Thaiihdc.org

  • เพิ่มขนาดตัวอักษร
  • ขนาดตัวอักษรปกติ
  • สดขนาดตัวอักษร
Home > Articles > การศึกษา > Open Approach - วิธีประยุกต์การจัดการเรียนรู้แบบ Active Learning สู่การเรียนรู้ในศตวรรษที่ ๒๑

Open Approach - วิธีประยุกต์การจัดการเรียนรู้แบบ Active Learning สู่การเรียนรู้ในศตวรรษที่ ๒๑

พิมพ์ PDF

 

ผมขอนำตอนหนึ่งในหนังสือ คู่คิด ครูเพลิน ของโรงเรียนเพลินพัฒนาแผนกประถม มาเผยแพร่วิธีการจัดการเรียนการสอนแบบ Active Learning ที่ล้ำลึกยิ่ง ดังต่อไปนี้

 

 

 

What : Open Approach คืออะไร?

 

Open Approach คือการจัดการเรียนรู้ที่ครูใช้โจทย์สถานการณ์ ปัญหาปลายเปิดในการขับเคลื่อนกระบวนการเรียนรู้ของผู้เรียน โดยที่ผู้เรียนแต่ละคนเป็นผู้นำเสนอวิธีการแก้ปัญหาของตน เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันในชั้นเรียน เพื่อเรียนรู้วิธีการคิดและวีธีการทำความเข้าใจทั้งของตนเองและของผู้อื่น ร่วมกัน

 

กระบวนการเรียนรู้แบบ Open Approach นั้นเป็นแนวคิดใหม่สำหรับประเทศไทยที่แตกต่างจากเดิม เพราะบทบาทของครูเปลี่ยนไปจากที่เน้นการบรรยายเนื้อหา การทำแบบฝึกหัดให้นักเรียนดูเป็นตัวอย่างและการ สรุปเนื้อหาที่เรียนในช่วงท้ายบทเรียน ไปสู่การเปิดชั้นเรียนที่ก่อแรงบันดาลใจ การใช้โจทย์สถานการณ์ปัญหา การส่งเสริมผู้เรียนให้ลองผิดลองถูกจนสามารถสร้างความรู้ขึ้นได้ด้วยตนเอง การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ การถอด บทเรียนที่นำไปสู่การประมวล สังเคราะห์ สรุป ความรู้ใหม่ร่วมกัน

 

 

 

Why : ทำไมต้อง Open Approach?

 

Open Approach เป็นกระบวนการเรียนรู้ที่ทำให้นักเรียนมีวิถีและวิธีการเรียนรู้ที่แตกต่างหลากหลาย เป็นการพัฒนาการเรียนรู้ของตนเองอย่างทั่วถึงเต็มศักยภาพของแต่ละคน ผู้เรียนได้ยกระดับความรู้ และ ระดับการเรียนรู้ร่วมกันผ่านการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ทำให้เกิดการเรียนรู้ในระดับสูงเกิดสมรรถนะฝังลึกที่จะเรียนรู้แก้ปัญหาและสร้างสรรค์ในเรื่องและ ในเงื่อนไขที่ตนยังไม่เคยรู้จักได้ด้วยตนเองและโดยกระบวนการกลุ่มจนเกิดการเปลี่ยนแปลงภายในตนเอง (Transformative Learning) ร่วมกัน ซึ่งจะทำให้ผู้เรียนเกิด อุปนิสัยและความสามารถในการเรียนรู้ตลอดชีวิต อันเป็นภารกิจหลักประการหนึ่ง ของโรงเรียนเพลินพัฒนาที่จะทำให้นักเรียนเป็นผู้มีความสามารถในการเรียนรู้ตลอดชีวิต

 

นอกจากนี้ Open Approach ยังเป็นกระบวนการเรียนรู้ที่ทำให้ครูสามารถเห็นศักยภาพ และสมรรถนะของผู้เรียนได้ชัดเจนเพียงพอ ที่จะนำไปปรับปรุงแผนการเรียนการสอน ปรับปรุงตัวผู้สอน ไปจนถึงเข้า ช่วยเหลือผู้เรียนได้อย่างทั่วถึง ซึ่งส่งเสริมให้กระบวนการ Lesson Study ดำเนินไปได้เป็นอย่างดี

 

 

 

How : ลำดับของกระบวนการเรียนรู้ในแนวทางของ Open Approach มีอะไรบ้าง?

 

งานสำคัญของครูในชั้นเรียน OpenApproach

 

๑. ขั้นแนะนำ

 

๒. ขั้นเปิดประเด็นโจทย์

 

๓. ขั้นแก้ปัญหาและ/หรือสร้างสรรค์

 

๔.ขั้นนำเสนอความรู้และแลกเปลี่ยนเรียนรู้

 

๕. ขั้นสรุป

 

 

 

ลำดับกระบวนการเรียนรู้ “Open Approach” ในแต่ละขั้นตอนเป็นอย่างไร?

 

๑) ขั้นแนะนำเป็นช่วงเวลาที่ครูช่วยสร้างภาวะพร้อมเรียนรู้การซึมซับคุณค่าแรงบันดาลใจ และ จุดมุ่งหมาย เพื่อเป็นการเปิดประตูใจ จินตนาการและการลงมือกระทำให้เกิดกับผู้เรียน

 

- ภาวะพร้อมเรียนรู้ คือภาวะที่จิตใจ ประสาทสัมผัสและ ร่างกายของผู้เรียนอยู่ในภาวะที่มีความตื่นทั่วพร้อมผ่อนคลายดำเนินอยู่ในสมดุลที่ดี

 

- การซึมซับคุณค่า หมายถึง การให้ประสบการณ์แก่ ผู้เรียนในการซึมซับความดี ความงาม ความจริงของสิ่งที่กำลังจะเรียน เป็นการเรียนรู้อย่างลึกซึ้งผ่าน สภาพแวดล้อม บรรยากาศ และกิจกรรมบางอย่าง โดย ไม่ต้องผ่านการคิดอย่างเป็นลำดับ

 

- แรงบันดาลใจคือแรงจูงใจแรงศรัทธาในการเรียนรู้ใน การแก้ปัญหาและในการสร้างสรรค์สิ่งที่กำลังจะเรียน

 

- จุดมุ่งหมาย คือ เป้าหมายที่ท้าทายและภาพจินตนาการที่ชัดเจนของผู้เรียนที่จะบรรลุผลสัมฤทธิ์ในสิ่งนั้น

 

๒) ขั้นเปิดประเด็นโจทย์ เมื่อผู้เรียนมีแรงขับเชิงบวกในการเรียนรู้ เนื่องจากการมีภาวะพร้อมเรียนรู้การซึมซับคุณค่า เกิดแรงบันดาลใจและการมีจุดมุ่งหมายที่ชัดเจน ก็เป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมที่ผู้เรียนจะต้องเผชิญกับเงื่อนไขหรือโจทย์หรือข้อจำกัดที่มีความเหมาะสม

 

ขั้นเปิดประเด็นโจทย์จึงเป็นช่วงเวลาที่ครูแจกเงื่อนไข หรือโจทย์ สำหรับแก้ปัญหา และ/หรือสร้างสรรค์ที่เหมาะสมให้แก่ผู้เรียน และเมื่อแรงขับพบกับเงื่อนไข หรือโจทย์หรือข้อจำกัดที่เหมาะสม จะเกิดเป็นความพยายามในการจัดการกับเงื่อนไขนั้นๆ จนก้าวผ่านไปสู่ผลสัมฤทธิ์ที่มุ่งหมาย และในกระบวนการนี้ผู้เรียนจะสร้างความรู้ความสามารถชุดใหม่ขึ้นมาด้วยตนเอง ซึ่งสิ่งนี้คือหลักการพื้นฐานของ “Active Learning” และ “Constructionism” ทุกประเภท

 

โจทย์ของ Open Approach มีลักษณะสำคัญดังนี้

 

๑. เป็นสถานการณ์หรือเงื่อนไขที่ผู้เรียนยังไม่เคยพบมาก่อน

 

๒. เป็นสถานการณ์หรือเงื่อนไขที่ผู้เรียนยังไม่มีความรู้ความสามารถเพียงพอที่จะแก้ปัญหาหรือ สร้างสรรค์ตามเงื่อนไขของโจทย์ได้ทันที

 

๓. มีความสัมพันธ์อย่างแนบแน่นกับความรู้ความสามารถที่ผู้เรียนสะสมอยู่ในตัว มีความยากพอเหมาะและนำไปสู่ การสร้างความรู้ความสามารถชุดใหม่ กล่าวคือ ถ้าผู้เรียนนำความรู้ความสามารถที่สะสมอยู่มาใช้ ในกระบวนการลองผิดลองถูกเปลี่ยนมุมมองและหาทางให้สุดความสามารถ (Heuristics) ก็จะสามารถแก้โจทย์หรือสร้างสรรค์ภายใต้เงื่อนไขของโจทย์นั้นได้ และพร้อมกันนั้นผู้เรียนก็ได้สร้างความรู้ความสามารถชุดใหม่ขึ้น ซึ่งเป็นการต่อยอด สังเคราะห์ หรือ ยกระดับขึ้นจากความรู้ ความสามารถเดิมที่สะสมมา

 

๔. มีความน่าสนใจเชื้อเชิญและท้าทายให้ผู้เรียนเข้าไปแก้ปัญหาหรือสร้างสรรค์ภายใต้เงื่อนไขนั้น

 

๕. มีลักษณะเปิดกว้างให้ผู้เรียนทดลองและค้นคว้า วิธีการที่หลากหลายและผลลัพธ์ที่อาจแตกต่างแต่ก็ ยังสามารถกำกับทิศทางและขอบวงของการเรียนรู้ให้เป็นไปตามแผนการเรียนรู้ได้

 

๓) ขั้นแก้ปัญหาและ/หรือสร้างสรรค์ เป็นช่วงเวลาที่ผู้เรียนลงมือแก้ปัญหาและ/หรือสร้างสรรค์ภายใต้เงื่อนไขของโจทย์ที่ได้มา (โดยมากมักเป็นงานเดี่ยวหรืองานกลุ่มขนาดเล็กเพื่อให้ผู้เรียนได้เผชิญกับเงื่อนไขของโจทย์ด้วยตนเองอย่างทั่วถึง) เมื่อผู้เรียนกำลังต่อสู้หรือจัดการกับเงื่อนไขหรือโจทย์ที่กาลังเผชิญด้วยแรงขับเชิงบวกนั้นผู้เรียนกำลังสร้างความรู้ความสามารถชุดใหม่ขึ้นด้วย ตนเอง

 

๔) ขั้นนำเสนอและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เป็นช่วงเวลาที่ผู้เรียนได้นำเสนอวิธีการ และผลของการแก้ปัญหา และ/หรือ การสร้างสรรค์ของตนกับเพื่อน และพร้อมกันนั้นก็เป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้วิธีการและผลลัพธ์ที่แตกต่างกันเพื่อร่วมกันศึกษา เปรียบเทียบ พิจารณา ประเมิน รวมถึงจัดระเบียบวิธีการและผลลัพธ์ที่แตกต่างเหล่านั้นขั้นนำเสนอและแลกเปลี่ยนเรียนรู้เป็นการเปิดศักยภาพ และ สมรรถภาพของผู้เรียนทุกคนเข้าหากัน หลอมรวมศักยภาพ และ สมรรถภาพของผู้เรียนทุกคนสู่การเรียนรู้ร่วมกัน เรียนรู้วิธีการเรียนรู้ที่แตกต่างร่วมกัน อีกทั้งยังเป็นการเรียนรู้ที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงภายในตัวของผู้เรียนอีกด้วย

 

๕) ขั้นสรุป เป็นช่วงเวลาที่ผู้เรียนแลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อสังเคราะห์ และยกระดับความรู้ใหม่ร่วมกัน

 

บทบาทสำคัญของครูในการจัดกระบวนการเรียนรู้แบบ Open Approach

 

๑) เปิดประตูผู้เรียนสู่การเรียนรู้ที่ขับเคลื่อนด้วยตัวผู้เรียนเอง

 

๒) ส่งเสริมดูแลเอาใจใส่ให้ผู้เรียนได้แก้ปัญหาและ/หรือสร้างสรรค์ ภายใต้เงื่อนไขของโจทย์อย่างทั่วถึงและต่อเนื่องโดยการหล่อเลี้ยงแรงขับจับประเด็นตั้งคำถามเพิ่มลดหรือปรับประสบการณ์ สนับสนุนอำนวยความสะดวกดูแลความเรียบร้อย แนะนำ ช่วยเพิ่มลดหรือปรับทรัพยากรฯลฯเพื่อให้ผู้เรียนได้นำความร้คูวามสามารถ ที่สะสมอยู่ออกมาใช้ให้มากที่สุดจนเกิดการสร้างความรู้ความสามารถชุดใหม่ขึ้น(constructionism) จากการลองผิดลองถูกเปลี่ยนมุมมองและหาทางให้ถึงที่สุดด้วยตนเอง(heuristics) และพร้อมๆกันนั้นครูยังช่วยจัดวางวิธีบันทึกความคิดความรู้สึก ความเข้าใจ บันทึกวิธีการ บันทึกผลลัพธ์ที่สัมพันธ์กับวิธีการช่วยตั้งคำถามช่วยตั้งประเด็นให้ผู้เรียน สังเกตเห็นและประเมินวิธีสร้าง ความเข้าใจและวิธีทำของตนเองในการแก้ปัญหาหรือการ สร้างสรรค์นั้นๆ(metacognition)

 

๓) ประเมินผู้เรียนในขณะเรียนรู้ โดยการมีสติตั้งใจฟังสังเกตและรู้สึก อย่างละเอียดอ่อนฉับไวและแม่นยำ เพื่อหยั่งให้ถึงภาวะการนำความรู้ความสามารถออกมาใช้ ภาวะการสร้างความรู้ความสามารถชุดใหม่แรงบันดาลใจวิถีการเรียนรู้วิธีการเรียนรู้ อาการเข้าใจ ขอบเขตและคุณภาพของความเข้าใจพลังความสามารถและ ข้อจำกัดของผู้เรียนแต่ละคนในขณะที่กำลังเรียนรู้ผ่านการแก้โจทย์ หรือการสร้างสรรค์ภายใต้เงื่อนไขของโจทย์ เป็นการประเมินเพื่อ พัฒนาอย่างฉับพลันทันทีไม่ใช่การประเมินเพื่อตัดสิน

 

๔) ตอบสนองต่อผลการประเมินนั้นอย่างเหมาะสมและทันเวลา โดยการตั้งคำถามจับประเด็นให้คำแนะนำ ให้ตัวอย่างอำนวยความช่วยเหลือฯลฯที่เหมาะสมกับผู้เรียนแต่ละคนอย่างสงบ มีสติในจังหวะที่เหมาะสมทันท่วงทีเพื่อช่วยให้ผู้เรียนหลุดจากภาวะติดขัดหรือการเข้าใจผิดหรือช่วยให้ผู้เรียนเข้าสู่การเรียนรู้ที่กว้างขวาง ลึกซึ้งมากขึ้นและดำเนินการแก้ปัญหาหรือสร้างสรรค์ต่อไปได้อย่างราบรื่น

 

๕) ขับเคลื่อนและปรับพฤติกรรมผู้เรียนด้วยวิธีการเชิงบวก เมื่อมีผู้เรียนบางคนที่ไม่อยู่ในภาวะพร้อมเรียนหรือติดขัดอย่างมากหรือมีพฤติกรรมที่ไม่ส่งเสริมการเรียนรู้ หรือรบกวนการเรียนรู้ของเพื่อน ครูจะขับเคลื่อนและปรับพฤติกรรมผู้เรียนนั้นด้วยวิธีการเชิงบวก ทั้งนี้ เพื่อรักษาแรงจูงใจด้านบวกของผู้เรียนคนนั้นและรักษา บรรยากาศเชิงบวกของชั้นเรียนเอาไว้ให้ต่อเนื่อง

 

การเรียนรู้ในศตวรรษที่ ๒๑ ชั้นเรียนต้องมีสภาพดังที่บรรยายข้างบน และครูต้องมีทักษะดังที่ บรรยายข้างบน ขอขอบคุณครูศีลวัต และครูวิมลศรี ศุษิลวรณ์ ที่อนุญาตให้นำมาเผยแพร่

 

วิจารณ์ พานิช

 

๑๔ เม.ย. ๕๗

 

บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย Prof. Vicharn Panich

 

แก้ไขล่าสุด ใน วันอังคารที่ 20 พฤษภาคม 2014 เวลา 17:28 น.  
Home > Articles > การศึกษา > Open Approach - วิธีประยุกต์การจัดการเรียนรู้แบบ Active Learning สู่การเรียนรู้ในศตวรรษที่ ๒๑

About Us

ศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ (ศบม.) เป็นองค์กรที่พัฒนาและจัดทำโครงการเพื่อทำประโยชน์ให้สังคม เป็นองค์กรสนับสนุนการดำเนินงานของภาครัฐ ช่วยแก้ปัญหาผู้ประกอบการภาคธุรกิจบริการที่ขาดแคลนบุคลากรที่มีมาตรฐานในการให้บริการ
อ่านเพิ่มเติม

มูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ ์

 iHDC Profile
บัญชีรายชื่อกรรมการ
ใบสำคัญแสดงการจดทะเบียน การเปลี่ยนแปลงกรรมการของมูลนิธิ
เอกสารประชาสัมพันธ์ โครงการ HMTC.pdf
เอกสารแนะนำโครงการ HMTC 1.pdf
เอกสารโครงการ HMTC 2 คุณสมบัติผู้เข้าร่วมโครงการ.pdf
iHDC นิติบุคคล.pdf
iHDC บุคคล.pdf
iHDC บุคคลเครือข่าย.pdf
รายงานการประชุม 6 มีนาคม 2560.pdf
ข้อบังคับมูลนิธิ
ใบสำคัญแสดงการจดทะเบียนจัดตั้งมูลนิธิ
Ihdc-Profile and Roadmap 2016-2019 Mar 23 2560.pdf
รายงานการประชุมใหญ่คณะกรรมการมูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ 2559.pdf
คำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ สาขาวิชาชีพ.pdf
รายงานการประชุมใหญ่วันที่ 18 ธ ค 2558 v 3.pdf
รายงานการประชุม วันที่ 24 ธันวาคม 2557 updated 4 มีนาคม 2558.pdf
iHDC-invitation Letter.doc
iHDC-Member Form Thai.doc
iHDC-Member Form English.doc
รายงานการประชุมกรรมการมูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ วันที่ 15 มกราคม 2556 ฉบับสมบูรณ์


thaibetter
พัฒนาประเทศไทยแบบทวีคูณ และยั่งยืน ( ททค )

Login


แบบสำรวจ

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

สถิติเว็บไซด์

สมาชิก : 5642
Content : 3067
เว็บลิงก์ : 26
จำนวนครั้งเปิดดูบทความ : 8739615

facebook

Twitter


ล่าสุด

บทความเก่า