Thaiihdc.org

  • เพิ่มขนาดตัวอักษร
  • ขนาดตัวอักษรปกติ
  • สดขนาดตัวอักษร
Thaiihdc.org

ยุคกุความจริง

พิมพ์ PDF

ชีวิตที่พอเพียง : 3030. ยุคกุความจริง

บทความเรื่อง Post-Truth : The Dark Side of the Brain ในนิตยสาร Scientific American Mind ฉบับเดือนกันยายน ๒๕๖๐    บอกว่ายุคนี้เป็นยุค “กุความจริง”    โดยเฉพาะในวงการการเมือง    โดยเขายกตัวอย่างประธานาธิบดี โดแนล ทรัมป์

ทำให้ผมคิดว่า ในเมืองไทยเราก็ใช่ย่อย 

เขาบอกว่าปรากฏการณ์กุความจริงแพร่หลายและนิยมทำกันในยุคนี้ เพราะเทคโนโลยีเอื้ออำนวย (เครือข่ายโซเชี่ยล)   และสมองมนุษย์ก็ร่วมมือด้วย     คือสมองไม่ได้ทำงานอย่างแม่นยำ ยึดข้อมูลหลักฐาน      แต่เต็มไปด้วยอคติ   คือมักจะรับรู้เรื่องราวข่าวสารที่ตรงกับความเชื่อของตนเอง     เขาบอกว่าสมองมนุษย์ ชอบเรื่องราว    ทั้งเรื่องจริงและเรื่องไม่จริง     คนเราจึงชอบอ่านนิทาน หรือนิยาย

นักวิทยาศาสตร์สมอง ทำวิจัยสแกนสมองด้วยเครื่อง fMRI    ขณะอ่านสาระจากโซเชี่ยลมีเดีย    ดูว่าสมองส่วนไหนสว่าง (ทำงาน) สัมพันธ์กับการแชร์หรือไม่แชร์ต่อ   เขาสรุปว่าการแชร์หรือไม่แชร์ข่าว ขึ้นกับว่าคนนั้นคาดหวังปฏิกิริยายอมรับของผู้รับ    ไม่ได้ขึ้นกับความน่าเชื่อถือของข่าว   

สมองมนุษย์เสพติดการยอมรับ หรือเสพติดความพอใจจากการได้รับการยอมรับ      มากกว่าความน่าเชื่อถือของข่าว  

เพราะธรรมชาติของสมองมนุษย์ต้องการการยอมรับ  และชอบเรื่องราว     ในสมัยเด็กผมจึงได้ยินผู้ใหญ่ พูดว่าเด็กบางคนว่าเป็นคน “ตอแหล”     คือกุเรื่องขึ้นมาพูดเล่าเป็นตุเป็นตะโดยไม่มีความจริงเลย     สมัยนั้นเรา เข้าใจกันว่าเป็นเพราะเด็กเหล่านั้นนิสัยไม่ดี    มาถึงตอนนี้เราเข้าใจได้ว่าเป็นเพราะความอ่อนแอของสมอง     ขาดการฝึกความเชื่อมั่นในตนเอง    ความมั่นคงในคุณธรรม    จึงปล่อยธรรมชาติดั้งเดิมออกมา  

มนุษย์เราก็มีทั้งด้านสว่างและด้านมืดเช่นนี้เอง    การศึกษาที่แท้จะช่วยสร้างความเข้มแข็งด้านสว่าง  บดบังด้านมืดลงไป

วิจารณ์ พานิช


๓ ต.ค. ๖๐ 

บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow  โดย  ใน KMI Thailand

แก้ไขล่าสุด ใน วันเสาร์ที่ 28 ตุลาคม 2017 เวลา 22:31 น.
 

ชีวิตที่พอเพียง 2967. เครือข่ายความจำ

พิมพ์ PDF

บทความเรื่อง Memory’s Intricate Web : A technical revolution provides insight into how the brain links memories, a process critical for understanding and organizing the world around us ในนิตยสาร Scientific American ฉบับเดือนกรกฎาคม ๒๕๖๐   เล่าการค้นพบที่ยิ่งใหญ่ในการทำความเข้าใจกลไกในระดับสมอง ของความจำ   


เริ่มจากความเข้าใจหลักการ “memory allocation” ซึ่งในภาษาไทยน่าจะใช้คำว่า การจัดสรรหน่วยความจำ    หมายถึงการที่สมองมีกฎที่จำเพาะในการแจกจ่ายหน้าที่ด้านความจำให้แก่เซลล์สมอง ในบริเวณต่างๆ    คำนี้เมื่อค้นด้วยกูเกิ้ล จะพบคำอธิบายเป็นศัพท์คอมพิวเตอร์    


เริ่มจากการค้นพบ CREB gene ในหนู และพบว่าโปรตีนที่มาจากยีนนี้ทำหน้าที่ควบคุมยีนอื่นที่ทำหน้าที่ เกี่ยวกับความจำ    โดยที่ในกระบวนการเรียนรู้จะมีการสร้างรอยเชื่อมต่อใยประสาทใหม่ หรือทำให้รอยต่อเดิม แน่นแฟ้นขึ้น    และ CREB protein เป็นตัวกำกับกระบวนการเชื่อมต่อใยประสาทดังกล่าว  


ผู้เขียนบทความเล่าเรื่องยากๆ ให้เข้าใจง่ายได้เก่งมาก     เล่าแบบนักวิทยาศาสตร์ คือตั้งคำถาม แล้วพยายามหาวิธีตอบ    ได้คำตอบแล้วก็ยังไม่เชื่อตัวเอง ไม่ด่วนสรุป    ต้องหาหลักฐานอื่นยืนยัน    นี่คือนักวิทยาศาสตร์แท้  


สมองส่วนเที่เกี่ยวข้องกับความจำคือ hippocampus กับ amygdala   โดย hippocampus  ทำหน้าที่จำสภาพแวดล้อม  ส่วน amygdala ทำหน้าที่จำเรื่องราวด้านอารมณ์   


นักวิทยาศาสตร์ใช้ไวรัสถ่ายยีน CREB เพิ่มเข้าไปในเซลล์สมองส่วน amygdala ของหนู และพบว่าหนูนั้นจดจำความกลัวได้สูงกว่าหนูปกติถึง ๔ เท่า     และต่อมาก็สรุปได้ว่าการจัดสรรความจำ เชิงอารมณ์ไว้ในเซลล์สมองใน amygdala ไม่ได้เกิดขึ้นอย่างเปะปะ   แต่จะเก็บไว้ในเซลล์ที่มี CREB protein ระดับสูง    และต่อมาก็พบว่า CREB protein มีบทบาทต่อความจำในสมองส่วน hippocampus  และสมองส่วน cortex ด้วย


ต่อมาค้นพบว่า เซลล์สมองที่มี CREB protein ปริมาณสูง สามารถเชื่อมต่อใยประสาทกับเซลล์สมอง เซลล์อื่นได้แน่นแฟ้นกว่า 


ต่อมามีการเสนอสมมติฐานการเชื่อมต่อความจำระหว่างสองเรื่องหรือสองสิ่ง เรียกว่า “allocate-to-link hypothesis”    ซึ่งอธิบายว่าเซลล์ประสาทที่มี CREB protein สูงกว่าจะพร้อมรับความจำได้ดีกว่าเซลล์ประสาท เซลล์อื่นๆ    เมื่อเซลล์ประสาทมีความจำหนึ่งอยู่แล้ว  และรับความจำใหม่เข้าไปอีก    ก็จะทำให้ความจำ เชื่อมโยงกัน   คือเมื่อมีการกระตุ้นความจำหนึ่ง อีกความจำหนึ่งที่อยู่ในเซลล์ประสาทชุดเดียวกันก็จะโผล่ออกมา ด้วย

 ความจำมีปัจจัยด้านกาละและเทศะ    คือเรื่องราวที่เกิดห่างกันไม่นาน (เช่นไม่เกิน ๑ วัน) มักจะเก็บไว้ใน เซลล์ประสาทชุดเดียวกัน    นี่คือข้อสรุปจากผลการทดลองในหนู    


การทดลองที่น่าตื่นเต้น คือการ “ดู” ความจำในสมองหนู    ผ่านกล้องจุลทรรศน์เล็กๆ ที่ยึดติดหัวหนู    เอาไว้ดูและถ่ายรูปจุดสว่างวาบในสมองหนูเมื่อเซลล์ประสาททำงาน    การทดลองนี้ช่วยพิสูจน์ว่าสมมติฐาน allocate-to-link เป็นความจริง    คือความจำมันเชื่อมโยงกันเพราะมันอยู่ในเซลล์สมองตัวเดียวกันหรือชุดเดียวกัน  


เทคนิคระบายสีเซลล์สมองที่ทำงาน ด้วยต่างสีในต่างความจำ    ช่วยให้พิสูจน์ได้ว่าเรื่องราวที่เกิดขึ้น ภายใน ๕ ชั่วโมง มีโอกาสเก็บไว้ในเซลล์สมองเดียวกัน มากกว่าเรื่องราวที่เกิดห่างกัน ๗ วัน  


แล้วเรื่องก็เข้ามาใกล้ตัวผม คือเรื่องความแก่กับความจำ     หนูสูงอายุเชื่อมโยงความจำได้ไม่ดีเท่า หนูเอ๊าะๆ   เพราะเซลล์สมองของหนูแก่มี CREB protein น้อย


วิทยาศาสตร์ทางสมองอาศัยความก้าวหน้าในการเปลี่ยนยีน    นำมาใช้เปลี่ยนยีนสำหรับให้ receptor ที่ต้องการย้ายที่อยู่มาอยู่ที่ผิวเซลล์สมอง เพื่อให้สามารถกระตุ้นให้เซลล์สมองนั้นทำงาน    แล้วให้หนูทำกิจกรรมสองอย่างในช่วงนั้น    เพื่อให้เกิดความเชื่อมโยงความจำทั้งสองกิจกรรม    การทดลองนี้ยืนยันว่าเกิดการเชื่อมโยงความจำดังคาด   


นี่คือความก้าวหน้าครั้งมโหฬารในการวิจัยทำความเข้าใจกลไกของความจำ     แต่ผู้เขียนบอกว่า ที่ผ่านมาเป็นเพียงจุดเริ่มต้นของความก้าวหน้าใหญ่ที่จะตามมา



วิจารณ์ พานิช

๒๔ มิ.ย. ๖๐ 

คัดลอกจาก https://www.gotoknow.org/posts/631682

แก้ไขล่าสุด ใน วันศุกร์ที่ 20 ตุลาคม 2017 เวลา 13:14 น.
 

การพัฒนาคุณธรรมจริยธรรมในมหาวิทยาลัย

พิมพ์ PDF
ควรเน้นฝึกคุณธรรมจริยธรรมที่บูรณาการอยู่ในชีวิตประจำวัน ไม่ใช่คุณธรรมจริยธรรมที่แสดงออกโดยการทำกิจกรรมพิเศษ


การพัฒนาคุณธรรมจริยธรรมในมหาวิทยาลัย

สภามหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งมีมติให้คณะวิชาและส่วนงานต่างๆ ดำเนินการขับเคลื่อนเรื่องคุณธรรมจริยธรรม     มีการตั้งคณะกรรมการจริยธรรม    มอบหมายให้ส่วนงานไปคิดและดำเนินการกิจกรรมเกี่ยวกับคุณธรรมและจริยธรรม ส่วนงานละหนึ่งโครงการ    แล้วนำมารายงานให้สภามหาวิทยาลัยทราบ  

เมื่อสภามหาวิทยาลัยได้รับรายงานก็พบว่า ส่วนงานรายงานกิจกรรมมาจำนวนมากมาย    มีส่วนงานหนึ่งรายงานถึง ๖๐ กิจกรรม เช่น พิธีดำหัวผู้อาวุโส   กีฬาสานสัมพันธ์  พิธีตักบาตร ฯลฯ    ทำให้ผมให้ความเห็นว่าน่าจะได้ทบทวนเป้าหมายและมาตรการเรื่องการพัฒนาคุณธรรมจริยธรรมในมหาวิทยาลัย

ผมจึงเสนอว่า น่าจะพิจารณาเป้าหมายตาม  Lawrence Kohlberg stages of moral development    หรือตามหลักการอื่น ที่เป็นคุณธรรมจริยธรรมที่บูรณาการอยู่ในชีวิตประจำวัน    ไม่ใช่คุณธรรมจริยธรรม ที่แสดงออกโดยการทำกิจกรรมพิเศษ    แนวทางที่น่าสนใจอย่างหนึ่งคือแนวทางของสำนักพุทธฉือจี้ ที่ผมเคยลงบันทึกไว้ ที่นี่

การจัดการเรื่องนี้น่าจะมีการโฟกัสเป้าหมายที่มีความสำคัญในบริบทของมหาวิทยาลัยนั้น ในช่วงเวลานั้น    นำมากำหนดประเด็นขับเคลื่อนในช่วง ๑ ปี เช่นเรื่องความซื่อสัตย์    ให้แต่ละส่วนงานไปคิดและดำเนินการมาตรการ    รวมทั้งช่วยกันคิดกำหนดตัวชี้วัด    ว่าจะวัดอย่างไรว่ากิจกรรมหรือมาตรการนั้นๆ ส่งผลดีจริงๆ    ไม่ใช่แค่ทำเพื่อให้ ได้ชื่อว่าทำ   

ผมมีความเชื่อว่า กิจกรรมที่จะส่งผลพัฒนาจิตใจด้าน Moral Quotient จริงๆ คือการผ่านเหตุการณ์จริง หรือ เหตุการณ์เสมือน ที่สั่นคลอนความมั่นคงทางจริยธรรม ที่เรียกว่า integrity    แล้วนำมาทำ reflection ร่วมกัน    จะเกิด การเรียนรู้เชิงคุณธรรมเป็นอย่างมาก 

ที่จริงการเรียนรู้แบบ activity-based ที่ทำเป็นกลุ่ม ก็เป็นการฝึกจริยธรรมที่ดีไปในตัว    มีการฝึก give and take   การช่วยเหลือเพื่อน   การรับฟัง  การแสดงความเคารพต่อความเห็นที่แตกต่าง  การมีความพากเพียรพยายาม   การมีอิทธิบาทสี่    หากหลังจากกิจกรรมมีการทำ reflection ร่วมกัน โดยอาจารย์ตั้งคำถามเชิงจริยธรรม    ก็จะเกิดการเรียนรู้ ด้านคุณธรรมจริยธรรมทั้งในมิติปฏิบัติ และมิติทฤษฎี      

ผมได้เขียน บล็อก ชุด การเรียนรู้บูรณาการพลังสาม เสนอแนวทางจัดการศึกษาที่มีการเรียนรู้ในมิติของสมอง ใจ และวิญญาณไปพร้อมๆ กัน    อ่านได้ ที่นี่  

วิจารณ์ พานิช

๒๕ มิ.ย. ๖๐

  

แก้ไขล่าสุด ใน วันศุกร์ที่ 20 ตุลาคม 2017 เวลา 13:38 น.
 

ชีวิตที่พอเพียง 2969a. เรียนรู้จากวิกฤติเศรษฐกิจปี ๒๕๔๐

พิมพ์ PDF
วิกฤติเศรษฐกิจปี ๒๕๔๐ เกิดจากความหละหลวมของระบบต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ปล่อยให้ ความโลภและความฉ้อฉลออกมาทำงานได้ง่ายดาย


ชีวิตที่พอเพียง  2969a. เรียนรู้จากวิกฤติเศรษฐกิจปี ๒๕๔๐

บทความเรื่อง Learning the lessons of the 1997 crash ใน นสพ. บางกอกโพสต์ฉบับวันที่ ๓ กรกฎาคม ๒๕๖๐ กระตุ้นให้ผมเขียนบันทึกนี้

วันที่ ๒ กรกฎาคม ๒๕๖๐ เป็นวันครบรอบ ๒๐ ปี ของวิกฤติเศรษฐกิจ ที่เรียกกันว่า “วิกฤติต้มยำกุ้ง”    นสพ. บางกอกโพสต์จึงลงบทความขนาดยาว วิเคราะห์สาเหตุของวิกฤติเศรษฐกิจครั้งนั้น    ใครอยากรู้ว่าเขา วิเคราะห์ว่าอย่างไรอ่านเอาเองนะครับ    ผมจะเล่าประสบการณ์ส่วนตัวประกอบ    ว่าความบ้าคลั่งกำไรค้าที่ดิน และบ้านจัดสรรมันแรงแค่ไหน  

ผมมีที่ดิน ๕๔ ตารางวา พร้อมบ้านไม้ ๑ หลัง อยู่ที่บางขุนนนท์ ซอยตำรวจดับเพลิง    เข้าไปจนสุดซอย ที่เวลานี้ลูกชายเป็นเจ้าของ เป็นบ้านและสำนักตีโลปะ    ช่วงราวๆ ปี ๒๕๓๘ ศ. นพ. สมพร บุษราทิจ ซึ่งเป็นอาของผม และมีบ้านอยู่แถวนั้น ส่งข่าวมาบอกผมว่า มีคนติดต่อขอซื้อบ้านและที่ดิน เขาจะให้ราคา ๑๕ ล้านบาท    ผมเฉยๆ ไม่ได้อยากได้เงิน

ตอนนี้บ้านติดกันกับบ้านลูกชาย ที่ดินขนาดเท่าๆ กัน และมีบ้านไม้ใหญ่ปลูกเต็มที่ดินบอกขายลูกชาย ราคา ๓.๖ ล้านบาท    คิดเอาก็แล้วกันว่า ราคาที่ดินเมื่อ ๒๒ ปีก่อนมันถูกปั่นราคาแค่ไหน  

ช่วงปี ๒๕๓๕ ผมยังทำงานอยู่ที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์หาดใหญ่    แต่มาเรียน วปอ.    เห็นเพื่อนนักเรียน วปอ. เขาซุบซิบกันเรื่องการลงทุนเป็นประจำ     หลังจากเกิดวิกฤติต้มยำกุ้งแล้ว วันหนึ่งผมพบเพื่อน ปรอ. ๕ ที่เรียนด้วยกันและเป็นนักธุรกิจ   เขาเล่าว่าตอนนั้นเขาเนื้อหอมมาก    ธนาคารโทรศัพท์มาหาอยู่บ่อยๆ “มาเอาเงินกู้สัก ๒๐๐ ล้าน เอาไปซื้อที่ดินเก็งกำไรดีไหมครับ”    โชคดีที่เขาไม่โลภกู้เอามาซื้อที่ดินตามข้อเสนอของธนาคารที่มีเงินล้น    

ทันใดที่รัฐบาลไทยประกาศให้เงินบาทลอยตัว อัตราแลกเปลี่ยนของเงินบาทก็เปลี่ยนจาก ๒๕ บาทต่อดอลล่าร์    เป็น ๔๐ บาท และไปชนเพดานที่ ๕๓ บาท    ผมเขียนจดหมายไปบอกลูกสาวคนโตที่ เป็นหมอฟัน และไปเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยอินเดียน่า ที่อินเดียนาโปลิส ด้วยทุนพ่อแม่ ให้ขอทุนช่วยเหลือ จากมหาวิทยาลัย โชคดีที่ได้  

 ผมถามผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินที่มีคนนับถือทั้งเมือง เมื่อราวๆ ปี ๒๕๔๕ ว่าทำไมตอนที่เศรษฐกิจไทย ก่อตัวลูกโป่งอย่างไร้เหตุผล    เห็นชัดว่าสภาพที่กำลังเป็นอยู่มันไม่สามารถดำรงอยู่ได้ มันจะต้องแตกเข้าสักวัน    ทำไมนักการเงิน ซึ่งเป็นคนเก่งจำนวนมากมายจึงไม่ตระหนัก    ท่านบอกว่าเป็นเพราะม่านหมอกมันบังตา    ซึ่งผมตีความว่าเป็นหมอกแห่งกิเลสความโลภ

ผมจำได้ว่า ช่วงที่คุณบรรหาร ศิลปอาชา เป็นนายกรัฐมนตรี    มีคนออกมาเตือนสติว่าให้ระวัง เสถียรภาพทางเศรษฐกิจและการเงิน   โดนท่านนายกรัฐมนตรีว่าเสียไม่มีชิ้นดี  ว่าเป็นการพูดที่บ่อนทำลายชาติ  เทำให้เสียบรรยากาศการลงทุนจากต่างชาติ   

ผมตีความว่า วิกฤติเศรษฐกิจปี ๒๕๔๐ เกิดจากความหละหลวมของระบบต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง    ปล่อยให้ ความโลภและความฉ้อฉลออกมาทำงานได้ง่ายดาย     ซึ่งเวลานี้มีการพัฒนาระบบกำกับที่เข้มแข็งมาก    ผมเคย เป็นกรรมการธนาคารอยู่เกือบสิบปี ได้เห็นความเข้มแข็งของ ระบบกำกับตลาดหุ้น และระบบกำกับการเงิน การธนาคารของธนาคารแห่งประเทศไทย    และความเข้มแข็ง ของระบบกำกับดูแลบริษัทจดทะเบียน ในตลาดหลักทรัพย์  ทำให้ผมได้เรียนรู้เรื่องระบบธรรมาภิบาลองค์กร (governance system)    บทความในบางกอกโพสต์ที่อ้างถึง ได้เปรียบเทียบระบบเศรษฐกิจ และการเงิน ก่อนวิกฤติต้มยำกุ้ง กับในปัจจุบันไว้ดีมาก

วิจารณ์ พานิช

๔ ก.ค. ๖๐

 

 

บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย  ใน KMI Thailand

แก้ไขล่าสุด ใน วันศุกร์ที่ 20 ตุลาคม 2017 เวลา 13:43 น.
 

ชีวิตที่พอเพียง 2972. ภาษารัก

พิมพ์ PDF

บทความเรื่อง Deciphering the Language of Love ลงในนิตยสาร Scientific American Mind ประจำเดือน กรกฎาคม - สิงหาคม ๒๕๖๐   ช่วยให้ผมรู้จักศาสตร์ใหม่ … attachment science    และการบำบัดแบบใหม่ … emotionally focused therapy (EFT)


เขาบอกว่าวิทยาศาสตร์ว่าด้วยความผูกพัน (the science of attachment) กำลังก้าวหน้าอย่างก้าวกระโดด 


เด็กมีพัฒนาการด้านความผูกพันกับพ่อแม่ ๓ แบบ (๑) มั่นคง  (๒) ไม่มั่นคง  (๓) หลีกเลี่ยง    พัฒนาการนี้มีผลต่อมาในชีวิตตอนเป็นผู้ใหญ่ และมีคู่รักและคู่ครอง    พัฒนาการแบบที่สองและสามนำไปสู่ชีวิตคู่ ที่ไม่มั่นคง    


เพื่อแก้ไขปัญหาความมั่นคงของชีวิตคู่   นักวิทยาศาสตร์ว่าด้วยความผูกพัน พยายามหาวิธีเปลี่ยน จิตใจคนที่มีฐานความผูกพันแบบที่สองและสาม    ซึ่งนำไปสู่การคิดพัฒนา EFT ขึ้น 


ทักษะด้านความสัมพันธ์มี ๓ ประการ  (๑) ความเข้าถึงได้ - accessibility  ทักษะด้านเปิดตัวต่อความ สัมพันธ์  (๒) การตอบสนอง - responsiveness  ทักษะด้านตอบรับสัญญาณจากคู่สัมพันธ์  (๓) ความผูกพัน - engagement   ทักษะด้านสร้างสัมพันธ์แนบแน่น    


ผลการวิจัยใช้ EFT แก้ไขปัญหาการครองคู่ พบว่าเครื่องมือนี้เปลี่ยนสไตล์ของ attachment ในคนได้    เปลี่ยนจากความผูกพันแบบไม่มั่นคง เป็นความผูกพันแบบมั่นคง    และเมื่อทดสอบหลังหยุดการบำบัดสองปี พบว่ายังพบความผูกพันที่มั่นคง    และที่สำคัญยิ่งกว่า ... มีความสุขในชีวิต


 ผมไตร่ตรองสะท้อนคิดกับตัวเองว่า พัฒนาการด้านจิตใจของคนเรา จากช่วงชีวิตที่เป็นเด็ก จนเป็น ผู้ใหญ่ และผู้อาวุโส    ต้องปลูกฝังทักษะความรักขึ้นในตน ทั้งรักตนเองและรักคนอื่น    รวมทั้งปลูกฝังทักษะ ความมั่นคงในจิตใจ มั่นคงในความรัก และความไว้วางใจ     ที่สำคัญและยากยิ่งคือต้องรู้ว่าจะไว้วางใจใคร ไม่ไว้วางใจใคร    และที่ไว้วางใจได้นั้น ในเรื่องอะไร ไว้วางใจได้ในระดับไหน    


คนที่พัฒนาการดังกล่าวบกพร่องเป็นคนไม่มั่นคง    ชีวิตย่อมยากลำบาก


แต่ที่อาจจะสำคัญยิ่งต่อบ้านเมืองคือความสัมพันธ์ในบ้านเมืองแบบสามัคคีรักใคร่ไว้วางใจกัน    ผมมีข้อสังเกตว่า  ยิ่งนับวันโลกเรายิ่งเป็นสังคมที่คนมีความไว้วางใจต่อกันลดลงเรื่อยๆ    หรือในระดับสุดขั้ว เป็นสังคมแห่งความเกลียดชัง    เป็นสภาพที่เราต้องช่วยกันแก้ไข 



วิจารณ์ พานิช

๒๘ มิ.ย. ๖๐

แก้ไขล่าสุด ใน วันศุกร์ที่ 20 ตุลาคม 2017 เวลา 13:58 น.
 


หน้า 184 จาก 561
Home

About Us

ศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ (ศบม.) เป็นองค์กรที่พัฒนาและจัดทำโครงการเพื่อทำประโยชน์ให้สังคม เป็นองค์กรสนับสนุนการดำเนินงานของภาครัฐ ช่วยแก้ปัญหาผู้ประกอบการภาคธุรกิจบริการที่ขาดแคลนบุคลากรที่มีมาตรฐานในการให้บริการ
อ่านเพิ่มเติม

มูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ ์

 iHDC Profile
บัญชีรายชื่อกรรมการ
ใบสำคัญแสดงการจดทะเบียน การเปลี่ยนแปลงกรรมการของมูลนิธิ
เอกสารประชาสัมพันธ์ โครงการ HMTC.pdf
เอกสารแนะนำโครงการ HMTC 1.pdf
เอกสารโครงการ HMTC 2 คุณสมบัติผู้เข้าร่วมโครงการ.pdf
iHDC นิติบุคคล.pdf
iHDC บุคคล.pdf
iHDC บุคคลเครือข่าย.pdf
รายงานการประชุม 6 มีนาคม 2560.pdf
ข้อบังคับมูลนิธิ
ใบสำคัญแสดงการจดทะเบียนจัดตั้งมูลนิธิ
Ihdc-Profile and Roadmap 2016-2019 Mar 23 2560.pdf
รายงานการประชุมใหญ่คณะกรรมการมูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ 2559.pdf
คำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ สาขาวิชาชีพ.pdf
รายงานการประชุมใหญ่วันที่ 18 ธ ค 2558 v 3.pdf
รายงานการประชุม วันที่ 24 ธันวาคม 2557 updated 4 มีนาคม 2558.pdf
iHDC-invitation Letter.doc
iHDC-Member Form Thai.doc
iHDC-Member Form English.doc
รายงานการประชุมกรรมการมูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ วันที่ 15 มกราคม 2556 ฉบับสมบูรณ์


thaibetter
พัฒนาประเทศไทยแบบทวีคูณ และยั่งยืน ( ททค )

Login


แบบสำรวจ

สถิติเว็บไซด์

สมาชิก : 5644
Content : 3068
เว็บลิงก์ : 26
จำนวนครั้งเปิดดูบทความ : 8744285

facebook

Twitter


ล่าสุด

บทความเก่า