Thaiihdc.org

  • เพิ่มขนาดตัวอักษร
  • ขนาดตัวอักษรปกติ
  • สดขนาดตัวอักษร
Thaiihdc.org

ชีวิตที่พอเพียง : 2992 การพัฒนาเยาวชนแบบไม่กลวง : ฝึกเป็น Knowledge Worker

พิมพ์ PDF

เช้าวันที่ ๑๙ กรกฎาคม ๒๕๖๐ ผมยังคง “เคี้ยวเอื้อง” เรื่องราวที่ได้จากการประชุม “แลกเปลี่ยนเรียนรู้ และยกระดับความรู้ เรื่องการพัฒนาพลเมืองเยาวชน” ของมูลนิธิ สยามกัมมาจลเมื่อวันที่ ๑๘   และเนื่องจากเวที นั้นเป็นเวที โค้ชผู้ทำหน้าที่โค้ช แก่เยาวชน    และคุณพรรณิภา โสตถิพันธุ์ แห่งสงขลาฟอรั่มปรารภเรื่อง คนทำงานพัฒนาเยาวชน จะต้อง “ไม่กลวง”   เพราะสังเกตเห็นเยาวชนบางคนที่มาร่วมกิจกรรม พูดคำโตๆ แบบไม่มีสาระอยู่ข้างใน


ผมสังเกตสภาพดังกล่าวเรื่อยมา ว่าการพูดคำโตแบบกลวงนี้แพร่หลายอยู่ในบางวงการ ในคนบางกลุ่ม    ผมเองระมัดระวังเรื่อยมา ไม่ให้ติดกับดักความกลวงของคนเหล่านั้น    คือไม่หลงไปใช้งานคนที่กลวง


เนื่องจากเวทีดังกล่าวเป็นเวทีโค้ชพี่เลี้ยงเยาวชน    ผมจึงมีความเห็นว่า พี่เลี้ยงต้องตั้งคำถามกับตนเอง และกับเยาวชนในกลุ่มอยู่เสมอว่า กิจกรรมในขณะนั้นต้องการใช้ความรู้อะไร เพื่อให้งานสำเร็จอย่างมีคุณภาพสูง    และจะหาความรู้นั้นได้จากที่ไหน    หามาได้แล้วจะตรวจสอบความถูกต้องอย่างไร   นำมาชี้ชวนเยาวชนให้ค้นคว้า หาความรู้มาใช้ทำกิจกรรม    และเมื่อใช้แล้วก็มีการ AAR ตรวจสอบความหมายของความรู้นั้นจากมุมของ การปฏิบัติ   ซึ่งจะมีผลให้ค้นพบความรู้ใหม่จากการปฏิบัติ 


ผมสังเกตจากเอกสารประกอบการประชุม และการนำเสนอในที่ประชุม ว่าพี่เลี้ยงยังไม่ตระหนักว่า พี่เลี้ยงต้องทำงานแบบ knowledge worker    ไม่ใช่ทำตามความรู้สึก   


ตัวอย่างคือ โครงการศึกษาภูมิปัญญาที่เกี่ยวข้องกับชายหาดและทะเล กลุ่มเด็กรักหาดสวนกง  พื้นที่ชุมชนบ้านสวนกง  อ. จะนะ  จ. สงขลา    ที่เยาวชนที่มาเข้าโครงการยังเป็นเด็กหญิง คือยังอายุน้อยมาก    แต่มาเข้าร่วมโครงการเพราะอยากร่วมรณรงค์คัดค้านท่าเรือสงขลาแห่งที่ ๒  และคัดค้านรถไฟรางคู่   เนื่องจากบิดาอยู่ในกลุ่มคัดค้านทั้งสองโครงการดังกล่าว 

เมื่ออ่านเอกสารและฟังการนำเสนอเรื่องนี้ ผมก็เกิดคำถามว่า เราควรฝึกให้เยาวชนมอง “ความจริงหลายมุม” ของเรื่องราวหรือกิจกรรมต่างๆ ในโลกแห่งความเป็นจริงหรือไม่    หากใช่ เยาวชนในโครงการควรค้นความรู้เรื่องข้อดีข้อเสียของโครงการทั้งสอง ในบริบทของชุมชนของตน    และร่วมกันประมวลและประเมินความรู้ที่ค้นหาได้    หากความรู้ส่วนของชุมชนยังไม่เพียงพอก็ศึกษาวิธีการ เก็บข้อมูลที่ต้องการ ให้มีความแม่นยำน่าเชื่อถือ    สำหรับนำมาใช้ออกแบบกิจกรรม    ก็จะเป็นการทำ กิจกรรมแบบ knowledge worker


หัวใจคือ การมี content knowledge สำหรับใช้ทำกิจกรรม และการเรียนรู้ของเยาวชน แะของพี่เลี้ยง     ใช้ความรู้ทำกิจกรรมได้ผลอย่างไรแล้ว ทั้งความรู้เชิงกระบวนการ และความรู้เชิงสาระ จะขยายตัวขึ้น    ทั้งเยาวชนและพี่เลี้ยงต้องสามารถอธิบายการเปลี่ยนแปลง (transformation) ทั้งสองด้านนี้ได้    เยาวชนก็จะได้รับการพัฒนาแบบไม่กลวง


วิจารณ์ พานิช

๒๐ ก.ค. ๖๐



บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย  ใน KMI Thailand

 

แก้ไขล่าสุด ใน วันพฤหัสบดีที่ 31 สิงหาคม 2017 เวลา 13:24 น.
 

ชีวิตที่พอเพียง : 2990 อ่านใจคน

พิมพ์ PDF

เพราะพบบทความเรื่อง EF Depletion   ซึ่งโยงไปยัง TOM (Theory of Mind) ที่วิกิพีเดียไทยเรียกว่า ทฤษฎีจิต    ชักจูงให้ผมทำความเข้าใจเรื่องกลไกในสมองว่าด้วยการอ่านใจคน    และผมตีความว่า EF ช่วยให้คนเราอ่านใจคนได้ดี    คนที่เข้าใจคนอื่นได้ดีย่อมเป็นคนมีความสามารถสูง  


เมื่อราวๆ ๔๐ ปีก่อน ผมเคยฟังการบรรยายด้านการบริหาร ว่าผู้บริหารต้องเก่ง ๓ ด้าน    คือเก่งคน  เก่งงาน  และ เก่งคิด    มาถึงตอนนี้ผมตีความว่า ส่วนหนึ่งของเก่งคนคือ เก่งด้านอ่านใจคน     ซึ่งมีทั้งอ่าน เป็นคนๆ ตามสถานการณ์    และอ่านภาพรวมในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง     การมีโพลสอบถามความเห็นของคน เป็นเครื่องช่วยอย่างหนึ่ง ให้เข้าใจใจคนในภาพรวมในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง 


เรามีคำว่า “เด็กไร้เดียงสา”   น่าจะหมายถึงอ่านใจคนไม่ออก  ไม่เข้าใจ วาระซ่อนเร้น (hidden agenda) ของผู้คน     เราจึงมีคำว่า “ผู้เยาว์ “ ซึ่งหมายถึงผู้ยังไม่บรรลุวุฒิภาวะทางความคิด และทางอารมณ์    ซึ่งความรู้ใหม่ด้านประสาทวิทยาศาสตร์ บอกว่ากว่าคนเราจะบรรลุวุฒิภาวะเต็มที่ จะต้องอายุ ๒๕ ปี หรือเกือบถึง ๓๐ ปี    และผมบอกตัวเองว่า ผมอายุกว่า ๓๐ ก็ยังไม่ “สุก” เต็มที่ (คือยังห่ามอยู่)    การอ่านใจคนไม่ออก เป็นลักษณะหนึ่งที่คนไทยเรียกว่า “ไม่มีไหวพริบ”    สมัยผมอายุ ๑๐ - ๑๕ ขวบ ผมต้องช่วยพ่อแม่ทำงานมาก    และทำผิดพลาดบ่อยๆ    พ่อผมตำหนิว่า “ไม่มีไหวพริบ”    ซึ่งย่อมต้องเป็นเช่นนั้นเพราะวุฒิภาวะของผม ยังไม่พัฒนาถึงขั้นที่พ่อคาดหวัง 


ผมคิดว่า การอ่านใจคนไม่ได้ขึ้นกับตัวบุคคลเท่านั้น ยังขึ้นกับเหตุการณ์ และกาละเทศะของเรื่องราว นั้นๆ    การอ่านใจคนจึงเป็นกระบวนการที่ซับซ้อน    ที่ “ความจำใช้งาน” (working memory) จะต้องดึงข้อมูล จากเหตุการณ์  และดึงข้อมูลจาก “ความจำระยะยาว” (longterm memory) หรือความรู้เดิม ที่มีความซับซ้อน     เอามาประมวล เพื่อเข้าใจว่า ที่นาย ก พูดอย่างนี้ หมายความว่าอย่างไร    ในขณะที่ นางสาว ข พูดคำพูดเดียวกัน  มีความหมายแตกต่างกันอย่างไร

 นี่คือพลังของ EF  และ “ความรู้เดิม” (prior memory) หรือความจำใช้งาน (longterm memory)   ในการช่วยให้คนเราเข้าใจคนอื่นได้ในมิติที่ลึก    นำไปสู่ความเห็นอกเห็นใจ (empathy) คนอื่น



วิจารณ์ พานิช

๑๙ ก.ค. ๖๐


 

บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย  ใน KMI Thailand

แก้ไขล่าสุด ใน วันพฤหัสบดีที่ 31 สิงหาคม 2017 เวลา 13:09 น.
 

สร้างมาตรฐานโรงแรมด้วยการเพิ่มคุณค่าทรัพยากรมนุษย์

พิมพ์ PDF

สร้างมาตรฐานโรงแรมด้วยการเพิ่มคุณค่าทรัพยากรมนุษย์

บทนำ

 อุตสาหกรรมโรงแรมประกอบด้วย ๔ ส่วนใหญ่ๆ ดังนี้

๑)     ส่วนของการลงทุน ได้แก่การลงทุนด้านทรัพย์สิน เช่นที่ดิน ตัวอาคาร สาธารณูปโภค และ การลงทุนด้านการจัดการ เป็นต้น

๒)    ส่วนของการตลาด ได้แก่การวางขนาดและทิศทางของธุรกิจ กลุ่มเป้าหมายลูกค้า

๓)    ส่วนของการจัดการ ได้แก่การดำเนินการต่างๆเพื่อให้บรรลุตามเป้าหมาย

๔)    ส่วนของการบริการ หรือส่วนของการปฏิบัติ ของทรัพยากรมนุษย์

 เจ้าของธุรกิจโรงแรมส่วนมากคิดแต่เฉพาะการลงทุนด้านทรัพย์สินเพียงอย่างเดียว มิได้มีการกำหนดงบประมาณการลงทุนด้านการบริหารจัดการและการตลาด จึงทำให้

มาตรฐานของโรงแรมไม่ตรงตามความเป็นจริง สำหรับการตลาดเจ้าของธุรกิจไม่ได้คำนึงถึงส่วนนี้ มักจะสร้างโรงแรมขึ้นมาเพื่อหวังผลประโยชน์ในด้านอื่น หรือทำตามความ

ต้องการของเจ้าของเป็นหลัก ส่วนของการบริหารจัดการเจ้าของธุรกิจไม่ได้จ้างมืออาชีพมาบริหารจัดการธุรกิจ จ้างคนมาดำรงตำแหน่งหนึ่งแต่ให้ไปทำงานอีกอย่างซึ่งไม่ตรงตาม

ตำแหน่งที่จ้างมา เจ้าของจะลงไปจัดการเองทุกตำแหน่ง หรือถ้าเจ้าของไม่ลงไปจัดการเองก็จะมอบหมายให้เครือญาติหรือคนใกล้ชิดลงไปดำเนินการในตำแหน่งนั้นๆ หรืออาจไม่มี

ตำแหน่งแต่ไปดำเนินการล้วงลูกในตำแหน่งที่เป็นของคนอื่น

ส่วนของการบริการ เป็นส่วนที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการหรือการปฏิบัติงานของพนักงานโรงแรมทั้งหมด ซึ่งแบ่งออกเป็นกลุ่มต่างๆดังนี้

๑.กลุ่มของพนักงานระดับล่าง เป็นพนักงานที่ใช้แรงงานเป็นหลัก ส่วนหนึ่งเป็นผู้ที่ให้บริการตรงกับลูกค้า ส่วนหนึ่งเป็นหน่วยสนับสนุน และอีกส่วนเป็นหน่วยตรวจสอบ

๒.กลุ่มหัวหน้างาน

๓.กลุ่มผู้บริหารระดับกลาง

๔.กลุ่มผู้บริหารระดับสูง

 

  ส่วนใหญ่เจ้าของธุรกิจโรงแรมเป็นผู้กำหนดมาตรฐานของตัวเอง โดยใช้การลงทุนด้านทรัพย์สินเป็น ตัวชี้วัดเพียงอย่างเดียว มิได้นำเอาอีกสามส่วนมาพิจารณา

 

 วัตถุประสงค์

๑)     สร้างมาตรฐานอุตสาหกรรมโรงแรมไทยให้เหมาะสมกับการทำธุรกิจแบบยั่งยืน

๒)    สร้างบุคลากรด้านอุตสาหกรรมโรงแรมให้มีคุณสมบัติที่เหมาะสมกับงานในตำแหน่งที่ได้รับอย่างพอเพียง

๓)    สร้างบุคลากรด้านอุตสาหกรรมโรงแรมให้มีมูลค่าเพิ่ม มีอนาคต และรายได้ที่เหมาะสมและพอเพียงต่อการดำรงชีพ

 

การดำเนินการ

๑)     ตั้งทีมทำงาน  ที่มาจากบุคลากรด้านโรงแรม นักวิชาการ เจ้าของกิจการโรงแรม และส่วนของภาครัฐ ทั้งส่วนงานที่เกี่ยวข้องโดยตรงและส่วนสนับสนุน

(โดยการคัดเลือกเป็นรายบุคคลไม่ใช่โดยตำแหน่ง)

๒)    รวบรวมสมาชิกที่ทำงานในอุตสาหกรรมโรงแรม

๓)    จัดกิจกรรมเพื่อให้บรรลุเป้าหมายตามวัตถุประสงค์

 

  เป้าหมายกลุ่มที่ต้องได้รับการการพัฒนา

๑)     เจ้าของกิจการ  ( ผู้ลงทุน)

๒)    ผู้บริหารระดับสูง

๓)    ผู้บริหารระดับกลาง

๔)    หัวหน้างาน

๕)    พนักงานระดับล่าง

 

เครือข่ายที่ต้องดึงเข้ามาร่วมให้การสนับสนุน

๑)     กระทรวงการท่องเที่ยว ( สำนักพัฒนาการท่องเที่ยว)

๒)    กระทรวงแรงงาน

๓)    กรมพัฒนาแรงงาน

๔)    กระทรวงศึกษา ทบวง กรมอาชีวะ

๕)    กระทรวงวัฒนะธรรม

๖)     กระทรวงต่างประเทศ

๗)    สำนักงานประกันสังคม

๘)    สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

๙)     กระทรวง IT

๑๐) ฯลฯ

               

 ตัวอย่างอุปสรรค์และปัญหาที่ทำให้บุคลากรด้านอุตสาหกรรมโรงแรมขาดแคลน

 

คนไทยเป็นคนเก่งและมีความสามารถไม่แพ้ใคร แต่ที่บุคลากรระดับล่างขาดแคลนไม่สามารถคัดเลือกทรัพยากรมนุษย์ที่มีอยู่มากมายให้มาทำงานในตำแหน่งที่ว่างเพราะ

ขาดการเรียนรู้อย่างแท้จริง

๑)     อาจารย์สอนไม่รู้จริง

๒)    หลักสูตรการศึกษาไม่ได้ให้โอกาสนักศึกษาเข้าใจในตำแหน่งงานอย่างแท้จริง

๓)    หัวหน้าที่สอนงานให้ลูกน้องเข้าใหม่ ไม่มีความรู้ในการสอน

๔)    พนักงานเก่าที่สอนงานให้กับพนักงานใหม่ ยังไม่รู้งานจริง จึงสอนแบบผิดๆถูกๆ

๕)    ไม่มีเวลาเรียนรู้อย่างถูกต้อง

ทางโรงแรมเองไม่ได้เอาใจใส่ในการลงทุนด้านทรัพยากรมนุษย์ ไม่ได้คิดทุ่มเทหรือลงทุนเพื่อสร้างคนอย่างถูกต้อง เมื่อพนักงานไม่พอก็วิ่งแย่งซื้อตัวจากโรงแรมอื่น

หรือ รับผู้ที่ไม่เคยมีคุณสมบัติ และ ความรู้ในตำแหน่งงานนั้นๆ พนักงานใหม่เหล่านั้นไม่มีโอกาสเข้ารับการอบรม ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของพนักงานเก่าหรือหัวหน้างานเป็น

ผู้บอกกล่าวและสอนงาน

ส่วนการสนับสนุนจากกรมแรงงาน และหน่วยงานอื่นๆทั้งของภาคเอกชนและภาครัฐ ก็ไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควรเพราะ

๑ ) ผู้จัดได้กำหนดเวลาในการจัดอบรมตามความสะดวกของผู้จัด มิได้จัดการอบรม ตามเวลาที่เหมาะสมกับผู้เข้ารับการอบรมและความเป็นไปได้ในการส่งพนักงานไป

อบรมของแต่ละโรงแรม

๒) การจัดอบรมเน้นที่บางตำแหน่ง แต่มีอีกหลายตำแหน่งที่ไม่มีการจัดอบรม

๓) การสื่อสารไม่ถึงตัวพนักงานผู้ต้องการได้รับการอบรม

๔) ทางโรงแรมเองไม่กล้าส่งพนักงานของตัวเองไปอบรมเพราะ ถ้าส่งไปแล้วไม่มีคนทำงาน หรือกลัวว่าเมื่อส่งไปแล้วจะถูกดึงตัวไปที่อื่น

๕) ผู้รับการอบรมขาดแรงจูงใจในการเข้ารับการอบรม

๖) การอบรมบางหลักสูตร ไม่สามารถนำกลับมาใช้ในโรงแรมที่ตัวเองทำงานอยู่ได้

 

การขาดแคลนบุคคลากรในระดับหัวหน้างาน และผู้บริหารระดับกลาง

                พนักงานไม่ได้รับการอบรมมาให้เป็นผู้บริหาร ได้รับตำแหน่งเพราะมีชั่วโมงการทำงานที่มากกว่าพนักงานคนอื่นๆ หรือเป็นคนของหัวหน้างานในระดับสูงขึ้นไป หรือเป็น

ผู้ที่ขยัน ทำงานดี ซื่อสัตย์ จึงถูกเลื่อนให้เป็นหัวหน้างาน หรือเป็นผู้บริหารระดับกลาง หรือถูกดึงตัวไปอยู่โรงแรมที่เปิดใหม่ โดยยังไม่มีความรู้และทักษะการเป็นหัวหน้า และไม่ได้รับ

การเรียนรู้งานในตำแหน่งหัวหน้างาน  เมื่อขึ้นไปอยู่ในตำแหน่งนั้นๆก็ยังติดกับการทำงานเก่าๆของตัวเอง ไม่ได้ทำงานในหน้าที่ใหม่ จึงไม่สามารถสร้างบุคลากรในระดับรองลงไป

ได้

 

การพิจารณากำหนดมาตรฐานของงานในแต่ละตำแหน่ง

  การตั้งมาตรฐานของงานแต่ละตำแหน่งต้องศึกษาและวิจัยให้ลึกๆ เพราะแต่ละโรงแรมมีมาตรฐานที่แตกต่างกัน การบริการขึ้นอยู่กับกลุ่มลูกค้าเป็นสำคัญ ดังนั้น

มาตรฐานของงานแต่ละตำแหน่งจึงขึ้นอยู่กับชนิดของกลุ่มลูกค้าของโรงแรมนั้นๆ  การกำหนดมาตรฐานของงานในแต่ละตำแหน่งจึงต้องจัดแบ่งแยกออกไปตามกลุ่มของ

โรงแรมนั้น โรงแรมแต่ละระดับมีรายได้และการลงทุนที่แตกต่างกัน มาตรฐานของงานแต่ละตำแหน่งในแต่ละระดับโรงแรมก็ต้องแตกต่างกันไปด้วย


        พนักงานที่มีความขยันอดทนทำงานเก่ง บริการลูกค้าได้ดีเยี่ยม ส่วนมากจะเป็นพนักงานที่เรียนรู้ด้วยตัวเอง เรียนจากประสบการณ์ แต่ไม่สามารถสร้างความก้าวหน้าได้

ในสถานที่เดิม เพราะโรงแรมนั้นๆไม่มีแผนการบริหารจัดการทรัพยากรมนุษย์ ไม่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับพนักงาน พนักงานเหล่านี้จึงต้องวิ่งหางานใหม่ที่ทำให้มีรายได้เพิ่ม    

     สำหรับโรงแรมระดับ สี่ดาว และ ห้าดาวไม่ค่อยจะมีปัญหาในการขาดแคลนบุคลากรระดับล่าง เพราะโรงแรมระดับนี้ส่วนใหญ่จะมีผู้ที่มีความรู้และประสบการณ์

จากโรงแรมระดับที่ต่ำกว่ามาสมัครเพื่อขอเข้าทำงานเป็นจำนวนมากจึงสามารถคัดเลือกคนได้ตามคุณสมบัติที่ตัวเองต้องการ

 

 

ม.ล.ชาญโชติ ชมพูนุท

๒๓ สิงหาคม ๒๕๖๐

หมายเหตุ : แก้ไขปรับปรุ่งจากบทความเดิม ที่เผยแพร่ในวันที่ ๖ มกราคม ๒๕๔๘


                

แก้ไขล่าสุด ใน วันอังคารที่ 22 สิงหาคม 2017 เวลา 23:33 น.
 

จากรายการ เปลี่ยน เป็น เปลี่ยน สู่ ศาสตร์พระราชา สู่พัฒนาอย่างยั่งยืน

พิมพ์ PDF

เปลี่ยน เป็น เปลี่ยน สู่ ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน

จากการเสวนาเพื่อความรู้ในรายการ เปลี่ยน เป็น เปลี่ยน ประเด็นต่อเนื่อง "ยุทธศาสตร์ชาติ Thailand 4.0 ผลกระทบต่อความมั่นคงในสายอาชีพคนไทย" ออกอากาศสดวันพุธที่ 26 กรกฎาคม และต่อยอดในประเด็นเดียวกันในวันพุธที่ 2 สิงหาคม และวันพุธที่ 9 สิงหาคม 2560 ประเด็น "ยุทธศาสตร์ชาติ Thailand 4.0 กับผลกระทบต่อความสุขของประชาชน ความเข้มแข็งของสังคม และความมั่นคงของสถาบันหลัก (ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์) ได้อย่างไร สู่การแถลงของนายกรัฐมนตรี "ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน" ทางสถานีรวมการเฉพาะกิจในคืนวันศุกร์ที่ 11 สิงหาคม 2560 

มูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ เจ้าของ รายการ เปลี่ยน เป็น เปลี่ยน รายการเสวนาเพื่อการเรียนรู้เกี่ยวกับการดำรงชีวิตของคนไทยในสังคมไทย  ออกอากาศสดทางสถานีโทรทัศน์โลกพระพุทธศาสนาเฉลิมพระเกียรติฯ WBTV เป็นประจำทุกคืนวันพุธ  เวลา 19.00-20.00 น ตั้งแต่วันพุธที่ 17 กุมภาพันธ์ 2559 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน

 รายการที่สร้างความภาคภูมิใจให้กับผู้บริหารรายการเปลี่ยน เป็น เปลี่ยน ได้แก่รายการเสวนาต่อเนื่องประเด็น "ยุทธศาสตร์ชาติ Thailand 4.0 กับผลกระทบต่อความสุขของประชาชน ความเข้มแข็งของสังคม และความยั่งยืนของสถาบันหลัก (ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์) ได้อย่างไร " เนื่องจากประเด็นและสาระในการเสวนาที่ออกในรายการทั้ง 3 ครั้งติดต่อกัน ในวันที่ 26 กรกฎาคม วันที่ 2 สิงหาคม และ วันที่ 9 สิงหาคม  2560 ได้รับการตอบโจทย์จากทางรัฐบาล ตามที่ท่านนายกรัฐมนตรีได้นำมาแถลงในรายการพบประชาชนทุกวันศุกร์ ออกอากาศในวันที่ 11 สิงหาคม 2560             “ ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยมีประเด็นและสาระตอบโจทย์ของรายการเปลี่ยน เป็น เปลี่ยน ทุกประการ โปรดติดตามรับชมรายการ เปลี่ยน เป็น เปลี่ยน ทั้งสามตอนที่กล่าวไว้ก่อนหน้านี้ และติตามรับชม "ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน"  วันที่ 11 สิงหาคม 2560  ได้ตาม link ด้านล่างนี้

วันที่ 26 กรกฎาคม 2560  เปลี่ยน เป็น เปลี่ยน  onair  26072560 : https://youtu.be/SfUNybcri5I

วันที่ 2 สิงหาคม 2560  เปลี่ยน เป็น เปลี่ยน onair 02082560 : https://youtu.be/7FUsODRZD2Y

วันที่ 9 สิงหาคม 2560  เปลี่ยน เป็น เปลี่ยน onair 09082560 : https://youtu.be/1DCxTi7lOFc?t=1s

ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน onair 11082560 : https://youtu.be/T3INgcQqDtA?t=1s

ม.ล.ชาญโชติ ชมพูนุท

12 สิงหาคม 2560

แก้ไขล่าสุด ใน วันเสาร์ที่ 12 สิงหาคม 2017 เวลา 14:32 น.
 

ชีวิตที่พอเพียง : 2956. เถียงท่านพุทธทาสเรื่องอัตตา.

พิมพ์ PDF

หนังสือของหอจดหมายเหตุพุทธทาสฯ ชุดธรรมะใกล้มือ ช่วงปีนี้จัดพิมพ์คำบรรยายของท่านพุทธทาส ที่ไม่เคยจัดพิมพ์มาก่อน    ฉบับเดือนพฤษภาคม ๒๕๖๐ เรื่อง มีชีวิตโดยไม่ต้องมีอายุ  ซึ่งบรรยายเมื่อวันที่ ๒๗ พฤษภาคม ๒๕๓๔ อันเป็นวันเกิดของท่าน ในช่วงท้ายๆ ของชีวิตที่ท่านไม่ค่อยแข็งแรงแล้ว   

สาระของการบรรยายคือให้ลดละอัตตาตัวตน


อ่านแล้วผมนึกถึงหนังสือ คิดอย่าง มิเชล ฟูโกต์ คิดอย่างวิพากษ์ ที่ผมเคยเล่าที่ , โดยเฉพาะในบันทึกเรื่องอัตตา ใน  


ท่านพุทธทาสบอกว่าให้ขจัดอัตตา    ฟูโกต์บอกให้เอาอัตตามาเรียนรู้      ผมเพิ่มว่า อัตตาไม่คงที่ เพราะคนเรามี Transformative Learning อยู่เสมอ    และในพัฒนาการเด็กบอกว่าต้องมีพัฒนาการไปพร้อมๆ กัน ๗ ด้าน ตาม Chickering’s Seven vectors of Identity Development ในความหมายว่ามนุษย์เราต้องพัฒนาตัวตน


เอาเข้าจริงอาจให้ความหมายคำว่า “อัตตา” ไม่ตรงกัน   


ท่านพุทธทาสเน้นที่ ความยึดมั่นในตัวตน    ที่จะต้องคลายออก ลดลง และทำให้หมดไป จึงจะเป็นคนที่มีความสุข   


ฟูโกต์ เน้นที่ การสร้างตัวเอง  การคิดค้นหาตัวเอง  และการค้นพบตัวเอง (น. ๒๐๐)   เพื่อไปสู่การเป็นนายของตัวเอง    ต้องมีอัตตา จึงจะพัฒนาเป็นนายของตัวเองได้    โดยการรู้จักวิพากษ์วิจารณ์  รู้จักเจริญสติ  (น. ๑๙๓)     ในช่วงหลังฟูโกต์เน้นการพัฒนาอัตตาผ่านปฏิบัติการ    ซึ่งผมตีความว่าเป็นการเรียนรู้ จากชีวิตจริง ปฏิบัติการจริง ตามด้วยการไตร่ตรองสะท้อนคิด    ซึ่งเป็นกลไกการเรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลง และการเรียนรู้แห่งศตวรรษที่ ๒๑ นั่นเอง  


ในด้านพัฒนาการเด็ก เด็กต้องพัฒนาอัตลักษณ์  พัฒนาเป้าหมายชีวิต  ไปพร้อมๆ กันกับการพัฒนาคุณสมบัติด้านเห็นแก่ผู้อื่น เห็นแก่ส่วนรวม    เป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาทักษะแห่งศตวรรษที่ ๒๑    


เอาเข้าจริงผมก็ไม่ได้เถียงท่านพุทธทาส    แต่เอามุมมองของปราชญ์ท่านอื่นๆ และแนวคิดอื่น   มาเปรียบเทียบ    ให้เห็นว่า เรื่องอัตตาตัวตนเป็นเรื่องซับซ้อน    มีหลายแง่หลายมุม    มองได้จากหลายมุม    และจำเป็นต้องมองหลายมุม  ทำความเข้าใจจากหลายมิติ    


วิจารณ์ พานิช                                                                                                                          

๑ มิ.ย. ๖๐

บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย  ใน KMI Thailand

คัดลอกจาก: https://www.gotoknow.org/posts/630927

แก้ไขล่าสุด ใน วันศุกร์ที่ 28 กรกฏาคม 2017 เวลา 17:57 น.
 


หน้า 187 จาก 561
Home

About Us

ศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ (ศบม.) เป็นองค์กรที่พัฒนาและจัดทำโครงการเพื่อทำประโยชน์ให้สังคม เป็นองค์กรสนับสนุนการดำเนินงานของภาครัฐ ช่วยแก้ปัญหาผู้ประกอบการภาคธุรกิจบริการที่ขาดแคลนบุคลากรที่มีมาตรฐานในการให้บริการ
อ่านเพิ่มเติม

มูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ ์

 iHDC Profile
บัญชีรายชื่อกรรมการ
ใบสำคัญแสดงการจดทะเบียน การเปลี่ยนแปลงกรรมการของมูลนิธิ
เอกสารประชาสัมพันธ์ โครงการ HMTC.pdf
เอกสารแนะนำโครงการ HMTC 1.pdf
เอกสารโครงการ HMTC 2 คุณสมบัติผู้เข้าร่วมโครงการ.pdf
iHDC นิติบุคคล.pdf
iHDC บุคคล.pdf
iHDC บุคคลเครือข่าย.pdf
รายงานการประชุม 6 มีนาคม 2560.pdf
ข้อบังคับมูลนิธิ
ใบสำคัญแสดงการจดทะเบียนจัดตั้งมูลนิธิ
Ihdc-Profile and Roadmap 2016-2019 Mar 23 2560.pdf
รายงานการประชุมใหญ่คณะกรรมการมูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ 2559.pdf
คำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ สาขาวิชาชีพ.pdf
รายงานการประชุมใหญ่วันที่ 18 ธ ค 2558 v 3.pdf
รายงานการประชุม วันที่ 24 ธันวาคม 2557 updated 4 มีนาคม 2558.pdf
iHDC-invitation Letter.doc
iHDC-Member Form Thai.doc
iHDC-Member Form English.doc
รายงานการประชุมกรรมการมูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ วันที่ 15 มกราคม 2556 ฉบับสมบูรณ์


thaibetter
พัฒนาประเทศไทยแบบทวีคูณ และยั่งยืน ( ททค )

Login


แบบสำรวจ

สถิติเว็บไซด์

สมาชิก : 5644
Content : 3068
เว็บลิงก์ : 26
จำนวนครั้งเปิดดูบทความ : 8744282

facebook

Twitter


ล่าสุด

บทความเก่า