Thaiihdc.org

  • เพิ่มขนาดตัวอักษร
  • ขนาดตัวอักษรปกติ
  • สดขนาดตัวอักษร
Thaiihdc.org

ชีวิตที่พอเพียง 2973. อาหารกับความยั่งยืนของโลก

พิมพ์ PDF

การประชุมประจำปีของ บวท. เรื่อง “มุมมองการพัฒนาที่ยั่งยืนของไทยด้านการสูญเสีย ตลอดห่วงโซ่การผลิตและบริโภคอาหาร” เมื่อวันที่ ๓๐ มิถุนายน ๒๕๖๐   ช่วยเปิดกระโหลกของผม ในเรื่องที่ผมไม่เคยคิดเลย    ว่าอาหารที่เราผลิตได้ สูญเสียไปถึงหนึ่งในสาม   คิดเป็นน้ำหนัก ๑,๓๐๐ ล้านตัน/ปี    หรือ ๓,๓๐๐ ล้านตันของก๊าซเรือนกระจก (ร้อยละ ๗ ของการเกิดก๊าซเรือนกระจกทั้งโลก)     และการสูญเสียอาหารดังกล่าวมาจากการใช้น้ำ ๑๗๓,๐๐๐ ล้าน ลบ.ม.  ซึ่งคิดเป็นร้อยละ ๒๔ ของน้ำที่ใช้ในการเกษตร   


เรื่องนี้เพิ่งได้รับความใส่ใจ  รวบรวมข้อมูล  และหาทางลดความสูญเสีย โดย UNEP และ FAO   เป็นส่วนหนึ่งของขบวนการ SDG   และเพื่อลดการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศโลก    


การสูญเสียอาหารมี ๒ แบบ คือ food loss (สูญเสียโดยไม่ตั้งใจ)  กับ food waste (ทิ้งไปอย่างจงใจ)     และการสูญเสียนั้นเกิดขึ้นตลอดห่วงโซ่ตั้งแต่การผลิต การขนส่ง การปรุง การจำหน่าย  ไปจนถึงการบริโภค


รศ. ดร. นิพนธ์ พัวพงศกร บอกว่า นิยามของ  FW และ FL มีแตกต่างกันมากมาย นับร้อยนิยาม    มีเอกสาร Food Loss and Waste Accounting and Report Standard    แต่ ดร. นิพนธ์ก็บอกว่ามีคนถกเถียง ต่อเกณฑ์ในเอกสารนี้มากมาย


  ดร. นิพนธ์บอกว่า ประเทศไทยเรามีความมั่นคงทางอาหารสูงมาก    และดีขึ้นเรื่อยๆ    ฟัง ดร. นิพนธ์แล้ว เกิดความภาคภูมิใจต่อพัฒนาการด้านการเกษตรของไทย    และผมชอบที่ท่านสรุปว่า การดำเนินการด้าน FWFL ของไทยควรทำภายใต้บริบทของเราเอง   เพื่อ food security ของเรา  


เรื่องอาหารเป็นเรื่องซับซ้อน    ในโลกมีคนหิวโหย กินอาหารไม่พอ ๘๗๐ ล้านคน    แต่ในขณะเดียวกัน มีคนที่อ้วน๖๗๑ ล้านคน  


FWFL เชื่อมโยงกับการบริโภคที่ไม่สมเหตุสมผล    นพ. สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ ประธานมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ พูดเรื่อง “การจัดการด้านสาธารณสุขกับการสูญเสียด้านการบริโภค”     มีความซับซ้อนมากมาย   มีการนิยามการสูญเสียทางกายภาพ  กับการสูญเสียทางชีวภาพ (เช่น บริโภคมากเกินพอดี)     ประเด็นสำคัญที่สุดคือการจัดการพฤติกรรมการบริโภค ที่ทำทั้งการสื่อสารเพื่อ เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมส่วนบุคคล  กับการจัดการสภาพแวดล้อม (เช่นออกกฏหมายห้ามโฆษณาเหล้าและบุหรี่)   การจัดการสภาพแวดล้อมจะได้ผลมากกว่า 

ผมนึกเถียงคุณหมอสมศักดิ์ในใจ ว่าการบริโภคที่ไม่สมเหตุสมผลในบางกรณีเป็นเพราะถูกหลอก  ดัง บันทึกนี้ 


ผมได้ความรู้จากเชฟในห้องอาหารของโรงแรมหรู ว่าวัตถุดิบที่เป็น waste (เหลือทิ้ง) จากที่หนึ่ง   อาจเป็นวัตถุดิบที่ดีในอีกที่หนึ่งก็ได้  


ฟังการประชุมตลอดวัน ผมนึกถึงปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง     




วิจารณ์ พานิช

๓๐ มิ.ย. ๖๐ 

 

แก้ไขล่าสุด ใน วันศุกร์ที่ 20 ตุลาคม 2017 เวลา 14:02 น.
 

ครึ่งศตวรรษที่สองของ มอ. : เชียร์ให้เป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง

พิมพ์ PDF

ครึ่งศตวรรษที่สองของ มอ. : เชียร์ให้เป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง

วิจารณ์ พานิช

กรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

………….

 

 

หนังสือเล่มนี้ จัดทำขึ้นเพื่อเฉลิมฉลองความสำเร็จในวาระที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ก่อตั้งมาครบ ๕๐ ปี คือครึ่งศตวรรษ    ผมเดาว่าคงจะมีผู้เกี่ยวข้องกับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์จำนวนมากเขียนเรื่องราว เกี่ยวกับความสำเร็จที่น่าชื่นชมนี้   รวมทั้งจดหมายข่าว สาร ม.อ. ฉบับประจำเดือนมกราคม - มีนาคม ๒๕๖๐   ก็ได้ขึ้นปกความสำเร็จว่า U.S. News and World Report จัดอันดับมหาวิทยาลัยดีที่สุดของไทย อันดับที่ ๕  จากการจัดอันดับปี ๒๕๖๐  (https://issuu.com/psupr/docs/6...)    สรุปได้ว่า มั่นใจได้ว่า ขณะนี้มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์เป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำระดับต้นๆ ของประเทศ 


ผมจึงขอเขียนร่วมแสดงความชื่นชมในโอกาสเฉลิมฉลองมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์มีอายุครบครึ่ง ศตวรรษ โดยการเชียร์ให้ประชาคม ม.อ. ร่วมกันทำให้ ม.อ. มีคุณค่ายิ่งขึ้นไปอีก    คือเข้าทำหน้าที่ผู้นำ การเปลี่ยนแปลง (change agent) เพื่อเปลี่ยนประเทศไทยจากประเทศรายได้ปานหลาง สู่ประเทศที่มีรายได้สูง  ที่เรียกว่า ประเทศไทย ๔.๐    ซึ่งหมายความว่า ม.อ. เข้าร่วมขบวนการเปลี่ยนสังคมไทยจากสังคมที่ทำมาหากิน เน้นการใช้แรงงาน เน้นการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ  เน้นการผลิตอย่างมีประสิทธิภาพ    ไปสู่การทำมาหากินโดย การสร้างนวัตกรรม  ในทุกภาคส่วนของสังคม

ผมขอเชียร์ให้ประชาคม ม.อ. สามัคคีกันทำสิ่งที่เรียกว่า การผูกพันกับสังคม (social engagement) เพื่อให้สังคมไทยเป็นสังคมนวัตกรรม บูรณาการอยู่ในทุกภารกิจหลักของมหาวิทยาลัย    


นั่นหมายความว่า กิจกรรมวิชาการทุกด้าน จะเน้นที่ความผูกพันกับสังคม    จะไม่เป็นวิชาการลอย ที่เป็นวิชาการเพื่อวิชาการเท่านั้น    ต้องเป็นวิชาการคุณภาพสูงที่ตอบโจทย์ของสังคม หรือเปลี่ยนแปลง (transform) สังคมไทย    สู่สังคมนวัตกรรม


หากรับคำท้าทายนี้ ประชาคม ม.อ. ต้องร่วมกันเปลี่ยนแปลง (transform) ม.อ. เอง ทั้งด้านภารกิจ (function), โครงสร้าง (form / structure), และกฎเกณฑ์กติกา (regulation) ให้เอื้อต่อการทำงานวิชาการ เพื่อการสร้างสรรค์สังคม  หรือวิชาการที่ผูกพันกับสังคมไทย


ที่สำคัญที่สุดคือ การสร้างวัฒนธรรมองค์กร (corporate culture) ให้เป็นองค์กรที่ผูกพันกับสังคม (ไทย)

……………………


บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย  ใน สภามหาวิทยาลัย

แก้ไขล่าสุด ใน วันศุกร์ที่ 20 ตุลาคม 2017 เวลา 14:07 น.
 

ไม่จำเป็นต้องเข้าเรียนมหาวิทยาลัย

พิมพ์ PDF

ผมเขียนบันทึก สิ้นยุคมหาวิทยาลัย ลงบล็อกเมื่อวันที่ ๑๒ กันยายน ๒๕๖๐ คนเข้าอ่านมากกว่าบันทึกใดๆ    บัดนี้ พบหนังสือ Don’t Go Back to School  : A Handbook for Learning Anything ที่สาระคล้ายกัน    เชียร์ให้คนเรียนด้วยตนเอง (independent learning)    ไม่จำเป็นต้องเข้าเรียน มหาวิทยาลัยก็มีชีวิตที่ดีได้

เขาบอกว่า ในสหรัฐอเมริกา กระแสเข้าเรียนระดับอุดมศึกษาสำหรับทุกคน เพิ่งเริ่มหลังสงครามโลก ครั้งที่สอง เมื่อทหารผ่านศึกกลับจากสงครามและได้รับสิทธิเข้าเรียนมหาวิทยาลัยฟรี    มีผลให้การเรียนจบ มหาวิทยาลัยกลายเป็นพื้นความรู้สำหรับการมีงานที่ดีทำในเวลาต่อมา

แต่บัดนี้สถานการณ์แตกต่างออกไป    ตอนนั้น (หลังสงครามโลกครั้งที่สอง) ค่าเล่าเรียนของ มหาวิทยาลัยไม่สูงลิ่วอย่างในปัจจุบัน   การเรียนจบมหาวิทยาลัยเป็นเครื่องประกันการมีงานทำ    และการที่ เงินเดือนเพิ่มทุกปี    สภาพนั้นจบสิ้นไปแล้ว  

หนังสือไม่ได้ระบุชัดเจน    แต่ผมเข้าใจว่า เวลานี้การเรียนจบมหาวิทยาลัยไม่ประกันว่าผู้นั้นทำงานเป็น    ดังนั้นสถานประกอบการจึงลดความเชื่อถือใบปริญญาลงไป    หันไปเชื่อใบประวัติการเรียนและการฝึก/ทำงาน  และใบรับรองของบุคคลที่น่าเชื่อถือแทน   ยิ่งนับวันใบปริญญาก็ยิ่งด้อยค่าลง 

การเรียนที่มีคุณค่า เป็นการเรียนโดยกำกับตัวเอง (independent learning)    มาจากแรงขับดันภายใน (intrinsic motivation)   แต่การเรียนในมหาวิทยาลัยผู้เรียน เรียนตามข้อกำหนดของหลักสูตร และการให้เกรด ซึ่งเป็นแรงผลักดันจากภายนอก (external motivation)     การเรียนแบบกำกับการเรียนของตนเอง สามารถทำได้สะดวกในยุคปัจจุบัน ที่มีรายวิชาออนไลน์มากมาย   

ไม่จำเป็นต้องเข้าเรียนมหาวิทยาลัย เป็นเรื่องของอนาคตอันใกล้    แต่ตอนนี้ยังต้องพึ่งพามหาวิทยาลัย ในเรื่องห้องสมุด    แต่ก็มีแนวโน้มว่าจะเกิดระบบเผยแพร่ความรู้แนวทางที่ไม่ตกอยู่ใต้ระบบธุรกิจมากเกินไป อย่างในปัจจุบัน     และผมยังสงสัยว่าจะเรียนในห้องปฏิบัติการที่ไหนหากไม่เข้ามหาวิทยาลัย 

คำแนะนำต่อการเรียนด้วยตนเองคือ อย่าเรียนคนเดียว    ให้เรียนโดยอิสระแต่ไม่ใช่แยกตัว     เพราะ การเรียนรู้เป็นกระบวนการทางสังคม    ต้องการปฏิสัมพันธ์ หรือการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างมนุษย์     โดยที่ระบบไอทีในปัจจุบันเอื้อให้ มนุษย์มีปฏิสัมพันธ์เสมือนได้    แต่ก็ยังต้องการปฏิสัมพันธ์แท้อยู่ดี 

จงเรียนตามที่ใจรัก และเรียนจากการปฏิบัติในโลกหรือชีวิตจริงให้มากที่สุด    โดยผมขอเพิ่มเติมว่า เมื่อลงมือปฏิบัติจริงแล้ว ต้องสังเกตและเก็บข้อมูล เอาไปไตร่ตรองสะท้อนคิดเทียบกับตำราด้วย   

ระหว่างเรียนต้องสร้างเครือข่ายเพื่อนเรียน และเพื่อนในที่ทำงาน    เชื่อมโยงการเรียนกับการทำงาน    โดยผมเดาว่าต้องหาทางเรียนจากการสมัครเข้าฝึกงานด้วย    การที่จะทำอย่างนี้ได้ต้องฝึกตัวเองให้มีความกล้า ระดับ “หน้าด้าน” (chutzpah)     และต้องเขียนเอกสารใบสะสมประสบการณ์การเรียนและทำงาน (portfolio) เอาไว้แสดงตอนสมัครงาน  แทนใบปริญญา    คู่กับใบแนะนำสนับสนุน (recommendation) จากผู้น่าเชื่อถือ    สิ่งเหล่านี้ได้จากการมีเครือข่าย

คนที่จะเรียนด้วยตนเองต้องพัฒนาทักษะสร้างเครือข่าย   โดยมีคนสร้างเครือข่ายกับศาสตราจารย์ มหาวิทยาลัย  โดยการเขียนจดหมายหรืออีเมล์ไปหา    หรือบางคนใช้วิธีเชิญไปรับประทานอาหารเพื่อพูดคุย ขอคำแนะนำ    การเชื่อมโยงกับผู้เชี่ยวชาญที่หลงใหลเรื่องใดเรื่องหนึ่งทำได้ไม่ยาก โดยแสดงความหลงใหล ของเรา  

อ่านแล้วผมตีความว่า สภาพการเรียนโดยไม่ต้องลงทะเบียนเข้าเรียนในมหาวิทยาลัย  จะค่อยๆ เติบโตขึ้น   และอาจกลายเป็นเส้นทางหลักของการศึกษาระดับสูงในอนาคต ๑๐ - ๒๐ ปีข้างหน้า    โดยปัจจัยหลักคือความ สนใจตั้งใจมุมานะที่จะเรียน    และสามารถกำกับตัวเองได้   รวมทั้งรู้วิธีสร้างเครือข่ายเรียนรู้ ควบคู่ไปกับ เครือข่ายงาน   

ผมคิดว่าเส้นทางหนึ่งสู่งาน คือการสอบเทียบคุณวุฒิวิชาชีพ    ซึ่งเวลานี้ในประเทศไทยเราก็มี สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) ให้บริการ



วิจารณ์ พานิช

๑๒ ก.ย. ๖๐ 

แก้ไขล่าสุด ใน วันพุธที่ 04 ตุลาคม 2017 เวลา 23:55 น.
 

ชีวิตที่พอเพียง : 3004. Pomodoro Technique กับชีวิตของผมเมื่อ ๖๐ ปีที่แล้ว

พิมพ์ PDF

หนังสือ The Pomodoro Technique เขียนโดย Francesco Cirillo   จากการคิดค้นด้วยตนเองของผู้เขียน ระหว่างเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัย    เป็นเทคนิคช่วยให้ใช้เวลาทำงานอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น     มีจิตใจที่ จดจ่อกับงาน และมีแรงจูงใจต่องานมากขึ้น 

จริงๆ แล้ว เป็นเทคนิคทางจิตวิทยา     ที่คนเราส่วนใหญ่เมื่อต้องทำงานชิ้นโต     มักเกิดอาการใจแป้ว ไม่สู้    เพราะคิดว่ายากและต้องใช้ความพยายามมาก    


Cirillo แก้ปัญหาใจไม่สู้ด้วยการแบ่งงานออกเป็นชิ้นเล็กๆ ที่สำเร็จได้ภายใน ๒๕ ถึง ๔๕ นาที    แล้วพัก ๕ นาที    เขาบอกว่าเมื่อทำสำเร็จชิ้นหนึ่ง ใจเราจะรู้สึกว่าได้รับรางวัล รู้สึกชุ่มชื่นใจจากความสำเร็จเล็กๆ     เป็นกลไกทางจิตวิทยาให้เรามุมานะบากบั่นต่อ    รวมทั้งหมดแล้วงานทั้งก้อนอาจมี ๒๐ ชิ้นส่วนเล็กๆ    เราก็จะได้ เสพเอ็นดอร์ฟินแห่งความสุขความพึงพอใจ    เอ็นดอร์ฟินเล็กน้อยนี้จะช่วยหล่อเลี้ยงจิตใจ ให้เรามานะพยายาม ต่อไป


Cirillo ค้นพบเคล็ดลับนี้ด้วยตนเองตอนเป็นนักศึกษา เมื่อสามสิบปีมาแล้ว     และพัฒนาขึ้นเป็นเทคนิค ที่มีความชัดเจน    ใช้ทำมาหากินเลี้ยงชีพมาจนทุกวันนี้ ดูได้ ที่นี่ 


เมื่อหกสิบปีมาแล้ว พ.ศ. ๒๕๐๐ ผมเดินทางจากบ้านนอกมาเรียนหนังสือที่กรุงเทพในชั้น ม. ๖ (เทียบกับสมัยนี้คือ ม. ๔) ด้วยเป้าหมายว่าจะฟันฝ่าสู่การเรียนหมอตามที่พ่อแม่ตั้งความหวัง    ด้วยความอ่อนวัย (และโชคดี อ่อนน้อม) ผมมองคนที่เรียนอยู่ชั้นสูงกว่าด้วยความทึ่ง พิศวงในความสามารถด้านการเรียนของเขา     และหมั่นสังเกตวิธีการเรียนของเขา นำมาใช้ในการเรียนของตนเอง     รวมทั้งต่อมาหาซื้อหนังสือว่าด้วยวิธีเรียน มาอ่านและทดลองใช้    


วิธีหนึ่งที่ผมค้นพบตั้งแต่อายุ ๑๕ ก็คือวิธี Pomodoro ของ Cirillo นี่แหละ    แต่ผมไม่เก่งพอที่จะทำให้ มันชัดเจน และนำออกใช้หากินอย่าง Cirillo    

  สมัยนั้นวิธีเรียนที่บ้านทำโดยอ่านตำราเรียน คู่มือ และทำแบบฝึกหัดตามคู่มือแล้วตรวจสอบกับคำเฉลย    รวมทั้งหาหนังสือตำราเสริมมาอ่านทำความเข้าใจให้กว้างขวางขึ้น    เป้าหมายมีอย่างเดียวคือทำข้อสอบให้ได้ดี     เพื่อจะได้สอบแข่งขันเข้าเรียนในขั้นต่อไปได้    สำหรับเป้าหมายในปี พ.ศ. ๒๕๐๐ คือสอบเข้าโรงเรียนเตรียม อุดมศึกษาให้ได้    และเป้าสำหรับช่วงปี ๒๕๐๑ - ๒๕๐๓ คือสอบเข้าคณะวิทยาศาสตร์จุฬาฯ หรือเข้าเตรียมแพทย์ เชียงใหม่  หรือคณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ ให้ได้     สำหรับผมในตอนนั้นเป้าหมาย ชัดเจนมาก และมั่นใจว่าน่าจะทำได้สำเร็จ     โดยไม่เคยประมาทเลย     พยายามหาวิธีเรียนให้เรียนได้ดีที่สุด 


ในปี พ.ศ. ๒๕๐๐ บนชั้นสองของห้องแถวไม้ห้องเดียวแถวเจริญผล เยื้องสนามกีฬาแห่งชาติ     ที่ตอนนั้นเป็นคลินิกแพทย์ ชื่อแพทยาศรม    เป็นที่อาศัยของนักศึกษาแพทย์ศิริราช ๑ คน   นิสิตวิศวะจุฬา ๑ คน    นักเรียนโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ๑ คน    เจ้าหน้าที่ช่วยงานคลินิก ๑ คน     และผมเด็กที่สุด เป็นนักเรียน ม. ๖   ผมต้องหาวิธีเรียนให้ได้ผลการเรียนสูงสุดเพื่อถางทางสู่อนาคต


อ่านหนังสือไปนานๆ ก็ง่วง อ่านไม่รู้เรื่อง    ผมค้นพบวิธีอ่านครั้งละครึ่งชั่วโมง  สลับกับออกไปเดิน สักครู่ หรือไปอาบน้ำ     พบว่าแก้ปัญหาง่วงได้ดี    ตอนนั้นเราไม่รู้จักเครื่องปรับอากาศ     ดังนั้นอากาศในห้องจึง ค่อนข้างอบอ้าว ซึ่งเราก็อยู่จนชิน    แต่ถ้าได้อาบน้ำก็จะสดชื่นขึ้นทันที    ช่วยให้ร่างกายและสมองตื่นตัว     อ่านหนังสือหรือสมุดจดได้เข้าใจง่ายขึ้น และจำได้ดีขึ้น 


อีกวิธีหนึ่งที่ช่วยการเรียนหรือการทำงาน คือ “การสรุปบทเรียน” สมัยนั้นผมซื้อสมุดโน้ตเล็กๆ ขนาดใส่กระเป๋าเสื้อเชิ้ร์ตได้    เอามาจดสรุปบทเรียนทีละตอน     เก็บไว้ทบทวนยามว่าง หรือตอนใกล้สอบ    ผมมาตีความตอนนี้ว่า    การสรุปแก่นสาระเป็นจิตวิทยาว่าด้วยความรู้สึกว่าประสบความสำเร็จไปขั้นตอนหนึ่ง   ทำให้เกิดกำลังใจเรียนหรือทำงานในขั้นตอนต่อไป   เป็นการให้รางวัลตัวเองทางอ้อม


เรื่องให้รางวัลตัวเองนี้ ผมใช้มาตั้งแต่ตอนนั้น    โดยหลังการสอบทุกครั้ง หากผมทำข้อสอบได้ดี ตกเย็นผมจะซื้อขนมทองหยิบ ๒ บาทให้ตัวเองกินเป็นรางวัล    สองบาทสมัยนั้นเป็นเงินมากนะครับ    เท่ากับอาหาร ๑ มื้อตามปกติของผม    ที่มักกินก่วยเตี๋ยวเส้นเล็กคลุกข้าว    ก๋วยเตี่ยวห่อละ ๑.๕๐ บาท   ข้าวเปล่าห่อละ ๕๐ สตางค์    ซื้อมากินที่คลินิก


วิจารณ์ พานิช

๗ ส.ค. ๖๐


บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย  ใน KMI Thailand

แก้ไขล่าสุด ใน วันจันทร์ที่ 18 กันยายน 2017 เวลา 04:07 น.
 

คิดอย่างเร็วและคิดอย่างช้า

พิมพ์ PDF

หนังสือ Thinking , Fast and Slow เขียนโดยนักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบล Daniel Kahneman    บอกกลไกการทำงานของสมองมนุษย์    ที่เขาเรียกว่า ระบบที่ ๑  กับ ระบบที่ ๒  


ระบบที่ ๑ ทำงานเร็ว ว่องไว  อัตโนมัติ

ระบบที่ ๒  เชื่องช้า สุขุม   มีสติ

ทั้งสองระบบจำเป็นต่อการดำรงชีวิต  และต้องทำงานประสานร่วมมือกัน    ระบบที่ ๑ มีอยู่แล้วโดยสัญชาตญาณ  ไม่ค่อยต้องฝึก    แต่ระบบที่ ๒ ต้องการการฝึกฝนมาก

รู้เท่าทันระบบที่ ๑

ชีวิตคนเรา เราไม่ได้ควบคุมความคิดของตัวเราเองทั้งหมด    ยังมีปัจจัยภายนอกมากมายมาครอบงำโดยเราไม่รู้ตัว    กลไกหนึ่งภาษาอังกฤษเรียกว่า “priming”  น่าจะเทียบได้กับคำไทยว่า “ชักจูง”   เขายกตัวอย่าง เมื่อเราเห็นคำว่า SO_P เราจะใช้เวลานึกมาก และเดาหลายคำ    แต่ถ้าก่อนหน้านั้นเราได้เห็นคำว่า EAT ก่อน    เราก็จะเดาคำว่า SOUP ได้อย่างรวดเร็ว    แต่หากเราได้เห็นความว่า BATH ก่อน เราก็จะนึกถึงคำ SOAP   กระบวนการ เตรียมใจ ไว้ล่วงหน้านี้ เรียกว่า “priming” หรือ “ชักจูง”    เครื่องมือจูงใจนี้มีมากมาย    ใช้ในกิจการที่หลากหลายมาก   เราพบทั่วไป ในชีวิตประจำวัน โดยไม่รู้ตัว    กลไกสมองระบบที่ ๒ จะช่วยให้เราไม่ตกหลุมการชักจูงที่เราไม่ต้องการ


กลไกสมองระบบที่ ๑ อีกแบบหนึ่งเรียกว่า halo effect หรือ exaggerated emotional coherence   ในภาษาไทยอาจเรียกว่า “เหมารวม”    เช่นเพื่อนคนหนึ่ง (นาย ก) ไม่ร่วมทำบุญที่เพื่อนๆ ชักชวนกับทำบุญแก่วัดวัดหนึ่ง     ต่อมาเราชักชวนเพื่อนๆ กลุ่มเดียวกันให้ร่วมกันบริจาคแก่โรงพยาบาล แต่ไม่ชวนนาย ก เพราะคิดว่าเขาเป็นตนตระหนี่    ทั้งๆ ที่จริงๆ แล้ว นาย ก ไม่ร่วมทำบุญแก่วัดนั้นเพราะรู้ว่าเป็นวัดที่สมภารใบ้หวย    ไม่ใช่เพราะความตระหนี่ของเขา 


confirmation bias เป็นกลไกสมองแบบที่ ๑ อีกกลไกหนึ่ง    ตัวอย่างคือ  คำถามว่า (๑) สบู่ ... มีคุณภาพดีใช่ไหม  กับ (๒) คุณภาพของสบู่ ... ดี/ไม่ดี (ให้เลือก)    หากถามคน ๑๐๐ คน    หากถามด้วยคำถามแบบที่ ๑  จะได้คำตอบรับว่าดี ในสัดส่วนที่มากกว่าถามด้วยคำถามแบบที่ ๒  


heuristic (ปฏิภาณ) เป็นวิธีลัดสู่การตัดสินใจ ที่มีประโยชน์มาก    แต่หากเราใช้บ่อยเกินไป ไม่ค่อยๆ ทบทวนข้อมูลประกอบการตัดสินใจ ในเรื่องที่พอมีเวลาให้คิด   เราอาจด่วนตัดสินใจ และเป็นการตัดสินใจที่ไม่รอบคอบ     เขาแบ่ง heuristic ออกเป็นสองแบบ คือ substitution heuristic  และ availability heuristic


substitution heuristic เป็นวิธีคิดแบบเอาคำถามตื้นๆ ไปแทนคำถามที่ลึก  เพื่อให้สามารถตัดสินใจได้ง่าย   แต่อาจมีผลร้ายตรงที่ทำให้ตัดสินใจผิดพลาด   เช่นในการสอบเพื่อรับคนเข้าทำงาน ซึ่งจะต้องมีการกำหนดหน้าที่ของตำแหน่งนั้น  และกำหนดคุณสมบัติและสมรรถนะที่ต้องการ   แทนที่กรรมการจะตัดสินโดยตอบคำถามว่า ผู้สมัครรายนั้นมีคุณสมบัติและสมรรถนะตรงกับที่กำหนดหรือไม่    กลับตั้งคำถามว่า หน่วยก้านของผู้สมัครน่าจะทำหน้าที่นั้นได้ดีหรือไม่    เป็นการใช้ไหวพริบเอาคำถามง่ายๆ แทนคำถามที่ยาก  


Availability heuristic เป็นความคิดที่ถูกอิทธิพลของสื่อที่กรอกตากรอกหูบ่อยๆ ชักจูง    เช่นในความเป็นจริง โรคหลอดเลือดสมองเป็นสาเหตุการตายสูงกว่าอุบัติเหตุทางถนนหลายเท่า    แต่ถ้าทำแบบสอบถามว่าระหว่างโรค หลอดเลือดสมองกับอุบัติเหตุจราจร   คิดว่าตนเองจะตายจากโรคใดมากกว่า  เกือบทั้งหมดจะตอบว่าอุบัติเหตุจราจร    เนื่องจากเรื่องราวคนตายจากอุบัติเหตุจราจรในสื่อมวลชน กระตุ้นให้เกิดความรู้สึกว่าเกิดบ่อย     หลักการนี้น่าจะใช้โดย วงการโฆษณา ที่ติดป้ายใหญ่โตอย่างที่เห็นในปัจจุบัน 


ตกหลุมระบบที่ ๑ เพราะไม่รู้สถิติ หรือ probability    ที่พบบ่อยที่สุดคือขาดความรู้เรื่อง base rate ของโอกาสเกิดเรื่องใดเรื่องหนึ่ง     ที่เป็นฐานของสถิติอีกชิ้นหนึ่ง    เรื่องนี้ผมขอยกตัวอย่างการซื้อสลากกินแบ่งรัฐบาล    ผมได้ยินมาว่า เมื่อกองสลากขายสลากแต่ละงวดได้เท่าไรจะแบ่งมาเป็นรางวัลเพียงร้อยละ ๔๐ ของรายรับเท่านั้น    ผมจึงสรุปว่าหากเอาเงิน ๘๐ บาทไปซื้อสลาก ก็เสมือนเอาเงิน ๘๐ ไปแลก ๓๒ บาท (ร้อยละ ๔๐ ของ ๘๐)     ผมจึงไม่ซื้อสลากเลย    เรื่องนี้อาจเถียงว่า คนที่ซื้อไม่ได้ซื้อเพราะคิด แต่ซื้อเพราะเชื่อ (ในโชค) 


ในเรื่องสถิติ ยังมีกับดักการคิดระบบที่ ๑ คือไม่เข้าใจ “การถดถอยสู่ค่าเฉลี่ย” (regression to mean)  ของฝีมือในการทำสิ่งใดสิ่งหนึ่ง     ตัวอย่างเช่นนักบาสเก็ตบอลล์คนหนึ่ง  มีสถิติชู้ตลูกโทษลงร้อยละ ๘๐   แต่มีอยู่เดือนหนึ่งเขาทำสถิติได้ร้อยละ ๙๕   ในเดือนต่อมาเขาชู้ตได้ร้อยละ ๘๑ และถูกโค้ชตำหนิว่ามือตก    แสดงว่า โค้ชไม่เข้าใจ regression to the mean


ตัวตนความจำ (memory selves) มีสองแบบ คือ  “ความจำ ณ ปัจจุบันขณะ” หรือ “ความจำบัดเดี๋ยวนั้น” (experiencing self)  กับ “ความจำสุดท้าย” (remembering self)    ความจำสองแบบนี้ไม่ตรงกัน  และคนเรามักจำได้เฉพาะแบบหลัง    กับดักการคิดระบบที่ ๑ ในเรื่องความจำ มีสองแบบคือ จำเฉพาะส่วนที่ชอบ (duration neglect) ไม่จำตลอดเรื่อง  กับ จำเฉพาะช่วงสุดท้ายของเรื่อง (peak-end rule)  เขามีการวิจัยทางการแพทย์อธิบาย แต่ผมจะไม่เอามาเล่า    เรื่องนี้ยืนยันได้จากคนสองคนผ่านเหตุการณ์เดียวกัน ให้เล่าเรื่องเหตุการณ์นั้น จะเล่าต่างกันได้มาก

 ใช้พลังของระบบที่ ๒ 

สมองหรือจิตใจของคนเราทำงานในสองสถานะ คือ สถานะปล่อยใจตามสบาย (cognitive ease)   กับสถานะเพ่งความสนใจ (cognitive strain)   ซึ่งใช้พลังสมองแตกต่างกันมาก  


ในสถานะปล่อยใจตามสบาย การคิดระบบที่ ๑ จะเข้าครอง     เราจะคิดแบบใช้ปัญญาญาณ (intuitive)  หรือที่ผมเรียกว่า คิดแบบไม่คิด มากกว่า    เป็นช่วงเวลาที่เรามีความสุขมากกว่า     แต่ก็มีโอกาสทำผิดมากกว่า    ช่วงเวลานี้สมองใช้พลังงานน้อย   


ในสถานะเพ่งความสนใจ การคิดระบบที่ ๒ เข้าครอง    เป็นระบบที่มุ่งตรวจสอบรอบคอบ    จึงมีความริเริ่มสร้างสรรค์น้อยกว่า    แต่ก็ทำผิดน้อยกว่าด้วย    ช่วงเวลานี้สมองใช้พลังงานสูง


ดังนั้น หากเราต้องการจูงใจผู้ร่วมสนทนา เราจึงควรหาทางทำให้จิตใจของเขาเข้าสู่สภาพปล่อยใจตามสบาย  โดยให้เขาได้รับสารสนเทศเรื่องนั้นซ้ำๆ    เมื่อใจสัมผัสเรื่องที่คุ้นเคย จะเข้าสู่สภาพปล่อยใจตามสบาย   


เราสามารถทำให้ผู้ร่วมสนทนาเข้าสู่สถานะเพ่งความสนใจ โดยการสร้างความสับสน    อ่านถึงตรงนี้ ผมนึกถึง ยุทธศาสตร์ในการเป็นประธานหรือร่วมประชุมในเรื่องยากๆ    ของตัวผมเอง    เมื่อความสับสนขึ้นสูงถึงจุดหนึ่ง    ผมจะปล่อยหมัดเด็ด ว่า บัดนี้เราสับสนกันได้ที่แล้ว (ทุกคนจะหัวเราะ ทำให้บรรยากาศผ่อนคลาย)    จึงเป็นโอกาสที่จะร่วมกันบรรลุข้อสรุปที่นำไปสู่การทำงานที่เกิดผลที่ไม่ธรรมดา


จูงใจให้ผู้คนตัดสินใจโดยให้ตัวเลขความน่าจะเป็น (probability) ในรูปแบบที่กระทบใจ     ตัวอย่างคำกล่าวสองวลีนี้  “ยา ก ช่วยให้เด็กที่เป็นโรค ข ปลอดอาการโรค    แต่จะมีเด็กที่ได้รับยานี้ร้อยละ ๐.๐๐๑ ที่เกิดผลแทรกซ้อนร้ายแรง”  “ยา ก ช่วยให้เด็กที่เป็นโรค ข ปลอดอาการโรค    แต่เด็ก ๑ คนจาก ๑๐๐,๐๐๐ คน ที่ได้รับยานี้ เกิดผลแทรกซ้อนร้ายแรง”   คำกล่าวชิ้นหลังกระทบใจมากกว่า    จึงนำไปสู่การตัดสินใจหลีกเลี่ยงยานี้มากกว่า     ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริง คำกล่าวทั้งสองให้ข้อมูลความน่าจะเป็นที่เท่ากัน


  เถียงทฤษฎีเก่า สู่รางวัลโนเบล    ผู้ขียนคือศาสตราจารย์ Kahneman    เถียงทฤษฎีด้านเศรษฐศาสตร์ที่บอกว่า มนุษย์ย่อมตัดสินใจอย่างมีเหตุผล  ตามทฤษฎีชื่อ Utility Theory ของศาสตราจารย์ Milton Friedman แห่งสำนักชิคาโก    แต่ศาสตราจารย์ Kahneman เถียงว่ามนุษย์เราไม่ได้ใช้เหตุผลเสมอไป เรียกว่า Prospect Theory   โดยจิตใจมนุษย์เสพติด การได้ มากกว่าการสูญเสีย    ดังนั้นในสถานการณ์ (scenario) ที่มีการสูญเสีย มนุษย์จะไม่ชอบ    ชอบสถานการณ์ ที่มีการพอกพูนมากกว่า    ทั้งๆ ที่การพอกพูนนั้นผลลัพธ์รวมอาจสู้สถานการณ์ที่ตั้งต้นสูง แล้วมีการสูญเสียระหว่างทาง  ไม่ได้    เขาเรียกวิธีคิดแบบนี้ว่า เราให้คุณค่าสิ่งของตาม reference point 


อีกความคิดหนึ่งเป็นไปตาม diminishing sensitivity principle ที่คนเรารู้สึกสูญเสียต่างกันต่อจำนวนสูญเสีย ที่เท่ากัน   เช่นคนมีเงิน ๑๐,๐๐๐ บาท เงินหายไป ๑,๐๐๐ บาท    จะรู้สึกเสียดายน้อยกว่าคนมีเงิน ๒,๐๐๐ บาท แล้วหายไป ๑,๐๐๐ บาท


มโนทัศน์หลอน    คนเราจะสร้างมโนทัศน์ต่อสิ่งต่างๆ รอบตัว เก็บไว้ในสมอง    เช่นในเรื่องลมฟ้าอากาศ ตามฤดูกาล    เรามีภาพในใจว่าฤดูร้อนเป็นอย่างไร  ฤดูฝนเป็นอย่างไร  ฯลฯ     ทั้งๆ ที่ในบางสถานการณ์เรามีข้อมูล มากกว่าภาพมโนทัศน์เราก็ละเลย   เช่น วันหนึ่งในฤดูร้อนมีพยากรณ์อากาศว่าอากาศจะเย็นลงมาก    เราก็ยังแต่งตัว แบบฤดูร้อน และเดือดร้อนเพราะอากาศหนาว    ตัวอย่างนี้คงจะใช้ไม่ค่อยได้ในประเทศไทย    แต่เราคงจะมีการละเลย ข้อมูลเพิ่มเติมในหลากหลายสถานการณ์ 


เขาสรุปตอนท้ายว่า เราใช้พลังของระบบที่ ๒ ได้ดีกว่า เมื่อเราอยู่ในอารมณ์ดี     ผมขอเพิ่มเติมว่า เมื่อเรามีสติสัมปชัญญะดี เราจะยิ่งใช้พลังของระบบที่ ๒ ได้ดี    รวมทั้งเพิ่มเติมว่า การฝึกฝนที่ดี จะช่วยให้เรามีระบบที่สอง แข็งแรง    และผมเชื่อว่าระบบที่ ๑ ก็ฝึกได้ด้วย 


วิจารณ์ พานิช

๑๘ ส.ค. ๖๐



บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย  ใน สภามหาวิทยาลัย

แก้ไขล่าสุด ใน วันจันทร์ที่ 18 กันยายน 2017 เวลา 04:12 น.
 


หน้า 185 จาก 561
Home

About Us

ศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ (ศบม.) เป็นองค์กรที่พัฒนาและจัดทำโครงการเพื่อทำประโยชน์ให้สังคม เป็นองค์กรสนับสนุนการดำเนินงานของภาครัฐ ช่วยแก้ปัญหาผู้ประกอบการภาคธุรกิจบริการที่ขาดแคลนบุคลากรที่มีมาตรฐานในการให้บริการ
อ่านเพิ่มเติม

มูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ ์

 iHDC Profile
บัญชีรายชื่อกรรมการ
ใบสำคัญแสดงการจดทะเบียน การเปลี่ยนแปลงกรรมการของมูลนิธิ
เอกสารประชาสัมพันธ์ โครงการ HMTC.pdf
เอกสารแนะนำโครงการ HMTC 1.pdf
เอกสารโครงการ HMTC 2 คุณสมบัติผู้เข้าร่วมโครงการ.pdf
iHDC นิติบุคคล.pdf
iHDC บุคคล.pdf
iHDC บุคคลเครือข่าย.pdf
รายงานการประชุม 6 มีนาคม 2560.pdf
ข้อบังคับมูลนิธิ
ใบสำคัญแสดงการจดทะเบียนจัดตั้งมูลนิธิ
Ihdc-Profile and Roadmap 2016-2019 Mar 23 2560.pdf
รายงานการประชุมใหญ่คณะกรรมการมูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ 2559.pdf
คำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ สาขาวิชาชีพ.pdf
รายงานการประชุมใหญ่วันที่ 18 ธ ค 2558 v 3.pdf
รายงานการประชุม วันที่ 24 ธันวาคม 2557 updated 4 มีนาคม 2558.pdf
iHDC-invitation Letter.doc
iHDC-Member Form Thai.doc
iHDC-Member Form English.doc
รายงานการประชุมกรรมการมูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ วันที่ 15 มกราคม 2556 ฉบับสมบูรณ์


thaibetter
พัฒนาประเทศไทยแบบทวีคูณ และยั่งยืน ( ททค )

Login


แบบสำรวจ

สถิติเว็บไซด์

สมาชิก : 5644
Content : 3068
เว็บลิงก์ : 26
จำนวนครั้งเปิดดูบทความ : 8744286

facebook

Twitter


ล่าสุด

บทความเก่า