงานประจำมาเป็น gig worker กันมากขึ้น ตอนเช้าอาจจะรับงานฟรีแลนซ์ ตอนบ่ายออกไปเป็นคนขับ Grab ตอนเย็นรับจ้างสอนพิเศษ พร้อมๆ กันนี้ก็ปล่อยห้องว่างที่บ้านให้นักท่องเที่ยวเช่าผ่าน Airbnb ไปด้วย นี่เป็นตัวอย่างชีวิตออกแบบได้ของเหล่า gig worker ซึ่งตรงกับไลฟ์สไตล์ของคนยุคปัจจุบัน และยังมีแนวโน้มจะเปลี่ยนแปลงไปได้อีกมาก


สถานการณ์ Gig Economy ในโลกไปถึงไหนแล้ว

ในแวดวงบ้านเรา คำว่า Gig Economy อาจจะยังไม่เป็นที่รู้จักกว้างขวาง แต่ถ้ามองไปทางฝั่งประเทศตะวันตกจะเห็นว่ามีการพูดถึงเศรษฐกิจรูปแบบใหม่นี้กันอย่างครึกโครม ทั้งยังมีงานวิจัย และงานเขียนที่จับประเด็นน่าสนใจออกมาเป็นจำนวนมาก


งานวิจัยจากสถาบัน McKinsey Global เผยว่าตัวเลขประชากร gig worker ในสหรัฐฯ อยู่ที่ประมาณ 54-68 ล้านคน หรือคิดเป็นราวๆ 40% ของจำนวนแรงงานทั้งประเทศ นับเป็นตัวเลขที่สูงจนน่าตกใจ โดยในจำนวนนี้มีทั้งคนที่รับงานอิสระแบบเต็มตัว (คนที่เป็นฟรีแลนซ์) และคนที่มีงานประจำอยู่แล้วแต่รับงานอิสระเป็นส่วนเสริม ผลสำรวจยังบอกอีกว่า gig worker ส่วนใหญ่เลือกรับงานอิสระเพราะอยากหาสมดุลชีวิตและการทำงาน (work-life balance) ในขณะที่บางส่วนเลือกทำด้วยความจำเป็นเพราะหางานอื่นที่ดีกว่าไม่ได้ นอกจากนี้ สหรัฐฯ ยังเป็นประเทศแรกๆ ที่มีโครงการสำรวจประชากร gig worker ในประเทศอย่างจริงจัง ซึ่งการสำรวจดังกล่าวจัดทำโดยสำนักงานสถิติแรงงาน และน่าจะมีผลออกมาให้เราเห็นประมาณปี 2018


อย่างไรก็ตาม Gig Economy ก็สร้างข้อถกเถียงขึ้นเช่นกัน หนึ่งในนั้นคือเรื่องสิทธิขั้นพื้นฐานที่แรงงานควรจะได้ เนื่องจาก gig worker ไม่ได้รับสิทธิประโยชน์เหมือนคนทำงานทั่วไป เช่น วันลา ประกันสุขภาพ และค่าจ้างขั้นต่ำ พูดง่ายๆ คืออาจถูกผู้ว่าจ้างเอาเปรียบโดยไม่รู้ตัว สำหรับประเด็นนี้ เทศบาลนครนิวยอร์กก้าวหน้ากว่าใครเพื่อน ด้วยการออกกฎหมาย “Freelance isn’t free Act” ให้สิทธิประโยชน์พื้นฐานกับเหล่าคนทำงานอิสระ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสัญญาการจ้างงานแบบเป็นลายลักษณ์อักษร การได้รับเงินตามระยะเวลาทำงาน รวมถึงการคุ้มครองต่างๆ โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่เดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา


ที่น่าสนใจคือ เมื่อเร็วๆ นี้แพลตฟอร์ม Gig Economy เจ้าใหญ่หลายแห่งในสหรัฐฯ ได้เรียงแถวออกมาประกาศให้สวัสดิการและสิทธิประโยชน์กับเหล่า gig worker เหตุผลหนึ่งก็คือจำนวนคนรับจ้างนั้นเข้ามาเยอะก็จริง แต่ก็ลาออกเยอะเช่นกัน อย่างคนขับรถ Uber เข้าใหม่เกือบครึ่งก็เลิกขับตั้งแต่ปีแรก นั่นทำให้ Uber ออกนโยบายอนุญาตให้คนขับสามารถรับทิปจากลูกค้าได้ และมีประกันช่วยเหลือกรณีที่เกิดอุบัติเหตุในระหว่างทำงาน ในขณะที่บริษัทคู่แข่งอย่าง Lyft ก็ให้สิทธิประโยชน์อย่างบริการซ่อมบำรุงรถ ส่วน DoorDash ที่ให้บริการส่งอาหารจากร้านถึงหน้าบ้านก็เสนอการจ่ายเงินค่าแรงในวันถัดมา เรียกได้ว่าฝั่งผู้ว่าจ้างใน Gig Economy ก็ต้องหาทางให้สิทธิประโยชน์เพื่อจูงใจคนทำงานเช่นกันแม้ว่าจะไม่มีกฎหมายออกมาบังคับก็ตาม


มาดูทางฝั่งเอเชียกันบ้าง ที่ญี่ปุ่น มีงานวิจัยออกมาเปิดเผยว่า Gig Economy เป็นหนึ่งในตัวการทำให้อัตราการเกิดของประเทศยิ่งตกต่ำ อาจจะดูไม่เกี่ยวข้องกันเท่าไหร่ แต่สำหรับญี่ปุ่นที่มีค่านิยมคาดหวังให้ผู้ชายเป็นเสาหลักในการหาเลี้ยงครอบครัว การมีงานประจำถือเป็นปัจจัยที่สำคัญสำหรับการแต่งงาน ยิ่งคนออกมาเป็น gig worker รับงานชั่วคราวกันมากขึ้น อัตราการแต่งงานก็ยิ่งน้อยลง ส่งผลให้โอกาสการมีลูกน้อยลงไปด้วย ผลสำรวจของสถาบันเทคโนโลยีแห่งโตเกียวพบว่า เมื่ออายุถึงวัยสามสิบต้นๆ มีเพียง 30% ของกลุ่มคนที่ไม่ได้ทำงานประจำตัดสินใจแต่งงาน เทียบกับกลุ่มมนุษย์เงินเดือนที่มีสัดส่วนนี้สูงถึง 56%


Gig Economy กับประเทศไทย

แม้กระแสจะแรงไม่เท่าเมืองนอก แต่ Gig Economy ในประเทศไทยก็เติบโตขึ้นเรื่อยๆ เห็นได้จากการเปิดตัวเว็บไซต์หางานสำหรับชาวฟรีแลนซ์โดยเฉพาะ อย่าง Fastwork และ Freelancebay แพลตฟอร์มออนไลน์ใหม่ๆ เช่น Lalamove FindMaid และ Helpster ก็เป็นส่วนช่วยให้ gig worker ในไทยเพิ่มจำนวนอย่างรวดเร็ว


คำถามถัดมาคือ เราจะปรับตัวกันอย่างไรในวันที่โลกแห่งการทำงานเปลี่ยนแปลงไปแบบนี้

สำหรับคนที่เป็นนายจ้าง รวมไปถึงบริษัทที่มีการจ้างพนักงาน อาจต้องหันมาพิจารณาสัญญาจ้างแบบระยะสั้น ขยายอายุเกษียณ หรือผ่อนปรนในเรื่องเวลาการทำงานเพื่อให้สอดรับกับรูปแบบการใช้ชีวิตของคนยุคปัจจุบัน ตัวอย่างเช่น ให้โควตาทำงานจากที่บ้านหนึ่งวันต่อเดือน และปรับการคิดเวลาทำงานเป็นจำนวนชั่วโมงแทนเวลาการเข้า-ออกงานเป๊ะๆ แบบเก้าโมงเช้าถึงห้าโมงเย็น ซึ่งบริษัทหลายแห่งในไทยก็นำสองแนวคิดนี้ไปใช้จริงแล้ว


ส่วนคนทำงาน ไม่ว่าปัจจุบันจะเป็นมนุษย์เงินเดือน เป็นฟรีแลนซ์ หรือเป็น gig worker สิ่งสำคัญคือต้องพัฒนาทักษะที่ตัวเองมีอยู่ให้เชี่ยวชาญ มีความรู้รอบด้าน เพราะไม่ว่าในอนาคตเราจะเปลี่ยนไปทำงานในรูปแบบใด สิ่งสำคัญที่จะทำให้อยู่รอดได้คือความพร้อมที่จะเผชิญกับความไม่แน่นอนอยู่เสมอ


Gig Economy เป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่าการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา บางเรื่องอาจเป็นสิ่งที่เราคาดไม่ถึง ทั้งยังข้องเกี่ยวกับชีวิตประจำวันของเรายิ่งขึ้นเรื่อยๆ ใครที่ยังยึดติดอยู่กับสิ่งเดิมๆ และไม่ยอมปรับตัวให้ทันก็อาจตกขบวนรถไฟแห่งการเปลี่ยนแปลงนี้ได้โดยไม่รู้ตัว


แก้ไขล่าสุด ใน วันอาทิตย์ที่ 19 พฤศจิกายน 2017 เวลา 08:20 น.
 

ปฏิรูปการศึกษาไทยโดยไม่หลงเป้า

พิมพ์ PDF

เป้าหมายหมายเลขหนึ่งของการปฏิรูปการศึกษาคือตัวเด็ก  ไม่ใช่โรงเรียน  ไม่ใช่ครู    ไม่ใช่กระทรวงศึกษาธิการ    ไม่ใช่การเมือง


กล่าวใหม่ว่า เป้าหมายหมายเลขหนึ่งของการปฏิรูปการศึกษาคือคุณภาพของพลเมืองของไทยในอนาคต   เป้าหมายอื่นๆ เป็นเรื่องรอง  เป็นปัจจัยประกอบ    หรือเป็น means  ไม่ใช่ end 


เมื่อตกลงกันได้เช่นนี้แล้ว  ก็มาสู่ประเด็นหลักที่สอง ของการปฏิรูปการศึกษา     ว่าทำอย่างไรคนไทย ในอนาคตจึงจะมีคุณภาพสูง

 

คำตอบของผมคือ ต้องให้นักเรียนและนักศึกษาได้เรียนรู้อย่างมีคุณภาพ ในสองพื้นที่ ที่ผมเเรียกว่า “พื้นที่ 1/3”  กับ “พื้นที่ 2/3” 


ชั้นเรียนและโรงเรียน คือพื้นที่ 1/3    สังคมรอบตัวเด็ก และครอบครัว คือพื้นที่ 2/3    ตัวเลข 1/3 บอกว่า การเรียนรู้ของเด็กเกิดขึ้นในพื้นที่นั้นหนึ่งในสามส่วนของทั้งหมด    และตัวเลข 2/3 บอกว่าผลการเรียนรู้ของเด็ก เกิดจากการเรียนรู้ในพื้นที่นอกโรงเรียน คือในสังคม และในครอบครัว


กล่าวเช่นนี้ ไม่ได้หมายความว่าผมยุให้โรงเรียนและกระทรวงศึกษาธิการหดเข้ามารับผิดชอบดำเนินการเฉพาะ ภายในโรงเรียน หรือพื้นที่ 1/3 เท่านั้น    แต่หมายความว่าโรงเรียนและกระทรวงศึกษาธิการต้องยื่นมือออกไปร่วมมือกับ ภาคส่วนนอกวงการศึกษา    เพื่อจัดพื้นที่ 2/3 ให้เป็นพื้นที่เรียนรู้เชิงบวก เรียนเพื่อพัฒนาสัญชาตญาณด้านดีของความ เป็นมนุษย์   

เพราะหากไม่ระวัง สังคมจะทำร้ายเด็ก หากินกับการมอมเมาเยาวชน ที่รู้เท่าไม่ถึงการณ์     โปรดสังเกต สภาพแวดล้อมของตัวเด็กไทยในปัจจุบันดูเถิด  จะเห็นว่าเป็นสภาพที่ชักจูงไปสู่ทางเสื่อมหรืออบายมุขเต็มไปหมด    มีมากกว่าพื้นที่เชิงบวก ที่ชักชวนเยาวชนให้ปฏิบัติเพื่อฝึกฝนความเป็นคนดีคนเข้มแข็งทนความเย้ายวนของสิ่งล่อใจ หรืออบายมุขได้


ระบบการศึกษาที่เข้มแข็ง พื้นที่ 2/3 ต้องเข้มแข็ง     และผู้จัดการหมายเลขหนึ่งของพื้นที่นี้ต้องไม่ใช่ระบบ bureaucracy   เพราะจะทำไม่ได้ผล    กลไกขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น  และภาคประชาสังคม  รวมทั้งภาคครอบครัว ต้องเข้ามาร่วมกันเป็นแกนนำ จึงจะทำได้สำเร็จ    โดยต้องดึงกลไกทางสังคมที่มีอยู่มาร่วม  ที่ลืมไม่ได้คือวัด 


วิจารณ์ พานิช

๑๓ ต.ค. ๖๐

บนเครื่องบิน EVA Air จากนิวยอร์กไปไทเป  

แก้ไขล่าสุด ใน วันอาทิตย์ที่ 19 พฤศจิกายน 2017 เวลา 00:05 น.
 

ชีวิตที่พอเพียง 3046. ยักษ์ดิจิตัลทั้งห้า

พิมพ์ PDF

บทความเรื่อง The Rise and Stumbles of the Digital Giants เขียนโดย Farhad Manjoo ลงพิมพ์ใน นสพ. New York Times ฉบับวันที่ ๑๒ ตุลาคม ๒๕๖๐ น่าอ่านมาก (๑)    


ผู้เขียนชี้ให้เห็นพลังของยักษ์ทั้งห้า คือ อะเมซอน, แอปเปิ้ล, เฟสบุ๊ก, ไมโครซอฟท์, และอัลฟาเบท (บริษัทแม่ของกูเกิ้ล)    ว่าอยู่ที่การสร้างและขยาย platform ขึ้นมาทำธุรกิจให้บริการ    เขาเรียกบริษัททั้งห้าว่า  “ผู้น่ากลัวทั้งห้า” (The Frightful Five)


ความน่ากลัวอยู่ที่เขารู้ไส้ (ข้อมูลของ) เราหมด    และนำไปใช้ประโยชน์ทางธุรกิจ    ใช้พลังของ เทคโนโลยีเพื่อกำไรสูงสุด    ใช้พลัง platform ของตนขยายกิจการเพื่อควบคุมโลก สังคม และตัวเรา ให้ต้องอยู่ใต้อาณัติ


ผู้เขียนเขียนบทความตอนแรกนี้วิเคราะห์อุตสาหกรรมบันเทิง     ที่ยุคดิจิตัลนำมาซึ่งความถดถอย ของอุตสาหกรรมสร้างสรรค์    และทำให้บริษัทขายหนังสือยักษ์ใหญ่ Barns & Noble ต้องปิดตัวลง     แต่ต่อมาไม่นาน กลับเป็นยุครุ่งเรืองของร้านหนังสืออินดี้ คือคนกลับมาอ่านหนังสือกระดาษ    รวมทั้งบริษัทยักษ์ใหญ่ดิจิตัลต้องการสร้างตลาดบันเทิง    และว่าจ้างศิลปินบางคนในราคาสูงลิ่ว


ผู้เขียนบอกว่า แม้บริษัทยักษ์ใหญ่ดิจิตัลทั้งห้า จะครอบครอง platform    แต่เขาไม่เข้าใจจินตนาการ  ปรีชาญาณ (talent)  และแรงบันดาลใจเชิงนามธรรม ของมนุษย์   


ผมใคร่ครวญและสรุปเอง (ไม่ทราบว่าผิดหรือถูก) ว่ายักษ์ทั้งห้าตนใดตนหนึ่งจะอยู่ได้ไม่นาน หากคิดครองโลก     คิดตักตวงเอามาเป็นของตนเอง และทำลายล้างคู่แข่งหรือผู้ขวางทาง     ตัวอย่างใน ระดับประเทศเห็นจะจะ ทั้งในปัจจุบัน และในประวัติศาสตร์ 


โลกของความโลภสุดขั้ว มุ่งรวบทุกอย่างเข้าเป็นของตน     ไม่มีทางยั่งยืน    ไม่มีทางสู้โลกแห่งทางสายกลาง  ความพอดี     มีทั้งให้และเอาอย่างพอเหมาะพอควร ความร่วมมือ และความใจกว้าง นำสู่เส้นทางแห่งความยั่งยืน     ความโลภสุดขั้ว ยึดการแข่งขันทำลายล้าง     ไม่นำสู่ความยั่งยืน  .... SDG


นสพ. The New York Times ฉบับวันที่ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๖๐ ลงบทความหน้า ๑ เรื่อง Tech giants, once saviors, now viewed as threat ()  เขียนโดย David Streitfeld    กล่าวถึงยักษ์ใหญ่ทั้งสี่ คือ Facebook, Amazon, Google, Apple ว่าตกเป็นเหยื่อของความโลภ   มีการใช้สารสนเทศหาเงิน  และมีการบิดเบือนข้อมูลข่าวสาร เพื่อผลประโยชน์ของตน    นำไปสู่ความเสื่อมของตนเอง 


วิจารณ์ พานิช

๑๓ ต.ค. ๖๐ 

บนเครื่องบิน EVA Air จากนิวยอร์กไปไทเป 

และ ๑๔ ต.ค. ๖๐   บนเครื่องบิน EVA Air จากไทเปกลับกรุงเทพ

แก้ไขล่าสุด ใน วันเสาร์ที่ 18 พฤศจิกายน 2017 เวลา 23:27 น.
 

การเมืองเรื่องสถิติเศรษฐกิจ

พิมพ์ PDF

"นี่คือเรื่องการเมืองว่าด้วยการพัฒนาประเทศอย่างสมดุล เราควรเอาใจใส่การเมืองภาพใหญ่ของสังคม ไม่ใช่สนใจแต่เรื่องเล็กๆ จุกจิก และเรื่องระยะสั้น อย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน"

การเมืองเรื่องสถิติเศรษฐกิจ

บทความใน นสพ. Financial Times ฉบับวันที่ ๑๖ พฤศจิกายน ๒๕๖๐ หน้า ๙ เรื่อง A measure that cuts statistics off from reality เขียนโดยศาสตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์ Diane Coyle แห่งมหาวิทยาลัย แมนเชสเตอร์ น่าอ่านมาก    อ่านง่าย และอ่านแล้วเปิดกระโหลกผม    ว่าดัชนีบอกความเติบโตทางเศรษฐกิจที่ใช้ในปัจจุบัน (คือ จีดีพี) มันหลอกลวง หรือชักนำไปในทางที่ทำให้สังคมเสื่อมโทรมอย่างไร

จีดีพี ไม่ได้สะท้อนภาพรวมของเศรษฐกิจทั้งหมด    สะท้อนเฉพาะเศรษฐกิจตลาด หรือภาคที่เป็นทางการเท่านั้น    เขาเรียกว่า marketed economic activity    ละเลยเศรษฐกิจนอกภาคตลาด ที่เขาเรียกว่า total economic welfare  

ครอบครัวที่ภรรยาอยู่บ้านดูแลเลี้ยงดูลูก ให้เติบโตเป็นคนแข็งแรง สมองดี จิตใจดี เป็นพลเมืองดีของสังคม ไม่มีส่วนยกระดับ จีดีพี    แต่มีส่วนยกระดับ total economic welfare    เพราะตามทฤษฎี capability ของ Amartya Sen   ระดับการพัฒนาศักยภาพของคนเป็นการยกระดับเศรษฐกิจอย่างหนึ่ง    และอยู่ในหมวด total economic welfare   

บทความบอกว่า เป็นที่ยอมรับกันว่า สถิติว่าด้วยเศรษฐกิจ ที่ใช้อยู่ในปัจจุบันต้องมีการเปลี่ยนแปลง    ให้นับพัฒนาการส่วนที่ไม่เป็นเงินอย่างครอบคลุมมากขึ้น    ได้แก่ สินทรัพย์ทางธรรมชาติ (natural capital),  สินทรัพย์ที่นับไม่ได้ (intangible assets),  โครงสร้างพื้นฐาน  สินทรัพย์ทางสังคม (social capital),  และทรัพยากรมนุษย์  

เขาทำนายว่า จีดีพี จะหมดความหมายภายใน ๑๐ - ๒๐ ปี

ผมมองว่า นี่คือเรื่องการเมืองว่าด้วยการพัฒนาประเทศอย่างสมดุล    เราควรเอาใจใส่การเมืองภาพใหญ่ของสังคม    ไม่ใช่สนใจแต่เรื่องเล็กๆ จุกจิก  และเรื่องระยะสั้น  อย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

วิจารณ์ พานิช

๑๗ พ.ย. ๖๐

สนามบินเชียงใหม่


 

บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย  ใน บันทึกการเมืองไทย

แก้ไขล่าสุด ใน วันเสาร์ที่ 18 พฤศจิกายน 2017 เวลา 22:32 น.
 


หน้า 182 จาก 561
Home

About Us

ศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ (ศบม.) เป็นองค์กรที่พัฒนาและจัดทำโครงการเพื่อทำประโยชน์ให้สังคม เป็นองค์กรสนับสนุนการดำเนินงานของภาครัฐ ช่วยแก้ปัญหาผู้ประกอบการภาคธุรกิจบริการที่ขาดแคลนบุคลากรที่มีมาตรฐานในการให้บริการ
อ่านเพิ่มเติม

มูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ ์

 iHDC Profile
บัญชีรายชื่อกรรมการ
ใบสำคัญแสดงการจดทะเบียน การเปลี่ยนแปลงกรรมการของมูลนิธิ
เอกสารประชาสัมพันธ์ โครงการ HMTC.pdf
เอกสารแนะนำโครงการ HMTC 1.pdf
เอกสารโครงการ HMTC 2 คุณสมบัติผู้เข้าร่วมโครงการ.pdf
iHDC นิติบุคคล.pdf
iHDC บุคคล.pdf
iHDC บุคคลเครือข่าย.pdf
รายงานการประชุม 6 มีนาคม 2560.pdf
ข้อบังคับมูลนิธิ
ใบสำคัญแสดงการจดทะเบียนจัดตั้งมูลนิธิ
Ihdc-Profile and Roadmap 2016-2019 Mar 23 2560.pdf
รายงานการประชุมใหญ่คณะกรรมการมูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ 2559.pdf
คำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ สาขาวิชาชีพ.pdf
รายงานการประชุมใหญ่วันที่ 18 ธ ค 2558 v 3.pdf
รายงานการประชุม วันที่ 24 ธันวาคม 2557 updated 4 มีนาคม 2558.pdf
iHDC-invitation Letter.doc
iHDC-Member Form Thai.doc
iHDC-Member Form English.doc
รายงานการประชุมกรรมการมูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ วันที่ 15 มกราคม 2556 ฉบับสมบูรณ์


thaibetter
พัฒนาประเทศไทยแบบทวีคูณ และยั่งยืน ( ททค )

Login


แบบสำรวจ

สถิติเว็บไซด์

สมาชิก : 5644
Content : 3068
เว็บลิงก์ : 26
จำนวนครั้งเปิดดูบทความ : 8744282

facebook

Twitter


ล่าสุด

บทความเก่า