Thaiihdc.org

  • เพิ่มขนาดตัวอักษร
  • ขนาดตัวอักษรปกติ
  • สดขนาดตัวอักษร
Thaiihdc.org

ปฏิรูปการศึกษา ๒๕๖๐

พิมพ์ PDF

ปฏิรูปการศึกษา ๒๕๖๐

 


•รากของวิกฤต            •ปฏิรูปอะไร            •ปฏิรูปอย่างไร

ประเวศ วะสี

ประเทศไทยพยายามปฏิรูปการศึกษามาหลายครั้ง แต่ระบบการศึกษาไทยก็ยังวิกฤต

ปี ๒๕๖๐ รัฐบาลได้ตั้งคณะกรรมาการอิสระปฏิรูปการศึกษา

ทุกภาคส่วนควรช่วยกันระดมความคิด

 

มูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์


.

สาเหตุอันเป็นรากของวิกฤตการศึกษาไทย

 

(๑) ระบบการศึกษาที่เอา “วิชา” เป็นตัวตั้งแทนที่จะเรียนรู้จากสถานการณ์จริง สาเหตุนี้มีที่มา คือในสมัย ร.๕ เมื่อประเทศไทยถูกคุกคามอย่างหนักจากมหาอำนาจยุโรป ทำให้ผู้นำไทยตั้งแต่พระเจ้าอยู่หัวเป็นต้น เกิดความตระหนกว่า “ฝรั่งมีความรู้ เราไม่มีความรู้” จึงรีบจัดการศึกษาสมัยใหม่ ชนิดที่เป็น “การต่อท่อความรู้จากยุโรปมาไทย” ซึ่งก็มีความจำเป็นในขณะนั้น

แต่การศึกษาแบบนี้เมื่อทำมากเข้าๆ กลายเป็นระบบการศึกษาและวิธีคิดที่เอา “วิชา” เป็นตัวตั้งทั้งเนื้อทั้งตัว แทนที่จะเอาสถานการณ์จริงเป็นตัวตั้ง

 เราคุ้นเคยกับการศึกษาแบบนี้จนไม่ได้คิด แท้ที่จริงมีผลกระทบร้ายแรงต่อคนไทยและประเทศไทยมาก จะเข้าใจเรื่องนี้แจ่มแจ้งขึ้นถ้าเข้าใจหน้าที่หลักของสมอง ทั้งคนและสัตว์ต้องมีสมองจึงจะอยู่รอดและอยู่ดี

หน้าที่หลักของสมอง คือรับรู้สถานการณ์จริงรอบตัว แล้วตัดสินใจว่าจะทำหรือไม่ทำอะไร และทำอย่างไร อย่างทันกาล

การตัดสินใจเป็นการใช้ปัญญาสูงสุด ถ้าตัดสินใจผิดมีผลกระทบทางลบ จนกระทั่งอาจเสียชีวิต ถ้าตัดสินใจถูกมีผลทางบวก การตัดสินใจต้องมีฐานมาจากการรู้สถานการณ์จริง

นี่คือหน้าที่หลักของสมอง การรู้วิชาอาจสนองความสนใจ ให้ความสุข หรือเอามาประกอบให้เข้าใจความเป็นจริงและตัดสินใจได้ดีขึ้น “วิชา” จึงเป็นตัวประกอบอย่างหนึ่ง ไม่ใช่ตัวหลัก

แต่ถ้าเราเอาตัวประกอบคือ “วิชา” มาเป็นตัวตั้ง โดยไม่เอาหน้าที่หลักของสมองคือรับรู้สถานการณ์จริง และตัดสินได้ถูกต้องทันกาลเป็นตัวตั้ง เราจะเข้าไปสู่ความลำบาก  ความลำบากจากระบบการศึกษาที่เอาการท่องวิชาเป็นตัวตั้ง มีหลายอย่าง เช่น

(ก)    เนื้อหาวิชามีมาก ท่องจำยาก เหนื่อย ไม่สนุก การศึกษากลายเป็นความทุกข์แทนที่จะเป็นความสุข มนุษย์เรียนรู้จากการปฏิบัติได้ดีกว่า สนุกกว่า และเป็นประโยชน์มากกว่า มีคติที่ว่า “สิบปากว่าไม่เท่าตาเห็น สิบตาเห็นไม่เท่ามือคลำ” การศึกษาของเราเป็นแบบ “สิบปากว่า” แทนที่จะเป็น “มือคลำ” หรือปฏิบัติการจริง

(ข)    ภาคธุรกิจอุทธรณ์ว่าบัณฑิตที่จบการศึกษา “ทำงานไม่เป็น ไม่อดทน ไม่รับผิดชอบ” เพราะเรียนมาแบบท่องวิชา ที่จริงมี “ไม่เป็น” อื่นๆ อีกเยอะ เช่น คิดไม่เป็น อยู่ร่วมกันไม่เป็น จัดการไม่เป็น เพราะเรียนแบบท่องเป็นไม่ใช่ทำเป็น

(ค)    ถ้าเทียบกับการเรียนรู้ของคนไทยเชื้อสายจีนที่ยากจนจะเห็นแตกต่างกันมาก คนไทยเชื้อสายจีนที่จนไม่รู้หนังสือ เรียนรู้จากการทำงานด้วยความขยันและประหยัด สะสมประสบการณ์ สะสมทุน จัดการเป็น ขยายกิจการใหญ่โต กลายเป็นมหาเศรษฐี คนเหล่านี้สามารถคิดใหญ่ได้ ต่างจากคนที่เรียนมาในระบบที่เอาวิชาเป็นตัวตั้ง เพราะวิชาแยกเป็นวิชาๆ หรือเป็นส่วนๆ ทำให้ไปไม่เป็น ส่วนการทำงานนั้นเอาสถานการณ์จริงเป็นตัวตั้ง สถานการณ์จริงหรือความจริงนั้นเชื่อมโยงกัน จากจุดเล็กก็เชื่อมไปสู่สิ่งใหญ่ได้ ควรสังเกตว่าคนไทยที่จบปริญญามาเกือบทั้งหมดคิดใหญ่ไม่เป็น

(ง)     ในรอบ ๑๐๐ กว่าปีที่เรามีการศึกษาแบบนี้ ได้สร้างคนไทยขึ้นมา ๔-๕ ชั่วคน หรือคนไทยทั้งหมดในปัจจุบันที่ไม่รู้ความจริงประเทศไทย แต่คนที่มีการศึกษาก็ไปมีตำแหน่งรับผิดชอบในกิจการบ้านเมือง แต่ในเมื่อไม่รู้ความจริงก็ทำให้ถูกต้องไม่ได้ ผู้นำชุมชนท้องถิ่นบ่นว่าข้าราชการที่มาปกครองท้องถิ่นมีอำนาจแต่ไม่รู้เรื่องท้องถิ่น

(จ)     กฎหมายบังคับให้เด็กทุกคนจากชุมชนต้องเข้าเรียนในระบบการศึกษาที่เป็นทางการ แต่การศึกษาที่เอาวิชาเป็นตัวตั้งทำให้เขาแปลกแยกจากชุมชนท้องถิ่น ไม่สามารถมีชีวิตอยู่ในชุมชนท้องถิ่นได้ การศึกษาแบบนี้จึงทำให้ชุมชนท้องถิ่นอ่อนแอ ชุมชนท้องถิ่นคือพื้นฐานของประเทศ ระบบการศึกษาปัจจุบันจึงทำให้ฐานของประเทศอ่อนแอ

(ฉ)    การที่ทั้งครูและนักเรียนในระบบการศึกษาซึ่งรวมกันมีจำนวนมากกว่า ๑๐ ล้านคน ไม่ได้เรียนรู้จากการทำงานสร้างสรรค์ทางเศรษฐกิจ ทำให้เศรษฐกิจอ่อนแอ ดังจะเห็นได้ว่าครูก็จน นักเรียนก็จน ผู้ปกครองก็จน อาจเรียกว่าเป็นการศึกษาที่สร้างความยากจน ในขณะที่การเรียนของคนไทยเชื้อสายจีนที่กล่าวถึงในข้อ () เป็นการศึกษาที่สร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจ

(ช)    ครูที่สอนท่องวิชาจะล้าสมัยใหม่โดยรวดเร็ว กลายเป็นครูไม่เก่ง ทำอย่างไรๆ ก็แก้ปัญหาคุณภาพครูไม่ได้ ตราบใดที่ยังไม่เปลี่ยนแปลงจากระบบถ่ายทอดวิชาไปเป็นระบบส่งเสริมการเรียนรู้ ครูต้องเป็นผู้เรียนรู้จึงจะเก่ง ครูที่สอนอย่างเดียวที่เคยเก่งก็จะไม่เก่ง

 

(๒) ระบบบริหารการศึกษาเป็นระบบควบคุมซึ่งขัดแย้งกับธรรมชาติการศึกษา ซึ่งเป็นความงอกงามอย่างหลากหลายอันไม่มีที่สิ้นสุด

ระบบราชการซึ่งสร้างขึ้นในสมัย ร.๕ เป็นระบบรวมศูนย์อำนาจเข้าสู่ส่วนกลาง เพราะต้องการสร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียว มุ่งสู่การพัฒนาความเป็นสมัยใหม่และป้องกันการที่มหาอำนาจตะวันตกจะมาลิบเล็มพื้นที่ประเทศไทย ระบบราชการที่มีกฎหมาย กฎ ระเบียบ ประกาศ คำสั่งรวม ประมาณ ๑๓๐,๐๐๐ ฉบับ ควบคุมการปฏิบัติ จึงเป็นระบบควบคุมที่หนาแน่น เมื่อใช้ระบบนี้บริหารการศึกษาโดยกระทรวงศึกษา การศึกษาที่ถูกควบคุมอย่างแน่นหนา ทำให้ไม่สามารถริเริ่มอะไรใหม่ๆ อย่างหลากหลายไปตามธรรมชาติของความหลากหลายของบุคคล อาชีพ ชุมชน ท้องถิ่น และการเปลี่ยนแปลง ใช้กำลังคนมหาศาลในการควบคุมในนามของผู้บริหารการศึกษา เนื่องจากระบบราชการมาจากระบบเจ้าขุนมูลนาย ครูจึงอยากเป็นผู้บริหารมากกว่าอยากเป็นครู

ลองเปรียบเทียบกระถางบอนไซ ที่ต้นไม้ถูกควบคุมให้แคระแกรนอยู่ในกระถางกับป่าใหญ่ที่แมกไม้นานาพันธุ์มีอิสระที่จะงอกงามอย่างหลากหลายจะเห็นภาพ

ถ้าระบบบริหารการศึกษาไม่ใช่ระบบควบคุม แต่เป็นระบบที่เห็นคุณค่าความงอกงามอย่างหลากหลาย เราจะเห็นภาพอีกอย่างหนึ่ง ว่าผู้คน ครอบครัว องค์กร ชุมชน ท้องถิ่น มีอิสระที่จะมีจินตนาการ มีความริเริ่มหรือนวัตกรรมการเรียนรู้อย่างหลากหลายที่สอดคล้องกับธรรมชาติและสถานการณ์จริง กระทรวงศึกษาไม่ต้องไปควบคุมเขา แต่เห็นคุณค่าความงามของความหลากหลายเหล่านั้น ส่งเสริมการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกัน กระทรวงศึกษาธิการจะไม่รกรุงรังด้วยคนที่ทำหน้าที่ควบคุมเช่นทุกวันนี้ แต่ปรับตัวไปเป็นองค์กรนโยบายและสร้างสรรค์

 

() โครงสร้างการศึกษาแบบแท่งไซโลที่แข็งเป็นหิน (Ossified xylo educational structure) ที่เกิดจาก (), () และค่านิยม

โครงสร้างแท่งเดี่ยวแบบไซโลโดดเด่นครอบงำการศึกษาไทย

เราคุ้นเคยกับโครงสร้างนี้จนไม่นึกเป็นอื่น และไม่ตระหนักถึงผลกระทบทางลบอันมหาศาล

โครงสร้างนี้เกิดจากแนวคิดว่า การศึกษาคือการท่องวิชาตามที่กล่าวใน () และระบบบริหารที่รวมศูนย์อำนาจที่ต้องการควบคุมให้เหมือนๆ กันทั้งประเทศ ประกอบกับค่านิยมในสังคมไทยแบบ “รักดีหามจั่วรักชั่วหามเสา” “ขอให้ได้เป็นเจ้าคนนายคน” “ขอให้ได้นั่งกินนอนกิน” คือรังเกียจการทำงานว่าเป็นของต่ำ (ต่างจากคนไทยเชื้อสายจีนที่กล่าวถึงข้างต้น) จึงไม่นิยมเรียนอาชีวศึกษาทั้งๆ ที่อาชีวศึกษาเป็นฐานทางเศรษฐกิจของประเทศ แต่มุ่งสายสามัญแบบท่องวิชาไปเอาปริญญาเพื่อมีหน้ามีตาและเป็นเจ้าคนนายคน อีกทั้งระบบราชการก็ตีราคาเงินเดือนตามปริญญา ในขณะที่ญี่ปุ่นคนได้รับปริญญาหรือไม่ได้รับปริญญาก็มีรายได้พอๆ กัน เพราะมีความเป็นคนที่ต้องกินต้องใช้เหมือนกัน การตีราคาเงินเดือนตามปริญญา ทำให้เกิดค่านิยมหรือการบ้าปริญญาในสังคมไทย

ในเมื่อถนนการศึกษาทุกสายมุ่งไปสู่การได้ปริญญา การจราจรการศึกษาจึงแออัดยัดเยียดตะเกียกตะกายเข้าโรงเรียนดีๆ และมหาวิทยาลัย ทำให้การศึกษากลายเป็นการค้า การติวเข้าโรงเรียนดัง และมหาวิทยาลัย กลายเป็นธุรกรรมทางการศึกษา พ่อแม่ต้องเสียเงินเสียทอง ลูกต้องอพยพจากชนบทเพื่อเข้ามาติวในเมือง ผู้ปกครองต้องวิ่งเต้นเส้นสายเสียแปะเจี้ยะให้ลูกได้เข้าโรงเรียนดัง อุดมศึกษาหลายแห่งเป็นการค้าแบบ “จ่ายครบจบแน่”

มหาวิทยาลัยทั้งหมดแน่นไปด้วยผู้ที่ต้องการปริญญา เป็นภาระหนักในการสอนของอาจารย์ ทำให้การวิจัยน้อย มหาวิทยาลัยจึงอ่อนแอทางวิชาการ

ทว่าระบบไซโลทางการศึกษานี้แข็งเป็นหิน เพราะทำกันมานานจนเป็นความเชื่อของทุกฝ่ายว่าต้องทำอย่างนี้ เปลี่ยนแปลงจากนี้ไม่ได้ แต่ระบบนี้ก่อให้เกิดปัญหาและผลกระทบทางลบมากหลาย เช่น

(ก)  ก่อความทุกข์ให้นักเรียนและผู้ปกครองทั่วประเทศที่กลัวจะไม่ได้เข้าโรงเรียนดีๆ และเข้ามหาวิทยาลัย ต้องตะเกียกตะกายวิ่งเต้นเสียเงินเสียทอง

(ข)  การศึกษาแท่งไซโลมุ่งปริญญา แทนที่จะแตกตัวไปตามความถนัดและความต้องการอันหลากหลายทำให้ชุมชนท้องถิ่น และอาชีวศึกษาอ่อนแอ

(ค)  ผู้ที่จบการศึกษาแบบนี้ก็ไม่เก่งจริง ทำงานไม่เป็น วิชาการก็ไม่เก่ง เสมือนผลิตคนหยิบโหย่งขึ้นมาเต็มประเทศ

(ง)   มหาวิทยาลัยรับภาระหนักในการสอนคนที่อยากได้ปริญญา ทำให้หน้าที่สร้างความรู้บกพร่อง นั่นคืออ่อนแอทางวิชาการ

(จ)   ระบบการศึกษาแบบนี้เพิ่มความเหลื่อมล้ำ ผมจะไม่อธิบายว่าทำไมในที่นี้ ความเหลื่อมล้ำเป็นปัจจัยให้เกิดปัญหาตามมาเป็นพรวน ระบบการศึกษาที่ดีควรลดความเหลื่อมล้ำ ไม่ใช่เพิ่มความเหลื่อมล้ำ

 

รากของปัญหาที่กล่าวถึง ๓ อย่างนี้ นำไปสู่ปัญหาของการศึกษานานัปการ เราควรแยกแยะให้ได้ว่าอะไรเป็นเหตุอะไรเป็นผล

(โปรดติดตามตอนต่อไปปฎิรูปอะไร)

 

แก้ไขล่าสุด ใน วันอาทิตย์ที่ 17 กันยายน 2017 เวลา 18:32 น.
 

ปฎิรูปการศึกษา ๒๕๖๐ (ปฎิรูปอะไร)

พิมพ์ PDF

.

ปฏิรูปอะไร

 

(๑)    ปฏิรูปแนวคิดแยกส่วนสู่บูรณาการ การคิดและทำแบบแยกส่วนจะนำไปสู่สภาวะวิกฤตเสมอ ที่ผ่านมาการศึกษาเป็นการแยกส่วนที่เอาวิชาเป็นตัวตั้ง ไม่ได้บูรณาการอยู่กับชีวิต การศึกษาควรเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาอย่างบูรณาการไม่แยกตัวอยู่โดดเดี่ยวอยู่ตามลำพังในโรงเรียน แต่เชื่อมโยงอยู่กับสรรพสิ่งในพื้นที่

(๒)   ปฏิรูปจากการสอนสู่การเรียนรู้ หรือจากสอนสู่การเรียนรู้ เนื้อหาวิชามีมากแต่หาได้ง่ายไม่จำเป็นต้องสอน ทุกคนและทุกองค์กรต้องเป็นบุคคลและองค์กรเรียนรู้ ครูก็ต้องเป็นครูเรียนรู้ ครูที่ทำหน้าที่สอนแต่ไม่เรียนรู้จะล้าสมัยโดยรวดเร็ว การเรียนรู้เป็น และมีการเรียนรู้ที่ดี เป็นสิ่งประเสริฐที่สุดของความเป็นมนุษย์

(๓)   ปฏิรูปการเรียนรู้จากการเอาวิชาเป็นตัวตั้ง เป็นเรียนรู้จากการปฏิบัติเป็นตัวตั้ง การเรียนรู้จากการปฏิบัติจะนำไปสู่ประโยชน์ต่างๆ ดังต่อไปนี้

(ก)     แต่ละคนมีความชอบไม่เหมือนกัน สามารถเลือกปฏิบัติในสิ่งที่ตนชอบ การได้ทำในสิ่งที่ตนชอบจะทำให้มีความสุข ไม่ใช่ทุกคนถูกบังคับให้ท่องจำเหมือนๆ กัน ซึ่งบีบคั้นอย่างยิ่ง ยาก และก่อให้เกิดความทุกข์ การศึกษาที่ดีต้องก่อให้เกิดความสุข

(ข)   การทำในสิ่งที่ตนชอบ จะทำให้ทำได้ดี ทำให้ทุกคนเป็นคนเก่งหมด แต่เก่งในทางที่ต่างกัน การศึกษาแบบการท่องวิชาในชั้นมีคนท่องเก่งอยู่ ๒-๓ คน นอกนั้นเป็นคนไม่เก่ง ซึ่งเป็นความคับแคบ ผิดธรรมชาติและลดทอนความเป็นมนุษย์

(ค)   การได้ทำสิ่งที่ตนชอบ จะทำให้ทำสิ่งนั้นได้นาน เป็นการฝึกความอดทน การเรียนแบบท่องซึ่งจำยากทำให้เบื่อ เซ็ง ไม่อดทน งามสมัยใหม่ซึ่งต้องการสมาธิและความอดทนอยู่กับงานหนึ่งๆ ได้นานๆ การที่คนไทยขี้เซ็งขี้เบื่อเป็นอันตรายยิ่งนัก

(ง)    การได้ทำสิ่งที่ตนชอบ จะทำให้ตั้งใจทำงานให้ประณีต ความประณีตกลายเป็นความงามหรือศิลปะที่มาพัฒนาจิตใจ การพบความงามในการทำงาน ไม่ว่างานอะไร ทำให้เป็นสุขยิ่งนัก และเป็นความเจริญอย่างยิ่ง

(จ)   งานเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต การเรียนรู้จากการทำงานทำให้สร้างคุณค่าและสร้างมูลค่า การทำอะไรให้สำเร็จแต่ละชิ้นทำให้เกิดความปีติ การทำงานแล้วมีรายได้ช่วยการดำรงชีวิตและสร้างเศรษฐกิจ ถ้ากิจกรรมเรียนรู้ทั้งหมดสร้างรายได้ แทนที่จะมีแต่การเสียเงิน จะช่วยให้เศรษฐกิจของประเทศเข้มแข็ง

(ฉ)   การทำงาน ไม่ว่าจะขายก๋วยเตี๋ยว หรือพายเรือจ้าง ต้องรับผิดชอบต่อผู้อื่น เพราะฉะนั้นการเรียนรู้จากการทำงานฝึกให้เป็นคนรับผิดชอบ

(ช)   เกิดทักษะในการจัดการ การเรียนแบบท่องวิชาเป็นวิชาๆ ทำให้จัดการไม่เป็น การทำงานทุกชนิดให้ประสบความสำเร็จล้วนต้องการการจัดการ

(ซ)  การทำงานแล้วมีรายได้ จะทำให้มีแรงจูงใจที่จะหาความรู้เพิ่มเติมเพื่อทำให้ทำงานได้ดีขึ้นและมีรายได้เพิ่มขึ้น สถานศึกษาควรจัดการเรียนรู้เพื่อตอบสนองความต้องการการเรียนรู้ของคนทำงาน ซึ่งต่างจากสอนดุ่ยไปโดยไม่คำนึงถึงความต้องการของผู้เรียนอย่างที่ผ่านมา

(ฌ) การเรียนรู้จากการปฏิบัติต้องเผชิญอยู่กับสถานการณ์จริงเฉพาะหน้า สถานการณ์จริงนั้นเชื่อมโยงกัน ทำให้คิดออกว่าจะขยายการงานออกไปอย่างไร หรือเรียกกว่าคิดใหญ่เป็น ดังกรณีคนไทยเชื้อสายจีนดังที่กล่าวมาข้างต้น

(ญ) ทำให้ค้นพบว่าการทำงานบางอย่างให้สำเร็จต้องการ “การเรียนรู้ร่วมกันในการปฏิบัติ” (Interactive learning through action) งานบางอย่างที่ซับซ้อนและยาก มีคนและองค์กรเกี่ยวข้องด้วยมาก ทำคนเดียวไม่สำเร็จ การเรียนรู้ร่วมกันในการปฏิบัติเป็นการเรียนรู้ที่สำคัญที่สุด เพราะทำให้ฝ่าความยากไปสู่ความสำเร็จและก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขั้นพื้นฐาน (Transformation) อย่างน้อย ๘ ประการด้วยกัน คือ

·       เกิดการเคารพศักดิ์ศรีคุณค่าความเป็นคน คนทุกคนที่เกี่ยวข้องอย่างเท่าเทียมกัน

·       ไปพ้นมายาคติที่เคารพแต่ความรู้ในตำรา สู่การเคารพความรู้ในตัวคนของคนทุกคนที่เกี่ยวข้อง

·       เกิดความเอื้ออาทรต่อกัน มีความเปิดเผยและจริงใจต่อกัน ซึ่งหาได้ยากในสังคมเชิงอำนาจ

·       เกิดความเชื่อถือไว้วางใจกัน (Trust) ซึ่งไม่เกิดโดยการใช้อำนาจหรือเงิน

·       เกิดสามัคคีธรรม ทำให้เกิดพลังทางสังคม

·       เกิดปัญญาร่วม (Collective wisdom) นวัตกรรม และอัจฉริยะกลุ่ม (Group genius)

·       ทำให้ฝ่าความยากไปสู่ความสำเร็จ

·       ทำให้เกิดความสุขประดุจบรรลุนิพพาน

 

การเรียนรู้จากการปฏิบัติมีผลมากถึงเพียงนี้ หัวใจของการปฏิรูปการศึกษาคือ ปฏิรูปกระบวนการเรียนรู้ กระบวนการเรียนรู้ที่สำคัญที่สุดคือการเรียนรู้ร่วมกันในการปฏิบัติ

 

(๔)   ปฏิรูปวัตถุประสงค์ของการศึกษา เมื่อมีการศึกษาแผนปัจจุบันในสมัย ร.๕ การศึกษาก็เพื่อเตรียมคนเข้ารับราชการ ต่อมาก็เพื่อให้ได้ปริญญาในวิชาต่างๆ โดยไม่ได้มีทิศทางในการพัฒนาประเทศที่ชัดเจน ทำให้เกิดโครงสร้างการศึกษาแบบแท่งไซโลดังกล่าวแล้ว

 

การปฏิรูปการศึกษาควรปฏิรูปวัตถุประสงค์ของการศึกษาดังต่อไปนี้

 

(๑)    การศึกษาเพื่อความเข้มแข็งของฐานของประเทศ ถ้าฐานของประเทศแข็งแรงจะรองรับประเทศทั้งหมดให้มั่นคง พระเจดีย์ต้องสร้างจากฐาน สร้างจากยอดไม่ได้ เพราะจะพังลงๆ ถ้าไม่มีฐานรองรับ ที่แล้วมาเราพัฒนาประเทศเหมือนสร้างพระเจดีย์จากยอด อะไรๆ ก็จะเอาแต่ข้างบนทั้งเศรษฐกิจ การศึกษา การเมือง เมื่อฐานของประเทศอ่อนแอประเทศก็ไม่มั่นคง ฐานของประเทศคือชุมชนท้องถิ่น การพัฒนาอย่างบูรณาการโดยเอาพื้นที่เป็นตัวตั้งคือการสร้างฐานของประเทศให้แข็งแรง การศึกษาควรเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาอย่างบูรณาการและสนับสนุนให้การพัฒนาอย่างบูรณาการเข้มแข็ง

การมีสัมมาชีพเต็มพื้นที่เป็นปัจจัยของความร่มเย็นเป็นสุขในแต่ละจังหวัด ระบบการศึกษาทุกประเภท ร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ร่วมกับภาคธุรกิจ สามารถสร้างสัมมาชีพได้เต็มพื้นที่

(๒)   อาชีวศึกษาเข้มแข็ง อาชีวศึกษาเป็นฐานของการมีงานทำและความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจของประเทศ รัฐบาลต้องมีนโยบายให้สาธารณะเห็นคุณค่าของอาชีวศึกษาและส่งเสริมอาชีวศึกษาอย่างเต็มที่


(๓)   การศึกษาเพื่อความเข้มแข็งทางวิชาการ การศึกษา ๒ ประเภทแรก จะกระจายผู้เรียนส่วนใหญ่ออกไปจากแท่งไซโลของสามัญศึกษา เหลือผู้เรียนส่วนน้อยที่มีฉันทะทางวิชาการ ศึกษาเพื่อความเข้มแข็งทางวิชาการ

ให้ผู้เรียนในวงทั้ง ๓ สามารถเคลื่อนย้ายการเรียนรู้ระหว่างกันได้ จาก ๑ สู่ ๒ หรือ ๓ จาก ๒ สู่ ๑ หรือ ๒ จาก ๓ สู่ ๑ หรือ ๒ ทั้งนี้ควรลดความแข็งกระด้างของการแบ่งเป็นชั้นปีการศึกษา เปลี่ยนเป็นความยืดหยุ่น

โดยกระจายวัตถุประสงค์ของการศึกษาออกเป็น ๓ เราจะได้ทั้งความเข้มแข็งของฐานของประเทศ ความเข้มแข็งของอาชีวศึกษา และความเข้มแข็งทางวิชาการ เปิดทางเลือกให้ทุกคน ซึ่งสามารถเคลื่อนย้ายต่อยอดได้ตามความสนใจหรือความถนัด

(๑)    ปฏิรูปกระบวนการเรียนรู้

มนุษย์มีศักยภาพสูงสุดในการเรียนรู้ สามารถเรียนรู้ให้บรรลุอะไรก็ได้ การเรียนรู้ที่ดีจึงเป็นสิ่งที่ประเสริฐที่สุดของความเป็นมนุษย์ เป็นหน้าที่ของทุกคนที่จะแสวงหาและช่วยให้เพื่อนมนุษย์ได้พบกระบวนการเรียนรู้ที่ดีที่สุด

ขณะนี้ทั่วโลก มีบุคคลและองค์กรอันหลากหลาย นอกเหนือไปจากแวดวงศึกษาศาสตร์ ครุศาสตร์ ที่สนใจเรื่องสมองกับการเรียนรู้ ในประเทศไทยก็เช่นเดียวกัน ควรมีการทำ mapping ว่ามีใครบ้างที่เชี่ยวชาญเรื่องนวัตกรรมการเรียนรู้ แล้วส่งเสริมให้เป็นกลุ่มหรือสถาบัน และเครือข่ายวิจัย และพัฒนาการเรียนรู้ มหาวิทยาลัยทุกแห่งควรสร้างความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับนวัตกรรมการเรียนรู้ แล้วพัฒนาครูให้เป็นผู้เชี่ยวชาญนวัตกรรมการเรียนรู้

 

โดยหลักการการเรียนรู้มี ๓ องค์ (ไตรยางค์) ที่คล้องกันอยู่ คือ วัฒนธรรม วิทยาศาสตร์ - จิต

การเรียนรู้ในฐานวัฒนธรรม หมายถึงในฐานของวิถีชีวิตร่วมกันของกลุ่มชนที่สอดคล้องกับสิ่งแวดล้อมหนึ่งๆ หรือเรียนรู้จากการปฏิบัติที่เอาชีวิตและการอยู่ร่วมกันเป็นตัวตั้ง ให้ทำเป็น คิดเป็น อยู่ร่วมกันเป็น

กระบวนการทางวิทยาศาสตร์ หมายถึงกระบวนการแห่งเหตุผลทำให้เข้าใจสิ่งต่างๆ ชัดขึ้น ลึกขึ้น คำว่าธรรมะในพุทธศาสนาด้านหนึ่งหมายถึงความเป็นเหตุเป็นผล อย่างเดียวกับกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ แต่ลึกกว่าและแท้จริงมากกว่า เพราะต้องลดความเห็นแก่ตัว ความเป็นเหตุเป็นผลจึงจะเป็นของแท้

จิตตปัญญาศึกษา มนุษย์เป็นสัตว์ประเภทเดียวที่สามารถเห็นจิตของตนเองได้ จิตตปัญญาศึกษา นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงขั้นพื้นฐานในตนเอง (Transformation) หรือเกิดจิตสำนึกใหม่ ที่มีสภาพจิตที่โปร่งเบา เป็นอิสระ มีความสุขอย่างลึกล้ำ ประสบความงามอันล้นเหลือ และมีมิตรภาพอันไพศาลต่อเพื่อนมนุษย์และสรรพสิ่ง อันเป็นไปเพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ

ทุกวันนี้โลกวิกฤต การอยู่ร่วมกันระหว่างคนกับคน และคนกับสิ่งแวดล้อม เพราะมนุษย์ติดอยู่ในข้อจำกัดของสัญชาตญาณแห่งอัตตา แต่มนุษย์ก็มีศักยภาพที่จะก้าวข้าม (Transcend) ข้อจำกัดนี้ การเรียนรู้ที่ดีต้องทำให้มนุษย์เข้าถึงศักยภาพสูงสุดของตนเอง

(๖)    ปฏิรูปการบริหารจัดการการศึกษา จากการรวมศูนย์อำนาจและควบคุม เป็นการกระจายการมีส่วนร่วมให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีบทบาทจัดการศึกษาอย่างที่เรียกว่า All For Education เช่น ครอบครัว ชุมชน ท้องถิ่น วัด ภาคประชาสังคม กองทัพ ภาคธุรกิจ กระทรวงศึกษาธิการปรับตัวไปทำหน้าที่ส่งเสริมเชิงนโยบายและวิชาการ

(โปรดติดตามตอนต่อไป "ปฎิรูปอย่างไร"



แก้ไขล่าสุด ใน วันอาทิตย์ที่ 17 กันยายน 2017 เวลา 18:43 น.
 

ปฏิรูปการศึกษา ๒๕๖๐ (ปฎิรูปอย่างไร)

พิมพ์ PDF

.

ปฏิรูปอย่างไร

 

ทำ ๑๐ อย่างต่อไปนี้

(๑)    กระทรวงศึกษาธิการทำหน้าที่ส่งเสริมทางนโยบายและวิชาการ

มีคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษาเป็น Think tank มีสถาบันวิจัยระบบการศึกษาที่เป็นอิสระ และมีคุณภาพสูงเป็นเครื่องมือ

(๒)   ปฏิรูปการศึกษาโดยเอาพื้นที่คือจังหวัดเป็นตัวตั้ง

ขณะนี้มีความพยายามริเริ่มใหม่ๆ ในการศึกษาในพื้นที่จังหวัด โดย กลุ่มครูบ้าง โรงเรียนบ้าง ชุมชนบ้าง องค์กรปกครองท้องถิ่นบ้าง องค์กรพัฒนาเอกชนบ้าง ภาคธุรกิจบ้าง ฝ่ายนโยบายควรส่งเสริมความริเริ่มใหม่ๆ ในพื้นที่ มีการทำ mapping นวัตกรรมเหล่านี้ในทุกพื้นที่ นำมาชื่นชม แลกเปลี่ยนเรียนรู้ เพื่อการขยายตัวและต่อยอดให้ดียิ่งๆ ขึ้น

ในแต่ละจังหวัดควรมีกลไกลประสานงานการปฏิรูปการศึกษาที่ไม่เป็นทางการ ทำงานคู่ขนานและประสานกับกลไกที่เป็นทางการคือคณะกรรมการการศึกษาจังหวัด ในบางจังหวัดมีการก่อตัวของกลไกลเหล่านี้ขึ้นมาเอง เช่นที่เรียกว่า สภาการศึกษาจังหวัดกระบี่โดยภาคธุรกิจ ภาคีปฏิรูปการศึกษาจังหวัดเชียงใหม่ บางจังหวัดเรียกมูลนิธิบ้าง สมาคมบ้าง ควรมีการศึกษารวบรวมกลไกจังหวัดที่เกิดขึ้นเองเหล่านี้ และวิเคราะห์จุดอ่อนจุดแข็ง

วิธีหนึ่งที่อาจพิจารณาคือมีการก่อตั้งมูลนิธิเพื่อจังหวัด... โดยเติมชื่อจังหวัดแต่ละจังหวัดลงไป เป็นที่รวบรวมของคนเก่าคนแก่ที่มีบารมีและสนใจพัฒนาจังหวัดบ้านเกิดของตน มูลนิธิเพื่อจังหวัด... มีหน้าที่ส่งเสริมการพัฒนาจังหวัดอย่างบูรณาการโดยเอาชุมชนท้องถิ่นเป็นตัวตั้ง และประสานการปฏิรูปการศึกษาในจังหวัดด้วย ข้อสำคัญมูลนิธิต้องมีผู้ประสานงานซึ่งรู้เรื่องการพัฒนาในพื้นที่เป็นอย่างดี ในทุกจังหวัดมีกลุ่มคนที่เรียกว่าประชาคมจังหวัด ซึ่งทำงานพัฒนาเรื่องต่างๆ ในพื้นที่มาหลายปีและมีความสัมพันธ์กับองค์กรต่างๆ ระดับประเทศจำนวนมาก คณะทำงานของมูลนิธิเพื่อจังหวัด... น่าจะมาจากกลุ่มคนที่เรียกว่าประชาคมจังหวัดดังกล่าว

(๓)   กระทรวงศึกษาธิการมีนโยบายให้โรงเรียนในพื้นที่จัดการตนเองและมีสัมพันธภาพทางราบในพื้นที่ โดยโรงเรียนมีคณะกรรมการโรงเรียน (Board) ซึ่งเป็นผู้นำในพื้นที่ โรงเรียนขนาดเล็กในตำบล ซึ่งมีประมาณ ๕ โรงเรียน / ๑ ตำบล อาจมีคณะกรรมการร่วมทั้งตำบลก็ได้ กระทรวงศึกษาควรส่งเสริมให้โรงเรียนปฏิรูปการเรียนรู้โดยแนวทางกว้างๆ แต่ไม่บังคับในวิธีการและรายละเอียด ให้โรงเรียนคิดร่วมกับภาคีในพื้นที่ เช่น

·    การเรียนรู้เพื่อความเข้มแข็งของชุมชนท้องถิ่น ร่วมกับองค์กรชุมชนท้องถิ่น บางตำบลตั้งมหาวิทยาลัยตำบลขึ้นมา ซึ่งต่อไปอาจมีในทุกตำบล

·    อาชีวศึกษาร่วมกับกศน. วิทยาลัยเทคนิค วิทยาลัยอาชีวะ วิทยาลัยชุมชน ภาคธุรกิจ


·    เพื่อความเข้มแข็งทางวิชาการร่วมกับมหาวิทยาลัย

โดยวิธีนี้โรงเรียนจะไม่แยกตัวอยู่โดดเดี่ยว แต่มีสัมพันธภาพทางราบกับองค์กรต่างๆ ในพื้นที่ตามแนวคิดบูรณาการ ในแต่ละจังหวัดควรมีมหาวิทยาลัยอย่างน้อย ๑ แห่ง ทำงานร่วมกับพื้นที่ ที่เรียกว่า ๑ มหาวิทยาลัย / ๑ จังหวัด สถานศึกษาทุกชนิดในพื้นที่ต้องเชื่อมโยงสนับสนุนซึ่งกันและกันไม่ใช่แยกส่วนไม่เกี่ยวข้องกัน

(๑)    การพัฒนาคุณภาพเด็กและเยาวชนในระดับตำบล คุณภาพเด็กและเยาวชนเป็นอนาคตของประเทศ มีการพูดทางวิชาการและนโยบายมานานพอสมควร ประเด็นสำคัญอยู่ที่การปฏิบัติในพื้นที่ให้ได้ผลจริง อบต.และเทศบาลทั่วประเทศได้ตั้งศูนย์เด็กเล็กขึ้น แต่ก็ยังขาดความมั่นใจเรื่องความทั่วถึงและคุณภาพ อีกทั้งมีความรีบด่วนเพราะการเสียโอกาสมีต้นทุนสูง ถ้าดูตามรูปข้างล่างนี้จะเห็นช่องว่างคือ ระหว่างนโยบาย วิชาการ และการปฏิบัติระดับตำบล  คืออะไรที่ขาดไป ซึ่งจะโยงนโยบาย วิชาการ และการปฏิบัติระดับตำบลให้ได้ผลดีจริง

น่าจะเป็นกลุ่มคนขนาดไม่ใหญ่นัก ซึ่งอาจเรียกว่า สถาบันเพื่อเด็กเยาวชนและครอบครัวระดับตำบล (สดยต.) มีความเชี่ยวชาญเรื่องเด็กเยาวชนและครอบครัวและมีทักษะการจัดการเชิงระบบ สดยต.หนึ่งลองทดลองปฏิบัติใน ๑๐ ตำบล หรือ ๑ อำเภอ สดยต.อาจจะเป็นมูลนิธิ หรือมาจากมหาวิทยาลัย หรือมาจากภาคธุรกิจ หรือมาจากหน่วยราชการ เป็นเรื่องที่ต้องช่วยกันทุกฝ่าย เพราะเป็นอนาคตของประเทศ

เครือข่ายพัฒนาเด็ก เยาวชน และครอบครัวระหว่างผู้ปฏิบัติ สดยต. ฝ่ายวิชาการ และฝ่ายนโยบายจะเชื่อมโยงด้วยการเรียนรู้ร่วมกันผ่านการปฏิบัติที่ขยายตัวและเพิ่มคุณภาพขึ้นเรื่อยๆ เพื่อคุณภาพเด็กและเยาวชนทั้งประเทศ

(๑)    สถาบันวิจัยและพัฒนาการเรียนรู้ เริ่มแรกต้องทำ mapping ว่ามีผู้เชี่ยวชาญการปฏิรูปการเรียนรู้อยู่ที่ใดบ้าง และชักชวนให้ก่อตัวเป็นสถาบันวิจัยและพัฒนาการเรียนรู้ กระทรวงศึกษาธิการควรทำนโยบายให้ทุกมหาวิทยาลัย พัฒนาสถาบันวิจัยและพัฒนาการเรียนรู้ที่มีผู้เชี่ยวชาญการปฏิรูปการเรียนรู้มาจากคณะและสถาบันต่างๆ ไม่จำกัดอยู่ที่อาจารย์คณะครุศาสตร์ หรือศึกษาศาสตร์เพราะการเรียนรู้มีอยู่ในทุกคณะและสถาบัน สถาบันวิจัยและพัฒนาการเรียนรู้ จะเป็นเครื่องมือในการปฏิรูปการเรียนรู้ในทุกมหาวิทยาลัย และช่วยพัฒนาครูทั้งมวลให้เป็นผู้เชี่ยวชาญในการอำนวยการเรียนรู้แบบที่เรียกว่าปฏิรูปการเรียนรู้

ควรปฏิรูปการผลิตครู โดยรับผู้ที่จบปริญญาตรีแล้วในสาขาที่ต้องการและมีฉันทะแน่วแน่แล้วที่จะเป็นครู มาเรียนวิชาครู ๒ ปี เพื่อพัฒนาให้เป็นครูในอุดมคติ

(๒)   ยุทธศาสตร์การสื่อสารเพื่อการเรียนรู้ เทคโนโลยีการสื่อสารสมัยใหม่จะช่วยให้ทุกคนเข้าถึงความรู้และครูที่ดีที่สุด ควรมีคณะบุคคลที่เข้าใจเรื่องการศึกษาและเทคโนโลยีการสื่อสารเป็นอย่างดี มาทำยุทธศาสตร์การสื่อสารเพื่อการเรียนรู้ของคนทั้งมวล โดยทำให้เหมาะกับความหลากหลายของผู้เรียนและเรื่องที่เรียน ถ้าทำได้ดีจะช่วยให้สังคมไทยเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ที่มีคุณภาพสูง

(๓)   นโยบาย ๑ มหาวิทยาลัย / ๑จังหวัด กระทรวงศึกษาธิการทำนโยบาย ๑ มหาวิทยาลัย / ๑ จังหวัด ให้เป็นจริง มหาวิทยาลัยมีหน้าที่สนับสนุนความเข้มแข็งในพื้นที่ ๑ จังหวัด กระทรวงศึกษาธิการควรทำนโยบายให้มหาวิทยาลัยทุกแห่งมีสถาบันวิจัยและพัฒนาการเรียนรู้ตามแนวทางปฏิรูปการเรียนรู้ เพื่อปฏิรูปการเรียนรู้ในมหาวิทยาลัยเอง และสนับสนุนการปฏิรูปการเรียนรู้ในโรงเรียนทั้งหมดในพื้นที่ ๑ จังหวัด

(๔)   นโยบายภาคธุรกิจ กับการจัดการศึกษา มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติโดยมูลนิธิปอเต๊กตึ้ง สถาบันปัญญาภิวัฒน์ โดยบริษัทซีพีออล ซึ่งส่งเสริมการเรียนรู้จากการปฏิบัติงาน และผลิตบัณฑิตมาได้ ๑๐,๐๐๐ คนแล้ว โรงเรียนกำเนิดวิทย์และสถาบันวิทยสิริเมธี โดยปตท. เหล่านี้เป็นตัวอย่างของการที่ภาคธุรกิจเข้ามามีบทบาทจัดการการศึกษา เพื่อสร้างคนไทยที่เก่งทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ภาคธุรกิจทำงานอยู่กับความเป็นจริง มีพลังมาก และมีการจัดการสูงกว่าภาครัฐ รัฐบาลควรมีนโยบายชักชวนส่งเสริมให้ภาคธุรกิจเข้ามามีบทบาทในการจัดการศึกษา จะเบาภาระภาครัฐไปได้เป็นอันมาก และจะเป็นการปฏิรูปการศึกษาไปในตัว หอการค้าจังหวัดในทุกจังหวัดควรร่วมมือกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและภาคการศึกษา ส่งเสริมการศึกษาเพื่อสัมมาชีพเต็มพื้นที่ ซึ่งก็จะเป็นการบูรณาการศึกษาเข้ากับการพัฒนา ภาคธุรกิจจะเป็นพลังยิ่งใหญ่ของการปฏิรูปการศึกษา

(๕)    กระทรวงศึกษาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาโดยสูตร RCN

R = Research การวิจัยให้รู้ทั่วประเทศว่าใครกำลังทำอะไรดีๆ

C = Communication นำผลการวิจัยมาเผยแพร่ให้ทราบทั่วกันอย่างกว้างขวาง

N = Networking ส่งเสริมให้เชื่อมโยงเป็นเครือข่ายในระดับต่างๆ และระดับชาติ เครือข่ายการปฏิรูปการศึกษาจะมีชีวิตที่เติบโตและเพิ่มคุณภาพขึ้นเรื่อยๆ จากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกัน

(๖)         จัดประชุมสุดยอดการศึกษา (Education Summit) เป็นประจำทุกปี โดยมีทั้งฝ่ายปฏิบัติ ฝ่ายวิชาการ และฝ่ายนโยบาย ร่วมประชุมเพื่อชื่นชมผลสำเร็จ แลกเปลี่ยนเรียนรู้ต่อยอด พัฒนานโยบายเพิ่มเติม และมีการสื่อสารอย่างกว้างขวาง

 

          ทั้ง ๑๐ ประการนี้ ถ้าทำอย่างเชื่อมโยงกันครบวงจรกระบวนการปฏิรูปการศึกษาก็จะขับเคลื่อนไปอย่างต่อเนื่อง ก่อความสุขให้แก่ทุกคนที่เกี่ยวข้อง และประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม


แก้ไขล่าสุด ใน วันอาทิตย์ที่ 17 กันยายน 2017 เวลา 18:47 น.
 

ชีวิตที่พอเพียง : 2994. ชีวิตที่ดีในโลกแห่งวัตถุ

พิมพ์ PDF


หนังสือ เศรษฐศิลป์ ผู้นำกับโลกแห่งวัตถุในปรัชญาตะวันออก เป็นการนำปรัชญาที่สร้างขึ้นเมื่อ กว่าสองพันห้าร้อยปีก่อน ในสังคมจีน    เอามาตีความเทียบเคียงกับชีวิตของมนุษย์ยุคปัจจุบัน    คนชอบอ่านหนังสือ อย่างผมอ่านแล้ววางไม่ลง


ลองค้นในอินเทอร์เน็ต พบวีดิทัศน์การเปิดตัวหนังสือเล่มนี้ที่คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสจร์ เมื่อวันที่ ๒๙ เมษายน ๒๕๖๐ เป็นตอนๆ รวม ๖ ตอน ตลอดรายการ  ,


บทความแรก ความปรารถนาที่ไม่น่าปรารถนา : ผู้นำแบบสำนักเต๋ากับการสร้างอิสรภาพในโลก แห่งวัตถุ โดย ศริญญา อรุณขจรศักดิ์  คนชอบประวัติศาสตร์อย่างผมอ่านแล้วชอบมาก    เพราะนำสาระปรัชญา เต๋ามาเสนอแบบมีบริบทเรื่องราวในประวัติศาสตร์ช่วงที่มีการเสนอปรัชญาเต๋า


ชื่อของหนังสือเล่มนี้เหมาะสมมาก    “เศรษฐศิลป์” ในมุมมองของผม คู่กับ “เศรษฐศาสตร์”  


ผมทั้งอ่านบทความแรก และฟังการบรรยายของ ดร. ศริญญา ที่   และอ่านบทความเรื่อง ถกเถียงเรื่องของหลวง กับของส่วนตัว ในปรัชญาจีนโบราณสายนิตินิยม ประกอบการฟังการนำเสนอ ของ รศ. ดร. ปกรณ์ ลิมปนุสรณ์ แล้วชุ่มชื่นกับการให้นิยาม หรือคำอธิบาย ของนักปรัชญา  ต่อ “วัตถุ”  “โลกแห่งวัตถุ”  “อิสรภาพ”  “ความเสื่อม”   “ความปรารถนา”  “การปล่อยวาง”    และเมื่อฟังคำวิพากษ์ ของ ดร. วาสนา วงศ์สุรวัฒน์ และคำอภิปรายต่อเนื่อง แล้ว ก็เห็นได้ชัดว่ามนุษย์เราเก่งมาก    ในการทำสิ่งที่ไม่มีอยู่จริงให้เกิดขึ้น และร่วมกันเชื่อจนสิ่งสมมติเกลายป็นรูปธรรมขึ้นจริงได้ 


ดร. ปกรณ์ เสนอปรัชญาสำนัก “มั่วจื่อ” เป็นครั้งแรกที่ผมได้ยิน (หน้า ๑๖๘ - ๑๗๔) ที่เป็นสำนักฐานคิด ของชนชั้นใต้ปกครอง    และเป็นครั้งแรกที่ผมตระหนักว่าปรัชญาขงจื่อเป็นสำนักของชนชั้นปกครอง   


ที่มาของเรื่องคือหนังสือ เต๋าเต๋อจิง เขียนโดยเล่าจื๊อ เมื่อ ๖๐๐ ปีก่อนคริสตศักราช    ที่เขียนแบบรหัสนัย หรือแบบ tacit   เปิดช่องให้ตีความได้หลากหลาย    ที่ผมชอบมากที่สุดคือการตีความสู่อิสรภาพในการดำรงชีวิต ของผู้คน    ที่ผมตีความต่อว่า อิสระจากความครอบงำที่เป็นสารพัดมายา  


สมมติเหล่านั้นจะต้องมีคุณค่า มีประโยชน์ จึงจะดำรงอยู่ได้    แต่เมื่อเวลาผ่านไป คุณค่าของสิ่งสมมติ ที่เป็นจารีต ควรถูกตีความใหม่หรือไม่ ตามที่ ศ. ดร. สุวรรณา สถาอานันท์ กล่าวใน เป็นเรื่องน่าสนใจมาก    น่าเสียดายที่บางเรื่องเอามาเรียนรู้ไม่ได้ ผิดกฎหมาย 


การครอบงำหลักในจีนสมัยกว่าสองพันห้าร้อยปีก่อน มาจากผู้ปกครองรัฐ    หรือรัฐครอบงำคน    ผมตั้งข้อสังเกตโยงเข้าหา “ผู้นำแห่งอนาคต” ว่า     ผู้นำแห่งอนาคตต้องเข้าใจการครอบงำที่ทำให้ตนเองและผู้คน ขาดอิสรภาพ และเสรีภาพ    ปัจจัยที่ครอบงำตัวเราและเพื่อนร่วมโลก ร่วมชาติ ในปัจจุบัน แตกต่างจากปัจจัย ครอบงำคนจีนเมื่อกว่าสองพันห้าร้อยปีก่อน    ผมตีความว่าปัจจัยหมายเลขหนึ่ง ที่ครอบงำในโลกปัจจุบันคือ ลัทธิทุนนิยม    แต่ก็ยังมีปัจจัยหมายเลขสอง หมายเลขสาม ... อีกด้วย    คือโลกปัจจุบัน VUCA กว่าเมื่อสองพัน ห้าร้อยปีก่อน อย่างเทียบกันไม่ได้ 


ขอเถียงตัวเองว่า ข้อความในย่อหน้าบนอาจจะผิดทั้งหมด หากเรายกระดับ abstraction ของวิธีคิด     ผมเสนอใหม่ว่า ไม่ว่ายุคสมัยใด มนุษย์เราถูกครอบงำ หรือถูกทำให้ไร้อิสรภาพ จากสิ่งสมมติที่คนเราร่วมกัน สร้างขึ้น และร่วมกันเชื่อ ร่วมกันทำให้เกิดความเชื่อในระดับงมงาย

   เวลานี้คนทั้งโลกกำลังงมงายอยู่กับวัตถุนิยม    ที่ครอบงำทำให้ชีวิตของเราไร้อิสรภาพ    ชีวิตที่ดี คือชีวิตที่ไม่ตกอยู่ใต้มายาแห่งวัตถุ


เถียงอีก ต่อข้อความในย่อหน้าบน   เราจะหวังให้คนที่อยู่ในระดับล่างของ ลำดับขั้นความต้องการในชีวิต ไม่ถูกครอบงำโดยวัตถุนิยมได้อย่างไร   


ขอเพิ่มข้อสังเกตอีกเรื่องหนึ่ง คือเรื่อง “ของส่วนรวม กับของส่วนตัว” สมัย ๒,๕๐๐ ปีก่อน กับสมัยนี้แตกต่างกันมาก    คือสมัยนี้มัน VUCA กว่าสมัย ๒,๕๐๐ ปีก่อนอย่างเทียบกันไม่ติด    เวลานี้เราเห็นว่า เป็นที่ยอมรับกันว่า จะต้องมีคนรวมตัวกันไปหาทางสร้างกติกาสังคมเพื่อให้เอื้อต่อผลประโยชน์ของกลุ่มตน  และกลุ่มที่สนับสนุนตน    และคนกลุ่มนั้น เรียกว่า นักการเมือง   


อุดมการณ์สมัยโบราณ คือเอาพลังส่วนตัว ไปรับใช้ผลประโยชน์ส่วนรวม    อุดมการณ์สมัยปัจจุบัน คือ เข้าไปตักตวงให้ผลประโยชน์ส่วนรวม รับใช้ผลประโยชน์ส่วนกลุ่มและส่วนตน     ผมตีความในแง่ร้ายเกินไป หรือเปล่าก็ไม่ทราบ


ชีวิตที่ดีในโลกแห่งวัตถุ เมื่อ ๒,๕๐๐ ปีก่อน กับในปัจจุบัน (และอนาคต) ไม่เหมือนกัน   เพราะบริบทแตกต่างกันมาก


อย่างไรก็ตาม ผมชอบชื่อหนังสือเล่มนี้มาก “เศรษฐศิลป์” เตือนใจเราว่า มนุษย์เราต้องมี economic literacy จึงจะมีชีวิตที่ดีได้    และ economic literacy ครอบคลุมทั้งมิติทางกาย จิต และวิญญาณ   


ขอขอบคุณ รศ. ดร. อนุชาติ พวงสำลี ที่กรุณามอบหนังสือเล่มนี้


วิจารณ์ พานิช

๒๐ ก.ค. ๖๐



บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย  ใน KMI Thailand

แก้ไขล่าสุด ใน วันพฤหัสบดีที่ 31 สิงหาคม 2017 เวลา 12:01 น.
 

ศาสตร์และศิลป์ของการสอน : ๒๕. ตรวจสอบและแก้ไขเมื่อนักเรียนไม่สนใจ

พิมพ์ PDF
  จุดสำคัญที่สุดของยุทธศาสตร์นี้คือ ครูเอาใจใส่ความสนใจของศิษย์ และหาทางแก้ไขเมื่อนักเรียนแสดงอาการ ไม่สนใจ หรือเรียนไม่รู้เรื่อง  

ศาสตร์และศิลป์ของการสอน  : ๒๕. ตรวจสอบและแก้ไขเมื่อนักเรียนไม่สนใจ

บันทึกชุด ศาสตร์และศิลป์ว่าด้วยการสอน นี้ตีความจากหนังสือ The New Art and Science of Teaching เขียนโดย Robert J. Marzano   ซึ่งเพิ่งออกวางจำหน่ายในปี พ.ศ. ๒๕๖๐ นี้เอง

 

ภาค ๗  ใช้ยุทธศาสตร์สร้างพันธกิจสัมพันธ์ของนักเรียนต่อการเรียน

 

ภาค ๗  ใช้ยุทธศาสตร์สร้างพันธกิจสัมพันธ์ของนักเรียนต่อการเรียน ตีความจาก  Chapter 7  : Using Engagement Strategies   มี ๑๐ ตอน  คือตั้งแต่ตอนที่ ๒๕ ถึงตอนที่ ๓๔    คำว่า engagement มีความหมายลึก และศาสตราจารย์ ดร. วิจิตร ศรีสะอ้าน แปลเป็นคำไทยว่า “พันธกิจสัมพันธ์”    โดยมีนัยยะว่ามีหลายฝ่ายร่วมกันเป็นภาคี (partner) ในกิจกรรมที่ทำร่วมกัน    โดยภาคีร่วมกัน  (๑) กำหนดเป้าหมาย  (๒) วางแผนดำเนินการ  (๓) ทำกิจกรรมหรือดำเนินการ  และ (๔) รับผล    ดังนั้น หากคิดตามความหมายนี้    การใช้คำว่า “พันธกิจสัมพันธ์ของนักเรียน” (student engagement) ย่อมมีนัยยะว่ากิจกรรมการเรียนเป็นเรื่องที่มีหลาย “เจ้าของร่วม”    ทั้งที่เป็นนักเรียน (หลายคน) ครู  และผู้ปกครอง     โดย “เจ้าของ” สำคัญที่สุดคือนักเรียน    เป้าหมายของสาระในภาค ๗ นี้ คือ  แนะนำวิธีที่ครูทำให้นักเรียนเป็น “หุ้นส่วนใหญ่”  ของการเรียนรู้

หากมองในเชิงอุดมคติ การเรียนเป็นเรื่องของนักเรียน เป็นกิจกรรมของนักเรียน    การเรียนรู้และกระบวนการ ต่างๆ เพื่อการเรียนรู้จึงควรมีนักเรียนเป็นเจ้าของ    แต่เมื่อมองจากมุมของครู เรื่องการดึงความสนใจของนักเรียน และจัดให้นักเรียนแสดงบทบาท (student engagement) เป็นเรื่องสำคัญ และครูต้องเรียนรู้ ยุทธศาสตร์ฝึกทักษะเพื่อการนี้    ดังระบุใน ภาค ๗

หนังสือ The New Art and Science of Teaching บอกว่า พันธกิจสัมพันธ์ของนักเรียนเป็นปฐมบทของการสร้าง สภาพจิตใจของนักเรียน ให้พร้อมต่อการเรียนรู้    โดยหากดำเนินการอย่างได้ผล สภาพจิตใจของนักเรียนคือ “สนใจ  มีพลัง  อยากรู้  และมีแรงบันดาลใจ”     ดังนั้น คำถามเชิงยุทธศาสตร์ของครู ในการจัดการเรียนรู้ตามภาค ๗ นี้ คือ ครูจะดำเนินการอย่างไรเพื่อสร้างสภาพจิตใจของนักเรียนที่ สนใจ  มีพลัง  อยากรู้  และมีแรงบันดาลใจ

 

ตอนที่ ๒๕ ตรวจสอบและแก้ไขเมื่อนักเรียนไม่สนใจ  ตีความจาก Element 23 : Noticing and Reacting When Students Are Not Engaged  เป็นตอนแรกของ ภาค ๗  ใช้ยุทธศาสตร์สร้างพันธกิจสัมพันธ์ของนักเรียนต่อการเรียน

นี่คือปัจจัยสำคัญที่สุดใน ๑๐ ยุทธศาสตร์ของภาค ๗   คือครูต้องรู้ทันที และมีการดำเนินการแก้ไขทันที เมื่อเห็นว่านักเรียนไม่สนใจ 

คำถามเชิงยุทธศาสตร์ของครู ในการวางแผนจัดระบบให้นักเรียนมีปฏิสัมพันธ์กัน  คือ    “ครูจะสังเกตเห็นว่านักเรียนไม่สนใจเรียนได้อย่างไร และจะดำเนินการแก้ไขได้อย่างไร”

ยุทธศาสตร์และวิธีการที่ครูใช้ตรวจสอบและแก้ไขเมื่อนักเรียนไม่สนใจ  มีดังต่อไปนี้

 

ยุทธศาสตร์

วิธีการ

ตรวจสอบความสนใจของนักเรียนแต่ละคน

ครูคอยตรวจตราว่ามีนักเรียนคนไหนแสดงอาการไม่สนใจการเรียน ทั้งในห้องใหญ่ ในกลุ่มย่อย และตอนทำงานคนเดียว

ตรวจสอบความสนใจของทั้งชั้น

ครูตรวจสอบความสนใจของทั้งชั้น  ไม่ใช่ที่นักเรียนเป็นรายคน หรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งโดยเฉพาะ

ใช้วิธีการให้นักเรียน รายงานความสนใจ

ครูจัดระบบให้นักเรียนรายงานความน่าสนใจของชั้นเรียนเป็นระยะๆ   หรือครูถามนักเรียน ณ เวลาใดเวลาหนึ่งโดยตรง  

ดึงความสนใจกลับมา

เมื่อครูพบว่านักเรียนคนหนึ่งคนใดขาดความสนใจ ก็หาวิธีดึงความสนใจกลับมา

ยกระดับพลังของชั้นเรียน

เมื่อครูสังเกตว่าพลังของชั้นเรียนลดลง   ครูประกาศว่าตอนนี้พลังของชั้นเรียนตกต่ำ  ขอเชิญนักเรียนช่วยกันเสนอแนะทางออก

 

จุดสำคัญที่สุดของยุทธศาสตร์นี้คือ ครูเอาใจใส่ความสนใจของศิษย์ และหาทางแก้ไขเมื่อนักเรียนแสดงอาการ ไม่สนใจ หรือเรียนไม่รู้เรื่อง

เมื่อยุทธศาสตร์นี้ได้ผล    จะสังเกตเห็นพฤติกรรมของนักเรียนดังต่อไปนี้

  • นักเรียนตระหนักว่าครูเอาใจใส่ตรวจสอบความสนใจของนักเรียน
  • นักเรียนพยายามนกระดับความสนใจของตน
  • หากสอบถาม นักเรียนบอกได้ว่าครูเอาใจใส่พันธกิจสัมพันธ์ของนักเรียน

วิจารณ์ พานิช

๙ เม.ย. ๖๐

 

บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย  ใน สภามหาวิทยาลัย

แก้ไขล่าสุด ใน วันพฤหัสบดีที่ 31 สิงหาคม 2017 เวลา 13:20 น.
 


หน้า 186 จาก 561
Home

About Us

ศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ (ศบม.) เป็นองค์กรที่พัฒนาและจัดทำโครงการเพื่อทำประโยชน์ให้สังคม เป็นองค์กรสนับสนุนการดำเนินงานของภาครัฐ ช่วยแก้ปัญหาผู้ประกอบการภาคธุรกิจบริการที่ขาดแคลนบุคลากรที่มีมาตรฐานในการให้บริการ
อ่านเพิ่มเติม

มูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ ์

 iHDC Profile
บัญชีรายชื่อกรรมการ
ใบสำคัญแสดงการจดทะเบียน การเปลี่ยนแปลงกรรมการของมูลนิธิ
เอกสารประชาสัมพันธ์ โครงการ HMTC.pdf
เอกสารแนะนำโครงการ HMTC 1.pdf
เอกสารโครงการ HMTC 2 คุณสมบัติผู้เข้าร่วมโครงการ.pdf
iHDC นิติบุคคล.pdf
iHDC บุคคล.pdf
iHDC บุคคลเครือข่าย.pdf
รายงานการประชุม 6 มีนาคม 2560.pdf
ข้อบังคับมูลนิธิ
ใบสำคัญแสดงการจดทะเบียนจัดตั้งมูลนิธิ
Ihdc-Profile and Roadmap 2016-2019 Mar 23 2560.pdf
รายงานการประชุมใหญ่คณะกรรมการมูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ 2559.pdf
คำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ สาขาวิชาชีพ.pdf
รายงานการประชุมใหญ่วันที่ 18 ธ ค 2558 v 3.pdf
รายงานการประชุม วันที่ 24 ธันวาคม 2557 updated 4 มีนาคม 2558.pdf
iHDC-invitation Letter.doc
iHDC-Member Form Thai.doc
iHDC-Member Form English.doc
รายงานการประชุมกรรมการมูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ วันที่ 15 มกราคม 2556 ฉบับสมบูรณ์


thaibetter
พัฒนาประเทศไทยแบบทวีคูณ และยั่งยืน ( ททค )

Login


แบบสำรวจ

สถิติเว็บไซด์

สมาชิก : 5644
Content : 3068
เว็บลิงก์ : 26
จำนวนครั้งเปิดดูบทความ : 8744286

facebook

Twitter


ล่าสุด

บทความเก่า