Thaiihdc.org

  • เพิ่มขนาดตัวอักษร
  • ขนาดตัวอักษรปกติ
  • สดขนาดตัวอักษร
Home > Articles > การศึกษา > ชีวิตที่พอเพียง : ๒๑๓๙. ความศักดิ์สิทธิ์อยู่ที่เท้า - ไประนอง

ชีวิตที่พอเพียง : ๒๑๓๙. ความศักดิ์สิทธิ์อยู่ที่เท้า - ไประนอง

พิมพ์ PDF

นี่เป็นวิธีคิดแผลงๆ    มองความศักดิ์สิทธิ์แบบคิดเอง    และใช้คำว่า “เท้า” แทนการเดินทาง     เดินทางไปเรียนรู้ชีวิตจริงของผู้คน สำหรับนำมาใช้ในการ “ทำงานแบบไม่ทำ” ยามชรา

เช้ามืดวันที่ ๑๔ มีนาคม ๒๕๕๗ ผมนั่งแท็กซี่ออกจากบ้าน ไปสนามบินดอนเมือง     พอโชเฟอร์พูด ผมนึกว่าเป็นคนสุพรรณหรือนครปฐม    แต่ไพล่เป็นคนโคราช ผมจึงจับสำเนียงคนโคราชแท้ได้    คุยกันออกรส จากชีวิตหากินเป็นโชเฟอร์แท็กซี่สมัยกว่า ๒๐ ปีก่อน    “วันละพันหาได้สบาย” แต่ต้องง้อเถ้าแก่ เพราะรถแท็กซี่มีน้อย จำกัดโควต้าทะเบียนรถ

“เดี๋ยวนี้เถ้าแก่มีหอพักให้    ทำงานดีไม่มีหยุดไม่มีค้างสิ้นเดือนมีรางวัล”    ผมถามว่า แต่ที่อู่มีการพนันมากใช่ไหม    “ใช่ครับ    แต่ไม่เห็นมีใครรวย ยกเว้นเจ้ามือ”

ผมได้มีโอกาสฝึกคุยกับโชเฟอร์แท็กซี่บ่อยๆ    พอจะรู้ทาง ว่าชวนคุยอย่างไร จึงจะได้บรรยากาศ    และช่วยให้ผมได้ความรู้ด้วย    ยามเช้ามืดเช่นนี้ รถแล่นเดี๋ยวเดียวก็ถึงดอนเมือง     ผมจ่ายทั้งค่ารถและค่าครู ก็ได้ไมตรีกลับมา ให้ความสุข

เจ้าหน้าที่ที่เคาน์เตอร์เช็คอินของนกแอร์บอกว่า เครื่องบินเปลี่ยนเป็นเครื่องใหญ่ ๑๘๐ ที่นั่ง    จากเดิม ๗๐ ที่นั่ง    แสดงว่า มีคนไปเที่ยวระนองมากขึ้น

เดี๋ยวนี้บรรยากาศที่สนามบินดอนเมืองคึกคักมาก    ผู้โดยสารกว่าร้อยละ ๘๐ เป็นคนหนุ่มสาว และท่าทางบอกว่าไปเที่ยว    แต่งกายหลากหลายแฟชั่น ทั้งเสื้อผ้า รองเท้า กระเป๋า และอื่นๆ     เมื่อได้โอกาส มีที่นั่งข้างทาง ผมจึงนั่งสังเกตผู้คน    เพื่ออ่าน “สัญลักษณ์ทางสังคม”   ตีความแรงขับดันในชีวิตผู้คน

การแต่งกายคน น่าจะมี ๓ แบบ คือแบบเอากาละเทศะ (เพื่อทำงาน)   เอาสบาย   และเอาเก๋ หรือเท่    ผมได้เห็นการแต่งกาย เพื่อเอาเก๋ บางแฟชั่นแต่ดูแล้วน่าจะไม่สบายเอาเสียเลย

นึกออกแล้ว มีการแต่งกายเพื่อเป้าหมายที่ ๔ ด้วย คือเพื่อแสดงสัญลักษณ์    เช่นแสดงสีค่าย หรือแสดงความเป็นกบฎ ต่อสังคม

เรากำลังเดินทางไปเรียนรู้จากโครงการ“สร้างชุมชนบริหารจัดการตนเองในพื้นที่ประสบภัยสึนามิ ระยะที่ ๑” ที่จังหวัดระนอง    หลังจากไปเยี่ยมชื่นชมโครงการของจังหวัดสตูล และตรัง มาแล้ว

เรายึดหลักการไปดูของจริง ไปฟังและชื่นชมผลงานของคนทำ     คราวนี้มีแขกเพิ่มมา๒ คน คือ “พี่ใหญ่” คุณนงนาท สนธิสุวรรณ  กับ ศาสตราภิชาน ไกรฤทธิ์ บุณยเกียรติ    แต่เจ้าประจำก็ขาดไป ๒ คน คือ ศ. ดร. ปิยะวัติ บญ-หลง กับ รศ. ปาริชาติ วลัยเสถียร

เครื่องบินนกแอร์เที่ยวเช้าเปลี่ยนเวลาและเปลี่ยนเครื่องบินเป็นลำใหญ่ คือ Boeing 737 ทำให้นั่งสบายขึ้นมาก    ผู้โดยสารประมาณ ๕๐ คนเท่านั้น    เมื่อไปถึงระนอง เจ้าภาพคือคุณแจง ผู้ประสานงานของมูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อพัฒนาท้องถิ่น พาไปกินอาหารเช้าแบบอาหารเชิงวัฒนธรรมที่ร้านโรตีนิสรา บ้านหงาว ซึ่งห่างจากสนามบิน ๑๐ ก.ม.   ผมได้กิน โรตีพิซซ่า เป็นครั้งแรกในชีวิตที่นี่    ชื่อร้านอาหารก็บอกแล้วว่าเป็นอาหารมุสลิม    เป็นอาหารที่อร่อย

ผมไม่ได้ไปจังหวัดระนองนานมาก อาจจะกว่า ๒๐ ปี    ไปคราวนี้จึงสังเกตเห็นการเปลี่ยนแปลงมาก    โดยเฉพาะถนน และบ้านเรือน

หลังจากนั้นเรานั่งรถไป ๙๐ ก.ม. ลงใต้ไปยัง ต. กำพวน  อ. สุขสำราญ    เพื่อไปเยี่ยมชื่นชมกิจการของชุมชนบริหาร จัดการตนเอง สร้างกลไกช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาสในสังคม โดยการออมทรัพย์วันละบาทเพื่อช่วยเหลือผู้อื่น   ที่ดำเนินการโดย กลุ่มสตรีผู้นำชุมชน    ที่ในที่สุดได้รับการยอมรับจากผู้นำทางศาสนา    ถือเป็นการสร้างการเปลี่ยนกระบวนทัศน์ในวงการ ศาสนาอิสลาม

ไป “ฟัง” ชาวบ้านเล่าเรื่องราวในชีวิตของเขา     ไปฟังว่าเขาคิดอย่างไร และทำอย่างไร    เขาฟันฝ่า และคิดว่าสำเร็จไม่สำเร็จอย่างไร    และอยากทำอะไรต่อไป โดยทำเพื่อชุมชนของตนเอง ไม่ใช่ทำเพราะหวังเงินช่วยเหลือ     ไม่ใช่ไปบอกแบบผู้รู้ดีกว่า

แม้อากาศจะร้อนระอุ แต่การพูดคุยก็ออกรส และประเทืองปัญญา     ยิ่งการ AAR บนรถตู้กลับตัวจังหวัดระนอง ในตอนเย็นยิ่งประเทืองปัญญา    เพราะทำให้ทุกคนเข้าใจกิจกรรมที่เราไปเยี่ยมชื่นชมรอบด้าน มองเห็นภาพหลายมิติยิ่งขึ้น    เรา AAR กันอย่างเพลิดเพลิน ทำให้ถึงร้านอาหารเคียงเล โดยไม่รู้ตัว

นี่คือการใช้เท้าและหูฝึก KM    ยิ่งไปพบคุณน้อง (อรุณี นวลศรี) เจ้าหน้าที่ของกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร จังหวัดระนอง ที่เข้ามาทักทาย เพราะใช้หนังสือ KM โมเดลปลาทู    และใช้ KM ในการทำงาน ผมยิ่งมีความสุข   ที่ได้เห็นพลัง KM ที่ผมใช้ชีวิต ๕ ปี ทำงานสร้างสรรค์ระบบ KM ของไทย

พลังของ KM อยู่ที่การฟังซึ่งกันและกัน    ฟังอย่างเปิดใจ เอาความรู้ที่ได้รับไปคิดต่อ ปะติดปะต่อกับความรู้เดิมของเรา เอาไปลองใช้ปรับปรุงงาน   แล้วกลับมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ใหม่ เป็นวงจรไม่รู้จบ    ผมชอบออกไปเรียนรู้ในชนบทก็ด้วยเหตุนี้

ความรู้ที่แท้จริงอยู่ในคน    ผมไปฟัง ทำความเข้าใจ และทำความเคารพ ความรู้ในคน ไป “อ่าน” Tacit Knowledgeความรู้จากเรื่องราว และปฏิสัมพันธ์ระหว่างคน ทั้งที่เป็นชาวบ้านผู้ทำโครงการ และที่เป็นคณะผู้ร่วมเดินทางไปเยือน

เรามีเวลาหลังอาหารเที่ยง ไปเยี่ยมชมหาดประพาส ที่โดนสึนามิ มีคนตายจำนวนมาก    นำโดยจ๊ะไหม หรือคุณสุจิรา อุ่นเรือน ผู้ขับรถมอเตอร์ไซคล์หนีสึนามิรอดหวุดหวิด   และสามีก็โดนคลื่นสึนามิหอบจากเรือหาปลา ขึ้นไปติดในป่าโกงกาง และโชคดีที่รอดชีวิต   สึนามิเมื่อวันที่ ๒๖ ธันวาคม ๒๕๔๗ ทำให้มีคนเสียชีวิตที่หาดประพาส ๔๕ คน     รวมทั้งสิ้นคนเสียชีวิต จากสึนามิคราวนั้นในประเทศไทย ๔,๔๙๕ คน

อาหารเย็นที่ร้านอาหารเคียงเล มีอาหารแปลกใหม่หลายอย่าง คือหอยหวานเผา  เป็ดบ้านนา    ซึ่งอร่อยสมคำบอกเล่า คือเนื้อหวานนุ่ม และที่สำคัญ ไม่มีมัน   แถมชาวตรังยังเอาแตงโมเกาะสุกรอันเลื่องชื่อ มาให้เรากินด้วย

เราใช้เวลาสองวันวนเวียนอยู่ในพื้นที่ชายทะเล ทางทิศใต้ของตัวจังหวัดระนอง    โดยในวันที่ ๑๕ มีนาคม ไปที่ชุมชนบางกล้วยนอก ที่มี “บังดล” หรือคุณดลก้อเส็ม ผดุงชาติ เป็นหัวหน้าโครงการวิจัย    ที่เป้าหมายจริงๆ คือการจัดการเพื่ออนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ป่าต้นน้ำห้วยเสียด ลงไปจนถึงทะเล    เป็นการมองระบบนิเวศน์อย่างครบวงจร    รวมทั้งมีการคิดถึงคนรุ่น ๑, รุ่น ๒ และรุ่น ๓ อย่างน่าชื่นชมยิ่ง    ผมตั้งใจตรวจสอบว่ามีครูเข้าร่วมบ้างไหม ไม่พบว่ามีคนแนะนำตัวว่าเป็นครูเลยตลอด ๒ วันที่ไประนอง     ต่างจากที่สตูล ผู้อำนวยการโรงเรียนมาร่วมด้วยทีเดียว

หลังจากกินอาหารเที่ยงเชิงวัฒนธรรมขับกล่อมด้วยกลิ่นทะเล และการชิมน้ำปลาที่ชาวบางกล้วยนอกหมัก และใช้เป็นชื่อโครงการเพื่อให้มีความเป็นรูปธรรมจับต้องได้ และเป็นเครื่องมือรวมผู้คนมาร่วมกิจกรรม     และลงเรือล่องคลองห้วยเสียดไปออกทะเล เพื่อชมความสมบูรณ์ของป่าโกงกาง ที่มีลิงแสมชุกชุมมาก    และตามรอยเรื่องราวของสึนามิ เมื่อวันที่ ๒๖ ธันวาคม ๒๕๔๗    ที่นี่ผมได้รู้จักหอยติบที่เกาะอยู่ตามรากโกงกาง และหิน    ที่ผมคิดว่าที่บ้านผมที่ชุมพรเรียกว่าหอยเจาะซึ่งมีความหมายว่าเป็นหอยที่เจาะเอามาจากเปลือกที่เกาะตามหินในทะเล    เขาอธิบายว่าหอยติบตัวเล็กกว่าหอยนางรม และรสหวานกว่า    ซึ่งก็ตรงกับหอยเจาะที่บ้านผม    ซึ่งแม่เอามาทำแกงจืด หรือใส่ไข่ทอดให้ลูกๆ กิน

นอกจากนั้นผมยังได้รู้จักต้นปีปี ที่เป็นต้นไม้ขนาดใหญ่ที่ชายเลนติดริมคลองมีรากอากาศคล้ายต้นลำพู  เขาว่าดอกเหมือนพริก    โชคดีจริงๆ บ่ายวันที่ ๑๖ มีนาคม ผมพบอาจารย์ใหญ่มือหนึ่งด้านด้านป่าชายเลนของประเทศไทย ศ. ดร. สนิท อักษรแก้ว    จึงเอารูปให้ท่านดู จึงรู้ว่าเป็นต้นแสมขาว ต้นแสมมี ๓ ชนิดคือ แสมขาว แสมแดง และแสมทะเล     เป็นพืชนำของการเกิดป่าชายเลน คือขึ้นอยู่ริมน้ำ มีรากอากา​ศคล้ายลำพู     รากชนิดแผ่ไปแนวราบได้ไกลๆ    และเกิดรากดิ่งลงดินเพื่อยึดและเกิดต้นใหม่

ศ. ดร. สนิท ชมรูปที่ผมถ่ายป่าชายเลนที่นี่แล้วชมเปาะว่า เป็นป่าชายเลนที่สมบูรณ์มาก

จากการลงเรือ ผมได้รู้จักนส. มณีรัตน์ ถนอมจิตร อายุ ๑๗ ปี นักเรียนชั้น ม. ๒ โรงเรียนดำรงศาสตร์วิทยา    ที่ทั้งพ่อแม่เป็นคนไทยพลัดถิ่นอยู่ที่ฝั่งพม่า ที่บ้านในพม่าพูดภาษาไทย ถือว่าตนเองเป็นคนไทย    ตนเองมาอยู่ที่บางกล้วยนอก ๘ ปีแล้ว หลังสึนามิ    เพราะแม่หย่ากับพ่อ และแต่งงานกับคนไทยที่บางกล้วยนอกย้ายมาอยู่ที่บางกล้วยนอก    ผมจึงได้ฟังเรื่องราว ของคนไทยพลัดถิ่นอยู่ในพม่าจำนวนมากเป็นแสนคน    ตรงกับที่อาจารย์แหววเคยเล่าให้ฟังและชวนผมไปดู และรับฟังเรื่องราวของคนไทยพลัดถิ่นเหล่านี้ แต่ก็ยังนัดกันไม่ได้สักที

ตอนบ่าย เราไปเยี่ยมและรับฟังกิจการการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ และการทดลองทำบ่อหมักก๊าซชีวภาพ ที่ชุมชนบ้านทะเลนอก ซึ่งก็อยู่ติดกันกับบ้านบางกล้วยนอกทางทะเล    แต่ไปทางถนนดูเหมือนห่างกัน    ที่นี่โดนสึนามิจังกว่า เพราะเป็นส่วนทะเลเปิด    และเมื่อเทียบกับบ้านบางกล้วยนอกซึ่งเป็นพื้นที่เขียวชะอุ่มแล้ว    ที่นี่พื้นที่แห้งแล้ง ต้นไม้ที่ขึ้น โดยทั่วไปคือต้นกาหยู (มะม่วงหิมพานต์)    และชาวบ้านเลี้ยงวัวและแพะกันมาก   ศ. ไกรฤทธิ์บอกว่า ระนองมีชายหาด ๓ หาดที่ถือเป็นชายหาดที่ว่ายน้ำได้ตลอดปี (swimmable beach)  ดีที่สุด ๓ ใน ๗ แห่งของโลก

ศ. ดร. สนิทบอกว่า กาหยูที่นี่อร่อยกว่าของที่อื่น    เสียดายที่ผมไม่ได้พยายามหาซื้อ    และเป็นประเด็นที่ชาวบ้าน ยังไม่รู้จักประชาสัมพันธ์สินค้าคุณภาพของตน

อาชีพของคนที่นี่ครึ่งๆ ระหว่างการประมง กับการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์    เราไปพบว่าโครงการที่ทำคือ ทำบ่อหมักก๊าซชีวภาพจากขี้วัว    เพื่อให้ชาวบ้านเก็บขี้วัว ทำให้พื้นที่สะอาดดึงดูดนักท่องเที่ยว    เป็นวิธีคิดที่ยังครึ่งๆ กลางๆ    รวมทั้งการศึกษาข้อมูลด้านเทคนิคด้านการทำบ่อหมักก๊าซ ก็ยังไม่เพียงพอ    บ่อหมักก๊าซจึงยังไม่ประสบความสำเร็จ    และคงจะต้องเปลี่ยนโครงการซึ่งผมคิดว่า ทำโครงการพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ดีกว่า     ผมเห็นด้วยกับ ศ. ไกรฤทธิ์ ว่า ต้องหาทางไม่ให้พื้นที่โดนยึดโดยโรงแรมขนาดใหญ่     ให้เป็นพื้นที่ของการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ที่ดำเนินการโดยการรวมกลุ่ม ชาวบ้านจริงๆ

จ๊ะฉ๊ะ ยกตัวอย่างรายการกิจกรรมของการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ๓ วัน ๒ คืน ดังนี้

วันที่ ๑ เริ่ม ๑๐ น. ชมหมู่บ้านประสบภัยสึนามิ พร้อมเรื่องเล่า    บ่ายทำผ้าบาติก และเอากลับบ้าน

วันที่ ๒ ลากอวนริมหาด  ล่องเรือชมป่าโกงกาง  ลอยปู  เย็บจาก  ทำขนมจาก    ค่ำแต่งกายมุสลิม เรียนรู้ชีวิตมุสลิม

วันที่ ๓ ทำสบู่สมุนไพร   กินข้าวเที่ยง  แล้วกลับระนอง

อัตราค่าบริการดังนี้  บ้านพัก (โฮมสเตย์) คืนละ ๒๐๐ บาท   อาหารเช้า ๖๐ บาท   อาหารเที่ยง  ๑๖๐ บาท   อาหารเย็น ๑๖๐ บาท   ทำผ้าบาติก ๑๓๐ บาท   เย็บจาก ๕๕ บาท   ลากอวน ๒๐๐ บาท / ๑๐ คน   ล่องเรือชมป่าโกงกางลำเล็กนั่งได้ไม่เกิน ๔ คน  ๖๖๐ บาท   ลำใหญ่นั่งได้ไม่เกิน ๑๐ คน  ๑,๓๖๐ บาท    ผมลืมถามว่าล่องเรือไปเกาะด้วยหรือไม่    และเป็นราคาต่อวันใช่ไหม 

หลังกินอาหารเย็นสุดอร่อยที่ร้านคุ้นลิ้น ที่มีผัดฉ่าหอยหลอด และผักเหรียงผัดไข่ เป็นตัวชูโรง    และได้ “อาบ” น้ำแร่ระนองสมใจ    เพราะร้านอาหารต่อท่อน้ำแร่เข้ามาใช้ในห้องน้ำ    รวมทั้งที่อ่างล้างมือ    เราจึงไปใช้บริการน้ำแร่จากอ่างล้างมือ ใช้ล้างหน้าและแขนเสียสองรอบ    แล้วขึ้นเครื่องบินนกแอร์เที่ยวสามทุ่มกลับกรุงเทพ    มีคนถามผมว่าเหนื่อยไหม    ผมตอบว่าเหนื่อยซี แต่สนุกและได้ความรู้มาก

 

๑๖ มี.ค. ๕๗

ท่านผู้ใดต้องการชมภาพประกอบโดยเข้าไปที่ link ; http://www.gotoknow.org/posts/566155

แก้ไขล่าสุด ใน วันอาทิตย์ที่ 20 เมษายน 2014 เวลา 15:45 น.  
Home > Articles > การศึกษา > ชีวิตที่พอเพียง : ๒๑๓๙. ความศักดิ์สิทธิ์อยู่ที่เท้า - ไประนอง

About Us

ศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ (ศบม.) เป็นองค์กรที่พัฒนาและจัดทำโครงการเพื่อทำประโยชน์ให้สังคม เป็นองค์กรสนับสนุนการดำเนินงานของภาครัฐ ช่วยแก้ปัญหาผู้ประกอบการภาคธุรกิจบริการที่ขาดแคลนบุคลากรที่มีมาตรฐานในการให้บริการ
อ่านเพิ่มเติม

มูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ ์

 iHDC Profile
บัญชีรายชื่อกรรมการ
ใบสำคัญแสดงการจดทะเบียน การเปลี่ยนแปลงกรรมการของมูลนิธิ
เอกสารประชาสัมพันธ์ โครงการ HMTC.pdf
เอกสารแนะนำโครงการ HMTC 1.pdf
เอกสารโครงการ HMTC 2 คุณสมบัติผู้เข้าร่วมโครงการ.pdf
iHDC นิติบุคคล.pdf
iHDC บุคคล.pdf
iHDC บุคคลเครือข่าย.pdf
รายงานการประชุม 6 มีนาคม 2560.pdf
ข้อบังคับมูลนิธิ
ใบสำคัญแสดงการจดทะเบียนจัดตั้งมูลนิธิ
Ihdc-Profile and Roadmap 2016-2019 Mar 23 2560.pdf
รายงานการประชุมใหญ่คณะกรรมการมูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ 2559.pdf
คำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ สาขาวิชาชีพ.pdf
รายงานการประชุมใหญ่วันที่ 18 ธ ค 2558 v 3.pdf
รายงานการประชุม วันที่ 24 ธันวาคม 2557 updated 4 มีนาคม 2558.pdf
iHDC-invitation Letter.doc
iHDC-Member Form Thai.doc
iHDC-Member Form English.doc
รายงานการประชุมกรรมการมูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ วันที่ 15 มกราคม 2556 ฉบับสมบูรณ์


thaibetter
พัฒนาประเทศไทยแบบทวีคูณ และยั่งยืน ( ททค )

Login


แบบสำรวจ

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

สถิติเว็บไซด์

สมาชิก : 5642
Content : 3067
เว็บลิงก์ : 26
จำนวนครั้งเปิดดูบทความ : 8739662

facebook

Twitter


ล่าสุด

บทความเก่า